MGM / AMAZON : ดีลสะท้านโลกกับผลกระทบที่อาจจะตามมา

สำหรับธุรกิจบันเทิงโลกในเวลานี้ คงไม่มีข่าวไหนที่สร้างความฮือฮาได้เท่ากับข่าว Amazon ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมอร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองชื่อ Amazon Prime ได้บรรลุข้อตกลงซื้อสิทธิ์หนังทั้งหมดของบริษัท MGM หนึ่งในสตูดิโอขนาดใหญ่ของอเมริกาที่มีจำนวนมากกว่าสี่พันเรื่องด้วยจำนวนเงินทั้งหมด 8,450 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทย 253,500 ล้านบาท ไปเมื่อวันพุธที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ต่อจากนี้ไป Amazon Prime จะเป็นผู้บริหารสิทธิ์หนังทั้งหมดของค่าย MGM รวมถึงรายการทางโทรทัศน์ที่มีความยาวรวมกันมากกว่า 17,000 ชั่วโมง ไม่เพียงเท่านั้น Amazon Prime ยังมีสิทธิ์ในการบริหารสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property / IP) ของบริษัท MGM ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาคต่อ ภาคแยก หรือ คาแรคเตอร์ตัวละครของหนังดังๆ อย่าง Rocky, Legally Blond หรือ Tomb Raider1https://variety.com/2021/digital/news/amazon-buys-mgm-studio-behind-james-bond-for-8-45-billion-1234980526/

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดีลนี้จะปิดไปแล้ว แต่ก็ยังมีบางจุดที่ยังมีความคลุมเครืออยู่ โดยเฉพาะกับหนังชุดเจมส์ บอนด์ ที่ทายาทตระกูลบรอคโคลี ผู้ปลุกปั้นหนังสายลับชุดนี้มาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 60 และยังมีสิทธิ์ในการควบคุมเนื้อหารวมถึงการคัดเลือกนักแสดง ตลอดจนกำหนดทิศทางการจัดจำหน่าย ออกมาประกาศว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หนังเรื่อง No Time to Die ซึ่งเป็นภาคล่าสุดของหนังตระกูลบอนด์จะยังคงฉายในโรงหนังในเดือน ตุลาคมนี้2https://www.nytimes.com/2021/05/26/business/amazon-MGM.html อยู่ดี

แต่กระนั้น นั่นอาจไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป ตราบใดที่ดีลขนาดยักษ์ดีลนี้ได้ถูกปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ที่เหลือคงเป็นการตกลงกันระหว่าง ตระกูลบรอคโคลีกับค่าย MGM ที่เป็นผู้ร่วมสร้างหนังเจมส์ บอนด์ ว่าจะหาจุดลงตัวอย่างไรเพื่อที่จะได้ทำงานกับ Amazon อย่างราบรื่น

ทีนี้คำถามสำคัญที่ดูเหมือนจะยังไม่ถูกตั้งขึ้นในช่วงเวลานี้ก็คืออภิมหาดีลที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจบันเทิงโลก โดยเฉพาะกับธุรกิจบันเทิงที่มีผู้บริโภคมากที่สุดในโลกอย่างธุรกิจหนัง ผู้เขียนขอนำเสนอความเป็นไปได้ดังนี้              

1. ภูมิทัศน์ของการจัดจำหน่ายจะเปลี่ยนไป : แม้ว่าการเข้ามาสมาทานธุรกิจภาพยนตร์ของบรรดาค่ายแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Netflix HBO หรือ Disney Plus จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในธุรกิจภาพยนตร์ ใครๆ ก็รู้ว่า ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านการจัดจำหน่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วงชิงฐานผู้ชมที่ไม่สามารถเข้าโรงหนังในช่วงที่โรงหนังเกือบทั่วโลกปิดตัวได้ หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดจำหน่ายที่แต่เดิม โรงหนังต้องเป็นสถานที่แรกที่หนังต้องเปิดตัว จากนั้นคล้อยหลังไป 3 -6 เดือน ถึงไปฉายในช่องทางสตรีมมิ่ง กลายเป็น โรงหนังต้องเปิดตัวหนังพร้อมกับช่องทางสตรีมมิ่ง หรือไม่ต้องรอให้หนังเปิดตัวทางช่องทางสตรีมมิ่งก่อนถึงจะฉายโรงได้ ดังนั้นการเกิดอภิมหาดีลระหว่าง Amazon กับ MGM จึงเป็นการตอกย้ำว่า บทบาทแต่นมนามของโรงหนังในฐานะช่องทางการจัดจำหน่ายแรกและเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสำคัญของเจ้าของหนังค่อยๆ หมดความสำคัญลงอย่างช้าๆ

2. คำว่า IP (Intellectual property) หรือ ทรัพย์สินทางปัญญา จะกลายเป็นตัวแปรในการสร้างความแข็งแกร่งของ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าต่างๆ เพราะการที่พวกเขาได้ครอบครองคอนเทนท์ที่มีต้นทุนแห่งความนิยม จากการที่มันเคยประสบความสำเร็จจากการฉายในโรงภาพยนตร์มาก่อน นอกจากจะทำให้พวกได้ประโยชน์จากการดึงผู้บริโภคเข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว ยังทำให้พวกเขาสามารถต่อยอดความนิยมของหนังเรื่องนั้นๆ ด้วยการนำ IP ของหนังเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง หรือตัวละคร มาสร้างเป็นหนังหรือซีรีส์ที่มีความเกี่ยวช้องกับเนื้อเรื่องดั้งเดิมได้อีก เช่นกรณีของ Disney Plus ที่สามารถสร้างภาคแยกของหนังมาร์เวลที่พวกเขาถือสิทธิ์ได้หลายเรื่อง ดังนั้นการที่ Amazon Prime มีหนังในคลังของ MGM อยู่ในมือถึงสี่พันเรื่อง จึงเท่ากับว่าพวกเขามีสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์จาก IP ที่มาพร้อมกับหนังเหล่านั้นอย่างไม่มีขีดจำกัด ดังนั้นอย่าแปลกใจที่เราอาจได้เห็นตัวละครตัวหนึ่งในหนังเรื่อง Rocky กลายเป็นมาเป็นตัวละครหลักในหนังเรื่องต่อไปของ Amazon Prime ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ IP มีค่าดั่งทอง ดูเหมือนผู้ที่จะตกอยู่ในสถานการณ์เสียเปรียบคงหนีไม่พ้น Netflix เพราะต้องสูญเสียหนังของ MGM ที่พวกเขาเคยซื้อสิทธิ์มาฉายอย่าง James Bond หรือ Rocky หลังจากที่สัญญาหมดลงแล้ว ไม่นับรวมหนังของค่ายมาร์เวลหลายๆ เรื่องที่ต้องคืนกลับไปยังเจ้าของสิทธิ์เดิมเพื่อให้บริการใน Disney Plus3https://www.hollywoodreporter.com/tv/tv-news/netflixs-loss-marvel-movies-may-cause-subscriber-drop-poll-finds-1210236/ การสูญเสียหนังใหญ่ๆ เหล่านี้ไปทำให้ Netflix ต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง IP ของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการผลิตผลงานที่เรียกว่า original content ในรูปแบบของหนังหรือซีรีส์

3. เกิดภาวะทำตามแบบ : ผู้เขียนมีความเชื่อว่า นอกจากผู้คนในแวดวงธุรกิจบันเทิงจะจับตาดีลนี้อย่างไม่กะพริบแล้ว ผู้บริหารสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Netflix HBO Disney Plus หรือ แม้แต่ตัว เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของ Amazon เองก็คงเฝ้าสังเกตเหมือนกันว่าสุดท้ายนี้ ดีลนี้มันจะลงเอยด้วยการสร้างความมั่งคั่ง หรือ ความล้มเหลวให้กับแพลตฟอร์ม Amazon Prime ถ้าผลลงเอยเป็นบวก ผู้เขียนเชื่อว่า ต่อไปผู้บริหารเหล่านี้ คงสรรหาบริษัทภาพยนตร์ขนาดใหญ่ หรือขนาดกลางที่มีหนังในคลังมูลค่าสูงเพื่อทำการเจรจาซื้ออย่างแน่นอน เพราะการทุ่มทุนซื้อบริษัทเหล่านี้มาได้เท่ากับเป็นการการันตีว่า พวกเขาจะมี IP ที่มีต้นทุนความสำเร็จอยู่ในมือ ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้า บริษัทที่มี IP แข็งแรงอย่าง Lionsgate ที่มีหนัง Hunger Games หรือ John Wick อยู่ในแคทตาล็อก หรือ บริษัท Millennium Media ที่มีหนังอย่าง Expendable หรือหนังตระกูล Olympus Has Fallen อยู่ในคลัง จะอยู่ในโฟกัสของผู้บริหารสตรีมมิ่งเหล่านี้

4. การแข่งขันที่เข้มข้นของตลาดสตรีมมิ่ง : ด้วยจำนวนเงินกว่า 8,500 ล้านเหรียญที่ Amazon ลงทุนไป ทำให้พวกเขามีแรงกดดันที่จะต้องหาทางคืนทุนให้ได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่พวกเขาต้องทำคือการขยายฐานสมาชิกของ Amazon Prime ให้เพิ่มมากขึ้นจากที่มีอยู่ 200 ล้านคนทั่วโลกในขณะนี้4https://observer.com/2021/04/amazon-prime-subscribers-netflix-disneyplus/ (ขณะที่ Netflix มีสมาชิกทั่วโลก 207 ล้านคน5https://www.statista.com/statistics/250934/quarterly-number-of-netflix-streaming-subscribers-worldwide/ และ Disney Plus 100 ล้านคน6https://www.theverge.com/2021/3/9/22320332/disney-plus-100-million-subscribers-marvel-star-wars-wandavision) ดังนั้นการแข่งขันในตลาดสตรีมมิ่งที่มีความเข้มข้นอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19 จะเพิ่มดีกรีความร้อนแรงในปีนี้และปีต่อๆ ไปอย่างเลี่ยงไม่พ้น จงเตรียมใจที่จะได้เห็นโฆษณาเชิญชวนให้สมัครเป็นสมาชิกของ Amazon Prime ในบ้านเราอีกไม่นานจากนี้

กล่าวโดยสรุป การปิดดีลระหว่าง Amazon และ ค่ายหนัง MGM ไม่เพียงแค่สร้างความตกตะลึงแก่ผู้สนใจทั้งในและนอกธุรกิจบันเทิงในแง่ของตัวเงินที่ถูกประกาศออกมาเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเร่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมบันเทิงโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัง แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร คนที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดก็คือ ผู้บริโภคอย่างเราๆ นั่นเอง

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES