โนบุฮิโกะ โอบายาชิ “เขาวงกตแห่งโลกภาพยนตร์”

เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา โนบุฮิโกะ โอบายาชิเสียชีวิตในวัย 82 ปี ด้วยโรคมะเร็ง หลายๆ คนรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับหนังเรื่อง Hausu (1977) เขาคือหนึ่งในผู้กำกับหนังคนสำคัญของญี่ปุ่น ผู้มีผลงานถี่และต่อเนื่อง เขาไม่เคยหยุดทำหนังแม้ว่าเขาจะต้องต่อสู้กับโรคร้าย และเราเชื่อว่าถ้าคุณได้ดูหนังของเขาคุณจะพบว่าโอบายาชิเป็นผู้กำกับหนังที่ไม่มีใครและจะไม่มีใครเหมือน

โนบุฮิโกะ โอบายาชิเกิดในปี 1938 ที่เมืองโอโนมิชิ จังหวัดฮิโรชิมา เขาเป็นลูกชายคนโตของตระกูลหมอที่สืบทอดกันมาจนถึงพ่อของเขา หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวคาดหวังให้เขาเข้าโรงเรียนแพทย์และเป็นหมอต่อไป แต่ไม่นานโอบายาชิตัดสินใจไม่ฟังเสียงคัดค้านจากพ่อและเลือกเข้าเรียนสาขาศิลปศาสตร์ ซึ่งที่นั่นเองเขาได้เริ่มต้นอาชีพสายหนังและสร้างหนังทดลองจำนวนหนึ่งระหว่างที่เรียน

หลังจากเรียนจบในยุค 70 โอบายาชิเข้าทำงานในสายโฆษณา หนังโฆษณาของเขาได้รับการกล่าวขวัญเป็นอย่างมากในแง่สไตล์ภาพและการทดลอง ตลอดสายอาชีพเขาทำหนังโฆษณากว่าสามพันเรื่อง หลายเรื่องในนั้นเขาได้ร่วมงานกับดาราจากต่างประเทศมากมายไม่ว่าจะเป็น เคิร์ก ดักลาส, ชาลส์ บรอนสัน และแคทเธอรีน เดอเนิฟว์

“ผู้ใหญ่คิดถึงสิ่งที่พวกเขาเข้าใจ ทุกสิ่งทุกอย่างเลยน่าเบื่อ แต่เด็กๆ น่ะตรงกันข้าม พวกเขามักจะมีไอเดียที่เราอธิบายมันไม่ได้เสมอๆ”

สถานการณ์ในยุค 70 ของสตูดิโอใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก หนังประเภท “สนุก” “ย่อยง่าย” “ทำเงินถล่มทลาย” แบบสปีลเบิร์กมีน้อยลง รวมไปถึงการก้าวขึ้นมาของเหล่านักทำหนังสุดโต่งสายนิวเวฟในยุค 60 และพิงค์ ฟิล์มเข้ามาครองความสนใจในหมู่คนดูหนัง

ปีนั้นเป็นปี 1975 บริษัทโทโฮติดต่อโอบายาชิและมีข้อเสนอให้เขาเขียนบทหนังยาวที่คล้ายๆ “Jaws” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเขียน โอบายาชินั่งคุยกับลูกสาวที่ตอนนั้นกำลังอยู่ในวัยประถมของตัวเอง เขาถามเธอว่าอะไรคือความกลัวของเด็กสาว คำตอบที่เขาได้รับก็ยกตัวอย่างเช่น เงาในกระจกหลุดออกทำร้ายคนส่อง, แตงโมที่ชักขึ้นมาจากบ่อน้ำกลายเป็นหัวคนไล่งับหญิงสาว, บ้านที่จะกลืนกินเราเข้าไป หรือเปียโนที่หล่นลงมาทับนิ้วเราจนหลุด! โอบายาชิติดต่อกับเพื่อนนักเขียนอีกคนและเริ่มเขียนบทจากหัวข้อความกลัวของเด็กสาวและร่างแรกของ “Hausu” (House) ก็ปรากฏออกมา

