บทบาทของรัฐกับการหนุนหนัง ในฐานะ “Soft Power”

คำว่า “อำนาจอย่างอ่อน” หรือ Soft Power ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยนักวิชาการชื่อ โจเซฟ นาย (Joseph Nye) หมายถึงการใช้อำนาจที่ปราศจากการใช้กำลังบังคับขู่เข็ญของประเทศหนึ่งต่อประเทศหนึ่ง เป็นการใช้อำนาจด้วยการสร้างอิทธิพลต่อความความคิดและทัศนคติของคนในสังคมอื่นให้คล้อยตาม โดยอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ

และหากพิจารณาเฉพาะองค์ประกอบทางด้านวัฒนธรรม เครื่องมือที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทรงอิทธิพลมากที่สุดในการสร้างอำนาจอย่างอ่อน ก็คือ ภาพยนตร์ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ ภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่สร้างอิทธิพลด้านวัฒนธรรมต่อผู้คนทั่วโลก ผ่านเนื้อเรื่อง พฤติกรรมของตัวละคร ตลอดจนวัฒนธรรมย่อยที่เป็นส่วนประกอบของเรื่อง จนทำให้ผู้คนในอีกหลายประเทศเกิดความรู้สึกเชิงบวกต่อวัฒนธรรมอเมริกันโดยไม่รู้ตัว

ไม่แค่ผลประโยชน์ด้านการเมือง ในแง่เศรษฐกิจแล้วอำนาจอ่อนยังนำมาซึ่งรายได้มหาศาลจากการขายสินค้าวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ด้วย (สำหรับหนังนั้น รายได้สำคัญมาจากยอดขายลิขสิทธิ์และผลประโยชน์จากการจัดจำหน่าย) รัฐบาลหลายประเทศจึงเกิดความคิดจะสนับสนุนวัฒนธรรมส่งออก ด้วยการทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อผลักดันให้วัฒนธรรมเหล่านี้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากที่สุด

ปัจจุบัน ประเทศที่มีบทบาทเด่นในการสนับสนุนหนังในฐานะอำนาจอ่อนอย่างเป็นระบบ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และฝรั่งเศส

เกาหลีใต้

บทบาทของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการผลักดันหนังนั้นถูกยกมาเป็นกรณีศึกษาในหลายประเทศ (ไทยก็ด้วย) ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ อุตสาหกรรมหนังที่นั่นเคยอยู่ในสภาวะตกต่ำมาก่อน อันเป็นผลจากการการถูกรัฐแทรกแซงอย่างเข้มงวดในช่วงการปกครองของประธานาธิบดี ปาร์คจุงฮี (ระหว่างทศวรรษ 1960 ถึงปลาย 70) แม้รัฐจะพยายามส่งเสริมด้วยวิธีต่างๆ ก็ไม่เป็นผล ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกรมส่งเสริมหนังในปี 1973 หรือ การกำหนดโควตานำเข้าหนังต่างประเทศเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรรมภายใน (ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยเพราะคุณภาพหนังในประเทศเองไม่มีคุณภาพ)

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1998 รัฐบาลปธนคิมแดจุง มีแผนปลดล็อคการนำเข้าสินค้าวัฒนธรรมจากญี่ปุ่น ซึ่งถูกแบนมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (และเป็นที่นิยมในตลาดมืด) แต่ก็กังวลด้วยว่า ถ้าปล่อยให้สินค้าวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้ามาอย่างอิสระก็จะส่งผลเสียหายต่อเกาหลีในระยะยาว จึงเกิดดำริว่าต้องสร้างเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของเกาหลีให้เข้มแข็งด้วยการทุ่มเทงบประมาณ และกระตุ้นให้ภาคการศึกษาเปิดภาควิชาด้านนี้เพื่อรองรับการเติบโตที่เกิดขึ้น

ผลคือ ไม่นานหลังจากนั้น ปรากฏการณ์ Hallyu หรือ “คลื่น (วัฒนธรรม) เกาหลี” ได้ก่อตัวและแพร่กระจายความนิยมไปในประเทศต่างๆ สำหรับหนังนั้น นอกจากรัฐบาลจะส่งเสริมในรูปของตัวเงินสนับสนุนผ่านสภาการภาพยนตร์ (KOFIC) แล้ว ยังแก้ปัญหาด้านโครงสร้างด้วยการแก้ไขกฎหมายเซ็นเซอร์ที่กดทับกระบวนการสร้างสรรค์ตลอดมา ส่งผลให้นักทำหนังนำเสนอผลงานได้เต็มที่

ความสำเร็จของหนังเรื่อง Shiri (1999) ที่ทำรายได้กว่า 11 ล้านเหรียญจากการฉายในประเทศ และยังถูกขายสิทธิ์ไปในหลายประเทศ (รวมทั้งไทย) ก่อให้เกิดกระแสความนิยมหนังเกาหลีไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะขยายสู่พรมแดนใหม่ๆ อีกมากมาย

แม้ในระยะเวลาแรก ความสำเร็จของคลื่นวัฒนธรรมจะถูกยืนยันผ่านยอดรายได้ส่งออกรวมกว่า 650 ล้านเหรียญในปี 2003 (จากแต่เดิมที่แทบไม่มีมูลค่า) แต่รัฐบาลไม่หยุดแค่นั้น ยังคงส่งเสริมผ่านมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลทุกชุดต้องปฏิบัติ ทำให้จนถึงปัจจุบันหนังและสินค้าวัฒนธรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี (k pop) หรือซีรีส์ (K dramas) ได้กลายเป็นอำนาจอย่างอ่อน (soft power) ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเกาหลี พิสูจน์ได้จาก การตื่นตัวที่ทั่วโลกมีต่อวัฒนธรรมเกาหลีด้านอื่นๆ เช่น ภาษาและอาหาร เป็นต้น


จีน

แม้อุตสาหกรรมหนังจีนจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ประเทศเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2001 แต่เมื่อได้เห็นความสำเร็จของเกาหลีใต้และอิทธิพลของฮอลลีวูดที่แผ่ขยายไปทั่วโลก รัฐบาลจีนก็ยิ่งตระหนักถึงความสำคัญของอำนาจอย่างอ่อน จึงดำริ “นโยบายออกไปข้างนอก” (going out policy) ขึ้นโดยปธน. เจียงเจ๋อหมิน บรรจุเข้าในแผนห้าปีครั้งที่ 11 และ 12 (ปี 2006- 2015) มีเป้าหมายหลักคือ “ส่งเสริมภาพลักษณ์ของจีนในต่างประเทศ และเสริมสร้าง soft power ด้วยการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนสู่สากล เน้นอเมริกาเหนือและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก”

มาตรการของนโยบายนี้ ประกอบด้วย
1. จัดงานแสดงหนังจีนในต่างประเทศ เช่น สัปดาห์หนังจีน เทศกาลหนังจีน
2. เข้าร่วมเทศกาลหนังสำคัญ
3. กระตุ้นให้มีการจัดจำหน่ายหนังจีนในต่างประเทศ ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโรง ดีวีดี และอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัฐบาลจีนดูเหมือนไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เห็นได้จากจำนวนหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศ แต่กลับล้มเหลวเมื่อไปฉายที่อื่น เช่น Wolf Warrior part 2 ซึ่งทำรายได้ในจีนถึง 874 ล้าน แต่ทำรายได้ในอเมริกาแค่ 2.7 ล้านเหรียญ เมลลิสา เกย์ตัน (2017) แห่ง Harvard Political Review วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดส่งผลให้หนังต้องนำเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศและถ่ายทอดอุดมการณ์สังคมนิยม ทำให้หนังขาดอรรถรส นอกจากนี้ เนื้อหาที่ขาดความเป็นสากลเพราะผู้สร้างมุ่งเน้นตลาดผู้ชมจีนเป็นหลักก็ทำให้ผู้ชมต่างชาติรู้สึกไม่เชื่อมโยง (ต่างจากหนังเกาหลีที่เนื้อหามีความเป็นสากลกว่า)


ฝรั่งเศส

เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการแผ่อำนาจอ่อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งศิลปะ ภาษา อาหาร และวัฒนธรรมบันเทิง โดยหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทสำคัญคือ กระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร ซึ่งมอบหมายให้สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Francaise) ที่มีสาขาในประเทศต่างๆ ทำหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมสู่คนท้องถิ่น

กระทรวงนี้ให้ความสำคัญกับหนังเต็มที่ สนับสนุนให้มีการเผยแพร่หนังฝรั่งเศสในรูปของการขายสิทธิ์จัดจำหน่ายในตลาดสำคัญๆ ของโลก เช่น ตลาดหนังเมืองคานส์ ฮ่องกง อเมริกา โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้แก่บริษัทจัดจำหน่ายฝรั่งเศส เช่น ค่าเดินทางและค่าเช่าพื้นที่ในการไปขายหนังตามตลาดต่างๆ นอกจากนั้นยังมีทุนคอยสนับสนุนค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สำหรับผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศที่ซื้อสิทธิ์หนังฝรั่งเศสไปฉายในประเทศของตนอีกด้วย

ในแง่ของการตอบรับ จากรายงานของ Unifrance (ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนหนังฝรั่งเศสในต่างประเทศ) ระบุว่าในปี 2019 มีผู้ชมนอกประเทศฝรั่งเศสกว่า 2.41 ล้านคนที่ซื้อบัตรเข้าชมหนังฝรั่งเศส คิดเป็นรายได้ 12.9 ล้านยูโร แม้ตัวเลขจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ (เนื่องจากหนังฮอลลีวูดยังครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่อุตสาหกรรมหนังของหลายๆ ประเทศก็แข็งแรงขึ้น) แต่การสนับสนุนหนังก็ยังถือเป็นพันธกิจที่สำคัญสำหรับทุกรัฐบาล


จากกรณีศึกษาของทั้งสามประเทศ ทำให้เห็นว่า การจะผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังและวัฒนธรรมอื่นๆ เป็นเครื่องมือเผยแพร่อำนาจอ่อน (soft power) นั้น จำต้องมีการวางโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ และต้องลดการใช้อำนาจควบคุมของรัฐลง (เช่น การเซ็นเซอร์ หรือการสอดแทรกอุดมการณ์ของชาติอย่างจงใจ) รัฐควรตระหนักว่าบทบาทหน้าที่ของตัวเองคือผู้สนับสนุนและผลักดันให้ผลผลิตทางด้านวัฒนธรรมไปไกลที่สุด ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมที่ต้องสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาดีที่สุด จึงจะร่วมกันประคับประคองอุตสาหกรรมให้ต่อเนื่องยาวนานได้


อ้างอิง

– เกาหลีใต้ :
A Short History of Korean Film
Korean Wave (Hallyu) – The Rise of Korea’s Cultural Economy & Pop Culture
Roll Over, Godzilla: Korea Rules

– จีน :
Film Policy, the Chinese Government and Soft Power
Chinawood: Why the Chinese Movie Industry Faces Challenges in International Markets

– ฝรั่งเศส :
Policy to support French cinema bringing results – Minister
France’s Macron uses culture to assert world’s top ‘soft power’ nationality

Related NEWS

LATEST NEWS