Eyes Wide Shut หนังฉาวในตำนาน งานทิ้งทวนความบ้าของ สแตนลีย์ คูบริค!

ไม่ว่าใครจะชอบจะชังหรือจะอิหยังวะกับหนังเรื่องนี้ มันก็ยังถูกถือเป็นตำนานเพราะนี่คือ “หนังเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริค” (ผู้สร้างผลงานอมตะอย่าง 2001: A Space Odyssey, A Clockwork Orange, The Shining), เป็น “หนังตลาดสตูดิโอใหญ่ที่เต็มไปด้วยฉากเซ็กซ์โจ๋งครึ่ม”, เป็น “หนังที่ทำให้คู่รักซูเปอร์สตาร์ ทอม ครูส กับ นิโคล คิดแมน เตียงหัก” แถมยังครองสถิติ “หนังที่ถ่ายทำต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก” (400 วันรวด) อีกด้วย

ไม่เท่านั้น Eyes Wide Shut ยังเป็นหนังที่เต็มไปด้วยเรื่องบ้าคลั่งหลังกองถ่าย! เป็นหนังซึ่งปิดข่าวลับสุดขีดตลอดการถ่ายทำ ลับชนิดที่แม้แต่ครูสกับคิดแมนก็ยังไม่รู้ว่าอีกฝ่ายแสดงอะไรบ้าง เพราะคูบริคแยกกำกับพวกเขาทีละคนและสั่งห้ามเล่าสู่กันฟังเด็ดขาด ทั้งนี้ก็เพื่อให้สองสามีภรรยาเกิดความหวาดระแวงกันเอง ซึ่งคูบริคเชื่อว่าจะได้ช่วยให้ตัวละครดูสมจริงยิ่งขึ้น! (ในหนัง ครูสรับบทเป็น ด็อกเตอร์ บิลล์ ฮาร์ฟอร์ด ซึ่งหลังจากได้ยินความลับของ อลิซ ภรรยาสุดรักที่แสดงโดยคิดแมน เขาก็เจ็บปวดและพาตัวเองออกไปผจญภัยในพิธีกรรมอื้อฉาวตลอดคืนจนชีวิตคู่พัง)

และขอบอกว่า เกร็ดน่าจดจำข้างต้นเป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น …Film Club ขอจัดอีก 11 ข้อมาฝากข้างล่างนี้ :

1.

สแตนลีย์ คูบริค อยากดัดแปลงนิยาย Traumnovelle ของอาร์ทัวร์ ชนิทซ์เลอร์ นักเขียนชาวออสเตรียเล่มนี้มาตั้งแต่ปี 1960 เล่ากันว่าเขารู้จักมันระหว่างไปรับการบำบัดพร้อม เคิร์ก ดักลาส (หลังทะเลาะกันหนักในกองถ่ายเรื่อง Spartacus) และในเดือนเมษายน 1971 ค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สก็ประกาศว่านี่จะเป็นโปรเจกต์ต่อไปของคูบริค ทว่าจนอีก 28 ปีต่อมาหรือในปี 1999 นั่นแหละหนังจึงได้ทำและออกฉายจริงๆ

(Traumnovelle ยังถูกดัดแปลงเป็นหนังอีก 2 เรื่อง คือ หนังทีวีออสเตรียชื่อเดียวกัน ปี 1969 และหนังอิตาเลียน Ad un passo dall’aurora ปี 1989)

2.

ในยุค 70 คูบริคคิดจะทำ Eyes Wide Shut เป็นหนังตลก (!) แถมยังหมายตาดาราตลกที่กำลังดังอย่าง วู้ดดี้ อัลเลน ไว้เป็นพระเอก (!!) ต่อมาเขาเล็ง สตีฟ มาร์ติน ดาราตลกชื่อดังอีกคน รวมทั้ง แฮร์ริสัน ฟอร์ด ด้วย (ซึ่งเขาชอบมาก ถึงกับเปลี่ยนนามสกุลพระเอกจาก Scheuer ในเรื่องต้นฉบับ มาเป็น “Harford”) กับยังเคยคิดจะยกบทนำให้ อเล็ก บาลด์วิน กับ คิม เบซิงเจอร์ ดาราที่เป็นคู่สามีภรรยากันนอกจอ …เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโจทย์หลักข้อหนึ่งที่เขายึดไว้ตลอดก็คือ ต้องใช้ดาราดังมาช่วยขาย เพราะตัวหนังเองนั้นขายยากมาก (นี่เป็นกลยุทธ์เดียวกับที่เขาเลือก แจ็ค นิโคลสัน มาแสดงนำใน The Shining ปี 1980)

3.

จริงๆ แล้วก่อนจะตัดสินใจทำ Eyes Wide Shut คูบริคเตรียมตัวดัดแปลงนิยายอีกเรื่องคือ Wartime Lies ของ หลุยส์ เบ็กลี ซึ่งว่าด้วยครอบครัวยิวในโปแลนด์ที่หนีการจับกุมของนาซี โดยตั้งชื่อหนังไว้ว่า Aryan Papers แต่ก่อนเปิดกล้องเขาก็ได้ข่าวว่า สตีเวน สปีลเบิร์ก เริ่มถ่ายหนังยิว-นาซีเรื่อง Schindler’s List (1993) ไปแล้ว คูบริคจึงตัดสินใจล้มโปรเจกต์นั้น

4.

การที่บทพระนางในเวอร์ชั่น 90 ตกเป็นของครูสกับคิดแมน กลายเป็นข่าวเซอร์ไพรส์เพราะทั้งคู่ไม่เคยมีภาพดาร์คๆ ในสายตาคนดูเลย ว่ากันว่า คูบริคเลือกพวกเขาทั้งเพราะความเป็นดาราดังเบอร์ต้น และเพราะทั้งคู่ชื่นชมคูบริคมากๆ ถึงขั้นเคยมาเยี่ยมเขาถึงบ้านในอังกฤษ

ความชื่นชมที่ว่านี้สูงลิ่วถึงขนาดที่ครูสกับคิดแมนยอมเซ็นสัญญามาเล่นแบบ “ปลายเปิด” ซึ่งหมายถึงจะต้องอยู่แสดงไปเรื่อยๆ ห้ามถอนตัวจนกว่าคูบริคจะยอมปล่อยกลับ ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม! (ส่งผลให้ทั้งคู่ต้องย้ายมาอยู่อังกฤษตลอดการถ่าย นานเสียจนลูกสองคนพูดติดสำเนียงอังกฤษกันไปเลย แถมยังมีข่าวว่าครูสป่วยเป็นแผลอักเสบระหว่างถ่ายทำ แต่ไม่ยอมบอกเพราะไม่อยากขัดขวางการทำงานของคูบริค)

5.

คูบริคเป็นคนที่กลัวการเดินทางมากๆ หนังจึงถ่ายแถวลอนดอนทั้งเรื่อง (ทั้งๆ ที่ฉากหลังในเรื่องคือนิวยอร์ก) เขาถึงขั้นส่งทีมงานไปแมนฮัตตันเพื่อวัดความกว้างจริงๆ ของถนนแล้วกลับมาสร้างฉากกรีนิชวิลเลจขึ้นที่ไพน์วู้ดสตูดิโอส์ทั้งฉากสำหรับถ่ายฉากทอม ครูสเดินรอบเมือง!

อย่างไรก็ตาม ซิดนีย์ พอลแล็ค ผู้กำกับและดารารุ่นใหญ่ที่เล่นบทเด่นในเรื่องด้วย บอกว่าไอ้ที่ฟังดูสิ้นเปลืองนี้ความจริงอาจจะคุ้มค่า เพราะคูบริคสามารถถ่ายในอังกฤษโดยใช้งบแค่นิดเดียวถ้าเทียบกับการต้องถ่ายในอเมริกา “พวกเราอาจใช้งบ 70 ล้านทำหนังที่มีดาราค่าตัว 20 ล้านโดยมีเวลาถ่ายแค่ 16 สัปดาห์ แต่สแตนลีย์ถ่ายได้ถึง 45 สัปดาห์โดยใช้เงินแค่ 65 ล้าน”

6.

ความเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ของคูบริคทำท่าจะพัฒนามาสู่จุดสุดขีดคลั่งในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น

– ในอันจะเตรียมความพร้อมให้นักแสดง เขาจัดคอร์สจิตวิเคราะห์ให้ครูสกับคิดแมนอย่างเข้มข้น โดยให้ทั้งคู่สารภาพความกลัวความกังวลในชีวิตคู่ออกมาให้หมดเปลือก แถมห้ามนำไปเล่าให้ใครฟังทั้งสิ้น คิดแมนบอกว่ากระบวนนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “ตัวละคร” กับ “ชีวิตจริง” ของครูสกับเธอเบลอไปหมด

– ตัวอย่างการกำกับที่โหดมากก็คือ ในฉากอลิซจินตนาการว่าตัวเองมีเซ็กซ์กับทหารรูปหล่อ (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้บิลล์ระแวงจนชีวิตพัง) คูบริคบังคับให้คิดแมนเปลือยร่างแสดงกับนายแบบคนหนึ่งถึง 6 วัน โดยไม่แค่สั่งให้ทำท่าอีโรติกกว่า 50 ท่าเท่านั้น แต่ยังห้ามไม่ให้ครูสมาดูตอนถ่ายและไม่ให้คิดแมนเล่าให้เขาฟังด้วยว่าทำอะไรบ้าง เพื่อให้ตัวละครเกิดความหวาดระแวงกันอย่างสมจริง (และที่เจ็บที่สุดคือ สุดท้ายฉากนี้โผล่ในหนังแค่แวบเดียว)

– คูบริคตรวจตราทุกองค์ประกอบในทุกเฟรม ตั้งแต่พร็อพประกอบฉาก, เฟอร์นิเจอร์, สีผนัง, ฯลฯ โดยเฉพาะ “หน้ากาก” ในฉากพิธีกรรมเซ็กซ์หมู่ ซึ่งลงทุนสั่งมาจากงานคาร์นิวัลของจริงและคูบริคเป็นคนจัดการเองว่าให้ใครใส่อันไหน

– ฉากในห้องบิลเลียดของครูสกับพอลแล็คที่ยาว 13 นาทีครึ่งนั้น ใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์เต็มและถ่ายไปเกือบ 200 เทค ครูสเล่าว่าอาจเพราะคูบริคไม่ชอบที่พอลแล็คโชว์ความเก๋า (เนื่องจากเขาก็เป็นผู้กำกับหนังเหมือนกัน) ด้วยการคิดออกแบบมาเองว่าฉากนี้ควรเดินกันอย่างไร คูบริคเลยบังคับให้พอลแล็คแสดงแบบอื่นๆ เปลี่ยนไปทุกเทคไม่ให้เหมือนที่อุตส่าห์คิดมา T^T

7.

หนังเรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยการอ้างอิงถึงหนังอื่นๆ ของคูบริค เช่น

– หน้ากากที่บิลล์สวม ได้แบบมาจากรูปหน้าของ ไรอัน โอนีล พระเอกเรื่อง Barry Lyndon (1975)

– ในฉากหญิงลึกลับเตือนภัยบิลล์ เราจะได้ยินเสียงดนตรีจาก The Shining

– ห้องเก็บศพที่บิลล์เข้าไป อยู่ในตึกปีก c หมายเลข 114 (C, room 114 หรือ CRM-114) ซึ่งเหมือนกับหมายเลขเครื่องถอดรหัสใน Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb (1964) และก็เป็นหมายเลขเดียวกับยาที่ตัวเอกของ A Clockwork Orange (1971) ได้รับ

11

8.

สิบปีหลังหนังออกฉาย เพิ่งมีการเปิดเผยว่าเสียงของตัวละครหญิงลึกลับนั้นพากย์โดย เคต แบลนเช็ตต์ เนื่องจาก อาบิเกล กู๊ด ที่รับบทนี้พูดสำเนียงอังกฤษจ๋า แต่คูบริคอยากได้สำเนียงอเมริกัน ครูสกับคิดแมนจึงแนะนำให้ใช้บริการแบลนเช็ตต์ซึ่งอยู่ในอังกฤษช่วงถ่ายทำพอดี (ที่ตลกคือ แบลนเช็ตต์ไม่ได้เป็นคนอเมริกันด้วยซ้ำ เธอเป็นชาวออสเตรเลีย)

9.

ช่วงก่อนเข้าฉาย ลือกันว่านี่เป็น “หนังเรื่องสุดท้ายที่ยังถ่ายไม่เสร็จ” ของคูบริค แต่ต่อมาเชื่อได้ว่าเขาถ่ายเสร็จและตัดต่อพอใจแล้วจึงนำหนังไปส่งให้ค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สเจ้าของเงินดู ก่อนจะเสียชีวิตในอีก 4 วันต่อมา (โดยญาติและทีมงานยืนยันว่าเป็นการหัวใจวายกะทันหัน เพราะระหว่างถ่ายทำเขาไม่ได้ดูป่วยอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ต่อมาผู้ช่วยของเขาเปิดเผยว่าคูบริคดูอ่อนล้าและเครียดมากในช่วงท้ายๆ)

10.

หลังคูบริคตาย หนังใช้เวลาทำโพสต์โปรดักชั่นเกือบ 1 ปีเต็มกว่าจะได้ฉาย โดย เฟรเดริก ราฟาเอล คนเขียนบท เปิดเผยว่า ซิดนีย์ พอลแล็ค เป็นคนตัดต่อฉบับสุดท้าย และเหตุที่ฉากเซ็กซ์หมู่มีการเพิ่มซีจีภาพคนบนโฟร์กราวด์ให้มาบดบังก็เพื่อจะได้ลดความโป๊ลง แลกกับการให้หนังได้เรต R แทนที่จะเป็น NC-17 เหตุการณ์นี้เรียกเสียงด่าจากนักวิจารณ์และคนดูทั่วสารทิศว่าเป็นการทำลายงานมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้ายของสุดยอดผู้กำกับ แต่ก็มีอีกหลายแหล่งข่าวโต้ว่า คูบริคเป็นคนเสนอไว้ตั้งแต่ก่อนตายต่างหากล่ะว่าให้เบลอภาพแบบนี้

(หนังเข้าฉายในอเมริกาและหลายๆ ประเทศในแบบเซ็นเซอร์ แต่เข้าในอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศสแบบไม่เซ็นเซอร์เลย จนปี 2007 วอร์เนอร์ฯ จึงออกดีวีดีพิเศษฉบับไม่เซ็นเซอร์ให้ชาวอเมริกันได้ดูเป็นบุญตาเป็นครั้งแรก)

11.

Eyes Wide Shut กลายเป็นหนังเรื่องแรกของ สแตนลีย์ คูบริค ที่เปิดตัวในอเมริกาด้วยการคว้าอันดับ 1 บนบ็อกซ์ออฟฟิศ และแม้เสียงวิจารณ์จะแตกกระจุยกระจาย มันก็ยังติดลิสต์ “หนึ่งในหนังดีที่สุดของทศวรรษ 1990” หลายสำนัก รวมทั้งลิสต์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี และนิตยสาร Cahiers du Cinéma ด้วย

สำหรับทอม ครูส กับนิโคล คิดแมนนั้น ถูกร่ำลือว่าเลิกกันอย่างย่ำแย่ในอีกไม่นานต่อมาก็เพราะหนังเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ อย่างไรก็ตาม คิดแมนยืนยันว่านี่เป็นประสบการณ์การทำงานที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเธอ เพราะคูบริคเป็นทั้งครู และเป็นผู้กระตุ้นให้เธอเปลี่ยนใจไม่เลิกราจากอาชีพนี้ไป ส่วนครูสบอกว่าเขาไม่ชอบการแสดงบทบิลล์เลย “แต่ถ้าผมไม่ทำงานชิ้นนี้ ผมก็คงเสียใจไปตลอดชีวิต”

ไม่ว่าครูสจะชอบงานของตัวเองหรือไม่ แต่มีข่าวด้วยว่า พอล โธมัส แอนเดอร์สัน มาเยี่ยมกองถ่าย Eyes Wide Shut ครั้งหนึ่ง และเมื่อเห็นครูสที่นั่น เขาก็ประทับใจจนเลือกครูสมารับบท “แฟรงค์ ทีเจ แม็กคีย์” ใน Magnolia (1999) – ซึ่งบทหลังนี้ทั้งทำให้ครูสได้เข้าชิงออสการ์ และเป็นบทแรกที่เขาเอาชนะใจนักวิจารณ์ได้สำเร็จอย่างแท้จริง


Eyes Wide Shut เดินทางมาให้เราพิสูจน์ความเฮี้ยนกันถึงบ้านแล้วที่ Netflix

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES