การกลับมาของ เดวิด โครเนนเบิร์ก กับ Crimes of the Future ท่ามกลางประเด็นคนดูจะวอล์กเอาท์ไหม ทำไมเขาไม่ใช่คนทำหนังฌ็อง และความหัวโบราณของเน็ตฟลิกซ์

“ในยุคที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงรูปร่างและกลายพันธุ์อวัยวะตามสภาพแวดล้อมได้ สองศิลปินเลื่องชื่อ (วิกโก มอร์เทนเซน และเลอา เซย์ดูย์) ทำการแสดงสดดัดแปลงร่างกายจนผู้ชมจองเต็มทุกที่นั่ง กิจกรรมของพวกเขาถูกตามติดโดยนักสืบจากสำนักทะเบียนอวัยวะแห่งชาติ (คริสเตน สจวร์ต) และกลุ่มคนลึกลับกลุ่มหนึ่ง นำไปสู่การเปิดโปงแผนการใหญ่เกี่ยวกับวิวัฒนาการลำดับถัดไปของมนุษยชาติ…”

ไม่ใช่แค่เพราะความฉาวของเรื่องย่อที่ทำให้เราอยากดู Crimes of the Future ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในสายประกวดหลักของเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ แต่การกลับมาของ เดวิด โครเนนเบิร์ก ผู้กำกับชั้นครูชาวแคนาดา (เจ้าของหนังสุดเฮี้ยนอย่าง Crash (1996) ว่าด้วยกลุ่มคนที่คลั่งไคล้การใช้อุบัติเหตุทางรถยนต์มาปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ และ The Fly (1983) ว่าด้วยนักวิทยาศาสตร์สมองเฟื่องที่แปลงกายเป็นมนุษย์แมลงวันยักษ์) ยังน่าจับตาด้วยเรื่องราวล้อมรอบตัวหนัง และทัศนคติของเขาต่อเทศกาลหนังอย่างคานส์และอนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เราขอรวบรวมบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง ก่อนที่ Crimes of the Future จะพรีเมียร์ที่คานส์ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ และเข้าฉายที่อเมริกาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน

“ผมมั่นใจว่าจะมีคนดูที่คานส์เดินออกภายในห้านาทีแรก”

เมื่อมีการปล่อยสัมภาษณ์โครเนนเบิร์กแบบสั้นๆ พร้อมพาดหัวและเนื้อข่าวคลิกเบทแบบที่คานส์น่าจะชอบว่า “ผมมั่นใจว่าจะมีคนดูที่คานส์เดินออกภายในห้านาทีแรกอย่างแน่นอน บางคนที่ได้ดูหนังแล้วบอกว่าพวกเขาคิดว่า 20 นาทีสุดท้ายของหนังจะเป็นอะไรที่หนักหนาสำหรับคนดู และจะต้องมีคนเดินออกจำนวนมาก บางคนบอกว่าพวกเขาเกือบมีอาการแพนิค” มันก็เป็นที่พูดถึงในโลกทวิตเตอร์ ทั้งในแง่ที่ว่า ‘หนังน่าดูเป็นบ้า มันต้องเฮี้ยนมากแน่ๆ’ และในแง่ที่ว่า ‘เราจะไม่ดูหนังของเขา เพราะเขาดูถูกคนดู’ ซึ่งน่าจะเป็นความรู้สึกที่มากับยุคสมัย

แต่ส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์เช่นนี้คือเพื่อวิพากษ์ธรรมชาติของเทศกาลหนังแบบคานส์ด้วย เขาอธิบายเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์อีกชิ้นว่า “ผมบอกว่าคนดูบางคน[ที่คานส์]จะเดินออก แล้วคนในทวิตเตอร์ก็เป็นบ้า พวกเขาบอกว่า ‘พวกเราไม่อยากดูหนังที่ผู้กำกับคิดว่าพวกเราจะเดินออก’ ผมไม่ได้พูดว่าคนดูทุกคนจะเดินออก คนดูที่คานส์เป็นคนดูที่ประหลาดมาก พวกเขาไม่ใช่คนดูปกติ หลายคนมาคานส์เพื่อชื่อเสียงเกียรติยศหรือเพื่อเดินพรมแดง และพวกเขาไม่ใช่คนดูหนัง พวกเขาไม่รู้จักหนังของผม เพราะฉะนั้นเลยอาจจะมีคนเดินออก ในขณะที่คนดูปกติจะไม่มีปัญหากับหนัง แต่ก็ไม่มีใครรู้หรอก เพราะก็มีคนดูเดินออกเยอะมากตอนเราฉาย Crash”

“ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนทำหนังฌ็อง”

หนึ่งในคำกล่าวถึงโครเนนเบิร์กเมื่อคานส์ประกาศว่า Crimes of the Future เข้าประกวดในสายหลักคือ บิดาแห่ง body horror (หนังสยองขวัญที่เล่นกับร่างกายหรืออวัยวะของมนุษย์ที่เปลี่ยนรูป บิดเบี้ยว เสื่อมสลาย หรือกลายพันธุ์) ได้กลับคืนสู่เวทีแล้วหลังจากห่างหายไป 8 ปีเต็มนับตั้งแต่ Maps to the Stars (2014) หนังเรื่องล่าสุด และนานกว่านั้นหากนับตั้งแต่ eXistenZ (1999) หนังไซไฟเรื่องสุดท้าย แต่เขาไม่คิดว่านั่นคือคำอธิบายที่ถูกต้องเกี่ยวกับตัวตนของเขา

“ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึง body horror และบอกว่าผมเป็นบิดาของ body horror แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้วประวัติศาสตร์มันยาวนานมาก อาจจะ 5,000 ปีด้วยซ้ำ ผมได้ดู Titane (2021, Julia Ducournau – เจ้าของรางวัลปาล์มทองปีล่าสุดและคนทำหนังรุ่นใหม่ที่ถูกพูดถึงว่าเดินตามรอย body horror ที่โครเนนเบิร์กถางทางไว้ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังของเธอได้ที่ จาก JUNIOR ถึง RAW : ลอกคราบ ชิมเลือด แล่เนื้อ JULIA DUCOURNAU) แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนทำหนังฌ็อง (genre) ผมคิดว่าฌ็องคือเครื่องมือทางการตลาด ในฐานะคนทำหนัง การรู้ว่าหนังผมเป็นฌ็องไหนไม่ได้ช่วยอะไร Crimes of the Future เป็นหนัง body horror หนังไซไฟ หรือหนังสยองขวัญล่ะ การรู้คำตอบไม่ได้ช่วยให้ผมทำหนังได้ ฉะนั้นผมไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องนี้เลย”

เขายังเล่าต่อถึงตอนที่ A History of Violence (2005) ฉายที่คานส์แล้วได้เสียงปรบมือยาวต่อเนื่อง 20 นาทีแต่ไม่ได้รางวัลว่า “หลังแถลงข่าวมีคนถามว่า ‘จากเสียงตอบรับดูเหมือนกับว่าคนชอบหนังเยอะมาก ทำไมมันถึงไม่ได้รางวัลอะไรเลยล่ะ’ [เอมีร์ คุสตูริกา ผู้กำกับชาวเซอร์เบียน ประธานกรรมการปีนั้น]บอกว่า ‘ถ้านี่เป็นเทศกาลหนังฌ็อง หนังเรื่องนี้ก็คงจะได้รางวัลนะ’ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็คงไม่จำเป็นจะต้องมีหนังฌ็องในการประกวด เพราะว่าหนังเหล่านั้นจะถูกตัดสิทธิไปโดยอัตโนมัติ แต่อย่างที่เราเห็นว่าในช่วงหลัง Titane ก็ได้ปาล์มทอง หนังแบบ Shape of Water (2017, Guillermo del Toro) ก็ได้หลายรางวัล ชัดเจนว่าหนังฌ็องก็ได้รางวัลจากเทศกาลใหญ่กันบ้างแล้ว”

“[เน็ตฟลิกซ์]ยังหัวโบราณมากๆ ไม่ต่างจากสตูดิโอฮอลลีวูด”

