Blog Page 3

Top Gun: Maverick กู้โลกให้เด็กมันดู

Tom Cruise เกิดในปี 1962 นับไปแล้วเท่ากับว่าปีนี้เขาอายุ 60 ปีพอดี และโดยไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ Top Gun: Maverick ก็เป็นเช่นเดียวกันกับใบหน้าและร่างกายของ Tom Cruise ซึ่งยังคงสภาพเกือบเหมือนแช่แข็งวันเวลาเอาไว้ ทั้งจากการบำรุงรักษาอย่างดีและการศัลยกรรม ใบหน้าที่เคยเป็น และยังคงเป็น หรืออย่างน้อยพยายามจะเป็น ภาพแทนของอเมริกันชนในฝัน ตลอดช่วงปลายทศวรรษ 1980 ต่อ 1990 ภาพของเขาในเสื้อแจ็คเก็ตหนัง แว่นเรย์แบน และมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ก็เคยเป็นภาพจำของวัยรุ่นอเมริกันและโลกในยุคนั้น ในยุคปลายสงครามเย็น ก่อนสงครามอ่าว ในยุคที่อเมริกายังเป็นแนวหน้าของผู้จัดระเบียบโลก เป็นต้นแบบ เป็นผู้เผยแพร่ เป็นผู้ปลูกฝังแนวคิดถึงชีวิตสมบูรณ์แบบ ‘อเมริกันดรีม’ อย่างน้อยก็ทั่วไปในโลกเสรีนิยม 

Top Gun: Maverick กลายเป็นทั้งการรำลึกวันชื่นคืนสุขเหล่านั้น ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ที่ทำหน้าที่แข็งขันในการสร้างความคิดความเชื่อแบบนั้นให้กลายเป็นเรื่องเล่าหลักของโลก และเป็นความพยายามของคนรุ่นก่อนหน้าที่อยากจะยื้อยุดคุณค่าและวันเวลาแบบเดิมๆ เอาไว้ หนังเล่าเรื่องในอีกสามทศวรรษต่อมาจากภาคแรก มิตท์เชลล์ หรือโค้ดเนม มาเวอริค นักบินขับไล่ที่ดีที่สุดในสหรัฐยังคงเป็นนักบินอยู่ เป็นกัปตันขับเครื่องบินทดสอบแทนที่จะได้เป็นนายพล ความไม่ก้าวหน้าในอาชีพแต่มีความสุขจากการทำสิ่งที่รักกำลังสั่นคลอน เมื่องานทดลองบินเครื่องบินรบที่เขาเป็นคนขับถูกระงับโครงการ และเขาอาจจะต้องถูกปลดระวางแล้ว 

ในฉากนี้หนังพูดสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หนังอยากพูด นั่นคือการที่ท่านนายพลบอกว่า ต่อไปเราจะมีแต่เครื่องบินที่ไม่มีคนขับและนายกับพรรคพวกของนายก็จะหมดประโยชน์ มาเวอริคตอบกลับท่านนายพลว่า ก็คงใช่ แต่ไม่ใช่วันนี้ กลายเป็นว่ามาเวอริคกลับมาเพื่อพิสูจน์ว่าคุณค่าที่คน Boomers และ Gen X ยึดถือนั้นยังเป็นคุณค่าที่สำคัญและถูกต้อง คือการเชื่อในการทำตามความฝันโดยไม่สนใจเกียรติยศใดๆ การเชื่อมั่นในคุณค่าของโลกเก่าที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญชำนาญของมนุษย์ หรือกล่าวให้ถูกต้องคือเชื่อมั่นในประสบการณ์ A.K.A. ความแก่ของตัวเอง มากกว่าจะเชื่อในการพัฒนาเทคโนโลยี (แม้เครื่องบินที่เขาขับจะเกิดจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีก็ตาม)

น่าเสียดายที่หนังไม่ยอมไปต่อให้สุดทางในข้อถกเถียงของคุณค่าระหว่างคนรุ่นเก่า ที่มีคุณค่าความเชื่อแบบหนึ่ง กับคนรุ่นต่อมาที่มีคุณค่าความเชื่อในอีกแบบหนึ่งทั้งในเรื่องของ อุดมการณ์​ การเข้าถึงเทคโนโลยี มุมมองที่มีต่อชีวิต ถ้าถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็ต้องตอบว่าเพราะหนังมีความปรารถนาแรงกล้า ที่จะกลับไปชื่นชมอดีตของตนเอง เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นทั้งหวนรำลึก และส่งเสียงโฆษณาชวนเชื่อความคิดแบบเจนเอกซ์ หนังจึงเดินไปสู่ทางที่ตัวละครหนุ่มสาวได้รับบทเรียนจากเทพผู้มีอุดมการณ์แน่วแน่ ถึงขนาดยอมทิ้งความเจริญก้าวหน้าในชีวิตเพื่อสิ่งนั้น เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์เหนือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นข้อถกเถียงที่แหลมคมและน่าสนใจมากๆ ที่หนังเลือกทิ้งไป เพื่อเชิดชูคุณค่าของวิถีชีวิตแบบเก่า 

แต่วิถีชีวิตแบบเก่านี่ยังหมายรวมไปถึงวิถีชีวิตที่อเมริกาเป็นผู้จัดระเบียบโลก หนังเล่าต่อว่า มาเวอริค ถูกดึงตัวมาฝึกสอนนายทหารแนวหน้าของหน่วยงาน TOP GUN หน่วยงานเก่าที่เขาเคยสังกัด เพื่อให้นักบินรุ่นใหม่ปฏิบัติการ ถล่ม โรงงานแร่ยูเรเนียมที่ซ่อนตัวในหุบเขา ภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องบินในระดับต่ำคดเคี้ยวเลาะโตรกเขาเพื่อเลี่ยงเรดาร์ ไต่ระดับขึ้นไป เล็งเป้าแบบห้ามพลาด และต้องท้าทายแรงจีด้วยการเชิดหัวสูงบินไต่ภูเขาหนีตาย ซึ่งถ้าไม่ใช่คนที่แข็งแรงมีประสบการณ์จะต้องสลบกลางอากาศ แต่นั่นยังไม่จบ เพราะเมื่อพ้นมาก็ต้องบินสู้กับฝูงบินขับไล่ของศัตรูปิดท้าย มันเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีทำไม่ได้แต่คนอาจจะทำได้ ถ้าได้รับการฝึกฝน

เรื่องน่าตื่นเต้นคือหนังไม่ยอมแม้แต่จะบอกให้ชัดว่าใครคือศัตรู หรือไม่แม้แต่กลับไปสู่ข้อถกเถียงว่าปฏิบัติการแบบนี้ทำได้หรือไม่ในแง่กฏหมายระหว่างประเทศ ความพยายามปกป้องโลกนี้เป็นหน้าที่ของอเมริกาหรือเปล่า หรือนี่เป็นสงครามเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แบบที่เคยเป็นใช่หรือไม่ ข้อถกเถียงทางการเมืองถูกปัดตกทิ้งหมด ซึ่งก็อาจจะใช้ข้ออ้างของการเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ไม่ใช่หนังการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องแปลก 

หากแต่การลดรูปหรือปัดตกความเป็นการเมืองของหนัง ทำให้หนังกลายไปเป็นสิ่งที่หนังบล็อกบัสเตอร์อเมริกันในยุค 1980’s จนถึง 2000’s ต้นๆ เป็น นั่นคือการเป็นหนังพร็อพพากันด้า (propaganda) ระเบียบโลกแบบอเมริกันนั้นเอง เรามีพระเอกที่เป็นภาพแทน ภาพฝัน ไปจนถึงภาพแช่แข็งของวีรบุรุษอเมริกัน ขับเครื่องบินรบไปปราบปรามเหล่าร้ายที่ไหนสักแห่ง ผู้ร้ายเป็นตัวไร้หน้าเหี้ยมโหด และการกระทำทั้งหมดไม่ได้เป็นเพียงการกระทำเชิงชาตินิยมแบบเดียวที่เราเห็นในหนังชาตินิยมจากหลายประเทศ แต่เป็นตัวแทนของชาวโลกในภาพรวม อเมริกากำลังทำหน้าที่ไม่ใช่แค่ตำรวจโลก แต่เป็นวีรบุรุษของโลกผ่าน soft power อย่างภาพยนตร์ที่เชิดชูตัวเอง และแนวคิดของตัวเอง จนเราลืมตระหนักไปเลยว่านั่นไม่ใช่ตัวแทนของโลก เป็นเพียงรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เรื่องเล่าหลักที่เราคิดว่าเป็นสัจนิรันดร์แห่งเสรีนิยม ถึงที่สุด มีประเด็นให้ต้องคำถามว่ามันถูกต้องอยู่แล้วหรือไม่ 

อย่างไรก็ดี หนังบล็อกบัสเตอร์หลังเหตุการณ์ WORLD TRADE ตามด้วยความรุ่งเรืองของฝั่งขวาจัดชาตินิยม และการโต้กลับของเหล่าเสรีนิยม การเสื่อมอำนาจทางเศรษฐกิจของอเมริกัน ก็นับว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก หนังประเภทอเมริกันกู้โลก ต้องปรับแปลงตัวเองไปสู่การเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ยืนอยู่บนโลกที่จริงครึ่งไม่จริงครึ่ง หนังบล็อกบัสเตอร์แบบเก่าไม่ได้ทำเงินอีกแล้ว การเป็นวีรบุรุษถูกตรวจสอบทั้งในแง่มุมมทางการมือง ความเป็นเจ้าอาณานิคม ไล่ไปจนถึงอคติทางเพศและชาติพันธุ์ ถึงที่สุด ชายผิวขาวที่บินไปกู้โลกกลายเป็นภาพฝันที่เกือบจะเป็นฝันเปียกของ 90’s kids แม้เราจะยังมี James Bond หรือ Mission Impossible ออกฉายประปราย แต่มันไม่ใช่ภาพแทนของหนังบล็อกบัสเตอร์อเมริกันร่วมสมัยอีกต่อไป

Top Gun: Maverick จึงเป็นการกลับมาทั้งอย่างน่าภาคภูมิ และชวนขมวดคิ้วตั้งคำถาม เพราะในขณะที่มันเป็นหนังที่มอบความบันเทิงขั้นสูงสุด ภาพและเสียงถูกออกแบบมาอย่างดี มีเทคนิคลูกล่อลูกชนในการเล่า ภารกิจท้านรก ผ่านภาพกราฟิกเพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพกว้าง และในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ภาพ operation image ที่เป็นเพียงภาพกราฟิก เร้าอารมณ์ผู้ชมได้ทรงพลังอย่างยิ่ง ก่อนที่ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายจะใช้ศักยภาพของเสียง ภาพ และการตัดต่อ ทำให้ภาพที่ครึ่งหนึ่งเป็นเพียงภาพในห้องผู้โดยสารนักบิน สามารถตื่นเต้นจนอะดรีนาลีนหลั่งไหลท่วมท้นได้ ในทางหนึ่งนี่คือหนังแอคชั่นแบบเก่า ที่อัพเกรดมาใหม่อย่างดี ดีพอจะยืนชนกับหนังที่สร้างเพื่อคนรุ่นปัจจุบันได้อย่างไม่ต้องอาย 

กระนั้นก็ตามขณะที่เราดู หนังเรื่องนี้ เรากลับไพล่ไปนึกถึง The Wrestler (2008) ของ Darren Aronofsky จะว่าไปแล้วโครงสร้างของหนังสองเรื่องนี้แทบจะเหมือนกัน มันว่าด้วยชายผิวขาวคนหนึ่งที่หลงใหลในบางสิ่งอย่างยิ่ง และอุทิศทั้งชีวิตให้กับมัน จนตอนนี้อยู่ในจุดที่ตกต่ำที่สุด และพยายามดิ้นรนกลับขึ้นมาใหม่เพื่อพิสูจน์ความหนักแน่นในอุดมการณ์ของตนในระดับที่แม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ไม่เป็นไร 

หาก The Wrestler กลายเป็นภาพแทนความล้มเหลวแบบหมดท่าที่น่าทึ่ง ทั้งจากตัวเรื่องของนักมวยปล้ำที่พยายามจะคืนสังเวียนแม้จะเป็นแค่ไอ้ขี้เมาร่อแร่ ไปจนถึงสภาพร่างกาย ของ Mickey Rourke ดาราที่เคยเป็นขวัญใจสาวๆ แบบเดียวกับ Tom Cruise ในยุคสมัยเดียวกัน ในขณะที่ Wrestler พูดถึงผู้คนจำนวนมากในสังคมอเมริกัน และวิเคราะห์ความล้มเหลวว่างเปล่าของมัน Top Gun กลับพูดถึงภาพฝันของคนอเมริกัน ที่ยังคงฝันอยู่ แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่ จะบังคับเครื่องบินผ่านโดรน ไปจนถึงพยายามจะหยุดสงครามแบบเดิมแล้วก็ตาม 

Top Gun: Maverick เป็นภาพฝันเปียกที่แสนสมบูรณ์แบบของชายผิวขาววัยสี่สิบบวก (ที่เป็นภาพฝันสมบูรณ์แบบของผู้ชายวัยดังกล่าวจำนวนมากทั่วโลก) พวกเขาได้ทั้งรื้อฟื้นวัยเยาว์อันแสนหวานที่ครั้งหนึ่งภาพยนตร์พร็อพพากันด้าเสรีนิยมนำโดยอเมริกานั้นเคยปลุกปลอบใจ ได้อวดศักดาความเป็นชาย ผ่านทางสิ่งละอันพันละน้อยที่เป็น Phallus เป็นลึงค์ และการบ้าลึงค์ที่กระจายไปทั่ว ตั้งแต่ร่างกายแน่นมัดกล้ามของผู้ชาย ไปนจนถึงมอเตอร์ไซค์และเครื่องบินรบขับไล่ที่มีรูปทรงแบบเดียวกับลึงค์ เครื่องบินที่อยู่จุดสูงสุด แข็งแกร่งที่สุด รวดเร็วที่สุดและอดทนที่สุดในสหรัฐอเมริกา และอาจจะในโลก ในขณะเดียวกันพวกเขา (หรือพวกเรา? ที่หมายถึงผู้เขียนเอง) ก็ได้ยืนยันในอุดมการณ์มนุษย์นิยมวินเทจ ที่เชื่อมั่นในมนุษย์มากกว่าเทคโนโลยี เชื่อมั่นในประสบการณ์แบบเก่ามากกว่าการเรียนรู้ เชื่อมั่นในสิ่งเก่ามากกว่าสิ่งใหม่ และจบลงด้วยการ ‘กู้โลกให้เด็กมันดู’ แม้หนังจะลงเอยที่การยอมรับกันและกันของคนสองรุ่น แต่หนังก็เล่าว่าเป็นเด็กๆ ต่างหากที่ต้องเปิดใจให้กัปตันสุดเท่ของเขาที่สามารถขับเครื่องบินรบโบราณพาเขาหนีตายมาได้ แถมหนังยังพยายามทำตัวทันสมัยด้วยการเปิดรับความหลากหลายทางเพศและชาติพันธุ์ ทีมท็อปกันจึงมีทั้งผู้หญิง คนผิวสี คนละติน คนเอเซีย แต่แน่นอนว่าสูงสุดในหมู่คนสูงสุดย่อมคือชายผิวขาวหน้าตาดีกล้ามแน่น จนลืมไปเลยว่าเขากำลังเข้าสู่โหมด ‘ผู้สูงอายุ’ ไปแล้ว 

นี่คือหนังที่ออกแบบมาสำหรับคนรุ่นเรา เหล่าเจนเอกซ์และบูมเมอร์ส แต่นี่คือหนังที่เราอยากให้เด็กๆ ได้ดูด้วยเพื่อที่จะได้เข้าใจอาการฝัน/ฝันค้าง/ฝันเปียกในโลกความบันเทิงอเมริกันแบบเก่า การทำความเข้าใจอุดมการณ์แนวคิดที่แทบไม่มีอะไรเหมือนคนรุ่นถัดมา (หรือถ้าจะกล่าวอีกทางหนึ่งอาจจะบอกว่าเหมือนกันมากๆ แต่ในวิถีทางที่ต่างกันสุดขั้ว) เรียนรู้เพื่อที่จะอธิบาย ต่อต้าน หรือท้าทายมันในอนาคต อนาคตที่อาจจะมาเร็ว และมาแล้ว จนทำให้หนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาในฐานะที่มั่นสุดท้ายของชายที่กำลังสูญเสียตัวเอง เพราะจริงๆ ‘ไม่ใช่วันนี้’ ของ มาเวอริค อาจจะไม่ใช่พรุ่งนี้ แต่มันอาจจะเป็นเมื่อวานก็ได้ 

Kotaro Lives Alone โคทาโร่ไม่ได้อยู่เพียงลำพังเพียงลำพัง

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นในวันธรรมดาวันหนึ่งที่ห้างค้าปลีก เด็กชายวัยอนุบาลคนหนึ่งเลือกซื้อกระดาษทิชชู่ตามลำพัง ไม่ใช่เรื่องแปลกนักในประเทศที่เคยมี Old Enough รายการติดตามเด็กน้อยไปจ่ายตลาดตามคำสั่งของผู้ใหญ่ออกอาการให้ดูเมื่อหลายปีก่อน หากจะมีอะไรที่ดูแปลกไปก็คงจะเป็นท่าทางของเจ้าหนูที่ดูจะพิถีพิถันในการเลือกคุณภาพกระดาษเกินธรรมดากับคำพูดคำจาที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินตัว เด็กชายออกจากห้างพร้อมกล่องกระดาษทิชชู่ใส่ถุงเต็มสองมือ

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งที่เพื่อนผู้ทำงานในหน่วยงานพัฒนาเยาวชนเล่าให้ผมฟัง เขาบอกว่าถ้าเจอเด็กที่ “ดูแก่เกินวัย” ให้ตั้งใจสังเกตเอาไว้ดีๆ ยิ่งปูมหลังของเด็กคนนั้นยากลำบาก ความแก่กร้านของเด็กก็ยิ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัด

เด็กชายเคาะประตูอพาร์ตเมนต์ของคาริโนะ นักเขียนการ์ตูนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ห้องข้างๆ เด็กชายโค้งคำนับ ส่งกระดาษทิชชู่ที่บรรจงเลือกมาเป็นของขวัญแก่เพื่อนบ้านคนใหม่ด้วยมารยาทอันดี พร้อมแนะนำตัวว่าชื่อซาโต โคทาโร่ จากนี้ไปจะเป็นเพื่อนบ้านของพวกเขา

ด้วยภาษาและสำเนียงของขุนนางโบราณ

เจ้าเด็กคนนี้คงลำบากมามากทีเดียว

Kotaro Lives Alone เป็นแอนิเมชั่นซีรีส์ที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนตลกชื่อเดียวกัน (ชื่อตามภาษาต้นทางคือ Kotarō wa Hitori Gurashi – โคทาโร่อาศัยอยู่ตามลำพัง) จากปลายปากกาของมามิ ทสึมุระ ตีพิมพ์ตอนแรกในนิตยสารการ์ตูนรายปักษ์ Big Comic Superior ฉบับเดือนมีนาคมปี 2015 เรื่องราวของมันว่าด้วยบรรดาผู้คนที่และสิ่งละอันพันละน้อยที่อยู่รายรอบตัวโคท่าโร่ เด็กชาย 4 ขวบผู้มีบุคลิกล้ำเกินวัย เขาพูดจาด้วยสำนวนของชนชั้นสูง ใส่ใจกับมารยาทพิธีรีตอง ใส่ใจกับการดูแลรูปลักษณ์จนถึงขั้นหมกมุ่น แสดงอารมณ์น้อยเกินเด็กอนุบาลทั่วไป และอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์หนึ่งห้องนอนหนึ่งห้องน้ำตามลำพัง ไร้วี่แววของพ่อแม่ผู้ปกครอง

ทั้งคนดู คาริโนะและผู้อาศัยรายอื่นๆ ในอพาร์ตเมนต์ต่างเข้าใจได้ในทันทีว่าโคทาโร่ไม่ธรรมดา เมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไปอีกสักหน่อย เราก็จะได้พบความจริงว่าความไม่ธรรมดาของเด็กชายโคทาโร่มันดูสมจริงเอามากๆ โดยเฉพาะเมื่อเราเริ่มตระหนักได้ว่าวัตถุดิบของการ์ตูนเรื่องนี้คือเรื่องที่ไม่ตลกเอาเสียเลยอย่างปัญหาการละเลยทอดทิ้งเด็ก หนึ่งในปัญหาใหญ่ของหลายประเทศที่มีปัญหาเรื่องความวิตกของประชากรที่มีต่อความมั่นคงในชีวิต

สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในปี 2021 มีการแจ้งเหตุละเลยทอดทิ้งเด็กถึง 8,270 ครั้ง ส่วนในไทย กองทุนเพื่อความเท่าเทียมทางการศึกษาพบว่าในปีการศึกษา 2561 (ปี 2020) มีเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือเด็กกำพร้าถึง 15,173 คน (จากจำนวนเด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษากว่า 3.62 ล้านคน) และในรายงานเดียวกันนี้พูดถึงสาเหตุของการทอดทิ้งเด็ก ได้แก่ การขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดู ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และความพิการโดยกำเนิดของเด็ก

ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุใดมาจากตัวเด็กเอง

จึงอาจพูดได้ว่าเด็กอย่างโคทาโร่นั้น ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงในชีวิตของพวกเรานัก เขาอาจไม่ใช่เด็กคนเดียวที่คุณรู้จักในฐานะเด็กที่ไม่มีพ่อแม่คอยดูแลอย่างที่ควรจะเป็น โคทาโร่ไม่ได้อยู่ตามลำพังตามลำพัง

วิธีการนำเสนอของ Kotaro Lives Alone ไม่มีอะไรหรือหวา ออกจะธรรมดาค่อนไปทางจำเจ โครงสร้างของแต่ละตอนมักจะเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ปกติธรรมดาในชีวิตอย่างการดูโทรทัศน์ ทานอาหาร ไปโรงเรียน พูดคุยเรื่องราวทั่วไปกับเพื่อนบ้าน (ซึ่งมักจะเป็นคาริโนะที่อยู่ห้องข้างๆ) ก่อนจะตบมุกด้วยพฤติกรรมเหนือการคาดเดาของโคทาโร่ และคลี่คลายเหตุการณ์พร้อมกับเผยเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังความประหลาดของเด็กชายออกมาทีละนิด มีเพียงสิ่งนี้ที่เหนือความคาดมหายและประคองให้ผมอยู่กับเรื่องราวของโคทาโร่ไปได้เรื่อยๆ ราวกับถูกจูงให้สังเกตอากัปกิริยาของโคทาโร่ที่มีต่อสิ่งต่างๆ และค้นพบว่าพฤติกรรมกร้านโลกกร้านลมของเขานั้นล้วนตั้งอยู่บนความไร้เดียงสาแบบเด็ก และความพยายามอย่างยิ่งที่จะหนีให้พ้นความเดียวดาย แม้จะต้องเลือกวิถีทางที่ต้องอยู่ตามลำพังก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น ในตอนหนึ่งคาริโนะไขปริศนาความจู้จี้เรื่องกระดาษทิชชู่ของโคทาโร่ได้จากการสัมภาษณ์ประสบการณ์วัยเด็กของคนในโทรทัศน์ ผู้ชายในทีวีเล่าว่าตอนเด็กๆ เขาเคยถูกทิ้งให้ต้องกินกระดาษทิชชู่เพื่อประทังความหิวโหย เขาจำได้ว่ากระดาษทิชชู่มีรสหวานอ่อนๆ คำพูดนี้ทำให้คาริโนะนึกถึงคำของโคทาโร่ที่เคยพูดออกมาว่ากระดาษทิชชู่ที่ราคาสูงมักจะ “หอมหวาน” เรื่องของกระดาษทิชชู่ไม่เคยหลุดไปจากใจของโคทาโร่เลย แม้ว่าทุกวันนี้เขาจะไม่ลำบากเรื่องการหุงหาอาหารกินด้วยตัวเองแล้ว

หรือตอนที่ว่าด้วยพฤติกรรมการรับหนังสือพิมพ์วันละ 5 หัวของเด็กชาย สิ่งนี้สะกิดใจคนส่งหนังสือพิมพ์หน้าใหม่เกิดสงสัยว่าทางหนังสือพิมพ์กำลังหลอกขายบริการให้กับเด็กที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวหรือเปล่า จนได้รับความกระจ่างจากโคทาโร่ในภายหลังว่าเขาจงใจรับหนังสือพิมพ์จำนวนมากเหล่านั้นเอง และหากวันใดที่คนส่งหนังสือพิมพ์พบว่ามีหนังสือพิมพ์เป็นสิบฉบับเสียบอยู่หน้าประตูโดยไม่มีใครแตะต้อง ก็ขอให้เข้าใจเอาไว้ว่าเขากำลังตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินจนไม่อาจออกมาเก็บหนังสือพิมพ์ได้ ขอรบกวนให้คนส่งหนังสือพิมพ์ไปตามคนมาช่วยเขาด้วย

ทั้งสองตอนที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ จากหลายเรื่องราวที่ถูกนำเสนอใน Kotaro Lives Alone ที่สนับสนุนข้อสังเกตเรื่องเด็กที่เผชิญกับความยากลำบากตั้งแต่เล็ก แท้จริงแล้วพฤติกรรมเหนือสำนึกปกตินั้นมาจากสิ่งที่เป็นปกติมากๆ นั่นคือการพยายามเอาตัวรอดทุกวิถีทางที่ทำได้ ในกรณีของโคทาโร่ วิธีเอาตัวรอดของเอาอิงมาจากวิธีการจริงๆ ของคนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว (การรับหนังสือพิมพ์เป็นวิธีการที่นิยมมากในหมู่ผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการอยู่คนเดียว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ) มองในแง่ร้ายกว่านี้สักหน่อย ถ้าเรื่องนี้ไม่อยู่ในกรอบของการ์ตูนตลก ก็มีความเป็นไปได้ที่เด็กชายจะเลือกเอาตัวรอดด้วยวิธีการที่เป็นปัญหากว่านี้ เช่นการก่ออาชญากรรมเล็กๆ อย่างการหลอกลวงหรือขโมยข้าวของ

โชคดีของโคทาโร่ เขาอยู่ในการ์ตูนตลก อยู่ในฐานะที่ยังเลือกเข้ารับการศึกษาตามปกติได้ ไม่มีปัญหาด้านการเงิน และผู้คนที่อยู่รายรอบตัวเขาเป็นคนที่จิตใจดี (หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นคนไม่ดีที่กลับใจได้) เรื่องราวของเขาจึงเป็นการรับ – ส่งลูกบอลทางความคิดกับคนอื่นๆ เกี่ยวกับความโดดเดี่ยวและความเข้มแข็งที่ใช้ยืนหยัดเพื่อตัวเองอยู่ตลอดเวลา โคทาโร่จึงไม่ได้มีชีวิตอยู่อย่างเดียวดาย แม้ว่าเขาจะอาศัยอยู่คนเดียว

สิ่งที่อาจจะเป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของเรื่องนี้คือการที่แทบทุกคนในเรื่องมองเห็นไปในทางเดียวกันว่าโคทาโร่ควรได้กลับไปอยู่กับพ่อแม่ ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้ปกครองคนแรก เป็นบ้านที่เด็กชายหวังอย่างยิ่งที่จะกลับไปหาเมื่อเขาพร้อม และเป็นทั้งต้นเหตุแห่งบาดแผลที่ฝังลึกอยู่ในใจเด็กชาย ความเห็นใจที่มีต่อโคทาโร่มักจะมาพร้อมกับความกังขาที่ว่าการได้กลับไปอยู่กับคนที่ทำให้เขาหวาดกลัวและหนีออกมาแต่แรกนั้นดีจริงๆ แล้วหรือ ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกว่าอีกอย่างที่ผู้ใหญ่อย่างเราควรทำเพื่อเด็กคือสร้างโลกที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย รู้สึกแปลกแยกน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าเด็กๆ จะต้องอาศัยอยู่กับใครหรือไม่อยู่กับใครเลยก็ตาม แต่หากจะมองว่ามันเป็นการขับเน้นให้เราตระหนักว่าการป้องกันปัญหาการทอดทิ้งเด็กนั้นควรเริ่มที่ครอบครัวก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด

บนโลกยังมีเด็กอย่างโคทาโร่อีกมากมาย ขณะที่พวกเขาพยายามมีชีวิตอยู่รอดให้ได้ตัวเอง พวกเขาก็อยู่ร่วมกับเราในสังคมนี้ด้วย ต่อให้คุณไม่ใช่คนรักเด็กอะไรนักก็น่าจะพอมองเห็นว่าปัญหาการทอดทิ้งเด็กนั้นไม่ใช่แค่ปัญหาที่ครอบครัวจะต้องรับผิดชอบอยู่ฝ่ายเดียว แม้ว่าเด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้งจะไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดโดยไม่สนวิธีการ ไม่มีอะไรรับประกันว่าวิธีการของพวกเขาจะไม่เป็นปัญหา 

และไม่มีอะไรรับประกันว่าปัญหานั้นจะไม่ตกมาถึงคุณ ถึงเรา ถึงทุกคน

โคทาโร่ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง อย่าให้เขาอยู่เพียงลำพัง


ดู Kotaro Lives Alone ได้ที่ Netflix


อ้างอิง

https://www.tcijthai.com/news/2015/08/scoop/5269

https://mainichi.jp/english/articles/20220203/p2a/00m/0na/007000c#:~:text=There%20were%2019%2C185%20physical%20abuse,than%20in%20the%20previous%20year.

https://research.eef.or.th/orphans-in-thailand-education-system/

“ฉันเชื่อว่าสิ่งที่ส่วนตัวที่สุดกับสิ่งที่การเมืองที่สุดนั้นสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก” รู้จัก ออเดรย์ ดิวาน ผกก. สิงโตทองคำที่เตรียมนั่งเก้าอี้รีเมค Emmanuelle

ออเดรย์ ดิวาน (Audrey Diwan) เป็นชื่อที่อาจจะยังไม่คุ้นหูคนทั่วไปมากนัก แต่ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส-เลบานีส เจ้าของรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิซปีล่าสุดกับ Happening (2021) หนังเกี่ยวกับการทำแท้งผิดกฎหมายในฝรั่งเศสยุค 60s ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงขึ้นมา ทั้งเพราะหนังกำลังทยอยเข้าโรงพร้อมกันในหลายประเทศ และเพราะดันเข้าฉายในอเมริกาสัปดาห์เดียวกับที่มีความเห็นจากศาลสูงสหรัฐอเมริการั่วออกมาว่าอาจมีการกลับแนวคำพิพากษา Roe v. Wade ในปี 1973 ที่ว่าผู้หญิงมีสิทธิเลือกยุติการตั้งครรภ์

เมื่อบอกว่าเป็นหนังเกี่ยวกับการทำแท้งผิดกฎหมาย หลายคนจึงนึกถึงหนังรางวัลปาล์มทอง 4 Months, 3 Weeks and 2 Days (2007, Cristian Mungiu) กับหนังรางวัลอินดีสปิริต Never Rarely Sometimes Always (2020, Eliza Hittman) และตั้งคำถามว่าเรื่องนี้จะต่างจากทั้งสองเรื่องยังไง ไปจนถึงว่าจะยังทำประเด็นนี้อยู่อีกทำไมในเมื่อฝรั่งเศสก็มีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้มาตั้งแต่ปี 1975 (ซึ่งคือ 12 ปีหลังจากเจ้าของนิยายต้นฉบับของ Happening ผ่านการทำแท้งแบบผิดกฎหมาย) แต่แม้การทำแท้งในฝรั่งเศสจะไม่ผิดกฎหมายแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นแบบนั้นทั่วโลกหรือเป็นแบบนั้นตลอดไป

ดิวานให้คำตอบชัดเจนว่า “ฉันตอบเขาไปว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นฉันก็หวังว่าคุณจะพูดแบบเดียวกันกับคนทำหนังคนอื่นที่อยากทำหนังเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วกัน … ดูสิว่าผู้หญิงมากมายแค่ไหนที่ต้องตายในสมรภูมินั้น แล้วบอกฉันที่ว่ามันไม่ใช่สงคราม นี่คือสงครามที่ไร้สุ้มเสียง” เธอว่า

“เราต่างรู้ว่าเมื่อผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำแท้งแบบถูกกฎหมาย พวกเธอก็จะไปทำแท้งแบบผิดกฎหมาย แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่ยังคงเกิดขึ้น แต่คำถามเดียวคือ ในฐานะมนุษย์ เราจะยินยอมให้ผู้หญิงก้าวผ่านความเจ็บปวดมากมายขนาดไหนกัน”

แม้ Happening จะพูดเรื่องที่เป็นสากลจนดูเหมือนจะเป็นแถลงการณ์ทางการเมืองหรือวิพากษ์เรื่องศีลธรรม แต่อันที่จริงแล้วหนังพูดเรื่องที่ส่วนตัวมากๆ เพราะเธอเองเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ผ่านการทำแท้งมาก่อน ดิวานพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอจนเมื่อสามปีที่แล้วมาเจอหนังสือปี 2001 ของแอนนี่ เออร์โนซ์ (Annie Ernaux) นักเขียนที่เธอชื่นชอบ แต่นี่เป็นเล่มที่เธอไม่รู้จักและไม่ค่อยถูกพูดถึงโดยสื่อในฝรั่งเศส

ดิวานมองว่าหนังสือเล่มนี้คือทริลเลอร์ที่มีความเป็นส่วนตัว และเธอก็อยากทำให้หนังออกมาเป็นทริลเลอร์จริงๆ เพราะสำหรับตัวละครแล้ว ทุกนาทีคือการนับถอยหลังและเธอต้องหาทางออกให้ทันท่วงที นอกจากนั้นดิวานยังรักที่ตัวละครตัดสินใจไปแล้วตั้งแต่เริ่มเรื่องว่าจะทำแท้ง ฉะนั้นนี่จึงไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่คือการทำมันให้สำเร็จเพื่อจะสามารถเดินไปสู่เส้นทางที่ตัวเองปรารถนา

Audrey Diwan

“นี่ไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับการทำแท้งผิดกฎหมาย นี่เป็นหนังสือเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้ที่ฉันรักและวิธีที่เธอพูดถึงแรงปรารถนาทางเพศและความต้องการที่จะมีความรู้ในขณะที่กำลังเธอผันตัวเองจากชนชั้นแรงงานไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อหาที่ทางของตัวเองบนโลกใบนี้ และเพื่อที่จะเดินบนเส้นทางนั้น เธอจึงต้องไปทำแท้งผิดกฎหมาย” ดิวานย้ำนักย้ำหนาว่า แม้เราจะพยายามปกปิดมันไว้ แต่ความต้องการคือส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ “ทำไมเราถึงต้องอับอายกันล่ะ ฉันคิดว่าความสุขสมมันงดงาม ส่วนความอับอายของเราเป็นผลผลิตของสังคม”

หลังจาก Happening เข้าฉายในอเมริกาไม่นาน ก็มีการประกาศออกมาที่คานส์ว่า จะมีการรีเมค Emmanuelle นิยายและหนังอีโรติกสุดฉาวจากยุค 60s-70s โดยมีดิวานรับหน้าที่ผู้กำกับ และเลอา เซดูซ์ นำแสดง ดิวานเล่าว่าโปรเจ็กต์ใหม่ที่จะเป็นหนังภาษาอังกฤษเรื่องแรกของเธอนี้ก็เป็น ‘เรื่องราวที่เล่าผ่านร่างกาย’ เช่นเดียวกับ Happening

นิยายอีโรติกเลื่องชื่อนี้ประพันธ์โดยนักเขียนชาวไทย-ฝรั่งเศส นามปากกา เอ็มมานูเอล อาร์ซ็อง (ชื่อเดิม มารยาท กระแสสินธุ์) ตีพิมพ์ในปี 1959 เล่าเรื่องของหญิงสาวที่ติดตามสามีมาทำงานที่เมืองไทยและการผจญภัยทางเพศอันโลดโผนของเธอกับชายหญิงมากหน้าหลายตาในกรุงเทพมหานคร ถูกสร้างเป็นหนังซอฟต์คอร์ที่ถ่ายทำในเมืองไทยมาแล้วในปี 1974 โดยผู้กำกับ ฌุสต์ แฌ็คแค็ง นำแสดงโดย ซิลเวีย คริสเตล หนังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเรื่องท่าทีแบบแฟนตาซีของลัทธิจักรวรรดินิยมและการดูถูกเหยียดหยามคนท้องถิ่น (อ่านเกี่ยวกับ Emmanuelle ฉบับแฌ็คแค็งได้ที่ CINEMA NOSTALGIA : EMMANUELLE) ถึงอย่างนั้นก็ขายดิบขายดีจนมีภาคต่อทั้งหนังและซีรีส์ออกมาอีกนับไม่ถ้วน

น่าติดตามว่า ในฐานะผู้กำกับที่เชื่อในเรื่องเสรีภาพและอิสรภาพของเพศหญิง ดิวานจะปั้นหนังไปในทางไหน และยิ่งน่าตื่นเต้นเมื่อทราบว่าเธอจะดัดแปลงบทร่วมกับ รีเบ็คกา ซโลทอวสกี้ (Rebecca Zlotowski) ผู้กำกับและผู้เขียนบท An Easy Girl (2019) หนัง coming-of-age ว่าด้วยฤดูร้อนอันวาบหวามของหญิงสาวแรกรุ่นอายุ 16 ที่เคยฉายในสาย Director’s Fortnight ที่คานส์ รวมถึง Grand Central (2013) และ Dear Prudence (2010) ที่มี เลอา เซดูซ์ แสดงนำ

“มันคือมุมมองแบบผู้หญิงต่อความสัมพันธ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่งมีกับเรื่องทางเพศของตัวเอง” เซดูซ์กล่าวถึง Emmanuelle เวอร์ชันที่เธอกำลังจะนำแสดง “ดิวานบอกฉันว่าเธออยากเล่าเรื่องของผู้หญิงทุกวันนี้ที่เธอพบเห็นและรู้จัก แต่กลับไม่เห็นบนจอหนัง ฉันเข้าใจว่าเธอหมายความว่าอย่างไร”

Wheel of Fortune and Fantasy : รูกลวงที่คล้ายวงล้อแห่งโชคชะตาและฝันหวาน

เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

นานมาแล้ว ระหว่างที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับมิตรสหายนักเขียนท่านหนึ่ง ระหว่างบทสนทนาเรื่องการเขียนวรรณกรรมของเรา มิตรสหายท่านนั้นกล่าวว่า ‘เรื่องบางเรื่องควรเป็นเรื่องเล่ามากกว่า’ เพราะกับบางเรื่องแม้มันจะเกิดขึ้นในชีวิตจริงของเรา หากความเหลือเชื่อ ความบังเอิญ และความมหัศจรรย์ของมัน กลับทำให้มันจริงไม่พอเมื่อถูกเล่า กลายเป็นความประดักประเดิดจนเกือบจะเป็นเรื่องขี้โม้ที่เกินเลยราวกับว่าผู้เล่า เล่าไม่เป็นจนต้องอาศัยความบังเอิญ โชคชะตา พรหมลิขิต มาช่วยผลักให้เรื่องราวเดินไปข้างหน้า

ด้วยการณ์นั้น พรหมลิขิต ความบังเอิญ โชคชะตา หรือจะชื่ออะไรก็ตามที จึงมักถูกทิ้งไว้กลางทางในฐานะเรื่องจริงที่ควรเป็นเรื่องเล่า และเรื่องเล่าที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้ ความคิดเช่นนี้ขยายภาพให้เห็นถึงความคิดเกี่ยวกับชีวิตของเรา ในฐานะของเส้นทางที่ราบเรียบชืดชาน่าเบื่อหน่าย ประกอบขึ้นจากถนนที่มุ่งไป ทัศนียภาพดาดๆ ที่ไม่น่ามอง ชีวิตจริงนั้นน่าเบื่ออึดอัดและเศร้าสร้อย เราจึงต้องไปแสวงหา ชีวิต บุคคล เรื่องเล่าที่แสนพิเศษ จากวรรณกรรม ภาพยนตร์และดนตรีเสียแทน ชีวิตคือความจริงชืดเย็น และความพาฝัน เป็นอุดมคติที่เอาไว้ให้ไปไม่ถึง

หนังเรื่องนี้ประกอบขึ้นจากสิ่งนั้น จากความบังเอิญ โชคชะตา พรหมลิขิต มันว่าด้วย เด็กสาวคนหนึ่งที่ ‘บังเอิญ’ พบว่าผู้ชายที่กำลังจีบเพื่อนของเธออยู่คือคนรักเก่าของเธอ เธอรู้สึกเหมือนของหายอยากได้คืนแม้จะเป็นฝ่ายทิ้งเขาอย่างไม่ใยดี เรื่องต่อมาว่าด้วยสาววัยทำงานที่เพิ่งกลับมาเรียนหลังจากมีลูก ชู้รักของเธอเป็นนักเรียนที่ลงเรียนคลาสเดียวกับอาจารย์ของเธอและโดนไล่ออกเพราะตกวิชาของเขา ชายหนุ่มขอร้องให้เธอแก้แค้นด้วยการไปยั่วยวนอาจารย์คนนี้ที่เพิ่งได้รางวัลและหวังทำลายชื่อเสียงของเขา แต่ ‘โชคชะตา’ ทำให้เธอกับเขาเปิดใจกัน และความบังเอิญพลิกมันไปอีกทาง เรื่องสุดท้ายเกิดขึ้นในอนาคต เล่าออกมาราวกับเป็น ‘พรหมลิขิต’ ของหญิงสาววัยกลางคนสองคนที่พบกันบนถนน ต่างคนต่างคิดว่าอีกฝ่ายคือเพื่อนสาววัยมัธยม รักแรกที่ลอยลับไปเนิ่นนาน ต่างพูดคุยเปิดเผยจิตใจต่อกันอย่างงดงามท่ามกลางความแปลกหน้าที่เชื่อมต่อกันด้วยรูกลวงในหัวใจที่ไม่มีวันถมเต็ม

นอกจากการหมุนไปของวงล้อแห่งโชคชะตา เรื่องสั้นสามเรื่องไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกัน ตัวละครคนละชุด สถานการณ์คนละแบบ แต่หากมองอย่างใกล้ชิดเข้ามาอีกนิด เราอาจเล่าเรื่องทั้งสามนี้ใหม่ภายใต้โครงสร้างเดียวกันได้ว่านี่คือเรื่องของตัวละครหญิงที่พกพาความเป็นคนนอก คนชายขอบ บุกเข้าไปในสมดุลความสัมพันธ์แบบต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งอาจจะพูดอีกแบบว่าความสัมพันธ์ในโลกแบบชายเป็นใหญ่ก็ได้ พวกเธอรื้อถอนมัน ทำให้มันสั่นคลอน จ้องมองและล้อเล่นกับมันจากมุมมองของคนนอก จวนเจียนจะทำลายล้าง หากพวกเธอก็สั่นคลอนด้วยเช่นกัน บางคนพ่ายแพ้เจ็บปวด บางคนได้เรียนรู้โมงยามที่ดีที่สุดในชีวิต ความบังเอิญเล่นตลกกับพวกเขาและเธอ ทั้งหยิกข่วนและโอบกอด

เราจึงเล่าใหม่ได้แบบนี้ นี่คือเรื่องของ ‘นางตัวร้าย’ ที่บุกเข้าไปหาคนรักเก่าเพราะเขากำลังจะเริ่มความสัมพันธ์ใหม่กับหญิงอื่นที่ไม่ใช่เธอ ทั้งคู่พูดคุยกันยาวนาน รื้อค้นเข้าไปในปากแผลของกันและกัน เปิดมันออกดูทุกร่องรอยการทิ่มแทง ความเจ็บปวดที่ต่างฝ่ายต่างปรารถนา แต่ไม่มีแรงมากพอจะใช้จ่ายชีวิตไปกับมัน ในขณะเรื่องที่สอง พูดถึง ‘หญิงมากรัก’ ที่บุกเข้าไปในสมดุลแห่งความโดดเดี่ยวของอาจารย์วรรณกรรมคนเงียบเหงา คนที่่ยอมรับแล้วว่าตัวเองจะโดดเดี่ยวไปตลอดกาล เธอตั้งใจจะล่อลวงเขาแต่กลับพบว่าเป็นเขาต่างหากช่วยทำให้เธอเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งเป็นครั้งแรก ขณะที่เรื่องสุดท้าย พูดถึง ‘หญิงสาวรักเพศเดียวกัน’ ที่บุกเข้าไปในครอบครัวรักต่างเพศตามขนบของผู้หญิงที่เธอคิดว่าคือคู่รักที่จากกันไปนานของเธอ ทั้งคู่พูดคุยกันและต่างค้นพบความรู้สึกเก่าแก่ส่วนตัวที่ถูกกลบฝังไว้ข้างใน ถูกชีวิตกีดกันออกไป ความโดดเดี่ยวที่คนรักไม่อาจเข้าใจ มีแต่คนแปลกหน้าที่มีรูกลวงเช่นเดียวกันจึงเข้าใจกันได้ 

เราจึงบอกได้ว่ามันเป็นเรื่องของ นางร้าย / หญิงคบชู้ / สาวเลสเบี้ยน ที่เข้าไปสั่นคลอนความสัมพันธ์ของ คู่รักใหม่ / คนโสด ในกรอบศีลธรรมและครอบครัวมาตรฐานตามลำดับ 

แต่นี่ไม่ใช่หนังการเมืองที่เป็นเรื่องของภาพแทน ตัวละครของ Ryusuke Hamaguchi คือภาพเฉพาะของปัจเจกแต่ละบุคคล ซึ่งนอกจากจะถูกกำหนดโดยตัวเองและการเมืองแล้ว ยังถูกกำหนดด้วยโชคชะตาอีกชั้นหนึ่ง และนี่คือการดิ้นรนอย่างงดงามของพวกเขาภายใต้สิ่งเหล่านั้น 

แม้ผู้ชมชาวไทยจะรู้จัก Hamaguchi จากหนังเรื่อง Drive My Car ที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Haruki Murakami ออกฉายในปีเดียวกัน ได้รับรางวัลจากคานส์ และออสการ์ หากเมื่อเทียบกันแล้ว Wheel of Fortune and Fantasy แทบไม่มีอะไรเหมือนกันกับ Drive My Car ด้วยโปรดักชั่นที่เล็กกว่ามาก ในแต่ละตอนมีนักแสดงเพียงสองหรือสามคน เหตุการณ์เกิดขึ้นในสถานที่ไม่กี่ฉาก และปราศจากพล็อตแบบ Murakami 

นี่คืองานแบบ Hamaguchi ที่แฟนๆ ของเขาคุ้นเคย ตัวละครหลักโดยมากเป็นผู้หญิง เต็มไปด้วยบทสนทนายืดยาว หลายต่อหลายครั้งหนังแทบให้ตัวละครพูดคนเดียว ตัวละครจ้องมองมาที่กล้องเพื่อเล่าเรื่อง เล่าเรื่องออกมาเฉยๆ โดยไม่เกี่ยวอะไรกับเส้นเรื่องหลัก ราวกับเหล่าตัวละครมีชีวิตอยู่ข้างนอกหนัง พวกเขาอาจจะเดินผ่านเข้าในกล้อง ในเรื่องที่หนังเล่าเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ตัวละครเหล่านี้มีชีวิตเป็นของตัวเองอยูในโลกข้างนอกหนังเรื่องนี้ด้วย ผู้ชมได้รับอนุญาตให้เห็นเพียงส่วนเดียวของชีวตทั้งหมด เฝ้ามองโดยไม่อาจตัดสินให้คุณค่าการกระทำไม่ว่าจะหมิ่นเหม่มากแค่ไหนก็ตาม 

ลองมาไล่ดูกันไปทีละเรื่อง ในเรื่องแรก หนังฉายส่องลงไปในภาวะครึ่งกลางของการยังลืมคนเก่าไม่ได้ และคนใหม่ยังไม่ได้มาแทนที่ ตัวละครหลักคือคนเก่าที่พยายามจะเรียกคืนคนรักเก่าของตัวเอง ฉากที่งดงามที่สุดในฉากนี้คือการตั้งใจมองกลับไปยัง ‘นางร้าย’ ด้วยสายตาที่จ้องมองมนุษย์ ความกดดันทางเพศของเธอ ความเอาแต่ใจของเธอ และ ความ ‘ไม่อาจเชื่อมั่นได้’ ของเธอ 

ทำไมเธอต้องคอยทำร้ายฉันด้วย

เพราะความรักล่ะมั้ง …ตอนฉันยังเด็ก ฉันชอบทำร้ายเด็กผู้ชายที่ฉันชอบ

เธอบอกกับเขาให้เขาเลือกเธอ แต่ถ้าเขาเลือกเธอ เขาก็อาจจะไม่ได้เธอก็ได้ เขาอาจจะเสียทั้งเธอและหล่อนไป เขาจะเลือกสิ่งที่เชื่อมั่นได้น้อยกว่า ‘เวทมนตร์’ ที่เขาได้พบในโมงยามที่เขาอยู่กับผู้หญิงอีกคนหรือเปล่า ในฉากนี้ดูเหมือนสิ่งเดียวที่เธอมีคือ ‘ความซื่อสัตย์’ ต่อตัวเอง เธออาจจะเป็นคนไม่ได้เรื่อง เป็นคนที่ทำตัวเป็นเจ้าหญิง แต่สิ่งที่เธอมีให้คือความซื่อตรงกับสิ่งที่ตัวเองไม่ว่าจะได้รับผลอย่างไร จนครั้งเดียวที่เธอไม่ได้ทำตามใจตัวเองซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกที่ไม่ทำเสียด้วยซ้ำ คือการตัดสินใจในฉากสุดท้ายของหนัง 

ในขณะที่เขาเป็นชายหนุ่มที่เพิ่งฟื้นไข้จากการซมพิษรักเก่าอยู่หลายปี หนังเล่าถึงตัวเขาในเวลาที่เพียงเพิ่งเริ่มสานความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ตัวเขาเองก็ยังไม่ได้ปักใจ เพียงสนใจผู้หญิงคนที่ไม่มีอะไรเหมือนกันกับคนรักเก่าสักนิด การที่จู่ๆ ถูกคนรักเก่ามาคาดคั้นคำตอบ มาขอให้เลือกระหว่างสิ่งที่เขาตกหลุมรักและสูญเสียไป กับสิ่งที่เขาอาจจะรักแต่ยังไม่ได้เริ่มที่จะรัก จึงกลายเป็นภาพสะท้อนการที่ครั้งหนึ่งเขาเคยคาดคั้นให้เธอตอบเรื่องการที่เธอนอกใจเขา หนังให้เวลากับการกลับไปกลับมาของการตัดไม่ตายขายไม่ขาดในความสัมพันธ์ การมูฟออนหรือย้อนกลับ การทำสิ่งที่ถูกต้องหรือถูกใจ เรื่องตลกคือสิ่งที่ช่วยตัดสินใจไม่ใช่หัวใจแต่คือโชคชะตาเสียอย่างนั้นเอง

ในขณะที่หนังเรื่องแรกพูดถึงความสัมพันธ์ที่ยังไม่ทันเกิดขึ้นดีของชายหญิงคู่หนึ่ง เขาเพิ่งพบเธอครั้งเดียวและยังไม่แน่ใจว่าจะรักเธอหรือเปล่า ร่องรอยของรักครั้งเก่าก็ยังตามมาหลอกหลอนเรื่องที่สองกลับพูดถึงความสัมพันธ์ที่ถ้าเคยเกิดขึ้นก็จบลงไปแล้ว นี่เป็นตอนที่ซับซ้อนที่สุดและในขณะเดียวกันก็งดงามที่สุดด้วย 

หนังเล่าผ่านตัวละครหญิงสาวที่เพิ่งกลับมาเรียนหนังสือหลังจากลูกโต เธอคิดว่าตัวเองไม่เอาไหน ไม่มีเพื่อน แถมยังเป็น ‘หญิงไม่ดี’ เพราะเธอไม่สามารถต้านทานปรารถนาทางเพศของตนจนกลายเป็นชู้รักกับหนุ่มรุ่นน้องในมหาวิทยาลัย ซ้ำยังยินยอมให้เขาหลอกใช้เธอมาแก้แค้นอาจารย์ของเขาที่เพิ่งได้รับรางวัลทางวรรณกรรม และเป็นคนที่ทำให้เขาต้องถูกไล่ออก วรรณกรรมกลายเป็นปรารถนาทางเพศที่ไม่อาจต้านทานยิ่งกว่าเรื่องเพศจริงๆ ในหนัง แผนคือเธอบุกเข้าไปในห้องของอาจารย์ แสดงอาการยั่วยวนด้วยการอ่านออกเสียงบทอัศจรรย์ในนิยายของอาจารย์จากนั้น บันทึกเสียงตอบโต้ที่อาจใช้เป็นหลักฐานว่าอาจารย์เป็นเพียงชายวัยกลางคนหื่นกามเท่านั้น

ถ้าสิ่งที่ฉันเป็น เป็นสิ่งที่ฉันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามันทำให้คนรอบข้างคลื่นเหียน แล้วฉันต้องทำยังไงคะ?

ผมไม่อาจรู้เรื่องที่เกิดกับชีวิตคุณได้หรอกแต่ถ้าหากคนรอบข้างของคุณทำให้คุณคิดว่าคุณไร้ค่า ได้โปรดสู้กลับครับ จงปฏิเสธเวลาที่ไม้บรรทัดของสังคมพยายามจะวัดค่าของคุณ เพราะคุณเท่านั้นที่จะโอบกอดคุณค่าของตัวเอง คุณค่าที่มีแต่คุณเท่านั้นที่รู้ มันอาจจะเจ็บปวดที่ต้องทำโดยลำพัง แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องทำครับ เพราะมีแต่คนที่ทำแบบนี้เท่านั้น ที่จะสามารถเชื่อมต่อและมอบความกล้าหาญให้กับผู้อื่นได้อย่างไม่คาดคิด มันอาจจะไม่เคยเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีใครลงมือทำ มันก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น

การอ่านออกเสียงจึงกลายเป็นเรื่องเพศมากกว่าเรื่องเพศ และด้วยการอ่านออกเสียงนี้ หญิงสาวจึงได้ค้นพบว่าปรารถนาทางเพศที่เธอพ่ายแพ้มาตลอด และปรารถนาในความรู้ ในภาษาสามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ในขณะที่ประตูที่เปิดอ้าตลอดเวลา กลายเป็นภาพแทนของความโปร่งใสในขณะเดียวกันก็เป็นภาพแทนของความสันโดษ​ ความยอมจำนนต่อความโดดเดี่ยวของชายวัยกลางคนที่เชื่อว่าจะไม่มีใครมารักอีกต่อไป ปรารถนาทั้งหมดที่เขามีจึงถูกยักย้ายถ่ายเทจากร่างกายลงไปในตัวหนังสือแทน และการได้เฝ้าฟังการอ่านกลายเป็นการเติมเต็มปรารถนาของเขาที่สุดปลายทางเท่าที่เขาจะสามารถปรารถนาได้ 

คล้ายคนสองคนที่เหมาะเจาะกันที่สุดได้พบกันในช่วงเวลาจังหวะที่ไม่เหมาะเจาะกันที่สุด ยามบ่ายในออฟฟิศที่เปิดประตูไว้จึงคล้ายการได้ร่วมรักกับคนที่ถูกใจ และนอนเล่นพูดคุยอย่างเรียบง่ายงดงาม ใช้จ่ายโมงยามที่ดีที่สุดในชีวิตโดยไม่แม้แต่แตะเนื้อต้องตัวกัน 

เช่นเดียวกันกับยามบ่ายในเรื่องสุดท้าย หญิงสาวกลับมายังบ้านเกิดหลังการระบาดของไวรัสคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ข้อมูลทั้งหมดที่ออนไลน์ถูกเปิดเผย ทำให้ผู้คนต้องกลับไปสู่โลกยุคออฟไลน์กันอีกครั้ง เธอมางานเลี้ยงรุ่นเพราะหวังจะเจอใครคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้พบ ระหว่างทางไปสถานีรถไฟเพื่อกลับบ้านขณะสวนกันบนบันไดเลื่อน เธอพบกับผู้หญิงคนหนึ่ง ใบหน้าที่คุ้นเคยในฝูงชน คนที่เธอมาเพื่อตามหา หญิงสาวอีกคนต้องกลับบ้านไปรอของจากไปรษณีย์ ทั้งคู่จึงกลับไปดื่มชาด้วยกัน ก่อนจะพบว่าบางทีอีกคนอาจจะไม่ใช่คนที่ตนคิดตั้งแต่แรก 

หนังจึงกลายเป็นเรื่องคนแปลกหน้าที่เปิดใจให้แก่กันได้ง่ายที่สุด หนังกลายเป็นหนังแบบ Hamaguchi ที่คุ้นเคยเต็มที่ ตัวละครมีบทพูดยืดยาวต่อหน้ากล้อง เล่าเรื่องของตัวเองออกมาราวกับทั้งพูดกับอีกฝ่าย และพูดกับผู้ชมไปพร้อมๆ กัน หนังเล่าถึงคนสองคนที่เป็นเหมือนขั้วตรงข้าม คนหนึ่งโดดเดี่ยว และสุขและทุกข์ในความโดดเดี่ยวนั้นโดยมีการครุ่นคำนึงถึงอดีตของตนเป็นทั้งเครื่องประโลมใจและเครื่องลงทัณฑ์ อีกคนอยู่กับครอบครัว ทุกข์และสุขในครอบครัวสามัญแบบนั้น สูญสิ้นตัวตนก่อนเก่าให้กับปัจจุบันเชื่องช้า 

แต่ฉันไม่ได้มาที่นี่เพราะต้องการอะไรจากเธอหรอกนะ ฉันแค่อยากจะบอกเธอว่าฉันพูดมันออกมาไม่ได้ ต่อให้มันทำให้เธอทุกข์ทรมาน ฉันก็ไม่อาจพูดมันออกมา ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าความเจ็บปวดน่ะ มันจำเป็นต่อชีวิตของเรา ฉันเดาว่าตอนนี้เธอคงมีรูกลวงอยู่ในชีวิต เหมือนกันกับฉัน ฉันก็เลยมาที่นี่

รูกลวงงั้นเหรอ?

เธอคงจะมีรูกลวงที่ไม่อาจมีสิ่งใดมาถมให้มันเต็มได้ ไม่มีทางที่ฉันจะถมมันให้เต็มได้ด้วย ฉันเองก็มีรูกลวงแบบเดียวกันกับเธอ บางทีเราอาจจะเชื่อมต่อกัน ผ่านรูกลวงนั้นก็เป็นได้ ฉันมาเพื่อจะบอกเธอเรื่องนี้แหละ

การได้พบกันจึงคล้ายกลายเป็นการปลุกชีวิตที่เคยหลับไหลให้ฟื้นตื่นอีกครั้ง การสลับกันรับบทเป็นอีกคน เป็นทั้งการสารภาพบาปและการพบเพื่อนเก่า การที่ทั้งคู่ได้พบว่า ไม่ว่าจะเลือกอย่างไรชีวิตก็ไม่ได้มอบความสงบสุขให้อยู่ดี ถึงที่สุด คนทุกคนต่างมีรูกลวงในหัวใจบางอย่างที่ไม่มีวันถมเต็ม การพยายามถมเต็มรูกลวงรังแต่จะทำให้การดำรงคงอยู่ของมันปรากฏชัดขึ้น การมองมันในฐานะ ‘ความขาด’ ทำให้มันขาดมากขึ้นแต่ถ้ามองในฐานะ ‘ทางเชื่อม’ เราก็อาจจะพบหนทางในการเชื่อมต่อกับผู้คนที่ต่างมีรูกลวงเหมือนกัน และการยืนยันเช่นนั้นก็ทำให้ย้อนกลับไปคิดถึง การยืนหยัดต่อต้านมาตรฐานทางสังคมที่กดทับเราลงมา ส่งมอบพลังต่อต้านนี้ให้กับผู้คนอื่นๆ ดังที่อาจารย์ในตอนที่สองได้พูดไว้ และหญิงสาวในตอนแรกได้ทดลองทำมันจริงๆ เจ็บปวดพ่ายแพ้ กลายเป็นทั้งนางอิจฉาและคนเสียสละ 

ในแง่หนึ่งหนังสามเรื่องเลยเชื่อมต่อกันผ่านรูกลวงนี้ โดยมีวงล้อแห่งโชคชะตาคอยเล่นตลกกับชีวิตตลอดเวลา 

ดูเหมือนโชคชะตาในหนังสามเรื่องนี้จะมีไว้เล่นตลกกับชีวิต มันมักทำให้สมดุลดั้งเดิมต้องพลิกคว่ำคะมำหงาย มันบอกว่าถึงเราจะพยายามกำหนดชีวิตขนาดไหน เราก็ไม่อาจได้ตามที่เราปรารถนา ถึงที่สุดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดา ชีวิตคือสิ่งที่เรากำหนดเองส่วนหนึ่ง ความฝันหวานของเราส่วนหนึ่งและโชคชะตาอีกสองส่วน แต่หนังก็ไม่ได้บอกให้เรายอมจำนนต่อมันสักนิด หนังบอกให้เรากอดคนอื่นให้แน่นขึ้น เชื่อมต่อเข้าหากัน ผ่านทางการยอมรับว่าทุกคนก็มีรูกลวงเช่นนี้ในจิตใจ ถ้าเราเข้มแข็งพอจะเข้าใจคนอื่นๆ ไม่ว่าโชคชะตาจะเล่นงานเราอย่างไร เราก็จะผ่านมันไปได้ 

หญิงสาวยกกล้องขึ้นถ่ายภาพเมือง หญิงสาวจูบคนที่ทำชีวิตเธอพัง หญิงสาวจำชื่อเพื่อนที่เลือนไปแล้วได้ สามสิ่งไม่สำคัญเหล่านี้ กลายเป็นภาพแทนของการยอมรับ ในขณะเดียวกันก็ไม่ยอมแพ้ เป็นภาพของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความหวัง’ เหมือนชื่อ Nozomi ของเพื่อนคนที่ถูกลืมไปและเพิ่งจดจำได้อีกครั้ง 

“กรรมการคือกรรมการ ไม่ใช่อัลกอริทึม” สรุปดราม่า #TikTokShortFilm ที่เมืองคานส์

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เพียงหนึ่งวันก่อนกำหนดมอบรางวัลให้ผู้ชนะการประกวดหนังสั้น #TikTokShortFilm ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ – The Hollywood Reporter ได้รับข้อความแถลงจุดยืนจากผู้กำกับออเตอร์ชาวกัมพูชา ฤทธี ปาห์น (Rithy Panh) ซึ่งประกาศว่าเขาได้ถอนตัวจากตำแหน่งประธานกรรมการตัดสินรางวัลดังกล่าวแล้ว และ Variety รายงานเพิ่มเติมภายหลังว่ากรรมการอีกสองคน (ไม่ระบุชื่อ) ได้ตัดสินใจขอถอนตัวเช่นกัน

ข้อความของปาห์นที่เผยแพร่กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “หลังจากความไม่ลงรอยอันยืดเยื้อเรื่องความเป็นอิสระและอำนาจอธิปไตย (ปานห์ใช้คำว่า sovereignty) ของคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัล TikTok Short Film Festival ผมจึงได้ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการตัดสินรางวัลชุดนี้” ซึ่งสะท้อนเป็นนัยว่าอาจเกิดความพยายามแทรกแซงหรือเปลี่ยนแปลงผลการตัดสิน

#TikTokShortFilm ถือเป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่ถูกจับตา หลังจากคานส์ประกาศความร่วมมือกับวิดีโอแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ในฐานะ official partner ของเทศกาล เพราะนอกจากความพยายามขยายฐานผู้ชมเทศกาลผ่านสายตา วิธีคิด และช่องทางเข้าถึงที่ “ลดวัย” ลงชนิดผิดหูผิดตา (คานส์เชิญ 20 ครีเอเตอร์จากทั่วโลกมาร่วมถ่ายทอด “ประสบคานส์” ผ่านสายตาแบบ TikTok รวมถึงเป็นพิธีกรช่วงไลฟ์ในอีเวนต์สำคัญๆ อย่างช่วงพรมแดง และผลิตรายการความยาว 60 นาทีเพื่อออนใน official account ของคานส์ตลอดช่วงเทศกาล) เพราะถึงจะไม่ใช่อีเวนต์หลักแต่คานส์ก็ให้ความสำคัญ เมื่อผู้อำนวยการเทศกาล เธียร์รี เฟรโมซ์ (Thierry Frémaux) ยืนยันว่าจะเป็นผู้มอบรางวัลด้วยตนเอง

ยิ่งการประกวดครั้งนี้ที่มีโจทย์ผูกพันกับคุณสมบัติเฉพาะของแอป (ทั้งความยาวและฟีเจอร์ลูกเล่น) จะถูกตัดสินผ่านสายตาคณะกรรมการที่เป็น “คนทำหนัง” ก็ยิ่งน่าจับตาว่า TikTok อาจประสบความสำเร็จในการยกระดับให้คอนเทนต์คลิปวิดีโอของตนเอง ซึ่งถึงจะเป็นที่นิยมแต่คนส่วนใหญ่ก็จัดประเภทเป็นความบันเทิงชั่วแล่นฉาบฉวย ว่ามีศักยภาพและศักดิ์ศรีเพียงพอที่จะเป็นอีกโฉมหน้าของ “ภาพยนตร์” ได้เช่นกัน – เมื่อหมดเขตรับสมัคร มีผู้ส่ง “หนังสั้น” เข้าร่วมจาก 44 ประเทศ และ TikTok เคลมภายหลังว่ามียอดผู้ชมผลงานทั้งหมดกว่า 4,400 ล้านวิว

ขอบคุณภาพจากก้อง ฤทธิ์ดี

ฤทธี ปานห์ ก็แสดงออกชัดว่าแชร์ความเชื่อเดียวกัน เขาตอบรับคำเชิญเป็นกรรมการ “โดยไม่ลังเล” เพราะเชื่อว่าความร่วมมือกับคานส์เป็นเครื่องยืนยันว่าภาพยนตร์ยังเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงความนับถือที่มีต่อ เอริค คารองโด (Éric Garandeau) ประธานบอร์ดภาพยนตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (CNC) คนก่อนหน้า ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกิจการสาธารณะของ TikTok ฝรั่งเศส ผู้มีบทบาทสำคัญในการจบดีลระหว่าง TikTok กับคานส์ – ปานห์เห็นว่านี่คือสะพานเชื่อมระหว่างภาพยนตร์กับวิดีโอแพลตฟอร์มที่กำลังเติบโต และเป็นโอกาสสำคัญที่โลกภาพยนตร์จะเข้าหาคนรุ่นใหม่ ผ่านเครื่องมือสร้างสรรค์และการแสดงออกในรูปแบบที่พวกเขาเลือกและกำลังชื่นชอบ

หนึ่งวันหลังแถลงจุดยืนครั้งแรก ปานห์ให้สัมภาษณ์กับ The Hollywood Reporter เพื่อลงรายละเอียดถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยระบุชัดว่าเป็นเพราะทีมผู้บริหารของ TikTok เข้ามาวุ่นวายแทรกแซงกระบวนการตัดสิน ถึงขั้นโน้มน้าวให้เปลี่ยนรางวัลชนะเลิศเป็นหนังที่ทาง TikTok ชอบแทนหนังที่กรรมการเลือก “ถ้าพวกเขาแค่อยากขายของ ผมก็คงไม่ว่าอะไร แต่ถ้าพูดว่านี่คือการประกวดภาพยนตร์จริงๆ คุณต้องเคารพอิสระและอำนาจอธิปไตยของกรรมการ”

เขาเล่าเพิ่มว่าเพราะไม่อยากให้เป็นเรื่องเป็นราว และยังเชื่อในไอเดียของการประกวดหนังสั้นครั้งนี้ จึงพยายามประนีประนอมก่อนแล้วด้วยการเสนอให้มีหนังชนะเลิศสองเรื่อง คือหนังที่กรรมการเลือกและหนังที่ TikTok เลือก ทุกฝ่ายตกลงตามนี้หลังถกเถียงกันอยู่พักใหญ่ แต่กลายเป็นว่าทาง TikTok มาบอกทีหลังว่าจะตัดสิทธิ์หนังที่กรรมการเลือกเพราะเพิ่งพบว่าทำผิดกติกา ปานห์ตอบกลับไปว่าถ้าอย่างนั้นกรรมการต้องมาประชุมเลือกหนังชนะเลิศเรื่องใหม่แทนเรื่องที่ถูกตัดสิทธิ์ แต่ TikTok ไม่ยอม และยืนยันจะให้แค่หนังที่ตัวเองเลือกเพียงเรื่องเดียวชนะรางวัลใหญ่ – ตรงนี้เองที่ทำให้ปานห์ขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมนี้อีก

“ผมตัดสินใจลาออกก็เพื่อแสดงจุดยืนให้ชัดว่า อิสระของกรรมการตัดสินรางวัลด้านภาพยนตร์ต้องได้รับการเคารพ – ถ้าปีหน้ายังคิดเปิดสายประกวดลักษณะนี้อีก ผมก็หวังว่าพวกเขาจะทำได้ดีกว่านี้” ปานห์กล่าว “พวกเขาต้องตระหนักว่ากรรมการตัดสินผลงานศิลปะคือกรรมการ ไม่ใช่อัลกอริทึม”

ต่อมาเจ้าของรางวัล Un Certain Regard ประจำปี 2013 ได้แจ้งทางคานส์เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น และบอกว่าฝ่ายเฟรโมซ์สนับสนุนการตัดสินใจของเขา ก่อนที่ทาง TikTok จะอ่อนท่าทีลง ติดต่อมายังปานห์ และให้สัญญาว่าจะเคารพวิจารณญาณของคณะกรรมการอย่างเต็มที่ เรื่องราวทั้งหมดจึงคลี่คลายลง เมื่อกรรมการทั้งห้าคนรวมถึง ฤทธี ปาห์น ได้ปรากฏตัวร่วมแสดงความยินดี ร่วมพูดคุยและให้สัมภาษณ์ในพิธีมอบรางวัล โดยไม่มีการกล่าวถึงดราม่าทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ผลงานสองเรื่องที่คว้ารางวัลใหญ่ไปครอง ได้แก่ Is It Okay to Chop Down Trees? (มาบุตะ โมโตกิ / Mabuta Motoki) และ Love in Plane Sight (มาเตจ์ ริมานิค / Matej Rimanic) ในขณะที่รางวัลตัดต่อยอดเยี่ยมตกเป็นของ ทิม แฮมิลตัน (Tim Hamilton) และ คลอเดีย โคเชต์ (Claudia Cochet) ได้รางวัลบทยอดเยี่ยม

อย่างไรก็ดี เธียร์รี เฟรโมซ์ ที่เคยยืนยันว่าจะมาร่วมงาน กลับไม่ปรากฏตัวในพิธีมอบรางวัล #TikTokShortFilm

อิหร่านกวาดจับคนทำหนัง ระหว่างคลื่นประท้วงระลอกใหม่

เมื่อวันที่ 9-10 พฤษภาคมที่ผ่านมา คนทำหนังสารคดีและผู้กำกับภาพชาวอิหร่านอย่างน้อย 4 ราย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบุกค้นบ้านหรือที่พักอาศัย ยึดทรัพย์สินส่วนตัว และจับขังโดยไม่แจ้งข้อหา ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลอิหร่านกำลังพยายามกดปราบการชุมนุมประท้วงของประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระลอกคลื่นในหลายจังหวัดทางภาคตะวันตก

ทั้งสี่คนที่ถูกควบคุมตัว ได้แก่ ฟิรูเซห์ โคสราวนี (Firouzeh Khosravani) ซึ่งหนังเรื่อง Radiograph of a Family (2020) ชนะสารคดียอดเยี่ยมที่ IDFA, มินา เคชาร์วาร์ซ (Mina Keshavarz) กับคนทำหนังชาวเคิร์ด ชิลัน อัซซาดี (Shilan Assadi) ที่เคยพาสารคดีอิหร่านไปเบอร์ลินมาแล้วทั้งคู่ และตากล้องหญิง เรฮาเนห์ ทาราวตี (Reyhaneh Taravati) – โดยก่อนหน้านี้ โคสราวนีเคยถูกจับหลังร่วมวางดอกไม้ไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ในปี 2009 ส่วนทาราวตีถูกศาลตัดสินจำคุกหนึ่งปีเพราะทำมิวสิกวิดีโอเพลง Happy ของ ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ (Pharrell Williams) เวอร์ชันอิหร่าน

Radiograph of a Family กำกับโดย Firouzeh Khosravani

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี (Documentary Film Directors Association) สมาคมคนทำหนังสารคดีแห่งอิหร่าน (The Iranian Documentary Filmmakers Association) และสมาคมวิชาชีพผู้อำนวยการสร้างสารคดี (The Documentary Producers Guild) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนทำหนังที่ถูกคุมตัวทันที และระบุเพิ่มเติมถึงความน่าเคลือบแคลงของสถานการณ์ เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ปิดเงียบเรื่องสาเหตุของการจับกุม กระบวนการตรวจค้น รวมถึงสถานที่ควบคุมตัว (มีเพียงโคสราวนีที่ได้โทรศัพท์ถึงครอบครัวและแจ้งสถานที่คุมขัง) นอกจากนี้ ยังมีคนทำหนังสารคดีอีกอย่างน้อย 10 รายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบุกเข้าตรวจค้นบ้าน ที่พักอาศัย หรือสถานที่ทำงาน และยึดทรัพย์สินส่วนตัวหลายรายการทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ พาสปอร์ต หรือบัตรประชาชน ไปโดยไม่มีการแจ้งข้อหา

The Art of Living in Danger กำกับโดย Mina Keshavarz

แถลงการณ์แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ที่อาจผลักให้คนทำหนังสารคดีต้องติดกับดักความเข้าใจผิดทางการเมือง และเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านหยุดสร้างบรรยากาศความกลัวต่อชีวิตและการทำงานของคนทำหนังสารคดีหรือสื่อมวลชน ในขณะที่ทางการยังปิดปากเงียบ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการกวาดจับครั้งนี้ เป็นไปเพื่อข่มขู่คุกคามหรือมุ่งตัดกำลังฝ่ายที่รัฐมองว่าอาจตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม หรือลงพื้นที่เพื่อบันทึกภาพการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้น โดยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ปรากฏว่านักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่วิจารณ์รัฐบาลอิหร่านก็ถูกควบคุมตัว

ชนวนสำคัญของการประท้วงระลอกใหม่นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เมื่อรัฐบาลประกาศขึ้นราคาขนมปังซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวอิหร่าน ส่งผลให้ราคาขนมปังถีบตัวสูงขึ้น 3-5 เท่าตัวในเวลาเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่วันหลังจากนั้น ยังซ้ำเติมด้วยการขึ้นราคาเนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นม น้ำมันพืช – ความพยายามทุเลาสถานการณ์ด้วยเงินอัดฉีดแบบ “เราไม่ทิ้งกัน” ไม่เป็นผล เพราะราคาอาหารในอิหร่านแพงขึ้นเกือบหรือกว่าเท่าตัวอยู่แล้วตั้งแต่ปีก่อน เกิดสภาวะกักตุนอาหารจนขาดแคลนในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้ประชาชนในหลายจังหวัดภาคตะวันตกเริ่มชุมนุมประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) และผู้นำสูงสุด อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี (Ayatollah Khamenei) ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม

ซ้ายไปขวา: Firouzeh Khosravani, Reyhaneh Taravati, Mina Keshavarz

ขณะนี้รัฐบาลอิหร่านใช้วิธีล้อมปราบด้วยความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันตกดังกล่าว มีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ สื่อของรัฐพยายามอธิบายการประท้วงว่าเป็นการ “จลาจล” มีความพยายาม “ชัตดาวน์” อินเทอร์เน็ต (บางช่วงประชาชนเข้าได้เฉพาะเว็บไซต์สัญชาติอิหร่าน) และคลิปบันทึกภาพการประท้วงจำนวนมากถูกเซ็นเซอร์โดยเฟซบุ๊คหรืออินสตาแกรม (ซึ่งอาจเป็นผลทั้งจากการตรวจจับแบบเถรตรงของ A.I. ที่มองว่าเป็นภาพความรุนแรง หรือมนุษย์ที่ตรวจสอบคอนเทนต์ภาษาฟาร์ซีอาจเป็นฝ่ายเชียร์รัฐบาลอิหร่าน)

นักวิชาการด้านสังคมวิทยา ซาอีด มาซดานี (Saeed Masdani, ซึ่งขณะนี้ยังถูกคุมตัว) ให้ความเห็นว่า ถึงการประท้วงระลอกนี้จะเป็นผลต่อเนื่องของสภาวะทางการเมืองในรอบยี่สิบปีหลังของอิหร่าน แต่เมื่อเทียบกับการชุมนุมใหญ่ที่เคยเกิดขึ้น ครั้งนี้มีแนวโน้มประชาชนเข้าร่วมที่กระจายตัวกว้าง และมีข้อเรียกร้องที่ท้าทายพร้อมแตกหักกว่าที่เคยเป็นมา “ถ้าที่ผ่านมาเกิดประท้วงใหญ่เพื่อล้มรัฐบาล ครั้งนี้พวกเขาจะประท้วงเพื่อล้างไพ่การเมืองอิหร่านทั้งระบบ” 

การกลับมาของ เดวิด โครเนนเบิร์ก กับ Crimes of the Future ท่ามกลางประเด็นคนดูจะวอล์กเอาท์ไหม ทำไมเขาไม่ใช่คนทำหนังฌ็อง และความหัวโบราณของเน็ตฟลิกซ์

“ในยุคที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงรูปร่างและกลายพันธุ์อวัยวะตามสภาพแวดล้อมได้ สองศิลปินเลื่องชื่อ (วิกโก มอร์เทนเซน และเลอา เซย์ดูย์) ทำการแสดงสดดัดแปลงร่างกายจนผู้ชมจองเต็มทุกที่นั่ง กิจกรรมของพวกเขาถูกตามติดโดยนักสืบจากสำนักทะเบียนอวัยวะแห่งชาติ (คริสเตน สจวร์ต) และกลุ่มคนลึกลับกลุ่มหนึ่ง นำไปสู่การเปิดโปงแผนการใหญ่เกี่ยวกับวิวัฒนาการลำดับถัดไปของมนุษยชาติ…”

ไม่ใช่แค่เพราะความฉาวของเรื่องย่อที่ทำให้เราอยากดู Crimes of the Future ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในสายประกวดหลักของเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ แต่การกลับมาของ เดวิด โครเนนเบิร์ก ผู้กำกับชั้นครูชาวแคนาดา (เจ้าของหนังสุดเฮี้ยนอย่าง Crash (1996) ว่าด้วยกลุ่มคนที่คลั่งไคล้การใช้อุบัติเหตุทางรถยนต์มาปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ และ The Fly (1983) ว่าด้วยนักวิทยาศาสตร์สมองเฟื่องที่แปลงกายเป็นมนุษย์แมลงวันยักษ์) ยังน่าจับตาด้วยเรื่องราวล้อมรอบตัวหนัง และทัศนคติของเขาต่อเทศกาลหนังอย่างคานส์และอนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เราขอรวบรวมบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง ก่อนที่ Crimes of the Future จะพรีเมียร์ที่คานส์ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ และเข้าฉายที่อเมริกาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน

“ผมมั่นใจว่าจะมีคนดูที่คานส์เดินออกภายในห้านาทีแรก”

เมื่อมีการปล่อยสัมภาษณ์โครเนนเบิร์กแบบสั้นๆ พร้อมพาดหัวและเนื้อข่าวคลิกเบทแบบที่คานส์น่าจะชอบว่า “ผมมั่นใจว่าจะมีคนดูที่คานส์เดินออกภายในห้านาทีแรกอย่างแน่นอน บางคนที่ได้ดูหนังแล้วบอกว่าพวกเขาคิดว่า 20 นาทีสุดท้ายของหนังจะเป็นอะไรที่หนักหนาสำหรับคนดู และจะต้องมีคนเดินออกจำนวนมาก บางคนบอกว่าพวกเขาเกือบมีอาการแพนิค” มันก็เป็นที่พูดถึงในโลกทวิตเตอร์ ทั้งในแง่ที่ว่า ‘หนังน่าดูเป็นบ้า มันต้องเฮี้ยนมากแน่ๆ’ และในแง่ที่ว่า ‘เราจะไม่ดูหนังของเขา เพราะเขาดูถูกคนดู’ ซึ่งน่าจะเป็นความรู้สึกที่มากับยุคสมัย

แต่ส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์เช่นนี้คือเพื่อวิพากษ์ธรรมชาติของเทศกาลหนังแบบคานส์ด้วย เขาอธิบายเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์อีกชิ้นว่า “ผมบอกว่าคนดูบางคน[ที่คานส์]จะเดินออก แล้วคนในทวิตเตอร์ก็เป็นบ้า พวกเขาบอกว่า ‘พวกเราไม่อยากดูหนังที่ผู้กำกับคิดว่าพวกเราจะเดินออก’ ผมไม่ได้พูดว่าคนดูทุกคนจะเดินออก คนดูที่คานส์เป็นคนดูที่ประหลาดมาก พวกเขาไม่ใช่คนดูปกติ หลายคนมาคานส์เพื่อชื่อเสียงเกียรติยศหรือเพื่อเดินพรมแดง และพวกเขาไม่ใช่คนดูหนัง พวกเขาไม่รู้จักหนังของผม เพราะฉะนั้นเลยอาจจะมีคนเดินออก ในขณะที่คนดูปกติจะไม่มีปัญหากับหนัง แต่ก็ไม่มีใครรู้หรอก เพราะก็มีคนดูเดินออกเยอะมากตอนเราฉาย Crash”

“ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนทำหนังฌ็อง”

หนึ่งในคำกล่าวถึงโครเนนเบิร์กเมื่อคานส์ประกาศว่า Crimes of the Future เข้าประกวดในสายหลักคือ บิดาแห่ง body horror (หนังสยองขวัญที่เล่นกับร่างกายหรืออวัยวะของมนุษย์ที่เปลี่ยนรูป บิดเบี้ยว เสื่อมสลาย หรือกลายพันธุ์) ได้กลับคืนสู่เวทีแล้วหลังจากห่างหายไป 8 ปีเต็มนับตั้งแต่ Maps to the Stars (2014) หนังเรื่องล่าสุด และนานกว่านั้นหากนับตั้งแต่ eXistenZ (1999) หนังไซไฟเรื่องสุดท้าย แต่เขาไม่คิดว่านั่นคือคำอธิบายที่ถูกต้องเกี่ยวกับตัวตนของเขา

“ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึง body horror และบอกว่าผมเป็นบิดาของ body horror แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้วประวัติศาสตร์มันยาวนานมาก อาจจะ 5,000 ปีด้วยซ้ำ ผมได้ดู Titane (2021, Julia Ducournau – เจ้าของรางวัลปาล์มทองปีล่าสุดและคนทำหนังรุ่นใหม่ที่ถูกพูดถึงว่าเดินตามรอย body horror ที่โครเนนเบิร์กถางทางไว้ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังของเธอได้ที่ จาก JUNIOR ถึง RAW : ลอกคราบ ชิมเลือด แล่เนื้อ JULIA DUCOURNAU) แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนทำหนังฌ็อง (genre) ผมคิดว่าฌ็องคือเครื่องมือทางการตลาด ในฐานะคนทำหนัง การรู้ว่าหนังผมเป็นฌ็องไหนไม่ได้ช่วยอะไร Crimes of the Future เป็นหนัง body horror หนังไซไฟ หรือหนังสยองขวัญล่ะ การรู้คำตอบไม่ได้ช่วยให้ผมทำหนังได้ ฉะนั้นผมไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องนี้เลย”

เขายังเล่าต่อถึงตอนที่ A History of Violence (2005) ฉายที่คานส์แล้วได้เสียงปรบมือยาวต่อเนื่อง 20 นาทีแต่ไม่ได้รางวัลว่า “หลังแถลงข่าวมีคนถามว่า ‘จากเสียงตอบรับดูเหมือนกับว่าคนชอบหนังเยอะมาก ทำไมมันถึงไม่ได้รางวัลอะไรเลยล่ะ’ [เอมีร์ คุสตูริกา ผู้กำกับชาวเซอร์เบียน ประธานกรรมการปีนั้น]บอกว่า ‘ถ้านี่เป็นเทศกาลหนังฌ็อง หนังเรื่องนี้ก็คงจะได้รางวัลนะ’ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็คงไม่จำเป็นจะต้องมีหนังฌ็องในการประกวด เพราะว่าหนังเหล่านั้นจะถูกตัดสิทธิไปโดยอัตโนมัติ แต่อย่างที่เราเห็นว่าในช่วงหลัง Titane ก็ได้ปาล์มทอง หนังแบบ Shape of Water (2017, Guillermo del Toro) ก็ได้หลายรางวัล ชัดเจนว่าหนังฌ็องก็ได้รางวัลจากเทศกาลใหญ่กันบ้างแล้ว”

“[เน็ตฟลิกซ์]ยังหัวโบราณมากๆ ไม่ต่างจากสตูดิโอฮอลลีวูด”

“ถ้าคุณทำหนังกับเน็ตฟลิกซ์ตอนนี้ คุณไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเลย เพราะเน็ตฟลิกซ์มีเงินเหลือเฟือ แต่ถ้าคุณทำหนังอิสระแล้วไม่มีเน็ตฟลิกซ์สนับสนุน นั่นล่ะคือความลำบาก”

ก่อนหน้านี้ โครเนนเบิร์กเริ่มทำซีรีส์กับเน็ตฟลิกซ์ไปแล้วถึงสองตอน แต่ถูกขอยกเลิกโปรเจ็กต์กลางคัน หนำซ้ำ Crimes of the Future ก็ถูกนำไปพูดคุยกับแอมะซอนและเน็ตฟลิกซ์มาแล้ว แต่พวกเขาไม่สนใจร่วมทุน “ผมผิดหวังเพราะผมสนใจสตรีมมิ่งที่มีคุณภาพระดับภาพยนตร์ ผมคิดว่ามันจะเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจมากสำหรับผมในฐานะคนเขียนบท ผู้สร้าง และรวมไปถึงผู้กำกับ ผมอาจจะมีประสบการณ์นั้นในวันหนึ่ง แต่ตอนนี้พวกเขายังสนใจใน movie making มากกว่า filmmaking”

“ความรู้สึกจริงๆ ของผมคือผมสนใจปรากฏการณ์สตรีมมิ่งของเน็ตฟลิกซ์ทั้งหมด แต่ผมคิดว่าพวกเขายังหัวโบราณมากๆ ไม่ต่างจากสตูดิโอฮอลลีวูดทั้งที่ตอนแรกผมคิดว่าพวกเขาจะต่างออกไป ความต่างจริงๆ คือเน็ตฟลิกซ์สามารถฉายซีรีส์จากเกาหลี จากฟินแลนด์ และเรียกมันว่า Netflix Original แต่มันไม่ได้ออริจินัลจริง มันคือผลงานที่พวกเขาซื้อมา แต่พอเป็นโปรดักชั่นของเน็ตฟลิกซ์เอง พวกเขากลับอนุรักษ์นิยมเอามากๆ ผมคิดว่าพวกเขามีวิธีคิดแบบกระแสหลัก แต่นี่คือประสบการณ์ของผมคนเดียวน่ะนะ”

ด้วยเหตุนี้ รวมไปถึงการที่ Crimes of the Future ถ่ายทำที่เอเธนส์แทนที่จะเป็นโตรอนโต และได้ทุนสร้างถึง 40% จากกรีซ (หลังจากใช้เวลาหาทุนสร้างถึงสามปี แม้ว่าจะได้นักแสดงทั้งสามคนนี้มาแล้ว) จึงดูเหมือนเขาจะยังมีหวังกับวงการภาพยนตร์อิสระในแง่ที่ว่า ผู้จัดจำหน่ายและนายทุนอิสระให้อิสระในทางความคิดสร้างสรรค์กับคนทำหนังมากกว่า “มันเป็นเพราะพวกเขาต้องให้สิ่งที่เน็ตฟลิกซ์ให้ไม่ได้ ซึ่งสตูดิโอฮอลลีวูดก็ให้ไม่ได้เหมือนกัน จะว่าไปก็คือ พวกเขาต่างก็เป็นพวกกระแสหลักอนุรักษ์นิยม” เขากล่าว “แน่นอนว่าการมาถึงของเน็ตฟลิกซ์กระทบอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการจัดฉายในโรงภาพยนตร์ ผมคิดว่าโรงหนังจะตาย ผมพูดตรงๆ เลย ผมคิดว่าจะยังมีโรงหนังอยู่ แต่ไม่เยอะหรอก แล้วโรงเหล่านี้ก็จะฉายหนังนีชเป็นหลัก เพราะไม่อย่างนั้น พวกเขาก็จะเอาฉายแต่หนังซุปเปอร์ฮีโร่มาร์เวล”

Everything Everywhere All At Once – พหุจักรวาลแห่งครอบครัวและภาษี

เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

เพื่อให้เป็นไปตามกฏของเมอร์ฟีที่ว่า ‘ทุกสิ่งที่สามารถผิดพลาด จะผิดพลาด’ (Anything that can go wrong, will go wrong)1https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9F%E0%B8%B5 หรือพูดให้มันเว่อร์กว่านี้อีกนิดว่า ถ้ามีสิ่งเลวร้ายใดที่สามารถจะเกิดขึ้นได้มันจะเกิดขึ้นเสมอ มันจึงไม่มีวันใดที่เหมาะจะพิสูจน์กฏข้อนี้ไปมากกว่าวันนี้ วันที่เอฟเวอลีนหรือชิ่วเหลียน ต้องจัดงานครบรอบวันเกิดพ่อของเธอที่บินมาจากเมืองจีน วันเดียวกันที่สามีของเธอตั้งใจจะมาคุยเรื่องการขอหย่า วันที่ลูกสาวตั้งใจจะพาแฟนสาวมางาน หมายจะเปิดตัวเพื่อท้าทายเธอต่อหน้าอากง ที่หนักหนาที่สุด มันคือวันที่เธอและสามีต้องกระเตงพ่อไปยื่นภาษีที่สรรพากรก่อนจะกลับมาเตรียมงานเลี้ยงในร้านซักผ้าหยอดเหรียญของเธอ 

เพียงแค่นี้ทุกอย่างก็ฟังดูพร้อมจะวินาศสันตะโร แต่มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะระหว่างอยู่ในลิฟต์ จู่ๆ สามีของเธอก็เปลี่ยนไป เขาบอกว่าเขามาจากที่อื่น สั่งให้เธอสวมรองเท้าสลับข้าง เฝ้าฟังให้ดี ตอนนี้เธอเป็นผู้ที่ถูกรับเลือกให้กระโดดข้ามพหุจักรวาลเพื่อไปต่อสู้กับผู้ร้ายที่กระโดดข้ามพหุจักรวาลของตนจนรับรู้ทุกอย่าง แล้วธาตุไฟแตกซ่าน คลั่งจนอาจทำลายล้างทุกจักรวาลนี้ แล้วทำไมเธอได้รับเลือกน่ะหรือ เพราะเมื่อเทียบกันกับชีวิตของเธอในจักรวาลอื่นๆ เธอแย่ที่สุด อยู่ในระเบียบมาทั้งชีวิต ไม่มีความฝัน ไม่เคยลองทำอะไรแปลกใหม่ เธอคือความเป็นไปไม่ได้ ในพหุจักรวาลแห่งความเป็นไปได้ จึงไม่มีใครเหมาะเจาะไปกว่าเธออีกแล้ว

แล้วเธอเป็นใคร เธอคือผู้หญิงจีนอพยพตามสามีมายังอเมริกา เรียกได้ว่าหนีพ่อที่ไม่ยอมรับเขามาด้วยกัน ตอนนี้อายุเธอเข้าหลักห้า เปิดร้านซักรีดแบบหยอดเหรียญกับสามีที่เป็นคนหงอๆ มีลูกสาวที่ประกาศตัวเป็นเลสเบี้ยน และมีความสัมพันธ์เจ็บปวดกับแม่ตัวเองที่ในที่สุดก็เป็นแม่ชาวเอเชียน (Asian) คนหนึ่ง เธอกำลังเจอปัญหาหนักเพราะทำข้อมูลภาษีไม่ถูกต้อง อาจจะโดนข้อหาฉ้อโกงรัฐ และโดนยึดร้านได้ เจ้าหน้าที่สรรพากรก็ดูจะจงใจเขี้ยวกับเธอกว่าคนอื่น 

ในวันที่ปัญหาประดังประเดมาใส่ เธอค้นพบว่าไม่ใช่ว่าเธอคือผู้ที่ต้องแบกรับปัญหา อันที่จริงเธอนี่แหละคือส่วนหนึ่งของปัญหา เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก็เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาด้วย ทั้งปัญหาของจักรวาลนี้และจักรวาลอื่นๆ

เราอาจบอกได้ไม่ยากว่าโดยเนื้อแท้ นี่คือหนังที่พูดถึงการทบทวนตัวเองของผู้หญิงที่อยู่ในวิกฤติวัยทอง ที่ไม่ใช่เรื่องทางกายภาพ แต่คือเรื่องของครอบครัว และการงาน เธออยู่ในจุดที่ไม่มีอะไรให้ไปต่อข้างหน้า มองเข้าในปัจจุบันก็พบแต่ความตึงเครียดล้มเหลว อดีตกลายเป็นการประจานตัวเองว่าเธอเลือกทางผิด เราอาจบอกได้ว่าทั้งหมดเกิดจากความเครียดจนสติแตกขณะต้องไปยื่นภาษี ไม่ก็มีพหุจักรวาลอยู่จริง ทั้งหมดอาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นจริง แต่อย่างน้อยการฝันถึงมิติคู่ขนาน พหุจักรวาล หรือ ‘In Another Life’ แบบในเนื้อเพลง The One That Got Away ของ Katy Perry ก็ถูกทำให้เห็นเป็นภาพได้ และความฝันกลางวันเหล่านั้นก็เป็นทั้งเครื่องปลอบประโลมจิตใจในวัยหนึ่งก่อนก็เป็นบทลงโทษตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอีกวัยหนึ่ง

หนังใส่ไม่ยั้งในภาคส่วนของการจินตนาการถึงชีวิตที่ต่างออกไป พหุจักรวาลเป็นรถไฟเหาะชนิดที่ตามองแทบไม่ทัน เป็นทั้งการล้อเลียน genre ภาพยนตร์ต่างๆ อย่างรวดเร็วน็อนสตอปแบบที่ Fast and Feel Love ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ซึ่งเล่าเรื่องวิกฤติชีวิตของสัตว์โลกในทุนนิยมคล้ายๆ กัน (แต่ต่างช่วงวัย) อยากจะเป็นแต่ยังไปไม่ถึง (เราอาจบอกได้ว่า EEAO เป็น F&FL ฉบับที่เล่าเรื่องแม่ของเกาแทนก็อาจจะพูดได้เหมือนกัน) ในขณะเดียวกันก็เป็นการพูดอย่างเจ็บปวดถึงทางที่เราไม่ได้เลือก

ในทางหนึ่งหนังกลายเป็นการคารวะและยั่วล้ออย่างบ้าคลั่งต่อภาพยนตร์ที่มีตั้งแต่หนังเพลงอินเดียเก่าๆ ไปจนถึง 2001: Space Odyssey ของ Stanley Kubrick หรือการเลือก เจมี ลี เคอร์ติสมารับบทเจ้าหน้าที่สรรพากร/นางตัวร้าย ที่กลายเป็นการคารวะบทบาทลอรี่ สโตรดของเธอที่ต้องวิ่งหนี่พี่ชายนักเชือดโรคจิตและยังวิ่งอยู่ในหนังชุด Halloween ไปจนถึงบทสายลับสาวสองหน้าใน True Lies แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือการที่หนังกลายเป็นการแสดงความเคารพ การหวนรำลึก หรืออาจจะกล่าวคำลาต่อหนังฮ่องกงจำนวนมาก ตั้งแต่การยั่วล้อแนบไปกับชีวิต ดารา/นางงาม/ซือเจ๊กังฟู ของ Michelle Yeoh ที่ในยุคสมัยหนึ่งคนไทยรู้จักเธอดีในชื่อฉายาติดตัวว่า ‘ซือเจ๊’ (ที่กลายเป็นชื่อหนังภาคภาษาไทยอย่างพอเหมาะพอเจาะ) และชื่อจีน หยางจื่อฉุน เธอโด่งดังจากบทซือเจ๊ต่อยตีขายความกังฟู + นางงาม (เธอเกิดในอิโปห์และเคยคว้ามงกุฎนางงามมาเลเซีย) ตัวบทเวย์มอนด์สามีของเอฟเวอลีนซึ่งเดิมหนังวางแผนว่าจะให้เฉินหลงมาเล่นแต่เขาปฏิเสธไป ไปจนถึงการคารวะหนังจีนกำลังภายใน หนังกังฟู หนังงิ้ว ไปจนถึง หว่องกาไว พหุจักรวาลหนึ่งๆ กลายเป็นหนังเรื่องหนึ่งเป็นการหวนรำลึกหนังฮ่องกงด้วยสายตาแบบคนจีนโพ้นทะเลที่อย่างน้อยในทศวรรษ 1960 -2000 ล้วนเติบโตมากับหนังเหล่านี้ ก่อนที่ฮ่องกงจะเป็นอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

ในทางหนึ่งหนังกลายเป็นการคารวะและยั่วล้ออย่างบ้าคลั่งต่อภาพยนตร์ที่มีตั้งแต่หนังเพลงอินเดียเก่าๆ ไปจนถึง 2001: Space Odyssey ของ Stanley Kubrick หรือการเลือก เจมี ลี เคอร์ติสมารับบทเจ้าหน้าที่สรรพากร/นางตัวร้าย … แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือการที่หนังกลายเป็นการแสดงความเคารพ การหวนรำลึก หรืออาจจะกล่าวคำลาต่อหนังฮ่องกงจำนวนมาก ตั้งแต่การยั่วล้อแนบไปกับชีวิต ดารา/นางงาม/ซือเจ๊กังฟู ของ Michelle Yeoh ที่ในยุคสมัยหนึ่งคนไทยรู้จักเธอดีในชื่อฉายาติดตัวว่า ‘ซือเจ๊’

หนังไม่รีรอที่จะบอกว่าพหุจักรวาลหนึ่งคือหนังเรื่องหนึ่ง คือฝันกลางวันครั้งหนึ่งคือความเป็นไปได้หนึ่งๆ ที่เราไม่ได้เลือก หนังจดจ่ออยู่กับการฉายภาพซ้ำช่วงเวลาทางแยกของชีวิต การแตกหักกับพ่อ การเปิดร้านซักรีด การคลอดลูก การคืนดีกับพ่อ และบอกเป็นนัยๆ ว่าถ้าเธอเลือกอีกทาง ถ้าฉันทำอะไรบ้าๆ บ้างชีวิตของเธออาจจะแตกต่างไปจากนี้ เธออาจได้เป็น ดาราดัง เป็นเชฟ เป็นนักต่อสู้ เป็นนักร้อง เป็นคนตาบอด เป็นคนสวมชุดมาสคอตโฆษณาร้านพิซซ่า พหุจักรวาลที่เธอไม่ได้เลือกในทางหนึ่งโบยตีเธอ แต่ในอีกทางหนึ่งก็ช่วยเหลือเธอ เมื่อเธอสามารถผึกยุทธอย่างฉับไวเยี่ยงการตัดต่อแฟลชแบคในหนังกำลังภายในที่ย่นย่อเวลาของการแบกน้ำขึ้นบันไดเส้าหลิน หรือฝึกซ้อมเพลงมวยในป่าครั้งแล้วครั้งเล่าจนสิบปีเหลือหนึ่งนาทีและเธอพร้อมปกป้องโลกกับทักษะใหม่ๆ ในแง่นี้พหุจักรวาลกลายเป็นการไปเข้าคอร์สทำเทปปันยากิ ฝึกกังฟูหรือฝึกการใช้ชีวิตแบบคนตาบอด ลดรูปเหลือเพียงทักษะ ไม่ใช่ชีวิตซึ่งสอดรับกันดีกับประเด็นสำคัญของหนัง 

เพราะเมื่อย้อนกลับมาพิจารณาเพียงจักรวาลหลักของหนัง เราพบว่าเรื่องในหนังเกิดขึ้นเพียงในสถานที่เพียงสองแห่งเท่านั้น นั่นคือสำนักงานสรรพากร และ ร้านซักรีด บ้านของเธอเอง จนเราอาจบอกได้ว่าไม่ว่าจะกระโดดไปยังพหุจักรวาลใดสิ่งที่เราจะหนีไม่พ้นมีเพียงสองอย่างคือ ครอบครัวและภาษี

เช่นเดียวกับเกาใน Fast and Feel Love (ย้ำอีกครั้งว่าหนังสองเรื่องนี้พูดเรื่องที่ใกล้กันมากคือวิกฤติของมนุษย์ในฐานะสัตว์โลกของทุนนิยม) เอฟเวอลีนต้องสู้รบปรบมือกับใบเสร็จจำนวนมาก และการเอาเรื่องส่วนตัวมาปนเปกับงาน เช่นการเอาใบเสร็จค่าเครื่องคาราโอเกะ (ที่โผล่มาในฉากแรกที่ถ่ายผ่านกระจกกลม เห็นพ่อแม่ลูกร้องคาราโอเกะด้วยกัน) มาเป็นส่วนหนึ่งในค่าใช้จ่ายของร้าน ในโลกทุนที่งานแยกออกจากเรื่องส่วนตัว การแยกไม่ได้ระหว่างงานกับเรื่องส่วนตัวเป็นอะไรที่เอเชียนมากๆ ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าทุนนิยมบีบคั้นผู้คนให้ต้องแยกทั้งสองส่วนนี้ออกจากกันและต้องทำให้ดีทั้งคู่ งานส่วนงานบ้านส่วนบ้าน แต่ร้านของเธออยู่ในบ้าน วันไปจัดการภาษีเธอก็พาคนทั้งบ้านไปเพราะต้องดูแลพ่อที่ป่วยไข้ ผู้ร้ายในนามของทุนเลยสิ่งสู่อยู่ในเจ้าหน้าที่สรรพากรที่กลายเป็นปีศาจไล่ล่าเธอ ถ้าเธอไม่สมยอมกับระบบ เธอจะเสียทั้งร้านทั้งบ้าน วิกฤติของเธอจึงเป็นวิกฤติแบบเดียวกับสัตว์ในโลกทุนจำนวนมาก ทุนนิยมที่ให้โอกาสได้ก็ทำลายล้างได้ อย่างบ้าคลั่งเสียด้วย

ทุนนิยมบอกกับเราว่า แม้แต่ทางเลือกในพหุจักรวาลอื่นๆ ประสบการณ์แบบอื่น หรือการออกไปใช้ชีวิต มีคุณค่าความหมาย แต่ไม่ใช่คุณค่าความหมายภายใน แต่มันคือการพัฒนาทักษะที่ทุนจะรีดเอาออกมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตในอนาคต เพื่อให้ในที่สุด ชีวิตที่ต้องต่อสู้ ยอมจำนนและเป็นส่วนหนึ่งกับทุนไหลลื่นขึ้น จนไม่น่าแปลกใจว่า สโลแกนแบบออกไปใช้ชีวิตนั้นได้ประโยชน์สองต่อ ทั้งในแง่การออกไปบริโภคเพื่อให้ทุนขับเคลื่อน และได้กำไรเป็นทักษะฝึกความแข็งแกร่งของนิ้วก้อยหรือการใช้ตะหลิวมากปกป้องให้ทุนดำเนินต่อไป จ่ายภาษีครบจบแน่ ผัวจะคืนดีด้วย ร้านซักรีดจะดำรงคงอยู่ ชีวิตหลักได้รับการปกป้องสำหรับการจ่ายภาษีในปีต่อไป

ทุนนิยมบอกกับเราว่า แม้แต่ทางเลือกในพหุจักรวาลอื่นๆ ประสบการณ์แบบอื่น หรือการออกไปใช้ชีวิต มีคุณค่าความหมาย แต่ไม่ใช่คุณค่าความหมายภายใน แต่มันคือการพัฒนาทักษะที่ทุนจะรีดเอาออกมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตในอนาคต เพื่อให้ในที่สุด ชีวิตที่ต้องต่อสู้ ยอมจำนนและเป็นส่วนหนึ่งกับทุนไหลลื่นขึ้น

แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือครอบครัว หนังค่อยๆ เปิดเผยว่าตัวร้ายคนสำคัญที่เธอต้องต่อกรคือ จูบุ โทพากี ซึ่งที่แท้คือ จอย ลูกสาวของเธอจากอีกพหุจักรวาล หากในจักรวาลนี้ เธออับอายที่ลูกสาวอ้วนและเป็นเลสเบี้ยน จะแสดงความรักก็ทำไม่เป็น หนังไม่ยอมให้เราเห็นอดีตของทั้งคู่ แต่จากบุคลิกของแต่ละคนก็มั่นใจได้เลยว่าแม่ลูกคู่นี้ต้องผ่านสงครามต่อกันและกันมานับครั้งไม่ถ้วน ทำร้ายทำลายกันโดยไม่ตั้งใจครั้งแล้วครั้งเล่า ฉากที่เด็ดขาดคือฉากที่ลูกสาวกำลังจะออกจากบ้านหลังจากทะเลาะกัน เธอทำท่าอยากจะพูดอะไรกับลูก แต่การแสดงความรักกลายเป็นการแสดงความอ่อนแอเสมอสำหรับพ่อแม่ชาวเอเชียน เธอเลยเรียกลูกไว้แล้วพูดว่าลูกอ้วน ให้กินอาหารที่มีประโยชน์เสียบ้าง ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง

ลูกสาวที่ต่อต้านเธอได้ขยายตัวออกไปเป็นการต่อต้านในทุกพหุจักรวาลที่มีเธอเองเป็นศูนย์กลางศัตรูคือลูกสาวที่รู้เห็นพหุจักรวาล (A.K.A.โลกภายนอก) ที่เธอไม่รู้จัก สร้างหลุมดำขึ้นในรูปทรงคล้ายขนมปังเบเกิ้ล เพื่อกลืนกินทุกอย่างในพหุจักรวาลของแม่ เพราะมันคือความกลัวของแม่ ที่ว่าลูกสาวได้กลายเป็นอื่น เป็นหญิงอ้วนแต่งตัวน่าเกลียดที่ใจร้ายใจดำพอที่จะทำลายสายสัมพันธ์ของครอบครัวเพื่อความสุขของตัวเอง

อย่างไรก็ดีเราต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงพหุจักรวาลเฉพาะของเธอ (เพราะเราอาจบอกได้ว่าหากเปลี่ยนแกนกลางของพหุจักรวาลนี้เป็นสามีเธอหรือลูกสาวเธอ เราก็จะได้เรื่องเล่าที่ต่างออกไปอีกร้อยพันเรื่องทวีคูณ) และสิ่งที่น่ากลัวกว่าคือ ที่มันเป็นเช่นนี้เพราะเธอเอง เธอเป็นคนสร้างลูกสาวแบบนี้ขึ้นมาด้วยการปิดกั้นความรัก ความห่วงใย ความเป็นไปได้ของมนุษย์ ซึ่งเธอก็รับสิ่งนี้สืบทอดมาจากพ่อของเธอเอง มันจึงกลายเป็นว่าตัวร้ายของตัวร้ายกลายเป็น อัลฟากงกง (หรือพ่อของเธอในอีกจักรวาล) โดยไม่รู้ตัว เพราะที่เขาทำไปก็เพื่อปกป้องพหุจักรวาล (ที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง) เช่นเดียวกัน

ฉากการต่อสู้ท้ายเรื่องที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง จึงกลายเป็นภาพที่อาจจะมาแทนฉากระเบิดอารมณ์ในวงกินข้าวแบบเราชาวเอเชีย ฉากการแตกหักกับพ่อแม่ การร้องให้เสียน้ำตาขณะพูดจาเทิ่มแทงกันให้เหวอะหวะ การเปลี่ยนซีนดราม่าให้กลายเป็นฉากการต่อสู้ด้วยนิ้วก้อย หรือการใช้ดิลโด้เป็นอาวุธสังหาร จึงไม่ใช่การทำให้มันรุนแรงมากขึ้น แต่คือการทำให้มันรุนแรงน้อยลงต่อจิตใจของตัวละคร 

แต่พหุจักรวาลเหล่านี้คือความเป็นไปได้ที่มีข้อจำกัดในตัวมันเอง เช่นเดียวกันกับข้อจำกัดของเรื่องเล่าที่โครงสร้างกำหนดให้มันต้องจบลงและจบลงอย่างน่าพอใจ จักรวาลจึงมีขอบเขตของมันเอง ที่ในที่สุด เอฟเวอลีนต้องกลับมาจัดการจบทุกเรื่องเล่าในพหุจักรวาล ตั้งแต่แร็กคูนบนศีรษะเชฟเพื่อนร่วมงานที่ทำให้ทำอาหารเก่ง การรักผู้หญิงในจักรวาลนิ้วไส้กรอก การร้องเพลงเพี้ยนบนเวที หรือการพบคนรักเก่าที่ในอีกจักรวาลคือสามีของเธอเอง ทุกอย่างม้วนตัวจบอย่างงดงาม โดยเธอพ่ายแพ้ต่อทุนนิยมในสองระดับ ระดับแรกคือ หลังจากวิพากษ์การที่มันคุกคามเธอผ่านทางระบบภาษีที่รีดไถชีวิตไปจากเธอถึงที่สุด เธอต้องกลับมาประนีประนอมกับเจ้าหน้าที่สรรพากร และยืดขยายเวลาชำระภาษี โลกกลับมาสงบสุข เธอไม่สามารถต่อต้านทุนได้ไม่ว่าในพหุจักรวาลใด เช่นเดียวกันกับที่หนังเมนสตรีมเรื่องนี้เองก็เป็นผลผลิตของทุน ที่ไม่อาจต่อต้านต่อบทสรุปที่เข้าข้างทุนนิยม เมื่อเราปรับและรับมือได้ เราเรียนรู้ที่จะปล่อยมือจากพหุจักรวาลอื่นๆ หรือจากความฝันที่เราไม่มีทางได้ครอบครอง เราลดรูปมันให้เหลือเพียงการทำอะไรเพี้ยนๆ เช่น การสลับข้างรองเท้า อมรูปตุ๊กตาคางคก บอกรักคนที่เกลียด หรือฉี่รดกางเกง ความฝันนั้นมอบทักษะให้เรา แต่ไม่ได้ให้ชีวิตใหม่กับเรา เพราะชีวิตตรงหน้านั้นดีที่สุดแล้ว พหุจักรวาลเป็นเพียงประตูที่เราควรเยี่ยมหน้าเข้าไปดู แล้วลั่นดาลมันเสีย เพราะถ้าเราเปิดไปเรื่อยๆ เราก็จะหลุดออกจากระบบที่ควบคุมเราจะเป็นคนบ้า คนเพี้ยน เป็นสาวแต่งตัวประหลาดที่เข้าไปทำให้โลกไม่สงบสุข หนังจบอย่างเป็นสุข ทุนนิยมขับเคลื่อนโลกต่อไปผู้คนได้ซาบซึ้งพอสมควรกับความรักที่มีต่อครอบครัว หน่วยย่อยที่สุดที่ลักให้ทุนเดินหน้าราวกับเครื่องจักรที่ไม่เหน็ดเหนื่อย ภาษีจะถูกชำระ ร้านจะยังอยู่ เธอรู้จักการเป็นคนจิตใจดี เธอกลับมาคืนดีกับลูกสาว เบเกิ้ลหลุมดำปลาสนาการไป อากงเรียนรู้ว่าชีวิตใหม่ลื่นหลุดการควบคุมของเขาไปนานแล้ว โลกจบสงบสุข ทุกพหุจักรวาลคืนสู่สมดุลโดยมีทุน (ฉากสุดท้ายของหนังจบลงตรงการไปเสียภาษีจนได้) คอยควบคุมไว้

แต่พหุจักรวาลเหล่านี้คือความเป็นไปได้ที่มีข้อจำกัดในตัวมันเอง เช่นเดียวกันกับข้อจำกัดของเรื่องเล่าที่โครงสร้างกำหนดให้มันต้องจบลงและจบลงอย่างน่าพอใจ จักรวาลจึงมีขอบเขตของมันเอง ที่ในที่สุด เอฟเวอลีนต้องกลับมาจัดการจบทุกเรื่องเล่าในพหุจักรวาล … ทุกอย่างม้วนตัวจบอย่างงดงาม โดยเธอพ่ายแพ้ต่อทุนนิยม

กระนั้นก็ตาม ฉากที่งดงามที่สุดในหนังซึ่งเราอยากให้เป็นฉากจบของหนังจริงๆ คือฉากที่เธอพบว่าทุกสิ่งนั้นหลุดเลื่อนออกไปจากมือ เธอไม่มีสิทธิ์ยื้ออะไรได้แล้ว ในพหุจักรวาลสุดท้ายเธอกลายเป็นก้อนหิน ก้อนหินที่ไม่มีความหมายไร้ความรู้สึก หลุดออกจากทุกระบบ เพียงดำรงคงอยู่ในทะเลทรายเคียงข้างกับลูกสาว ก้อนหินไม่ผลิต ไม่จ่ายภาษี ไม่หนีพ่อไปกับผัว ไม่เป็นเลสเบี้ยน ไม่ร้อนหนาว และไม่ฝัน ถ้าเรากลายเป็นหินกันไปหมด ทุนนิยมก็ล่มสลาย ความเป็นไปได้ของก้อนหิน เลยเป็นไปไม่ได้ และน่าเสียดายที่หนังก็กลายเป็นความเป็นไปไม่ได้เช่นนั้น เพื่อที่จะรักษาครอบครัว เราจึงต้องประนีประนอมกับทุน เป็นแขนขาของมัน และดำรงชีวิตต่อไป

หากนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด หนังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อเพื่อการต่อต้านปฏิวัติ มันทำหน้าที่เป็นเพียงเรื่องเล่าชนิดหนึ่งที่ชี้ชวนให้เรามองเห็นถึงปัญหา และมอบความประโลมใจให้ เราจะได้มีชีวิตอยู่ในจักรวาลอันจำกัดจำเขี่ย ทุกข์เศร้า และยากแค้นของเราต่อไปได้อย่างมีความสุขขึ้นมาบ้าง เราจึงอยากยินดีกับเธอ ที่เธอเปิดใจต่อความเป็นคนมีน้ำใจของสามีในวิธีการต่อสู้ (และประนีประนอมกับทุน) ในแบบของเขา เปิดใจรับลูกสาวอย่างที่ลูกสาวเป็น เปิดใจกับพ่อถึงบาดแผลที่พ่อทำไว้ และรักษาร้านเอาไว้ได้ 

โลกทั้งใบให้นายคนเดียว บนจุดสูงสุดของหนังวัยรุ่นไทยยุคฟองสบู่ เรื่องเล่าความพังพินาศของครอบครัวเพราะ(ยัง)ไม่มี 30 บาทรักษาทุกโรค

หนังเรื่องนี้ฉายในปี 2538 ก่อนที่ฟองสบู่เศรษฐกิจไทยจะแตกเพียง 2 ปี ถือว่าเป็นช่วงที่ชนชั้นกลางไทยกำลังชื่นมื่นกับความสำเร็จทางเศรษฐกิจของตัวเอง และดื่มด่ำบรรยากาศที่เชื่อกันว่าไทยจะก้าวไปเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ตามฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวันและสิงคโปร์ และไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

รายได้ที่พุ่งไปถึง 55 ล้านบาท นับว่าทำลายสถิติทั้งหลายของหนังไทยที่ผ่านมา ซึ่งจะถูกโค่นในอีก 2 ปีต่อมาจากเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ที่ทุบสถิติไปด้วยตัวเลข 75 ล้านบาท

ห้างสรรพสินค้า รถวอลโว่ บีเอ็มดับเบิ้ลยู เป็นสัญญะของความมั่งคั่งที่ปรากฏอยู่ในหนัง เช่นเดียวกับ นักเรียนมัธยมที่ถือเป็นตัวแทนความหวังของครอบครัว แบบที่เราพบได้ในหนังวัยรุ่นมัธยมในช่วงที่ผ่านมาอย่าง อนึ่งคิดถึงพอสังเขป กระโปรงบานขาสั้น ฯลฯ

แต่โลกทั้งใบฯ ไม่ได้เล่าภาพอันงดงามของชนชั้นกลางผู้สุขสมแบบครอบครัวของ “ป้อน” (สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา) ที่อยู่ในครอบครัวที่มีธุรกิจโรงน้ำแข็ง แต่ชี้ให้เห็นชนชั้นกลางล่างที่ดิ้นรน เพราะไม่ได้อยู่ในวิชาชีพที่ทำเงิน อู่ซ่อมรถที่เรียกค่าซ่อมที่รวมอะไหล่ในราคาพันบาทยังถูกต่อราคา “ไม้” (เต๋า สมชาย เข็มกลัด) และ “เม่น” (ปราโมทย์ แสงศร) เติบโตมาในอู่ของพ่อที่ระยะหลังเริ่มเจ็บป่วย กว่าพ่อจะไปโรงพยาบาลก็จนอาการทรุดและล้มในห้องน้ำ

ก่อนนโยบายของหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์จะถูกทำให้เป็นจริงด้วยนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โดยรัฐบาลไทยรักไทย ครอบครัวไทยจำนวนมากถูกหมัดน็อกด้วยค่ารักษาพยาบาลที่สูงลิ่ว คนที่เดือดร้อนน้อยก็ได้แก่ ครอบครัวที่มีเงินถุงเงินถัง และข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจที่มีสวัสดิการที่ครอบคลุมทั้งชั้นพ่อ-แม่ และชั้นลูก ครอบครัวของไม้ไม่โชคดีเช่นนั้น เมื่อพบว่าค่ารักษาพยาบาลของพ่อเขาสูงถึงหลักแสน คำด่าที่ออกมาจากปากของ “โบ้” (อรุณ ภาวิไล) ที่ว่า “โรง’บาลแม่งเหี้ย ใครไม่มีตังค์แม่งไม่สน” เป็นคำพูดแทนใจได้ดี

โลกทั้งใบฯ จึงชี้ให้เห็นใต้มายาภาพความเจริญของสังคมไทยที่ไม่ได้มีแต่ความสวยงามของช่วงยุคทองของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีครอบครัวไม่น้อยที่ยังต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมที่มาจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่มีสวัสดิการที่ดีมากพอ จนในที่สุดความจนตรอกมันทำให้คนเลือกทางเดินสู่เส้นทางอาชญากรรมเพื่อแลกกับความอยู่รอด ในที่นี้ก็คือ การร่วมกับแก๊งลักรถ ไม้ตัดสินใจเข้าร่วมด้วย เพราะเขาต้องการเงินก้อนมาเป็นค่ารักษาพ่อ แต่ไม่รู้ว่า เมื่อขึ้นหลังเสือก็ยากที่จะหาทางลงได้ง่ายๆ การร่วมลักรถจึงเป็นการลงมือเพื่อช่วยเหลือพ่อเขาที่เจ็บป่วยอยู่

โลกทั้งใบฯ จึงชี้ให้เห็นใต้มายาภาพความเจริญของสังคมไทยที่ไม่ได้มีแต่ความสวยงามของช่วงยุคทองของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีครอบครัวไม่น้อยที่ยังต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมที่มาจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่มีสวัสดิการที่ดีมากพอ จนในที่สุดความจนตรอกมันทำให้คนเลือกทางเดินสู่เส้นทางอาชญากรรมเพื่อแลกกับความอยู่รอด

การร่วมแก๊งลักรถของเม่น อาจจะเทียบได้กับสังคมความเสี่ยงที่ชนชั้นกลางทั่วไปประสบอยู่ด้วย คำถามที่อาจจะย้อนไปถามผู้ชมก็คือ หากคุณเป็นเม่น คุณจะหาทางออกอย่างไร ถ้าไม่ใช่เป็นการร่วมกับแก๊งลักรถ การหาเงินแสนในเวลาอันสั้น ในสถานะที่ไม่มีคอนเนกชันใดๆ เราจะหันหน้าไปพึ่งพาใครได้

เมื่อไร้สวัสดิการและความช่วยเหลือ ทุกครอบครัวก็จึงมีความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับ ยกเว้นครอบครัวที่มีเงินและความรู้เรื่องการลงทุนด้านการทำประกันสุขภาพ (ซึ่งขณะนั้นเข้าใจว่า ยังไม่แพร่หลายเท่าประกันชีวิต)

หนังให้ภาพของเม่น เป็นเด็กมัธยมผู้ไม่ยอมโต และไม่รู้เรื่องราวใดๆ ในบ้าน เพียงแต่เล่นสนุกและจีบสาวไปวันๆ แทบไม่ต้องรับผิดชอบ ในด้านหนึ่งก็คือภาพตัวละครในหนังนักเรียนช่วงที่ผ่านมาที่เคยทำเงินและเป็นหนังในดวงใจของวัยรุ่นช่วงนั้น เช่นเรื่อง กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ (2535), โจ๋ไม่โจ๋หัวใจให้โจ๋ (2535), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป (2535), ฝากฝันไว้เดี๋ยว จะเลี้ยวมาเอา (2535), สะแด่วแห้ว (2535), กระโปรงบานขาสั้น (2536) ฯลฯ บทบาทของเม่นที่กลายเป็นเพียงพระรอง และเป็นน้องที่ไม่เอาไหนจึงอาจเป็นสัญลักษณ์ว่าหนังนักเรียนมัธยมแบบเดิมนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ตลาดของหนังอีกแล้วก็เป็นได้

ส่วนป้อน ก็ให้ภาพนักเรียนหญิงมัธยมที่ชอบพอกับเด็กช่างด้วยความที่เม่นเป็นผู้ชายที่พึ่งพาได้ การยอมรับไม้ของป้อนเป็นจริงเป็นจัง ถึงขนาดแสดงความกล้าหาญด้วยการบุกไปถึงสถาบันการศึกษาของเม่นที่เต็มไปด้วยผู้ชายที่มองจากผู้คนภายนอกแล้ว ถือว่าไม่น่าไว้วางใจ เพราะที่นั่นคือ ชุมนุมของพวกเด็กที่มีปัญหา แต่สำหรับเธอแล้ว เธอไม่สนใจอะไร และไปเพื่อบอกลาและบอกกับไม้ว่า “เราไม่ได้รักใครง่ายๆ อย่างที่นายคิด” อันเป็นวรรคทองของหนังเรื่องนี้

ขณะที่ไม้ เป็นนักเรียนช่างที่โดดเรียนเพราะต้องมาช่วยอู่ที่บ้าน เป็นพี่ชายผู้แสนดีที่เสียสละให้ครอบครัว ปกป้องน้องชายให้พ้นจากการรุมกระทืบ แม้กระทั่งผู้หญิงที่ตนรัก ก็ยังจะยอมหลีกทางให้กับน้องชายเสียด้วย แม้จะเรียนช่าง แต่ไม้ก็มักจะขลุกตัวเองอยู่กับอู่ซ่อมรถของพ่อ เขาขาดเรียนบ่อยๆ เพื่อทำหน้าที่ลูกชายที่ดี ที่น่าสนใจก็คือ ภาพของเด็กช่างในเรื่องนี้ ไม่ได้มีมิติของการใช้ความรุนแรงเลย ฉากไล่ทำร้ายก็เกิดจากความเข้าใจผิดของจิ๊กโก๋ในซอยมากกว่าจะเป็นการหาเรื่องกันของสถาบันเด็กช่าง ยังไม่นับว่า ตอนที่ป้อนเข้าไปหาไม้ในสถาบัน ภาพลักษณ์ของนักศึกษาช่างกลับเป็นวัยรุ่นทั่วไปที่ไม่ได้ดูมีพิษสง เถื่อน โหดร้ายแบบที่สื่อและชนชั้นกลางทั่วไปเข้าใจ

ที่น่าสนใจก็คือ ภาพของเด็กช่างในเรื่องนี้ ไม่ได้มีมิติของการใช้ความรุนแรงเลย ฉากไล่ทำร้ายก็เกิดจากความเข้าใจผิดของจิ๊กโก๋ในซอยมากกว่าจะเป็นการหาเรื่องกันของสถาบันเด็กช่าง ยังไม่นับว่า ตอนที่ป้อนเข้าไปหาไม้ในสถาบัน ภาพลักษณ์ของนักศึกษาช่างกลับเป็นวัยรุ่นทั่วไปที่ไม่ได้ดูมีพิษสง เถื่อน โหดร้ายแบบที่สื่อและชนชั้นกลางทั่วไปเข้าใจ

หนังเรื่องนี้จึงถือว่าฉีกแนวออกมาจากเรื่องเดิมๆ โดยเล่าผ่านความสัมพันธ์ของนักเรียนช่างยอดกตัญญู กับ นักเรียนมัธยมลูกสาวเจ้าของโรงน้ำแข็งผู้มีอันจะกิน โดยมีน้องชายสุดที่รักผู้เอาแต่ใจของพระเอกเป็นตัวละครที่สร้างปมสำคัญขึ้นมา

ครอบครัวนี้มีพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ไม่มีแม่อยู่ในบ้าน จะเพราะว่าหย่าร้าง หรือตายจากก็ไม่แน่ใจนัก

แต่เอาเข้าจริง พ่อที่แสดงโดยรุจน์ รณภพ ไม่มีใครรู้เลยด้วยซ้ำว่าชื่ออะไร เช่นเดียวกับพ่อของป้อนก็ไม่มีชื่อ เพราะเรียกกันแต่คำว่า พ่อ เท่านั้น พ่อที่ปรากฏอยู่ในเรื่องจึงดำรงตนอยู่เหมือนสัญลักษณ์ขององค์ประกอบหนึ่งของครอบครัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเมื่อหนังมองจากมุมมองของวัยรุ่น

อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่า การเขียนบทให้พ่อของไม้และเม่น ประสบทุพพลภาพจากโรคภัย แสดงให้เห็นว่า บทบาทพ่อที่ควรจะเป็นนั้น ไม่ใช่เสียแล้ว คนที่จะทำหน้าที่พ่อให้บรรลุ ก็คือ ไม้ ไม้เข้ามากุมบทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าครอบครัวเมื่อพ่อเข้าโรงพยาบาล และต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะหาเงินมารักษาพ่อยังไง

วันที่พ่อเข้าโรงพยาบาลรอบที่ 2 และเป็นวันที่เสียชีวิต อาจถือว่าเป็นวันที่ไม้ได้ก้าวเข้ามาเป็นพ่อของบ้านอย่างเต็มตัว และวันนั้นเองเป็นจุดแตกหักของไม้กับเม่น หลังจากเม่นรู้ความจริงว่า ไม้กับป้อนก็มีใจให้กันโดยที่เขาไม่รู้มาก่อน และหลงเข้าใจว่าไม้แย่งป้อนไปจากเขา การขึ้นสรรพนามกู-มึง และผรุสวาทถึงขนาด “ไอ้พี่เหี้ย” กับพี่ชายมันจึงเป็นการประกาศความเป็นศัตรูทางวาจา เผยความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดออกมานับแต่นั้น

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของเรื่อง เม่นถูกโต (สุรศักดิ์ วงษ์ไทย) จับเป็นตัวประกัน ก็เป็นไม้เองที่เข้าไปช่วยเหลือน้องโดยไม่กลัวอันตรายใดๆ ฉากที่สองพี่น้องกอดกันแล้วเม่นพร่ำเพ้อว่า “พ่อตายแล้ว พี่ไม้” นั่นหมายถึงการยอมรับว่าพ่อตายแล้วจริงๆ และอาจหมายถึงการยอมรับไม้ ในฐานะคนที่มาทำหน้าที่เป็นพ่ออีกด้วย

อันที่จริง อู่ซ่อมรถ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคมที่รถเป็นใหญ่ ในเรื่องนี้แทบไม่ปรากฏการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ฉากเปิดของเรื่องก็เป็นรถยนต์ของบ้านนางเอก ฉากหวานของไม้และป้อน ก็ล้วนอาศัยรถกะป๊อเป็นตัวเล่าเรื่องและแสดงความเคลื่อนไหวของเรื่อง ฉากโจรกรรมรถ ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า รถยนต์เป็นของมีค่า เป็นตัวแทนความมั่งคั่งของผู้คน อู่ซ่อมรถของพ่อไม้ จึงเป็นกิจการที่รับใช้สังคมที่รถเป็นใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางความรกรุงรังของอะไหล่ กลิ่นน้ำมันที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ แผงวงจรที่ดูยุ่งเหยิง ซึ่งเป็นฉากที่ตัดกับความเจริญของยุคสมัยอย่างห้างสรรพสินค้า หรือสนามบินดอนเมือง

ฉากจบที่สนามบินดอนเมือง ได้แสดงให้เห็นถึงความใฝ่ฝันของคนชั้นกลางยุคนั้นที่จะส่งลูกหลานไปเรียนต่อเมืองนอก ต่างประเทศคือความศิวิไลซ์ แม้ว่าป้อนจะเป็นชนชั้นกลางที่มีอันจะกินในกรุงเทพฯ แต่แค่นี้ก็ยังไม่พอสำหรับเป้าหมายชีวิตที่ครอบครัวของเธอหวังจะให้เป็น

ฉากแถมที่มึ จอนนี่-หลุยส์ แร็พเตอร์ปรากฏในสนามบินดอนเมือง ในอีกด้านก็แสดงให้เห็นถึง ความเป็นฝรั่งและลูกครึ่งที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย ทั้งในมิติของวงการบันเทิง นายแบบ นางแบบ นักแสดง ศิลปิน ยังไม่ต้องนับถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมอเมริกันอย่างฮอลลีวู้ด MTV NBA แมคโดนัลด์ การจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วของไทยจึงมิได้เป็นห่านที่บินไปตามจ่าฝูงอย่างญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เปิดรับความเป็นอเมริกันและฝรั่งได้อย่างไม่เคอะเขิน 

ลูกบอลขนาดลูกเทนนิสที่มีลักษณะเป็นลูกโลกที่ไม้เอาให้ป้อนไว้ จึงแสดงให้เห็นถึงยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ที่คนสมัยนั้นเชื่อกันว่า โลกมันไร้พรมแดนเพราะโอกาสเปิดทางเศรษฐกิจ หลังจากที่สงครามเย็นมันจบลงไปพร้อมกับเทคโนโลยีและความเป็นไปได้ใหม่ๆ เข้ามา

การคืนลูกบอลให้กับไม้ จึงคล้ายกับจะบอกว่า โลกของไม้ กับ โลกของป้อนนั้นมันอยู่คนละโลก โลกของไม้มันเล็กเกินไปเสียแล้ว เมื่อเทียบกับป้อนที่จะย้ายตัวเองไปอยู่อีกซีกโลกหนึ่ง

จากกระโปรงบานขาสั้น สู่ หน่าฮ่าน สายลมแสงแดดของนักเรียนมัธยมในเมือง กับ ขบถของนักเรียนชนบทยุคหลัง

แต่ก่อน นักเรียนมัธยมในหนัง มักจะเป็นชีวิตของวัยรุ่นชนชั้นกลางในเขตเมืองที่มีจุดหมายคือการเอนทรานซ์เพื่อเข้าเรียนระดับปริญญาตรี มากกว่าจะเป็นการจบแล้วทำงานต่อ หรือต่อไปยังสายวิชาชีพ โดยเฉพาะทศวรรษ 2530 เป็นยุคที่เศรษฐกิจเติบโต และคือยุคของลูกหลานของคนที่เกิดรุ่นทศวรรษ 2490-2500 อันเป็นรุ่นที่พวกเขากำลังสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาไม่ว่าจะในฐานะนักธุรกิจหรือแวดวงข้าราชการทั้งในเขตกรุงเทพฯ และตัวตลาดในต่างจังหวัด และนักเรียนในรุ่นนั้นก็เติบมาเป็นวัยทำงานและวัยสร้างครอบครัวในวันนี้

หลังพฤษภาทมิฬ ทิศทางการเมืองเริ่มปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ทหารกลับเข้ากรมกอง และเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตอย่างรวดเร็ว ฟองสบู่เศรษฐกิจก่อตัวขึ้นร่วมกับการลงทุนสร้างหนังวัยรุ่นที่มีเป้าหมายคือ เด็กชนชั้นกลางในเมือง ที่มีโทนเรื่องสนุกสนาน ตลกขบขัน บางเรื่องอาจจะแฝงปัญหาชีวิตครอบครัวแบบปัจเจก อาจเรียกได้ว่าเป็นยุค “สายลมแสงแดด” ของหนังวัยรุ่น

หนังช่วงดังกล่าวได้ ได้แก่ กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ (2535), โจ๋ไม่โจ๋หัวใจให้โจ๋ (2535), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป (2535), ฝากฝันไว้เดี๋ยว จะเลี้ยวมาเอา (2535), สะแด่วแห้ว (2535) เช่นเดียวกับปีต่อมา ที่มี กระโปรงบานขาสั้น (2536) เป็นหนังที่มีความโดดเด่น หนังนักเรียนมัธยมยุคนี้ จึงเน้นไปที่ชีวิตอันสนุกสนาน แม้จะมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนที่เต็มไปด้วยระเบียบที่เคร่งครัด และครูที่เข้มงวด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ของชีวิต พวกเขาอาจจะถูกลงทัณฑ์ทั้งฟาดด้วยไม้เรียว หรือประจานเสาธง แต่ก็เป็นเรื่องที่สาสมกับพฤติกรรมห่ามๆ ของพวกเขา

สิ่งที่สำคัญกว่าคือ มิตรภาพ ความรักในเพื่อนพ้อง กระทั่งความรักสถาบันของตน ดังนั้นนักเรียนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดต่อสู้ขัดขืนกับอำนาจในโรงเรียนใดๆ จุดเด่นสำคัญของหนังยุคนี้คือ ดารา นางแบบวัยรุ่นยอดนิยมได้เดินพาเหรดมานำแสดง เช่น มอส ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ (เกิด 2516), ธรรม์ โทณะวณิก (2517), ธัญญาเรศ รามณรงค์ (2519), สายธาร นิยมการณ์ (2519) ฯลฯ เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของศิลปินเพลงป๊อบที่ดาราวัยรุ่นหลายคนผันตัวไปสร้างความนิยมให้กับวัยรุ่นในยุคดังกล่าว ภาพฝันของวัยรุ่นจึงสวยสดงดงาม แต่ในอีกด้านมันก็เป็นพื้นที่ลี้ภัยทางอารมณ์จากชีวิตจริงที่พวกเขาเจอในโรงเรียนและครอบครัวก็เป็นได้

หนังที่ได้ทั้งกล่องทั้งเงินช่วงสุดท้าย ที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญได้แก่ โลกทั้งใบให้นายคนเดียว (2538-55 ล้านบาท) แต่มันไม่ใช่หนังสูตรสำเร็จอีกต่อไป เมื่อชีวิตของวัยรุ่นไปสัมพันธ์กับโลกภายนอกที่โหดร้าย และความสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิดที่บาดหัวใจ งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ในปีเดียวกันก็มี นักเรียนวัยวุ่น รุ่น 95 (2538) แต่ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก พอข้ามไปปี 2539 อันเป็นโค้งสุดท้ายของยุคทองทางเศรษฐกิจก็พบว่าหนังวัยรุ่นภาคต่อ กลับมาไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น อันเป็นสัญญาณเตือนของเศรษฐกิจไทยไปด้วย เช่นหนังเรื่อง เสียดาย 2 (2539), ม. 6/2 ห้องครูวารีเทอม 2 (2539), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป รุ่น 2 (2539)

อาจเรียกได้ว่า จุดจบของฟองสบู่เศรษฐกิจไทย นำไปสู่จุดจบของยุคทองหนังวัยรุ่น-นักเรียนอีกด้วย เพราะหลังจากนี้จะเป็นยุคของหนังไทยยุคใหม่ที่โตมาพร้อมกับกระแสย้อนยุคและการโหยหาอดีตที่เชื่อว่างดงามอย่าง 2499 อันธพาลครองเมือง (2540-75 ล้านบาท), นางนาก (2542-149.6 ล้านบาท), บางระจัน (2543-150.4 ล้านบาท), สุริโยไท (2544-550 ล้านบาท)

หลายปีผ่านไป จนมาถึง หน่าฮ่าน (2562) เป็นหนังที่เล่าถึงชีวิตของนักเรียนมัธยมในชนบทแห่งบ้านโนนหินแห่ จะพบว่าผู้ใหญ่ในเรื่องแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย นอกจากการควบคุม ตรวจตราและดูแล ไม่ว่าจะเป็น ครูคุมวงแคน ตำรวจที่ตรวจอาวุธก่อนเข้างานหมอลำ พระเจ้าอาวาส หรือหมอพยาบาลที่ทำการปฐมพยาบาลให้ วัยรุ่นเหล่านี้โตมาในบ้านที่แทบไม่เห็นพ่อแม่ปรากฏอยู่ในเฟรมหนัง พาหนะกลายเป็น สัญญะสำคัญที่ทำให้เห็นว่า พวกเขามุ่งออกจากบ้าน หรือมุ่งเดินทางโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ ตั้งแต่ฉากซ้อนรถกลับบ้านแต่ไม่ถึงบ้านของยุพินกับสิงโต ฉากที่เดอะแก๊งไปดูหมอลำด้วยรถอีแต๋น ฉากพายเรือ รวมไปถึงพาหนะอย่างรถมิตซูบิชิ ปาเจโร่ของสิงโต หลังจากที่เขาได้เป็นดาราแล้ว

หากมองในเชิงพื้นที่ก็เห็นว่า มีโรงเรียน และวัด ที่เป็นสถานที่ที่ถูกรัฐควบคุม ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ลานวัดที่ใช้จัดหมอลำเอง ก็เป็นที่เกรงใจอยู่บ้าง เมื่อรู้ว่าตัวเองเสียงดังหรือทำอะไรพิเรนทร์ในวัด แต่ความเข้มงวดในวัดนั้นถือว่า ผ่อนคลายกว่าพื้นที่อย่างโรงเรียนที่เป็นที่เรียน เป็นพื้นที่ควบคุมด้วยเครื่องแบบ ชุดนักเรียน ชุดพละ ชุดลูกเสือ บำเพ็ญประโยชน์ รด. ฯลฯ

ขณะที่ห้างสรรพสินค้า เป็นพื้นที่พิเศษ เพราะอยู่ในตัวเมือง ในที่นี้คือห้าง UD อุดรธานี ต่างไปจากหน้าฮ่านที่ตระเวนไปทั่วราวกับตลาดนัดความบันเทิง ส่วนหน้าฮ่าน มันคือ space ของเด็กรุ่นนี้ที่ได้ออกไปปลดปล่อย แต่จะว่าเช่นนั้นอาจจะไม่ถูกนัก เพราะบทสนทนา และการใช้ชีวิตของพวกเขานั้นเอาเข้าจริง มันไปกันได้กับสิ่งที่เขาแสดงออก

วัยรุ่นเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงฟันเฟืองที่ถูกบังคับให้เป็นพลเมืองที่เชื่องเชื่อแบบที่รัฐและครูในโรงเรียนอยากให้เป็น ไม่มีใครพูดภาษาไทยกลางในเรื่องเลย (หรือจะมีก็น้อยมาก) การพูดถึงอวัยวะเพศ การใช้ท่วงท่าการกระเด้าเอวยังถือเป็นเรื่องปกติมาก การแซวพระหนุ่มของสาวๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอิหลักอิเหลื่ออะไร บางคนท้องกับฝรั่ง หลายคนโดดเรียนเพื่อนั่งรถเข้าเมืองไปดูหมอลำ ตัวเอกตัวหนึ่งก็เรียนไม่จบ ต้องหาทางเรียนกศน. กันไป

อย่างไรก็ตาม หน่าฮ่าน ก็เป็นพื้นที่ที่ active เพราะมันไม่ใช่การไปเป็นผู้ชมคอนเสิร์ต แต่เป็นพื้นที่ที่พวกเขายึดใช้ในฐานะเป็นผู้กระทำ กระนั้นพื้นที่เช่นนี้ก็มีความเสี่ยงตามมา เพราะมันคือ ศูนย์รวมของวัยรุ่นเลือดร้อน พื้นที่นี้อาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการตบแย่งที่นั่ง หรือความซวยเมื่อมีวัยรุ่นตีกัน

หน่าฮ่าน ได้รับการต่อยอดมาทำเป็นซีรีส์ในอีก 3 ปีต่อมา ได้มีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์และเพิ่มตัวละคร ผู้ปกครองมีบทบาทมากขึ้น ทั้งยังสอดแทรกบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของคนเสื้อแดงเข้ามาด้วย

สำหรับซีรีส์นี้ พ่อที่ดี อาจเป็นพ่อที่ตายแล้ว

หากแบ่งครอบครัวเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกคือ ครอบครัวชาวบ้าน กับ อีกกลุ่มคือ ครอบครัวลูกครู กลุ่มแรก จะเห็นได้ว่า พ่อพวกเขาไม่ได้อยู่ที่บ้านเลย ไม่ว่าจะเป็นพ่อของเติ้ลไม้ที่เป็นใครก็ไม่รู้ ส่วนพ่อของแคลเซียมและเค ไปทำงานอยู่เกาหลี และที่น่าสนใจคือ พ่อของยุพิน ถูกระบุตัวตนอย่างชัดเจนว่า เป็นคนเสื้อแดงที่ร่วมสมรภูมิผ่านฟ้า และถูกฆ่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 นอกจากสมหมาย พ่อของยุพินแล้ว ผู้ชายที่ทำหน้าที่พ่อ กลับไม่มีบทบาทใดๆ แต่เป็นแม่ที่ทำหน้านี้คนรับผิดชอบบ้านและชีวิตของลูกๆ พวกเขา และนั่นแหละพ่อของยุพินจึงเป็นภาพจำพ่อที่ดีที่สร้างเนื้อสร้างตัวในเมืองหลวงได้แล้ว กำลังจะชวนเมียกับลูกเขาไปอยู่ด้วยกัน แต่ความตายก็มาพรากออกไปเสียก่อน

ส่วนครอบครัวลูกครู กลับไม่ปรากฏแม่เลย ไม่ว่าจะแม่ของสวรรค์ หรือโยเย กลับเป็นพ่อของเขาที่มีบทบาท แต่เอาเข้าจริงบทบาทของพ่อ กลับไปปรากฏอยู่ในพื้นที่แห่งอำนาจรัฐอย่างโรงเรียน เมื่อพ่อของโยเยเป็นผู้อำนวยการ และพ่อของสวรรค์เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง ทั้งคู่กุมอำนาจสำคัญในการควบคุมวินัยและการลงทัณฑ์ ในทางกลับกันครูผู้หญิงกลับกลายเป็นเพียงตัวประกอบที่ไม่ปรากฏบทบาท

หมู่บ้านโนนหินแห่ อยู่คู่กับโรงเรียนโนนหินแห่ (ตัวย่อ น.ห.) แสดงให้เห็นบทบาทของการพยายามสอดส่องและควบคุมจากรัฐมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นเป็นอย่างน้อย ภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านนี้อยู่แถบโขงเจียม ริมน้ำโขงที่ฝั่งตรงกันข้ามคือ ประเทศลาว พรมแดนสำคัญที่เคยเป็นฐานที่มั่นและการส่งกำลังระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขณะที่ในยุคปัจจุบันกลายเป็นที่หลบภัยจากการคุกคามของอำนาจรัฐไทยในคดีความมั่นคง

อำนาจโรงเรียนแถบนี้ แทบไม่มีผลต่อการควบคุมบุตรหลานให้อยู่ในร่องในรอย แม้พื้นที่หน้าเสาธงที่ถูกใช้เพื่อตอกย้ำอำนาจรัฐไทยผ่านอุดมการณ์ชาตินิยม แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปสู่มโนสำนึกของเด็กเหล่านี้ได้ หัวใจของพวกเขามีอิสระมากพอที่จะไม่แยแสกับผลการเรียน หรือการเรียนต่อให้จบการศึกษา พื้นที่ลี้ภัยทางอารมณ์ของพวกเขาคือ หน่าฮ่าน เวทีหมอลำพื้นที่ที่แม่ของพวกเขาพามาตั้งแต่เด็ก พวกเขาได้ปลดปล่อยอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับพื้นที่ป่าเขาที่ไม่ไกลไปจากบ้าน มันคือ พื้นที่ที่พวกเขาได้สูดอากาศหายใจ ได้เที่ยวเล่น รวมไปถึงการมองทิวทัศน์อันเวิ้งว้าง

แต่หมู่บ้านเล็กๆ แบบนี้ สำหรับหลายคนแล้ว มันไม่ใช่คำตอบ แคลเซียมมีความหวังที่จะออกจากหมู่บ้านหลังเรียนจบ เธอได้ทำสัญญากับเติ้ลไม้ว่าจะออกไปสู่โลกกว้าง และมีความหวังว่าจะได้ไปเกาหลีที่ที่พ่อของเธอไปอยู่ที่นั่น แต่กลายเป็นว่า เค น้องชายของเธอได้ไปถึงที่นั่นก่อน ด้วยอุบัติเหตุทางความรัก เมื่อเค รักคนคนเดียวกันกับพี่สาวของเธอ

คนที่อาจจะไปได้ไกลที่สุดน่าจะเป็นหอยกี้ ที่จับพลัดจับผลูไปได้ผัวฝรั่งและท้องขึ้นมา ฝรั่งเศสน่าจะเป็นปลายทางของเธอ หลังจากคลอดลูกแล้ว

จะมีก็แต่ยุพินที่มีปมหวาดกลัวกรุงเทพฯ เพราะที่นั่นคือ ที่ตายของพ่อของเธอ การปลดล็อกตอนจบเรื่องก็คือ การที่เธอตัดสินใจไปมีชีวิตที่กรุงเทพฯ กับ สิงโต คู่รักของเธอ

อันที่จริงสิงโตไม่ได้คิดจะไปถึงกรุงเทพฯ เขาเชื่อว่า ความสามารถของเขาน่าจะเอาตัวรอดในอีสานได้ ก่อนหน้าที่จะมาถึงโนนหินแห่ เขาตระเวนไปทั่ว เพื่อออดิชั่นเป็นนักร้องตามร้านเหล้าและหมูกะทะ แต่ไม่มีที่ไหนรับ เขาจึงต้องออกมาขายสร้อย ขายของเอาตัวรอด เช่นเดียวกับเพื่อนรักของเขาอีกคน ซึ่งด้วยปัญหาปากท้อง เพื่อนเขาทนไม่ไหว จำต้องเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ ก่อน และในที่สุดสิงโตก็ตามไป โดยจำใจจากพร้อมไปกับยุติความสัมพันธ์กับยุพินชั่วคราว เพราะชีวิตของพวกเขาไม่ใช่มีแค่ฉันและเธอ แต่ยังมีแม่และครอบครัวที่ต้องดูแล

คำพูดของเติ้ลไม้ที่พูดทำนองว่า ที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา น่าจะเป็นคำกล่าวแทนใจคนต่างจังหวัด คนในชนบทรุ่นใหม่ที่ไม่มีอนาคตในบ้านเกิด ชุมชนขนาดเล็กที่เป็นขี้ปากชาวบ้าน แม้จะอบอุ่นใกล้ชิด แต่มันเหมาะกับคนที่เจนโลกแล้ว และอยากมีชีวิตอยู่ในบ้านเกิด ไม่ใช่คนรุ่นหนุ่มสาว

สำหรับพวกเขาการเรียนในโรงเรียน หรือการเรียนต่อในมหาลัยจึงแทบไร้ความหมาย การเรียนต่อคือการเสียเงิน แต่การหางานคือการทำเงิน สิงโตที่มีภาระส่วนหนึ่งก็ต้องส่งน้องเพื่อเรียนต่อระดับมหาลัย การศึกษาจึงไม่ใช่การลงทุนที่พวกเขาจ่ายได้เมื่อเขาไม่มีทางเลือก คนที่จะจ่ายได้ก็คงมีแต่ลูกครูอย่างโยเยและสวรรค์ เท่านั้น

ที่น่าสังเกต ความสัมพันธ์ทางเพศในเรื่องนี้ขาดเพียงระหว่างหญิง-หญิงเท่านั้น เราอาจบอกได้ว่า “สาวหล่อ” ไม่ได้ถูกบรรจุให้อยู่ในหน่าฮ่านเลย แต่เราพบกระเทยเต็มไปหมด ตั้งแต่ฝาแฝดหอยกี้อย่างเป๊กกี้ และเหล่าทีมหางเครื่องของโยเย

ภาพที่ซีรีส์แสดงออกมา จะไม่เห็น “ครอบครัวแหว่งกลาง” ที่พ่อแม่ทิ้งลูกไว้กับปู่ย่าตายายเลย สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการย้ำความเป็นพ่อที่หายไป และความเป็นแม่ผู้แบกโลกนี้ไว้ได้ชัดเจนมากขึ้น กรณีนี้จะมีเพียงแม่ยุพินที่ไม่ชัดเจนนักว่ามีรายได้จากที่ใดนอกจากการทำการเกษตรไปวันๆ ส่วนแม่ของแคลเซียมกับเค เปิดร้านขายของชำ แต่บ้านเติ้ลไม้ถือว่าน่าจะมั่งมีที่สุดในหมู่บ้าน เพราะเปิดรีสอร์ทซึ่งมีฟังก์ชั่นเป็นม่านรูดประจำหมู่บ้าน

ความสัมพันธ์ของแม่เติ้ลไม้ กับ แม่แคลเซียมออกแนวทั้งรักทั้งเกลียด ทั้งคู่ท้าตีท้าต่อยกันเสมอ และยังเคยมีอดีตเก่าๆ ว่า เคยจูบปากกันสมัยสาวๆ อีกด้วย ทั้งคู่เป็นแม่ที่เลี้ยงลูกต่างกัน แม่แคลเซียมที่ดูจะใจกว้างกว่า ที่ยอมรับได้ว่าลูกจะเป็นอะไร ขอให้เอาตัวรอดและไม่ตาย ต่างกับแม่เติ้ลไม้ที่อยากให้ลูกได้ดีเพื่อชดเชยในที่สิ่งตัวเองไม่เคยเป็นได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเธอเคยถูกตราหน้าว่าท้องไม่มีพ่อ ขณะที่แม่แคลเซียมยังมีผัวเป็นตัวเป็นตนที่ส่งเงินมาจากเกาหลีให้เป็นระยะ

ความเป็นแม่ของพวกเธอ และชีวิตของพวกเธอก็คงสิ้นสุดอยู่ที่โนนหินแห่นี้เอง สุดท้ายก็เป็นพวกเธอนี่แหละที่คงได้แต่ทำใจ เมื่อลูกๆ จะพ้นอ้อมอกออกไปแสวงหาโอกาสของชีวิตที่ไกลแสนไกลจากบ้านเกิด

หน่าฮ่าน กลายเป็นพื้นที่สำคัญอีกครั้ง เมื่อพวกเขากลับมาเจอกันเพื่อสั่งลาก่อนที่จะเติบใหญ่ไปเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งแตกต่างไปจากเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ยังไม่พ้นวัยเรียน เมื่อต้องเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่อยู่ภายใต้การสั่งเสียของผู้ปกครอง ขณะที่แก๊งหน่าฮ่านกลับโบยบินออกไป โดยแลกกับความโหดร้ายของชีวิตที่พวกเขาต้องเผชิญด้วยตัวเองหลังจากนั้น


ดู หน่าฮ่าน ได้ที่ Doc Club On Demand
ดู หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ ได้ที่ AIS Play

ซีรีส์ Ms. Marvel จ่อฉายโรงปากีสถาน ในขณะที่ Doctor Strange โดนแบนในซาอุฯ คูเวต และกาตาร์

เป็นเพราะ Disney+ ไม่ได้ให้บริการสตรีมมิ่งในปากีสถาน ล่าสุดจึงมีการประกาศออกมาอย่างครึกโครมว่าซีรีส์ Ms. Marvel ที่มีตัวละครหลักเป็นซุปเปอร์ฮีโร่วัยรุ่นหญิงมุสลิมนาม กมลา ข่าน (รับบทโดยนักแสดงหน้าใหม่ อิมาน เวลลานี) จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ปากีสถานเพื่อเฉลิมฉลองพลังหญิงมุสลิมรุ่นใหม่ โดยซีรีส์ 6 ตอนจบเรื่องนี้จะถูกฉายควบทีละ 2 ตอนตามลำดับ ระหว่างเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ในช่วงเทศกาลสิ้นสุดการถือศีลอด

นี่เป็นครั้งแรกที่ซีรีส์มาร์เวลเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ และ HKC Entertainment ผู้ได้สิทธิในการจัดฉายในปากีสถานก็ได้กล่าวว่า “ซีรีส์เรื่องนี้คือการเฉลิมฉลองที่งดงามให้กับศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงผู้มีความสามารถโดดเด่นของปากีสถาน เพราะมันแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมที่หลากหลายของคนทำงานสร้างสรรค์ในประเทศในทุกภาคส่วนของเรื่อง” ขีดเส้นใต้ว่าการตัดสินใจนี้น่าจะเป็นเรื่องของความภูมิใจในชาติด้วยส่วนหนึ่ง

แต่ในขณะที่ความพยายามคำนึงถึงอัตลักษณ์ที่หลากหลายของ Ms. Marvel จะได้รับการตอบรับที่อบอุ่นและการสนับสนุนอย่างเต็มที่จนน่าแปลกใจจากฟากปากีสถาน แต่อีกหนึ่งหนังมาร์เวลอย่าง Doctor Strange in the Multiverse of Madness กลับได้รับการตอบรับอีกแบบ นั่นคือหนังถูกระงับฉายในซาอุดิอาระเบีย คูเวต และกาตาร์ เพราะมีตัวละครที่เป็นบุคคลข้ามเพศ ซึ่งรับบทโดยนักแสดงที่นิยามตัวเองว่าเป็นนอนไบนารี่

แต่นี่ก็ไม่ใช่หนังเรื่องแรกของมาร์เวลที่ถูกแบนในประเทศมุสลิม เพราะเมื่อปลายปีที่แล้ว The Eternals ก็ถูกระงับฉายในสามประเทศนี้เช่นกัน เพราะมีตัวละครซุปเปอร์ฮีโร่ที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ ในสองกรณีนี้ รัฐอิสลามต่างๆ ตัดสินใจแบนหนัง เพราะมาร์เวลและดิสนีย์ปฏิเสธที่จะตัดส่วนที่อ้างถึงความหลากหลายทางเพศออกไปตามคำขอ ชวนให้คิดว่าอาจไม่ใช่ทุกความหลากหลายที่จะได้รับการเฉลิมฉลองในประเทศมุสลิม ในส่วนของซาอุดิอาระเบีย แม้มกุฏราชกุมารโมฮัมเมด บิน ซาลมาน จะพยายามปฏิรูปประเทศให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นมาพักใหญ่ (ภายใต้คำถามถึงความเป็นเผด็จการที่เหี้ยมโหด) ทั้งอนุญาตให้โรงหนังกลับมาเปิดเมื่อปี 2560 หลังจากถูกแบนมาถึง 35 ปี และเปิดกว้างทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อนุญาตให้จัดคอนเสิร์ต อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ หรือยกเลิกตำรวจศาสนา แต่ในด้านความเชื่อและอุดมคติ การยื้อยุดกันระหว่างอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมก็ยังมีอยู่อย่างเข้มข้นจนถึงปัจจุบัน รวมถึงในเรื่องความหลากหลายทางเพศด้วย

ความเห็นและความเคลื่อนไหว หลังยอดซับฯ Netflix ร่วงครั้งแรกในรอบสิบปี

เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา Netflix ได้แถลงผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2022 โดยระบุว่ายอดสมาชิกทั่วโลกได้ลดลงกว่า 200,000 รายชื่อ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี หลังการเติบโตพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องก้าวกระโดดของสตรีมมิงแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ เน็ตฟลิกซ์มองเห็นและส่งสัญญาณนี้มาแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม เมื่อยอดสมาชิกเริ่มเติบโตช้าลง ทำให้ในขณะนี้พวกเขาคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่สอง (เมษา-มิถุนา 2022) ยอดสมาชิกอาจหายไปอีกประมาณสองล้านรายชื่อ

หลังข่าวนี้เป็นที่ยืนยัน หุ้นเน็ตฟลิกซ์ร่วงลงทันทีเกือบ 20% และเพิ่มเป็นกว่า 35% ในวันต่อมา ซึ่งเท่ากับการสูญมูลค่าบริษัทกว่า 54,000 ล้านเหรียญฯ ในคืนเดียว

เน็ตฟลิกซ์แจงเหตุผลที่อาจส่งอิทธิพลต่อยอดสมาชิกที่ร่วงลง ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ตลาดสตรีมมิ่งที่แข่งกันดุเดือด ความถดถอยของกลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต สงครามยืดเยื้อในยูเครน และการแชร์พาสเวิร์ด – ก่อนหน้านี้ เน็ตฟลิกซ์ปรับนโยบายการแชร์พาสเวิร์ดในประเทศชิลี คอสตาริกา เปรู มีแผนขยายพื้นที่บังคับใช้นโยบายนี้ในอนาคต และตอนนี้กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ของการยอมให้มีโฆษณา (หลังจากกลุ่มผู้บริหารคัดค้านแนวคิดเรื่องโฆษณามาโดยตลอด)

เหตุผลทั้งหมดที่เน็ตฟลิกซ์ว่ามาอาจส่งผลจริงอย่างละนิดละหน่อยจนนำมาสู่สถานการณ์ปัจจุบัน แต่อีกหนึ่งสาเหตุที่หลายเสียงจากนอกองค์กรเห็นตรงกันก็คือ ตอนนี้เน็ตฟลิกซ์กำลังเข้าสู่สภาวะที่แทบไม่ต่างกับเคเบิ้ลทีวีในอดีต หลังจากที่คอนเทนต์จำนวนมากถูกดึงกลับไปยังต้นสังกัดที่พัฒนาแพลตฟอร์มของตนเองขึ้นมาสู้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปนานเข้า ภาพลักษณ์ของแพลตฟอร์มก็จะเป็นแค่อีกหนึ่งบริการทีวีที่คนดูต้องเสียเงินแพงแต่ขาดความโดดเด่นน่าสนใจ เพราะทิศทางขององค์กรเริ่มเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ และเมื่อถึงช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง (เหมือนที่ทำให้เคเบิ้ลทีวีกลายเป็นอดีต) แค่พฤติกรรมความเคยชินก็คงไม่เพียงพอที่จะดึงให้คนดูยอมเสียค่าสมาชิกรายเดือนไปเรื่อยๆ

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม /Film (slashfilm.com) รายงานจาก CinemaCon ที่ลาสเวกัส ไฮไลต์การสัมภาษณ์ของ จอห์น ฟิเธียน (John Fithian) ซีอีโอสมาคมเจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์แห่งชาติ (The National Association of Theater Owners) ที่แสดงความเห็นว่าขณะนี้ประตูโรงหนังพร้อมเปิดกว้างต้อนรับหนังเน็ตฟลิกซ์ ขอแค่เน็ตฟลิกซ์สนใจจะร่วมเดินไปในทางเดียวกับโรงหนัง

สิ่งที่ทำให้เน็ตฟลิกซ์แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับบรรดาผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม (ไม่ว่าจะเป็น Disney+, Hulu, Apple TV+ หรือ ESPN+) ก็คือเน็ตฟลิกซ์ไม่มีธุรกิจหรือรายได้จากทางอื่นเป็นฟูกให้ล้ม (พวกเขายังให้บริการเช่าดีวีดีทางไปรษณีย์อยู่ แต่รายได้ก็เป็นแค่เศษเสี้ยวฝุ่นผงของสตรีมมิ่ง ในขณะที่การลงทุนในธุรกิจเกมก็ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ และยืนยันไม่ได้ว่าจะผลิดอกออกผลเป็นกำไร) บทความของ /Film จึงเสนอว่าอาจถึงเวลาแล้วที่เน็ตฟลิกซ์ต้องคิดทบทวนเรื่องการร่วมมือกับโรงภาพยนตร์อย่างจริงจัง

นับแต่ช่วงเวลานี้เป็นต้นไป การพยายามรักษาสถานะพื้นที่เฉพาะแบบ Exclusively on Netflix อาจไม่ใช่ทางออกหรือไพ่ที่เหนือกว่าเหมือนเมื่อไม่กี่ปีก่อน (เช่น การไม่ให้รายงานตัวเลขรายได้หนังเน็ตฟลิกซ์ที่ฉายโรง) ซึ่งทำให้คนในวงการภาพยนตร์ทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรปมองว่าเน็ตฟลิกซ์พยายามตั้งตนเป็นศัตรูกับโรงหนัง เพราะในช่วงไม่กี่ปีหลัง วงการภาพยนตร์ได้เห็นความสำเร็จน่าจับตาที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของโรงหนังกับแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะกรณีล่าสุดคือ The Batman (2022) ที่การฉาย 45 วันในโรงทำรายได้กว่า 760 ล้านเหรียญฯ และกลายเป็นหนังยอดชมสูงสุดตลอดกาลของ HBO Max ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ปล่อยสตรีม

เน็ตฟลิกซ์อาจใช้โมเดลเดียวกันนี้กับหนังออริจินัลของตัวเองที่ลงทุนระดับบล็อกบัสเตอร์ Red Notice (2021) หรือ The Gray Man (2022) ได้เช่นกัน ยิ่งเมื่อสถานการณ์โควิดได้เปลี่ยนความคิดของธุรกิจภาพยนตร์ไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่อง theatrical window (ระยะเวลาที่หนังควรฉายในโรงก่อนออกแผ่นหรือปล่อยสตรีม) ที่น่าจะเข้าใกล้จุดลงตัวระหว่างทั้งสองฝ่ายมากกว่าแต่ก่อน

อย่างไรก็ดี แรงเสียดทานระหว่างสตรีมมิงแพลตฟอร์มกับโรงภาพยนตร์ก็ยังคงดำเนินต่อไป

เปาโล เดล บร็อกโค (Paolo del Brocco) แห่ง RAI Cinema และ จามเปาโล เลตตา (Giampaolo Letta) แห่ง Medusa Film Unit ได้ยื่นข้อเรียกร้องผ่านหนังสือพิมพ์ให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือวงการภาพยนตร์ เมื่อสถานการณ์โรงหนังหลังโควิดยังห่างไกลจากคำว่ากระเตื้อง (อิตาลีเป็นตลาดหนังขนาดใหญ่แห่งเดียวในยุโรปที่ยอดผู้ชมปี 2021 ลดต่ำกว่าปี 2020 ต่างจากฝรั่งเศสหรือสเปนที่เริ่มกลับสู่สภาวะใกล้ปกติ)

ทั้งคู่เรียกร้องให้รัฐบาลขยาย theatrical window ของหนังที่เข้าฉายในอิตาลีจากเดิม 90 วันเป็น 180 วัน รวมถึงขอให้ลดอัตราคืนภาษีแก่ผู้ผลิต (tax rebate) จากร้อยละ 40 เป็น 30 สำหรับหนังที่ตั้งใจสร้างเพื่อฉายในสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเป็นหลัก แต่ให้คงอัตราเดิมไว้สำหรับหนังที่สร้างเพื่อฉายโรงภาพยนตร์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรับลูกข้อเรียกร้อง โดยรับปากว่าจะพิจารณาร่างระเบียบใหม่เรื่อง theatrical window แต่ยังไม่ระบุถึงจำนวนวันว่าจะได้เท่าข้อเรียกร้องหรือไม่

ไล่เลี่ยกับแถลงการณ์ของรัฐมนตรีวัฒนธรรมอิตาลี เทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน (Locarno Film Festival) ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนกฎหมาย Lex Netflix ซึ่งรัฐบาลและรัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ได้ยื่นขอแก้ไขกฎหมายภาพยนตร์ของสวิตเซอร์แลนด์ (The Federal Act on Film Production and Film Culture) ซึ่งสาระสำคัญคือให้สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มที่ทำธุรกิจในสวิตเซอร์แลนด์ ต้องเสียภาษีเพื่อนำเงินไปหมุนเวียนเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ

กล่าวคือ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านประชามติ (ซึ่งประชาชนจะลงคะแนนเสียงในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้) สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มทุกเจ้าต้องเสียภาษีร้อยละ 4 ของรายได้ในประเทศ อัตราเดียวกับที่สถานีโทรทัศน์สวิสทุกช่องต้องนำส่งรัฐตามกฎหมายเดิม หรืออาจใช้วิธีร่วมลงทุนโดยตรงในโปรดักชั่นหรือการโปรโมตหนังและซีรี่ส์สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ และร้อยละ 30 ของคอนเทนต์ที่เผยแพร่ในแต่ละแพลตฟอร์ม ต้องเป็นผลงานที่ผลิตขึ้นในทวีปยุโรป

ข้อเรียกร้องของวงการหนังอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ที่มีต่อสตรีมมิ่ง (โดยเฉพาะเน็ตฟลิกซ์) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนเดียวกันนี้ ยิ่งแสดงออกชัดเจนถึงความท้าทายที่มีต่อบรรดาแพลตฟอร์มในอนาคต – ต่อไปนี้ พวกเขาไม่อาจลอยตัวเก็บเกี่ยวความสำเร็จอยู่เหนืออุตสาหกรรมที่ตนเองได้เข้ามาพลิกโฉมหน้าปรับวิธีคิดไปแบบพลิกฝ่ามือ หากต้องร่วมสนับสนุน ปรับประสาน เพื่อให้ผู้เล่นทั้งในตลาดเก่าและตลาดใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

Not One Less : Not One Sis เมื่อชีวิตสู้กลับ

ถ้าโครงสร้างสังคมไม่ support อิหญิงมันต้องสู้ชีวิตอีก กี่สิบ กี่ร้อยครั้ง

เข้าเรื่องเลยนะคะซิส คือไปดูสัตว์วิเศษรอบสามมา อย่างไรก็ดี ระหว่างการรอดูฉากแรกของหนังด้วยใจจดจ่อ เฮ้าส์ก็บรรจงส่งตัวอย่างหนังเรื่องหนึ่งมาให้ดู เราก็เพลินๆ ดูตัวอย่างไปพลางๆ ชีวิตครูสาว ต้องมาสอนเด็กอายุไล่เลี่ยกัน อีเด็กก็เวรมาก วิ่งเล่น วันดีคืนดีมีเด็กหนีไปทำงานในเมือง ครูสาวเลยต้องไปตามกลับมาเรียนหนังสือ ฟุตเทจตัดสลับไปมาถึงวิบากกรรมชะตาชีวิต นอนข้างถนน เขียนใบปลิว รันทดจนแบบ ไหนมันจะขนาดไหน!!! รู้สึกถึงพลังการต่อสู้ ได้ หนังมันตะโกนเรียกเรา ดังนั้นกะเทยตัดสินใจ ได้ ฉันจะดูเรื่องนี้!!!! ตัดสินใจหารอบ อะ อีเวร ยังค่ะ ยังไม่เข้า ไม่ใช่ไม่เข้าเรื่องนะ หนังยังไม่เข้า 

นั่นแหละค่ะ เกริ่นนำ #อ้าวกะเทย เท่ากับตอแหลที่บอกว่าเข้าเรื่องคือไม่จริงค่ะ 

เข้าเรื่อง (จริงๆ แล้วนะ) ก็คือเข้าโรงมาก็จะเห็นว่า หนังถ่ายทอดบรรยากาศเมืองชนบท ไกลปืนเที่ยง ครูสาวชื่อ เหว่ย เดินทางมาเป็นครู แทนครูเกาที่ต้องลาไปเฝ้าไข้แม่ 1 เดือน ฟังดูปกติใช่มั้ยคะ แต่ความจริงคือ ครูเหว่ย ชีอายุ 13 ปี เพิ่งจบชั้นประถม ความรู้ความสามารถไม่ค่อยมี ชีจะเอาอะไรมาสอน แล้วเด็กที่มาเป็นลูกศิษย์ชี คือลูกชาวบ้านในชนบทที่ยากไร้ เรียนรวมนะคะ ไม่มีแบ่ง บางคนเขียนได้ บางคนพูดยังไม่ค่อยจะชัดเลย อีเวร แล้วครูเราคนเดียวจะเอาอะไรไปสู้ 13 คือแค่ ม.1 บางคน ป. 6 ยัยครูสาว หล่อนเป็นได้มากสุดแค่เป็นพี่ใหญ่เท่านั้น อายุก็ไม่ได้ห่างจากลูกศิษย์เลย แล้วไม่ใช่ 3-4 คนค่ะ สิริรวมประมาณ 28 คน 

มาถึงโรงเรียนวันแรก ครูเกาคือเทโรงเรียนไปเลยค่ะ เหมือนหมดคิว #อีเวร ก็คือไปเลย มีแค่การบรีฟว่า ไหนอีหนูทำอะไรได้ ยัยครูเหว่ยก็บอกร้องเพลงได้ ร้องไปก็ผิดๆ ถูกๆ บอกคัดหนังสือได้ งั้นคัด คัดแล้วบอกให้เด็กคัดตาม แจกชอล์ก บอกใช้ได้วันละแท่ง ชอล์กแพง แดดส่องถึงยอดเสาปล่อยเด็กกลับบ้าน ถ้าเด็กมันเก่งมาก ก็ให้มันไปวิ่งเล่น แล้วค่อยกลับมาคัดต่อ ห้องพักครูอยู่ตรงนี้ ที่นอนอยู่ตรงนี้ เตียงไม่พอต่อเอา เอาเด็กชะนีเข้ามานอนในนี้ เด็กผู้ชายไปนอนข้างนอก บรีฟเสร็จ เช้ามาไปเลย!!! กะเทยบอก กรี๊ดดดด อีครูเหว่ย หล่อนจะไหวใช่มั้ย ครูเหว่ยวิ่งตามรถไป กะเทยนึกว่าจะไปถามอะไร ตอนแรกกะเทยดูในตัวอย่าง เสียงบรรยายภาษาอังกฤษบอก ชีมาด้วยหัวใจ แต่เอาเข้าจริงชีวิ่งตามอย่างหนักหน่วงเพราะอะไรคะ ชีมาเพราะเงิน งานนี้ ความชุบชูชีวิตลดลง แต่ความเป็นจริงเพิ่มขึ้น จริงที่เงินมันคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต 

ครูเหว่ยวิ่งตามรถไป กะเทยนึกว่าจะไปถามอะไร ตอนแรกกะเทยดูในตัวอย่าง เสียงบรรยายภาษาอังกฤษบอก ชีมาด้วยหัวใจ แต่เอาเข้าจริงชีวิ่งตามอย่างหนักหน่วงเพราะอะไรคะ ชีมาเพราะเงิน งานนี้ ความชุบชูชีวิตลดลง แต่ความเป็นจริงเพิ่มขึ้น จริงที่เงินมันคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต

อะกลับมาที่ครูสาว กะเทยบอกไหน ขอดูหน่อยซิ ว่าครูสาวจะมีพลังอะไรปังๆ บ้าง สรุป บ้งตั้งแต่วันแรก เอาเด็กไม่อยู่ จัดการเด็กไม่ได้ โดนผู้ใหญ่บ้านด่าแล้วหนึ่ง พอผู้ใหญ่พาเด็กเคารพธงชาติ ต้อนเด็กเข้าห้องได้ ชีครูเหว่ยเขียนกระดาษเสร็จ บอกเด็กคัดเลย ไม่สนใจ คัดไม่เสร็จห้ามกลับ ฟาดๆ เยี่ยวๆ ดูไปด่าไป อีเวร นี่เด็กนะ ไปสั่งมันอย่างนั้นมันจะทำมั้ย ลืมไป นางเอกอายุ 13 กะเทยตอนอายุ 13 น่าจะไม่ประสีประสา ไร้สติกว่าครูเหว่ยอีก ดังนั้นดูกันต่อ กุมมือภาวนาให้ชีรอด สรุปชีไม่รอดค่ะ เพราะเด็กตีกัน โต๊ะล้ม ชอล์กกระจายตายห่าทั้งกล่อง มีอีนังหนูเด็กหัวดี ชะนีหัวหน้าห้อง ห่วงชอล์กมาก ไปเก็บ ส่วนอีแม่ครูไปตีกับเด็กผู้ชายอีกคน กะเทยกุมขมับแล้ว เหลืออีกหลายสิบวัน จะรอดมั้ย 

วันแรกว่าพังแล้ว วันถัดๆ มาว่าพังกว่า มีคนจากในเมือง มาตามหาเด็กในคลาส บอกจะเอาไปแข่งนักวิ่งทีมชาติ อีครูสาวแทนที่จะดีใจ นางรับบทนางเมิน เพราะสัญญากับพ่อครูไว้ว่า ถ้าเด็กอยู่ครบจะได้เงินอีก 10 หยวน เลยรับบทนางกันซีน หนูไม่ได้ไปไหนทั้งนั้นค่ะ สรุปชีเอาเด็กผู้หญิงไปซ่อน กะเทยแบบห๊ะ!!!! มึง ได้หรออออ ไม่สนสี่สนแปด ไม่สนอนาคตเด็ก ได้หรอ สุดท้ายผู้ใหญ่บ้านตามจนเจอ พาเด็กไป วันถัดมา มีคนตีกันอีกแล้ว อีเด็กผู้ชาย กับ ยัยหัวหน้าห้องตีกัน เพราะว่า เด็กผู้ชายไปอ่านเจอว่าในบันทึกส่วนตัวของเด็กผู้หญิง ชีเขียนด่าครูสาว ครูสาวไม่สนใจไพรเวซี่บอกอ่านเลย อ่านให้ทั้งห้องมันได้ยิน สรุปเด็กผู้ชายอ่านบันทึกส่วนตัว เป็นเรื่องอีเหตุการณ์ชอล์กวันนั้น ที่ครูสาวและเด็กชายทะเลาะกัน ชอล์กหล่นลงมา โดนเหยียบซ้ำ จนชอล์กแตกหัก ครูเกาสอนว่าเราต้องดูแลชอล์กเพราะชอล์กแพง เขียนเท่าไหร่ต้องให้คุ้ม ใช้จนหมดแท่ง ผงชอล์กที่ปลายนิ้วติดมืดยังต้องเอามาเขียนต่อ น้องชะนีเด็กร้องไห้ น้ำตาไหล กะเทยน้ำตาไหล ไม่ใช่เพราะว่าชอล์กแพง แต่ซีนมันคือความเชื่อ ความไว้ใจ ความศรัทธาของเด็กผู้หญิงคนนี้มันถูกเหยียบย่ำ เด็กผู้ชายเจื่อน หน้าแห้งเลยกู ครูสาวก็หน้าแห้งไม่แพ้กัน คืนนั้นชีปลุกเด็กชายบอกว่าไปขอโทษหัวหน้าห้องเดี๋ยวนี้ ฮีไม่ขอโทษ เอาจริง อยากจะให้ฮีสวนด่าอีครูสาวปังๆ ไปว่าคนที่ผิดคือมึงค่ะ อีเวร!! มาเป็นครูก็ช่วยเป็นครูไม่ใช่ทำตัวเป็นพระอิฐพระปูน ไอ้โน่นไม่ได้ ไอ้นี่ไม่ทำ หนังสืออะสอนด้วยค่ะ ไม่ใช่เด็กบอกทำไม่ได้ก็ปล่อยไว้ ถ้าคิดจะมา ไม่มาทั้งใจกลับไปซะดีกว่า อีเวร!!! แต่ลืมไปว่ามันอายุ 13 !!!!! 

รุ่งขึ้นขานชื่อ เด็กผู้ชายหายไป สืบจากทุกคนรู้ว่า มึง มันไปทำงานแล้ว บ้านมีหนี้ แม่ป่วยพ่อตาย เด็กชายต้องไปเผชิญชะตากรรมชีวิตที่เมืองกรุง แล้วมันจะรอดมั้ย ผู้ใหญ่บ้านบอกไม่ต้องไปตาม ตามเจอมันก็ไม่กลับมา ให้มันไปทำงานปลดหนี้ให้บ้านมัน จุดนี้ ยัยครูสาวจะต้องไปตามเด็กชายกลับมา ไม่รู้ว่าเพราะอยากให้เด็กมีการศึกษาหรืออยากได้เงิน top up อีกสิบหยวนที่ครูเกาสัญญาไว้กันแน่ แน่นอนว่าไปเข้าเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ชีไปไล่ถามเด็กว่า เข้าเมืองใช้เงินเท่าไหร่ เด็กบอก สิบบ้าง สิบห้าบ้าง มีคนหนึ่งบอก สามค่ะ หนูเคยไปกับแม่ อะ สรุป ไปกลับ บวกพาเด็กกลับใช้ เก้าหยวน ไหนใครมีเงินบ้าง เอาออกมา จะรวมเงินไปพาเด็กชายกลับมา กะเทยเดี๋ยวนะ มันได้หรอวะ จากนั้นเด็กทุกคนเอาเงินมากอง สุดท้าย ไม่พอ เลยบอกให้ทุกคนไปเอาเงินที่บ้านมา เด็กบอกไม่มี มีเด็กออกไอเดีย ไปช่วยกันทำงาน ยกอิฐเพื่อเอาเงิน ยกกันแค่ 1,500 ก้อนเท่านั้นค่ะ สุดท้ายยัยครูสาวพาเด็กไปค้าแรงงานหาเงิน เด็กก็พากันไปยกอิฐ ยกแบบไม่รู้ว่าโดนแกง ยกแบบสนุกบ้าง เจ็บบ้างเหนื่อยบ้าง สุดท้ายอีเจ้าของโรงงานบอกมึงมายกกันทำไม!!!!!! กะเทยบอกทำไมไม่คุยกันก่อน อย่างนี้เข้าข่ายมัดมือชก แต่สุดท้ายเจ้าของเห็นแก่ครูเกา และความตั้งใจของครูสาว และเด็กๆ ให้เงินมา ระหว่างทางกลับอีครูสาวบอก อะๆ รางวัลชีวิต ไหนๆ วันนี้ทุกคนก็เหนื่อยกันมามาก เดี๋ยวนะ แต่อีครู หล่อนหลอกเด็กไปแกงอยู่ ยังจะมีหน้ามาพูด ชีบอกไปเราไปแวะหาน้ำตอแหลกินกันดีกว่า กินอะไรดี เกลือแร่มั้ย เด็กบอกอยากกินโค้กค่ะ แม่ค้าบอก โค้กสองกระป๋อง 6 หยวน อีเวรแพงจนกะเทยอยากจะกรี๊ด กะเทยบอกน้ำเปล่าได้มั้ยลูก เด็กบอกแต่วันนี้มันพิเศษ ถึงจะค้าแรงงานเด็ก แต่โค้กก็คือของแพง พ่อแม่ไม่ซื้อให้กิน แต่นี่เงินพวกหนู หนูจะกิน ถึงจะแพงจนจะร้องขอชีวิต กะเทยน้ำตาไหลแล้วหนึ่ง อิครูเหว่ยชีก็เอาเลอซื้อเลอ ไม่ใช่เพราะใจดี แต่ไม่เคยกินเหมือนกัน!!! อิเวร เอาเป็นว่า ทุกคนแบ่งกันจิบ แบ่งกันกิน โธ่ เด็กเหนื่อยแท้ คนละจิบ แต่พอเด็กกินปุ๊ป บอกแสบคอ อีเวร เด็กไม่รู้ว่าโค้กมันต้องซ่า โฆษณาเข้าไม่ถึงชนบทนี้ แต่ถึงจะซ่า จะแปลก แต่คนละอึก หวานซึ้ง สะเทือนใจ ดราม่าติกโมเม้นท์ กะเทยร้องไห้ ผกก.ขยี้หนัก เรียกได้ว่าผ้าสะอาด ตอนแรกจะด่าว่าเดี๋ยวเงินหมด แต่พอเด็กกิน เด็กจิบ เด็กแบ่ง แล้วแบ่งครูสาวด้วย มันไม่ใช่ค้าแรงงานเด็กหรอก อีเด็กมันก็สนุกแหละไม่ต้องเรียน หรือมันอาจจะเหนื่อยจริง หรือมันอาจจะไม่ชอบ แต่การมีซีนนี้คืออย่างน้อยก็ชุบชูหัวใจ ไม่ให้มันเจ็บปวดมากนัก

แม่ค้าบอก โค้กสองกระป๋อง 6 หยวน อีเวรแพงจนกะเทยอยากจะกรี๊ด กะเทยบอกน้ำเปล่าได้มั้ยลูก เด็กบอกแต่วันนี้มันพิเศษ ถึงจะค้าแรงงานเด็ก แต่โค้กก็คือของแพง พ่อแม่ไม่ซื้อให้กิน แต่นี่เงินพวกหนู หนูจะกิน ถึงจะแพงจนจะร้องขอชีวิต กะเทยน้ำตาไหลแล้วหนึ่ง อิครูเหว่ยชีก็เอาเลอซื้อเลอ ไม่ใช่เพราะใจดี แต่ไม่เคยกินเหมือนกัน!!!

ขณะที่ถัดไปถึงท่ารถ อีเดาะอกหัก ค่ารถ 20 หยวน ไหน!!!! อีไหนมันแกง!! ไหนอีตัวต้นเรื่อง ไหนใครไปกับแม่ พูด แต่อีครูสาวไม่หาความ งานนี้ต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ เอาใหม่ ทุกคน ครูสาวคิดแผนการใหม่!!! ฉันจะไม่ยอมเป็นเหยื่อของอะไรทั้งนั้น ตั้งโจทย์ ใช้เงินกี่หยวน ขนหินกี่ก้อน ต้องขนกี่วัน แอ๊บแอ้ ตีเนียนเป็นการสอนเลขไปด้วย แกงเด็กไปด้วย หวังใจจะใช้แรงงานเด็ก จุดนี้อีเวร กะเทยปรบมือ เอาเลยอีหญิง ลูกล่อลูกชนเก่งมาก ฉลาดเกมส์โกง ฉายแววจะเป็นครูพี่ลินในอนาคต ตอนแรกนึกว่าจะแบบ แกงเด็กอย่างเดียว ก็ยังดียังให้ความรู้ฝึกบวกเลขด้วย #หรอวะ  แต่เด็กบอกไม่ค่ะ หนูจะไม่ยอมเป็นเหยื่อครูเหมือนกัน รู้ทันนะคะ ไม่ขนแล้วค่ะ โค้กก็ได้กินแค่จิบเดียว เด็กบอกทำไม่ไหวแล้วค่ะครู ทำไมครูไม่แอบขึ้นรถไปคะ จุดนั้นคนทั้งโรงขำ แต่อีเด็กไม่ขำ เป็นหนูหนูไม่ขำนะคะ มารยาทนิดนึง หนูเอาจริง มันบอกเดี๋ยวหนูไปยืนรุมๆ กันหน้ารถแล้วเดี๋ยวครูไปเลยค่ะ ครูทำได้ กะเทยบอก เอออ อีเด็กพอกันเลยทั้งศิทย์ทั้งครู มึงเก่ง!!! สรุปอีแก๊งค์เด็กไปยืนออๆ กันหน้ารถดึงความสนใจจากพนักงาน นางนกต่อ ครูสาวแอบขึ้นรถไป รับบทนาตาชา โลมาน้อย นางแฝงตัว ภารกิจลับ แต่อิเวรรถออกยังไม่ถึงห้านาที สรุปตุ๊บ ยัยสายลับครูสาวโดนไล่ลงจากรถ แต่งานนี้บอกไม่เด่นไม่ดังจะไม่หันหลังกลับไป แพ้ไม่ได้ ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมหมดหวัง ถนนสายนี้ใช่มั้ยเข้าสู่เมือง ได้ฉันจะไป แม้ไกลก็ต้องไป แม้ต้องเดินเท้าก็จะไป ระหว่างนี้ขอร้องเพลงเป็นกำลังใจให้ครูสาว ขออัญเชิญ พี่เจนนิเฟอร์ คิ้ม มาร้องเพลงให้กำลังใจ แม้ว่าจะต้องไล่ลงรถไป แม้โบกรถแล้วไม่มีใครรับสักคน มันจะเจ็บจะช้ำกี่หน แต่คนคนนี้ไม่ท้อใจ แต่ระหว่างที่กะเทยร้องเพลงกับพี่คิ้ม อีครูสาวบอก มึงๆๆ กูได้รถแล้ว สรุปมีคนใจดีให้ติดรถมาเข้ากรุงค่ะ อย่างน้อยก็ยังมีใครที่ใจดีกับนางได้บ้าง 

แต่เข้าเมืองกรุงใครว่าจบ เพราะเมืองกรุงวุ่นวายซ่องตลาดแตกมาก ชีเอาที่อยู่เบาะแสเดียวที่รู้ไปตามหานักเรียน แต่หลายๆ คนส่ายหน้า จนสุดท้ายได้ไปเจอกับ เด็กผู้หญิงอีกคนที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันบอกว่า เออ มาด้วยกัน แต่พลัดหลงกันไปแล้ว อ้าวอีเวร!!!! แล้วตอนนี้ลูกศิษย์กูจะอยู่ยังไง ครูสาวบอก งั้นมึงมาช่วยกูตามหาค่า เด็กผู้หญิงบอกจะให้ไป ก็จ่ายเงินมาค่า สุดท้ายมาแบบไม่เต็มใจนัก เดินตามหากันจนขาขวิด ก็คือยังไม่ได้ผล ยัยเด็กผู้หญิงบอกว่าเอางี้ ไปประกาศเสียงตามสาย สองเด็กเขียนรายละเอียด แล้วส่งไปให้พี่ผู้หญิงประกาศ แต่ประกาศไป 6 รอบยังไม่เจอ สรุปวันนี้ เงิน 9 หยวนที่มี ต้องจ่ายค่าแรงให้ยัยเด็กผู้หญิงที่มาช่วยไปแล้ว 2.5 หยวน 

วันถัดมายัยครูสาวเห็นประกาศ ก็เลยตัดสินใจเขียนกระดาษเป็นใบปลิว ตามหาคน ไปซื้อพู่กัน หมึก กระดาษ เงินที่มี หมด!!! กะเทยบอก อืมมมมมมมมมม อีสาววว อีหญิงงงงง มึงงงงงงงง เก็บไว้หน่อยมั้ย ซาลาเปาสักลูกก็ยังดี แต่ไม่มีอะไรหยุดยั้งปณิธานแห่งการตามนักเรียนกลับหมู่บ้านได้ ครูสาวนั่งกรอกข้อมูลที่ละแผ่น เขียนลงในกระดาษ คงเขียนข้อมูลลงไป หวังใจพลังแห่งตัวหนังสือ จะช่วยพาลูกศิษย์กลับบ้าน เขียนจนหมึกหมด เขียนจนเอาขวดหมึกไปผสมน้ำ กลับมาเขียนใหม่ อีเวร สู้ชีวิต แล้วชีวิตสู้กลับ แต่ไม่ยอมแพ้สู้กลับอีกรอบหนึ่ง!!! สู้กันไปกันมา สู้จนเช้า เขียนจนเช้า เขียนจนหลับ จนคุณลุง homeless มานั่งอ่านประกาศ​แล้วคอมเม้นงานแบบลูกค้าบอกเอเจนซี่บอก โทษนะหนู เบอร์ติดต่ออยู่ไหน ถ้าคนเค้าเห็นเค้าอยากช่วยก็ติดต่อไม่ถูกอยู่ดี อันนี้ชีวิตไม่ได้สู้กลับค่ะ แต่ความยังเด็ก ยังไม่ประสีประสานั่นแหละคือสิ่งที่สู้กลับ แต่นับถือหัวใจยัยครูสาว ชีบอกงานนี้ไม่ยอมหมดหวัง กะเทยบอก แม้ว่าจะต้องเสียความรักไป แม้ว่าจะไม่เหลือใครสักคน #พอ!!! ครูสาวบอกพอ!!!!! ขอร้อง!!! หยุดร้อง ชีบอกฉันจะไม่ฟูมฟายไม่ร้องไห้ ชีเดินไปถามลุงอย่างมาดมั่น แล้วต้องทำไง พี่ลุงบอกไปที่สถานีโทรทัศน์สิ เผื่อเค้าช่วย ออกประกาศทีเดียวคนเห็นเป็นล้าน 

เอาแล้วปฎิบัติการเดินเท้าไปสถานีมาอีกครั้ง มาถึงสถานียังไม่เปิด ตัดสินใจนอนรอหน้าสถานี เอาซีนหนึ่ง ซีนีมาติกหนึ่ง นอนจนคนมาปลุก กะเทยร้องไห้หนึ่ง!!! พอสถานีเปิด เข้าไปคุยกับเจ๊รีเซปชั่น เจ๊ก็ถาม หนูมีใบมั้ย ไม่มีค่ะเจ๊จะเอายังไงคะ ทั้งโรงเรียนมีครูอยู่คนเดียว จะให้หนูไปตามกับใครคะ อย่าว่าแต่คน คอมพ์เครื่องปริ๊นท์ก็คือฝัน กระดาษจะเขียนจดหมายยังไม่แน่ใจเลยว่าจะมีมั้ย เจ๊จะเอาไง เจ๊มาถามว่าหนูมีใบมั้ย หนูไม่มีอะไรจะให้เจ๊แล้วค่ะ หนูไปทำงานวันแรก ครูเค้าก็ไปแล้ว ไม่อยู่แล้ว สั่งอะไรไว้นิดๆ หน่อยๆ ที่เหลือให้หนูเผชิญชะตากรรมชีวิตเอง จุดนี้ สงสารกันหน่อยได้มั้ย ใจมันรับอีกไม่ไหว แน่นอนคำว่าสงสารไม่มีจริงค่ะ ชีครูสาวก็คือโดนไล่ออกมา อีเจ๊รับบทนางกันซีนแล้วหนึ่ง ยึดมั่นใจกฎขั้นสุด พร้อมบอกว่าอยากออกประกาศก็ไปคุยกับหัวหน้าสถานีเอง คนใส่แว่น อีครูสาวเหมือนรับบทนักสืบ ปะติดปะต่อจากเรื่องราวทั้งหมด ว่าหัวหน้าสถานีใส่แว่น ดังนั้นชีเลยไล่ถามทุกคนที่ใส่แว่นที่เข้าออกสถานีว่าโทษนะคะคุณคือหัวหน้าสถานีหรือเปล่า แน่นอนว่าทุกคนไม่ใช่ ลาสต์บอสคงไม่มาง่ายๆ แต่สิ่งที่เรานั่งดูอยู่ในโรงคือ สะเทือนใจแบบสุดๆ มันคือคำว่า ไม่มีไม่เหลืออะไรที่จะเสีย!!!! เด็กอายุสิบสาม ไม่มีเงินสักบาท เดินมาตามหาผู้บริหารสถานี อิดโรย มอซอ วิ่งไล่ถามทุกคนแบบไม่สนสี่สนแปด ไม่สนใจใครจะรำคาญ ความต้องการมีอย่างเดียว ต้องเจอผู้บริหารเท่านั้น!!!! จุดนี้มันแบบขยี้หัวใจคนดู แต่ถ้าไม่พอ ผกก.เสิร์ฟซีนที่บดหัวใจกลายเป็นธุลี เมื่อยัยครูสาวเดินไปที่ถ้วยก๋วยเตี๋ยวที่มีคนกินเหลือไว้ แล้วคีบเส้นขึ้นมากินอย่างหิวโหย นอนหลับอยู่ที่พื้นข้างถนน เก็บกระดาษใบปลิวทั้งหมดไว้ใกล้ตัว แต่ลมพัดทุกอย่างกระจัดกระจาย รุ่งสางพนักงานทำความสะอาดถนน กวาดเอาใบปลิวทั้งหมด ไปทิ้ง จบแล้วเงินติดตัวก้อนสุดท้ายที่ทุ่มหัวใจไป หมดแล้วความพยายามทั้งหมดที่ทำมา ชีวิตมันสู้กลับอีหญิงหนักเหลือเกิน จนเราได้แต่ตั้งคำถามว่า อีเวร หัวใจของเด็กคนนี้มันทำด้วยอะไร คำว่านางหัวใจทองคำ ตำนานบทใหม่ไม่ไกลเกินฝัน กะเทยร้องไห้จนจะตาย 

ขณะที่ตัดภาพมาที่น้องเด็กผู้ชาย ตัวต้นเรื่องที่มันเดินหายไป ตอนนี้น้องไปเป็นแรงงานเด็ก เจ๊ร้านก๋วยเตี๋ยวให้ข้าวกินแลกงานล้างจาน ไม่แน่ใจว่าน้องอยากทำมั้ย แต่จุดนั้นความหิวของเด็ก คงทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ท้องอิ่ม ส่วนยัยครูสาวในวันที่ชีวิตสู้กลับแต่ชียังไม่ละทิ้งความตั้งมั่น เดินไปตามหาผู้ชายใส่แว่นที่เป็นหัวหน้าสถานีอย่างไม่ลดละ จนฟ้ามีตาสวรรค์มีใจ โลกไม่ใจร้ายมากนัก มีอีสักคนในสถานีมันไปบอกว่าหัวหน้าว่า ท่านครับมีเด็กมาตามหาท่าน สุดท้าย อีเจ๊รีเซฟชั่นโดนด่าคนแรก กะเทยยิ้มเยาะ คว่ำปากถึงตีน สาแก่ใจอีช้อยนัก หัวหน้าบอกเป็นอีใจดำ นี่เด็กนะ จะใจจืดใจดำทำได้ลงคอ เจ๊บอกฉันทำตามกฎ ก็เค้าไม่มีใบ ไม่มีเอกสาร ไม่มีอะไรติดตัวมา จะให้ไปเจอคุณได้ไง สุดท้าย ยัยครูสาวได้เจอหัวหน้าสถานี ชีได้กินข้าว ชีกินแบบกิน กินให้รู้ว่าได้กิน จุดนี้ ภาพที่ชีไปแอบจุ๊บจิ๊บของเหลือมันซ้อนทับเข้ามา กะเทยบอกกินไปเลย ไม่ต้องแคร์ กินให้มันสมกับที่เราต้องผ่านอะไรมาบ้าง สุดท้ายหัวหน้าจัดให้ไปออกรายการ เกี่ยวกับการสะท้อนปมปัญหาการศึกษาในประเทศ แล้วแอบตีเนียนเป็นรายการสะพานบุญวันนี้ที่รอคอย 

ในรายการครูสาวนิ่งไม่พูดอะไร พูดไม่ออก จนพิธีกรคือแบบ อ่ากูต้องแบกสินะ อะมา เข้าใจนะคะว่าตื่นกล้อง แต่ลองพูดกับกล้องเหมือนเด็กคนนั้นอยู่ตรงนี้ เหมือนได้ยินทุกอย่าง จะพูดว่าอะไรคะ เท่านั้นแหละ บ่อน้ำตาแตก จางหุยเค่อ ครูมาตามเธอกลับไป เธออยู่ที่ไหน จริงๆ กะเทยสารภาพว่าอ่านซับไม่ทันเพราะ ร้องไห้อยู่ ยัยครูสาวร้องไห้ ตรงหน้ากล้อง น้ำตาไหล กะเทยร้องไห้อยู่ในโรง น้ำตาไหลเช่นกัน มันทรงพลังมากเมื่อรู้ว่า มันใจสลายขนาดไหน เด็กสาวเริ่มต้นด้วยเงิน ไม่ได้เข้าใจจิตวิญญาณความเป็นครู ไม่ได้รับการอบรม มีเพียงความตั้งใจที่แน่วแน่ว่าจะต้องทำให้ ต้องรักษาเด็กทุกคนในคลาสไว้ไม่ให้ใครหายไป ขัดเกลาอีกเล็กน้อยเธอจะเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ได้อย่างแน่นอน 

สุดท้ายด้วยอภินิหารรายการทีวี สองคนได้กลับมาที่หมู่บ้าน พร้อมด้วยเงินบริจาค และชอล์กสี ผู้คนมอบเงินพัฒนาการศึกษาให้กับชุมชน ผู้ใหญ่บ้านเอาเงินไปสร้างโรงเรียนใหม่ ครูสาวกับเด็กๆ เขียนตัวอักษรด้วยชอล์กสี ของแสนแพงที่ไม่คิดไม่ฝันว่าวันหนึ่งจะได้ใช้ เด็กๆ มองแบบฝันที่ไม่กล้าฝัน ฝันที่เคยฝัน ที่ไม่กล้าฝัน ที่คนธรรมดาคนหนึ่งไม่กล้าที่ฝัน ก็คือครูสาวบอกว่า เราต้องใช้อย่างประหยัด ครูจะให้เขียนกันคนละ 1 คำ เราแบบชอล์กสีอะมึง ถึงตอนเด็กๆ มันจะแฟนตาซีให้ตายกว่าชอล์กธรรมดาแค่ไหน แต่มันก็คือชอล์ก แต่สำหรับเค้านี่มันคือรางวัลชีวิตแล้ว แล้วได้มาแบบเยอะมาก ถึงบอกฝันที่ไม่กล้าฝัน กะเทยร้องไห้เลย รอบที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้  ครอบครัวของจางหุยเค่อปลดหนี้ได้ ทำให้เค้ากลับมาเรียนได้อีกครั้ง พร้อมคำบรรยายอักษร ทุกปีมีเงินบริจาค จะช่วยให้ 15% ของแรงงานเด็กที่ต้องมาหางานในเมืองได้กลับไปเรียนหนังสือ 

เราดูจบไม่แปลกที่จะน้ำตาไหล 

ไม่แปลกที่จะอิ่มเอมและเปี่ยมสุข กับพลังแห่งความพยายามที่สัมฤทธิ์ผล 

ในวันที่ชีวิตสู้กลับ แต่เธอสู้จนชีวิตยังต้องยอมในปณิธานอันตั้งมั่นและแน่วแน่ 

ขอบคุณนักแสดงทุกคน นักแสดงมือสมัครเล่นที่ถ่ายทอดเรื่องราวยิ่งใหญ่ด้วยหัวใจของตัวละครได้อย่างหมดจด หมดหัวใจ แท้จริง

.

แต่ (บีทเปลี่ยนเหมือนหนังผี)

.

.

หนังเรื่องนี้คือกระตุ้นต่อมเครื่องด่าเลยค่ะ 

.

.

.

ไม่ได้ด่าหนังนะคะ

.

.

.

