30 ปี Sailor Moon มนต์แห่งจันทราที่ยังคงขลังไม่เสื่อมคลาย

30 ปีผ่านไป ทำไมทุกคนยังคงรักเซเลอร์มูนอยู่?

“ตัวแทนแห่งดวงจันทร์จะลงทัณฑ์แกเอง” ประโยคที่คน Gen Y ลงไปต่างก็คุ้นเคยกันดีหรือต่อให้ไม่ได้ดูก็ต้องเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง กับประโยคเปิดตัวของเซเลอร์มูน ถึงเวลาจะล่วงเลยไป 30 ปีแล้วที่สาวน้อยเวทมนตร์คนนี้และผองเพื่อนได้เดบิวต์สู่สายตาชาวโลก แต่ในทุกวันนี้เซเลอร์มูนยังส่งผลต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยมากมายทั้งในเอเชียและทั่วโลก ทั้งสินค้าและอนิเมะภาคใหม่ๆ ยังคงออกมาอย่างต่อเนื่อง และยังถูกพูดถึงหรือใช้อ้างอิงในสื่อปัจจุบันอยู่ตลอด ก็เลยอยากพาคนอ่านทุกคนมาหาคำตอบกันว่าทำไมอนิเมะเรื่องนี้ถึงอยู่ในใจผู้คนมาจนถึงตอนนี้ (จะขอพูดถึงอนิเมะต้นฉบับเวอร์ชั่น 1992-1997 เป็นหลัก)

ปฏิวัติสาวน้อยเวทมนตร์

เซเลอร์มูนนั้นถือเป็นอนิเมะแนว สาวน้อยเวทมนตร์ หรือ Mahou Shoujo ซึ่งถือว่าเป็นแนวย่อยของกลุ่มอนิเมะสำหรับเด็กผู้หญิง (Shoujo) ที่มีประวัติมายาวนาน ซึ่งแนวสาวน้อยเวทมนตร์นั้นหลักๆ จะเป็นเรื่องของเด็กหญิงที่มีพลังวิเศษและสามารถเปลี่ยนร่างได้ โดยอนิเมะที่ถือเป็นจุดตั้งต้นให้เกิดแนวนี้ขึ้นมาก็คือ แม่มดน้อยแซลลี่ (Mahotsukai Sari) ตอนปี ค.ศ. 1966 (เคยฉายทางช่อง 3 บ้านเรา แต่เป็นเวอร์ชั่นรีเมกปี 1989) แต่ถ้าจะนับว่าสาวน้อยเวทมนตร์เรื่องแรกจริงก็คือเรื่อง ความลับของอั๊กโกะจัง (Himitsu no Akko-chan) ที่ตัวตัวมังงะเขียนขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1962 แต่ถูกทำเป็นอนิเมะ ในปี ค.ศ. 1969 แต่ทั้งสองเรื่องนี้ก็เป็นตัวทำให้เกิด Genre สาวน้อยเวทมนตร์ จนเกิดอีกหลายเรื่องที่ผลิตซ้ำตามมา ซึ่งโดยมากจะเป็นจะเป็นการผจญภัยของเด็กสาววัยสิบต้นๆ มีคู่หูเป็นสัตว์มุ้งมิ้งน่ารัก มีอุปกรณ์ในการแปลงร่างแต่มักจะฉายเดี่ยวหรืออย่างมากก็มีลูกน้องคู่ใจ กลุ่มคนดูหลักก็คือเด็กผู้หญิง ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1992 จะมีอนิเมะที่มาปฏิวัติแนวสาวน้อยเวทมนตร์นั้นก็คือ เซเลอร์มูนนั้นเอง ต้นกำเนิดของเซเลอร์มูนนั้นมาจากมังงะของ อ.นาโอโกะ ทาเคอุจิ (ลิขสิทธิ์โดย สนพ.วิบูลย์กิจ) สิ่งที่ทำให้เซเลอร์มูนนั้นแตกต่างกับสาวน้อยเวทมนตร์ก่อนหน้านี้ก็คือ การที่ตัวเอกหลักนั้นอยู่ในวัยที่โตขึ้นคือเป็นวัยรุ่นและไม่ได้ฉายเดี่ยว แต่มาเป็นทีมตามแบบการ์ตูนเด็กผู้ชายในยุคนั้นที่มักเป็นเป็นกลุ่มหรือขบวนการ อย่างเซนต์เซย่า ยูยูฮาคุโช บวกกับอิทธิพลจากแนวไลฟ์แอคชั่นอย่างพวกขบวนการห้าสี ตบด้วยเนื้อหาที่โตขึ้นตามวัยของตัวเอก เช่นความรัก ความฝัน การเติบโต เซเลอร์มูนจึงเป็นส่วนผสมกันระหว่างแนวเลิฟคอเมดี้วัยรุ่น x แนวสาวน้อยเวทมนตร์ x แนวฮีโร่ขบวนการ ได้อย่างลงตัว

