Cinephiles in the time of Corona …คู่มือคอหนังยามยาก (VOL. 1)

ท่ามกลางความวุ่นวายของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั่วโลก การเข้าสังคมพบปะผู้คนจู่ๆ อาจกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรค

ในช่วงเวลาของ ‘การรักษาระยะทางสังคม’เช่นนี้ เราขอเสนอตัวเลือกของการนอนดูหนังอยู่กับบ้าน สำหรับคนรักหนังทุกท่านที่ต้องเผชิญสภาพ “โรงหนังกลายเป็นสถานที่อันตราย”

นอกจาก Documentary Club (มิตรสหายของ Film Club) จะเอาหนังสารคดีและหนังยาวลงออนไลน์ผ่านช่องทาง Doc Club On Demand ให้ได้ชมกันแล้วนั้น …ยังมีหนังจากและเวบไซต์น่าสนใจอีกมากมายสำหรับการดูหนังอยู่กับบ้านที่เราทีมงาน Film Club ขอแนะนำ (*คลิกชื่อเรื่องหรือภาพเพื่อเข้าชม*) :

(อ่าน VOL. 2 ได้ที่นี่ และ VOL. 3 ได้ที่นี่)

Nontawat Numbenchapol’s docs

นักทำหนังสารคดีชาวไทยที่คมคายในประเด็น และพาไปสำรวจถึงสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปราะบางแก่การพูดถึง กระตุกให้คนดูได้จดจำและเสาะหาปัญหาตั้งต้นของเหตุการณ์ ทั้งปัญหาชายแดนและการเมือง (การเมืองสีเสื้อในยุคนั้น) ใน “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” (Boundary), ปัญหาสารพิษกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น และคดีที่เรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่กลับค่อยๆ เงียบหายไปในความมืด ใน “สายน้ำติดเชื้อ” (By the River ) และปัญหาความขัดแย้งระหว่างพม่าและชาวไทใหญ่ในชายแดนไทย-พม่า ที่กำลังเปลี่ยนผ่านระบอบและการปกครองของทั้งสองประเทศ สั่นคลอนความไม่มั่นคงในการใช้ชีวิตของชาวไทใหญ่ ใน “ดินไร้แดน” (Soil Without Land)

ตอนนี้หนังทั้งหมดของเขา 3 เรื่อง ได้ลงใน vimeo on demand เรียบร้อยแล้ว เชื้อเชิญให้ทุกคนได้ทัศนา สนนราคาที่เรื่องละ 6.00 USD หรือประมาณ 200 บาท แต่พิเศษสุด ตั้งแต่วันนี้ – 31 มีนาคม 2563 เพียงใส่โค้ด “covid” ลดทันที 70% เหลือ 1.8 USD หรือประมาณ 60 บาทเท่านั้น

– แนะนำโดย N. –

Diary of a Country Priest (1951, Robert Bresson)

หนังสร้างมาจากนิยายในชื่อเดียวกัน โดย Georges Bernanos ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในปี 1936 เล่าเรื่องพระหนุ่มที่เจ็บป่วยทั้งร่างกายจากอาการปวดจุกบริเวณกระเพาะอาหารทำให้เขาฉันได้แต่ขนมปังและไวน์ และอาการเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณเมื่อเขาถูกทดสอบจากการเผยแพร่ศาสนาในยุคสมัยผู้คนเริ่มถอยห่างจากศาสนจักรพร้อมกับวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ความเชื่องมงายและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระเจ้า แต่วิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่ก็อาจเป็นอีกลัทธิที่แตกแปลงกายออกจากคริสตศาสนา

แนะนำโดย K.-

Casting Jonbenet (2018, Kitty Green)

สารคดีว่าด้วยคดีฆาตกรรมเด็กหญิงจอนเบเนต์ที่เกิดขึ้นในบ้านของเธอเองในเช้าวันคริสมาสต์ มีทฤษฎีต่างๆ นานา ตั้งแต่ไอ้โรคจิตดอดเข้ามาฆ่าปลอมตัวเป็นซานตาคลอส ไปจนถึงอาจจะเป็นพ่อหรือแม่ที่ทำ แม่เธอเป็นคนดังมาก เป็นพี่เลี้ยงนางงาม แล้วดันลูกสาวประกวดนางงามเด็ก พ่อเป็นนักธุรกิจ ตามประสาครอบครัวสวยแต่เปลือก ข้างในเต็มไปด้วยปัญหา

หนังไม่เล่ารายละเอียดว่าสรุปคดียังไง แต่วิธีการทำหนัง คือแทนที่จะพูดเรื่องคดี สารคดีคือการเปิดแคสต์ติ้งหาตัวละครที่จะรับบท พ่อ แม่ พี่ชาย ตัวเด็กที่ตาย ตำรวจ และ ผู้ต้องหา โดยคนที่แคสต์เป็นคนแถวบ้าน คนที่รู้เรื่องคดี แล้วก็คุยกับทุกคนที่มาแคสต์ ทุกคนก็จะมีกอสสิปในเรื่องคดี การเตรียมตัวรับบททำให้ต้องวิเคราะห์จิตของตัวละคร การพูดไปเรื่อยเดาไปเรื่อยเหมือนการแพร่กระจายของข่าวลือในชุมชนว่าใครฆ่าเด็กซึ่งมันน่ากลัวมากๆ

แต่หนักกว่านั้นคือคนทำตะล่อมให้คนมาแคสต์เล่าเรื่องตัวเอง ที่ซ้อนทับไปมากับคดีด้วย มันเลยกลายเป็นการเปิดเผยตัวตนคนเล่า ความเข้าใจที่มีต่อโลก และการแพร่กระจายของทฤษฎีสมคบคิดตั่งต่างในชุมชน

– แนะนำโดย W.-

Srbenka (Nebojša Slijepčević , 2018)

Doc Alliance เป็นเวบไซต์สตรีมมิ่งในฝันของบรรดาคนรักสารคดีและหนังทดลองจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากฝั่งยุโรปตะวันออก จะมีมากเป็นพิเศษ อาศัยวิธีการสมัครรายเดือน หรือจะซื้อเป็นเรื่องๆ ก็ได้

ถ้าใครสมัครแล้ว หรืออยากลองสมัครแต่ไม่รู้จะดูอะไรเราขอแนะนำ หนังสารคดีที่ว่าด้วยกระบวนการทำละครเวทีในโครเอเชีย หนังเริ่มจากการสัมภาษณ์คนเซอร์เบียที่โดนบูลลี่ในโครเอเชีย (สองประเทศขัดแย้งรุนแรงในสงครามช่วงต้นเก้าศูนย์ส่งผลให้คนเซิร์บโดนเกลียดชัง เหยียดหยามอย่างรุนแรงในโครเอเชียจนถึงปัจจุบัน )

ตัวหนังเกือบทั้งหมดคือการติดตามการซ้อมละครที่สร้างจากเหตุการณ์จริงที่ว่าด้วยคนโครเอเชียบุกเข้าไปในบ้านคนเซอร์เบียแล้วฆ่ายกครัว หนังทั้งเรื่องไม่มีการพูดย้อนถึงเหตุการณ์นั้น แต่เราจะได้เห็นการซักซ้อมของผู้กำกับกับนักแสดง หนังค่อยๆเปิดเผยว่าผู้กำกับพยายามบีบคั้น รีดเค้นนักแสดง กระบวนการซักซ้อม การย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์เพื่อตีความตัวละครของนักแสดง กลายเป็นการตีความประวัติศาสตร์บาดแผลโดยไม่ต้องเล่าตรงๆ

– แนะนำโดย W.-

Director Scud Selection

GagaOOLala เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้บริการสตรีมมิ่งหนัง LGBTQ+ รายแรกของเอเชีย มีทั้งหนังสั้น หนังยาว ซีรีส์ สารคดี และ Original content ของตัวเอง หนังส่วนใหญ่มีซับไตเติ้ลไทยและตัวแพลตฟอร์มเองก็อัพเดตหนังใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในช่วงเวลาแบบนี้ทางแพลตฟอร์มก็มีโปรโมชั่นแถมฟรี 14 วันสำหรับผู้ที่สมัครสมาชิกใหม่ในเดือนแรกด้วย

Scud เคยกล่าวไว้ว่า “ลึงค์มอบชีวิตให้เรา และพวกเราเติบโตมาจากเต้านม ถ้าสองสิ่งนี้เป็นของอนาจาร เราทุกคนก็สกปรกกันหมด” ผู้กำกับฮ่องกงที่สร้างกระแสฮือตั้งแต่เขาทำหนังเรื่องแรก City Without Baseball ในปี 2008 ด้วยลายเซ็นเฉพาะตัวที่หนังทุกเรื่องจะมีผู้ชายหุ่นดีๆ เดินสายพาเหรดประเดประดังเข้ามาจนทำให้คุณต้องเมากล้ามแน่นๆ (และอย่างอื่น) ตายกันไปข้างนึง และตัวเรื่องที่มักจะวนอยู่กับยาเสพติด โรคซึมเศร้า ความปรารถนาในผู้ชายด้วยกัน ไปจนถึงประเด็นศาสนา! หนังหลายเรื่องของเขาได้รับการฉายในไทยและยังคงเป็นที่พูดถึงกันอยู่ในทุกวันนี้ GagaOOLala ได้รวมหนังทุกเรื่องของเขาตั้งแต่เรื่องแรกจนถึงเรื่องล่าสุด (Thirty Years of Adonis) ทั้งหมด 7 เรื่อง โดยมีซับไตเติ้ลไทยครบทุกเรื่อง นี่เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่อยากเก็บตกหนังของ Scud ที่คุณไม่เคยดู หรืออยากลองเปิดโลกหนังของพี่แกเป็นครั้งแรก

แนะนำโดย F.-

Stateless Things (2011, Kim Kyung-mook)

อีกหนึ่งของดีจาก GagaOOLala เรื่องราวของคนชายขอบสองคน คนแรกเป็นคนงานต่างด้าวจากเกาหลีเหนือผู้มาทำงานในเกาหลีใต้ที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง เขาถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างพร้อมกับปกป้องเพื่อนร่วมงานหญิงที่เป็นคนงานต่างด้าวเหมือนกับเขาจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนอีกคนเป็นเด็กหน้าตาดีที่มีชีวิตด้วยการเป็นเด็กเสี่ย ถูกเลี้ยงดูอยู่ในคอนโดหรูสูงเสียดฟ้าใจกลางเมือง เขากำลังเปลี่ยนเหงาและกลวงโหวง ใช้วันเวลาที่ผ่านไปกับการเขียน หาคนคุยในเน็ต และการเต้น ชายสองคนนัดเจอกันที่คอนโดหรูเพื่อกระทำการอะไรบางอย่าง

หนังเกาหลีเรื่องนี้เข้าชิง Queer Lion ที่ Venice Film Festival ในปี 2011 หนังยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ Kim Kyung-mook และหนังเรื่องที่สองในไตรภาค Things (อีกสองเรื่องคือ Faceless Things และ Futureless Things) หนังดำเนินเรื่องด้วยความใจเย็น เริ่มเล่าเป็นหนังชีวิตรันทดสไตล์ Realism อย่างจริงจังก่อนจะค่อยๆ ผันตัวเองกลายเป็นความเหนือจริงตามระยะเวลาที่ผ่านไป หนังเกย์เกาหลีที่ไม่ธรรมดาเรื่องนี้บอกเล่าสภาวะอารมณ์ที่ทะลักทลายของตัวละครด้วยท่วงทีลีลาที่พิศวงและตัวหนังถูกพูดถึงน้อยจนน่าเสียดาย

– แนะนำโดย F. –

Shyam Benegal’s films

นอกจาก Satyajit Ray แล้ว อีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ภาษาเบงกาลีคนสำคัญคือ Shyam Benegal เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับหนังในตระกูล middle cinema หรือ paralell cinema กลุ่มการเคลื่อนไหวทางภาพยนตร์จากฟากฝั่งเบงกอลตะวันตก ที่เกิดขึ้นช่วงกลางยุค1950’s โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก Italian Neorealism โดยงานในกลุ่มนี้ แตกต่างไปจากในบอลลีวู้ดที่เรารู้จักโดยสิ้นเชิงทั้งในขณะนี้และขณะนั้น เพราะนี่คือภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องจริงจังทางสังคม ปราศจากความพาฝัน และแน่นอน ไม่มีการใส่เพลงและการเต้นพร่ำเพื่อโดยไม่จำเป็น

ใน Netflix มีหนังของ Shyam Benegal ให้ดูถึงสามเรื่องสามรส แม้จะไม่ใช่งานชิ้นสำคัญสุดๆของเขา แต่ก็ถือว่าเป็นงานครูที่ไม่ควรพลาด

– แนะนำโดย W. –

India Song (Marguerite Duras, 1975)

India Song เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสำหรับผู้แสวงหาความท้าทายทางภาพยนตร์ในระดับสุดขีดขีดสุด ผลงานกำกับของ มาร์เกอร์ริต ดูราส์ นักเขียนนามอุโฆษของฝรั่งเศสที่คนไทยอาจรู้จักมักคุ้นจากงานแปลเรื่อง โรคแห่งความตาย (La Maladie De La Mort) หรือถ้าใครสะสมอายุไว้เยอะหน่อยอาจจะคุ้นหูคุ้นชื่อกับ The Lover หนังอิโรติกสุดวาบวามเรื่องรักร้อนผ่าวของสาวฝรั่งเศสและหนุ่มจีนในแดนอาณานิคมเวียดนาม

ชื่อของดูราส์มักอยู่ในสายงานวรรณกรรมหนังสือเสียมาก ที่ใกล้เคียงกับหนังหน่อยก็เป็นงานดัดแปลง หรืองานที่เธอไปเขียนบทให้กับหนังฝรั่งเศสระดับคลาสสิกของโลกอย่าง Hiroshima Mon Amour (1959) และ Last Year at Marienbad (1961) แต่แท้จริงแล้วนอกจากงานเขียนเธอยังเป็นคนทำหนังคนสำคัญคนหนึ่งเลยทีเดียว และในบรรดาภาพยนตร์ที่เธอกำกับเรื่องที่โด่งดังที่สุดก็คงหนีไม่พ้นบทเพลงอินเดีย India Song เรื่องนี้

แม้หนังจะชื่อว่า India Song แต่เพลงที่เปิดเรื่องไม่ใช่เพลงอินเดีย แต่เป็นเพลงลาว “โอ้ ดอกบัวทอง บานในหนองน้ำไทร” ของสาวขอทานชาวลาวที่เดินเท้าจากสะหวันเขตถึงสถานกงศุลฝรั่งเศสที่กัลกัตตา ช็อตแรกของหนังคือลองเทคอันยาวนานของการดูพระอาทิตย์ตกดินที่ริมแม่น้ำประกอบกับเสียงร่ำไห้ของขอทานสาวชาวลาวที่ร้องไปบ่นไปว่าอยากตาย อยากตายเพราะไม่มีเงินกินข้าว ก่อนที่หนังจะค่อยเลื้อยคลานเข้าสู่สถานกงศุลฝรั่งเศส อันมีตัวละครเป็นหญิงสาวสวยอันเป็นที่หมายปองของหนุ่ม ๆ มากมาย

แต่แม้หนังจะดูเป็นเรื่องรักสวาทในสถานกงศุล ลีลาการเล่าที่พิสดารของดูราส์สร้างมนต์มายาอันแสนประหลาดให้กับหนังทั้งหมด นั่นคือหนังเหมือนมี 2 เลเยอร์ชัดเจน ภาพและเสียง ในทางภาพเราจะเห็นนักแสดงสวมบทบาทตัวละครยืนโพสท่าเหมือนนางแบบนายแบบอยู่ในสถานกงศุลไปเรื่อย ๆ พวกเขาอาจเมียงมองแต่ไม่เอื้อนเอ่ย ยืนพิงอิงนิ่งค้างกับขอบเสาผนังโต๊ะแต่ไม่เขยื้อนเคลื่อนขยับไปสู่กิจกรรมอันใด ในทางภาพเราเห็นนักแสดงโพสนิ่ง ๆ ในทางเสียงเราจะได้ยินเสียงผู้หญิง ผู้ชายหลายคนซุบซิบ “นินทา” ตัวละครบนจอให้เราฟัง เสียงของตัวละครเหล่านี้ เราไม่เห็นที่มา เราไม่เห็นว่าพวกหล่อนเขาเป็นใคร เกี่ยวพันอันใดกับใครบนจอ แต่เสียงพวกนี้เม้าท์ให้คนดูฟังว่าคนบนจอคือใคร ใครชอบใคร ใครหักหลังใคร ใครปรารถนาใคร

ภาพที่ไม่มีกริยา และเสียงที่ไม่มีตัวตน India Song คือภาพของชีวิตที่ไม่มีชีวิต ฉากแห่งเรื่องรักร้อนกรุ่นที่ถูกฉาบด้วยความเย็นเยียบ ฉากหนึ่งของหนังตัวละครจุดธูปไว้ในห้องอันมืดมิด ควันธูปยังขยับเยอะกว่าตัวละครทุกตัวทั้งเรื่อง แต่ความย้อนแย้งของเรื่องราวและวิธีเล่ากับเปิดประตูความเป็นไปได้ของการเล่าเรื่องทางภาพยนตร์ออกไปอย่างไกลและไพศาล สมัยก่อน India Song ถือว่าเป็นหนังหาดู (โคตร) ยากในไทย เป็นนกแต้วแร้วท้องดำของภาพยนตร์โลก คนเคยได้ยินชื่อแต่ไม่ค่อยได้เห็น แต่ตอนนี้งานภาพยนตร์ของดูราส์เป็นที่เข้าถึงได้มากขึ้นแล้ว และตอนนี้หนังแสนพิเศษเรื่องนี้เวียนมาฉายใน Mubi แล้ว ไม่อยากให้พลาดแล้วจะเสียใจไปดูกันได้ก่อนหมดอายุ

– แนะนำโดย R. –

84 Charing Cross Road (David Hugh Jones,1987)

นี่คือหนังที่เหมาะจะดูในช่วง Social Distancing อย่างมาก มันสร้างจากหนังสือของ เฮเลน ฮานฟ์ ที่เขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวเธอเอง ฮานฟ์เป็นนักเขียนไต่เต้าชาวแมนฮัตตันผู้หลงใหลหนังสือหายาก ซึ่งมีร้านเดียวที่พอจะจัดสรรให้เธอได้ คือร้าน Mark & Co. ในลอนดอน ซึ่งดูแลโดย แฟรงค์ โดเอล เริ่มจากการที่ฮานฟ์เขียนจดหมายไปพูดคุยถึงรสนิยมที่ยากจะอยู่ได้ในนิวยอร์ก และดูเหมือนจะมีเพียงโดเอลจากลอนดอนเท่านั้นที่พอจะเข้าใจเธอ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าเริ่มแน่นแฟ้นจนกลายเป็นมิตรภาพอันงดงาม แม้ทั้งคู่จะไม่ได้เจอตัวจริงกันเลยก็ตาม

นี่คือหนังรักที่ทำให้เราเห็นเสน่ห์ของตัวพ่อตัวแม่อย่าง แอนน์ แบนครอฟท์ และ แอนโทนี ฮอฟกินส์ ซึ่งไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นสองคนนี้ในบทที่น่ารักและเป็นมิตรเช่นนี้ ที่สำคัญหากช่วงนี้คุณออกไปไหนไม่ได้ หนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นความงดงามของการอยู่คนเดียว

(*หนังออกจาก Netflix วันที่ 31 มี.ค.นี้)

– แนะนำโดย N. –

สามวันสองคืน รัก เลิก เลย
(ฐิติพงศ์ ใช้สติ, สรเทพ เวศวงศ์ษาทิพย์, สำคัญ โชติกสวัสดิ์, 2012)

หนังไทยอันเดอร์เรตแห่งปี 2012 ที่องค์ประกอบมันพร้อมจะถูกมองข้ามในทุกทาง ทั้งการเป็นหนังรักทุนต่ำ และดาราหน้าใหม่ พล็อตก็แสนจะเรียบง่ายว่าด้วยคู่รักที่ต่างก็พยายามดิ้นรนในแนวทางของตัวเอง ฝ่ายชายนั่งๆ นอนๆ อยากเป็นศิลปินไปวันๆ ฝ่ายหญิงทำงานคลีนิกเสริมความงามและเริ่มรู้จักผู้ชายที่มีอนาคตกว่า ทั้งคู่จะวัดกันด้วยทริปภูกระดึงและหวังว่าจะจบความสัมพันธ์กันบนนั้น …แค่นั้นแหละ!

แต่นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ความจริงใจจะพาหนังเข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้ชมได้เสมอ หากเราก้าวข้ามงานสร้างอันกระท่อนกระแท่นตามข้อจำกัดด้านเงินทุน เราจะพบหนังรักแง้นๆ ที่ลำไยจนเราเอาใจช่วย คงเพราะข้อแม้ของตัวละครที่ต้องดิ้นรนแบบไร้แต้มต่อนั่นซื้อใจเราไปโดยไม่รู้ตัว มันอาจจะเป็นหนังรักแสนเจียมตัวที่ซื้อใจคนหาเช้ากินค่ำได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

– แนะนำโดย N. –

Related NEWS

LATEST NEWS