นี่คือหนังปี 1999 จากประเทศจีน สิ่งที่อเมซิ่งสุดๆ แบบไม่บอกไม่รู้นะคะ คือยังบอกเล่าสถานการณ์ของปี 2022 ในประเทศไทยได้อย่างดี!!! ดีเหมือนประเทศชาติเราถูกสต๊าฟทิ้งไว้ตรงนั้น จุดนั้นมันพูดอะไรไม่ออกเลยค่ะพี่ หน้ามันชาไปหมด เหมือนถูกตบ!!! เมื่อระบบการศึกษาของประเทศเรากำลังล่มสลาย ไม่ใช่แค่เฉพาะการละทิ้งการศึกษา แต่ภาพใหญ่กว่านั้น คือระบบเศรษฐกิจเองก็สร้างปัญหาให้เกิดขึ้น บีบให้คนต้องละทิ้งการศึกษา ถ้าจะพูดแบบโลกสวย สว่างยิ่งกว่าทุ่งลาเวนเดอร์ คือไม่ใช่ว่าเด็กตรงนั้นโง่ หรือขี้เกียจนะโกโก้ แต่ความเป็นจริงคนเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงโอกาสและ support system จากสังคมได้ ซึ่งถ้าเค้าเข้าถึงได้ เค้าอาจจะไม่ต้องละทิ้งการศึกษาแบบจำยอม หรือถูกบีบออกมาเพื่อเป็นแรงงานหาเงินเลี้ยงปากท้องแบบนี้ ถ้าแค่ค่ารถยังต้องไปขนหิน มันต้องขนหินกี่ครั้ง โค้กกระเป๋องละ 3 หยวน เอาแค่นี้ความเหลื่อมล้ำปาไปเท่าไหร่แล้วอะ นี่เรายังไม่ได้นับนะคะ ว่านอกจากระบบเศรษฐกิจมันพังแล้ว ระบบการศึกษา ครูคนเดียวนักเรียนทั้งโรงเรียน เรียนปนกัน มันมีคุณภาพมั้ย ดูไปหน้าชา ประหนึ่งเป็น รมว. กระทรวงศึกษา ตีนกายหน้าผากแล้ว ตีนเราอาจจะไม่พอต้องไปยืมตีนคนข้างๆ ด้วย ปัญหาแน่นขนาดนี้ แต่ไม่รู้ว่าทุกวันผู้ใหญ่รับเรื่อง รับรู้มั้ย

นานทีปีหนอยากจะชวนแก๊งค์ซิสขบคริสถึงปัญหา ปกติรีวิวจากซิสอวอร์ดขึ้นชื่อเรื่อง 1. ยาว 2. เมายา 3. ไม่ค่อยมีสติ แต่อันนี้คือมันแบบ ถ้าไม่มีสติก็ต้องมีแล้วค่ะ เพราะปัญหามากดกริ่งอยู่หน้าบ้านแล้ว เตรียมทุบ ยิ่งดูยิ่งหงุดหงิด เจ็บปวด เหมือนหนังมันหยิกกีเราอยู่ เคยได้มีโอกาสพูดคุยกับครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่นักเรียนเลือกที่จะไปทำงานมากกว่าเรียนจนจบ เพราะปริญญาอาจจะไม่จำเป็นเท่าการหาเงินในเวลานี้ นั่นคือปัญหาระดับโครงสร้างที่ทำให้คนต้องละทิ้งโอกาสทางการศึกษา และหาเงินเพื่อจุนเจือครอบครัว และชำระหนี้สิน ก่อน!!! ความฝันคือ ฝันค่ะ ปากท้องคือของจริง นั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นแทบจะในทุกภาคส่วนที่สะท้อนความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทั้งในเมืองกรุงและต่างจังหวัด เรื่องของทุนในการเข้าถึงโอกาส บางคนมี 100 บางคนมี 0 บางคนมาแบบติดลบ แล้วส่งเหล่านี้มีอะไรซัพพอร์ตเด็กมั้ย…ก็ไม่ 

ความฝันคือ ฝันค่ะ ปากท้องคือของจริง นั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นแทบจะในทุกภาคส่วนที่สะท้อนความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทั้งในเมืองกรุงและต่างจังหวัด เรื่องของทุนในการเข้าถึงโอกาส บางคนมี 100 บางคนมี 0 บางคนมาแบบติดลบ แล้วส่งเหล่านี้มีอะไรซัพพอร์ตเด็กมั้ย…ก็ไม่ 

ขณะเดียวกันยังแม่ ยังไม่จบ ขอด่าต่อ ทางออกสุดท้ายยังเป็นการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลืออยู่เพื่อต่อลมหายใจ ดังนั้นแล้ว ถ้าหากคุณได้เป็นผู้รับผิดชอบปัญหานี้ คุณต้องอัดฉีดเงินเข้าไปอีกเท่าไหร่เพื่อให้ 20 ปีผ่านไป 15% นั้นมันเพิ่มขึ้นคะ ตอบ!!!! ตอบได้มั้ยๆ พูด ยื่นไมค์ ที่เราพูดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับการบริจาค แต่แล้วในวันหนึ่ง ถ้าเราไม่สามารถบริจาคได้ หรือหยิบยื่นได้แล้ว และ 20 ปีผ่านไปเรายังแก้ปัญหาด้วยการบริจาค ถ้าต่อจากนี้ผ่านไปอีก 20 ปี เราจะยังมีคนอย่าง เว่ยหมิ่นจือ ที่ออกไปตามหาเด็กอยู่มั้ย จะยังมีคนบริจาคอยู่มั้ย ถ้าปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และ มีระบบสนับสนุนที่ดีพอยังไม่เกิดขึ้นล่ะ แค่คิดว่าถ้าอีหญิงไม่ไปตามน้องเด็ก ปล่อยมันเป็นตายร้ายดียังไงไม่รับไม่รู้ไม่สนใจ เราก็จะมีแรงงานเด็กที่อาจจะเป็นขอทานข้างถนน หรือพัฒนาไปเป็นโจร แม่น้องเด็กจะนอนตายในบ้าน แล้วก็จะไม่มีใครรู้เรื่องนี้ อีหญิงอาจจะสอนเด็กแบบตามมีตามเกิด ขณะที่ครูเกากลับมาก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนไป ก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น 

แล้วอย่างนี้อีหญิงมันจะยังต้องสู้ชีวิต แล้วตั้งรับรอให้ชีวิตสู้กลับอีกกี่สิบกี่ร้อยหน ต้องเจอวีรกรรมทำเพื่อเงิน ต้องโดนแกงแล้วไม่ตาย และได้กลับมาอย่างวีรบุรษ เราต้องมีคนแบบนี้อีกกี่คนคะ ถ้าระบบสังคมมันไม่พัฒนา เราก็ได้แต่หวังว่าจะมีฮีโร่มาช่วยเราแหละ แล้วถ้าวันหนึ่งอีหญิงบอกกูเทแล้วค่ะ เด็กจะตายห่ายังไง เป็นตายร้ายดียังไงกูไม่สน แล้วจะทำกันยังไงคะ!!!!

ดูจบร้องไห้ค่ะ ทั้งอิ่มเอมกับวีรกรรมยัยครูสาว แล้วพอถอยออกมาร้องไห้ค่ะ ร้องให้กับชะตากรรมอนาคตของประเทศ และการศึกษา 

#กะเทย 

#SisAwards

#NotOneLess 

จากวงการหนังถึงฟิลิปปินส์: โปรดดูหนัง “ยุคมาร์กอส” ก่อนไปเลือกตั้ง!

ห้าปีที่แล้ว บงบง มาร์กอส (Bongbong Marcos) แพ้เลือกตั้งรองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ แต่ในวันจันทร์ที่กำลังจะถึงนี้ (9 พฤษภาคม) ลูกชายของอิเมลดาและเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตผู้นำที่เคยปกครองประเทศด้วยอำนาจเผด็จการและกฎอัยการศึกอยู่ร่วมทศวรรษ อาจพาตระกูลมาร์กอสกลับสู่ทำเนียบประธานาธิบดีได้อีกครั้ง หลังวาระของ โรดริโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Duterte) ที่เปิดเผยเสมอมาว่าทั้งสนับสนุนให้คืนเกียรติยศสู่ตระกูลมาร์กอส และเป็นมิตรทางการเมืองที่แน่นแฟ้น และยุคสมัยของสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “ข่าวปลอม” กับ “ไอโอ”

ฝ่ายต้านมาร์กอสมองว่าข่าวปลอมกับไอโอเหล่านี้มีเบื้องหลังคือกลุ่มการเมืองฝ่ายเชียร์มาร์กอสชัดเจน และกำลังเขียนประวัติศาสตร์ใหม่อย่างน่าละอาย ลดทอนความเลวร้ายของกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ระหว่างปี 1972 ถึง 1981 (และอำนาจบางประการที่ต่อมาก็ยังบังคับใช้อยู่ จนถึงวันที่มาร์กอสถูกประชาชนโค่นล้มในปี 1986) สร้างความทรงจำใหม่ว่าบ้านเมืองยุคนั้นก็เจริญดี ไม่เห็นมีปัญหาเศรษฐกิจหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอะไร – ดูเตอร์เตเองเคยพูดชัดๆ เมื่อปี 2016 ตอนถูกถามเรื่องสมัยมาร์กอส บอกว่า “ก็ไม่เห็นมีคนศึกษา ไม่เห็นมีคนทำหนังเรื่องนี้นี่”

ตั้งแต่ช่วงหลายเดือนก่อนวันเลือกตั้ง #MartialLawNeverAgain และ #NeverForget ถูกใช้เพื่อรณรงค์สร้างความรับรู้ในประเด็นกฎอัยการศึกและอำนาจอิทธิพลของตระกูลมาร์กอสอย่างต่อเนื่องในโลกออนไลน์ ซึ่งภาพยนตร์ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนทางการเมืองครั้งนี้

ไม่มีหนังเรื่องกฎอัยการศึกกับความชั่วช้าของมาร์กอสเหรอ? เอาลิงก์ไปเลยสิ!

ทวิตเตอร์ kayacnvs และเฟซบุ๊ก Bea Dolores กับ Kristia Solana ได้รวบรวมลิงก์หนังและสารคดีที่เล่าเรื่องบ้านเมืองในสมัยกฎอัยการศึกของมาร์กอส ที่สามารถเข้าถึงได้ออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะหนังของผู้กำกับฟิลิปปินส์คนสำคัญอย่าง คิดลัท ตาฮิมิค (Kidlat Tahimik) ไมค์ เดอ เลออน (Mike de Leon) ราโมน่า ดิอาซ (Ramona S. Diaz) และ ชิโต รนโญ (Chito S. Roño)

ในจำนวนดังกล่าวรวมถึงสารคดี The Kingmaker (2019) ซึ่งผู้กำกับ ลอเรน กรีนฟิลด์ (Lauren Greenfield) ได้ออกหน้าแสดงตัวมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนครั้งนี้ ด้วยการปล่อยหนังฉบับพากย์ภาษาตากาล็อก พร้อมซับไตเติล 5 ภาษาท้องถิ่นของชาวฟิลิปปินส์

THE KINGMAKER (Tagalog Dub/Tagalog Subs)

หลังจากนั้น ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา คิวเรเตอร์และนักอนุรักษ์ภาพยนตร์ โรส โรก (Rose Roque) ได้จัดโปรแกรมหนังสั้นการเมืองฟิลิปปินส์จากช่วงต้นทศวรรษ 1980 ชื่อ Daluyong: Political Filmmaking in a Period of Social Unrest Redux เพื่อช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนนี้อีกแรง เพราะภาพยนตร์เหล่านี้คือภาพแทนของการใช้หนังเพื่อต่อสู้กับการโฆษณาชวนเชื่อและสื่อกระแสหลักของฟิลิปปินส์ภายใต้อำนาจรัฐบาลมาร์กอสในขณะนั้น

เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงเวลาสำคัญของฟิลิปปินส์ และเพื่อตอบโต้มายาภาพแฟนตาซีความยิ่งใหญ่ในอดีตที่ฝ่ายมาร์กอสกำลังพยายามกอบกู้อย่างสุดแรงอยู่ในขณะนี้

ไม่ว่าในท้ายที่สุดแล้ว การใช้ภาพยนตร์เพื่อยับยั้งไม่ให้ทายาทเผด็จการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่การใช้หนังเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองของชาวฟิลิปปินส์ในช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้


นอกจากลิสต์รายชื่อภาพยนตร์ในเนื้อข่าว (ซึ่งคงออนไลน์ให้ได้รับชมกันอีกสักพัก ไม่ว่าลูกชายมาร์กอสจะได้เป็นประธานาธิบดีในวันจันทร์ที่จะถึงนี้หรือไม่) Film Club ก็ขอร่วมสมทบชี้ช่องไปถึงภาพยนตร์ของ ลาฟ ดิอาซ (Lav Diaz) อีกหนึ่งผู้กำกับฟิลิปปินส์คนสำคัญที่เคยทำหนังเรื่องกฎอัยการศึกทั้งโดยตรงและสัญญะเปรียบเปรย รวมถึงใช้หนังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองอย่างแข็งขันในสมัยดูเตอร์เต โดยสามารถสตรีม (ไม่ฟรี) ได้ที่ https://mubi.com/specials/lavdiaz

2499 อันธพาลครองเมือง (2540) หนังฮ็อตที่เปิดยุคสมัยของหนังไทย ในเฮือกสุดท้ายก่อนเศรษฐกิจล่มสลาย

“แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆ ถ้าไม่แน่จริงนะอยู่ไม่ได้” คำพูดนี้ของเชียร รถถัง โด่งดังเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่สมัยหนังยังฉาย ทุกวันนี้นอกจากถูกตัดมาเป็นคลิปฉายซ้ำๆ กันแล้ว ยังเป็นมีมที่คนรุ่นใหม่รู้จักกันดี

ไม่ใช่เพียงวลีนี้ ผลงานเขียนบทภาพยนตร์ของวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ยังได้ฝากลวดลายไว้ผ่านปากของตัวละครดังๆ ทั้งหลายอีกไม่น้อย ทีมงานผู้สร้างหนังเหล่านี้ มีพื้นฐานมาจากวงการโฆษณา เรารู้กันดีว่า วงการโฆษณาไทยนั้นเติบโตมหาศาลมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 และมาพีคสุดขีดในทศวรรษ 2530 ไม่แปลกอะไรที่ฉากไม่น้อยที่แทรกเข้ามา จะเป็นการเล่นกับภาพที่สวยราวกับถ่ายสารคดี เช่น ปลากัด งานบวช ฯลฯ องค์ประกอบเหล่านี้จะถูกปล่อยของออกมาเต็มๆ ในอีก 2 ปีข้างหน้าในหนังเรื่อง นางนาก ผู้กำกับคนเดียวกันที่ชื่อว่า นนทรีย์ นิมิบุตร

จากเดิมที่หนังที่หวังทำเงินจะต้องใช้ดาราหรือคนดังเป็นแม่เหล็กดึงดูด อย่างเช่น โลกทั้งใบให้นายคนเดียว (ปี 2538 – 55 ล้านบาท), สติแตกสุดขั้วโลก (ปี 2538-48 ล้านบาท), คู่กรรม (ปี 2538-44.5 ล้านบาท) กลายเป็นว่า ดาราใน 2499ฯ แทบจะเป็นดาราหน้าใหม่ทั้งหมด ตัวละครแต่ละตัวมีคาแรกเตอร์โดดเด่นเป็นที่น่าจดจำไม่ว่าจะเป็นแดง ไบเล่ (เจษฎาภรณ์ ผลดี), ปุ๊ ระเบิดขวด (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ), ดำ เอสโซ่ (ชาติชาย งามสรรพ์), เชียร รถถัง (อภิชาติ ชูสกุล) โดยเฉพาะปุ๊ จะกลายเป็นตัวละครสำคัญต่อไปในฟ้าทะลายโจร และมนต์รักทรานซิสเตอร์

หนังเริ่มฉายในเดือนเมษายน 2540 ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะประกาศลอยค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม หนังเรื่องนี้จึงถือว่าเป็นผลผลิตท้ายๆ ของยุคฟองสบู่ที่ยังไม่แตกโพละออกมาในอีก 3 เดือนต่อมา 

บรรยากาศของหนังนั้นอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังโกอินเตอร์ในฐานะเสือทะยานฟ้า ข่าวสารที่หมุนเวียนอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์นั้น เราพูดถึงไทเกอร์ วูดส์ เรายกย่องแทมมี่ที่เป็นนักเทนนิสที่ไปไกลถึงระดับโลก ไทยคม 3 ที่ทักษิณ ชินวัตรมีเอี่ยวก็กำลังจะถูกยิงขึ้นวงโคจร

ขณะที่เครือข่ายทางการเมืองก็กำลังผลักดันร่างรัฐธรรมนูญที่ต่อมาเราเชื่อกันว่าเป็น “ประชาธิปไตย” และประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด (มีข่าวด่าสสร.ที่ไปจัดประชุมในโรงแรมหรูด้วย!) 

แต่ในทางกลับกัน wording ในหนังก็อาจสะท้อนความรู้สึกของยุคสมัยตอนนึงก็คือ “ในยุคสมัยที่นักการเมืองเอาแต่โกงกิน จนเศรษฐกิจตกต่ำอย่างนี้ คิดจะหางานทำ ยังยากกว่าหาปืนสักกระบอกซะอีก” เป็นที่บังเอิญว่าขณะนั้นมีข่าวลูกชายนักการเมืองชื่อดังยิงคนในผับ ก่อนหน้านั้นก็มีบางคนที่ประกาศกร้าวว่า กูเป็นลูกใครแล้วยิ่งใส่รถคู่อริ บางคนก็ร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายในผับจนเหยื่อเสียชีวิต 

เมื่อเปรียบกับบริบทของหนังแล้ว มันคือช่วงปี 2500 ก่อนสฤษดิ์จะทำการรัฐประหาร และจุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ การกล่าวถึงศึกสิบสามห้างที่เกิดขึ้นในปี 2500 ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการปะทะและแตกหักกันระหว่างแก๊งไบเล่และแก๊งระเบิดขวด เมื่อเหตุการณ์จบลง ไม่นาน สฤษดิ์ก็ทำการรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2501 สิ่งที่ตามมาก็คือ การกวาดล้างแก๊งค์อันธพาล และนักเรียนนักเลงทั้งหลาย ผลักดันให้พวกเขาออกนอกกรุงไปยังพื้นที่นอกกฎหมายแห่งใหม่นั่นคือ แถบอู่ตะเภาเพื่ออยู่รอดและหากินภายใต้ความเฟื่องฟูของย่านบันเทิงที่รองรับทหารจีไอที่มาทำสงครามเวียดนาม

2499ฯ เล่าเรื่องผ่านปากของเปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์ (อรรถพร ธีมากร) ในฐานะคนใกล้ตัวและเพื่อนสนิทคนหนึ่งของแดง ไบเลย์ พระเอกของเรื่อง เปี๊ยก คือ พยานสำคัญที่หลงเหลือมาเล่าชีวิตของแดงในฐานะที่อยู่ข้างๆ เขา ไม่ว่าจะสมัยวัยเรียน หรือสมัยที่ยิ่งใหญ่ในวงการนักเลง

แดง ไบเลย์ แม้ว่าจะเป็นนักเลง แต่ก็พูดจาสุภาพเรียบร้อย ผู้เขียนบทใช้สรรพนาม เรา-นาย ในบทสนทนา กระนั่นประวัติอาชญากรรมก็ได้บันทึกไว้ว่า แดงฆ่าศพแรกเมื่อเขาอายุได้เพียง 13 ขวบ เนื่องจากมีผู้ชายมารุ่มร่ามกับแม่ของเขา อาชีพของแม่ที่เป็น “ผู้หญิงหากิน” ดูจะเป็นปมในใจ จะเห็นว่า แดงโกรธเลือดขึ้นหน้า เมื่อเห็นว่า มีผู้หญิงถูกขังไว้เยี่ยงสัตว์ที่บ้านหมู่เชียร เพราะไม่ยอมไปทำงานขายตัว จนถึงกับซ้อมลูกน้องหมู่เชียรที่เป็นทอมจนสลบ แดงว่าไว้ “แม่งผู้หญิงด้วยกัน ทำกันได้ลงคอ”

เจมส์ ดีน (2474-2498) เป็นวัยรุ่นที่โด่งดัง แต่อายุสั้น เขาตายตั้งแต่วัยหนุ่มเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นหนึ่งไอคอนที่วัยรุ่นสมัยนั้นคลั่งไคล้ ส่วนอีกคนก็คือ เอลวิส เพรสลีย์ที่นอกจากจะมีเพลงที่ยอดนิยมแล้ว ท่าเต้นทวิสต์อันลือลั่นของเขากลายเป็นท่าต้องห้ามในไทยอยู่ช่วงหนึ่ง ลักษณะขบถของวัยรุ่นไทยในยุคนั้น มิใช่เป็นการขบถต่อระบบการเมืองแบบฝ่ายซ้าย แต่เป็นขบถแบบขวาที่มีพลังชายเป็นใหญ่ ตัดสินกันด้วยกำลัง ว่ากันว่า ยุคนั้นเป็นยุคที่มีอันธพาลมากกว่าพระ 

ศพที่สองของแดง เกิดขึ้นในคืนส่งท้ายปีเก่า ในปีเดียวกับชื่อหนังนั่นเอง แดงบุกสังหารเฮียหมา ขาใหญ่แถบนั้น หลังจากที่เขาถูกเรียกไปสั่งสอน เหยียดหยามและคุกคามอย่างไร้ทางสู้ อย่างไรก็ตามศัตรูตลอดกาลที่น่าหวาดหวั่นของแดง กลับเป็นอดีตเพื่อนของเขาอย่างปุ๊ ระเบิดขวด และดำ เอสโซ่ อันธพาลที่ถูกเขียนบทให้ร้ายสุดขั้ว นั่นคือ หยาบคาย กักขฬะ ไม่ให้เกียรติผู้หญิง บุ่มบ่าม นิยมความรุนแรงโดยไร้เหตุผล โดยมีจุดแตกหักอยู่ในสมรภูมิที่เรียกว่า “ศึกสิบสามห้าง” บางลำภู

จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องคือ การรัฐประหารและนโยบายปราบอันธพาลของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้แดงต้องระเห็จไปพึ่งหมู่เชียรที่อู่ตะเภา พระนครไม่ใช่แหล่งหากินที่ปลอดภัยของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ย่านนี้เติบโตขึ้นมาในฐานะรองรับความบันเทิงของทหารอเมริกันที่มาตั้งฐานทัพอยู่แถบนั้น ในช่วงสงครามเวียดนาม 

และที่นั่น ปุ๊ กับ ดำก็ตามไปก่อเรื่องอีก อย่างไรก็ตามธุรกิจของหมู่เชียร รถถังที่ขยายตัวมากขึ้นกลับไปขัดแย้งกับผู้ใหญ่เต๊ก ผู้มีอิทธิพลประจำถิ่น ทำให้เขาถูกลอบสังหาร แล้วดูเหมือนว่า ปุ๊ กับ ดำจะมีส่วนกลายๆ แดงเคยเตื่อนหมู่เชียรว่า “ระวัง มันจะแว้งมากัดพี่” ความรุนแรงดังกล่าวไม่สิ้นสุด แดงและพรรคพวกได้ทำการฆ่าล้างแค้นให้

ตอนท้ายของเรื่องที่กลับมาบรรจบกับตอนเปิดเรื่องคือ ฉากที่แดงกำลังจะเข้าพิธีบวชนาคก่อนจะอุปสมบทเป็นพระ สุดท้ายแดงไม่ได้บวช เพราะถูกปุ๊และพรรคพวกเข้ามาก่อกวน ฉากยิงกันสนั่นวัด ให้อารมณ์หนังแก๊งสเตอร์ฮ่องกงแบบจอห์นวู 

สุดท้าย แดงก็ถึงจุดจบ แต่ไม่ใช่เพราะถูกยิงหรือแก้แค้นใดๆ แต่เป็นเพราะสาเหตุคล้ายกับดีน คือ อุบัติเหตุทางรถยนต์ “เค้าตายแบบเดียวกับเจมส์ ดีน วีรบุรุษที่เค้าบูชา”

ปัญหาที่อาจไม่ใช่ปัญหาของ 2499ฯ ก็คือ ภาพยนตร์ย้อนยุคที่ผู้สร้างได้สร้างอดีตขึ้นชุดหนึ่งบนฉากและองค์ประกอบศิลป์ที่สมจริง ด้วยความสามารถของพวกเขาที่จัดเจนมากับงานโฆษณามาก่อน การเนรมิตกรุงเทพฯ อู่ตะเภา และฉากหลังของบ้านเมืองที่เหมือนราวกับวิดีโอสารคดีก็ทำให้หลายคนแยกไม่ออกว่านี่คือ ภาพยนตร์ที่มีสถานะเป็นเรื่องเล่าชนิดหนึ่งที่มีความบันเทิงเป็นตัวขับเคลื่อน

ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจ กรณีที่คนที่อ้างตนว่า เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จะกล่าวโจมตีตัวหนัง ผู้สร้าง และสุริยัน ศักไธสง เจ้าของบทประพันธ์ “เส้นทางมาเฟีย” อันเป็นที่มาของหนังเรื่องนี้ (เดิมเคยเขียนลงเป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ และตีพิมพ์มาก่อนหนังจะฉายเกือบสิบปี) ตัวละครต่างๆ ออกมาฉะอย่างไม่ไว้หน้า กระทั่งพิศาล อัครเศรณี ผู้กำกับนักแสดงฉายาตบจูบที่อ้างว่าเป็นเพื่อนซี้ของแดง ไบเล่ก็ออกมาร่วมวิจารณ์ โดยชี้ว่า บิดเบือน คนสมัยก่อนไม่ได้พกปืนไว้ยิงกัน เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์ ผู้เป็นตัวละครสำคัญก็ไม่มีตัวตน ไม่มีใครรู้จัก ฯลฯ โดยเฉพาะปุ๊ กรุงเกษม (ที่ในหนังมีฉายาว่า ปุ๊ ระเบิดขวดและตายในท้ายเรื่อง) ย้ำว่า “เราต้องการเพียงแต่ความเป็นจริงกับเรื่องราวจริงๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่เอาเรื่องโกหกมาสร้างขายคนดู ไม่ใช่เอาเรื่องโกหกมาสร้างเป็นประวัติศาสตร์” (ข่าวสด, 30 เมษายน 2540)

แต่ความเข้าใจผิดนี้ยิ่งกลับเป็นแรงหนุนให้ 2499ฯ มียอดจำหน่ายตั๋วสูงจนกลายเป็นหนังที่มีรายได้สูงสุดตลอดกาลที่ 75 ล้านบาท ต้องรออีก 2 ปีที่นางนากจะกลับมาแซงด้วยรายได้สูงเป็น 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ 2499ฯ นอกจากรายได้แล้ว ก็คือ ชื่อเสียงของหนังที่คว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศ การได้รางวัล Grand Prix ในเทศกาลหนัง International Festival of Independent Film ครั้งที่ 19 ที่เบลเยี่ยม ช่วยตอกย้ำสถานะของหนังเรื่องนี้ว่ามีการันตีระดับโลก รวมถึงการขอซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายต่อที่อังกฤษ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ถือเป็นข่าวดีหลังจากที่ไทยเจอพิษเศรษฐกิจไปแล้ว

ความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้จึงมิใช่เพียงรายได้ หรือการเป็นตัวเปิดของยุคใหม่ของหนังไทย แต่มันคือ จุดเริ่มต้นของหนังย้อนยุคประวัติศาสตร์ที่จะกลายเป็นสูตรสำเร็จของหนังไทยหลังเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่เรารู้จักกันในนาม “ราชาชาตินิยม” ที่ขึ้นถึงจุดสูงสุดในหนังเรื่อง “สุริโยไท”

30 ปี Sailor Moon มนต์แห่งจันทราที่ยังคงขลังไม่เสื่อมคลาย

30 ปีผ่านไป ทำไมทุกคนยังคงรักเซเลอร์มูนอยู่?

“ตัวแทนแห่งดวงจันทร์จะลงทัณฑ์แกเอง” ประโยคที่คน Gen Y ลงไปต่างก็คุ้นเคยกันดีหรือต่อให้ไม่ได้ดูก็ต้องเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง กับประโยคเปิดตัวของเซเลอร์มูน ถึงเวลาจะล่วงเลยไป 30 ปีแล้วที่สาวน้อยเวทมนตร์คนนี้และผองเพื่อนได้เดบิวต์สู่สายตาชาวโลก แต่ในทุกวันนี้เซเลอร์มูนยังส่งผลต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยมากมายทั้งในเอเชียและทั่วโลก ทั้งสินค้าและอนิเมะภาคใหม่ๆ ยังคงออกมาอย่างต่อเนื่อง และยังถูกพูดถึงหรือใช้อ้างอิงในสื่อปัจจุบันอยู่ตลอด ก็เลยอยากพาคนอ่านทุกคนมาหาคำตอบกันว่าทำไมอนิเมะเรื่องนี้ถึงอยู่ในใจผู้คนมาจนถึงตอนนี้ (จะขอพูดถึงอนิเมะต้นฉบับเวอร์ชั่น 1992-1997 เป็นหลัก)

ปฏิวัติสาวน้อยเวทมนตร์

เซเลอร์มูนนั้นถือเป็นอนิเมะแนว สาวน้อยเวทมนตร์ หรือ Mahou Shoujo ซึ่งถือว่าเป็นแนวย่อยของกลุ่มอนิเมะสำหรับเด็กผู้หญิง (Shoujo) ที่มีประวัติมายาวนาน ซึ่งแนวสาวน้อยเวทมนตร์นั้นหลักๆ จะเป็นเรื่องของเด็กหญิงที่มีพลังวิเศษและสามารถเปลี่ยนร่างได้ โดยอนิเมะที่ถือเป็นจุดตั้งต้นให้เกิดแนวนี้ขึ้นมาก็คือ แม่มดน้อยแซลลี่ (Mahotsukai Sari) ตอนปี ค.ศ. 1966 (เคยฉายทางช่อง 3 บ้านเรา แต่เป็นเวอร์ชั่นรีเมกปี 1989) แต่ถ้าจะนับว่าสาวน้อยเวทมนตร์เรื่องแรกจริงก็คือเรื่อง ความลับของอั๊กโกะจัง (Himitsu no Akko-chan) ที่ตัวตัวมังงะเขียนขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1962 แต่ถูกทำเป็นอนิเมะ ในปี ค.ศ. 1969 แต่ทั้งสองเรื่องนี้ก็เป็นตัวทำให้เกิด Genre สาวน้อยเวทมนตร์ จนเกิดอีกหลายเรื่องที่ผลิตซ้ำตามมา ซึ่งโดยมากจะเป็นจะเป็นการผจญภัยของเด็กสาววัยสิบต้นๆ มีคู่หูเป็นสัตว์มุ้งมิ้งน่ารัก มีอุปกรณ์ในการแปลงร่างแต่มักจะฉายเดี่ยวหรืออย่างมากก็มีลูกน้องคู่ใจ กลุ่มคนดูหลักก็คือเด็กผู้หญิง ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1992 จะมีอนิเมะที่มาปฏิวัติแนวสาวน้อยเวทมนตร์นั้นก็คือ เซเลอร์มูนนั้นเอง ต้นกำเนิดของเซเลอร์มูนนั้นมาจากมังงะของ อ.นาโอโกะ ทาเคอุจิ (ลิขสิทธิ์โดย สนพ.วิบูลย์กิจ) สิ่งที่ทำให้เซเลอร์มูนนั้นแตกต่างกับสาวน้อยเวทมนตร์ก่อนหน้านี้ก็คือ การที่ตัวเอกหลักนั้นอยู่ในวัยที่โตขึ้นคือเป็นวัยรุ่นและไม่ได้ฉายเดี่ยว แต่มาเป็นทีมตามแบบการ์ตูนเด็กผู้ชายในยุคนั้นที่มักเป็นเป็นกลุ่มหรือขบวนการ อย่างเซนต์เซย่า ยูยูฮาคุโช บวกกับอิทธิพลจากแนวไลฟ์แอคชั่นอย่างพวกขบวนการห้าสี ตบด้วยเนื้อหาที่โตขึ้นตามวัยของตัวเอก เช่นความรัก ความฝัน การเติบโต เซเลอร์มูนจึงเป็นส่วนผสมกันระหว่างแนวเลิฟคอเมดี้วัยรุ่น x แนวสาวน้อยเวทมนตร์ x แนวฮีโร่ขบวนการ ได้อย่างลงตัว

หลังจากที่เซเลอร์มูนออกมาก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการสร้างอนิเมะแนวสาวน้อยเวทมนตร์ ไม่ต่างกับตอนที่กันดั้มได้เปลี่ยนแปลงแปลงอนิเมะแนวหุ่นยนต์ไปตลอดกาล ส่งผลให้อนิเมะแนวสาวน้อยเวทมนตร์หลังจากนั้นต่างก็ได้รับอิทธิพลจากเซเลอร์มูนทั้งนั้น อย่างเช่น Wedding Peach (1994) แม่มดน้อยโดเรมี (1999) Pretty Cure (2004) ซึ่งอิทธิพลมากมายที่เกิดจากอนิเมะชุดนี้ได้ฝังไปอยู่ในใจเด็กๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงและ Lgbtq+ ที่จะผูกพันธ์กับซีรีส์มากเป็นพิเศษ แต่ก็อยากให้มองว่ามันเป็นงานที่ไร้พรมแดนไม่ว่าจะเพศ เชื้อชาติ หรืออยู่ในวัฒนธรรมใด ก็สามารถโอบรับเหล่าอัศวินเซเลอร์ผู้พิทักษ์ความรักและความยุติธรรมไว้ในอ้อมกอดได้หมด

ฮารุกะ และ มิจิรุ

มาก่อนกาลในเรื่อง LGBTQ+

“อี๋ มึงดูเซเลอร์มูน มึงเป็นตุ๊ด” นั่นคือประโยคที่เด็กประถมเพศชายในยุค 90 ชอบล้อกันหากพบว่าใครนั้นดูเซเลอร์มูน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ส่วนใหญ่ก็ดูกันนั้นแหละ เพราะเซเลอร์มูนนั้นฉายเป็นเรื่องที่ 4 ในผังของช่องเก้าการ์ตูน ยังไงเด็กผู้ชายก็ต้องรอดูให้จบเพื่อจะได้ดูการ์ตูนกีฬากับขบวนการ 5 สี ที่เป็นเรื่องลำดับถัดไป แต่ต้องทำเป็นแอ๊บตามค่านิยมของสังคมยุคนั้น คงเพราะด้วยความที่มันดูเป็นผู้หญิงมากๆ และมีองค์ประกอบต่างๆ ที่ Queer สูง ทั้งแฟชั่น การแปลงร่างและจริตทั้งมวลมันกระตุ้นความสาวในกายออกมา โดยที่ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าเซเลอร์มูนนั้นมีความก้าวหน้าในเรื่องเพศสภาพอย่างมาก อย่างภาคแรกสุดที่เด่นชัดมากๆ ก็คือตัวละครฝั่งผู้ร้ายอย่าง ซอยไซท์ ที่มีจริตความเป็นกระเทยออกมาอย่างชัดเจน และมีคู่รักคือ คุนไซท์ ที่เป็นขุนพลฝั่งตัวร้ายเหมือนกัน ซึ่งคุนไซท์นั้นก็ดูเป็นผู้ชายปกติและในเรื่องทั้งคู่ก็ดูเป็นคู่รักกันอย่างเปิดเผย (ซึ่งเด็กประถมอย่างผมดูแล้วก็ไม่เข้าใจทำไมผู้ชายกับผู้ชายถึงรักกันได้) ซึ่งน่าจะเป็นคู่รัก LGBTQ+ คู่แรกๆ ในโลกอนิเมะ
และยิ่งไปภาคที่ 3 ก็คือภาค S ที่มีตัวละครใหม่อย่างฮารุกะ (เซเลอร์ยูเรนัส) และมิจิรุ (เซเลอร์เนปจูน) ที่มีความสัมพันธ์ดูเป็นคู่รักแถมอยู่กินด้วยกัน และความที่ฮารุกะนั้นเป็นสาวเท่ หล่อ จนตัวละครอื่นๆ อย่างแก๊งค์อุซางิต่างก็กรี๊ด นั้นเป็นการนำเสนอภาพเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ใหม่มากๆ ในยุคที่สังคมยังไม่เปิดเผยและเปิดใจให้กับสิ่งนี้ แต่เด็กๆ ก็รับรู้การมีอยู่ของมันไปแล้ว และด้วยความที่ตัวละครนั้นมีเลือดเนื้อ มีมุมโรแมนติกในความสัมพันธ์นั้นยิ่งทำให้เด็กที่ดูนั้นเกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจได้ง่าย แม้แต่คู่รักตัวร้ายอย่างซอยไซท์และคุนไซท์ก็มีพาร์ตที่ซึ้งและเรียกน้ำตาได้

หรือแม้แต่ภาคสุดท้ายอย่าง Sailor Moon Sailor Stars ที่อัศวินเซเลอร์กลุ่มใหม่อย่าง เซเลอร์สตาร์ไลท์ ที่ในร่างปกตินั้นจะเป็นกลุ่มไอดอลชายบอยแบนด์แต่เมื่อแปลงกายเป็น เซเลอร์สตาร์ไลท์ ก็จะเปลี่ยนเป็นเพศหญิงทันที จึงกล่าวได้ว่าเซเลอร์มูนนั้นเป็นอนิเมะที่เล่นกับความลื่นไหลของเพศสภาพอยู่ตลอด เหมือนจะบอกว่าเรื่องเพศนั้นไม่มีอะไรที่ตายตัว แต่สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญและเชิดชูคือความรักต่างหาก ซึ่งความรักก็คือสิ่งที่มีอานุภาพมากที่สุดในเรื่อง

แต่ความก้าวหน้าของเซเลอร์มูนก็ทำให้ถูกเซนเซอร์จากหลายประเทศที่ออกฉาย บางประเทศก็เปลี่ยนเพศของตัวละครซอยไซท์ให้กลายเป็นผู้หญิงไปเลย หรือคู่ฮารุกะกับมิจิรุก็เปลี่ยนบทให้เป็นความรักระหว่างพี่น้องแทน แต่มาถึงยุคนี้สิ่งที่เคยถูกเซนเซอร์ไว้ก็ถูกเปิดเผยออกมาทางอินเทอร์เน็ต เป็นการพิสูจน์ว่าเซเลอร์มูนต้นฉบับนั้นถูกต้องและอยู่เคียงข้าง LGBTQ+ มาตลอด จนเป็น soft power ที่มีอิทธิพลสูงมาก

คาแรคเตอร์ที่เรารัก

อีกเวทมนตร์ของเซเลอร์มูนก็คือเหล่าตัวละครอันเป็นที่รัก ตั้งแต่ตัวเซเลอร์มูนหรืออุซางิ ที่ถึงแม้จะเต็มไปด้วยข้อเสีย เซ่อซ่า เรียนไม่เก่ง ติ๊งต๊อง พึ่งพาอะไรไม่ได้ แต่การที่อุซางิได้เป็นนางเอกนั้นนอกจากจะทำให้เด็กสาวส่วนใหญ่รู้สึกว่าใกล้ตัวแล้วยังบ่งบอกถึงการจะเป็นฮีโร่นั้นไม่จำเป็นต้องต้องเก่งอะไรมากมาย ถ้าอุซางิเป็นได้ทุกคนก็เป็นได้เช่นกัน แค่มีความกล้าและมีเพื่อนๆ ค่อยช่วยเหลือเคียงข้างก็สามารถทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ถึงเผินๆ นิสัยอุซางิจะน่ารำคาญแต่ก็ถูกเล่าด้วยท่าทีที่ดูตลกขบขันแทน และกลุ่มเพื่อนอัศวินเซเลอร์ตัวหลักทั้ง 4 คนอย่าง อามิ เรย์ มาโคโตะ และมินาโกะนั้นล้วนแต่ออกแบบมาดี มีเสน่ห์ แต่ละคนเก่งคนละอย่างและมีจุดด้อยคนละอย่าง มีการเติบโตของตัวละครตลอดในช่วง 200 กว่าตอนของเวอร์ชั่นต้นฉบับ ทำให้คนดูนั้นรักและผูกพันในมิตรภาพของเพื่อนรักทั้ง 5 คนมากๆ

และพระเอกที่ไม่ใช่ตัวเอกอย่างมาโมรุหรือหน้ากากทักซิโด้ก็เป็นบทบาทที่น่าสนใจ เนื่องจากเรื่องเซเลอร์มูนนั้นตัวเอกคือสาวๆ เหล่าอัศวินเซเลอร์ บทบาทของหน้ากากทักซิโด้จึงเป็นการช่วยเหลือยามคับขัน (ปากุหลาบขัดขวางศัตรู) คอยเปิดโอกาส (ตอนนี้แหละ! เซเลอร์มูน!) พูดให้กำลังใจ (อย่ายอมแพ้ พวกเธอทำได้ เชื่อมั่นในตัวเองสิ) ไม่ใช่การปราบศัตรู (จริงๆ แล้วหน้ากากทักซิโด้พลังอ่อนด้อยกว่าอัศวินเซเลอร์ทุกคน) และมีหลายครั้งที่เหล่าอัศวินเซเลอร์ต้องเป็นฝ่ายช่วยหน้ากากทักซิโด้หรือมาโมรุจากอันตราย หรือเรียกได้ว่าบทบาทของพระเอกในเรื่องนั้นมีไว้เพื่อซัพพอร์ตให้ตัวเอกอย่างเซเลอร์มูนโดดเด่นยิ่งขึ้น ทั้งในการต่อสู้ ด้านความรักและการเติบโต

เหล่าตัวละครเสริมอย่างเช่นกลุ่มอัศวินวงโคจรรอบนอกได้แก่ ยูเรนัส เนปจูน พลูโต แซทเทิร์น ต่างก็มีการออกแบบคาแรคเตอร์โดดเด่น มีเรื่องราวของตัวเองที่น่าสนใจ ถึงแม้ว่าตัวเด่นของเรื่องจะเป็นเหล่าอัศวินเซเลอร์หลัก 5 คน แต่ตัวละครเสริมเหล่านี้ก็ทำให้เรื่องสนุกและลึกขึ้น หรือแม้แต่เหล่าตัวร้ายเองต่างก็น่าจดจำเช่นกัน เพราะถึงเป็นตัวร้ายแต่ก็มีแง่มุมให้เห็นใจ ซึ่งตัวที่ผู้เขียนจดจำได้มากที่สุดตัวหนึ่งก็คือ เนฟไลท์ หนึ่งในแม่ทัพของอาณาจักรดาร์กคิงดอมที่ตอนหลังตกหลุมรักกับ นารุ เพื่อนสนิทของอุซางิจนกลายเป็นโศกนาฎกรรมไปในที่สุด แต่มันก็ตอบย้ำธีมเรื่องอานุภาพของความรักได้ดี และยังมีตัวร้ายอีกหลายตัวที่เป็นตัวแทนของ LGBTQ+ หรือปีศาจประจำตอนเองก็มีความ Queer ในการออกแบบสูง

งานศิลป์ที่โดดเด่น ดนตรีที่โดดเด้ง

สิ่งที่ทำให้เซเลอร์มูนเวอร์ชั่น 90 ประสบความสำเร็จและโด่งดังไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไอเดีย คอนเสปต์และตัวละคร แต่เป็นองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่มาประกอบเป็นงานอนิเมชั่นได้อย่างลงตัว ซึ่งส่วนตัวว่าเวอร์ชั่น 90 นั้นทำออกมาสร้างสรรค์ น่าจดจำกว่าเวอร์ชั่นสร้างใหม่อย่างภาค Crystal โดยส่วนที่กินขาดอย่างเห็นได้ชัดคือในส่วนของงานศิลป์ หลังจากที่ย้อนกลับมาดูเวอร์ชั่น 90 ตั้งแต่ภาคแรกจะพบว่างานศิลป์ของเซเลอร์มูนนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ทั้งการเลือกใช้สีต่างๆ ที่ตัวละครนั้นจะมีสีสันฉูดฉาดตัดกับฉากที่จะดึงสีดรอปลงมา การคลุมโทนสีสว่างฟ้า เหลือง เขียวในช่วงกลางวัน และคลุมโทนสีน้ำเงินในช่วงเวลากลางคืนแทนที่จะเป็นโทนดำ ซึ่งแสงเงาหนักๆ และโทนดำจะใช้กับฝั่งตัวร้ายเท่านั้น ที่โดดเด่นและถูกกล่าวถึงมากๆ ก็คือการวาดฉากหลังที่เป็นสไตล์ภาพสีน้ำที่ดูสบายตา มีความสมจริงและไม่สมจริงรวมๆ กันอยู่ ซึ่งหากเทียบกับภาค Crystal ที่คุณภาพงานอนิเมตจะสูงขึ้นตามเทคโนโลยีของยุค แต่ในเชิงงานศิลป์ งานดีไซน์กลับไม่มีความโดดเด่นที่ทำให้น่าจดจำกว่าอนิเมะเรื่องอื่นเลย ไม่รวมถึงภาษาการเล่าแบบหนัง ชอตดีไซน์ต่างๆ และการใส่ซิมโบลิคนั้นเวอร์ชั่น 90 ก็ยังเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเรื่องนี้พิสูจน์ได้ง่ายนิดเดียวแค่เปรียบเทียบกันจาก Opening ของเวอร์ชั่นดั้งเดิมกับเวอร์ชั่นใหม่ก็จะรู้ทันทีว่าอันไหนน่าจดจำกว่ากัน

อีกองค์ประกอบที่ทำให้กลายเป็นตำนานที่ขาดไม่ได้ก็คือเพลงประกอบ ตั้งแต่เพลงเปิดอย่าง Moonlight Densetsu ที่ติดหูมากๆ ตั้งแต่อินโทร และเข้ากับบรรยากาศของเรื่องที่มีความลึกลับ ชวนฝัน เทพนิยาย และความเป็นผู้หญิงมากๆ ของเรื่อง ดนตรีประกอบในเรื่องหรือ Background Music ต่างๆ ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน อย่างเพลงแปลงร่าง เพลงตอนสู้ที่สนุก มีความแจ๊ส ฟังเพลินแม้แต่ตอนนี้ โดยเพลงที่ผมชอบที่สุดก็คือเพลงธีมของหน้ากากทักซิโด้ที่แต่ละตอนโผล่ออกมาไม่กี่โน้ตแล้วก็จบ แต่จำฝังหัวมากๆ

เหนือกว่าการปกป้องโลกคือการเติบโตของเด็กสาว

ถึงพล็อตหลักๆ ของเซเอลร์มูนจะเป็นการต้องต่อสู้กับเหล่าร้ายที่หมายจะยึดครองโลกหรือทำลายโลก แต่หัวใจหลักที่แท้จริงของเซเลอร์มูนคือเรื่องการเติบโตของเด็กสาววัยรุ่น ดังนั้นพล็อตในแต่ละตอนจึงมักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเด็กสาววัยเรียน ทั้งการเรียนพิเศษ ความอยากสวยและหุ่นดี การอยากให้เพศตรงข้ามสนใจ ความฝันและอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนผู้หญิง ซึ่งทั้งอุซางิและเพื่อนๆ มักจะต้องคลี่คลายปัญหาในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นเหล่านี้ให้ได้ก่อนที่จะไปปกป้องโลกได้ ก็เป็นการตอบโจทย์ในเรื่องที่ใช้ชุดเซเลอร์ที่อิงจากชุดนักเรียนหญิงญี่ปุ่นเป็นยูนิฟอร์มในการแปลงร่างเป็นสาวน้อยเวทมนตร์”

“เด็กสาวจงเป็นเด็กสาว” เพราะในอนิเมะส่วนใหญ่ที่เล่าในกรอบของผู้ชาย ตัวละครหญิงสาวมักจะถูกกดให้อยู่ในมายาคติของสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ต้องน่ารัก สุภาพเรียบร้อย มีความเป็นกุลสตรีน่าหลงใหล แต่กับเซเลอร์มูนนั้นได้เปิดโอกาสให้เด็กสาวได้เป็นเด็กสาวอย่างที่เป็นจริงๆ ที่เห็นได้ชัดคือ ความบ้าผู้ชาย ซึ่งก็อาจโดนสังคมมองว่า ”แรด” ได้ แต่เด็กสาววัยรุ่นจริงๆ มันก็แบบอุซางิและผองเพื่อนนี่แหละ ดังนั้นอนิเมะเรื่องนี้จึงเป็นการบอกกับเด็กสาวทุกคนว่า “จงแรดซะ อยากสวยและหมกมุ่นในความรักไปเถิด ไม่ต้องอายหรือกลัว ทำตามความต้องการและเป็นตัวของตัวเองเถอะ เพราะชีวิตวัยรุ่นมันมีแค่ครั้งเดียว”

อนิเมะสำหรับทุกคน

เซเลอร์มูนนั้นถูกจดจำต่อคนทั้งโลกในฐานะที่เป็นอนิเมะที่ empower พลังหญิงและ LGBTQ+ มอบทั้งพลังและแรงบันดาลใจให้ทั้งสองกลุ่มนี้มาตลอด 30 ปี แต่ก็ย้ำอีกทีว่าเซเลอร์มูนนั้นเหมาะสำหรับผู้ชมทุกคน เพราะเหตุผลง่ายๆ ว่า มันสนุก! มันตลก! มันซึ้งดราม่า! มันโรแมนติก! มันแอคชั่น! มีโมเมนต์หรือฉากประทับใจมากมาย มีตัวละครที่เรารัก และองค์ประกอบต่างๆ ที่บอกได้ว่า เลิศค่ะ! จึงไม่แปลกเลยที่อนิเมะเรื่องนี้จะยังอยู่ในใจคนจนถึงตอนนี้ ซึ่งในยุคนี้ตัวผู้เขียนเองก็ไม่อายกลัวจะโดนล้อที่จะบอกว่าตัวเองเป็นติ่งเซเลอร์มูนอีกต่อไปแล้ว และลึกๆ ก็อยากหยิบคฑามาแปลงร่างแล้วเต้นเพลง Moonlight Densetsu ให้สาแก่ใจ

Resurrection : ผู้หญิง แม่คน และก้นบึ้งของความกลัว

บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

มาร์กาเร็ต (รีเบคกา ฮอลล์) เป็นเวิร์กกิ้งวูแมนที่ประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงานในบริษัทยาในเมืองอัลบานีใกล้มหานครนิวยอร์ก และดูเหมือนเธอจะเป็นหัวหน้าที่ควบคุมทุกอย่างได้อย่างอยู่มือ เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาววัยย่าง 18 ที่ดูจะดื้อด้านไม่น้อย และดูเหมือนเธอจะไม่ยอมให้ลูกสาวหลุดรอดสายตาเช่นกัน แต่แล้ววันหนึ่งในงานสัมมนาที่กรีนแลนด์ มาร์กาเร็ตพบว่าเดวิด (ทิม ร็อธ) คนในอดีตของเธอปรากฏตัวที่นั่น และหลังจากนั้นเธอก็เสียสติไป เพราะไม่เคยลืมแม้สักวันว่าในวัย 18 เธอเคยถูกอาจารย์ชีววิทยาคนนี้ล่อลวง (grooming) ให้มีสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วยจนเธอตั้งท้องและคลอดลูกคนแรก แต่กลับต้องหนีออกมาหลังจากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับลูกน้อย

เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เปิดเผยเรื่องราวของหนังและความลับของตัวละครตั้งแต่ต้นทาง และหนัง psychological thriller ของแอนดรูว์ ซีมานส์ เรื่องนี้ก็ไม่ได้มีท่าทีปิดบังว่ามีความลับดำมืดซ่อนอยู่ บรรยากาศไม่น่าไว้ใจถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มเรื่อง ทั้งฟันเขี้ยวที่มาโผล่ในกระเป๋าสตางค์ของลูกสาวแบบไม่มีที่มาที่ไป ภาพหลอนของทารกในเตาอบที่มีควันพวยพุ่งออกมา โลเคชั่นที่จะเป็นเมืองใหญ่ก็ไม่ใช่ จะเป็นเมืองร้างก็ไม่เชิง สถาปัตยกรรมในตัวเมืองที่แข็งทื่อ และดนตรีประกอบที่เล่นใหญ่แต่เอาอยู่โดย จิม วิลเลียมส์ คอมโพสเซอร์ของ Titane (2021, Julia Ducournau) หนังปาล์มทองคำปีล่าสุด และ Possessor (2020, Brandon Cronenberg) ราวกับจะเตรียมคนดูให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ชวนตกตะลึงที่จะตามมาเป็นระลอก หนังปล่อยระเบิดลูกใหญ่ตอนท้ายองก์แรกด้วยโมโนล็อกลองเทค 8 นาทีที่มาร์กาเร็ตเล่าเรื่องอดีตให้ตัวละครตัวหนึ่งฟัง แล้วหลังจากนั้นก็เร่งเครื่องหนักจนไม่มีอะไรหยุดยั้งความบ้าคลั่งได้อีก

การปรากฏตัวของเดวิดคือการเข้ามาเขย่าชีวิตปัจจุบันของมาร์กาเร็ต เขาทำให้เธอนึกถึงตอนที่เธอยังอายุเท่าลูกสาวในตอนนี้ เธอพบเขาตอนตามติดพ่อแม่ไปงานสัมมนาวิชาการ เขาเข้าหา เข้ามาตีสนิทเธอทางพ่อแม่ และหลังจากนั้นเธอก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเขาและมีชีวิตกึ่งฮิปปี้กึ่งคัลต์ด้วยกัน เขาร้องขอให้เธอทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้โดยอ้างว่าสิ่งเหล่านั้นคือ ‘ความกรุณา’ ตั้งแต่การทำงานบ้านไปจนถึงการทำทุกรกิริยาประหลาดๆ โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญสมาธิ เธอไม่ได้ตั้งคำถามมากนักและทำตามที่เขาบอกมาตลอด เมื่อตั้งท้องเธอก็ไม่ได้ติดใจ แถมยังนึกไม่ออกว่าจะรักใครได้มากกว่ารักเขา แต่เมื่อคลอดลูกน้อยออกมา เธอก็เข้าใจว่าเธอรักลูกได้มากกว่า และด้วยอะไรสักอย่าง วันหนึ่งเขาใช้ให้เธอไปซื้อของในเมืองและทิ้งลูกไว้กับเขาที่บ้าน เมื่อเธอกลับมาก็พบว่าเขา ‘กิน’ ลูกเข้าไปทั้งตัว เหลือไว้แค่นิ้วเล็กๆ ไม่กี่นิ้ว

เมื่อมาร์กาเร็ตในวัยกลางคนพบว่าเดวิดกลับเข้ามาในชีวิต เธอพยายามตั้งสติแล้วตามเขาไปเพื่อบอกเขาไม่ให้มารังควานลูกสาว แต่เขากลับเอาแต่อ้างว่าลูกน้อยยังมีชีวิตอยู่ในท้องเขา ยังคงร้องไห้—ร้องเรียกหาแม่—อยู่ในท้องเขา หนังชวนเราตามติดการพบกันแต่ละครั้งของมาร์กาเร็ตกับเดวิดที่ตามมาด้วยการหลอกล่อให้เธอ ‘กรุณา’ ทำบางสิ่ง เพื่อแลกกับการที่เขาจะไม่ยุ่งกับลูกสาวเธอและไม่มาให้เห็นหน้าอีก ตั้งแต่เดินเท้าเปล่าไปทำงาน หรือไปยืนหกกบในสวนสาธารณะตอนกลางดึก ไปจนถึงตอนที่เธอวางแผนทำร้ายเขาเพื่อให้เรื่องทั้งหมดมันจบไปเสียที เหนือไปกว่านั้น ความเสียสติของเธอยังดูไม่เป็นเหตุเป็นผลในสายตาคนอื่นไปเสียหมด ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เด็กฝึกงานในบริษัท ลูกสาว หรือเซ็กซ์บัดดี้ของเธอ

ตลอดทั้งเรื่อง มาร์กาเร็ตห้อยโหนอยู่ระหว่างการเสียการควบคุมกับการพยายามควบคุมสถานการณ์ ระหว่างความเข้าใจตัวเองกับความรู้สึกผิดที่เดวิดสร้างให้ด้วยการปั่นหัว (gaslight) ในทุกครั้งที่พบกันให้เธอเชื่อว่าเธอคือคนที่ทิ้งลูก และระหว่างการแก้แค้นเพื่อความสาแก่ใจกับการเรียกคืนอำนาจจากเพศชายที่เคยฉวยประโยชน์จากเธอ ในขณะเดียวกัน คนดูที่เป็นผู้หญิงอย่างเราก็แกว่งไปแกว่งมา ไม่แน่ใจว่าจะเห็นใจหรือสมเพชมาร์กาเร็ตที่ถูกเดวิดปั่นหัว และไม่แน่ใจว่าจะรู้สึกสะใจกับตอนจบของเรื่องหรือหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะรู้ดีว่าการเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนั้นไม่เคยง่าย เมื่อวันหนึ่งผู้กระทำอาจใจร้าย แต่วันถัดมาเขากลับใจดียิ่งกว่า ยิ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในสถานที่ที่ไกลห่างจากความปกติ ทั้งกรีนแลนด์ในอดีตที่โดดเดี่ยวจากทุกอย่าง และอัลบานีในปัจจุบันที่ในหนังดูเหมือนเมืองสมมติที่ไม่มีใครใช้ชีวิตอยู่จริง จึงไม่แปลกหากเธอจะไม่กล้าหาญพอจะเอาตัวเองออกมา

แม้หน้าฉากของหนังจะพูดถึงความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและมีความรุนแรงเป็นส่วนประกอบหลัก แต่กล่าวได้ว่าฉากหลังนั้นพูดถึงความกลัวที่ลึกที่สุดของผู้หญิงจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่กลัวถูกเพศชายควบคุมในความสัมพันธ์ กลัวการต้องเป็นแม่คน กลัวสูญเสียลูก กลัวครอบครัวไม่สมบูรณ์ กลัวไม่ประสบความสำเร็จ หรือกลัวจะไม่เป็นที่รักของเพศชาย และตั้งคำถามว่าหากความกลัวนั้นพุ่งทะยานถึงขีดสุด ผู้หญิงคนหนึ่งจะยอมทำมากที่สุดถึงขั้นไหนเพื่อจะเอาทุกอย่างกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมอีกครั้ง และหากทำเช่นนั้น จะมีอะไรที่เธอต้องสูญเสียไปบ้างระหว่างทาง

แต่ในอีกขั้นหนึ่ง ความกลัวเหล่านี้เกี่ยวพันอย่างแนบชิดกับการควบคุมและการตกอยู่ใต้การควบคุม มันชวนให้เราคิดว่า ‘ความเป็นแม่’ แบบที่มาร์กาเร็ตเข้าใจเมื่อมีลูกคนปัจจุบัน อาจไม่ใช่การถูกยึดอำนาจที่มีเหนือตนเองทำให้ไม่สามารถมีชีวิตแบบที่เธออยากมี แต่คือการมอบอำนาจให้เธอได้ควบคุมอะไรได้อย่างที่อยาก และสามารถสร้างภาพฝันของครอบครัวในอุดมคติได้ ในเมื่อการเป็นแม่ในครั้งที่สองไม่ได้ทำให้เธอกลัวสิ่งที่เธอเคยกลัว—เธอไม่กลัวการเป็นแม่อีกแล้ว (เพราะเมื่อเคย ‘เป็น’ แล้วก็ไม่อาจ ‘ไม่เป็น’ ได้) ไม่ได้กลัวการสูญเสียลูกมากเท่ากับสูญเสียสถานะความเป็นแม่ที่ดีแบบที่ตัวเองพยายามจะเป็น (เพราะเคยถูกปั่นหัวว่าตัวเองเคยเป็นแม่ที่เลวเพราะทิ้งลูก) ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบพ่อแม่ลูกอีก (เพราะแม่เลี้ยงเดี่ยวก็เลี้ยงลูกให้ดีได้) และไม่ได้หวังว่าเพศชายจะต้องมารัก (เพราะต้องการผู้ชายเพียงแค่ตอนที่อยากมีเซ็กซ์ด้วย)

ความกลัวเหล่านี้เกี่ยวพันอย่างแนบชิดกับการควบคุมและการตกอยู่ใต้การควบคุม มันชวนให้เราคิดว่า ‘ความเป็นแม่’ แบบที่มาร์กาเร็ตเข้าใจเมื่อมีลูกคนปัจจุบัน อาจไม่ใช่การถูกยึดอำนาจที่มีเหนือตนเองทำให้ไม่สามารถมีชีวิตแบบที่เธออยากมี แต่คือการมอบอำนาจให้เธอได้ควบคุมอะไรได้อย่างที่อยาก และสามารถสร้างภาพฝันของครอบครัวในอุดมคติได้

ในช่วงท้ายของหนัง เราจึงได้เห็นว่าความกลัวที่จะสูญเสียลูกสาวคนปัจจุบันของเธอ (ไม่ว่าจะจากเดวิดหรือจากลูกที่หนีไปเองเพราะทนแม่ควบคุมไม่ไหว) เป็นเพียงเรื่องที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ แต่ความกลัวที่เกิดจากความชอกช้ำทางจิตใจในอดีตที่ไม่อาจเล่าให้ใครฟังได้ต่างหากที่ว่ายวนอยู่ใต้น้ำ ทั้งกลัวว่าเล่าไปก็จะไม่มีใครเชื่อว่าเรื่องเหนือจริงแบบนี้เกิดขึ้นจริง กลัวตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดีแบบที่ถูกปั่นหัว กลัวว่าความรู้สึกผิดที่หนีมาจากลูกคนแรกจะไม่ถูกไถ่ถอน และกลัวว่าวันหนึ่งตัวเองจะกลับไปตกอยู่ใต้การควบคุมของใครอีก ความกลัวของผู้หญิงคนหนึ่งหรือแม่คนหนึ่งมีอยู่นับร้อยอย่าง แต่ความกลัวที่มีความรู้สึกผิดเป็นพื้นฐานอาจเป็นต้นเหตุของความกลัวอีกร้อยอย่างที่เหลือก็เป็นได้

Resurrection ไม่ได้เป็นหนังที่ดูแล้วขนลุกขนพองแบบทันท่วงทีในทุกจังหวะ แต่เก่งฉกาจในการทำให้คนดูตั้งตารอแบบใจไม่ดีว่าเรื่องราวจะพินาศได้ถึงขั้นไหน แม้คนดูที่ช่ำชองหนังทรงนี้อยู่แล้วจะพอเดาเหตุการณ์ได้ แต่หนังก็ฉลาดใช้จังหวะคอเมดี้ผ่ากลางเพื่อสร้างลูกเล่นให้ฉากที่เดาได้มีอะไรน่าจดจำ ซึ่งหากคนดูไม่ซื้อก็อาจพูดได้ว่าจังหวะคอเมดี้นี่เองที่เป็นตัวลดทอนพลังของหนังลงไป แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยชินกับหนังทรงนี้ อาจมีหลายจังหวะที่ต้องนั่งจิกเบาะและหรี่ตาดู เพราะหนังได้ก้าวข้ามความขึงขังจริงจังในช่วงแรก และไม่เหนียมอายที่จะกลายร่างเป็นหนังเกรดบีในช่วงท้าย (รีเบ็คกา ฮอลล์ ที่เป็นหนึ่งใน Executive Producer ใส่เต็มแรงจนร่างกายแทบจะระเบิดคาจอ ส่วนทิม ร็อธ ก็เล่นน้อยแต่หลอนจนเอาอยู่และช่วยเชื่อมร้อยความไม่ลงล็อกของหนังในบางช่วงบางตอนได้ดีอย่างคาดไม่ถึง)

Resurrection ไม่ได้เป็นหนังที่ดูแล้วขนลุกขนพองแบบทันท่วงทีในทุกจังหวะ แต่เก่งฉกาจในการทำให้คนดูตั้งตารอแบบใจไม่ดีว่าเรื่องราวจะพินาศได้ถึงขั้นไหน แม้คนดูที่ช่ำชองหนังทรงนี้อยู่แล้วจะพอเดาเหตุการณ์ได้ แต่หนังก็ฉลาดใช้จังหวะคอเมดี้ผ่ากลางเพื่อสร้างลูกเล่นให้ฉากที่เดาได้มีอะไรน่าจดจำ

ความไม่เหนียมอายนี่เองที่ทำให้เรารู้สึกถึงความดิบสดของหนังและอยากรอดูหนังใหม่ของเขาเรื่อยไป แม้จะไม่ใช่แฟนหนังทรงนี้มาก่อนก็ตามที


Resurrection เป็นผลงานเขียนบทและกำกับของ แอนดรูว์ ซีมานส์ จาก Nancy, Please (2012) ที่เคยเข้าชิงที่เทศกาลหนัง Tribeca มาก่อน เขาเพิ่งพา Resurrection ไปพรีเมียร์แบบนอกสายประกวดที่เทศกาลหนัง Sundance เมื่อเดือนมกราคม และเข้าประกวดสาย American Independents Competition ที่เทศกาลหนัง Cleveland เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อเมริกาและสตรีมใน Shudder กลางปีนี้

รีเมค Metropolis รีแบรนด์ “เมลเบิร์น” ไปอีกขั้นด้วย LED Volumes

เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา NBCUniversal และ Apple TV+ ได้ประกาศข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับซีรี่ส์ Metropolis โปรเจกต์สุดทะเยอทะยานที่หาญกล้า “เล่นของสูง” รีเมคหนังไซไฟขนาดยาวเรื่องแรกๆ ของโลกจากยุคไวมาร์ของ ฟริตซ์ ลัง (Fritz Lang) ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์ตลอดกาลแห่งโลกภาพยนตร์

ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า Metropolis เวอร์ชันใหม่นี้จะสร้างเป็นซีรี่ส์ทีวีความยาว 8 ตอนจบ ควบคุมงานสร้างและกำกับทั้งแปดตอนโดย แซม เอสมาอิล (Sam Esmail) ซึ่งฝากฝีไม้ลายมือเป็นที่ประจักษ์จากซีรี่ส์ Mr. Robot (2015-2019) กับ Homecoming (2018-2020) และเคยเป็นข่าวว่าสนใจดัดแปลงหนังเยอรมันต้นฉบับเป็นซีรี่ส์มาตั้งแต่ปี 2016 – การถ่ายทำทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ด้วยทุนสร้างราว 188 ล้านเหรียญฯ โดยคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการก่อนถ่ายทำ (pre-production) ภายในเดือนตุลาคม 2022 และเริ่มเปิดกล้องได้ช่วงต้นปี 2023

เมื่อสิ่งที่ทำให้ Metropolis (1927) ยังคลาสสิกคงทนมาจนถึงปัจจุบันคืองานภาพที่ล้ำสมัย การออกแบบโลกดิสโทเปียที่ล้ำยุค และวิช่วลเอฟเฟกต์ที่ตราตรึงเหนือกาลเวลา ฉบับรีเมคย่อมถูกจับตาว่าจะทำได้ใกล้เคียง ทัดเทียม หรือตีความอนาคตของเกือบร้อยปีก่อนด้วยวิสัยทัศน์แบบใด – ด้วยตัวเลข 188 ล้าน ซีรี่ส์ Metropolis ได้เป็นเจ้าของสถิติโปรดักชั่นที่(จะ)แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐวิกตอเรีย (เมลเบิร์นเป็นเมืองหลวง) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมประกาศว่าทางรัฐฯ ก็กำลังดำเนินการสร้างสถานที่ถ่ายทำเพื่อรองรับความยิ่งใหญ่และวิสัยทัศน์ของซีรี่ส์เรื่องนี้โดยเฉพาะ

เมื่อการก่อสร้างนี้แล้วเสร็จ ไม่เพียงจะกลายเป็นสถานที่ถ่ายทำด้วยเทคโนโลยี LED volumes แบบถาวรขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หากยิ่งช่วยตอกย้ำความทะเยอทะยานของหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แห่งเมืองเมลเบิร์น, รัฐวิกตอเรีย และประเทศออสเตรเลีย ที่มุ่งหวังจะรักษาและพัฒนาสถานะศูนย์กลางด้านการถ่ายทำภาพยนตร์กับซีรี่ส์ชั้นนำของโลกต่อไป

ด้วยศักยภาพด้านเทคโนโลยีการถ่ายทำและกองทุน Victorian Screen Incentive ของรัฐฯ กับ Location Incentive ของรัฐบาลออสเตรเลีย เมลเบิร์นดึงดูดความสนใจของโปรดักชั่นลงทุนสูงจากฮอลลีวูดและทั่วโลกได้อยู่แล้วเป็นทุน (ก่อนหน้านี้ซีรี่ส์ดังอย่าง La Brea (2021) และ Clickbait (2021) ก็ถ่ายทำที่นี่) แต่รัฐบาลทั้งระดับประเทศและมลรัฐก็ยังสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาด้านสาธารณูปโภคเพื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ครั้งนี้อย่างเต็มตัว โดยคาดหวังให้ที่นี่เป็นชื่อแรกที่โปรดักชั่นลงทุนสูงจากทั่วโลกนึกถึง และเชื่อมั่นว่าจะรองรับความทะเยอทะยานด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรี่ส์ หรือการพัฒนาเกม และยังร่วมลงทุนจนเกิดสัญญาระยะยาวกับ NBCUniversal หลังสถานการณ์โควิด เพื่อให้เกิดการลงทุนด้านโปรดักชั่นที่ยั่งยืนกว่าการเซ็นสัญญากันไปแบบโปรเจกต์ต่อโปรเจกต์

Sydney Morning Herald รายงานว่าสตูดิโอขนาด 3700 ตารางเมตร มูลค่า 46 ล้านเหรียญฯ แห่งใหม่เพิ่งเปิดใช้งานไปเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเปิดประเดิมด้วยหนังชีวประวัติโรบิน วิลเลี่ยมส์ เรื่อง A Better Man พร้อมนำเสนอเป็นนัยว่าสถานการณ์อันคึกคักในขณะนี้ คือดอกผลที่เกินคาดของการลงทุนสร้างสถานที่ถ่ายทำเพื่อดึงดูดโปรดักชั่น หลังอดีตผู้บริหาร Universal ใช้เวลาเกินทศวรรษกว่าจะชักจูงให้ออสเตรเลียกับรัฐวิกตอเรียคล้อยตาม – จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าการลงทุนด้านนี้จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศได้ราว 200 ล้านเหรียญฯ ต่อปี แต่ขณะนี้แค่ La Brea (118 ล้าน) กับ Metropolis (188 ล้าน) ก็ทะลุเป้าไปไกลแล้ว

Metropolis (ซึ่งกำลังรอต่อคิวใช้พื้นที่ถัดจาก A Better Man) อาจใช้เงินลงทุนด้าน LED volumes เพิ่มอีกราว 60 ล้านเหรียญฯ ซึ่งได้รับเงินรัฐสนับสนุน 12.5 ล้านเหรียญฯ และรัฐวิกตอเรียยังลงทุนพัฒนาบุคลากรเพิ่มอีก 5 ล้านเหรียญฯ ผ่านมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักของนักดูหนังทั่วโลกผ่านความโด่งดังของซีรี่ส์ The Mandalorian (2019-ปัจจุบัน) และหนังมาร์เวลในอนาคตอย่าง Ant-Man and the Wasp: Quantumania กับ Thor: Love and Thunder

จากรายชื่อดังกล่าว ภาพลักษณ์ของเทคโนโลยี LED volumes หรือการใช้จอดิจิตัลขนาดยักษ์เพื่อฉายภาพเทคนิคพิเศษที่สมจริงขึ้นเป็นฉากหลังของนักแสดงระหว่างถ่ายทำ (เพื่อเสริมหรือทดแทนการใช้ green screen เพื่อทำซีจีภายหลัง) อาจยังผูกโยงอยู่กับหนังหรือซีรี่ส์บล็อกบัสเตอร์ทุนสูงที่เต็มไปด้วยสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ แต่ทั้งออสเตรเลียกับรัฐวิกตอเรียก็มองการลงทุนนี้ในระยะยาว เพราะการติดตั้งเทคโนโลยีราคาแพงครั้งนี้ไม่ได้ทำครั้งเดียวจบที่ Metropolis หรือแค่จนหมดสัญญากับ NBCUniversal แต่ยังสามารถใช้งานต่อกับโปรดักชั่นอื่นที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ด้วยเล็งเห็นว่าหลังจากนี้ LED volumes จะเป็นที่นิยมมากขึ้น แม้กระทั่งกับหนังหรือซีรี่ส์ที่ไม่ได้ลงทุนระดับบล็อกบัสเตอร์

ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งเรื่องย่อ นักแสดง กำหนดฉาย หรือคำยืนยันจากใครก็ตามว่าการรีเมคครั้งนี้จะเป็นไปภายใต้วิสัยทัศน์แบบใด แต่หากไม่เกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง ก็มีโอกาสสูงที่นักดูหนังทั่วโลกจะได้ดู Metropolis ในปี 2026 (ปีที่เกิดเรื่องราวทั้งหมดในหนังต้นฉบับ) หรือปี 2027 (ในวาระครบรอบ 100 ปี)

6 สารคดีจีนหาดูยาก ดูฟรีถึง 1 พ.ค. นี้

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติธรรมศาลา (Dharamsala International Film Festival – DIFF) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 โดยสองคนทำหนังคู่ชีวิต ริตู ซาริน (Ritu Sarin) และ เทนซิง โซนัม (Tenzing Sonam) เพื่อเปิดโลกภาพยนตร์ทางเลือกให้ชุมชนผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวทิเบตในเมือง และปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในฐานะเทศกาลหนังอิสระชั้นนำอีกแห่งของอินเดีย (คำขวัญเทศกาลคือ bringing independent cinema to the mountains)

หลังต้องปรับทิศทางแบบเร่งด่วนช่วงล็อกดาวน์โควิดเมื่อปี 2020 จนถึงตอนนี้ทางเทศกาลก็ยังคงแอ็กทีฟกับการฉายหนังออนไลน์อย่างต่อเนื่อง (ภายใต้แนวคิด streaming independent cinema from the mountains ที่ล้อกับคำขวัญเทศกาล) ผ่านแพลตฟอร์ม DIFF Virtual Viewing Room ที่จะมีโปรแกรมหนังหมุนเวียนไปตลอดทั้งปี ด้วยตัวเลือกที่แปลกแตกต่างและหาดูยากเมื่อเทียบกับบรรดาเทศกาลหนังชั้นนำไม่ว่าจะในยุโรปหรือเอเชียด้วยกัน

โปรแกรมออนไลน์ล่าสุดของเทศกาลฯ คือ A Small Atlas of Chinese Independent Documentaries ซึ่งรวมสารคดีจีนหาดูยากไว้ถึง 6 เรื่อง จากการคัดเลือกของ จูอื้อคุน (Zhu Rikun) คนทำหนังสารคดีและโปรดิวเซอร์ของสารคดีความยาวหกชั่วโมงเรื่องสำคัญอย่าง Karamay (2010) – หนังกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่หาดูยาก แต่อาจถึงขั้นไม่เป็นที่รู้จักมาก่อนสำหรับคนดูหนังส่วนใหญ่ ซึ่งคิวเรเตอร์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่าเขาตั้งใจนำเสนอทางเลือก ก่อนทางเลือกเหล่านี้จะถูกลืม

สารคดีจีนทั้ง 6 เรื่อง ได้แก่

Chronicle of Longwang: A Year in the Life of a Chinese Village (หลี่อี้ฟาน – Li Yifan, 2007, 92 นาที) : ภาพเหตุการณ์ชีวิตประจำวันตลอดหนึ่งปีในหมู่บ้านหลงหวัง ชีวิตที่ไม่มีทุกข์ถาโถม ไม่มีสุขล้นเหลือ ทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วสลายไปในสายลม เป็นภาพรวมไร้เส้นเรื่องของหมู่บ้านธรรมดาในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไร

We Are the … of Communism (กุ้ยจื่อเอิน – Cui Zi’en, 2007, 94 นาที) : การดิ้นรนต่อสู้ของโรงเรียนสำหรับลูกแรงงานแห่งหนึ่งในปักกิ่ง หลังถูกทางการสั่งปิดอย่างไม่มีสาเหตุ ครูกับนักเรียนต้องย้ายที่เรียนไปเรื่อยๆ จากตึกเรียนเก่า ตึกโรงงานร้าง ตั้งโต๊ะริมถนน ไปจนถึงหอพักของครู และนั่งเรียนอัดกันในรถตู้คันเล็ก

Listening to Third Grandmother’s Stories (เหวินฮุ่ย – Wen Hui, 2011, 71 นาที) : ผู้กำกับหญิงบันทึกและตีความเรื่องราวทั้งชีวิตของเหล่าอี๊ที่เธอเพิ่งได้พบเป็นครั้งแรกในวัยกลางคน (ส่วนเหล่าอี๊อายุแปดสิบกว่าแล้ว) เรื่องราวที่ราวกับว่าเหล่าอี๊รอให้เธอมาบันทึกไว้ ชีวิตของผู้หญิงที่แปรเปลี่ยนพร้อมความเปลี่ยนแปลงของประเทศ 

One Day in May (หม่าจ้านตง – Ma Zhandong, 2011, 145 นาที) : ภาพชีวิตของครอบครัวหนึ่งตลอดเวลากว่าปีครึ่ง หลังได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเสฉวนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 หนังส่องลงไปให้เห็นว่าความทุกข์ ความทรงจำ การต่อสู้ยืนหยัดของครอบครัวนี้ เป็นสิ่งเดียวกับที่รัฐบาลจีนมองเห็นและให้ค่ามากน้อยแค่ไหน

Ants Dynamics (สวีรั่วเถา และ หวังฉืออู่ – Xu Ruotao & Wang Chuyu, 2020, 120 นาที) : ศิลปินจากปักกิ่งกลับบ้านเกิด คิดการแสดงและร่วมประท้วงเรียกร้องสิทธิ์กับกลุ่มคนงานของบริษัท China Telecom แต่ประท้วงไปได้สักพัก ศิลปินจากเมืองหลวงก็เริ่มมองเห็นว่าความจริงเบื้องหลังมันซับซ้อนกว่าที่คาด

One Says No (จ้าวต้าหยง – Zhao Dayong, 2020, 97 นาที) : เมื่อรัฐบาลรื้อไล่ที่หมู่บ้านเก่าในกวางโจวเพื่อสร้างเมืองใหม่ อาจงตัดสินใจยืนหยัดสู้ทุกวิถีทาง แม้อาคารโดยรอบจะถูกทุบจนเหลือบ้านเขาแค่หลังเดียว ถูกรัฐตัดน้ำตัดไฟ จ้างนักเลงให้มาคุกคามทำร้าย ถึงขั้นต้องติดระเบิดไว้ทุกทางเข้าออกของบ้านเพื่อป้องกันภัย

สตรีมหนังทั้งหมดได้ฟรี (หลังสมัครสมาชิก) ที่ https://online.diff.co.in/ ระหว่างวันที่ 22 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2022

Asghar Farhadi กับคดี A Hero ที่ยังไม่จบ

หลายครั้งเมื่อต้องรีบเร่งอัพเดทผ่านการแปลความข้ามภาษาก็ก่อให้เกิดความสับสนผิดพลาด เช่นเดียวกับสื่อภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ต่างเผยแพร่เนื้อข่าวคลาดเคลื่อนอยู่เกือบหนึ่งวันเต็มๆ ว่า อัสการ์ ฟาร์ฮาดี ผู้กำกับรางวัลออสการ์และหมีทองคำ ถูกศาลอิหร่านตัดสินว่ามีความผิดจริง (guilty) ตามข้อกล่าวหาว่าได้ขโมยคัดลอก (plagiarize) ผลงานของนักศึกษามาเป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาคือ A Hero (2021) ก่อนแก้ไขถ้อยคำจากผิดจริงเป็น “ถูกสั่งฟ้อง” (indicted) แทน เมื่อมีทั้งคำชี้แจงและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุดในทางกฎหมาย

Film Club ขอไล่เรียงสรุปรายละเอียดความเป็นมาของคดีนี้ รวมถึงตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อถกเถียงที่ทั้งน่าสนใจและน่ากังวลเมื่อพิจารณาในประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ กับเส้นเรื่องซึ่งทำให้ฟาร์ฮาดีมีสถานะราวกับเป็นตัวละครในหนังของเขาเองที่ต้องเผชิญหน้ากับจุดพลิกผันและข้อถกเถียงด้านจริยธรรมที่ยากจะชี้นิ้วตัดสินผิดถูก

ไม่นานหลัง A Hero เปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ (และชนะรางวัลกรังด์ปรีซ์) อาซาเดห์ มาซิห์ซาเดห์ (Azadeh Masihzadeh) ได้กล่าวหาฟาร์ฮาดีออกสื่อว่าขโมยไอเดียและเนื้อหาไปจากสารคดีสั้นเรื่อง All Winners, All Losers (2018) ที่เธอกำกับในเวิร์กช็อปสารคดีที่เขาสอน เมื่อถูกกล่าวหาด้วยข้อหาร้ายแรง ฟาร์ฮาดีจึงฟ้องเธอข้อหาหมิ่นประมาท (ลำดับเหตุการณ์ว่าใครฟ้องใครก่อน สื่อภาษาอังกฤษยังเขียนขัดแย้งกันอยู่) และไม่ได้หยุดอยู่แค่สองคดีระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา เมื่อโมฮัมหมัด เรซา โชกรี (Mohammad Reza Shokri) นักโทษคดีหนี้สินผู้เก็บทองแล้วส่งคืนขณะลาพักโทษที่เป็นต้นเรื่องของหนังทั้งคู่ ก็ฟ้องฟาร์ฮาดีด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุผลว่าตัวละครใน A Hero ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

ข้อเท็จจริงเบื้องหลังเหตุการณ์จากทั้งสองฝ่ายรวมถึงบุคคลรายรอบ (ทนายความ, เพื่อนนักศึกษา, อาจารย์) นั้นค่อนข้างตรงกัน ยกเว้นจุดสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นคดีความ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 – ฟาร์ฮาดีเป็นอาจารย์สอนเวิร์กช็อปการทำหนังสารคดีที่ Karmaneh Institute ในกรุงเตหะราน ซึ่งเขาได้ให้นักศึกษาเก็บข้อมูลเพื่อทำหนังสารคดีภายใต้โจทย์ “คืนของหาย” โดยให้เนื้อหาข่าวเหตุการณ์จริงจากหนังสือพิมพ์กับสถานีโทรทัศน์ระดับประเทศเป็นข้อมูลเบื้องต้น นักศึกษาคนอื่นทำเรื่องจากข่าวที่ฟาร์ฮาดีนำมาให้ในเวิร์กช็อป ยกเว้นมาซิห์ซาเดห์ที่ค้นพบเรื่องราวของโชกรีด้วยตนเองที่เมืองชิราซ (Shiraz) ซึ่งเป็นบ้านเกิด

ฟาร์ฮาดีรับว่า A Hero ได้ไอเดียจากตัวโชกรีเช่นเดียวกับสารคดีของมาซิห์ซาเดห์ แต่แกนหลักของหนังนั้นได้แรงบันดาลใจจากส่วนหนึ่งในบทละคร Life of Galilio ของ แบร์โตลต์ เบรชท์ (Bertolt Brecht) และเมื่อกลับมาเวิร์กไอเดียนี้ต่อในปี 2019 ถึงได้ลงมือดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ โดยยืนยันว่าเคยเห็นข่าวนี้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเวิร์กช็อปที่เป็นปัญหา ส่วนเหตุผลที่ไม่ได้ติดต่อโชกรีก่อนเริ่มโปรเจกต์ ก็เพราะเขามองว่าตัวละครที่เขียนกับโชกรีตัวจริงเป็นคนละคนกัน จึงเลือกสืบค้นข้อมูลจากข่าวหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ เป็นหลัก ฟาร์ฮาดีให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังว่าไม่ได้ตั้งใจใช้หรือเน้นข่าวไหนเป็นพิเศษ แต่ตัวละครในความคิดเขาคือเหล่าคนเดินดินที่จับพลัดจับผลูตกเป็นพาดหัวข่าวกระแสสังคมเพราะการทำความดี แล้วเขียนบทต่อไปจากจุดนั้น

A Hero

ข้อถกเถียงเมื่ออ่านมาถึงจุดนี้จึงอยู่ในประเด็นที่ว่า ฝ่ายนักศึกษาจะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเรื่องของบุคคลที่มีตัวตนจริงและเป็นข่าวซึ่งสาธารณชนรับรู้อยู่แล้วได้อย่างไร เพราะต่อให้หนังสือพิมพ์ที่ฟาร์ฮาดีนำมาเป็นโจทย์ในเวิร์กช็อปคราวนั้นจะไม่มีเรื่องโชกรีรวมอยู่ด้วย และเธอค้นพบเรื่องนี้ด้วยตัวเองจริงเมื่อเดินทางกลับบ้านเกิด ฟาร์ฮาดีก็ย่อมมีสิทธิ์รู้เรื่องผ่านช่องทางอื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเวิร์กช็อปสารคดี (The Hollywood Reporter ได้รับลิงค์ข่าวภาษาฟาร์ซีจากฝ่ายกฎหมายของฟาร์ฮาดี ซึ่งลงวันที่ปี 2012 และ “คล้ายว่า” จะเป็นข่าวโชกรีคืนทอง)

ตรงนี้เองที่ข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน – มาซิห์ซาเดห์สู้คดีว่าข้ออ้างของฟาร์ฮาดีไม่เป็นความจริง เพราะเหตุการณ์โชกรีคืนทองเป็นข่าวแค่ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ชิราซ หนังสือพิมพ์ดังที่จำหน่ายทั่วประเทศอิหร่านไม่เล่นข่าวนี้ เขาไม่เคยได้ออกทีวีช่องใหญ่ และไม่มีข่าวนี้ให้สืบค้นในโลกออนไลน์ (ดังนั้นความเป็นไปได้เดียวก็คือ ฟาร์ฮาดีต้องรู้เรื่องนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเธอพรีเซนต์โปรเจกต์สารคดีในเวิร์กช็อปแล้วเท่านั้น) ผู้อำนวยการของ Karmaneh Institute และเพื่อนร่วมคลาสส่วนหนึ่งพูดตรงกันว่ามาซิห์ซาเดห์เริ่มทำสารคดีจากเรื่องที่เธอค้นพบเองจริง ไม่ได้ตั้งต้นจากข่าวที่ฟาร์ฮาดีนำมาให้ แต่ก็ไม่ได้หักล้างความเป็นไปได้ที่ว่าฟาร์ฮาดีอาจเคยเห็นเรื่องนี้มาก่อน

ในขณะที่เพื่อนกลุ่มหนึ่งได้ให้การเป็นพยานสนับสนุนมาซิห์ซาเดห์ นักศึกษาอีกหลายคนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปเดียวกันก็ยื่นคำให้การเพื่อสนับสนุนฟาร์ฮาดีในคดีเดียวกัน (ยังไม่ปรากฏว่ามีสื่อภาษาอังกฤษได้พูดคุยกับนักศึกษากลุ่มนี้) ซึ่งสำหรับมาซิห์ซาเดห์แล้ว พวกเขาอาจต้องทำไปเพราะแรงกดดันแบบเดียวกับที่เธออ้างว่าประสบพบเจอมาเอง – เธอเล่ากับ The Hollywood Reporter ว่าหลัง A Hero เริ่มถ่ายทำในปี 2019 ฟาร์ฮาดีได้เรียกเธอไปพบที่ห้องทำงาน ให้เซ็นเอกสารเพื่อมอบสิทธิ์ต่อตัวเรื่องและยืนยันว่าไอเดียทั้งหมดของ All Winners, All Losers นั้นเริ่มต้นจากเขา ซึ่งเธอยอมเซ็นเพราะเกรงสถานะกับอำนาจของฟาร์ฮาดี

ฉากนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเคลือบแคลงสงสัย เพราะถึงแม้ว่าฝ่ายกฎหมายของฟาร์ฮาดีจะยืนยันกับสื่อตามหลักการว่าลำพังเฉพาะไอเดียกับแนวคิด (concept) นั้นย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ดังนั้นเอกสารที่ให้เธอเซ็นวันนั้น (และต่อมาถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสู้คดี) จึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่ก็ตอบคำถามได้ไม่ชัดเจนเพียงพอว่าแล้วฟาร์ฮาดีให้มาซิห์ซาเดห์เซ็นเอกสารฉบับนี้ทำไม

หลังจากเรื่องนี้เริ่มเป็นข่าวที่สังคมอิหร่านสนใจได้สักพัก ผู้อำนวยการของ Karmaneh Institute ก็ได้รับการติดต่อจากศิษย์เก่าคนหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าฟาร์ฮาดีก็เคยลอกไอเดียจากผลงานในเวิร์กช็อปสารคดีที่เขาเข้าร่วมเมื่อปี 2011 และเชื่อว่าฟาร์ฮาดีหยิบใช้ส่วนนั้นส่วนนี้จากหนังของนักศึกษาไปทำงานตัวเองโดยไม่ให้เครดิต แต่เขาก็พูดกับสื่อ (โดยปกปิดชื่อจริง) ว่าไม่เคยคิดฟ้องร้องให้เป็นคดีความเพราะ “เขาเอาเรื่องผมไปทำแบบไหนก็ถือเป็นงานเขา ไม่ใช่งานผม”

มวลของความเคลือบแคลงนี้ล้อไปกับสถานะของฟาร์ฮาดีในสังคมอิหร่านเองด้วย เพราะถึงจะมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือด้วยความสำเร็จระดับโลก แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนทำหนังอิหร่านดังๆ ที่พอทันยุคกันอย่าง อับบาส เคียรอสตามี (Abbas Kiarostami) โมห์เซ็น มัคห์มัลบัฟ (Mohsen Makhmalbaf) จาฟาร์ ปานาฮี (Jafar Panahi) หรือ โมฮัมหมัด ราซูลอฟ (Mohammad Rasoulof) ก็คือตัวฟาร์ฮาดีไม่เคยวิพากษ์ผู้มีอำนาจหรือแนวคิดอิสลามนิยมในประเทศอย่างเปิดเผย และหนังของเขาก็แทบไม่เคยมีปัญหาโดนเซ็นเซอร์จากรัฐบาลอิหร่านเลย (ในขณะที่ทุกรายชื่อข้างต้นล้วนเคยมีหนังถูกห้ามฉาย ส่วนปานาฮีกับราซูลอฟถึงขั้นถูกตัดสินจำคุก)

All Winners, All Losers

บางฝ่ายมองว่าท่าทีเช่นนี้ทำให้ความสำเร็จในต่างแดนของฟาร์ฮาดีกลายเป็นตัวกระตุ้นแนวคิดรักชาติของฝ่ายขวาในอิหร่าน บ้างก็รู้สึกว่าเขายินดีให้กลุ่มอำนาจนิยมใช้หนังของเขาเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อในเวทีโลก หรือถึงขั้นแอบสนับสนุนอยู่ลับๆ

ตามรายงานของสื่อมวลชนในอิหร่าน คดีความทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพิ่งเสร็จสิ้นขึ้นตอนการพิจารณาของศาลคดีวัฒนธรรมและสื่อประจำกรุงเตหะราน (Tehran Culture and Media Court) โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (ซึ่งสร้างความสับสนให้สื่อภาพยนตร์ภาษาอังกฤษมากมาย) ศาลฯ ได้อ่านคำสั่งกับผลการพิจารณาหลักฐานประกอบคดีจากพนักงานสอบสวนของสำนักงานอัยการ (judicial investigator, ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อชี้ว่าคดีมีน้ำหนักเพียงพอต่อการพิจารณาคดีขั้นต่อไปในชั้นศาลหรือไม่) ที่มีผลผูกพันต่อคำฟ้องและข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้น

คดีแรก: ฟาร์ฮาดีฟ้องมาซิห์ซาเดห์ข้อหาหมิ่นประมาท – ศาลไม่รับฟ้อง

คดีที่สอง: โชกรีฟ้องฟาร์ฮาดีว่า A Hero ทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง – ศาลไม่รับฟ้อง

คดีที่สาม: มาซิห์ซาเดห์อ้างสิทธิ์ในส่วนแบ่งรายได้ที่ฟาร์ฮาดีจะได้รับจาก A Hero – ศาลไม่รับคำร้อง

และคดีที่สี่: มาซิห์ซาเดห์ฟ้องฟาร์ฮาดีว่าขโมยคัดลอกผลงานของเธอ – ศาลรับฟ้อง

เท่ากับว่าตอนนี้เหลือแค่คดีเดียวที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีคือการตัดสินว่าฟาร์ฮาดีมีความผิดฐานขโมยคัดลอกผลงานหรือเปล่า หลังจากที่พนักงานสอบสวนฯ ลงความเห็นว่าพยานหลักฐานของคดีนี้มีน้ำหนักเพียงพอ (แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติม) ในขั้นตอนต่อไป หมายเรียกของพนักงานสอบสวนฯ จะถูกส่งต่อไปยังศาลอาญา เพื่อเรียกตัวฟาร์ฮาดีให้ไปปรากฏตัวต่อศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลอาญาจะพิจารณาความผิดพร้อมกำหนดอัตราโทษ – ทนายความของฟาร์ฮาดีชี้แจงว่าศาลอาญาจะตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดอีกครั้ง และกระบวนการยังสามารถไปต่อที่ศาลอุทธรณ์ได้อีก พร้อมกับตั้งความหวังว่าผู้พิพากษาจะกลับคำตัดสิน (จากที่พนักงานสอบสวนฯ เห็นว่าพยานพลักฐานมีน้ำหนักพอเอาผิด) เมื่อได้รับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา

เช่นเดียวกับ อเล็กซองดร์ มาลเลต์-กีย์ (Alexandre Mallet-Guy) หนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ A Hero ที่เขียนแถลงการณ์สนับสนุนฟาร์ฮาดี ชี้แจงข้อเท็จจริงของคดีหลังเกิดความสับสน และแสดงความเชื่อมั่นว่าศาลจะตัดสินให้เขาพ้นผิดเพราะ “คุณมาซิห์ซาเดห์ไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์เหนือสาธารณสมบัติ (public domain) เมื่อเรื่องของนักโทษคนดังกล่าวปรากฏในรายงานข่าวกับรายการโทรทัศน์อยู่แล้วหลายปีก่อนที่สารคดีของเธอจะออกฉาย” พร้อมอ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในอิหร่าน (แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติม) ว่าบทวิเคราะห์ที่เขียนถึงคดีนี้ ล้วนสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่าฟาร์ฮาดีไม่มีความผิด

คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าเรื่องจะเดินไปถึงฉากอ่านคำพิพากษา แต่ความน่าสนใจคือจุดชี้เป็นชี้ตายของคดีนี้ ซึ่งไม่ใช่การจับผิดว่า A Hero นั้นเหมือนหรือต่างกับ All Winners, All Losers มากน้อยแค่ไหน (เพราะได้แรงบันดาลใจเดียวกันย่อมมีจุดเหมือน แต่รายละเอียดหลายช่วงก็ต่างกันชัด) หากคือข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายยกมาสู้คดีในชั้นศาลว่าวีรกรรมเก็บทองคืนเจ้าของของโชกรีนั้นเข้าข่ายเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนจริงหรือไม่ และไม่ว่าศาลอิหร่านจะชี้ว่าข่าวเก็บทองนี้เป็นที่รับรู้ทั่วกันหรือแค่ข่าวท้องถิ่น ก็ยังยากต่อการคาดเดาว่าศาลมีทัศนคติเรื่องลิขสิทธิ์อย่างไร ความน่าเคลือบแคลงสงสัยในบางพฤติกรรมของฟาร์ฮาดีมีส่วนสำคัญหรือไม่ และสถานะในสังคมอิหร่านของเขาจะส่งผลในทางบวกหรือทางลบเมื่อกระบวนการพิจารณาคดีเดินหน้าต่อไป

ฝันของ “คนจัดฉายหนังอิสระ” : รู้จักเพจ ‘เราว่าหนังเรื่องนี้ควรมีฉายที่อยุธยา’ กับภารกิจพาหนังหลากหลายสู่สายตาคนอยุธยา

“เราเริ่มกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมาจากเรื่องง่ายๆ เลยครับ คืออยากดูหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้กับแฟน ปกติจะเป็นผมเองที่หาโอกาสดูหนังมากกว่าแฟน เพราะส่วนใหญ่แฟนจะติดทำงานที่บ้านจนบางครั้งไม่สามารถใช้เวลาตรงนี้ร่วมกันได้ จึงเกิดกิจกรรมจัดฉายหนังขึ้นกัน ง่ายๆ อย่างนี้เลยครับ”

พิสิทธิศักดิ์ คำวรรณ เจ้าของเพจ ‘เราว่าหนังเรื่องนี้ควรมีฉายที่อยุธยา’ เล่าถึงที่มาของเพจเฟซบุ๊กและการเริ่มจัดกิจกรรมดูหนัง ซึ่งจัดตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และต่อไปนี้คือความทรงจำเกี่ยวกับกิจกรรมฉายหนังที่เขาเคยจัด

พิสิทธิศักดิ์ คำวรรณ
  • Portrait of a Lady on Fire เป็นการฉายหนังอิสระเรื่องแรก จัดขึ้นที่ Makham Cafe & Gallery สถานที่นี้เป็นที่สำหรับคนชอบงานศิลปะ และคนทำงานศิลปะจะมานั่งพบปะพูดคุยกัน เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ มีงานศิลปะบนผืนผ้าใบแคนวาสมากมายภายในร้าน เราเลือกสถานที่นี้เพราะคงไม่มีที่ไหนให้ความรู้สึกถึงคุณค่างานศิลปะเหมือนที่มาเรียนมอบให้เอลูอิสได้เท่าที่นี่อีกแล้ว
  • Drive my Car จัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์อโยธยาเธียเตอร์ ณ ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สถานที่แห่งนี้คือ 1 ในจุดหมายของการจัดฉายภาพยนตร์ของคนอยุธยาที่ผมมองเอาไว้ องค์ประกอบความเป็นเธียเตอร์ของที่นี่มีความเหมาะสมมากที่สุด นี่คือโรงหนังขนาดไม่ใหญ่ไปไม่เล็กไป ที่ซ่อนตัวอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงหนังที่คนอยุธยาเองก็แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ ซึ่ง Drive my Car ก็เป็นหนังที่จำเป็นต้องดูในสถานที่แบบนี้ (ความจริงแล้วหนังทุกเรื่องก็ควรอยู่ในสถานที่แบบนี้เช่นกัน) ที่นี่พร้อมและเหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดฉายภาพยนตร์
  • FLEE จัดขึ้นที่ Playspot Boardgame Cafe แต่เป็นสถานที่ที่เราทดลองมากที่สุด ต่างจาก 2 ครั้งมากๆ ที่นี่เป็นอาคาร 4 ชั้นที่มีชั้นล่างเป็นคาเฟ่บอร์ดเกมส์ เราใช้สถานที่นี้ด้วยเหตุง่ายๆ คืออยู่ในเกาะเมืองที่คนเดินทางมาถึงง่าย ห่างจากสถานที่แรกที่เราจัดมาประมาณ 800 เมตร บนถนนเส้นเดียวกัน
  • Wheel of Fortune and Fantasy, Drive my Car จัดขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้ Toyota เมืองสีเขียว ครั้งนี้เลือกจัดที่นี่เพราะอยากทดลองจัดฉายแบบโอเพ่น แล้วด้วยเป็นการฉายหนังสัญชาติญี่ปุ่น เรามองว่าที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีหน้าตาคล้ายญี่ปุ่นอยู่พอสมควร จึงเลือกใช้สถานที่นี้ในการจัดฉายภาพยนตร์

“ใจจริงแล้วผมอยากทำที่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ให้เป็นศูนย์กลางการฉายภาพยนตร์นอกกระแสของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามากๆ แต่ติดขัดด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่เราเองก็เข้าใจทางฝ่ายผู้ดูแลสถานที่ด้วยว่าเขาเองก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ตามมา ทั้งนี้ทั้งนั้นในอนาคตข้างหน้าก็อาจจะมีการปรับรูปแบบให้สามารถจัดฉายในที่แห่งนี้ได้มากขึ้น ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและความเหมาะสมใจการที่จะทำได้ ซึ่งต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าของสถานที่ ฝ่ายผู้จัด ฝ่ายคนดูด้วย ถ้าสามอย่างนี้ไปด้วยกันได้ในพื้นที่นี้ จะมีการฉายภาพยนตร์ที่ต่อเนื่องขึ้น เป็นระบบที่ได้มาตรฐานมากขึ้น การปรับพฤติกรรมของคนในพื้นที่จะตามมา”

“ถามว่าการจัดนอกสถานที่มีความท้าทาย น่าสนุกและมีความหลากหลายหรือไม่ อันนี้ก็ตอบว่ามันมีครบครับ แต่มันไม่สามารถการันตีหรือสร้างพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ที่เป็นมาตรฐานได้ อย่างไรแล้วภาพยนตร์ก็ควรถูกฉายในสถานที่ที่เหมาะสม มีระบบรองรับที่พร้อมกว่าการฉายอย่างอิสระแน่นอน

แต่การฉายอิสระคือการหลีกหนีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง มันอาจได้บางอย่างมา เช่น บรรยากาศการชมภาพยนตร์แบบที่หาไม่ได้ในโรงภาพยนตร์ การสร้างคอมมูนิตี้แบบใหม่ที่ไม่ต้องยึดติดกับโรงภาพยนตร์ แต่ภาพยนตร์ยังคงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ควรค่าสำหรับการชมในที่ของมัน”

“ผมอยากทำทั้งแบบฉายอิสระและฉายโรงควบคู่ไปด้วยกันให้ดีที่สุด อยุธยาอาจมีโรงภาพยนตร์แบบที่คนจังหวัดอื่นมองหาก็ได้ ผมหาเจอแล้ว แค่ต้องทำให้มันอยู่ด้วยกันไปอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่มที่มีส่วนร่วม และคนทำ ทำมันไปโดยที่มีความสุขกับมัน”

“ผมยินดีกับทุกครั้งที่หนังได้ฉายมาตั้งแต่เริ่ม พอหนังฉายจบผมก็ยินดีกับมันมากขี้นไปอีก บางครั้งหนังที่ผมนำมาฉายมันได้รัยการตอบรับที่ดี ดีในแบบที่เราเข้าใจว่ามันคือคนแค่กลุ่มหนึ่ง ไม่ได้มากมาย แต่หลายครั้งที่เราเจอคนหน้าเดิม เจอคนที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ แวะมาแบ่งปันส่วนที่เราได้รับตรงนี้ไป ผมคิดว่ามันมีความหมายมาก เพราะที่สุดแล้วผมไม่เชื่อนะว่าคนที่อยากดูหนังจริงๆ จะไม่พาตัวเองไปดูหนังเรื่องที่ตัวเองอยากดู ต่อให้มันหาดูไม่ได้ในบ้านตัวเอง เขาก็จะพาตัวเองไปดูจนได้อยู่ดี”

“แต่ตรงนี้ที่เราทำอยู่ ในทางปฏิบัติมันเป็นแค่การทำให้เขาได้ดูมันในที่ที่ใกล้บ้านขึ้น ไม่ต้องเดินทาง แต่ในทางหนึ่ง มันก็อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเราได้เหมือนกัน ว่าอย่างน้อยถ้าเรายังทำมันต่อไปแล้วเจอผู้คนกลุ่มนี้ที่ยังไว้ใจเราอยู่ เราก็อยากทำให้ความไว้ใจนี้มันคุ้มค่า อนาคตอันใกล้ เขาจะไม่ใช่แค่ดูหนังกับเราเพราะมันใกล้ แต่ดูหนังกับเราเพราะมันมีความสุข ดูหนังกับเราเพราะเราคือกลุ่มคนที่ดูด้วยแล้วมีความสุข”

“อาจจะดูขวานผ่าซากไปหน่อยนะครับ แต่พฤติกรรมของคนที่เสพงานด้านนี้ ปัจจัยของผู้สนับสนุนจากภาครัฐคือส่วนหนึ่งก็จริง แต่ความสนใจในงานศิลปะบ้านเรา โดยเฉพาะเอาแค่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ยังเป็นอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องของปัจเจกและรสนิยมของคน พื้นเพโดยธรรมชาติของคน เหล่านี้ต้องใช้เวลามากพอสมควร อยุธยายังไม่มีพื้นที่ตรงนี้ ในการทำให้คนที่เขา ‘กำลังจะ’ หรือ ‘พร้อมที่จะ’ เปิดรับสิ่งเหล่านี้ได้ลองเดินเข้าสัมผัสมันมากพอ”

“ที่นี่เป็นจังหวัดที่มีพิพิธภัณฑ์อยู่หลายที่ แกลเลอรี่อยู่หลายจุด แต่กลุ่มคนที่ทำสิ่งเหล่านี้เขาเพียงแค่ตั้งอยู่ มันไม่ได้ถูกกระตุ้นให้น่าสนใจมากพอเท่ากับสถานที่รูปแบบอื่น ที่นี่เต็มไปด้วยคาเฟ่ถ่ายรูป แน่นอนว่ามันก็คืออีกหนึ่งรูปแบบของศิลปะที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่รูปแบบอื่นมันก็ต้องไม่ตายไปด้วย ซึ่งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่นเขายังมองไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ ที่นี่ผมมีพวกพ้องที่ทำงานด้านศิลปะ แต่เขาต้องออกไปทำงานหากินที่อื่นเพื่อจุนเจือครอบครัวครับ”

Fast & Feel Love : ทุนนิยมที่รัก

สำหรับเกา ความเร็วคือทุกอย่าง ทุกนาทีหรือแม้แต่เสี้ยววินาทีมีความหมาย มีความหมายในระดับแพ้ชนะเป็นตาย เพราะเขาเป็นนักกีฬา cup stacking หรือนักเล่นแก้ว ในนิยามความหมายของแม่

เขาเริ่มรู้จักมันตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย วางมันในฐานะความฝันของชีวิตแทนการเรียนมหาวิทยาลัยในคณะอะไรๆ ที่จับต้องได้ เขาและเพื่อนของเขาอีกจำนวนหนึ่งคือฝันร้ายของครูแนะแนวที่มีแนวให้แนะอยู่แค่ไม่กี่แนว

เพราะคนที่แนะแนวเขาจริงๆ คือเจ เพื่อนนักเรียนที่อาจจะหนักกว่าคนอื่น คือไม่ได้มีความฝันอะไรเลยทั้งสิ้น เจเป็นคนใจดี พูดไทยคำอังกฤษสิบห้าคำ มีความสุขกับการดูแลต้นไม้และคนอื่นๆ เจกับเกาได้คุยกันหลังเลิกเรียน และเจตัดสินใจจะเป็นผู้ดูแลของเกา ผ่านไปหลายปีพวกเขากลายเป็นแฟนกัน

เวลาผ่านไปอีกหลายปี เจยังคงดูแลเกาที่อาศัยอยู่กับแม่ที่ทำร้านก๋วยเตี๋ยว เกากำลังวางแผนจะเอาชนะ world record การต้องใช้สมาธิมหาศาลในการเรียงแก้ว ทำให้การอยู่บ้านแม่ที่เรียกใช้ตลอดเวลากลายเป็นปัญหา เพราะในการจะได้มาซึ่งความเร็วที่มากพอ เกาต้องการความสมบูรณ์พร้อมของบรรยากาศ อากาศ อาหาร ความเงียบ เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นเกาเลยชวนเจไปซื้อบ้านอยู่ด้วยกัน

เมื่อย้ายเข้ามาอยู่บ้านใหม่ เกายกธุระปะปังทุกอย่างในชีวิตให้เจจัดการ ตั้งแต่การทำอาหาร งานบ้าน การดูแลทางการเงิน หรือการติดต่อกับโลกภายนอก เกาทำผ่านเจทั้งหมดเพื่อที่เขาจะได้มีจิตจดจ่ออยู่กับเวลามิลลิวินาทีที่เร็วขึ้น ในเวลานั้นเอง เจก็ค่อยๆ แน่ชัดว่าตัวเองที่มีนิสัยของการดูแลผู้อื่นอย่างยอดเยี่ยม อยากดูแลลูกของเธอเองมากกว่าเกาที่ไม่อยากมีลูก แต่เกาปฏิเสธที่จะรับฟังเรื่องอื่นใดที่จะทำให้เขาไม่สามารถอัพเลเวลได้ เจจึงตัดสินใจช่วยเขาอัพเลเวลด้วยวิธีการขั้นสุดยอดนั่นคือไปจากเขา และในตอนนั้นเอง เกาผู้ใช้ข้ออ้างของการทำตามความฝันปฏิเสธภาระทางอารมณ์ทุกชนิดได้เรียนรู้ว่าที่ผ่านมา เขาขโมยเวลาของคนอื่นมาใช้เพื่อทำให้เวลาทางสถิติของตนสั้นลงมากแค่ไหน เขาต้องเรียนรู้ว่าชีวิตทุกวันคือการต่อสู้เอาตัวรอดในโลกทุนนิยมที่ไล่บี้เวลาของเขาให้สั้นลงแต่ไม่ใช่สั้นลงอย่างที่เขาต้องการ 

หากนับต่อเนื่องจาก ‘ฟรีแลนซ์ฯ’ และ ‘ฮาวทูทิ้ง’ เราอาจเรียกหนังอย่างลำลองได้ว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สามในไตรภาค ‘สิ่งมีชีวิตในโลกทุนนิยมที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง’ นอกจากกิมมิคชื่อตัวละครหลัก ยุ่น/จีน/เกา และตัวละครสายซัพ เจ๋/เจ/เจ หนังทั้งสามเรื่องยังมีจุดร่วมในสถานะของการเล่าเรื่องการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้นกลางในโลกทุนนิยม ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อต่อต้านแต่เป็นการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดในโลกทุนนิยม การยอมรับมันและเป็นส่วนหนึ่งของมัน ถูกมันทำลาย แต่ก็ดิ้นรนเพื่อที่จะธำรงตนเอาไว้ในโลกทุน ในขณะเดียวกันหนังทั้งสามเรื่องก็พูดถึงผู้ใหญ่ไม่รู้จักโตในโลกที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง และเล่าถึงคนอื่นๆ ในแวดวงความสัมพันธ์โดยมีตัวฉันเป็นแกนกลาง ‘ฉัน’ คนฉลาดที่เอาแต่ใจ ออกจะไร้เยื่อใยกับคนรอบข้าง ถูกสั่งสอนว่าในฐานะสัตว์โลกทุนนิยมนั้น การจะเป็นส่วนหนึ่งของมันได้ ต้องละทิ้งไปหรือไม่ก็ช่วงใช้คนรอบข้างให้เป็นประโยชน์ โดยตัดขาดรูปแบบความสัมพันธ์แบบครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน ปรับแปลงให้มันมีประสิทธิภาพ ให้เป็นปัจจัยการผลิต และแน่นอนว่าต้องแลกมากับการสูญเสียคุณค่าบางอย่างไป

หากนับต่อเนื่องจาก ‘ฟรีแลนซ์ฯ’ และ ‘ฮาวทูทิ้ง’ เราอาจเรียกหนังอย่างลำลองได้ว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สามในไตรภาค ‘สิ่งมีชีวิตในโลกทุนนิยมที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง’ … หนังทั้งสามเรื่องยังมีจุดร่วมในสถานะของการเล่าเรื่องการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้นกลางในโลกทุนนิยม ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อต่อต้านแต่เป็นการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดในโลกทุนนิยม … ในขณะเดียวกันหนังทั้งสามเรื่องก็พูดถึงผู้ใหญ่ไม่รู้จักโตในโลกที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง และเล่าถึงคนอื่นๆ ในแวดวงความสัมพันธ์โดยมีตัวฉันเป็นแกนกลาง ‘ฉัน’ คนฉลาดที่เอาแต่ใจ ออกจะไร้เยื่อใยกับคนรอบข้าง

โดยแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการต่อสู้ดิ้นรนของบรรดาเด็กชนชั้นล่างปากกัดตีนถีบที่ต้องดูแลพ่อแม่พี่น้องในหนังตระกูลอย่าง ไทบ้านเดอะซีรีส์ หรือบรรดาเด็กวัยรุ่นพอกะเทินที่การทำตามความฝันสวนทางกับข้อจำกัดของชีวิตอย่างบรรดาเด็กหนุ่มสาวในหมู่บ้านโนนหินแห่ใน หน่าฮ่านเดอะซีรีส์ หรือแม้แต่เด็กสาวสองคนที่หาที่ทางของตัวเองในประเทศที่ไม่ได้อย่าง เบลล์และซู ใน Where We Belong คนหนุ่มสาวในหนังของนวพลไม่มีปัญหาเหล่านั้น แต่การไม่มีปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่ไม่มีปัญหา ทุกข์คนเมืองในหนังของนวพลคือการไม่สามารถเข้ากันได้กับโลกทุนนิยมที่อ้าแขนรับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งมาตลอด หากพวกเขาพบว่าในโลกที่เอื้อให้พวกเขามากกว่ามากแล้วนั้นยังต้องการจากพวกเขามากขึ้นไปอีก เพื่อน ครอบครัว คนรัก กลายเป็นสมอถ่วงรั้ง แม้แต่ ร่างกาย บ้าน และเวลา ก็ฉุดรั้งพวกเขาจากความสมบูรณ์แบบที่โลกทุนต้องการจากเขา การอุทิศตัวของพวกเขาจึงไม่ใช่แค่การทำงานเลี้ยงปากท้อง ต่อให้ท้องอิ่มพวกเขาก็ยังต้องทำต่อไปเพื่อความฝัน เมื่อความฝันกลายเป็นเครื่องมือขูดรีดแรงงานขั้นกว่าที่เรียกร้องทุกอย่างจากพวกเขา

เราอาจบอกได้ว่า หนังสามเรื่องเล่าเวลาสามช่วงวัย และปัญหาการขูดรีดของทุนนิยมของแต่ละช่วง ฟรีแลนซ์ พูดถึงการขูดรีด ‘ร่างกาย’ ตนเอง และปัญหาของการเป็นอิสระจากทุนแต่ตกเป็นทาสของทุน งานที่ไม่มีเวลาเข้าออกกลายเป็นงานที่ไม่มีเวลาหยุดพัก มนุษย์กลายเป็นเครื่องจักรที่โดดเดี่ยวไร้เพื่อน และชำรุด ในขณะที่ฮาวทูทิ้งพูดถึงการที่ทุนนิยมขูดรีด ‘พื้นที่’ ตัวละครเปลี่ยนจากแรงงานมาเป็นเจ้าของกิจการ และต้องกำจัด ‘พื้นที่ทั้งในแง่กายภาพด้วยการเปลี่ยนบ้านของแม่มาเป็นออฟฟิศของตน และการเคลียร์พื้นที่ทางใจด้วยการขจัดผู้คนออกไปจากชีวิตอย่างไร้ความปราณี จนมาถึง Fast and Feel Love ที่ว่าด้วยการขูดรีด ‘เวลา’ ทั้งจากการต้องการไปยังฝั่งฝันของคนที่ละทิ้งวิถีทางแบบทุนนิยมดั้งเดิม (เรียนมหาวิทยาลัย ทำงาน ก้าวหน้าในองค์กร) ในโลกใหม่ที่โอกาสเป็นของทุกคน ขณะเดียวกันก็ขูดรีดเวลาจากคนรอบข้างในฐานะผู้สนับสนุนเขาด้วย ถึงที่สุดตัวละครของเขาคือคนที่หนีจากโลกทุนนิยมแบบเดิมเพื่อไปติดกับดักทุนนิยมเดิมในรูปแบบใหม่

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกันในกระบวนการทางเทคนิค Fast and Feel Love กลายเป็นหนังที่แตกต่างจากสองเรื่องแรกอย่างชัดเจน เพื่อให้สภาวะของ ‘เวลา’ ชัดขึ้นใน Fast and Feel Love นวพล เลือกวิธีการใหม่โดยการ ‘ทิ้ง’ รูปแบบเดิมที่เขาเคยถนัดในฐานะหนังนิ่งช้า หน้าตาย ที่ทั้งขบขันและขมขื่น มาเป็นหนังที่รวดเร็วถึงรวดเร็วมาก ด้วยวิธีการแบบหนังโฆษณา (ซึ่งเป็นภาพแทนของหนึ่งในรูปแบบการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดของทุนนิยม / ในอีกทางหนึ่งการที่หนังได้สปอนเซอร์เป็นโครงการบ้าน ทำให้ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่การไทอินบ้านในหนังทำให้มันเกือบจะกลายเป็นหนังโฆษณาบ้านไปจริงๆ) คลิปไวรัล และความขบขันอย่างรวดเร็วแบบคนรุ่นใหม่ที่วัฒนธรรมทางสายตาอยู่กับการกวาดตามอง การรูดเลื่อน ทุกอย่างต้องมีเสียงดัง จู่โจม พุ่งเข้าใส่ มันไม่ใช่วัฒนธรรมของการ ‘จ้องมอง’ อีกต่อไป

หนังจึงออกมาสนุก ฉับไวรวดเร็ว ต่างจากความนิ่งช้าหน้าตายในหนังสองเรื่องก่อนหน้า หนำซ้ำยังเต็มไปด้วยการอ้างอิง ยั่วล้อ คารวะ ภาพยนตร์ มีม คลิปไวรัล และวัฒนธรรมป๊อบอย่างไม่บันยะบันยัง

และในเมื่อหนังเรื่องนี้อ้างอิงภาพยนตร์ทั้งบทพูด การแสดง ไปจนถึงการถ่าย จึงไม่มีอะไรน่าสนุกไปกว่าการเขียนถึงหนังเรื่องนี้โดยการอ้างอิงภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้เขียนนึกถึงในตลอดเวลาที่นั่งดูหนังเรื่องนี้ (โดยหนังที่เลือกมาทั้งหมดไม่ใช่หนังที่ถูกอ้างถึงในหนัง)

ดังที่ได้กล่าวไป ภายใต้การยักย้ายการอ้างอิงจากศิลปะวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม มาสู่การยั่วล้ออ้างอิงวัฒนธรรมป๊อบภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด มีมในอินเทอร์เน็ต FFL มุกตลกของหนังยืนอยู่บนการรับรู้สิ่งที่มันถูกอ้าง ตั้งแต่ คริสโตเฟอร์ โนแลน ไปจนถึง Fast and Furious จากสตาร์วอรส์ ไปถึงจอนวิค มันน่าสนใจอย่างยิ่ง สิ่งที่ FFL เอามายั่วล้อ เป็นวัฒนธรรมป๊อบที่อยู่คนละระนาบกับ ลีน่าจัง หนูรัตน์ ไปจนถึงโซเฟีย ลา หรือ พระมหาเทวีเจ้าในหนังชุด หอแต๋วแตก ของพจน์ อานนท์ หนังที่หลังจากผ่านกาลเวลาเกินทศวรรษ หอแต๋วแตกของพชร์ อานนท์ ได้เปลี่ยนจากหนังไทยที่ถูกนำมาล้อในฐานะมาตรฐานของหนังห่วย ไปเป็นหนึ่งในหนังคัลท์สำคัญ ที่นอกจากจะทำเงินจนทำให้มีภาคต่อออกมาอีกหลายภาค หนังยังกลายเป็นจดหมายเหตุมโนสาเร่ของกระแสสังคมชั่วคราวของไทย หอแต๋วแตกกลายเป็นบันทึกสิ่งไร้สาระที่สังคมจ้องมอง สูบกิน แล้วโยนทิ้ง หนังเองก็เอาสิ่งนั้นมาใช้อย่างฉาบฉวย เน้นความทันเวลาแล้วก็โยนทิ้งไปไม่ต่างกัน ด้วยวิธีการยั่วล้อต่างรสนิยมนี้ ทำให้หนังสองเรื่องฉายภาพผู้ชมสองกลุ่มที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พูดกันคนละภาษา มุกตลกคนละแบบ แต่หนังสองเรื่องกลับใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกันอย่างยิ่งจนเรียกได้ว่าเป็น multiverse ของกันและกัน 

สิ่งที่ FFL เอามายั่วล้อ เป็นวัฒนธรรมป๊อบที่อยู่คนละระนาบกับ ลีน่าจัง หนูรัตน์ ไปจนถึงโซเฟีย ลา หรือ พระมหาเทวีเจ้าในหนังชุด หอแต๋วแตก ของพจน์ อานนท์ … ด้วยวิธีการยั่วล้อต่างรสนิยมนี้ ทำให้หนังสองเรื่องฉายภาพผู้ชมสองกลุ่มที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พูดกันคนละภาษา มุกตลกคนละแบบ แต่หนังสองเรื่องกลับใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกันอย่างยิ่งจนเรียกได้ว่าเป็น multiverse ของกันและกัน 

อย่างไรก็ตามความไม่พยายามของหอแต๋วแตก ทำให้ตัวละครในหนังชุดนี้กลายเป็นอะไรก็ได้ ใครก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ราวกับในจักรวาลของหอแต๋วแตกทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งหมด ความไม่แคร์อาจจะเป็นปัญหา แต่มันก็เป็นประโยชน์พอๆ กัน ในทางตรงกันข้าม ความก้ำกึ่งละล้าละลังในการเป็นหนังยั่วล้อกับหนังที่พูดเรื่องจริงจังอย่างเช่นสงครามชีวิตของคนวัยกำลังจะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวทำให้หนังขาดมิติเชิงลึกของตัวละครแบบที่หนังของนวพลเคยมี ชีวิตของเกาและเจกลายเป็นเพียง background ของมุกตลก เราไม่ได้เห็นความทุกข์ ความเจ็บปวดของตัวละครมากนัก เพราะทันทีทีหนังเริ่มดิ่งลงในชีวิตของตัวละคร มันก็คล้ายกับมีสัญญาณเตือนดราม่าแบบที่เกาได้ยินแล้ว หนังก็กระชากตัวเองกลับคืนมาเล่นตลกอ้างอิงภาพยนตร์เพื่อสร้างความบันเทิง แบบที่คลิปไวรัลต่างๆ ของ Salmon House ชอบใช้ ทางเลือกนี้อาจจะน่าสนุกและเปลี่ยนหนังให้เป็นเกม แต่มันก็ลดรูปชีวิตลงไปไม่น้อย 

เราไม่เรียกร้องมิติลึกซึ้งของตัวละครในหอแต๋วแตก เพราะมันวางตัวเองไปเป็นความแฟนตาซีเหนือโลก แต่การขาดหายมิติเชิงลึกของตัวละครใน FFL เป็นเรื่องที่ชวนใจหายมากทีเดียว 

ในอีกทางหนึ่ง นวพล เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าหนังเรื่องนี้คือ ‘หนังแอคชั่นที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน’ แอคชั่นไม่ใช่การกู้โลก ไม่ใช่การออกไปต่อสู้กับเหล่าร้าย ออกแรงไล่ล่า แต่เกิดขึ้นในการต้องเผชิญหน้ากับปั๊มน้ำที่ร้องไม่หยุด บ้านที่ถูกตัดไฟ และการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีให้ทันเวลา นวพลถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยเทคนิคแบบหนังแอคชั่น ตัดฉับไว ซูมเร็วโหมเพลงประกอบ สโลว์โมชั่นเพื่อเพิ่มความตื่นเต้น การบอกให้นักแสดงเล่นด้วยความรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในหนังแอคชั่น หยิบเอาวิธีการแบบนั้นมาใช้ การพูดคนเดียว การออกเสียงช้าๆ เน้นคำ การทำตัวเหมือนกับว่าการไปปากซอยคือการบุกเข้าไปในตึกที่กำลังไฟไหม้ น่าสนใจที่เขาเลือกกีฬา stacking ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นกีฬาที่เอาชีวิตประจำวันมาแข่งขันกัน ด้วยการกำหนดว่าใครเรียงแก้วได้ไวที่สุด กีฬาที่ทำให้ชีวิตประจำวันกลายเป็นการแข่งขันที่น่าตื่นเต้นในระดับการกอบกู้โลก ซึ่งก็ไปกันได้ดีกับความเป็นแอคชั่นในชีวิตประจำวัน

แต่มันก็ทำให้ทั้งหมดนั้นเป็นหนัง มันไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องชีวิตประจำวัน แต่เทคนิคของหนังคือการทำให้ชีวิตประจำวันกลายเป็นหนัง และเมื่อมันเป็นหนังตัวละครก็เป็นแค่ตัวละคร หนังตอกย้ำความเป็นหนังของมันอยู่เรื่อยๆ ผ่านการให้ตัวละครหันมาพูดกับผู้ชมอยู่เรื่อยๆ ผ่านทางเสียงประกอบแบบวิดีโอเกม และเกากับเจก็กลายเป็นตัวละครในวิดีโอเกมไปจริงๆ เพราะเราไม่ต้องรู้สึกร้อนหนาวเจ็บปวดกับการที่ตัวละครในวิดีโอเกม ถูกยิงแทงฆ่าตกตึก เรารู้ว่าพวกเขาเป็นตัวละคร มีภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ ชีวิตถูกวางไว้ข้างนอกเพื่อภารกิจนั้น 

มันจึงทำให้นึกถึงหนังอย่าง Memoria ของอภิชาติพงศ์ ​วีระเศรษฐกุล หนังประหลาดที่สามารถถอดโครงสร้างของหนังมาเป็นหนังแอคชั่นซูเปอร์ฮีโร่ได้เช่นกัน เพราะมันว่าด้วยหญิงสาวที่ได้ยินเสียงปังในหัว ออกตามหาหนทางรักษาก่อนจะพบว่าเสียงปังนั้นเป็นเสียงผี เสียงของความทุกข์ทั้งมวลบนโลกนี้ หนังจบลงด้วยการที่เธอเฝ้าฟังเสียงความทุกข์ของคนที่เธอไม่รู้จัก แต่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ราวกับว่าการกอบกู้โลก ‘อาจจะ’ เป็นไปได้ หากเรารู้จักเฝ้าฟัง 

หากใน Fast and Feel Love เมื่อเราถอดโครงสร้างในทำนองเดียวกันก็คงเล่าใหม่ได้ว่านี่คือเรื่องของคนที่มีพลังพิเศษในการเรียงแก้ว และเพื่อจะทำให้พลังพิเศษนั้นเข้มข้น เขาต้องไม่ฟังไม่ว่าจะเป็นเสียงของใคร แม้แต่ความทุกข์ในใจตน จากนั้นเมื่อไม่มีอะไรเหลือให้ฟังเขาต้องเผชิญหน้ากับมวลความทุกข์ โลกที่ล่มสลาย โดยทั้งหมดคือความทุกข์และโลกภายในของเขาเอง โลกที่ทุนนิยมกำหนดให้เขาเป็นผู้เล่น โดยมีธานอสที่รอดีดนิ้วเมื่อเขาร่วงหล่นจากสิ่งที่ทุนกำหนด 

ในอีกทางหนึ่งเราอาจจะเทียบเคียงชีวิตรักของเกากับเจได้จากร่องรอยของหนัง Ingmar Bergman คนทำหนังชาวสวีเดนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก หนังของเขามักขุดลึกลงไปในจิตใจอันชั่วร้ายเย็นชาของมนุษย์สามัญ ในครอบครัว การแต่งงาน ศาสนา การเป็นพ่อแม่พี่น้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวที่เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ 

‘ในขณะที่เหล่าตัวละครกระฎุมพีของ Bergman ในยุคนี้ เป็นคนที่มีเสรีภาพและเหตุผล ซ้ำยังรายล้อมไปด้วยสิ่งดีๆ ในชีวิต หากพวกเขาก็ยังถูกรัดคอจากความขัดแย้งระหว่างความต้องการอันหลากหลายของตนและภาระผูกพันของความชิดใกล้อันไม่แน่นอนของพวกเขา และการรัดคอทำให้หายใจไม่ออก อาจเปรียบเปรยได้ว่า ในเมื่อทุกลมหายใจต้องถูกขับออกจากภายในร่างกายของแต่ละคนแล้วนั้น ก็ไม่ใช่เพียงแค่การแต่งงานเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาหายใจไม่ออก’ 1The Demon of Modernity : Ingmar Bergman and European Cinema (John Orr, 2014) คำแปลจาก Bioscope Magazine Issue 189 Dec-Jan 2019 p.13

เราอาจพูดถึงเจกับเกาว่านี่คือคู่รักชนชั้นกลางค่อนไปทางบนที่แม้จะไม่มีรายได้แน่นอน แต่ก็มีบ้านราคาหกล้าน คู่รักที่มี ‘สิ่งดีๆ ในชีวิต’ เพียบพร้อม แต่ความต้องการอันหลากหลายของพวกเขายังคงสวนทางกัน คนหนึ่งหมกมุ่นอยู่กับโลกข้างนอกที่ถึงที่สุดคุกคามบ้าน เมื่อกฎของ stacking เปลี่ยนให้การแข่งขันเกิดขึ้นได้ในบ้านตัวเอง เกาเปลี่ยนบ้านเป็นสนามแข่ง ขณะที่เจ ต้องการบ้านที่เป็นโรงเลี้ยงเด็กโดยมีเกาเป็นเด็กคนที่ว่า การแย่งใช้พื้นที่ห้องเด็กในหนังกลายเป็นจุดตั้งต้นของการแตกหักระหว่างคู่รัก ซึ่งหนังไม่ได้ออกแบบให้เราได้เข้าไปในความรัก ไปๆ มาๆ หนังปราศจากฉากใกล้ชิดแตะต้องเนื้อตัว (หนังของนวพลมักปราศจากฉากวาบหวามทางอารมณ์จนบอกได้ว่าหนังของเขาสะอาดและค่อนไปทาง asexual) ปราศจากการทะเลาะทุ่มเถียงด้วยเรื่องเล็กน้อย เจเป็นเหมือนแม่บ้านของเกา และเกาเป็นเหมือนลูกของเจ ความสัมพันธ์ของหนังและการเปลี่ยนชีวิตเป็นเกมของหนังจึงทำให้พวกเขาเหมือนเพื่อนร่วมงานในบริษัทจัดตั้งครอบครัวมากกว่าคู่รัก

นั่นทำให้นึกถึงซีรีส์ญี่ปุ่นอย่าง We Married As Job ที่ว่าด้วยชายหญิงที่ตัดสินใจแต่งงานกันแบบพันธสัญญาบริษัท คือฝ่ายหญิงต้องการเป็นแม่บ้านที่มาอาศัยในบ้านเจ้านายหนุ่มโสดเพราะเธอไม่มีที่อยู่ ฝ่ายชายเป็นคนโสดไม่สนใจโลกที่ประทับใจในฝีมืองานบ้านของเธอทั้งคู่จึงตัดสินใจแต่งงานกันเพื่อจะได้ทำให้แต่ละฝ่ายทำงานต่อไปและลดภาระค่าใช้จ่ายของทั้งคู่ แน่นอนว่าทั้งคู่ตกหลุมรักกันในท้ายที่สุด แต่ระหว่างทางนั้นหนังได้ตั้งข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการขูดรีดแรงงานผ่านความรักไว้อย่างน่าสนใจมากๆ เพราะถ้างานบ้านกลายเป็นงานที่ได้เงิน ในที่สุดถ้าทั้งคู่ต้องการเปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างนายจ้างมาเป็นคู่รักจริงๆ งานบ้านจะกลายเป็นงานที่ถูกขูดรีดฟรีๆ หนังนำไปสู่ข้อถกเถียงเรื่อง การแบ่งงานกันทำระหว่างแรงงานชายและแรงงานหญิง แต่แรงงานหญิงได้รับงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง การกดขี่ในนามของความรัก ความเป็นเมีย เป็นแม่ 

ในหนังเรื่องนี้ เกาค่อยๆ ตระหนักถึงความสำคัญของคนที่อยู่รอบตัวเมื่อเจจากไป ก่อนหน้านี้เขาขูดรีดเจด้วยความรักและความไว้เนื้อเชื่อใจ และเขาก็พบว่า แม่ คุณปอเจ้าของสำนักงานสอนสแตคที่เขาทำงาน หรือเมทัล แม่บ้านที่ข้างมาใหม่ ล้วนสำคัญต่อเขาทั้งสิ้น น่าสนใจว่า คนรายรอบตัวเกาทั้งหมดรวมไปถึงไผ่หลิว มาสเตอร์ของเขา เป็นผู้หญิง และบรรดาผู้หญิงในเรื่องถูกเปลี่ยนชื่อเรียกจาก แม่ เมีย คนรับใช้ ไปเป็น ‘ผู้สนับสนุน’ คำที่ฟังดูดีกว่าในโลกทุนเพราะมันตัดมิติเชิงอำนาจของความสัมพันธ์เดิมออก ฉากที่น่าสนใจที่สุดจึงเป็นฉากการตระหนักรู้ของเขา ในฉากนี้เขาเรียกคนรายรอบเขาเรียงตัวว่า แม่บ้าน/เจ้าของบริษัท/แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ความสัมพันธ์จำเพาะเจาะจงถูกเอาออกไปแทนที่ด้วยวิชาชีพของแต่ละคนเหมือนกับความสามารถพิเศษที่แต่ละคนมีมากกว่าตำแหน่งแห่งที่ในความสัมพันธ์กับเกา การลดรูป เปลี่ยนชื่อเรียกทำให้การขูดรีดนุ่มนวลขึ้น แต่แน่นอนว่าการขูดรีดไม่ได้มีแบบเดียว

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือดูเหมือนคู่แข่งทั้งหมดของเกาเป็นเด็ก แม้แต่ไผ่หลิว มาสเตอร์เจไดของเขาก็มาในร่างเด็กหญิงคนหนึ่ง ราวกับว่า กีฬา Stacking ที่เขาหมกมุ่นจะเอาชนะเป็นการแข่งกันกับเด็กไปตลอด นัยนี้มันน่าสนใจว่าในทางหนึ่ง มันคือภาพแทนอาการหวาดผวาการถูกไล่บี้โดยเด็กรุ่นหลัง ที่ดูแข็งกร้าว ไม่มีกำแพงอายุ การไม่ปวดหลังคือการไม่ต้องแบกภาระทั้งทางกายและใจจากการเป็นผู้ใหญ่และการล้างจาน หนังจึงเป็นทั้งเรื่องของการต่อสู้กับชีวิตตรงหน้า และการหวาดกลัวอนาคตไปพร้อมๆ กัน หากนี่ก็ช่วยขับเน้น อาการ ‘เด็กไม่รู้จักโต’ ของเกาได้ด้วย ฉากที่น่าสนใจจึงเป็นฉากที่ เอดเวิร์ดคู่แข่งของเกาคุยกับแม่ ว่าทำไมเขาจะเล่น stack ไปตลอดไม่ได้และแม่บอกว่า ลูกเล่นได้เพราะลูกเป็นเด็ก แต่ผู้ใหญ่เขาไปทำอย่างอื่นแล้ว เขามีความรับผิดชอบเพิ่ม มีอย่างอื่นต้องทำ 

เจกลายเป็นตัวละครที่น่าสนใจที่สุด เพราะในทางหนึ่งเธออาจถูกขูดรีดมากที่สุด แต่พอพิจารณาจริงๆ กลับย้อนแย้งกว่านั้นเพราะมันดูเหมือนว่าเธอเองก็ใช้เกาเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงดู ห่อหุ้ม ทะนุถนอม ถ้าเกามีความฝันอย่างการเล่นสแตคเก่งที่สุด เจก็มีความฝันในการดูแลใครสักคนอย่างดีที่สุด ควบคุมชีวิตเขา หล่อเลี้ยงให้เขาเติบโต และเมื่อเกาไม่อยู่ในการควบคุมของเจ เมื่อเขาอยากไปอเมริกาและไม่อยากมีลูก เจก็รู้สึกเธอไม่สามารถเลี้ยงดูเขาได้อีกต่อไป เกาเริ่มกลายเป็นผู้ใหญ่เพราะความฝันของเขามีเป้าหมายที่จับต้องได้มากขึ้นทุกที ในขณะที่เธอต้องการการเลี้ยงดูใหม่ เกาอาจต้องการเวลาที่หดสั้นลง แต่เจต้องการเวลาที่ยาวนานขึ้น หนึ่งชั่วการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจไปจากเกา มูฟออนกันง่ายๆ เหมือนเวลาที่จีนในฮาวทูทิ้งทิ้งข้าวของลงถุงดำโดยไม่ดูยังไงยังงั้น

ตลอดทั้งเรื่องเราไม่ได้เห็นความรักของเธอกับเกา ไม่ได้เห็นดราม่า ไม่ได้เห็นความรักอันหัวปักหัวปำ ความรักที่พร้อมจะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอย่างบ้าคลั่ง อย่างที่สรวิศ ชัยนาม มองความรักในโลกทุนนิยมในบทนำของหนังสือ ‘ทำไมต้องตกหลุมรัก Alain Badiou ความรักและลอบสเตอร์’ ว่าทุนนิยมต้องการความปลอดภัย ทุนนิยมต้องการโรแมนซ์มากกว่าความรักเพราะความรักนั้นอันตราย แต่ความโรแมนซ์นั้นปลอดภัย รักคนที่ฐานะเท่ากัน รักโดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลางและปราศจากเรื่องดราม่าใดๆ รักของเกากับเจ จริงถูกห่อหุ้มอยู่ในโรแมนซ์มากกว่ารัก และวันหนึ่งเมื่อเจไป สิ่งที่ตกค้างอยู่กับเกา จึงเป็นสิ่งที่เจช่วยรับภาระให้ แต่ไม่ใช่อ้อมกอด กลิ่น (ที่ไม่ใช่กลิ่นกอเอี๊ยะ) ร่องรอย หรือสัมผัสที่เกาเคยได้รับ ความสัมพันธ์ของเกากับเจจึงกลายเป็นโรมานซ์ที่จบลง ปวดร้าวเพียงครู่แล้วใช้ชีวิตต่อไป 

เมื่อเจจากไป คนที่มาแทนคือเมทัล หญิงแม่บ้านสำนักงานที่เกาจ้างมาแทนเจ หนังใช้แม่บ้านเมทัลในการไปยั่วล้อ Parasite หนังดังของบองจุนโฮ อย่างสนุกสนานด้วยการให้เกาจ้างคนขับรถและครูสอนภาษา (ชาวเกาหลี) ด้วยเสียเลยในคราวเดียว ราวกับว่าเกาไม่มีปัญหาทางการเงินอะไรทั้งสิ้น 

ในขณะที่ Parasite วิพากษ์สังคมกินคนในโลกเหลื่อมล้ำของเกาหลีใต้อย่างเข้มข้น บทบาทของเมทัลในฐานะแม่บ้านกลับปราศจากการเมืองเรื่องชนชั้นอย่างสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้นคือตัวเกาเองก็จู่ๆ ปราศจากการเมืองเรื่องชนชั้นไปด้วย เพราะหลังจากเป็นลูกแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวที่ดูจะไม่มีรายได้อะไรมากนัก จู่ๆ เกาก็สามารถซื้อบ้านหกล้าน จ้างแม่บ้าน คนรถ และครูสอนภาษา แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงมุกตลกมากกว่าความเป็นไปได้จริงๆ แต่ยิ่งมันดำรงคงอยู่มากขึ้นเราก็ยิ่งเห็นว่าหนังเองค่อยๆ อัพเลเวลจากชีวิตจริงไปสู่เกม และไปสู่ภาพฝันของชนชั้นกลางในโลกทุนนิยมอย่างถึงที่สุด ที่น่าตื่นเต้นคือภาพแทนความสมบูรณ์พร้อมของสิ่งดีๆ เหล่านี้ (ดังที่เรากล่าวถึงในหนังของ Bergman ก่อนหน้า) ไม่มีอะไรจะสมบูรณ์ไปกว่าภาพในหนังโฆษณา และหนังทั้งเรื่องที่ใช้กลเม็ดเด็ดพรายของการโฆษณา ทำให้หนังโฆษณาแฝงบ้านและคอนโดของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไปด้วย ถึงที่สุด เกาไต่เต้าขึ้นสู่จุดสุดยอดของการเล่นเรียงแก้วที่แต่ละใบคือรูปแบบชีวิต เมื่อคนรัก แม่ กลายเป็น แม่บ้านและผู้สนับสนุน ชีวิตกลายเป็นภาพแทนของโฆษณา และเทคนิคทางภาพยนตร์เปลี่ยนจากหนัง (ที่เราได้แต่เฝ้ามองและครุ่นคิด) ไปสู่เกม (ที่เราเล่นและเลือกได้) และไปสู่โฆษณา (ที่เราเฝ้าฝัน ปรารถนาและซื้อหาได้) จู่ๆ หนังเลยกลายเป็นการอธิบายความปรารถนาของการกลายเป็นคนตระกูลคิมใน Parasite ไปในที่สุด

กล่าวอย่างถึงที่สุด เมื่อเราตัดขาดความดราม่า แบบที่เกากลัวจะทำให้สปีดตก เมื่อเราต้องการชีวิตสมบูรณ์พร้อม ในที่สุดเราจึงไม่ต้องการความรัก หรือการผูกมัดใดๆ โดยไม่ได้ตั้งใจหนังอธิบายความสยองขวัญของทุนนิยม ด้วยภาพฝันแบบโฆษณา เพราะหนังโฆษณาไม่มีดราม่า ถ้ามีดราม่า มันเป็นไปเพื่อให้สินค้าคลี่คลายดราม่านั้น โฆษณาจบสุขเสมอ เพื่อกระตุ้นให้คนออกไปซื้อหาสินค้า เพราะเราเป็นโรคคลั่งความสุข ความสุขคือคำสัญญา แบบเดียวกันกับชื่อ The Promise of Happiness ของ Sarah Ahmed ที่แปลเป็นไทยว่า จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ซึ่งพูดในบทเปิดว่า

“คนเรามักมองว่าความสุขเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราจะพุ่งไปให้ถึง เป็นสิ่งที่มอบจุดหมาย ความหมาย และระบบระเบียบให้กับชีวิต… เราต่างตกลงปลงใจในฉันทามติข้อหนึ่งร่วมกัน นั่นคือฉันทามติที่ว่า ‘ความสุขเป็นเรื่องเอกฉันทน์’ แต่คำถามมีอยู่ว่า เรายินยอมต่อฉันทามติที่มีชื่อความสุขนี้จริงๆ หรือไม่? และเวลาที่เราตกลงปลงใจยินยอมต่อความสุขนั้น เราให้ความยินยอมต่ออะไรกันแน่?

อาการคลั่งความสุขของเกา อยู่ในมาตรฐานที่เกาปรารถนาเพื่อจะเล่น stack ให้สมบูรณ์แบบ สภาพแวดล้อมที่ดี อากาศที่บริสุทธิ์ ความเงียบในระดับที่แม้แต่เสียงปั๊มน้ำยังหนวกหู มีอาหารการกินบริบูรณ์ มีน้ำบรรจุขวดเต็มเสมออยู่หน้าห้องซ้อม เกาเชื่อว่าบรรดาคู่แข่งของเขาก็เช่นกัน ทุกคนอยู่ในที่สมบูรณ์พร้อม เต็มไปด้วยความสุข ความสุขจะนำพาไปสู่ความสำเร็จ เขาจึงพยายามขจัดตัวกวนความสุขของเขาออกไปอย่างบ้าคลั่ง ความสุขกลายเป็นเส้นทางสุดยอดความปรารถนาของโลกปัจเจก ในโลกแบบฝ่ายซ้าย ความเท่าเทียมอาจคือความสุข แต่ทุนนิยมอันฉลาดหลักแหลมบอกว่ามันสามารถให้ความเท่าเทียมปลอมๆ และให้ความสุขสูงสุดของปัจเจกด้วยถ้าทุกคนแข่งขันกันในตลาดเสรี ความฝันลมๆ แล้งๆ เกี่ยวกับความสุข จากการมีเงินเยอะพอจะซื้อบ้านมาซ้อม stack หรือมีเงินมากพอจะฝากไข่ไว้สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต ทุกคนแสวงหาความสุข และความสุขกลายเป็นศาสนา ที่โฆษณาตัวเองว่าให้ในสิ่งที่ศาสนาให้ไม่ได้ 

ภายใต้ข้อกำหนดแบบนั้นเกาจึงปฏิเสธดราม่าที่แตกหักจากตัวตนที่เชื่อมโยงจากคนอื่น เกาบอกว่าถ้าเขารู้ว่าดราม่าของเจคืออะไรเขาจะสปีดตก เขาปฏิเสธสิ่งนี้ และเกาพบว่าสิ่งที่ช่วยเสริมความสุขให้กับเขาไม่ใช่เมีย แต่เป็นแม่บ้าน และจักรกลอย่างแอปธนาคาร (หรือแม้แต่แอปดูแลบ้านที่เมทัลขายตรงให้กับผู้ซื้อและผู้ชม) เกาเอาชนะเจด้วยการซื้อบ้านคืน การครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างการเปลี่ยนชื่อโฉนดเลยเป็นความสำเร็จแบบเวรี่ทุนนิยมที่เคลือบความรักความผูกพันเอาไว้บนผิว ถึงที่สุดเกากลายเป็นสัตว์โลกทุนนิยมเต็มตัว เขาละทิ้งทุกอย่างไปเพื่อทำตามความฝัน ความฝันที่ทุนนิยมชักใยอย่างแยบยล 

และนี่คือหนังสำหรับการปลุกปลอบใจตัวเองของคนที่มี ‘ความฝัน’ ที่แตกต่าง ความฝันของพวกเขาอาจจะเป็นความลุ่มหลงเพียวๆ ในครั้งแรก วิธีเดียวที่เขาจะประคองความลุ่มหลงนี้ไว้ คือการหาทางให้มันมีที่ทางในโลกทุนนิยม ให้เห็นว่าถ้าเขาทำมันได้ดีเขาจะประสบความสำเร็จ เราจึงควรย้อนกลับไปยังฉากแรกในห้องแนะแนว ที่ครูสมรพยายามจะเลือกทางตรงให้กับลูกศิษย์ของเธอ และกลายเป็นการฆ่าความฝันแปลกประหลาดมากมายทิ้ง แต่ในเวลาต่อมาหนังก็ฉายให้เห็นว่าความฝันนั้นเป็นไปได้ แต่มันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมันถูกทำให้มีมูลค่าในโลกทุน การกลับมาเยาะเย้ยครูสมร ของเกา ที่จริงจึงเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่ครูสมรพยายามบอก เพียงแต่ใช้วิธีการที่แตกต่าง ‘จงหามูลค่าของตนในโลกทุน’ ถ้านายประสบความสำเร็จนายจะได้เยาะเย้ยพวกคนที่เลือกทางสามัญ แต่ถ้านายไม่ ก็เสียใจด้วย ยิ่งไปกว่านั้นทุนนิยมในโลกสมัยใหม่ ไม่ได้ขายความสุขและความสำเร็จในรูปแบบของการตั้งใจทำงานอีกแล้ว ในตอนนี้สิ่งที่มันโฆษณาคือทางลัดของความสุข ไม่ต้องรอคอยอีกแล้ว ความเร็วในการเรียงแก้วของเกาเลยไม่ใช่แค่ความเร็วเพื่อเป็นที่หนึ่ง มันคือความเร็วที่ทุนนิยมเร่งรัดให้คนหนุ่มสาวประสบความสำเร็จอีกด้วยความเร็วที่กลายเป็นแรงกดสำคัญแห่งยุคสมัยที่เพียงแค่พลาดไปเพียงเสี้ยววินาทีก็แพ้คนอื่นเสียแล้ว

ถึงที่สุด นี่จึงทำให้เราย้อนระลึกไปถึง หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ ที่เป็นเหมือนภาคขยายของฉากเปิดของหนังเรื่องนี้ เพราะมันคือเรื่องของเด็กๆ ที่ไม่มีความฝันนอกกรอบในโลกทุนนิยม และไม่มีความสามารถทางการแข่งขันในโลกภายในกรอบทุนนยิมด้วย หนังพาเราไปสำรวจ ความไม่มีความฝัน และการดิ้นรนที่เสี่ยงชีวิตยิ่งกว่าการรักหัวปักหัวปำ ภายใต้บริบทของหมู่บ้านเล็กๆ ในอุบลราชธานี ยุพินและผองเพื่อนที่ถึงที่สุดอาจจะไปได้มากที่สุดแค่การเป็นเมทัลคนต่อไป สำหรับเกาอีกจำนวนมากในสังคม

ตื่นเพื่อที่จะฝัน: การตั้งคำถามท้องฟ้าและปมอิดิปัสใน Bodo (1993) และ รักที่ขอนแก่น (2015)

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการกลุ่มชุด “Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining in Challenging Times?” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม – 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ซอยเกษมสันต์ 2 (รายละเอียดนิทรรศการอยู่ท้ายบทความ)

คำเตือน บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์

Apichatpong Weerasethakul, Cemetery of Splendour; photograph by Chai Siris, courtesy of Kick the Machine Films

“มันจะมีภูเขาอิฐแตกยอดขึ้นมา เหมือนกับต้นไม้ ใบไม้ผลิใบ สูงทะลุเสียดฟ้า ขึ้นรับแสงแดด เห็นอยู่ไกลลิบมากเลย ดูน่ากลัว น่ายำเกรง ดูเหมือนว่าเป็นมวลชีวิตที่ไร้มลทินอะ ดูเหมือนว่าเป็นมืออ่อนของเด็กวัยเยาว์ ก่อนจากไป กำแพงก็บวมปรับรูปร่าง เหมือนรู้ว่าถ้ามันล้มลงจะได้ภาพที่อัศจรรย์มากๆ เลย” 

– โต้ง (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี), รักที่ขอนแก่น (2015)

“รักที่ขอนแก่น” เริ่มด้วย รุ่งเช้าวันหนึ่ง เสียงของรถบรรทุกทหารสีเขียวขนาดใหญ่แล่นเข้ามาในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่น ที่ตอนนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโรงพยาบาลรักษาเหล่าทหารชั้นผู้น้อยที่ล้มป่วยด้วยโรคเหงาหลับ เพราะพวกทหารนอนหลับฝันร้ายจึงต้องมีการนำเข้าเครื่องช่วยให้หลับฝันดีซึ่งเคยถูกนำไปใช้ให้กับทหารอเมริกันที่ทำสงครามที่ประเทศอัฟกานิสถานมาแล้ว

ป้าเจน ศิษย์เก่าโรงเรียนประถมฯ แห่งนี้ เธอก้าวย่างด้วยไม้ช่วยเดินเพื่อไปหาเพื่อนในวัยเด็กที่ในวันนี้กลายมาเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ป้าเจนเอาตุ๊กตาผ้าที่เธอถักมาขายให้ญาติของทหารที่กำลังหลับอย่างสบาย เธอจับพลัดจับผลูกลายเป็นอาสาสมัครดูแล อิฐ นายทหารที่นอนตรงตำแหน่งที่เธอเคยนั่งเรียน พร้อมๆ กัน เก่ง สาวโสดผู้มีอาชีพหลักเป็นพนักงานขายครีมยางพารา และผู้รับอาชีพเสริมเป็นร่างทรงให้กับรัฐบาล เธอยังได้อาสามาติดต่อกับวิญญาณทหารให้กับญาติด้วย

วันหนึ่งขณะป้าเจนนั่งกินลองกองที่ศาลาในสวนไดโนเสาร์ล้านปีข้างห้องสมุด ก่อนจะพบว่ามีวิญญาณเจ้าแม่สองนางมานั่งด้วย ทั้งสองเตือนเธอว่าใต้โรงเรียนแห่งนั้นเป็นหลุมพระศพของพระราชาที่กำลังดูดพลังของทหาร (ในปัจจุบัน) ไปใช้ในการสู้รบที่ไม่มีวันจบสิ้น

“รักที่ขอนแก่น” พยายามตั้งคำถามแนวคิด อำนาจอธิปัตย์ (หมายถึงสิทธิในการสร้างความรุนแรงได้โดยพ้นผิด) ซึ่งเป็นการส่งความเหนือมนุษย์ไปสู่มนุษย์ซึ่งพบในหลายๆ สังคมชนเผ่า แต่อำนาจเบ็ดเสร็จในสังคมชนเผ่าจะถูกส่งเพียงแค่ช่วงทำพิธีกรรมที่มนุษย์จะสื่อสารกับพระเจ้า คนที่ออกอำนาจมิใช่พระเจ้า เขาเป็นเพียงเป็นตัวแทนอำนาจจากสวรรค์ ผู้ที่รับเอาอำนาจจากสวรรค์ในช่วงพิธีกรรมก็มิได้ต่างจากคนอื่นๆ ในเผ่า ในขณะที่ความเป็นเจ้า/กษัตริย์ กลับครอบครองอำนาจอธิปัตย์ด้วยตำแหน่ง ซึ่งมีอำนาจทั้งปวงเหนือชีวิตผู้ที่อยู่ใต้ปกครองเมื่อเขาปรากฏตัว นี่จึงทำให้เกิดการสร้างกฎระเบียบ/มณเฑียรบาลที่ทำให้กษัตริย์ต้องอยู่กับที่เสมอ กฏข้อห้ามทั้งหลายแม้จะตรึงกษัตริย์ไว้แต่ก็ส่งเสริมให้กษัตริย์เป็นสิ่งมีชีวิตเหนือโลก (transcendent)1David Graeber. Marshall Sahlins (2017). On Kings

อำนาจอธิปัตย์ใน “รักที่ขอนแก่น” ถูกนำเสนอผ่านท้องฟ้า สีฟ้า และวิญญาณกษัตริย์ที่ดูดพลังของทหารไปใช้ในการต่อสู้กับศัตรู เป็นที่รู้กันดีว่า สถาบันกษัตริย์ไทยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหลังการอภิวัฒน์สยาม (ค.ศ. 1932) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารในปี ค.ศ. 1957 ซึ่งเป็นผลจากการร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯ สถาบันกษัตริย์ และกองทัพนำโดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (รูปภาพในโรงอาหารในโรงเรียน) ชนชั้นนำไทยมองว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์ไม่อาจไปได้กับวิถีไทย พวกเขามองว่าสังคมไทยมีธรรมเนียมที่ยึดติดกับสถาบันกษัตริย์และศาสนาพุทธ2Sutayut Osornprasop (2007). Amidst the Heat of the Cold War in Asia: Thailand and the American Secret War in Indochina (1960 –74) รัฐบาลอเมริกาภายใต้การนำโดยประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์อนุมัติแผนงานต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ด้วยสงครามจิตวิทยาโดยการสร้างภาพลักษณ์ให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็น “สัญลักษณ์แห่งชาติ” อีกทั้งรัฐไทยกลายเป็นฐานทัพให้รัฐบาลอเมริกันแทรกแซงกิจการภายในของประเทศแถบอินโดจีน3ณัฐพล ใจจริง (2552). การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500)

ตลอดช่วงที่สฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ความด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจของอีสานถูกมองว่าเป็นปัญหาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนอาจนำไปสู่การซ่องสุมกำลังคอมมิวนิสต์ แผนพัฒนาอีสานจึงถูกแยกออกมาเฉพาะในแผนการพัฒนาชาติไทยระยะห้าปีซึ่งได้รับคำแนะนำจากธนาคารโลกในปี ค.ศ. 19624Maurizio Peleggi (2016). Excavating Southeast Asia’s prehistory in the Cold War: American archaeology in neocolonial Thailand โดยที่แผนพัฒนาอีสานถูกร่างครั้งแรกที่จังหวัดขอนแก่น5เสนาะ อูนากูล (2564). งานสัมมนาเรื่องระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy) : ศักยภาพโอกาสและความท้าทาย ดังนั้นแล้วจังหวัดขอนแก่นนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่อภิชาติพงศ์เติบโตขึ้นมาและความทรงจำของเขาค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นมา ขอนแก่นยังเป็นพื้นของความขัดแย้ง ช่วงชิงและการยึดครองจากรัฐไทย

ท้องฟ้าเป็นสิ่งที่อภิชาติพงศ์หันมาตั้งคำถาม ในภาพยนตร์เราเห็นตัวละครหลายตัวสวมเสื้อผ้าสีฟ้า ไปจนถึงฉากพารามีเซียมลอยเด่นบนท้องฟ้า การตั้งคำถามกับฟ้าดูจะเป็นสิ่งที่น่าถกเถียง เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดตระกูลภาษาขร้า-ไทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรรพบุรุษคนสยามและลาวต่างมีความเชื่อเรื่องผีฟ้าผีแถนซึ่งมีมาก่อนการรับเอาศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธจากอินเดียผ่านชาวเขมรและมอญ6Pattana Kitiarsa (2005). Beyond Syncretism: Hybridization of Popular Religion in Contemporary Thailand. Journal of Southeast Asian Studies / Volume 36 / Issue 03 / October 2005, pp 461 – 487 DOI: 10.1017/S0022463405000251, Published online: 08 September 2005 ต่างจากผู้ใช้ภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน (ได้แก่ ชาวเล ชาวมอแกนทางใต้ของไทย) ซึ่งเดินทางมาจากไต้หวันราว 4,000 ปีที่แล้ว พวกเขายังคงบูชาผีบรรพบุรุษเป็นสำคัญ แม้ว่าปัจจุบันบางส่วนจะหันไปนับถือศาสนาอิสลาม

ผีแถน (อาจมาจาก Ti’en แปลว่าท้องฟ้าในภาษาจีน7ยุกติ มุกดาวิจิตร (2557). ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ของคนไทดำอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเทวราชาหรือไม่ แต่ผีแถนที่มีลักษณะคล้ายกับอำนาจอธิปัตย์ นั้นก็ไม่ได้สถิตย์ถาวรตามตำแหน่ง เพราะอำนาจจากฟ้าจะถูกส่งผ่านมายังคนทรงเพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น และคนทรงก็มิได้มีอำนาจในการออกกฎหรือคำสั่งนอกเสียจากว่าเวลาที่เข้าทรง อำนาจอธิปัตย์ถูกส่งผ่านจึงถูกจำกัดด้วยเวลา อำนาจอธิปัตย์จึงขึ้นกับเวลา มิได้ขึ้นกับสถานที่หรือตำแหน่ง แล้วอำนาจอธิปัตย์ของกลุ่มคนพูดตระกูลภาษาขร้า-ไทถูกทำให้หลุดพ้นจากโลก (transcendent) อย่างถาวรเมื่อใด ไม่มีใครทราบได้

การท้าทายอำนาจอธิปัตย์พบได้ทั่วไปใน “รักที่ขอนแก่น” โลกกึ่งจริงกึ่งฝันที่มีสัตว์ประหลาดหน้าตาคล้ายอวัยวะเพศชายที่ถูกตอนหรือหดเหี่ยวไร้สมรรถภาพ สถานะเพศชายถูกเยาะเย้ยผ่านฉากที่เก่ง ป้าเจน และเพื่อนพยาบาลล้อเลียนอวัยวะเพศของทหารหนุ่มกำลังแข็งตัว ขอนแก่นในจินตนาการจึงเป็นโลกของการต่อต้านปมอีดิปัส/อีเล็คตร้า เป็นโลกที่หันหลังและตั้งคำถามกับการยกย่องการขาดอวัยวะเพศชาย เพศชายที่เป็นเหมือนต้นไม้ขนาดใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านและแตกรากแก้วออกไปเรื่อยๆ 

นี่จึงชี้ให้เห็นสถานะของป้าเจนที่ดูเหมือนว่าจะเป็น “ทาส” ในระบบเจ้า/ทาส5 ของรัฐไทย เช่น เธอชื่นชมทหารว่ารักชาติ เธออดทนกับการขายของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง เธอดำรงชีวิตอย่างลำบากและต้องไขว่คว้าหาโอกาสด้วยตนเองโดยมิได้ตั้งคำถามถึงอำนาจอธิปัตย์ ในจักรวาลของ “รักที่ขอนแก่น” แสดงให้เราเห็นการเปลี่ยนผ่านของสถานะการเป็น “ทาส” ของป้าเจนไปสู่องค์ประธานของการเปลี่ยนแปลง เช่น การใช้สมุนไพรที่ต่อต้านมโนทัศน์ของการแพทย์สมัยใหม่ ป้าเจนพยายามตั้งคำถามกับอำนาจอธิปัตย์ด้วยการที่เธอพยายามถ่างตาให้สว่างเพื่อจะตื่นจากวงจรความฝันร้ายนี้เสียทีในตอนท้ายของภาพยนตร์

“รักที่ขอนแก่น” ชี้ให้เราเห็นโลกที่อำนาจของชายเป็นใหญ่และอำนาจอธิปัตย์ที่ซ่อนภายใต้โวหารของความใสซื่อบริสุทธิ์ ดูอยู่เหนือพ้นการเมือง (อันสกปรก) แต่จริงๆ แล้วกลับเปราะบางแตกหักง่ายและอ่อนไหวกับการวิพากษ์วิจารณ์ “รักที่ขอนแก่น” ย้ำเตือนว่าในจิตไร้สำนึก/โลกของความฝัน และการสัมผัสโลกอีกแบบผ่านภาพยนตร์ ทำให้เราเห็นเหมือนกับที่ป้าเจนกล่าวกับอิฐหลังจากที่อิฐพาชมพระราชวังล่องหน ว่า “ตอนนี้ ป้ามองเห็นหมดแล้วว่าใจกลางของอาณาจักร นอกจากทุ่งนา ก็ไม่มีอะไรอีกแล้ว”

“รักที่ขอนแก่น” เสนอให้เราเห็นถึงความรักแบบอื่นๆ ที่มิใช่รักรัฐประชาชาติหรือรักอำนาจอธิปัตย์ ที่เป็นการรักเพราะรู้สึกขาด เสมือนว่าเป็นรักที่เราถูกสาปให้เป็นพลเมืองที่ต้องพึ่งพิงรัฐตั้งแต่เกิดจนตาย ราวกับเราขาดรัฐมิได้ ราวกับว่าเรากลัวถูกตอนอวัยวะเพศ (ในเพศชาย) และอิจฉาอวัยวะเพศชาย (ในเพศหญิง) ในทางตรงกันข้าม “รักที่ขอนแก่น” เสนอให้เราเห็นถึงรักและปรารถนาที่ตัดข้ามพ้นสัญชาติ เพศ อายุ ชนชั้น มนุษย์และอมนุษย์ “รักที่ขอนแก่น” เสนอให้เรารักผีของคนตัวเล็กตัวน้อย ผีของสรรพสิ่งในระนาบเดียวกัน เพราะความรักที่มิใช่การคลั่งและการจัดแบ่งประเภทของสรรพสิ่งแบบอนุกรมวิธาน

อิฐกล่าวกับป้าเจนว่าจริงๆ แล้วเขาอยากขายขนมเปี๊ยะสไตล์ไต้หวันมากกว่าจะใช้ชีวิตเป็นคนใช้ให้นายพล ก่อนที่เขาจะม่อยหลับลงอีกครั้ง นี่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของสถานะทาส (object) ของอิฐในฐานะพลทหารที่ชินชา เขาฝันที่จะมีชีวิตแบบอื่นๆ การพยายามตั้งคำถามของอิฐต่อระบอบอำนาจนิยมทหารก็คือการกลายเป็นองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลง (Subject) การเป็นองค์ประธานของทั้งอิฐและป้าเจนคือการอยู่ในสภาวะของความไม่แน่นอน คือการอยู่ในสภาวะของการกึ่งหลับกึ่งตื่นมากกว่าจะหยุดนิ่งในสถานะใดสถานะหนึ่ง ที่เป็นเพียงแค่การตื่นหรือการหลับ นั่นเพราะองค์ประธานคือศักยภาพในการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ องค์ประธานจึงเหมือนการถูกผีอำ ซึ่งเป็นการตื่นขณะที่เรากำลังหลับและอนุญาตให้ร่างกายเปิดรับผัสสารมณ์แบบอื่นๆ 

นี่อาจเป็นการอธิบายสภาวะกึ่งกลับกึ่งตื่นใน “รักที่ขอนแก่น” และการพยายามอยากจะตื่นของอิฐและป้าเจน แม้ว่าสุดท้ายทั้งคู่จะถูกทำให้ม่อยหลับลงอีกครั้ง แต่อย่างน้อยการหลับก็ทำให้เราได้จินตนาการถึงความเป็นไปได้บนพื้นที่และเวลาแบบอื่นๆ และเป็นการเผชิญหน้ากับจิตไร้สำนึกอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ 

“รักที่ขอนแก่น” ย้ำเตือนว่า การฝันร้ายมิใช่เรื่องผิดหรือต้องห้าม ฝันร้ายต่างหากที่เป็นการพยายามปลดแอกตนเองจากปม (ที่ไม่มีอยู่) ปัญหาของทั้งปัจเจกและชุมชน ภายใต้อำนาจอธิปัตย์ที่แสร้งว่ายิ่งใหญ่สถาพร ฝันร้ายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญหน้า มิใช่หลบหลีกด้วยการใช้เครื่องให้ฝันดี แม้ว่าจะมีบางสิ่งพยายามให้เราลุ่มหลงกับความฝันตลอดกาลก็ตาม

Huang Ming-Chuan, Bodo (寶島大夢), 1993.

“ตอนที่ฉันยังมีชีวิต ฉันมักฝันกลางวันว่าได้ล่องเรือไปในทะเล ทิ้งเครื่องแบบทหารไว้บนฝั่ง ปล่อยให้คลื่นกลืนร่างกายจนเป็นส่วนหนึ่งของทะเล จนกระทั่งมีคลื่นสีขาวมหาศาลที่พยายามจะดึงตัวฉันกลับไปที่ฝั่ง คุณต้องฟังนะ คลื่นทุกลูกที่ถูกซัดเข้าฝั่งเต็มไปด้วยเสียงร่ำไห้คนผู้คนที่ตายในสงครามที่ไม่เคยเกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ”

– เสียงของผีตนหนึ่งบนเกาะโบโด

การอยากหนีจากการเป็นทหารของอิฐ และการอยากตื่นจากฝันร้ายของป้าเจนดูจะเป็นสิ่งเดียวกันกับเรื่องราวที่ อากิ อดีตนายทหารหัวหน้ากองเล่าถึงความทรงจำ Bodo (1993) ภาพยนตร์ขนาดยาวโดย Huang Ming-Chuan ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่าสะเปะสะปะกึ่งจริงกึ่งฝันคล้ายความทรงจำบนสมุดบันทึกของอิฐที่ป้าเจนแอบอ่าน บางทีมันก็เล่าถึงการได้ไปเที่ยวแก่งกระจาน บางทีก็เล่าถึงความเจ็บปวดของคนเสื้อแดงและการติดคุกของอากง 

เช่นเดียวกับ Bodo ที่ในบางครั้งก็เล่าเรื่องรักสามเส้าระหว่างอากิ ยิซาน นายทหารที่หนีออกจากค่าย และกังฮัว หญิงสาวที่ยอมแลกเรือนร่างเพื่อที่จะได้เจอพ่อผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกทหารก๊กมินตั๋งจับตัวไปขังตั้งแต่กังฮัวยังเด็ก บางครั้ง Bodo ก็ฉายให้เห็นภาพบ้านเรือนของชนพื้นเมืองผู้ใช้ภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน บ้านร้างที่ว่างเปล่าผุพัง บ้านของชนพื้นเมืองที่ถูกไล่ที่และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเหี้ยมโหดในช่วงความน่าสะพรึงสีขาว (White Terror)

ภาพยนตร์ Bodo ดูจะเป็นปฏิกิริยาตอบโต้หลังสิ้นสุดกฎอัยการศึกที่ควบคุมไต้หวันตั้งแต่ ค.ศ. 1949 – 1987 กฎอัยการศึกเริ่มต้นไม่นานหลังจากที่เจียง ไคเชกหนีถอยร่นมาอยู่ที่ไต้หวัน ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงปะทะระหว่างคนไต้หวันและทหารพรรคก๊กมินตั๋ง โดยการสังหารหมู่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 ถือเป็นจุดกำเนิดของความน่าสะพรึงสีขาว เหตุการณ์วันนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตซึ่งมีการคาดการประมาณว่าอยู่ระหว่าง 5,000 ถึง 28,000 คน8Andrew Alan Johnson (2020). Mekong Dreaming: Life and Death Along a Changing River

เป็นที่ทราบกันดีว่าภายใต้ช่วงความน่าสะพรึงสีขาวและการดำรงตำแหน่งประธานของพรรคกั๋วหมินตั่งได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาลสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1950 ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน (Harry S. Truman) ประกาศว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่ให้ความช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำทางทหารแก่จีนในการรุกรานไต้หวัน ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เกาหลีเหนือรุกรานเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน 1950 รัฐบาลสหรัฐจึงถือว่าเป็นก้าวแรกที่ภัยคอมมิวนิสต์คุกคามโลก ประธานาธิบดีทรูแมนจึงออกคำสั่งให้กองเรือเข้าคุ้มครองช่องแคบไต้หวัน ซึ่งโดยนัยคือการสนับสนุนระบอบการปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง สหรัฐได้ให้การ ช่วยเหลือทางทหารแก่ก๊กมินตั๋ง ผ่านทางสำนักข่าวกรองกลางหรือ CIA (Central Intelligence Agency) จากปี ค.ศ.1951 – 1978 สหรัฐให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไต้หวันในหลายด้าน รวมทั้งผ่านหน่วยงานที่ปรึกษาทางทหารคือ “Military Advisory Assistance Group” (MAAG) ที่มีสำนักงานใหญ่ในไทเป9Forsythe, Michael (July 14, 2015). “Taiwan Turns Light on 1947 Slaughter by Chiang Kai-shek’s Troops”. The New York Times.

Bodo ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของเกาะไต้หวันที่แปลว่าเกาะแห่งขุมทรัพย์ อีกชื่อหนึ่งคือเกาะฟอร์โมซาซึ่งถูกตั้งโดยชาวโปรตุเกสตั้งแต่ทศวรรษ 1500 เกาะไต้หวันกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อำนาจโลกตะวันตกและตะวันออกแย่งมาราวๆ 400 ปี ซึ่งคนพื้นเมืองดั้งเดิมได้แก่ กลุ่มคนที่พูดตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนซึ่งอาจเดินทางถึงทางเหนือของเกาะไต้หวันราว 6,000 ปีที่แล้ว ก่อนจะกระจายไปทั่วเกาะถึงตอนใต้ และออกจากไต้หวันเมื่อราว 4,000 ปีที่แล้ว ต่อมาจึงเดินทางมาถึงหมู่เกาะทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้10Albert Min-Shan Ko (2014). Early Austronesians: Into and Out Of Taiwan. The American Journal of Human Genetics 94, 426–436, March 6, 2014 ได้แก่ ทางตอนใต้ของรัฐไทย

Bodo ยังเป็นชื่อของตัวละครชายผู้ร่อนเร่ (และเป็นผู้ที่สื่อสารกับผีได้) ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน เขาเป็นเพื่อนกับพ่อของยิซาน ผู้พลัดพรากลูกมาสิบปีและต้องการพบกับยิซานก่อนจะทราบว่าเขาหลบหนีจากค่ายทหารพร้อมๆ กับการเสียชีวิตอย่างปริศนาของร้อยเอกฮวง (ซึ่งต่อมาทราบว่าร้อยเอกฮวงซ้อมยิงปืนเล่นแล้วพลาดกับยิซานด้วยการยิงกระป๋องที่วางไว้บนหัวของร้อยเอกฮวง) อากิเป็นผู้ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในการสืบสวนและพบกับสมุดบันทึกของร้อยเอกฮวงซึ่งเต็มไปด้วยภาพลามกอนาจาร หลังจากนั้นอากิก็เริ่มฝันร้าย ภาพและเสียงจากสมุดบันทึกก้องในหัว เหมือนว่าแรงปรารถนาทางเพศถูกปลดปล่อยออกมาอย่างไม่อาจควบคุมได้

Huang Ming-Chuan, Bodo (寶島大夢), 1993.

ถ้าหาก “รักที่ขอนแก่น” มีท่าทีของการพยายามทำลายอำนาจเผด็จการทหารและชายเป็นใหญ่ Bodo ก็เช่นกัน ผ่านตัวละครเพศชายจำนวนมากที่ไม่เป็นการเป็นงาน เพราะไม่มีการสู้รบจริงๆ กองทัพจึงเป็นการป้องกันศึกภายในมากกว่าศึกภายนอก เกาะไต้หวันจึงปกคลุมด้วยความเฉื่อยชาและน่าเบื่อ ชีวิตที่ดำเนินอย่างเชื่องช้าเปิดเผยให้เห็นแรงปรารถนาทางเพศภายใต้เครื่องแบบทหาร ความฝันและสมุดบันทึกจึงเป็นพื้นที่ของการปลดปล่อยอารมณ์ ชายร่อนเร่พบกับพ่อของยิซานครั้งแรกที่แท่งหินสูงยาวคล้ายอวัยวะเพศชาย พ่อที่ต้องการพบลูกที่พลัดพราก อากิที่ต้องการล้วงความลับชีวิตร้อยเอกฮวงผ่านสมุดบันทึก นั่นเพราะร้อยเอกฮวงมีความสัมพันธ์กับกังฮัว สาวที่อากิแอบชอบ อากิจึงอยากเป็นชายชาติทหารและนักรักแบบที่ร้อยเอกฮวงเป็น การอยากเป็นชายในฝันของอากิจึงมีท่าทีแบบปมอิดิปัส แต่สุดท้ายเขาก็ล้มเหลวเมื่อพบว่ากังฮัวชอบยิซาน และตรงกันข้ามพ่อที่ตามหาลูกชายจึงเป็นเหมือนด้านกลับของปมอิดิปัส

Bodo จึงเป็นเรื่องของการต่อต้านปมอิดิปัส เป็นการเสนอให้เห็นซากปรักหักพังและการล่มสลายของระบอบชายเป็นใหญ่ ด้านกลับของปมอิดิปัสจึงเสนอให้เราสำรวจสถาปัตยกรรมของป้อมปราการร้างและฝันร้าย พ่อตามหาลูกจึงเป็นการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง การละเล่นและร้องเพลงของพ่อยิซานจึงการกลับไปเป็นเด็กและเชื่อมโยงกับคนไร้บ้าน นี่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบแนวระนาบที่เป็นการพบกันเพื่อแยกจากกัน (มิใช่การเจอกันเพราะการขาด) เป็นการพบกันของพ่อยิซานกับคนไร้บ้านซึ่งท้ายที่สุดก็จากกัน (เพราะเสียชีวิตจากอากิยิง) เป็นการพบกันของพ่อและยิซานที่ต่างฝ่ายต่างเผชิญหน้ากันและแยกจากกัน และเป็นการพบกันของยิซานและกังฮัว ที่พลัดพรากจากกันหลังจากนั้น รัฐ (เช่นเดียวกับความสัมพันธ์) ไม่ได้มีอยู่จริง รัฐเป็นการรวมกันของความแตกต่างหลากหลายของสิ่งต่างๆ ที่มีที่มาแตกต่างกันและต้องมาเจอกันในเวลาและสถานที่หนึ่งๆ และปัจจุบันกำลังเข้าสู่กระบวนการของการแยกจากกัน1 รัฐจึงเป็นเรื่องของการประกอบและพังทลายมากกว่าสถานะที่หยุดนิ่งตายตัว เช่นเดียวกับอำนาจอธิปัตย์ที่สร้างได้และถูกทำลายได้

ด้านกลับของปมอิดิปัสจึงเป็นการเสนอให้เราเห็นถึงอัตลักษณ์ที่แตกสลายของเกาะไต้หวัน เป็นคนร่อนเร่ที่ล่วงรู้ความลับของอากิ เป็นหนุ่มสาวที่หนีอิทธิพลของทหาร เป็นซากบ้านเรือนของชนพื้นเมืองและปราการที่รกร้าง เป็นผีที่เข้าสิงโบโดและความฝันของอากิ เกาะไต้หวันจึงเป็นพื้นที่ของการต่อต้านอัตลักษณ์ที่หยุดนิ่ง เป็นดินแดนที่ปฏิเสธแก่นสารหรือสารัตถะ เป็นเรือนร่างที่ดิ้นหนีจาการควบคุมบงการแบบลำดับชั้น 

แม้ว่าเกาะไต้หวันจะผ่านพ้นกฎอัยการศึกมาสามสิบกว่าปีแล้ว แต่ฝันร้ายจากเหตุการณ์ฆ่าล้างคอมมิวนิสต์ยังไม่เลือนหาย ประวัติศาสตร์ไต้หวันกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องที่ซับซ้อน การพยายามอย่างไม่เต็มใจของพรรคกั๋วหมินตั่งผ่านการ “ซื้อความสงบ” ด้วยการเยียวยาให้เงินเหยื่อของผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะพวกเขาต้องการมากกว่าเพียงแค่ประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนได้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนและเงินชดเชย พวกเขาต้องการได้รับการยอมรับผิดและการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างจริงจัง รวมไปถึงการยุติการรวบอำนาจของพรรคก๊กมินตั๋ง คนไต้หวันสนใจถึงปัจจุบัน (นึกถึงฉากใน “รักที่ขอนแก่น” เมื่อเก่งพยายามจะดูอดีตชาติของทหารที่นอนหลับ แต่ภรรยาของเขาบอกกับเก่งว่า “ไปดูอดีตทำไม ดูปัจจุบันสิ”) พวกเขาเป็นห่วงครอบครัว การมีงานทำและมีเงินใช้จ่าย อดีตคืออดีต และที่ผ่านมาผู้นำของพรรคก๊กมินตั๋งก็ทำเพียงแค่ออกมาขอโทษอดีตและให้เงินเยียวยาซึ่งนั่นไม่เพียงพอเพราะเป็นเพียงแค่การเลื่อนเวลาความออกไปเท่านั้น ไต้หวันจะไม่อาจเดินหน้า การกระทำของพรรคก๊กมินตั๋งจะยังหลอกหลอน11Albert Min-Shan Ko (2014). Early Austronesians: Into and Out Of Taiwan. The American Journal of Human Genetics 94, 426–436, March 6, 2014 หากไม่ทบทวนอดีตอย่างจริงจังผ่านความพยายามทางกฎหมายในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

อย่างถึงที่สุด ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องแม้จะต่างภูมิภาคหากแต่มีจุดเชื่อมโยงคือการเสนอให้ใคร่ครวญถึงประวัติศาสตร์บาดแผลอย่างจริงจัง บาดแผลหรือฝันร้ายมิใช่สิ่งที่ง่ายในการเผชิญหน้า บาดแผลและภูติผีจะยังคงเป็นสิ่งที่หลอกหลอนโลกสมัยใหม่ โลกที่เน้นย้ำถึงการก้าวผ่านไปข้างหน้า แต่เราจะก้าวย่างอย่างไร เพราะอดีตก็มีพลังอำนาจทั้งในเชิงฉุดรั้งปัจจุบัน และในทางที่อดีตชวนให้ปัจจุบันกลับไปเพิ่งพินิจ อดีต/ผีที่มีอำนาจแบบลำดับชั้น ผีแบบเทวราชาที่กลายร่างไปเป็นรัฐประชาชาติ การศรัทธากษัตริย์เปลี่ยนไปเป็นศรัทธาผู้นำรัฐบาล/คณะรัฐประหาร หรือรักชาติบ้านเกิดเมืองนอน ผีที่มีลำดับชั้นและหลุดพ้นจากโลกแบบนี้ดูจะเป็นสิ่งภาพยนตร์สองเรื่องตั้งคำถามและท้าทาย พร้อมๆ กัน ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องก็เสนอให้เราหันกลับไปมองผีอีกแบบ ผีของชนเผ่า ผีของคนธรรมดาสามัญ ผีของบรรพบุรุษที่ถูกบังคับสูญหาย และผีของพี่น้องที่ถูกรัฐพรากไป ภาพยนตร์ทั้งสองชวนให้เราคิดถึงการสร้างเครือข่ายในแนวระนาบ เครือข่ายของผู้กระทำการในฐานะผู้ปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลง การได้เข้าให้ห้วงภวังค์ของความฝัน (ร้าย) ของภาพยนตร์ทั้งสองจึงเป็นเพื่อการตื่นขึ้นอีกครั้ง หากแต่เป็นการตื่นเพื่อที่จะฝัน และเป็นการฝันเพื่อที่จะตื่น


เกี่ยวกับนิทรรศการ Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining in Challenging Times?

Shadow Dancing เปิดเผยเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสรองที่ทำให้เราครุ่นคิดพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ของชีวิตความเป็นอยู่ในโลกที่ซับซ้อนและมีหลากหลายแง่มุม โดยหยิบยืมมโนทัศน์ของการเคลื่อนไหวในความมืด อันเป็นพลวัตที่ตรงข้ามกับความชัดแจ้งและความชอบธรรม ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และเมื่อเราต้องจมอยู่กับความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ เราจะมองหาแสงสว่างในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ได้จากที่ไหน? วิถีการดำเนินชีวิตของเราถูกรบกวนและเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยังไม่นับความจริงที่ว่าเราต่างดำเนินชีวิตภายใต้การควบคุมจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกมาโดยตลอด ในทำนองเดียวกัน Shadow Dancing ยังพาดพิงถึงประวัติศาสตร์อันซับซ้อนและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์การเมืองของไต้หวัน ตลอดจนสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ปั่นป่วนในประเทศไทยที่คล้ายกับถูกม่านหมอกสีดำปกคลุมไปทั่ว ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์จากการพบปะพูดคุยและการวิจัยออนไลน์ตลอดระยะเวลาสี่เดือน โดยศิลปินชาวไต้หวันและชาวไทยทั้ง 8 คน ประกอบด้วยผลงานศิลปะสหสาขา ที่เน้นประสบการณ์และการมีส่วนร่วม รวมถึงศิลปะวิดีโอการแสดงและศิลปะจัดวางเสียง ซึ่งผลงานของแต่ละศิลปินต่างสะท้อนมุมมองอันหลากหลายและเสนอการอภิปรายอันล้ำลึกหลายชั้นและต่อเนื่องจากทั้งสองฝั่ง

ศิลปินที่ร่วมจัดแสดง: กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, ปณชัย ชัยจิรรัตน์, ศรภัทร ภัทราคร, หลิน อี๋-จวิน, เอนคาริอน อัง, เจิง เยี่ยน-อวี๋ และ เจิ้ง ถิงถิง

‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ หรือว่าทำซีรีส์วัยรุ่นยุคนี้..ต้องทะลุเพดาน !? (แบบแตะการเมืองนิดๆ)

ในฐานะคนคุ้นเคยกันดี ตั้งแต่สมัยผู้เขียนทำงานที่นิตยสาร BIOSCOPE จึงรู้สึกตื่นเต้นมากๆ ที่ได้เห็นผลงานซีรีส์เรื่องแรกของ อ้วน – นคร โพธิ์ไพโรจน์ และ ตั๊ก – ฉันทนา ทิพย์ประชาติ อย่าง ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ซึ่งถูกต่อยอดจากเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ‘หน่าฮ่าน’ เมื่อปี 2019 ให้เราได้เห็นกลุ่มแก๊งวัยรุ่นอีสานที่หลงใหลในการเต้นหน้าเวทีหมอลำ กลับมาโลดแล่นมีชีวิตอีกครั้ง

แต่วัยรุ่นใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ น่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่ผ่านการอัพเดตเฟิร์มแวร์ใหม่ เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองใหญ่หลายครั้ง ในช่วงปี 2020 ได้เปลี่ยนทัศนคติความคิดของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบัน ไปแบบหน้ามาเป็นหลังมือ

จึงเป็นเรื่องท้าทายแบบสุดๆ ของทั้งสองคน ที่จะสร้างโลกของ ‘หน่าฮ่าน’ ขึ้นมาใหม่อีกครั้งในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเมื่อต้องทำตัวเข้าใจวัยรุ่นยุคนี้ จึงยิ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงการไม่เอ่ยถึงประเด็นทางการเมือง ซึ่งในสื่อบันเทิงกระแสหลักไทย ทั้งหนังและซีรีส์ต่างหลีกหนีมาโดยตลอด

และนี่คือกระบวนคิดและวิธีการทำงานจนกลายเป็นซีรีส์ (ที่เรารัก) เรื่องนี้

Film Club : วิธีการทำงานบทใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ของพี่อ้วนกับตั๊กเป็นยังไง

นคร : ของเรามันเป็นลักษณะแบบนี้ เรามีประเด็นเยอะ แล้วเราไม่ได้จับประเด็นอันใดอันหนึ่ง แต่ในภาพรวมทั้งหมดเรามี Message คลุมเอาไว้อยู่ ไม่ใช่ว่าจะเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นเรื่องท้องไม่พร้อม แล้วจะเล่ามันไปทั้งอีพีนั้นก็ไม่ใช่ แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆ ก็จะรู้ว่าเรื่องทั้งหมดมันอยู่ในร่มของอะไร

ฉันทนา :​ คือพี่อ้วนอาจจะไม่ได้คิดหรอก แต่พี่อ้วนเขาก็เป็นคนทำงานสไตล์นี้อยู่แล้ว ก็คือเขียนอะไรไปเรื่อยๆ แล้วเราก็เป็นคนชอบดูงานแบบนี้ เฉลยเลยว่าเรา…เรียกว่า inspire ละกัน คือเราชอบงานกำกับซีรีส์ของ ชินวอนโฮ มากๆ ไปดู Hospital Playlist มัน Slice of Life มากๆ เลยนะ คือแมสส์ไหมเราก็ไม่รู้ แต่มันก็ประสบความสำเร็จจนมีซีซั่นสองไง ทั้งที่มันเป็นซีรีส์แบบยาวตอนนึงชั่วโมงกว่า ตัวละครหลักเยอะมาก 5-6 คน ซีซั่นนึงมีตั้ง 12 ตอน

สำหรับเรา ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ก็เป็นแบบนั้น คือพอมีคนบอกว่า ทำไมซีรีส์แตะประเด็นนั้นประเด็นนี้ แต่ไม่ได้ลงลึก ก็ลองดู Hospital Playlist ก็เหมือนกัน แค่เรื่องนั้นเล่าเรื่องของอาจารย์หมอวัย 40 แล้วทุกคนก็มีประเด็นกระจายไปเป็นของตัวเอง

เราเป็นคนที่เป้าหมายเราเปลี่ยนไปทุกๆ ปีนะ ไม่มีเป้าหมายระยะยาว ถ้ามีคนมาถามว่า 10 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง ก็คงไม่ตอบเพราะตอบไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร..อันเนี่ยตอบได้ (พี่อ้วน : บางทีก็ตอบไม่ได้) คือความฝันเราก็เปลี่ยนไปตามช่วงวัย เป็นคนมี coming of age ตลอดเวลา เราเลยรู้สึกว่าเราถนัดที่จะทำงานแบบนี้มากกว่า เหมือนอย่างที่พี่อ้วนบอก มันมีร่มเงาของอะไรบางอย่างครอบไว้อยู่

นคร : คือพอตั๊กพูด เราก็นึกตัวเองว่าลักษณะการทำงานเรามันเป็นยังไงนะ อะไรคือจุดเด่นในการทำงานของเรา หรือว่าการที่เราเป็นคนที่ทำงานสัมภาษณ์แบบนี้มาก่อนหรือเปล่า ? อย่างเราเป็นคนชอบฟัง แล้วก็ฟังเขาพูดโดยที่ไม่ได้โฟกัสอะไรเป็นพิเศษ

ฉันทนา : ตอนที่เริ่มทำบท ก็เหมือนพี่อ้วนนั่งสัมภาษณ์น้องเหมือนกัน

นคร : เออ..ใช่ๆ พอมานั่งถึงวิธีการทำงาน ตอนทำบทเราก็ชวนตั๊กพูด ตอนประชุมบทกับทีมทีวี ธันเดอร์ เราก็จะไม่พูดอะไรเลย ฟังเอาอินพุตอย่างเดียวเลย แล้วค่อยเอาตัวเองไปจัดการกับมัน

ฉันทนา : ตอนประชุมบท พี่อ้วนเขาจะไม่ดีเฟนด์อะไรเลย เป็นเราเองเสียอีกที่ไปดีเฟนด์ เหมือนพี่อ้วนเขาจะแน่วแน่มาก เขียนทุกอย่างที่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีวัตถุดิบอะไรบ้าง แต่บางครั้งฝั่งทีมทีวี ธันเดอร์เขาอาจจะยังไม่เห็นร่วมกันกับเรา แต่เราก็จะพยายามเล่าประสบการณ์ร่วมที่ไปเจอให้ฟัง

นคร : คือตอนแรกเขาอาจจะกลัวว่ามันจะเหมือนเวอร์ชั่นหนังไปหรือเปล่า เพราะอันนั้นมันดูจริงเกินไป

ฉันทนา : พี่นุ้ย (จารุพร กำธรนพคุณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการผลิต ของ ทีวี ธันเดอร์) ก็พูดมาคำนึงว่า ยุพิน ในเวอร์ชั่นหนังมันดูจริงเกินไป จริงเกินจนน่ากลัว คือเป็นคนที่อ่านไม่ออก ว่าเป็นคิดอะไร รู้สึกอย่างไร

โปสเตอร์หนัง ‘หน่าฮ่าน’ (2019)

Film Club : ย้อนไปตั้งแต่ตอนทำหนัง ‘หน่าฮ่าน’ มาร่วมงานกันได้อย่างไร

ฉันทนา : พี่อ้วน inbox มาชวนในเฟซบุ๊ค ว่าช่วงนี้ทำอะไร มีโปรเจกต์หนังอีสานเรื่องนึง ตั๊กสนใจมาทำไหม

นคร : คือตอนนั้นเราคุยกับทาง MVP ไว้แล้วว่า จะโปรเจกต์ ‘หน่าฮ่าน’ กัน ตอนนั้นพี่หมู (สุภาพ หริมเทพาธิป) ก็ยังอยู่ในโปรเจกต์ ก็เจอกันสามคน เรา พี่หมู ตั๊ก ที่สตาร์บัค เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ 

โปรเจ็กต์มันเริ่มมาหลังจากที่ MVP เขาทำให้ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ ประสบความสำเร็จแล้ว เขาก็เลยนึกขึ้นได้ว่ามันมีเรื่องนี้ที่เคยคุยกับทางเราไว้เมื่อนานมาแล้ว คือเราไม่อยากเป็น ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ อีกเรื่องนึง ก็เลยนึกถึงการเล่าเรื่องในมุมมองของผู้หญิง ก็เลยชวนตั๊กมาร่วมโปรเจกต์นี้


Film Club : ตอนนั้น ถ้านึกถึงผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ที่เป็นคนอีสาน ก็จะมีฉันทนา กับ ฐาปณี หลูสุวรรณ (ผกก. Blue Again) หลังนี้คือก็ต้องไปรุ่นพี่กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน แล้ว

นคร : อย่างนึงที่เรามองเห็นคือ ศักยภาพความแมสส์ของผู้กำกับอินดี้ เราว่ามันทำได้ แต่จากความเป็นคนทำหนังอินดี้ จะถูกสตูดิโอจำกัดในการแสดงความสามารถค่อนข้างมาก คือสากลเขายังทำกันได้ อย่างมาร์เวลทำหนัง เขาก็ไปช็อปผกก.หนังอินดี้มาเต็มไปหมด คือคนทำหนังอินดี้เขามีความละเอียดอ่อนในดีเทลบางอย่าง ที่มามอบให้หนังแมสส์ไม่ดูแข็งจนเกินไป ก็เลยเมื่อเราจะทำอะไรแบบนี้ ก็เลยเล็งไปที่ผู้กำกับหนังอิสระก่อน

Film Club : อย่างตั๊กเอง ตอนนั้นที่ถูกชวนก็ทำงานออฟฟิศอยู่ ตอนนั้นเราตอบรับยังไง

ฉันทนา : ก็ตอบรับทันที เพราะเราไม่อยากทำงานออฟฟิศแล้ว 


Film Club : อยากรู้ตอนที่ไปรีเสิร์ชหาข้อมูล ด้วยการไปตามเวทีหมอลำที่ต่างๆ เป็นยังไงบ้าง

นคร : มันก็เริ่มจากไปบุรีรัมย์ก่อน แล้วก็ไปตามจังหวัดใกล้เคียง เช่น ศรีสะเกษ คือเราอยากเห็นชีวิตของวัยรุ่นที่เขามางานว่ามันเป็นยังไง ไปดูร้านเหล้า ไปดูหน้าเวที มีแวะไปกองถ่าย ‘ไทบ้านฯ 2’ ด้วย แล้วก็เปิดตารางทัวร์หมอลำเลย ที่อุดรธานี ปรากฏรถยางแตก (หัวเราะ)

คือจำบรรยากาศตอนนั้นได้ แล้วได้เอามาใช้ทั้งในหนังและใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ด้วย คือตอนรถยางแตก สองข้างทางแม่งไม่มีไฟเลย มืดสนิด แต่ได้ยินเสียงเวที เห็นไปเวทีหมอลำอยู่ไกลๆ แต่ทางที่ไปไม่มีไฟฟ้าไม่มีใครสัญจรเลย โทรหาตำรวจ ตำรวจก็ถามว่าตอนนี้อยู่ตรงไหนครับ แล้วกูจะรู้ไหม (หัวเราะ) แล้วพอมีมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านมา ก็ต่างคนต่างกลัวว่าใครเป็นใคร สรุปก็คือตำรวจก็มีขับโฉบๆ มาดูแต่เขาไม่รู้ไงว่าเป็นรถคันไหน แล้วสัญญาณมือถือก็ไม่มี จะแชร์โลเคชั่นก็ไม่ได้ จนเข้าไปถึงงานหมอลำ เจอคน 5-6 พันอยู่ในงานนั้น ตกใจมาก

ฉันทนา : อย่างเราเป็นคนใน เป็นเด็กเที่ยวตามงานหมอลำ เราก็จะไม่รู้หรอกว่าคนนอกเขาจะเข้ามาแบบไหน คือตอนมาก็มาพร้อมกัน งานจบก็ออกพร้อมกัน ไม่รู้ว่าต่างคนมาจากไหนกันบ้าง จนเราได้ไปวันนั้นกับพี่อ้วน เลยเห็นว่าคนแม่งเยอะสัส คือช็อคเลย

นคร : แล้วคนดูมันเยอะในงานทุกสเกลเลยนะ คือเราก็ตระเวนไปเวทีหมอลำทั้งใหญ่ทั้งเล็ก แม้แต่หมอลำข้างบ้าน แบบนี่บ้าน ข้างๆ เป็นเวทีหมอลำ ที่เขาจ้างมาเล่นตามงานบวชงานศพ แบบเต้นๆ อยู่มองไปเห็นนักร้องปอกมะม่วงอยู่ข้างเวที แบบนั้นคนก็ยังเยอะนะ

Film Club : อย่างตั๊กเอง หลังจากจบมัธยมปลาย ก็ออกมาจากถิ่นอีสาน มาเรียนนอกพื้นที่เลย พอได้กลับไปเจอวิถีชีวิตวัยรุ่น หลังจากผ่านไปหลายปี แตกต่างจากรุ่นเรามากไหม

ฉันทนา : (นิ่ง) คือกับรุ่นเราแต่ก่อนนั่งกินส้มตำ ก็จะนั่งคุยสัพเพเหระ มองผู้ชายที่ขี่มอไซค์ผ่านไปผ่านมา นินทาคนนั้นคนนี้ที แต่รุ่นนี้เขามีอินเตอร์เน็ต ก็ยังนั่งกินส้มตำอยู่ แต่ก้มหน้าเล่นมือถือคุยกับคนที่อยู่ที่อื่น นานๆ ก็เงยหน้ามาคุยกันที ไม่ก็คุยกันถึงเรื่องที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ความแตกต่างคือแต่ก่อนรุ่นเราอาจจะไม่รู้ว่าโลกภายนอกมันเป็นยังไง เพราะมันมีแค่ทีวี มีแต่คัลเจอร์ที่นิยมกันในประเทศ แดน-บีม ก็เลยดังมากในยุคเรา มี Kotic แต่ทุกวันนี้เชื่อมไทยเชื่อมโลก Blackpink, BTS ไหนจะซีรีส์เกาหลีอะไรดังรู้จักหมด รู้เท่าเด็กในเมือง รู้จักโลกเท่ากัน เรื่อง เกรต้า ธันเบิร์ก ก็ยังคุย..แบบอีนี่มันเป็นไผวะ

นคร : อย่างนึงที่เราสะท้อนทั้งในเวอร์ชั่นหนังและซีรีส์ คือวัยรุ่นอีสานก็รู้ทุกอย่างเท่ากัน แต่โอกาสที่เขาจะเข้าถึงสิ่งต่างๆ มันยังแตกต่างกันนะ 


Film Club : ใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ มีตัวละครนึงคือ “แคลเซียม” ที่ตั้งใจว่าจบ ม.6 ฉันจะไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว กับตัวตั๊กเอง ตอนนั้นตัดสินใจออกจากอีสานไปต่อมหาวิทยาลัยนอกพื้นที่เลย เรามีความรู้สึกคล้ายๆ กับตัวแคลเซียมไหม

ฉันทนา : อาจจะคล้ายๆ แคลเซียม (พิมพ์พิสุทธิ์ จันทรจำนงค์) แต่อาจจะไม่ได้คิดลึกขนาดนั้น แค่เราเบื่อที่นี่แล้ว เบื่อทุกอย่าง เบื่อการคมนาคม เบื่อสภาพแวดล้อม เบื่ออะไรเดิมๆ จะไปดูหนังก็ต้องไปห้างในเมือง ก็เลยอยากลองเอาตัวเองไปอยู่ในเมือง เพราะว่าที่นี่มันไม่ศิวิไลซ์

จนเมื่อตัวเองได้เข้ามาอยู่ในเมืองจริงๆ ก็คิดว่าได้ว่า การอยู่ที่นี่มันมีประตูหลายๆ บานให้เราได้เลือก แต่การอยู่ที่บ้านเกิดมันเหมือนมีประตูแค่บานเดียว เจอแต่สิ่งเดิมๆ การได้มาเรียนที่ ม.บูรพา ที่บางแสน การเข้าใกล้ในเมือง มันทำให้เราเข้าใกล้โอกาสอะไรหลายอย่างมากขึ้น

จริงๆ ตอนมาเรียนมหาวิทยาลัย เราเจอ culture shock ด้วยนะ แบบเราปอกมะม่วงเอง ปอกแตงโมเอง กินปลาไหล กินกบได้ แล้วมาเจอเพื่อนที่ตื่นเต้นกับการที่เราปอกมะม่วงเป็น ช็อคนะ เพราะเรานึกว่านี่คือสิ่งปกติที่ทุกคนทำได้ แบบไม่เคยรู้เลยว่ามีคนที่กลัวปลาไหล กลัวกบ มันมีในโลกนี้ด้วยเหรอ ? เรานาอีฟขนาดนั้นเลย

นคร : อาจจะเพราะความนาอีฟของคนต่างจังหวัด สื่อในยุคเราเลยให้ภาพของพวกเขาเป็นตัวตลกหรือเปล่า ซึ่งพอมาถึงตอนนี้มันทำแบบนั้นไม่ได้แล้วนะ

ฉันทนา : จำได้ว่าตอนเรียนมหาวิทยาลัย เฟซบุ๊กมันพึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในไทย มันอาจจะประมาณ 10 ปี แต่เป็น 10 ปีที่ทุกอย่างก้าวกระโดดมาก ตอนนั้นเรายังใช้ Nokia แบบสไลด์อยู่เลย กว่าจะได้มี BB ก็ปีสองปีสาม ดังนั้นการเข้ามาตอนปี 1 ในมหาวิทยาลัยมันเลย culture shock มากๆ เจอ iPhone รุ่นแรกก็แบบมันมีมือถือแบบนี้ด้วยเหรอ คือนาอีฟมาก แต่โลกมันเปลี่ยนแล้ว ยังไงสายตาที่เรามองโลกมันก็ต้องเปลี่ยนตาม 

นคร : ตอนนั้นมันก็มีหนัง ‘ฮักนะ ‘สารคาม’ (2011, หนังยาวเรื่องแรกของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์) ที่มันพูดถึงความทันสมัย พูดถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เข้าไปในอีสาน คนอีสานที่ไม่พูดอีสาน คือพอมองย้อนกลับไปมันกลายเป็นหนังที่พูดเรื่องที่ใหม่มากในเวลานั้น

Film Club : แล้วกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกับตั๊ก ที่เรียนมาด้วยกัน มีไหมที่เขาไม่อยากออกจากบ้านเกิด อยากจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ละ

ฉันทนา : มีเต็มเลย มันถึงได้มีเรื่องราวแบบ ‘หน่าฮ่าน’ ไง คือถ้าเลือกได้ไม่มีใครอยากออกจากบ้านไง แต่ชีวิตมันเลือกไม่ได้เลยต้องออกมา ในรุ่นเราก็มีแต่เรานี่ละ ที่เลือกออกมาจากพื้นที่เลย คือตัวเลือกที่เซฟที่สุดก็คือเรียนมหาวิทยาลัยในพื้นที่อีสาน แต่เราแบบไม่เอา ติดที่ม.ขอนแก่นด้วยนะ แต่ไม่เรียน เราไม่อยากอยู่อีสานแล้ว

จริงๆ มีอันนึงที่อยากแชร์ คือเราไปเรียนที่ ม.บูรพา ปีนึงจะได้กลับบ้านมาสักครั้ง จนมาปีที่สอง พอกลับบ้านไป น้าเราก็มองหน้า แล้วก็บอกว่านี่ไปทำดั้งมาเหรอหน้าเปลี่ยน ก็หยอกกลับไปว่าก็เพราะไม่ได้กินข้าวเหนียวไงหน้าเลยเปลี่ยน (หัวเราะ) แล้วน้าเขาแบบซีเรียสมาก คือเชื่อไปแล้ว มาจับดั้งใหญ่เลย ก็นึกในใจ กูจะเอาเงินที่ไหนไปทำวะดั้ง เงินจะเรียนหนังสือยังไม่มีเลย 

คือสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนหน้าตาเราได้จริงๆ เพราะอย่างนึงเราได้เห็นคนมากขึ้น มันก็เปลี่ยนมุมมองในความสวยที่มีต่อตัวเองด้วย พอเรากลับไปที่บ้านเกิด คนที่เราเคยคิดว่าสวยมากๆ สมัยมัธยม ความรู้สึกเราก็จะเปลี่ยนละ 


Film Club : หลังเรียนจบ จนได้มาทำงานอยู่เบื้องหลังทั้งวงการหนังอิสระ หรือซีรีส์ เรามีความหวังไหมว่า จะพาตัวเองให้ได้มาทำงานของตัวเราจริงๆ ก่อนที่พี่อ้วนจะมาชวนทำหนัง ‘หน่าฮ่าน’

ฉันทนา : ไม่นะ การที่พี่อ้วนชวนมาทำ ‘หน่าฮ่าน’ ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่เราได้มาทำงานอย่างทุกวันนี้ 

นคร : แล้วก่อนที่เราจะไปชวน ตอนนั้นตั๊กใช้อะไรหล่อเลี้ยงความฝันเอาไว้

ฉันทนา : ไม่มี มีคือการได้ทำงานประจำ (ตอนนั้นฉันทนาอยู่ในทีม “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของพี่ปุ๊ก – พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์)

Film Club : ซึ่งในช่วงเวลานั้น ตั๊กเองก็ทำหนังอิสระ ‘รักไม่ปรากฏ’ ของตัวเองเสร็จแล้ว เหลือแค่รอฉาย ตัวตั๊กก็ไม่คิดว่าจะได้ทำหนังต่อ

ฉันทนา : ไม่อะ

นคร : ทำไมละ

ฉันทนา : ไม่มีความหวังกับวงการ ไม่คิดว่าเราจะมีความหวังกับการทำหนังประมาณนั้น

นคร : เศร้านะ (หัวเราะ)

ฉันทนา : ก็ไม่เศร้านะ แค่เซ็งๆ ว่าการทำหนังแบบนั้นคงไม่ใช่ที่ทางของเรา ก็เลยหนีมาทำงานประจำ

Film Club : แล้วคิดไหมว่าเส้นทางในอนาคตเราก็คงจะได้ทำหนังหรือซีรีส์ ทำละครตามวิถีทางของมัน

ฉันทนา : พี่ปุ๊กก็บอกนะว่าจะให้ทำ แต่ก็จะประมาณว่าเธอยังไม่เก่ง เธอยังไม่มีวิชาความรู้ในทางนั้น แต่พี่ปุ๊กจะชอบให้อ่านบท ถามความคิดเห็นว่าบทยังไง คิดยังไงกับบท แล้วก็ให้เราลองทำดูไหม แต่มันก็ทำไม่ได้เพราะเรายังไม่พร้อมในตอนนั้น คือคิดว่าคงทำงานประจำในออฟฟิศไปเรื่อยๆ ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เขียนหรือกำกับอะไรนะ จนกระทั่งพี่อ้วนมาชวนนี่ละ เป็นช่วงกราฟชีวิตตกพอดี โดนโทรบ่นทุกวันเลย บ่ไหวแล้ว ขอไปตายเอาดาบหน้าละกันจะเจออะไรไม่รู้ละ


Film Club : ข้ามมาช่วงที่หนัง ‘หน่าฮ่าน’ เสร็จได้เข้าฉายในโรง ซึ่งตอนนั้นก็เจอสถานการณ์ไม่ดีเลย ตอนนั้นรู้สึกยังไง

ฉันทนา : ตอนนั้นก็เลือกที่จะกลับเข้าไปทำงานประจำ ตั้งแต่หนังยังทำโพสต์ไม่เสร็จ คือเหมือนชีวิตเข้าลูปเดิม คือรู้สึกถึงความเอาแน่เอานอนของชีวิตไม่ได้ ก็มีทั้งไปทำเป็นครีเอทีฟให้ทาง MVP ก็คือเขาอยากจะทำงานกับเราต่อนั่นละ ก็เป็นผลพลอยได้ที่ตอนเราทำโพสต์เรายังมีเงินเดือนหล่อเลี้ยงชีวิต จนพี่ปุ๊กเขาเห็นว่าเรายังเอาแน่เอานอนกับชีวิตไม่ได้ ก็เลยชวนกลับไปทำประจำที่ GMM TV อีกรอบ

Film Club : ในช่วงเวลาเดียวกัน ตอนที่ทำโพสต์หนัง ‘หน่าฮ่าน’ พี่อ้วนก็ยังทำงานประจำอยู่ ตอนนั้นตัดสินใจยังไงถึงลาออกมาทำเต็มตัว

นคร : เมื่อไม่นานมานี้ ทางบริษัทเก่าที่เราทำ เขายังเคยถามเราว่า ทำไมตอนนั้นถึงตัดสินใจออก เราก็ตอบว่า ก็ตอบตรงๆ ว่าถ้าทำต่อเราก็ไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้ ก็เดิมพันสูงเหมือนกันนะสำหรับตัวเรา

Film Club : ซึ่งทั้งคู่ช่วงเวลานั้นก็เดิมพันสูงทั้งคู่ ด้วยสถานะที่ยังต้องพึ่งพารายได้ประจำอยู่

นคร : คือเราว่าถ้าทำงานประจำไปด้วย ทำหนังไปด้วย มันทำได้ละ แต่มันไม่แฟร์ เราเลยตัดสินใจออกมา

Film Club : แล้วพอหนัง ‘หน่าฮ่าน’ ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งสองคนคิดไหมว่าจะไปต่อในการทำโปรเจกต์ต่อไป หรือกลับไปทำงานประจำต่อดีกว่า

นคร : อย่างตั๊กก็คือกลับไปก่อนตั้งแต่หนังเสร็จแล้ว ส่วนเราก็มีนิดนึงนะ ด้วยความเฟลที่หนังมันเจ๊งจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้เยอะมาก แม้ว่ามันจะโอเคจากผลตอบรับที่ดีจากผู้ชม เลยไม่ได้เฟลไปเสียทั้งหมด

Film Club : ซึ่งปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ตอนที่ฉาย ‘หน่าฮ่าน’ ในขณะที่พี่อ้วนทำงานใน BIOSCOPE ก็เป็นสิ่งที่รับรู้และเห็นมาโดยตลอด มาเจอกับตัวเองรู้สึกยังไง

นคร : ก็เจอมาตลอด (หัวเราะ) กับหนังตอนที่เราทำงานในบริษัทดีสทริบิวเตอร์ภาพยนตร์ก็ยังเจอ ก็รู้สึกว่ามันเหนื่อยจัง การเป็นทำหนังอิสระในประเทศนี้ จนมาได้ทำ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า ทำไมตอนทำหนังอีสาน มันมีคนที่พร้อมรอจะกระทืบซ้ำเราเยอะจังวะ จะปล่อยทีเซอร์ ปล่อยเทรลเลอร์หนัง คนก็มาด่ามาเหยียดกันเต็มไปหมด

พอมาเป็นช่วงที่ทำ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ท่าทีจากผู้ชมหรือเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว คือเราก็ไม่รู้ว่าเพราะเวลาเป็นหนังมันต้องเสียเงินดู พอเป็นซีรีส์มันดูฟรีหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ท่าทีคนดูเปลี่ยนไปจริงๆ 

ฉันทนา : กับตัวเราความรู้สึกอยากทำหนังไม่เคยหายไปไหนนะ ไม่เคยเฟลที่หนังจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ

นคร : เราว่า เราอยู่ในยุคที่มีช่องทางอื่นๆ ตัวเลือกอื่นๆ โรงหนังไม่ใช่ของตายอีกต่อไป ต่อให้จะเก่งจะกร่างก็เรื่องของคุณ เรามีทางเลือกถ้าเราไม่พร้อมที่จะสนับสนุน หรือไม่พร้อมที่จะเข้าโรงหนังด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราก็มีช่องทางอื่นๆ ที่ดูหนังได้

ฉันทนา : อย่างตัวเราที่เข้าๆ ออกจากงานประจำมันไม่ใช่เรื่องการหมดไฟในการทำหนังหรืออะไร แต่มันเรื่องวงเวียนชีวิตนิดนึง คือเรื่องเศรษฐกิจของเรา คือเรามีความไม่มั่นใจไม่แน่นอนตลอดเวลา ว่าการทำหนังจะเลี้ยงชีพได้ เพราะประเทศนี้มันไม่ได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้ พอเรามาทำหนังที่มันไม่ได้มีดาราดังอะไรแบบนี้ มันก็ไม่มีรายได้ ก็ไม่รู้จะทำไปทำไมถ้ามันหล่อเลี้ยงชีพเราไม่ได้ การทำหนังมันเป็นอาชีพไม่ได้ 

นคร : แม้แต่อาชีพการเขียนบท ในวงการนี้มันก็อยู่ได้ยาก คือถ้าเราไม่ได้รักงานนี้จริงๆ ค่าตอบแทนในการเขียนบทมันน้อย เมื่อเทียบกับเวลาที่เราทุ่มเทไป เราให้เวลากับมันเป็นปี ถ้าหารมาเป็นเงินเดือนคือมันอยู่อย่างมั่นคงไม่ได้หรอกนะ

Film Club : กระบวนการทำ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ กับตัวตั๊กและพี่อ้วนที่ต่างก็ ทำงานในวงการทีวี ได้เห็นและรับรู้กระบวนการผลิตซีรีส์มาก่อน คิดว่าวงการซีรีส์ไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

นคร : เราไม่อยากเทียบกับทั้งวงการว่ะ คือเราไม่เคยเจอกระบวนการทำซีรีส์แบบนี้ที่เรารู้สึกภูมิใจ ในขณะที่สตูดิโอเองก็มีความสุข คือก่อนหน้านี้ที่เราได้เขียนบทซีรีส์กับที่อื่นมาก่อน หรือแม้แต่ตั๊กที่ทำงานในกระบวนการผลิตมา เราไม่รู้ว่าแต่ละที่มันแตกต่างกันยังไง แต่กับ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เราว่าเป็นกระบวนการผลิตที่ดีต่อคนทำงาน

Film Club : ย้อนไปตอนที่ทาง ทีวี ธันเดอร์ มาชวนทำ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เรารู้สึกยังไง

นคร : ใจฟู (หัวเราะ) อย่างที่บอกคือหนังมันไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ไม่คิดว่าเขาจะเห็นคุณค่าว่ามันจะไปต่อได้ อย่างตอนนี้ เนรมิตรหนัง ฟิล์ม ก็จะมีคนพยายามขายโปรเจกต์โดยมีภาพฝันว่า เมื่อหนังประสบความสำเร็จจะต่อยอดไปเป็นซีรีส์ได้ คือมีโมเดลแบบนี้เยอะมาก ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แล้วสิ่งหนึ่งที่เราเกินคาดคือ ‘หน่าฮ่าน’ มันทำแบบนั้นได้ ทั้งที่มันไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งโมเดลแบบนี้มันควรจะเกิดขึ้นกับหนังที่ประสบความสำเร็จ แต่ทางทีวี ธันเดอร์เขากลับมองเห็นอะไรบางอย่าง ซึ่งเราก็ดีใจ

ฉันทนา : จำได้ว่าก่อนที่เขาจะชวน เขาได้ดูแค่เทรลเลอร์นะ ตอนนั้นเราไปสัมภาษณ์ที่ The People เขาก็เริ่มชวนเราตั้งแต่ได้เห็นวิดีโอสัมภาษณ์อันนั้น

นคร : คือตอนนั้นหนังก็ฉายไปแล้ว และก็ไม่ประสบความสำเร็จไปแล้ว เราก็แบบเขาเรียกถูกคนใช่ไหมวะ ไม่ใช่เรียกกลุ่ม ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ นะ

ฉันทนา : เขาก็ตามไปดูหนังที่ลิโด้ ที่ Doc Club เขาก็บอกเรียกพวกหนูนี่ละค่าาา

นคร : คือเขาก็อยากไปเช็คฟีดแบ็คผู้ชมในโรงนั่นละ แต่ก็แบบคนก็ไม่เยอะอยู่ดี (หัวเราะ)

ฉันทนา : แต่คนที่ดูผลักดันโปรเจกต์นี้มากๆ ก็คือพี่นุ้ยนี่ละ ต้องคอนเทนต์นี้มาขยายต่อนะ

นคร : จริงๆ ก่อนที่จะมาทำเป็น ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ที่เอาหนังมาดัดแปลง เขาให้เราไปคิดเรื่องใหม่ๆ ที่ยังเกี่ยวกับเรื่องการเต้นหน่าฮ่านมาก่อน ซึ่งก็ดูเขาชอบๆ นะ จนสุดท้ายแล้วเขาก็ถามเราว่า -จะเป็นไรไหม ถ้าจะเอา ‘หน่าฮ่าน’ มาทำเลย- ตอนนั้นคือในใจกรี๊ดไปแล้ว เพราะเรามีไอเดียอยู่แล้วว่าถ้าได้เอามาทำใหม่เราจะทำอะไรกับมัน เอาสิ ได้ดิ (หัวเราะ) คือเรานึกไม่ออกเลยว่าทำไมเขาเลือกหนังเจ๊งมาทำละ พี่รู้ไหมว่าหนังได้ Box Office เท่าไหร่ ซึ่งเราก็จะไม่บอกเขาจนกว่าจะได้เซ็นสัญญาจริงๆ ว่าหนังเรื่องนี้ มันได้ Box Office แค่ 5 แสนบาทเองนะ (หัวเราะ)

Film Club : ที่พี่อ้วนบอกว่า มีความสุขในกระบวนการทำซีรีส์เรื่องนี้มาก พอจะอธิบายการทำงานกับทางทีมทีวี ธันเดอร์ได้ไหมครับ

นคร : เขาให้ความสำคัญกับบทมาก เป็นการที่เราไม่ได้รู้สึกว่าตัวคนเดียว อย่างปกติที่เคยทำบทมา เธอก็เอาไปเขียนสิ เสร็จแล้วก็มาส่ง ชอบไม่ชอบอะไรเดี๋ยวคอมเมนต์ไป แต่กับทีมนี้คือมีประชุมทุกอาทิตย์ กับตั๊กคือก็เจอกันถี่แล้วนะ แล้วก็ต้องไปนั่งคุยกับทีมเขา แบบเจาะทุกบรรทัด ทุกตัวอักษรละเอียดยิบ จนเรารู้สึกว่า ไม่ใช่แค่เรากับตั๊กที่เข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่กับสตูดิโอเขาก็รับรู้หมดว่าเราจะทำอะไร ดังนั้นการตีซื่อทำหน้ามึนพูดเรื่องการเมืองไม่ใช่ว่าเราหลอกเขานะ เขารู้ทุกอย่าง ซึ่งพอมันมีกระบวนการแบบนี้ที่ให้ความสำคัญกับคนเขียนบทจริงๆ เขาเลยยอมเรา เพราะเขารู้ว่าเรากำลังทำอะไร ซึ่งถ้ามันไม่มีกระบวนการทำงานแบบนี้ เขาอาจจะไม่ให้เราทำ ไม่ให้ผ่านมาก็ได้

Film Club : ยกตัวอย่าง ซีนที่เล่าเรื่อง “พ่อยุพินไปชุมนุมเสื้อแดง” ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

นคร : พี่แก๊ป (วิสุทธิชัย บุณยะกาญจน Script Advisor ของซีรีส์เรื่องนี้) ก็ถามแค่ว่า -เอาจริงๆ ใช่ไหมซีนนี้ ?- คือตอนแรกเราเขียนกัน คือไม่รู้ไปเจออะไรกันมา แต่ก็คิดว่าจะเป็นไปได้ไหม ที่พ่อของ ยุพิน (ปฏิมา ฉ่ำฟ้า) จะเป็นเสื้อแดง (ฉันทนา : มันเป็นไปได้อยู่แล้ว) คือด้วยวัยประมาณยุพินตอนนี้ พ่อแม่นี่คือรุ่นเสื้อแดงเลยนะ

ฉันทนา : เราว่าอย่างนึงที่ทำให้เราเล่าเรื่องนี้ได้ คือช่วงเวลาที่เราทำนี่ละ

นคร : อย่างเราก็ไม่แน่ใจนะ ถ้าสมมติซีรีส์เรื่องนี้ทำให้ช่วงปี 2559 มันจะเล่าเรื่องคนเสื้อแดงได้ไหมวะ

Film Club : ตอนนั้นเรารู้หรือยังว่า ซีรีส์จะได้ออกอากาศในช่อง 3HD

นคร : รู้! แต่พอไอเดียมันแตกออกมาแล้วว่า แบ็คสตอรี่ของ ยุพิน จะมีพ่อเป็นเสื้อแดง แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ยังไงหรือเล่าตอนไหน คือรับรู้กันเองว่าพ่อยุพินหายไปไหน แต่ยังไม่ได้ใส่ลงไปในบท

จนมาถึงฉากใน EP.4 อันนั้นคือใส่ไปบางๆ ก่อน จนมันได้ออกอากาศ ความฟินเล็กๆ ของคนเขียนบท คือการได้เห็นมันอยู่บนหน้าจอที่มีโลโก้ช่อง 3HD เป็นชัยชนะลึกๆ ส่วนตัวของเรา แต่ตั๊กเองก็จะมีอินพุทอีกแบบหนึ่งที่อยากจะเล่าอะไร ซึ่งพอมานั่งปรับกัน เราก็คิดได้ว่าเรื่องราวของพวกเขาไม่เคยถูกเล่าผ่านสื่อบันเทิงกระแสหลัก และเรารู้สึกว่าตัวยุพินมันพาเรื่องราวนี้ไปได้ ซึ่งก็สงสัยว่าทำไมมันถึงเล่าไม่ได้ โอเคเรื่องมันละเอียดอ่อนก็จริง แต่มันคือเรื่องความเป็นความตายของคนเลยนะ

ฉันทนา : ตอนที่เริ่มมาแชร์ไอเดียกันว่าจะเล่าประเด็นนี้ เราก็รู้สึกว่าต้องเล่ามันให้ได้ เพราะมันคือจุดเริ่มต้นของทั้งมวลในตอนนี้ มันเหมือน big bang theory ของสังคมไทยเลยนะ ถ้าสมมติว่าพวกเขาสู้แล้วชนะ มันก็จะเป็น ‘หน่าฮ่าน’ ในอีกรูปแบบนึง 

ซึ่งเรื่องของพ่อแม่ของตัวละครทั้งหมดใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เราคุยกันเยอะมากเลยนะ เช่นตัวละคร แคลเซียม เป็นใคร ชอบอะไร ต่อมาคือแคลเซียมอยู่กับใคร อยู่กับแม่ แล้วพ่อไปไหน 

หรือเติ้ลไม้ เรื่องพ่อแม่นี่เศร้าสัส เติ้ลไม้อยู่กับแม่ แล้วพ่อละไปไหน แล้วมันเป็นเรื่องที่จริงมากๆ คือตอนที่แชร์ไอเดียกันก็ไม่คิดว่าพี่อ้วนจะพาเรื่องราวไปได้ไกลขนาดนี้ จนถึงตอนที่นักแสดงเล่นก็ไม่คิดว่า แฟรงค์ (ธนัตถ์ศรันย์ ซำทองไหล) จะเล่นไปได้ขนาดนั้น ดูมอนิเตอร์ก็ได้แต่พยักหน้าไป แม้แต่น้องคนตัดยังหันมาบอกเราเลยว่า มันดีนะพี่ตอนนี้ คือถ้าพี่อ้วนดูแล้วร้องไห้ เราว่าก็คงมาถูกทางแล้วละ (หัวเราะ)

Film Club : รู้สึกยังไงที่เมื่อเราสร้างตัวละคร ยุพิน ให้เป็นลูกหลานของคนเสื้อแดง แล้วกลายเป็นว่าผ่านไปสิบกว่าปี ทำไมชีวิตยุพินมันยังเหมือนเดิม เหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

ฉันทนา : นั่นละ สิ่งนี้มันพูดใน EP.7 นะ แม้ว่าคนดูอาจจะคิดว่าเราแค่แตะเรื่องนี้แบบผิวๆ แต่สิ่งที่ยุพินพูด มันคือความรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ก็เหมือนกับความรู้สึกของตัวละครในหนังเรื่อง ‘Snap แค่…ได้คิดถึง’ (2015, คงเดช จาตุรันต์รัศมี) ที่รู้สึกว่าผ่านไป 8 ปีแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิม

นคร : เรื่องเวลาผ่านไปแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิมก็อันนึง อีกอันนึงคือความกลัว คือพอได้สู้แล้วก็ตายไง

ฉันทนา : พอได้สู้แล้วก็ตายไง ดังนั้นยุพินเลยรู้สึกว่าจะสู้เหมือนพ่อทำไม ก็สู้ใช้ชีวิตอยู่โนนหินแห่ต่อไปดีกว่าไหม จริงๆ ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นกับทุกตัวละครเลยนะ ยกเว้น เป๊กกี้ (เจษฎา จำปาบุญ) กับ หอยกี้ (อัจฉราภรณ์ สินธุสนธิ์)

นคร : จำได้ว่าตอนที่เราเขียนบทเรื่องนี้ มันคือช่วงที่เกิดกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” คือตอนนั้นความรู้สึกของผู้คนมันไม่ไหวแล้ว กับสภาพความเป็นอยู่ในเวลานี้ มันก็เลยเกิดบรรยากาศในเรื่องว่า จะทำยังไงก็ได้ให้ออกไปเจอชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งกับตัวละคร ยุพิน ทำไมผ่านมาหลายปีแล้วตัวละครมันเหมือนเดิม ซึ่งสิ่งที่เราจะสื่อสารกับผู้ชมก็คือ ก็เพราะว่ามันอยู่กับที่ไง มันถึงต้องทำอะไรสักอย่าง ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวละครเท่านั้น แต่หมายถึงกับตัวเรานี่ละ ต้องพูดอะไรออกไปสักอย่าง ผ่านซีรีส์เรื่องนี้

ฉันทนา : เราว่าคนดูคงอยากรู้ว่าคนร้ายคือใคร แต่เมื่อเราทำซีรีส์ในพ.ศ.นี้ ในห้วงเวลานี้ ทุกคนน่าจะรู้อยู่แล้วว่าคนร้ายตัวจริงคือใคร คือยุคสมัย หรือคนกลุ่มไหน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปชี้ตัวร้ายก็ได้

นคร : อย่างในเรื่อง โยเย (ศิริกาญจน์ วงศ์สิทธิ์) ก็ถูกเซ็ตอัพให้เหมือนเป็นตัวละครร้าย แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าโยเยก็เป็นตัวละครที่น่าสงสาร มีตัวร้ายจริงๆ ที่กระทำต่อโยเยอีกทีนึง

ฉันทนา : คือในมุมเรา สมมติเราทำซีรีส์เรื่องนี้แล้วชี้ตัวคนร้ายให้ผู้ชมรู้ เสร็จแล้วเราจะทำยังไงกันต่อละ คือทุกคนรู้ร่วมกันโดยที่ไม่ต้องบอก แล้วเราจะบอกซ้ำมันทำไม แต่สิ่งที่คนยังไม่รู้คือ ทางเลือกในชีวิตของคนเหล่านี้ต่างหาก เราก็เลยกับพี่อ้วน ก็เลยพยายามสำรวจทางออกของแต่ละตัวละครมากว่า สามารถมีหนทางอย่างไรได้บ้าง

นคร : การเขียนบทเรื่องนี้ เหมือนการเราได้รู้จักกับกลุ่มคนเหล่านี้ แล้วพยายามจะหาทางออกให้กับพวกเขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ฉันทนา : อย่างตอนที่เราไปสำรวจโลเคชั่น บ้านพี่ศักดิ์ มันเป็นบ้านที่ใครเดินผ่านไปผ่านมา ถ้าถึงเวลากินข้าว เขาก็จะมากินร่วมกันโดยบังเอิญ เราก็เลยได้ชวนคุย ก็ถามเรื่องการเมืองว่าเลือกพรรคอะไรกัน ทุกคนก็พูดเหมือนกันว่าจะเลือกพรรคอะไร ก็เลือกแล้วได้ถนน แล้วก็ได้จริงๆ ตอนที่เราไปสำรวจยังเป็นถนนลูกรังพังๆ แต่พอก่อนจะไปถ่ายทำจริง กลายเป็นถนนคอนกรีตอย่างดีไปแล้ว ประทับใจมาก ก็เลือกได้ถนน เลือกแล้วได้ไฟฟ้า เขาก็เลือก ก็เป็นพรรคที่เรารู้ๆ กันอยู่ เขาไม่ได้เลือกพรรคการเมือง แต่เขาเลือกชีวิตที่ดีกว่า

Film Club : ทั้งที่ตามหลักการแล้ว สาธารณูปโภคพวกนี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่รัฐต้องมอบให้อยู่แล้ว แต่ทำไมมันต้องมีเงื่อนไขไปผูกโยงกับการเลือกผู้แทนจากพรรคใดๆ ด้วยละ

นคร : เราว่าเพราะเขาตระหนักถึงสิ่งนี้ไง ว่าเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้ ที่เขาเลือกเวย์นี้เพราะมันทำให้เขาได้รับในสิ่งที่ควรจะได้ พวกเขาต้องการชีวิตที่ควรจะเป็น 

ฉันทนา : แล้วถ้าเขาตั้งคำถามแบบที่ถาม แล้วเขาต้องทำอะไรต่อ สู้เหรอ? ก็สู้แล้วก็ตายไง ดังนั้นวิธีการสู้ที่ดีที่สุดของพวกเขาก็คือการออกไปเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าเขาไม่ตระหนักหรอกนะ แบบ -พี่ๆ ค่ะ พี่ๆ ต้องออกไปสู้เพื่อสิ่งที่พี่ๆ ควรจะได้นะคะ (เสียงสอง)- กูสู้แล้ว กูตายมาแล้ว กูขอเลือกตั้งละกัน อืม

Film Club : แล้วเรื่องที่คนในทวิตเตอร์ กล่าวหาว่า เราเล่าเรื่องการเมืองในซีรีส์แบบแตะแค่เพียงผิวเผินละ เรามีอะไรจะอธิบายไหม

นคร : ในมุมเรา มันเป็นชีวิตคนอะ เราเขียนบทเรื่องนี้ด้วยการเล่าชีวิตคนไปเรื่อยๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นส่วนนึงของชีวิตเขาอยู่แล้ว ซึ่งจากฟีดแบ็ค การที่เราเล่าแบบหน้าซื่อตาใส เล่ามันไปเหมือนแบบผ่านๆ แต่จริงๆ ไม่ผ่าน มันกลับยิงแรงกับผู้ชมมากกว่า เหมือนเราเดินๆ อยู่แล้วมีคนมาสะกิด คนดูรับฟังกว่าเราตั้งหน้าตั้งตาแบบ พี่ๆ ไปยืนตะโกนใส่เขา อาจจะใช้คำว่า เล่ามันอย่างเป็นมิตรกับทุกคน มันกลับทำหน้าที่สื่อสารได้ดีกว่าพอสมควรเลย

ฉันทนา : สำหรับเราอาจจะต้องย้อนถามไปถึงคนที่สงสัยว่า อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าเราแตะประเด็นการเมืองเพียงผิวเผิน ซีนไหนฉากไหนหรือ แบบยุพินบอกว่าพ่อไปชุมนุมแล้วให้คนตีความว่าพ่อเป็นเสื้อแดง หรือเล่าเรื่องเสื้อแต่ไม่เล่าต่อว่าทำไมพ่อถึงไป ทำไมพ่อถึงตาย พ่อไปทำอะไรในม็อบเหรอ

คือต้องย้อนกลับไปว่า ยุพินเป็นเพียงเด็กม.6 เด็กอายุ 18 ที่กำลังนั่งคุยจีบกับผู้ชาย เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ยังโตไม่ทันจะรู้ตัวว่าตนเองฝักใฝ่ทางการเมืองฝั่งไหนด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ได้สนใจว่า ใครจะสนใจหรือฝักใฝ่พรรคไหนด้วย มันคือ mindset แบบเด็กมัธยม ดังนั้นเราจะไปยัดคำพูดเหล่านั้นใส่ปากตัวละครไปทำไม

นคร : คือการเขียนซีรีส์เรื่องนี้ เราไม่ได้ตั้งหน้าตั้งหน้าว่าจะทำเรื่องการเมืองนะ ตอนเขียนบท เราก็พยายามวางตัวเองให้เป็นเด็กวัยรุ่น เพราะเราก็ roll-play ไปเป็นตัวละครอยู่ตลอด 

ฉันทนา : มันก็มีบางอย่างที่พี่อ้วนเขียนมา เราก็ทักพี่อ้วนกลับไปว่า พี่..เด็กไม่พูดหรอก ซึ่งพี่อ้วนก็จะแก้เลย อย่างเวลาเราลงพื้นที่ ก็ไปนั่งคุยกับเด็ก หลายประโยคที่เด็กพูดเราก็จดใส่สมุดมาใช้เลยนะ เช่น -ถึงเวลาสืบพันธ์ุ มันก็ต้องสืบพันธ์ุ- ประโยคนี้เราก็เอาจากเด็กจริงๆ ซึ่งมันก็จริงนะ ดังนั้นเราจะไปยัดเยียดคำพูดในสิ่งที่เด็กไม่มีทางพูดทำไม ถ้าเด็กมันยังไม่รู้เรื่อง เราต้องซื่อสัตย์ว่ามันไม่รู้เรื่อง

นคร : สมมติว่ายุพินไม่ได้เป็นเด็กวัยรุ่นอีสาน แต่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ยุพินก็จะพูดอีกแบบไปเลยก็ได้ หรืออาจจะหนักจะเดิม เป็นสลิ่มไปเลย

หรืออย่างตัวละครบางตัวเช่น แม่ของเติ้ลไม้ ถ้ามันได้ออกอากาศไป คนจะก็อาจจะมีฟีดแบ็คกลับมาว่า ยุคนี้แล้วยังมีคนคิดแบบนี้อยู่อีกหรือ ซึ่งก็อาจจะเป็นคนเดียวกับที่ด่าช่อง 3HD อยู่ว่าเอาซีรีส์มาลงช่วงหลัง 2 ทุ่มทำไม ใช่…มันยุคนี้สมัยนี้แล้ว แต่คนที่มีความคิดแบบเดิมมันก็ยังมีอยู่ไง

ฉันทนา : คือคนชอบคิดว่าโลกเปลี่ยนไปแบบที่ตัวเองคิดแล้วตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วมันก็ยังมีคนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงนะ ซึ่งเราก็ต้องให้เกียรติเขาด้วย จะให้เราไปฆ่าความคิดเขา ให้เขาไม่มีตัวตนในสังคมอย่างนั้นหรือ เขามีตัวตนนะ ให้เราได้ตระหนักรู้ว่า ยังมีคนที่ไม่หมุนตามโลกนะ

นคร : อย่างแม่เติ้ลไม้ อาจจะเป็นตัวละครที่ดู้ร้าย แต่เราก็รักเขานะ เรารักตัวละครทุกตัวในซีรีส์เรื่องนี้

ฉันทนา : แม้แต่ ผอ.โรงเรียนเราก็รัก จนพี่แก๊ปยังพูดเลย ว่าเรื่องนี้ไม่มีตัวร้ายเลยนะ มีสิคะพี่ตัวร้าย แค่มันไม่ปรากฏตัวอยู่ในเรื่องเท่านั้นเอง

นคร : ซึ่งตัวร้ายก็คือคนเขียนบทอย่างเราสองคนนั่นเอง (หัวเราะ) อย่าง มั่นคง เราก็รัก..รักมากด้วย หรือแม้แต่ แม็กซ์-ตุลย์ (แม็กซ์-ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์ กับ ตุลย์-ภากร ธนศรีวนิชชัย นักแสดงคู่จิ้นที่โด่งดังมาจากซีรีส์ของ ทีวี ธันเดอร์) เราก็รัก เขาไม่ได้ยัดเยียดมาให้นะ เราขอมาเล่นเอง เพราะเราก็มีบางอย่างที่จะฝากแม็กซ์-ตุลย์พูดเหมือนกัน ก็คุยกับทางทีวี ธันเดอร์ว่าเราเอามาใช้ในฟังก์ชั่นแบบนี้นะ เขาแฮปปี้ไหม? เขาก็ให้มา

Film Club : ย้อนไปช่วงที่พัฒนาบทกับทางทีมทีวี ธันเดอร์ พอมันมีเรื่องการการเมืองอยู่ในบท มันมีปัญหาแบบทัศนคติทางการเมืองไม่ตรงกันไหม

นคร : เราไม่เคยคุยเรื่องทัศนคติทางการเมืองกันโดยตรงนะ

ฉันทนา : แล้วก็ไม่เคยถามทัศนคติทางการเมืองกันเลยนะ เรามองว่าเป็นเรื่องมารยาทในการทำงาน

นคร : คือเราคุยกันว่า ทั้งหมดโดยรวมของซีรีส์ เรากำลังจะสื่อสารเรื่องอะไรมากกว่า ซึ่งต้องดูจนจบถึงจะรู้ว่าแมสเสจใหญ่ของเรื่องมันคืออะไร ซึ่งในระหว่างการทำงานเมื่อเข้าใจภาพรวมร่วมกันแล้ว ถึงค่อยมาลงในรายละเอียดกันอีกที ในแต่ละตัวละคร

ฉันทนา : ทุกอาทิตย์ที่เจอกัน คือคุยยาวตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนถึงสามทุ่มตลอด

นคร : แล้วเราก็คุยกันบนพื้นฐานความเป็นตัวละคร บนพื้นฐานของเรื่องความรัก ตัวละครจะมารักกันได้ยังไง อะไรเป็น turning point ให้กับตัวละครคู่นี้ คือเล่าบนพื้นฐานของความรัก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็พูดถึงชีวิตของพวกเขาด้วย ว่าจะเจออะไร พ่อแม่เป็นยังไง เพื่อทั้งหมดมันคือการตอบคำถามของปลายทางในแต่ละตัวละครไง

ซึ่งพอซีรีส์มันได้ถ่ายทอดมิติต่างๆ ของตัวละครหนึ่ง เราคุยกันเยอะมากเรื่อง ถึงข้อแม้ของชีวิตในแต่ละตัว ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่านี่จะเรียกว่าการเมืองหรือเปล่า แต่ถ้าเฉพาะเจาะจงไปที่ว่าการพูดถึงเรื่องคนเสื้อแดง เราก็เขียนไป ซึ่งทางเขาไม่ได้มาซักไซ้เอาความว่า ทำไมต้องเขียนละ เขียนไปทำไม เราก็เล่าดีเทลไปตามความเป็นจริงของตัวละคร ซึ่งเขาก็ไม่ได้มาก้าวก่ายแนวความคิดของเราเลยนะ

ฉันทนา  : ซึ่งเป็นเรื่องที่โคตรรรรจะดีสำหรับเรามากๆ เซอร์ไพรซ์มาก ไม่คิดว่าเขาจะเปิดโอกาสทางความคิดเราขนาดนี้

Film Club : พอพี่อ้วนกับตั๊กก็เคยทำงานในวงการทีวีมาก่อน มันเหมือนจะมีโหมดการเซ็นเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติอยู่ พอเราเขียนไปเราบลุ้นไหมว่า สุดท้ายมันจะโดนตัดออกหรือเซ็นเซอร์ก่อนออกอากาศไหม

นคร : เราแค่ลุ้นเฉยๆ เพราะความสำคัญอันดับแรกของเรา มันคือ AIS Play ในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมันมีอิสระในการที่จะเล่ากว่า แต่ช่อง 3HD คืออีกช่องเลือกในการรับชมมากกว่า เลยไม่ได้คิดถึงการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่เราคิดในมุมว่า ถ้าอันนี้หรือตรงนี้ขึ้นไปอยู่บนจอของช่อง 3HD มันจะเป็นยังไงนะ

ฉันทนา : แต่กับเราไม่เคยคิดเลยว่ามันจะไปอยู่ในแพลตฟอร์มไหน เราคิดแค่ว่าถ้าพี่นุ้ยเห็นด้วยก็พอแล้ว ทุกครั้งที่พี่อ้วนเขียนมา เราคิดแค่ว่าจะดีเฟนด์ไอเดียต่างๆ ให้มันอยู่รอดครบถ้วนได้อย่างไรมากกว่า แต่พี่นุ้ยเขาเป็นคนเชื่อเรื่องประสบการณ์จริง เขาจะจับไปเลยว่าสิ่งที่เขียนไปมันจริงหรือมโนขึ้นมา ซึ่งกับเราสิ่งที่ถ่ายทอดไปมันคือประสบการณ์ทั้งหมด ไม่มีอะไรที่มโนขึ้นมาเลย เขาก็เลยไว้ใจสิ่งที่เราเขียน แค่นั้นเราก็พอใจแล้ว

จนกระทั่งตอนที่มันกำลังจะออกอากาศนั่นละ ถึงเริ่มนึกได้ว่า..อ้าว นี่มันจะขึ้นไปอยู่บนช่อง 3HD นี่

นคร : ตอนออกอากาศเราก็นั่งรอลุ้นเลยนะว่าจะอยู่ไหม เพราะสุดท้ายคนที่เซ็นเซอร์ก่อนออกอากาศอีกทีก็คือทางฝ่ายช่อง 3HD เอง พอเห็นว่ามันยังอยู่เราก็แบบดีใจมาก

ฉันทนา : มันอาจจะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปตัดด้วยละมั้ง

นคร : ก็มันผิวๆ ไง (หัวเราะ)

ฉันทนา : มันก็เป็นความต่างของผู้ชมจากทั้งสองที่ด้วย อย่าง AIS Play ก็จะเป็นคนที่เข้าถึงสมาร์ตโฟน เป็นคนรุ่นใหม่หน่อย กับทางช่อง 3HD ก็จะเป็นแม่บ้าน แม่ค้าส้มตำ หมออยู่เวรแล้วเปิดทีวีค้างไว้

นคร : แล้วฟีดแบ็คคนที่ดูทางทีวี มันจะมาจากนอกโซเชียลไปเลย เป็นฟีดแบ็คแบบ on-site เช่นเพื่อนไปกินส้มตำแล้วได้ยินโต๊ะข้างๆ พูดเรื่องยุพิน หรือว่าเพื่อนแม่โทรมาว่าดูซีรีส์เรื่องนี้ แล้วอยากเจอเราจังเลยทั้งที่ร้อยวันพันปีไม่เคยโทรมา คือฟีดแบ็คจากคนที่ดูทางช่อง 3HD ก็จะเป็นอีกแบบที่ไม่ซับซ้อน เช่น อียุพินแรดจัง รักความร่านของอียุพินมากลูก สนุกมากเลยลูก เชียร์ให้ยุพินตบกับมั่นคง อะไรแบบนี้

แต่พอมาทาง AIS Play มันเป็นฟีดแบ็คแบบคนที่เข้าย้อนกลับไปดูได้ ไหนเมื่อกี้พูดอะไรฟังใหม่สิ ใช่อย่างที่กูคิดไหม คือลงลึกไปอีก

Film Club : แล้วอย่างที่บ้านของตั๊ก เขาได้ดูแล้วมีฟีดแบ็คอะไรไหม

ฉันทนา : ได้ดูๆ น้องเปิดให้แม่ดู แม่ก็ตกใจ แบบแม่ไม่คิดว่าจะมีเสียงแม่ไปใส่ในซีรีส์จริงๆ แบบ EP.6 จะมีเสียงแม่กับเสียงยายเราที่คุยผ่านโทรศัพท์ใส่เข้าไปด้วย หรือตกใจว่าทำไมเล่าเรื่องนี้ นี่มันชีวิตตัวเองหรือเปล่า คือเขาเซอร์ไพรซ์แบบไม่คิดว่าเราจะเอาเรื่องในครอบครัวไปเล่าในซีรีส์ แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร แววตาเขาแอบดูภูมิใจด้วย

นคร : ของเราก็มีฟีดแบ็คจากทางบ้าน คือเราจะไม่ได้นั่งดูกับที่บ้านนะ แต่ก็จะมีฟีดแบ็คถึงตอนที่หอยกี้พูดบนหน้าผา แบบนึกถึงตอนนั้นเลยนะ เราก็คิดในใจว่า ก็ใช่นะสิ (หัวเราะ)

คือเรามี reference จากคนรอบตัวหมดเลย พอซีรีส์มันได้ฉายเราก็อยากรู้ฟีดแบ็คจากคนที่เราใช้เป็น ref ว่าเขารู้สึกยังไงเหมือนกัน แต่เราจะไม่ดูกับเขานะ (หัวเราะ) คือถ้าเขาสัมผัสได้ว่านี่คือเรื่องราวของเขา เดี๋ยวเขาจะมาบอกเราเอง

ฉันทนา : จริงๆ เราอยากได้รับฟีดแบ็คจากทั้งหมดนะ ไม่ว่าคุณจะดูจากช่องทางอะไร แม้แต่ด่าเราก็อยากอ่าน

นคร : นี่ไง ล่าสุดที่เราเจอ ก็จะแบบ..เห็นไหม สุดท้ายก็ให้คนอีสานท้องไม่พร้อม ผลิตซ้ำภาพคนอีสานเดิมๆ อยู่ดี

ฉันทนา : ก็ชอบอ่าน คนชมอะมีอยู่ ซึ่งเราก็ซาบซึ้งกับคำชมเสมอ แต่เราก็อยากรู้ข้อบกพร่องไง ทั้งข้อบกพร่องในเรื่องวิธีคิด หรือในแง่การถ่ายทำต่างๆ เราอยากรู้ทั้งหมดละ

นคร : อย่างนึงคือ น้ำเสียงหรือท่าทีที่เราใช้ในการเล่าเรื่องของซีรีส์เรื่องนี้ มันค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ชมนะ ก็เลยคิดว่าเขาจะรับฟังเรา คือไม่รู้ละว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อได้ดู แต่ก็ไม่เคยเจอขนาดที่ว่าโกรธเกรี้ยวในสิ่งที่เราเล่าในซีรีส์นะ

ฉันทนา : กับคอมเมนต์อย่าง “สุดท้ายก็ให้คนอีสานท้องไม่พร้อม ผลิตซ้ำภาพคนอีสานเดิมๆ อยู่ดี” เราก็ดึงมาคุยกับพี่อ้วนนะ ว่าอะไรคือการผลิตซ้ำวะ 

นคร : แล้วเราจะโดนถามประเด็นนี้เยอะมากเลยนะตอนไปสัมภาษณ์

ฉันทนา : งั้นเราถามกลับได้ไหมว่า ผลิตซ้ำแปลว่าอะไร 

Film Club : เราว่าผลิตซ้ำ มันมีความรู้สึกคล้ายๆ กับคำว่า “สเตอริโอไทป์” หมายถึงเป็นสิ่งที่สังคมเชื่อว่ามันเป็นแบบนี้ แล้วการผลิตซ้ำ มันคือการไปเสริมความคิดที่มีอยู่เดิมของสังคม แบบสังคมหรือสื่อเองก็เคยมองคนอีสานเป็นแบบนี้ในอดีต แต่สุดท้ายซีรีส์ที่เหมือนจะทำตัวก้าวหน้า ก็ยังให้ภาพคนอีสานไม่ได้ต่างจากสิ่งที่สื่อในอดีตเคยทำ เราว่ามันคือ sense แบบนั้น ซึ่งเราไม่เห็นด้วยนะ

นคร : เหมือนแบบเราทำเรื่องอีสาน เราห้ามทำเรื่องตัวละครท้องเหรอ เขาคิดว่าเรื่องท้องไม่พร้อมมันเป็นปัญหาของสังคม

ฉันทนา : คือมันดันมีคำว่า “คนอีสาน” มาพ่วงกับคำว่า “ท้องไม่พร้อม” ซึ่งนี่เรากำลังเล่าเรื่องของวัยรุ่นอีสาน ในพื้นที่อีสาน แต่เราคิดว่านี่เป็นปัญหาที่วัยรุ่นทั่วๆ ไป ก็มีสิทธิ์ที่จะเจอ แม้แต่ในซีรีส์ Sex Education ก็เจอ เราเลยมีคำถามว่าเราห้ามทำเรื่องวัยรุ่นท้องไม่พร้อมเหรอ ไม่ว่าจะภาษาไหน มันมีปัญหาอะไรเหรอ คือเราจะไม่พอคำถาม แต่จะถามกลับแบบนี้มากกว่า


Film Club : พูดถึงการดัดแปลงจากเวอร์ชั่นภาพยนตร์ มาเป็น ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ 

นคร : เราพยายามจะคงคอนฟลิกซ์เดิมที่ตัวละครเดิมเจอเอาไว้ให้ได้มากที่สุด อย่างตัว หอยกี้ เรื่องท้องไม่พร้อมเราก็คงประเด็นเดิมเอาไว้ โดยลงไปที่ความรู้สึกของตัวละครมากขึ้น

Film Club : แล้วการเข้ามาฮิตของวัฒนธรรมอีสานในสื่อกระแสหลัก เรามีความรู้สึกอย่างไร

นคร : อย่างนึงคือตอนที่เรามาทำ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เฉพาะตัวเวอร์ชั่นซีรีส์เลยนะ คือภาษาอีสานมันมี vibe บางอย่างที่ไปคล้ายภาษาเกาหลี เรารู้สึกว่ามันมีความเป็นสากล แล้วพอเรามองภาษาอีสานเป็นสากล มันเลยเกิดความรู้สึกที่ว่า ภาษาอีสานมันดิ้นได้ในการใช้งานมากกว่า ซึ่งในซีรีส์มันชัดเจนมาก คือมันไม่มีกรอบเหมือนภาษากลาง แอบพูดหยาบยังได้เลย คือลื่นไหลกว่าภาษากลางมากๆ

ฉันทนา : อีสาน ฟีเวอร์ นะเหรอ? คือเราก็ปลื้มปิตินะ แต่กระนั้นก็อย่า hype แห่แหนทำๆ คอนเทนต์อีสานตามๆ กันจนเกินไป คือในขณะเดียวกันเราก็อยากให้ภูมิภาคอื่น ถูกเล่าด้วยสำเนียงด้วยมุมมองของตัวเองเหมือนกัน โดยที่ไม่ต้องรอให้มันเกิดกระแสมาก่อน

นคร : คือถ้าเราพยายามจะให้วัฒนธรรมเป็นสินค้าส่งออก อย่างซีรีส์เรื่องนี้เราว่าถ้าให้เพื่อญี่ปุ่นหรือเกาหลีดู เราว่าเขาเก็ต เพราะสิ่งที่เราเล่าในเรื่องมันคือเรื่องสากลที่สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้บนโลก เพราะงั้นมันสามารถเปลี่ยนฟอร์มของมันไปได้อีก

Film Club : อย่างภาพที่ออกมาในซีรีส์ มันดูสวยงามมาก เราสงสัยว่า มันจะทำให้คนดูลืมไปหรือเปล่าว่า ชีวติของพวกเขาจริงๆ มันยากลำบากไม่สะดวกสบายนะ

ฉันทนา : มันเป็นเรื่องของเทคนิคทางภาพยนตร์มากกว่า คือมันกำหนด gerne มาแล้วว่าเป็น โรแมนติก-คอมิดี้

นคร : เราว่าสถานที่ถ่ายทำก็มีผลกับ mood & tone ในซีรีส์ที่เราเล่าเหมือนกัน คือก็กำหนดกันมาก่อนว่าจะไปที่จ.อุบลราชธานี ตอนแรกก็มองไว้สองที่คือ วารินชำราบ กับที่ เดชอุดม แต่สุดท้ายพอมาเป็นที่ โขงเจียม ที่อยู่ติดแม่น้ำโขง แล้วอีกฝั่งนึงคือลาวเลย แล้วตัวละครก็ชอบมาวนเวียนอยู่ริมน้ำตลอด คือสถานที่มันกำหนดเรื่องที่จะพูดประมาณนึงเลย

Film Club : แล้วใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ มีปัญหาเรื่องสำเนียงการพูดว่าเป็นคนละถิ่นไหม

ฉันทนา : โดนเหมือนกัน มีหนักเลย อย่างคนตัดซีรีส์ก็เป็นคนอีสาน ดังนั้นเขาจะมีปัญหาตลอด คือจับได้ว่าคนละถิ่น พูดไม่ถูก พูดไม่ชัด แต่ในเรื่องนักแสดงเป็นคนอีสานหมด ยกเว้น พัตเตอร์ (เดชพิสิษฐ์ จารุกรอภิวัฒิ รับบท สวรรค์) กับ กุ๊งกิ๊ง (ปฏิมา ฉ่ำฟ้า รับบท ยุพิน) ที่ไม่ใช่คนอีสาน เป็นคนโคราช

อย่าง แฟรงค์ เนี่ยเป็นคนจังหวัดเลย เป็นคนวังสะพุง ซึ่งบ้านนอกสัสๆ แบบเดียวกับตั๊กเลย แบบวันหยุดก็ไปขนมันขนอ้อย ได้เป็นดาราเพราะมีคนไปเจอตอนมันขายล็อตเตอรี่ ซึ่งเลยสำเนียงอีสานมันก็คนละแบบเลย ดังนั้นเวลากำกับแฟรงค์คือถ้าน้องเล่นได้ก็จะปล่อยให้น้องมันแสดงเลย เพราะจะมีปัญหาคือไดอะล็อกถูก แต่สำเนียงผิด ซึ่งพอมันอารมณ์มันสนุก เราก็ไม่เป็นไรในหลายๆ ซีน แต่พอเป็นซีนดราม่า เราจะซีเรียสขึ้นมากับในบางวรรณยุกต์บางคำ ก็จะมีการแก้ให้มันถูกต้อง

Film Club : ในเวอร์ชั่นซีรีส์ สิ่งที่ถูกขยายมากขึ้นอย่างชัดเจน คือชีวิตในรั้วโรงเรียน

ฉันทนา : แต่เราแอบบอกพี่อ้วนว่า อย่าเขียนซีนโรงเรียนเยอะ เพราะมันไม่สวย แล้วคิวกลางวันมันเยอะไง ก็เป็นเรื่องเชิงกังวลในการถ่ายทำไป อยากบาลานซ์ให้มีซีนกลางคืนด้วย

นคร : คือมันจำเป็นต้องเล่าไง ด้วยช่วงชีวิตวัยนี้ จริงๆ เราไปคุยกับอ.ฮูก (ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก่อนจะมาทำด้วย เรื่องเด็กยุคนี้กับการสอบ จนไปเจอประเด็นหลายอย่างที่น่าสนใจ จากตอนแรกที่จะเน้นไปที่ชีวิตนอกโรงเรียนมากกว่า ซึ่งใน 2 EP. สุดท้ายเดี๋ยวจะได้เห็นว่ามันพูดเรื่องการศึกษาเยอะแค่ไหน

คือเรื่องสำคัญที่จะพูดในพื้นที่โรงเรียนได้ คือเรื่องโอกาส อย่างเด็กทั่วๆ ไปโอกาสเรียนปริญญาตรีก็คงเป็นเรื่องปกติ แต่กับเด็กโนนหินแห่นี่คือเรื่องใหญ่นะ ซึ่งมันคือเรื่องที่ควรจะพูดไง กับคนที่เข้าถึง AIS Play ส่วนใหญ่คงเข้าถึงการศึกษาระดับนี้ได้ไม่ยาก แต่กับเด็กอีสานมันกลายเป็นเรื่องเกินตัว ฟุมเฟือยไม่จำเป็นด้วยซ้ำ ซึ่งพอได้ทำเรื่องนี้ก็อยากจะพูดประเด็นนี้เหมือนกัน

ฉันทนา : กับตัวเราเองก็ถือเป็นคนที่บาดแผลจากระบบการศึกษาไทย คือแม้แต่เราเองยังเคยตั้งข้อสังเกตว่า ซีรีส์ไทยมันพูดถึงวงการอื่นไม่ได้ นอกจากอาชีพนักเรียน แต่พอเป็นงานตัวเองก็ดันพูด ทำไมไม่ไปวิจารณ์อาชีพหรือวงการอื่นละ แต่ภาพของเด็กอีสานเรียนหนังสือ หรือพูดเรื่องเป้าหมายในชีวิตของเด็กนักเรียนอีสาน มันก็ยังไม่มีจริงๆ เพราะในสื่อกระแสหลัก ภาพที่คุ้นชินของเด็กอีสานคืออาชีพชาวนา สาวโรงงาน อยู่วงหมอลำ แต่เขายังไม่เคยเล่าถึงชีวิตนักเรียน แบบรายวัน ชีวิตนักเรียนอีสานที่ทั้งมีเป้าหมาย และไม่มีเป้าหมายในชีวิต สิ่งเหล่านี้ผู้ชมยังไม่เคยเห็น ทำไมเราจะไม่เล่าละ

อีกประเด็นที่อยากเล่าคือเรื่อง ครู มันถึงได้มีตัวละครอย่าง ไพโรจน์ กับ วีรชัย และ มะลิวรรณ สุดท้ายแล้วไม่มีใครเป็นตัวร้ายเลย เพราะเขาก็มีเหตุผลของเขาเหมือนกัน การจะเขียนถึงตัวละครเหล่านี้ เราก็ต้องสืบหาข้อมูลจริงๆ มาใช้ เราก็โทรถามเพื่อนถามคนนู้นคนนี้ อย่างตัวละครไพโรจน์ ก็มาจากการโทรคุยกับครูของเรา ที่ปัจจุบันเลื่อนขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการ ก็ชวนคุยตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตเป็นครู จนเลื่อนขึ้นมาเป็นข้าราชการครู ซี-3 คุยอยู่หลายชั่วโมงเพื่อเอามาใช้เขียนเหตุการณ์ไม่กี่เหตุการณ์ ประโยคพูดไม่กี่ประโยค คือเหมือนมันต้องรู้จริงถึงเขียนขึ้นมาได้

หรือแม้แต่ วีรชัย ที่เป็นรอง ผอ. พ่อของสวรรค์ พี่เขียนก็สร้างมาว่า หรือเขาเป็นรองผอ.ที่ไม่ยอมย้ายไปไหน เราก็ต้องไปรีเสิร์ชความเป็นจริงในการเลื่อนขั้นย้ายตำแหน่งของครูจริงๆ หรือมันจะเป็นเพื่อนกับอีผึ้ง แม่ของแคลเซียม หรือรำไพ แม่ของเติ้ลไม้ด้วย ซึ่งพอพี่อ้วนเขียนดีเทลพวกนี้มา เราก็ชอบมากๆ

นคร : คืออย่าง วีรชัย ยิ่งเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งนี้มานาน มันยิ่งต้องสนิทและรู้จักคนในหมู่บ้านเป็นอย่างดี ต้องไปเคยเมาที่ร้านผึ้งแน่เลย 

ฉันทนา : อย่าง EP.6 ที่เป็นซีน วีรชัย มาตามสวรรค์ที่เมาอยู่ร้านผึ้ง อันนั้นก็คือเทคเดียวผ่านเลย แล้วเราชอบมาก ดูแล้วแบบร้องไห้ รู้สึกว่านี่แบบโคตรครูบ้านนอกเลย แต่ดันต้องมาเป็นรอง ผอ. หรืออย่างครูมะลิวรรณ ก็ดันเป็นครูที่ช่วยเลี้ยงลูกเด็กนักเรียนคนนึงที่เอาลูกมาโรงเรียน 

นคร : คือเราเคยมีเพื่อนแบบนั้นจริงๆ คือครูเลี้ยงลูกของนักเรียนจนสนิทกันไปเลย คืออยากใส่ตั้งแต่ฉบับหนังแล้วแต่หาที่ลงไม่ได้

ฉันทนา : คือสุดท้ายทุกคนก็ต้องดิ้นรนในระบบนี้ไม่ต่างกัน แม้แต่ครูสามคนนี้

Film Club : จุดเด่นอีกอย่างของซีรีส์คือ จากเริ่มต้นที่เล่าเรื่องสนุกสนานรื่นเริง มันกลับค่อยๆ เผยให้เห็นความเจ็บปวดของตัวละครในอีพีหลักๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

นคร : อันนี้ต้องชมพี่แก๊ป Script Advisor ของเรื่องนะ เหมือนเราทำมา แล้วเขามาช่วยจัดระเบียบในเรื่องว่า แต่ละอีพีควรมีท่าทียังไง EP.1-4 ประมาณนี้พอละ จนทุกอย่างมาขมวดที่ EP4. หลังจากนี้จะมีท่าทียังไงต่อในแต่ละอีพี

Film Club : แล้วพวกไดอะล็อกภาษาอีสาน หรือคำแอบหยาบต่างๆ ที่เห็นในเรื่อง เราเขียนยังไง

นคร : ตอนแรกเราเขียนไปเป็นภาษากลางก่อน เพราะต้องให้ทีมทีวี ธันเดอร์อ่านด้วยไง ซึ่งก็หยาบกันตั้งแต่ภาษากลางแล้วจ๊ะ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าพอเป็นภาษาอีสานมันจะดิ้นได้ มันจะหาทางออกได้หมด แต่ก็มีทั้งที่หยาบตั้งแต่ในบท ไปด้นเอาหน้ากองเพิ่ม บางทีด้นไปแล้วดูหยาบกว่าเดิมก็มี (หัวเราะ)

Film Club : เราดูที่พี่อ้วนไปสัมภาษณ์กับพร้อม ที่ The Matter มีพูดเรื่องโปสเตอร์หลัก ที่แบบเห็นครั้งแรกแล้วร้องไห้เลย สำหรับทั้งสองคนคิดว่าเราได้ถ่ายทอดความเจ็บปวดของวัยรุ่นอีสานไปสู่ผู้ชมได้สำเร็จไหม

นคร : คือสำเร็จไหมไม่รู้หรอก แต่ถ้าให้พูดถึงแต่ละตัวละครคือพูดได้เป็นวันๆ เลย ว่าแต่ละคนไปเจออะไรมาบ้าง แต่ละคนมันน่าสงสารนะ กับคนอื่นเราไม่รู้ แต่มันทำงานกับเราไปแล้ว โดยเฉพาะตอนเห็นโปสเตอร์ที่เป็นตัวละครยืนเรียงกันริมหน้าผา คือไม่คิดว่าเขาจะมาเวย์นี้ เพราะนึกว่าจะขายแบบหน่าฮ่านเทิดเทิงกันไป พอมาเวย์นี้แล้วแบบ ทุกคนที่ดูถึง EP.6 ก็เห็นอยู่ว่าตัวละครเจออะไรมาบ้าง ยิ่งไปสองตอนสุดท้ายคือหนักเข้าไปใหญ่ พอความรู้สึกนั้นมันมาอยู่ในโปสเตอร์ ก็เซอร์ไพรซ์ทางทีวี ธันเดอร์มากๆ ที่เลือกมาทางนี้

ฉันทนา : คือมันคือความโชคดี ที่ได้เจอคนทำงานบนความเข้าใจในสิ่งที่เราทำ มันคือสำเร็จไปแล้ว เกินครึ่ง ซึ่งมันเป็นเรื่องหายากเสียยิ่งกว่าฟีดแบ็คจากผู้ชมอีก

นคร : ด้วยความสัตย์จริง คือเราไม่ได้ตั้งใจจะเมโลฯ มันนะ เราตั้งใจจะเล่ามันบนพื้นฐานของโรแมนติก-คอมิดี้ แต่ชีวิตของคนเหล่านี้มันไม่ได้งดงามขนาดนั้น และจะทำเป็นไม่เห็นก็คงไม่ได้ ดังนั้นพออันไหนที่มันเมโลฯ มากๆ เราก็จะพยายามบาลานซ์มันเอาไว้

โปสเตอร์ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’

Film Club : ‘หน่าฮ่าน’ ฉบับหนังมันถูกสร้างขึ้นมาในปี 2019 ถ้าเราจะแบ่งหนังไทยเป็นก่อนกลางปี 2020 และหลังปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์การระเบิดทางความคิดของสังคม ซึ่ง ‘หน่าฮ่าน’ เองก็เป็นเหมือนสัญญาณแรก ที่พูดกับวัยรุ่นว่าชีวิตมันต้องมีทางเลือกอื่น ไม่ประนีประนอมอีกแล้ว ก่อนที่เราจะได้เห็นเหตุแห่งการจุดระเบิดในกลางปี 2020 เลยอยากรู้ว่าใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ อยากจะพูดอะไรกับวัยรุ่นหลังปี 2020 บ้าง

นคร : จะบอกว่าจริงๆ ตอนเราเขียนบทซีรีส์ เราก็แบ่งแบบนั้นนะ เพราะว่าเคยมีคนมาถามว่า การทำซีรีส์เรื่องนี้น่าจะง่ายขึ้น เพราะมีสารตั้งต้นมาหมดแล้ว แต่พอถึงเวลาจริงๆ เราก็ได้รับอนุมัติในการทำงานก็หลังปี 2020 มันเลยยิ่งทำให้รู้สึกว่า เราจะมองมันเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นเราต้องอัพเดตตัวละครใหม่หมดเลย ว่าตัวละครแต่ละตัวจะมีท่าทียังไงหลังเหตุการณ์ในปี 2020

ฉันทนา : อะไรที่คิดว่าไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น เราว่า ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ มันจะส่งแรงกระเพื่อมไปสู่คนที่ทำงานซีรีส์หลังจากนี้แน่ๆ คือไม่ได้ว่าตัวเองเก๋านะ เราแค่ขอลองเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะพูดเรื่องเหล่านี้

นคร : ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เราคุยกับทางทีวี ธันเดอร์นะว่า ถ้าเราจะทำคอนเท็นต์ให้วัยรุ่น เราจะวางตัวแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เราก็ต้องเป็นพวกเดียวกับเขา ซึ่งเขาเองก็อยากจะเป็นเพื่อนกับวัยรุ่นเหมือน ซึ่งถ้าจะเป็นเพื่อนกับเขา เราต้องฟังเขา ซึ่งการฟังเราไม่ได้ไฟฟังพวก activist ด้วยนะ เราฟังเสียงจากวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตปกตินี่ละ เช่นหลานที่อายุ 20 แล้วยังไม่จบ ม.6 หรือเด็กผู้หญิงที่เพิ่งรู้ว่าชอบผู้หญิงด้วยกัน

หรือหลานเราที่พยายามจะสร้างครอบครัวที่ดีมีสุข แต่กลายเป็นว่ายิ่งทำยิ่งเหี้ยลงไปเรื่อยๆ ปากหนักที่ยืมเงิน แต่ก็ไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องขอยืม ยิ่งลงทุนยิ่งเป็นหนี้ ทั้งที่มึงพึ่งอายุแค่ 21 ปีเอง ซึ่งสิ่งที่มันเจอมันปัญหาคนอายุสามสิบเลยนี่

ฉันทนา : ทั้งหมดคือเราพยายามที่จะเป็นคนทำงานที่รับฟังวัยรุ่น อยู่ในชีวิตหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นอนาคตของชาติ ซึ่งถ้าเราไม่ปรับตัวเข้าหาพวกเขา มันก็ยากที่จะสื่อสารกับพวกเขา

นคร : คือเราไม่ได้ถึงขนาดที่ว่าทุกคนจะต้องมาทำเรื่องราวแบบนี้ แต่แค่อยากให้ตระหนักรู้ว่า ถ้าเราคิดว่าเป้าหมายคนดูของเราคือวัยรุ่น เราสามารถเป็นเพื่อนกับเขาได้หรือยังมากกว่า

มัดรวมดราม่าวงการหนังรอบโลก

ออสการ์แบน Will Smith สิบปี

เวลาผ่านไปแล้วเกินสัปดาห์หลัง วิลล์ สมิธ ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกของ The Academy of Motion Picture Arts and Sciences (AMPAS) หลังฉากตบสะเทือนโลกบนเวทีออสการ์ พร้อมๆ กับที่บรรดาสตูดิโอได้เริ่มชะลอหรือหยุดโปรเจกต์ที่เขามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่หนัง Fast and Loose ของ Netflix, ซีรี่ส์ Emancipation ของ Apple TV Plus ไปจนถึง Bad Boys 4) – ล่าสุดทางอะคาเดมี่เพิ่งประกาศโทษแบนสำหรับเขาอย่างเป็นทางการ

บทลงโทษสำหรับเหตุการณ์นี้คือห้าม วิลล์ สมิธ เข้าร่วมงานประกาศผลรางวัลออสการ์ หรืออีเวนต์กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่อะคาเดมี่เป็นเจ้าภาพหรือผู้จัด เป็นเวลาทั้งหมด 10 ปี อย่างไรก็ดี ในแถลงการณ์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเขายังมีสิทธิ์เข้าชิงหรือชนะรางวัลระหว่างสิบปีนั้นหรือไม่ และไม่ได้กล่าวถึงการเพิกถอนหรือยกเลิกรางวัลที่เขาได้รับจาก King Richard (2021) แต่ได้กล่าวขออภัยที่ทางอะคาเดมี่รับมือสถานการณ์ในวันถ่ายทอดสดได้ไม่ดีพอ และปล่อยให้สมิธขึ้นรับรางวัลหลังเหตุการณ์


Sion Sono กับข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศ

Shukan Josei PRIME ได้เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของสองนักแสดงหญิงที่ระบุว่าพวกเธอเคยถูกผู้กำกับ ซิอน โซโนะ พยายามหว่านล้อมหรือล่อลวงให้มีเซ็กซ์ด้วย นักแสดงทั้งสองคนกับผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในข่าวชิ้นนี้ รวมถึงรายงานข่าวแหล่งอื่นระบุว่าโซโนะมีนิสัยชอบโอ้อวดเรื่องความสัมพันธ์กับนางเอกของตัวเอง การที่นักแสดงหญิงยอมใช้เซ็กซ์แลกบทเด่นในหนังเขามาตลอดหลายปี ไปจนถึงเซ็กซ์แฟนตาซีรูปแบบต่างๆ

ข่าวเล่าเพิ่มว่าพฤติกรรมล่วงละเมิดของโซโนะมักเกิดขึ้นในช่วงเวิร์คช็อปการแสดง ขณะนี้ฝ่ายโซโนะได้ยกเลิกเวิร์คช็อปการแสดงของตัวเอง ออกเพียงแถลงการณ์ขอบคุณผู้สนับสนุน ขออภัยที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกกับผู้เกี่ยวข้อง และจะแถลงเพิ่มเติมภายหลังสืบสวนข้อเท็จจริง – กรณีของโซโนะเป็นข่าวขึ้นเพียงไม่นานหลังนักแสดงหญิงกลุ่มหนึ่งได้ออกมากล่าวหาผู้กำกับและนักแสดง ฮิเดโอะ ซากากิ (Hideo Sakaki) กับ โฮกะ คิโนะชิตะ (Houka Kinoshita) เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ

หลังเป็นข่าว นักแสดง ยูกิ มัตสึซากิ (Yuki Matsuzaki) ทวีตว่าที่ผ่านมามีคนตกเป็นเหยื่อโซโนะหลายสิบคน รวมถึงรีทวิตคลิปของอีกหนึ่งนักแสดง ทัค ซาคากุจิ (Tak Sakaguchi) ที่ออกมากล่าวขอโทษสังคมว่าตัวเขาเองเคยล่อลวงนักแสดงหญิงคนหนึ่งไปที่บ้านของโซโนะเมื่อสิบปีก่อน                 


Ezra Miller เป็นอะไร!

