Japanese Film Festival 2023 (2) : เติมขนมให้วันหวาน

*อ่านตอน 1 ได้ที่ Japanese Film Festival (1) : ผ่านชีวิตในวันขม

ภาพจำหนึ่งที่ส่งอิทธิพลถึงผู้ชมชาวไทยมานาน จนกลายเป็นทั้งจุดขายที่แข็งแรงและความคาดหวังอันคุ้นเคยต่อหนังญี่ปุ่นกระแสหลัก คือภาพยนตร์กลุ่มที่อาจเรียกรวม ๆ ได้ว่าออกฤทธิ์อย่างขนมหวาน –โรแมนติก ซาบซึ้ง หัวเราะได้ เบาสบาย ชุบชูใจ ให้พลังบวก– ซึ่งเมื่อวางเทียบกับความเคร่งขรึมของหนังสายแข็ง หลายครั้งก็เลี่ยนแสบคอหรือซ้ำซากน่าเบื่อ แต่ถ้าจัดวางความหวานให้ออกฤทธิ์บนจออย่างพอเหมาะ รสขนมแบบหนังญี่ปุ่นกลุ่มนี้ก็มีเสน่ห์เฉพาะตัว

©2022 “Kids Konference” Film Partners

เทศกาลปีนี้เลือกฉายสารคดีประเด็นแม่และเด็กของ Tomo Goda ทั้งหมดสองเรื่องคือ May I Quit Being a Mom? (2020) กับ Kids Konference (2022) – ประเด็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและภาระหน้าที่ของแม่ลูกเล็กในสังคมญี่ปุ่นของเรื่องแรกนั้นน่าสนใจก็จริง แต่ตัวหนังกลับเรียงเรียงได้ชวนสับสนวกวน บทความนี้จึงเขียนถึงเฉพาะเรื่องหลัง ในฐานะสารคดีญี่ปุ่นรสขนมที่มีสายตาน่าสนใจ

หนังถือกล้องเข้าไปพูดคุยสัมภาษณ์และบันทึกกิจกรรมในโรงเรียนอนุบาล (เนอสเซอรี) แห่งหนึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม กิจกรรมที่หนังมองเห็นเป็นสิ่งแปลกใหม่จนถูกหยิบมาใช้เป็นชื่อเรื่องคือ “การประชุมเด็ก” ซึ่งครูพี่เลี้ยงจะเวียนกันรับหน้าที่ moderator คอยคุมวงคุยรายสัปดาห์ให้เด็กวัย 6-7 ขวบ คอยแลกเปลี่ยน สะท้อนบทสนทนา ไหลไปตามความไร้เดียงสาของเด็กวัยอนุบาล แต่ก็ไม่ได้มีเพียงกิจกรรมนี้ หนังยังทำหน้าที่บันทึก “ระบบนิเวศ” ของที่นี่ ทั้งปฏิสัมพันธ์ที่เป็นไปโดยธรรมชาติระหว่างเด็ก ๆ เมื่ออยู่หน้ากล้อง และระบบที่โรงเรียนได้ออกแบบไว้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะด้านต่าง ๆ

Kids Konference คือสารคดีประเภทที่ถ้าสรุปย่อจนเหลือแค่เนื้อประเด็นแล้วชวนหลับ คงฟังดูเป็นหนังโลกสวยสร้างสรรค์สังคมน่าเบื่ออีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่ทำให้หนังสนุกคือวิธีเล่าเรื่องเบาสบายอย่างสารคดีทีวีหรือรายการเรียลลิตีญี่ปุ่น (ซึ่งมีรสชาติเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์เช่นกัน) การจับภาพความน่ารักของเด็ก พาคนดูเข้าไปใกล้ชิดกิจกรรมหลากหลาย ใช้เสียงบรรยายที่สนุกสนาน สว่างไสว ฟังดูเป็นมิตร จนชวนให้นึกถึงรายการคลาสสิกทั้ง TV Champion กับ Old Enough! (ผจญภัยวัยอนุบาล, ที่เพิ่งกลับมาไวรัลเป็นกระแสอีกครั้งหลังลงเน็ตฟลิกซ์) เป็นความเบาสบายที่ตรงไปตรงมา ถ้อยทีถ้อยอาศัย และไม่ทิ้งเนื้อหาสำคัญคือพัฒนาการของเด็กวัยอนุบาล

