The Way of the Househusband : เมื่ออาชีพแบบฉากหลังกลายเป็นมิชชันของชายแท้

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา อนิเมะญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่ขึ้นชาร์ตอันดับต้นๆ ของ Netflix ก็คือ พ่อบ้านสุดเก๋า หรือ The Way of the Househusband ซึ่งเป็นการ์ตูนแนวคอมิดี้ขนาดตอนละ 10 กว่านาที โดยในหนึ่งตอนจะแบ่งเป็นการ์ตูนแก๊กตอนสั้นๆ จบในตัว น่าเชื่อว่ารูปแบบของการ์ตูนที่สั้น ดูง่าย เรียกเสียงหัวเราะได้เช่นนี้ถูกใจคนสมัยใหม่ที่ชีวิตเร่งรีบ ไม่ค่อยมีเวลาเสพอะไรยาวๆ มากนัก

The Way of the Househusband เล่าเรื่องของเทตสึ อดีตยากูซ่า ผู้ได้รับขนานนามว่า “เท็ตสึคนอมตะ” ด้วยแสนยานุภาพระดับถล่มรังแก๊งคู่ต่อสู้หลายแห่งด้วยตัวคนเดียว จนคู่ต่อสู้ถึงกับเข่าอ่อนแค่ได้เห็นเขา แต่แล้ว เขาก็กลับลำเสียดื้อๆ ด้วยการหลีกเร้นจากชีวิตยากูซ่า มาแต่งงานกับมิกุ พนักงานออฟฟิศสาวสุดแอ็คทีฟ ที่เป็นคนทำงานหารายได้เข้าบ้าน เทตสึต้องกลายมาเป็นพ่อบ้าน คอยทำความสะอาด ทำอาหาร จ่ายตลาดให้กับภรรยา เป็น househusband ที่ไม่ค่อยเห็นกันนักในสังคมที่ยังคงโครงสร้างชายเป็นใหญ่แบบญี่ปุ่น

เนื้อเรื่องของอนิเมะมีความน่าสนใจ ตรงที่จับเอา “ชายแท้” ที่ “แมนๆ” แบบเทตสึ ที่มีความเป็นนักเลงหัวไม้และควรจะแสดงทุกอย่างที่มีความเป็นชายตามขนบ มาใส่ผ้ากันเปื้อนรูปสัตว์ ขับจักรยานไปแย่งของลดราคาในห้าง อีกทั้งยังรู้เรื่องงานปัดกวาดเช็ดถูมากกว่าผู้หญิงหลายๆ คน ความตลกขบขันที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจาก “ความไม่เข้ากัน” ของบุคลิกของเทตสึ กับงานบ้านหวานแหววที่สังคมยังคงปัดให้เป็นความรับผิดชอบของผู้หญิง เราขำ เพราะเห็นว่า ความเป็นชาย และงานบ้านของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ถูกจับเข้ามาไว้ด้วยกันอย่างประดักประเดิด ผู้ชายมีรอยสักทั้งตัวที่ใส่ผ้ากันเปื้อนรูปหมี ดูแล้วอย่างไรก็ไม่ใช่ภาพจำธรรมดา

หากคิดจากมุมนี้ ในเสียงหัวเราะของเรา ย่อมมี “การเมือง” แทรกอยู่ คือการเมืองว่าด้วยบทบาทของความเป็นชายและความเป็นหญิง  เราจะไม่สามารถขำได้เลยหากในโลกนี้ งานบ้านถูกจัดเป็นของสองเพศอย่างเท่าเทียมกัน เรายังคงมี “ภาพจำ” ว่างานเช่นการใช้เครื่องดูดฝุ่น การทำอาหารหน้าตาน่ากิน และการแย่งของลดราคาในห้างอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น เป็นหน้าที่ของ “แม่บ้าน” หาใช่ “พ่อบ้าน” อย่างที่อนิเมะเรื่องนี้นำเสนอ ความ hypermasculine ของเทตสึ เช่น การที่คู่ปรับเก่าเห็นเขายื่นอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านให้แล้วเข่าอ่อน เพราะคิดว่าเขาโหดมากถึงขั้นจะถอดเล็บตนเอง ถูกใส่เข้ามา เพื่อขับเน้นช่องว่างระหว่างภาพจำของสองบทบาทนี้

แต่แล้ว เราพอจะมองได้หรือไม่ ว่าการนำเสนอภาพของ “พ่อบ้าน” สุดแมน นี้ เป็นการสร้างภาพจำใหม่ๆ ให้กับความเป็นพ่อบ้าน และสนับสนุนให้ผู้ชายรู้สึกอิงแอบกับความเป็นพ่อบ้านง่ายขึ้นโดยไม่ต้องรู้สึกฝืนจนเกินไป?

หากมองจากมุมของทุนนิยม การที่งานบ้านและงานนอกบ้านถูกแบ่งแยกออกจากกัน เป็นการแบ่งงานกันทำ เพื่อให้เกิด “ผลิตภาพ (productivity)” ที่สูงสุด กล่าวคือ เป็นการใช้ทรัพยากรทุกอย่างอย่างคุ้มค่า การที่สองงานนี้มีฟังก์ชันไม่เหมือนกัน ทำให้การแยกมันขาดออกจากกัน และฝึกความชำนาญในงานใดงานหนึ่งเพียงอย่างเดียว ดูสมเหตุสมผลมากที่สุด เพราะ “ผู้เชี่ยวชาญ” จะทำให้งานสำเร็จได้ไวกว่า การที่เทตสึออกมาเป็นพ่อบ้าน ในขณะที่ภรรยาเป็นคนออกไปทำงานหาเงิน จึงเป็นการสร้างระบบการทำงานเพื่อให้บริหารเวลาและเงินได้ดีที่สุด หากมองในมุมนี้ เราอาจตัดความเป็นชายหรือหญิงออกไปก็ได้ เพราะทุกคนมีค่าเท่ากันในฐานะ “ผู้บริหารทรัพยากร”

หากคิดจากมุมมองสตรีนิยมมาร์กซิสต์ งานบ้านถูกใส่เข้ามาผูกติดกับความเป็นหญิง เพราะผู้หญิงถูกมองเป็นทรัพยากรหรือวัตถุ ที่จะถูกรีดเค้นเอาแรงงานและเวลาของเธอเพื่อธำรงโครงสร้างของการสืบสกุลแบบมีฝ่ายชายเป็นต้นสกุล ผู้ชายที่เป็นต้นสกุลเป็นผู้บริหารทรัพยากร และผู้หญิงก็เป็นทรัพยากรหนึ่งในนั้นที่ไม่มีอัตตาณัติ (autonomy) ในการจะออกสิทธิ์ออกเสียง เป็นเพียงผู้ผลิตทายาทสืบสกุลและทำให้ฝ่ายชายสามารถใช้อภิสิทธิ์ของตนได้เต็มที่ในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) มองในแง่นี้ การกลับหัวกลับหางให้ผู้ชายกลายมาเป็นพ่อบ้านก็ดูเข้าทีอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นเหมือนการตัดช่วงความคิดที่ให้ฝ่ายชายเป็นผู้ควบคุมทรัพยากรเสีย และให้ฝ่ายหญิงมีหน้าที่นั้นแทน นับได้ว่าเป็นการสร้างภาพจำใหม่ๆ เกี่ยวกับบทบาททางเพศ ซึ่งนักสตรีนิยมบางคนอาจเห็นได้ว่า การสร้างภาพ “ผู้ชายแมนๆ” ในคราบพ่อบ้านนี้เป็นการท้าทายบทบาททางเพศ (gender role) อย่างหนึ่ง

แต่แล้วเราก็เดินมาถึงทางตันหนึ่งซึ่งบทความนี้จะชี้ให้เห็น และเป็นที่มาของชื่อบทความ “เมื่ออาชีพแบบฉากหลังกลายเป็นมิชชันของชายแท้” ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า งานบ้านที่เป็นงานของผู้หญิงนั้น มันไม่เคยเป็นการ “แบ่งงานอย่างเท่าเทียม” แบบที่ความหมายในเชิงทุนนิยมพยายามปั้นแต่งขึ้นมา งานบ้านของผู้หญิงเป็นงานที่ “เป็นฉากหลัง (background)” อยู่เสมอ คำนี้มีความหมายว่าอะไร? ลองคิดถึงการที่ผู้หญิงไม่เคยได้รับการจ่ายค่าจ้างจากงานบ้าน หรือแม้เธอจะทำมันเป็นอาชีพ ในรูปแบบของการรับจ้างทำความสะอาด เธอก็ได้รับเงินค่าจ้างเพียงน้อยนิด งานบ้านไม่เคยกลายเป็นงานที่ “มีความสลักสำคัญ” ในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่พยุงเศรษฐกิจแบบแบ่งงานกันทำ มันถูกทำให้กลายเป็นงานคล้ายกับ “การอาสา” หรือ “งานง่ายๆ แบบไม่ต้องใช้สมอง” และทำให้ผู้หญิงจำนวนมากถูกเอาเปรียบจากแรงงานของตัวเอง การที่มันมีลักษณะเป็นการทำซ้ำ ทำให้นายทุนมองว่า มันเป็นงานทักษะต่ำที่ไม่ได้มีภูมิปัญญา (sophisticate) หรือหลักการเบื้องหลังที่สร้างมูลค่าได้อย่างงานนอกบ้าน

การเป็นแม่บ้าน จึงหมายถึงการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ และโดนดูถูกจากสังคม และผู้ทำอาชีพแม่บ้านหรือพ่อบ้านก็ไม่ได้ออกมาเรียกร้องอะไร อาจเคยมีการเรียกร้องให้ผู้หญิงได้ค่าจ้างจากการทำงานบ้านบ้างในยุคหนึ่ง แต่ในยุคนี้ น่าคิดว่าเหล่ากระบอกเสียงล้วนล้มหายตายจาก และปล่อยให้เกิดการกดขี่อย่างแนบเนียนด้วยวาทกรรมสวยหรูอย่าง “การแบ่งงานกันทำ” ที่ลัทธิทุนนิยมตัดขาดเพศออกจากบริบทของงาน

คราวนี้ มันเกิดอะไรขึ้นเมื่องานนี้มันมาอยู่ในมือของผู้ชาย “แมนๆ” ที่ไม่เคยเป็นภาพจำของ “ความเป็นแม่บ้าน” เลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันกลายร่างเป็น “ภารกิจ” หรือ “มิชชัน (Mission)” ขึ้นมา – เทตสึมีลูกน้องคนหนึ่งที่ชื่นชมเขาตั้งแต่อยู่ในแก๊งนักเลง ซึ่งลูกน้องคนนี้พยายามจะ “หาความหมาย” ในงานบ้านของเทตสึ ว่า มันเป็น “วิถีลูกผู้ชาย” แบบหนึ่ง ที่ไม่ต่างจากการเป็นยากูซ่าเลย และเทตสึก็ปฏิบัติต่องานทุกอย่างเหมือนมันเป็น “วิถี” จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้นิยามว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นสนามรบ คราบที่ต้องกำจัดคือศัตรู แมลงสาบคือคู่ปรับที่ทำให้เสียแรงกาย การทำงานบ้านผิดพลาดมีโทษมหันต์ถึงขั้นตัดนิ้ว หรือในตอนหนึ่งที่เทตสึได้พบกับคู่ปรับเก่า โทราจิโร่ ที่เคยเป็นหัวหน้าแก๊งคนสำคัญเพียงคนเดียวที่ประมือกับเขาได้ ทั้งสองก็ลงเอยด้วยการแข่งกันทำอาหารเรียกยอดไลค์ในอินสตาแกรม โดยมีศักดิ์ศรีลูกผู้ชายเป็นเดิมพัน

ความเป็น “วิถี” นี้ทำให้งานบ้านหลุดออกจากการเป็นฉากหลังได้อย่างแนบเนียน และมันคงจะไม่เกิดขึ้นหากมันเป็นงานที่ตัวละครผู้หญิงทำ ในทำนองเดียวกับที่การทำอาหารดูเป็นงานแม่บ้านที่ไม่ได้มีศักดิ์ศรี แต่แปรสภาพเป็น “ความเป็นมืออาชีพ” เมื่อมันอยู่ในมือของเชฟที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ชาย งาน “แม่บ้าน” ก็กลายเป็นงาน “มืออาชีพ” เมื่อมันอยู่ในมือของผู้ชายแมนๆ อย่างเทตสึ และถูกให้ความหมายในฐานะภารกิจที่สลักสำคัญขึ้นมาในทันที

The Way of the Househusband พ่อบ้านสุดเก๋า จึงอาจเรียกได้ว่า จัดอยู่ในซีรีส์ “สายอาชีพ” แบบญี่ปุ่น ซึ่งตัวละครเอกส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และผู้ชายเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนโดยความทะเยอทะยานที่จะบรรลุเป้าหมายบางอย่าง และเป็นเป้าหมายที่คนดูเห็นพ้องว่าสำคัญเสียด้วย ในขณะที่กับผู้หญิงนั้น งานบ้านเป็นแค่งานที่ต้องทำให้เสร็จไปวันๆ และไม่ได้รับการให้ค่ามากนัก เท่ากับว่า มันอาจไม่ได้ลดทอนการผลิตซ้ำความ “ไร้ฝึมือ” ของอาชีพแม่บ้านของผู้หญิงแต่อย่างใด


ดูได้ที่ Netflix

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

RELATED ARTICLES