หลังจากที่เซเลอร์มูนออกมาก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการสร้างอนิเมะแนวสาวน้อยเวทมนตร์ ไม่ต่างกับตอนที่กันดั้มได้เปลี่ยนแปลงแปลงอนิเมะแนวหุ่นยนต์ไปตลอดกาล ส่งผลให้อนิเมะแนวสาวน้อยเวทมนตร์หลังจากนั้นต่างก็ได้รับอิทธิพลจากเซเลอร์มูนทั้งนั้น อย่างเช่น Wedding Peach (1994) แม่มดน้อยโดเรมี (1999) Pretty Cure (2004) ซึ่งอิทธิพลมากมายที่เกิดจากอนิเมะชุดนี้ได้ฝังไปอยู่ในใจเด็กๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงและ Lgbtq+ ที่จะผูกพันธ์กับซีรีส์มากเป็นพิเศษ แต่ก็อยากให้มองว่ามันเป็นงานที่ไร้พรมแดนไม่ว่าจะเพศ เชื้อชาติ หรืออยู่ในวัฒนธรรมใด ก็สามารถโอบรับเหล่าอัศวินเซเลอร์ผู้พิทักษ์ความรักและความยุติธรรมไว้ในอ้อมกอดได้หมด

ฮารุกะ และ มิจิรุ

มาก่อนกาลในเรื่อง LGBTQ+

“อี๋ มึงดูเซเลอร์มูน มึงเป็นตุ๊ด” นั่นคือประโยคที่เด็กประถมเพศชายในยุค 90 ชอบล้อกันหากพบว่าใครนั้นดูเซเลอร์มูน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ส่วนใหญ่ก็ดูกันนั้นแหละ เพราะเซเลอร์มูนนั้นฉายเป็นเรื่องที่ 4 ในผังของช่องเก้าการ์ตูน ยังไงเด็กผู้ชายก็ต้องรอดูให้จบเพื่อจะได้ดูการ์ตูนกีฬากับขบวนการ 5 สี ที่เป็นเรื่องลำดับถัดไป แต่ต้องทำเป็นแอ๊บตามค่านิยมของสังคมยุคนั้น คงเพราะด้วยความที่มันดูเป็นผู้หญิงมากๆ และมีองค์ประกอบต่างๆ ที่ Queer สูง ทั้งแฟชั่น การแปลงร่างและจริตทั้งมวลมันกระตุ้นความสาวในกายออกมา โดยที่ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าเซเลอร์มูนนั้นมีความก้าวหน้าในเรื่องเพศสภาพอย่างมาก อย่างภาคแรกสุดที่เด่นชัดมากๆ ก็คือตัวละครฝั่งผู้ร้ายอย่าง ซอยไซท์ ที่มีจริตความเป็นกระเทยออกมาอย่างชัดเจน และมีคู่รักคือ คุนไซท์ ที่เป็นขุนพลฝั่งตัวร้ายเหมือนกัน ซึ่งคุนไซท์นั้นก็ดูเป็นผู้ชายปกติและในเรื่องทั้งคู่ก็ดูเป็นคู่รักกันอย่างเปิดเผย (ซึ่งเด็กประถมอย่างผมดูแล้วก็ไม่เข้าใจทำไมผู้ชายกับผู้ชายถึงรักกันได้) ซึ่งน่าจะเป็นคู่รัก LGBTQ+ คู่แรกๆ ในโลกอนิเมะ
และยิ่งไปภาคที่ 3 ก็คือภาค S ที่มีตัวละครใหม่อย่างฮารุกะ (เซเลอร์ยูเรนัส) และมิจิรุ (เซเลอร์เนปจูน) ที่มีความสัมพันธ์ดูเป็นคู่รักแถมอยู่กินด้วยกัน และความที่ฮารุกะนั้นเป็นสาวเท่ หล่อ จนตัวละครอื่นๆ อย่างแก๊งค์อุซางิต่างก็กรี๊ด นั้นเป็นการนำเสนอภาพเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ใหม่มากๆ ในยุคที่สังคมยังไม่เปิดเผยและเปิดใจให้กับสิ่งนี้ แต่เด็กๆ ก็รับรู้การมีอยู่ของมันไปแล้ว และด้วยความที่ตัวละครนั้นมีเลือดเนื้อ มีมุมโรแมนติกในความสัมพันธ์นั้นยิ่งทำให้เด็กที่ดูนั้นเกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจได้ง่าย แม้แต่คู่รักตัวร้ายอย่างซอยไซท์และคุนไซท์ก็มีพาร์ตที่ซึ้งและเรียกน้ำตาได้

หรือแม้แต่ภาคสุดท้ายอย่าง Sailor Moon Sailor Stars ที่อัศวินเซเลอร์กลุ่มใหม่อย่าง เซเลอร์สตาร์ไลท์ ที่ในร่างปกตินั้นจะเป็นกลุ่มไอดอลชายบอยแบนด์แต่เมื่อแปลงกายเป็น เซเลอร์สตาร์ไลท์ ก็จะเปลี่ยนเป็นเพศหญิงทันที จึงกล่าวได้ว่าเซเลอร์มูนนั้นเป็นอนิเมะที่เล่นกับความลื่นไหลของเพศสภาพอยู่ตลอด เหมือนจะบอกว่าเรื่องเพศนั้นไม่มีอะไรที่ตายตัว แต่สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญและเชิดชูคือความรักต่างหาก ซึ่งความรักก็คือสิ่งที่มีอานุภาพมากที่สุดในเรื่อง

แต่ความก้าวหน้าของเซเลอร์มูนก็ทำให้ถูกเซนเซอร์จากหลายประเทศที่ออกฉาย บางประเทศก็เปลี่ยนเพศของตัวละครซอยไซท์ให้กลายเป็นผู้หญิงไปเลย หรือคู่ฮารุกะกับมิจิรุก็เปลี่ยนบทให้เป็นความรักระหว่างพี่น้องแทน แต่มาถึงยุคนี้สิ่งที่เคยถูกเซนเซอร์ไว้ก็ถูกเปิดเผยออกมาทางอินเทอร์เน็ต เป็นการพิสูจน์ว่าเซเลอร์มูนต้นฉบับนั้นถูกต้องและอยู่เคียงข้าง LGBTQ+ มาตลอด จนเป็น soft power ที่มีอิทธิพลสูงมาก

คาแรคเตอร์ที่เรารัก

อีกเวทมนตร์ของเซเลอร์มูนก็คือเหล่าตัวละครอันเป็นที่รัก ตั้งแต่ตัวเซเลอร์มูนหรืออุซางิ ที่ถึงแม้จะเต็มไปด้วยข้อเสีย เซ่อซ่า เรียนไม่เก่ง ติ๊งต๊อง พึ่งพาอะไรไม่ได้ แต่การที่อุซางิได้เป็นนางเอกนั้นนอกจากจะทำให้เด็กสาวส่วนใหญ่รู้สึกว่าใกล้ตัวแล้วยังบ่งบอกถึงการจะเป็นฮีโร่นั้นไม่จำเป็นต้องต้องเก่งอะไรมากมาย ถ้าอุซางิเป็นได้ทุกคนก็เป็นได้เช่นกัน แค่มีความกล้าและมีเพื่อนๆ ค่อยช่วยเหลือเคียงข้างก็สามารถทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ถึงเผินๆ นิสัยอุซางิจะน่ารำคาญแต่ก็ถูกเล่าด้วยท่าทีที่ดูตลกขบขันแทน และกลุ่มเพื่อนอัศวินเซเลอร์ตัวหลักทั้ง 4 คนอย่าง อามิ เรย์ มาโคโตะ และมินาโกะนั้นล้วนแต่ออกแบบมาดี มีเสน่ห์ แต่ละคนเก่งคนละอย่างและมีจุดด้อยคนละอย่าง มีการเติบโตของตัวละครตลอดในช่วง 200 กว่าตอนของเวอร์ชั่นต้นฉบับ ทำให้คนดูนั้นรักและผูกพันในมิตรภาพของเพื่อนรักทั้ง 5 คนมากๆ

และพระเอกที่ไม่ใช่ตัวเอกอย่างมาโมรุหรือหน้ากากทักซิโด้ก็เป็นบทบาทที่น่าสนใจ เนื่องจากเรื่องเซเลอร์มูนนั้นตัวเอกคือสาวๆ เหล่าอัศวินเซเลอร์ บทบาทของหน้ากากทักซิโด้จึงเป็นการช่วยเหลือยามคับขัน (ปากุหลาบขัดขวางศัตรู) คอยเปิดโอกาส (ตอนนี้แหละ! เซเลอร์มูน!) พูดให้กำลังใจ (อย่ายอมแพ้ พวกเธอทำได้ เชื่อมั่นในตัวเองสิ) ไม่ใช่การปราบศัตรู (จริงๆ แล้วหน้ากากทักซิโด้พลังอ่อนด้อยกว่าอัศวินเซเลอร์ทุกคน) และมีหลายครั้งที่เหล่าอัศวินเซเลอร์ต้องเป็นฝ่ายช่วยหน้ากากทักซิโด้หรือมาโมรุจากอันตราย หรือเรียกได้ว่าบทบาทของพระเอกในเรื่องนั้นมีไว้เพื่อซัพพอร์ตให้ตัวเอกอย่างเซเลอร์มูนโดดเด่นยิ่งขึ้น ทั้งในการต่อสู้ ด้านความรักและการเติบโต

เหล่าตัวละครเสริมอย่างเช่นกลุ่มอัศวินวงโคจรรอบนอกได้แก่ ยูเรนัส เนปจูน พลูโต แซทเทิร์น ต่างก็มีการออกแบบคาแรคเตอร์โดดเด่น มีเรื่องราวของตัวเองที่น่าสนใจ ถึงแม้ว่าตัวเด่นของเรื่องจะเป็นเหล่าอัศวินเซเลอร์หลัก 5 คน แต่ตัวละครเสริมเหล่านี้ก็ทำให้เรื่องสนุกและลึกขึ้น หรือแม้แต่เหล่าตัวร้ายเองต่างก็น่าจดจำเช่นกัน เพราะถึงเป็นตัวร้ายแต่ก็มีแง่มุมให้เห็นใจ ซึ่งตัวที่ผู้เขียนจดจำได้มากที่สุดตัวหนึ่งก็คือ เนฟไลท์ หนึ่งในแม่ทัพของอาณาจักรดาร์กคิงดอมที่ตอนหลังตกหลุมรักกับ นารุ เพื่อนสนิทของอุซางิจนกลายเป็นโศกนาฎกรรมไปในที่สุด แต่มันก็ตอบย้ำธีมเรื่องอานุภาพของความรักได้ดี และยังมีตัวร้ายอีกหลายตัวที่เป็นตัวแทนของ LGBTQ+ หรือปีศาจประจำตอนเองก็มีความ Queer ในการออกแบบสูง

งานศิลป์ที่โดดเด่น ดนตรีที่โดดเด้ง

สิ่งที่ทำให้เซเลอร์มูนเวอร์ชั่น 90 ประสบความสำเร็จและโด่งดังไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไอเดีย คอนเสปต์และตัวละคร แต่เป็นองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่มาประกอบเป็นงานอนิเมชั่นได้อย่างลงตัว ซึ่งส่วนตัวว่าเวอร์ชั่น 90 นั้นทำออกมาสร้างสรรค์ น่าจดจำกว่าเวอร์ชั่นสร้างใหม่อย่างภาค Crystal โดยส่วนที่กินขาดอย่างเห็นได้ชัดคือในส่วนของงานศิลป์ หลังจากที่ย้อนกลับมาดูเวอร์ชั่น 90 ตั้งแต่ภาคแรกจะพบว่างานศิลป์ของเซเลอร์มูนนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ทั้งการเลือกใช้สีต่างๆ ที่ตัวละครนั้นจะมีสีสันฉูดฉาดตัดกับฉากที่จะดึงสีดรอปลงมา การคลุมโทนสีสว่างฟ้า เหลือง เขียวในช่วงกลางวัน และคลุมโทนสีน้ำเงินในช่วงเวลากลางคืนแทนที่จะเป็นโทนดำ ซึ่งแสงเงาหนักๆ และโทนดำจะใช้กับฝั่งตัวร้ายเท่านั้น ที่โดดเด่นและถูกกล่าวถึงมากๆ ก็คือการวาดฉากหลังที่เป็นสไตล์ภาพสีน้ำที่ดูสบายตา มีความสมจริงและไม่สมจริงรวมๆ กันอยู่ ซึ่งหากเทียบกับภาค Crystal ที่คุณภาพงานอนิเมตจะสูงขึ้นตามเทคโนโลยีของยุค แต่ในเชิงงานศิลป์ งานดีไซน์กลับไม่มีความโดดเด่นที่ทำให้น่าจดจำกว่าอนิเมะเรื่องอื่นเลย ไม่รวมถึงภาษาการเล่าแบบหนัง ชอตดีไซน์ต่างๆ และการใส่ซิมโบลิคนั้นเวอร์ชั่น 90 ก็ยังเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเรื่องนี้พิสูจน์ได้ง่ายนิดเดียวแค่เปรียบเทียบกันจาก Opening ของเวอร์ชั่นดั้งเดิมกับเวอร์ชั่นใหม่ก็จะรู้ทันทีว่าอันไหนน่าจดจำกว่ากัน

อีกองค์ประกอบที่ทำให้กลายเป็นตำนานที่ขาดไม่ได้ก็คือเพลงประกอบ ตั้งแต่เพลงเปิดอย่าง Moonlight Densetsu ที่ติดหูมากๆ ตั้งแต่อินโทร และเข้ากับบรรยากาศของเรื่องที่มีความลึกลับ ชวนฝัน เทพนิยาย และความเป็นผู้หญิงมากๆ ของเรื่อง ดนตรีประกอบในเรื่องหรือ Background Music ต่างๆ ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน อย่างเพลงแปลงร่าง เพลงตอนสู้ที่สนุก มีความแจ๊ส ฟังเพลินแม้แต่ตอนนี้ โดยเพลงที่ผมชอบที่สุดก็คือเพลงธีมของหน้ากากทักซิโด้ที่แต่ละตอนโผล่ออกมาไม่กี่โน้ตแล้วก็จบ แต่จำฝังหัวมากๆ

เหนือกว่าการปกป้องโลกคือการเติบโตของเด็กสาว

ถึงพล็อตหลักๆ ของเซเอลร์มูนจะเป็นการต้องต่อสู้กับเหล่าร้ายที่หมายจะยึดครองโลกหรือทำลายโลก แต่หัวใจหลักที่แท้จริงของเซเลอร์มูนคือเรื่องการเติบโตของเด็กสาววัยรุ่น ดังนั้นพล็อตในแต่ละตอนจึงมักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเด็กสาววัยเรียน ทั้งการเรียนพิเศษ ความอยากสวยและหุ่นดี การอยากให้เพศตรงข้ามสนใจ ความฝันและอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนผู้หญิง ซึ่งทั้งอุซางิและเพื่อนๆ มักจะต้องคลี่คลายปัญหาในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นเหล่านี้ให้ได้ก่อนที่จะไปปกป้องโลกได้ ก็เป็นการตอบโจทย์ในเรื่องที่ใช้ชุดเซเลอร์ที่อิงจากชุดนักเรียนหญิงญี่ปุ่นเป็นยูนิฟอร์มในการแปลงร่างเป็นสาวน้อยเวทมนตร์”

“เด็กสาวจงเป็นเด็กสาว” เพราะในอนิเมะส่วนใหญ่ที่เล่าในกรอบของผู้ชาย ตัวละครหญิงสาวมักจะถูกกดให้อยู่ในมายาคติของสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ต้องน่ารัก สุภาพเรียบร้อย มีความเป็นกุลสตรีน่าหลงใหล แต่กับเซเลอร์มูนนั้นได้เปิดโอกาสให้เด็กสาวได้เป็นเด็กสาวอย่างที่เป็นจริงๆ ที่เห็นได้ชัดคือ ความบ้าผู้ชาย ซึ่งก็อาจโดนสังคมมองว่า ”แรด” ได้ แต่เด็กสาววัยรุ่นจริงๆ มันก็แบบอุซางิและผองเพื่อนนี่แหละ ดังนั้นอนิเมะเรื่องนี้จึงเป็นการบอกกับเด็กสาวทุกคนว่า “จงแรดซะ อยากสวยและหมกมุ่นในความรักไปเถิด ไม่ต้องอายหรือกลัว ทำตามความต้องการและเป็นตัวของตัวเองเถอะ เพราะชีวิตวัยรุ่นมันมีแค่ครั้งเดียว”

อนิเมะสำหรับทุกคน

เซเลอร์มูนนั้นถูกจดจำต่อคนทั้งโลกในฐานะที่เป็นอนิเมะที่ empower พลังหญิงและ LGBTQ+ มอบทั้งพลังและแรงบันดาลใจให้ทั้งสองกลุ่มนี้มาตลอด 30 ปี แต่ก็ย้ำอีกทีว่าเซเลอร์มูนนั้นเหมาะสำหรับผู้ชมทุกคน เพราะเหตุผลง่ายๆ ว่า มันสนุก! มันตลก! มันซึ้งดราม่า! มันโรแมนติก! มันแอคชั่น! มีโมเมนต์หรือฉากประทับใจมากมาย มีตัวละครที่เรารัก และองค์ประกอบต่างๆ ที่บอกได้ว่า เลิศค่ะ! จึงไม่แปลกเลยที่อนิเมะเรื่องนี้จะยังอยู่ในใจคนจนถึงตอนนี้ ซึ่งในยุคนี้ตัวผู้เขียนเองก็ไม่อายกลัวจะโดนล้อที่จะบอกว่าตัวเองเป็นติ่งเซเลอร์มูนอีกต่อไปแล้ว และลึกๆ ก็อยากหยิบคฑามาแปลงร่างแล้วเต้นเพลง Moonlight Densetsu ให้สาแก่ใจ

RELATED ARTICLES