©2021 “And So the Baton Is Passed” Film Partners

ในบ้านเกิด Tetsu Maeda อาจเริ่มเป็นที่รู้จักแบบย่อมๆ จาก School Days with a Pig (2008) แต่สำหรับขาประจำเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นในไทย A Banana? At This Time of Night? (2018) คือหนังขนมรสแปลกที่หลายคนยังจดจำ ด้วยรูปลักษณ์อย่างหนังตลกไร้สติแต่สำรวจตัวละครผู้พิการได้แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร – And So the Baton Is Passed (2021) อาจทำให้ชื่อเขาเป็นที่จับตามากขึ้นอีก หลังเริ่มมีชื่ออยู่ในลิสต์รางวัลปลายปีกับเขาบ้าง แถมยังส่งนักแสดงหญิงเข้าชิงออสการ์ญี่ปุ่นได้ทั้งคู่ ถึงจะเป็นขนมที่ได้ฟีดแบ็คแตกไปคนละทาง บ้างว่าประโคมน้ำตาลหนักจนกลืนไม่ลง แต่อีกฝั่งก็ว่ากินได้เรื่อย ๆ แถมมีเซอร์ไพรส์

บาตองคือไม้ผลัด และไม้ผลัดในเรื่องนี้คือความรัก (เข้าใจแล้วว่าทำไมหลายคนบอกว่าเลี่ยน) ทั้งรักแบบโรแมนติกและรักของพ่อแม่ที่มอบให้ลูก ถึงจะไม่ใช่ลูกแท้ ๆ โดยสายเลือดก็ตาม – ไม้ผลัดของริกะ (Satomi Ishihara) คือมี่ตัน (Kurumi Inagaki) ลูกสาววัยประถมของสามีที่เลิกกันเมื่อเขาเลือกไปทำตามฝันที่บราซิล เธอดึงเด็กน้อยมาเป็นของตัว แล้วเริ่มแต่งตัวสวยเข้าหาผู้ชายมากมาย หวังจับให้ติดมือได้มาเป็นสามีใหม่ ส่วนยูโกะ (Mei Nagano) คือเด็กสาวมัธยมโลกสวยไร้พิษภัยที่ใช้รอยยิ้มรับมือสิ่งรอบตัว เป็นไม้ผลัดที่พ่อเลี้ยง (Kei Tanaka) รับต่อมาจากภรรยาที่ทิ้งเขาไป กำลังอยู่ในวัยที่ตัวเธอเองกำลังอยากให้ใครสักคนมารับช่วงไม้ผลัดต่อจากพ่อเลี้ยงที่ดูแลเธอเหมือนลูกแท้ ๆ มานาน

หนังตัดสลับสองเส้นเรื่องดังกล่าวอย่างเจ้าเล่ห์ (ถ้าไม่เผลออ่านเรื่องย่อที่เฉลยมากเกินไปมาก่อน) แล้วกระตุกคลายปมที่ผู้ชมไม่ทันได้รู้สึกว่ามีอยู่อย่างฉับพลัน แล้วเดินเรื่องต่อด้วยความซาบซึ้งน้ำตาร่วง ในระดับที่อาจถึงขั้นเรียกได้ว่า Maeda กำลังตะล่อมให้คนดูเผลอมอบความรู้สึกอบอุ่นหัวใจให้คำลวง แต่ก็ด้วยการแสดงที่สว่างไสวเหลือเกินของ Nagano เสน่ห์ที่ทั้งเย้ายวนแต่ก็ตลกแปลก ๆ ของ Ishihara และคุณสมบัติที่เหมือนหลุดมาจากโลกแฟนตาซีของ Kenshi Okada (เทพบุตรนักเปียโนที่ยูโกะหลงรัก) คำลวงของริกะที่หนักหนาระดับควรตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ทุกตัวละครกลับน้ำตาไหลชนิดไร้ข้อกังขา ถึงยังพอสอบผ่านเรื่องการโน้มน้าวให้คนดูหลงเชื่อคล้อยตาม

©2022 “BL Metamorphosis” Film Partners

Slice of life ที่เรียบง่ายและรื่นรมย์ก็เป็นขนมอีกประเภทที่หนังญี่ปุ่นทำได้ดี แล้วขนมชิ้นเล็กหน้าตาดีที่เทศกาลปีนี้นำเสนอก็กำลังเป็นกระแส หวานกำลังดี น่ารักให้กำลังใจ ถ่ายรูปลงโซเชียลก็ดูดี แถมมีการ์ตูนวายให้ร่วมกันหวีด – ยอดจองตั๋ว BL Metamorphosis (2022) ของ Shunsuke Kariyama ที่เต็มเร็วจนต้องเพิ่มรอบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

เหมือนขั้วตรงข้ามของแฟนตาซีในโลกวายหรือ BL (Boys’ Love) ส่วนใหญ่ที่มีแต่ความสัมพันธ์ของผู้ชาย หนังที่มีการ์ตูนวายเป็นศูนย์กลางเรื่องนี้ขับเคลื่อนแบบไม่เร่งรีบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหญิงเป็นสำคัญ (กระทั่งเส้นเรื่องบาง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวละครชายก็ไม่ได้จบลงอย่างหนังรัก) มิตรภาพที่กลายเป็นความประทับใจเกิดขึ้นในร้านหนังสือ คุณยายยูกิ (Nobuko Miyamoto) หยิบการ์ตูนวายเล่มหนึ่งกลับบ้านเพราะภาพสวยดี แล้วชีวิตวัยชราที่เงียบเหงาก็ได้พบทั้งประสบการณ์ใหม่กับเพื่อนใหม่วัยหลานคืออุราระ (Mana Ashida) สาววายมัธยมที่ทำงานพิเศษอยู่ร้านหนังสือ และเก็บความฝันอยากวาดการ์ตูนวายสักเรื่องไว้ในใจอยู่เงียบ ๆ

ชีวิตของยูกิกับอุราระขยับเป้าหมายไปทีละหน่อย เรื่องราวก็ขยับเล็ก ๆ ไปทีละน้อยหลังยายหลานได้เริ่มสานสัมพันธ์ – ได้เพื่อนคุยถูกคอสักคน ได้รู้จักนิตยสารการ์ตูนวายรายเดือน ได้การ์ตูนเรื่องใหม่ ๆ จากคลังสมบัติของเพื่อนใหม่ ได้ลุ้นว่าเมื่อไหร่สองหนุ่มหน้าสวยในการ์ตูนจะพบความสุข ได้ลงมือวาดผลงานเป็นของตัวเองสักเรื่อง ได้ทำโดจินไปขายในเทศกาลการ์ตูน ได้เจอเซนเซผู้รังสรรค์การ์ตูนเล่มเปิดโลกของคุณยาย (Kotone Furukawa น้องสาวผมบ๊อบจาก Wheel of Fortune and Fantasy ขโมยซีนด้วยความเท่เก๋ชนิดเกินต้าน) ปราศจากดราม่าบีบคั้นหัวใจ หรือสถานการณ์ที่พยายามโยนอะไรใส่คนดูจนต้องลุ้นใจหายใจคว่ำ เมื่อเป้าหมายสำคัญสูงสุดของหนังเรื่องนี้คือ การบอกเล่าถึงความรู้สึกว่าได้รับการมองเห็น มีแรงสนับสนุนเติมใจเล็ก ๆ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ต่อให้จะเป็นแค่ไม่กี่คน หรือผลงานขีดเขียนที่ดูไม่สลักสำคัญอะไร แต่มีหัวใจเต้นอยู่ในคลื่นความถี่เดียวกัน

©2022 “The Fish Tale” Film Partners

ปิดท้ายด้วยไอติมรสหมึกดำโรยปลาแห้งอย่าง The Fish Tale (2022) ผลงานล่าสุดของ Shuichi Okita คนทำหนังญี่ปุ่นร่วมสมัยสำคัญที่สุดอีกคนหนึ่ง คราวนี้ก็ยังท็อปฟอร์มต่อเนื่องด้วยน้ำเสียงเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเจอโจทย์วัตถุดิบพิสดารหรือแลดูซ้ำซากธรรมดา เขาก็ยังสรรหาวิธีปรุงส่วนผสมยกระดับรสชาติให้กลมกล่อมกินใจได้ ไม่ต่างจากเมื่อครั้ง A Story of Yonosuke (2012) Mori, the Artist’s Habitat (2018) และ One Summer Story (2020)

