15 ปี The Squid and the Whale ทำความร้าวฉานให้รื่นรมย์ จากหัวใจลูกชายชื่อ โนอาห์ บอมบาค

กระแสตอบรับที่งดงามของ Marriage Story ทำให้ใครหลายคนเทียบมันกับ The Squid and the Whale หนังปี 2005 ของ โนอาห์ บอมบาค เหมือนกัน เพราะนอกจากจะทำโดยคนคนเดียวกันแล้ว ต่างก็ว่าด้วยการประคับประคองชีวิตและครอบครัวหลังการหย่าร้าง โดยในขณะที่ Marriage Story อ้างอิงจากชีวิตคู่ที่พังไปแล้วของบอมบาคกับ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ The Squid and the Whale ก็เป็นมุมมองต่อรอยร้าวของพ่อแม่เขาเอง สิ่งที่ผูกโยงหนังสองเรื่องนี้เข้าไว้ด้วยกันคือมันต่างพูดถึงคนเคยรักที่พยายามหนีความจริงของหัวใจตัวเองไม่พ้น

Marriage Story บอมบาคเล่าตอนที่แผลยังสดของคนที่ผ่านประสบการณ์มาแล้ว มันเลย ‘ไม่ตลก’ ขณะที่ The Squid and he Whale เล่าจากมุมมองของลูกชายที่พ่อแม่แยกทาง มันจึงเป็นสายตาที่บริสุทธิ์และตั้งใจที่จะมองมันให้ ‘ตลก’ แต่ในความตลกนั้นก็สมจริงเสียจนคนดูสะเทือนใจตามกัน “ตอนทำหนังเรื่องนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกตลอดนะ แต่พอถึงจุดนึงมันกลับเศร้ากว่าที่คิดเยอะ จริงๆ ไม่ได้พยายามทำให้สุขกับเศร้าเท่ากัน ผมอยากให้มันดำเนินไปพร้อมกันมากกว่า”

ชีวิตจริงของบอมบาค ทั้งพ่อและแม่ของเขาต่างก็เป็นนักเขียนชื่อดัง (พ่อคือ โจนาธาน บอมบาค นักเขียนนิยายเชิงทดลองและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Fiction Collective ส่วนแม่ จอร์เจีย บราวน์ เป็นนักวิจารณ์หนัง) พอมาเป็นหนัง พ่อและแม่ต่างก็เป็นนักเขียนที่เส้นทางและชื่อเสียงกำลังเดินสวนทางกัน และสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การหย่าร้างก็คือพ่อ (เจฟฟ์ แดเนียลส์) รับไม่ได้ที่เห็น แม่ (ลอรา ลินนีย์) กำลังเป็นที่ยอมรับมากกว่าเขา

แน่นอนว่าพ่อแม่ของบอมบาคได้ดูหนัง The Squid and the Whale แล้ว เช่นกันกับที่ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ ก็ได้ดู Marriage Story ก่อนใคร และกลายเป็นว่าทั้งสามคนที่บอมบาคหยิบมาใช้เป็นโครงสร้างตัวละครต่างพอใจกับหนัง ซึ่งหลักในการเขียนบทของบอมบาคคือการพาชีวิตตัวเองหนีไปจากความเป็นจริงให้ไกลที่สุด “สำหรับผมหนังมันเหมือนเป็นเกราะกำบังทางใจ ผมเขียนบทออกมาจากเรื่องราวที่ส่วนตัวมากๆ ไม่เซ็นเซอร์ตัวเองเลย จากสิ่งละอันพันละน้อยที่รายรอบในชีวิต แต่ผมก็แต่งเรื่องลงไปเยอะเหมือนกัน เพราะถ้าไม่ทำให้มันเป็นเรื่องแต่ง มันก็จะยิ่งไม่สมจริงมากเท่านั้น มันอาจฟังดูแปลกหน่อยนะแต่พ่อแม่ผมที่เป็นนักเขียนเหมือนกันจะเข้าใจ”

ตั้งแต่หนังเรื่องแรก Kicking and Screaming ปี 1995 ที่เล่าเรื่องของกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ที่กำลังตามหาอะไรบางอย่างของชีวิต (ซึ่งเขาทำหนังเรื่องนี้ตอนอายุ 26 ไม่ห่างกันนักกับตัวละครในเรื่อง) มาจนถึง Marriage Story หนังทุกเรื่องของบอมบาคต่างพูดถึงตัวละครปัญญาชนที่กำลังสับสนวุ่นวายกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต แน่ล่ะว่าเขาเกิดในครอบครัวปัญญาชน จนมองว่าคนเหล่านี้มีวิธีจัดการปัญหาของตัวเองช่างซับซ้อน มันเลยทำให้อะไรๆ ที่น่าจะผ่านพ้นไปได้ง่ายกลับยิ่งติดบ่วงยุ่งเหยิงไปกว่าเดิม

แต่เหนือสิ่งอื่นใด บอมบาคมองว่าทุกคนต่างหวาดกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยด้วยกันทั้งนั้น ยามที่ชีวิตต้องเผชิญหน้ากับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ซึ่งนั่นเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการแสดงภาวะอ่อนไหวของทุกคน “ผมสนใจการเปลี่ยนฉากชีวิตของมนุษย์จากที่ที่พวกเขารู้สึกมั่นใจไปในที่ที่พวกเขาไม่รู้จักมันเลย หนังของผมพูดถึงห้วงเวลานี้ของชีวิตทั้งนั้น มันทำให้หนังไปได้ไกลกว่าบันทึกชีวิตส่วนตัวทั่วไป”

สิ่งที่บอมบาคพยายามพูดอยู่เสมอกับหนังทุกเรื่องที่เขาทำคือมันล้วนมาจากประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัว แม้มันไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด ทว่าสิ่งที่ทำให้มันเป็นบทกวีแห่งความเจ็บปวดก็คือบรรยากาศรายรอบนั่นต่างหากที่เขาเลือกมันมาใช้เพื่อให้เรื่องแต่งสะท้อนความเป็นจริงได้งดงามมากที่สุด

ใน The Squid and the Whale บอมบาคเลือกไปถ่ายที่บ้านเพื่อน เพื่อเก็บกลิ่นอายชีวิตคู่ที่ซ่อนอยู่ในของแต่งบ้านและบรรยากาศ หรือเสื้อผ้าของ เจฟฟ์ แดเนียลส์ เป็นของพ่อเขาจริงๆ “เรื่องเหล่านี้มันอยู่ในอากาศ บทพูดบางอย่าง การกระทำ และสถานที่ถ่ายทำ ที่ผมบันทึกไว้ในสมุดโน้ตกับความทรงจำของผม อยู่ที่ว่าผมจะหยิบมันมาใช้งานอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด”


ย้อนดูบทบันทึกในชีวิตแต่ละช่วงของบอมบาคผ่านหนังของเขา ดังนี้

ทาง Netflix : Kicking and Screaming, The Squid and the Whale, The Meyerowitz Stories (New and Selected), Marriage Story

ทาง Monomax : Greenberg

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES