จูบๆ ตบๆ คบๆ เลิกๆ สายสัมพันธ์วงการหนัง & รัฐบาลอเมริกา

ถ้าจะหาให้คำนิยามความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับอุตสาหกรรมหนังในแต่ละประเทศ คงไม่มีคำใดชัดเจนเท่า “ทั้งรักทั้งชัง” (love hate relationship) โดยในแง่ของความรักนั้น มักอยู่ในรูปของการสนับสนุนที่รัฐมีให้แก่วงการ ไม่ว่าจะการให้ทุนหรือนโยบายการส่งเสริมต่างๆ ขณะที่ในแง่ของความชัง ก็มักอยู่ในรูปของการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด

แต่สำหรับสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีอุตสาหกรรมหนังใหญ่ที่สุดในโลก ความสัมพันธ์รักๆ ชังๆ มีความซับซ้อนมากกว่านั้นตามแบบประเทศเสรีประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐจะเข้าแทรกแซงน้อยที่สุด ส่วนอุตสาหกรรมเองก็รวมกลุ่ม ภายใต้ชื่อ สมาคมภาพยนตร์อเมริกา (Motion Picture Association of America – MPAA) มีสมาชิกหลักประกอบด้วยบริษัทสตูดิโอขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์และออกกฎเกณฑ์เพื่อดูแลกันเอง (หนึ่งในผลงานที่สำคัญของหน่วยงานนี้ก็คือ ระบบการจัดเรตติ้งหนังนั่นเอง)

แม้ความสัมพันธ์ของสองภาคส่วนนี้จะดูเหมือนต่างคนต่างอยู่ แต่ก็มีบางครั้งในประวัติศาสตร์ที่อุตสาหกรรมหนังอเมริกันและรัฐบาลมีเหตุให้ต้องตบๆ จูบๆ กันเป็นระยะ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่น่าสนใจก็เช่น

กรณี Hays Code

Hays Code คือข้อปฏิบัติและข้อควรระวังสำหรับคนทำหนัง คิดขึ้นมาในปี 1930 โดย วิลเลี่ยม เฮย์ส ผู้อำนวยการสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา (Motion Picture Producers And Distributions of America – ชื่อเก่าก่อนเปลี่ยนเป็น MPAA) เหตุผลที่เฮย์ต้องออกหลักการควบคุมเนื้อหาก็เพราะในช่วงนั้นหนังได้รับความนิยมมากและมีเนื้อหาหลากหลาย ซึ่งรวมถึงความรุนแรงและฉากล่อแหลม เสียงบ่นของประชาชนเริ่มลอยไปเข้าหูรัฐบาลของประธานาธิบดี เฮอร์เบิร์ท ฮูเวอร์ เข้า รัฐจึงคิดจะตั้งกองเซ็นเซอร์ (National Censorship Board) เฮย์สเห็นว่าหากปล่อยให้รัฐเข้ามายุ่งคงไม่ดีแน่จึงชิงออกกฎเองก่อน ทำให้วงการหนังรอดพ้นจากมือรัฐมาได้อย่างหวุดหวิด

(ต่อมาข้อปฏิบัติของเฮย์ – ซึ่งหลายคนเรียกว่า ระบบเซ็นเซอร์ตัวเองของฮอลลีวูด – ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นระบบการจัดเรตหนังที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน)

กรณีรัฐบาล vs ค่ายพาราเมาท์

ศึกครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อฮอลลีวูดเข้าสู่ยุคทอง (golden age) ในทศวรรษ 1930 บริษัทหลายแห่งแปลงสภาพเป็นโรงงานผลิตความฝันขนาดใหญ่ โดยควบรวมทุกกระบวนการการทำหนัง ตั้งแต่ผลิต จัดจำหน่ายและฉายเอง สตูดิโอยักษ์ใหญ่ต่างมีโรงหนังของตัวเองและกีดกันโรงหนังอิสระ เหล่าผู้ประกอบการโรงหนังอิสระไม่สามารถแข่งขันได้จึงหันไปพึ่งรัฐบาล และรัฐบาลก็ตอบรับด้วยการฟ้องสตูดิโอซะเลย นำโดยบริษัทพาราเมาท์และพวกอีก 7 บริษัทในข้อหาผูกขาดธุรกิจ (anti trust)

การฟ้องร้องเริ่มต้นในปี 1938 และลากยาวไปจนถึง 1948 ซึ่งศาลสูง (supreme court) ตัดสินให้พาราเมาท์เป็นฝ่ายผิดนับแต่นั้นมา บริษัทสตูดิโอก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ได้อีกเลย

กรณีสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อรัฐบาลอเมริกาตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1941 ประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้เรียกประชุมบุคลากรทุกภาคส่วนของฮอลลีวูด แล้วโยนคำถามสำคัญว่า “หนังจะช่วยให้เราชนะสงครามได้ไหม” (“Will this picture help win the war?”) และคำตอบของเหล่าชาวฮอลลีวูดรักชาติก็คือ การสร้างหนังปลุกใจออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสงคราม อาทิ Der Fuehrer’s Face (1942 หนังการ์ตูนล้อเลียนฮิตเลอร์ของวอลท์ ดิสนีย์), Battle of Midway (1942 ของจอห์น ฟอร์ด), The Memphis Belle: A Story of a Flying Fortress (1944 ของวิลเลียม ไวเลอร์)

กรณีบัญชีดำฮอลลีวูด

ในช่วงกลางทศวรรษ 1940 ถึงกลาง 50 รัฐบาลอเมริกันได้สร้างกระแสความเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ไปทั่วประเทศ ส่งผลกดดันให้คนในวงการหนังต้องหันมาตรวจสอบกันเองว่าใครมีแนวโน้มนิยมคอมมิวนิสต์บ้าง เพื่อนำรายชื่อแจ้งต่อทางการ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้คนทำหนังหลายคนต้องตกงาน ถูกสังคมเกลียดชัง โดยสมาคม MPAA ก็ไม่เคยช่วยปกป้อง ถือเป็นตราบาปที่ยังคงตราตึงอยู่ในวงการหนังอเมริกันจนถึงทุกวันนี้

กรณีปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

ถึงคราวที่อุตสาหกรรมหนังต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลบ้าง โดยสมาคม MPAA เริ่มมองเห็นปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค 80 โดยเฉพาะจากความนิยมของสื่อวิดีโอที่เพิ่มขึ้น และศักยภาพของเครื่องเล่นเทปวิดีโอก็สามารถทำสำเนาม้วนเทปผิดกฎหมายได้ แถมเมื่อต้องฟ้องร้องดำเนินกฎหมาย ฝ่ายคนทำหนังก็มักจะแพ้ ทางแก้ของสมาคมภาพยนตร์จึงคือการผลักดันให้การละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นความผิดทางกฎหมายไปเสียเลย

ว่าแล้ว แจ็ค วาเลนติ ประธานสมาคมยุค 80 ก็ดำเนินการล็อบบี้ฝ่ายการเมืองในรัฐบาลให้ผลักดันกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ และบังคับใช้ไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่ยังรวมถึงทั่วโลกอีกด้วย โดยไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกกดดันจากรัฐบาลอเมริกาให้ดำเนินการปราบปรามหนังละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง

5 ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบจะรักก็ไม่ใช่-จะชังก็ไม่เชิงของรัฐบาลและอุตสาหกรรมหนังได้เป็นอย่างดี และความสัมพันธ์แบบนี้จะยังดำเนินต่อไปตราบใดที่หนังยังคงสถานะการเป็น “อำนาจอย่างอ่อน” (soft power) ยังได้รับประโยชน์จากรายได้มหาศาลทั่วโลก และยังสามารถเป็นเครื่องมือของรัฐในการเผยแพร่อุดมการณ์แบบอเมริกันได้ดังที่เป็นอยู่

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES