INTERVIEW

‘พฤติการณ์ที่ตาย’ ใครว่าซีรีส์ไทยวิจารณ์อำนาจรัฐไม่ได้

ใครบางคนบอกว่าไทยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบในการทำหนัง ซีรีส์ และละคร โดยเฉพาะในวาระที่เหตุการณ์ชวนถกเถียงถึงการใช้อำนาจรัฐเกิดขึ้นทุกวันเช่นตอนนี้ แต่มันกลับมีสื่อบันเทิงเพียงหยิบมือเท่านั้นที่กล้าตั้งคำถามกับมัน 

ในจำนวนเพียงหยิบมือนั้น อาจต้องรวม ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ ซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนที่ออกฉายทาง WeTV งานสร้างของ ทีวีธันเดอร์ และกำกับโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กับ ณัฐพงษ์ อรุณเนตร์ เอาไว้ด้วย 

‘พฤติการณ์ที่ตาย’ เล่าเรื่องในเวียงผาหมอก จุดเริ่มต้นมาจากการตายอย่างเป็นปริศนาของ เจน (ชนนิกานต์ เนตรจุ้ย) ซึ่งหมอนิติเวชไฟแรงอย่าง บรรณ (ตุลย์-ภากร ธนศรีวนิชชัย) ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการฆาตกรรม แต่เขาถูกคำสั่งจากตำรวจให้ระบุผลชันสูตรว่าเป็นการฆ่าตัวตาย บรรณจึงพาตัวเองเข้าไปพิสูจน์ความจริงโดยร่วมมือกับ ครูแทน (แม็กซ์-ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์) คนสนิทของผู้ตาย และเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์จนเป็นความรัก แต่ระหว่างการสืบสวนนั้น พวกเขาก็ค่อยๆ ค้นพบความจริงอันน่าตกตะลึง 

สิ่งสำคัญที่ควรรับรู้ก่อนดูซีรีส์เรื่องนี้คือมันสร้างจากนิยายวายสืบสวน Manner of Death ของ Sammon ดังนั้นแก่นของมันจึงคือซีรีส์วาย เพียงแต่รายละเอียดที่เข้ามาพัวพันกับการไขคดีมันดันเกี่ยวข้องกับวงการตำรวจ หมอ อัยการ นักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มผู้มีอิทธิพล ขบวนการค้ามนุษย์ และมันพูดด้วยท่าทีวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่อ้อมค้อม พร้อมตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจในขบวนการยุติธรรมจนตัวละครสามารถพูดใส่หน้าตำรวจได้ว่า “ผมเสียดายภาษี” สิ่งเหล่านี้ผลักให้มันไปไกลกว่าซีรีส์วายทั่วไป และอาจรวมถึงสื่อบันเทิงไทยในขณะนี้ด้วยซ้ำ 

การที่มันได้ฉายในช่องทางสตรีมมิ่งเพียงช่องทางเดียว อาจเป็นข้อได้เปรียบของ ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ เพราะมันสามารถฉายได้โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐ แต่นั่นอาจจะไม่ใช่เหตุผลหลักเสียทีเดียวเพราะในวันนี้มีสื่อบันเทิงฉายผ่านสตรีมมิ่งช่องทางเดียวอีกไม่น้อย แต่ทำไมเนื้อหาเชิงวิพากษ์วิจารณ์องค์กรรัฐถึงยังมีเพียงหยิบมือเช่นเดิม 

ทีวีธันเดอร์ เป็นบริษัทที่ผ่านงานละครทางฟรีทีวีมาอย่างยาวนาน และน่าจะบอกเล่าได้ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้สื่อบันเทิงส่วนใหญ่ไม่สามารถแตะต้องประเด็นทางสังคมอันท้าทายเช่นนี้ เรามาพูดคุยกับ จารุพร กำธรนพคุณ ผู้อำนวยการสร้าง ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ และ Chief Content Officer ของทีวีธันเดอร์ 

จารุพร กำธรนพคุณ – ผู้อำนวยการสร้าง ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ และ Chief Content Officer ของทีวีธันเดอร์ 

ก่อนจะทำโปรเจกต์นี้ ได้คิดไว้แต่แรกมั้ยว่าสิ่งที่จะเล่ามันจะไปถึงจุดไหน

เราว่าบทบาทของพวกเราคือคนทำงาน เป็น showrunner เป็นคนสร้างงานละครหรือซีรีส์ เพราะฉะนั้นหน้าที่เราคือการหาเรื่องที่มันสนุก คนดูอยากดู คนดูสัมผัสได้ และเราก็โชคดีที่ไปเจอเรื่องนี้ ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ตอบโจทย์ เราเลือกเพราะเรื่องนี้มันแตกต่าง ไม่ได้เลือกเพราะว่าฉันจะทำละครเพื่อตราหน้าองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้มันครบองค์ประกอบของการเลือกบทประพันธ์ก็คือคอนฟลิกต์แรง ชัด จับต้องได้ สะท้อนเรื่องจริงบางอย่างในสังคม จากนั้นมันก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องคุยกับทีมบทเพื่อทำให้ทุกอย่างมันแข็งแรง และดูน่าเชื่อสำหรับคนดู มันแค่บังเอิญที่เรื่องนี้มันไปแตะองค์กรหรือหน่วยงานที่มีอำนาจ เป็นที่เคารพและเป็นองค์กรหลักของสังคม ทั้งกระบวนการยุติธรรม กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย มันเลยต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะมันไม่ใช่แค่องค์กรเอกชนทั่วไป 

มันไม่เคยมีหน่วยงานไหนกล้าออกมาพูดว่า หน่วยงานตัวเองนั้นมีแต่คนขาวสะอาดนะ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำเพื่อให้คนดูรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นได้จริง และสุดท้ายแล้วสิ่งที่คนดูจะเรียนรู้ก็คือกระบวนการที่ถูกต้อง การตรวจสอบที่ถูกต้อง มันก็จะทำให้คนที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดแพ้พ่าย

เราอยู่ในสังคมที่รับรู้ว่ามีเรื่องที่พูดไม่ได้เต็มไปหมด จนบางทีคนทำงานก็มีการเซ็นเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติ ว่าเรื่องไหนแตะได้ เรื่องไหนแตะไม่ได้

บังเอิญว่าโชคดีที่จังหวะของอุตสาหกรรมในตอนนี้มันมีแพลตฟอร์มทางเลือกเกิดขึ้น นอกเหนือจากเมนสตรีม เพราะฉะนั้นกระบวนการการตรวจสอบมันก็อาจจะยังไปไม่ถึง อย่างการเซ็นเซอร์ แต่เอาจริงๆ ก่อนหน้านี้ไม่ว่าเราจะผลิตงานผ่านช่องทางไหนก็ตาม เราไม่เคยโดนคำสั่งนะว่าห้ามแตะต้องอันนี้ ห้ามพูดถึงอันนั้น แต่ถ้าเราทำเรื่องเกี่ยวกับองค์กรที่มีอยู่จริง ก็จะมีตัวแทนขององค์กรอาจรู้สึกว่าสิ่งที่เรานำเสนอมันใช่หรือไม่ใช่ เพราะฉะนั้นความถูกต้องมันคือสิ่งที่ ‘ต้องมี’ โดยเฉพาะกระบวนการทำงานในกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีคดีความเกิดขึ้น ตำรวจ หมอนิติเวช อัยการ ผู้พิพากษา สถาบันเหล่านี้ทำงานร่วมกันอย่างไร เพื่อให้ความยุติธรรมมันเกิดขึ้นจริงในสังคม อันนี้คือสิ่งที่เราต้องรู้อย่างถูกต้อง โอกาสที่มันจะมีความผิดอันเกิดจากองค์กรต่างๆ นั้นมีจริงมั้ย มันก็เป็นฟังก์ชั่นปกติ และเราคิดว่าสิ่งที่มันสะท้อนคือหน่วยงานองค์กรใดๆ ก็ตาม ที่เป็นคนใช้อำนาจหรือได้รับอำนาจและมักใช้มันในทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ต้องตำรวจหรือกระบวนการยุติธรรมหรอก เราว่าทุกยูนิตมันเป็นอย่างนี้ เหมือนเวลาเราทำเรื่องอื่นก็มีเรื่องโกงกันในบริษัท มันก็เหมือนกันนั่นแหละเพียงแต่ว่าองค์กรที่เรากำลังทำมันสำคัญกับประเทศ ถามว่าต้องระวังอะไรมั้ย? มันไม่เคยมีหน่วยงานไหนกล้าออกมาพูดว่า หน่วยงานตัวเองนั้นมีแต่คนขาวสะอาดนะ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำเพื่อให้คนดูรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นได้จริง และสุดท้ายแล้วสิ่งที่คนดูจะเรียนรู้ก็คือกระบวนการที่ถูกต้อง การตรวจสอบที่ถูกต้อง มันก็จะทำให้คนที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดแพ้พ่าย นี่ต่างหากคือหน้าที่เรา ที่คนดูรู้สึกว่ามันจริงเพราะมันเป็นสิ่งที่เขาเจอในชีวิต เหมือนที่เขาเจอเมียหลวงเมียน้อย เรื่องของผู้มีอำนาจใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือเพิกเฉยในการปฏิบัติหน้าที่มันคือเรื่องจริง จากนั้นเราก็มาดูว่าความเป็นไปได้มันคืออะไรบ้าง มันมีหมอนิติเวช มันมีตำรวจ มันมีกระบวนการเหล่านี้ แต่เราไม่ได้ปักธงว่าจะทำเรื่องนี้เพื่อตีแผ่ เรามีหน้าที่เลือกบทประพันธ์ที่มันเข้มข้นและสัมผัสได้และสนุกเท่านั้นเอง

อุตสาหกรรมมันต้องขยายซึ่งมันมีเรื่องแบบเดียวไม่ได้ มันจะมีแต่เรื่องเมียน้อยเมียหลวง ครอบครัวขาดความอบอุ่น ทำแค่นี้อุตสาหกรรมมันก็จะไม่ไปไหน มันจึงเริ่มไปถึงกระบวนการองค์กรอื่นบ้าง เราเชื่อว่าตอนนี้ถ้ามันถูกทำแล้วมันเมคเซนส์ ถึงจุดหนึ่งประชาชนจะเป็นคนบอกแล้วแหละว่าควรหรือไม่ควรทำ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คิดว่าอะไรที่ทำให้ผลงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานรัฐถึงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ 

ต้องยอมรับว่าในอดีตที่เราทำแล้วอยู่ในช่องทางเมนสตรีม ถ้าเราเกิดไปแตะบุคคลที่มีตัวตนจริง เช่น เมื่อมีตัวละครที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอะไรก็ตาม ถึงเวลาในขั้นตอนของการถ่ายทำบางทีอาจจะพูดได้แค่ว่าท่านรัฐมนตรี ถ้าถามว่าทำไมมันไม่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เพราะว่ามันเป็นองค์กรจริง นั่นคือในอดีต เราหวังและเชื่อว่าในปัจจุบัน…(นิ่งคิด) เราต้องคิดแบบนี้ก่อน อุตสาหกรรมมันต้องขยายซึ่งมันมีเรื่องแบบเดียวไม่ได้ มันจะมีแต่เรื่องเมียน้อยเมียหลวง ครอบครัวขาดความอบอุ่น ทำแค่นี้อุตสาหกรรมมันก็จะไม่ไปไหน มันจึงเริ่มไปถึงกระบวนการองค์กรอื่นบ้าง เราเชื่อว่าตอนนี้ถ้ามันถูกทำแล้วมันเมคเซนส์ ถึงจุดหนึ่งประชาชนจะเป็นคนบอกแล้วแหละว่าควรหรือไม่ควรทำ มันมีความไม่ถูกต้องอยู่สองแบบ บางทีมันเป็นกระบวนการทำงานของอาชีพนั้นจริงๆ คุณมีหน้าที่ทำให้มันถูก แต่กับอีกแบบคือการตั้งคำถามว่าทำไมถึงเอาอาชีพนี้ที่เป็นอาชีพทรงเกียรติมาทำความเลว มาเป็นตัวตลก เราว่าอันนี้ต้องเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียง แต่ส่วนตัวคิดว่าหลังจากนี้คงไม่มีแล้วแหละไอ้ประเภทละครออกอากาศไปได้ตอนนึงแล้วโดนสั่งไม่ให้ออกอากาศต่อ เราเชื่อว่าตอนนี้มันเปิดกว้างแล้วและถ้ามันมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นอีกสังคมก็จะช่วยกันกลั่นกรอง สุดท้ายคนดูเขาจะเป็นคนตัดสินเอง หรือสมมติเรานำเสนอแต่ความเลวจนดูแล้วไม่มีความหวังเลย ไม่บอกเลยว่าเมื่อสุดท้ายแล้วการใช้อำนาจในทางที่ผิดยังไงก็แพ้ ซึ่งวันนี้เราเห็นอยู่แล้วว่าการใช้อำนาจในทางที่ผิดยังไงก็แพ้ ยังไงก็โดนตรวจสอบ ในฐานะคนทำงานถ้าเราแตะต้องเรื่องเหล่านี้แล้วคนดูจะได้อะไร นี่คือสิ่งที่คนทำงานควรจะคิดมากกว่า 