โอบายาชิยื่นบทไปเสนอให้โทโฮ ก่อนที่เขาจะพบว่าไม่มีผู้กำกับคนไหนในสตูดิโอสนใจที่จะกำกับมันโดยเหตุผลที่ว่า หนังเรื่องนี้จะทำลายอาชีพของพวกเขา สองปีผ่านไปเขาเขียนบทจนเสร็จสมบูรณ์ โอบายาชิตัดสินใจที่จะกำกับหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากแฟนหนังโฆษณาของเขา Hausu ออกจัดจำหน่ายเป็นมังงะ บทถูกทำเป็นนิยาย และละครวิทยุ เพลงประกอบถูกทำและขายก่อนที่หนังจะเริ่มสร้าง ทั้งหมดเพื่อเป็นทุนให้กับหนังเรื่องนี้

Hausu ออกฉายในปี 1977 จัดจำหน่ายโดยโทโฮที่จัดมันให้ฉายควบกับหนังทุนต่ำอีกเรื่อง เพราะบริษัทมองว่าหนังเรื่องนี้ไม่น่าจะมีทางประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าพวกเขาคิดผิด Hausu ทำเงินถล่มทลายและถูกพูดถึงอย่างมากในหมู่วัยรุ่น หนังกลายสถานะเป็น cult classics ในเวลาอันไม่นาน และส่งผลให้อาชีพผู้กำกับหนังของโอบายาชิเริ่มต้นขึ้นอย่างงดงามหลังจากนั้น

โอบายาชิกำกับหนังยาวทั้งหมด 25 เรื่อง หลายเรื่องในนั้นเป็นหนังวัยรุ่น เรื่องราวของหญิงสาวผู้ได้รับพลังวิเศษ เรื่องราวของการเติบโตของเด็กผู้ชายขี้แพ้ที่ต้องคอยให้ผู้หญิงปกป้อง ความสัมพันธ์ในวัยเด็กและสงคราม

ในยุค 80 เขามีหนังไตรภาคที่ได้รับการขนานนามว่า ไตรภาคโอโนมิชิ เมืองเกิดของโอบายาชิ ได้แก่ I Are You, You Am Me (1982), The Girl Who Leapt Through Time (1983) และ Lonely Heart (1985) ทั้งสามเรื่องโฟกัสไปที่ตัวเอกสาววัยรุ่นที่ได้รับพลังงานพิเศษในแบบต่างๆ เรื่องราวเหนือธรรมชาติที่เล่าขนานไปกับการเติบโต บ้านเกิดของโอบายาชิกลายเป็นสถานที่มหัศจรรย์ การหวนคืนถิ่นและการผจญภัย เขายังเคยทำหนังท่องเที่ยวเมืองโอโนมิชิให้กับสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ในช่วงนั้น ทั้งหมดทั้งมวลแสดงให้เห็นถึงความรักในเมืองเกิดของเขาได้เป็นอย่างดี

เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในระยะที่สี่ในปี 2016 หมอบอกว่า เขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงไม่กี่เดือน และถึงอย่างไรก็ตามโอบายาชิยังคงมุ่งหน้าทำหนังต่อไป หนังเรื่องก่อนสุดท้ายของเขา Hanagatami ออกฉายในปี 2017 หนังในฝันที่เขาอยากทำมาสี่สิบปี ภาคจบของไตรภาคที่ทำมาสะท้อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 (อีกสองเรื่องก่อนหน้าคือ Casting Blossoms to the Sky (2011) กับ Seven Weeks (2014)) โอบายาชิเรียกไตรภาคนี้ว่า ไตรภาคสงคราม หนังทั้งสามเรื่องสะท้อนชีวิตวัยเด็กของเขาที่เติบโตมาในช่วงเวลานั้น

