Cinephiles in the time of Corona …คู่มือคอหนังยามยาก (VOL. 2)

ในช่วงเวลาของ ‘การรักษาระยะทางสังคม’ เช่นนี้ เราขอเสนอตัวเลือกของการนอนดูหนังอยู่กับบ้าน สำหรับคนรักหนังทุกท่านที่ต้องเผชิญสภาพ “โรงหนังกลายเป็นสถานที่อันตราย”

อ่าน VOL. 1 ได้ที่นี่ และ VOL. 3 ได้ที่นี่

(*คลิกชื่อเรื่องหรือภาพเพื่อเข้าชม*) :

Vdrome

Vdrome คือโปรเจกต์พิเศษที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 โดย Mousse – วารสารรายสามเดือน, สำนักพิมพ์ และเอเยนซี่เฉพาะทางด้านศิลปะร่วมสมัยในมิลาน (ขอภาวนาให้ทีมงานรอดปลอดภัยจากไวรัส) – เพื่อโปรโมตผลงานภาพเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงโลกภาพยนตร์กับศิลปะร่วมสมัย ผ่านการคัดเลือกของ curator และนักวิจารณ์ประจำ พร้อมสเตทเมนต์และบทสัมภาษณ์ศิลปินแบบจริงจัง

หนังในเว็บส่วนใหญ่มีเซนส์ใกล้เคียงวิดีโออาร์ต แต่หลายครั้งก็มีงานดังๆ จากคนทำหนังทดลองมีชื่อโผล่มา (แถมนอกจากออนไลน์ ใครว่างก็แวะไปดูที่ฉายประจำของเขาในมิวเซียมศิลปะร่วมสมัยแห่งดีทรอยต์ได้ด้วย) หนังเรื่องหนึ่งๆ ยืนระยะฉายในเว็บประมาณ 2 สัปดาห์, 1 เดือน หรือนานกว่านั้น (ถ้าทีมงานอยู่ในช่วงวันหยุด) ส่วนผู้ชมหน้าใหม่ที่พลาดงานเก่าๆ ก็ลองเข้าไปไล่ดูในหน้า archive แล้วเอาไปเสิร์ชเพิ่มเติมได้

– แนะนำโดย T. –
ไปดูที่ www.vdrome.org

Le Cinéma Club

Le Cinéma Club ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดยกลุ่มซีเนไฟล์ในนิวยอร์กและปารีส (สปอนเซอร์ใหญ่คือ CHANEL) หวังให้เป็นพื้นที่ออนไลน์เพื่อเผยแพร่หนังที่หลากหลายแปลกใหม่ให้ผู้ชมทั่วโลกได้ดูฟรี ส่วนใหญ่เน้นโปรโมตหนังสั้นของคนทำหนังดาวรุ่ง หรือจับกระแสเทรนด์หนังโลกในช่วงนั้นๆ แต่หลายครั้งก็มีหนังยาวระดับเดินสายเทศกาล (เช่นหนังของ เกรตา เกอร์วิก, โจนาส เมคาส) หรือหนังสั้นลับแลของคนทำหนังดังๆ ระดับโลกแวะเวียนมาให้ชม (อาทิ บองจุนโฮ, โอสุ, อัสซายาส, วาร์ดา, อภิชาติพงศ์, ลินน์ แรมเซย์, ยอร์โกส ลันติโมส, อารี แอสเตอร์)

เล่นเว็บนี้เราต้องหูตาไวในการจัดสรรเวลานิดหน่อย เพราะหนังแต่ละเรื่องออนไลน์แค่ 7 วันเท่านั้น (ยกเว้นช่วงวันหยุดของทีมงานที่จะอยู่นานหน่อย) แต่ใครพลาดงานเก่าๆ ก็เข้าไปดูหน้า archive อันใจกว้างได้ เพราะถ้าเรื่องไหนออนไลน์อยู่ใน YouTube, Vimeo หรือแพล็ตฟอร์มอื่นๆ พี่แกลงลิงค์ไว้ให้ตามต่อเลย ไม่ต้องเสิร์ชเอง

– แนะนำโดย T. –

Korean Classic Film Channel

แชนเนลในยูทูบจากหอภาพยนตร์เกาหลีใต้ที่แสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมหนังอย่างเต็มที่ ด้วยการจัดการให้ผู้คนจากทั่วโลกได้เข้าถึงหนังคลาสสิกจากเกาหลีใต้หลายร้อยเรื่อง! แถมทุกเรื่องมีซับไตเติลภาษาอังกฤษ! ถ้าคุณต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เกาหลีใต้ นี่คือโอกาสทองของคุณ