คิดว่านิมิตหมายนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหรือไม่?

คิดว่ามันจะค่อยๆ เกิดขึ้น แต่มันต้องไปทั้งองคาพยพนะ อย่างคนเขียนเองก็ต้องเข้าใจโครงสร้างเรื่องเหล่านี้ที่จะนำมาถ่ายทอด หรือคนผลิตก็ต้องพัฒนาคุณภาพของงานตัวเองจริงๆ เพราะเราต้องการให้อุตสาหกรรมมันเติบโต และเรามีเรื่องที่หลากหลายมิติ ให้มันเดินหน้าไปพร้อมกันแบบครบถ้วนกระบวนความ ไม่งั้นทำไมเกาหลีถึงมีแต่เรื่องเหล่านี้เต็มไปหมดเลย อเมริกาก็แตะไปถึงตัวประธานาธิบดีด้วยซ้ำ สุดท้ายแล้วเราก็ทำสิ่งบันเทิงแต่จะบันเทิงเปล่าๆ ปลี้ๆ มันไม่เกิดการพัฒนา มันต้อง enlighten หรือสร้างความหวังบางอย่างให้คนดูด้วย

ด้วยความสัตย์จริง เวลาทำเราไม่ได้คิดหรอกว่าจะเล่นงานองค์กรนี้ให้ถล่มจมดิน กูจะตีแผ่เปิดโปง นั่นไม่ใช่หน้าที่เราเลย

อย่างนี้มันต้องดูบริบทยุคสมัยด้วยมั้ยว่าในช่วงนี้คนเขาคาดหวังอะไรหรือโหยหาอะไร 

ใช่ แต่ถ้าจะสร้างงานด้วยอคติที่มองด้านเดียว แล้วไม่ได้มองไปถึงว่าคนดูจะได้อะไร เราจะได้งานที่มีแต่ความรุนแรงแต่ตื้นเขิน ด้วยความสัตย์จริง เวลาทำเราไม่ได้คิดหรอกว่าจะเล่นงานองค์กรนี้ให้ถล่มจมดิน กูจะตีแผ่เปิดโปง นั่นไม่ใช่หน้าที่เราเลย เรามีหน้าที่สร้างงานที่คนดูไม่เคยเห็น อย่างหมอนิติเวชที่ต้องเจอแรงกดดันให้เปลี่ยนผลชันสูตร เมื่อเขาสืบไปเรื่อยๆ แล้วเขาก็เจอความไม่ยุติธรรมในกระบวนการ แล้วเขาก็เอาชีวิตตัวเองเข้าไปแลกเผื่อตีแผ่มัน เขาต้องต่อสู้โดยแลกกับอะไรบ้าง จนกว่าสำเร็จ นี่คือหน้าที่เราที่ทำให้คนดูรู้สึกมีความหวัง อย่างน้อยก็อาจจะทำให้คนรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่าเมื่อทำแบบนี้ได้แล้ว จะไม่มีใครมาบอกเราว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ 


ดูพฤติการณ์ที่ตาย (Manner of Death) ได้ที่ wetv

LATEST