ทำไมใครๆ ก็อยากไปต่างโลก? : รู้จัก “Isekai” แนวอนิเมะที่ฮิตที่สุดในรอบทศวรรษ (ตอน 1)

คำว่า Isekai (อิ-เซ-ไค) แปลตรงๆ ว่า ต่างโลก (another world) อนิเมะแนว Isekai จึงอธิบายง่ายๆ ได้ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเอกที่อยู่ในโลกแห่งความจริงแล้วมีเหตุให้ต้องหลุดไปยังโลกต่างมิติและต้องออกผจญภัย ถ้าไม่เพื่อหาทางกลับไปโลกเดิมก็เพื่อเอาตัวรอดใช้ชีวิตในโลกใหม่ให้ได้

โดยโลกที่ตัวเอกหลุดไปนี้ มักเป็นโลกที่อิงจากยุโรปยุคกลางแต่เสริมความแฟนตาซีเข้าไป เช่น มีเวทมนตร์, มีมังกร, มีเผ่าพันธุ์ต่างๆ (ที่เรามักเห็นในนิยายและหนังแฟนตาซีของฝั่งตะวันตก เช่น The Lord of the Rings) แต่ทางฝั่งญี่ปุ่นจะได้แรงบันดาลใจจากสื่อเกม RPG (Role Playing Game) ซึ่งเป็นอีกวัฒนธรรมร่วมสมัยที่แข็งแรงมากๆ ของญี่ปุ่น

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อนิเมะแนวนี้ได้รับความนิยมล้นหลาม จนมีการสร้างขึ้นมาจำนวนมาก มีทั้งคนที่ชอบและคนที่กล่าวหาว่ามันเป็นขยะอนิเมะ …วันนี้เราจึงขอพาไปย้อนดูว่ามันฮิตขึ้นมาได้อย่างไร และมันดีจริง หรือเป็นขยะกันแน่?

หลายคนอ่านนิยามของแนว Isekai แล้วอาจจะบอกว่า เฮ้ย! มันก็มีมานานแล้วไม่ใช่เหรอ …ใช่ครับ อนิเมะพล็อตแนวไปต่างโลกมีมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกสร้างติดๆ กันเป็นกระแสจนมีการบัญญัติคำขึ้นมาเป็น Genre (แนว) ใหม่

.หากเรามองย้อนไปยังบรรพบุรุษของ Genre นี้ จะเห็นว่าวรรณกรรมตะวันตกอย่าง Alice in Wonderland (หรือชื่อเต็มๆ คือ Alice’s Adventures in Wonderland) นั้นถือเป็นต้นแบบของพล็อตแนว Isekai ทั้งมวล วรรณกรรมเรื่องนี้แต่งโดย Lewis Carroll ในปี 1865 และนับจากนั้นก็มีอีกหลายเรื่องตามมา เช่น The Wonderful Wizard of OZ (L. Frank Baum, 1900), ซีรีส์ The Chronicles of Narnia (C.S. Lewis, 1950-1956) หรือพูดได้ว่า เรื่องราวแนวเดินทางไปต่างโลกถูกผลิตมาตลอดอยู่แล้ว

สำหรับอนิเมะแนวนี้ เรื่องแรกสุดก็คือ Aura battler Dunbine (ฉายปี 1983 กำกับโดย Yoshiyuki Tomino ผู้ให้กำเนิดกันดั้มนั่นเอง) เล่าเรื่องของ โช หนุ่มนักแข่งมอเตอร์ไซค์วิบากที่จู่ๆ ก็โดนอัญเชิญมายังโลกต่างมิติชื่อ Byston Well ซึ่งมีความคล้ายยุโรปยุคกลาง แต่ที่พิเศษคือมีหุ่นยนต์ยักษ์ขับเคลื่อนด้วยพลังออร่า (หรือที่เรียกในเรื่องว่า Aura battler) ด้วยความที่โชซึ่งมาจากต่างโลกนั้นมีออร่าสูงกว่าคนบนโลกนี้ เขาจึงโดนบังคับให้ขับ Aura battler ชื่อ Dunbine และเข้าร่วมสงครามชิงอำนาจในโลก Byston Well

ต่อมาในยุค 90’s แนวเดินทางไปต่างโลกเริ่มมีมากขึ้น และมีความหลากหลายเฉพาะตัว แต่มีจุดร่วมที่น่าสนใจคือ ตัวเอกมักเป็นตัวละครหญิง เช่น เรื่อง Magic Knight Rayearth (1994), The Vision of Escaflowne (1994), Fushigi Yugi (1995) ส่วนหนึ่งเพราะช่วง 90’s วงการอนิเมะกระแสหลักเริ่มขยายฐานกลุ่มคนดูที่เป็นเด็กและวัยรุ่นผู้หญิงมากขึ้น ไม่ใช่แค่อนิเมะที่สร้างจากการ์ตูนผู้หญิง (Shoujo Manga) เพียงอย่างเดียว (ขณะที่อนิเมะกระแสหลักช่วง 80’s จับกลุ่มเป้าหมายเด็กผู้ชายซะส่วนใหญ่)

พอมายุค 2000 ที่ไลท์โนเวลเริ่มมีอิทธิพล ก็มีการสร้างอนิเมะที่ดัดแปลงจากไลท์โนเวลมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Zero no Tsukaima (2004) ที่ถือว่าเป็นต้นแบบของแนว Isekai ในปัจจุบัน ด้วยเรื่องราวของตัวเอกที่เป็นคนธรรมดาในโลกปกติแล้วมาเป็นฮีโร่ในโลกต่างมิติ และมีหญิงสาวมากมายมาหลงชอบ (หรือเรียกว่า แนวฮาเรม)

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ทำให้เกิดกระแสจริงๆ ก็คือ Sword Art Online (2012) ซึ่งถือเป็นตัวเปิดยุคอนิเมะ Isekai แต่เป็นเรื่องตลกที่ Sword Art Online มักถูกถกเถียงว่าเป็นแนว Isekai จริงๆ หรือ เพราะมันเล่าถึงเหล่าผู้เล่นเกม VR online ที่ถูกกฎบังคับให้ไม่สามารถ Log out กลับมาสู่โลกความจริง วิธีเดียวที่จะออกจากเกมคือต้องมีคนที่จบเกมนี้ลงได้ และาหากตายในเกมก็จะตายในชีวิตจริงด้วย …การไปยัง “ต่างโลก” ในเรื่องนี้จึงเป็นแค่ “โลกจำลองในเกม” ไม่ใช่โลกต่างมิติจริงๆ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ Sword Art Online ประสบความสำเร็จมาก ทำให้มีการสร้างอนิเมะ Isekai ตามมานับไม่ถ้วนหลังจากนั้น

ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากอะไร? อย่างแรกน่าจะมาจากคอนเส็ปต์ที่แข็งแรง แม้เรื่องการติดอยู่ในโลกเกมแฟนตาซี RPG แล้วต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดจะไม่ใช่สิ่งใหม่เลย (.Hack///Sign ก็เล่าพล็อตแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2002) แต่ Sword Art Online เล่าได้เข้าถึงง่ายและบันเทิงกว่ามาก เข้าถึงผู้ชมได้ทั้งเด็ก วัยรุ่น ทั้งชายและหญิง ตัวละครแม้จะไม่ลึกซึ้งแต่ก็สวยหล่อแถมเก่งสุดๆ, ฉากแอ็กชั่นสุดมัน และเพลงประกอบเพราะติดหู เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มันฮิตถึงขั้นมีภาคต่อตามมาหลายภาค

นับจากนั้น ก็มีการผลิตอนิเมะแนว Isekai ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยพยายามยึดโยงความสำเร็จของ Sword Art Online และมักมีจุดที่คล้ายๆ กันจนดูเป็นสูตรสำเร็จ …ซึ่งจะประกอบด้วยอะไรบ้าง เรามาว่ากันต่อในตอนหน้าครับ


Sword Art Online ตอน 1 ชมฟรีได้ที่ Flixer (โหลดแอพ flixer มาก่อนนะครับ)

(อ่านตอน 2 : รู้จักอนิเมะแนว Isakei (ตอน 2) : 5 สูตรสำเร็จยอดนิยมแห่งทศวรรษ)

RELATED ARTICLES