เพราะทุกลมหายใจเข้าออกมีแต่ปลา วาดรูปปลา อ่านเรื่องปลา ไปดูปลา กินแต่ปลา ทำหนังสือพิมพ์โรงเรียนก็เรื่องปลา ไม่แปลกที่มี่โบ (Non) จะถูกมองเป็นยัยเด็กที่ประหลาดจนน่าเป็นห่วง เว้นเสียแต่ว่าโลกที่มี่โบอยู่ดูเพี้ยนเสียยิ่งกว่าความคลั่งไคล้ในสัตว์น้ำที่เธอเป็นเสียอีก ตั้งแต่พ่อที่ฉีกปลาหมึกยักษ์เป็นๆ ด้วยมือเปล่า ตาลุงใส่หมวกปลาที่ชอบโผล่หน้ามาทักบุ๋งๆ จนเด็กไม่กล้าเข้าใกล้ โตขึ้นมาหน่อยก็มีพวกหัวหน้าแก๊ง มารแดง มารฟ้า (หนึ่งในนั้นคือนักแสดงยอดเยี่ยมเมืองคานส์ Yuya Yagira) มาคอยหาเรื่อง แต่ก็รอดตัวมาได้เรื่อยๆ ก็เพราะทุกลมหายใจเข้าออกที่มีแต่ปลา

ดูเหมือนรอยยิ้มสดใสของมี่โบ รวมถึงชีวิตจิตใจที่เกิดมาแล้วไม่สามารถวางเป้าหมายหรือคิดเรื่องอื่นได้อีกยกเว้นปลา กำลังถูกกำกับหรือจัดวางไว้ในการ์ตูนตลกหลุดโลกปั่นประสาท คนดูนั่งขำน้ำตาเล็ดให้ตัวละครบวม ๆ บทพูดเพี้ยน ๆ และมุขตลกปั่นประสาทที่ชวนให้นึกถึง Cromatie High School (คุโรมาตี้ โรงเรียนคนบวม) หรือ Gintama (กินทามะ) กระทั่งถึงจังหวะที่ Okita ลดพลังงานลงแค่เล็กน้อย ปรับความสดใสในรอยยิ้มและสายตาของมี่โบลงอีกนิดหน่อย เพื่อผลสะเทือนมหาศาลคือการกระตุกคนดูกับมี่โบกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง – เมื่อความฝันและความชอบที่แน่วแน่จนบดบังความเป็นไปได้ของสิ่งอื่น กำลังเผชิญบททดสอบและความท้าทายของชีวิต

ไม่ใช่ว่าหนังตั้งใจแหกโค้งเพื่อหักหลังคนดูผู้คาดหวังความสดใสแบบการ์ตูนจาก The Fish Tale และการแสดงของ Non (ได้เข้าชิงนำหญิงออสการ์ญี่ปุ่นปีล่าสุด) โลกที่มี่โบเริ่มตระหนักถึงบททดสอบ กำลังมองไม่เห็นปลายทางว่าฉันชอบปลาแล้วชีวิตมันจะไปที่ไหนได้ (ถึงระบบความคิดของเธอจะไม่ได้คิดในลักษณะนี้ก็ตาม) ก็ยังเป็นโลกที่ชวนให้นึกถึงคุโรมาตี้กับกินทามะใบเดิม เพียงแต่คลื่นพลังงานของพวกคนแปลกๆ ที่เมื่อครั้งยังเด็กคงพลุ่งพล่านเป็นความประหลาดไปทุกทิศทุกทาง ตอนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่หนึ่งคนสำคัญที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนไปก็คือมี่โบ

เมื่อเส้นเรื่องสัมผัสใจแบบ A Story of Yonosuke สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือในโลกบวมๆ แบบคุโรมาตี้หรือกินทามะ นั่นเองคือความสำเร็จของภาพยนตร์

ชญานิน เตียงพิทยากร
เขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ Starpics, Bioscope (อดีต), The Momentum, a day, Film Club และแหล่งอื่นตามแต่จังหวะโอกาส / รางวัลชมเชยกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือฯ ประจำปี 2018 และ 2020 / สภาพ: ไล่ดูหนังใกล้หมดอายุใน Netflix และ MUBI

RELATED ARTICLES