Labyrinth of Cinema (2019) เป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของเขา ถ่ายทำระหว่างที่เขากำลังต่อสู้กับโรคมะเร็ง โอบายาชิกลับไปเยือนบ้านเกิดของเขาเป็นครั้งสุดท้าย เรื่องราวของชายสามคนที่เดินเข้าในโรงหนังที่เมืองโอโนมิชิและพบว่าพวกเขาย้อนเวลากลับไปยังช่วงเวลาก่อนที่ฮิโรชิม่าจะถูกทำลายล้างด้วยระเบิดนิวเคลียร์ หนังได้รับการฉายที่ Tokyo International Film Festival และ International Film Festival Rotterdam และคงจะมีกำหนดฉายในโรงทั่วไปเร็วๆ นี้ หลังจากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น

“ขั้นตอนในการทำหนังเรื่องหนึ่งมันค่อนข้างยุ่งเหยิงมาก และผมก็ได้สร้างเจ้าปีศาจอลหม่านตนนี้ขึ้นเพื่อมอบให้แก่คนดู มันเป็นปีศาจที่ไม่มีเหตุผลไม่มีคำอธิบาย ผมเรียกมันว่า “ความโกลาหลที่น่าหลงใหล” ผมอยากสื่อสารกับคนดู ผมอยากให้คนดูเข้ามาแล้วพบว่าพวกเขาหลงอยู่ในนั้น เพื่อที่พวกเขาจะได้หาทางออก”

ส่วนสำหรับโอบายาชิแล้วหนังอาจจะคือเขาวงกตขนาดใหญ่ตามที่ เขาวงกตที่เรายินยอมพร้อมใจจะเข้าไปหลงอยู่ในนั้น เราอาจจะพูดได้ว่า ตลอดชีวิตการทำงานโอบายาชิเปลี่ยนรูปแบบของเขาวงกตแห่งนี้ไปเรื่อยๆ จนเราไม่มีทางเดาเส้นทางได้ เขาพาเราย้อนกลับไปตอนเป็นเด็กที่เราตื่นเต้นไปกับทุกสิ่งใหม่ที่ได้พบเจอ โลกของโอบายาชิเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ว่าเรื่องราวจะเศร้าโศกโลกแตกเพียงใด การชมผลงานของเขาคือ ความสุขและหรรษาอย่างแท้จริง


Hausu (1977)

นี่คือผลงานเดบิวท์เข้าสู่วงการภาพยนตร์ของโอบายาชิ หลังจากที่ทำงานเกี่ยวกับโฆษณามานานหลายปี หนังสุดคัลท์ในตำนานที่คนรักหนังหลายๆคนต่างหลงไหล ยกขึ้นหิ้งให้เป็นหนึ่งในประสบการณ์แปลกใหม่ขั้นเทพ ว่าด้วยเด็กสาววัยใสกับเพื่อนอีก 6 คน พากันไปเที่ยวพักร้อนที่บ้านคุณป้าของเธอที่ชนบท แต่พวกเธอไม่รู้เลยว่าคุณป้าและบ้านผีสิงหลังนี้กำลังรอต้อนรับพวกเธอด้วยความตาย

ฟังดูอาจเป็นเพียงแค่หนังสยองขวัญดาดดื่นธรรมดา แต่โอบายาชิได้พลิกทุกองค์ประกอบของหนังสยองขวัญให้พิศดาร แปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจ และคาดเดาไม่ได้ แค่ชื่อเด็กสาวทั้ง 7 อย่าง Gorgeous, Kung Fu, Prof, Melody, Mac, Sweet และ Fantasy ก็เรียกว่าเหนือจินตนาการแล้ว แถมยังมีไอเดียที่เขาได้ปรึกษาลูกสาว จากความคิดที่ว่าหนังสยองขวัญที่น่ากลัวต้องเกิดจากความไม่เข้าใจในตรรกะ จนได้ไอเดียที่ผู้ใหญ่ไม่มีทางคิดได้ เช่น เปียโนที่งับจนนิ้วขาด หัวแตงโมที่ลอยไปมาจนกลายเป็นหัวคน กระจกสะท้อนเงาที่สามารถฆ่าคนได้!?

นอกจากความน่ารักของนักแสดงนำรุ่นสาววัยกระเตาะ 7 คนที่เป็นนางแบบในตอนนั้น ต้องมาสังเวยให้กับความหฤโหด (หรือหฤหรรษ์) ของบ้านปีศาจหลังนี้แล้ว โอบายาชิยังแฝงถึงประเด็น aftershock จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผลพวงของวิญญาณความโกรธแค้นของคุณป้าภายในเรื่องมาจากการที่เธอต้องรอคอยคนรักที่ไม่เคยกลับมาจากสงครามโลกครั้งนั้น จนกลายเป็นวิญญาณที่คอยจ้องเอาทุกชีวิตในบ้านของเธอ


The Aimed School (1981)

ยูกะ สาวมัธยมสุดแข็งแกร่ง เรียนเก่ง กีฬาเลิศ เป็นแม่พระจิตใจงาม แถมยังน่ารักจนเป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ เรื่องเกิดขึ้นในวันธรรมดาวันหนึ่งระหว่างที่เธอเดินกลับบ้านกับตาบื้อบ้าเคนโด้คนนึงที่เธอแอบชอบ ยูกะพบว่าตัวเองมีพลังจิต!

เรื่องราวทั้งหมดก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อยูกะต้องเรียนรู้ที่จะใช้พลังที่เธอมีควบคู่ไปกับการเตรียมตัวสอบที่กำลังจะมาถึง พร้อมๆ กันการมาเยือนของนักเรียนใหม่ผู้กุมความลับอดีตของเธอและเหล่าเอเลี่ยนวายร้ายที่กำลังจะมายึดโรงเรียนแห่งนี้ ยูกะจะสามารถพิทักษ์สันติภาพและปกป้องตาบื้อที่เธอหลงรักได้หรือไม่!

หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลายเรื่องของโอบายาชิที่มีตัวเอกเป็นสาวกายสิทธิ์ที่ได้รับพลังมาอย่างได้คาดฝัน นอกจากนั้นยังเป็นหนังที่เปิดศักราชหนังไอดอลของโอบายาชิ นำแสดงโดย ฮิโรโกะ ยาคุชิมารุ ผู้โด่งดังจาก Sailor Suit and Machine Gun

The Aimed School เป็นหนังแฟนตาซีสุดขั้ว งานภาพของโอบายาชิไม่เคยทำให้เราผิดหวัง เช่นเดียวกับ Hausu จินตนาการที่เขามอบให้เรานั้นประหลาดล้ำสุดขีด จนมันถูกรีเมคหลายต่อหลายรอบ (เช่นเดียวกับหลายๆ งานของโอบายาชิ) หนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราได้เห็นว่าอิทธิพลของโอบายาชิถูกส่งต่อให้กับคนทำงานอนิเมะในยุคนี้มากขนาดไหน


I Are You, You Am Me (1982)

คาสุมิ นักเรียนมัธยมปลายที่ย้ายเข้ามาเรียนอย่างกะทันหัน ดันมาเจอกับ คาสุโอะ เพื่อนสมัยเด็กของเธอที่กำลังแก่นเซี้ยวตามประสาวัยรุ่น จากที่เคยเป็นเพื่อนกันกลายเป็นคู่กัดกันเสียอย่างนั้น แต่แล้วเหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง เมื่อทั้งคู่สลับร่างกันหลังจากที่ตกบันไดวัด พวกเขาจะหาทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างไร และพวกเขาเรียนรู้อะไรจากการสลับร่างครั้งนี้บ้าง

ถึงจะดูเหมือนหนังโรแมนติค-คอมเมดี้ทั่วไป แต่หนังเรื่องนี้พาเราสำรวจความเป็นเพศของทั้งคู่อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่มุกตลกห่ามๆ ตามประสาหนังวัยรุ่น หนังบอกเล่าถึงความตื่นตระหนกแบบสมจริงของวัยรุ่นผู้ที่กำลังจะเข้าไปสู่โลกที่ทั้งเขาและเธอไม่เคยค้นพบมาก่อน พวกเขารู้ว่านี่ไม่ใช่โลกใบเดิมที่พวกเขาและเธอจะสามารถนึกสนุกกับมันได้อีกต่อไป ทำให้หนังเรื่องนี้พาเราเข้าใจวัยรุ่นมากกว่าที่หน้าหนังจะเป็น

หนังเรื่องนี้ทำให้ซาโตมิ โคบายาชิ (เล่นเป็นพี่สาวของฮิโรชิ อาเบะ ในเรื่อง After the Storm ของโคริเอดะ) ที่เพิ่งแสดงในหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกได้รับรางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมในปีนั้น และถูกรีเมคโดยตัวโอบายาชิเองเมื่อปี 2007 ในชื่อใหม่เรื่อง Switching – Goodbye Me


The Drifting Classroom (1987)

โอบายาชิเป็นผู้กำกับอีกคนหนึ่งที่ได้ทำหนังที่ดัดแปลงจากมังงะและนิยายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ก็ดัดแปลงจากมังงะสยองขวัญชื่อดังในชื่อเรื่องเดียวกัน จากปรมาจารย์การ์ตูนสยองขวัญ อ.คาซึโอะ อุเมซุ เคยตีพิมพ์ในไทยโดยได้ชื่อ ฝ่ามิตินรก จากสำนักพิมพ์ TKO

หนังว่าด้วยเหตุการณ์ประหลาดโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งถูกย้ายไปอยู่อีกมิติหนึ่ง ซึ่งรอบโรงเรียนไม่มีอะไรเลยนอกจากทะเลทรายอันแห้งแล้งสุดลูกหูลูกตา โชว เด็กชายวัยประถมที่กลับมาจากลอสแองเจลิสเพื่อมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ รวมถึงเพื่อนๆ และคุณครูที่อยู่ในโรงเรียน ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งเสบียงที่ค่อยๆ ร่อยหรอไปเรื่อยๆ สภาพจิตใจของทุกคนที่กำลังหมดหวังจนแทบจะสิ้นสติ แถมยังมีสัตว์ประหลาดที่คอยจ้องจะฆ่าทุกคนอีก โชวกับทุกคนจะเอาชีวิตรอดเพื่อกลับไปหาครอบครัวได้อย่างไร

ตัวโอบายาชิเองได้ดัดแปลงต้นฉบับไปหลายอย่างจนแฟนที่ติดตามมังงะมาก่อนอาจจะไม่ชอบเอาได้ ทั้งการเปลี่ยนเซ็ตติ้งจากโรงเรียนธรรมดาในญี่ปุ่นให้กลายเป็นโรงเรียนนานาชาติ ทำให้ส่วนใหญ่ตัวละครเด็กประถมนั้นมาจากฝั่งตะวันตก บทสนทนาภายในหนังส่วนใหญ่จึงเป็นภาษาอังกฤษ (รวมถึงชื่อเครดิตของทีมงานในหนังเช่นกัน) รวมถึงเปลี่ยนโทนความสยองขวัญและความสติแตกของตัวละคร ให้ผสมผสานไปกับแนวคัมมิ่งออฟเอจ แฟนตาซี คอมเมดี้ ไปจนถึงมิวสิคัลด้วย!?

หนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นสไตล์ของโอบายาชิ ว่าเหมาะกับการดัดแปลงมังงะให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างไร ทั้งการเซ็ตฉากภายในสตูดิโอจึงทำให้ฉากดูมีความสมจริงน้อยกว่า เอฟเฟคท์และการกรีนสกรีนที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับอยู่ในโลกแฟนตาซีคล้ายคลึงกับการ์ตูน และเทคนิคการเปลี่ยนฉากที่แปลกไม่เหมือนใคร

ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้นักแสดงขึ้นชื่อจากอเมริกาอย่าง Troy Donahue มารับบทเป็นคุณครูในโรงเรียน และมีนักแสดงรับเชิญที่น่าสนใจอย่าง อิชิโระ ฮอนดะ ผู้กำกับ Godzilla ต้นฉบับเมื่อปี 1954 และตัว อ. คาซึโอะ อุเมซุเอง (ลองหากันดูนะว่าโผล่ในฉากไหน) และได้โจ ฮิซาอิชิ คอมโพสเซอร์เพลงญี่ปุ่นชื่อดังมาทำเพลงให้ในหนังด้วย


Hanagatami (2017)

ดัดแปลงจากนิยายในชื่อเดียวกันปี 1936 ของ คาซุโอะ ดัน ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ยูกิโอะ มิชิมา หนังเล่าเรื่องเด็กหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิตในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังจะเข้าร่วมสงครามโลก เหล่าวัยรุ่นรู้ตัวว่าพวกเขากำลังจะตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาจึงพยายามใช้ช่วงเวลาที่เหลือมีชีวิตอย่างเต็มกำลังหัวใจ

หนังดำเนินเรื่องผ่านการบรรยายของตัวเอกผู้รอดชีวิตจากสงคราม เขาบอกกับเราตั้งแต่เริ่มเรื่องว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องราวของการหวนหาหากเป็นความปรารถนาต่อผู้จากไป ต่อผู้โชคร้ายที่เป็นวัยรุ่นในยุคสงครามผู้ถูกชะตาโหมกระหน่ำสาดซัด เหล่าหนุ่มสาวผู้ไม่เพียงสูญเสียอดีตหากแต่อนาคตก็ไม่มีอยู่ให้ฝันถึง”

Hanagatami แปลว่า กระเช้าดอกไม้ และดอกไม้กลายเป็นสัญลักษณ์หลักของเรื่อง ดอกซากุระที่ร่วงหล่นทั่วไปทั้งเฟรมภาพ ดอกกุหลาบที่กลีบหลุดกลายเป็นหยดเลือด หนังเปิดด้วยบทกวีที่ว่าด้วยการอาวรณ์ถึงเหล่าดอกไม้ที่ถูกตัดยามพวกมันเบ่งบาน ญี่ปุ่นในตอนนั้นก็เป็นเช่นกระเช้าดอกไม้ในสายตาของโอบายาชิ เหล่าหนุ่มสาวถูกสังเวยในสงครามที่ไร้เหตุผล ช่วงเวลาอันโหดร้าย พวกเขาใช้ชีวิตในวันนี้ เพื่อตายในวันพรุ่งนี้

ในโลกของโอบายาชิทุกอย่างเป็นไปได้ หนังเกือบทั้งเรื่องมีฉากหลังเป็นกรีนสกรีน ซึ่งในแง่หนึ่งมันให้ความรู้สึกเหมือนฉากละครที่เป็นภาพวาด ในขณะที่นักแสดงส่วนใหญ่ก็มีอายุเลยตัวละครไปหลายสิบปี แม้ว่าหนังจะบอกเราว่าพวกเขาอายุเพียง 17 เท่านั้น ก็ยิ่งตอกย้ำความเป็นละครของมันเข้าไปอีก สไตล์หนังยังคงสุดโต่ง โลกเสมือนที่บอกเล่าโศกนาฎกรรมแห่งนี้ถูกระบายด้วยสีจัดจ้าน แสงไฟเหนือจริง ตัวหนังกระโดดไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันอย่างลื่นไหลและเสรี นี่เป็นบทพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งความสร้างสรรค์ของโอบายาชิได้สักนิดเดียว

RELATED ARTICLES