“ถ้าคุณทำหนังกับเน็ตฟลิกซ์ตอนนี้ คุณไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเลย เพราะเน็ตฟลิกซ์มีเงินเหลือเฟือ แต่ถ้าคุณทำหนังอิสระแล้วไม่มีเน็ตฟลิกซ์สนับสนุน นั่นล่ะคือความลำบาก”

ก่อนหน้านี้ โครเนนเบิร์กเริ่มทำซีรีส์กับเน็ตฟลิกซ์ไปแล้วถึงสองตอน แต่ถูกขอยกเลิกโปรเจ็กต์กลางคัน หนำซ้ำ Crimes of the Future ก็ถูกนำไปพูดคุยกับแอมะซอนและเน็ตฟลิกซ์มาแล้ว แต่พวกเขาไม่สนใจร่วมทุน “ผมผิดหวังเพราะผมสนใจสตรีมมิ่งที่มีคุณภาพระดับภาพยนตร์ ผมคิดว่ามันจะเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจมากสำหรับผมในฐานะคนเขียนบท ผู้สร้าง และรวมไปถึงผู้กำกับ ผมอาจจะมีประสบการณ์นั้นในวันหนึ่ง แต่ตอนนี้พวกเขายังสนใจใน movie making มากกว่า filmmaking”

“ความรู้สึกจริงๆ ของผมคือผมสนใจปรากฏการณ์สตรีมมิ่งของเน็ตฟลิกซ์ทั้งหมด แต่ผมคิดว่าพวกเขายังหัวโบราณมากๆ ไม่ต่างจากสตูดิโอฮอลลีวูดทั้งที่ตอนแรกผมคิดว่าพวกเขาจะต่างออกไป ความต่างจริงๆ คือเน็ตฟลิกซ์สามารถฉายซีรีส์จากเกาหลี จากฟินแลนด์ และเรียกมันว่า Netflix Original แต่มันไม่ได้ออริจินัลจริง มันคือผลงานที่พวกเขาซื้อมา แต่พอเป็นโปรดักชั่นของเน็ตฟลิกซ์เอง พวกเขากลับอนุรักษ์นิยมเอามากๆ ผมคิดว่าพวกเขามีวิธีคิดแบบกระแสหลัก แต่นี่คือประสบการณ์ของผมคนเดียวน่ะนะ”

ด้วยเหตุนี้ รวมไปถึงการที่ Crimes of the Future ถ่ายทำที่เอเธนส์แทนที่จะเป็นโตรอนโต และได้ทุนสร้างถึง 40% จากกรีซ (หลังจากใช้เวลาหาทุนสร้างถึงสามปี แม้ว่าจะได้นักแสดงทั้งสามคนนี้มาแล้ว) จึงดูเหมือนเขาจะยังมีหวังกับวงการภาพยนตร์อิสระในแง่ที่ว่า ผู้จัดจำหน่ายและนายทุนอิสระให้อิสระในทางความคิดสร้างสรรค์กับคนทำหนังมากกว่า “มันเป็นเพราะพวกเขาต้องให้สิ่งที่เน็ตฟลิกซ์ให้ไม่ได้ ซึ่งสตูดิโอฮอลลีวูดก็ให้ไม่ได้เหมือนกัน จะว่าไปก็คือ พวกเขาต่างก็เป็นพวกกระแสหลักอนุรักษ์นิยม” เขากล่าว “แน่นอนว่าการมาถึงของเน็ตฟลิกซ์กระทบอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการจัดฉายในโรงภาพยนตร์ ผมคิดว่าโรงหนังจะตาย ผมพูดตรงๆ เลย ผมคิดว่าจะยังมีโรงหนังอยู่ แต่ไม่เยอะหรอก แล้วโรงเหล่านี้ก็จะฉายหนังนีชเป็นหลัก เพราะไม่อย่างนั้น พวกเขาก็จะเอาฉายแต่หนังซุปเปอร์ฮีโร่มาร์เวล”

Related NEWS

LATEST NEWS