เมื่อการเมืองถูกลากเข้าสู่วงการหนัง เรื่องวุ่นๆ ที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างฮอลลีวูดกับประเทศจีนก็เกิดขึ้น

ข่าวคราวที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการธุรกิจภาพยนตร์ในช่วงเวลานี้ คงไม่มีข่าวไหนเกินรายงานที่ว่า เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน ได้ออกมาประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า จะเร่งผลักดันกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ภาพยนตร์อเมริกันที่ได้รับการสนับสนุนจากทางกระทรวงกลาโหม (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสงครามที่ต้องใช้อุปกรณ์ของกองทัพเข้าฉาก รวมถึงทุนสร้างบางส่วน) ได้เข้าฉายในจีนหากต้องถูกเซ็นเซอร์จากทางการจีน ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ครูซได้ขยายขอบเขตการสนับสนุนจากแค่กระทรวงกลาโหมไปเป็นทุกกระทรวงของรัฐบาลอเมริกัน

มูลเหตุของความยั้วะของครูซ (ซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันกับ ทอม ครูส) เกิดจากการที่เขาพบว่าหนังเรื่อง Top Gun: Maverick ซึ่งเป็นหนังร่วมสร้างระหว่างพาราเมาท์พิคเจอร์สกับบริษัท Tencent ของจีน และแน่นอนว่าต้องได้รับการอนุเคราะห์จากกองทัพเรือสหรัฐด้วย ผู้สร้างต้องลบธงชาติไต้หวันและญี่ปุ่นออกเพื่อไม่ให้ระคายเคืองต่อกองเซ็นเซอร์ของจีน “สิ่งที่สื่อออกมาอย่างชัดเจนก็คือ มาเวอร์ริค (ชื่อตัวละครของ Top Gun ที่เล่นโดยพี่ทอมของเรา) ซึ่งเป็นไอคอนของคนอเมริกันต้องหงอจีนคอมมิวนิสต์ อย่างนั้นหรือ?” ครูซถามในวุฒิสภาอย่างมีอารมณ์

เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมอยู่ดีๆ เรื่องธุรกิจหนัง (ซึ่งใครๆ ก็รู้กันดีว่า จีนเป็นตลาดสำคัญของอเมริกา) ถึงถูกลากเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองได้ แต่ถ้าใครได้ติดตามการเมืองระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมาจากการกล่าวหาไปมาว่าใครกันแน่เป็นผู้แพร่เชื้อโรคโควิด 19 ลามมาจนถึง เรื่องชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ตามมาด้วยเรื่องไต้หวัน และฮ่องกง จะพบว่าการลากทุกอย่างให้เป็นการเมืองของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมพ์นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และการเมือง

อีกทั้งการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ที่ดูเหมือนทรัมพ์จะแบเบอร์มาโดยตลอด ก็เริ่มจะไม่สดใสเสียแล้ว เมื่ออเมริกันชนจำนวนไม่น้อยซึ่งรวมถึงผู้ที่สนับสนุนเขา เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับภาวะผู้นำของเขา เมื่อเป็นดังนี้ทรัมพ์จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหาศัตรูร่วมของคนทั้งชาติเพื่อสร้างจิตสำนึกความเป็นหนึ่งเดียวในประเทศอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม ท่าทีอันเกรี้ยวของครูซ รวมถึงข้อเสนอที่ถึงขั้นออกเป็นกฎหมายใช้บังคับ ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากสตูดิโอของฮอลลีวูด แถมยังถูกสัพยอกอย่างไม่ไยดี “พวกเขาจะทำอะไรกันน่ะ เรียกร้องให้เราต้องส่งบทให้ตรวจก่อนงั้นหรือ? ไม่เอาน่า” ผู้บริหารสตูดิโอรายหนึ่งกล่าว “ถ้าคุณต้องบีบให้สตูดิโอเลือกระหว่าง การสนับสนุนจากรัฐบาล หรือ เงินจากนายทุนจีน” ฟิลลิป แฟง นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นแสดงทัศนะ “แน่นอนพวกเขาต้องเลือกอย่างหลังอย่างไม่ต้องสงสัย”

เหตุใดตลาดจีนจึงมีความสำคัญต่อฮอลลีวูด

แน่นอนว่า คำตอบแรกคือ ความใหญ่ในระดับมหึมาของตลาดภาพยนตร์จีน จากรายงานของสมาคมภาพยนตร์อเมริกา (Motion Picture Association) ระบุว่าในปี 2019 รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศของจีนตลอดทั้งปีคิดเป็นจำนวนเงิน 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาที่ยอดขายบัตรในปีเดียวกันคิดเป็น 11,000 ล้านเหรียญ ขณะที่จำนวนคนดูในประเทศจีน จากการสำรวจของ สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) ในปี 2018 สูงกว่าทุกที่ในโลกนี้ด้วยจำนวนเกือบ 1,800 ล้านคน (จำนวนคนดูหนังตลอดทั้งปีในอเมริกามีเพียงแค่ 1,200 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้น ตลาดภาพยนตร์จีนจึงเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ล้ำค่าที่บริษัทภาพยนตร์ในอเมริกาไม่สามารถเมินเฉยได้

นอกจากนี้ ระบบการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศจีนยังมีความซับซ้อน เนื่องจากตามกฎหมายของจีน รัฐบาลกำหนดโควตาสำหรับภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะฉายในจีนเพียงแค่ 36 เรื่องเท่านั้น และมีเพียงแค่สองบริษัทที่มีสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ต่างประเทศได้ ประกอบด้วย บริษัท China Film Group และ บริษัท Huaxia Distribution ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นของรัฐบาล ดังนั้น ถ้าจะทำให้หนังได้มีโอกาสฉายแน่นอนโดยไม่ต้องผ่านระบบโควตา มีอยู่ทางเดียวก็คือ ทำให้หนังได้มีสัญชาติจีนเสียด้วยการหาพาร์ตเนอร์จีนมาร่วมลงทุนซะ

ด้วยเหตุนี้บริษัทสตูดิโอหลายแห่งจึงจับมือกับบริษัทผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ของจีน ร่วมกันผลิตภาพยนตร์ขึ้นมา เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Transformer: Age of Extinction ซึ่งเป็นการร่วมทุนสร้างระหว่างบริษัท พาราเมาท์ พิคเจอร์ส กับ บริษัท Jiaflix Enterprise และ China Movie Channel จากประเทศจีน ภาพยนตร์เรื่อง Warcraft (2016) ซึ่งร่วมทุนระหว่าง บริษัทยูนิเวอร์แซล กับบริษัท Huayi แห่งประเทศจีน (หนังล้มเหลวในอเมริกา แต่ทำรายได้มากมายในจีน) และล่าสุด Top Gun : Maverick ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทพาราเมาท์ พิคเจอร์สกับ บริษัท Tencent ประเทศจีน  

เซ็นเซอร์ เงื่อนไขที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าบริษัทอเมริกันสามารถหาทางเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนของระบบโควตาไปได้ แต่พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์ไปได้ เพราะตามกฎของรัฐบาลจีน ภาพยนตร์ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์จีนหรือภาพยนตร์ต่างประเทศ ต้องผ่านการตรวจพิจารณาโดยสำนักบริหารสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ภาพยนตร์และโทรทัศน์ หรือ The State Administration of Radio, Film and Television (SARFT) เสียก่อนถึงจะมีโอกาสได้ฉาย ดังนั้นการที่ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Top Gun: Maverick  จะต้องลบธงชาติไต้หวัน หรือ ญี่ปุ่น ก็คงไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากทำให้หนังผ่านเซ็นเซอร์ให้ได้ อนึ่ง นอกจาก Top Gun: Maverick ที่โดนบีบให้ต้องแก้ไขรายละเอียดก่อนยืนให้เซ็นเซอร์พิจารณาแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีหนังฮอลลีวูดฟอร์มใหญ่ที่ถูกสั่งให้แก่ไขบางส่วนของหนังหลายเรื่องเหมือนกัน อาทิ Iron Man 3 ที่ผู้สร้างต้องเพิ่มฉากเกี่ยวกับประเทศจีนที่ยาวประมาณ 4 นาที หรือหนังเรื่อง Cloud Atlas ที่ถูกสั่งตัดฉากร่วมรักระหว่างตัวละครเพศเดียวกัน เป็นต้น แม้ว่าการเซ็นเซอร์จะขัดกับหลักการประชาธิปไตยตามมุมแบบอเมริกัน แต่สตูดิโอหลายแห่งไม่ได้มองเป็นเรื่องสำคัญเท่ากับรายได้ที่จะเกิดขึ้น

วกกลับมาที่เท็ด ครูซ อีกครั้ง แม้ว่าจุดยืนในการแบนประเทศจีนเรื่องเซ็นเซอร์หนังของเขาจะฟังดูน่าขบขัน แต่คนในวงการหนังก็ประมาทไม่ได้ เพราะหลังๆ ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับจีนบางร่าง ก็ผ่านสภาอย่างเป็นเอกฉันท์มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน กรณีปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในมณฑลซินเจียง หรือล่าสุดกับการเพิกถอนบริษัทต่างชาติออกจากตลาดหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ที่ว่ากันว่าออกมาเพื่อเล่นงานจีนโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจภาพยนตร์ หากสุดท้ายร่างกฎหมายที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติหยุดยั้งการเซ็นเซอร์ ฟื้นฟูบูรณภาพ และปกป้องภาพยนตร์ (Stopping Censorship, Restoring Integrity and Protecting Talkies Act) ผ่านสภาได้ ถึงตอนนั้น เราอาจเห็นสิ่งที่ ฟิลลิป แฟง นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นทำนายเอาไว้ว่า “ถ้าหากกฎหมายผ่านได้ ก็เท่ากับว่าในอนาคตเราคงได้เห็นหนังอเมริกันที่สร้างด้วยทุนจีน โดยที่รัฐอเมริกันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็เป็นได้ เป็นจริงก็ได้

อ้างอิง

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES