In the Mood For Love รำลึก …มาสเตอร์พีซไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

ผู้หญิงคนนั้นเก็บตัวเงียบตามลำพัง เลี่ยงหลบเสมอเมื่อได้รับคำเชื้อเชิญร่วมโต๊ะอาหารกับเพื่อนบ้าน เพียงคนเดียวที่มีโอกาสใกล้ชิดเธอคือชายข้างห้อง แต่สัมพันธ์ต้องห้ามของทั้งคู่ซึ่งต่างมี “เจ้าของ” แล้วนี้จำต้องถูกเว้นระยะห่าง ก่อนลงเอยด้วยความพลัดพรากและเหลือไว้เพียงความทรงจำถึง “โมงยามแห่งห้วงรัก”

“นี่คือหนังที่ทำยากที่สุดในชีวิตคนทำหนังของผม” หว่องกาไวเขียนถึง In the Mood For Love เรื่องนี้ไว้แบบนั้นในเอกสารเบื้องหลังหนังที่แจกในเทศกาลหนังเมืองคานส์ วันเปิดฉายครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว …และนี่คือคำบอกเล่าของเขา ถึงความเป็นมาของหนังในดวงใจใครหลายคนเรื่องนี้

(*เรียบเรียงใหม่จาก “ศิลปะของโลภและละ ใน In the Mood For Love ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร BIOSCOPE ฉบับที่ 3 ปีพ.ศ. 2544)

เริ่มด้วย “เพลง” ไม่ใช่ “บท”

“โดยปกติแล้ว หนังของผมมักเริ่มต้นจากเพลง เพราะทำให้ผมจับทางอารมณ์ที่อยากทำได้ถูก ยิ่งถ้าถึงเวลาต้องอธิบายให้ทีมงานเข้าใจหนังเรื่องนั้นด้วยแล้วล่ะก็ เพลงช่วยได้ดียิ่งกว่าบทเสียอีก เพราะคนฟังรับรู้ได้ทันทีทั้งอารมณ์และจังหวะของมัน

เพื่อนผมคนหนึ่งเขียนเพลงให้ผู้กำกับอีกคน ซึ่งมีอยู่แทร็คหนึ่งที่ผมชอบหยิบมาเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมถามเขาว่า ช่วยทำแบบนี้ให้อีกสักเพลงได้ไหม เขาตอบว่า ‘จะทำงั้นทำไมให้ยุ่งยากล่ะ นายเอาเพลงนี้ไปใช้เลยก็ได้’

นั่นแหละคือเหตุผลที่มันกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของ In the Mood For Love …เพลงนี้คลาสสิกมาก เป็นวอล์ตซ เห็นภาพคนสองคนเต้นรำด้วยกันรอบแล้วรอบเล่า ซึ่งก็กลายมาเป็นโมทิฟ (motif) ของหนังเรื่องนี้นั่นเอง”

มันเป็นเรื่องของอะไรกันแน่

“ว่ากันตามจริง ผมไม่ใช่คนเขียนบทที่ดีเท่าไหร่ เหตุผลที่ผมต้องลงมือเขียนเองก็เพราะไม่มีใครอยากทำงานให้ผมเลย และอย่างที่รู้กันว่า คนเขียนบทจะชอบทิ้งร่องรอยที่บ่งบอกความเป็นตัวเองไว้ในงานที่เขียน แต่ผมไม่อยากทำอย่างนั้น เพราะไม่คิดว่าหนังควรมีอะไรโดดเด่นออกมาเกินหน้าองค์ประกอบอื่นๆ ทุกอย่างควรต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน…อย่างพอเหมาะด้วย

แรกเลย ผมจึงต้องจับโทนหนังออกมาให้ได้ก่อน มันใช่เรื่องของชู้รักมั้ย? ผมไม่คิดงั้นนะ หนังน่าจะมีอะไรมากกว่า …หรือเป็นเรื่องของชีวิตแต่งงาน? ผมว่ามันมากกว่านั้นอีก …แล้วก็เป็นเรื่องของช่วงเวลาหนึ่งรึเปล่า? คงใช่ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้คือประวัติศาสตร์บทหนึ่ง และก็คิดว่าความโรแมนติกของมันไม่ได้อยู่ที่ตัวละครทั้งสองด้วย แต่แน่นอน นี่คือหนังที่โรแมนติกมาก เพราะถ่ายทอดช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ของฮ่องกง ซึ่งสูญหายจากความทรงจำของพวกเราไปหมดสิ้นแล้ว

ตอนที่ทำ Days of Being Wild เมื่อสิบปีก่อนนั้น ผมคิดว่าการสร้างอะไรสักอย่างให้เหมือนจริงคงเป็นสิ่งที่น่าเบื่อมาก เราจึงพยายามคิดค้นของใหม่ๆ ไม่เว้นกระทั่งการจัดแสง แต่สำหรับ In the Mood For Love ผมกลับนึกอยากทำหนังให้เหมือนฮ่องกงปี 1962 ให้มากที่สุด เพราะผมอยากทำหนังว่าด้วยวัยเด็กของผมเอง ว่าด้วยผู้คนที่ผมรู้จักและชื่นชอบ แล้วก็ว่าด้วยเพื่อนบ้านเรือนเคียงซึ่งทุกวันนี้เราไม่มีกันแล้ว ผมอยากบันทึกสิ่งที่หายไปแล้วจากชีวิตของเราเหล่านี้นี่แหละ”

ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้คือประวัติศาสตร์บทหนึ่ง และก็คิดว่าความโรแมนติกของมันไม่ได้อยู่ที่ตัวละครทั้งสองด้วย แต่แน่นอน นี่คือหนังที่โรแมนติกมาก เพราะถ่ายทอดช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ของฮ่องกง ซึ่งสูญหายจากความทรงจำของพวกเราไปหมดสิ้นแล้ว

เรื่องกำหนดวิธีเล่า ตัวละครกำหนดมุมมอง

“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงรู้แล้วว่า หนังจะต้องไม่ใช่เรื่องของชู้รักอย่างเดียว และก็ตัดสินใจแล้วว่าผมจะไม่เล่าถึงตัวละครสามีภรรยาของแต่ละฝ่ายเลย เพราะนั่นจะทำให้เราจำต้องตัดสินพิพากษาบางอย่าง เช่นว่า ตัวสามีเป็นผู้ชายที่แย่มาก, เขาทำเรื่องผิดๆ, เขาหลอกลวง และ… อะไรต่ออะไรที่ล้วนแต่น่าเบื่อทั้งนั้น เพราะมีคนเล่ากันมาเยอะแล้ว และผมก็มองไม่เห็นเลยว่าจะมีเวอร์ชั่นไหนให้พอเรียกเป็นข้อยกเว้นได้อีก

แต่สิ่งที่ผมยังจำเป็นต้องมีก็คือ มุมมอง ผมจึงตัดสินใจให้กล้องทำหน้าที่เสมือนเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่คอยลอบมองตัวละครนำทั้งคู่ ดังนั้น กล้องจึงมักซ่อนอยู่หลังอะไรสักอย่าง หรือไม่ก็จ้องมองอยู่ห่างๆ เพื่อให้เรามีระยะสำหรับการเฝ้าดูชีวิตประจำวันของพวกเขา …เธอกลับจากทำงานหรือยังนะ? เข้าไปในครัวแล้วหรือ? เธอชอบรสชาติน้ำชานั่นไหม? และเธอทำท่าไม่อยากเตร่อยู่แถวนั้นอีก แต่อยากกลับเข้าห้องไปแทน ก็เพราะเธอไม่อยากเผยความรู้สึกของเธอให้เพื่อนบ้านรับรู้ …เมื่อผมเข้าใจดีแล้วว่าตัวละครใช้ชีวิตอย่างไร ผมก็รู้ได้ว่า ควรทำอย่างไรเพื่อถ่ายทอดมันออกมา

ในตอนแรก หนังเรื่องนี้เปรียบเหมือนดนตรีแชมเบอร์สำหรับผม นั่นคือ ทุกฉากล้วนเกิดขึ้นภายในห้อง ในร้านก๋วยเตี๋ยว ภัตตาคาร ในบ้าน หลังทำ Happy Together เราตั้งใจว่าจะทำหนังใหม่ที่ง่ายกว่า เล่าเรื่องง่ายๆ โดยใช้พระเอกนางเอกที่เราคุ้นเคยและก็ถ่ายกันแต่ในฉากฮ่องกง แต่พอถ่ายทำจริงๆ ผมกลับเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวละครคู่นี้ เมื่อสามีภรรยาของแต่ละฝ่ายหายตัวไป และผมเริ่มโลภมากขึ้นทุกทีๆ ผมอยากเห็นเพิ่มขึ้น อยากเห็นถนนหนทาง อยากเห็นที่ทำงานของพวกเขา และอยากเห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างนอกฮ่องกง ทั้งในสิงคโปร์และกัมพูชา ทุกอย่างเริ่มโตขึ้นและเราก็เริ่มอึดอัดกับการต้องอยู่ภายในห้องที่ซึ่งเราถูกเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดจากสายตาเพื่อนบ้าน”

