เมื่อประเทศทะเลาะกัน สะเทือนเลื่อนลั่นไปถึงวงการบันเทิง !

ขณะนี้กระแสที่มาแรงแซงทางโค้งอย่างไม่มีใครปฏิเสธคือ กรณีความขัดแย้งระหว่างแฟนคลับไทยและจีน ของกระแสซีรี่ส์วายเรื่องหนึ่ง ซึ่งเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ไม่มีใครคิดว่าจะกลายเป็นสาระสำคัญ แต่บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งที่ดึงเอาเรื่องการเมือง การปกครองเข้ามาเกี่ยวข้อง เท่านั้นไม่พอ ยังดึงเอาปาร์ตี้ที่สามอย่างไต้หวันกับฮ่องกงซึ่งไม่พอใจจีนเป็นทุนเดิมเข้ามาร่วมวงด้วย หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจขยายวงไปเป็นข้อพิพาทในระดับที่สูงกว่า เช่น ซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวอาจถูกแบนไม่ให้ฉายในจีนเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคงไม่ขยายความความขัดแย้งดังกล่าวไปมากกว่านี้ (ถ้าสนใจความเป็นมาเป็นไปของเหตุการณ์ดังกล่าว ขอแนะนำให้อ่าน poetry of bitch ครับ เขาสรุปลำดับเหตุการณ์ไว้ดีมาก) แต่อยากจะขอกล่าวถึง กรณีความขัดแย้งระดับประเทศ ที่ก่อตัวในระดับมหภาค แต่ส่งผลกระทบต่อระดับจุลภาคซึ่งหมายถึงภาคประชาชนในตอนท้าย (กรณี #nnevvy นั้นตรงกันข้ามคือ เริ่มก่อตัวจากระดับจุลภาค แต่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับมหภาค)

โดยขอนำเสนอความขัดแย้งระหว่างประเทศจีนกับเกาหลีใต้ จากกรณีที่ รัฐบาลเกาหลีใต้ อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐฯ ติดตั้งระบบต่อต้านมิสไซล์เพดานบินสูง (Terminal High Altitude Area Defense – เรียกย่อๆ ว่า THAAD) บนแผ่นดินเกาหลีใต้เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือในปี 2016 แต่โชคไม่ดีที่เกาหลีเหนือตั้งอยู่ติดกับประเทศจีน จึงสร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก รัฐบาลจีนได้ประกาศคว่ำบาตรความร่วมมือทุกชนิดกับเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ที่ลงทุนในจีนและส่งออกไปยังจีนอย่างรุนแรง

และหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ อุตสาหกรรมทางด้านวัฒนธรรม ที่มีหนังรวมอยู่ด้วย


ย้อนรอยความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมจีน – เกาหลีใต้ :

ความสัมพันธ์นี้เริ่มต้นอย่างอบอุ่นในกลางช่วงทศวรรษที่ 1990 หลังจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 1992 โดยสื่อด้านวัฒนธรรมจากเกาหลีใต้สื่อแรกที่ได้เข้าไปทักทายประชาชนจีนถึงในบ้านคือ ละครโทรทัศน์

ซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงคือ What is Love? ฉายทางสถานีโทรทัศน์ CCTV ในปี 1997 มีคนดูถึง 150 ล้านคน และได้เรตติงสูงถึง 4.2% นอกจากนั้น วงบอยแบนด์เกิร์ลกรุ๊ปต่างๆ ก็ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ไม่แพ้กัน จนทำให้ในเดือนพฤศจิกายนปี 1999 Beijing Youth Daily หนังสือพิมพ์จีนของรัฐบาล ถึงกับต้องลงบทความวิพากษ์ความคลั่งไคล้วัฒนธรรมเกาหลีในหมู่เยาวชนจีน และเป็นครั้งแรกที่คำว่า Korean wave (หรือ Hallyu ในภาษาเกาหลี) ถูกใช้เพื่อจำกัดความถึงความคลั่งไคล้เช่นนี้

ในระยะแรกรัฐบาลจีนเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของคลื่นเกาหลีแบบเงียบๆ แต่เมื่อเห็นว่าเยาวชนจีนเริ่มซึบซับวัฒนธรรมต่างชาติมากเกินไป จึงมอบหมายให้ คณะกรรมการควบคุมวิทยุ ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ออกมาตรการจำกัดการแพร่ภาพซีรีส์เกาหลีใต้ในเมืองจีน แต่ดูเหมือนความพยายามจะไม่เป็นผล เพราะความนิยมดังกล่าวก็ยังแพร่ขยายอย่างรวดเร็วและรุนแรง แถมยังส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยของจีนเองด้วย เช่น ซีรีส์ของจีนได้รับอิทธิพลการนำเสนอแบบเกาหลีจนแทบแยกไม่ออก เช่นเดียวกับวงบอยแบนด์เกิร์ลกรุ๊ปที่แทบจะถอดจากพิมพ์เดียวกัน

ในส่วนของหนัง แม้จีนจะใช้ระบบโควตาที่จำกัดให้มีหนังต่างชาติได้ฉายแค่ปีละ 20 เรื่อง (ในช่วงทศวรรษ 2000 – 2010) แต่ในจำนวนนั้นก็มีหนังเกาหลีหลายเรื่อง และส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เช่น The Classics, Late Autumn, 200 Pounds Beauty, The Host ส่วนหนังที่ไม่ได้ฉายโรงหลายเรื่องก็ประสบความสำเร็จในช่องทางการจัดจำหน่ายอื่น เช่น วีซีดี ดีวีดี (ส่วนใหญ่ผิดกฎหมาย) และอินเทอร์เน็ต (ผิดกฎหมายในระยะแรก แต่มาถูกกฎหมายในระยะต่อมา) อาทิ My Sassy Girl; The Good, The Bad, The Weird และ Jeon Woochi: The Taoist Wizard เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ในเชิงธุรกิจวัฒนธรรมดำเนินไปด้วยดีตลอดระยะ 25 ปีตั้งแต่เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1992 มีการร่วมลงทุนในสื่อต่างๆ เช่น กรณีอาลีบาบาลงทุนร่วมกับ SM Entertainment ที่มีนักร้องในสังกัดอย่าง BoA, TVXQ, Super Junior, Girls’ Generation, SHINee, f(x), EXO, Red Velvet และ NCT ในปี 2016 หรือกรณีมีทุนจีนลงหุ้นกับ Big Hit Entertainment ที่มีวง BTS เป็นเสาหลัก, Zhejiang Huace Film & TV กลุ่มทุนจากจีน ร่วมลงทุนกับบริษัทเกาหลี Next Entertainment World ผลิตซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จไปทั่วเอเชียเรื่อง Descendant of the Sun ในปี 2016 และสำหรับธุรกิจหนัง กลุ่มทุนอาลีบาบาได้ลงทุนกว่าพันล้านวอนผลิตหนังเกาหลีในปี 2014 ส่วนบริษัท Huace ก็ทุ่มถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อหุ้นของ Next Entertainment World สำหรับวางแผนผลิตหนังเกาหลีอีกด้วย

แต่แล้ว เส้นทางที่ดูเหมือนจะสวยงามนี้ จู่ๆ ก็ต้องหยุดชะงักเมื่อเกิดกรณีขัดแย้งเรื่องมิสไซล์ ซึ่งแม้ฟังเผินๆ น่าจะเป็นปัญหาแค่ระหว่างเกาหลีเหนือกับใต้เท่านั้น แต่รัฐบาลจีนกังวลว่าระบบเรดาห์ตรวจจับของ THAAD อาจสอดส่องความเคลื่อนไหวภายในประเทศตนได้ จึงทำการประท้วง และเมื่อรัฐบาลเกาหลีใต้ยังยืนกรานให้อเมริกาติดตั้งได้ต่อไป จีนจึงดำเนินมาตรกดดันด้วยการคว่ำบาตรความร่วมมือทุกระดับกับเกาหลีใต้ทันที


ความเสียหายที่เกิดขึ้น :

การคว่ำบาตรส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมวัฒนธรรมทุกประเภท ตั้งแต่เครื่องสำอาง การท่องเที่ยว ไปจนถึงวัฒนธรรม K ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น K Series, K Pop และ K Movie

ในจีนมีการทำโพลสำรวจความรู้สึกของประชาชนกว่า 3 แสนคน ผลคือ 87% เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ขณะที่ประชาชนชาวเน็ตจำนวนมากก็ประกาศว่า “ไอดอลไม่สำคัญกว่าผลประโยชน์ของชาติ” (No Idol is above national interest!) ศาสตาจารย์ อิงยู โอห์ แห่งภาควิชาสังคมวิทยามหาวิทยาลัยเกาหลีกล่าวว่า ความขัดแย้งนี้อาจทำให้เกาหลีใต้ต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกวัฒนธรรมร่วมสมัยกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญ นอกจากนี้ ทุนจีนที่ลงทุนในสื่อบันเทิงต่างๆ ของเกาหลีใต้อาจสูญเปล่าเพราะไม่สามารถขายในประเทศตัวเองซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าเกาหลีใต้เสียอีกได้

สำหรับหนัง ผลที่เกิดขึ้นคือ หนังหลายเรื่องที่ควรมีโอกาสทำเงินในจีน ก็ต้องหมดโอกาสในทุกช่องทางจัดจำหน่าย เช่น Train to Busan ของ Next Entertainment World (ซึ่งมี Huace บริษัทจีน ถือหุ้นเป็นลำดับสอง) หนังเรื่องนี้ทำเงินในเกาหลีใต้และทั่วโลกไปแล้วกว่า 96 ล้านเหรียญ และถ้าได้ฉายในจีนก็น่าจะเก็บเงินได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน

อย่างไรก็ตาม วิกฤตนี้ก็กลับส่งผลประโยชน์ต่อผู้จัดจำหน่ายชาติอื่น (ที่ไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปในตลาดจีนได้ก่อนหน้านี้) เช่น หนังญี่ปุ่น ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจำหน่ายหนังญี่ปุ่นบริษัทหนึ่งที่เมืองคานส์ในปี 2018 และได้รับข้อมูลว่า ตัวแทนจัดจำหน่ายของจีนหลายบริษัทกำลังสนใจหนังโรแมนติกจากญี่ปุ่นเป็นพิเศษ เพราะหนังเกาหลีใต้แนวนี้เคยฮิตในตลาดจีนมาก่อน


เมื่อวิกฤตคลี่คลาย แต่ไม่คลายตัว :

ความขัดแย้งระหว่างจีนและเกาหลีใต้ดำเนินมาจนถึงกลางปี 2019 ก็เริ่มคลี่คลายผ่านการเจรจาแบบทวิภาคี สัญญาบวกที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อบริษัท Lotte ได้รับอนุญาตจากจีนให้กลับไปสร้างห้างสรรพสินค้าที่เมืองเซิ่งหยางอีกครั้ง (หลังถูกระงับตั้งแต่ปี 2016) ตามมาด้วยซีรีส์เกาหลี 2 เรื่องที่ได้รับการอนุมัติให้ฉายทางโทรทัศน์ในเดือนตุลาคม และก็มีความเป็นไปได้ว่าหนังออสการ์เรื่อง Parasite อาจมีโอกาสได้ฉายในจีนเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ความสัมพันธ์เต็มรูปแบบจะกลับมาเหมือนเดิมเมื่อใด เนื่องจากจีนเรียกร้องให้เกาหลีใต้ปฏิบัติตามมาตรการสาม “ไม่” ได้แก่ 1. ไม่เพิ่มจำนวนเครื่องยิงขีปนาวุธป้องกัน 2. ไม่ร่วมกับระบบป้องกันขีปนาวุธในภูมิภาคที่นำโดยสหรัฐฯ และ 3.ไม่ร่วมข้อตกลงไตรภาคีกับสหรัฐฯและญี่ปุ่น ขณะที่เกาหลีใต้ภายใต้การบริหารของรัฐบาลสายกลางที่นำโดยประธานาธิบดีมุนแจอิน ก็ดูตอบรับแบบขอไปที เนื่องจากยังต้องเดินตามนโยบายความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกไกลของสหรัฐฯ

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้พลังของวัฒนธรรมจะสลายความแตกต่างของคนสองชาติได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ความขัดแย้งถูกยกระดับขึ้นเป็นการเมืองระหว่างประเทศ การแบ่งเขาแบ่งเราก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี และเมื่อนั้น ต่อให้วัฒนธรรมมีพลังเท่าใดก็ไม่ความหมาย


อ้างอิง :

เกี่ยวกับความเป็นมาของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี
– Turning Out the Lights?: The Impact of THAAD on Hallyu Exports to China
– Hallyu (Korean Wave)

เกี่ยวกับระบบต่อต้านมิสไซล์เพดานบินสูง (Terminal High Altitude Area Defense)
– THAAD on the Korean Peninsula

เกี่ยวกับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างจีนและเกาหลีใต้กรณี THAAD
– Turning Out the Lights?: The Impact of THAAD on Hallyu Exports to China
– Korea still taking Chinese economic hits over US missiles
– Did South Korea’s Three Noes Matter? Not So Much.
– China, South Korea agree to mend ties after THAAD standoff
– Korea still taking Chinese economic hits over US missiles

Related NEWS

LATEST NEWS