ข่าวลือประธานใหม่เมืองคานส์ กับทิศทางยุคสตรีมมิ่ง, โควิด และ TikTok ที่หลายเสียงเริ่มระแวง

ยิ่งเข้าใกล้เดือนพฤษภาคม กระแสข่าวเกี่ยวกับเทศกาลหนังเมืองคานส์ก็เริ่มชิงพื้นที่ข่าวภาพยนตร์ ชนิดแทบเรียกได้ว่าเดินหน้าตามปฏิทินปกติที่เคยเป็นมา (ยกเว้นสองปีหลังที่ประสบภัยโควิด) ทั้งหนังบล็อกบัสเตอร์ฮอลลีวูดที่เริ่มสร้างกระแส และสื่อที่เริ่มกะเก็งว่าหนังใครจะได้ชิงปาล์มทอง ก่อนประกาศรายชื่อทางการช่วงกลางเดือนเมษายน

แต่นอกจากการที่ถึงขณะนี้คานส์ยังไม่ประกาศชื่อประธานกรรมการตัดสินสายประกวดหลัก และข่าวฮือฮาเรื่องประกาศเป็นพาร์ตเนอร์กับ TikTok (พร้อมเปิดสายประกวด sidebar สำหรับหนังสั้นที่ถ่ายแนวตั้งความยาวไม่เกินสามนาทีโดยเฉพาะ) อีกหัวข้อสำคัญที่แทรกเข้ามาก่อกวนปฏิทินปกติในปีนี้ก็คือ ข่าวลือเรื่องประธานคนใหม่ของเทศกาลฯ

เพราะในวันที่ 23 มีนาคมนี้ บอร์ดบริหารของคานส์จะประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นประธานคนใหม่ แทนที่ ปีแยร์ เลสคิวร์ (Pierre Lescure) ซึ่งตัดสินใจวางมือหลังอยู่ในตำแหน่งมาแล้วสามวาระ มีกระแสข่าวว่าคานส์ต้องการประธานหญิงเพื่อให้สอดรับกับกระแสความเท่าเทียมทางเพศ แต่ชื่อที่ลือกันหนาหูว่ามีความเป็นไปได้สูงสุดในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังอย่าง ไอริส น็อบล็อค (Iris Knobloch) ก็ผุดขึ้นมาพร้อมเสียงระแวงและไม่ไว้วางใจ

ซาอิด เบน ซาอิด (Saïd Ben Saïd) โปรดิวเซอร์ขาประจำเมืองคานส์และกรรมการสายประกวดหลักเบอร์ลินปีล่าสุด ทวิตเป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 9 มีนาคมว่า “คงต้องถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ ถ้าคานส์เลือกผู้ที่ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ให้สถาบันวัฒนธรรมหลายแห่ง ซึ่งแข่งขันในสนามของตนได้เป็นเลิศ แต่มองเห็นวัฒนธรรมและศิลปะเป็นเพียงตารางตัวเลข” โดยขยายความเพิ่มเติมผ่านอีเมล์ที่ตอบ เอริก โคห์น (Eric Kohn) แห่ง IndieWire ว่า “คานส์ต้องการคนที่เป็นสัญลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม” ที่จะทำให้ซีเนไฟล์กับคนทำหนังรู้สึกอุ่นใจ มากกว่าคนที่มีชื่อเสียงความสำเร็จด้านธุรกิจภาพยนตร์

เหตุผลแรกที่ทำให้น็อบล็อคเป็นตัวเลือกที่สุ่มเสี่ยงคือ เธอเป็นอดีตประธานภูมิภาคของ WarnerMedia ที่เพิ่งลาออกมาเพื่อก่อตั้ง I2PO บริษัทที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบรวมกิจการ (Special Purpose Acquisition Company หรือ SPAC) ที่มุ่งเน้นด้านสื่อบันเทิงกับพื้นที่สาธารณะเอนกประสงค์โดยเฉพาะเป็นแห่งแรกในทวีปยุโรป – เมื่อตำแหน่งประธานเทศกาลฯ ไม่มีค่าตอบแทน จึงเป็นไปได้สูงที่เธอจะยังดำรงตำแหน่งในบริษัทที่เธอก่อตั้ง และเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ด้วยการควบคุมทิศทางของเทศกาลฯ ให้เป็นประโยชน์ต่อกิจการของตัวเอง

เหตุผลข้อสองคือ กระแสข่าวความไม่โปร่งใสที่ว่า โดมินีค บูตงนาต์ (Dominique Boutonnat) ซึ่งนั่งเก้าอี้ทรงอิทธิพลอย่างประธานบอร์ดภาพยนตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (หรือ CNC) พร้อมเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของคานส์ด้วย กำลังพยายามล็อบบี้ตำแหน่งประธานเทศกาลฯ ให้น็อบล็อคอย่างหนัก – เบน ซาอิด กล่าวว่าคนในวงการหนังฝรั่งเศสต่างตกใจที่ประธาน CNC พยายามดันแคนดิเดตของตนเองโดยไม่ปรึกษาพูดคุยกับบอร์ดบริหารของคานส์คนอื่นๆ

ถึงแม้ว่า เธียร์รี เฟรโมซ์ (Thierry Frémaux) จะยังคงเป็นผู้อำนวยการ (general director) ที่รับผิดชอบเรื่องรสนิยมและการเลือกหนังเข้าเทศกาลฯ โดยตรงต่อไปแม้เปลี่ยนประธาน หลายเสียงก็ยังกังวลว่าน็อบล็อค (หรือใครก็ตาม) อาจไม่มีวิสัยทัศน์ด้านศิลปะภาพยนตร์อย่างที่เฟรโมซ์ได้มีส่วนสถาปนาทิศทางไว้ให้คานส์ เช่นเดียวกับที่เลสเคียวร์หรือประธานระดับตำนานอย่าง ฌีลส์ ฌาค็อบ (Gilles Jacob) เคยสนับสนุน โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ กำลังกดดันให้เทศกาลฯ ต้องคิดหาวิธีการปรับตัว (ในขณะที่เทศกาลหรือรางวัลใหญ่ๆ ของโลกเบนเข็มตามจังหวะสตรีมมิ่งอย่างพร้อมเพรียงแล้ว คานส์แทบจะเป็นแห่งเดียวที่ยังไม่ได้เคลียร์ข้อขัดแย้งค้างปีกับ Netflix)

การประกวดหนังสั้น TikTok เป็นเพียงความเคลื่อนไหวล่าสุดที่คานส์แสดงออกชัดเจนว่าต้องการเข้าถึงกลุ่มคนดูรุ่นใหม่ ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรและทันสมัยมากขึ้น แต่ความกังวลในภาพรวมที่ปกคลุมเทศกาลฯ อยู่แล้วตลอดช่วงหลายปีหลัง คือเหล่าผู้บริหารและหนังสตูดิโอใหญ่ที่มาเมืองคานส์พร้อมวิธีคิดแบบหนังคอมเมอร์เชียล ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเทศกาลเปลี่ยนไปในทิศทางที่อนุรักษ์นิยมประนีประนอมมากขึ้น ท้าทายด้านศิลปะภาพยนตร์น้อยลง เพราะเหตุผลด้านการตลาด (ข่าวลือเรื่องการเข้ามาของน็อบล็อคที่เป็นอดีต “ผู้บริหารสตูดิโอ” ที่ปัจจุบันทำหน้าที่ “กองทุนเพื่อการควบรวมกิจการ” จึงยิ่งเสริมความกังวลข้อนี้)

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ความเคลื่อนไหวในฝั่งคู่ขนานอย่าง Directors’ Fortnight ซึ่งดำเนินงานโดยสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ฝรั่งเศส (SRF) ก็ปรากฏข่าวเรื่องอิทธิพล ผลประโยชน์ทับซ้อน และความไม่แน่ชัดในทิศทางเช่นกัน หลังข่าวเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการ เปาโล โมเร็ตติ (Paolo Moretti) หลังดำรงตำแหน่งมาได้เพียงสามปี พร้อมกระแสข่าวที่คาดการณ์ว่าเป็นเพราะ Fortnight ในยุคของโมเร็ตติปฏิเสธหนังของสมาชิก SRF บ่อยเกินไป จนทำให้บอร์ดบริหารซึ่งประกอบด้วยคนทำหนังฝรั่งเศสที่หมุนเวียนเปลี่ยนวาระกันไปในแต่ละปี (และได้อีเมล์ตอบปฏิเสธเมื่อส่งหนังมาเทศกาล) ไม่ต่อสัญญาเขาในรอบปีล่าสุด – และผู้สนับสนุนหลักด้านการเงินของ Fortnight ในขณะนี้ก็คือ CNC ที่อาจกำลังล็อบบี้ตำแหน่งประธานเมืองคานส์อยู่นั่นเอง

อาจพอกล่าวได้ว่า ความท้าทายของวัฒนธรรมภาพยนตร์สมัยใหม่กำลังคืบคลานมาถึงเมืองคานส์ เพราะในขณะที่คานส์หรือเทศกาลใหญ่หลายแห่งถูกวิจารณ์เสมอมาว่าชอบวางท่า “หัวสูง” แต่จะปรับตัวให้ดูสูงน้อยลงอย่างไรโดยที่ไม่สูญเสียตัวตน ชื่อเสียง รสนิยม หรือถูกกลืนกินด้วยการตลาด จนเผลอเปลี่ยนเทศกาลหนังเป็นเพียงแหล่งรวมคอนเทนต์ (แบบหลายเทศกาลหลังยุคสตรีมมิ่ง) หรือไหลตามกระแสไป (แบบที่เวนิซในช่วงไม่กี่ปีหลังเคยถูกวิจารณ์ว่ากลายเป็นแค่แหล่งเปิดตัวหนังพูดอังกฤษที่หวังรางวัลออสการ์) แต่ในขณะเดียวกัน โครงสร้างการบริหารที่ประกอบด้วยผู้คนในวงการภาพยนตร์ ซึ่งแต่ก่อนอาจช่วยปกป้องตัวตนหรือรสนิยมของเทศกาลฯ ก็อาจส่งผลในด้านกลับได้เช่นกัน

คานส์คือตัวอย่างอันดับต้นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า สุนทรียศาสตร์และความท้าทายด้านศิลปะ สามารถดำรงอยู่ร่วมกับตลาดภาพยนตร์ได้ด้วยความสำคัญทัดเทียมกัน – โคห์นกล่าวถึงคานส์ไว้สั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “โปรแกรมหนังของคานส์นั้นโอบรับสภาวะธุรกิจภาพยนตร์ พร้อมๆ กับท้าทายมัน” และหน้าที่ของเทศกาลหนังคือ “การเป็นปากเสียงให้แก่ความอยู่รอดของศิลปะ ไม่ว่าตลาดจะมีความเห็นทางเศรษฐกิจว่าอย่างไรก็ตาม” 

Related NEWS

LATEST NEWS