ไม่แน่ว่าฉาก The Flash เข้าสู่ Speed Force ที่คว้าอันดับหนึ่งรางวัลสุดอิหยังวะในคืนประกาศผลออสการ์ อาจเป็นการปรากฏตัวครั้งท้ายๆ ในจักรวาลดีซีของ เอซร่า มิลเลอร์ หลังซีรี่ส์พฤติกรรมสติหลุดต่อเนื่องที่อิหยังวะกว่าช่วง Cheer-worthy Moment ไปหลายช่วงตัว

หลังถูกตำรวจฮาวายจับที่บาร์แห่งหนึ่งเพราะก่อความไม่สงบในร้านและได้ประกันตัวเพียงข้ามวัน เจ้าของบ้านหลังหนึ่งก็แจ้งว่ามิลเลอร์ได้บุกเข้าห้องนอนของพวกเขา พูดจาข่มขู่ประทุษร้าย และหยิบพาสปอร์ตกับกระเป๋าเงินของพวกเขาไปด้วย จนขณะนี้มีรายงานว่าทาง Warner Bros. และผู้บริหารของ DC ได้เรียกประชุมด่วนเพื่อหารือเรื่องมิลเลอร์ก่อนเปิดตัวหนัง The Flash ในเดือนมิถุนายนปี 2023 – แหล่งข่าวหนึ่งบอกว่ามติที่ประชุมเป็นเอกฉันท์ให้หยุดทุกโปรเจกต์ที่มิลเลอร์มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการปรากฏตัวในหนังหรือซีรี่ส์จักรวาลดีซีทั้งหมด แต่อีกแหล่งข่าวให้ข้อมูลแย้งกันว่าไม่มีการประชุมที่ว่านี้เกิดขึ้น

พฤติกรรมในช่วงหลังของมิลเลอร์นั้นเต็มไปด้วยข่าวฉาว ตั้งแต่การพูดหนุนสิทธิในการซื้อและถือครองอาวุธปืนเมื่อปี 2018 มีคลิปไวรัลทำร้ายผู้หญิงในบาร์ที่ไอซ์แลนด์เมื่อปี 2020 และอัดคลิปไล่สมาชิกกลุ่ม Ku Klux Klan ให้ไปตายลงอินสตาแกรมเมื่อเดือนมกราคม (ลบไปแล้ว) รวมถึงอาการสติหลุด ระเบิดอารมณ์หลายต่อหลายครั้งระหว่างถ่ายทำ The Flash ช่วงปี 2021


Naomi Kawase กับดราม่าสารคดีโตเกียวโอลิมปิก

ข่าวเก่าจากญี่ปุ่นช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อ NHK ได้ออนแอร์รายการพิเศษเบื้องหลังสารคดีโตเกียวโอลิมปิก 2020 ซึ่งกำกับโดย นาโอมิ คาวาเสะ ผ่านเครือข่ายช่องดาวเทียมของตัวเอง ประเด็นดราม่าเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ออกอากาศในวันที่ 26 ธันวาคม 2021 ทางสถานีขึ้นคำบรรยายว่ากล้องของทีมสารคดีกำลังพูดคุยกับบุคคลที่ “รับจ้าง” มาประท้วงต่อต้านโอลิมปิก – หลังได้รับจดหมายร้องเรียนและสืบตามจนพบตัวบุคคลดังกล่าว พร้อมข้อเท็จจริงว่าถึงเขาจะเคยรับเงินไปประท้วง แต่ตอนสัมภาษณ์ฉากที่เป็นประเด็น (ก่อนเริ่มโอลิมปิก) เขายังไม่เคยไปประท้วงต้านโอลิมปิกเลย ทาง NHK จึงออกแถลงการณ์ขออภัยที่ตรวจสอบข้อมูลไม่รอบคอบ ทั้งต่อผู้ชมและทีมงานสารคดีของคาวาเสะ

แต่ถึงจะยืนยันว่าเป็นความผิดพลาดโดยสุจริต ไม่ใช่การจงใจบิดเบือนข้อมูล ก็ยังมีประเด็นถกเถียงสืบเนื่องที่ผูกโยงกับท่าทีตอบรับของ NHK (“พวกเขาควรขอโทษผู้ประท้วงต่อต้านโอลิมปิก ไม่ใช่ทีมงานสารคดี” นักข่าว ริว ฮนมะ (Ryu Honma) กล่าว) และความเคลือบแคลงที่มีต่อตัวคาวาเสะกับสารคดีโอลิมปิก

คาวาเสะตกเป็นเป้าวิจารณ์อยู่ก่อนแล้ว โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า “พวกเรา (ประเทศญี่ปุ่น) เป็นฝ่ายเชื้อเชิญกีฬาโอลิมปิกตั้งแต่เมื่อเจ็ดปีก่อน” และยังพูดว่าคนทั้งชาติต่างยินดีกับการเป็นเจ้าภาพ ทั้งที่มีประชาชนต่อต้านการจัดการแข่งขันครั้งนี้จำนวนมากและขับเคลื่อนประเด็นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากต้องยกเลิกกำหนดการเดิมในปี 2020 เพราะฝ่ายต่อต้านไม่ได้อ้างเพียงเหตุผลเรื่องโควิด (ฝ่ายต่อต้านเห็นว่าคาวาเสะมีท่าทีเย็นชาและ tone deaf เมื่อถูกถามเรื่องสถานการณ์โควิดด้วย) แต่ยังพูดเรื่องหนี้สาธารณะที่ชาวญี่ปุ่นต้องแบกรับเพราะโอลิมปิก ประชาชนที่ถูกไล่ที่เพื่อหลีกทางให้สนามกีฬา รวมถึงการโยกเงินจากกองทุนเยียวยาผู้ประสบภัยสึนามิเมื่อปี 2011 มาจัดการแข่งขัน

ฝ่ายที่วิจารณ์ยังตั้งข้อสงสัยเพิ่มว่า ทั้งตัวหนังสารคดีและรายการเบื้องหลังของ NHK อาจไม่ได้ต้องการภาพผู้ประท้วงต่อต้านโอลิมปิกจริงๆ อย่างที่กล่าวอ้าง แต่พยายามมองหาคนรับจ้างประท้วงเพื่อดิสเครดิตอีกฝ่ายมากกว่า เพราะฉากที่เป็นดราม่านั้นไม่ได้ถ่ายที่สนามกีฬาแห่งชาติซึ่งเป็นจุดประท้วงหลัก แต่คือย่านรวมตัวของแรงงานรับจ้างรายวันในกรุงโตเกียว ที่หลายครั้งฝ่ายขวาก็มาจ้างไปร่วมประท้วงปลุกระดม

ถึงคาวาเสะจะไม่อยู่ในฉากที่เป็นปัญหา เพราะเป็นความรับผิดชอบของผู้กำกับอีกคน และได้แถลงเพิ่มว่าเธอไม่ได้เห็นฉากนี้ก่อนออนแอร์ แต่ก็มีรายงานเพิ่มชี้ตัวว่าผู้กำกับคนดังกล่าวคือ คาคุเอ ชิมาดะ (Kakuei Shimada) ซึ่งเรียนหนังมาด้วยกันกับเธอ และดังจากการทำเอ็มวีให้วงพังก์ฝ่ายขวา ที่ยิ่งสอดคล้องกับข้อสงสัยว่าคาวาเสะสนิทสนมใกล้ชิดกับ อากิเอะ อาเบะ (Akie Abe) ภริยาของอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) และยิ่งทำให้พวกเขาเชื่อว่าสารคดีโอลิมปิกตัวเต็มของเธอ จะเป็นเพียงอีกหนึ่งเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายขวาในญี่ปุ่น


ส่วนดราม่าสุดดังอย่างข่าวอัสการ์ ฟาร์ฮาดี เราจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อแยกรายงานอีกข่าว โปรดติดตาม…

“ฮอลลีวูดต้องช่วยยกระดับ ไม่ใช่ด้อยค่าหนังแอนิเมชัน” ข้อเสนอเล็กๆ ที่สะท้อนภาพใหญ่ของคู่หู Phil Lord และ Christopher Miller

ไม่ว่าผลผู้ชนะรางวัลออสการ์ในภาพรวมของแต่ละปีจะเป็นที่พอใจ เซอร์ไพรส์ หรือตามโผจนชวนหลับ แต่สาขาที่ถูกวิจารณ์เสมอมาว่าก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงก็คือภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม (Best Animated Feature) ที่ผลรางวัลสะท้อนอาการแช่แข็งของรสนิยมกับทัศนคติ จนหลายเสียงเรียกชื่อเล่นว่ารางวัลดิสนีย์-พิกซาร์ เพราะนับจากปี 2010 ถึงตอนนี้ มีเพียงสองครั้งเท่านั้นที่ผลงานนอกสังกัดดิสนีย์หรือพิกซาร์เป็นผู้ชนะ คือ Rango (2011) และ Spider-Man: Into the Spiderverse (2018)

การตีความรางวัลเชื่อมโยงกับทัศนคติของฮอลลีวูดก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่ตอกย้ำให้ยิ่งชัดคือการที่สาขาแอนิเมชันสั้นยอดเยี่ยม (Best Animated Short Film) คือหนึ่งในแปดสาขาที่ถูกตัดออกจากการถ่ายทอดสด และสคริปต์แนะนำผู้เข้าชิงแอนิเมชันยอดเยี่ยมบนเวทีที่กล่าวโดยสาม “เจ้าหญิงดิสนีย์” เวอร์ชั่นคนแสดงคือ ลิลี่ เจมส์ (Lily James / Cinderella) เนโอมิ สก็อตต์ (Naomi Scott / Aladdin) และ ฮัลลี่ เบลีย์ (Halle Bailey / The Little Mermaid) ซึ่งเนื้อความเขียนว่าภาพยนตร์แอนิเมชันหลายเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ครั้งสำคัญในวัยเยาว์ โดยที่ “เด็กมากมายดูหนังเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก และซ้ำแล้วซ้ำอีก และซ้ำแล้วซ้ำอีก… ฉันว่าพ่อแม่ผู้ใหญ่ที่นั่งดูอยู่คงเข้าใจดีว่าเรากำลังพูดถึงอะไรอยู่”

The Mitchells vs the Machines

ฟิล ลอร์ด และ คริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ ผู้กำกับแอนิเมชัน Cloudy with a Chance of Meatballs (2009) กับแฟรนไชส์ The LEGO Movie (2014-2019) และโปรดิวเซอร์ของ Into the Spider-Verse กับ The Mitchells vs the Machines (2021) ที่ทั้งชนะและเข้าชิงออสการ์สาขานี้ ได้เผยแพร่บทความตอบโต้ทัศนคติดังกล่าวใน Variety เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ลอร์ดได้ทวิตถึงมุขนี้ไปแล้วก่อนหน้าว่า “การบอกว่าแอนิเมชันเป็นหนังที่เด็กดูแต่ผู้ใหญ่ต้องฝืนทนนี่โคตรคูลสุดๆ ไปเลย”

“เราจะเมินเฉยการตีกรอบหนังแอนิเมชันผู้เข้าชิงทั้งห้าเรื่องว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนดูไปเฉยๆ เลยก็ได้ ถือเสียว่าสะเพร่าและขาดความยั้งคิด แต่สำหรับพวกเราที่อุทิศชีวิตให้การสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน การต้องฟังคำพูดไม่ยั้งคิดแบบนี้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว” ทั้งคู่เขียนในช่วงต้นของบทความ พร้อมขยายความเพิ่มเติม “หัวหน้าของสตูดิโอแอนิเมชันยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งเคยพูดให้เหล่าแอนิเมเตอร์ฟังว่า ถ้าเราเล่นเกมเป็น สักวันก็จะได้เลื่อนขั้นไปทำหนังคนแสดง อีกหลายปีต่อมา ผู้บริหารอีกสตูดิโอพูดถึงหนังเรื่องหนึ่งของเราว่าสนุกมาก สนุกเสียจนทำให้เขานึกถึง ‘หนังจริงๆ’ เลย”

เช่นเดียวกับซีเนไฟล์ทางบ้านมากมายที่มีปัญหากับวิธีคิดที่ฮอลลีวูดมีต่อสาขานี้ ลอร์ดกับมิลเลอร์ยกตัวอย่างแบบเร็วๆ ง่ายๆ ว่าแอนิเมชันไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กอย่างไร “Encanto เชื่อมโยงกับคนดูผู้ใหญ่ได้ลึกซึ้งเมื่อเล่าเรื่องบาดแผลของครอบครัวที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น สารคดีแอนิเมชันที่เล่าเรื่องผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันได้บีบหัวใจอย่าง Flee ก็ไม่ใช่หนังสำหรับเด็กตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับผู้เข้าชิงในอดีตทั้ง I Lost My Body, Waltz with Bashir, Persepolis และอีกมากมาย”  

Waltz with Bashir

สำหรับทั้งคู่ การด้อยค่าภาพยนตร์แอนิเมชันเกิดขึ้นตลอดมา ทั้งที่บรรดาสตูดิโอใหญ่ในฮอลลีวูดต่างก็ลงมาชิงพื้นที่ในตลาดนี้เพราะมองเห็นตัวเลขรายได้ – 7 เรื่องใน 10 อันดับหนังยอดสตรีมสูงสุดประจำปี 2021 คือหนังแอนิเมชัน หนังทำรายได้สูงสุดตลอดกาล 13 จาก 50 อันดับก็เป็นหนังแอนิเมชัน ซึ่งแสดงให้เห็นสัดส่วนขนาดใหญ่ของผู้ชมแอนิเมชันกระแสหลักว่าคือผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบแอนิเมชันโดยตรง ไม่ได้เสียเงินซื้อตั๋วแค่เพราะลูกหลานที่บ้านอยากดูการ์ตูน – ในแง่เทคนิคหรือ “ความเป็นภาพยนตร์” ก็ยิ่งชัดเจนว่าแอนิเมชันได้พัฒนาอยู่ตลอด โดยเฉพาะงานด้านภาพ ดีไซน์ในแขนงต่างๆ การออกแบบเสียง และดนตรีประกอบ (ซึ่งต่อมาจำนวนมากก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้ “เลื่อนขั้น” ไปจับงานดังๆ หรือหนังรางวัล เพราะสร้างผลงานไว้เป็นที่ประจักษ์กับหนังแอนิเมชัน)

“แน่นอนว่าไม่มีใครคิดด้อยค่าแอนิเมชันมาตั้งแต่ต้น แต่นี่คือจังหวะเวลาอันเหมาะสมที่จะช่วยกันยกระดับสถานะของภาพยนตร์แอนิเมชัน” ข้อเสนอของลอร์ดกับมิลเลอร์ในบทความนั้นเล็กน้อยและง่ายดายมากทีเดียว – แค่เริ่มต้นด้วยการให้คนทำหนังซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ได้ขึ้นมากล่าวแนะนำแอนิเมชั่นในงานประกาศรางวัล

“กีเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ที่ทั้งโปรดิวซ์ กำกับ และชื่นชมภาพยนตร์แอนิเมชัน ช่วยย้ำเตือนกับผู้ชมได้ว่าแอนิเมชันเกิดขึ้นก่อนภาพยนตร์ หากไม่เกิดประดิษฐกรรมอย่าง zoetrope ก็ย่อมไม่มี American Zoetrope” พวกเขาหมายถึงสตูดิโอของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) และ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) “บองจุนโฮ (Bong Joon Ho) แนะนำผู้เข้าชิงพร้อมอธิบายได้ว่าทำไมเขาถึงเลือก Flee กับ The Mitchells vs the Machines ติดท็อปเท็นหนังยอดเยี่ยมแห่งปี”

และในขณะที่ออสการ์ปีนี้มีโมเมนต์ย้อนรำลึกและฉลองครบรอบให้ทั้ง White Men Can’t Jump (1992) Pulp Fiction (1994) และ The Godfather (1972) ที่จริงฮอลลีวูดก็อาจร่วมเฉลิมฉลองให้ Spirited Away (2001) หรือกระทั่ง Beauty and the Beast (1991) ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่เข้าชิงออสการ์หนังยอดเยี่ยม ได้ในระดับทัดเทียมกัน

ข้อเสนอท้ายบทความของลอร์ดกับมิลเลอร์อาจดูเล็กน้อยจนเหมือนล้อเล่น หากส่งสารได้ชัดเจนอยู่ในที ยิ่งในช่วงเวลาที่ ฤทธี ปาห์น (Rithy Panh) คนทำหนังระดับโลกชาวกัมพูชาที่เล่าเรื่องซีเรียสจริงจังอย่างโศกนาฏกรรมใต้ระบอบเขมรแดงมาทั้งชีวิต กำลังจะเป็นประธานกรรมการตัดสินหนังสั้น TikTok ให้เทศกาลหนังเมืองคานส์ แต่ประเด็นสำคัญที่ทั้งคู่ได้เขียนถึงไว้เช่นกันก็คือการเรียกร้องของคนทำงานด้านแอนิเมชันที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

เพราะแอนิเมชันไม่ได้มีคุณค่าทัดเทียม “หนังจริงๆ” ได้แค่เพราะผลงานกระแสหลักจำนวนมากเป็นหนังฮิตทำเงิน หรือช่วยพัฒนาภาษาหนังและเทคนิควิทยาการด้านภาพยนตร์ แต่ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันทั้งระบบต้องหยุดชะงักเพราะโควิด กองถ่าย “หนังคนแสดง” เดินหน้าต่อไม่ได้ เหล่าแอนิเมเตอร์คือคนกลุ่มแรกที่ต้อง work from home ทันที และมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งระบบในตอนนั้น

ขณะนี้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่กำลังร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อทั้งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers) สมาคมวิชาชีพแอนิเมชัน (The Animation Guild) และสหภาพนักแสดง (SAG-AFTRA) เพื่อให้สตูดิโอจ่ายค่าแรง รับรู้คุณค่า และปฏิบัติต่อคนทำงานด้านแอนิเมชันอย่างเป็นธรรม โดยผู้อ่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ในแฮชแท็ก #NewDeal4Animation ซึ่งคลิปแนะนำผู้เข้าชิงออสการ์ของสามเจ้าหญิงดิสนีย์กำลังถูกเผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อเน้นย้ำและขับเคลื่อนการเรียกร้องครั้งนี้

Hospital Playlist – พระเจ้าผู้มีเลือดเนื้อ เหล่าทวยเทพผู้มีอำนาจเหนือนรกโชซ็อน

หาก Reply 1988 จะเป็นซีรีย์ของครอบครัวชนชั้นกลางล่างที่ย้อนกลับไปเล่าถึงอดีตของตัวเองอย่างงดงาม ซีรีส์โรงพยาบาลนี้กลับชี้ให้เห็นถึงผลผลิตของครอบครัวชนชั้นกลางบน เพราะอย่างน้อย 2 ใน 5 ตัวเอกเป็นทายาทนักธุรกิจชั้นครีมของประเทศ โดยคนหนึ่งเป็นทายาทเจ้าของโรงพยาบาล

อดีตนักเรียนหัวกะทิไม่ว่าจากบ้านนอก หรือเมืองหลวงถูกหล่อหลอมผ่านการเรียนแพทย์อย่างเข้มข้น ชีวิตของพวกเขาถูกเล่าย้อนผ่านชีวิตประจำวันของนักศึกษาแพทย์ที่เข้ามาฝึกงานในโรงพยาบาล การเรียนอย่างหนัก กิจวัตรเข้าเวร การถูกอาจารย์หมอตะคอกด่าอย่างเสียๆ หายๆ ความผิดพลาดของการรักษาจนนำมาซึ่งความตายของคนไข้

โรงพยาบาลยุลเจ (YULJE) อันเป็นชื่อสมมติ น่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่หรูหรา ราคาสูง ค่าใช้จ่ายในการรักษาคงไม่น้อย ใครที่เคยรับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนบ้านเรา แม้จะรักษาอาการเล็กๆ น้อยๆ แต่เห็นบิลก็จุกได้ทุกที การมีโครงการ “คุณพ่อขายาว” ที่เป็นกองทุนที่ตัวเอกตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนไข้ที่ไม่มีปัญญาจะจ่ายเงินจึงสะท้อนได้ดีถึงปัญหาค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาแพงจนทั่วไปไม่สามารถจ่ายไหว จึงจำเป็นต้องมีกองทุนสงเคราะห์นี้ขึ้นมา แต่โครงการนี้ที่เคยโดดเด่นในซีซั่นแรก ก็กลายเป็นเรื่องที่ลืมๆ ไปในซีซั่นถัดมา การเจ็บป่วยจึงเป็นการถูกโจมตีทางการเงินของคนทั่วไป ถ้าใครจำฉากที่แม่ตัวเอกใน Squid Game ได้ จะเห็นว่า การรักษาพยาบาลที่ดีนั้นเป็นอภิสิทธิ์อย่างหนึ่งในเกาหลีใต้

ด้วยโทนโลกสวยของซีรีส์ การแสดงความทุกข์ยากลำบากของพนักงานโรงพยาบาล คนไข้และญาติคนไข้จึงออกมาในรูป feel good รันทดแต่งดงาม แทบทุกคนเป็นคนที่ตั้งใจดี ทำหน้าที่ของตัวเอง ยอมรับโหลดงานที่หนักหนา อดตาหลับขับตานอน ทุ่มเททุกอย่าง 

ตัวเอก 5 คนเป็น “อาจารย์หมอ” ผู้มีสถานะอันสูงส่ง นอกจากจะดูแลนักศึกษา ควบคุมวิทยานิพนธ์ ทำงานวิจัยแล้ว ยังมีฝีมือในการผ่าตัดรักษาโรคยากๆ ตั้งแต่การปลูกถ่ายอวัยวะ ผ่าตัดกำจัดมะเร็ง การดูแลเรื่องการคลอด พวกเขาเริงระบำอยู่ในห้องผ่าตัดด้วยฝีมือเยี่ยงเทพเจ้า

อันจองวอน กุมารแพทย์ผู้ถูกยกย่องให้เป็นพระเจ้า ด้วยความเมตตา ใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส น่าจะเป็นภาพตัวแทนที่ชัดที่สุด และเป็น message ที่ฉายภาพหมอทั้งหลายในเรื่อง 

แต่เทพเจ้าเหล่านี้ เป็นผู้ที่มีชีวิต เลือดเนื้อ มีหัวเราะ ร้องไห้ มีความสุขและเจ็บปวดเป็นของตัวเอง ที่สำคัญ มีอดีตให้จดจำ ซีรีส์นี้ใช้เพลงและการรวมวงเล่นยามว่าง ในอีกด้านมันคล้ายกับพิธีกรรมในโบสถ์ แต่ละเพลงมันคือ บทสวดย้อนอดีตที่ทำให้พวกเขากลับไปสวมตัวตนที่เคยโหยหา นอกจากเพลงย้อนยุคเกาหลีเก่าๆ แล้วที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ It’s My Life 

เพลง It’s My Life (2000) ของวง Bon Jovi ได้พูดถึงตัวละครอย่าง Tommy และ Gina ที่เคยมีตัวตนอยู่ในเพลง Livin’ on a Prayer (1986) ประเด็นนี้มิตรสหายเคยเขียนสเตตัสไว้ชื่อว่า “Bon Jovi อภิมหาคีตกวีเสรีนิยมใหม่” (https://www.facebook.com/athip.apokalypse/posts/3809786602466739 โพสต์เมื่อ 5 กรกฎาคม 2021) ชี้ให้เห็นว่า ทั้งคู่รอดชีวิตมาได้ จากช่วงดังกล่าวที่เสรีนิยมใหม่ครองโลก ขบวนการแรงงานในสหรัฐอเมริกาล่มสลาย (Tommy ทำงานอยู่ท่าเรือ ส่วน Gina เป็นสาวเสิร์ฟ) ทำให้ชนชั้นแรงงานไม่ต้องรวมตัวสู้ทางการเมืองแล้ว แค่เอาชีวิตให้รอด และจับมือไปด้วยกันก็พอ

เพลงนี้จึงแสดงถึงหมอในเรื่องที่ไม่ต้องสนใจเรื่องการรวมตัวต่อสู้ทางการเมือง ไม่ต้องมีสหภาพแรงงานอะไร แต่ก็มีชีวิตที่มีคุณค่า ช่วยเหลือคน มีคนรักและมีความสุขได้เช่นกัน

ทั้งที่ถ้าใครตามข่าวแรงงานจะเห็นว่าขบวนการแรงงานในเกาหลีใต้ มีบทบาทสำคัญในหลายปีที่ผ่านมา เช่นปี 2561 สหภาพแรงงานเกาหลีใต้เผยผลสำรวจว่า ครึ่งหนึ่งของคนทำงานในโรงพยาบาลมีประสบการณ์ถูกทำร้ายทางวาจา กว่า 3 ใน 10 ถูกรังแกในที่ทำงาน กว่า 1 ใน 10 เคยถูกคุกคามทางเพศและลวนลาม (https://prachatai.com/journal/2018/04/76320) และเร็วๆนี้ สหภาพแรงงานคนทำงานด้านสุขภาพ เกาหลีใต้ได้ต่อสู้เพื่อสภาพการจ้างงานที่เหมาะสม (https://www.reuters.com/world/asia-pacific/south-korea-eleventh-hour-talks-head-off-strike-by-health-workers-2021-09-01/) มิติดังกล่าวถูกลบหายไปจากซีรีย์ เมื่อเทียบกับ Squid Game อย่างน้อยก็มีภาพความพ่ายแพ้ของตัวเอกในฐานะชนชั้นแรงงานผู้พยายามต่อสู้เมื่อครั้งยังทำงานอยู่

เทพเจ้าเหล่านี้ บางคนผ่านชีวิตคู่ที่ล้มเหลว หรือความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น ไม่สมบูรณ์ เส้นเรื่องหลักจึงไต่อยู่กับแกนของความสัมพันธ์หญิงชาย ที่ค่อยๆ เผยออกมาทั้งในฐานะเพื่อน ผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน อย่างไรก็ตามในตอนท้าย ทุกคนจะลงเอยกับความรักตามฉบับในของตัวเองในที่สุด

นรกโชซ็อน (Hell Joseon) เป็นคำที่ถูกใช้เรียก สังคมเกาหลีใต้อันไม่น่าอยู่ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเเข่งขัน ความเครียด เเละความกดดันตั้งเเต่เกิดจนตายภายใต้อำนาจของทุนนิยม บรรษัทแชโบล สำหรับคนรุ่นใหม่เขาต้องแข่งขันกันเรียน เพื่อเข้าสถาบันการศึกษาดีๆ เพื่อเข้าบริษัทพรีเมียม (https://thematter.co/social/hell-joseon/154276)

ในนรกโชซ็อนที่ทุกข์ทรมาน นอกจากผู้มั่งมี หรือผู้สามารถย้ายประเทศได้จนหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานเหล่านี้ ก็มีเหล่าทวยเทพที่อาจไม่รู้สึกว่า ประเทศที่พวกเขาอยู่จะเป็นนรก แต่หากเรามองตัวละครบางตัว อาจทำให้เห็นร่องรอยของนรกดังกล่าวได้บ้าง

หมอโดแจฮัก ผู้ล้มลุกคลุกคลานใช้เวลาหลายปีกว่าจะสอบคณะแพทยศาสตร์ได้ เขายังเป็นลูกไล่เทพเจ้าองค์หนึ่ง เปิดเรื่องมาให้แจฮักเป็นหมออ่อนไหวผู้น่ารำคาญ เขาเพียรเก็บเงินมาหลายปี เพื่อจะถูกคนโกงเงินค่าเช่าบ้านรายปี จะเห็นว่า เคสของแจฮักสะท้อนปัญหาการเข้าถึงที่อยู่อาศัยดีๆ ในเมืองหลวงที่ค่าครองชีพโหดร้าย ไม่เพียงเท่านั้นในซีซั่น 2 ยังเป็นเหยื่อของคนเขียนบทที่ลิขิตให้เขาที่มีลูกยาก เผชิญชะตากรรมกับเมียที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์ ชีวิตของแจฮัก ควรเรียกว่าอยู่ในนรก

ส่วน พยาบาล แม้จะมีตอนหนึ่งที่พยายามสดุดีหน้าที่ของพวกเธอ แต่เราแทบไม่รู้จักเรื่องของพวกเธอเลย ในเมื่อชีวิตหมอกับพยาบาลแทบจะแยกขาดกันไปคนละ layer ชีวิต ในชีวิตจริง สหภาพแรงงานพยาบาลเกาหลีใต้นั้นเข้มแข็งมาก มีกรณีที่ใหญ่โตคือ การประท้วงของสหภาพต่อกรณีที่มิวสิควิดีโอของ Blackpink มีการแต่งชุดพยาบาลที่แสดงออกมาในลักษณะเหมารวมว่าพยาบาลเป็นเพียงวัตถุทางเพศ (https://www.korseries.com/yg-responds-to-concerns-about-portrayal-of-nurse-in-blackpink-s-lovesick-girls-mv/)

เทพเจ้าและบุคลากรโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะมีลักษณะพิมพ์นิยม คือ ตี๋ หมวย ขาวอมชมพู ขณะที่ คนป่วยถูกถ่ายทอดในภาพของคนไร้สง่าราศีตัวเหลือง หรือผิวคล้ำ อันเป็นลักษณะที่พ้องกับชนชั้นแรงงานที่ทำงานอยู่กลางแดด สมกับที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในนรกโชซ็อนแบบที่หลายคนมองอยู่นั่นเอง

โรงพยาบาลยุลเจ จึงเป็นภาพตัวแทนของสวรรค์ที่ลอยอยู่เหนือนรกโจซอน ที่เหล่าทวยเทพใช้ชีวิตอย่างมีสีสัน พวกเขายังมีทุกข์ มีสุข ในด้านหนึงมันก็ช่วยปลอบประโลมผู้คนในยุคที่โรคระบาดได้ทำลายชีวิต สุขภาพ และสังคมของโลกนี้ไปอย่างสิ้นเชิง


ดู Hospital Playlist ได้ที่ Netflix

กรณีศึกษาจาก Summer of Soul และ Drive My Car: เมื่อหนังเล็กไปถึงออสการ์ด้วย “แผนกสตรีมมิ่ง” ของสตูดิโอใหญ่

ท่ามกลางเสียงอื้ออึงที่มาพร้อมมวลแห่งความสิ้นหวังว่า “ฮอลลีวูดตายแล้ว” หลังคืนประกาศผลรางวัลออสการ์ ทั้งด้วยความพยายามอันน่าสังเวชที่จะกอบกู้เรตติ้งการถ่ายทอดสดผ่านทีวี (ซึ่งล้มเหลวไม่เป็นท่า) และการหายสาบสูญไปจากบทสนทนาของหนังที่เป็นเสมือนภาพแทนความยิ่งใหญ่ของฮอลลีวูดอย่าง West Side Story (ซึ่งแต่ก่อนย่อมถูกพูดถึงมากกว่าแค่นักแสดงสมทบหญิง) แต่เลยพ้นไปจากฉาก “วิลล์ สมิธ” ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของอีโก้แบบฮอลลีวูดที่กดปุ่มทำลายตัวเอง กับเสียงที่อื้ออึงมาตั้งแต่ก่อนโลกนี้มีโควิดและสตรีมมิ่งยังเพิ่งเริ่มแผลงฤทธิ์ว่า “ภาพยนตร์กำลังจะตาย” กลับดูเหมือนว่ามีประกายความหวังกำลังส่องแสงรำไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จบนเวทีของ Summer of Soul (ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม) และ Drive My Car (ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม)

เพราะคู่ขนานไปกับความสำเร็จที่สะท้อนเป็นตัวเลขทางธุรกิจของ Apple TV Plus หลังทุ่มสรรพกำลังผลักดัน CODA ไปถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, การฟุบตัวของธุรกิจโรงหนังที่เปิดช่องให้ดีลหรือโมเดลใหม่ๆ ในโลกของการจัดจำหน่ายขายสิทธิ์หนัง และความต่อเนื่องของ Netflix ที่ยังเป็นบ้านให้หลายโปรเจกต์ใหญ่ลงทุนสูงของเหล่าคนทำหนังออเตอร์ ซึ่งสะท้อนในทางหนึ่งว่าหนังเหล่านี้ยังมีคนดู (แม้หลายคนจะแซะว่า Netflix แค่อยาก “ประดับยศ”) ประกายความหวังดังกล่าวกำลังสะท้อนถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจภาพยนตร์ที่จะสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างคนดูหนังยุคใหม่ หนังอาร์ตเฮาส์ สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม และสตูดิโอยักษ์ใหญ่

ชื่อที่มีบทบาทสำคัญในกรณีของ Summer of Soul คือ Onyx Collective หนึ่งในแผนกสตรีมมิ่งใต้ร่มของอาณาจักรดิสนีย์ที่ดูแลการจัดหาคอนเทนต์เพื่อป้อนแพลตฟอร์ม Hulu เป็นหลัก พร้อมจุดขายชัดเจนว่าแผนกนี้เกิดขึ้นเพื่อขับเน้นผลงานของครีเอเตอร์ผิวสี (people of color) และเสียงที่เคยถูกมองข้าม (underrepresented voice) โดยเฉพาะ

ถึงทีมผู้บริหารผิวสีซึ่งนำโดย ทาร่า ดันแคน (Tara Duncan) อดีตที่ปรึกษาของ Hulu ที่ปัจจุบันดูแลช่องเคเบิล Freeform ของดิสนีย์อยู่ด้วย จะบอกว่าโฟกัสหลักของ Onyx คืองานด้านโทรทัศน์ แต่ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในมือของดิสนีย์ ทำให้การผลักดันผลงานที่ถือสิทธิ์ให้เข้าสู่เส้นทางเทศกาลภาพยนตร์กับช่วงแคมเปญรางวัลมีความเป็นไปได้สูงขึ้น และเส้นทางของ Summer of Soul นับตั้งแต่เปิดตัวที่ซันแดนซ์เมื่อต้นปี 2020 (หรืออาจนับตั้งแต่ก่อนหน้านั้น เมื่อทีมผู้บริหารของ Onyx เล็งหนังไว้ตั้งแต่ยังใช้ชื่อเก่าว่า Black Woodstock) จนถึงรางวัลออสการ์ คือหนึ่งในบทพิสูจน์ของการบริหารศักยภาพและทรัพยากรจากมุมต่างๆ ของดิสนีย์ที่ประสบความสำเร็จ

Onyx ไม่เพียงกำลังเติบโตทางธุรกิจอย่างรวดเร็วจนผู้บริหารใหญ่ของดิสนีย์ต้องให้ความสำคัญ แต่ขณะนี้ได้กลายเป็นโมเดลที่แผนกอื่นๆ ในดิสนีย์เองก็เห็นเป็นหมุดหมาย (กลุ่มพนักงาน LGBTQ ของดิสนีย์ที่รวมตัวเรียกร้องครั้งใหญ่เมื่อช่วงเดือนมีนาคม เขียนในจดหมายเปิดผนึกถึงซีอีโอดิสนีย์ว่า Onyx คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสตูดิโอจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนเสียงของคนชายขอบอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร) และยังรับหน้าที่ดูแลทุกโปรเจกต์ “นอกจักรวาลมาร์เวล” ของบรรดาผู้กำกับมาร์เวล เช่น ไรอัน คูเกลอร์ (Ryan Coogler) กับ เดสติน แดเนียล เครตตัน (Destin Daniel Cretton) (ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นเสมือน “กันชน” หรือพื้นที่ให้ผลงานสร้างสรรค์ของคนทำหนัง ไม่ให้พวกเขาต้องจมอยู่กับผลงานบล็อกบัสเตอร์ที่ถูกโปรดิวเซอร์ควบคุมความคิดสร้างสรรค์เข้มงวดเพียงทางเดียว)

เครดิตหลักของความสำเร็จเกินคาดในกรณี Drive My Car (ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับ Summer of Soul ที่เรียกความสนใจคับคั่งในซันแดนซ์ เพราะตัวหนังทำให้เหล่าผู้จัดจำหน่ายที่ไปคานส์รู้สึกว่า “ขายยาก”) ย่อมตกเป็นของโมเดลความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่าง Janus Films กับ Sideshow (ซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่เพื่อผลักดัน Drive My Car ในอเมริกาโดยเฉพาะ) แต่อีกชื่อหนึ่งที่มีส่วนช่วยพลิกเกมให้หนังญี่ปุ่นความยาวสามชั่วโมงขายยากเรื่องนี้เข้าชิงทั้งหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยมออสการ์คือ WarnerMedia OneFifty –ชื่อที่แม้แต่คนในวงการหนังยังถามๆ กันเองว่ามันคืออะไร– ที่ปิดดีลให้หนังได้เข้าไปสตรีมในแพลตฟอร์ม HBO Max

อักเซล กาบาเยโร (Axel Caballero) หัวเรือใหญ่ของแผนก ซึ่งเคยเป็นประธานสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างอิสระเชื้อสายละตินอเมริกันแห่งชาติ บอกว่า Drive My Car คือผลลัพธ์ของการมองหาหนังที่จะเติมช่องว่างให้ผู้ชม HBO Max ที่ต้องการความแปลกใหม่ และช่วยสะท้อนตัวตนของ WarnerMedia OneFifty ให้เด่นชัดว่าพวกเขาต้องการมีส่วนช่วย “ปลุกปั้น” โปรเจกต์แบบไหน

Drive My Car ถือเป็นการลงทุนอีกด้านเพื่อสร้างแบรนด์ เพราะวัตถุประสงค์หลักของ OneFifty ไม่ใช่แค่การดีลสิทธิ์เพื่อจัดจำหน่ายลงแพลตฟอร์ม แต่คือการค้นหาผลงานที่น่าสนใจและหลากหลายเพื่อดึงดูดศิลปินเจ้าของผลงานเหล่านั้นมาร่วมงานด้วย ซึ่งทำให้ที่นี่ถือสิทธิ์เผยแพร่หนังสั้นไว้จำนวนมาก (รวมถึง The Dress และ Please Hold สองผู้เข้าชิงออสการ์หนังสั้นยอดเยี่ยมปีล่าสุด) – กาบาเยโรบอกว่ากว่า 90% ของโปรเจกต์ที่พวกเขาถือสิทธิ์ ศิลปินเจ้าของงานจะได้รับทุนเพื่อเริ่มโปรเจกต์ใหม่กับทาง WarnerMedia ซึ่งมีส่วนช่วยให้คนทำหนังหน้าใหม่จำนวนมากได้เปิดกล้องหนังยาวเรื่องแรกของตัวเอง และ OneFifty ยังลงทุนในองค์กรศิลปะกว่า 300 แห่งและเป็นสปอนเซอร์ให้อีก 50 เทศกาลหนัง

นอกจากการอยู่ในอาณาจักรของ Warner ศักยภาพและทรัพยากรที่ OneFifty มีอยู่ คือผลของสายสัมพันธ์กับกลุ่มก้อนองค์กรอื่นในวงการภาพยนตร์ ตั้งแต่สตูดิโอใหญ่ แพลตฟอร์ม ทีวี ไปจนถึงอาร์ตเฮาส์อย่าง Criterion และมองหาคอนเนคชั่นกับศิลปินในภูมิภาคอื่นเช่นยุโรปกับละตินอเมริกา กาบาเยโรยืนยันว่ามีกลุ่มคนดูที่ต้องการมากกว่าแค่หนังฟอร์มยักษ์ขายความบันเทิง และเขาต้องการให้ OneFifty เป็นแหล่งพักพิงให้ผู้ผลิตคอนเทนต์หรือคนทำหนังที่ท้าทาย ในฐานะสตูดิโอที่อยู่ใต้ร่มของ WarnerMedia

กล่าวโดยสรุป Onyx และ OneFifty ทำหน้าที่คล้าย “แผนกพิเศษ” (specialty division) ซึ่งรับหน้าที่ดูแลผลงานที่หลากหลายท้าทาย คล้ายกับบรรดารายชื่อที่วงการภาพยนตร์เคยคุ้นในอดีตทั้ง Picturehouse, Warner Independent, Paramount Vantage (ปิดตัวไปแล้ว) Searchlight, Sony Pictures Classics หรือ Focus Features (ยังอยู่) แต่ด้วยโมเดลการบริหารในสภาพแวดล้อมของยุคปัจจุบัน ทั้งคู่จึงทำหน้าที่เป็น “ส่วนต่อขยาย” (extension) ของแผนกดังกล่าวอีกต่อหนึ่ง เพื่อมุ่งเป้าไปตลาดสตรีมมิ่งเป็นหลัก

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้อาจยังฟังดูเหมือนเป็นภาพอุดมคติ (Pixar ที่อยู่ใต้ร่มดิสนีย์เพิ่งเปิดเผยว่าถูกกีดกันเนื้อหา ในขณะที่ WarnerMedia กำลังจะควบรวมกิจการกับ Discovery เป็น Warner Bros. Discovery และการเปลี่ยนทิศยุบแผนกของสตูดิโอซึ่งเป็นบรรษัทนายทุนก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ) แต่ความสำเร็จของทั้ง Onyx และ OneFifty ในช่วงเวลานี้ ได้ช่วยสะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ของโลกภาพยนตร์ ในจังหวะเวลาที่หนังอาร์ตเฮาส์ หนังรางวัล หรือหนังที่มีความท้าทายทางศิลปะภาพยนตร์ สามารถเดินทางไปถึงผู้ชมได้กว้างขวางขึ้นกว่าในอดีต โดยที่สตูดิโอยักษ์ใหญ่กับสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเป็นมิตรผู้สนับสนุนที่ยั่งยืนได้ ไม่ใช่คู่ตรงข้ามตลอดกาล

ฝันของคนทำ “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” : รู้จัก a.e.y.space กับภารกิจพาหนังหลากหลายสู่สายตาคนสงขลา

“ปกติเป็นคนรักการดูหนังอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ ดูมันทุกประเภท โตมาพอต้องกลับมาอยู่สงขลา มันก็ไม่มีทางเลือกการดูหนังบนจอใหญ่เท่าไหร่ อยากให้คนได้ดูหนังที่หลากหลาย ไม่โดนจำกัดโดยสายหนัง”

เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้ก่อตั้ง a.e.y.space อีกหนึ่งใน “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” ในจังหวัดสงขลา เล่าให้เราฟังถึงความรักที่มีต่อหนัง ความฝันอยากเป็นเจ้าของโรงหนัง จนมาถึงการเริ่มฉายหนังครั้งแรกในสเปซของเขาเมื่อปี 2015 และยังกลายมาเป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของผู้ชมหลังฉายหนังจบอีกด้วย

มาทำความรู้จัก a.e.y.space กัน

“a.e.y.space ก่อตั้งเมื่อปี 2012 เกิดจากการไปซื้อบ้านเก่าโบราณบนถนนนางงาม ใจกลางย่านเมืองเก่าสงขลา แล้วลองทำเป็น art space เพื่อชวนพี่ๆ เพื่อนๆ หลากหลายแขนงมาแสดงงานศิลปะกัน ในยุคนั้นถือว่ายังใหม่มากสำหรับการทำอะไรแบบนี้

ด้วยความที่โลเคชันอยู่บนถนนเส้นที่ค่อนข้างจะคึกคักด้วยผู้คนและยังคงมีวิถีชีวิตดั้งเดิมของสงขลาอยู่ตลอดทั้งสาย ทำให้เวลาจัดงานแสดง จึงได้รับความสนใจจากคนในท้องถิ่น มีการค้นคว้าข้อมูลที่น่าสนใจในชุมชนเอามาทำเป็นนิทรรศการในหลายครั้ง เช่น พวกภาพถ่ายเก่าในชุมชนที่ไปขอมาจากบ้านคน เพื่อให้พวกเขาออกมาเล่าเรื่องราวของตัวเอง หรือแม้กระทั่ง Portrait of Songkhla ที่ได้บันทึกภาพถ่ายครอบครัวและเรื่องราวย่านเมืองเก่าได้แบบเจาะลึก นอกเหนือจากนั้นเราก็มีการฉายหนังสั้น หนังทดลอง หลายครั้งหลายคราวในช่วงเวลา 10 ปีที่เปิดมา”

“ปกติเป็นคนรักการดูหนังอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ ดูมันทุกประเภท โตมาพอต้องกลับมาอยู่สงขลา มันก็ไม่มีทางเลือกการดูหนังบนจอใหญ่เท่าไหร่ จนมาวันหนึ่งได้เจอกับต้น จากเพจเรื่องนี้ฉายเถอะคนหาดใหญ่อยากดู เพราะได้ตามไปดูหนังที่ต้นนำมาฉายตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองหาดใหญ่ วันนึงจึงมีโอกาสคุยกับโก้ dot ที่ย้ายร้านมาอยู่สงขลา ว่าน่าจะร่วมจัดฉายหนังกันที่ a.e.y.space ได้ เพราะเตรียมพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว ทางต้นก็ได้ช่วยจัดโปรแกรมพร้อมๆ ไปกับหาดใหญ่ให้ ถือเป็น community การฉายหนัง 2 ที่ในจังหวัดเดียวกันที่แรกๆ เลย”

“ตัวผมเองก็ฝันมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากมีโรงหนังของตัวเอง จากหนังที่ประทับใจที่สุดเรื่อง Cinema Paradiso พอได้มาทำอะไรแบบนี้ก็ยิ่งคิดอยากทำให้มันดี อยากให้คนได้ดูหนังที่หลากหลาย ไม่โดนจำกัดโดยสายหนัง ยิ่งมีการพูดคุยเสวนาหลังการฉาย มันเป็นสิ่งที่เติมเต็มการดูหนังมากๆ เพราะบางทีดูเองคนเดียวก็มีความค้างคา ในหลายประเด็นของหนัง จึงอยากจะแชร์และพูดคุย ซึ่งที่นี่เราก็ทำมาตลอดตั้งแต่ Day 1 ที่ทำมา”

“2015 คือครั้งแรกที่เราฉายหนังสั้น โปรเจกเตอร์ก็ไม่มี ใช้วิธียืมจากมหาวิทยาลัยที่พอจะรู้จักอาจารย์ในนั้น เอามาลองใช้ในการจัด หลังจากนั้นไฟในการทำก็มา เลยตัดสินใจซื้อโปรเจกเตอร์ แขวนบนเพดาน จัดพื้นที่ที่เหมาะสม หาเครื่องเสียงทำเป็นระบบการฉายที่เหมาะสมกับการชม โดยใช้พื้นที่ด้านหลังของ art space ที่เป็นห้องที่สามารถดัดแปลงทำกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย”

“อยากจะเล่าว่า ผู้ชมที่สงขลามีความหลากหลายทั้งวัย และอาชีพ อายุสูงสุดที่มาชมประจำ น่าจะเป็นอาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ นักแปลอิสระ และอีกหลายๆ ท่านในวัยปลาย 60 ที่สามารถมานั่งเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับรุ่นลูกรุ่นหลาน ทั้งเรื่องของหนังและประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการชม หลายๆ ครั้งที่เราสนทนากันยาวกว่าหนังอีก บางทีก้าวข้ามไปถึงเรื่องอื่นๆ รอบตัวทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งผมถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ในชุมชนจะได้มีสถานที่ที่เป็นมากกว่าโรงหนังอิสระ แต่เป็นพื้นที่กลางที่ทุกๆ คนสามารถมาพูดคุย แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ ถือเป็นกิจกรรมบำบัดจิตใจ และเปิดโลกได้ในเวลาเดียวกัน”

“เอาจริงๆ ผมได้รู้จักคนใหม่ๆ เยอะขึ้นมากๆ จากการทำสเปซแบบนี้ โลกมันกว้างขึ้นจากการดูหนังและการได้พบเจอผู้คน ในแง่ของธุรกิจบอกได้เลยว่า มันไม่ง่าย หลายๆ คนก็เปิดเป็นคาเฟ่หรือร้านอาหารไปด้วยกันเพื่อทำให้มันมีรายได้ประคองให้โรงหนังมันอยู่ได้ แต่สำหรับ a.e.y.space และโรงหนังอิสระอื่นๆ ผมมั่นใจว่าทุกคน ไม่ได้มุ่งหวังกำไรจากการฉาย แค่อยากให้หนังมันได้ออกไปสู่ผู้ชมในพื้นที่จังหวัดตัวเองอย่างที่ตั้งใจ สำหรับคนที่อยากทำในจังหวัดตัวเอง ข้อแนะนำเดียวคือหาเงินจากการทำงานปกติ แล้วแบ่งเงินออกมาทำกิจกรรมเหล่านี้ (หัวเราะ) แบบนั้นยั่งยืนสุด”

“แวดวงศิลปะในประเทศไทย ในมุมมองของผม เอาแค่ในจังหวัดสงขลาเอง ผมว่ายังแคบอยู่มาก ราชการเองไม่ได้มองว่าภาพยนตร์เป็นแขนงหนึ่งของศิลปะที่ควรจะสนับสนุนหรือผลักดันให้มีการได้รับชมเหมือนศิลปะในแขนงอื่นๆ เวลาเห็นการจัดงานต่างๆ ในเมือง ดูมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป คิดว่าเมื่อเขาไม่สนับสนุน พวกเราก็ต้องดิ้นรน และผลักดันกันเอง ผมเชื่อในพลังคนรุ่นใหม่ตามเมืองต่างๆ คิดดูสิ ถ้าทุกที่มีโรงหนังอิสระ ที่จะกลายเป็นเครือข่ายที่แข็งแรง สามารถต่อยอดไปทำกิจกรรมทางศิลปะอื่นๆ ได้อีกมากมาย”


ติดตามพวกเขาได้ที่ a.e.y.space

“ราวกับเสียงยังคงก้องอยู่ในแกนกลางของโลก” เสียงในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

หากว่ากันตามจริง เสียงในภาพยนตร์สักหนึ่งเรื่อง อาจถูกไม่ได้ให้ความสนใจต่อคนดูเทียบเท่ากับความตื่นตาของภาพที่ฉายขึ้นบนจอ เสียงอาจเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบที่ส่งเสริมความน่าตื่นเต้นของภาพ ความฉูดฉาดล่อตาล่อใจ หรือแสงสีสันอันสวยงามของภาพมักจะดึงดูดให้เราเข้าไปอยู่ในมิติของหนัง แต่กลับกลายเป็นว่าหนังของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ทำให้ผู้ชมต่างแบ่งความสนใจไปที่เสียงของหนังเรื่องนั้นๆ มากขึ้น จากภาพและเสียงที่เกื้อหนุนต่อกัน ก่อนที่ Memoria จะปรากฎตัวขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจของเสียง ผู้ที่ได้รับชมหรือผู้ที่เห็นแม้แต่เพียงแค่ตัวอย่าง ก็ถึงกับสนใจถึงเรื่องเสียงของหนัง การดีไซน์เสียง “ปัง” ของหนัง เสียงกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ดึงดูดคนให้เข้าไปรับชมเป็นประสบการณ์ทางภาพยนตร์โดยทันที ในช่วงที่บทความนี้ออก หนังนั้นเริ่มฉายไประยะหนึ่งแล้ว แต่อย่างน้อยบทความนี้อาจพาไปทำความเข้าใจความสำคัญของเสียง และองค์ประกอบของเสียงที่มีในหนังของ “พี่เจ้ย” ในเรื่องก่อนหน้านี้ได้มากขึ้น

Metaphors: Selected Soundworks from the cinema of Apichatpong Weerasethakul

เมื่อเปิดฟังอัลบั้ม Metaphors: Selected Soundworks from the cinema of Apichatpong Weerasethakul จะมีเสียงที่เป็น ambient ที่ไม่ใช่เพลงแนวใดก็ตามอยู่เต็มๆ ถึง 2 แทร็ก ซึ่งก็คือ Dawn of Boonmee ที่อยู่ในเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ และ Roar ที่อยู่ในเรื่องสัตว์ประหลาด! ศิลปินที่ถือเครดิตในการสร้างแทร็กทั้งสองนี้ชื่อ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร ผู้ที่เราเคยเห็นในฐานะของนักออกแบบเสียงคู่บุญคนหนึ่งของอภิชาติพงศ์ แต่ละแทร็คที่มีความยาวประมาณ 8 นาที นั้นเป็นเพียงแค่การอัดเสียงบรรยากาศประกอบการวางดีไซน์เสียงเข้าไป อาจจะเป็นการให้เราฟังแล้วนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องน้้นๆ เป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญกับเสียงบรรยากาศเหมือนเป็นเสียงซาวด์แทร็กประกอบ ซึ่งเท่าที่เห็นในอัลบั้มซาวด์แทร็กนั้นมีน้อยมากที่จะมีการนำเสียง ambient ล้วนๆ เข้ามาอยู่ในอัลบั้มให้ฟังอย่างจริงจัง โดยที่ไม่มีเสียงเพลงอื่นมาคลอ ปูทับ หรือผสมลงไปด้วย ทำไมเสียง ambient นั้นจึงมีความสำคัญต่อหนังอภิชาติพงศ์ขนาดนั้น แทนที่เสียงเหล่านั้นจะมีหน้าที่แค่เติมมิติบรรยากาศเข้าไปให้เหมือนสถานที่จริงมากขึ้นแค่นั้นเอง

ส่วนใหญ่แล้วหนังของอภิชาติพงศ์จะเต็มไปด้วยเสียงบรรยากาศของหนัง ไม่มีเสียงเพลงของหนังมากเท่าที่จำเป็น หรืออาจจะมีเพียงแค่สกอร์ของหนังที่คลอเคลียไปกับหนังมากกว่าจะโดดเด่นขึ้นมาจนแย่งความสนใจของเสียงอื่นๆ ที่มีอยู่ในหนังไปเสียหมด กล่าวว่าถ้าในเฟรมภาพเราเห็นสิ่งใด เราก็จะต้องได้ยินเสียงนั้นๆ แต่ว่าเสียงบรรยากาศในหนังของอภิชาติพงศ์จะถูกเร่งขึ้นมาเป็นพิเศษ บางทีอาจกลืนเสียงเพลง กลืนบทสนทนา จนทำให้เราฟังไม่ได้ศัพท์ หรือฟังไม่ชัด ไม่ใช่ว่าหนังไม่ได้ทำการมิกซ์เสียงอย่างไม่ดี แต่มันคือการจงใจกลบฝัง เพราะบทสนทนาต่อหน้าอาจมีความสำคัญต่อคู่สนทนาที่อยู่ในเฟรมเท่านั้น เราในฐานะผู้สังเกตการณ์จึงมีอภิสิทธิ์เพียงแค่การรับฟังอยู่ห่างๆ เมื่อเฟรมภาพอยู่ใกล้เราอาจจะได้ยินเสียงบทสนทนาชัดขึ้น แต่ถ้าเป็นเฟรมภาพขนาดกว้าง เราอาจจะได้ยินเสียงบทสนทนาน้อยลง หนังค่อยๆ ทอนความสำคัญของเสียงพูดลงไป ผู้ชมจะต้องจับจดในการฟังและค่อยๆ ถอดความของมันออกมา เสียงบรรยากาศต่างๆ คอยรบกวนผู้ชมอยู่เสมอ คล้ายกับว่าเราอยู่ในนั้น ในป่าแห่งนั้น ในเมืองแห่งนั้น อยู่อย่างใกล้ชิด แม้จะไม่ได้เห็นภาพของจิ้งหรีด แมลง สิงสาราสัตว์ หรือโรงงานอยู่ในเฟรมภาพก็ตาม

ฟังก์ชั่นของเสียง ambient หรือเสียงธรรมชาติในหนังของอภิชาติพงศ์นั้นจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เสียงที่เพิ่มมิติของเฟรมภาพให้สมบูรณ์ แต่มันกลับมีพลังมากกว่านั้น ในบทความทางภาพยนตร์ของ Phillippa Lovatt เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่างานทางด้านเสียงในหนังของอภิชาติพงศ์นั้นสามารถดึงเอาความรู้สึกในการจำนั้นกลับมา โดยปกติแล้วเราจะคุ้นชินกับการใช้ภาพดึงความทรงจำเรากลับไปยังสิ่งที่เราเคยผ่านมา เช่น รูปถ่าย หรือภาพย้อนอดีตในหนังเรื่องต่างๆ ที่เวลาเราเห็นเราจะนึกออกทันทีว่า นี่คือภาพที่อยู่ในสมัยต่างๆ ในช่วงที่เรายังเป็นเด็ก หรือก่อนที่เราจะเกิด ภาพนั้นจะกระตุ้นความทรงจำที่เราได้ประสบมาหรือพบผ่านเห็นตามที่ตางๆ ถึงแม้เราจะไม่ใช่ผู้สัมผัสประสบการณ์โดยตรงเอง เหมือนที่เราได้ยินเสียงจิงเกิ้ลตามรถขายไอศกรีมแล้วเราจะนึกถึงช่วงวัยเด็กที่เราเคยซื้อมัน และเราจะไม่ได้นึกถึงวัยปัจจุบันสักเท่าไหร่ อย่างที่เคยได้ยินผลการทดลองกันว่า เสียงเพลงช่วยดึงความทรงจำของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้กลับมาจดจำเรื่องราวบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเสียงเพลงนั้นๆ เมื่อเทียบกันแล้วเสียงในหนังของอภิชาติพงศ์สามารถดึงเอาความรู้สึกต่างๆ ที่เคยรู้สึกแต่ก่อนหน้านั้นกลับมาได้

อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร

ผู้ที่มีส่วนร่วมในการออกแบบเสียงในหนังของอภิชาติพงศ์นั้นมีอยู่สองคนด้วยกัน หนึ่งคืออัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร นักออกแบบเสียงให้กับหนังหลายเรื่องในประเทศไทย สองคือโคอิชิ ชิมิซึ (Koichi Shimizu) ศิลปินผู้ทำเพลงแนวทดลองแนวหน้าของประเทศไทย ผู้ก่อตั้งค่าย SO:ON Dry Flower สามคือ Richard Hocks ผู้ที่มิกซ์เสียงในหนังของอภิชาติพงศ์ตั้งแต่เรื่องลุงบุญมีระลึกชาติเป็นต้นมา อัคริคเฉลิมได้ผสมผสานเสียงระหว่างภาพบนจอ สกอร์เพลงแบบอิเลคทรอนิคส์ และเสียงบรรยากาศที่อัดอยู่ในบริเวณนั้น และเร่งเสียงบรรยากาศนั้นให้ดังขึ้นกว่าเดิม ทำให้ประสาทสัมผัสในการรับเสียงนั้นมีความคลุมเครือมากขึ้น เกิดการหลอมรวมเข้าระหว่างผู้ชมกับเสียงธรรมชาติที่ได้ยินตามทั่วไป ถ่ายทอดเสียงเหล่านั้นให้กลายเป็นประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ดูดเราเข้าไปกับบรรยากาศของหนังอย่างชัดเจน ดังนั้นจงอย่าแปลกใจเมื่อเราจะรู้สึกง่วงนอนกับหนังของเขา

Mobile Men

ประสบการณ์ที่ทำให้คนที่ดูนั้นรู้สึกใกล้ชิด หรือเป็นหนึ่งเดียวกับหนังมากขึ้น มีการยกตัวอย่างให้เห็นในหนังสั้นของอภิชาติพงศ์เรื่อง Mobile Men ในปี 2008 ที่เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ “Art for the World: Stories on Human Rights” เกี่ยวกับการจับช่วงเวลาหนึ่งของแรงงานเด็กหนุ่มจากพม่าและไทย ทั้งสองคนได้นั่งอยู่บนหลังรถกระบะ หนังสั้นเพียงแค่ประมาณสามนาทีได้แสดงถึงความเยาว์วัย และมีชีวิตชีวาของคนทั้งสอง เหมือนกับเป็นพื้นที่ที่ได้ปลดปล่อยความเป็นอิสระของทั้งสองคน งานภาพนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนกล้องกันระหว่างทีมงาน และซับเจกต์ทั้งสองคน คนหนึ่งนั้นไม่ได้พูดอะไรแต่ถอดเสื้อเบ่งกล้ามแสดงความมั่นใจออกมา ส่วนอีกคนนั้นโชว์รอยสักตามร่างกายของตัวเองพร้อมบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองได้ไปสักโชว์สาวมา และกรีดร้องบอกความเจ็บปวดของตอนสักออกมาในตอนท้าย แต่เสียงพูดนั้นเราอาจได้ยินไม่ชัดเจน เนื่องจากตัวไมโครโฟนนั้นตีกับลมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ได้ยินแต่เสียงลมแรงที่เหมือนเวลาเรานั่งหลังรถกระบะจริงๆ และนั่นเป็นการสร้างบรรยากาศของความหวีดหวิว รุนแรง และเสียงของพวกเขานั้นถูกกลืนหายไปกับลมจริงๆ และนั่นอาจเป็นช่วงเวลาไม่กี่ครั้งที่เราอาจจะได้นั่งคุยกับเขาอย่างจริงจัง

สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่อง Mobile Men คือการเกิดขึ้นของ haptic sound แปลได้หยาบๆ คือ เสียงที่มีการจับต้องได้ มันอาจเป็นเสียงที่ฟังแล้วเรารู้สึกถึงพื้นผิวของมัน เช่น เสียงของการสั่น ซึ่งเป็นเสียงที่ทำให้เรารู้สึกถึงความใกล้ชิดกับตัวเสียงจนรู้สึกอะไรบางอย่าง อธิบายเสียงที่เกิดขึ้นที่เราจะรู้สึกใกล้ชิดกับมันมากคือเสียงแบบ ASMR ที่เหมือนมีคนกำลังกระทำอะไรสักอย่างใกล้ๆ หูของเรา หรือเหมือนกับเวลาที่เราไปยืนใกล้ลำโพงมากๆ เสียงเบสที่เราได้ยินนั้นมันอาจจะรุนแรงจนทำให้ร่างกายเราสั่น เหมือนจะกระแทกข้างในร่างกายให้หลุดออกมาข้างนอก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้คนที่ดูหนังเหมือนหลุดเข้าไปในบรรยากาศของหนังมากขึ้น

สุดเสน่หา

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในการใช้เพลงป๊อบของอภิชาติพงศ์คือการเป็นเครื่องมือในการ “เชื่อมฉาก” เพื่อนำไปสู่ส่วนที่สองของหนัง เป็นสัญญาณในการเตรียมพร้อมก่อนที่หนังจะเปลี่ยนเซ็ตติ้งและเรื่องเล่าไปสู่อีกจุดหนึ่ง อย่างในเรื่องสุดเสน่หาที่ใช้เพลงหวานฉ่ำของนาเดียในฉากที่รุ่งกับมินขับรถขึ้นเขาเพื่อเดินทางเข้าไปสู่ในป่า เดินทางเข้าไปยังดินแดนที่แสวงหาความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่หรือสามารถเพลิดเพลินได้ หนังใช้เวลากับซีนนี้เป็นเวลานานจนสามารถเล่นเพลงนี้จนจบโดยที่ไม่ได้ยินเสียงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เสียงของการสนทนาภายในรถ หรือเสียงลมที่รถปะทะแต่อย่างใด ก่อนที่จะเชื่อมเข้าสู่ส่วนที่สองที่เป็นการพาตัวละครเข้าไปอยู่ในป่า

สัตว์ประหลาด!

หรือในเรื่องสัตว์ประหลาด! ที่ใช้เพลงคำในใจของวง Fashion Show เพื่อพาอารมณ์ของเก่งที่กำลังลิงโลดอยู่กับรักที่แสนหวานและประหลาดในคราวเดียวกันหลังจากที่เกิดฉากโรแมนติคของโต้งกับเก่งหลังจากการเดตนั้น เก่งได้ขับมอเตอร์ไซค์กลับมายังที่พัก ระหว่างนั้นเสียง ambient รอบข้างที่มีนั้นเริ่มจางลงไป มีแต่เสียงของเพลงที่ดังขึ้นอยู่ตลอดจนไม่มีเสียงอื่น เราไม่ได้ยินเสียงของสิ่งแวดล้อมข้างทางแม้กระทั่งเสียงทุบตีที่อยู่ริมถนนหรือเสียงการขว้างสิ่งของไล่หลังมอเตอร์ไซค์เองก็ตาม (บทความเขียนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เปรียบเสมือนสถานะเหมือนฝันของตัวละครที่กำลังอยู่ในโลกแห่งความสุข) ก่อนที่จะตัดเข้าไปซีนถัดไปที่เป็นเวลาตอนเช้า เก่งนั่งอยู่บนรถกระบะที่มีทหารนั่งรายล้อมอยู่เต็มไปหมด ภาพคอลลาจปะปนที่เหมือนไม่ได้ใช้เวลาในโลกของหนังที่เคลื่อนไหวไปอย่างแช่มช้า และกลับมาที่เวลาปัจจุบันที่ค่อยๆ เดินอย่างปกติอีกครั้ง

The Anthem

สำหรับผู้ที่ติดตามหนังของอภิชาติพงศ์จะรับทราบดีว่าเขาได้ซ่อนนัยยะทางการเมืองแฝงเอาไว้อยู่ในหนังตลอด ทั้งผีทหารที่อยู่ในผืนดินจากรักที่ขอนแก่น หรือการถูกกดทับของคนชายขอบจากสถาบันทางสังคมในเรื่องสุดเสน่หา แต่การทำหนังสั้นเรื่อง The Anthem เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่เหมือนเป็นการยั่วล้อไปกับการเมืองและภาพยนตร์ The Anthem เป็นหนังสั้นที่สร้างขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองการดำรงอยู่ของภาพยนตร์ ยั่วล้อไปกับพิธีกรรมของไทยที่ต้องมีการยืนถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ก่อนที่จะมีการฉายภาพยนตร์ในโรง ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ควรเชิดชูมากกว่าคือภาพยนตร์ที่กำลังจะฉายลงบนผืนผ้าใบต่อไปนี้ เป็นพิธีกรรมที่ทำให้ทุกคนได้อยู่ในโรงร่วมกันมากกว่าที่จะเป็นบุคคลที่เราต้องยืนทำความเคารพ ซึ่งสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างสองซีนที่เด่นชัดที่สุดคือ ”เสียงเพลง” เดียวกันที่เปิดกันในวิทยุ กับที่เปิดอยู่ในคอร์ทแบดมินตันคือเสียงเดียวกัน มันคือเพลงสรรเสริญที่หญิงคนหนึ่งจะนำไปเปิดในโรงภาพยนตร์ของเธอ และเหมือนเดิม เราจะไม่ได้ยินเสียงเพลงที่อยู่นอกบรรยากาศของสถานที่แบบ non-diegetic (เสียงที่ไม่ปรากฎแหล่งที่มา) เพลงที่เปิดจะอยู่ในสถานที่แต่เราไม่รู้แหล่งเสียงของเพลงว่ามาจากไหน เสียงเพลงจะถูกกลบด้วยเสียงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเฟรมนั้น เสียงเท้าที่วิ่งอยู่ในคอร์ทแบดมินตัน เสียงการขยับตัว เสียงของผู้คนในกองถ่ายที่เดินสวนกล้องไปมา การที่ไม่มีเสียงใดที่หลุดรอดออกมาข้างนอกอย่างชัดเจนทำให้ทุกอย่างถูกประกอบเป็นเนื้อเดียวกัน อาจทำให้เรานึกถึงความรื่นเริงของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในสนามกีฬาเหล่านั้น เสียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหนังเหมือนเป็นความรื่นเริงที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่บนจอภาพยนตร์

Memoria

เช่นกันกับ Memoria ที่ได้เปลี่ยนจากเสียงที่ดึงเอาความทรงจำของผู้คน กลายเป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ฝังอยู่ตามวัตถุต่างๆ ผ่านการได้ยินเสียงปังของเจสสิกาที่ดึงเรื่องราวที่ถูกกลบฝังไว้กลับขึ้นมามีเสียงและถูกรับฟัง อภิชาติพงศ์ได้นำเอาวิธีการใช้เสียงจนกลายเป็นจุดเด่นในการเล่าเรื่องราวของหนัง กลายเป็นจุดที่ผู้ชมเริ่มให้ความสนใจเป็นพิเศษ อภิชาติพงศ์ให้สัมภาษณ์ว่าเขาอยากให้ผู้ชมกลายเป็นเจสสิก้า “เมื่อเธอได้ยินเสียงนั้น คุณก็จะได้ยินเสียงนั้นเช่นกัน แต่คนอื่นที่อยู่ภายในฉากนั้นไม่ได้ยิน คุณกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดเหมือนกันกับเธอ เมื่อเธอได้ฟังเสียงเหล่านั้น และคุณก็รับรู้ถึงสิ่งนี้เช่นเดียวกัน คุณคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นสิ่งเหล่านี้ขึ้น” สิ่งที่อภิชาติพงศ์อยากให้คนดูนั้นรู้สึกถึงประสบการณ์การเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละคร หรือการถูกดึงเข้าไปในภาพยนตร์เป็นสิ่งสำคัญต่อหนังของเขาจากคำสัมภาษณ์ “เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องผสมเสียงของความเป็นจริง กับเสียงทดลองทางจิตวิทยา การได้ยินเสียงปัง หรือเสียงรบกวนต่างๆ การมิกซ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งหมดมันเกี่ยวกับการทำให้คุณกลายเป็นเจสสิก้า ทำให้คุณมีการรับรู้เหล่านั้นเช่นกันกับเธอ” และจะเหมือนกับเรื่องก่อนๆ หน้าของเขาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสุดเสน่หา จนถึงลุงบุญมีระลึกชาติก็ตาม

ความยอดเยี่ยมในการเล่าเรื่องผ่านเสียงของอภิชาติพงศ์นั้นมีมานาน และแนบเนียนไปกับธรรมชาติที่เขาสร้าง เสียงลม เสียงฝน เสียงธรรมชาติ หรือเสียงเมืองที่คอยกล่อมเกลาคนให้หลับไหลและแยกตัวเราออกจากหนังทำให้ไม่สามารถเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเสียงในหนังนั้นจะคอยโอบอุ้มหนังและคนดูเอาไว้ จนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญที่เมื่อทุกคนได้เห็นหนังอภิชาติพงศ์จะต้องพูดถึง ฉะนั้นสิ่งที่หลายคนบอกว่าการดูหนังของเขาอาจไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยตรง เฉกเช่นกับการเดินทางของตัวละครที่อาจไม่ได้ทำความเข้าใจได้โดยทันที แต่เป็นการใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้และสัมผัสถึงเสียงธรรมชาติรอบตัว กลายเป็นหนึ่งเดียวกับหนัง รำลึกถึงประสบการณ์บางอย่างต่อการสัมผัสเสียงเหล่านั้น 


อ้างอิง:

Lovatt, P. (2013). “Every drop of my blood sings our song. There, can you hear it?”: Haptic Sound and Embodied Memory in the films of Apichatpong Weerasethakul. The New Soundtrack, 3(1), 61-79.

‎Sound Obsession: Sharing Breath with Apichatpong • Journal • A Letterboxd Magazine • Letterboxd

https://lwlies.com/articles/sound-nature-apichatpong-weerasethakul/

https://mubi.com/notebook/posts/soundtrack-mix-23-sonic-memoria-apichatpong-weerasethakul

https://adaymagazine.com/memoria-sound