CINEMA NOSTALGIA : EMMANUELLE

Emmanuelle น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่มีการฟอร์ม facility ผู้ประสานงานฝ่ายไทยจนเกิดเป็นระบบ (ยิ่งเป็นในรายของ Emmanuelle ด้วยแล้ว ทุกอย่างเป็นจริงขึ้นได้ก็ด้วยความอนุเคราะห์แบบไม่ออกตัวโดยอัศวินภาพยนตร์) https://www.bangkok101.com/emmanuelles-bangkok/

แล้วหลังจากนั้นกองถ่ายหนังนอกก็จะค่อย ๆ ทยอยยาตราเข้ามาพึ่งโลเคชั่นในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าเศร้าใจคือ เวลาอ้าง port ผลงาน กลายเป็นว่าตัว Emmanuelle กลับถูกละเลย จนแทบไม่พบในโปรไฟล์ที่ใด ๆ หน่วยงานภาครัฐยิ่งแล้วใหญ่ (ทั้งททท. +กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา) ที่มองไม่เห็นเรื่องนี้เหมือนไม่มีอยู่จริง เพราะเรื่องนี้อย่าว่าแต่ชาวต่างชาติ คนของเราเองแท้ ๆ ยังอยากเดินทางตามรอยโลเคชันที่หนังเคยมาถ่าย ทว่าต่างกันที่ของฝรั่งเป็นเรื่องของพื้นที่ คืออยากมาเห็นของจริง แต่ของไทยกลายเป็นเรื่องเวลาและความรู้สึก ถวิลหาอดีต เพราะขนาดไทม์-ไลน์เดียวกัน เอาแค่ตลาดน้ำวัดไทรอย่างเดียว เชื่อว่ามีการซ้อนทับจักรวาลของหนังไม่ต่ำกว่าสามเรื่องคือ มีทั้ง The Man with the Golden Gun, เรื่องนี้ แล้วก็ ‘หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง’

คำถามต่อมา (ซึ่งไม่ใช่ความมหัศจรรย์ที่พอนางเอกลงเครื่อง แล้วไปโผล่วงเวียนโอเดียน, วกเข้าย่านฝั่งธน ก่อนจะไปจบเอาที่เรือนทรงไทยที่เชียงใหม่ โดยเส้นเรื่องเค้าสมมติว่าที่เห็นมาทั้งหมด เกิดขึ้นใน bangkok ล้วน ๆ) ซึ่งไม่น่าแปลกใจตรงไหน แต่ที่น่าสงสัยกว่า ทำไมไม่จัดเรื่องนี้อยู่ในกลุ่ม LGBT ในเมื่อหนังใส่ฉากหญิงรักหญิงด้วยอัตราส่วนเกินกว่าครึ่งของซีนอีโรติคทั้งเรื่องมารวมกัน ขณะที่ซีนกับผู้ชายแท้ ๆ กลับใส่เข้ามาเหมือนกับไม่อยากให้เห็นซะยังงั้น

ขณะที่ทีมสร้างได้มีส่วนโปรโมตการท่องเที่ยวให้เมืองไทย ถ้าไม่เกินความจริง จะมีหนังอยู่สองเรื่องที่ทำได้ถึงขั้นนี้คือ ทัวร์จีนที่มาตามรอย Lost in Thailand กับทัวร์ยุโรปที่มากับเรื่องนี้ คืออยากมาเห็น ‘ดินแดนแลนด์เอ็มมานูเอล’ ให้เต็มตา ทั้งในแง่ของตัว tourist site กับแหล่งลับที่ไม่ต้องมีรีวิว แต่นักท่องเที่ยวรู้จักดีไม่แพ้กัน

Emmuelle อาจสร้างแรงจูงใจให้ชาวยุโรปอยากมาเที่ยวเมืองไทย ด้วยกลยุทธที่ททท. (ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังใช้ชื่อ ‘อสท.’ นะ) เองก็คงอยากทำ เมื่อข้างหนึ่งคุณโปรโมตแหล่งท่องเที่ยว แต่ในทางกลับกัน คุณกลับปฏิบัติต่อคนทัองถิ่นในแง่มุมที่เป็นตรงกันข้าม ก็คือวิธีคิดที่มีต่อคนท้องถิ่นออกมาในแง่เหยียดหยามคือมีทั้งเด็กตื้อขายของคนที่มารุมล้อมเอ็มมานูเอลรอบรถหรู,ขอทานร่างกายไม่สมประกอบ (ซึ่งไม่รู้เหตุผลว่าผัวออกไปทำหยังข้างทาง ทำไมถึงต้องทิ้งเมียไว้กับรถ) คนท้องถิ่นที่ตัวละครในเรื่องจะให้การยอมรับก็คือบ่าวรับใช้, พนักงานทำงานบ้านที่มีกันราวห้าหกคน และมีอยู่สองที่ทำหน้าที่ fan service ทางสายตาจนพาให้หนังรอดจากการถูกจัดประเภทเข้ากลุ่มหนัง LGBT