ในตัว playlist ของช่อง มีการแยกตามผู้กำกับหรือรายทศวรรษให้สะดวกต่อการค้นหา บางเรื่องอาจจะหายไปแล้ว แต่จะมีหนังใหม่มาเติมเสมอ และถ้าเข้าไปแล้วงงๆ ไม่รู้จะเริ่มจากไหนก่อนก็ห้ลองเลือกดูหนังของ อิมกวอนเต็ก (Im Kwon-taek) ผู้กำกับคนสำคัญของเกาหลีใต้ หรือ คิมคียอง (Kim Ki-young) คนทำหนังสุดคัลต์ที่บองจุนโฮคลั่งไคล้

ตัวอย่างเช่น Gilsoddeum (1986, Im Kwon-Taek) ที่ได้เข้าเทศกาลหนังเบอร์ลินในปีนั้น หนังได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงปี 1983 เมื่อช่อง KBS จัดรายการที่ช่วยครอบครัวตามหาสมาชิกผู้พลัดพรากกันช่วงสงครามเกาหลีเหนือ-ใต้ โดยตัวหนังเล่าเรื่องของ ฮวายอง ที่แต่งงานและอยู่ในครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งมีชีวิตที่ดีมีความสุข แต่ต้องผละจากลูกและสามีเพื่อไปตามหาชายผู้เป็นรักแรกของเธอ และลูกชายของทั้งคู่ที่หายสาบสูญจากสงคราม

หนังพลิกความคาดหวังจากคนดูที่รอคอยความเมโลดราม่าซาบซึ้ง (ในการตามหาสมาชิกครอบครัวที่หายไปให้ได้มาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง) สู่การตั้งคำถามถึงบาดแผลของสงครามที่สร้างความเสียหายให้กับทุกคนว่า เราสามารถกลับไปหาประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายเพื่อเชื่อมต่อให้เป็นเหมือนเดิมได้หรือเปล่า และการเชื่อมต่อทุกอย่างที่เคยเกิดเหตุเลวร้ายให้เป็นไปตามปกตินั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่

– แนะนำโดย W./N. –

IDFA

IDFA (International Documentary Film Festival Amsterdam) ก่อตั้งเมื่อปี 1988 และปัจจุบันถือเป็นเทศกาลภาพยนตร์สารคดีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีทั้งเทศกาลความยาวเกิน 10 วันทุกปี และแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมสารคดีหายากไว้มากมาย

ในช่วงสังคมกักตัวหนีโคโรน่าไวรัส ทางเว็บได้เปิดลิสต์หนังสารคดีในคอลเล็กชั่นให้ดูฟรีเกือบ 300 เรื่อง หลากหลายทั้งประเด็น (ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสังคมการเมือง) และที่มาของหนัง แต่อาจต้องค้นข้อมูลเพิ่มพอสมควรก่อนตัดสินใจเลือกเพราะหนังส่วนใหญ่ค่อนข้างลับแล บางเรื่องอาจดูในไทยไม่ได้ บางเรื่องภาพไม่ HD และบางเรื่องแค่ลิสต์ไว้เพื่อให้คนดูตามไปที่แพล็ตฟอร์มอื่น เช่น iTunes

– แนะนำโดย T. –

HAL ON DEMAND

HAL ค่ายหนังอิสระที่นำเข้าหนังคุณภาพจากหลากหลายประเทศให้ชาวไทยได้ชม กำลังทยอยนำหนังเรื่องต่างๆ ลงใน vimeo on demand เพื่อเข้าถึงชาวออนไลน์มากขึ้น ปัจจุบันมี 2 เรื่อง คือ Birds of Passage หนังแก๊งสเตอร์อาชญากรรมสุดเดือดผสมวัฒนธรรมและชนเผ่าวายูจากโคลอมเบีย ผลงานของ Ciro Guerra ผู้กำกับ Embrace of the Serpent ที่เคยพาเราล่องลอยไปกับการท่องเที่ยวการจิตวิญญาณสุดเมามายมาแล้ว

อีกเรื่องคือ The Square หนังตลกร้ายเสียดสีวงการศิลปะแบบแสบสันจนได้รางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 2017

เป็นหนังที่ดีทั้งสองเรื่องแต่กลับไม่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างมากนัก สนนราคาเรี่องละ 1.99 USD หรือประมาณ 65 บาทไทย และรอติดตามต่อไปว่าจะมีหนังเรื่องไหนจากค่ายนี้ที่จะมาลง VOD อีกบ้าง

Related NEWS

LATEST NEWS