สิ่งที่ผมยังจำเป็นต้องมีก็คือ มุมมอง ผมจึงตัดสินใจให้กล้องทำหน้าที่เสมือนเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่คอยลอบมองตัวละครนำทั้งคู่ ดังนั้น กล้องจึงมักซ่อนอยู่หลังอะไรสักอย่าง หรือไม่ก็จ้องมองอยู่ห่างๆ เพื่อให้เรามีระยะสำหรับการเฝ้าดูชีวิตประจำวันของพวกเขา

จักรวาลอันหยุดนิ่งของคนมีความรัก

“ผมรู้สึกว่าผมควรเล่าหนังเรื่องนี้เช่นเดียวกับนิยายยุคศตวรรษที่ 18 เพราะผู้คนในขณะนั้นมีความพากเพียรมากในการเขียนและการอ่านหนังสือ ผมเชื่อว่า หากตัวเองคิดแต่งนิยายสักเรื่องก็คงหนีไม่พ้นวิธีเดียวกันนี้ ไม่ใช่ด้วยปากกา แต่ด้วยกล้อง เราไม่อาจแสดงความโดดเด่นของเสื้อผ้าตัวละครแบบนี้ได้ในหนังสือ อาจทำได้แค่บรรยายถึง แต่ก็ยังต่างกันมากเพราะภาพ ร่างกาย และการเคลื่อนไหวสามารถสื่อบางอย่างกับคุณได้มากกว่า ผมเองนั้นพยายามเสมอที่จะสร้างความรู้สึกถึงวิถีชีวิตซ้ำซากคุ้นชินในหนังของผม ทั้งด้วยการใช้ภาพ มุมกล้อง และเพลง เพราะผมคิดว่า เราส่วนใหญ่ล้วนมีวิถีซ้ำๆ ในชีวิตประจำวันของเราเสมอ และต้องพึ่งบางสิ่งบางอย่างที่เข้มแข็งมาก –อย่างเช่น ความรัก- จึงผลักดันให้เราเคลื่อนสู่วงโคจรที่ต่างออกไปได้

หนังของผมส่วนใหญ่เป็นหนังรัก ผมจึงต้องใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของความสัมพันธ์ เพราะสำหรับคู่รักสักคู่นั้น…โลกภายนอกเสมือนหยุดการเคลื่อนไหวและไร้เหตุการณ์ใดเกิดขึ้น แต่ความเป็นจริงคือ แม้พวกเขาจะตกอยู่ในวงล้อมของตัวเอง ขณะเดียวกันนั้นก็ย่อมเกิดสิ่งสำคัญมากมายรอบตัวที่ส่งผลกระทบต่อคนอีกหลายคน ผมอยากสร้างความรู้สึกนับแต่แรกเริ่มที่พวกเขาเป็นราวกับจุดศูนย์กลางของจักรวาล จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายขอบเขตให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับเราเห็นภาพโคลสอัพแล้วตามด้วยภาพมุมกว้าง จนท้ายที่สุดก็เห็นว่า แท้จริงแล้วพวกเขาเพียงยืน ณ จุดศูนย์กลางของตัวเองเท่านั้น”

ผมคิดว่า เราส่วนใหญ่ล้วนมีวิถีซ้ำๆ ในชีวิตประจำวันของเราเสมอ และต้องพึ่งบางสิ่งบางอย่างที่เข้มแข็งมาก –อย่างเช่น ความรัก- จึงผลักดันให้เราเคลื่อนสู่วงโคจรที่ต่างออกไปได้

การถ่ายทำอันยาวนาน

“ผมชอบเรื่องสั้น –ทุกวันนี้เราไม่มีเรื่องระดับเอพิกกันแล้ว- และคิดว่าหนังเรื่องนี้คงไม่แพงนัก และคงใช้เวลาถ่ายแค่ 2-3 เดือน แต่แล้วผมกลับพบว่า มันยากเหลือเกิน ลงท้ายต้องทำกันถึง 15 เดือน ปัญหาแรกเลยคือนายทุนของเราถอนตัวไปหลังเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจทั่วเอเชีย ทำให้เราต้องหยุดการถ่ายทำเพื่อหาทุนเพิ่ม แถมตอนนั้นยังเลยกำหนดปิดกล้องมาแล้วตั้ง 3 เดือน จนผมติดคิวทำหนังอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเลื่อนไปไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ จางมั่นอวี้ และ เหลียงเฉาเหว่ย ก็ยังมีงานอื่นรออยู่

แต่แม้ทุกอย่างจะรัดตัว เมื่อเรากลับมาถ่ายต่อ ทุกคนก็ยังขอเวลาที่จะปรับและคำหาอารมณ์ที่ใช่ แทนที่จะเร่งรีบถ่ายกันอย่างเดียว นักแสดงของผมต้องการความมั่นใจว่าตัวละครเป็นอย่างไรกันแน่ เขาอยากแสดงอย่างเข้าถึง แต่ผมกลับอยากให้เขาแค่เป็นตัวของตัวเอง และคอยมีปฏิกิริยาต่อสภาพแวดล้อมและรูปลักษณ์ของตัวเองก็พอ ซึ่งนั่นทำให้จางมั่นอวี้มีรูปลักษณ์เฉพาะ ทั้งด้วยเสื้อผ้าและทรงผมที่ล้วนส่งผลต่อท่าทางและความรู้สึก จำเป็นต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจับทางอารมณ์ของตัวเองได้ถูก

นักแสดงของผมต้องการความมั่นใจว่าตัวละครเป็นอย่างไรกันแน่ เขาอยากแสดงอย่างเข้าถึง แต่ผมกลับอยากให้เขาแค่เป็นตัวของตัวเอง และคอยมีปฏิกิริยาต่อสภาพแวดล้อมและรูปลักษณ์ของตัวเองก็พอ

ผมเริ่มต้นหนังเรื่องนี้ด้วยโครงเรื่องกับไอเดีย แต่ไม่รู้เลยว่าอยากได้อะไรจากมันกันแน่ ผมเริ่มจากการใส่อะไรต่ออะไรเข้ามามากมาย แล้วก็ค่อยๆ ปลดทิ้งไปทีละอย่าง ตามกระบวนการของการลดทอน เพราะผมรู้ว่าผมไม่อยากได้อะไร แต่หารู้ไม่ว่า แล้วอะไรล่ะที่อยากได้ …ผมกำลังค้นหาคำตอบของคำถามนี้อยู่ด้วยตัวของผมเอง

การต้องทิ้งอะไรไปนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะทุกช็อตเราต้องใช้ทั้งความพยายาม เวลามากมาย และเงินทองอีกไม่น้อยกว่าจะทำสำเร็จ ครั้นตัดต่อมันไว้ด้วยกันก็ดูดี แต่แล้วเรากลับต้องมาตัดมันทิ้ง ซึ่งผมคิดว่าช่างเป็นกระบวนการที่โง่มาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคุ้มค่าที่จะลอง

ฉะนั้น สิ่งที่ผมตั้งใจในวินาทีแรกว่าจะเป็นเพียงมื้อด่วนในแม็คดอนัลด์ ก็กลับกลายสภาพเป็นงานเลี้ยง …เป็นปาร์ตี้ยักษ์ที่มีแขกถึงครึ่งร้อยไปจนได้!”


หมายเหตุ : นิตยสาร Empire จัดให้ In the Mood For Love ได้อันดับ 42 ในลิสต์ “100 หนังโลกที่ดีที่สุด”, Entertainment Weekly ให้มันอยู่ในอันดับ 95 ของ “100 หนังที่ดีที่สุดช่วงปี 1983 – 2008”, Time Out New York ให้มันติดหนึ่งใน “5 หนังดีที่สุดแห่งทศวรรษ”, นักวิจารณ์ Sight & Sound ทำโพลหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลและมันติดอันดับ 24, โซเฟีย คอปโปลา บอกว่านี่คือแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอตอนทำ Lost in Translation, เทศกาลหนังปูซานจัดมันไว้ในอันดับ 3 ของ “100 สุดยอดหนังเอเชีย” และบีบีซีให้มันอยู่ในอันดับ 2 ของ “100 หนังดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21”

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES