โลกจะเปลี่ยนโฉมไหม เมื่อโรงหนังใกล้ถึงจุดวิกฤต !

วิกฤตโควิด 19 ได้สร้างผลกระทบไปทั่วทุกภาคของอุตสาหกรรมหนัง ในแง่การผลิต ทุกบริษัทต้องหยุดการถ่ายทำไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหน และในส่วนของการจัดจำหน่ายก็ต้องหยุดพักอย่างไม่มีกำหนด เพราะช่องทางหลักอย่างโรงหนังต้องหยุดกิจการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของอุตสาหกรรมแล้ว ดูเหมือนว่า โรงหนังจะมีชะตากรรมน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะในขณะที่ภาคโปรดักชั่นพร้อมจะกลับมาลงมือผลิตงานทันทีที่วิกฤตคลี่คลาย และภาคจัดจำหน่ายก็อาจยังพอมีช่องทางอื่นทดแทน (เช่น ช่องทางออนไลน์ หรือ โทรทัศน์) แต่โรงหนังไม่มีทางเลือกอื่นเลย นอกจากนับวันรอให้วิกฤตหมดไป แล้วคาดหวังว่าผู้ชมจะกลับมาดูหนังเหมือนเดิม

แม้ EDO สำนักวิจัยในอเมริกา จะเผยผลการสำรวจที่สร้างความหวังให้แก่ผู้ประกอบการโรงหนังได้บ้างว่า 70% ของกลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มจะกลับมาดูหนังที่โรงหลังผ่านวิกฤต แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 25% เท่านั้นที่ยืนยันว่าจะกลับมาทันทีที่โรงเปิด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีก 45 % ระบุว่า ขอรอให้วิกฤตสงบจริงๆ อย่างน้อย 2-3 อาทิตย์ และอีก 11% ขอรอให้วิกฤตจบลง 2-3 เดือนก่อน

หากยึดตามผลโพลนี้ แปลว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายโรงหนังก็จะยังไม่กลับมาคึกคักเต็มที่จนกว่าคนจะมีความมั่นใจจริงๆ ซึ่งวันที่ EDO ทำโพลดังกล่าวคือเดือนมีนาคม แต่คำถามสำคัญคือ ถ้าวิกฤตลากยาวไปเรื่อยๆ ความรู้สึกของผู้คนจะเป็นอย่างไร หากความวิตกกังวลฝังลึกลงไปในจิตใจมากๆ บางทีความต้องการกลับมาดูหนังในโรงอาจต้องลากยาวไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วโรงหนังจะเอาตัวรอดอย่างไร?

คำตอบที่ปรากฏตอนนี้อาจดูน่าหดหูสักหน่อย เพราะบทความใน Variety (9 เมษายน) ที่อ้างการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในวอลล์สตรีทระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่โรงหนังเครือใหญ่อันดับ 1 ของอเมริกาอย่าง AMC จะเข้าสู่ภาวะล้มละลายในเวลาไม่ช้า ! สาเหตุสำคัญมาจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูงถึง 155 ล้านเหรียญ แต่ตอนนี้ AMC มีเงินสดอยู่ในมือเพียงแค่ 265 ล้านเหรียญ และมีเครดิตให้ใช้ได้อีก 335 ล้านเหรียญเท่านั้น

แล้วถ้ายักษ์ใหญ่อย่าง AMC ต้องประสบภาวะวิกฤตเช่นนี้ โรงเครืออื่น รวมถึงโรงขนาดเล็กในอเมริกาจะมีสภาพอย่างไร


หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจโรงหนังที่อาจสร้างความสั่นสะเทือนรุนแรงต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม ซึ่งในฐานะของผู้ที่อยู่ในธุรกิจหนังและติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมหลังภาวะโควิดมาสักระยะหนึ่ง ผมขอเสนอบทวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ดังต่อไปนี้

1. การเข้ามาซื้อกิจการของสตูดิโอใหญ่ :

ข้อสันนิษฐานนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ เพราะตามกฎหมายของอเมริกาที่เรียกว่า กฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Anti Trust Law) เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ไม่สามารถผูกขาดธุรกิจครบวงจรได้ หมายความว่า สตูดิโอใหญ่อย่างดิสนีย์, ยูไอพี, ฟ็อกซ์ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจทั้งผลิต จัดจำหน่ายและจัดฉายหนังได้ (ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยเป็นคดีความมาแล้วในปี 1947 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ฟ้องร้องบริษัทพาราเมาท์พิกเจอร์ส และสตูดิโออื่นๆ อีก 7 บริษัทข้อหาผูกขาดธุรกิจ และศาลสูงก็ตัดสินให้เหล่าสตูดิโอแพ้ไป)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นิตยสาร The Atlantic ลงบทความ “Trump’s Justice Department Wants to Change the Movie Industry” ระบุว่า กระทรวงยุติธรรมมีแผนจะแก้ไขกฎหมายนี้เนื่องจากเห็นว่าล้าสมัยไม่ทันกับธุรกิจหนังในยุคสตรีมมิ่ง แม้จนถึงตอนนี้แนวคิดดังกล่าวยังไม่ได้ถูกสานต่อจริงจัง และถึงจะถูกผลักดันต่อก็ต้องก่อให้เกิดข้อถกเถียงไม่รู้จบ แต่กับสถานการณ์ที่รัฐบาลไม่สามารถปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่ล่มสลายไปได้ (เพราะจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างรุนแรง ทั้งปัญหาการว่างงานและดุลยภาพทางเศรษฐกิจ) บางทีการเปิดประตูให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาดำเนินธุรกิจแทนผู้ประกอบการรายเก่าอาจเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะทำให้สภาพเศรษกิจที่เป็นอยู่ไม่เสียหายไปมากกว่านี้

ส่วนฝ่ายสตูดิโอ แน่นอนว่าการได้ครอบครองโรงหนัง ซึ่งเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญ จะทำให้พวกเขาได้เปรียบอย่างประเมินค่าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น และการปิดช่องทางไม่ให้ยักษ์ใหญ่ฝ่ายสตรีมมิ่งได้เฉิดฉายนอกพื้นที่ที่ตนเองถนัด จึงมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่เหล่าสตูดิโออาจใช้อิทธิพลของตัวเองล็อบบี้ให้ฝ่ายการเมืองเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่อต้านการผูกขาด เหมือนอย่างที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการล็อบบี้ให้ภาครัฐออกกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์


2. การเข้ามาสานต่อกิจการของค่ายสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ :

แน่นอนว่า ถ้าให้ Netflix เจ้าเดียวลุกขึ้นมาซื้อกิจการโรงหนังคงเป็นเรื่องยาก เพราะทุกวันนี้ Netflix เองก็แบกหนี้บานเบอะอยู่แล้ว ความเป็นไปได้อย่างมากคือ การจับมือกับกลุ่มทุนใหญ่ไม่ว่าจะในและนอกประเทศ หรือแม้แต่การจับมือกับคู่แข่งด้านสตรีมมิ่งเช่นกัน อย่าง Amazon, Hulu เพื่อขยายช่องทางใหม่ในการจัดจำหน่าย

ถามว่าช่องทางโรงหนังจะมีประโยชน์อย่างไรกับกลุ่มสตรีมมิ่ง คำตอบก็คือ ในช่วงเวลาที่ต้นทุนการผลิตหนังหรือซีรีส์ ของค่ายสตรีมิ่งต่างๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น (Irishman คือตัวอย่างที่ดี กับต้นทุน 140 ล้านเหรียญ) และรายได้จากค่าสมาชิกเริ่มติดเพดานจากการที่ไม่สามารถขยายฐานลูกค้าเข้าไปสู่ประเทศที่มีประชากรจำนวนมหาศาลอย่างจีนและอินเดียได้ โรงหนังก็น่าจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงเพิ่มผลกำไรได้ไม่น้อย ถ้าหนังที่มีศักยภาพทางธุรกิจ เช่น Extraction ที่คริส เฮมส์เวิร์ธ แสดง หรือแม้แต่ The Irishman ได้มีโอกาสฉายโรงในวงกว้าง โอกาสที่จะทำรายได้อย่างน่าประทับใจในบ็อกซ์ออฟฟิศอเมริกาก็น่าจะมีสูง

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่บริษัทสตรีมมิ่งเหล่านี้อาจมองเห็นช่องทางออกดังกล่าว หรืออาจเริ่มคิดว่า น่าจะอาศัยช่วงเวลานี้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และถ้าค่ายยักษ์สตรีมมิ่งลงมาเล่นธุรกิจโรงหนังจริงๆ เราก็อาจได้เห็นโมเดลการจัดจำหน่ายใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การฉายหนังใหม่พร้อมกันสองช่องทาง (ทั้งโรงและออนไลน์) หรือการได้เห็นซีรีส์ที่เหมาะแก่การจัดฉายในโรงมากขึ้น


แต่ไม่ว่าผู้เล่นรายใดจะเข้ามาสานต่อธุรกิจโรงหนังที่กำลังจะพัง อุตสาหกรรมหนังโดยรวมคงไม่ได้ประโยชน์อะไรในระยะยาว ในกรณีของกลุ่มสตูดิโอนั้น การเข้ามาของพวกเขา จะก่อให้เกิดการผูกขาดที่จะปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการโรงหนังอิสระ และความหลากหลายของหนังจากผู้สร้างนอกกลุ่มสตูดิโอ
ส่วนการเข้ามาของกลุ่มสตรีมมิ่ง แม้ว่าจะสร้างความหวือหวาในรูปแบบวิธีการจำหน่าย แต่ก็น่าจะทำให้รูปแบบการฉายที่เราคุ้นเคยต้องเปลี่ยนไป และต่อไปช่องทางการจัดจำหน่ายหนังอาจเหลือแค่สองคือโรงและสตรีมมิ่งเท่านั้น นอกนั้นตายหมด

เราในฐานะผู้บริโภคได้แต่หวังว่า โมเดลธุรกิจทั้งสองแบบจะไม่เกิดขึ้น และหวังว่าวิกฤตจะคลี่คลายไปโดยเร็ว เพื่อที่โรงหนังที่มีอิสระในตัวเองจะกลับมาทำหน้าที่เดิมอีกครั้ง


เว็บไซต์อ้างอิง

1. AMC Theatres Bankruptcy Likely, Analysts Say

2. Moviegoers Highly Likely To Return To Theaters Upon Reopening, But More Than Half Will Wait A Bit, Study Suggests

3. Trump’s Justice Department Wants to Change the Movie Industry

Related NEWS

LATEST NEWS