“ฉันเชื่อว่าสิ่งที่ส่วนตัวที่สุดกับสิ่งที่การเมืองที่สุดนั้นสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก” รู้จัก ออเดรย์ ดิวาน ผกก. สิงโตทองคำที่เตรียมนั่งเก้าอี้รีเมค Emmanuelle

ออเดรย์ ดิวาน (Audrey Diwan) เป็นชื่อที่อาจจะยังไม่คุ้นหูคนทั่วไปมากนัก แต่ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส-เลบานีส เจ้าของรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิซปีล่าสุดกับ Happening (2021) หนังเกี่ยวกับการทำแท้งผิดกฎหมายในฝรั่งเศสยุค 60s ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงขึ้นมา ทั้งเพราะหนังกำลังทยอยเข้าโรงพร้อมกันในหลายประเทศ และเพราะดันเข้าฉายในอเมริกาสัปดาห์เดียวกับที่มีความเห็นจากศาลสูงสหรัฐอเมริการั่วออกมาว่าอาจมีการกลับแนวคำพิพากษา Roe v. Wade ในปี 1973 ที่ว่าผู้หญิงมีสิทธิเลือกยุติการตั้งครรภ์

เมื่อบอกว่าเป็นหนังเกี่ยวกับการทำแท้งผิดกฎหมาย หลายคนจึงนึกถึงหนังรางวัลปาล์มทอง 4 Months, 3 Weeks and 2 Days (2007, Cristian Mungiu) กับหนังรางวัลอินดีสปิริต Never Rarely Sometimes Always (2020, Eliza Hittman) และตั้งคำถามว่าเรื่องนี้จะต่างจากทั้งสองเรื่องยังไง ไปจนถึงว่าจะยังทำประเด็นนี้อยู่อีกทำไมในเมื่อฝรั่งเศสก็มีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้มาตั้งแต่ปี 1975 (ซึ่งคือ 12 ปีหลังจากเจ้าของนิยายต้นฉบับของ Happening ผ่านการทำแท้งแบบผิดกฎหมาย) แต่แม้การทำแท้งในฝรั่งเศสจะไม่ผิดกฎหมายแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นแบบนั้นทั่วโลกหรือเป็นแบบนั้นตลอดไป

ดิวานให้คำตอบชัดเจนว่า “ฉันตอบเขาไปว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นฉันก็หวังว่าคุณจะพูดแบบเดียวกันกับคนทำหนังคนอื่นที่อยากทำหนังเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วกัน … ดูสิว่าผู้หญิงมากมายแค่ไหนที่ต้องตายในสมรภูมินั้น แล้วบอกฉันที่ว่ามันไม่ใช่สงคราม นี่คือสงครามที่ไร้สุ้มเสียง” เธอว่า

“เราต่างรู้ว่าเมื่อผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำแท้งแบบถูกกฎหมาย พวกเธอก็จะไปทำแท้งแบบผิดกฎหมาย แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่ยังคงเกิดขึ้น แต่คำถามเดียวคือ ในฐานะมนุษย์ เราจะยินยอมให้ผู้หญิงก้าวผ่านความเจ็บปวดมากมายขนาดไหนกัน”

แม้ Happening จะพูดเรื่องที่เป็นสากลจนดูเหมือนจะเป็นแถลงการณ์ทางการเมืองหรือวิพากษ์เรื่องศีลธรรม แต่อันที่จริงแล้วหนังพูดเรื่องที่ส่วนตัวมากๆ เพราะเธอเองเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ผ่านการทำแท้งมาก่อน ดิวานพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอจนเมื่อสามปีที่แล้วมาเจอหนังสือปี 2001 ของแอนนี่ เออร์โนซ์ (Annie Ernaux) นักเขียนที่เธอชื่นชอบ แต่นี่เป็นเล่มที่เธอไม่รู้จักและไม่ค่อยถูกพูดถึงโดยสื่อในฝรั่งเศส

ดิวานมองว่าหนังสือเล่มนี้คือทริลเลอร์ที่มีความเป็นส่วนตัว และเธอก็อยากทำให้หนังออกมาเป็นทริลเลอร์จริงๆ เพราะสำหรับตัวละครแล้ว ทุกนาทีคือการนับถอยหลังและเธอต้องหาทางออกให้ทันท่วงที นอกจากนั้นดิวานยังรักที่ตัวละครตัดสินใจไปแล้วตั้งแต่เริ่มเรื่องว่าจะทำแท้ง ฉะนั้นนี่จึงไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่คือการทำมันให้สำเร็จเพื่อจะสามารถเดินไปสู่เส้นทางที่ตัวเองปรารถนา

Audrey Diwan

“นี่ไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับการทำแท้งผิดกฎหมาย นี่เป็นหนังสือเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้ที่ฉันรักและวิธีที่เธอพูดถึงแรงปรารถนาทางเพศและความต้องการที่จะมีความรู้ในขณะที่กำลังเธอผันตัวเองจากชนชั้นแรงงานไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อหาที่ทางของตัวเองบนโลกใบนี้ และเพื่อที่จะเดินบนเส้นทางนั้น เธอจึงต้องไปทำแท้งผิดกฎหมาย” ดิวานย้ำนักย้ำหนาว่า แม้เราจะพยายามปกปิดมันไว้ แต่ความต้องการคือส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ “ทำไมเราถึงต้องอับอายกันล่ะ ฉันคิดว่าความสุขสมมันงดงาม ส่วนความอับอายของเราเป็นผลผลิตของสังคม”

หลังจาก Happening เข้าฉายในอเมริกาไม่นาน ก็มีการประกาศออกมาที่คานส์ว่า จะมีการรีเมค Emmanuelle นิยายและหนังอีโรติกสุดฉาวจากยุค 60s-70s โดยมีดิวานรับหน้าที่ผู้กำกับ และเลอา เซดูซ์ นำแสดง ดิวานเล่าว่าโปรเจ็กต์ใหม่ที่จะเป็นหนังภาษาอังกฤษเรื่องแรกของเธอนี้ก็เป็น ‘เรื่องราวที่เล่าผ่านร่างกาย’ เช่นเดียวกับ Happening

นิยายอีโรติกเลื่องชื่อนี้ประพันธ์โดยนักเขียนชาวไทย-ฝรั่งเศส นามปากกา เอ็มมานูเอล อาร์ซ็อง (ชื่อเดิม มารยาท กระแสสินธุ์) ตีพิมพ์ในปี 1959 เล่าเรื่องของหญิงสาวที่ติดตามสามีมาทำงานที่เมืองไทยและการผจญภัยทางเพศอันโลดโผนของเธอกับชายหญิงมากหน้าหลายตาในกรุงเทพมหานคร ถูกสร้างเป็นหนังซอฟต์คอร์ที่ถ่ายทำในเมืองไทยมาแล้วในปี 1974 โดยผู้กำกับ ฌุสต์ แฌ็คแค็ง นำแสดงโดย ซิลเวีย คริสเตล หนังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเรื่องท่าทีแบบแฟนตาซีของลัทธิจักรวรรดินิยมและการดูถูกเหยียดหยามคนท้องถิ่น (อ่านเกี่ยวกับ Emmanuelle ฉบับแฌ็คแค็งได้ที่ CINEMA NOSTALGIA : EMMANUELLE) ถึงอย่างนั้นก็ขายดิบขายดีจนมีภาคต่อทั้งหนังและซีรีส์ออกมาอีกนับไม่ถ้วน

น่าติดตามว่า ในฐานะผู้กำกับที่เชื่อในเรื่องเสรีภาพและอิสรภาพของเพศหญิง ดิวานจะปั้นหนังไปในทางไหน และยิ่งน่าตื่นเต้นเมื่อทราบว่าเธอจะดัดแปลงบทร่วมกับ รีเบ็คกา ซโลทอวสกี้ (Rebecca Zlotowski) ผู้กำกับและผู้เขียนบท An Easy Girl (2019) หนัง coming-of-age ว่าด้วยฤดูร้อนอันวาบหวามของหญิงสาวแรกรุ่นอายุ 16 ที่เคยฉายในสาย Director’s Fortnight ที่คานส์ รวมถึง Grand Central (2013) และ Dear Prudence (2010) ที่มี เลอา เซดูซ์ แสดงนำ

“มันคือมุมมองแบบผู้หญิงต่อความสัมพันธ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่งมีกับเรื่องทางเพศของตัวเอง” เซดูซ์กล่าวถึง Emmanuelle เวอร์ชันที่เธอกำลังจะนำแสดง “ดิวานบอกฉันว่าเธออยากเล่าเรื่องของผู้หญิงทุกวันนี้ที่เธอพบเห็นและรู้จัก แต่กลับไม่เห็นบนจอหนัง ฉันเข้าใจว่าเธอหมายความว่าอย่างไร”

Related NEWS

LATEST NEWS