การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของคานส์ในปีแห่งภัยพิบัติ

Heading photo credit: wikimedia

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสแถลงว่า จะขยายการล็อคดาวน์ประเทศไปจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม และหลังจากวันนั้นประชาชนน่าจะออกมาทำกิจกรรมได้บ้าง

แน่นอน คำแถลงดังกล่าวไม่เป็นคุณต่อกิจกรรมและเทศกาลที่ต้องรวมคนจำนวนมาก เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศอย่างชัดเจนว่า เทศกาลต่างๆ จะจัดได้ก็ต่อเมื่อผ่านพ้นกลางเดือนกรกฎาคมไปแล้วเท่านั้น เท่ากับว่าความหวังของผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (ซึ่งตั้งใจจะจัดงานในช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อต้นกรกฎาคม) ต้องหมดลง และล่าสุด บ่ายวันที่ 14 เมษายน คณะผู้จัดงานก็แถลงว่า ทางเทศกาลยังยืนยันจัดต่อ โดยจะแสวงหาทางเลือกอื่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนผู้ที่อยู่ในธุรกิจหนัง (รวมถึงผู้เขียนเอง และนักทำหนังบางรายที่อาจได้รับอีเมลแจ้งให้ทราบว่าหนังได้คัดเลือกเข้าฉายในคานส์) จะทำใจแล้วว่า แนวโน้มในการจัดงานในปีนี้แทบเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะทางเลือกไหนก็ตาม เพราะถ้าเลื่อนไปจนถึงเดือนสิงหาคม ก็ต้องชนกับเทศกาลหนังสำคัญอย่างเวนิซ ประเทศอิตาลี และเทศกาลหนังโตรอนโต หรือถ้าจัดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็ช้าเกินไป ครั้นจะเป็นเทศกาลออนไลน์ เธียร์รี เฟรโมซ์ ผู้อำนวยการเทศกาลก็ยืนยันแล้วว่าเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ระหว่างรอการตัดสินใจอย่างเป็นทางการ ผู้เขียนขอชวนมาร่วมกันตั้งคำถามและหาคำตอบว่า ถ้าไม่มีเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้ จะส่งผลต่อธุรกิจหนังอย่างไรบ้าง แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เรามาทำความรู้จักเทศกาลและตลาดหนังเมืองคานส์กันก่อนว่า ทำไมจึงถูกถือว่าสำคัญที่สุดในโลก

ภาพยนตร์เรื่อง The Hunchback of Notre Dame ปี 1939

จุดกำเนิด – เมื่อเทศกาลหนังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านระบบฟาสซิสม์ :

เทศกาลหนังเมืองคานส์ไม่ได้เป็นเทศกาลหนังที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เพราะยังมีเทศกาลหนังเวนิซที่จัดตั้งแต่ปี 1932 จนกระทั่งอิตาลีเข้าสู่ยุคเผด็จการฟาสซิสม์นำโดย เบนีโต มุสโสลีนี ซึ่งแผ่แนวคิดครอบงำกิจกรรมทางสังคมทุกอย่าง รวมถึงเทศกาลหนังเวนิซด้วย ทำให้คนในวงการไม่พอใจและเกิดแนวคิดในการจัดเทศกาลต่อต้านขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เทศกาลเมืองคานส์จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยวางกำหนดไว้ว่าจะมีวันที่ 1-20 กันยายน ปี 1939 และในวันที่ 31 สิงหาคม มีการเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการด้วยการจัดรอบกาล่าของ The Hunchback of Notre Dame ….แต่โชคไม่ดีเลย วันรุ่งขึ้นเยอรมนีบุกโปแลนด์และเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป ส่งผลให้เทศกาลต้องระงับไปไม่ทันได้จัด กระทั่งสงครามสงบจึงกลับมาจัดอีกครั้งในปลายเดือนกันยายนปี 1946 แต่จัดได้แค่ปีเดียวก็ต้องหยุดอีก เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน

จนกระทั่งปี 1951 เทศกาลจึงกลับมาอีกครั้ง คราวนี้เลื่อนมาเป็นเดือนพฤษภาคม และนับจากนั้น เทศกาลหนังที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเหตุให้ต้องหยุดเพียงแค่หนึ่งครั้งคือในปี 1968 เมื่อคนหนุ่มสาวทั่วฝรั่งเศสเรียกร้องการยุติสงครามเวียดนามและความเท่าเทียมจนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วฝรั่งเศส และคานส์ก็ได้รับผลกระทบด้วย เมื่อกลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่นำโดย ฌ็อง-ลุก โกดาด์ และ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ พร้อมกับกลุ่มปัญญาชนได้ปิดล้อมไม่ให้มีการหนัง จนนำไปสู่การยุติเทศกาลโดยปริยาย


Marche Du Film – ตลาดนัดภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อพูดถึงคานส์ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ตลาดหนัง หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า Marche Du Film โดยผู้จัดเทศกาลเริ่มต้นอีเวนท์นี้ครั้งแรกในปี 1959 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสร้างช่องทางการขายแก่หนังฝรั่งเศส หลังจากนั้นตลาดก็ขยายตัวขึ้น พร้อมๆ กับที่จุดประสงค์ของการจัดก็เปลี่ยนจากการเป็นจุดนัดพบระหว่างผู้สร้างหนังฝรั่งเศสกับผู้จัดจำหน่ายนอกฝรั่งเศส ไปสู่การเป็นจุดนัดพบของคนในอุตสาหกรรมหนังทั่วโลก ปัจจุบัน Marche Du Film มีผู้เข้าร่วมมากกว่าปีละหนึ่งหมื่นคน มีสัญญาซื้อขายที่ถูกเซ็นไม่น้อยกว่าพันฉบับ และมีเงินไหลเวียนในตลาดนับไม่ถ้วน

เหตุผลที่ทำให้ Marche Du Film กลายเป็นตลาดหนังสำคัญของโลก คือ

1) ช่วงเวลาในการจัด เนื่องจากเดือนพฤษภาคมตรงกับฤดูใบไม้ผลิที่อากาศกำลังดี ไม่เย็นไม่ร้อนเกินไป ต่างจากตลาดหนังยุโรป ที่จัดขนานกับเทศกาลเบอร์ลินในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งอยู่ในช่วงหนาวจัด

2) เป็นตลาดที่มีคนในอุตสาหกรรมหนังเข้าร่วมมากที่สุดในโลก ผู้ซื้อและผู้ขายจึงมั่นใจได้ว่า เมื่อไปร่วมจะต้องมีการทำสัญญาซื้อขายหนังเกิดขึ้น ไม่กลับบ้านมือเปล่า

3) มีโอกาสพบหนังหลากหลายตั้งแต่ตั้งโปรเจกต์ใหญ่ราคาแพง ไปจนถึงหนังทางเลือกที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มได้

4) มีอีเวนท์สำหรับการโปรโมทหนังมากมาย ตั้งแต่การเปิดตัวหนังที่ยังไม่ได้สร้าง การได้พบปะกับผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่จะมาอธิบายโปรเจกต์ที่กำลังจะสร้าง ซึ่งล้วนมีประโยชน์สำหรับผู้ซื้อหนังเป็นอย่างมากในการทำความเข้าใจสินค้าที่จะซื้อ รวมถึงตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโปรเจกต์ที่จะสร้างออกมา


จะเกิดอะไรขึ้น หากปีนี้ไม่มีคานส์

เริ่มจากมุมของผู้ขายก่อน แน่นอนว่าสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นเป็นอย่างแรกก็คือ โปรเจกต์ต่างๆ (ไม่ว่าจะสร้างเสร็จแล้วหรือยังไม่สร้าง แต่รอนำมาเปิดตัวแก่ลูกค้าที่คานส์) จะต้องเลื่อนออกไป หรือไม่ก็ต้องหาทางขายช่องทางอื่น เช่น การติดต่อทางอีเมล หรือ zoom ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ ผู้ซื้อหลายคนอาจเลือกจะรอจนกว่าได้เห็นพัฒนาการของโปรเจกต์เพิ่มเติม ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทขายคือ บางโปรเจกต์นั้น ผู้ขายจำเป็นต้องปิดดีลกับลูกค้าก่อน เพื่อจะได้นำสัญญาและเงินต้นจำนวน 10-20% ไปค้ำประกันกับธนาคาร หรือนายทุน (จะได้ขอเงินมาสร้างหนังให้เสร็จ) การพลาดโอกาสปิดดีลในคานส์จึงอาจทำให้หลายโปรเจกต์ไม่เกิดขึ้น หรือถ้ามีโอกาสเกิดขึ้น การถ่ายทำก็อาจต้องเลื่อนออกไปอีก

ผลที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ขายลำดับต่อมาคือ บริษัทจัดจำหน่ายหนังบางแห่งอาจต้องปิดกิจการ เนื่องจากวิกฤตการณ์โควิดส่งผลให้ธุรกิจชะลอตัว คานส์จึงเป็นช่องทางเดียวที่พวกเขาจะพอแสวงหารายได้จากการขายหนังที่มีอยู่แล้ว หรือกำลังจะสร้างได้บ้าง การไม่มีคานส์จึงทำให้วิกฤตในบริษัทอาจลากยาวไม่รู้จบ บริษัทที่ฐานทางการเงินไม่แข็งแรงก็ไม่อาจจะฝืนอยู่ต่อได้

ส่วนในมุมของผู้ซื้อ การไม่มีคานส์ในปีนี้อาจส่งผลให้ การแสวงหาหนังใหม่โดยเฉพาะโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่รอการสร้าง เพื่อนำจัดฉายในปลายปีหน้า หรือปีถัดไป เป็นไปได้ยากหรือแทบจะริบหรี่ การจะต้องรอไปจนถึงตลาดใหญ่แห่งต่อไปคือ American Film Market (ซึ่งจัดที่เมืองซานตาโมนิก้า สหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน) อาจจะช้าไป แถมในช่วงเวลานั้นก็ไม่มีหลักประกันด้วยว่าโปรเจกต์เหล่านี้จะยังถูกสร้างหรือไม่ (ตามเหตุผลของมุมผู้ขายข้างต้น)

นอกจากนี้ สำหรับผู้แสวงหาหนังทางเลือกและหนังสายประกวด การที่คานส์ยุติการจัดย่อมส่งผลให้หนังจำนวนหนึ่งต้องเสียจุดขายสำคัญ (คือโลโก้และรางวัลจากคานส์) ไปอย่างน่าเสียดาย

จากที่กล่าวมา ผู้อ่านคงพอเห็นภาพว่าเหตุใดเทศกาลนี้จึงสำคัญต่ออุตสาหกรรมหนังโลก และทำไมผู้จัดงานจึงต้องดิ้นรนผลักดันให้เทศกาลเดินต่อให้ได้ เพราะการปราศจากคานส์ในปีนี้ จะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวเทศกาลเองเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อดุลยภาพของธุรกิจหนังในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้

Related NEWS

LATEST NEWS