“เราจะรอดตายไปด้วยกัน!” : เปิดมาตรการ 5 ประเทศต่อลมหายใจวงการหนัง

พิษร้ายของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของทุกอุตสาหกรรมในโลกนี้ ผู้คนจำนวนมากหากไม่ถูกลดเงินเดือน ก็ต้องพักงานแบบไม่มีรายได้ อุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้กันคือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่บุคลากรทั้งด้านการผลิต จัดจำหน่าย และจัดฉาย กำลังประสบกับภาวะไม่มั่นคงทางด้านอาชีพการงาน หลายองค์กร ต้องหยุดการทำงาน รอให้วิกฤตผ่านพ้นไปแล้วค่อยมาคิดกันอีกทีว่าจะทำอย่างไร ขณะที่อีกหลายบริษัท รวมถึงผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระจำนวนไม่น้อยกำลังจะตกงาน

เสียงเรียกร้องถึงภาครัฐเริ่มดังขึ้นในหลายประเทศ บางเสียงถูกรวมเข้ากับความเดือดร้อนของภาคธุรกิจอื่น ในขณะที่บางประเทศที่อุตสาหกรรมหนังมีความสำคัญ เสียงของคนเหล่านี้ก็จะถูกตอบสนองทันทีด้วยมาตรการเร่งด่วนเบื้องต้น โดยประเทศที่มีมาตรการที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้ ประกอบด้วย…

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้น่าจะเป็นประเทศแรกที่ดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบที่สุด ประกอบด้วย

1) รัฐยกเว้นการจัดเก็บเงินเพื่อกองทุนพัฒนาภาพยนตร์ จากที่ตามปกติผู้ประกอบการโรงหนังจะต้องจ่ายให้รัฐทุกปีในอัตรา 3% ของรายได้ (โดยตลอดสามปีที่ผ่านมา รัฐมีรายได้จากส่วนนี้ 40 ล้านเหรียญ)

2) มอบเงินสนับสนุนค่าการตลาดแก่หนัง 20 เรื่องที่ต้องถูกยกเลิกฉายในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา

3) มอบเงินสนับสนุนให้แก่หนัง 20 เรื่องที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการถ่ายทำและต้องหยุดลงเนื่อจากการระบาดของไวรัส

4) จัดโครงการฝึกทักษะทางอาชีพแก่บุคลกร 400 คนที่ต้องตกงานในช่วงนี้

เนเธอร์แลนด์

มาตรการเร่งด่วนที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่ชื่อ กองทุนภาพยนตร์แห่งเนเธอร์แลนด์ (The Netherland Film Fund) ประกอบด้วย

1) ผ่อนคลายเงื่อนไขและข้อกำหนดสำหรับและกิจกรรมเกี่ยวข้อง เช่น เทศกาลหนัง หรือฟิล์มคลับ ที่ทำเรื่องขอทุนรัฐไว้และต้องส่งงานในช่วงนี้ ก็ผ่อนผันให้เลื่อนวันส่งไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด

2) เพิ่มวงเงินกู้ให้แก่ผู้สร้างหนังที่สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ไปแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ โดยผู้สร้างต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้รัฐดู

3) สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนต่างของขั้นตอนก่อนการถ่ายทำ (pre production) ที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องเลื่อน เปลี่ยนแปลง หรือถูกระงับ ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา

สหราชอาณาจักร

แม้ว่ายังไม่มีมาตรการชัดเจนกับคนในอุตสาหกรรม แต่ British Film Institute ซึ่งเป็นองค์กรด้านภาพยนตร์ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงดิจิตอล วัฒนธรรม สื่อและการกีฬา ของสหราชอาณาจักร ก็ได้ร่วมกับองค์กรการกุศลชื่อ Film + Television ตั้งกองทุนบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน โดยมีเงินบริจาคจาก Netflix หนึ่งล้านปอนด์เป็นทุนประเดิม

กองทุนนี้จะให้การช่วยเหลือระยะสั้นกับบุคลากรที่เป็นทั้งพนักงานประจำและฟรีแลนซ์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิดเป็นลำดับแรก ทั้งในภาคการผลิต จัดจำหน่ายและ ธุรกิจโรงหนัง นอกจากนี้ BFI ยังเป็นศูนย์กลางในการแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาทุกข์ รวมถึงประสานให้บุคลากรเหล่านี้เข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐด้วย

สหรัฐอเมริกา

แม้ภาครัฐจะยังไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือวงการหนังโดยตรง แต่สมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น

– มูลนิธิ SAG-AFTRA (เป็นองค์กรดูแลผลประโยชน์แก่คนในวงการบันเทิงอเมริกัน ซึ่งรวมถึงนักแสดง นักร้อง ผู้ประกาศข่าว ดีเจ ฯลฯ) ก็ประกาศให้ความช่วยเหลือทางการเงินฉุกเฉินแก่สมาชิกของสมาคม โดยครอบคลุมตั้งแต่ ค่าเช่าบ้านผ่อนบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์

– มูลนิธิ Will Rogers Motion Pictures Pioneer Foundation (WRMPP ก่อตั้งปี 1951 เพื่อช่วยเหลือทางการเงินทั้งในด้านสุขภาพ ประกันชีวิตและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานศพ แก่สมาชิกในวงการ) ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์แห่งชาติ (NATO) จัดสรรกองทุน 2.4 ล้านเหรียญเพื่อช่วยพนักงานโรงหนังที่ขาดรายได้เนื่องจากโรงหนังโดนปิด

– กองทุนเพื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Motion Picture and Television Fund ก่อตั้งโดยดาราและผู้กำกับชั้นนำของฮอลลีวูดคือ ชาร์ลี แชปปลิน, แมรี พิคฟอร์ด, ดักลาส แฟร์แบงค์ และ ดี ดับลิว กริฟฟิธ มีจุดประสงค์เพื่อช่วยคนวงการบันเทิงที่ตกยาก) ประกาศช่วยเหลือด้านการเงินแก่สมาชิกที่ประสบปัญหาเรื่องประกันสุขภาพ หนี้สินกับธนาคาร บัตรเครดิต

– องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ American Documentary จัดสรรทุน 1 แสนเหรียญเพื่อช่วยคนทำสารคดีอิสระ

ไต้หวัน

ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีระบบป้องกันโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยมแห่งนี้ ก็มีแผนช่วยอุตสาหกรรมหนังเช่นกันโดยกระทรวงวัฒนธรรมออกมาตรการเร่งด่วนชื่อ “มาตรการบรรเทาและฟื้นฟูงานวัฒนธรรมและศิลปะที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (Relief and Revitalization Measures for the Cultural and Arts Sectors Impacted by COVID-19)

หลักใหญ่ใจความคือ ให้เงินช่วยเหลือทุกภาคส่วนในด้านศิลปะวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างคนทำงาน ค่าเช่าอุปกรณ์ ค่าเสียหายจากการที่ต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ และยังเน้นการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากวิบัติภัยด้วย เช่น การฝึกฝนทักษะบุคลากร พัฒนาศักยภาพทางด้านเทคนิค เป็นต้น

ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์มีความหมายอย่างไรในสายตาประเทศเหล่านี้ แม้จนถึงตอนนี้แสวงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของโลกภาพยนตร์จะยังเลือนราง แต่การที่มันถูกให้ความสำคัญจากทั้งรัฐและหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะทำให้คนทำงานที่กำลังยากลำบากรู้สึกมีที่พึ่งพิง และเกิดกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ความสุขให้แก่ผู้ชมอีกครั้ง เมื่อทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES