เหตุเกิดจากความเหงา เมื่อ “เขียว” กลายเป็นสีของ “หนังคนเหงา”

ในตอนจบของ Paris, Texas หนังเหงาสวยสดงดงามของ วิม เวนเดอร์ส เราเห็น “เทรวิส” พระเอกขี้เหงายืนอยู่เดียวดายในที่จอดรถว่างเปล่าซึ่งอาบไปด้วยแสงสีเขียวจัด ตาของเขาจ้องมองขึ้นไปยังหน้าต่างห้องพักที่เปิดไฟสว่าง บนนั้นมีเมียกับลูกและความรักความอบอุ่น – สิ่งที่คนอย่างเขาได้แค่ปลีกตัวยืนมองอยู่ห่างๆ เพราะรู้ตัวดีว่าไม่มีวันครอบครองมันได้

แสงสีเขียวจากไฟนีออน เป็นสัญลักษณ์และภาพจำของ “คนเหงาในเมืองใหญ่” ได้อย่างไร และถูกใช้แบบไหนบ้างในหนัง …Film Club ชวนไปสำรวจบางตัวอย่างกัน

ภาพ Nighthawks (1942) ของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ เป็นที่พูดกันว่า เป็นภาพแรกๆ ที่นำแสงสีเขียวมาใช้ถ่ายทอดความรู้สึกแปลกแยกของคนเมือง (urban alienation) ได้อย่างเด่นชัด แสงเขียวที่ว่านี้มาจากไฟนีออนอันมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาสู่ความเจริญแบบอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ ในภาพนี้เราเห็นคนสี่คนที่เหมือนอยู่ใกล้ๆ กัน แต่ทุกคนกลับมีท่าทีล่องลอยห่างเหินและไม่มีใครมีปฏิสัมพันธ์กันเลย

นอกจากเป็นจิตรกรดัง ฮอปเปอร์ยังเป็นคอหนังตัวยงด้วย เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเวลาไม่ได้วาดรูป เขาจะไปดูหนังอย่างน้อยสัปดาห์ละเรื่อง งานภาพของเขาได้รับอิทธิพลในการใช้คอนทราสต์แสงเงาชัดๆ มาจากหนังฟิล์มนัวร์ และในทางกลับกัน ภาพที่เขาวาดก็ทรงอิทธิพลต่อคนทำหนังมากมาย แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือ วิม เวนเดอร์ส

ด้วยอิทธิพลของฮ็อปเปอร์ สีเขียวกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความแปลกแยกของคนเมืองในหนังหลายเรื่อง เช่น Taxi Driver (1976, มาร์ติน สกอร์เซซี) เมื่อ เทรวิส บิกเคิล คนขับแท็กซี่ผู้เปล่าเปลี่ยวขับรถคู่ใจออกท่องนิวยอร์กยามค่ำคืน เคลื่อนผ่านไฟที่แม้เจิดจ้าทั่วเมืองแต่กลับเต็มไปด้วยความรู้สึกไร้ชีวิตชีวาและว้าเหว่ เน้นภาวะของตัวละครที่ “อยู่ลำพังท่ามกลางผู้คน” ได้เป็นอย่างดี

อารมณ์เหงาๆ นัวร์ๆ แบบเขียวๆ พบได้เช่นกันใน Blade Runner (1982) ซึ่งผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ ให้สัมภาษณ์ว่า มีภาพ Nighthawks เป็นต้นแบบในการสร้างบรรยากาศในหนังด้วย เราจะเห็นภาพแอลเอยุคอนาคตแบบดิสโทเปียที่คลุมด้วยแสงและควันอมเขียวทั่วทั้งเมือง

สีเขียวในความหมายป่วงๆ ยังย้อนกลับไปเจอได้ใน Vertigo (1958) หนังเหงาๆ ของ อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก ซึ่งสีเขียวถูกใช้แทนทั้งความปรารถนาที่ไม่อาจเป็นจริงและความทรงจำที่เลวร้าย โดยเฉพาะฉากตอนท้ายที่พระเอกเผชิญหน้ากับร่างของแฟนสาวผู้ล่วงลับซึ่งตามหลอกหลอนเขามาตลอดทั้งเรื่อง ฉากนี้อาบไปด้วยแสงสีเขียว แล้วสาดย้ำด้วยเสียงสกอร์ของ แบร์นาร์ด แฮร์มานน์ ขับเน้นความผิดเพี้ยนอย่างสุดขั้ว

ข้ามมาดู Amélie หนังฝรั่งเศสปี 2001 ของ ฌ็อง-ปีแอร์ เฌอเนต์ บ้าง เราจะเห็นกรุงปารีสในฐานะเมืองใหญ่แสนเจริญที่ผู้คนกลับมีชีวิตอยู่อย่างสุดเหงา “อาเมลี” นางเอกของเราเป็นเด็กหญิงที่เสียแม่ไปตั้งแต่เด็กและโตมาเป็นสาวเสิร์ฟขี้อายนิสัยพิลึกที่ใฝ่ฝันจะได้ครองคู่กับชายหนุ่มผู้อาจจะรักในความเป็นเธอ

อาเมลีใส่ชุดสีแดงโดดเด่นทั้งเรื่อง ดูสดใสแต่กลับแปลกแยกเสมอจากสภาพแวดล้อมซึ่งมากมายไปด้วยสีเขียว แต่ที่น่าสนใจคือ เขียวใน Amelie ไม่ใช่ทั้งเขียวเย็นชา ขณะที่ก็ไม่ใช่เขียวชุ่มฉ่ำเป็นธรรมชาติ เพราะหนังจงใจใช้ทั้งการกำกับภาพ, การเกรดสี, โปรดักชั่นดีไซน์ และการสร้างตัวละครที่ก้ำกึ่งกับความเพ้อฝัน เพื่อเล่าเรื่องของบรรดาคนแปลกประหลาดในเมืองใหญ่ด้วยท่าทีทั้งเศร้าและร่าเริงไปพร้อมกัน หรือดังที่นักวิจารณ์ Mark Steyn เขียนไว้ว่า “นี่เป็นหนังฟีลกู๊ด ในแง่ที่มันทำให้เรารู้สึกดีต่อสิ่งซึ่งปกติแล้วหนังฝรั่งเศสมักทำให้เรารู้สึกแย่” (https://www.steynonline.com/7045/amelie)

ใน The Shape of Water หนังปี 2017 ของ กีเยอร์โม เดล โตโร ว่าด้วยความรักของหญิงสาวกับสัตว์ประหลาดซึ่งเป็น “คนนอก” ของสังคมด้วยกันทั้งคู่ สีเขียว-แดงก็ถูกใช้อย่างน่าสนใจ เขียวมีความหมายถึง “ความสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน” หรือ “ความเป็นธรรมชาติ / เป็นพวกเดียวกัน” (สัตว์ประหลาดพระเอกของเรื่องถูกขังไว้ในห้องสีเขียว, เอลิซ่านางเอกสวมชุดเดียว) ขณะที่สีแดงถูกใช้แทนความรัก ความจริง และความแตกต่าง (เอลิซ่าเปลี่ยนมาสวมชุดสีแดงเมื่อค้นพบความรักแท้ ฯลฯ)

แสงเขียวอมเทาฟ้าในความหมายของโลกที่น่าอึดอัด ไร้ชีวิตชีวา ซึ่งมนุษย์ต้องทนอยู่อย่างไร้ความสุข น่าจะเห็นได้ชัดที่สุดใน The Matrix ซึ่ง บิลล์ โพป ผู้กำกับภาพ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ในอันจะทำให้เดอะเมทริกซ์ในหนังเรื่องนี้ดูแตกต่างจาก ‘โลกความเป็นจริง’ เราใช้วิธีออกแบบสีของหนังเข้าช่วย โลกความเป็นจริงจะดูเป็นธรรมชาติกว่า อมฟ้ากว่า ดูเหมือนบ้านแม้จะไม่น่าสบาย ขณะที่ในเดอะเมทริกซ์ซึ่งเป็นโลกปลอมที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์นั้นเป็นโลกที่เสื่อมโทรม เราจึงใช้สีเขียวที่ให้ความรู้สึกชืดชา น่าสะอิดสะเอียน”

สีเขียวที่ถูกใช้เพื่อให้เมืองดูเย็นชา น่าเบื่อหน่าย และไม่เป็นมิตรกับมนุษย์ เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในหนังอีกมากมาย เช่น Naked (1993, ไมค์ ลีห์), In the Mood for Love (2000, หว่องกาไว), The Machinist (2004, แบรด แอนเดอร์สัน) ซึ่งล้วนมีตัวละครหลักที่จมอยู่กับความทุกข์และว้าเหว่

ใน Shame (2011, สตีฟ แม็กควีน) ก็เช่นกัน แบรนดอน เป็นชายหนุ่มที่ใช้ชีวิตตามลำพังในอพาร์ตเมนต์หรูแต่โล่งว่าง แวดล้อมด้วยผนังขาวและแสงเขียวชืดชา ตลอดทั้งเรื่องเราได้เห็นเขาพยายามต่อสู้กับความเปล่าเปลี่ยวนี้ด้วยการหันเข้าหาเซ็กซ์ แต่แล้วมันกลับยิ่งทำให้เขาเหงาและแปลกแยกจากเมืองใหญ่ที่เขาอาศัยอยู่มากขึ้น

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES