รำลึก 5 ผลงานของ ธนกร พงษ์สุวรรณ

“ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานกับผู้กำกับเก่งๆ หลายคน อันที่จริงผมเข้าทำงานในกองถ่าย ‘เกิดอีกทีต้องมีเธอ’ เป็นเรื่องแรก กับพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ตอนนั้นผมทำตำแหน่งรีพอร์ทเตอร์ และหลังจากได้ทำหนังมาอีกหลายเรื่องจึงได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับของพี่เรียว กิตติกร และ อ็อกไซด์ แปง ในเวลาต่อมา ทั้งสองคนนี้ก็เป็นคนเก่งของวงการเลยทีเดียว การทำงานในกองถ่ายดังกล่าวฝึกฝนผมในแง่ของงานผู้ช่วยผู้กำกับซึ่งเป็นงานที่หินมากๆ

“แต่สำหรับในเรื่องอิทธิพลการทำหนัง ทางด้านภาพ ทางด้านการกำกับ ผมไม่รู้ว่าผมได้อิทธิพลจากใครมาหรือเปล่า แต่ผมชื่นชอบในผลงานของผู้กำกับอย่าง เดวิด ฟินเชอร์, หว่องกาไว, ไมเคิล เบย์ และ เป็นเอก รัตนเรือง ครับ”

ธนกร พงษ์สุวรรณ มีผลงานการกำกับหนังเพียง 5 เรื่อง ตลอดช่วงเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ทว่าทั้ง 5 เรื่องต่างก็มีความน่าสนใจในตัวเองจนกล่าวได้ว่าเป็นบทบันทึกชิ้นสำคัญของหนังไทยในแต่ละช่วงเวลาได้ทั้งสิ้น

วาระที่ธนกรได้จากเราไปอย่างไม่มีวันกลับ เราจึงขอรวบรวมความน่าสนใจของทั้ง 5 เรื่อง ดังนี้…


Fake โกหก…ทั้งเพ (2546)

ผลงานการกำกับชิ้นแรกของธนกรที่สร้างตัวตนออกมาชัดเจนในทันทีนี้ นอกจากจะเป็นหนังซึ่งทำให้ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ เปล่าประกายอย่างเต็มที่แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือมันได้บันทึกกรุงเทพฯ ที่สวยงาม เปลี่ยวเหงา แต่เต็มไปด้วยเสน่ห์ออกมา

ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างบทสนทนาระหว่างธนกรกับเมืองใหญ่แห่งนี้ที่เขาเติบโตมากับมัน “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ผมอยากจะพูดถึงมันในแบบที่ไม่ได้พูดตรงๆ อยากพูดถึงบรรยากาศในแบบที่มันเป็นและผมรู้สึก …กรุงเทพฯ อาจจะเป็นตัวละครตัวหนึ่งในหนังเรื่องนี้ เป็นตัวละครที่มีอยู่ตลอดทั้งเรื่อง และก็มีบทสนทนาของตัวมันเองในแบบที่เราไม่ต้องเขียนให้” ผลจึงคือหนังที่ถ่ายทอดความรู้สึกของหนุ่มสาวในเมืองใหญ่อย่างเข้าอกเข้าใจ จนเป็นภาพแทนของสังคมคนกรุงต้นยุค 2000 ได้อย่างดี


เอ็กซ์แมน แฟนพันธุ์เอ็กซ์ (2547)

หลังจากคนจดจำลายเซ็นของธนกรได้จากหนังเรื่องแรกแล้ว เขาสานต่อมันด้วยการเล่าเรื่องมนุษย์กรุงเทพฯ อีกครั้ง แต่สำหรับ ‘เอ็กซ์แมนฯ’ มันว่าด้วยผู้คนในโลกมืดที่พัวพันกับธุรกิจคลิปโป๊ ในท่วงท่าของหนังแอ็กชันสืบสวน หนังพาเราไปสำรวจความดำดิ่งของจิตสำนึกมนุษย์ ขณะที่ก็ยังคงถ่ายทอดชีวิตของหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ที่โหยหาและเรียกร้องอะไรบางอย่างเช่นเคย

‘เอ็กซ์แมนฯ’ ยังเป็นหนังที่บันทึกวัฒนธรรม “โป๊มั้ยพี่” แผงวีซีดีตลาดมืดที่ไม่เหลือแล้วในปัจจุบัน หากหนังเรื่องนี้ไม่บันทึกไว้ก็คงไม่ปรากฏในหนังเรื่องไหนแล้ว

ดูได้ใน Monomax


โอปปาติก เกิดอมตะ (2550)

อย่างที่เขากล่าวว่า หนึ่งในคนทำหนังที่มีอิทธิพลต่อเขาที่สุดคนหนึ่งคือ ไมเคิล เบย์ และหนังเรื่องนี้น่าจะเข้าใกล้ตัวตนในด้านนั้นของเขาอย่างที่สุด มันเกิดขึ้นจากนช่วงเวลาหนึ่งเขาสนใจในเรื่องพระพุทธศาสนา ทำให้เขาพบกับ ‘โอปปาติก’ ซึ่งหมายถึงภูตผีที่ใช้ชีวิตขนานไปกับมนุษย์ เขาได้หยิบไอเดียนั้นมาดัดแปลงเป็นหนังแอ็กชันแฟนตาซีที่ยึดหลักทางพระพุทธศาสนาวาด้วยการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งนับเป็นความแปลกใหม่ของหนังร่วมยุคเดียวกัน และสิ่งที่ธนกรยังคงทำได้ดีคือการสร้างตัวละครที่มีบุคลิกเฉพาะตัว และน่าจดจำเช่นเคย

ดูได้ใน Monomax


Fireball ท้าชน (2552)

ผลงานอิสระเรื่องแรกของธนกรที่ทำให้เขาขยับมาตรฐานตัวเองขึ้นไปอีกระดับ มันเป็นหนังแอ็กชันว่าด้วยกีฬาเอ็กซ์ตรีมใต้ดินที่พัวพันกับโลกมืด นอกจากมันจะเป็นหนังแอ็กชันที่ดูสนุก (มาก) เรื่องหนึ่งแล้ว มันยังเต็มไปด้วยการออกแบบฉากต่อสู้ที่หวือหวาแปลกใหม่ ฉีกไปจากหนังแอ็กชันไทยยุคหลัง ‘องค์บาก’ อย่างชัดเจน ที่สำคัญหนังเข้าฉายในช่วงที่ปฐมบทความขัดแย้งในสังคมไทยเริ่มก่อตัว สาระที่อยู่ในหนังยังเป็นสิ่งที่น่าถอดรหัสจนเกิดการตีความกันไปไกลในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการต่อสู้กันเองระหว่างคนตัวเล็กๆ ทว่าทั้งหมดอยู่ภายใต้เงื้อมเงาการชักใยของอิทธิพลมืด


ซิงเกิลเลดี้ เพราะเคยมีแฟน (2558)

หนังเรื่องสุดท้ายของธนกร ที่ธนกรได้กลับมาร่วมงานกับ อั้ม-พัชราภา อีกครั้ง และเป็นครั้งแรกที่เขาได้ทำหนังที่มีท่าทีผ่อนคลาย เป็นหนังโรแมนติกคอมิดีเพียงเรื่องเดียวในประวัติการกำกับ ทั้งนี้มันยังเป็นหนังที่ว่าด้วยความไม่มั่นคงในจิตใจของหนุ่มสาวชาวเมืองอยู่เช่นเคย และธนกรก็ยังคงดึงเสน่ห์และศักยภาพความเป็นซูเปอร์สตาร์ออกมาจากนางเอกคู่บุญของเขาได้อย่างดี

ดูได้ใน TrueID

Related NEWS

LATEST NEWS