ด้วยความที่สามีของเอมมานูเอลเป็นนักการทูตซึ่งเปิดช่องให้รับสิทธิถือครองบ้านหรูเชิงดอย สังคมของเอมมานูเอลถึงแวดล้อมไปด้วยชนชั้นที่เท่าเทียมกับเธอซึ่งเอื้อโอกาสให้มีความเหนือกว่าคนในพื้นที่ จนไม่ค่อยมีตัวละครคนเอเชียให้เห็น นอกจากเอ็กซ์ตราที่มีให้เห็นตามสถานบันเทิงซึ่งสุดท้ายก็แทบไม่ต่างอันใดกับที่เห็นเมื่อคราวเริ่มเรื่องซึ่งจบลงด้วยการให้ฌองโดนซ้อม

ฉะนั้นคนที่แวะเวียนเข้ามาใกล้ชิดเอ็มมานูเอล ถึงได้มีชนชั้นเดียวกับเธอซึ่งมีทั้งมารี-อ็องช์ (แสดงโดยคริสทีน บวสซง )เด็กแรกสาววัยเพียงสิบเจ็ด ที่ชี้ทางให้เอ็มมานูเอลรู้จักวิธีแสวงสุขจากปลายนิ้วสัมผัส, มาริอานน์ที่เป็นได้ทั้งด้านตรงข้ามแล้วก็เป็นไอดอลที่เธออยากทำให้ได้และไปให้ถึงซึ่งสุดท้ายก็คือ ‘ด้านมืด’, ขณะที่ตัวละครซึ่งเอ็มมานูเอลให้ความผูกพันเป็นพิเศษกลับเป็น ‘บี’ ซึ่งมีอาชีพเป็นนักโบราณคดีซึ่งเข้ามาพำนักในไทยเพียงช่วงสั้นๆ

ลองหลับตาสมมติเอ็มมานูเอลและตัวละครน้อยใหญ่สลัดผ้าที่สวมออก (ซึ่งของมันแน่อยู่แล้ว เพราะไม่มีใครในเรื่องหวงแหนเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีอยู่เท่าไหร่ รวมทั้งเสื้อใน) แล้วเปลี่ยนคอสตูมมาเป็นยุคศตวรรษที่สิบเก้าแทน สิ่งที่ได้คือยุคอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีน ยกเว้นเสียแต่ว่า พอทุกคนลืมตา สิ่งที่ตัวเองเคยเป็นเจ้าของ พลันหายไปจนหมดสิ้น (พอ ๆ กับเสื้อผ้าที่สวมใส่)

นี่ถ้าเป็นห้าง (ที่เจ้าของคนเดียวมีกิจการถึงสามสาขาในย่านเดียวกัน) ป่านนี้ก็คงเจ๊งไม่เป็นท่าครบทั้งสามสาขา สถานีถัดมา เจ้าของธุรกิจจึงได้เล็งเห็นทำเลใหม่เตรียมเปิดเป็นสาขาที่สี่ (แทนสามสาขาที่ปิดตัวไปตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ) ช่องทางเล็ก ๆ แคบ ๆ ช่องทางเดียวของผู้ประกอบการจึงมีอยู่แค่ความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งมีเปิดโอกาสให้ครอบครองอสังหาฯ ได้ในรูปของบ้านพัก แม้จะด้วยช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ การรุกล้ำและการใช้อำนาจเหนือดินแดนถูกเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของกามารมณ์ เอ็มมานูเอลจึงออกตามหาสิ่งที่ตัวเองขาด (ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่ากำลังขาดอะไร) จนกระทั่งค่อย ๆ มาพบคำตอบจากคู่ร่วมเสพย์ที่มีทั้งหญิงทั้งชาย

ห้างที่ว่า (สมมติมีนายห้างเป็นชาวฝรั่งเศส) สูญกิจการในย่านนี้ แถมช่วงที่เข้ามาถ่ายยังหมดโอกาสที่จะเข้าไปถ่ายในสาขาเดิมที่ปิดตัวลง (แถมในช่วงเดียวกัน สองในสามสาขาที่ปิดตัวไปก่อนหน้ายังง่อนแง่น ไม่รู้ว่าจะแตกวันแตกพรุ่ง จนกว่าจะถึงเดือนเมษายน, 1975) เหลือทำเลข้าง ๆ ซึ่งเปรียบได้กับเมืองเปิดที่พร้อมรับมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งเรื่องนี้เค้าไม่เอาเรื่องการเมืองการค้าเข้ามาสมอ้าง นอกจากเงินและกามารมณ์ล้วน ๆ

Emmanulle จึงเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะแฟนตาซีที่คนฝรั่งเศสรำลึกถึงวันเก่า ๆ ดี ๆ ของการเคยเป็นเจ้าอาณานิคมในย่านเอเชียอาคเนย์ หรือในทางกลับกัน โอกาสของการที่เคยปล่อยให้ดินแดนสยามทำหน้าที่เป็นกันชนคอยกั้นมหาอำนาจอังกฤษซึ่งมีพม่า (ขณะนั้น) กับมาเลเซีย และจะดีแค่ไหน หากดินแดนสยามจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของตนเอาในศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อไม่มีเรื่องของอาณานิคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนที่จะเข้ามาทดแทน ไม่น่าจะมีอะไรดีไปกว่ากลไกทางการทูต (ถึงอย่างไรเสีย โอกาสสร้างความสัมพันธ์ในยุคเดียวกันกับอีกสามชาติข้างๆบ้านคงทำไม่ได้อยู่แล้ว) เพราะงั้นจึงไม่แปลกที่เอ็มมานูเอล ถึงได้กลัวชาวบ้าน, ฌองถึงได้มีความสุขกับดูการโชว์ลามก ก่อนหน้าจะจบซีเควนซ์ด้วยการไปมีเรื่องชกต่อยกับคนในร้านซึ่งเป็นคนไทย ซึ่งพอกลับถึงบ้านทุกอย่างจะกลับเป็นตรงกันข้าม บ่าวไพร่, คนทำงานบ้านโดยเน้นที่สาว ๆ พร้อมจะปรนนิบัติคลายความเครียด

ย่อมไม่น่าแปลกใจที่ฉากอีโรติค ไม่ว่าจะคู่ของเอ็มมานูเอลหรือข้างของฌอง ที่โปรดัคชันจะออกมาแนวซอฟท์ ไม่มีอะไรให้เห็นถนัด ๆ แต่ถ้าถึงคู่ของชาย-หญิงคนทำงานบ้าน จะออกมาดูหื่นจนเกือบจะดูเป็นการขืนใจ โอกาสของชายฉกรรจ์ที่จะได้เข้ามามีบทบาทกับเขาบ้างในช่วงท้าย ๆ ถึงได้เข้าไปเฉียดใกล้กับการข่มขืนกระทำชำเราหมู่ เท่ากับว่าเซ็กซ์ที่ละเมียดและสุนทรีย์ (อาจรวม ‘แบบมีอารยะ’ ได้อีกอย่าง) สมควรจะอยู่กับชาวยุโรป (ดฉพ.ฝรั่งเศสด้วยกัน) มากกว่า เท่ากับว่าการเดินทางมาเมืองไทย (ที่จำเพาะเจาะจงว่าเป็น bangkok) ของเอ็มมานูเอลจึงมีค่าเทียบเท่าการแสวงหารสรักที่เต็มอิ่มซึ่งนิมิตหมายมาตั้งแต่ยังไม่แตะพื้นดีซะด้วยซ้ำ คือแค่อยู่บนไฟลท์ก็มีชายหนุ่ม (ชาวยุโรป) อาสาปรนนิบัติให้ถึงสองคนติด ๆ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่

1. ได้ลองบรรยากาศแบบ pre-exotic กันตั้งแต่ยังไม่ถึงสถานที่จริงด้วยซ้ำ (นี่ถ้าเป็น ‘บินไทย’ ด้วยจะฟินมาก,เพราะตามกม.เค้าถือว่าอยู่บนแผ่นดินสยามเหมือนกัน) แต่ยังไม่สุด เพราะแค่ลำพังที่นั่งผดส.ที่แม้จะหลับกันไปหมดทั้งลำ ก็ยังส่งเสียงได้ไม่เต็มที่ นอกจากจะไปแก้ตัวอีกครั้งในห้องน้ำกับอีกคน

2. ลองคำนึงว่าเป็นไฟลท์ขาเข้า นั่นก็หมายความว่าฝรั่งหนุ่มใหญ่สองคนที่เจอบนเครื่องย่อมมีโอกาส (บ้างไม่มากไม่น้อย) ที่จะได้ย้อนกลับมาเจอกันอีก (อย่างน้อย ๆ ก็ยังเดินป้วนเปี้ยนอยู่ในไทย) หากคนสามคนที่เข้ามาเมืองไทย ด้วยความมุ่งหวังที่ตรงกัน (sexual adventures, quest for sexual utopia) ก่อนจะจบลงด้วย sexual colonialism ยกเว้นเสียจากคนสองคน (ที่เอ็มมานูเอลเจอบนเครื่อง) อาจไม่มีตัวตนอยู่จริง เพราะไหน ๆ ประสบการณ์ครั้งสำคัญในซีนที่ว่าเกิดขึ้นในช่วงความคิดคำนึงของเอ็มมานูเอล โดยถ่ายอดออกมาใน tradition ของการแฟลช-แบ็ค

3.โอกาสของการมีประสบการณ์เซ็กซ์กับคนแปลกหน้าเชื่อว่าเป็นแฟนตาซีของนักเดินทางโดยแท้ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อหาอนาจารค่อนข้างสูง (โดยเฉพาะจากฝ่ายหญิง ในกรณีที่อีกฝ่ายไม่โอเช)

จากภาคต้นตำรับ (ก่อนจะบานปลายจนเป็นแฟรนไชส์) โดยสถานภาพเอ็มมานูเอลยังคงเป็นแค่ผู้มาเยือน, ผู้สังเกตการณ์ เผลอ ๆ เธอเข้าเมืองไทยด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันเธอก็จะค่อย ๆ ซึมซับเรียนรู้ประสบการณ์จนเชื่อว่าบทเรียนที่เข้ามาจะเพิ่มพูนความช่ำชอง แม้กระนั้นเธอก็ยังคงไม่ดูกลมกลืนไปกับพื้นที่ตามประสาสาวยุโรปทั่วไป ซึ่งฌองเองก็เป็น ที่ฮามากคือท่าสอนไหว้เพราะท่าที่ฌองสอนเองก็ยังต้องให้มีคนอื่นมาสอนมาฝึกกันอีกทอด

เซ็กซ์ในดินแดนกึ่งอาณานิคมตามความหมายของเอ็มมานูเอลจึงมีทั้งเรื่องของการเก็บเกี่ยว (จากผู้อื่น) เท่า ๆ กับที่เธอเองก็เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมากอบโกยไปพร้อม ๆ กัน จนกระทั่งเธอได้พบกับมาริโอ ตามคำชักชวนของมารีอานน์ พอได้เจอตัวเข้า เธอพบว่าภายนอกมาริโอดูไม่ต่างอะไรกับมาเฟียทางกามารมณ์ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ส่วนข้างในของมาริโอกลับล่วงเข้าสู่วัยที่ทำอะไรไม่ไหวแล้ว

ที่เอ็มมานูเอลได้กลายมาเป็นแบรนดิ้งที่สำคัญของความโชกโชนทางอีโรติค ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการทุ่มเทรับประสบการณ์ด้วยตำราเดียวกับเพศชาย คือปล่อยตัวให้อารมณ์ลื่นไหลได้ทั้งกับเพศชายแล้วก็เพศหญิงซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้หนังรอดพ้นการจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มหนังเพื่อผู้หญิงรักผู้หญิง ที่ต่อให้ลุคทรงผมซอยสั้น, แต่งหน้าเข้มเลียนแบบโครงหน้าผู้ชาย ถึงอย่างไรเอ็มมานูเอลก็ยังคงเป็น Emmanuelle ไม่มีเปลี่ยนแปลง


Cinema Nostalgia เป็นคอลัมน์พิเศษที่เราเชิญ อ.ป๊อx มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์และนักดูหนังรุ่นใหญ่ ที่ถูกเรียกกันเล่น ๆ ว่าเป็น Encyclopedia ของหนังโดยเฉพาะเรื่องที่เกียวกับการเข้าฉายในบ้านเรา ให้มาเล่าถึงภาพยนตร์เข้าไทยในอดีต ภายใต้บริบทที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเข้าฉาย หรือถ่ายทำในประเทศไทย

RELATED ARTICLES