The Breakfast Club ฝันร้ายในความสำเร็จของกลุ่ม Brat Pack

The Breakfast Club ของผกก. จอห์น ฮิวจ์ส เป็นหนังปี 1985 ที่ส่งอิทธิพลต่อหนุ่มสาวในยุคนั้นจนได้รับเลือกจาก National Film Registry เพื่องานอนุรักษ์เพราะมันบันทึกประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสุนทรียะแห่งยุคสมัย และสิ่งหนึ่งที่พอจะยืนยันได้อย่างดีคือหนังเรื่องนี้ได้ก่อกำเนิดกลุ่มนักแสดงที่เรียกกันว่า Brat Pack ซึ่งพวกเขาคงจดจำประสบการณ์ที่ทั้งงดงามและเลวร้ายนี้ไปตลอดกาล

The Breakfast Club เล่าเรื่องของเด็กไฮสคูล 5 คนที่โดนครูปกครองเรียกมาอยู่โรงเรียนร่วมกันในวันเสาร์ เพื่อให้แต่ละคนทบทวนว่าตนทำผิดอะไรถึงต้องมาถูกกักบริเวณในวันที่ควรจะได้หยุดพักผ่อน แล้วส่งเรียงความก่อนถูกปล่อยกลับบ้าน แต่ภายใต้กฎระเบียบเฉพาะกาลที่ไม่เห็นจะเมคเซนส์นี้เลยทำให้พวกเขาต้องหาทางแหกกฎ กลายเป็นหนังวัยรุ่นที่สะท้อนความคับข้องของคนที่ถูกคาดหวังจากรุ่นพ่อแม่…และด้วยท่าทีเช่นนี้มันเลยปลดแอกผู้ชมวัยรุ่นจนเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่ง

Brat Pack หมายถึง 5 นักแสดงหนังเรื่องนี้ที่แจ้งเกิดพร้อมกัน อันประกอบไปด้วย มอลลี ริงก์วัลด์ (เธอดังมาก่อนจาก Sixteen Candles ของฮิวจ์สเช่นกัน), เอมิลิโอ เอสเตเวซ, จัดด์ เนลสัน, แอนโธนี ไมเคิล ฮอล และ อัลลี ชีดี้ …ซึ่งพวกเขายังเทียวมาเจอกันในหนังเรื่องอื่นอยู่บ่อยๆ

นักแสดงในกลุ่ม Brat Pack ยังมี ร็อบ โลว์, แอนดรูว์ แม็กคาร์ธี และ เดมี มัวร์ ทั้งสามคนร่วมงานกับเอสเตเวซ, เนลสัน และชีดี้ ใน St.Elmo’s Fire ของ โจเอล ชูมาเคอร์ ปีเดียวกัน เลยถูกจัดให้เป็นรุ่นแรกของ Brat Pack ด้วย ดังนั้นไม่ว่า 8 นักแสดงจากทั้ง The Breakfast Club กับ St.Elmo’s Fire จะไปอยู่ในหนังวัยรุ่นเรื่องไหน สมาชิก Brat Pack ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงแทบจะกล่าวได้ว่า Brat Pack ถูกใช้เรียกนักแสดงวัยรุ่นยุค 80 เกือบทุกคนในฮอลลีวูด เพราะนิยามของ Brat Pack ดันครอบคลุมไปถึงหนังเรื่องก่อนหน้าด้วย เช่น ทอม ครูส, แมตต์ ดิลลอน และ แพทริก สเวซีย์ ที่ร่วมแสดงกับเอสเตเวซและโลว์ใน The Outsiders (1983)

5 นักแสดงของ The Breakfast Club น่าจะอหังการ์จากความเป็น Brat Pack นี้ไม่น้อย แต่มันกลับตรงกันข้าม เรื่องมันเริ่มมาจากเอสเตเวซชวน เดวิด บลัม แห่ง New York Magazine มาสัมภาษณ์ระหว่างพักกอง St.Elmo’s Fire ที่ร้าน Hard Rock Cafe พร้อมลากโลว์กับเนลสันมานั่งคุยด้วย ภาพที่บลัมเห็นคือมีแฟนคลับมารออยู่หน้าร้านเนืองแน่นเป็นปรากฏการณ์ บลัมเลยพาดหัวตัวโตว่าพวกเขาคือ Hollywood’s Brat Pack บนปกนิตยสาร และกลายเป็นว่าใครต่อใครก็เรียกพวกเขาแบบนั้นเรื่อยมา เอสเตเวซโกรธบลัมมากเพราะรู้สึกเหมือนโดนหักหลัง คิดว่าบทสัมภาษณ์จะพุ่งประเด็นที่การแสดงแต่กลับโยงใยจนทำให้นักแสดงกลุ่มนี้เลี่ยงที่จะร่วมงานกันมาโดยตลอด

ชีดี้บอกว่า “บทความนี้มันทำลายทุกอย่าง เหมือนฉันเป็นได้แค่ส่วนหนึ่งของอะไรก็ไม่รู้ที่ใครคนหนึ่งกำหนดขึ้นมา” ด้านเนลสันบอกว่า “นักแสงชุดนี้ฉลาด ตลก และน่าร่วมงานด้วย ทุกคนใหม่หมด แต่หลังจากบทความตีพิมพ์ออกไป พวกเราก็ไม่กล้ากลับมาร่วมงานกันเท่าไหร่ ที่สำคัญคือไม่กล้าแม้แต่จะมาสังสรรค์กัน ทั้งที่พวกเขาน่าคบมาก” ด้านคนเขียนบทความอย่างบลัมเองก็ไม่คิดว่ามันจะมีอิทธิพลขนาดนี้ จนเขาเผยในเวลาต่อมาว่า “ถ้าย้อนกลับไปได้ ผมคงไม่เขียนมันในเชิงนี้นะ”

เดิมทีฮิวจ์สจะทำ The Breakfast Club เป็นหนังเรื่องแรก แต่ยูนิเวอร์ซัลยังงงอยู่ว่าฮิวจ์สมาไม้ไหน เพราะเครดิตเขาคือคนเขียนบทหนังชุด National Lampoon หนังทะลึ่งบ้าบอเรื่องดังเชียวนะ แต่ไหงเปิดมาโปรเจกต์แรกถึงได้อยู่ในสถานที่เดียวทั้งเรื่อง หนังรักก็ไม่ใช่ อารมณ์ขันก็ไม่มี ดาราก็โนเนม จะเอามุมไหนมาทำเงิน ฮิวจ์สเลยไปทำ Sixteen Candles ก่อน ซึ่งทุนไม่ได้เยอะเหมือนกัน ดาราใหม่กิ๊งเหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็เป็นหนังรักแล้วกัน …ผลคือทุกวันนี้มันยังติดอันดับ 49 หนังไฮสคูลที่ดีที่สุดตลอดกาล และทำเงินไปราว 26 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 6.5 ล้านเหรียญฯ แน่นอนว่า The Breakfast Club เลยได้ทำในที่สุด แต่ด้วยทุนแค่ 1 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น!

หนังใช้โลเคชั่นที่ Maine North High School โดยแอบแชร์กันกับ Ferris Bueller’s Day Off หนังเรื่องที่ 3 ของฮิวจ์ส เพื่อลดต้นทุน และผลลัพธ์คือมันทำเงินไปกว่า 50 ล้านเหรียญฯ

เพราะทุนต่ำมากและมีเวลาถ่ายทำจำกัด ฮิวจ์สเลยให้ความสำคัญกับการละลายพฤติกรรมนาน 3 สัปดาห์เต็ม และในช่วงนั้นเองที่เกิดความตึงเครียดขึ้น เมื่อเนลสันที่รับบทจอห์นซึ่งเป็นตัวละครจอมคุกคาม ดันสวมวิญญาณนอกจอ ลามปามไปล้อพ่อของริงก์วัลด์ซึ่งเป็นนักดนตรีตาบอด จนเธอไม่พอใจจริงๆ ทำให้ฮิวจ์สเกือบจะไล่เขาออกจากโปรเจกต์ก่อนเปิดกล้อง แต่เพื่อนๆ ช่วยกันคลี่คลาย “พอพวกเรารวมพลังกันมันเลยทำให้เราเป็นกลุ่มเป็นก้อนกันมากขึ้น” ริงก์วัลด์กล่าว

สิ่งที่หนังคงทนเหนือกาลเวลาคือการที่มันสะท้อนจิตวิญญาณของหนุ่มสาวได้ทุกยุคสมัย ซึ่งเครดิตส่วนหนึ่งต้องมอบให้นักแสดง Brat Pack ชุดนี้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างตัวละครจนแทบจะกำหนดธีมหนังเลยทีเดียว

เริ่มจากสองสาว ริงก์วัลด์กับชีดี้ที่ช่วยกันเจรจากับฮิวจ์สเพราะความไม่สบายใจในบทหนัง เดิมทีจะต้องมีตัวละครโค้ชสอนว่ายน้ำสาวที่ฮิวจ์สใส่ฉากโชว์นมตามกระแสหนังวัยรุ่นทะลึ่งยุคนั้น แต่สองสาวมองว่ามันไม่จำเป็นกับเรื่องเลยขอต่อรองให้ตัดฉากดังกล่าวออก ไปๆ มาๆ ฮิวจ์สยกตัวละครนี้ทิ้งทั้งยวงแล้วแทนที่ด้วยภารโรงชายรุ่นใหญ่แทน

อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งริงก์วัลด์และชีดี้ก็ยังรู้สึกไม่สบายใจกับบางฉากในหนังอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อทั้งคู่มีลูกสาวแล้ว ริงก์วัลด์ยังรู้สึกไม่ค่อยดีนักกับฉากที่จอห์นของเนลสันรุกล้ำเข้าไปใต้กระโปรง ส่วนชีดี้ไม่ชอบบทสรุปของตัวละครอัลลิสันของเธอ ซึ่งตัวละครนี้เป็นคนขวางโลก ผมเผ้ารุงรังสวมใส่เสื้อผ้าหม่นมืด แต่สุดท้ายเธอก็ค้นพบทางใหม่เมื่อแคลร์ (ริงก์วัลด์) จับเธอแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม ให้เป็น ‘หญิง’ มากขึ้น ซึ่งเธอบอกว่า “ตอนนี้ฉันมีลูกสาวที่ภูมิใจในความเป็น queer เลยยังค้างคากับบทสรุปของตัวละครนี้ ถึงมันจะเป็นหนังที่ฉันรักมากแต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้สมบูรณ์แบบไปทั้งหมด”

และฉากสำคัญที่ได้รับคำชมอย่างเอกฉันท์คือฉากที่ทุกตัวละครขึ้นไปนั่งคุยกันบนชั้นสองของห้องสมุด แล้วเปิดอกเล่าความอัดอั้นของการเป็นวัยรุ่น ฉากนี้ฮิวจ์สบอกนักแสดงแค่ว่าให้ทุกคน ‘ด้นสด’ ในหัวข้อเรื่องการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวของวัยรุ่น ซึ่งนี่เลยกลายเป็นฉากฟาดผู้ชมเข้าอย่างจัง- และเป็นไอเดียให้ฮิวจ์สเปิดหนังด้วยคำพูดของ เดวิด โบวี่ ซึ่งมาจากชีดี้นั่นเอง

“และเหล่าเด็กๆ ที่คุณรังเกียจ
ทั้งที่พวกเขาพยายามเปลี่ยนโลกของเขา
ให้มีภูมิต้านทานต่อความเห็นของคุณ
พวกเขาตระหนักว่า
พวกเขาจะต้องเจอกับอะไร”

– เดวิด โบวี่

The Breakfast Club มีให้ดูใน Netflix

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES