Blog Page 2

Ted Lasso (Season 2) : ฟุตบอลคือชีวิต

“ฟุตบอลคือชีวิต”

ดานี่ โรฮาส กล่าวกับตัวเองก่อนที่จะทำการเตะจุดโทษ สำหรับกองหน้าพลังงานสูงของเอเอฟซีริชมอนด์ สำหรับทีมหนีตกชั้น สำหรับกองเชียร์ทั้งเมือง ‘ฟุตบอลคือชีวิต’ ถือว่าไม่เกินจริง ในวินาทีถัดจากนั้น เมื่อเอิร์ล สุนัขเกรย์ฮาวด์มาสคอตของทีมหลุดจากสายจูงแล้ววิ่งเข้ามาในสนาม ในอุบัติเหตุนั้นฟุตบอลเป็นมากกว่าชีวิต มันคือความตายที่จะทิ้งแผลไว้ในใจคนหนุ่มร่าเริงอย่างโรฮาส และนี่เป็นปัญหาแม้แต่ เท็ด ลาสโซ่ ยอดคนยอดโค้ชที่แก้ปัญหามาแล้วนับไม่ถ้วนยังแก้ไม่ได้

ในเมื่อฟุตบอลคือชีวิต โค้ชเก่ง ๆ เพียงคนเดียวคงไม่อาจรับมือไหว

Ted Lasso เริ่มสตรีมเมื่อปี 2020 บน Apple TV + เรื่องราวของโค้ชทีมฟุตบอลหนีตกชั้นที่มีความรู้เรื่องฟุตบอลเป็นศูนย์ และปัญหาดราม่าสารพันของทีมเล็ก ๆ ในพรีเมียร์ลีกกวาดรางวัลและเสียงชื่นชมไปมากมาย ส่งชื่อของนักแสดงตลก เจสัน ซูเดคิส (Jason Sudekis) ผู้รับบทโค้ชลาสโซ่ (ซึ่งเดิมทีเป็นตัวละครที่ใช้ในโฆษณาลิขสิทธิ์ฟุตบอลช่อง NBC Sport) และผองเพื่อนให้กลายเป็นขาประจำในงานประกาศรางวัลทีวีโชว์หลายสถาบัน แน่นอนว่ามันไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

โค้ชลาสโซ่ไม่ใช่โค้ชอภินิหารแบบที่เรามักจะเห็นกันในหนังกีฬาเบาสมอง เขาล้มเหลวในการพาริชมอนด์หนีตกชั้น และยังคงมีความรู้เรื่องแผนการเล่นฟุตบอลเป็นศูนย์เท่ากับฤดูกาลก่อน แต่ไอ้ “Wanker” ของแฟนบอลริชมอนด์คนนี้ก็ห่างไกลกับการไม่รู้อะไรเลย เขาคุมทีมได้ “ทีม” อันหมายถึงกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน ทีมอันหมายถึงชีวิตจำนวนมาก ทั้งในและนอกสนามแข่ง ตัวละครของลาสโซ่เป็นเหมือนภาพอุดมคติของคนที่ดีต่อสุขภาพจิต หรืออาจจะเป็นครูแนะแนวในฝัน เขาเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ไม่กดดันใคร ให้เกียรติและชมเชยผู้คนตามสมควรแก่โอกาส เป้าหมายของเขาในฐานะโค้ชคือการเกลาสิ่งที่ดีที่สุดออกมาจากนักกีฬา ถ้าฟุตบอลคือชีวิต เท็ด ลาสโซ่ก็ถือเป็นโค้ชที่เก่งเอาการ


ตัวละครของลาสโซ่เป็นเหมือนภาพอุดมคติของคนที่ดีต่อสุขภาพจิต หรืออาจจะเป็นครูแนะแนวในฝัน เขาเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ไม่กดดันใคร ให้เกียรติและชมเชยผู้คนตามสมควรแก่โอกาส เป้าหมายของเขาในฐานะโค้ชคือการเกลาสิ่งที่ดีที่สุดออกมาจากนักกีฬา ถ้าฟุตบอลคือชีวิต เท็ด ลาสโซ่ก็ถือเป็นโค้ชที่เก่งเอาการ

ทว่านั่นอาจจะยังไม่พอ หลายครั้งที่ชีวิตต้องการมากกว่าเจตนาที่ดีและความเข้าอกเข้าใจ ยอดโค้ชก็มีสิ่งที่เขาเอาไม่อยู่เหมือนกัน Ted Lasso ในซีซั่นที่สองจึงมีตัวละครสำคัญเพิ่มเข้ามา นั่นคือหมอ ชารอน ฟิลด์สโตน (ซาราห์ ไนล์ส – Sarah Niles จาก I May Destroy You และ The Sandman) จิตแพทย์ที่สโมสรจ้างมาชั่วคราวเพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพทางจิตของนักกีฬา และเมื่อเธอแก้ปัญหาฟอร์มตกของนักฟุตบอลดวงตกอย่าง ดานี่ โรฮาส (คริสโต เฟอร์นันเดส – Cristo Fernandes) ได้ในการบำบัดเพียงครั้งเดียว บางอย่างในใจของโค้ชลาสโซ่ก็ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง บรรดาตัวละครตลกในซิตคอมกลับดูมีเลือดเนื้อขึ้นมาทันทีเมื่อเราเริ่มได้เห็นชีวิตของพวกเขา

…ชีวิตอันมีบาดแผลและความอ่อนแอเป็นส่วนประกอบ

สิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้อารมณ์ขันอบอุ่นของ Ted Lasso ก็คือการเติบโตของหลากชีวิตในเอเอฟซี ริชมอนด์ โดยเฉพาะในซีซั่นนี้ พัฒนาการของบรรดาตัวละครดูจะเป็นหัวใจสำคัญในภาคการเล่าเรื่อง ทั้งผู้เล่นดาวเด่นที่โดนความทรนงของตัวเองโบยตี กัปตันในการเดินทางค้นหาตัวเองครั้งใหม่หลังเกษียณ ประธานสโมสรที่หันหลังให้กับความแค้นแล้วมีชีวิตก้าวเดินต่อไป ในรายที่อาการหนักที่สุดเห็นจะเป็นโค้ชลาสโซ่ที่ต้องเข้ารับการบำบัดอาการแพนิกที่พาเขามาถึงจุดเสี่ยงของอาชีพ และ เนตผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ช่วยโค้ชที่เผชิญหน้ากับวิกฤตตัวตน

น้ำหนักความตลกของ Ted Lasso เปลี่ยนไปทันทีเมื่อมันฉายไฟไปยังตัวละครหลักสองตัวนี้ คนหนึ่งคือโค้ชผู้เป็นที่พึ่งทางใจให้ใครหลาย ในซีซั่นก่อนหน้า เลือดเนื้อของตัวละครโค้ชลาสโซ่ถูกเปิดเผยออกมาผ่านสาเหตุการรับงานคุมทีมฟุตบอล นั่นคือเพื่อถอยออกมาจากปัญหาความสัมพันธ์กับภรรยา ทว่าสาเหตุของอาการตื่นตระหนกเฉียบพลันของเขาอยู่ลึกลงไปกว่านั้น และเขาจำเป็นต้องรับมือกับมันด้วยการเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ วิธีที่เขาไม่เชื่อถืออย่างที่สุด 

อีกคนคือ เนต เชลลีย์ (นิค โมฮัมเหม็ด – Nick Mohammed) ผู้ช่วยโค้ชที่เติบโตมาจากการเป็นพนักงานคลับเฮาส์ สิ่งมีชีวิตลำดับล่างสุดในสโมสรฟุตบอล เขาเป็นเพื่อนคนแรกในดินแดนแปลกหน้าของโค้ชลาสโซ่ เติบโตขึ้นมาได้จากมิตรภาพและการยอมรับนับถือของโค้ช แต่นั่นก็คงไม่พอเสียแล้วเมื่อเขาได้ลิ้มรสชาติของชื่อเสียง และค้นพบเครื่องมือในการสร้างความแข็งแกร่งที่เขาไม่เคยมีมาก่อน เครื่องมือยอดนิยมในวงการฟุตบอล “ทิฐิมานะ” มันพาเขาไปยังจุดที่สูงขึ้น เปลี่ยนเขาเป็นคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คนแบบที่เคยกดขี่เขาก่อนที่เท็ด ลาสโซ่จะมาถึง 

ฟุตบอลคือชีวิต ก็คงจะเลี่ยงไม่ได้หากชีวิตจะต้องมีวันแบบนี้กันบ้าง

ด้วยบทที่พิถีพิถันและการแสดงอันยอดเยี่ยม Ted Lasso จึงเป็นซีรีส์ตลกและเปี่ยมไปด้วยหัวใจอันโดดเด่น แม้ว่าตัวผู้เขียนเองจะไม่ได้เป็นแฟนฟุตบอล แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคในการทำความเข้าใจสถานการณ์ยุ่งยากทั้งหลายที่ชาวสโมสรเอเอฟซีริชมอนด์กำลังเผชิญ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของฟุตบอล แต่มันเป็นเรื่องของบาดแผลและการเติบโตที่มีฉากหลังเป็นวงการฟุตบอลอังกฤษ เป็นเรื่องราวของชายเจตนาดีที่ค่อย ๆ ทำให้คนรอบตัวของเขาพบที่ทางของตัวเองในโลกที่การแข่งขันคือลมหายใจ 

ดังที่ เทรนต์ คริมม์ (เจมส์ แลนซ์ – James Lance จาก The Canteville Ghost) ตัวละครนักข่าวกีฬาขาโหดกล่าวถึงเท็ด ลาสโซ่เอาไว้ในสกู๊ปของเขาว่า “ในวงการที่ยกย่องอัตตา เท็ดเป็นคนถ่อมตน รูปแบบการคุมทีมของเขาฉลาด และเหนือเกินการเข้าใจของคุณ มันจะเติบโตช้า ๆ จนคุณไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่ของมันได้อีก มันคือการทำให้ผู้ตามกลายเป็นผู้นำ คือการแสดงความเคารพคนอื่นจนท้องไส้ตัวเองปั่นป่วน ผมมั่นใจว่าเท็ด ลาสโซ่จะล้มเหลวและริชมอนด์จะต้องอับอายจากการตกชั้น ผมไม่ยินดีจะให้มันเป็นเช่นนั้นเลย เพราะผมเองก็อดเอาใจช่วยเขาไม่ได้จริง ๆ”

ฟุตบอลของเท็ด ลาสโซ่ไม่ใช่กีฬา มันไม่ได้เล่นกันแค่ 90 นาทีบนสนาม ไม่ได้มีผู้เล่นแค่ 11 คน มันคือความเข้าอกเข้าใจ คือคำปรึกษาในเวลาที่ต้องการ คือความหวังดีในช่วงเวลาที่มืดมน คือมิตรภาพในช่วงเวลาที่เปราะบาง คือแรงสนับสนุนในการตัดสินใจที่ท้าทาย แม้ว่าเขาจะยังไม่เข้าใจกติกาล้ำหน้าเท่าไรนักก็ตาม

ฟุตบอลของเขาคือชีวิต ไม่มีอะไรผิดไปจากนี้

Paper Girls (Season 1) : จะข้ามเวลาทำไม ถ้าไม่มีอนาคต

เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ภาพเด็กหญิงสี่คนปั่นจักรยานในฉากหลังปี 1988 ของ Paper Girls จะถูกนำไปเทียบกับซีรีส์เจือกลิ่นอดีตอย่าง Stranger Things แต่คงไม่ยุติธรรมนักหากจะพูดว่ามันเป็นแค่ซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งที่ออกมาโหนบรรยากาศวันชื่นคืนสุขใต้แสงสีนีออนของมหากาพย์สิ่งลี้ลับเมืองฮอว์กินส์ เพราะการผจญภัยของแก๊งเด็กหญิงส่งหนังสือพิมพ์นั้นพาผู้ชมออกเดินทางไปในทิศทางที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง และเส้นทางที่ว่าก็นับว่าไกลไม่ใช่เล่น ทั้งในแง่ประสบการณ์และจิตวิญญาณ

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันที่เอริน เด็กหญิงช่างฝันชาวอเมริกันเชื้อสายจีนออกทำงานส่งหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก ฝืนคำทัดท้านด้วยความกังวลของแม่ โชคไม่ดีที่มันเป็น “วันนรกแตก” มันคือเช้าหลังคืนวันฮาโลวีนจบลง ที่สโตนี่สตรีม ชานเมืองคลีฟแลนด์ บางบ้านมีคนเหยียดผิวนิสัยรุนแรง บนท้องถนนมีวัยรุ่นก่อกวนหนักเป็นพิเศษ ในนาทีที่เริ่มจะคิดว่าแม่พูดถูก เอรินก็เจอเข้ากับทิฟฟานี่ แม็ก และเคเจ เพื่อนเด็กส่งหนังสือพิมพ์รุ่นราวคราวเดียวกันที่ช่วยเธอให้พ้นจากอันตราย ทว่าความแก่นกร้าน กับไม้ฮอกกี้ก็ดูจะไร้ประโยชน์ทันทีเมื่อท้องฟ้าวิปริตแปรปรวนเป็นสีชมพู ด้วยเหตุบางอย่างพวกเธอถูกส่งข้ามปี 1988 มายังปี 2019

ทว่าการข้ามเวลานั้น อาจไม่รบกวนจิตใจได้เท่ากับการได้เจอตัวเองในอนาคตที่สั่นคลอนความคิดของพวกเธอไปตลอดกาล

Paper Girls ถูกดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกันที่ตีพิมพ์ในปี 2015 ถึงปี 2019 เขียนเรื่องโดย Brian K. Vaughan วาดโดย Cliff Chiang ก่อนที่จะถูกนำมาดัดแปลงและสตรีมในปี 2022 ทาง Prime Video โดย Stephany Folsom (Toy Story 4) หนังสือการ์ตูนฉบับดั้งเดิมได้รับการการันตีคุณภาพจากรางวัล Eisner Award และ Harvey Award 2016 ในสาขาการ์ตูนเรื่องยาวยอดเยี่ยม (Best New Series)

สิ่งที่ทำให้ Paper Girls แตกต่างไปจาก Stranger Things คือ โจทย์การผจญภัยของกลุ่มเด็กสาวในเรื่อง พวกเธอมีปัญหาเป็นของตัวเองและต้องรับมือกับความไม่ได้ดั่งใจของอนาคต ขณะที่กลุ่มเด็กเนิร์ดแห่งเมืองฮอว์กินส์รับมือกับสัตว์ประหลาดและทฤษฎีสมคบคิดใหญ่โตผ่านการผจญภัยโลกโผนสารพัด ที่พึ่งสำคัญในการเอาตัวรอดจากสงครามนักข้ามเวลาของเด็กหญิงทั้งสี่คือตัวเองในอนาคต ที่แทบจะเรียกได้ว่าน่าผิดหวัง โจทย์ของมันจึงเป็นการเดินทางภายในเพื่อทำความเข้าใจตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็นอยู่ และแบบที่จะเป็นไปในภายภาคหน้า

สงครามนักข้ามเวลาที่เป็นฉากหลังของเรื่องประกอบด้วยสองฝ่าย ได้แก่ กลุ่มเอสทีเอฟ หรือ Standard Time Fighter (ในการ์ตูนต้นฉบับเรียกว่าเป็น Teenager หรือพวก ‘วัยรุ่น’) ผู้ที่เชื่อในการเดินทางข้ามเวลาเพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต สำหรับพวกเขา การข้ามเวลาคือประดิษฐกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์นี้ ส่วนอีกฝ่ายคือ Old Watch (ในต้นฉบับเรียกว่า Old Timer หรือพวกคนแก่) องค์กรตำรวจเวลาที่คอยปราบปรามนักเดินทางข้ามเวลาที่ยุ่มย่ามกับประวัติศาสตร์และทำให้อนาคตล่มสลาย และเด็กส่งหนังสือพิมพ์จากปี 1988 ก็ถูกนับว่าเป็นเป้าหมายที่ต้องกำจัดทิ้ง

นักสู้ของเอสทีเอฟคนหนึ่งจำกัดความพวกโอลด์วอตช์เอาไว้ว่า เป็นพวกขวาจัดที่ต้องการรักษาอำนาจไว้กับพวกตัวเอง และใช้สิทธิพิเศษของตัวเองขัดขวางการแก้ไข ‘ความผิดพลาดในอดีต’ เพราะกลัวจะเสียอำนาจ ชวนให้คิดถึงแนวคิดความศักดิ์สิทธิ์ของประวัติศาสตร์ (หรือจักรวาล หรือเส้นเวลา หรือไทม์ไลน์ ตามแต่จะเรียก) ในสื่อบันเทิงว่าด้วยการข้ามเวลาอื่น ๆ ว่า จริง ๆ แล้วปฏิทรรศน์ของกาลเวลา หรือ Time Paradox อาจจะเป็นแค่คำขู่ของพวกอนุรักษ์นิยม เราจะเอาอะไรมามั่นใจว่าเส้นเวลาที่เราอาศัยอยู่ คือเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดแล้วของความเป็นไปได้ทั้งปวง

ความสนุกของการรับชมเรื่องนี้คือการได้เห็นการปะทะกันระหว่างอดีตและอนาคตอยู่เนือง ๆ ทั้งในเชิงสงครามหลั่งเลือดและในเชิงเปรียบเทียบ เอรินไม่พอใจตัวเองในตอนโตเพราะเป็นผู้ใหญ่ขี้แพ้ ไร้สิ้นเรี่ยวแรงและความฝัน แบบเดียวกับที่พวกเด็กวัยรุ่นมักจะมองผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เรื่อง ทิฟฟานี่เกลียดตัวเองไม่แพ้กันที่ทำตามความฝันได้แทบทุกอย่าง แต่กลับเลิกล้มเพราะสาเหตุที่เธอยอมรับไม่ได้ เคเจค้นพบว่าตัวเองจะต้องเดินบนทางที่ยากลำบากแบบที่ความร่ำรวยก็ช่วยอะไรไม่ได้ ส่วนแม็กก็แทบจะไม่สนใจอะไรอีกต่อไปเมื่อค้นพบว่าตัวเองไร้ตัวตนในอนาคตโดยสิ้นเชิง

ในทางหนึ่งแก๊งเด็กส่งหนังสือพิมพ์เป็นเด็ก เป็นคนรุ่นใหม่เปี่ยมพลังงานและตัวแทนของอนาคต แต่ด้วยการเดินทางข้ามเวลาไปข้างหน้า พวกเธอกลายเป็นคนจากอดีต เป็นคนรุ่นก่อนที่ทิ้งมรดกความไม่ได้เรื่องให้ตัวเองในอนาคต ฉากที่เอรินตอนเด็กกับเอรินตอนโตปะทะคารมกัน เพราะเอรินเด็กรู้สึกว่าตัวเองในวัยสี่สิบกว่าช่างพึ่งพาไม่ได้ จบลงอย่างเจ็บแสบตรงที่เอรินตอนโตย้อนกลับว่า “ขอโทษนะ ฉันก็ไม่ได้เพิ่งมาขี้แพ้ตอนโตหรอก สมัยส่งหนังสือพิมพ์ฉันก็ทำได้แค่วันเดียว” เป็นเหมือนการฉายให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่าง ‘เจเนอเรชั่น’ เป็นความขัดแย้งภายในตัวเองได้เท่ากับที่เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้คนที่เกิดในช่วงเวลาที่ต่างกัน

“Breakfast Club ฉบับเดินทางข้ามเวลา” ดูจะเป็นคำอธิบายตัวซีรีส์ Paper Girls ที่เข้าท่าเข้าทีกว่า “Stranger Things ฉบับเด็กผู้หญิง” โดยเนื้อในแล้ว การผจญภัยข้ามเวลานั้นไม่ได้แตกต่างจากการผลัดสู่วัยรุ่นของบรรดาเด็กส่งหนังสือพิมพ์และเด็กวัยรุ่นอื่น ๆ ทั่วโลก มันสับสน โกลาหล และเส้นแบ่งความเขลากับความกล้าหาญช่างพร่าเลือน สิ่งเดียวที่พวกเขาพอจะทำได้ก็คือการยึดจับปัจจุบันเอาไว้ให้มั่น และรักษาชีวิตให้รอดจนกว่าจะพ้นมันไป แน่นอนว่าไม่มีอะไรรับประกันว่าอนาคตจะสดใสเหมือนฟ้าหลังฝน แม้แต่ไทม์แมชีน หรือเทคโนโลยีล้ำโลกใด ๆ

ทางเดียวที่จะรู้ได้คือ รอเห็นมันด้วยตาตนเอง

MIDNIGHT CINEMA 11 – Nope แค่พูดว่าไม่!

*หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

โอเจ เป็นหนุ่มเลี้ยงม้า เขากับพ่อประกอบกิจการฟาร์มม้าที่อยู่ไกลออกไปนอกเมืองในเขตทะเลทราย ที่หลัก ๆคือฝึกให้ม้าเชื่องเพื่อเอาไปเข้าฉากหนังฮอลลีวู้ด กิจการไปได้ไม่สวยนัก น้องสาวของเขาก็เห็นการช่วยพ่อและพี่ชายในการสื่อสารกับกองถ่ายเป็นเพียงงานอดิเรก เช้านั้นพ่อกำลังฝึกม้า เขาเองก็เพิ่งเสร็จจากการเทียมม้ากับเครื่องเดิน อยู่ดี ๆ เสียงรอบข้างก็หยุดนิ่ง สรรพสิ่งหยุดเคลื่อนไหว และมีอะไรต่อมิอะไรหล่นลงมาจากฟ้า กุญแจ เหรียญ ข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ และจู่ ๆ พ่อบนหลังม้าก็แน่นิ่งไป

หลังจากพ่อตายได้หกเดือน เขาเริ่มทยอยขายม้าไป งานกองถ่ายเพิ่งติดต่อเข้ามา เขาต้องให้น้องสาวไปเจรจากับคนเพราะเขาถนัดคุยกับม้ามากกว่า แต่ก็มีเรื่องจนได้เมื่อม้าเกิดตื่นสถานที่ ถึงที่สุดเขาต้องเอาม้าไปขายให้ จูป จูปิเตอร์ อดีตดาราเด็กเอเชียที่เคยมีชื่อเสียงในยุค 1990 ตอนนี้จูปและครอบครัวเปิดสวนสนุกอยู่ไม่ไกลจากฟาร์มของเขา สวนสนุกบรรยากาศแบบหนังคาวบอยให้คนมาเที่ยวถ่ายรูปเล่น จูปช่วยซื้อม้าของเขาไว้และยินดีถ้าเขาจะซื้อคืน ที่จริงจูปอยากได้ฟาร์มด้วยเพื่อจะขยายอาณาเขตของตน เอ็ม น้องสาวของเขาตามเข้าไปคุยกับจูป และจูปอวดเรื่องของการเคยแสดงในรายการทีวี Gordy’s Home ละครตลกที่มีตัวเอกเป็นลิงชิมแปนซีสุดฉลาดในบ้านมนุษย์ ซีซั่นแรกฮิตระเบิด แต่ซีซั่นสองกลายเป็นโศกนาฏกรรม เพราะเจ้ากอร์ดี้เกิดคลั่งขึ้นมากลางรายการและอาละวาดจนมีคนเจ็บตาย จูปเป็นคนที่รอด อาจจะเพราะเขาเป็นคนเดียวที่เคยชนกำปั้นกับกอร์ดี้ อย่างน้อยเขาก็เชื่ออย่างนั้น

บนฟ้ามีเรื่องประหลาด เมื่อม้าในคอกเริ่มอยู่ไม่สุข และโอเจมองเห็นอะไรบนฟ้าที่อาจจะเป็นจานบินลึกลับ ทุกครั้งที่ปรากฏตัวไฟจะตก โอเจและเอ็มไปซื้อกล้องวงจรปิดมาติดตั้งรอบบ้าน ให้กล้องชี้ขึ้นฟ้า แองเจิ้ล ช่างเทคนิคที่มาติดกล้องคิดว่ามีอะไรแหม่ง ๆ แน่ ๆ และมันก็เกิดขึ้นจริงเสียด้วย มีบางอย่างอยู่บนฟ้า และไม่ใช่เรื่องดี

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สามของ จอร์แดน พีล (Jordan Peele) ยังคงเป็นหนังสยองขวัญแปลกประหลาด หนังของเขาเหมือนหลุดมาจากนิตยสารหรือเว็บไซต์เรื่องลึกลับ เรื่องประหลาด หนังสือแบบแปลก โลกทิพย์ Creepy Pasta หรือบางเรื่องจาก The Ghost Radio  Get Out ว่าด้วยการถูกเข้าสิงร่างกายด้วยวิญญาณคนอื่น Us เล่าเรื่องดอปเปิลแกงเกอร์จากโลกใต้ดิน และ Nope ว่าด้วยยูเอฟโอ เริ่มต้นจากเรื่องพิสดารเหนือธรรมชาติเหล่านั้น ซ่อนนัยยะทางการเมืองเข้มข้นของสังคมอเมริกัน เราจะดูหนังของเขาในฐานะหนังสยองขวัญเพียว ๆ ก็ได้ หรือหนังที่เป็นภาพแทนทางการเมืองก็ได้เช่นกัน

หาก Nope ดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับหนังสองเรื่องก่อนหน้า เขานวดทั้งเรื่องราวประหลาดพิสดาร ขยายมันออกไปให้เกินความคาดหวัง ขณะเดียวกันก็ขยับขยายประเด็นออกไปมากกว่าเดิม 

เราอาจมองหนังในฐานะภาพยนตร์ที่เชิดชูความเป็นหนัง/ความเป็นคนดำได้อย่างน่าสนใจ เมื่อหนังเปิดฉากด้วยภาพของทัศนียภาพลึกลับของสิ่งที่เป็นอุโมงค์ ช่อง ถ้ำ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาใช้มาตลอด ทั้งตัว The Sunken Place ใน Get Out และอุโมงค์ใต้ดินใน Us) ตำแหน่งของภาพที่ทำให้นึกถึงการสะกดจิตใน Get Out แต่แทนที่สายตาของเราจะถอยออก(ร่วงลง) กลับขยับเข้าใกล้ และสิ่งที่เราเข้าใกล้ ไม่ใช่ใบหน้าของแม่ยายแบบใน Get Out แต่เป็นภาพคนดำขี่ม้า ภาพเคลื่อนไหวที่เป็นต้นกำเนิดของภาพยนตร์อีกทอดหนึ่ง

The Horse in Motion (1877) ของ เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ (Edweard Muybridge) น่าจะเป็นภาพยนตร์ในยุคก่อนภาพยนตร์ มันคือการเอาการ์ดภาพถ่ายคนดำขี่ม้ามาเรียงต่อกันและหมุนวนมันในความเร็วที่กำหนด ด้วยกลไกของภาพติดตาภาพนิ่งก็เคลื่อนไหว และนี่คือต้นธารของภาพยนตร์ในเวลาต่อมา 

หนังตั้งคำถามว่าคนจำมายบริดจ์ได้ แต่มีใครจำชายคนดำขี่ม้าได้บ้าง “ไม่!” ไม่คือคำตอบ ไม่คือชื่อหนัง ไม่คือไม่ถูกจำ ไม่มีตัวตนไม่มีความหมาย  แม้มุกนี้จะถูกเล่นเพื่อล้อโอเจในฐานะของชายผิวดำขี่ม้าที่ไม่ถูกจำ เป็นแค่ส่วนต่อขยายของม้า ไม่จึงแปลได้ว่าไม่ใช่มนุษย์ด้วย เป็นเพียงวัตถุที่ขี่ม้า แต่พวกเขาก็ไม่ได้อยากไม่ถูกจำแบบเทียดของเขา ที่คือชายผิวดำคนนั้น เพราะที่พวกเขาอยากเป็นคือ ‘เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ ผิวดำ’ และเขาจะเป็นได้ในฐานะของคนแรกที่ถ่ายติดยูเอฟโอจริงๆ 


หนังตั้งคำถามว่าคนจำเอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ได้ แต่มีใครจำชายคนดำขี่ม้าได้บ้าง “ไม่!” ไม่คือคำตอบ ไม่คือชื่อหนัง ไม่คือไม่ถูกจำ ไม่มีตัวตนไม่มีความหมาย  แม้มุกนี้จะถูกเล่นเพื่อล้อโอเจในฐานะของชายผิวดำขี่ม้าที่ไม่ถูกจำ เป็นแค่ส่วนต่อขยายของม้า ไม่จึงแปลได้ว่าไม่ใช่มนุษย์ด้วย เป็นเพียงวัตถุที่ขี่ม้า

SAY NOPE TO CINEMA

ภาพยนตร์จึงเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จในโลกทุนนิยม ภาพยนตร์มีความลักลั่นเพราะตัวมันออกแบบมาให้เป็นประดิษฐกรรมความบันเทิงเพื่อมวลชน มันขับเคลื่อนด้วยทุนและโลกของทุนนิยมทั้งการผลิต การจัดจำหน่าย โรงหนัง ภาพยนตร์จึงเป็น money machine สำหรับการบริโภค แต่ตัวมันเองก็สูบเอาคุณค่าของศิลปะเข้ามาไว้ในตัวด้วย ในขณะที่มันอาจทำตัวหัวสูงเรียกร้องการเสพแบบศิลปะที่ต้องจมตัวเองในข้อกำหนดเฉพาะของความมืดและเงียบของโรงภาพยนตร์ที่เป็นศาสนสถาน ตัวมันก็เรียกร้องผู้ชมจำนวนมาก ให้เข้าและออกจากโรงให้มากที่สุด เพื่อให้มันทำกำไรได้ไปพร้อมกัน

การเข้ามาของ แอนท์เลอร์ ตากล้องภาพยนตร์ทีคลั่งไคล้การถ่ายหนัง โดยเฉพาะการถ่ายทำสัตว์ จึงเป็นการพยายามยกระดับตัวเองจากคลิปยูเอฟโอโง่ ๆ โดยกล้องวงจรปิด ให้ไปเป็น ‘โอปราห์ชอต’ หรือชอตที่จะสวยงามยิ่งใหญ่แบบที่เอาไปออกรายการทอล์กโชว์ของโอปราห์ วินฟรีย์ได้ ยิ่งเมื่อหนังโยนข้อกำหนดว่าอะไรที่เป็นไฟฟ้าจะไม่สามารถใช้ได้เมื่อยูเอฟโอมา ยิ่งทำให้มันต้องกลับไปสู่ความเป็นภาพยนตร์แบบดั้งเดิม แบบยากลำบาก แบบที่ถูกพัฒนาผ่านประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนการ์ดภาพของมายบริดจ์ไปสู่การใช้ฟิล์มเฉพาะกล้องเฉพาะ ถ่ายแบบเฉพาะ ซึ่งถูกทำลายคุณค่าลงด้วยภาพยนตร์ในยุคดิจิทัล การถ่ายยูเอฟโอจึงไม่ใช่แค่ภาพเพื่อการค้า แต่ยังบรรจุคุณค่าของความเป็นภาพยนตร์ที่สั่งสมกันมา ความพิเศษและยากลำบากของการถ่ายทำ ความพิเศษเฉพาะที่มีแต่ภาพยนตร์ (ภาพเคลื่อนไหว) เท่านั้นจะทำได้ 

และนั่นอธิบายความบ้าคลั่งต่อการถ่ายทำสัตว์ของแอนท์เลอร์ที่แม้ต้องตายเพื่อให้ได้ชอตที่งดงามก็ไม่เป็นไร แม้จะเป็นเพียงการถ่ายเพื่อหาเงิน แต่แอนท์เลอร์ผู้เชื่อในพลังของภาพยนตร์ก็ทุ่มหมดหน้าตัก เพราะภาพยนตร์ ไม่ใช่ ‘เรียลลิตี้’ แต่เป็น ‘ดอคูเมนท์’ เป็นการบันทึกสิ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ บันทึกสิ่งที่อาจจะมีให้เห็นเพียงครั้งเดียว ไปจนถึงบันทึกสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาหรือมองไม่ได้ การมองผ่านภาพยนตร์เป็นการมองที่ปลอดภัย แม้แต่สิ่งที่มองไม่ได้ เราก็ได้เห็น มันจึงเป็นการฟาดฟันของทุนกับศิลปะ ที่ทั้งน่าเศร้า น่าขัน และน่าตื่นเต้น 

SAY NOPE TO MEDUSA

การณ์กลายเป็นว่า นี่ไม่ใช่ยูเอฟโอ แต่เป็นสัตว์! สัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร และเหยื่อของมันก็คือชาวบ้านชาวเมือง มันซ่อนตัวหลังก้อนเมฆ และสูบกินผู้คน ในเวลานี้เองโอเจค่อย ๆ เรียนรู้มันเหมือนที่เขาเรียนรู้เรื่องม้า และเขาพบว่า เขาจะรอด ถ้าเขาไม่มองมันตรง ๆ

การมองไม่ได้ มีนัยยะที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในแง่หนึ่งภาพยนตร์ทำหน้าที่มองสิ่งที่เรามองเห็นไม่ได้ ดินแดนโพ้นไกลที่เดินทางไปไม่ถึง สัตว์ใต้ทะเลลึก อวกาศแสนไกล หรือแม้แต่ภายในร่างกายของเราเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เราสามารถใช้กล้องจ้องมองแทน และเราสงบปลอดภัยผ่านการชมมันในห้องมืด ภาพยนตร์ถ่ายทำสิ่งที่เรามองเห็นได้และมองเห็นไม่ได้ ภาพยนตร์จึงมีอำนาจในการครอบครองความรู้ ขณะเดียวกันก็ปิดตาเราจากการมองสิ่งที่ภาพยนตร์ไม่อยากให้เห็นด้วยการกำหนดการมองเห็นของเราด้วย ถ้าพวกเขาคิดว่าภาพยนตร์กอบกู้โลกได้ด้วยการบันทึกภาพสัตว์ประหลาดบนฟ้า มันก็เป็นเพราะพวกเขามองภาพยนตร์ได้ แต่มองสัตว์นั้นไม่ได้ ถ้ามองพวกเขาจะตาย ภาพยนตร์เลยยิ่งใหญ่กว่าการเป็นแค่สตาฟฟ์ฝึกม้า ภาพยนตร์กลายเป็นสายตาแทนสายตา เป็นกระจกสะท้อนเงา เป็นประสบการณ์มือสองที่อาจสำคัญกว่ามือหนึ่ง


การมองไม่ได้ มีนัยยะที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในแง่หนึ่งภาพยนตร์ทำหน้าที่มองสิ่งที่เรามองเห็นไม่ได้ ดินแดนโพ้นไกลที่เดินทางไปไม่ถึง สัตว์ใต้ทะเลลึก อวกาศแสนไกล หรือแม้แต่ภายในร่างกายของเราเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เราสามารถใช้กล้องจ้องมองแทน และเราสงบปลอดภัยผ่านการชมมันในห้องมืด ภาพยนตร์ถ่ายทำสิ่งที่เรามองเห็นได้และมองเห็นไม่ได้ ภาพยนตร์จึงมีอำนาจในการครอบครองความรู้


แต่การมองไม่ได้ยังชวนให้ประหวัดไปถึงปกรณัมแห่งกอร์กอน การมองไม่ได้ทำให้นึกถึงเมดูซ่า นางปีศาจที่มีหัวเป็นงู และใครก็ตามที่จ้องตานางจักต้องตายกลายเป็นหิน เมดูซ่าถูกนำมาใช้เป็นสัญญะสำคัญในการพูดถึงผู้หญิง ในบทความชิ้นสำคัญของ Helene Cisoux นักเขียน นักวิชาการและนักสตรีนิยมชาวฝรั่งเศสชื่อ เสียงหัวเราะของเมดูซ่า (The Laugh of Medusa) ซึ่งเขียนขึ้นในปี 1976 บทความที่เป็นเสมือนการท้าทายต่อแนวคิดจิตวิเคราะห์แบบชายเป็นใหญ่ของฟรอยด์และลากองนี้ ได้เปรียบเทียบผู้หญิงเข้ากับเมดูซ่า นางปีศาจในตำนานที่มีเส้นผมเป็นงู และหากใครสบตานางจะกลายเป็นหิน (ซึ่งก็นั่นเท่ากับไม่มีใครเห็นเธอจริง ๆ และเธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของความตาย ผู้หญิงคือสิ่งอันตราย ผู้หญิงคือความลึกลับและความตาย) เมดูซ่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกปลดปล่อยจากความเป็นชาย จากประวัติศาสตร์แนวคิดบูชาลึงค์ทำให้ผู้หญิงเป็นสิ่งลึกลับดำมืด เป็นสิ่งที่ต้องหลบซ่อน เป็นเพียงขั้วตรงข้ามที่ทำให้ความเป็นชายมีความหมาย Cisoux เขียนถึงเมดูซ่าสั้นๆ ว่า*1

‘ที่คุณต้องทำคือจ้องเมดูซ่าตรงหน้าเพื่อที่จะมองเห็นเธอ และเธอจะยังไม่ตาย เธอช่างสวยงาม และเธอกำลังหัวเราะ’*2

นอกจากความเหมือนของการไม่อาจมอง สัตว์ประหลาดนี้ยังมีลักษณะแบบเพศหญิง โดยเฉพาะช่องเปิดของมันที่เป็นเหมือนทั้งปากและถ้ำ/อุโมงค์ที่เป็นสัญญะของสิ่งที่คุกคามและสั่นคลอนความเป็นคนดำชนชั้นกลางในหนังของพีลเอง (sunken place ใน Get Out และ อุโมงค์ใน Us จึงเป็นเป็นพี่น้องท้องเดียวกับรูเปิดของสัตว์ประหลาดบนฟ้า) เราอาจบอกว่านี่คือโยนีลอยฟ้า และเมื่อมันสยายปีกขยายตัวออก มันก็มีรยางค์ยืดยาวคล้ายกับผมของเมดูซ่า เมดูซ่าที่เป็นตัวแทนของความเป็นหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ อุปลักษณ์สตรีนิยมนี้ไม่ได้กินความหมายแค่สตรี เพราะในกาลต่อมา Feminism ได้โอบรับเอาสิ่งที่ท้าทายต่อกรอบคิดชายเป็นใหญ่แบบเดิม ทั้งเควียร์และชนกลุ่มน้อยผู้ถูกกดขี่มาเป็นส่วนหนึ่งด้วย เจ้าสัตว์ลึกลับนี้ในทางหนึ่งจึงเป็นภาพของสิ่งที่ไม่มีใครรู้จัก อันตราย และน่ากลัวซึ่งหากคิดในนามของโลกแบบเดิม มันต้องถูกพิชิต ถูกตัดหัวเหมือนกับเมดูซ่า

SAY NOPE TO CHTHULU

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โอเจคิดเกี่ยวกับสัตว์นี้ไม่ใช่การพิชิต ไม่ไช่การฆ่า  แต่คือการ ‘หาข้อตกลง’ (Make Agreement) กับสัตว์ร้ายนี้ เขาเป็นคนเลี้ยงม้า ชีวิตวุ่นอยู่กับการฝึกม้าให้เชื่อง แต่สัตว์ร้าย (ที่ได้ชื่อว่าจีน แจคเกต ตามชื่อของม้าที่พ่อควรให้น้องสาวขี่ แต่กลับเอาไปเข้ากล้อง ม้าที่ควรเป็นสัตว์ของเด็กสาวกลายที่เป็นสัตว์รับใช้ทุน เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่เป็นเพียงการรับใช้ทุน) ไม่สามารถทำให้เชื่องได้ เพราะนี่คือเมดูซ่า คือสัตว์ที่สามารถกินผู้ฝึกได้  

สัตว์ที่ฝึกไม่ได้ และเมดูซ่า ก็พาเรากลับไปหาแนวคิดอันลือลั่นของ ดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Haraway) นักปรัชญาคนสำคัญที่สำรวจความเป็นไปได้ของมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์และสิ่งแวดล้อม ฮาราเวย์เสนอแนวคิด Chthulucene*3 ที่เป็นการย้อนทางแนวคิดที่ต่อยอดจากแนวคิดการแบ่งยุคสมัยของโลก จากลักษณะทางธรณีวิทยาที่แผ่ลามออกไปสู่แนวคิดอื่น ๆ ที่ว่าด้วย Anthropocene คือความคิดที่ว่าหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม อัตราเร่งความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งใบเปลี่ยนจากภัยพิบัติใหญ่ ๆ มาเป็นน้ำมือของมนุษย์ เพราะเราอยู่ในโลกยุคที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและสามารถเปลี่นแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์ ดินฟ้าอากาศจากการเติบโตของอุตสาหกรรม บริโภคนิยม และทุนนิยม

Chthulucene มาจากทางตรงกันข้าม ฮาราเวย์เสนอแนวคิดนี้จากการกลับไปอ่านวรรณกรรมและค้นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลกโดยเคลื่อนย้ายศูนย์กลางจากมนุษย์มาเป็นสิ่งอื่น ซึ่งเธอให้ชื่อว่า Chthulu มาจาก Cthulu สัตว์ประหลาดมีหนวดเหมือนปลาหมึกใน The Call of Cthulu ของ เอช. พี. เลิฟคราฟท์ (โดยเธอเติมตัว h ลงไปอีกตัวเพื่อเน้นย้ำความต่างต้นฉบับ) สัตว์ประหลาดหนวดปลาหมึกเป็นอุปมาของเธอต่อบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เช่น เทพเจ้า พระแม่ธรณี หรือคือโลกนั่นเอง สิ่งประหลาดที่ในโลกที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง มนุษย์ต้องพิชิต ทำลายล้างและครอบครอง แบบเดียวกันกับที่ทีมขุดเจาะน้ำบาดาลใน Leio แย้ยักษ์ ต้องฆ่าแย้ยักษ์ทิ้งโดยไม่ต้องใช้การใคร่ครวญเพียงเพราะการดำรงอยู่ของมันก็เป็นภัยคุกคามมากเพียงพอแล้ว สำหรับฮาราเวย์ กับสิ่งประหลาดที่ยิ่งใหญ่มีความเป็นแม่ ที่ไม่ใช่แม่ที่แสนดี แต่เป็นทั้งแม่ที่ดีและแม่ที่ขี้โมโหอารมณ์ร้าย ไม่ใช่แค่มอบธรรมชาติหรือแหล่งน้ำ แต่สามารถมอบภัยธรรมชาติหรือทำลายมนุษย์ได้ด้วยนี้นั้น สิ่งที่มนุษย์พึงทำไม่ใช่พิชิต แต่คืออยู่ร่วม หรือ ‘make kinship’ สร้างความเป็นเครือญาติกับมัน แบบเดียวกับการมีสายสัมพันธ์ที่ทับซ้อนในแนวระนาบที่พัวพันกันไปมาจนไม่อาจหาจุดตั้งต้นได้ของหนวดปลาหมึก ซึ่งเป็นฟอร์มเดียวกันกับผมบนหัวของเมดูซ่า (ตรงกันข้ามกับสายสัมพันธ์ที่แข็งเกร็งและแบ่งชนชั้นชัดเจน แบบสายการบังคับบัญชาของมนุษย์) และเป็นฟอร์มเดียวกันกับการสยายจิ๋มอากาศของสัตว์ประหลาดในหนังเรื่องนี้ (ที่ว่ากันว่าพีลได้ไอเดียการออกแบบมาจาก Evengelion)

มันจึงน่าสนใจที่หนังมีการ make kinship สองแบบ แบบแรกคือจูป ชายที่เชื่อว่าตัวเองเคย make kinship กับกอร์ดี้และทำให้ตัวเองรอดจากการอาละวาด และแน่นอนเขาพยายามจะ ‘ขาย’ การ make kinship นี้ด้วยการขายมัน แต่สัตว์ประหลาดไม่ต่อรองด้วย ในขณะที่โอเจดูเหมือนต้องการ make kinship กับมันในอีกแบบหนึ่ง เขาอาจจะเริ่มอยากฝึกมัน เรียนรู้มัน และเมื่อรู้ว่าฝึกไม่ได้ เขาก็พอใจที่จะเรียนรู้กันและกันเพื่ออยู่ร่วม ไม่ใช่เอาชนะ 


มันจึงน่าสนใจที่หนังมีการ make kinship สองแบบ แบบแรกคือจูป ชายที่เชื่อว่าตัวเองเคย make kinship กับกอร์ดี้และทำให้ตัวเองรอดจากการอาละวาด และแน่นอนเขาพยายามจะ ‘ขาย’ การ make kinship นี้ด้วยการขายมัน แต่สัตว์ประหลาดไม่ต่อรองด้วย ในขณะที่โอเจดูเหมือนต้องการ make kinship กับมันในอีกแบบหนึ่ง เขาอาจจะเริ่มอยากฝึกมัน เรียนรู้มัน และเมื่อรู้ว่าฝึกไม่ได้ เขาก็พอใจที่จะเรียนรู้กันและกันเพื่ออยู่ร่วม ไม่ใช่เอาชนะ


WHAT IS THE REBEL?, A  MAN WHO SAYS NOPE

กระนั้นก็ตาม นี่ไม่ใช่หนังที่ว่าด้วยการพยายามอยู่ร่วมกับความแปลกปลอมที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งอย่างที่กล่าวไป มันอาจแทนที่ได้ด้วยความเป็นหญิง (ในโลกของผู้ชาย) ความเป็นเควียร์ (ในโลกของรักต่างเพศ) ความเป็นคนดำ(ในโลกของคนขาว) สัตว์ประหลาดต่างดาวที่มีพลังมากพอจะกลืนกินมนุษย์ล่องลอยอยู่เหนือหัวเรา ไม่รู้จะกลืนกินเราไปวันไหน ช่างขัดแย้งกับโลกเสรี ดูจะเป็นภัยมากกว่าเพื่อน ดูมีเหตุผลที่ต้องกำจัดมากกว่าอยู่ร่วม เพราะเราไม่สามารถให้อะไรอยู่เหนือมนุษย์ได้ (แม้แต่โลกและภัยธรรมชาติ) 

หากในขณะเดียวกัน โลกทุนนิยมก็มีช่องทางทำกินจากสิ่งประหลาดนี้ จากความเป็นสตรี เป็นเควียร์ เป็นคนดำ ทุนนิยมสามารถเปลี่ยนทุกอย่างเป็นสินค้า จูปจึงสามารถขายตั๋วชวนคนมาดูสัตว์ประหลาดตัวใหม่ที่ร้ายกาจกว่ากอร์ดี้ ในขณะที่โอเจและเอ็มและแองเจิ้ล สามสหาย ไม่ได้ต้องการเป็นเพื่อน เรียนรู้อะไรจากสิ่งประหลาดบนฟ้า พวกเขาต้องการคลิปเอาไปขาย ขอก่อนพวกสำนักข่าวจะมาถึง ขอเป็นมายบริดจ์คนต่อไป ทุกคนจึงพูดว่าไม่! ใส่ ‘สิ่งที่อธิบายไม่ได้บนฟากฟ้า’ ในแบบของตัวเอง 

อัลแบต์ กามู (Albert Camus) เป็นคนกล่าวประโยคสำคัญ ‘การปฏิวัติคืออะไร? มันคือใครสักคนลุกขึ้นมาพูดว่าไม่’*4 ไม่เอาอีกแล้ว ไม่ทนอีกแล้ว ขอปฏิเสธโครงสร้างดั้งเดิมที่กดทับ ใน Planet of the Apes (2001, ทิม เบอร์ตัน) ฉบับรีเมคที่ว่าด้วยลิงฉลาดที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติมนุษย์ ประโยคสำคัญที่ลิงซีซาร์พูดขึ้นเพื่อก่อการปฏิวัติคือคำว่า ไม่! แต่ลิงกอร์ดี้ไม่ใช่ซีซาร์ การพูดว่าไม่ของกอร์ดี้จึงเป็นเพียงลิงอาละวาดที่ต้องถูกยิงทิ้ง ขณะเดียวกัน การพูดว่าไม่ของตัวละครในเรื่อง ซึ่ง ‘ไม่’ ไม่ใช่คนดำที่ถูกกดขี่อีกแล้ว ตัวละครคนดำของพีลเป็นคนดำชนชั้นกลางที่ร่ำรวย ไปกันได้ดีกับสังคมเสรีนิยมใหม่และทุน พูดให้ง่าย ๆ คือเป็นคนดำที่ถูก ‘ฝึก’ แล้ว ‘ฝึกได้’ แล้ว สิ่งที่คกุคามพวกเขาจึงคือความเป็นคนดำที่มีจิตวิญญาณของคนขาว (ใน Get Out) คนดำที่ยากจน (Us) และความเป็น ‘คนดำที่ไม่สามารถถูกฝึกได้’ ในหนังเรื่องนี้ 

แต่พวกเขาไม่ใช่นักปฏิวัติ ไม่ใช่นักคิดปรัชญา พวกเขาไม่พูดว่า “ไม่” เพื่อต้านระบอบเดิม หรือพูดว่า “ไม่” เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์แบบใหม่ของโลกกับมนุษย์ พวกเขาพูดว่า “ไม่” แบบไม่รู้ ไม่แคร์ ไม่เอาน่า! พวกเขาถูกเปรียบเปรยเป็นสัตว์มาตลอด เป็นเพียงส่วนต่อขยายของม้าในหนังของมายบริดจ์และในกองถ่าย ไปจนถึงการที่หนังทั้งเรื่องแบ่งบทจากชื่อม้าในฟาร์ม ยกเว้นเพียงบทแรกที่พูดว่าไม่ พวกเขาพูดว่าไม่ ไม่ปฏิวัติ ไม่สร้างเครือญาติ เพราะทุกอย่างอยู่ในสิ่งที่ใหญ่กว่าคือทุนนิยม พวกเขาแค่ต้องการขายมันและร่ำรวย เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างและร่ำรวย สร้างเครือญาติกับสิ่งประหลาดและร่ำรวย 

ความเป็นผู้หญิง เป็นเควียร์ และเป็นคนดำ จึงเป็นสินค้าที่ขายได้ เป็นคลิปวิดีโอและภาพถ่าย ไม่มีอีกแล้วการพิชิต แม้ท้ายที่สุด การพิชิตมันจะเกิดขึ้นโดยน้ำมือของผู้หญิง/เควียร์คนเดียวในเรื่องนั่นคือเอ็ม ที่เป็นทั้งผู้หญิง คนดำ และอาจเป็นเลสเบี้ยน หากมันเป็นไปเพื่อการล่อสัตว์มาถ่ายรูป และหนำซ้ำ สิ่งที่ทำร้ายจีน แจคเกตได้จริง ๆ คือหุ่นยางพลาสติกที่เป็นตัวการทำลายโลกนี้ แบบเดียวกับมนุษย์โยนขยะพลาสติกลงทะเล แต่ทั้งหมดไม่ได้เป็นไปเพื่อคุณค่าไม่ว่าจะจากฟากฝั่งใด มันเป็นไปเพื่อให้ทุนได้ขับเคลื่อน ทุนกลายเป็นขอบฟ้าของทางออกที่เราเห็นได้แค่นั้น จนแม้แต่การมาถึงของสัตว์ต่างดาวหรืออะไรก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงขอบฟ้าของทุนนิยมนี้ไปได้อีกแล้ว


*1 https://filmclubthailand.com/film-review/a-question-of-silence/

*2 https://www.jstor.org/stable/3173239

*3 https://www.youtube.com/watch?v=XzgT1vXNf8c

*4 https://en.wikipedia.org/wiki/The_Rebel_(book)

Wandering : ในโลกแห่งการปิดฉลาก

*หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

ตอนซาระสะอายุสิบขวบ เธอเคยโดนลักพาตัวไป

จะเรียกว่าลักพาตัวก็ไม่ถูกนัก เรื่องจริงคือซาระสะในวัยนั้นเป็นเด็กกึ่งกำพร้า แม่ทิ้งเธอไว้กับป้าและหนีไปกับสามีใหม่ ป้าเห็นเธอเป็นตัวปัญหา และลูกชายวัยม.ต้นของป้าก็ชอบเข้ามาในห้องนอนของเธอ วันนั้นเธอไม่อยากกลับบ้าน แม้ฝนจะตกเธอก็ยังนั่งอ่านหนังสืออยู่ จนมีคนมากางร่มให้

จะเรียกว่าลักพาตัวก็ไม่ถูกนัก เรื่องจริงคือซาระสะในวัยนั้นเป็นเด็กกึ่งกำพร้า แม่ทิ้งเธอไว้กับป้าและหนีไปกับสามีใหม่ ป้าเห็นเธอเป็นตัวปัญหา และลูกชายวัยม.ต้นของป้าก็ชอบเข้ามาในห้องนอนของเธอ วันนั้นเธอไม่อยากกลับบ้าน แม้ฝนจะตกเธอก็ยังนั่งอ่านหนังสืออยู่ จนมีคนมากางร่มให้

เขาคือฟุมิ หนุ่มนักศึกษาผอมบาง คนที่ค่อนข้างเศร้า เขาก็เช่นเดียวกันกับเธอ โดดเดี่ยวอยู่ในสวนสาธารณะ เธอขอไปบ้านเขา เขาอนุญาต เธอนอนหลับที่นั่น หลับอย่างกับคนตาย เขาให้เธอกินไอติมเป็นมื้อค่ำ เธอถามเขาว่าเธออยู่ที่นี่เลยได้ไหม และเขาก็อนุญาตอีก

แต่เขาชอบจ้องมองเธอตอนเธอหลับ เขาตามใจเธอเกินเลยราวกับว่ามีเฉพาะแต่การอยู่ด้วยกันกับเด็กวัยเธอเท่านั้นที่ทำให้เขาสงบจิตใจลงได้ กินข้าวด้วยกัน เล่นกัน ดูการ์ตูนด้วยกัน อ่านบทกวีของ เอดการ์ อลัน โป ด้วยกัน ช่วงเวลาแสนอ่อนโยนของมนุษย์สองคนเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วเมื่อฟุมิโดนจับข้อหาพรากผู้เยาว์ เขาเป็นไอ้พวกโลลิคอนรักเด็กและซาระสะเป็นเหยื่อของเขา แม้เธอจะไม่ได้คิดว่าเธอเป็นก็ตาม

หลายปีต่อมา ซาระสะเติบโตขึ้น เธอไม่ได้ข่าวฟุมิอีกเลย ตอนนี้เธอทำงานเป็นสาวเสิร์ฟ คบหากับชายหนุ่มหน้าตาดี ทำงานบริษัทใหญ่ มีบ้านร่ำรวยที่ต่างจังหวัด ทุกวันหลังเลิกงานเธอรีบกลับบ้านไปทำกับข้าวให้เขา เขาอยากพาเธอไปบ้าน อยากจัดงานแต่งงาน ต่อให้เธอมีอดีตอะไรมาก็ไม่เป็นไร ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนเขาหวงเธอมาก ๆ และมักจะควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ วันหนึ่งเธอกับเพื่อนไปร้านกาแฟลึกลับที่อยู่บนชั้นสองของตึก แล้วเธอพบว่าเจ้าของร้านคือฟุมิของเธอ เขายังคงผอมบางโดดเดี่ยว เธอคิดถึงเขา เธอรู้สึกผิดต่อเขา เธอพบว่าเขามีแฟนแล้ว ใช้ชีวิตเงียบ ๆ แต่เธออยากเจอเขา อยากใช้เวลากับเขา แฟนของเธอตามมาเจอเธอที่ร้าน และทุกอย่างก็เริ่มเลวร้ายลงหลังจากนั้น

นี่คือภาพยนตร์ที่งดงามและเจ็บปวด โดย Lee Sang-il คนทำหนังญี่ปุ่นที่มีเชื้อสายเกาหลี หนังยืนอยู่บนริมขอบของการ romanticise พวกใคร่เด็ก กับการจ้องมองลงไปในน้ำเนื้อของความเป็นมนุษย์ เพราะแม้แต่พวกใคร่เด็กถึงที่สุดก็เป็นมนุษย์ หนังทำให้นึกถึงสารคดีสั้นจากเนเธอร์แลนด์เรื่อง Among Us (2014, Guido Hendrikx) ที่คนทำลงไปพูดคุยกับคนที่เป็นพวกใคร่เด็กซึ่งมีทั้งวัยกลางคนไปจนถึงเด็กวัยรุ่น subject คนหนึ่งในหนังเล่าว่าเขาเฝ้ามองเด็กชายข้างบ้านถอดเสื้อทุกวันโดยไม่อาจระงับอารมณ์เพศของตัวเองได้ เขาถามว่าเขาควรทำอย่างไรดี ในเมื่อเขาเองยังอายุไม่เต็มยี่สิบ เขาต้องอยู่กับความรู้สึกแบบนี้ไปตลอดชีวิต เขาควรฆ่าตัวตายไปเลยหรือเปล่า ทุกอย่างจะได้จบลง

ในโลกของการแปะป้ายติดฉลาก ซาระสะและฟุมิได้รับการแปะป้ายในฐานะเหยื่อและผู้ล่า หนังเปิดตัวซาระสะในวัยผู้ใหญ่ด้วยการให้เด็กวัยรุ่นในร้านที่เธอทำงานดูคลิปการจับฟุมิในอดีต เรื่องราวการถูกลักพาตัวของเธอดำรงคงอยู่ เปลี่ยนเธอจากผู้หญิงคนหนึ่งไปเป็นเหยื่อชั่วนิรันดร์ เช่นเดียวกับที่ฟุมิที่พาเธอไปที่บ้าน แม้เขาไม่ได้ข่มขืนเธอ แต่การกระทำของเขาเพียงพอแล้วที่จะครบองค์ประกอบทางกฎหมายของการพรากผู้เยาว์ และครบองค์ประกอบของสังคมในการแปะป้ายใคร่เด็กให้กับเขา

กล่าวตามจริงหนังอาจจะหมิ่นเหม่และท้าทายได้มากกว่านี้อีกมาก หากฟุมิลงมือกระทำกับซาระสะจริง ๆ อย่างไรก็ตาม การที่เขาไม่ได้กระทำกับซาระสะจริง ๆ กลับไม่ใช่การทำให้พวกใคร่เด็กเป็นเรื่องโรแมนติก แต่นำไปสู่สิ่งซึ่งเจ็บปวดยิ่งกว่า เพราะเมื่อค้นลงไปในชีวิตของฟุมิ ปมเขื่องในใจของเขาไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกใคร่เด็ก แต่คืออาการป่วยทางกาย ความพิการทางกายภาพของการไม่เติบโตตามวัย และนั่นนำไปสู่ความรู้สึกของการไม่เป็นที่ต้องการจากแม่ การถูกทอดทิ้งชั่วนิรันดร์

หนังฉายภาพครอบครัวของฟุมิที่น่าจะร่ำรวย อยู่บ้านดีไซน์หรู และบอกว่าแม่ไม่สามารถทนกับสิ่งชำรุดได้ ต้นไม้ที่ไม่โตต้องถูกถอนทิ้ง ลูกชายที่ไม่โตต้องถูกเอาไปซ่อนไว้ สิ่งนี้ต่างหากที่กัดกินเขา สำคัญสำหรับเขาเสียจนการเป็นพวกใคร่เด็กก็ยังดีกว่าเป็นของชำรุดของแม่ แปะฉลากชั่วช้ายังดีกว่าฉลากของการคัดทิ้ง เขาถึงกับบอกซาระสะว่าถ้าหากถูกจับคนก็จะได้ ‘รู้ความจริงกัน’

ในขณะเดียวกัน ซาระสะที่ถูกแปะป้ายว่าเป็นเหยื่อหนึ่งครั้งก็ต้องเป็นไปตลอด แม้เธอจะพยายามบอกทุกคนเบา ๆ ว่าเธอไม่ได้รู้สึกเป็นเหยื่อเลยสักนิดในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงานที่มองเธอเป็นเหยื่อ คนรักของเธอก็ยังมองเธอเป็นเหยื่อและใช้ความ ‘ด่างพร้อย’ ที่สังคมแปะป้ายให้เธอให้เป็นประโยชน์สำหรับเด็กขาดรักอย่างเขาที่เชื่อว่า เธอจะไม่มีวันทิ้งเขาไป แม้เขาจะขี้หึงอย่างบ้าคลั่งและไม่สามารถควบคุมการใช้ความรุนแรงในตัวเองได้

หนังเจาะลึกลงไปในตัวเรียวคุง คนรักของซาระสะที่ดูภายนอกปกติได้รับการแปะป้ายเป็นชายหนุ่มอนาคตไกล แต่ภายในกลับสั่นไหวไม่มั่นคง ปรารถนาจะรักและครอบครองคนรักเพื่อชดเชยความรักจากแม่ที่ทิ้งไป เขาเป็นเหมือนด้านตรงข้ามของฟุมิ คนชำรุดขาดพร่องที่อันตราย เพียงแต่สังคมแปะป้ายพวกเขาต่างกัน ที่ทางของสังคมจึงแตกต่างกัน

ในแง่หนึ่งซาระสะจึงกลายเป็นเหยื่อในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ตัว แต่ถูกสังคมแปะป้ายให้เป็นเหยื่อในอีกเรื่องหนึ่งไปแทน การที่เธอไม่สามารถพูดออกมาได้ว่าลูกพี่ลูกน้องของเธอต่างหากที่ล่วงละเมิดเธอ เพราะความกลัวจนพูดไม่ออก ส่งผลให้ฟุมิได้รับบทอาชญากรที่สมบูรณ์แบบ และเธอเก็บความรู้สึกผิดจากการทำร้ายคนเดียวบนโลกที่เธออาจจะรักเอาไว้กับตัว จนเมื่อเธอพบเขาอีกครั้งและบอกกับเขาว่า สำหรับเขา เธออยากจะขอโทษ “ถ้าให้เธอไปตายเธอก็จะไปให้ทันที” เพราะครั้งหนึ่งเขาปกป้องเธอจากโลก แต่เธออ่อนแอเกินกว่าจะปกป้องเขากลับ อ่อนแอถึงขนาดที่ยอมให้คนรักมีเซ็กซ์ด้วยทุกค่ำคืนทั้งที่เธอไม่รู้สึกรู้สม เป็น asexual ที่ต้องซ่อนความรู้สึกเอาไว้ ทนทรมานในฐานะคนปกติดีกว่าถูกแปะป้ายว่าเป็นเหยื่อไปตลอด


ต้นไม้ที่ไม่โตต้องถูกถอนทิ้ง ลูกชายที่ไม่โตต้องถูกเอาไปซ่อนไว้ สิ่งนี้ต่างหากที่กัดกินเขา สำคัญสำหรับเขาเสียจนการเป็นพวกใคร่เด็กก็ยังดีกว่าเป็นของชำรุดของแม่ แปะฉลากชั่วช้ายังดีกว่าฉลากของการคัดทิ้ง

มันจึงกลายเป็นว่า เด็กหญิงลูกสาวของเพื่อนร่วมงานที่เอามาฝากซาระสะไว้ขณะที่เธอไปเที่ยวกับแฟนใหม่กลายเป็นกระจกสะท้อนของตัวซาระสะในวัยเด็กไปด้วย เมื่อฟุมิกลับมาหาเธอ อย่างก้ำกึ่งว่ามาหาเธอหรือมาหาเด็กหญิงกันแน่ ในเวลาเดียวกันกระบวนการแปะป้ายทางสังคมก็ขยับเขยื้อนกลไกของมันไม่เลิกรา จากคนกับคนไปสู่สื่อ ไปสู่บริษัทของซาระสะ และไปถึงตำรวจ หรือแม้แต่ผู้ชม ยิ่งเมื่อพวกเขาอ่านบทกวีของโปด้วยกัน บทกวีแสนเศร้าเล่าเรื่องของเด็กชายที่มองเห็นความงามในความน่าหวาดสยองของพายุ ทุกคนพร้อมจะกล่าวหาผู้คนโดยมองจากป้ายล่องหนที่แปะไว้กับตัว บทบาทสถานะของเหยื่อ ของผู้ล่า ที่สังคมแขวนไว้ให้พวกเขาจะไม่มีทางสลัดหลุดไปตลอดชีวิต เว้นแต่จะลงมือเชือดข้อมือตัวเองแบบเรียวคุง

หนังจบลงอย่างโรแมนติกที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนสองคนที่ไม่เป็นที่ต้องการของโลก ในอีกทางหนึ่งก็ไม่อาจเป็นของกันและกันได้อย่างสุดใจ เพราะฟุมิไม่อาจทำใจหลงใหลหญิงสาวโตเต็มวัย และซาระสะไม่ปรารถนาเรื่องทางเพศ

หากเพื่อต่อต้านโลกที่ไม่ปรานีต่อความแตกต่าง โลกที่เพียงต้องการการจัดหมวดหมู่และกีดกันคนที่ไม่เข้าพวกออกไปจากสังคมเพื่อให้ตัวเองได้นอนหลับอย่างสบายใจ โลกที่เราเองก็มักเป็นส่วนหนึ่งของการปิดฉลากเหล่านี้ จากความกลัวของเรา ความไม่มั่นคงของเรา และเรามักคิดว่านั่นคือสิ่งชอบธรรม ส่วนสิ่งที่เกิดกับฟุมิและซาระสะก็เป็นเพียงผลข้างเคียงของคนโชคร้ายเท่านั้น แต่พวกเขาก็ตัดสินใจจะต่อต้านโลกของการแปะป้ายไปด้วยกัน ไม่ใช่ด้วยการหันหน้าเข้าหากัน แต่หันมองไปในทิศทางเดียวกัน และอาจจะพิงหลังกันและกัน เพื่อที่จะยืนยันว่าพวกเขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับคนอื่น

โหยหานักขุด : เสียงสะท้อนจากโปรแกรมประกวด Asian Vision ในเทศกาล TIDF

ในวิกฤติที่เราอาศัยอยู่

คำเชิญให้ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลของ เทศกาลสารคดีนานาชาติไต้หวันครั้งที่ 13 (TIDF) เดินทางมาถึงในขณะที่เรากำลังอยู่ในสภาวะที่อาจจะเป็นช่วงวิกฤติที่สุดในศตวรรษนี้ แม้แต่แค่เฉพาะสถานการณ์ในเอเชียเพียงอย่างเดียว การระบาดใหญ่ทั่วโลกไม่เพียงทำลายเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน หากยังจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและสิทธิ์ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเราอย่างรุนแรง

แรงปรารถนาในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนถูกทำลายล้างจากการรัฐประหารของทหารในเมียนมาร์ และเจตจำนงของประชาชนในการปกป้องวิถีประชาธิปไตยถูกบดบังด้วยการจับกุมและคุมขังนักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่ออย่างไร้ความปราณีหลายครั้งในฮ่องกง ไม่เพียงในประเทศเหล่านี้ ความรู้สึกสิ้นหวังในหมู่คนหนุ่มสาวยังสะท้อนไปทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะในมาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินเดีย หรือศรีลังกา โดยตระหนักว่าการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาไม่ได้รับการตอบรับจากชนชั้นสูงทางการเมือง และตอนนี้ที่สงครามได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในยุโรป ความกังวลเกี่ยวกับสงครามเย็นครั้งใหม่ กระทั่งความเป็นไปได้ของสงครามโลกครั้งที่สามหรือการขาดแคลนอาหารอย่างหายนะได้คืบคลานเข้ามาในจิตใจของพวกเราทุกคน


การตามหาความจริงในยุคหลังความจริง

อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่ใหญ่กว่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับ ความสัมพันธ์ของเรากับความจริง เมื่อทั้งในรายการข่าว เว็บไซต์ ไปจนถึงโพสต์บนโซเชียลมีเดียทำให้เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าความจริงกำลังเล็ดลอดผ่านนิ้วมือของเราไป และนี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่กำลังตกอยู่ในอันตราย แม้แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นรากฐานในการค้นหาความจริงก็กลับกลายไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป เพราะมันถูกแทนที่อย่างช้า ๆ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ข้อเท็จจริงทางเลือก” และ “การปลอมแปลงอย่างลึกซึ้ง” ดังที่เราเห็นได้ในสงครามยูเครนที่ราวกับจะพิสูจน์ว่าเป็นสงครามแห่งยุค “หลังความจริง” และ “ข้อเท็จจริงทางเลือก” เมื่อคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ, ข้อเท็จจริงทางเลือกที่ใช้เทคโนโลยี deep fake และการเปลี่ยนไปมาระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องเล่า ด้วยเหตุนี้ ภายใต้การมาถึงของอาณาจักร “หลังความจริง” ผู้คนจึงแตกแยกอย่างลึกซึ้งยิ่ง

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงเหล่านี้ ใครบ้างที่ไม่รู้สึกหลงทาง? จะมีใครเชื่อในอะไรอีก? มนุษยชาติได้สูญเสียกระดูกสันหลังด้านศีลธรรมและจริยธรรมไปแล้วหรือยัง? จากนี้ไป ใช่หรือไม่ที่คนที่เสแสร้งเก่งกว่าจะชนะในทุกสถานการณ์แทนที่จะเป็นคนที่พูดความจริง?

ฉันคงต้องบอกว่า สิ่งนี้คือวิกฤตการณ์ร้ายแรงสำหรับมนุษยชาติ ความรู้สึกของการสูญเสียรากฐานของความไว้วางใจจะกระทบเราอย่างหนักและจะกลายเป็นภาระทางจิตที่ยิ่งใหญ่ ในไม่ช้าพวกเราหลายคนอาจยิ่งเศร้าโศก สูญเสียแรงจูงใจหรือเริ่มมองหาใครก็ตามที่ดูเหมือนจะสามารถนำทางเราได้ในช่วงเวลาที่ไม่มั่นคงนี้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นนักปราชญ์ ผู้นำทางการเมือง นักสอนศาสนา หรือกลุ่มลัทธิก็ตาม

แล้วกับวัฒนธรรม ศิลปะ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ฯลฯ เล่า? มันจะยังสามารถทำงานเป็นเครื่องชำระล้างจิตใจได้อยู่อีกหรือไม่? มันจะยังคงมอบความรู้สึกถึงคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และความถูกต้องแก่ผู้คนเมื่อพวกเขาต้องการมากที่สุดได้หรือเปล่า?

ฉันเชื่อว่าผู้ชมจำนวนมากก็หวังอยากเห็นว่า ผู้สร้างภาพยนตร์จะควบคุมศิลปะของสารคดีอย่างไร เพื่อทำให้มันเป็นอิสระและสร้างสรรค์มากขึ้นทั้งในการเข้าหาความจริง หากก็ทำให้มันเป็นมากกว่าแค่การรายงานข่าว เพื่อที่จะชุบชูและเฉลิมฉลองแก่นแท้ของความจริงของสิ่งที่ศิลปินเรียกว่าจินตนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช่นนี้


TIDF เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้ แม้เราไม่อาจคาดหวังอะได้มากไปกว่านี้ หากฉันหวัง และฉันเชื่อว่าผู้ชมจำนวนมากก็หวังอยากเห็นว่า ผู้สร้างภาพยนตร์จะควบคุมศิลปะของสารคดีอย่างไร เพื่อทำให้มันเป็นอิสระและสร้างสรรค์มากขึ้นทั้งในการเข้าหาความจริง หากก็ทำให้มันเป็นมากกว่าแค่การรายงานข่าว เพื่อที่จะชุบชูและเฉลิมฉลองแก่นแท้ของความจริงของสิ่งที่ศิลปินเรียกว่าจินตนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช่นนี้ เราไม่ต้องการที่จะเดินจากไปโดยรู้สึกถึงการสูญสิ้นศรัทธาต่อความสามารถในการจินตนาการของเรา และการนำจินตนาการนั้นไปใช้อย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่า

ดังนั้น เมื่อฉันได้ดูภาพยนตร์สองเรื่องแรกในเทศกาลคือ A Night of Knowing Nothing และ Blue Island ฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หนังทั้งสองได้พิสูจน์ว่า เวทีภาพยนตร์ยังคงเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้าน และการต่อต้านไม่ได้เป็นเพียงการต่อต้านสถานการณ์ทางการเมือง แต่ยังต่อต้านบรรดาการจงใจเสียดเย้ยหยามเหยียดทีเพื่อที่จะฆ่าความเชื่อในความจริงของเราทิ้งเสีย 

Blue Island

บางทีสิ่งที่ฉันรู้สึกอาจจะคือความโล่งใจ หากมันก็มักตามมาด้วยความเศร้า เศร้าเพราะสำหรับทั้งสองกรณีนี้ทั้งในอินเดียและฮ่องกง สถานการณ์นับจากช่วงเวลาที่หนังถูกสร้างขึ้นจนถึงตอนนี้มันยังไม่ได้ดีขึ้นเลย บางทีอาจจะแย่ลงด้วยซ้ำ ฉันเศร้าเพราะประเด็นของสิ่งที่หนังทั้งสองเรื่องนี้เล่า เช่น การเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ การล่าอาณานิคม การปราบปรามผู้เห็นต่าง ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลกกระทั่งในตอนนี้โดยแทบไม่เคยจะกระเตื้องขึ้น

การได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของเทศกาลภาพยนตร์สารคดีครั้งนี้ผูกพ่วงมาพร้อมกับความยุ่งยากใจบางอย่าง ความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของการยินดีที่ได้เห็นภาพยนตร์คุณภาพหลายเรื่อง ในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่ามีปัญหามากมายในโลกนี้ นอกจากนี้ยังมีอีกความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่เราอาจต้องเลือกจัดลำดับความสำคัญของปัญหาหนึ่งมากกว่าเรื่องอื่น ๆ แม้ว่าเราจะพูดถึงแค่เรื่องคุณภาพของภาพยนตร์แต่ละเรื่องเท่านั้น

ความรู้สึกเป็นสุข ความโล่งอก ความเศร้าโศก และภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหล่านี้อยู่กับฉันตลอดการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ มันเป็นวังวนของอารมณ์ที่ฉันได้ผ่านพ้นไป และฉันต้องบอกว่ามันคุ้มค่าอย่างยิ่ง


A Night of Knowing Nothing

ตัวตนและความเป็นตัวของตัวเอง

เริ่มต้นด้วย A Night of Knowing Nothing ภาพยนตร์ที่น่าทึ่งเกี่ยวกับการแสวงหาความจริงของเราในช่วงเวลาหลังความจริง หนังใช้ภาพทุกประเภทที่อยู่รอบตัวเราทุกวันนี้ ตั้งแต่ภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ไปจนถึงโฮมวิดีโอ ฟุตเทจจากสมาร์ตโฟน ภาพจากกล้องวงจรปิด ภาพซ้อน ไปจนถึงกราฟิตีและคลิปข่าว และแทนที่หนังจะฟาดเราแล้วทำให้พวกเราสับสนกับภาพเหล่านี้ หนังกลับเปลี่ยนมันให้กลายเป็นถ้อยแถลงถึงความเปลี่ยนแปลงที่ทั้งทรงพลังและเป็นส่วนตัว โลกที่เปลี่ยนไปนั้นไม่ต้องการความฉาบฉวยและหลอกลวงของสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะการสื่อสาร” หรือ “เครือข่ายสังคม” อีกต่อไป หากมันกลับนำเสนอช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญอย่างจริงจังต่อกัน – เธอกับฉัน การปะทะกันของงภาพและเสียงที่เหมือนความฝันจะเผยให้เห็นความจริงของโลกนี้ ด้วยความรู้สึกที่แข็งกร้าวจนเกือบจะเป็นความรู้สึกของการประกาศชัยชนะ ซึ่งเป็นความจริงในตัวตนของศิลปินเอง

ความปรารถนาอย่างสุดใจที่จะใคร่ครวญตนเองและผู้อื่นนั้น ยังรู้สึกได้จากหนังอย่าง Children of the Mist และ Transparent, I Am ด้วย โดย Children of the Mist เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กสาวชาวม้งในหมู่บ้านบนภูเขาที่ห่างไกลในเวียดนาม คนที่กำลังมองหาอนาคตและความสัมพันธ์ที่ดีกว่าตอนนี้ อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ยังสามารถตีความได้ว่าเป็นความพยายามของคนทำในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเธอเองกับตัวเอก

ในทางกลับกัน Transparent, I Am เป็นหนังทดลองขนาดสั้นที่แสดงถึงความพยายามของคนทำที่จะมองดูสภาพจิตใจของเธอเองผ่านภาพคาไลโดสโคป

Children of the Mist
Transparent, I Am

การได้ค้นพบตัวเอง – ช่างเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังอะไรเช่นนี้! และเจ้าความยิ่งใหญ่นี้แหละที่เราสามารถใช้มันในการต่อต้านเผด็จการที่มีทั้งเป้าหมายและกลยุทธ์ที่แม่นยำในการทำให้เราสงสัยในตัวเอง Blue Island คือสิ่งนี้ คนทำหนังเรื่องนี้ชักชวนบรรดานักเคลื่อนไหวจากการประท้วงในปี 2019 มารับบทเป็นบรรดาคนฮ่องกงที่เคยประสบกับความโกลาหลในช่วงเวลาต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ของเกาะ และด้วยการรับบทนั้นเหล่านักเคลื่อนไหวปี 2019 –ซึ่งบางคนยังคงรอการพิจารณาคดีอยู่ในขณะที่ทำหนังเรื่องนี้– ได้ค้นพบประวัติศาสตร์ ผู้คน และที่สำคัญที่สุดคือตัวพวกเขาเอง ในตอนท้ายของหนังยังมีการแนะนำบรรดานักเคลื่อนไหวในการประท้วงปี 2019 ทีละคน ราวกับว่ากำลังท้าทายอำนาจ ด้วยการเน้นย้ำถึงความเป็นปัจเจกของพวกเขาซึ่งผู้มีอำนาจถือว่าเป็นเพียงตัวเลข

ในอีกแง่ ความตายอันชวนสยองขวัญของปัจเจกบุคคุลก็ถูกถ่ายเก็บไว้ใน Little Palestine, Diary of a Siege ซึ่งเล่าถึงชีวิตประจำวันของชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ถูกปิดล้อมในซีเรีย เราเห็นผู้คนเดินเตร่อยู่ตามท้องถนนราวกับฝูงผี “ภายใต้การปิดล้อม ผู้คนออกเดินอย่างไม่รู้จบ ในเขตที่มีการแบ่งเส้นพรมแดน พวกเขาทำได้เพียงหยิบฉวยรอยยิ้มที่ความตายไม่สะดุดมันในคืนก่อนมาไว้กับตัวเท่านั้นเอง” คนทำหนัง/ผู้เล่าเรื่องอธิบายไว้เช่นนี้ ตัวคนทำหนังซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยเช่นกันคว้าจับภาพเศษเสี้ยวรอยยิ้มเหล่านั้นเอาไว้ได้ แต่ในไม่ช้ารอยยิ้มจาง ๆ เหล่านั้นก็รวมเป็นมวลหมู่ของการต่อสู้เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ และสุดท้าย พวกเขากลายเป็นตัวหนังสือ บางคนกลายเป็นชื่อของผู้ตาย และบางคนเป็นชื่อที่ต้องลี้ภัยในที่อื่นชั่วคราว

Little Palestine, Diary of a Siege

โรคระบาดในฐานะอุปมา

สำหรับผู้ชมจำนวนมากที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือการล็อกดาวน์ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ประสบการณ์การชมภาพยนตร์จะไม่เหมือนกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดอีกต่อไป อาจเป็นเพราะประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในโรงตอนนี้ได้กลายเป็นเหมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพ หรืออาจเป็นเพราะพวกเราบางคนเริ่มมองหาคำอุปมาเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ในภาพยนตร์ หรือเพื่อให้การระบาดใหญ่เป็นการอุปมาของปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมายในโลก เช่นเดียวกับที่เราทำกับโรคเอดส์ในทศวรรษที่ 80 ในแง่นี้ Little Palestine, Diary of a Siege จึงกลายเป็นมากกว่าเรื่องราวที่น่าสลดใจของชาวปาเลสไตน์ ในเขตผู้ลี้ภัยเล็ก ๆ ในซีเรีย เราอาจเห็นภาพสะท้อนของคนในเซี่ยงไฮ้หรือแรงงานอพยพที่ถูกคุมขังในอาคารในสิงคโปร์ได้เช่นกัน

โดยทั่วไปแล้ว เอเชียไม่มีชื่อเสียงในการจัดลำดับความสำคัญของสิทธิส่วนบุคคลอยู่เหนือผลประโยชน์ของหน่วยงานที่มีอำนาจกว่า โรคระบาดได้ช่วยขยายความจริงข้อนี้ให้ชัดขึ้น เมื่อหน้ากากกลายเป็นอุปมาที่เปิดเผย เพราะด้วยหน้ากาก คุณได้กลายเป็นสมาชิกที่ “เหมาะสม” ของสังคม เมื่อสวมหน้ากาก คุณอยู่ภายใต้และควรทำตามคำสั่ง ผู้ที่ไม่มีหน้ากากจะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจระบุตัวคุณโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น หน้ากากที่อาจเป็นสัญญาณของความสุภาพและการดูแลผู้อื่นในเวลาปกติได้กลายเป็นธงเล็ก ๆ ที่คุณพกติดตัวตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าคุณดูแลตัวเองอย่างไรจากอันตรายต่าง ๆ ทั้งจากไวรัสและ PM 2.5

The Burrows

และนั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมภาพยนตร์เรื่อง The Burrows ให้ความรู้สึกสดใหม่ ที่เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจีน ครอบครัวหนึ่งกำลังสร้างสุสานของตน พวกเขาเป็นญาติของคนทำหนังและได้รับการแนะนำทีละคนโดยคนทำหนังเองจากภายในหลุมฝังศพ ในช่วงเวลานั้นผู้คนยังคงหวาดกลัวต่อไวรัสที่เพิ่งค้นพบในอู่ฮั่นมาก เสียงที่สะท้อนในอากาศคือเสียงประกาศของหมู่บ้าน : ห้ามออกไปเที่ยวข้างนอก ห้ามพูดคุย ห้ามถอดหน้ากาก นี่กล้าดียังไงถึงได้ออกมารื่นรมย์รับแดด!

ทว่าในดินแดนเล็ก ๆ แห่งนี้ เราเห็นครอบครัวนี้ทำตรงกันข้าม พวกเขาออกไปเที่ยวกันอย่างอิสระโดยไม่สวมหน้ากาก พูดคุยกันเสียงดัง และไม่ว่าพวกเขาจะเพลิดเพลินกับแสงแดดหรือไม่ พวกเขาก็ได้ใช้สิทธิ์ (ของตัวเอง) ในการแสดงความคิดเห็นแน่นอน แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในหัวข้อต่าง ๆ ตั้งแต่การออกแบบสถาปัตยกรรม ข้อสังเกตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ราวกับว่าพวกเขาไม่กลัวอะไรเลย

ครอบครัวที่ดูไม่สนใจอะไรนี้เองได้มอบแรงบันดาลใจอันพิลึกพิลั่นนี้แก่เราว่า ในที่ดินเล็ก ๆ แบบนี้ –ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างใหญ่กว่าหลุมฝังศพทั่วไปที่เราเห็นในประเทศอื่น ๆ– พื้นที่ที่คนทำหนังเรียกมันว่า “โพรง” ได้กลายเป็นอุปมาของหลายต่อหลายอย่าง ตั้งแต่เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ เป็นไฮด์ปาร์ก หรือจะเป็นสนามวาทกรรมว่าด้วยศิลปะก็ยังได้ ด้วยการเล่าเรื่องต่าง ๆ จากวัยเด็กของคนทำ (ที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องจริง) หรือการพูดถึงความฝันแปลก ๆ ที่คนทำหนังได้เห็นว่าโพรงกลายเป็นจักรวาลของตัวเอง (ครอบครัวเขาถึงกับเรียกมันว่า “สวรรค์บนดิน”) หากนอกจักรวาลนี้ยังคงมีโลกจริงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ซ่อนอยู่ในน้ำเสียงเหยียดหยามของประกาศสาธารณะที่แผ่ความเยือกเย็นของข้อความแบบราชการออกไป ทว่าสิ่งนี้กลับถูกเอ่ยออกมาโดยตรงกันข้ามกับน้ำเสียงที่มีลักษณะเฉพาะ เซื่องซึมและน่าขนลุก ซึ่งช่วยเสริมความมหัศจรรย์ของเรื่องราวของเขา เซตติ้งของหนังที่คล้ายคลึงกับงานของ Ionesco*1  ช่วยให้เราตีความไปได้อีกว่า ครอบครัวนี้ดูว่างมากเพราะกำลังขุดหลุมฝังศพของตัวเองหรือไม่? หรือพวกเขามองว่าที่นี่เป็นพระราชวังของตัวเองพอ ๆ กับที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสุสานหรือเปล่า? พวกเขาไม่ได้บอกว่าพวกเขาเป็นเหมือนวัดด้วยหรือ? ความจริงที่ว่าชื่อ “โพรง”ใช้รูปพหูพจน์ก็น่าสนใจเช่นกัน มันทำให้เราจินตนาการว่าโพรงที่แปลกประหลาดนี้นั้นเพิ่มจำนวนขึ้นมาได้อย่างไร


สรุป

หลังจากได้ดูหนังเหล่านี้ทั้งหมด หนึ่งในความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุด -หรือจะเรียกว่าความโล่งใจก็ได้- สำหรับฉัน คือความจริงที่ว่าไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับข่าวปลอม คลิกเบท โพสต์เกลียดชัง แคนเซิลคัลเจอร์และสิ่งต่าง ๆ ที่ไหลท่วมท้นอยู่ในโทรศัพท์, คอมพิวเตอร์ และชีวิตของเรา ในช่วงเวลาของการเหยียดหยามต่อความจริง, ต่อคุณงามความดีของความจริงนี้ และการค้นหาตัวเองในสารคดีฉายแสงผ่านภาพยนตร์ทุกเรื่อง และความจริงใจของคนทำนั้นรู้สึกได้ชัดเจนผ่านวิธีที่พวกเขาใช้การรักษาวัฒนธรรมไว้

ลองนึกถึง 12 ปีที่ HUANG Hsin-yao คนทำหนัง A Silent Gaze ใช้ไปในการถ่ายทำชีวิตประจำวันของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล นึกถึงความมุ่งมั่นของ HEO Chul-nyung ผู้สร้างภาพยนตร์ 206: Unearthed ที่จะติดตามผลงานอันประณีตที่อาสาสมัครทำเพื่อขุดศพผู้เสียชีวิตระหว่างสงครามเกาหลี คิดถึง HYUGA Fumiari คนทำ Tokyo Kurds ผู้ซึ่งอยู่เคียงข้างผู้ลี้ภัยชาวเคิร์ดรุ่นเยาว์ไม่ว่าจะกี่ร้อนกี่หนาว อธิษฐานให้พวกเขาและหวังว่าในที่สุดพวกเขาจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยที่เหมาะสมและพ้นจากลิมโบที่แสนทรมานนี้

A Silent Gaze

นท้ายที่สุด การกระทำที่ดูเหมือนสามัญดาษดื่นที่สุดกลับได้ติดอยู่ในใจของฉัน และนั่นคือ “การขุด” ซึ่งการขุดในหนังต่างเรื่องกันก็แสดงความหมายที่ต่างกันไปตามสถาณการณ์ และการขุดได้กลายเป็นอุปมาที่แตกต่างกันออกไป เด็กสาวขุดดินเพื่อ “เก็บเกี่ยว” หญ้าเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในเมืองที่ถูกปิดล้อมใน Little Palestine, Diary of a Siege อาจเป็นสัญลักษณ์ที่น่าเศร้าของการพลัดถิ่น หากมันก็อาจตีความได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของปรับตัวได้เช่นกัน ในปี 206: Unearthed การขุดเป็นการกระทำที่ท้าทายเพื่อค้นหาความจริง หากในเรื่อง A Silent Gaze ซึ่งดำเนินเรื่องตามชีวิตประจำวันและพิธีกรรมของเมืองเล็ก ๆ ได้เสนอคำอุปมาเรื่องการขุดครั้งใหญ่ให้เราเห็นว่า “เพื่อให้เมล็ดพืชเติบโต เราต้องเพาะปลูกต่อไป” และใน The Burrows การขุดอาจเปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่จักรวาลใต้ดิน สิ่งที่รอคอยคืออิสรภาพหรือนรกขั้นสุดท้ายที่เราไม่รู้ และชะตากรรมของนักสำรวจไม่เป็นที่รู้จัก

สุดท้ายนี้ บรรดาภูมิปัญญาและเหล่าความคิดที่เกิดขึ้นนี้ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากเหล่าสามัญชนคนธรรมดา ซึ่งหากว่าสิ่งนี้ไม่ได้มอบความหวังให้เราสำหรับยุค “หลัง-ความจริง” นี้แล้วล่ะก็ ฉันก็ไม่รู้แล้วว่าจะมีอะไรที่ช่วยได้อีก


*Ionesco : Eugene Ionesco นักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศสที่เป็นที่รู้จักจากบทละครแนวแอบเสิร์ด

Maid in Malacañang : เมื่อลูกมาร์กอสทำหนัง หวังล้างคราบเผด็จการ

แค่เดือนเดียวหลัง บงบง มาร์กอส (Bongbong Marcos, ลูกชายเฟอร์ดินานด์กับอิเมลดา มาร์กอส) กับ ซาร่า ดูเตอร์เต (Sara Duterte, ลูกสาวโรดริโก ดูเตอร์เต) ควงแขนเข้าทำเนียบมาลากันยังแบบแพ็คคู่ด้วยคะแนนเลือกตั้งระดับโคตรแลนด์สไลด์ หนังที่เขียนภาพเชิงบวกให้ตระกูลมาร์กอสเรื่องหนึ่งก็เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศฟิลิปปินส์

Maid in Malacañang เจาะลงไปเล่าเรื่อง 72 ชั่วโมงสุดท้ายของสมาชิกตระกูลมาร์กอสในทำเนียบมาลากันยัง ก่อนต้องยอมจำนนให้การขับไล่ของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ เก็บข้าวของขึ้นเครื่องบินออกนอกประเทศไปเกาะฮาวาย เล่าผ่านสายตาแม่บ้านประจำทำเนียบสามคนที่(หนังบอกว่า)มีตัวตนจริง ในฐานะชาวบ้านที่กลายเป็นประจักษ์พยานสัมผัสรู้เห็นจุดจบของระบอบมาร์กอสอย่างใกล้ชิด โดยใช้นักแสดงชื่อดังสวมบทเฟอร์ดินานด์ อิเมลดา ลูกสาวลูกชายทั้งสามคน ไปจนถึง คอราซอน “คอรี่” อาคีโน (Corazon Aquino, ภริยาม่ายของ เบนิญโญ “นินอย” อาคีโน จูเนียร์ -ผู้นำฝ่ายตรงข้ามมาร์กอสคนสำคัญที่ถูกลอบสังหาร- ซึ่งได้เป็นประธานาธิบดีถัดจากมาร์กอส)

หนังฉายรอบพรีเมียร์ค่ำวันที่ 29 กรกฎาคม แล้วเข้าโรงรอบแรกในอีกห้าวันต่อมา (3 สิงหาคม) แต่กระแสต่อต้านระลอกแรกก่อตัวขึ้นตั้งแต่ก่อนรอบสื่อ เมื่อตัวอย่างหนังฉายภาพกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่มาร์กอสเมื่อปี 1986 (People Power Revolution หรือ EDSA Revolution) ถือคบเพลิงบุกเข้าทำเนียบประธานาธิบดีแล้วทุบทำลายทรัพย์สิน มีฉากคอรี่สวมเสื้อเหลือง (สีของฝ่ายต้านมาร์กอส) ตั้งวงเล่นไพ่นกกระจอกกับกลุ่มนางชีแห่งคณะคาร์เมไลท์ (Carmelite nuns) ในคืนที่เธอหลบซ่อนตัวจากมือสังหารของรัฐบาลมาร์กอสหลังปรากฏตัวเข้าร่วมชุมนุมที่จังหวัดเซบู และพูดผ่านโทรศัพท์ในอีกคัตว่า “เอาพวกมันออกไปจากฟิลิปปินส์”

ฉากคบเพลิงโดนฟาดทันทีว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง เจตนาให้คนเห็นผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยปี 1986 ว่าเป็นม็อบพวกมากลากไปใช้ความรุนแรง คณะบาทหลวงโรมันคาทอลิกที่มีประวัติศาสตร์ยึดโยงกับ EDSA Revolution และสำนักชีในเซบูซึ่งถูกพาดพิงก็เรียกร้องให้ชาวฟิลิปปินส์บอยคอตหนัง “ความพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ครั้งนี้ต้องถูกประณาม” คุณแม่อธิการคนปัจจุบันของสำนักชีแถลง ชี้แจงเพิ่มว่าบรรดาซิสเตอร์ในตอนนั้นต่างอดอาหารและสวดภาวนาให้ผู้ชุมนุมประท้วงขับไล่มาร์กอส และฉากไพ่นกกระจอกที่หนังจินตนาการขึ้นเองทั้งหมด “จงใจลดทอนการมีส่วนร่วมด้านประชาธิปไตยของพวกเรา” พร้อมสร้างภาพว่าคอรี่ไม่แยแสความทุกข์ยากของประชาชนท่ามกลางวิกฤติทางการเมือง

เมื่อเสียงต้านเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหนังฉาย เดาได้ไม่ยากว่าย่อมเกิดเสียงตีกลับว่าให้ดูหนังก่อนค่อยลงดาบตัดสิน บทวิจารณ์สองชิ้นใน The Manila Times แย้งกลับว่า ภาพในหนังไม่ใช่การบิดเบือนประวัติศาสตร์ แต่คือใบอนุญาตทางศิลปะ (artistic license) ที่เปิดช่องให้ดัดแปลงปรับเปลี่ยนหรือตีความเหตุการณ์ใหม่เพื่อรับใช้แนวคิดหลัก การเล่าเรื่อง หรือสิ่งที่ผู้สร้างต้องการสื่อในภาพรวม และผู้กำกับ ดาร์ริล ยัป (Darryl Yap, ผู้สร้างชื่อจากหนัง “จริตกะเทย” ขายเซ็กซ์กับความอื้อฉาว ซึ่งตลอดปี 2021 มีหนังเข้าฉายถึงสิบเรื่อง) ก็ช่วงชิงพื้นที่สื่อด้วยการฟาดกลับเสียงวิจารณ์ของนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และวงการภาพยนตร์ฝั่งแอนตี้มาร์กอส โดยบอกว่าเขาไม่ได้ทำหนังสารคดีหรือชีวประวัติ เพราะนี่คือหนัง dramedy (ดราม่า + คอมเมดี) ที่โฟกัสประเด็นครอบครัว เพียงแต่เป็นครอบครัวมาร์กอส

“Maid in Malacañang ไม่ได้เจตนาเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ในแบบที่เราคิด หนังเพียงแง้มช่องลองสำรวจอีกมุมว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านมาร์กอส ตลอดสามวันก่อนที่พวกเขาจะจากไป ถูกพาตัวไป หรือถูกบีบบังคับให้ต้องไป (…) พ้นไปจากฟากฝ่ายการเมืองหรืออคติทางระวัติศาสตร์ หนังเรื่องนี้กำลังเล่าถึงครอบครัวหนึ่งก็เท่านั้น (…) การแก้ไขดัดแปลงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงไม่ใช่สิ่งที่ต้องเป็นกังวล หากคือการมอบความเป็นมนุษย์ให้ตัวละครที่ถูกป้ายสีในอดีตต่างหาก” คือส่วนหนึ่งของบทวิจารณ์ดังกล่าว

แต่เมื่อตัวอย่างหนังเปิดหัวด้วยข้อความ “สร้างจากเรื่องจริงที่ไม่เคยมีใครเล่า” (based on the untold truth) และหนึ่งในโปรดิวเซอร์คือ อิมี่ มาร์กอส (Imee Marcos) ลูกสาวคนโตของเฟอร์ดินานด์กับอิเมลดาที่เพิ่งชนะเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ แถมเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญ มันก็ทำใจให้ปล่อยผ่านหรือเชื่อตามได้ยากเอาเรื่อง


อิมี่กับดาร์ริลทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ผ่านผลงานซีรี่ส์เสียดสีการเมืองฟิลิปปินส์) ก่อนที่อิมี่จะเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และที่ปรึกษาหลักของหนังเรื่องนี้ ที่เปิดโอกาสให้ทีมงานเข้าไปตบแต่งคฤหาสน์ประจำตระกูลเป็นทำเนียบประธานาธิบดีในปี 1986 แถมยังให้ใช้ข้าวของสมบัติพัสถานในวิหารมาร์กอสเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก – ความสนิทสนมระหว่างนั้นย่อมมีผลไม่มากก็น้อยให้ดาร์ริลเริ่มคิดและเตรียมการทำหนังเรื่องนี้ ก่อนตัดสินใจได้เด็ดขาดเมื่อถึงวันเลือกตั้ง

ประเด็นเรื่องหนังตั้งใจบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อฟอกขาวให้มาร์กอส ทำให้สองนักแสดงหญิงในเรื่องเจอทัวร์ลงกระหน่ำ – เอลลา ครูซ (Ella Cruz) ซึ่งรับบทลูกสาวคนเล็ก ไอรีน มาร์กอส (Irene Marcos) ต้องยอมขอโทษสังคม หลังให้สัมภาษณ์โปรโมตหนังแล้วเปรียบเปรยทำนองว่า ประวัติศาสตร์ที่เคยรับรู้กันมา (อันว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนใต้กฎอัยการศึกของมาร์กอส) ก็เหมือนเรื่องกอสซิป ส่วน จิเซลล์ ซานเชซ (Giselle Sanchez) ผู้แสดงเป็นคอรี่ แถลงผ่านเฟซบุคส่วนตัวหลังถูกอัดหนักว่าได้พยายามหาหลักฐานยืนยันความจริงของฉากไพ่นกกระจอกกับฉากคุยโทรศัพท์แล้ว แต่ “หลักฐาน” ที่เธออ้างอิงถึงก็มีแค่เมสเสจจากอิมี่ มาร์กอส ซึ่งตอบว่า “พวกอเมริกันบอกเรามาตามนั้น”

ในขณะที่อิมี่กับดาร์ริลพยายามปกป้องสิทธิและความชอบธรรมของหนังด้วยการยกเรื่อง artistic license หรือการเป็นหนัง family dramedy มาเป็นเกราะกำบัง (รวมถึงบริจาคเงินหลักแสนเพื่อผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในรอบสื่อ) พวกเขาก็เน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าหนังเรื่องนี้คือความจริงอีกด้านที่ฟิลิปปินส์ไม่เคยเปิดใจรับฟัง ดาร์ริลบอกว่าผลเลือกตั้งครั้งล่าสุด “คือบทพิสูจน์ครั้งสำคัญว่าฟิลิปปินส์พร้อมฟังเสียงของฝั่งมาร์กอสแล้ว” และหนังเรื่องนี้คือโอกาสแรกที่ชาวฟิลิปปินส์จะได้รับรู้เรื่องราวของตระกูลมาร์กอส “ที่ไม่ได้เล่าผ่านมุมมองของฝ่ายต่อต้าน” อย่างที่เคยเป็นมา

“ฉันไม่ได้พยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ หรือยื่นมือไปแก้ประวัติศาสตร์ของใคร ความจริงมันก็แค่ฉันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ EDSA ตัวฉันเลยไม่มีสิทธิจะพูดถึง EDSA – ฉันมีสิทธิพูดว่าเกิดอะไรขึ้นที่มาลากันยัง เพราะพวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตในมาลากันยัง แต่ฉันเคยอยู่ในมาลากันยัง” อิมี่ตอบคำถามในรายการหนึ่ง

ทั้งคู่ยังใช้พื้นที่สื่อกล่าวอีกหลายครั้งว่า Maid in Malacañang ได้ทำหน้าที่อย่างผลงานศิลปะซึ่งยั่วยุ ก่อกวนความรู้สึกผู้ชม และกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงในสังคม เหตุผลข้อนี้ทำให้สมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ (Society of Filipino Film Reviewers หรือ SRRF) ต้องออกแถลงการณ์ประณามเพื่อตอบโต้ “ระบอบมาร์กอสจูเนียร์ที่ฉวยใช้ศิลปะและภาพยนตร์เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข้อมูลเท็จและบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างโจ่งแจ้ง”

“ใบอนุญาตทางศิลปะที่มอบให้คนทำหนังและคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม หาใช่การยืนยันสิทธิให้พวกเขาเมินเฉยหรือบ่อนเซาะทำลายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยักยอกทรัพย์สมบัติของชาติภายใต้กฎอัยการศึกที่ปรากฏเป็นหลักฐานบันทึก เสรีภาพดังกล่าวขึ้นตรงต่อมาตรฐานทางจริยธรรมและศีลธรรมอันเป็นรากฐานของการสร้างภาพยนตร์ และกินความถึงผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง” แถลงการณ์ของ SRRF ที่มี 38 รายชื่อสนับสนุนกล่าวต่อไปว่า “การต่อต้านแข็งขืนซึ่งกลายเป็นแนวปฏิบัติของภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ ดังปรากฏในผลงานของลิโน บรอกคา (Lino Brocka) อิชมาเอล เบอร์นัล (Ishmael Bernal) และลาฟ ดิอาซ (Lav Diaz) แสดงให้เห็นชัดว่าเราไม่อาจหักล้างความจริงและชี้นำเพื่อนร่วมชาติไปในทางที่ผิด เพียงเพื่อหวังจะสร้าง ‘ผลงานศิลปะซึ่งยั่วยุและก่อกวนความรู้สึก’ เพราะนั่นย่อมไม่ใช่ผลงานของศิลปินที่แท้จริง หากคือสิ่งช่วยค้ำยันสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (the culture of impunity)”

แถลงการณ์ปิดท้ายด้วยข้อเรียกร้องถึงเพื่อนนักวิจารณ์ภาพยนตร์และคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมให้ตื่นตัวอยู่เสมอ คอยจับตาผลงานที่อุตสาหกรรมลงทุนสร้างหรือมอบพื้นที่เผยแพร่จัดแสดงว่ามีแนวคิดต่อต้านประวัติศาสตร์ หรือตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐหรือไม่ รวมถึงขอให้สาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นคอหนังระดับซีเนไฟล์หรือคนธรรมดา ได้ตระหนักถึงเนื้อหาในสินค้าทางวัฒนธรรมที่เลือกเสพหรือรับชมมากขึ้น


“ใบอนุญาตทางศิลปะที่มอบให้คนทำหนังและคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม หาใช่การยืนยันสิทธิให้พวกเขาเมินเฉยหรือบ่อนเซาะทำลายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยักยอกทรัพย์สมบัติของชาติภายใต้กฎอัยการศึกที่ปรากฏเป็นหลักฐานบันทึก เสรีภาพดังกล่าวขึ้นตรงต่อมาตรฐานทางจริยธรรมและศีลธรรมอันเป็นรากฐานของการสร้างภาพยนตร์ และกินความถึงผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง”

โจเอล ลามังกัน ใน The Halt

โจเอล ลามังกัน (Joel Lamangan, ผู้แสดงบทประธานาธิบดีเผด็จการใน The Halt ของลาฟ ดิอาซ) คือสมาชิกคนแรกของสมาคมผู้กำกับฟิลิปปินส์ที่เปิดหน้าประณาม Maid in Malacañang (เขาบอกว่าถูกฝ่ายสนับสนุนมาร์กอสขู่ฆ่า) และจับมือกับนักเขียนบทละครเวทีชั้นครู โบนิฟาชิโอ อิลากัน (Bonifacio Ilagan) ประกาศหาทุนสร้างหนังเพื่อตอบโต้ผลงานฟอกคราบเผด็จการเรื่องนี้ ไม่ว่าจะผ่านสตูดิโอ โปรดิวเซอร์ หรือต้องระดมทุนแบบ crowdfunding – ทั้งคู่เคยติดคุกเพราะกฎอัยการศึกในสมัยมาร์กอส

“โจเอลประกาศทำหนังตีแผ่ความจริงสมัยกฎอัยการศึก เพราะตอนนี้ Maid in Malacañang กำลังท้าทายสิ่งที่เรายึดถือ – แต่ตอนนี้ผมมีหนังที่ทำเสร็จอยู่แล้ว ผมก็พร้อมฉายให้ประชาชนได้เห็นเรื่องราวอีกด้านหนึ่ง” วินซ์ ทันยาดา (Vince Tañada) ผู้กำกับละครเวที หลานชายของอดีตแอ็คติวิสต์และสมาชิกวุฒิสภาที่ติดคุกในสมัยมาร์กอส บอกกับสื่อหลังตัดสินใจส่งหนังของเขาเข้าฉาย เพื่อแสดงสัญลักษณ์ท้าชนการยึดโรงของความจริงฉบับตระกูลมาร์กอส

Katips: The Movie เพิ่งกวาด 6 รางวัล (จากการเข้าชิง 17 ที่นั่ง) รวมสองสาขาใหญ่คือหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก “ออสการ์ฟิลิปปินส์” หรือ FAMAS Award เมื่อคืนวันที่ 30 กรกฎาคม (หนึ่งวันหลังรอบสื่อหนังมาร์กอส) อาจคิดเชื่อมโยงได้ว่าบรรยากาศการเมืองหลังชัยชนะของบงบง มาร์กอส ส่งผลให้กรรมการโหวตหนังเรื่องนี้อยู่ไม่มากก็น้อย (แต่ในคืนเดียวกัน อิมี่ มาร์กอส ก็ได้รางวัลเชิดชูเกียรติจากเวทีนี้) เพราะหนังเพลงซึ่งดัดแปลงจากละครเวทีมิวสิคัลเรื่องนี้ เล่าเรื่องกลุ่มแอ็คติวิสต์นักศึกษาจากย่านคาติปูนัน (Katipunan) ในเกซอนซิตี้ ที่ลุกขึ้นประท้วงการประกาศกฎอัยการศึกของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

หลังฉายแบบจำกัดโรงรอบแรกตั้งแต่ปลายปี 2021 การเข้าฉายชนหนังมาร์กอสเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในวันที่ 3 สิงหาคม คือการพาตัวเองไปสู่คนดูวงกว้างเป็นครั้งแรกของหนังอินดี้การเมืองขนาดกลางค่อนเล็กเรื่องนี้ “ถ้าบ้านมาร์กอสบอกว่าหนังเรื่องนั้นบันทึกความรู้สึกก่อนต้องลี้ภัยไปฮาวาย หนังของผมก็คือความรู้สึกของผู้คนในสมัยที่พวกเขายังครองอำนาจอยู่”

อย่างไรก็ดี ต่อให้ทั้งสื่อฟิลิปปินส์และสื่อต่างชาติจะประดับยศให้ Katips: The Movie เป็นผู้ท้าชิงและยาถอนพิษมาร์กอส การเป็นหนังนอกสตูดิโอใหญ่และการติดต่อขอโรงแบบฉับพลันก็ทำให้ต้องแบ่งรอบฉายกับบรรดาหนังท้ายโปรแกรม และคงได้จำนวนผู้ชมเพียงไม่กี่หยิบมือ – สำหรับตัวหนังเอง กระทั่งนักวิจารณ์ฝ่ายแอนตี้มาร์กอสจำนวนหนึ่งยังเขียนตรงกันว่าค่อนข้างโอเวอร์เรต (เมื่อเทียบกับกระแสข่าว) แม้จะเห็นว่าบรรลุหน้าที่ใบเบิกทางสำหรับผู้ชมที่ขาดช่วงจากประวัติศาสตร์บาดแผลในยุคกฎอัยการศึกได้ระดับหนึ่งแล้วก็ตาม

เฟซบุ๊กทางการของ Viva Films (บริษัทผู้สร้าง) โพสต์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมว่า Maid in Malacañang กวาดรายได้ทะลุหลัก 330 ล้านเปโซ (ราว 210 ล้านบาท) เป็นที่เรียบร้อย ครองตำแหน่งหนังฟิลิปปินส์ทำเงินสูงสุดนับตั้งแต่เจอวิกฤติโควิด และใกล้แทรกตัวเข้าตารางท็อป 20 หนังฟิลิปปินส์ทำเงินสูงสุดตลอดกาล (อันดับหนึ่งอยู่ที่ 880 ล้านเปโซ) พร้อมรายงานข่าวไม่ขาดสายตั้งแต่ก่อนหนังฉายว่าเกิดการเหมาตั๋วมาแจกให้คนไปดูหนังฟรี ทั้งจากานายกเทศมนตรีหรือนักการเมืองในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ฝั่งมาร์กอส (และดูเตอร์เต) ไปจนถึงพวกห้างร้านบริษัทเอกชนซึ่งอิมี่ มาร์กอส ติดต่อเองโดยตรง ให้ช่วยเป็นเจ้าภาพนำตั๋วหนังไปแจกตามโรงเรียน


แน่นอนว่าความจริงข้างมาร์กอสคือสิ่งที่หนังต้องการให้คนดูเชื่อ (และการโน้มน้าวให้คนฟังความข้างเดียวตามที่คนเล่าเชื่อย่อมเป็นสิทธิของผู้สร้าง ไม่ว่าจะมีเป้าประสงค์อุดมคติหรือฟากฝั่งการเมืองใด) แต่ถ้าพูดกันในรายละเอียดแล้ว Maid in Malacañang หวังให้คนฟิลิปปินส์เห็นหรือเชื่ออะไร?

บทวิจารณ์ใน Philippine Daily Inquirer ตั้งประเด็นไว้น่าสนใจว่า นอกจากจะบิดพลิ้วแต่งเติมรายละเอียดทางประวัติศาสตร์อย่างที่หลายฝ่ายเฝ้าระวังอยู่ก่อนแล้ว หนังเรื่องนี้ยังจงใจเล่าข้าม ปิดปาก และเมินเฉยต่อบริบททางการเมืองในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ไม่มีความพยายามแม้สักเล็กน้อยที่จะอธิบายเหตุผล หรือปัจจัยที่ส่งผลให้เหล่าทหารระดับนายพล เครือข่ายนักการเมืองที่ค้ำยันระบอบมาร์กอสตลอดมา รวมถึงประชาชนชาวฟิลิปปินส์อีกนับล้านๆ เห็นตรงกันว่าพวกเขาไม่เอามาร์กอสอีกแล้ว – ดาร์ริล ยัป แต่งแต้มกลบเกลื่อนการเล่าข้ามเมินเฉยนี้ด้วยการแทรกคลิปข่าวเหตุการณ์จริงเพียงเล็กน้อย

“นี่คือหนังที่พยายามถึงที่สุดเพื่อให้คุณรับสารเพียงผิวเปลือก และทำทุกวิถีทางเพื่อย่อยทุกสิ่งให้กลืนง่าย หนังต้องการให้คุณคิดว่าครอบครัวมาร์กอสตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสจาก ‘ความเมตตา’ และพื้นเพอย่างคนบ้านนอกต่างจังหวัด โดยไม่กล่าวถึงอีกกว่า 70,000 คนที่ติดคุก 34,000 คนที่ถูกซ้อมทรมาน และ 3,240 คนที่ถูกสังหารภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของคนเป็นพ่อ” บทความ fact-check ของ Rappler สรุปก่อนปิดท้ายว่า “อย่าตกหลุมพราง”

เพราะบริบทนอกทำเนียบย่อมเบี่ยงเบนความรู้สึกคนดูออกจากวัตถุประสงค์หลักของหนัง ซึ่งคือการเร้าอารมณ์ให้ผู้ชมอินไปกับความเจ็บปวดของเฟอร์ดินานด์กับอิเมลดา บทสนทนาช่วงหนึ่งของตระกูลมาร์กอสในเรื่องวนเวียนอยู่กับหัวข้อว่าชาวฟิลิปปินส์จะจดจำพวกเขาอย่างไร “พ่อจะอยู่สู้หน้าหลานๆ ต่อไปได้ยังไง? มีปู่มีตาเป็นทหารแท้ๆ แต่กลับวิ่งหนีศัตรู” เฟอร์ดินานด์ถามไอรีนเมื่อฝ่ายหลังขอให้พ่อออกจากทำเนียบมาลากันยัง ก่อนเธอตอบ “หนูจะทำทุกวิถีทางให้ความจริงปรากฏ แล้วประวัติศาสตร์จะบอกหลานๆ เองว่าตัวจริงของพ่อเป็นคนแบบไหน” ทำนองเดียวกับอิเมลดาที่มั่นใจเหลือเกินว่า “พวกมันจะทำทุกอย่างให้ชาวฟิลิปปินส์จงเกลียดจงชังบ้านเรา” ก่อนบงบงจะตอบพร้อมน้ำตารื้น “ผมสัญญานะแม่ ไม่รู้หรอกว่าต้องทำยังไงหรือจะทำได้เมื่อไหร่ แต่พวกเราจะกลับมา” ในขณะที่อิมี่สำทับปิดท้าย “พวกมันลบความจริงไม่ได้หรอก พ่อคือประธานาธิบดีที่ดีที่สุดของฟิลิปปินส์”

ต่อให้รายล้อมด้วยกระเป๋าแบรนด์เนมหรือเครื่องเพชร ครอบครัวมาร์กอสก็ยังคงสมถะติดดิน กินอาหารง่ายๆ ได้ในช่วงเวลาที่ทำเนียบถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมจนเสบียงใกล้หมด (แต่ในหนังเรื่องเดียวกัน ก็มีฉากอิเมลดาปรายมือสัมผัสบอกลาคอลเล็กชั่นรองเท้านับพันๆ คู่อย่างโหยหาอาลัย และฉากสโลว์โมชั่นแสนกรีดใจ เมื่อสามแม่บ้านได้รับคำสั่งให้ฉีกชุดราตรีสีเหลืองสุดสวยของอิเมลดามาทำผ้าโพกหัว เพื่อจะได้เนียนไปกับกลุ่มผู้ประท้วงแล้วหนีออกจากทำเนียบ) ส่วนเฟอร์ดินานด์ที่ทั้งโลกบันทึกชื่อเป็นจอมเผด็จการ แท้จริงแล้วกลับหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงจนนาทีสุดท้ายในทำเนียบมาลากันยัง หากพยายามสั่งการไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม “ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าท่านไม่อยากให้เกิดการนองเลือด แล้วถึงขนาดนั้นท่านยังคิดถึงคนฟิลิปปินส์ ทุกอย่างในหนังเรื่องนี้มันคนละเรื่องกับสิ่งที่ใครต่อใครพูดกันเลย” คือเสียงผู้ชมคนหนึ่งที่สื่อต่างชาติได้สัมภาษณ์หลังรอบสื่อ

“ประวัติศาสตร์ทางเลือกเหรอ? เปล่าเลย นี่คือเมโลดราม่า” อีกบทวิจารณ์จาก Davao Today ตีตรงจุด “หนังที่ฉายให้เราดูก็ไม่ต่างจากละครหลังข่าวทั่วไปในฟิลิปปินส์ พ่อแม่ลูกตะโกนแหกปาก ร้องห่มร้องไห้ สุดท้ายก็คลี่คลายรักกันเหมือนเดิม” แต่นอกจากการล้างคราบเผด็จการให้บุพการี หรือแอบวาดภาพป้ายสีคอรี่กับ EDSA ยังมีอีกคนหนึ่งที่หนังเขียนบทให้เฉิดฉาย ภายใต้โครงเรื่องอย่างละครน้ำเน่าแนวคนรวยแสนดีที่มีแต่คนเข้าใจผิด

เฉลย: ไม่ใช่แม่บ้านที่หนังทำทียกย่องเชิดชูประหนึ่งมรณสักขีในตอนจบ (พวกเธอเป็นแค่ตัวยิงมุขตลก) ไม่ใช่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน แต่คือ อิมี่ มาร์กอส

หนังเขียนบทให้อิมี่เป็นผู้ตัดสินใจแทบทุกอย่างใน 72 ชั่วโมงสุดท้ายของพ่อกับแม่ เป็นคนบอกให้เฟอร์ดินานด์กุมเก้าอี้ประธานาธิบดีท่ามกลางเสียงประท้วง บอกให้พ่อเรียกตัวตุลาการมาพบกลางดึก สั่งให้พ่อแม่พี่น้องเก็บข้าวของเตรียมออกจากทำเนียบเมื่อสถานการณ์ลุกลาม กระทั่งการตัดสินใจกลับบ้านที่อิโลโกส นอร์เต (Ilocos Norte) หนังยังบอกว่าเป็นความคิดของอิมี่ – เฟอร์ดินานด์ในหนังไว้ใจและชื่นชมอิมี่มาก เรียกเธอว่าลูกสาวสุดที่รักคนเก่งของพ่อ (My darling genius of a girl) บอกว่าเธอคือผู้ช่วยที่ยอดเยี่ยมที่สุดในมาลากันยัง และพ่อไม่มีทางถูกโค่นตำแหน่งหรอก “เพราะลูกพ่ออยู่ที่นี่และพร้อมจัดการทุกอย่าง”

ตรงข้ามกับอิมี่ที่พ่อแม่ชื่นชมไม่ขาดปาก บงบงในหนังกลับถูกพ่อตะคอกใส่ว่าไม่สนใจการบ้านการเมือง ดีแต่เที่ยวผับปาร์ตี้ไปวันๆ แล้วบงบงก็เจ็บปวดน้ำตาไหล บอกพ่อว่าถึงผมจะไม่มีสมองแต่ก็มีหัวใจนะเว้ย (…นี่คืออนาคตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์หรือ “ดา อินทร”)

Rappler ฉีกการสร้างภาพนี้ชนิดลงรายละเอียดเป็นบทความ โดยอ้างอิงบทบันทึก หนังสือ และบทความทั้งของนายพลคนสนิทกับสื่อมวลชนที่ติดตามเหตุการณ์ใกล้ชิด ซึ่งชี้ชัดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่อิมี่ (ขณะนั้นอายุ 31 ปี) จะสามารถเป็นผู้ตัดสินใจแทบทุกสิ่งในห้วงเวลาสำคัญทางการเมืองของระบอบมาร์กอส ต่อให้เฟอร์ดินานด์จะรับฟังและไว้ใจเธออยู่บ้างในบางเรื่องก็ตาม (ท่อนหนึ่งในหนังสือของนายพลผู้ทำงานเคียงข้างเฟอร์ดินานด์มาตลอด 21 ปีเขียนว่า อิมี่พยายามห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่เผาเอกสารสำคัญ เพราะควันมันเยอะ กลัวอาการหอบหืดจะกำเริบ)

หลายเสียง (ทั้งจากบทความ บทวิจารณ์ คอมเมนต์ในอินเตอร์เน็ต รวมถึงเพื่อนนักวิจารณ์ชาวฟิลิปปินส์ของผู้เขียน) จึงเห็นตรงกันว่า Maid in Malacañang ไม่ใช่แค่บิดเรื่องให้คนหลงเชื่อว่าครอบครัวมาร์กอสถูกประวัติศาสตร์ทำร้ายและเข้าใจผิด แต่ยังเป็นเครื่องมือหวังสร้างเครดิตทางการเมืองให้อิมี่ มาร์กอส เก็บกินต่อไปในอนาคต – บางเสียงถึงขั้นคาดการณ์แล้วว่าเธอเตรียมลงสมัครประธานาธิบดีสมัยหน้า และคู่แข่งคนสำคัญก็คงหนีไม่พ้น ซาร่า ดูเตอร์เต


“พวกมาร์กอสรู้จักภาพยนตร์ดี รุ่นพ่อก็ทำหนังชีวประวัติจนพาตัวเองไปถึงตำแหน่งประธานาธิบดี” บทวิจารณ์ใน Davao Today กระตุกความจำว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้คือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย อ้างอิงถึง Iginuhit ng tadhana (Drawn by Fate, 1965) ซึ่งสร้างตั้งแต่เฟอร์ดินานด์ยังเป็นสมาชิกวุฒิสภา และ Pinagbuklod ng langit (Heaven Bound, 1969) ที่เล่าชีวิตหลังเหยียบทำเนียบมาลากันยัง “ลูกสาวสุดที่รักคนเก่งของพ่อก็ย่อมรู้ดีว่าภาพยนตร์ทำอะไรได้บ้าง”

มาร์กอสย่อมรู้ดีว่าพลังของอัลกอริทึมช่วยกระจายข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จที่เป็นประโยชน์กับตัวเองได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อชาวฟิลิปปินส์รุ่นหลังเริ่มขาดช่วงกับประวัติศาสตร์บาดแผลที่พ่อสร้างไว้ สถานะนักสู้เพื่อประชาธิปไตยอันศักดิ์สิทธิ์ของตระกูลอาคีโนหรือฝ่ายที่ยึดโยงกับ EDSA เริ่มถูกตั้งคำถาม (ไม่ว่าจะด้วยข้อวิจารณ์ที่มีน้ำหนักหรือตั้งใจด้อยค่า) และอุณหภูมิทางการเมืองได้ตอกลิ่มอคติระหว่าง “ปัญญาชนคนเมือง” กับ “ชาวบ้านต่างจังหวัด” ให้ยิ่งหนักข้อขึ้นในสมัยดูเตอร์เต (เพื่อนนักวิจารณ์ของผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า คนเมืองจำนวนมากเหมาโทษคนต่างจังหวัดเรื่องดูเตอร์เตกับมาร์กอส ส่วนคนต่างจังหวัดอีกไม่น้อยมองว่าการแอนตี้มาร์กอสเรื่องกฎอัยการศึก แอนตี้ดูเตอร์เตเรื่องสงครามยาเสพติด เป็นวิธีคิดแบบหอคอยงาช้างที่เสียงดังเพราะคนเมืองพูด)

พวกเขาย่อมตระหนักดีเช่นกันว่า 31 ล้านคะแนนเสียงที่บงบงได้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด อาจไม่ได้สะท้อนการยอมรับที่ชาวฟิลิปปินส์มอบให้ตระกูลมาร์กอส มากเท่ากับที่ยังคงจงรักภักดีและนิยมชมชอบตระกูลดูเตอร์เต – นอกจากต้องสร้างภาพครอบครัวคนดีในละครหลังข่าวให้คนดูเอาใจช่วย มาร์กอสยังต้องการภาพลักษณ์อย่างเดียวกับสิ่งที่ดูเตอร์เตชนะใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย

ในช่วงท้ายเรื่องของ Maid in Malacañang เฟอร์ดินานด์พูดกับลูกสาวว่าฝ่ายต่อต้าน “เป็นเดือดเป็นร้อนก็เพราะเรามันพวกคนบ้านนอก พวกเขาเลยรับไม่ได้ที่ประชาชนรักเรา แต่ต่อให้เป็นแบบนั้นก็เถอะ พ่อทำใจให้ต้องโกรธแค้นพวกเขาไม่ลงจริงๆ”

ไม่ใช่แค่ผู้ชมในรอบพรีเมียร์ซึ่งส่วนใหญ่อาจทำไปตามมารยาทหรือเพื่อให้กำลังใจคนทำหนัง แต่คนดูทั่วไปในโรงต่างจังหวัดจำนวนมาก (โดยเฉพาะในดาเวา เมืองที่นายกเทศมนตรีสามคนล่าสุดคือโรดริโก, ซาร่า และเซบาสเตียน ดูเตอร์เต) ตบมือเชียร์มาร์กอสเมื่อจบฉากนี้


           


          


      
           

The Boys (Season 3) หายคู่อาฆาต และศัตรูร่วมอุดมการณ์

* บทความนี้เปิดเผยส่วนสำคัญของเรื่อง *

ยากจะปฏิเสธว่าซีรีส์ The Boys นั้นเป็นหมัดเด็ดของ Prime Video อย่างแท้จริง เมื่อซีซั่นล่าสุดของมัน ออกฉายชนกับซีรีส์ตัวแรงของสตรีมมิ่งเจ้าอื่นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอย่าง Stranger Things, Ms. Marvel และ Obi-wan Kenobi ได้โดยไม่สะดุ้งสะเทือน แถมยังก่อให้เกิดบทสนทนาอีกมากมายในหลายมิติ แม้จะไม่อาจพูดได้ว่ามันเป็นซีรีส์สำหรับทุกคน แต่กลุ่มผู้ชมของมันก็กว้างขวางและออกจะแปลกประหลาดพอดู มันคือส่วนผสมของกลุ่มแฟนหนังยอดมนุษย์แมนๆ ห่ามๆ และกลุ่มคนที่เหม็นเบื่อทะเลคอนเทนต์ซูเปอร์ฮีโร่เต็มทน

แต่นี่ไม่ใช่พันธมิตรประหลาดเพียงกลุ่มเดียวในเรื่องราวนี้

ต้นฉบับของ The Boys คือหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกันที่เขียนโดย Garth Ennis และ Darrick Robertson นำทีมดัดแปลงเป็นซีรีส์โดย Eric Kripke ว่าด้วยโลกที่ซูเปอร์ฮีโร่ส์ไม่ใช่ยอดมนุษย์ที่ปกป้องโลกด้วยจิตสาธารณะ แต่เป็นกลุ่มคนคะนองอำนาจที่ก่อกรรมทำเข็ญอยู่ลับๆ โดยที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่คอยหนุนหลัง ‘เดอะ บอยส์’ คนกลุ่มหนึ่งที่มีความแค้นกับฮีโร่จึงรวมตัวกันหาทางเอาคืนด้วยความรุนแรงสารพัดที่มนุษย์เดินดินจะคิดได้ 

และในซีซั่นที่สามนี้เรื่องราวก็ดำเนินมาถึงจุดที่บิลลี่ บุตเชอร์ (Karl Urban) หัวหน้ากลุ่มเดอะ บอยส์ต้องแตกหักกับสมาชิก เมื่อเขาค้านมติของกลุ่มด้วยการทำข้อตกลงกับ ยอดมนุษย์จากยุคสงครามเย็น ‘โซลเจอร์บอย’ ที่เคยทำลายชีวิตสมาชิกคนหยึ่งในกลุ่ม เพื่อกำจัดศัตรูอันดับหนึ่งอย่างโฮมแลนเดอร์ (Anthony Starr) หากแต่นี่ยังไม่ใกล้เคียงกับการยอมเป็นปิศาจเพื่อต่อกรกับปิศาจเท่ากับการที่เขาใช้วิธีการบางอย่าง เพื่อให้ตัวเองได้พลังของ “พวกซูปส์” มาใช้เป็นการชั่วคราว

ตัวร้ายที่ ‘เดอะ บอยส์’ ต้องหยุดยั้งในคราวนี้จึงไม่ได้มีแต่ฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นฝ่ายตัวเองที่ให้คุณค่ากับวิธีการที่แตกต่างกันด้วย

แผนการของบุตเชอร์ทำให้เขามีสภาพเป็นทรราชใกล้เคียงกับโฮมแลนเดอร์ในสายตาของ “เดอะเซเว่น” (กลุ่มยอดมนุษย์ที่มีชื่อเสียงสูงสุดภายใต้การดูแลของบริษัท Vaught) จะผิดกันก็ตรงที่เขาไม่อาจปกครองกลุ่มให้เป็นปึกแผ่นได้ด้วยพลังอำนาจและความหวาดกลัว จึงทำให้สมาชิกคนอื่นที่เหลือนอกจากฮิวอี้ ลุกขึ้นมาตั้งคำถามและแยกตัวออกมาทำปฏิบัติการต่อต้านเขา ความแตกแยกของเดอะบอยส์ ชวนให้นึกถึงกลุ่มผู้นิยมประชาธิปไตยในประเทศเรา พวกเขาต้องการสิ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่อาจรวมพลังกันเป็นปึกแผ่นได้ด้วยความเชื่อในวิธีการที่ต่างกัน ความขัดแย้งนี้จะทำให้พวกเขาตอบโต้กันเองจนแทบลืมไปแล้วว่าศัตรูที่แท้จริงคือใคร ดังที่จะเห็นได้ว่าเกือบทั้งซีซั่น เดอะบอยส์แทบไม่ได้สู้กับพวกซูปส์มากเท่ากับที่พวกเขาพยายามจะหยุดยั้งกันเอง หากจะมีใครลงมือกับพวกซูปส์อย่างจริงจังก็มีแค่บุตเชอร์ที่ได้พลังจากยา Temp V และพวกซูปส์ลงมือฆ่ากันเอง

ปัญหาตัวเลือกทางศีลธรรมของทั้งเดอะ บอยส์ และกลุ่มนิยมประชาธิปไตยก็คือ ด้วยตัวเลือกอันแสนจำกัด พวกเขาจะเอาชนะคนที่มีอำนาจในมือได้อย่างไร โดยที่ไม่กลายเป็นปิศาจเช่นคนที่พวกเขาต่อกรอยู่

อีกคนที่ประสบชะตากรรมแสบสันไม่แพ้กันคือเอ-เทรน (Jessie T. Usher) ภาพแทนของเซเลบคนดำที่ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนดำ เพราะไม่ยอมยืนหยัดเพื่อชุมชนของตัวเอง แต่พอได้โอกาสก็แสดงออกอย่างกลวงๆ ด้วยการเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นธีมแอฟริกันและสื่อโฆษณา (ซึ่งล้อเลียนโฆษณาเป๊ปซี่ของ Kendall Jenner ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความกลวงของเซเลบอย่างไม่ปิดบัง) เอ-เทรนอาจจะไม่ถูกนับนับเป็นศัตรูของใคร แต่เขาไม่ถูกนับเป็นมิตรแน่นอน ทั้งในชุมชนคนดำ และในกลุ่มของฮีโร่ที่การมีอยู่ของเขาแทบไม่เกิดประโยชน์อะไร

แต่ทรราชโดยธรรมชาติอย่างโฮมแลนเดอร์ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เขาสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อ “ครอบครัว” อย่างเดอะเซเว่นไปโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เขาก็ค้นพบความจริงในที่สุดว่าไม่มีใครรักและเคารพเขาอย่างแท้จริง ชะตากรรมของโซลเจอร์บอย ขวัญใจอเมริกันคนก่อนหน้า หัวหน้ากลุ่ม ‘เพย์แบ็ค’ (ล้อเลียน ‘ผู้ชำระแค้น’ Avengers แบบไม่มีปิดบังอีกเช่นกัน) ที่ถูกเพื่อนร่วมทีมขายให้กับรัสเซียเป็นดังภาพสะท้อนของฮีโร่หมายเลขหนึ่งในปัจจุบันทั้งในแง่ของการเป็นทรราชขาดความรัก และความเป็นชายเป็นพิษที่ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายจากยุคสงครามเย็น หรือผู้ชายต้นยุค 2020 ความไม่มั่นคงนี้คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรากระวนกระวายใจทุกครั้งที่ได้เห็นแอนโธนี่ สตาร์ แสดงความซับซ้อนทางอารมณ์ของโฮมแลนเดอร์ออกมา

อาการขาดความรักนี้พาเราไปพบกับตัวร้ายที่แท้จริงซีซั่นนี้ นั่นคือ “พ่อแม่” บุคคลที่ควรเป็นมิตรกับคนที่อยู่ใต้การดูแลของตัวเองบกพร่องในการทำหน้าที่นั้นโดยสิ้นเชิง ฮิวอี้เลือกพลังอำนาจมากกว่าคนที่เขาควรจะปกป้องเพราะมีพ่อที่ดูเหมือนจะปกป้องอะไรไม่ได้เลย บุตเชอร์เลือกความรุนแรงเพราะเป็นวิธีแก้ปัญหาเดียวที่เขาเรียนรู้มาจากพ่อ ลูกสาวของเอ็มเอ็มต้องอยู่กับพ่อเลี้ยง (ซึ่งชวนให้นึกถึง Trump Voter อย่างเสียมิได้) ที่เปิดโฆษณาชวนเชื่อของฮีโร่กล่อมประสาทตลอดเวลา โซลเจอร์บอยที่พิสูจน์ตัวเองเท่าไหร่ก็ไม่พอ พอเขาได้เป็นพ่อเสียเองก็เป็นพ่อที่น่าผิดหวังไม่แพ้กัน ส่วนโฮมแลนเดอร์ที่เป็นบ้าเพราะโหยหาสายสัมพันธ์ครอบครัวตลอดเวลาก็พร้อมจะส่งต่อความบ้าไปยังลูกของเขาอีกต่อหนึ่ง ที่ร้ายที่สุดเห็นจะเป็นพ่อบุญธรรมของของสส. นิวแมนที่ใช้เธอเพื่อประโยชน์สูงสุดทางอำนาจ ศัตรูในบ้านจึงเป็นจุดอ่อนของทุกคนตั้งแต่ระดับมนุษย์เดินดินไปจนถึงยอดมนุษย์ที่ชี้เป็นชี้ตายคนจำนวนมหาศาลได้ในชั่วพริบตา

คู่ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจอีกคู่คือ ความทั้งรักทั้งชังของซีรีส์เรื่องนี้ที่มีต่ออุตสาหกรรมคอนเทนต์ฮีโร่ มันแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าเหม็น “ความ Woke” ของอุตสาหกรรมหนังฮีโร่ (และน่าจะหนังอื่นๆ ทั้งฮอลลีวู้ด) ด้วยการฉายให้เห็นวิธีตีค่าตีราคาการแสดงออกเรื่องความหลากหลายของ Vaught ว่าเป็นเครื่องมือเรียกความนิยมอย่างหนึ่ง เพศสภาพ เชื้อชาติ ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (หรือก็คือ “คู่จิ้น”) จะอยู่ในสายตานายทุนก็ต่อเมื่อมันทำให้พวกเขามีผลประกอบการสูงขึ้นเท่านั้น Vaught ในที่นี้เป็นได้ทั้ง Disney, Warner หรือแม้กระทั่ง Sony ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกทุนสร้างซีรีส์เรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน

แต่ขณะเดียวกันมันก็ “Woke” เหลือเกิน มันพูดถึงความเลวร้ายของการเลือกปฏิบัติต่อเกย์ การเหยียดเชื้อชาติ และล้อเลียนฝ่ายขวาหัวรุนแรงอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน (ถึงกระนั้นความแมนๆ ห่ามๆ ของมันก็ทำให้มันรอดจากสายตามนุษย์ Anti-woke ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ) เห็นได้ชัดว่าทีมงานมีจุดยืนแบบในบนความขัดแย้งในสังคมอเมริกา แต่วิธีการและช่องทางของพวกเขาก็คล้ายจะเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าพวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมที่แสนฉาบฉวยนั้นด้วยเหมือนกัน ตรงนี้ต้องชื่นชมทีมพัฒนาบทที่ทำให้การยักคิ้วหลิ่วตาของพวกเขากลืนไปกับความฉิบหายบนจออย่างแนบเนียน ในแง่นี้พวกเขาอาจจะไม่ได้ต่างอะไรกับบุตเชอร์และฮิวอี้ที่โอบรับพลังของซูปส์เพื่อต่อต้านซูปส์ และวิธีการบริหารพลังนั้นก็ทำได้อย่างมีชั้นเชิง

ทำให้เราต้องใคร่ครวญกับคำถามที่ว่า การยอมเป็นปิศาจเพื่อสู้กับปิศาจนั้นถูกต้องหรือไม่ กันไปอีกนาน 

Vita & Virginia: ปะทะโลกภายนอก แล้วกลับไปหลบซ่อนในตัวเอง

สำหรับคอวรรณกรรมทั้งหลาย คงไม่มีใครไม่รู้จัก เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนชื่อก้องโลกที่ชีวิตของเธอเป็นเหมือนละครดราม่าสุดขมขื่น เธอสร้างผลงานที่พูดถึงบทบาทของผู้หญิงและแนวคิดเฟมินิสต์ที่มาก่อนกาล แต่ตัวเธอนั้นต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยทางจิต ทั้งจากโรคไบโพลาและโรคซึมเศร้า ดูเหมือนว่า การต่อสู้ของเธอโดยมากจะเป็นการต่อสู้จากภายใน – เวอร์จิเนียเป็นคนที่หลบซ่อนอยู่ในโลกภายในของตนเอง จนกระทั่งเธอได้พบกับนักเขียนหญิงอีกคนที่พาเธอออกมาจากที่นั่น นั่นคือ วิตา แซ็ควิลล์-เวสต์

ถ้าจะพูดถึงพื้นเพของคนทั้งสอง อาจบอกได้ว่าทั้งสองมาจากสังคมที่ต่างกัน เวอร์จิเนียเป็นลูกหลานชนชั้นกลาง และคนในครอบครัวของเธอก็เป็นศิลปิน เธอก่อตั้งสำนักพิมพ์ร่วมกับสามี ซึ่งสำนักพิมพ์นี้เน้นพิมพ์งานแนวทางเลือก ที่ไม่ใช่งานทำเงินแบบที่เป็นป๊อปจัดๆ เวอร์จิเนียและพี่สาวของเธอเติบโตขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด ในชื่อ กลุ่มบลูมส์เบอร์รี่ ซึ่งรวบรวมเอาศิลปิน นักคิด นักเขียนสำคัญๆในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

สำหรับวิตา แซ็ควิลล์-เวสต์ นั้น เป็นลูกหลานชนชั้นสูง เธอเป็นนักเขียนขายดี และแต่งงานกับนักการทูต สองสามีภรรยาต่างมีสิ่งที่เหมือนกัน คือพวกเขามีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันนอกการแต่งงาน และวิตาก็เป็นคนที่หัวก้าวหน้าในเรื่องนี้มาก จนถึงขั้นที่เธอเคยหนีไปใช้ชีวิตกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ยุโรปกว่าสองปี จนครอบครัวตามตัวเธอกลับมา

หนัง Vita & Virginia เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนหญิงสองคนนี้ วิตาเจอเวอร์จิเนียที่งานปาร์ตี้ และหลงใหลในเสน่ห์และความฉลาดเฉลียวของเธอ ดูเหมือนในความสัมพันธ์นี้ วิตาจะเป็นคนเริ่มก่อน เธอบรรยายว่าตัวเอง​ “ถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียงสิ่งที่ต้องการเวอร์จิเนีย” และส่งจดหมายหาเวอร์จิเนียหลายฉบับ นักเขียนทั้งสองแลกจดหมายกัน และก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

หนังแสดงภาพของเวอร์จิเนียซึ่งเป็นคนเปราะบางทางความรู้สึก และก่อกำแพงหนาฉาบเคลือบท่าทีภายนอกเอาไว้ ในแรกเริ่ม ดูเหมือนเวอร์จิเนียจะไม่สนใจวิตา แต่ด้วยลูกตื๊อของวิตานั่นเอง เธอจึงเริ่มเปิดใจ ความแน่นหนาของปราการที่เวอร์จิเนียมียังสะท้อนออกมาทางการออกแบบชุด ซึ่งนักออกแบบของหนังเรื่องนี้พยายามเลือกชุดที่มีหลายชั้นให้เวอร์จิเนีย และเป็นชุดที่ผสมกับความเป็นโบฮีเมียนหน่อยๆ1https://www.thenoizemag.com/2021/01/in-vita-and-virginia-2018/

ช่วงเวลากว่า 1 ชั่วโมง 50 นาทีของหนัง เป็นช่วงที่คนดูจะได้เห็นความสัมพันธ์ของคนทั้งสองถูกคลี่ออกมา แปรเปลี่ยนด้วยความปรารถนาอันยั้งไม่อยู่ สะดุดล้มขณะเดินบนเส้นทางขรุขระ และแปรปรวนไปอย่างน่าปวดหัว ความสัมพันธ์ระหว่างวิตาและเวอร์จิเนียเป็นความสัมพันธ์ที่มีหลายชั้นและซับซ้อนอย่างมาก วิตาเป็นคนที่แปรปรวน และคบกับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เธอเปลี่ยนคู่ควงอยู่ตลอดเวลา แต่ยามเธอตกหลุมรักใคร เธอก็ต้องการให้คนคนนั้นสนใจเธอเพียงคนเดียว เวอร์จิเนียเป็นคนเก็บตัว และต้องการพื้นที่/โลกส่วนตัวเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน เมื่อวิตาต้องการเธอ เธอจึงต้องออกมาจากโลกแห่งนั้น เพียงเพื่อพบว่าวิตาทิ้งเธอไปหาหญิงอื่น

ตัวละครสองตัวนี้แตกต่างกันอย่างชัดเจนในด้านไลฟ์สไตล์และวิธีคิด วิตาเป็นคนที่แผ่ตัวเองออกสู่โลก และเปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างไม่อ้อมค้อม ในขณะที่เวอร์จิเนียอาศัยอยู่ในหัวของตัวเอง และตรวจสอบสถานการณ์จากโลกภายในซ้ำแล้วซ้ำอีก วิตารักการผจญภัยและความเสี่ยง ส่วนเวอร์จิเนียทำทุกทางเพื่อกำจัดความเสี่ยง วิตาเป็นหยินให้กับหยางของเวอร์จิเนีย2https://www.rogerebert.com/reviews/vita-and-virginia-movie-review-2019 และเปิดประตูพาเธอออกสู่โลกภายนอกที่เธอไม่เคยสัมผัส

ในมุมหนึ่ง เราอาจเข้าใจภาวะติดอยู่กับโลกภายในของเวอร์จิเนียได้จากการศึกษาประวัติของเธอเพิ่มเติม เวอร์จิเนียเป็นผู้รอดชีวิตจากการล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก และเธอผ่านวันคืนเหล่านั้นมาในสมัยที่ยังไม่มีกระบวนการจิตบำบัดที่เข้ารูปเข้ารอย นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เธอไม่อาจมีความสุขทางเพศได้กับสามี แต่วิตาได้เดินเข้ามาเปิดโลกของเธอในเรื่องนี้ และทำให้เธอเชื่อมต่อกับร่างกายของตัวเองได้อีกครั้ง แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่แม้กระทั่งเลียวนาร์ด สามีของเวอร์จิเนียเองก็เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับวิตาส่งผลดีมากกว่าผลเสีย

ทุกอย่างอาจแปรเปลี่ยนไปเมื่อวิตาสิ้นความสนใจในเวอร์จิเนียนั่นแหละ ตอนนั้นคนรอบตัวเวอร์จิเนียเริ่มเห็นถึงอันตรายของความไม่หยุดนิ่ง และไร้การควบคุมของวิตา เวอร์จิเนียอาการทรุดลงอีกครั้ง และนั่นทำให้ครอบครัวของเธอต้องหาวิธีปกป้องเธอ สิ่งที่เวอร์จิเนียกลับไปหา คือการคลานกลับเข้าไปสู่โลกภายในอีกครั้งหนึ่ง ในโลกแห่งนี้ เธอสามารถใช้จินตนาการสำรวจความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และคงเป็นการใช้ชีวิตภายในของเวอร์จิเนีย ที่ทำให้เธอเขียน “ออร์แลนโด” ขึ้นมา วรรณกรรมเรื่องนี้เปรียบเสมือนจดหมายรักที่เธอมีให้กับวิตา เวอร์จิเนียสร้างตัวละครออร์แลนโดขึ้นมาให้เป็นตัวละครที่มีสองเพศ สามารถเปลี่ยนเพศไปมาได้ โดยเธอตั้งใจสร้างตัวละครนี้จากลักษณะที่เป็นทั้งชายและหญิงของวิตา เธอตั้งใจทำให้ออร์แลนโดเป็นผลงานกึ่งชีวประวัติ เพื่อให้มันเทียบเคียงเข้ากับตัวจริงของวิตาให้ได้มากที่สุด และคนอ่านต่างก็สนุกไปกับการจินตนาการว่าเนื้อเรื่องสร้างจากคนที่มีชีวิตจริงๆ วรรณกรรมเรื่องนี้ถือเป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับการข้ามเพศ หรือทรานส์ เรื่องแรกในภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ใหม่มากในยุคนั้น และทำให้มันประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

แม่ของวิตาไม่พอใจวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เธอบอกว่ามัน “เปลี่ยนแปลงตัวตนของวิตา และขโมยเธอไปจากฉัน” แต่ดูเหมือนเธอเองก็ไม่สามารถยั้งกระแสของวรรณกรรมเรื่องนี้ไว้ได้ วิตาเองก็ชื่นชอบออร์แลนโดอย่างมาก เธอบอกกับเวอร์จิเนียว่า “ถ้าฉันเคยรู้สึกตื่นเต้นและหวาดกลัว นั่นก็มาจากการที่ตัวฉันสะท้อนอยู่ในความเป็นออร์แลนโด”

ความรักที่มีหลายชั้นของวิตาและเวอร์จิเนียแปรเปลี่ยนจากความรักแบบไม่เกี่ยวเนื่องกับเพศ (Platonic) ไปเป็นความรักโรแมนติก ก่อนที่มันจะเปลี่ยนกลับมาเป็นความรักแบบ platonic อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนครั้งสุดท้ายนี้เป็นกระบวนการจัดการกับความเจ็บปวดของเวอร์จิเนียเอง ที่ทำให้เธอสามารถกุมชะตาชีวิตของวิตา (ออร์แลนโด) ได้ในจินตนาการ ในโลกของออร์แลนโด วิตาจะเป็นตัวละครเอกของเธออยู่เสมอไป วิตาจะเป็นอมตะในห้วงคำนึงของเธอ และไม่มีข้อจำกัดทางเพศที่ทำให้วิตารักใครไม่ได้ – ในแง่หนึ่งการเล่นกับความจริงเช่นนี้อาจดูเหมือนการบิดความจริงเข้ามาหาตัวเอง และมันก็สมกับคำว่า platonic อย่างมาก เพราะความสัมพันธ์นี้เกิดในโลกของไอเดียที่แยกขาด และอาจสูงส่งกว่าความเป็นจริง

เมื่อเห็นกระบวนการจัดการความเจ็บปวดของเวอร์จิเนีย ทำให้เราอาจวิเคราะห์ย้อนไปถึงกระบวนการจัดการความเจ็บปวดที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เธอไม่อาจหายจากภาวะเจ็บป่วยทางจิต เป็นไปได้หรือไม่ว่าเวอร์จิเนียจะเก็บประสบการณ์อันเลวร้ายของเธอ และหาทางบิดมันในจินตนาการ ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการปลดปล่อยมัน ความเจ็บปวดเพียงเปลี่ยนรูปออกมาในรูปแบบวรรณกรรมหรือสิ่งนามธรรม แต่มันยังคงไหลเวียนในตัวเธอ เธอไม่อาจปล่อยมือจากมัน เพราะได้ประดับประดามันด้วยถ้อยคำหรือคอนเซ็ปต์ และแม้มันอาจทำให้ดูเหมือนเจ็บน้อยลง แต่จริงๆ แล้วความเจ็บยังอยู่ตรงนั้น เหมือนแผลที่ไม่ถูกใส่ยา และแปะผ้าพันแผลไว้งั้นๆ เพื่อปิดบังจากสายตาคนนอก

หากจะมีสิ่งที่นักวิจารณ์ไม่ปลื้มหนัง Vita & Virginia นัก ก็อาจเป็นการที่หนังพูดอะไรออกมาตรงๆ มากเกินไป ในลักษณะที่ Tell แต่ไม่ Show คือแทนที่หนังจะใช้ฝีมือการแสดงของนักแสดงนำทั้งสองเพื่อบอกถึงความเปราะบางของพวกเธอ หนังกลับให้พวกเขาพูดว่าพวกเขา “เปราะบาง” ออกมาตรงๆ และมันเป็นหนังที่ตัวละครบอกว่าตัวเองต้องการและรู้สึกอะไรเยอะมาก แทนที่จะให้ตัวละครแสดงมันผ่านภาษาทางกาย ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่า หนังโฟกัสกับ What to say เยอะเกินไป จนมันกลายเป็นสิ่งเดียวที่มี และลืมให้ความสำคัญกับ How to say ดังนั้นสิ่งที่ติดหัวออกมาหลังจากดูหนังเสร็จจึงเป็นเพียงเส้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวิตาและเวอร์จิเนีย ทำนองว่า จำได้เพียงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ไม่สามารถจำความรู้สึกต่อสิ่งเหล่านั้นได้ชัดเจนนัก

ไม่ได้ไป Locarno 2022 ก็ดูออนไลน์ได้!

เทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน (Locarno Film Festival) ครั้งที่ 75 เริ่มปูพรมฉายหนังแล้วเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา

สำหรับปี 2022 นี้ ตัวแทนทีมชาติไทยเพียงหนึ่งเดียวที่มีลุ้นรางวัลคือ อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง หรือ Arnold Is a Model Student ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ สรยศ ประภาพันธ์ (อวสานซาวด์แมน, ผิดปกติใหม่) ผู้กำกับที่มีผลงานหนังสั้นตระเวนยุโรปต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง โดยเป็นผู้เข้าชิงรางวัลเสือดาวทองคำในสายรอง Golden Leopard-Filmmakers of the Present ร่วมกับผลงานของคนทำหนังรุ่นใหม่อีก 14 เรื่อง

ส่วนสายประกวดหลัก มีตัวแทนจากอาเซียนเพียงหนึ่งเดียวเช่นกันคือ Stone Turtle ของ อู๋หมิ่งจิน (Woo Ming Jin) ผู้กำกับชาวมาเลเซียที่สร้างชื่อมายาวนาน ซึ่งร่วมงานกับ ก้อง พาหุรักษ์ ผู้กำกับภาพที่มีเครดิตหลังกล้องต่อเนื่องทั้งหนังไทย หนังญี่ปุ่น หนังอาเซียน และคอมโพสเซอร์รุ่นใหม่ ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล (อนธการ, มะลิลา) – มีคู่แข่งตั้งแต่ดาวรุ่งอย่าง การ์ลอส กอนเซเซา (Carlos Conceição, อังโกลา) ซิลวี แวร์ไอด์ (Sylvie Verheyde, ฝรั่งเศส) ยูเลีย มูราต (Júlia Murat, บราซิล) ฮิลาล บัยดารอฟ (Hilal Baydarov, อาเซอร์ไบจัน) เฮเลนา วิตมานน์ (Helena Witmann, เยอรมนี) ไปจนถึงระดับออเตอร์อย่าง อับบาส ฟาห์เดล (Abbas Fahdel, อิรัก) นิโคเลาส์ ไกเยอร์ฮาลเตอร์ (Nikolaus Geyrhalter, ออสเตรีย) และ อเล็กซานเดอร์ โซคูรอฟ (Aleksandr Sokurov, รัสเซีย)

ก่อนพิธีส่งมอบเสือดาวทองคำในวันที่ 13 สิงหาคมที่กำลังจะถึงนี้ ซีเนไฟล์ชาวไทยที่กำลังร่วมลุ้นทั้งรางวัลและเสียงตอบรับของหนังอาเซียนทั้งสองเรื่อง ก็สามารถมีส่วนร่วมกับเทศกาลได้แม้จะไม่ได้บินไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ ผ่านสองโปรแกรมหนังที่โลการ์โนเป็นผู้คัดสรร และ Film Club หยิบมาแนะนำต่อในคราวนี้


Open Doors Shorts

Soul of the Sea (2019, กัวเตมาลา / นอร์เวย์)

เป้าหมายที่โปรแกรม Open Doors วางไว้คือการฉายแสงไปยังคนทำหนังจากประเทศที่วงการหนังอิสระยังไม่เข้มแข็ง ซึ่งโลการ์โนจะเปลี่ยนโฟกัสภูมิภาคหรือกลุ่มประเทศทุกๆ สามปี (ช่วงปี 2019-2021 ที่หนังไทยได้ไปโลการ์โนมากเป็นพิเศษ เป็นเพราะเทศกาลเลือกโฟกัสภูมิภาคอาเซียนกับประเทศมองโกเลีย) และในรอบปี 2022-2024 คือผลงานจากคนทำหนังละตินอเมริกันและประเทศหมู่เกาะแคริบเบียน – ถือเป็นโอกาสดีสำหรับคอหนังในอีกซีกโลกอย่างเมืองไทย ที่จะได้ดูหนังจากประเทศที่หลายคนอาจไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อมาก่อน

หนังสั้นทั้งสิบเรื่องในโปรแกรม Open Doors Shorts ประจำปี 2022 ได้แก่

              Agwe (2021, เฮติ)
              Black Doll (2018, เซนต์วินเซนต์แอนด์เดอะเกรนาดีนส์)
              Black I Am (2018, ฮอนดูรัส)
              Leaves of K. (2022, นิการากัว / คอสตาริกา)
              Out of Many (2020, จาเมกา)
              Scar of Our Mothers’ Dreams (2017, เกรนาดา)
              Soul of the Sea (2019, กัวเตมาลา / นอร์เวย์)
              Techos rotos (2014, โดมินิกัน)
              Tundra (2021, คิวบา)
              Umbra (2021, คิวบา)

สตรีมได้ฟรีที่ https://play.locarnofestival.ch (ต้องลงทะเบียนสมาชิกก่อน) หมดอายุการรับชมในวันที่ 14 สิงหาคมนี้


MUBI – Festival Focus: Locarno Film Festival

Squish! (2021, ตุลพบ แสนเจริญ / Tulapop Saenjaroen)

โปรแกรมคัดสรรที่ยืนหยัดต่อเนื่องมาหลายปีของอาร์ตเฮาส์สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มชื่อดัง (ซึ่งนอกจากโลการ์โนแล้ว ยังมีโปรแกรมที่ Mubi ร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับคานส์, เบอร์ลิน และเวนิซด้วย) ที่คัดเลือกทั้งหนังรางวัลสดใหม่จากเทศกาลช่วงไม่กี่ปีหลัง หนังคลาสสิกหาดูยากที่หลายคนอาจลืมว่าเคยฉายที่นี่ ไปจนถึงภาพยนตร์สั้น

โดยหนังโลการ์โนโฟกัสที่ Mubi เลือกมาเดบิวต์ระหว่างวันที่ 3-9 สิงหาคมนี้ (และจะฉายในแพลตฟอร์มต่อไปอีกระยะหนึ่ง) มีทั้งหมด 5 เรื่องคือ

Our Eternal Summer (2021, เอมิลี่ ออสเซล) หนัง coming-of-age ชายหาดฤดูร้อนฝรั่งเศส ซึ่งชนะรางวัล Special Jury Prize ในสายประกวด Filmmakers of the Present (สายเดียวกับ อานนฯ) เมื่อปีที่แล้วมาหมาดๆ

Holy Amy (2021, อราเซลี เลมอส) ผู้ชนะ Special Mention: Best First Feature (รางวัลชมเชยสำหรับผู้กำกับหนังยาวเรื่องแรก) เมื่อปีก่อน น่าสนใจด้วยพื้นหลังคือชุมชนคาทอลิกชาวฟิลิปปินส์ในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เล่าผ่านความสัมพันธ์สองพี่น้องหลังจากแม่ถูกส่งตัวกลับฟิลิปปินส์ แต่มีทั้งความลึกลับเหนือธรรมชาติแบบอาเซียน และท่าทีสยองขวัญอย่าง เดวิด โครเนนเบิร์ก อยู่ในเรื่องเดียวกัน (!!)

Paris Belongs to Us (1961, ฌาคส์ รีแวตต์) หนังยาวเรื่องแรกของปรมาจารย์ชาวฝรั่งเศส ว่ากันว่าเป็นหนังสำคัญอีกเรื่องในช่วงก่อนเกิดขบวนการเฟรนช์นิวเวฟ จิตวิญญาณอิสระแบบรีแวตต์พานักศึกษาวรรณคดีไปเจอนักแสดงละครเวที แล้วแปลงร่างเป็นหนังทริลเลอร์สมคบคิดจิตวิทยา แถมรายชื่อนักแสดงนอกจากรีแวตต์จะเล่นเองแล้ว ก็มีตั้งแต่ ฌาคส์ เดอมี, โคลด ชาโบรล ไปจนถึง ฌอง-ลุค โกดาร์ด (แต่ออกคนละกี่นาทีไม่รู้นะ)

Public Toilet Africa (2021, โคฟี โอโฟซู-เยโบอาห์) หนังสัญชาติกาน่าที่พล็อตหลักคือการตามทวงหนี้ของนางเอก แต่ความน่าสนใจคือเจ้าหนี้ของเธอเป็นช่างภาพฝรั่งผิวขาวจากครอบครัวที่มีเงินเก็บสะสมศิลปะแอฟริกัน และตัวเธอเองคือหนึ่งใน “อาร์ตเวิร์ค” ที่พ่อแม่ยกให้ฝรั่งเอาไปเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก – ตัวหนังมีคุณสมบัติทั้งการเป็นบทสนทนากับหนังแอฟริกันคลาสสิก และอัดตรงประเด็นเรื่องการฉวยใช้ภาพลักษณ์ของชาวแอฟริกันในหนังอเมริกันหรือหนังยุโรป

และ Squish! (2021, ตุลพบ แสนเจริญ) หนังสั้นไทยจากสายประกวดโลการ์โนเมื่อปีที่แล้ว ผลงานของอีกหนึ่งคนทำหนังที่เดินสายเทศกาลชนิดชีพจรลงเท้า – คราวนี้ตุลพบใช้ฟอร์มของหนังอนิเมชั่น ผสานเข้ากับสุนทรียะอย่างหนังทดลองที่เป็นลายเซ็น รวมถึงประเด็นที่ตัวเขากำลังสนใจอย่างการขูดรีดแรงงานด้วยหลากหลายรูปแบบกลวิธีในโลกยุคสมัยใหม่ ผ่านการวิพากษ์พร้อมไหว้ครูผู้บุกเบิกภาพยนตร์อนิเมชั่นไทย เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน

สตรีมทั้ง 5 เรื่องได้ที่ https://mubi.com/specials/festival-focus-locarno (เสียค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปี) ซึ่งยังมีหนังโลการ์โนโฟกัสอีกเกือบร้อยเรื่อง (เท่าที่สามารถรับชมได้ในไทย) ไล่ชื่อไม่หวาดไม่ไหวตั้งแต่ อานเญส วาร์ดา, ฌอง-ลุค โกดาร์ด, อแลง เรอเนส์, คริส มาร์เกอร์, โรแบรต์ เบรซง, นางิสะ โอชิมะ, คิชตอฟ เคียสลอฟสกี, ยูสเซฟ ชาฮีน, เอริค โรห์แมร์, อับบาส เคียรอสตามี, มิคาเอล ฮาเนเค่อ, แคลร์ เดอนีส์, ธีโอ อันเจโลปูลอส, เจี่ยจางเค่อ, เอ็ดเวิร์ด หยาง, คิดลัท ตาฮิมิค, เคลลี ไรคาร์ดท์, ลาฟ ดิอาซ ฯลฯ
           

บุพเพสันนิวาส 2 = ทวิภพ-1 พิศวาส ราชาชาตินิยม การกล่อมประสาทด้วยมุมมองชนชั้นนำ

บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

หากทวิภพจะใช้ “ฝรั่งเศส” เป็นศัตรูเพื่อกระตุ้นความรู้สึกเกลียดร่วม บุพเพสันนิวาส 2 ก็ใช้ “อังกฤษ” เป็นชาติศัตรูนั่นเอง ตัวร้ายในหน้ากากที่เปิดเผยท้ายเรื่องคือ “สายลับวิลาศ” ที่อยู่ในชุดทหารสยาม ที่แต่งองค์ทรงเครื่องและพูดสยามได้อย่างแคล่วคล่อง

อันที่จริง ในสมัยของรัชกาลที่ 3 เป็นยุคทองของการค้าเรือสำเภากับจีน ความเฟื่องฟูของสังคมทำให้สังคมแบบไพร่เดิมค่อยๆ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การเข้าเดือนออกเดือน เพื่อจะขยับขยายให้ไพร่เข้ามาอยู่ในตลาดการค้ามากขึ้น หน้าตาสยามมีความเป็นจีนทั้งด้วยพระราชนิยม และชุมชนจีนที่ขยายตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะความมั่งคั่งของชนชั้นนำในระดับกษัตริย์และขุนนางก็อู้ฟู่จากการค้าขายผูกขาด อันนี้อยู่ใน “ปากไก่และใบเรือฯ” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมสำคัญของต้นรัตนโกสินทร์

วรรณกรรมแบบกลอนตลาด แพร่หลาย ผลงานของสุนทรภู่ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง การผจญภัยของสุนทรภู่ในนิราศต่างๆ ก็เพริศแพร้ว

ในอีกด้าน สมัยรัชกาลที่ 3 เปิดยุคเปิดศึกกับเพื่อนบ้านอย่างหัวเมืองมลายูและทางฝั่งตะวันออก ในยุคนี้การทำสงครามที่เรียกว่าอันนาม-สยามยุทธก็นำไปสู่การขุดคลองแสนแสบ เพื่อเปิดเส้นทางเชื่อมกับตะวันออก เกิดความเปลี่ยนแปลงกับพระนครขนานใหญ่ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะมลายูที่เป็นเชลยที่ถูกกวาดต้อนก็ถูกนำไปอยู่ที่ไกลปืนเที่ยงอย่างย่านมีนบุรี และเป็นแรงงานขุดคลองแสนแสบ

วัตถุดิบทางประวัติศาสตร์ในยุคนี้จึงมีมากมายพะเรอเกวียน แต่สำหรับผู้สร้างบุพเพฯ แล้วกลับหยิบเอาประเด็นศัตรูของชาติเข้ามาใช้เสียอย่างนั้น

โคว้ทของรัชกาลที่ 3 ที่เคยถูกบันทึกไว้ว่า “การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว” เมื่ออ่านคู่กับหนังเรื่องนี้แล้วอาจตีความได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของภัยความมั่นคงจากตะวันตกในยุครัตนโกสินทร์ ในอีกด้านหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า ภัยจากฝรั่งยังไม่ใช่เรื่องร้ายแรงขนาดที่ต้องเอามาเป็นจุดสำคัญของเรื่องเลย

ดังนั้น การที่ขุนสมบัติบดี (ภพ) (โป๊บ ธนวรรธน์) คุยเมธัส (พาริส อินทรโกมาลย์สุต) ตนนี่แหละที่จะปกป้องไม่ให้สยามเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มันจึงฟังน่าจั๊กกะจี๊ เพราะนี่คือ พล็อตเดียวกับการที่การะเกตุพยายามจะปกป้องอยุธยาจากการยึดอำนาจของฟอลคอนและฝรั่งเศส และแบบเดียวกับมณีจันทร์พยายามจะสู้กับฝรั่งเศส

การเลือกเส้นเรื่องนี้ทำให้มันไปแตะกับความขัดแย้งทางการเมืองกับเวียดนาม หรืออันนัม พร้อมทั้งกัมพูชาไปด้วย หวังว่าคงไม่มีดราม่าจากชาวเวียดนามและกัมพูชา แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าในสงครามนี้ เวียดนามและกัมพูชาถูกสยามส่งกองทัพเข้าไปรุกรานด้วย

จนเวลาต่อมา กรุงเทพฯ ไม่สามารถสู้กับจักรวรรดิบริเตนใหญ่ได้ จึงถูกพรากดินแดนในอาณัติอย่างในแถบมลายู หัวเมืองฉาน-ไทใหญ่ แต่นั่นก็ไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่า “เสียดินแดน” หรอก เพราะล้วนคือ รัฐอิสระที่พวกเขาปกครองตัวเองมานานแล้ว

ตัวละครที่น่าจะมีศักยภาพมากๆ พอที่จะพาขุนสมบัติบดี และเกสร (เบลล่า ราณี) ไปพ้นจากราชาชาตินิยมกล่อมประสาทก็คือ สุนทรภู่ และสังฆราชปาเลอกัวซ์ ทั้งคู่เป็นตัวแทนของยุคสมัยใหม่และโลกใหม่ ทั้งด้านวรรณกรรมบันเทิง และความรู้แบบตะวันตก โดยเฉพาะการรอนแรมไปยังดินแดนต่างๆ นอกกรุงเทพฯ ของสุนทรภู่ การเล่นกับเส้นทางสัญจรทางน้ำ พบผู้คน และเล่นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ที่ล้อกับเรื่องพระอภัยมณีได้ด้วย 

จากที่สังเกตจะพบว่า ตัวละครแทบทั้งหมดเดินด้วยชนชั้นปกครอง และชาวต่างชาติ ที่ไม่ใช่ จะมีก็เพียง “อีปี่” ที่รับบทเป็นพี่เลี้ยง “รองมือรองตีน” เกสร แบบเดียวกับคนใช้ในละครไทย ที่แม้จะสนิทสนมเพียงใด ก็มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างเจ้านายกับบ่าวไพร่ ถ้าจำไม่ผิด คนสยามแทบทั้งเรื่องล้วนสวมเสื้อ ดูมีอารยธรรมขึ้นมาทันที ต่างจากที่เราเห็นในหนังที่พยายามสร้างความสมจริงอย่างนางนาก คนเหล่านี้จึงกลายเป็นเพียงเบี้ย เป็นเพียงตัวประกอบเล็กๆ ที่ไม่มีเสียงใดๆ 

ขณะที่ตัวละครที่มีบรรดาศักดิ์สูงสุด ก็คือ เสด็จในกรมที่ไม่ออกชื่อว่าใคร ที่เหมือนจะมีเอี่ยวกับการค้าอาวุธและการกบฏ แต่สุดท้ายพยายามจะคลี่คลายให้เห็นว่า เสด็จในกรมไม่เกี่ยว (ซึ่งเสด็จก็หน้าตาเป็นลูกจีนมากกว่าจะเป็นชนชั้นนำสยาม-มอญ) ปัญหามันเกิดจาก “สายลับอังกฤษ” เบื้องหลังหน้ากากไม้นั่นเอง ปัญหาจึงมาจาก “คนนอก” แทบจะล้วนๆ ชาวสยามไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย

เกสร เป็นภาพตัวแทนของผู้หญิงที่มีลักษณะแปลกแยก ตั้งแต่การไว้ผมยาว และใฝ่การเรียนรู้ พูดภาษาอังกฤษได้ คล้ายดังเป็นมณีจันทร์ในร่างของคนยุครัชกาลที่ 3 ในทางกลับกัน ขุนสมบัติบดีที่สังกัดกรมคลังก็มีความทันสมัยมีความรู้ทางการช่าง แต่กลับเป็นคนที่ติดอยู่กับอดีตอย่างเช่นคำติดปากว่า “ออเจ้า” แล้วยังไม่รู้ภาษาอังกฤษอีกด้วย ทั้งที่ตัวเองสังกัดกับกรมพระคลังที่ต้องรู้โลกกว้าง

ความรักของทั้งคู่ มีปมปัญหามาจากการที่พระเอกได้พร่ำเพ้อถึงแต่ผู้หญิงที่พบในฝัน (ซึ่งก็คือ การะเกตุในชาติที่แล้ว) ส่วนนางเอกในชาตินี้ไม่อินกับสิ่งที่เรียกว่า บุพเพสันนิวาส จนท้ายเรื่องที่นางเอกหมดสติ ทำให้เธอหวนย้อนไปถึงอดีตชาติกับตัวเอง แต่ทั้งคู่ไม่ได้เข้าใจกันเพราะความรักของคนสองคน แต่เป็นการผนึกกำลังเพื่อต่อสู้ “เพื่อชาติ” ไม่ให้สยามตกเป็นเมืองขึ้นของวิลาศ

ส่วนเมธัส ที่ว่ากันว่ามีเชื้อสายมาจากหันแตร หรือฮันเตอร์ซึ่งเป็น “คนอังกฤษ” อันเป็นชนชาติศัตรู ที่ติดอยู่กับอดีต ส่วนตัวตนที่อยู่ในปี 2565 ก็ได้ถูกลบออกไปหลังจากที่ย้อนเวลามาแล้ว ราวกับว่า เมธัสผู้เป็นลูกครึ่งนี่เองที่เป็นมลทินทางประวัติศาสตร์

แต่นั่นแหละ เราจะอะไรมากกับแบรนด์ “บุพเพสันนิวาส” ที่เป็นแฟนตาซีทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นยากล่อมประสาทราชาชาตินิยม ที่เว้นกษัตริย์ไว้ในฐานที่เข้าใจ

แม้ว่าตอนท้ายของเรื่อง จะมีคำพูดคูลๆ ที่พูดว่า การบันทึกของแต่ละคนก็มีมุมมองที่ต่างกัน แต่ภายใต้จักรวาลแบบบุพเพสันนิวาส คงไม่แคล้วที่จะอยู่ในเส้นแดนของความจริงที่ยอมให้ไปถึงได้แคบๆ อย่างที่เราเห็นมาแล้วทั้งในละครและหนังเรื่องนี้

โอลิมปิกจบ คนโตเกียวไม่จบ ชวน วิม เวนเดอร์ส ทำหนัง TOKYO TOILET ต่อ

วิม เวนเดอร์ส เป็นผู้กำกับที่ได้ชื่อว่าผูกพันกับญี่ปุ่นมานาน นอกจากสารคดีปี 1985 เรื่อง TOKYO-GA ที่เขาไปทำเรื่องเกี่ยวกับผู้กำกับยาสุจิโร โอสุควบคู่ไปกับบันทึกสภาพเมืองในช่วง 80 ของญี่ปุ่น งานสารคดีเกี่ยวกับ Yohji Yamamoto แฟชั่นดีไซเนอร์ระดับโลก หรือแม้กระทั่งงานภาพถ่ายหมู่บ้านชาวประมงที่รวมออกมาเป็นหนังสือ Journey to Onomichi ในปี 2009 ล่าสุดเขาเข้าไปเริ่มงานใหม่โดยมีฉากหลังเป็นห้องน้ำในชิบุย่าเรียบร้อยแล้ว ในชื่อโครงการ THE TOKYO TOILET Art Project with Wim Wenders

เดิม THE TOKYO TOILET เป็นโปรเจกต์ต่อเนื่องจากงานโตเกียวโอลิมปิก ที่มีการเชิญสถาปนิกและนักออกแบบ 16 เจ้า นำโดยทาดาโอะ อันโดะ, ชิเงรุ บัน, โซ ฟูจิโมโต้ มาออกแบบห้องน้ำสาธารณะทั่วชิบุย่าเพื่อแสดงความเอาใจใส่ต่อนักท่องเที่ยวและปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมืองไปพร้อมกัน แม้ว่าจะโดนโควิดเล่นงานจนอาจจะยังไม่มีนักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสใช้งานจริงๆ เท่าไหร่ แต่ก็ถูกสร้างไปตามแผนและจะเสร็จสมบูรณ์ทุกจุดในปี 2022 นี้

โดยเขาถูกชวนให้เข้าโปรเจกท์มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับห้องน้ำนี้ให้คนทั่วไปรับรู้ โดยคาดว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพนักงานที่คอยดูแลห้องน้ำเหล่านี้ นำแสดงโดย Kôji Yakusho นักแสดงญี่ปุ่นที่เราคุ้นหน้ากันดี โดยในงานแถลงข่าว วิม เวนเดอร์สได้บอกว่า คำว่า toilet เรียกอีกอย่างคือ rest room ซึ่งตัวเขาที่ไม่ได้มาโตเกียวซะนานจนเหมือนเป็น Homesick พอเห็นคำว่า tokyo toilet ก็นึกถึงสถานที่ที่จะเข้ามาผ่อนคลายจริงๆ และก็อยากที่จะเขียนเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา และคิดว่าโปรเจกต์นี้สำคัญและท้าทายกับเขามากที่จะถ่ายทอดแสงและสภาพเเวดล้อมที่สถาปนิกได้ออกแบบไว้ในหนัง นอกจากนั้นห้องน้ำยังเป็นสถานที่ที่ทุกคนเท่าเทียม ไม่ว่ารวยหรือจน หนุ่มสาวหรือแก่ มีความเป็นญี่ปุ่นในเซตติ้งและเขาคิดว่านี่เป็นไอเดียยูโทเปียเรื่องหนึ่ง

ตอนนี้งานยังอยู่ในช่วงพรีโปรดักชั่นและจะมีแผนฉายในปี 2023 ระหว่างนี้เข้าไปดูแบบห้องน้ำจากดีไซเนอร์ต่างๆ ได้ที่ https://tokyotoilet.jp/en/

For All Mankind (Season 1) ก้าวเล็กๆ ของมวลมนุษยชาติด้วยเท้าอีกข้างหนึ่ง

26 มิถุนายน 1969 ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นของสงครามเย็น ทั้งโลกแทบหยุดหายใจพร้อมกันเมื่อมนุษย์คนแรกย่างเท้าลงบนดวงจันทร์ เขาเปิดหน้ากากบังแสงขึ้นเพื่อให้เห็นใบหน้าชัดเจน ก่อนจะพูดผ่านสัญญาณถ่ายทอดสดกับทุกคนบนโลกว่า “ผมขอก้าวลงบนดวงจันทร์เพื่อชาติของผม เพื่อผู้คน และเพื่อวถีของมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ด้วยความตระหนักว่าการผจญภัยเล็กๆ นี้ จะพาพวกเราไปยังดวงดาวทั้งหลาย”

เขาพูดด้วยภาษารัสเซีย ทำเอาเจ้าหน้าที่นาซ่าทุกคนต้องกุมขมับ

นี่คือฉากเปิดเรื่องของ For All Mankind ซีรีส์ของ Apple TV+ ที่เล่าเรื่องราวของหลากชีวิตในเส้นทางการไปให้ถึงดวงดาวของนาซ่า ในประวัติศาสตร์สมมติที่สหภาพโซเวียตย่างเท้าลงบนดวงจันทร์ได้ก่อนสหรัฐอเมริกา และเบี่ยงวิถีทางสู่ความเป็นไปได้ที่แตกต่างจากความเป็นไปบนโลกนอกจอ โลกที่อเมริกาเป็นเจ้าของก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาติในการออกเดินทางสู่ห้วงอวกาศอันไกลโพ้น

ตลกร้ายที่คำว่า “เพื่อมวลมนุษยชาติ” เดิมทีแล้วเป็นเพียงแค่คำสวยๆ ที่ใช้อธิบายโครงการราคาสูงลิบของมหาอำนาจในการแข่งขันกับมหาอำนาจอีกฝ่าย เช่นเดียวกับที่นวัตกรรมหลายต่อหลายอย่างบนโลกมีตัวจุดชนวนเป็นการแข่งขันที่รุนแรงป่าเถื่อนอย่างสงคราม (ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ระหว่างชาติและระหว่างบรรษัท) หากจะพูดว่าโครงการอวกาศทั้งหลายของ NASA ในช่วงเริ่มต้นนั้นเป็นไปเพื่อการโฆษณามากกว่าประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ก็คงจะไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงนัก

แต่อย่างน้อยฟันเฟืองในการแข่งขันนี้ยังได้รับอนุญาตให้มีความฝันและความหวัง For All Mankind เลือกใช้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ต่างออกไปในการเล่าถึงบรรดาผู้คนที่ต้องเอาชนะแรงดึงดูดของโลก และแรงกดดันทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน โครงสร้างของตัวซีรีส์นั้นเรียบง่าย มันมักจะเริ่มด้วยไอเดียที่หวังผลทางการเมืองอย่างที่สุดของประธานาธิบดี (Richard Nixon ในเวลานั้น) ถูกโยนลงมากลางที่ประชุมของ NASA ให้ทุกคนสนองตอบ นำไปสู่ดราม่าสะเทือนชีวิตรายบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากแรงกระเพื่อมของมัน

ประวัติศาสตร์ทางแยกของ For All Mankind ทำหน้าที่คล้ายเรื่องเล่าแนวพหุจักรวาล ในแง่ที่มันใช้ถูกใช้เพื่อวิพากษ์ความเป็นจริงที่เราอาศัยอยู่ ความร้ายกาจของมันอยู่ที่การผสมฟุตเตจจริงเข้าไปในเรื่อง ลูกเล่นหวือหวานี้ไม่ได้มีผลแค่ในแง่ส่งเสริมสไตล์การเล่าเรื่องเท่านั้น แต่มันยังชวนให้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดบนจอเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้จริง แม้ว่ามันจะกำลังเล่าเรื่องผู้หญิงที่จะได้ไปดวงจันทร์เร็วกว่าความเป็นจริงนับสิบปีก็ตาม

เมื่อเรื่องดำเนินไปพ้นจากช่วงปูพื้นประวัติศาสตร์ เราจะเห็นได้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของตัวซีรีส์ไม่ใช่อัตตาที่สั่นคลอนของผู้นำโลกเสรี แต่มันคือสถานะทางอำนาจของผู้ชายในสังคมสมัยใหม่ (ระบุให้ชัดกว่านี้ก็คือผู้ชายอเมริกันคนขาวในยุค 70-90) ช่วงหลังสงครามที่เหนื่อยล้าเต็มทน และต้องลดบทบาทลงเพื่อให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในงานที่เคยเป็นของผู้ชาย มันคือจุดหักเหแรกสุดที่พาเรื่องราวเบี่ยงออกไปจากเส้นทางประวัติศาสตร์จริง และการพิสูจน์ตัวเองก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในแทบทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 10 ตอน

ความเป็นไปได้ที่เปิดกว้างขึ้นไม่ได้เปิดรับแค่ผู้หญิง มันเปิดรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์เข้ามาอีกด้วย มันคือสิ่งเดียวกับที่นาซ่าในโลกจริงเชิดชูตลอดมา (ตลกร้ายอีกครั้ง Werner von Braun วิศวกรผู้วางรากฐานระบบจรวดให้นาซ่าตั้งแต่แรกเป็นอดีตสมาชิกพรรคนาซีเยอรมัน) ภารกิจ “เพื่อมวลมนุษยชาติ” ไม่ได้หมายความถึงมนุษยชาติที่จะเดินทางออกสู่อวกาศเท่านั้น มันหมายความถึงมนุษย์คนอื่นๆ บนโลก ทั้งคนดำ ผู้อพยพ รวมไปถึงคนของฝั่งตรงข้ามอย่างชาวรัสเซีย

ฉากที่นำเสนอเรื่องของโอกาสได้น่าสนใจคือฉากภารกิจเยือนดวงจันทร์ครั้งแรกของทีมอะพอลโล 11 ในตอน Red Moon เรื่องราวของภารกิจเสี่ยงตายบนอวกาศถูกเล่าขนานกับการลักลอบอพยพเข้าเมืองของครอบครัวชาวเม็กซิกัน การลงสู่พื้นดวงจันทร์ไร้เสียงถูกอุปมาดั่งการเดินทางอันเงียบงันข้ามชายแดนของผู้อพยพ คนขาวผู้ยิ่งใหญ่บนพื้นโลกเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตแปลกหน้าที่แสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ในห้วงจักรวาล ไม่ต่างอะไรกับพ่อลูกโรซาเลสที่หนีมาหาโอกาสใหม่ที่ฮิวสตัน นับเป็นการเปรียบเปรยที่คมคายเอาการ มันเชิดชูจิตวิญญาณการฟันฝ่าเพื่อโอกาสใหม่ไปพร้อมๆ กับจี้ปมความแตกต่างทางโอกาสบนเส้นทางความฝันแบบอเมริกันในคราวเดียวกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่ดูจะไม่เปลี่ยนไปเลยไม่ว่าใครจะไปถึงดวงจันทร์ได้ก่อน คือฉากและชีวิตของเกย์กลางศตวรรษที่ 20 เรื่องนี้ถูกนำเสนอผ่านตัวละครนักบินอวกาศหญิง Ellen Wilson (Jodi Balfour จาก Ted Lasso และ The Crown) ผู้ถูกบีบให้แต่งงานเพื่อรักษาหน้าที่การงานเอาไว้ มันไม่ใช่การนำเสนอดราม่าการปกปิดเพศสภาพที่แปลกใหม่อะไรนัก แต่ความน่าสนใจของมันอยู่ที่การในคำอธิบายว่าเกย์เป็นหนึ่งในเหยื่อของเกมล่าแม่มดของ FBI ที่ถูกใช้เพื่อเบี่ยงความสนใจของประชาชนไปจากความฉ้อฉลในคณะรัฐบาล และครั้งหนึ่งเกย์เคยถูกโยงเข้ากับคอมมิวนิสต์ มีภาพลักษณ์ใกล้เคียงกับจารชนของสหภาพโซเวียต

คงไม่ผิดนัก หากจะพูดว่า For All Mankind เป็นแฟนฟิกชั่นฉบับจริงจังที่สร้างโดยแฟนตัวยงของโครงการอวกาศ Ronald D. Moore และทีมบทของเขายังคงแม่นยำในการเล่าเหตุการณ์ระทึกขวัญ ใต้เงื่อนไขทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างเข้มข้นไม่แพ้งานสร้างชื่อของเขาอย่าง Battlestar Galactica และ Star Trek: Deep Space Nine โดยเฉพาะในช่วงท้ายซีรีส์ที่มันดึงเอารสชาติของหนังอุบัติการณ์อวกาศเข้มๆ อย่าง Gravity, Apollo 13 และ The Martian ออกมาได้อย่างถึงเครื่อง ในจังหวะที่เหมาะเจาะพอดี เราทุกคนต่างพอจะคาดเดาได้ว่าผลลัพธ์ของมันจะออกมาเป็นเช่นไร แต่มันก็ประสบความสำเร็จทุกครั้งในการกระตุ้นให้เรารู้สึกเอาใจช่วยตัวละครในสถานการณ์เสี่ยงตายของพวกเขา

นั่นเป็นเพราะมีอีกสิ่งที่มันให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือหัวจิตหัวใจที่อยู่ภายในตัวตนอันเล็กจ้อยของมนุษย์ในเรื่องราวนี้ มันลึกลับดำมืด ไม่สมเหตุสมผล เต็มไปด้วยปริศนาให้ค้นไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็เปี่ยมความหวังในคราวเดียวกัน ไม่ต่างอะไรกับห้วงอวกาศที่โอบล้อมเราอยู่ ตลอดทางการรับชมมักจะชวนให้นึกถึงคำกล่าวของ Neil de Grasse Tyson ที่ว่า “เราไม่เพียงแต่อาศัยอยู่ท่ามกลางดวงดาว ดวงดาวเองก็อาศัยอยู่ท่ามกลางพวกเราเช่นกัน”

อวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยแม้แต่น้อย

BLUE : สีของเสรีภาพและความเศร้า

เพิ่งคืนก่อนที่จะดู Blue นี่เอง ที่ผมฝันถึงแม่ กล่าวตามสัตย์ สองปีหลังจากแม่ตาย ผมฝันถึงแม่บ่อย แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมฝันถึงแม่ เพราะโดยทั่วไปแล้วความฝันถึงแม่นั้นมักจะมาในรูปของเวลาการอยู่ด้วยกันที่ยืดยาวออกไป ความฝันเป็นเหมือนการลบช่วงความตายออก แล้วทอดเวลาสามัญดั้งเดิมออกไปเรื่อยๆ ทำกับข้าว กินข้าว คุยเล่น ผมมักฝันแบบนั้น แต่เพิ่งเมื่อคืนนี้เองผมฝันถึงแม่หลังความตาย ในฝันแม่สวมเสื้อสีชมพูขาวที่แม่ชอบ แล้วมาคุยกับผมว่าให้ผมบริจาคเสื้อผ้าของแม่ไปเสีย ผมตื่นขึ้นด้วยความรู้สึกแตกต่างออกไป ความรู้สึกที่ไม่ใช่ความโหยเศร้าเหมือนก่อนหน้านี้ ความรู้สึกที่ยังไม่มีชื่อเรียก

ครึ่งแรกของ Blue ทำให้ผมคิดถึงความฝันที่เกิดขึ้นในคืนก่อนหน้า จูลี่เป็นนักแต่งเพลง แต่สามีของเธอคือนักแต่งเพลงชื่อก้องโลก เขาเพิ่งได้รับคำขอให้เขียนคอนแชร์โตสำหรับการรวมเป็นหนึ่งของสหภาพยุโรป วันหนึ่งขณะเขาขับรถไปกับเธอและลูก กำลังเล่าเรื่องตลกค้างคาอยู่ รถชน เขาและลูกตาย ทิ้งเธอไว้ในโลกที่เป็นสีเหลืองอมส้ม มีสีฟ้าเหมือนภูติผีคอยหลอนหลอก

ในเรื่องความตาย ผมเรียนรู้ว่าสิ่งที่โบยตีเราที่สุดไม่ใช่การตาย แต่มันคือความรู้สึกของการโบยตีตัวเองว่าทำได้ไม่ดีพอ ทั้งในตอนที่เขายังมีชีวิตและตอนที่เขากำลังตาย ยิ่งกว่านั้นเสียใจกับความเสียใจไม่พอตอนที่เขาจากไปแล้ว การรู้สึกว่าตัวเองเป็นสาเหตุของความตายเพราะต้องมีอะไรสักอย่างผิดพลาดจากน้ำมือของเรา ถ้าเราทำดีที่สุดจริงๆ คนที่เรารักจะยังมีชีวิตอยู่ ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่ผิดพลาด เราจะเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดเสมอ การจมอยู่กับความรู้สึกเป็นคนที่ยังอยู่เมื่อคนที่รักตายจาก การเห็นคนอื่นร้องไห้ ‘เพราะคุณไม่ร้อง’ การรู้สึกสิ้นใยดี ไม่มีปรารถนาในสิ่งใดอีกแล้ว เพราะความรัก ความผูกพัน ทุกอย่างล้วนเป็นเพียงกับดักดังที่จูลี่บอก การปลดปล่อยเหล่านั้นแท้จริงคือเสรีภาพหรือการถูกจองจำในอีกรูปแบบกันแน่ จูลีเรียกชายคนหนึ่งมา เขาเป็นเพื่อนร่วมงานของพวกเธอ เขาอาจจะแอบชอบเธอมาตลอด เธอมีเซ็กซ์กับเขาบนฟูกนอนที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสุดท้ายของบ้านที่ขายข้าวของทุกอย่างไป หลักจากมีเซ็กซ์เธอไล่เขาไปออกไป ไปอยู่อพาร์ตเมนต์ถูกๆ เพียงลำพัง เพื่อไม่ทำอะไรเลย เอาโน้ตเพลงที่สามีเขียนไม่จบมาโยนทิ้งถังขยะ เธอจะไม่รักหรือผูกพันกับใครเลย อิสระจากมนุษย์และโลก หรือในอีกทางหนึ่ง จองจำตัวเองไว้ด้วยความโดดเดี่ยว ลงโทษตัวเองที่ยังมีชีวิตอยู่ จมลงในแสงสีฟ้า แสงแห่งเสรีภาพ เสรีภาพที่กลายเป็นพันธนาการ

ในเรื่องความตาย ผมเรียนรู้ว่าสิ่งที่โบยตีเราที่สุดไม่ใช่การตาย แต่มันคือความรู้สึกของการโบยตีตัวเองว่าทำได้ไม่ดีพอ ทั้งในตอนที่เขายังมีชีวิตและตอนที่เขากำลังตาย ยิ่งกว่านั้นเสียใจกับความเสียใจไม่พอตอนที่เขาจากไปแล้ว การรู้สึกว่าตัวเองเป็นสาเหตุของความตายเพราะต้องมีอะไรสักอย่างผิดพลาดจากน้ำมือของเรา ถ้าเราทำดีที่สุดจริงๆ คนที่เรารักจะยังมีชีวิตอยู่ ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่ผิดพลาด เราจะเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดเสมอ การจมอยู่กับความรู้สึกเป็นคนที่ยังอยู่เมื่อคนที่รักตายจาก การเห็นคนอื่นร้องไห้ ‘เพราะคุณไม่ร้อง’ การรู้สึกสิ้นใยดี ไม่มีปรารถนาในสิ่งใดอีกแล้ว เพราะความรัก ความผูกพัน ทุกอย่างล้วนเป็นเพียงกับดัก

หากเธอถูกรบกวนจากโลกทั้งใบ จากผู้หญิงร่วมตึก จากเพื่อนร่วมงานของสามี จากนักข่าว หรือกระทั่งจากการทุบตีริมถนนที่ไม่เกี่ยวกับเธอ หรือแม้แต่จากหนูที่คลอดลูกในห้องเธอ เสรีภาพที่จะจองจำตนเองของเธอถูกขัดขวางจากเสียงกริ่ง เสียงโทรศัพท์ ความพยายามที่จะตามหาตัวเธอ เป็นส่วนหนึ่งของเธอ ช่วยเหลือเธอ หรือแม้แต่เอาประโยชน์จากเธอ

Blue เป็นหนังภาคต้นในไตรภาคสามสีที่หยิบเอาคำขวัญของฝรั่งเศส เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ มาทำเป็นหนังโดยใช้สีของธง ฟ้า ขาว แดง มาเป็นชื่อของแต่ละตอน ถึงตอนนี้โลกรับรู้แล้วว่านี่คือหนึ่งในไตรภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก และ Krzysztof Kieślowski คือคนทำหนังที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก

ภายใต้หัวข้อที่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ Kieślowski กลับเลือกพาผู้ชมลงไปสำรวจความทุกข์ระทมเฉพาะบุคคลโดยตัดทิ้งความเป็นการเมืองของมันออกไปจนหมด เหลือเพียงฉากหลังจางเบลอของการรวมกันของสหภาพยุโรป แต่นั่นกลับกลายเป็นว่าความส่วนบุคคลอันจำเพาะเจาะจงกลับกลายเป็นความสากลของมนุษยชาติ เสรีภาพเลยพ้นไปจากการปลดปล่อยตัวเองจากอาณานิคม หรือการกดขี่ ไปสู่การสำรวจเสรีภาพ และความไม่สามารถมีเสรีภาพที่แท้จริง

เสรีภาพของจูลีถูกขัดจังหวะตลอดเวลา ทั้งจากสื่อ จากเพื่อนบ้าน จากอดีตเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงจากคนไม่รู้จักที่มาต่อยตีกันหน้าบ้าน ร้ายที่สุด คือหนูที่มาคลอดลูกในห้องของเธอ หนูที่เธอเกลียดกลัว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ถึงที่สุด จูลี่ผู้สันโดษก็ไม่อาจมีเสรีภาพจากทุกสิ่ง ไม่ใช่แค่ความเศร้าที่ห่อหุ้มเธอ แต่ยังรวมถึงศีลธรรมจรรยาของเธอ (ต่อเรื่องของการขับไล่ผู้หญิงไม่ดีคนหนึ่งในตึก) ร่างกายและความปรารถนาของเธอ (ต่อชายผู้อาจจะรักเธอ) ความผูกพันของเธอ (ต่อแม่ผู้เป็นอิสระอย่างแท้จริงผ่านทางการลืมทุกอย่างและทุกคน) ความหลงใหลในดนตรีของเธอ ไปจนถึงสิ่งที่อยู่ลึกที่สุดในใของเธอคือความกลัวของเธอ ต่อหนูที่ยามค่ำคืนส่งเสียงกวนเธอ

เสรีภาพจึงไม่ใช่การละทิ้ง เพราะเราไม่สามารถละทิ้งความรู้สึกนึกคิดของเราได้ เราไม่อาจละทิ้งความเศร้าหมองที่เรามีต่อความตายได้ เราไม่สามารถดึงปลั๊กออกและมูฟออนต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ เรายังคงรู้ร้อนรู้หนาว รู้เจ็บรู้ปวด การละทิ้งจึงไม่ใช่การปลดปล่อย แต่คือการขุดหลุมลึก หรือสร้างกรงชนิดหนึ่งขึ้นมา แล้วขังตัวเองไว้ข้างใน 

เสรีภาพจึงไม่ใช่การละทิ้ง เพราะเราไม่สามารถละทิ้งความรู้สึกนึกคิดของเราได้ เราไม่อาจละทิ้งความเศร้าหมองที่เรามีต่อความตายได้ เราไม่สามารถดึงปลั๊กออกและมูฟออนต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ เรายังคงรู้ร้อนรู้หนาว รู้เจ็บรู้ปวด การละทิ้งจึงไม่ใช่การปลดปล่อย แต่คือการขุดหลุมลึก หรือสร้างกรงชนิดหนึ่งขึ้นมา แล้วขังตัวเองไว้ข้างใน

หากสิ่งที่ปลดปล่อยจูลี คือการทรยศ และการเผชิญหน้า คนที่ปลดปล่อยจูลีไม่ใช่ตัวเธอเอง หรือใครคนคนหนึ่ง หาคือสื่อสารมวลชน เมื่อรูปของสามีเธอถูกเผยแพร่ทางโทรทัศน์และจูลีได้รับรู้ว่าเขามีชีวิตอยู่หนอื่น การทรยศของสามีไม่ใช่การตายจาก แต่คือสิ่งที่เกิดขึ้นขณะยังมีชีวิต ทุกข์เทวษที่เธอจ่อมจมอยู่เป็นเพียงทุกข์ของเธอผู้เดียว โลกไม่ได้จบสิ้นลง มันดำเนินต่อไปตั้งแต่เธอยังไม่ทุกข์ และยังดำเนินต่อไปแม้เธอจะทุกข์

เสรีภาพจึงกลายเป็นการปล่อยมือ ไม่ใช่การทิ้งไป จูลีผู้ถูกทรยศ ค้นพบเสรีภาพอีกครั้งผ่านทางการเผชิญหน้ากับผู้หญิงอีกคนที่โลกไม่ได้จบสิ้นลงเมื่อสามีตาย แต่ยังมาไม่ถึงต่างหาก เธอกลับไปเผชิญหน้ากับโน้ตดนตรีที่สามีทิ้งไว้ เผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า เธอจะเป็นอิสระก็ต่อเมื่อเธอเป็นตัวเธอเอง เมื่อโน้ตเพลงที่เธอร่วมสร้าง ไม่ได้เป็นชื่อของคนอื่น แต่เธอชื่อของเธอเอง 

การปลดปล่อยตัวเองของจูลี ออกจากความตาย จึงไม่ใช่การปล่อยมันไปเฉยๆ หากมันเป็นสิ่งเดียวกับที่เด็กสาวคนขับรถได้บอกกับ คาฟุกุ ที่สูญเสียภรรยาใน Drive My Car ว่า มันเป็นเช่นนี้เอง คนที่ตายก็ตายไป คนที่ยังอยู่ก็จะเฝ้าครุ่นคิดถึงคนที่จากไป เช่นกับที่ โซเฟีย หลานสาวบอกกับลุงวานยาของเธอในบทละครที่คาฟุกุเล่น เราทำได้เพียงทำงานต่อไปมีชีวิตต่อไป จนกว่าวันหนึ่งเราตายลง และพระเจ้าจะให้เราพัก 

ผมเรียนรู้ได้สักพักแล้วความการไปข้างหน้า ไม่ได้มาจากการลืม แต่มาจากการอยู่ร่วม ผมยังคงฝันถึงแม่เป็นครั้งเป็นคราว และเว้นแต่บางวันที่เหนื่อยล้ามากๆ จนไม่อยากเศร้าในตอนตื่น ผมก็ไม่มีปัญหาอะไรที่จะฝันถึงแม่ผมยังคงไม่สามารถมองจ้องลงไปตรงช่วงเวลาสุดท้ายของแม่ได้ แต่ผมก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไป 

ส่องไลน์อัพเวนิซครั้งที่ 79 – ยกขบวนหนังอิหร่านและตำนานคืนเวที ส่วนหนังเน็ตฟลิกซ์ยังแย่งซีน

ประกาศแล้วกับไลน์อัพเทศกาลภาพยนตร์เวนิซปีนี้ ฮือฮาอยู่หลายเรื่องในสายประกวดหลัก ทั้งเคต แบลนเชตต์ ที่เปิดตัวมาแบบเฮี้ยนๆ กับบทวาทยกรหญิงคนแรกของเยอรมันใน Tár กำกับโดยท็อดด ฟีลด์ ที่หายไปนาน 16 ปีหลังจาก Little Children (2006) และ Bones and All หนังรักที่มีตัวละครเป็นคนกินเนื้อคน นำแสดงโดยทิโมธี ชาลาเมต์ กำกับโดยลูกา กัวดายิโน จาก Call Me By Your Name (2017) ส่วนตัวเป้งๆ เทไปอยู่นอกสายประกวด ทั้งลาฟ ดิอาซ, พอล ชเรเดอร์ และไท เวสต์ ที่กลับมาเยือนเวนิซอีกครั้ง และลาร์ส วอน เทรียร์ และนิโคลัส วินดิง เรฟิน ที่คราวนี้มากับซีรีส์

แต่ที่น่าดูไม่แพ้กันกันคือหนังของผู้กำกับหญิงที่ทั้งสามเรื่องล้วนขุดลงไปในความเป็นแม่ ทั้งการพิจารณาคดีแม่ที่ฆ่าลูกสาวตัวเองใน Saint Omer หนังฟิกชั่นเรื่องแรกของอลิซ ดิออป ผู้กำกับสารคดีจอมวิพากษ์สังคม, The Eternal Daughter หนังความสัมพันธ์แม่ลูกของโจแอนนา ฮอกก์ ผู้กำกับ The Souvenir และ The Souvenir: Part II ที่กลับมาร่วมงานกับทิลดา สวินตัน และ Other People’s Children หนังพูดอังกฤษเรื่องแรกของรีเบ็กกา ซโลทอวสกี้ ที่เคยพา An Easy Girl (2019) ไป Director’s Fortnight ที่คานส์ และกำลังร่วมปั้นบท Emmanuelle ฉบับรีเมค หนังเล่าเรื่องของหญิงโสดวัย 40 ที่พบรักกับพ่อลูกติดและรักลูกเขามากเหมือนลูกตัวเอง แต่การเป็นแม่ของลูกคนอื่นอาจไม่ง่ายดายอย่างนั้น

ส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือขบวนหนังอิหร่าน 4 เรื่อง ย้ำชัดถึงจุดยืนของเวนิซที่ต่อต้านทางการอิหร่านที่กวาดจับคนทำหนังและประชาชนจำนวนมากอย่างต่อเนื่องจากการประท้วงขับไล่รัฐบาล (อ่านเกี่ยวกับคนทำหนังอิหร่านที่ถูกจับกุมได้ที่ PANAHI กับ RASOULOF เข้าคุกอีกรอบ ขณะประชาชนประท้วงไล่รัฐบาลอิหร่านต่อเนื่อง และ อิหร่านกวาดจับคนทำหนัง ระหว่างคลื่นประท้วงระลอกใหม่)

เริ่มที่สายหลักอย่าง No Bears ของจาฟาร์ ปานาฮี (Jafar Panahi) ที่เพิ่งถูกจับกุมและสั่งจำคุก 6 ปีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และ Beyond the Wall ของวาฮิด จาลิลวันด์ (Vahid Jalilvand) ที่เคยได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมในสาย Horizons จาก No Date, No Signature (2017) โดยหนังใหม่นี้เล่าเรื่องชายตาบอดที่ชีวิตกำลังจะพังทลาย เพราะผู้หญิงคนหนึ่งก้าวเข้ามาในโลกอันมืดมิดของเขา

ตามมาด้วยสายรองอย่าง Without Her ของอาเรียน วาซีร์ดาฟทารี (Arian Vazirdaftari) ในสาย Horizons Extra เล่าเรื่องของโรญา หญิงสาวที่กำลังจะอพยพออกจากอิหร่านแต่ดันมาเจอหญิงสาวอีกคนที่สูญเสียความทรงจำ โรญาหาบ้านให้และแนะนำเธอให้เพื่อนพ้องและครอบครัวรู้จัก เพื่อจะค้นพบว่าเธอคนนี้มาเพื่อแทนที่เธอ และ World War III ของโฮมาน เซเยดี (Houman Seyedi) ในสาย Horizons ที่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด

ส่วนฟากสารคดีก็มี All the Beauty and the Bloodshed ของลอรา พอยทราส ผู้กำกับ Citizenfour (2014) เจาะไปที่ความขัดแย้งระหว่างแนน โกลดิน ช่างภาพชาวอเมริกัน และตระกูลแซกเลอร์ เจ้าของบริษัทยายักษ์ใหญ่ และหนังใหม่นอกสายประกวดของเซอร์เก ลอทนิทซา A Kiev Trail หรือ Babi Yar. Context เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในคีฟช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

และเมื่อเวนิซไม่ปิดกั้นหนังจากเน็ตฟลิกซ์เหมือนคานส์ หนังใหม่รอสตรีมจึงแห่กันเข้าสายหลัก ทั้ง Blonde ชีวประวัติมาริลิน มอนโร โดยแอนดรูว์​ โดมินิก นำแสดงโดยอนา เดอ อาร์มาส, White Noise หนังครอบครัววายป่วงของโนอาห์ บอมบาค นำแสดงโดยอดัม ไดรเวอร์ และเกรตา เกอร์วิค, Bardo (or False Chronicle of a Handful of Truths) หนังส่วนตัวของอาเลฮานโดร อินาร์ริตู เกี่ยวกับนักข่าวชายชาวเม็กซิกันที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติชีวิต ปัญหาครอบครัว และตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของตัวเอง และ Athena หนังดราม่าดิบเถื่อนของโรแมง กาฟราส์ เล่าเรื่องพี่น้องวัยรุ่นชายสามคนที่ต้องปะทะเดือดกับตำรวจหลังน้องชายคนเล็กตายอย่างปริศนา

เทศกาลหนังเวนิซครั้งที่ 79 จะจัดขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคมถึง 10 กันยายน สามารถดูไลน์อัพฉบับเต็มได้ที่ https://www.labiennale.org/en/cinema/2022/lineup

The Black Phone เปลี่ยนเรื่องสั้นให้กลายเป็นสุดยอดหนังสยอง

The Black Phone สร้างจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ โจ ฮิลล์ และถูกดัดแปลงเป็นบทหนังโดยคู่หู สก็อตต์ เดอร์ริกสัน กับ ซี โรเบิร์ต คาร์จิลล์ (จาก Sinister, Sinister 2, Dr. Strange ปี 2016) ความยากอยู่ตรงที่พวกเขาทั้งต้องพัฒนาตัวละครหลักให้แข็งแรงขึ้นและขยายเรื่องราวให้เหมาะกับหนังยาวมากขึ้น ซึ่งผลคือทำได้ดีจนฮิลล์เจ้าของเรื่องสั้นยังชื่นชม

พวกเขาทำอย่างไร?


สก็อตต์ เดอร์ริกสัน :

“ผมอ่านเรื่องสั้นของโจตั้งแต่ 16-17 ปีที่แล้วและคิดว่าเป็นไอเดียเหมาะทำหนังมาก มันผสมเรื่องของนักฆ่าต่อเนื่องเข้ากับเรื่องผีซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน นอกจากนั้นผมยังชอบตรงที่แม้เรื่องราวจะดำมืด แต่ก็เล่าโดยมีความเห็นอกเห็นใจและความรักต่อตัวละครที่เป็นเหยื่อ แถมยังเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและความหวังด้วย

“สำหรับผม สิ่งสำคัญที่สุดของบทหนังสยองขวัญที่ดีคือการสร้าง ‘โทนของเรื่อง’ หัวใจของหนังแนวนี้ไม่ใช่ฉากตกใจแบบ jump scare ไม่ใช่ฉากสยดสยองถึงเลือดถึงเนื้อ และไม่ใช่จำนวนศพ แต่คือการสร้างตัวละครที่ดี มีความลึก มีความเป็นสามมิติ น่าสนใจและน่าเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก

“ในบทของเรา ตัวเดอะแกร็บเบอร์ไม่มีปูมหลังที่มาเพราะผมรู้สึกว่าการสร้างปูมหลังให้ตัวละครแบบนี้จะเป็นการทำลายตัวละครเสียมากกว่า วายร้ายนักฆ่าที่มีตัวจริงทั้งหลายในโลกน่ะมีปูมหลังที่ไม่ได้ดูมีเหตุมีผลเสมอไปหรอก ฆาตกรอย่างเท็ด บันดี้ก็มีวัยเด็กที่เป็นสุขดี หรือเจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ก็มีพ่อแม่น่ารัก ผมรู้สึกว่าตัวร้ายประเภทฆาตกรในหนังที่ดีที่สุดจะต้องมีความลึกลับอธิบายไม่ได้ว่าทำไมเขาถึงชั่วร้ายขนาดนั้น

“ที่ผมคิดแบบนี้อาจเพราะตัวผมเรียนมาทางเทววิทยา ศาสนาและปรัชญา ผมไม่ได้มองโลกด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์วัตถุนิยม เทววิทยาและศาสนาปรัชญาไม่ได้สนใจแง่มุมโลกในแง่ ‘อะไร’ แต่สนใจว่า ‘เพราะอะไร’

ส่วนเหตุผลที่ผมชอบเขียนเรื่องสยองขวัญก็เพราะมันเป็นเรื่องที่ว่าด้วยความกลัว และความกลัวคืออารมณ์ที่ผมพบเจอมากที่สุดในชีวิตของผมเอง เวลาเจออะไรที่น่ากลัว ใจหนึ่งเราอยากจะปฏิเสธและหนีมัน แต่ในความเป็นจริงผมมักถูกบีบให้วิ่งเข้าหาและเผชิญหน้ากับมัน จนกว่าจะไม่กลัวมันอีกต่อไป ซึ่งนี่ก็คือแก่นของเรื่องสยองขวัญนั่นเอง”


ซี โรเบิร์ต คาร์จิลล์ :

“ความท้าทายที่สุดของ The Black Phone อยู่ตรงที่ต้นฉบับเป็นเพียงเรื่องสั้นสิบหน้า และเราต้องขยายมันให้กลายเป็นบทหนังหนึ่งร้อยหน้า หรือก็คือต้องขยายเองถึง 90% โดยที่ต้องยังชูแก่นของเรื่องต้นฉบับไว้ให้ได้ด้วย

“ผมคิดว่ากุญแจสำคัญของบทหนังสยองขวัญที่ดีก็คือตัวละคร ถ้าคุณไม่รักตัวละคร คุณก็จะไม่กลัวแทนพวกเขา ถ้าคุณเกลียดตัวละคร คุณจะรู้สึกสบายใจถ้าพวกเขาตกเป็นเหยื่อของความสยองขวัญ ดังนั้นเราต้องเริ่มจากการสร้างตัวละครที่แข็งแรงให้ได้ก่อน

“สก็อตต์กับผมมีทฤษฏีการเล่าเรื่องแนวสยองขวัญอยู่ว่า เราชอบให้หนังเริ่มด้วยการเป็นหนังแนวอื่น แล้วจึงค่อยขัดจังหวะมันด้วยสิ่งเหนือธรรมชาติ อย่างใน The Black Phone นั้นว่าด้วยการก้าวพ้นวัยของเด็กสองคน ที่พยายามช่วยเหลือกันให้รอดจากชีวิตแย่ๆ ในครอบครัว และตอนนั้นเองที่จู่ๆ ฆาตกรต่อเนื่องก็โผล่มาแล้วลักพาตัวเด็กคนหนึ่งไป”

เราใช้เวลา 30 นาทีแรกของหนังไปกับการทำให้คุณรู้จักเด็กเหล่านี้ด้วยลีลาเหมือนกำลังดูหนังอินดี้ในเทศกาลหนังซันแดนซ์อะไรแบบนั้น จนถึงจุดที่คุณอิน คุณรักเด็กๆ และก็จะกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา นี่ล่ะคือฐานอันแข็งแรงของหนังสยองขวัญ มันคือการที่คนเขียนแคร์ตัวละครและทำให้คนดูแคร์ตัวละครไปด้วย.เราใช้เวลาเขียนบทกันทั้งหมด 5 สัปดาห์โดยใช้วิธีผลัดกันเขียน ผมถนัดเขียนตอนดึกๆ เพราะเป็นคนนอนดึก ส่วนสก็อตต์เป็นพวกตื่นเช้าก็เลยถนัดเขียนตอนกลางวัน สลับกันไปแบบนี้ ที่ทำได้ก็เพราะเราเข้าใจวิธีการของกันอย่างละเอียดและทำงานผสมกันได้เนียน เวลา 5 สัปดาห์ของเราจึงเท่ากับ 10 สัปดาห์ของนักเขียนทั่วไปครับ”

10 หนังน่าดู ในเทศกาลภาพยนตร์ Signes de Nuit in Bangkok ครั้งที่ 8

ถึงแม้จะจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่แปดในกรุงเทพแล้ว แต่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ‘นิมิตวิกาล’ หรือชื่อต้นทาง Festival International Signes de Nuit ก็ยังอาจไม่ใช่ชื่อที่หลายคนเคยได้ยินมาก่อน

ตัวเทศกาลหลักนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2003 ในปารีส ชื่อ signes de nuit หรือ signs of the night นั้น มีที่มาจากการฉายครั้งแรกๆ เทศกาลฉายในช่วงเวลากลางคืนและลากยาวไปจนจวบอรุณรุ่ง จนถึงตอนนี้เทศกาลหนังที่ก่อตั้งและดำเนินการแทบจะลำพังโดย Dieter Wieczoreck มีอายุย่างเข้ายี่สิบปีแล้ว เทศกาลที่ฉายหนังจากทั่วโลก และก็เดินทางไปทั่วโลกทั้งในฐานะโปรแกรมพิเศษ ไปจนถึงเทศกาลหลักที่ตอนนี้ปักหลักอยู่ใน ปารีส, เบอร์ลิน, ลิสบอน, เออร์บิโน, อิตาลี, ทูคูมาน, อาร์เจนตินา และ กรุงเทพฯ

เป็นทั้งเรื่องง่ายและยากที่จะบอกว่าเทศกาลนี้ฉายหนังอะไร กล่าวอย่างตรงไปตรงมาที่สุด โปรแกรมในเทศกาลแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนที่หนึ่งคือหนังสารคดีทั้งสั้นและยาว ส่วนที่สองคือหนังสั้นหลากหลายรูปแบบ และส่วนที่สาม Cinema of Transgressions คือสายประกวดหนังทดลอง video art หรือแม้แต่งานภาพเคลื่อนไหวที่ยังอธิบายหรือจัดหมวดหมู่ไม่ได้

กล่าวในทางยาก หนังในเทศกาลนี้ครอบคลุมไปทั่วทุกทวีป (ปีนี้เรามีทั้งหนังจาก กานา เอธิโอเปีย มอริทัวเนีย สิงคโปร์ จีน เม็กซิโก อเมริกา เบลเยี่ยม ฯลฯ) เกือบทั้งหมดเป็นหนังเล็กๆ ที่หาดูได้ยากจากผู้กำกับที่ชื่อไม่คุ้น โดยมากหนังมักโฟกัสไปยังชีวิตของผู้คนที่เราไม่คุ้นเคย คนชายขอบที่ถูกหลงลืม ในขณะเดียวกันหนังเหล่านี้ก็อาจมองหาประเด็นใหม่ๆ ทั้งเรื่อง AI สงคราม โลกร้อน ความสัมพันธ์ของคนกับหุ่นยนต์ การครอบงำของทุน ไปจนถึง การเมือง วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ที่ถูกกลบฝัง ในอีกทางหนึ่งดูเหมือนหนังสนใจการทดลองในทุกรูปแบบ ทั้งภาพและเสียงหรือข้อความเชิงกวี เราอาจได้ดูหนังที่ตามถ่ายบรรดาผู้คนในโรงพยาบาลโรคจิตให้งดงามราวกับบทกวี หรือดูหนังว่าด้วยคนที่พาปัญญาประดิษฐ์ไปออกเดต หนังที่สร้างจากฟุตเตจของเกม โดยตั้งข้อแม้ว่าเราสามารถหนีทหารในเกมสงครามได้หรือไม่ หรือหนังที่พาเราไปเยี่ยมชมบริษัทผลิตอาวุธ หรือสืบสวนว่ายาต้านซึมเศร้าเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์หรือเป็นการค้ากำไรของบริษัทยากันแน่ ในอีกทางเราก็อาจได้ดูชีวิตของชาวนาที่กำลังตาบอดอาศัยลำพังที่ตีนเทือกเขาแอนดีส หรือตามดูนักเขียนคนหนึ่งที่พยายามจะรื่นรมย์ทั้งที่กำลังจะตายจากโรคปอด ตามดูชีวิตคนขายบริการทางเพศในยุคโควิด หรือดูการรังแกนักเรียนศิลปะด้วยเพื่อนนักเรียนกันเอง

และเพื่อเป็นคู่มือสำหรับการดูหนังในเทศกาลที่กำลังจะมีในสุดสัปดาห์นี้ (23-24 กค. ที่หอภาพยนตร์) และสัปดาห์หน้า (30- 31 กค.ที่ doc club & pub.) เราจึงขอแนะนำหนังสิบเรื่องจากเทศกาลนี้


The Stopover (L’escale)
(2022, Belgium/Congo, Collectif Faire-part, 14 min)

ฉายที่ doc club & pub. ในวันเสาร์ที่ 30 ก.ค. 2022 รอบเวลา 19.30 น.

ในปี 2019 Paul Shemisi และ Nizar Saleh สองคนทำหนังเดินทางจาก Kinsasha ไปยัง Frankfurt เพื่อฉายหนังเรื่องใหม่ของพวกเขา ระหว่างจอดเปลี่ยนเครื่องที่ Angola พวกเขาถูกกักตัวไว้ที่สนามบินเนื่องจากสายการบินไม่เชื่อถือเอกสารของพวกเขา ตอนแรก Paul และ Nizar คิดว่าพวกเขาจะถูกพาไปโรงแรมเพื่อรอเที่ยวบินกลับบ้าน แต่กลับพบว่าพวกเขาถูกพาตัวไปยังศูนย์กักกันผู้ลักลอบเข้าเมือง หนังสั้นเรื่องนี้คือคำให้การจากคนทำหนัง ที่ค้นพบความเป็นไปไม่ได้ของศิลปินชาวคองโกที่จะเดินทางอย่างปลอดภัยและไร้ปัญหา หนังเลือกเล่าเรื่องอย่างทรงพลังผ่านบทสนทนา โดยทั้งหมดที่เราเห็นก็เพียงภาพผ่านจากหน้าต่างเครื่องบินหลายๆ ภาพ


Train Again
(2021, Austria, Peter Tscherkassky, 20 min)

ฉายที่ หอภาพยนตร์ ในวันอาทิตย์ที่ 24 ก.ค. 2022 รอบเวลา 16.30 น.

Peter Tscherkassky คือคนทำหนังในตำนาน งานของเขามักสร้างขึ้นจากหนังอีกเรื่อง กล่าวให้ถูกต้องคือ เขาเอาฟิล์มจากหนังเรื่องอื่นมาเล่นสนุกในห้องมืด ซ้อนมันบิดมัน ทำให้ภาพของมันบิดเบี้ยว หนังเรื่องเกิดเป็นความหมายใหม่ ความสยองขวัญแบบใหม่ที่เหลือเชื่อผ่านการละเล่นกับเนื้อฟิล์มและการตัดต่อ

ในงานชิ้นนี้เขาได้แรงบันดาลใจจาก Kurt Kren คนทำหนังทลองชื่อดัง จากหนังเรื่อง Tree Again กลายเป็น Train Again ที่ฟุตเตจภาพของรถไฟถูกนำมาร้อยเรียง บีบอัด ตัดข้ามเปลี่ยนสี ซ้อนทับจนกำเนิดภาพใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น นี่คือโอกาสที่จะได้ดูหนังเขาอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดด้วยการดูในโรง


End of the Universe
(2021, USA, Wheeler Winston Dixon, 5 min)

ฉายที่ หอภาพยนตร์ ในวันอาทิตย์ที่ 24 ก.ค. 2022 รอบเวลา 16.30 น.

Wheeler Winston Dixon คืออีกหนึ่งบิ๊กเนมในงานนี้ เขาคือนักวิจารณ์​นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ และคนทำหนังทดลองคนสำคัญอีกคนของอเมริกา ในหนังใหม่ของเขา ดูเหมือนเขาใช้ทัศนียภาพของภาพจากเกมหลายๆ เกมมาเชื่อมร้อยกันให้เราเห็น จุดจบของจักรวาล ดังที่ซารซ์ต กล่าวไว้

“ที่จุดจบของจักรวาลนั้นมันคงจะเงียบมากๆ”


An Hours or So
(2021, Egypt, Manal Khaled, 60 min)

ฉายที่ doc club & pub. ในวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค. 2022 รอบเวลา 13.00 น.

“An Hour or So” เป็นเรื่องราวของผู้หญิงสามคนในไคโรที่ถูกบังคับให้ทำงานขายบริการ ผู้หญิงคนแรกทุกข์ทรมาน เธอแต่งงานกับชายที่ทุบตีและขโมยเงินเธอ โดนแม่จับเข้าพิธีสุหนัตและขายเธอกิน จนถึงทุกวันนี้เธอยังคงถูกทำเป็นเหมือนวัตถุอยู่ ผู้หญิงอีกคนหนึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยความโกรธอันเป็นผลมาจากการทรยศ ที่ทำให้เธอต้องจากครอบครัวของเธอในอียิปต์ตอนบนและจบลงที่กรุงไคโร ซึ่งเธอพบว่าตัวเองมีอาชีพขายบริการทางเพศโดยไม่ได้ตั้งใจ คนที่สามเดินทางไปต่างประเทศหลังจากใช้เซ็กซ์เพื่อหาเงินที่เธอต้องการ ในการเดินทางออกนอกอียิปต์ เธอจบลงด้วยการมีเซ็กซ์ เธอได้กำไรจากอาชีพนี้และสนุกกับมันมากไม่เหมือนกับเพื่อนร่วมงานของเธอ เรื่องราวของเธอเป็นหนึ่งในความแข็งแกร่งและชัยชนะแม้จะกลัวอนาคตและความชรา


Finding Sally
(2020, Canada/Ethiopia, Tamara Mariam Dawit, 75 min)

ฉายที่ doc club & pub. ในวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค. 2022 รอบเวลา 15.00 น.

Sally เป็นพวกเจ้าขุนมูลนาย บุตรสาวของผู้มีหน้ามีตาในสังคม เด็กๆ ของสถานทูต พ่อเธอเป็นทูตของเอธิโอเปีย ซึ่งนั่นหมายความว่าครอบครัวของเธอเคยอาศัยอยู่ในหลายประเทศก่อนจะมาลงหลักปักฐานในแคนาดาในปี 1968 Selamawit Dawit คือชื่อที่เพื่อนๆ เรียก Sally โดยเธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Carleton ใน Ottawa เป็นนักศีกษาที่ร่าเริงสดใส มีเพื่อนมากมายและมีคนสนใจเธอไม่น้อย ในฤดูร้อนปี 1973 Sally เดินทางไปเอธิโอเปียในวันหยุด เธอไม่กลับมาอีกเลย ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ชีวิตของ Sally เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เธอเปลี่ยนจากสาวสายปาร์ตี้ที่หมกมุ่นอยู่กับเสื้อผาและน้ำหอมไปเป็นคอมมิวนิสต์ และผู้นำหญิงของกลุ่มที่ออกมากล่าวปราศรัยต่อต้านรัฐบาลเอธิโอเปีย


Robin Bank
(2021, Spain, Anna Giralt Gris, 80 min)

ฉายที่ doc club & pub. ในวันเสาร์ที่ 30 ก.ค. 2022 รอบเวลา 19.30 น.

เขาขโมยเงินไปครึ่งล้านยูโรจากธนาคารต่างๆ 39 แห่ง และบริจาคทั้งหมดเพื่อสังคม

นี่คือเรื่องราวของ Enric Duran นักเคลื่อนไหวชาวคาตาลันที่กู้เงินไปครึ่งล้านยูโร ซึ่งเขาไม่เคยตั้งใจจะชำระคืน เขาใช้เงินเพื่อระดมทุนในโครงการเพื่อสังคมและอ้างว่าเขาก่อการโจรกรรมเพื่อเปิดเผยแนวปฏิบัติที่ไม่ดีของระบบธนาคาร นอกจากนี้ เขายังต้องการส่งเสริมให้ผู้คนคิดแตกต่างออกไป และร่วมสร้างโลกใหม่ที่มีความเท่าเทียมและยั่งยืนมากขึ้น

เมื่อต้องเผชิญกับการถูกจองจำ Duran ก็หนีออกไปในปี 2013 แต่เขายังคงทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวใต้ดินของการต่อต้านทางเศรษฐกิจ การกระทำของเขากลายเป็นหัวข้อข่าวไปทั่วโลกและเปลี่ยน Duran ให้กลายเป็นวีรบุรุษของขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ หนึ่งในนั้นที่เขาได้รับแรงบันดาลใจคือผู้กำกับ Anna Giralt Gris ซึ่งไปปฏิบัติภารกิจเพื่อค้นหาเขาและสืบสวนผลที่ตามมาจากการกระทำของเขา

แต่เมื่อเธอคลี่คลายสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและในที่สุดก็พูดกับ Duran ด้วยตัวเอง เรื่องราวที่ลึกซึ้งและซับซ้อนยิ่งขึ้นก็ปรากฏขึ้น คุณขีดเส้นแบ่งอย่างไรว่าอะไรถูกหรือผิดกฎหมาย? คนเดียวจะกอบกู้โลกได้จริงหรือ?


Posterity
(2021, Malaysia, Audrie Yeo, 10 min)

ฉายที่ doc club & pub. ในวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค. 2022 รอบเวลา 17.00 น.

หนังเล็กๆ หลอนๆ จากสิงคโปร์ที่เล่าเรื่องของเด็กผู้หญิงที่เจอศพนกตัวหนึ่งที่ร่างหายไปบางส่วน เธอตัดสินใจทำนกจำลองขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนและจัดการฝังศพให้เรียบร้อย ด้วยความตั้งใจของเธอทำให้เกิดการมาเยี่ยมเยียนของผียายเธอที่จากไปแล้ว ปรากฎตัวในร่างของนกตัวนั้น โดยขอร้องให้เธอตามหาและดูแลไข่ที่เป็นลูกของยาย ยามบ่ายหลอนๆ ในสวนสาธารณะที่มีรูปปั้นพระถังซัมจั๋งและลูกศิษย์


Radio Freedom
(2021, Netherlands, Ismar Vejzovic/Bafl Sarhang, 19 min)

ฉายที่ หอภาพยนตร์ ในวันเสาร์ที่ 23 ก.ค. 2022 รอบเวลา 12.30 น.

ผู้ดำเนินรายการวิทยุสมัครเล่นอาศัยอยู่ตามลำพังในเมืองซาราเจโวที่ถูกปิดล้อมซึ่งถูกทำลายโดยสงคราม ห่างจากภรรยาและลูกเล็กๆ ของเขา เขารายงานเกี่ยวกับสงครามจากสถานีชั่วคราวของเขาและช่วยให้ผู้คนได้ติดต่อกับคนที่พวกเขารักนอกเมือง เมื่อเขารู้เรื่องการตายของเด็กที่ช่วยเขาข้ามถนนที่ถูกมือปืนซุ่มยิง เขาตัดสินใจออกจากเมือง


Chile 1973
(2022, Costa Rica, Mike Hoolboom/Jorge Lozano, 8 min)

ฉายที่ หอภาพยนตร์ ในวันเสาร์ที่ 23 ก.ค. 2022 รอบเวลา 16.30 น.

สร้างจากภาพถ่ายจำนวนมากของ Koen Wessing ผู้ซึ่งเสี่ยงตายออกไปบันทึกภาพบนท้องถนนของเมืองซานติอาโก ในขณะที่ประธานาธิบดี Allende ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเริ่มแบ่งปันทรัพยากรให้กับคนยากจน เดาได้ไม่ยากว่านั่นส่งผลให้ปฏิกิริยาของวอชิงตันพลิกกลับ ซึ่งต่อมานำไปสู่การัฐประหาร การสังหารหมู่ และประวัติศาสตร์บาดแผล แต่นี่เป็นหนังทดลองมากกว่าหนังประวัคิศาสตร์ Mike Hoolbloom ที่เคยมีหนังมาฉายในเทศกาลหลายครั้ง ได้นำภาพเหล่านั้นมาปะติปะต่อและเล่ามันออกมาในแบบที่พิสดารพันลึก


Inner Lines
(2022, France/Belgium, Pierre-Yves Vandeweerd, 87 min)

ฉายที่ หอภาพยนตร์ ในวันอาทิตย์ที่ 24 ก.ค. 2022 รอบเวลา 14.30 น.

Pierre-Yves Vandeweerd เป็นคนทำหนังสารคดีเชิงกวีที่เรารัก หนังของเขามักเดินทางไปในที่ต่างๆ ที่เราอาจจะไม่เคยเห็น แต่แทนที่เขาจะเล่าเรื่อง เขากลับใช้กล้องกวัดกวาดทัศนียภาพเหล่านั้นมาอย่างเหลือเฟือ ปล่อยให้เราลงมือเล่าจากภาพที่เราเห็น ในครั้งนี้ หนังถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. ติดตามการเดินทางของเขาผ่านภูมิภาคต่างๆ รอบภูเขา Ararat ที่เป็นชายแดนระหว่างตุรกีกับอาร์เมเนีย เขาเลาะไปตาม Inner Lines (เส้นชั้นใน) ซึ่งเป็นคำศัพท์ทางการทหารสำหรับเส้นทางคู่ขนานเหล่านี้ ซึ่งถูกใช้โดยผู้ส่งสารและนกพิราบสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อชุมชนที่กระจัดกระจายและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

ครบรอบ 1 ปีแรงงานนักเรียนหนัง : เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ยอม


เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สมาคมผู้กำกับได้ออกประกาศแถลงการณ์ว่าด้วย ‘ปัญหาสวัสดิภาพแรงงานอุตสาหกรรมบันเทิงไทย’ เนื้อหาในแถลงการณ์นั้นนอกเหนือจากการชี้แจงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุคลากรในสมาคมแล้ว ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่สมาคมผู้กำกับออกมาพูดถึงปัญหาสวัสดิภาพแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเป็นทางการ พร้อมกันนั้นทางสมาคมยังประกาศอย่างชัดเจนว่าพร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้แรงงานทุกภาคส่วนได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีสวัสดิการที่ดีในการทำงาน ปัญหาความอยุติธรรมของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ (เพียงแต่ยังไม่ถูกพูดถึงวงกว้าง) หากเราจำกันได้ปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในห้อง Clubhouse ของ ‘กลุ่มแรงงานนักเรียนหนัง’ แล้วพวกเขาคือใคร?

ย้อนกลับไปเมื่อราวหนึ่งปีก่อน ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกหย่อมหญ้า นอกเหนือจากความเดือดร้อนที่กระทบประชาชนทุกภาคส่วน วิกฤติโควิด-19 นี้เองได้เผยให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างสังคมภายในประเทศที่ถูกเพิกเฉยมาเป็นเวลานาน พร้อมกันนั้นผลพวงจากโควิด-19 ยังสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจให้หลายประเทศอย่างหนักรวมถึงประเทศไทยด้วย จวบจนตอนนี้เศรษฐกิจไทยก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก

ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดในปี 63 ไทยยังเผชิญกับปัญหาการบริหารของรัฐบาลที่ไม่โปร่งใสและด้อยประสิทธิภาพ บรรดากลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษาต่างพากันลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลพร้อมกับเรียกร้องประชาธิปไตยและความเสมอภาคแก่ประชาชน ปัญหาโครงสร้างสังคมต่างๆ ที่เคยถูกละเลยได้รับการพูดในหมู่ผู้ประท้วงทั้งช่องทางออนไลน์และพื้นที่ชุมนุม นอกเหนือจากกลุ่มเยาวชน-นิสิตนักศึกษา คนวัยทำงานจำนวนมากต่างลุกขึ้นมาเปิดเผยถึงความไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน ‘ปัญหาแรงงาน’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในหลายๆ วงการ รวมถึงปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย 

ณ ช่วงเวลานั้นเอง Clubhouse กลายเป็นแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ใหม่ที่ได้รับความนิยมจากคนไทย แล้วในคลับเฮ้าส์นั้นเองนิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่งรวมตัวกันตั้งวงเสวนาว่าด้วยสหภาพแรงงานหนัง ปัจจุบันพวกเขารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องในนาม ‘กลุ่มแรงงานนักเรียนหนัง’ เพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่แรงงานภาพยนตร์ควรได้รับในฐานะคนทำงาน

Film Club ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มแรงงานนักเรียนหนัง ประกอบด้วย มนธิการ์ คำออน (เอิร์น) คณิศร สันติไชยกุล (โจ้) และ อนรรฆมนต์ อังศธรรมรัตน์ (ครีม) ตลอดการสัมภาษณ์ถัดจากนี้ Film Club ขอเรียกแทนทั้งสามท่านด้วยชื่อเล่นตลอดบทความ 

*หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ทำในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 65 ที่ผ่านมา


Film Club : จากการรวมกลุ่มแรงงานนักเรียนหนังในคลับเฮาส์ ผ่านมา 1 ปีแล้วรอบตัวพวกคุณมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

เอิร์น : คือถ้าเกิดพูดถึงว่ามันมีอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงไป เอาจริงมันยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเป็นรูปธรรมขนาดนั้นเนาะ แต่ว่าเรารู้สึกถึงบรรยากาศและบทสนทนาที่มันเริ่มมีการพูดถึงสิ่งนี้มากขึ้นนะ อันนี้เอิร์นไม่รู้ว่าในกองอื่นๆ เป็นไง แต่ว่าจากบรรยากาศจากคนรอบตัวที่เอิร์นทำงาน เอิร์นเห็นชัดว่ามันเปลี่ยนเราคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น 

มนธิการ์ คำออน (เอิร์น)

เอิร์น : ตอนนี้เอิร์นทำงานเป็นผู้กำกับอิสระ เป็นผู้กำกับฟรีแลนซ์กำกับ MV ค่ะ เราก็เลยจะเห็นใน Line Production ที่ชัดว่าบรรยากาศในกองในทีมของเราเองมันเป็นยังไงบ้าง เราทำงานใกล้ชิดกับโปรดิวเซอร์เรา เราคุยกัน เราแชร์กันเลยว่าเราอยากให้คนที่อยู่ในทีมเราอยู่ในกองเราได้เงินที่สมเหตุสมผล แล้วก็ชั่วโมงทำงานที่เหมาะก็คือ 12 ชั่วโมง คือเราพยายามเวิร์กกับโปรดิวซ์ฯ ซึ่งโปรดิวซ์ฯ ก็คือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารเรื่องเงินและเวลาใช่ไหมคะ 

คือพอมันเซ็ต priority ใหม่การทำงานมันก็จะต่างไปเลย แต่ก่อนเราเคยแบบจะเอาๆ อยากได้แบบนั้นอยากได้แบบนี้ เราก็จะถูกเบรกว่า เห้ย ถ้าเอาแบบนี้คนมันเกินคิวนะ เราจะยอมลดค่าตัวไปจ่ายไหม หรือว่าเราจะยอมปรับเรื่องของเราเพื่อให้ทุกคนทำงานกันแบบมีสุขภาพที่ดี มันเห็นได้ชัดเลยว่าทุกคนน่ะมันมี awareness เรื่องนี้กันในกองมากขึ้น มันต่างกันมากนะคะตั้งแต่ตอนที่เราเริ่มทำกันเอง ในตอนที่เรายังเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่กับตอนที่เราเริ่มจบมาทำงาน อันนี้เอิร์นไม่รู้ว่าในกองอื่นๆ เป็นไง แต่ว่าจากบรรยากาศจากคนรอบตัวที่เอิร์นทำงาน เอิร์นเห็นชัดว่ามันเปลี่ยนเราคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น คือเราก็คุยกันเองก่อนว่าเราไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมแบบมันมีการพูดถึงเพิ่มขึ้น เราก็เลยได้แต่คุยกันว่าหรือมันเป็นเพราะว่าเราเริ่มจุดประเด็นตั้งคำถาม (ในคลับเฮ้าส์) หรือเปล่า คือถ้ามันเป็นเพราะคลับเฮ้าส์วันนั้นจริงๆ เราก็จะดีใจมากค่ะ

โจ้ : ความรู้สึกอย่างหนึ่งก็คืออย่างที่เอิร์นพูดเนาะว่าตอนนั้นที่เรายังทำอยู่ เรามีการจัดคลับเฮ้าส์ขึ้น พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาอะไรงี้ ซึ่งก็คิดว่าถือว่าได้รับความสนใจประมาณนึงสำหรับคนในวงการ ซึ่งมันก็แคบประมาณนึง ส่วนคนนอกวงการสารไม่ถึงตรงนั้นแน่นอน แต่มันก็รู้สึกอะไรบางอย่างได้ …มันเหมือนมีคนโยนอะไรเข้าไปในกล่องที่มันมืดๆ ตลอดเวลา แล้วคนมันก็เลยแบบ ‘เอ้ย นี่มันอะไรกัน’ ก็เริ่มมีเสียงในการพูดคุยประเด็นอะไรพวกนี้ตามมาประมาณนึงที่ผมรู้สึกนะครับ 

เหมือนล่าสุดผมเห็นโพสต์ในฟีดผมสักอันนึง จำไม่ได้ว่าใครแชร์ แต่มันเป็นเรื่องแบบชั่วโมงทำงานของ(คนทำ)ภาพยนตร์ พูดถึงเรื่องความปลอดภัยในการถ่ายทำอะไรแบบนี้ ซึ่งถ้าย้อนไปแบบ 5 ปีก่อน เราจะไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ ไม่เห็นเลย (พูดเน้น) แบบ No แบบ 0 ซึ่งก็นับว่านี่ก็น่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนะ

ครีม : ตอนนี้ครีมอยู่ปี 4 นะคะ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเทศกาลการถ่ายธีสิสเลยแบบว่ากองครีมก็กำลังจะถ่ายอีก 2 วัน เท่าที่ครีมเห็นการเปลี่ยนแปลงมากๆ ในกองถ่ายธีสิสจากเพื่อนๆ กันเองอะค่ะ สิ่งที่ครีมประทับใจก็คือเราเห็นจากเพื่อนๆ และก็รุ่นน้องรอบๆ ตัวที่ตระหนักเรื่องนี้กันมากขึ้นมากๆ แบบว่าเรื่องสวัสดิภาพ-สวัสดิการคนกอง อาหารแต่ละมื้อควรจะครบ 

มันไม่เหมือนตอนสมัยครีมอยู่ปี 1 ที่ครีมไปออกกองรุ่นพี่แล้วมีคิว 24 ชั่วโมง แล้วครีมไม่มีสิทธิ์บ่นด้วยซ้ำว่า เฮ้ย มันเกินไปหรือเปล่า ตอนนั้นกลายเป็นว่าเรามาพูดกับเพื่อนด้วยความพราวด์ด้วยซ้ำ มันแปลกมากเลย มันกลายเป็นวาทกรรมประมาณ ‘เฮ้ย อีเหี้ยกอง 24 ชั่วโมงกูก็เคยออกมาแล้วแม่งเจ๋งว่ะ’ หรือแบบ… ‘เฮ้ย มึงกองนี้แม่งแบบอีดอก กูแบบว่าลองทำทั้งที่ไม่มีอุปกรณ์เซฟตี้ด้วย’ อะไรอย่างงี้ (หัวเราะ) 
มันเศร้าอ่ะใช่ แต่ว่าที่เราพูดตอนนั้นน่ะเรามีความสนุกเฉยเลย มันน่าเศร้าตรงนั้นพอเรา(คิด)ย้อนกลับไป ซึ่งตอนนี้ครีมได้คุยกับรุ่นน้องมากขึ้น พอเห็นว่าบางกองข้าวไม่ครบหรือว่าชั่วโมงทำงานมีชั่วโมง breakdown เกิน 12 ชั่วโมง ประโยคแบบนี้มันเริ่มไม่เกิดขึ้นแล้วค่ะพี่ มันกลายเป็นการไปคุยต่อรองกัน มันไม่เงียบอีกต่อไป รุ่นน้องไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเงียบกับสิ่งนี้ มันมีการคุยกันมันมีการบอกโปรดิวเซอร์ว่ายังไงก็ต้องมีข้าวนะ หรือว่าไปบอก AD (ผู้ช่วยผู้กำกับ) ว่าเราสามารถขยับเบรกดาวน์ได้ไหม มันดีมากๆ กับการที่เราจะไม่เงียบกับสิ่งนี้ค่ะ คนในกองมีสิทธิ์ที่จะคุยกับคนที่จัดการเรื่องนี้ได้

Film Club : นักศึกษาฟิล์มหลายคนก็พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่าการเป็นนักศึกษาก็สามารถทำหนังที่มีคุณภาพได้ ในสายตาของครีมๆ คิดว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญในการทำหนังเพราะ ‘ยังเป็นนักศึกษา’

ครีม : การที่ยังเป็นนิสิตทำให้งบประมาณของพวกเราค่อนข้างจำกัดในการที่จะมีสวัสดิการให้ทุกคนได้อย่างครบถ้วนค่ะ อย่างหนังที่มีซีนขับรถหลายๆ ซีนเราก็ยังไม่มี budget พอในการ offer อุปกรณ์เซฟตี้ในการถ่าย ทำให้มันเคยมีเหตุการณ์ตอนปี 1 รถ (ที่ถ่ายทำ) มันตกถนนแล้วเราก็ต้องตามคนรับลากรถมาช่วย ถ้าเป็นหนังใหญ่ๆ ทุนสูง เขาจะมีทีมเซฟตี้แยก มีเบาะมีอุปกรณ์รองรับหากเกิดอุบัติเหตุ หรือทีมพยาบาลหากใครบาดเจ็บ แต่หนังนักศึกษามันยังไม่มีใครมีทุนสูงที่จะจัดหาสิ่งเหล่านั้นมาได้ ตรงนี้ก็ยังเป็นปัญหากันอยู่มากๆ ทำให้พวกหนูก็ต้องออกไปทำงานกัน ออกไปเจอปัญหาข้างนอกกันเร็วขึ้น 

Film Club : คิดว่าถ้าเรามีสหภาพแรงงานคนทำหนัง ปัญหาของแรงงานนักเรียนหนังจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่มั้ย


เอิร์น : เตะคำถามไปต่อดีกว่าว่าทำไมมันถึงยังไม่มี คือแน่นอนถ้ามันมี มันช่วย(เรา)แต่ตอนนี้มันไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งมันก็เลยเกิดมาเป็นแบบกลุ่มคลับเฮ้าส์กลุ่มนั้นด้วยแหละ ที่ถามทุกคนว่าปัญหาตอนนี้คืออะไร แน่ๆ มันมีทั้งเรื่องกฎหมาย แล้วก็ถ้าเกิดว่าเราจะเป็นเหมือนองค์กรที่ไม่ได้ขึ้นกับรัฐล่ะ ทำไมตอนนี้มันยังทำไม่ได้ เอิร์นว่าน่าจะเริ่มถามจากตรงนั้นมากกว่า

โจ้ : แน่นอนว่ามันดีอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าเรามองประวัติศาสตร์การทำงานน่ะการที่(กว่า)เราได้อะไรมาแต่ละอย่างในที่ทำงาน ไม่ใช่แค่(เฉพาะวงการ)ภาพยนตร์ มันไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ มันเกิดจากการต่อสู้ของแรงงานหมด ดังนั้นการรวมตัวที่เรียกสหภาพ มันจึงสำคัญ มันเชื่อมโยงกันหมดนะ ว่าการทำงานของเราในมิติต่างๆ เนี่ย มันไม่ใช่ว่าเราจะเรียกร้องแค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่การมีสิ่งนี้มันสามารถเรียกร้องได้ในทุกมิติเลยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ถ้าเรามองกันดีๆ มันมากกว่าที่เราเห็นด้วยซ้ำ หลายๆ อย่างผมว่ามันก็สามารถรวมกันได้ เหมือนอย่างที่พูดว่าถ้าแรงงานรวมตัวกันในแต่ละวิชาชีพ เมื่อมันรวมกันได้มันก็สามารถสะท้อนภาพใหญ่ในสังคมได้เหมือนกัน

แต่ทีนี้คำถามว่า ทำไมเราไม่มีใช่ไหม อันนี้มันน่าเป็นคำถามสำคัญที่เราควรจะถามกัน แล้วก็เรามาคิดตรงนี้ดีไหม ว่าทำไมเราไม่มี เราติดขัดอะไร คือถ้าเราบอกว่าเราติดขัดกฎหมายอย่างงี้ ผมว่าแน่นอนมันต้องติดขัดกฎหมายอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่ติดขัดกฎหมายก็คงมีไปนานแล้ว แต่คือในความคิดเห็นผมอะ ถ้าเราทำอะไรแล้วมันติดขัดกฎหมายหรือติดขัดอะไรเหล่านี้มันเปลี่ยนได้ สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือกฎหมายมันเปลี่ยนได้

ตอนนี้มันมีสหภาพคนทำงานสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเหมือนกับเป็นตัวจักรสำคัญอย่างหนึ่งขึ้นมาให้แก่คนทำงานสร้างสรรค์ในไทย ไม่ใช่แค่คนทำงานภาพยนตร์ซึ่งก็นับว่าดีมากในการเกิดบทสนทนาตรงนี้เพิ่มขึ้นมารวมถึงมันได้เกิด สหภาพคนทำงาน ใช่ไหมครับ แต่ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่เห็นชัดขึ้นอย่างชัดเจน ที่มันเกิดขึ้นในโครงการของภาพยนตร์ไทย และก็หวังว่ามันน่าจะน่าจะต่อยอดไปได้มากกว่านี้

Film Club : ขอย้อนกลับไปถามตอนพวกคุณรวมกลุ่มกันเมื่อ 1 ปีก่อน อะไรคือความตั้งใจแรกที่ทำให้พวกคุณพยายามจัดตั้งกลุ่มแรงงานนักเรียนหนังนี้ขึ้นมา 

เอิร์น : ก็จริงๆ มันเกิดขึ้นด้วยความที่ว่าตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ประมาณปี 3 ตอนนี้คือเพิ่งเรียนจบและเราก็ได้เริ่มเข้าไปทำงานมิวสิกวีดีโอ ซึ่งทีมงานก็ไม่ได้เป็นใครที่ไหนไกลก็จะเป็นน้องๆ นี่แหละที่เราทำงานด้วยกันเป็นประจำ 

ทีนี้พอเราเริ่มทำไปประมาณ 2 ตัว 3 ตัว 4 ตัว ก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันเริ่มพอจะมีค่ายเข้ามา เราก็เห็นปัญหาที่ว่าทำไมค่าแรงมันน้อยจัง เราเริ่มตั้งคำถามว่ามันเป็นเพราะเรายังเป็นนักศึกษาอยู่หรือเปล่า เหมือนกับว่าเรายังไม่ได้ถูก qualify ว่าเป็นคนที่ทำงานจบแล้วเราเลยอาจใช้คำว่า ‘ถูกกดค่าแรง’ ใช่ไหม 

ซึ่งจริงๆ เรื่องข้อนี้เราก็เข้าใจดีว่า เออ มันก็อาจจะมีบางส่วนที่เมคเซนส์นะเพราะว่าเราก็ยังเรียนอยู่ เลยยังไม่ได้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เนาะ เพราะว่าโอเคถ้าพูดตามตรงวงการนี้เขาก็ไม่ได้ดูว่าคนจะจบที่ไหนยังไง แต่ว่าดูที่ผลงาน เราก็พอเข้าใจได้ ดังนั้นเราเลยคิดว่าอย่างน้อยถ้าเราไม่มีพอร์ตไม่เป็นไร แต่เราอยากให้มันมีค่าแรงขั้นต่ำอะค่ะ คือไม่ว่าใครจะมาทำอย่างน้อยขอให้มันมีเส้นที่เป็นขั้นต่ำไว้ซึ่งตอนนี้มันไม่มี มันทำให้หลายๆ คนที่โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานแล้วนึกว่า อ๋อ มันก็คงเท่านี้มั้ง เคยแชร์กับน้องกลุ่มเชียงใหม่คือแบบคนทำกราฟเฟอร์แค่ 900 คือมันแบบ impossible มากเว้ย ก็เพราะว่าเขาไม่รู้เพราะเขาไม่มี Rate Card เราก็เลยคิดว่างั้นเรามารวมกลุ่มกัน ในฐานะที่พวกเรามีจำนวนคนเราสามารถจะสร้างการต่อรองอะไรได้บ้าง

Film Club : ครีมในฐานะที่คุณยังเป็นนักศึกษาอยู่ คุณบอกว่าความคิดของคนรอบตัวคุณเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก แล้วพวกคุณยังต้องเผชิญกับปัญหาการถูกกดค่าแรงเพราะยังเป็นนักศึกษาอยู่ไหม

อนรรฆมนต์ อังศธรรมรัตน์ (ครีม)

ครีม : คือครีมมีโอกาสได้ร่วมงานกับ OTT Platform OTT แพลตฟอร์มคือพวก Streaming Platform (แพลตฟอร์มดูหนังออนไลน์) ซึ่งได้ลองร่วมงาน 2 ที่ ถึงแม้ว่าทั้ง 2 ที่จะถูกแคนเซิลไปแล้วนะคะแต่ว่าอย่างน้อยก็เคยได้มีการคุยงานแล้วประชุมกัน คือเราเห็นความต่าง มีที่หนึ่งที่เขามีกฎค่อนข้างแบบชัดเจนมากๆ ว่าคิวถ่ายของเขาจะต้องเป็น 12 ชั่วโมง Turn Around 10 ชั่วโมง มีการคุ้มครองว่าจะต้องมีเอกสารนู่นนี่นั่นเพื่อยืนยันว่าคนออกจากเซ็ตสุดท้ายคือใคร มีข้อกำหนดที่ชัดเจนมาก แล้วการเบิกจ่าย 10% 20% ตอนก่อนทำงาน ตอน Pre-Production

คือสมมติอย่างครีมน่ะค่ะ ทำงาน pre-pro ไปแล้วแต่ว่ามีการเปลี่ยนตัวแล้วโดนบอกเลิกสัญญา ครีมก็ได้เงินชดเชยในส่วน pre-pro ในขณะที่อีกทีมนึงอ่ะค่ะ ครีมร่วมงานไปแล้วอีก 10 วันจะถ่ายแล้ว เขามาขอยกเลิกสัญญา เราไม่ได้รับเงินชดเชยอะไรเลยแบบ 0 แถมเขามาร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเพราะว่าตั้งใจจะไม่ให้ค่าตัวนิสิตอยู่แล้ว มันเป็นอะไรที่… (หัวเราะเบาๆ ในลำคอ) ทั้งๆ ที่ช่วงนี้มันกำลังมาแล้วก็แบบส่งผลมากๆ กับอุตสาหกรรมเราอะค่ะ 

หนูก็เลยรู้สึกว่ามันน่าจะดีนะถ้าซักวันหนึ่งถ้าอุตสาหกรรมไทย ที่อาจจะไม่ต้องเป็น(บริษัทในเครือ)ของต่างประเทศด้วยซ้ำมันสามารถทำแบบนี้ได้ มีการกำหนดที่ชัดเจนมากๆ และบีบบังคับให้ทำกันทุกภาคส่วน ตอนนั้นโปรดิวเซอร์ที่ทำก็เป็นโปรดิวเซอร์ไทยที่ไม่เคยทำงานกับแพลตฟอร์มฯ นอกมาก่อน เขาก็มาทำได้ เอาตรงๆ ถ้าตัวนายทุนเขามีกฎเกณฑ์และบังคับมา สุดท้ายคนก็พยายามทำมันได้

Film Club : เอิร์น ในฐานะที่คุณทำงานเป็นผู้กำกับมืออาชีพแล้ว คุณมีวิธีต่อรองกับโปรดิวเซอร์ยังไงเรื่องการให้ค่าแรงที่ยุติธรรมต่อทุกฝ่าย

เอิร์น : คืออันนี้โปรดิวเซอร์เอิร์นน่ะค่ะแก่กว่าเอิร์นแค่ 1-2 ปี เพราะว่าพวกเราส่วนใหญ่ทีมก็จะมีแต่เด็กๆ เพราะว่าเราเข้าใจกัน แล้วเราเชื่อใจกันด้วย วิธีการที่เราดีลกับลูกค้า คือการที่เราเปิด budget ชี้เลยค่ะ ว่าทั้งหมดนี้เราใช้ตามนี้จริงๆ เราไม่ได้หมกเม็ดอะไร 

จริงๆ เราอยากจะรณรงค์เรื่องการแชร์ค่าแรงของตัวเองกับทุกคนด้วยนะคะ คือเราไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องปกปิดเป็นความลับอะไรเงี้ย คือการแชร์เพื่อให้เห็นว่าที่เราได้อยู่มันแฟร์ไหม เราสามารถแชร์กับทีมงานทุกคนได้เลยว่าใครได้อะไรเท่าไหร่ ซึ่งเราก็ทำแบบนี้กับลูกค้าเหมือนกันว่า เอ้ย เนี่ยพี่ ถ้าพี่จะเอาเท่าเนี้ย ทีมหนูอะเขาจะได้กันเท่านี้นะ

อย่างโปรดิวเซอร์เอิร์นน่ะเขาจะไม่ได้เป็นสายฟาดแข็งๆ น่ะค่ะ เขาจะเป็นสายค่อยๆ เอาน้ำลูบคุย ซึ่งมันก็เวิร์กเหมือนกัน การดีลกันการต่อรองกับผู้ใหญ่ถ้าให้พูดตรงๆ จากประสบการณ์เอิร์นอะนะมันต้องแบบต้องค่อยๆ อะค่ะ ซึ่งเราไม่ได้ยอม แต่เราก็พยายามหาวิธีการพูด ซึ่งโอเคบางคนเขาก็ใช้วิธีการแข็งสู้ ก็สู้ได้เหมือนกันนะ อันนี้เอิร์นก็เคยเห็นมาแต่ว่าจากประสบการณ์เอิร์นนะ เอิร์นรู้สึกว่าค่อยๆ คุยกับเขา เขาก็มีเหตุผลเหมือนกัน เราพยายามเข้าใจเขา ซึ่งก็เวิร์กค่ะ

Film Club : เราคิดว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญเวลาเราสื่อสารกับผู้ใหญ่ในวงการภาพยนตร์

ครีม : อันนี้เป็นมุมมองของครีมนะคะ ส่วนตัวมันอาจจะเพราะว่า Age Gap (ช่องว่างระหว่างวัย) นั่นแหละค่ะ พวกเราเห็นว่าการถูกเลี้ยงดูมาในช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน โดยที่คนในสมัยก่อนอาจจะให้ค่าของความอดทนแต่ว่าคนในวงการจะต้องเหมือนแบบ… เนี่ยนะ พี่ไต่เต้ามาจากการเป็นเด็กขนไฟแล้วพี่ถึงจะมาเป็น DP (Director of Photography) ได้ เหมือนเขาให้ค่ากับความอดทนน่ะว่าการอดทนมันส่งผลแล้วมันตอบแทน เขาเลยมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทน จู่ๆ เข้าวงการมาก็อยากเป็นตำแหน่งใหญ่ๆ เลย หรือไอ้เด็กพวกนี้ทำกันแป๊บๆ ก็ออก ทำไมเราไม่มีความอดทนเลย 

แต่ว่าในมุมมองของเราก็คือแล้วทำไมมันต้องทนในเมื่อมันมีวิธีที่ดีกว่า หรือมีวิธีที่แบบ… มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องทน เราสามารถทำงานแบบที่มันแฟร์กับคนทำงานได้มากกว่านี้ เราไม่จำเป็นจะต้องไปเริ่มต้นจากการทำงานโหดๆ แบบโอที Turn Around ให้ถึง 8 ชั่วโมงอะไรแบบนี้มาก่อน เหมือนเขาก็จะแบบ ‘โอ้ แค่นี้ทนไม่ได้หรอ’ ฟีลนั้นน่ะค่ะ

เอิร์น : จริงๆ เห็นด้วยกับครีมโดยเฉพาะว่ามันไม่ใช่แค่วงการภาพยนตร์แหละค่ะ แต่มันคือเป็นทุกวงการแหละ กับการตั้งคำถามว่า ‘ทำไมไม่ยอม’ กับ ‘ทำไมต้องยอม’ ซึ่งเอิร์นคิดว่าพอมันมีการ counter (โต้ตอบ) กันตรงนี้มันเลยทำให้เวลาเราจะคุยอะไรด้วยการเปิดใจหรือว่าการมองเห็นว่าเขาเป็นคนที่เขามีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่ากันกับเรา มันเลยเป็นไปได้ยากมากๆ เลย 

เอิร์นคิดว่าเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญคือมันน่าจะเป็นคำว่า empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) ทั้งสองฝ่ายนะ คือบางทีเราก็จะอาจจะคิดแบบทำไมเขาไม่เข้าใจเรา แต่ถ้าเกิดว่าเราพยายามเข้าไปทำความเข้าใจว่าพี่เขาจัดตั้งมานานแล้ว ผ่านเวลามานานน่ะค่ะ เขาเจออะไรมาเยอะเหมือนกัน มันเลยออกมาเป็นแบบนี้ในการโต้ตอบ คือถ้าเกิดว่าเราเข้าใจกันมันทุกอย่างมันจะง่ายมากเพราะว่าคีย์เวิร์ด empathy จริงๆ เราก็คุยกันในแบบในกองในทีมของเราเหมือนกันนะว่าจริงๆ แล้วจะไม่ได้ไม่มีปัญหาอะไรเลยถ้าเกิดว่าทุกคนคุยกันแบบเข้าใจคุยกันแบบเห็นความเป็นมนุษย์อะค่ะ

โจ้ : เพราะว่าคำว่า empathy มันมาปะฉะดะกับคำว่าอีโก้ของแต่ละคน ซึ่งวงการศิลปะไทยอีโก้เยอะมากครับ

เอิร์น : เอิร์นว่าอีโก้มันไม่ได้มาแบบไม่มีที่มาที่ไปอาชีพของเราน่ะ มันบิลด์ให้มันเกิดสิ่งนั้น เพราะเวลาคนจะเลือกงานมันก็เลือกจากความสามารถของแต่ละคนชัดๆ 

Film Club : แล้วอุปสรรคสำคัญเวลาเราสื่อสารกับคนดูล่ะ 

เอิร์น : เรามองว่าอาชีพของคนทำงานใน Production น่ะค่ะ มันเป็นอาชีพที่มีการทำงานที่พิเศษ ก็คือเวลาคนอื่นมองเข้ามามันจะไม่สามารถว่าตอกบัตรตอน 8 โมง เลิก 4-5 โมง ไม่ใช่ เราทำงานกันเป็นคิว ยังไม่นับว่าคิว(ละ) 12 ชั่วโมงหรือเปล่า หรือว่าคุณถ่ายซีรี่ย์ 16 ชั่วโมงอะไรงี้ คือมันเกินจากคนปกติไปเท่าตัวที่ทำงานแค่ 8 ชั่วโมงน่ะค่ะ 

พอมันเป็นคัลเจอร์ที่พิเศษแล้วมันเป็นคนทำงานเบื้องหลังหลายๆ ตำแหน่งมันไม่ได้มีโอกาส expose หรือทำให้เห็นอยู่แล้วว่าเขาทำงานกันยังไง ดังนั้นเวลาเราจะพูดเรื่องค่าแรงขึ้นมา มันค่อนข้างยาก บางทีมันเลยมีแบบดราม่าว่า เอ้ย ทำไมทำแค่นี้คิดแพงจัง จริงๆ มันไม่ได้แค่นั้น เพราะว่าบางค่าที่เราเห็นมาน่ะค่ะ มันไม่ใช่ one-production เนาะ มันยังมีแบบ Pre Production หรือ Post และ Pre ที่มันเน้น creative process มันไม่ได้เห็นเป็นรูปร่างว่ามันคืออะไร แต่มันก็ถือว่าเป็นชั่วโมงการทำงานเหมือนกัน

อันนี้ก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องคอนดิชันนี้ที่ทำให้คิดว่ามันเป็นปัญหาในการพยายามจะสื่อสารหรือว่าเรียกร้องออกไป อีกทั้งแม้แต่ในแง่กฎหมายเองอ่ะค่ะ คนทำงานโปรดักชันส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์เนาะ ตรงนี้มันก็ยิ่งยากเข้าไปอีกเวลาเราอยากจะเรียกร้องอะไรออกมา 

โจ้ : ปัญหาอย่างที่เมื่อกี้เอิร์นพูดไปว่า ‘ความพิเศษ’ อะไรบางอย่างในวงการเรา แต่ความจริงก็ไม่อยากจะพูดว่ามันพิเศษขนาดนั้น มันก็เป็นแค่ ‘อีกแบบหนึ่ง’ แล้วกัน แค่มันไม่ได้ตรงกับงานทั่วไป ทีนี้มันมีผลก็คือมันทำให้คนไม่รู้ว่างานเรามันทำอะไรกันแน่ ในหลายๆ ครั้งและในหลายๆ แขนงมันเลยทำให้เรื่อง(การเรียกร้อง)ค่าแรงนี่มันก็ยากมากเลย สมมุติว่าคุณจะเรซเงินมาเท่านี้ คนที่ไม่เข้าใจ คนที่ไม่รู้ เขาก็ต้องงงว่าตำแหน่งนี้ทำไมต้องใช้เงินขนาดนี้เลยเหรอ เช่นตำแหน่งคนเขียนบทอะไรอย่างงี้

คณิศร สันติไชยกุล (โจ้)

โจ้ : คนทั่วไปเขาอาจจะไม่รู้ว่าคนเขียนบทในอุตสาหกรรมไทยตอนนี้มันขาดแคลนมาโดยตลอด บางคนอาจจะไม่รู้ แล้วความกดดันในการทำงานมันมากขนาดไหน การที่ต้องคิดจนหัวระเบิด แล้วเขาเรียกเงินมาแต่พอคนบางคนไม่เข้าใจ คนก็เลยบอกอาจจะมองว่าไม่สมเหตุสมผลรึเปล่าล่ะ มันก็เลยเป็นปัญหาในการสื่อสาร ในการที่จะยกประเด็นขึ้นมา อันนี้พูดแค่ตัวอย่างเดียว มันมีตัวอย่างอีกเยอะ คนตัดต่อ คนเกรดสี มันเป็นเหมือนแบบ miserable (ทุกข์ทรมาน) มากๆ แต่สำหรับคนทั่วไป(เขา)ไม่รู้เลยซึ่งมันไม่ได้ผิดนะฮะ แต่ผมรู้สึกถ้าเราจะเรียกร้องการทำงาน เราก็ต้องทำให้เขาเข้าใจ ซึ่งมันก็เป็นสเต็ปต่อไปเรื่อยๆ ในการที่จะทำให้เขาเข้าใจ ทำให้เขาเห็นอาจจะเป็นคุณค่าของมันให้มันมากขึ้น ให้เกิดการยอมรับอะไรประมาณนี้ 

Film Club : ก้าวถัดไปของกลุ่มแรงงานนักเรียนหนังคืออะไร

ครีม : แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวถัดไปที่คิดว่าทำได้ด้วยตัวเองอาจจะเป็นการคุยกับน้องๆ ในคณะแหละว่าสิ่งนี้มันสำคัญจริงๆ นะ อยากให้สืบสานต่อไป ถ้าต่อไปนี้เราเริ่มต้นจากงานในคณะ งานธีสิส งานส่งครูกันเองแล้วค่อยๆ ปลูกฝังไปเรื่อยๆ ก็เชื่อว่าในอนาคตทุกคนก็ต้องออกไปทำงานแล้วมันน่าจะดีขึ้นค่ะ 

แต่ว่า…ก็ไม่รู้ว่าการออกไปทำงานแล้วสุดท้ายเจอกับระบบเดิมๆ สุดท้ายมันจะทำร้ายทุกคนไหม มันก็คงเป็นไปตามฝันไม่ได้เพราะว่าถ้าเราไปแล้วยังไม่ได้เป็นตำแหน่งใหญ่โตที่นี่มีสิทธิ์ในการไปต่อรองอะไร แต่อย่างน้อยถ้าเรามีความกล้าที่จะพูดสิ่งนี้ เช่น กล้าถามว่าเออพี่ขาแบบค่าตัวเท่าไหร่คะ คือแรกๆ รับงานหนูไม่กล้าถาม budget ด้วยซ้ำ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็คือรู้สึกว่าทุกคนน่ะกล้าถามกันมากขึ้น กล้าถามกันเลยไปเลยว่าเออบัดเจ็ทเท่านี้คือคิวนึงใช่ไหมคะ มีโอทีไหมคะ คิว 12 ชั่วโมงใช่ไหมคะ อันนี้รวมขนของหรือเปล่าคะ สมมติหนูเป็นทีมที่ต้องขนของก่อน หรือมีวันบล็อกฯ แล้วนอกจากวันถ่ายมีคิวอะไรบ้างคะ คือเราสามารถคุยกับน้องๆ บอกน้องๆ ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญอะแล้วก็ให้ส่งต่อกันไป น่าจะเป็นสิ่งที่ตัวหนูทำได้ในตอนนี้ 

เอิร์น : เอิร์นว่า(ความเคลื่อนไหวก้าวถัดไป)ของเอิร์นมันทำได้เว้ย เพราะเอิร์นว่าคลับเฮ้าส์ที่เราเล่าให้ฟังมันเป็นผู้กำกับมาเปิดน่ะ อันนี้เราเห็นในคลับเฮ้าส์นั้นน่ะมันมีค่ายเพลงที่เรารู้จัก คนที่เขาต้องมาดีลกับเรา เขาเข้ามาฟังด้วย แล้วคราวนั้นมันมีบางคนที่เขาโทรมาหาเราแล้วคุยกับเราเรื่อง budget ก่อนเป็นอันดับแรก มันเห็นได้ชัดเลยว่าเขาตระหนักนะ ถ้าถามว่าปีล่าสุดนี้กับปีก่อนน่ะมันต่างกันมากเลยอะ คนที่คุยเขาจะรู้ดีเลยว่าเออ เขามีเท่านี้เขารู้ว่ามันยาก เขาขอ requirement เท่านี้ เข้าใจมากอะไรขึ้นแบบนี้น่ะค่ะ 

ดังนั้นการ speak up หรือว่าการยืนยันเพื่อในสิ่งที่เราเชื่อสำคัญจริง การปฏิเสธงานหรือว่าปฏิเสธคนที่มี ideology ไม่ตรงกับเรามันไม่ใช่เรื่องแย่อ่ะ มันไม่ใช่ว่า อุ้ย ลูกค้าคนนี้หายไปแล้วเราจะจบ มันไม่จริงแบบนั้นน่ะ แต่หมายถึงว่ามันก็ต้องมาพร้อมกับทีมที่เขามีอุดมการณ์เดียวกับเราแล้วก็เข้าใจเราอะค่ะ อย่างเอิร์นก็โชคดีที่เจอทีมที่เราเข้าใจกัน เราเลยไม่รู้สึกว่าตอนนี้เราถูกหลอมไปกับวัฒนธรรมเก่าๆ ที่มันเป็นเหมือนเดิมน่ะค่ะ เพราะว่ามันมีคนที่คอยซัพพอร์ตเราอยู่ข้างหลัง ก็เลยคิดว่าเห้ย มันก็โอเคนะกับการที่ไปกับเพื่อน ปลูกฝังแนวคิดใหม่นี้ไปด้วยกัน แล้วถ้าเกิดว่ามันรวมตัวกันน่ะ เหมือน… (หัวเราะเบาๆ) พูดแล้วก็จะดูโรแมนติกเหมือนสหภาพอะไรงี้ แต่เราๆ เชื่อว่ามันมันต่อรองได้ มันเปลี่ยนแปลงได้น่ะ 

Film Club : อีก 10 ปีข้างหน้า เราจินตนาการว่าวงการหนังไทยว่ามันจะเป็นยังไง หรือเราอยากให้วงการหนังไทยมีอะไรในอนาคต

เอิร์น : เราก็ยังอยากมีความหวังนะ คือปีนี้มาปีที่แล้วก็เห็นว่ามันมีนักทำหนังไทยหลายๆ คนที่เขาส่งทุนขอทุนด้วยตัวเองไม่ได้พึ่งค่ายเจ้าไหนเลยอ่ะค่ะ เขาก็(ยัง)ไปได้รางวัลที่ต่างประเทศ เราก็รู้สึกยินดี คือมันก็คงดีนะถ้าเราได้เงินจาก(หน่วยงาน)อะไรแบบกระทรวงวัฒนธรรมมาสนับสนุนนะคะ เชื่อว่ามันมีอยู่แล้วแหละ อย่างเช่นปกติมันจะมีตัวแทนใช่ไหมคะ ที่เลือกหลักของคนไทยไปออสการ์ทุกปีเลยนะ แต่ว่ามันก็จำกัดจำเขี่ยมาก ทุนที่หมายถึงคือเราอยากให้มันมีทุนที่ไม่ต้องกำหนดธีม คือปกติก็จะมีองค์กรที่เขาชอบให้เงิน(เช่นธีม)ความดีอะไรแบบนี้ อยากให้มันโปร่งใสไปเลยไม่ต้องกำหนดธีม ไม่ต้องกำหนดตัวชี้วัดทั้งนั้น เราก็ให้ทุนนี้มันได้ Exercise แต่มันได้ให้คนในวงการได้สามารถใช้ได้จริงๆ น่ะค่ะ

แล้วก็คือถ้าเกิดว่าถามต่อไปอีก อย่างคำว่า ‘วงการนี้’ ก็สงสัยว่าอีก 10 ปีมันจะเปลี่ยนไปอีกไหม ตอนนี้คำว่า ‘วงการ’ มันหมายถึงว่าคนที่ specialized (เชี่ยวชาญ) ในการทำสิ่งหนึ่งๆ ใช่ไหมคะถึงเป็นวงการ แต่ว่าตอนนี้ทุกคนมีเครื่องมือในการถ่ายวีดีโอเป็น medium (สื่อ) ในชีวิตประจำวันก็คือในกล้องมือถือน่ะทุกคนทำหนังได้ในนั้น มันก็เรียกว่ามันเป็นหนังนะอย่างที่คานส์ก็มี Tiktok เข้าไปในเซคชั่นอะไรเงี้ย แต่ว่ามันก็บอกอะไรบางอย่างว่าในอนาคตโอกาสหรือน่านฟ้ามันน่าจะเปิดกว้างขึ้น 

โจ้ : โอเคผมปิดท้ายเลยละกันฮะ (หัวเราะ) อาจจะแบ่งเป็น 3 อย่างหลักๆ อย่างแรกก็คือที่เราคุยกันแทบจะตลอดทั้งบทสนทนาในวันนี้ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของแรงงานหนังน่ะครับ ความปลอดภัย สวัสดิการอะไรพวกนี้รวมทุกอย่าง ก็อยากให้มันพัฒนาขึ้น มีรูปแบบที่มันชัดเจนในการดูแล มีกฎเกณฑ์ที่มันชัดเจนกว่านี้ ไม่ใช่ล่องลอยแบบปัจจุบันที่ทำงานเกินเวลาก็ตามมีตามเกิดกันไปอะไรแบบนี้ (ควร)มีอะไรที่มันชัดเจนกว่านี้ในการมาควบคุมตรงนี้

แล้วก็ประเด็นต่อมาก็คือเรื่องอยากให้วงการหนังไทย ภาพยนตร์ไทยมีความเป็น ‘อุตสาหกรรม’ ซะที เหมือนที่ทั้งสองคนก็มีพูดมาแล้วแหละว่า หลายๆ ครั้งเราจะได้ยินคำว่าอุตสาหกรรมหนังแต่ผมว่าไทยตอนนี้มันยังไม่ใช่ ‘อุตสาหกรรม’ ในความหมายที่ว่ามันมีกลไกของมันหมุนวนกันอยู่ตลอดเวลา(อย่างสมบูรณ์) 

(ยกตัวอย่าง)ที่เกาหลี เกาหลีเขามีสิ่งนั้น เขาทำได้ แล้วเกาหลีก็ได้รับแบบพัฒนามาจากรูปแบบของฝรั่งเศส ซึ่งเราก็ไม่ต้องสงสัยว่าฝรั่งเศสนี่ภาพยนตร์นี่มันเฟื่องฟูเป็นอันดับต้นๆ ของโลกใช่ไหม ผมเคยฟังเหมือนเป็นตัวแทนจาก Unifrance ที่มาพูดงานหนึ่งจัดที่ Neilson Hays เขามาพูดเรื่องว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศสมันเป็นยังไง ทำไมอุตสาหกรรมหนังฝรั่งเศสเขาถึงประสบความสำเร็จระดับโลก 

ซึ่งไม่ได้จะเล่าละเอียดทั้งหมดแต่คร่าวๆ ว่ามันมีประเด็นหนึ่งที่ผมจำได้ พอฟังแล้วเรารู้สึกเลยว่า โอ้ย สิ่งนี้เรียกว่าอุตสาหกรรม คือมันมีเงินหมุนแบบเป็นระบบมาก แล้วมีเงินสำหรับคนทำหนังแบบให้ไปเลยคนทำหนังประมาณนี้ต่อปี รายละเอียดอาจจะไม่ได้เป๊ะมาก คือคนทำหนังไม่อดตายถึงแม้เขาจะไม่มีงานแต่เขาก็จะมีเงินให้ประทังชีวิต แล้วสมมติคุณทำหนังขึ้นมาเรื่องนึงแล้วหนังคุณได้กำไรคืนทุนแล้วแล้วที่เหลือมันยังฉายอยู่ในโรง เงินเหล่านั้นก็จะเป็นของคุณ แต่ถ้าเกิดคุณทำหนังแล้วมันล้มหน้าคว่ำคุณก็จะไม่เสียอะไร คือมันเซฟให้เราด้วยในการที่จะกล้าที่จะเล่นกล้าที่จะลองอะไรใหม่ๆ รวมถึงการมีภาษีเหมือนเป็นภาษีตั๋วภาพยนตร์ที่เก็บเข้ามาส่วนหนึ่งจากรายได้ที่ได้จากการขายตัวมาไว้ในกองทุนหลักอันนี้ ชื่อ CBC มั้ง ไอ้องค์กรนี้เวลาดูหนังฝรั่งเศสมันจะอยู่ตอนท้ายเครดิตทุกเรื่องนะ 

ซึ่งมันก็ทำให้เห็นว่ามันเป็นระบบจริงๆ เราก็อยากเห็นไทยเป็นอย่างนั้นในอนาคต ในความว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ซักที เรียกกันมาว่าอุตสาหกรรมหนังๆ แต่คนทำหนังก็ยังต้องไปทำอีกอย่างอื่น ไปทำ mv ทำโฆษณาโน่นนี่ประทังชีวิต 

อีกอย่างนึง อันนี้มองในความเป็นคนนอกหน่อยๆ แล้วกันว่าเราเห็นพื้นที่ เราเห็นทุนในการให้ทำหนังมันน้อยเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าทุนคือ เคยได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ ถนอม ชาภักดี เขาจะใช้คำว่า เราต้องต่อสู้กับ ‘Aesthetics ของรัฐ’ ซึ่งถามว่าทำไมเราต้องสู้ เพราะว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จำกัดการให้ทุนของรัฐอยู่ มันสำคัญมากในการที่จะต่อสู้ในมิติทางนี้ด้วย ไม่งั้นเราก็จะก้าวหน้าไปลำบากมากๆ ถ้าเราติดหล่มตรงนี้

คำที่คนอาจจะพูดกันอีกคำหนึ่งคือ ‘แบบไทยๆ’ อะ คือ จุดๆๆ แล้วก็ลงท้ายด้วยคำว่าแบบไทยๆ ซึ่งเราควรจะเปลี่ยนตรงนี้ ถามว่าอันนี้เป็นการต่อสู้ของคนทำหนังแค่นี้ไหม มันก็ไม่ใช่ อันนี้มันเป็นเรื่องของคนทุกคนแล้ว มันเป็นเรื่องของจิตสำนึกร่วมสมัยใหม่น่ะของคน(ใน)องค์รวม ซึ่งอันนี้เราก็ต้องสู้กันในเวทีใหญ่ แต่ผมแค่อยากจะพูดในเชิงว่าสิ่งเหล่านี้มันมีความสำคัญต่อคนในวงการหนัง ด้วยในความที่ว่าคนให้ทุนในฐานะที่เป็นรัฐเนี่ย ก็ยังมีกรอบอำนาจนำที่เขาครอบครองอยู่ในตอนนี้ ในความหมายต่างๆ ดังนั้นการที่เขาให้ทุนน่ะมันก็เหมือนกับการที่เขาสามารถกำกับกรอบนั้นได้อยู่ดี เพราะว่าถ้าเขาไม่อยากให้อะไรเกิดขึ้นเขาก็ไม่ให้ทุนใช่ไหมฮะ ก็จบ สิ่งนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เราต้องทำให้เห็นพลังตรงนี้ให้มากขึ้น แล้วเราก็อยากเห็นสิ่งนี้มันทลายลงมากยิ่งขึ้น ก็ประมาณนี้

โคริเอดะนำทีมเรียกร้องการปฏิรูปอุตสาหกรรมหนังญี่ปุ่นตามโมเดลของฝรั่งเศส สู้วิกฤติวงการหนังซบเซา

การจะทำหนังสักเรื่องนั้นใช้เงินไม่น้อย หากไม่ใช่คนทำหนังที่มีสตูดิโอใหญ่หนุนหลังหรือได้ทุนสร้างจากต่างประเทศ คนทำหนังรุ่นใหม่จะหาเงินที่ไหนมาพัฒนาโปรเจ็กต์ใหม่และให้ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลกับเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปข้างหน้า คำตอบแรกคงหนีไม่พ้นการสนับสนุนจากรัฐบาล – และล่าสุดกลุ่มคนทำหนังญี่ปุ่นก็กำลังพยายามผลักดันให้มันเกิดขึ้น

Action4Cinema หรือ Association for the Establishment of a Japanese Version of CNC คือกลุ่มคนทำหนังญี่ปุ่นที่นำโดย ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (ผู้กำกับ Broker, Shoplifters, Nobody Knows) ที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการจัดตั้งองค์กรสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตามโมเดลของศูนย์ภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวแห่งชาติ หรือ Center National du Cinema et de l’Image Anime (CNC) ของฝรั่งเศส

หากองค์กรดังกล่าวถูกก่อตั้งขึ้นตามโมเดลนี้จริง การเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเกิดขึ้นคือระบบการรวบรวมเงินภาษีจากโรงหนัง ผู้ออกอากาศ และผู้จัดจำหน่าย เพื่อนำมาเป็นทุนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ตามเจตจำนงขององค์กร โดยพึ่งพางบประมาณจากรัฐเพียงส่วนน้อย แต่ความท้าทายคือมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ Motion Picture Producers Association of Japan (MPPAJ) ที่มีค่ายหนังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างโตโฮและอีกสามค่ายหนังเจ้าใหญ่เป็นสมาชิกตกลงร่วมมือ และแม้ตัวแทนของ MPPAJ จะบอกว่าเห็นด้วย แต่ก็ยังพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ‘ผู้ถือผลประโยชน์’ หลายกลุ่ม

ในการเปิดตัวกลุ่ม พวกเขาได้นำเสนอร่างแนวทางการออกแบบนโยบายเผื่อผลักดันการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม โดยโคเรเอดะกล่าวว่า พวกเขาได้เข้าประชุมกับ MPPAJ รวมถึงหารือและศึกษาข้อมูลกับองค์กรอื่นๆ แล้วก่อนจะก่อตั้งกลุ่ม และเชื่อว่าการก่อตั้งองค์กรแบบ CNC จะช่วยแก้วิกฤติวงการหนังซบเซาจากโควิด-19 และปฏิรูปวงการได้อย่างถอนรากถอนโคน

องค์กรที่พวกเขาเรียกร้องให้จัดตั้งนี้ควรจะช่วยพัฒนาศักยภาพคนทำหนังรุ่นใหม่ เปิดโครงการฝึกฝนทักษะในต่างประเทศ สนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับภาพยนตร์ ทำวงการให้ปราศจากการละเมิดสิทธิและการแบ่งแยกทางเพศ ช่วยคนทำหนังและคนรุ่นใหม่ที่สนใจหนังพัฒนาโปรเจ็กต์ ช่วยเหลือโรงหนังและบริษัทจัดจำหน่ายหนัง และสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตรกับคนทำงาน โดยเฉพาะในเรื่องค่าแรงที่ต่ำและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานของชาวฟรีแลนซ์

“เราไม่ได้คาดหวังการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แต่เราหวังว่าเราจะสามารถช่วยผลักดันและพัฒนาบรรยากาศในการทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นให้ไปข้างหน้าได้ แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม” โคเรเอดะกล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1946 – CNC ถูกก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลฝรั่งเศส ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรม ถืออำนาจบริหารจัดการการเงินด้วยตัวเอง โดยงบประมาณปีละ 813 ล้านยูโรนั้นได้มาจากภาษีจากรายได้โรงหนัง ภาษีจากรายได้ของทีวี และภาษีจากรายได้ค่าขายและเช่าแผ่นดีวีดี หน้าที่ของ CNC คือรับผิดชอบการดำเนินนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งโทรทัศน์ วิดีโอและมัลติมีเดีย และวิดีโอเกม รวมไปถึงกำกับดูแลรายได้ของผู้จัดฉาย การจดทะเบียนหนังและสื่อทีวี การอนุรักษ์มรดกทางภาพยนตร์ และการละเมิดลิขสิทธิ์ (อ่านเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนหนังของ CNC ได้ที่ เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 2 : ฝรั่งเศส))

โมเดลการบริหารจัดการและระบบรวบรวมเงินภาษีแบบ CNC ถูกรัฐบาลเกาหลีใต้หยิบไปใช้ในการก่อตั้งองค์กรอิสระอย่างสภาการภาพยนตร์เกาหลี หรือ Korean Film Council (KOFIC) มาก่อนแล้วเมื่อปี 1973 (อ่านเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนหนังของ KOFIC ได้ที่ เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 1 : เกาหลีใต้))

Panahi กับ Rasoulof เข้าคุกอีกรอบ ขณะประชาชนประท้วงไล่รัฐบาลอิหร่านต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา พันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อคนทำหนังในสภาวะเสี่ยงภัย หรือ International Coalition for Filmmakers at Risk (ICPR) ได้ออกแถลงการณ์ด่วน เรียกร้องกดดันให้รัฐบาลอิหร่านปล่อยตัวผู้กำกับภาพยนตร์สามรายที่ถูกทางการเข้าจับกุมคือ มอสตาฟา อัล-เอ อาหมัด (Mostafa Al-e Ahmad), โมฮัมหมัด ราซูลอฟ (Mohammad Rasoulof) และ จาฟาร์ ปานาฮี (Jafar Panahi) ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข – ต่อมา เทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำในยุโรปทั้งคานส์, เบอร์ลิน, เวนิซ, โลการ์โน และร็อตเตอร์ดาม ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนแถลงการณ์ฉบับนี้

ราซูลอฟกับอัล-เอ อาหมัด ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม หลังจากทั้งคู่โพสต์ภาพแถลงการณ์ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งคนทำหนังและบุคลากรในวงการภาพยนตร์อิหร่านอย่างน้อย 70 คนได้ร่วมลงชื่อสนับสนุน เรียกร้องให้ตำรวจวางอาวุธและหยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมในการประท้วงที่เมืองอบาดาน (Abadan) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน พร้อมแฮชแท็คภาษาฟาร์ซีที่แปลว่า #lay_down_your_weapons (วางอาวุธซะ) หรือ #put_your_gun_down (เก็บปืนซะ)

ปานาฮีเป็นอีกหนึ่งผู้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าว แต่เขาถูกควบคุมตัวในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น เมื่อทราบข่าวการบุกจับราซูลอฟกับอัล-เอ อาหมัด โพสต์ข้อความแถลงการณ์ประณามการจับกุมครั้งนี้ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนเกิน 330 คน และเดินทางไปสอบถามรายละเอียดความคืบหน้าของคดีกับสำนักงานอัยการ โดยเจ้าหน้าที่อ้างโทษจำคุกในคดีเก่าที่ยังคงค้างอยู่เป็นเหตุในการจับกุม

ทีมโปรดิวเซอร์ของราซูลอฟให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ราซูลอฟถูกขังเดี่ยวและสอบสวนอยู่ที่เรือนจำเอวิน (Evin prison) ซึ่งรัฐบาลอิหร่านมักใช้เพื่อกักขังนักโทษการเมือง -เช่นเดียวกับปานาฮี อ้างอิงตามที่ภรรยาของเขาได้แจ้งต่อสื่อมวลชนภายหลังทราบข่าว- โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างโทษจำคุกหนึ่งปีที่เขาถูกศาลตัดสิน และอีกสองคดีที่ยังไม่ถึงฎีกา หนึ่งคือข้อหาจากการโพสต์แถลงการณ์ครั้งนี้ และอีกหนึ่งจากสารคดีที่ยังถ่ายทำไม่แล้วเสร็จเรื่อง Intentional Crime

ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าในกรณีของอัล-เอ อาหมัด แต่สื่อของรัฐบาลอิหร่านกล่าวหาราซูลอฟกับเขาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่อต้านที่สมคบคิดทำลายความมั่นคงของประเทศจากต่างแดน

อัล-เอ อาหมัด ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยของราซูลอฟ ผู้ชนะรางวัลสูงสุดและผู้กำกับยอดเยี่ยมในสาย Un Certain Regard จากคานส์ (Goodbye (2011), A Man of Integrity (2017)) รวมถึงรางวัลหมีทองคำจากเบอร์ลิน (There Is No Evil, 2020) ซึ่งถูกรัฐบาลอิหร่านเพ่งเล็งต่อเนื่องไม่ลดละตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับรุ่นพี่อย่างปานาฮี เจ้าของรางวัลกล้องทองคำและบทยอดเยี่ยมเมืองคานส์ (The White Balloon (1995), 3 Faces (2018)) เสือดาวทองคำจากโลการ์โน (The Mirror, 1997) สิงโตทองคำจากเวนิซ (The Circle, 2000) กับรางวัลหมีเงินและหมีทองคำ (Offside (2006), Closed Curtain (2013), Taxi (2015)) ที่ถูกควบคุมตัวในสัปดาห์เดียวกัน

ก่อนหน้านี้ในปี 2011 ทั้งปานาฮีกับราซูลอฟถูกศาลอิหร่านตัดสินจำคุก 6 ปี (ก่อนราซูลอฟจะยื่นอุทธรณ์แล้วศาลลดโทษเหลือจำคุกหนึ่งปี), ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ (พาสปอร์ตของราซูลอฟถูกยึดไปตั้งแต่ปี 2017) และห้ามผลิตภาพยนตร์เป็นเวลา 20 ปี ด้วยข้อหาถ่ายทำภาพยนตร์โดยไม่มีใบอนุญาต – แต่ถึงจะมีคำสั่งห้ามของศาล ทั้งคู่ก็ยังลอบทำหนังในอิหร่าน แล้วส่งผลงานไปยังเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศเช่นเดิม


คดีของราซูลอฟกับปานาฮีในปี 2011 ขึ้นศาลเพียงไม่นานหลังประท้วงใหญ่เมื่อปี 2010 – การไล่ล่ากวาดจับคนทำหนังของรัฐบาลอิหร่านในปี 2022 ก็เช่นกัน เกิดขึ้นในบรรยากาศการเมืองที่ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงขับไล่รัฐบาล

การชุมนุมระลอกล่าสุดเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การชุมนุมระลอกล่าสุดเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยชนวนเหตุสำคัญคือนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล ส่งผลให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ทั้งอาหารหลักอย่างขนมปัง เนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันพืช – อาจนับเป็นผลสืบเนื่องของการประท้วงที่เริ่มกระจายตัวจากเมืองคูเซสถาน (Khuzestan) ตั้งแต่กลางปี 2021 เมื่อรัฐบาลล้มเหลวด้านสาธารณูปโภคทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า ก่อนจะเริ่มขยายผลเป็นการขับไล่โค่นล้มชนชั้นปกครองในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อสองเดือนก่อน รัฐบาลอิหร่านได้กวาดจับคนทำหนังโดยไม่แจ้งข้อหามาแล้วครั้งหนึ่ง แทบไม่ต่างกับกรณีของอัล-เอ อาหมัด, ราซูลอฟ และปานาฮี (อิหร่านกวาดจับคนทำหนัง ระหว่างคลื่นประท้วงระลอกใหม่) ถึงสัปดาห์ถัดมาคนทำหนังทั้งหมดจะได้รับการประกันตัว แต่ก็ถูกสั่งห้ามออกนอกประเทศเป็นเวลา 6 เดือน ทรัพย์สินส่วนตัวถูกทางการยึดไว้เป็นหลักฐาน ทั้งที่ยังไม่มีการแจ้งข้อหา

นอกจากคนทำหนัง ทางการอิหร่านยังกวาดจับทั้งนักกิจกรรม นักการเมือง นักศึกษามหาวิทยาลัย หรือกระทั่งชาวต่างชาติที่พวกเขาเห็นว่ามีส่วนร่วมในการประท้วง – เหตุการณ์กวาดจับครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้น เมื่อสหภาพครูประกาศนัดหยุดงานเพื่อชุมนุมเรียกร้องสวัสดิการครูทั่วประเทศ ก่อนวันที่ 16 มิถุนายนซึ่งเป็นวันนัดหมาย เจ้าหน้าที่บุกจับกุมครูกว่าร้อยคน หวังสกัดกั้นการประท้วงทุกวิถีทาง แต่ก็ยังมีผู้ชุมนุมเรือนหมื่นปรากฏตัวตามนัดเมื่อถึงวันประท้วงใน 46 เมือง

อิหร่านกำลังเผชิญสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลทั้งจากการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา และการฟื้นฟูที่ล่าช้าหลังวิกฤติโควิด ประเด็นที่กระตุ้นความโกรธแค้นของประชาชนรายวัน แตกแขนงไปไกลเกินปัญหาราคาสินค้าแล้ว -Human Rights Activists News Agency หรือ HRANA รายงานว่าเกิดการประท้วงย่อยๆ ทั่วประเทศอิหร่านไม่ต่ำกว่า 60 ครั้ง เฉพาะในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา- ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง กฎหมายภาษีฉบับใหม่ เรียกร้องให้เพิ่มเงินบำนาญตามอัตราเงินเฟ้อ ต่อต้านวันสวมฮิญาบและรักษาความบริสุทธิ์แห่งชาติ ไปจนถึงประท้วงสโมสรฟุตบอลที่ไม่ต่อสัญญากัปตันทีมเพราะพูดการเมือง หรือทวงเงินจากบริษัทเหรียญคริปโตที่ถูกแช่แข็งบัญชีธนาคาร

การประท้วงที่เมืองอบาดาน ชนวนเหตุของการปราบปรามรุนแรง และแถลงการณ์ที่รัฐบาลอ้างใช้เพื่อจับกุมทั้งสามผู้กำกับ ก็เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ตึกถล่มเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 40 ศพ ประชาชนจึงออกมาชุมนุมต่อเนื่องด้วยความโกรธแค้น เรียกร้องให้ลงโทษข้าราชการคอรัปชั่นที่เซ็นใบอนุญาตให้สร้างตึกโครงสร้างต่ำกว่ามาตรฐาน

ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน (Supreme Leader) อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ข่มขู่ผู้ประท้วงด้วยท่าทีแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ได้กล่าวโอวาทต่อข้าราชการศาลระดับสูงว่า ให้ฝ่ายต่อต้านเตรียมรับมือการปราบปรามขั้นรุนแรง “คล้ายสมัย 1981” ซึ่งในบริบทสงครามอ่าวเปอร์เซียตลอดทศวรรษ 1980 รัฐบาลอิหร่านจำคุกและประหารชีวิตฝ่ายตรงข้ามไปนับหมื่นชีวิต โดยจุดนองเลือดที่สุดของเหตุการณ์ต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม “การสังหารหมู่ปี 1988” (1988 massacre)

หากผู้สันทัดกรณีส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ภายใต้การแสดงท่าทีดุดันกำปั้นเหล็ก ความสั่นคลอนของบรรยากาศการเมืองและความเข้มแข็งของผู้ชุมนุมทำให้รัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้องของหลายกลุ่มประท้วง เช่น ครู คนงาน หรือผู้รับเงินบำนาญ ซึ่งเป็นท่าทีที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นจริงตลอดประวัติศาสตร์การเมืองของอิหร่านที่ผ่านมา

ใจจำลอง : ขบวนรถไฟสายภาพยนตร์

เริ่มจากภาพที่นอกหน้าต่างรถไฟ ภาพเคลื่อนไหวเร็วผ่านกรอบหน้าต่าง เร็วจนบางครั้งกระตุก

พวกเขาไปเที่ยวกันกระมัง ชายหนุ่มสามคนกับหญิงสาวหนึ่งคน คนรักของหนึ่งในสามคนนั้น พวกเขาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์และพบว่ามันปิดซ่อม พวกเขาเดินเล่นไปตามทางรถไฟ พูดถึงอดีตกลายๆ พอให้รู้ว่ามันคือทางรถไฟที่สร้างไม่เสร็จและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์บาดแผลของการขูดรีดแรงงานเชลยศึก

พวกเขาไปพักกันที่แพกลางน้ำ ตั้งวงดื่มกิน พูดคุยกันเรื่องชีวิต และจู่ๆ ก็มีพลุสว่างอยู่กลางฟ้ามืดดำ 

เธออีกคนเดินวนอยู่ในป่า คงหลงทางกระมัง ก่อนหน้านี้เธออาจจะมากับเพื่อนสาวอีกคน กางเตนท์อยู่กลางป่า แต่จู่ๆ เธอก็เหลือตัวคนเดียว สับสนหวาดกลัว และมีบางอย่างอยู่ข้างใน บางอย่างที่กำลังเปลี่ยนแปลงจำแลงร่าง 

อาจจะเป็นละครเวทีกระมัง พวกเขาเป็นนักแสดง ยามว่างก็ซ้อมเล่นเป็นสัตว์ เวที่นั้นเรียบง่าย ผนังบ้านที่ต่อขึ้นมาง่ายๆ ตั้งวงดื่มกิน พูดคุยกันเรื่องชีวิต และจู่ๆ ก็มีพลุสว่างอยู่กลางฟ้ามืดดำ 

สิ่งหนึ่งเคลื่อนไปสู่สิ่งหนึ่ง บานหน้าต่างรถไฟ กลายเป็นหน้าต่างของห้อง ภาพจากหัวขบวนเคลื่อนไหวคล้ายหนัง ทิ้งภาพของชีวิตผู้คนไว้ที่ท้ายขบวน

เราอาจพูดอย่างง่ายๆ ว่า ใจจำลอง เป็นเหมือนงานชิ้นที่สามที่ประกอบกันขึ้นเพื่อเป็น ‘ไตรภาคภาพยนตร์แปลงกาย’ ของอโนชา สุวิชากรพงศ์ ที่เริ่มต้นขึ้นจากการ ‘จำลอง’ และ ‘จำแลง’ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ให้กลายเป็นเรื่องเล่าและขยายกรอบของการเล่าจากคนในไปสู่คนนอก ลามเลยไปยังชีวิตของบรรดานักแสดงที่เข้ามาร่วมแสดงในการจำลองนั้น แล้วยังลามเลยมาถึงเพดานของภาพยนตร์ในการจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อีกชั้นหนึ่งใน ‘ดาวคะนอง’

ในหนังเรื่องต่อมาอย่าง ‘Krabi, 2562’ เธอและ Ben Rivers หันมาจำลองจำแลงสถานที่อย่างจังหวัดกระบี่ โดยใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องในการค้นหาภาพแทนของจังหวัด และขยายผลให้เห็นภาพแทนของภาพแทนที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากภาพวาดที่ท่องเที่ยว รูปปั้นมนุษย์หิน การถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา ที่เป็นเหมือนภาพที่ถูกถ่ายเอกสารซ้ำจากต้นฉบับไปเรื่อยๆ จนไม่อาจย้อนกลับไปยังภาพจริงได้อีก

อาจบอกได้ว่า ดาวคะนอง และ Krabi 2562 คือการจำลอง เหตุการณ์ (เวลา) จำเพาะ และสถานที่จำเพาะ โดยมีภาพยนตร์เป็นเครื่องมือ และตลบหลังตัวเองด้วยการแสดงให้เห็นถึงทั้งความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ของภาพยนตร์ในฐานะเครื่องมือของการสร้างภาพจำและภาพแทน

มองจากจุดนี้ ใจจำลองจึงกลายเป็นงานชิ้นเล็กๆ ที่กลับมาปิดไตรภาค (ที่ผู้เขียนคิดขึ้นเอง) ของการจำแลงแปลงกายนี้ด้วยการทำให้สถานที่และเวลา สาบสูญไป (จะว่าไปงานเล็กๆ สั้นๆ ชิ้นนี้อาจชวนให้หวนคำนึงถึงงานขนาดย่อมที่น่าใคร่ครวญของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลอย่าง Mekong Hotel และเมื่อวางงานสองชิ้นนี้คู่กันในฐานะหนังควบก็น่าจะมีอะไรให้พูดคลอกันได้ต่อไป)

หนังเริ่มต้นด้วยการไปเที่ยวพักผ่อนของนักแสดงละครเวที การเลือนระหว่างการแสดงและการไม่แสดงของหนังทำให้คิดถึง People on Sunday หนังสั้นของ ตุลพบ แสนเจริญ ที่เล่าเรื่องการเอาหนังเยอรมันชื่อเดียวกันที่สร้างในปี 1930 มาทำใหม่ ตัวหนังต้นฉบับนั้นเคลมว่าเป็นหนังเรื่องแรกที่ใช้นักแสดงสมัครเล่นและถ่ายทำกันเฉพาะในวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันที่นักแสดงและทีมงานว่างเว้นจากงานประจำ ตุลพบ เอาวิธีการดังกล่าวย้อนกลับมาตั้งคำถามผ่านทางการทำซ้ำ แต่เปลี่ยนบทสนทนาไปเป็นเรื่องของวิธีการในการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพเพื่อให้พร้อมทำงานอีกครั้ง แล้วยอกย้อนด้วยเบื้องหลังของการถ่ายทำเพื่อใคร่ครวญว่า ในขณะที่หนังพูดเรื่องวันพักผ่อนนั้น การถ่ายทำการพักผ่อนในวันหยุดพักผ่อนของคนงานคืองานอย่างหนึ่งหรือเปล่า การพักผ่อนกลายเป็นงานอย่างหนึ่งหรือไม่ ในอีกทางหนึ่ง เสียงวอยซ์โอเวอร์ของนักแสดงบอกว่าผู้กำกับบอกให้เธอ ‘แสดง’ ว่าเธอกำลังพักผ่อนอยู่ การแสดงว่าพักผ่อนกลายเป็นงาน งานของเธอคือการพักผ่อน หนังเลยกลายเป็นจุดที่งานกับการพักผ่อนเลือนเข้าหากันและทุกอย่างกลายเป็นงาน

เราอาจจะพูดให้มากไปอีกได้ว่า ‘การไปเที่ยวพักผ่อน’ นั้นทำหน้าที่ในฐานะการแสวงหาความสุขของแรงงาน (เมื่อเราทุกคนคือแรงงาน) แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าการไปเที่ยวจะมอบความสุขให้ – ลองจินตนาการถึงการไปเที่ยวพร้อมๆ กัน แย่งที่นั่งในร้านอาหาร แย่งที่จอดรถ ในช่วงวันหยุดยาวดู การไปเที่ยวโดยตัวของมันเองก็เป็นเพียงคือการจำลองความสุข แสดงแสร้งว่าไปพ้นจากชีวิตประจำวัน เป็นภาพแทนของการมีความสุขที่อาจจะมีหรือไม่มีความสุขก็ได้

แม้ใจจำลองจะไม่ได้พูดเรื่องของวันหยุดกับงานอย่าง People on Sunday แต่การเปิดเรื่องด้วยการไปเที่ยว และการเลือนระหว่างการแสดงกับการไปเที่ยวจริงๆ ก็ชวนให้ใคร่ครวญต่อเมื่อในฉากหนึ่งเราเห็นตัวละคร (ที่เราควรเรียกเขาว่าตัวละครหรือนักแสดงดีนะ) ซ้อมเล่นเป็นสัตว์อยู่บนแพ และในเวลาต่อมาบทสนทนาของพวกเขาบนแพก็จำแลงกายกลายไปเป็นบทสนทนาในละครเวที ถ้าการไปเที่ยวของตัวละครเป็นงานของนักแสดง นักแสดงที่รับบทเป็นนักแสดง กำลังแสดง หรือในที่สุดเขาจะเอาการไปเที่ยวไปเป็นต้นธารของการแสดงในครึ่งหลัง หากเป็นเช่นนั้น บทสนทนาของตัวละครที่ครึ่งแรกอาจจะ/อาจจะไม่แสดง ถึงที่สุดก็เป็นการแสดงอย่างหนึ่งหรือเปล่า ซึ่งก็ทำให้นึกถึงสิ่งที่สายป่าน นักแสดงในเรื่องพูดถึงการแสดงหนังเรื่องนี้ว่า 

‘ป่านมองว่าการแสดงมันไม่ใช่การแสดงน่ะ เพราะ acting หรือ act มันแปลว่า ‘กระทำ’ มันไม่ใช่คำว่า ‘แสดง’ แต่พอคนไทยใช้คำว่าการแสดง มันเลยถูกตีความไปแบบนั้น แต่ที่จริงมันคือเรื่องของการกระทำ เวลาที่ผู้กำกับสั่งแอ็กชัน เขาสั่งให้เรากระทำ เขาไม่ได้สั่งให้เราแสดง และเมื่อไรที่เราเข้าไปกระทำ มันก็จะเกิดเป็น action และ reaction ออกมาให้เห็น 

พูดง่ายๆ คือเมื่อไรที่เราคิดว่าเราจะเข้าไป ‘แสดง’ มันก็จะเป็นแค่การแสดง เราโกหกไม่ได้ ผู้กำกับดูรู้ คนดูก็ดูรู้ ว่านี่คือการแสดง แต่ถ้าเราลองเปลี่ยน mindset ว่าเรากำลังจะเข้าไป ‘กระทำ’ ตามที่ตัวละครควรจะกระทำ มีบทเป็นแค่ไกด์ เราก็กระทำไปสิ เดี๋ยวมันก็เกิดเป็น react เอง’1https://plus.thairath.co.th/topic/subculture/101698

อโนชาเคยให้สัมภาษณ์ว่า หนังเรื่องนี้เกิดจากประสบการณ์การไปเที่ยวช่องเขาขาดที่กาญจนบุรี อันที่จริงมันเป็นสถานที่ที่จำเพาะเจาะจงแบบเดียวกันกับกระบี่ใน Krabi 2562 แต่ช่องเขาขาดในหนังกลับมีความ ‘ไม่เป็นสถานที่จำเพาะเจาะจง’ อย่างยิ่ง พิพิธภัณฑ์ที่ปิด ทางเดินที่ถูกถ่ายอย่างผ่านๆ เรือนแพที่หน้าตาสามัญดาษดื่น ถึงที่สุด สถานที่แห่งหนึ่งกลายเป็นไม่ใช่ที่ไหนเลย และถูกทำให้เป็นเพียงผนังไม้ ฝาบ้านหน้าต่างที่ประกอบขึ้นเป็นฉากของละคร หนังเลยเป็นเหมือนการย้อนทวนโลกของภาพแทนใน Krabi ด้วยการสลายความจำเพาะเจาะจงของสถานที่ แบบเดียวกับที่ประสบการณ์ของเราในที่แห่งหนึ่งแปรเปลี่ยนไปสู่เรื่องเล่าในสถานที่ใหม่ที่มีอยู่จริงเฉพาะในใจของเรา แบบเดียวกันกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า มนุษย์มีความสามารถในการสร้างความทรงจำลวงถึงสถานที่และประสบการณ์ต่างๆ ของตน เราคิดว่าเคยไปที่นั่น เคยทำสิ่งนี้ แต่จริงๆ แล้วเราไม่เคยทำ แค่การประมวลผลผิดของสมองและการรับรู้ของเรา

ไม่ใช่แค่ไม่มีสถานที่หรือไม่มีเวลา ผู้คนเฉพาะเจาะจงก็ไม่ใช่เช่นกัน หนังฉายภาพชัดในฉากสำคัญที่ตัวละครตัวหนึ่งที่ไม่มีทั้งที่มาและที่ไป ‘กลาย’ เป็นอีกตัวละครอีกตัวหนึ่ง และในเวลาต่อมา บทสนทนาชุดหนึ่งกับตัวละครหนึ่ง ถูกเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ในความสัมพันธ์ไป ในละครเวทีความหมายของมันก็เปลี่ยนไปด้วย นักแสดงเป็นเพียงภาชนะที่รองรับตัวละคร นักแสดงกลายเป็นสถานที่เดียวของหนังที่วิญญาณของตัวละครหรือแม้แต่ส่ำสัตว์สามารถเข้ามาสวมทับและกลายเป็นสิ่งอื่น

จากจุดนี้เอง ทำให้เราหวนคิดกลับไปถึงหญิงสาวไร้ชื่อในดาวคะนอง ที่ดูเหมือนใบหน้าเดิมๆ ของเธอไร้ใบหน้า เธอไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หกตุลา หรือการแสดงและนักแสดงในเรื่อง เธอเป็นเพียงแรงงาน คนชั้นล่าง คนทำความสะอาด เด็กชงกาแฟ แต่เธอปรากฏในทุกแห่งหน ในฐานะของใบหน้าของมวลชน ตัวละครนี้กลับมาอีกครั้งผ่านตัวละครที่แปลกแยกออกไปจากตัวละครอื่น หญิงสาวที่รับบทโดย เววิรี อิทธิอนันต์กุล เธอถูกปล่อยเดี่ยว หลงทางอยู่กลางป่า เธอไม่ใช่นักแสดงละครเวทีที่มาเที่ยว เธอเป็นใครสักคน หรืออาจไม่เป็นใครเลย หาก อัจฉรา สุวรรณ์ ไร้ใบหน้าด้วยการมีใบหน้าเดียวในบทบาทที่ต่างกันไป เววิรีก็ไร้ตัวตนกลับเปลี่ยนใบหน้าของตนไปเป็นคนอื่น เธออาจเป็นเพียงภาพแทนในจิตใจของนักแสดงคนหนึ่ง หรือเธออาจจะมีตัวตนอยู่ ไม่ว่าอย่างไร เธอไม่ใช่นักแสดงที่จะแสดงซ้ำในสิ่งที่เขาเคยพบเจอมาก่อน เธอไม่ใช่พื้นที่ไม่มีเวลา การกลับหัวกลับหางของตัวละครสองตัวนี้ (อาจจะรวมตัวละครของเป้ อารักษ์ในดาวคะนองด้วย) ทำให้เราเห็นโรคของการรับบทที่ฉีกขาดออกจากตัวตน บทที่อาจจะหมายถึงบทของตัวละครไปจนถึงบทบาททางสังคมที่ถูกกำหนดโดยไม่สามารถขืนต้าน 

แต่หากทั้งหมดเป็นเพียงภาพจากกรอบหน้าต่างรถไฟ เรายังเห็นภาพจากรถไฟในมุมมองอื่นๆ ด้วย รถไฟนั่งไปเที่ยว นักแสดงโดยสารรถไฟไปเที่ยว พวกเขาเป็นเรื่องเล่า สร้างและกลายเป็นเรื่องเล่าที่จำลองพวกเขาออกมา แต่ชีวิต ชีวิตแบบเดียวกับชีวิตผู้คนในกระบี่ที่ปรากฏขึ้นแทรกสลับกับเรื่องราว ราวกับชีวิตแทรกซึมเข้าไปในภาพยนตร์ ในใจจำลองชีวิตปรากฏขึ้นเพียงชั่วแล่นในฉากสั้นๆ ที่คล้ายสารคดีของการจ้องมองจากท้ายขบวน มองดูผู้คนเคลื่อนไหว ใช้ชีวิตของตนหลังขบวนรถไฟเคลื่อนผ่าน ชีวิตอยู่นอกขบวนรถไฟ นอกหนังเรื่องนี้ และไหลซึมเข้ามาเพียงชั่วครู่

ยังมีภาพรถไฟอีกแบบท้ายเรื่องของหนัง มันไม่ได้เป็นภาพจากหน้าต่างหรือท้ายขบวนอีกแล้ว หากเป็นภาพที่เป็นภาพเคลื่อนไหว ปรากฏแทนหน้าต่างเรือนแพบนละครเวที ภาพจากด้านหน้าของรถไฟ เห็นแต่เพียงรางรถไฟเคลื่อนที่ไป ถึงที่สุด ภาพกลายเป็นภาพยนตร์ ภาพยนตร์กลายเป็นหน้าต่างเปิดไปสู่โลกจากห้องข้างใน ห้องที่จำลองมาจากโลกข้างนอก และในห้อง นักแสดงหนุ่มนอนหลับ และบางที อาจฝันถึงชีวิต / เรื่องเล่า / ภาพยนตร์ อีกแบบหนึ่ง ข้อจำกัดและความเป็นไปได้ของมัน

Barry (Season 3) ฆ่าให้ตายอาจจะง่ายเสียกว่า

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของเรื่อง*

ไม่มีใครรู้จักแบร์รี่ เบิร์กแมน 

แต่ทุกคนในวงการรู้กันดีว่าหากคุณต้องการดับลมหายใจใครสักคน จ่ายเงินให้ตาเฒ่าฟิวช์ จากนั้นก็รอรับข่าวดีได้เลย เป้าหมายไม่เคยรอดจากเงื้อมมือ “หลานชายของฟิวช์” ได้สักราย เขาทำงานอย่างมือโปร งานเสร็จตามเวลา ไม่ทิ้งร่องรอย แบร์รี่ทำมาหาเลี้ยงชีพเช่นนี้มาหลายปีโดยที่ไม่เคยพลาดเลยสักครั้ง

แต่แล้วมันก็พลาด

เป้าหมายของแบร์รี่ไม่ได้รอดไปได้ เพียงแต่มีเหตุขัดข้องเล็กน้อยทำให้มือสังหารต้องเข้าร่วมคลาสการแสดงละครของมิสเตอร์คูสิโนระหว่างทำภารกิจ การพบเสียงภายในของตัวเองทำให้แบร์รี่อยากรามือจากธุรกิจสังหารแล้วเข้าสู่แวดวงการแสดง แน่นอนว่ามันไม่ง่ายนัก เมื่อพิจารณาจากจำนวนชีวิตที่พินาศไปหลังจากเหตุการณ์นี้

นี่คือเรื่องราวของ Barry ซีรีส์ตลกร้ายของช่อง HBO ผลงานจากความร่วมมือของ Alec Berg (Silicon Valley, Curb Your Enthusiasm) กับนักแสดงตลก Bill Hader (It, The Skeleton Twins) ที่ดำเนินมาถึงซีซั่นที่ 3 แล้วในปี 2022 นี้ ในสองซีซั่นแรก มันคือซีรีส์ตลกชั้นดีที่นำเสนอการค้นพบตัวเองครั้งใหม่ของมนุษย์ผู้แหลกสลายท่ามกลางสถานการณ์ชวนหัวที่มีแต่จะพังพินาศหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ในซีซั่นใหม่ที่เพิ่งออกฉาย มันไปไกลกว่านั้นด้วยการพาเราไปสำรวจบรรดาชีวิตที่หกคะเมนตีลังกาอยู่รอบตัวของแบร์รี่ เบิร์กแมนอย่างคมคาย หลายสื่อคาดการณ์กันว่าเครดิตในฐานะทีมบทและผู้กำกับร่วมของบิล เฮเดอร์สามารถส่งเขาขึ้นเวทีชิงรางวัลสายซีรีส์ได้ไม่ยากเย็นนัก

ต้องขอบคุณทักษะการกำกับและอารมณ์ขันโหดเหี้ยมของของเฮเดอร์และเบิร์กที่สร้างรสชาติแปลกแปร่งให้กับ Barry ตลอดทางที่เรื่องราวดำเนินไป บ่อยครั้ง Barry ทำให้นึกถึงของคนที่ถลำดิ่งลงไปในความมืดโดยไม่คาดคิดอย่าง Breaking Bad หรือ Ozark จะผิดกันก็เพียงแต่ตัวละครของแบร์รี่นั้นไม่ได้บังเอิญตกสู่ความมืด ทว่าเขาอยู่ตรงนั้นอยู่แล้วตั้งแต่แรกต่างหาก คนซื่ออย่างแบร์รี่ไม่ได้ฆ่าคนเพราะไม่อยากทำ บ่อยครั้งที่เขาฆ่าคนนอกเวลางานเพื่อรับใช้ประโยชน์ของตัวเอง (เริ่มต้นที่การฆ่าคนในฐานะทหารเพื่อให้ได้การยอมรับ สู่การสังหารใครก็ตามที่ขวางทางเขากับชีวิตปกติ) เส้นทางไปสู่การหลุดพ้นจากชีวิตมือเปื้อนเลือดของเขาจึงยิ่งนองเลือดทุกขณะ

อีกจุดที่น่าชื่นชมคือ Barry ยังคงรักษาอารมณ์ขันท่ามกลางสถานการณ์สุดแหลมคมเอาไว้ได้โดยไม่บกพร่อง นอกจากรถไฟเหาะทางอารมณ์ที่เหวี่ยงขึ้นลงอย่างรุนแรงเป็นพิเศษ สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากซีซั่นก่อนๆ คือบรรดามุกตลกเกี่ยวกับความบ้าบอคอแตกของชาวฮอลลีวู้ด ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน อาทิ มุกล้อแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งยึดถืออัลกอริทึมอย่างเอาเป็นเอาตาย มุกนักข่าวบันเทิงที่ชอบยิงคำถามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับผลงานหรือนักแสดง (เช่น อยู่ดีๆ นักข่าวก็ถามแซลลี่ว่าใครควรได้เป็นสไปเดอร์แมนคนต่อไป) และการใส่ผู้หญิงเข้ามาในทีมพัฒนาบทเพื่อเลี่ยงคำครหาว่าเหยียดเพศ ฮอลลีวู้ดของเฮเดอร์และเบิร์กบ้าคลั่งและเต็มไปด้วยลูกไม้เล่ห์กลไม่ต่างอะไรกับแวดวงมาเฟียในแคลิฟอร์เนีย

Barry ซีซั่นนี้เล่าเรื่องราวของตัวละครห้าตัวขนานกัน ได้แก่ แบร์รี่ (Bill Hader) ชายผู้ที่เพิ่งรอดตัวจากคดีฆาตกรรมเจ้าหน้าที่สืบสวนและสังหารหมู่มาเฟีย เพื่อที่จะมาพบกับชีวิตใหม่อันเบาหวิวเหลือทนในฮอลลีวู้ด แซลลี่ (Sarah Goldberg) แฟนสาวเพื่อนร่วมชั้นเรียนการแสดงของแบร์รี่ที่กำลังไปได้สวยกับซีรีส์สตรีมมิ่งที่ปั้นมาเองกับมือ คูสิโน (Henry Winkler) อดีตครูสอนการแสดงที่หมายมั่นจะล้างแค้นแบร์รี่ที่ลงมือฆ่าคนรักของเขา ฟิวช์ (Stephen Root) อดีตหุ้นส่วนทางธุรกิจของแบร์รี่ที่วางแผนล้างแค้นจากเงามืด และโนโฮ แฮงค์ (Anthony Kerrigan) หัวหน้าแก๊งเชเชนที่รอดมาได้และกำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่อันหวานชื่น

สิ่งที่ยึดคนดูเข้ากับตัวละครที่ไม่น่าเอาใจช่วยที่สุดอย่างแบร์รี่ในซีซั่นนี้คือการแสวงหาการให้อภัยจากคูสิโน ครูสอนการแสดงที่เป็นดังพ่อคนใหม่ของเขา ต่อให้คนดูอย่างเราไม่ได้เอาปืนไปยิงใครตายก็เข้าใจดีว่าของแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาของแบร์รี่คือปัญหาเดียวกับจีนในเรื่อง “ฮาวทูทิ้ง” นั่นคือน้ำหนักของความพยายามจะชดใช้ชดเชยความผิดก่อไว้ มันเทียบกันไม่ได้กับความรู้สึกของเจ้าทุกข์ สิ่งที่โนโฮ แฮงค์พูดกับแบร์รี่ในตอนเปิดซีซั่นว่า “การให้อภัยมันเป็นของที่ต้องได้รับมา” (“Forgiveness is something that has to be earned”) เป็นเหมือนกับธีมของซีซั่นนี้

เฮเดอร์อธิบายเส้นทางชีวิตของตัวละครหลักทั้งห้าตัวว่าพวกเขาล้วนตกอยู่ใน ปัญหาแบบแบร์รี่ นั่นคือทุกคนต่างก็ได้รับโอกาสที่สอง แต่พบเขากับอุปสรรคทั้งภายในและภายนอกขวางทางเอาไว้ ลงเอยด้วยการเอาทุกอย่างมาเสี่ยงกับทางออกที่คุ้นเคยที่สุด นั่นคือความรุนแรง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือแซลลี่ คนที่อยู่ใกล้ชิดและซึมซับพิษจากแบร์รี่มาได้อย่างเข้มข้นที่สุด เธอผลักไสแบร์รี่ออกไปเพราะรังเกียจความรุนแรงในตัวเขา ก่อนที่จะมีเรื่องทะเลาะกับอดีตผู้ช่วยแล้วหันกลับมาพึ่งเขาเพื่อข่มขู่คู่กรณี ชีวิตของเธอดิ่งลงเหวทันทีที่กลับเข้าสู่เส้นทางนองเลือดของเขา เธอแทบจะกลายเป็นแบร์รี่ไปแล้วในฉากสังหารไร้เสียงในห้องอัดพอดแคสต์

ตัวละครอีกรายที่มีพัฒนาการน่าสนใจไม่แพ้กันคือคูสิโน ครูสอนการแสดงที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่โอหังที่สุดในฮอลลีวู้ดได้รับโอกาสกลับมาเป็นนักแสดงอีกครั้ง ฉากโต๊ะอาหารที่เขาขอโทษเพื่อนร่วมวงการทั้งหลายที่เขาเคยก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้เป็นการย้ำประเด็นอย่างเจ็บแสบว่าต่อให้เขารู้สึกผิดจากใจแค่ไหน ก็ไม่ได้แปลว่าความผิดนั้นจะได้รับการอภัย คูสิโนเปลี่ยนจากคนที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวในตอนแรก กลายเป็นเงาอาฆาตเยียบเย็นในที่กลับมาย้ำเรื่องการให้อภัยอีกครั้งในตอนสุดท้ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ส่วนที่ไม่ธรรมดาที่สุดของ Barry คือการที่ผู้สร้างรู้ตัวดีว่ากำลังเล่นตลกกับความรุนแรง แต่พวกแต่ไม่ปล่อยให้มันมีประโยชน์ในแง่ของความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นใช้มันสำรวจความเสียหายที่ความรุนแรงในโครงสร้างสังคมกระทำต่อมนุษย์อย่างชาญฉลาด ในตอนสุดท้ายของซีซั่น ‘starting now’ พวกเขาตอกลิ่มย้ำให้เห็นสิ่งนี้อย่างคมคายถึงสองครั้งด้วยกัน

ครั้งแรกคือเมื่อแบร์รี่เผชิญหน้ากับอัลเบิร์ต สหายร่วมรบที่เขาเคยช่วยไว้ในสงคราม การพบพานครั้งนี้ไม่มีอะไรน่าอภิรมย์ เพราะฝ่ายหนึ่งคือคนที่เอาศพมากำจัดทิ้ง ส่วนอีกฝ่ายคือเจ้าหน้าที่สืบสวนพิเศษที่จับคนร้ายได้คาหนังคาเขา แบร์รี่เข้าสู่ภาวะตื่นตระหนกทันที อัลเบิร์ตเล่าเรื่องลูกสาววัยสิบขวบให้สหายร่วมรบฟัง “ถ้าตอนนั้นนายไม่ช่วยฉันเอาไว้ เอลซี่คงไม่มีตัวตนอยู่” เขาบอกเพื่อนว่านายไม่ใช่คนชั่วร้าย ขอให้หยุดมันไว้เท่านี้ ก่อนที่จะเดินจากไป

อีกครั้งคือเมื่อแบร์รี่ได้ประจักษ์ว่าการให้อภัยไม่ใช่ของที่ให้กันได้ง่ายๆ ผ่านสายตาของคูสิโน ชายที่เขาเคารพรักราวกับพ่อคนใหม่ ต่อให้เขาไม่ใช่คนฉลาดนักก็เข้าใจได้ทันทีว่าวามรุนแรงของเขาแก้ไขอะไรไม่ได้เลย

ฆ่ากันให้ตายอาจจะง่ายกว่า 


สามารถรับชม Barry ทั้ง 3 ซีซั่นได้แล้วทาง HBO Go

ดูได้เลยที่บ้าน! 5 หนังคลาสสิกของอังเดรย์ ทาร์คอฟสกี ชมฟรีพร้อมซับฯ อังกฤษ

“ทาร์คอฟสกีคือคนทำหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เขาค้นพบภาษาใหม่ และเข้าใจลึกซึ้งถึงความหมายของภาพยนตร์” คือถ้อยคำงดงามที่ อิงมาร์ เบิร์กแมน คนทำหนังชั้นครูชาวสวีเดน มีให้แก่ อังเดรย์ ทาร์คอฟสกี คนทำหนังปรมาจารย์ของโลกชาวรัสเซีย

และข่าวดีคือ เราสามารถดูหนังคลาสสิกสุดๆ ของทาร์คอฟสกีได้ที่บ้านแล้ววันนี้ถึง 5 เรื่อง! ชมฟรีแถมมีซับฯ อังกฤษพร้อม! (แถมบางเรื่องมาในคุณภาพระดับ 4K!) ทางช่องยูทูบของค่าย Mosfilm (ซึ่งเป็นค่ายหนังใหญ่ที่สุดของรัสเซีย มีหนังคลาสสิกในคลังมากมายมหาศาล) โดยทั้ง 5 เรื่องได้แก่


Ivan’s Childhood (1962)

หนังยาวเรื่องแรกของทาร์คอฟสกี สร้างจากบทประพันธ์ของ วลาดิมีร์ โบโกโมลอฟ ว่าด้วย “อีวาน” เด็กกำพร้าวัย 12 ปีที่ทำหน้าที่สอดแนมในกองทัพศัตรูช่วงสงคราม ความเด็ดขาดของหนังอยู่ตรงที่แม้ต้นฉบับจะเน้นนำเสนอความโหดร้าย แต่ ทาร์คอฟสกีกลับสามารถสร้าง “ความเป็นกวี” ผ่านฉากฝันและภาพธรรมชาติอันงดงามตราตรึง หนังชนะรางวัลสิงโตทองคำที่เทศกาลหนังเวนิซและทำให้เขากลายเป็นผู้กำกับอายุน้อยที่สุดของรัสเซียที่คว้ารางวัลระดับโลกมาได้สำเร็จ


Andrei Rublev (1969)

งานชิ้นถัดมาซึ่งนำเสนอมุมมองที่ทาร์คอฟสกีมีต่อรัสเซียยุคศตวรรษที่ 15 ผ่านเรื่องราวของ อังเดรย์ รูบลิยอฟ จิตรกรเอก ผู้มีชีวิตผ่านพบสงคราม ความรุนแรงและความสิ้นหวัง ก่อนจะกอบกู้ศรัทธาที่มีต่อศาสนาและศิลปะขึ้นได้ใหม่อีกครั้ง แล้วสร้างผลงานศิลปะชิ้นยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นดังหนึ่งในจุดเริ่มต้นของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (หนังคว้ารางวัล International Critics’ Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์)


Solaris (1972)

งานลำดับ 3 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นงานโด่งดังที่สุดของทาร์คอฟสกี ดัดแปลงจากนิยายวิทยาศาสตร์ของ สตาญิสวัฟ แลม ว่าด้วยนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกส่งไปสำรวจเหตุการณ์ประหลาดในสถานีอวกาศซึ่งโคจรใกล้ดาวเคราะห์ชื่อโซลาริส และที่นั่นเองที่จิตใต้สำนึกของเขาถูกสิ่งลึกลับเข้าครอบงำ จนความทรงจำ ความจริง และความฝันของเขาปะปนกันอย่างเจ็บปวด ทาร์คอฟสกีทำหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนการตอบโต้ต่อ 2001: A Space Odyssey ของสแตนลีย์ คูบริค ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นหนังอวกาศ-อนาคตที่ “ไม่มีความเป็นมนุษย์” (Solaris ได้รางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์)


Mirror (1975)

การเล่าเรื่องราวของเขาที่ผูกโยงเข้าสู่ภาวะภายในของมนุษย์ ปรากฏอย่างชัดเจนที่สุดในหนังเรื่องนี้ซึ่งแทบจะไม่มีเนื้อเรื่องให้ติดตาม เพราะมันผนวกอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกันอย่างไม่เรียงลำดับเวลา เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่น่าจะเป็นอัตชีวประวัติของทาร์คอฟสกีเอง ตั้งแต่ภาพในวัยเด็ก เรื่องของเขากับแม่ พ่อผู้ห่างเหิน อดีตภรรยา และลูก ร้อยเรียงเป็นประสบการณ์ทางภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความเป็นกวีและฉีกขนบการเล่าเรื่อง จนพลอยฉีกเสียงวิจารณ์และการตอบรับของคนดูออกเป็นสองขั้วเมื่อครั้งออกฉาย


Stalker (1979)

สำหรับแฟนๆ จำนวนมากของทาร์คอฟสกีแล้ว นี่อาจจะเป็นความสำเร็จเชิงสุนทรียะสูงที่สุดของเขา หนังเล่าเรื่องโลกในยุคอนาคตอันใกล้ซึ่งมีพื้นที่ลี้ลับเรียกว่า “โซน” เกิดขึ้น และกลางพื้นที่นี้มีห้องหรือ “รูม” ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้ความปรารถนาของผู้ที่ได้เข้าไปเยือนทุกคนเป็นจริง นักวิจารณ์ยกย่องงานชิ้นนี้ว่าเป็นงานที่คอหนังทุกคนสมควรได้ดูก่อนตาย เพื่อที่เรา “จะได้รำลึกอยู่เสมอว่า ภาพยนตร์ถูกคิดค้นขึ้นมาบนโลกเพื่ออะไร”

ยูเครนเปิดกล้องหนังยาวเรื่องแรกหลังสงครามปะทุ บอกเล่าเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่บูชา

ตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ยูเครนก็ใช้พลังของหนังได้อย่างมีชั้นเชิงมาตลอด มีรายงานข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่าคนทำหนังชาวยูเครนไม่ว่าจะสายสารคดีหรือสายเล่าเรื่องต่างก็คว้ากล้องออกมาบันทึกภาพเหตุการณ์จริงกันอย่างต่อเนื่องในแทบทุกมุมของประเทศ รวมถึงมีการก่อตั้งกลุ่ม Organization of Ukrainian Producers (OUP) ขึ้นมาในเดือนมีนาคม โดยเป็นการจับมือกันระหว่าง 7 โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ยูเครนที่วางแผนจะทำสารคดีและภาพยนตร์ขนาดยาวเกี่ยวกับต้นเหตุ เหตุการณ์ และผลของสงครามครั้งนี้

ล่าสุด OUP ร่วมกับ AMO Pictures และ Mamas Production ประกาศสร้าง The Day I Met Spider-Man หนังเล่าเรื่องขนาดยาวเรื่องแรกนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้นและการถ่ายทำหนังเล่าเรื่องทั้งหมดหยุดชะงัก โดยมีผู้กำกับคือ เอวา สเตรลนิคอวา ที่ก่อนหน้านี้ทำซีรีส์ทีวีมาก่อน หนังกำลังเดินหน้าถ่ายทำในเมืองคีฟ ลวีฟ เออร์พิน และเมืองอื่นๆ ในยูเครนท่ามกลางความคุกรุ่นของสงครามที่ยังคงดำเนินอยู่ เล่าเรื่องของอาสาสมัครหญิงที่เข้าร่วมรบในสงครามครั้งนี้แล้วค้นพบพลังวิเศษในตัวเอง และพลังวิเศษนั้นก็ทำให้เธอสามารถช่วยชีวิตเด็กชายคนหนึ่งจากการสังหารหมู่ที่เมืองบูชาในเขตชานเมืองคีฟไว้ได้

“เราต้องการให้ทุกคนมีความรู้สึกร่วมไปกับหนัง เราเลยจะสื่อสารกับผู้ชมด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย พวกเราจะโยนลีลาท่ายากแบบหนังอาร์ตทิ้งไปเลย” สเตรลนิคอวากล่าว

บูชาเป็นหนึ่งในหลายเมืองที่เกิดการสังหารหมู่พลเรือนโดยกองทัพรัสเซีย เมื่อต้นเดือนเมษายนเมื่อยูเครนยึดเมืองบูชาคืนจากรัสเซียได้ ทางการยูเครนก็เข้าไปตรวจสอบพื้นที่และพบว่ามีพลเรือนจำนวนมากถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด พวกเขาถูกทรมาน มัดมือมัดเท้า ยัดศพถูกใส่ถุงดำ และบรรจุไว้ในหลุมที่ขุดขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีและผู้นำโลกออกมาประนามอย่างรุนแรง ไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดหนังเรื่องแรกหลังสงครามปะทุจึงหยิบเหตุการณ์ที่บูชาขึ้นมาเป็นฉากหลัง

“นี่คือหนังยาวเรื่องแรกที่เกี่ยวกับสงครามขนาดใหญ่ของปีนี้” อะนาโตลี ดูดินสกี ประธานฝ่ายปฏิบัติการของ AMO Pictures กล่าว “ในฐานะบริษัทที่อยู่ในกลุ่มงานครีเอทีฟ เราเชื่อว่าประเทศของเราควรนำเสนอปัญหาต่างๆ มิใช่ผ่านมุมมองของสารคดีเพียงอย่างเดียว แต่ผ่านประสบการณ์และความรู้สึกของผู้คนด้วย และเครื่องมือต่างๆ ของหนังเล่าเรื่องจะช่วยให้คุณค้นพบสิ่งเหล่านั้น”

The Day I Met Spider-Man จะถูกปล่อยออกมาให้ได้ชมกันในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งในเทศกาลภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ โทรทัศน์ และออนไลน์สตรีมมิง ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

MIDNIGHT CINEMA 10 – Dashcam คืนผีคลั่ง

เราอาจจะเรียกเธอว่า Rapper ก็ได้ แต่กล่าวให้ถูกต้องคือ Annie เธอเป็น vlogger ที่มีผู้ติดตามอยู่ไม่น้อย ไลฟ์ (live) ของเธอคือการขับรถไปตามถนน เปิดบีตและเริ่มแร็ปจากสิ่งที่อยู่รอบตัว แร็ปจากคอมเมนต์ของผู้ชมที่เข้ามาดูเธอ เธอขับรถไปเรื่อย ก่นด่าไปเรื่อย และบรรดาผู้ชมของเธอก็ร่วมกันก่นด่าไปกับเธอ 

แต่เธอไม่ใช่นักวิจารณ์สังคมที่เข้มข้นหรือแข็งกร้าว เธอเป็นอะไรที่อยู่ระหว่างพวกฝ่ายขวาโปรทรัมป์ พวกต่อต้านการสวมหน้ากาก กับพวกเกรียนที่เข้าไปแกล้งคนอื่นเล่นอย่างบ้าระห่ำและไม่สนใจความถูกต้องทางการเมืองหรือทางศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น 

หลังจากความเกรียนของเธอทำให้เธอต้องโดนไล่ออกจากบ้าน เธอตัดสินใจบินไปอังกฤษ เพื่อไปหา Stretch อดีตเพื่อนร่วมวงดนตรีที่ตอนนี้ทำงานเป็นคนส่งอาหารผ่านแอปและอาศัยอยู่กับแฟนสาว เธอบุกเข้าไปในบ้านเขากลางดึก แกล้งเขาแรงๆ ทั้งที่เขาหลับอยู่ เขาดีใจที่เธอมาแต่แฟนสาวของเขานั้นตรงกันข้าม ขณะที่เธอยังคงเล่นไม่เลิกเหมือนเด็กไม่รู้จักโต เกรียนกร่างใส่เจ้าของบ้านที่เป็นเสรีนิยม ไลฟ์ไปด้วยเพื่อให้ผู้ชมของเธอได้เห็นเหตุการณ์ จนเมื่อเธอตามไปป่วนงานส่งอาหารของ Stretch ด้วยการอ้างสิทธิ์ที่จะไม่สวมหน้ากากเข้าร้านอาหาร แถมยังตะโกนด่าพ่อล่อแม่เจ้าของร้านที่ Stretch ต้องไปรับออเดอร์ ก่อนจะพบว่าแฟนของเขาเกลียดอนุรักษนิยมขวาจัดอย่างเธอ ระหว่างที่คู่รักทะเลาะกันวิธีที่เธอสำนึกผิดคือหนีออกมา ขโมยรถกับโทรศัพท์ของเพื่อนและไปรับงานแทน และแม้จะสร้างความพินาศให้ทั้งกับการงานและครอบครัวของมิตรสหายก็ตามเธอก็ยังทำเหมือนว่ามันเป็นเรื่องเล่นๆ เหมือนคนที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น

งานที่เธอกดรับคือการไปรับของจากร้านอาหารไปส่ง หากของที่ต้องรับไปไม่ใช่อาหารแต่เป็นหญิงชราคนหนึ่ง เธอดูซูบเซียวป่วยไข้ ร่างกายสั่นเทิ้ม พูดจาไม่รู้เรื่อง ผู้ว่าจ้างเสนอเงินพิเศษให้ Annie พอเธอรับหญิงชราขึ้นมาบนรถ หล่อนก็ปล่อยของเสียออกมา ร้องอือๆ อาๆ จู่ๆ ก็หายตัวไป ไปยืนบนต้นไม้ แล้วจู่ๆ ก็โผล่ในรถ ปากของหญิงชราถูกเย็บไว้ พอแกะออกเธอก็เริ่มกิน! Stretch ตามมาทวงรถคืนโดยดูจากไลฟ์ของเธอ สองสหายจึงต้องหนีตายไปด้วยกันตลอดคืน

นี่คือหนังสยองขวัญเรื่องใหม่ของ Rob Savage ที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากหนัง ‘Host คืนซูมผี’ ที่ออกฉายในปีที่แล้ว Host เล่าเรื่องของกลุ่มเพื่อนที่นัดซูม (Zoom) เพื่อเข้าร่วมพิธีกรรมเรียกวิญญาณในช่วงกักตัวหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 และนำมาซึ่งความสยองขวัญแบบเคาะประตูบ้านใครบ้านมัน ในหนังเรื่องนั้น เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผู้กำกับเลือกใช้ข้อจำกัดนั้นมาขยายผลอย่างน่าทึ่ง และล้อเล่นกับลูกเล่นของซูม ตั้งแต่การใช้ filter การเปลี่ยน Background สัญญาณเสถียรบ้างไม่เสถียรบ้าง ทุกอย่างถูกนำมาใช้เป็นมุกหลอกผีอย่างชาญฉลาด ตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมง ผู้ชมถูกตรึงเหนียวแน่นอยู่หน้าจอ และมองดูสมาชิกชาวซูมแต่ละรายถูกหลอกหลอนอย่างน่าขนหัวลุก

เราอาจมองได้ว่า Dashcam เป็นภาคต่อกลายๆ ของ Host แม้เรื่องจะไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเรื่องเกิดขึ้นในช่วงระบาดใหญ่ของโควิด บันทึกช่วงเวลาของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน หรือการสวมหน้ากากอนามัย ในขณะเดียวกัน เขายังสำรวจตรวจสอบเครื่องมือใหม่ๆ และนำมันมาใช้เป็นลูกเล่นหลักของหนังสยองขวัญ ซึ่งมักจะเป็นหนังตระกูลแรกๆ ที่เข้าไปสำรวจความวิตกกังวลของสังคมต่อสิ่งใหม่ที่ยังแปลกหน้า ความกลัวที่ฝังลึกอยู่โดยไม่สามารถแสดงออกมาได้ หนังสยองขวัญเคยเข้าไปสำรวจความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ อาวุธชีวภาพ โลกหลังสงคราม การล่มสลาย ไปจนถึงผีของฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา และแน่นอนที่สุดคือภัยเทคโนโลยี จากสารเคมีไปสู่หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์และการสอดส่องของรัฐ หนังสยองขวัญมักเป็นแนวหน้าในการเข้าไปสำรวจ ตั้งข้อสังเกต และนำสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องสร้างความบันเทิง 

คราวนี้คือกล้อง Dashcam กล้องติดรถยนต์และกล้องโทรศัพท์ที่ Annie เอามาไลฟ์กับแฟนๆ ของเธอ หนังเล่นสนุกกับกล้องและกับการไลฟ์สดของตัวละคร และทำให้หนังกลายเป็นหนังที่ถ่ายจากหน้าจอของไลฟ์ทั้งเรื่องแบบเดียวกันกับ Host เทคโนโลยีกลายเป็นตัวกำหนดพล็อต ในทำนองเดียวกันกับ Found Footage Horror ผู้ชมจะได้เห็นเท่าที่ศักยภาพของกล้องจะให้เห็น หากผู้ชม Dashcam นั้น exclusive กว่าผู้ชมไลฟ์ของ แอนนี่ เพราะเราได้เห็นภาพจากกล้องในส่วนที่ไลฟ์ไม่ติดเพราะสัญญาณเน็ตใดๆ ไปด้วย 

หนังเลยพูดเรื่องสังคมที่การสอดส่องกลายเป็นความบันเทิง มีคนที่ยอมให้คนอื่นสอดส่องชีวิตและใช้มันในการหารายได้ จากเจ้าหน้าที่รัฐไร้ตัวตนหลังกล้องวงจรปิด บรรดาผู้ชมได้เปิดเผยตัวเองผ่านคอมเมนต์ นอกเหนือจากการถ้ำมองเข้ายังสนับสนุน ต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์ หรือมอบสติกเกอร์/เงิน เป็นกำลังใจให้ตัวละคร/คนที่เขาสอดส่องได้ด้วย ทุกที่กลายเป็นเวทีละคร และชีวิตกลายเป็นการแสดงร้อยเปอร์เซนต์ ทั้งเพื่อเอาอกเอาใจหรือเกรียนโชว์ สัญญาณเน็ตที่ไม่เสถียรกลายมาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล ผู้ชมของ Annie จึงพากันตื่นตะลึงที่จู่ๆ Annie ก็มาในสภาพหนีตาย หรือการที่ผู้ชมไม่ได้เห็นผียายแก่แบบจะๆ เพราะช่วงเผชิญหน้าสัญญาณมักจะขาด

เราไม่อาจรู้ว่าการกระทำแบบ Annie ตัวละครหลักของเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง หรือเป็น ‘สันดาน’ เสียๆ ของเธอเอง นี่คือหนังที่ตัวละครหลักเป็นคนไร้สติ ขาดความรับผิดชอบ เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกต้อง ไม่สนใจและไม่เคารพสิทธิ์คนอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้คนอื่นเคารพตัวเอง ความบ้าคลั่งแบบเด็กเอาแต่ใจของ Annie ไม่ได้เป็นเพียงคุณลักษณะเฉพาะของตัวละคร แต่ยังทำหน้าที่ทางการเมืองในการเป็นภาพแทนบรรดาฝ่ายขวาจัดในอเมริกาที่อ้างทุกอย่างจากรัฐธรรมนูญไปยันไบเบิ้ลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเอง

หากสิ่งที่น่าสนใจและทำให้ชอบหนังมากๆ คือภายใต้ตัวละครที่มีความเป็นการเมืองมากๆ หนังกลับทำตัวแตกต่างกับหนังสยองขวัญเสียดสีการเมืองจำนวนมากที่พยายามจะให้ขนบของหนังสยองขวัญเพื่อรองรับการวิพากษ์ทางการเมืองของตน หนังแบบ Us หรือ Get Out ของ Jordan Peele หรือแม้แต่ Halloween ฉบับ David Gordon Green ไปจนถึงหนังซอมบี้ตลกหลายๆ เรื่องที่อาศัย stereotype ของตัวละครมาเล่าเรื่องการเมือง และอาศัยโลกหลังซอมบี้มาฉายภาพการถูกควบคุมโดยรัฐเผด็จการ ปัญหาหนึ่งของหนังตระกูลนี้คือเมื่อหนังสยองขวัญถูกทำให้เป็นเพียงภาพแทนทางการเมือง หนังก็หันไปรับใช้ประเด็นมากกว่ารับใช้ขนบ เราจึงได้หนังเสียดสีการเมืองที่อาจจะพอใช้ได้แต่ไม่ค่อยสนุกในแง่หนังสยองขวัญ และบ่อยครั้งความเป็นการเมืองของมันไม่ได้มีอะไรใหม่ นอกจากการล่อคนน่าตายมาตายให้เราสาแก่ใจในความตายของคนเหล่านั้น 

หาก Dashcam กลับไปหาอะไรพื้นฐานอย่างเช่นการเป็นหนังสยองขวัญหนังทำให้เราต้องเอาใจช่วยตัวละครที่เราอยากให้ตายเป็นตัวแรก ท่ามกลางความตาย ความบ้าคลั่งของสังคมพหุวัฒนธรรมที่ต้องฉิบหายเพราะความไร้สติของเธอ (Stretch รับบทโดยนักแสดงเชื้อสายอินเดีย Angela หญิงชราปีศาจรับบทโดยนักแสดงผิวดำ) ไอ้พวกขวาจัดสุดโต่งต่างหากที่รอดตาย แข็งแกร่งกว่าแมลงสาบ หนังไม่ยอมมอบบทเรียนสอนใจ แต่เดินหน้ามอบความสยองขวัญบ้าคลั่งให้แทน ตลอดทั้งเรื่องเราได้เห็น Annie หนีตายจากหญิงชราที่อันที่จริงคือหญิงสาววัยรุ่น การต่อสู้ของเธอไม่สนใจว่าใครจะเป็นจะตาย แต่เธอต้องรอด ความไร้เหตุผล ไร้ที่มาที่ไปของเหตุการณ์กลายเป็นความสยองขวัญสุดขีดเพราะผู้ชมก็ไม่รู้ว่านี่เกิดอะไรขึ้นในคืนสยองขวัญนี้ และหนังไม่ยอมแม้แต่จะมอบบทเฉลยให้ในตอนจบ รสชาติของหนังจึงเป็นรสชาติของการดูคลิปผีที่ไร้คำอธิบาย เป็นความสยองขวัญเฉียบพลันที่ทำให้เราหลงทางทันที และเป็นปริศนาไปตลอดกาล

ยืดการไต่สวนคดีบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ หลังพบหลักฐาน ‘สำคัญ’ จากฟุตเทจสารคดี Unprecedented

ยังไม่แน่ชัดว่าสิ่งนี้จะมีอิทธิพลต่อการพิจารณาคดีในอนาคตหรือไม่ แต่ฟุตเทจของสารคดี Unprecedented สามตอนจบของผู้กำกับชาวอังกฤษ อเล็กซ์ โฮลเดอร์ (Alex Holder) ก็ได้เข้ามาเป็นตัวละครใหม่ในการไต่สวนสาธารณะของคดีผู้ประท้วงบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 มกราคมปีที่แล้วเป็นที่เรียบร้อย เมื่อเบนนี ทอมป์สัน ส.ส. และหัวหน้าคณะกรรมาธิการเหตุการณ์ 6 มกราคม ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะยืดเวลาการไต่สวนสาธารณะออกไปถึงเดือนกรกฎาคมแทนที่จะจบลงภายในเดือนมิถุนายน เนื่องจากพวกเขาเพิ่งได้รับหลักฐานที่เป็นฟุตเทจ “สำคัญ” และต้องการเวลาพิจารณาหลักฐานเหล่านั้นอีกสองสัปดาห์ โดยโฮลเดอร์ได้เข้าไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการตามหมายเรียกแล้วเมื่อพฤหัสบดีที่ผ่านมา

หลังจากคณะกรรมาธิการประกาศว่ามีหลักฐานใหม่ ช่อง Discovery+ ที่ซื้อ Unprecedented ไปฉายก็ปล่อยตัวอย่างออกมาในวันรุ่งขึ้น (ชมตัวอย่างได้ด้านล่าง) ผู้สร้างบันทึกฟุตเทจช่วง 6 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ชิงชัยกันระหว่างทรัมป์และไบเดน รวมถึงฟุตเทจเหตุการณ์จลาจลที่กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ประท้วงผลการเลือกตั้งที่ไบเดนชนะว่าเป็นกลโกงของพรรคเดโมแครต และเกิดเหตุรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิต 4 ราย

โฮลเดอร์ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวทรัมป์และทำเนียบขาวเพื่อสัมภาษณ์ทรัมป์ อิวานกา เอริค และโดนัลด์จูเนียร์ ลูกๆ ของเขา รวมถึงจาเรด คุชเนอร์ ลูกเขย ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี และบุคคลสำคัญอื่นๆ ในทำเนียบขาว โดยท่าทีของอิวานกาในสารคดีเป็นที่น่าจับตาและอาจมีผลกับรูปคดี เนื่องจากช่วงหลังเธอพยายามถอยห่างจากพ่อและแสดงตัวว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงให้การในการไต่สวนสาธารณะรอบก่อนหน้าว่าเธอ “ยอมรับ” ว่าไม่มีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ในตัวอย่างสารคดีรวมถึงบทสัมภาษณ์ก่อนการเลือกตั้ง ดูเหมือนเธอจะสนับสนุนพ่อเต็มที่ หลายสำนักข่าวต่างยกถ้อยคำของเธอในบทสัมภาษณ์ก่อนเกิดเหตุการณ์จลาจลที่ว่า “พ่อต้องสู้เพื่อคนที่เลือกเขา” ขึ้นมาเทียบเคียง

นอกจากนี้ ยังมีสารคดีอีกสองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาครั้งนี้ และดูเหมือนคนทำจะมีฟุตเทจสุดเดือดอยู่ในมือ เรื่องแรกคือสารคดีตามติดกลุ่มขวาสุดโต่ง ‘พราวด์บอยส์’ ไม่กี่วันก่อนเหตุการณ์จลาจล โดยผู้กำกับ นิค เควสเทต (Nick Quested) ถูกคณะกรรมาธิการเรียกเข้าไปให้ข้อมูลและส่งมอบฟุตเทจเป็นหลักฐานแล้ว อีกเรื่องคือ Alex’s War สารคดีตามติด อเล็กซ์ โจนส์ พิธีกรรายการวิทยุและนักทฤษฎีสมคบคิดที่อยู่ที่ทำเนียบขาวในวันเกิดเหตุและได้เดินขบวนกับกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ แต่ผู้กำกับ อเล็กซ์ ลี มอยเออร์ (Alex Lee Moyer) ยังไม่ได้ถูกเรียกไปให้ข้อมูล

ยังมีอีกหลายครั้งที่สารคดีมีอิทธิพลมากจนนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนในการไต่สวนคดีดังๆ ในอเมริกา อย่าง The Jinx: The Life and Deaths of Robert Durst (2015, แอนดรูว์ จาเร็คกี้ ผู้กำกับ Capturing the Freidmans) มินิซีรีส์ 6 ตอนจบที่สัมภาษณ์โรเบิร์ต เดิร์สต์ ทายาทตระกูลมหาเศรษฐีอสังหาฯ เจ้าของที่ดินจุดสำคัญในนิวยอร์ก ผู้เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม 3 คดี ฮือฮาหนักเพราะเดิร์สต์ถูกจับกุมก่อนตอนจบออนแอร์เพียงหนึ่งวัน และความลับดำมืดก็ถูกเปิดเผยในตอนจบด้วยถ้อยคำที่เดิร์สต์เผลอพึมพำกับตัวเองตอนไปเข้าห้องน้ำ …แต่ลืมถอดไมค์ออก

อีกเรื่องคือหนังสารคดี Tales of the Grim Sleeper (2014, นิค บรูมฟีลด์) ว่าด้วยคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในลอส แองเจลิส ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปีระหว่างปี 1985 ถึง 2002 โดยเหยื่อส่วนมากประกอบอาชีพโสเภณีหรือไม่ก็เป็นคนติดยา ทำให้ตำรวจและสื่อไม่ได้ให้ความสนใจ และกระทั่งมีการจับตัวฆาตกรได้ในปี 2010 คดีก็ยังไม่คืบหน้า แต่เมื่อหนังฉายในช่อง HBO ได้ไม่ถึงปี การพิจารณาคดีก็เริ่มต้น หนังติดชอร์ตลิสต์สารคดียอดเยี่ยมของเวทีออสการ์ในปี 2014 และแม้จะไม่ได้ถึงกับเปลี่ยนรูปคดีหรือพลิกคำตัดสิน แต่ก็มีอิทธิพลจนช่วยเร่งการพิจารณาคดีให้เร็วขึ้นได้

สรุปดีเบทเดือด กรณีถอด The Lady of Heaven ที่อังกฤษ เมื่อโรงหนังอ่อนข้อให้เซ็นเซอร์ของมวลชน

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดการประท้วงขนาดย่อมขึ้นที่เมืองแบรดฟอร์ด โบลตัน เบอร์มิงแฮม และเชฟฟีลด์ ประเทศอังกฤษ เพื่อเรียกร้องให้มีการระงับฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ The Lady of Heaven และมีถึง 120,000 คนที่ลงชื่อเรียกร้องให้ถอดหนังออกจากโรงหนังทั่วประเทศ ผลคือหลายโรงหนังมัลติเพล็กซ์ทั้ง Cineworld, Showcase และ Vue ตอบรับข้อเรียกร้องและถอดหนังออกจากโปรแกรมฉายทุกสาขา

The Lady of Heaven กำกับโดย เอไล คิง (Eli King) และเขียนบทโดย ชีค อัล-ฮาบิบ (Sheikh al-Habib) เล่ามหากาพย์ชีวิต 1,400 ปีก่อนของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ลูกสาวของศาสดามูฮัมมัด คล้องคลอไปกับเรื่องราวของเด็กกำพร้าจากโมซุลที่แม่ของเขาถูกทหาร ISIS สังหาร ทหารที่แบกแดดรับเลี้ยงเขาไว้ และแม่ของทหารผู้นั้นก็ปลอบประโลมเด็กชายด้วยเรื่องของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เพื่อให้เขามีพลังใจข้ามผ่านช่วงเวลาอันโหดร้าย หนังค่อนข้างเล่าเรื่องตามแบบแผน ไม่มีลูกเล่นอะไรมาก และเดอะการ์เดียนก็ให้คะแนนหนังแค่ 2 ดาว แต่แทนที่จะถูกเวลากลืนหายไปแบบตอนเข้าฉายที่อเมริกาเมื่อราวหนึ่งเดือนที่แล้ว หนังกลับสร้างข้อถกเถียงในสังคมอังกฤษและที่อื่นๆ โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำทางศาสนา

ทั้งคำครหาว่าหนังแสดงภาพศาสดามูฮัมมัดด้วยตัวแสดงที่เป็นคนเล่น แม้ผู้สร้างจะไม่ได้ให้เครดิตผู้แสดงและชี้แจงว่าได้ประกอบสร้างภาพดังกล่าวร่วมกับคอมพิวเตอร์กราฟฟิก การจัดแสง และเทคนิคต่างๆ รวมถึงความไม่พอใจที่ผู้สร้างให้นักแสดงผิวดำมาเล่นเป็นตัวร้าย และเรื่องความเชื่อที่ขัดแย้งกันของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์กับซุนนีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของท่านหญิงฟาติมะฮ์ ซึ่งเกี่ยวพันกับการนำเสนอภาพตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคต้นของนิกายซุนนี

เหล่านี้ทำให้โรชาน มูฮัมเม็ด ซาลีห์ (Roshan Muhammed Salih) บรรณาธิการของเว็บไซต์ข่าวอิสลาม 5Pillars รีวิวหนังด้วยเฮดไลน์สุดดุเดือดว่า “Lady of Heaven: ขยะโสโครกจากเนื้อในของลัทธินอกรีต” และเขียนว่าหนังเทียบเคียงสาวกที่ใกล้ชิดที่สุดสามคนของศาสดามูฮัมมัดกับกลุ่ม ISIS นอกจากนั้น Bolton Council of Mosques ยังบอกว่าหนัง “ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา” และองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร Muslim Council of Britain (MCB) บอกว่าหนัง “สร้างความแตกแยก” และ “เป้าหมายหลักของคนบางจำพวกคือการเติมเชื้อความเกลียดชัง ซึ่งนั่นรวมถึงคนจำนวนมากที่เชียร์หนังเรื่องนี้หรือข้องเกี่ยวกับลัทธินอกรีตด้วย”

แต่หลังจากมีการต่อต้านหนังอย่างรุนแรงและโรงหนังก็ตอบรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง อิหม่ามคารี อาซิม (Qari Asim) ก็ถูกทางการอังกฤษถอดออกจากการเป็นที่ปรึกษารัฐบาลเพราะไปสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็น ‘ความพยายามอย่างชัดแจ้งที่จะจำกัดการแสดงออกทางศิลปะ’ ในขณะที่โมรอคโค ปากีสถาน อียิปต์ และอิหร่าน ได้ประกาศแบนหนังในประเทศตนเรียบร้อยแล้ว โดยทางการโมรอคโคที่แบนหนังบอกว่านี่คือ “การบิดเบือนข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์อิสลามชนิดไม่มียางอาย” ซึ่งก่อให้เกิด “ความแตกแยกที่น่ารังเกียจ” และกล่าวหาว่าคนทำหนังต้องการ “ชื่อเสียงกับข่าวฉาว”

ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่คำถามที่ถูกถามขึ้นบ่อยครั้งในยุคของ cancel culture ว่าคนเราควรไปไกลแค่ไหนเพื่อรักษาเกียรติยศของความเชื่อตน เคแนน มาลิก (Kenan Malik) คอลัมนิสต์จากเดอะการ์เดียนเขียนโต้กลับบทความของ 5Pillars และไม่เห็นด้วยกับการถอดหนังออก โดยบอกว่านี่ไม่ใช่การถกเถียงเพื่อตัดสินว่าใครก้าวล่วงใคร แต่เป็นปัญหาของการ gatekeeping มันคือการถกเถียงว่า ใครกันแน่ที่มีสิทธิสั่งสอนคนอื่นและตัดสินว่าคนกลุ่มใดสามารถพูดถึงคนกลุ่มหนึ่งได้หรือไม่ได้ เขาตั้งข้อสังเกตว่า นี่เองจึงทำให้การทุ่มเถียงว่าใครละเมิดใครมักจะเกี่ยวข้องกับนักเขียนหรือศิลปินจากคนกลุ่มน้อยเสมอ

ในบทความของเขา มาลิกเขียนว่า “ทุกสังคมมี gatekeepers ของตัวเอง พวกเขามีบทบาทในการปกป้องบางสถาบัน รักษาสิทธิพิเศษของคนบางกลุ่ม และเป็นเกราะกำบังไม่ให้บางความเชื่อถูกท้าทาย พวกเขาไม่ได้ปกป้องคนชายขอบ แต่ปกป้องผู้มีอำนาจ ในชุมชนของคนกลุ่มน้อย gatekeepers มักจะเป็นคนที่แต่งตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ปกครองและมอบอำนาจให้ตัวเองขีดเส้นแบ่งว่าคำพูดและการกระทำใดเป็นที่ยอมรับได้ พวกเขาไม่อายที่จะอ้างว่าอีกฝ่าย ‘ลบหลู่ดูหมิ่น’ หรือ ‘ใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง’ เพื่อเซ็นเซอร์แนวคิดที่พวกเขาทนฟังไม่ได้”

นอกจากนี้ มาลิกยังวิพากษ์ซาลีห์ บรรณาธิการของ 5Pillars ว่าเป็นผู้สนับสนุนตัวเป้งของรัฐบาลอิหร่านและตาลีบันมาอย่างยาวนาน และตอนที่ตาลีบันยึดอำนาจในอัฟกานิสถานหนึ่งปีหลังจากสหรัฐฯ ถอนทหาร ซาลีห์ทวีตว่า “ยิ่งตาลีบันชนะเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี” เพราะพวกเขา “จะนำพาความสงบมาให้อย่างแน่นอน” นอกจากนั้นซาลีห์ยังสนับสนุนการลงโทษแบบฮุดูดที่รวมไปถึงการตัดแขนและปาหินสำหรับอาชญากรรมที่มีโทษสถานหนักด้วย

“พวกคนสำคัญอย่างเช่นซาลีห์ไม่ได้เป็นตัวแทนของชุมชนมุสลิมทั้งโลก” มาลิกเขียนปิดท้าย “การงดฉายหนังเรื่องหนึ่งตามคำกล่าว ของผู้ประท้วง [ว่าหนังเหยียดเชื้อชาติ เป็นอิสลามโมโฟเบีย และสร้างความเกลียดชัง] คือการยอมตามพวกคนที่อนุรักษ์นิยมที่สุดในการถกเถียงนี้และหักหลังชาวมุสลิมที่ค่อนไปในทางก้าวหน้า ยิ่งสังคมออกใบอนุญาตให้ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองถูกก้าวล่วงได้มากเท่าไหร่ ยิ่งจะมีคนฉวยโอกาสบอกว่าตัวเองถูกก้าวล่วงได้มากขึ้นเท่านั้น และบ่อยครั้งก็ฉวยโอกาสกันถึงขั้นเอาชีวิต” เขาอ้างอิงถึงกรณีฆ่าตัดหัวครูชาวฝรั่งเศสที่นำการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมมัดของชาร์ลี เอบโดมาสอนในห้องเรียนเมื่อปี 2563 ตามหลังกรณีกราดยิงที่มีต้นเหตุจากการ์ตูนภาพเดียวกันนี้ในปี 2558

นอกจากมาลิกแล้ว ซายิด ยาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษก็ไม่เห็นด้วยกับการถอดหนังออกและให้ความเห็นว่า “ผมเป็นกังวลมากเกี่ยวกับ cancel culture ที่กำลังเป็นกระแสในประเทศนี้ คนในสังคมจำนวนมากคิดว่าพวกเขาถือสิทธิที่จะต้องไม่รู้สึกถูกก้าวล่วงจากสิ่งใดก็ตาม และแน่นอนว่าไม่มีใครถือสิทธินั้น คุณอาจจะไม่ชอบสิ่งที่ใครบางคนพูด แต่พวกเขาย่อมมีสิทธิที่จะพูดมันออกมา” ยาวิดกล่าว

หนัง “ยูเครน” ที่เราอยากดู

ก่อนที่กระแสข่าวเรื่องการใช้กำลังทหารของรัฐบาลปูตินจะเริ่มก่อตัวขึ้น ก่อนกองทัพรัสเซียจะเปิดฉากรบเต็มกำลังในยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เชี่อได้ว่าภาพจำของยูเครนในอีกหลายฟากของโลกยังคงถูกแช่แข็งไว้ที่การประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2014 – แช่แข็งราวกับว่าแรงปะทะทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งหมดได้บรรเทาเบาบางลงแล้วตั้งแต่สิ้นสุดการประท้วงครั้งนั้น เมื่อประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovich) ต้องลงจากตำแหน่งและลี้ภัยไปรัสเซีย

ทั้งที่ระหว่างนั้นก็มีหนังยูเครนซึ่งเล่าเรื่องการสู้รบในภาคตะวันออกของประเทศไปคว้ารางวัลในเทศกาลใหญ่ ทว่าความขัดแย้งระหว่างยูเครน (+ โลกตะวันตก) กับรัสเซีย ก็ยังคงไม่ใช่ประเด็นถกเถียงซึ่งเป็นที่พูดถึง ต้องตระหนักรู้ให้ความสำคัญเร่งด่วน หรือเป็นหลักไมล์เรื่องร้อนที่ต้องแสดงความเห็นหรือเลือกจุดยืนให้ถูกต้องเหมาะควร อาจเป็นเพียงบทสนทนาเล็กๆ เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ห่างไกล เมื่อเทียบกับเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ปะทุขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกันระหว่างหลายปีนั้น

ยิ่งน่าประหลาดใจ เมื่อพิจารณาว่าความขัดแย้งที่สะเทือนทั้งทวีปยุโรปและการเมืองโลกในภาพกว้างอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ในวินาทีนี้ เคยถูกมองและใส่ใจรับรู้อย่างมีระยะห่างมากแค่ไหน – ก่อนที่ทุกวันนี้ แทบทุกฝ่ายต่างถูกคาดหวังให้แสดงออกว่า stand with Ukraine ในทุกมิติ

Film Club จึงขอเลือกแนะนำภาพยนตร์ซึ่งอาจยังไม่เป็นที่รู้จักนอกแวดวงเทศกาลหนัง คละปนกันไปทั้งหนังที่มีอายุแล้วสักหน่อย และหนังใหม่ที่เพิ่งทำเสร็จได้เปิดตัวออกฉายสดๆ ร้อนๆ ในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งขึ้นสู่จุดสูงสุด แม้ว่าบางเรื่องจะไม่ได้ถือสัญชาติยูเครน หรือเป็นผลงานของคนทำหนังชาวยูเครนโดยตรง แต่ทุกเรื่องได้เข้าไปสำรวจ คลุกคลี เผชิญหน้า หรือเล่าเรื่องจากมุมต่างๆ ของสถานการณ์ความขัดแย้งในภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งดำเนินอยู่ตลอดมาเป็นเวลาเกือบทศวรรษ


มนุษย์หลังสงครามของ วาเลนติน วาสิยาโนวิช

Atlantis (2019)
Reflection (2021)

ผู้กำกับ: วาเลนติน วาสิยาโนวิช (Valentyn Vasyanovych)

พระเอกของวาสิยาโนวิชในหนังทั้งสองเรื่อง ไม่ว่าจะเขียนชื่อแบบรัสเซีย (เซอร์เก, Sergey) หรือแบบยูเครน (เซอร์ฮีย์, Serhiy) ต่างดำรงอยู่ราวกับเป็นคนเดียวกัน ส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน ผ่านชะตากรรมที่แทบย่ำเดินเส้นทางเดียว (การใช้ชื่อที่แพร่หลายพอๆ กับ “สมชาย” ก็แสดงเจตนาชัดว่าต้องการให้ตัวละครเป็นภาพแทนชาวยูเครนส่วนใหญ่)

เซอร์เกใน Atlantis คือทหารผ่านศึกซึ่งกำลังสู้รบกับอาการ PTSD ในปี 2025 หลังยูเครน “ชนะสงคราม” ในภูมิภาคดอนบาสแล้ว สงครามทุบทำลายสภาพจิตใจของเขา หักพังไม่ต่างกับสภาพบ้านเมืองที่กลายเป็นทวีปสาบสูญ เพื่อกอบกู้ตัวเอง เขาสมัครเป็นอาสาค้นหาเก็บกู้ศพเพื่อนร่วมชาติในพื้นที่สู้รบ หนังพาคนดูขึ้นรถ ออกตระเวนค้นหาซากมนุษย์ในทวีปสาบสูญไปพร้อมตัวละคร ก่อนที่สำนึกรับรู้ของอดีตทหารชาวยูเครนจะค่อยๆ ได้สัมผัสกับความหวัง ปฏิสัมพันธ์ และอุณหภูมิของความเป็นมนุษย์อีกครั้ง

ส่วนเซอร์ฮีย์ใน Reflection เป็นศัลยแพทย์ชาวยูเครนในสถานการณ์ปัจจุบัน (ก่อนรัสเซียบุกเต็มตัวในปี 2022) ที่ถูกกองทัพรัสเซียจับเป็นเชลยศึกในภูมิภาคดอนบาส ภาพสยดสยองของความรุนแรง การหมิ่นหยามลดทอนศักดิ์ศรี และความเย็นชาต่อชีวิตมนุษย์ในพื้นที่สงคราม ทำให้หลังได้รับการปล่อยตัวกลับสู่ชีวิตความเป็นอยู่อย่างชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ เขาต้องค่อยๆ กอบกู้สภาพจิตใจผ่านการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับลูกเมีย และเรียนรู้เพื่อจะกลับไปสัมผัสรับรู้ถึงความเป็นมนุษย์ของตัวเองให้ได้อย่างที่เคยเป็น


สะเก็ดสงครามของ อลินา กอร์โลวา

No Obvious Signs (2018)
This Rain Will Never Stop (2020)

ผู้กำกับ: อลินา กอร์โลวา (Alina Gorlova)

ในความขัดแย้งและการสู้รบ ไม่ได้มีแค่ทหารผู้ชายติดอาวุธหรือวีรบุรุษสงคราม หนังสารคดีขนาดยาวทั้งสองเรื่องของกอร์โลวา จึงเลือกบันทึกชีวิตและการต่อสู้ของ “คนกลุ่มอื่น” ภายใต้สถานการณ์สงครามที่ยูเครนกำลังเผชิญอยู่

No Obvious Signs เป็นส่วนขยายของสารคดีประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในกองทัพยูเครนเรื่อง Invisible Battalion (2017) โดยกอร์โลวาตามถ่ายชีวิตของทหารหญิงชาวยูเครนที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรับยา พบจิตแพทย์ บำบัดรักษาอาการทางจิตทั้ง Panic attack, PTSD และ trauma – กระบวนการทั้งหมดกินเวลายืดเยื้อ ราวกับว่าสนามรบของทหารหญิงไม่เคยจบแค่ในสมรภูมิ และหลายต่อหลายครั้ง ปัญหาความเจ็บปวดกับการต่อสู้อันโดดเดี่ยวของ(พวก)เธอก็ “ไม่ปรากฏสัญญาณชี้ชัด” ไม่ว่าจะในคำวินิจฉัยของแพทย์ หรือสายตาและการรับรู้ของสังคมยูเครน

ในขณะที่สารคดีขาว-ดำ This Rain Will Never Stop นำเสนอสภาวะไร้สิ้นสุดของสงครามบนโลกมนุษย์ ผ่านซับเจ็คต์ที่เหลือเชื่อแต่มีตัวตนจริง คือครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่หนีสงครามกลางเมืองในประเทศบ้านเกิด แต่กลับมาเจออีกสงครามในประเทศใหม่ สถานการณ์บีบให้ต้องคิดเรื่องอยู่หรือหนีอีกครั้งหลังลี้ภัยครั้งแรกแค่ไม่กี่ปี และถ้าสิ้นหนทางจนต้องหนีจากยูเครน ทางไหนจะดีกว่ากัน ระหว่างไปหาสมาชิกครอบครัวที่กระจายอยู่ในยุโรป หรือเสี่ยงตายกลับแผ่นดินเกิดที่สงครามก็ยังคุกรุ่นไม่แพ้กัน


เด็กในแดนสงคราม

The Earth Is as Blue as an Orange (2020)

ผู้กำกับ: อิรินา ซีลิค (Irina Tsylik)

ถ้าให้ลองจินตนาการตามในแวบแรก พวกเรานึกภาพชีวิตครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสองในดอนบาส (ซึ่งสู้รบกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาหลายปี) ไว้แบบไหน? แน่นอนว่าซากปรักหักพังของบ้านเมืองย่อมปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานตำตา ทว่าที่ส่องประกายแข่งภาพเบื้องหลังชวนสลดคือความหวังของสามแม่ลูก พวกเขาอยากถ่ายหนังเล็กๆ ด้วยกันสักเรื่อง เขียนบทจากชีวิตเล็กๆ ของผู้คนในชุมชน ใช้เพื่อนบ้านกับทหารเป็นนักแสดง และกำลังลุ้นผลใบสมัครเรียนฟิล์มของลูกสาวคนโต – เรื่องเล่าของชาวยูเครนตัวเล็กๆ กลางวิกฤติ พาซีลิคไปถึงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมซันแดนซ์ (สาย World Cinema-Documentary ปี 2020) และกวาดคำชมมากมายเมื่อหนังได้ฉายที่เบอร์ลินในปีเดียวกัน

The Distant Barking of Dogs (2017)
A House Made of Splinters (2022)

ผู้กำกับ: ซิมอน เลเรง วิลมอนต์ (Simon Lereng Wilmont)

วิลมอนต์เป็นคนทำหนังชาวเดนมาร์ก แต่ไปฝังตัวอยู่ในภาคตะวันออกของยูเครนจนได้สารคดีขนาดยาวมาสองเรื่อง – The Distant Barking of Dogs ซึ่งต่อมาได้เข้าชิงสารคดียอดเยี่ยม European Film Awards เล่าช่วงเวลาหนึ่งปีของโอเล็ก (Oleg) เด็กชายวัยสิบขวบที่อยู่กับยายในหมู่บ้านเล็กๆ สองยายหลานซึ่งไม่มีที่ไปได้แต่เฝ้าดูเพื่อนบ้านค่อยๆ ละทิ้งถิ่นฐานจนแทบกลายเป็นหมู่บ้านร้าง ต้องเรียนรู้ ใช้ชีวิต และเติบโตในช่วงวัยรุ่นอย่างเด็กชายชาวยูเครนตะวันออก คือต้องเผชิญหน้าอันตรายและความท้าทายของสงครามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หากในขณะเดียวกัน หนังก็ได้บันทึกภาพความสัมพันธ์ใกล้ชิดของมนุษย์ ซึ่งทั้งเปราะบางอ่อนไหว แต่สำคัญยิ่งยวดสำหรับการดิ้นรนให้มีชีวิตรอดไปได้ในแต่ละวัน

A House Made of Splinters ขยายพรมแดนจากเด็กในครอบครัว ไปสู่เด็กๆ ชาวยูเครนที่ไร้ครอบครัวและได้รับผลกระทบจากสงครามชนิดหนักหนาสาหัส – หนังสำรวจจับสังเกตชีวิตของเด็กๆ ที่หมุนเวียนเข้าออกบ้านเด็กกำพร้าหลังหนึ่งในยูเครนตะวันออก บ้านทรุดโทรมหลังใหญ่ที่ถูกดัดแปลงเป็นศูนย์ดูแลโดยกลุ่มผู้หญิง ที่นี่เปิดประตูรับเด็กที่เผชิญปัญหาความยากจน ความรุนแรง หรือพ่อแม่ติดเหล้า แต่ละคนอยู่บ้านนี้ได้นานที่สุดเก้าเดือนเต็ม ก่อนผู้ใหญ่จะตัดสินใจว่าพวกเขาจะได้กลับบ้าน ย้ายไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ หรือส่งต่อไปบ้านเด็กกำพร้าแห่งใหม่ เด็กๆ เปลี่ยนหน้าแต่วงจรนี้ยังหมุนต่อไปเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด


คนแปลกหน้าของสงคราม

Boy of War (2018)

ผู้กำกับ: ซิเปรียง เคลมองต์-เดลมาส์ (Cyprien Clément-Delmas), อิกอร์ โคเซงโก (Igor Kosenko)

สารคดีเรื่องนี้จับภาพร่วมสมัยของวัยเยาว์อันสิ้นสูญในยูเครน กล้องเฝ้าสังเกตชีวิตของเด็กหนุ่มวัยสิบแปดกับแรงฝันอันแน่วแน่ที่จะเดินทางไปร่วมรบในภาคตะวันออกเพื่อปกป้องแผ่นดิน เด็กหนุ่มในเครื่องแบบทหารติดตราบ้าเครื่องหมาย สวมชุดลายพรางและฝึกยุทธวิธีรบอย่างเอาเป็นเอาตาย คิดว่าตัวเองเพียบพร้อมและทะลุปรุโปร่งเรื่องสงครามเพราะได้ศึกษาจากคลิปวิดีโอใน YouTube – หนังติดตามเขาตั้งแต่การซุ่มฝึกเตรียมพร้อมร่างกายที่บ้าน ไปจนถึงวันที่เขาตัดสินใจบอกลาแฟนสาวที่อยากมีชีวิตปกติ ขึ้นรถไฟหลายชั่วโมงไปสู่สมรภูมิที่ดอนบาส     

Novorossiya (2022)

ผู้กำกับ: เอนริโก ปาเลนติ (Enrico Palenti), ลูกา เจนนารี (Luca Gennari)

Novorossiya หรือ New Russia คือชื่อที่ฝ่ายสนับสนุนรัสเซียใช้เรียกแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk) กับลูฮานสก์ (Luhansk) ที่ประกาศแยกดินแดนเป็นอิสระจากประเทศยูเครน สารคดีของสองผู้กำกับชาวอิตาเลียนพาคนดูลุยเข้าไปถึงใจกลางพื้นที่สีเทากลางสมรภูมิรบในภาคตะวันออก เพียงไม่นานก่อนสงครามเต็มรูปแบบในปี 2022 จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ – นอกจากสองหญิงชรากับเหล่าสมาชิกวงเฮฟวีเมทัลชาวยูเครนที่หลบระเบิดอยู่ใต้บังเกอร์สมัยโซเวียตมาแล้วแปดปี หนังยังได้พบคนแปลกหน้าของสงคราม อย่างบรรดาทหารต่างชาติที่โยนตัวเองลงมาในความขัดแย้งที่อีกฟากหนึ่งของโลก รวมถึงชาวอเมริกันที่ประกาศตนว่าเป็นคอมมิวนิสต์


เชื้อชาติ ศาสนา และสงคราม

Like Dew in the Sun (2016)

ผู้กำกับ: ปีเตอร์ เอนเทลล์ (Peter Entell)

เอนเทลล์ถือสัญชาติอเมริกันกับสวิส เพราะเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ปู่ย่าตายายของเขาได้ลี้ภัยหนีสงครามและการสังหารหมู่ในยูเครน แต่ดูเหมือนประวัติศาสตร์จะเปิดกลับมาที่หน้าเดิม เมื่อสงคราม ความรุนแรง การเข่นฆ่าในนามของธงชาติ ศาสนา แผ่นดินแม่ และวัฒนธรรม ยังคงเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ สารคดีจึงย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์บาดแผลของทั้งชาวยิว ชาวทาทาร์มุสลิมจากแคว้นไครเมีย และชาวคริสต์นิกายออร์ธอดอกซ์ ซึ่งส่งทอดบ่มเพาะความเจ็บปวดความเกลียดชังต่อมาแบบรุ่นสู่รุ่น ผ่านการพูดคุยกับทั้งชาวยูเครนผู้รักชาติ และฝ่ายสนับสนุนรัสเซียที่ต้องการแยกดินแดน – มองหา “หยาดน้ำค้างกลางแดดแรง” หรือสายสัมพันธ์ของผู้คนที่พอจะก้าวข้ามเส้นแบ่งเหล่านี้ได้บ้าง 

Homeward (2019)

ผู้กำกับ: นาริมาน อาลิเยฟ (Nariman Aliev)

เพราะความตายของลูกชายคนโตที่ดอนบาส พ่อกับน้องชายชาวทาทาร์มุสลิมต้องเดินทางจากกรุงเคียฟกลับบ้าน เพื่อนำร่างพี่ชายกลับไปฝังที่แคว้นไครเมีย ระหว่างการเดินทางที่ยากลำบากปัญหารุมเร้า คลื่นการสื่อสารของพ่อที่เริ่มแก่เฒ่ากับลูกชายที่กำลังเติบโตค่อยๆ เรียนรู้ปรับจูนเข้าหากัน ผ่านการตระหนักรู้ความต้องการ ตัวตน และยอมรับความผิดพลาดในอดีต – Homeward เข้าสายประกวด Un Certain Regard ที่คานส์เมื่อปี 2019 และหนังได้รับเสียงชื่นชมว่าเปรียบเปรยประวัติศาสตร์ผ่านตัวละครสองพ่อลูกได้งดงามเศร้าสร้อย ประวัติศาสตร์ของเชื้อชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อยของยูเครน และยังทำให้เห็นทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ระหว่างชาวทาทาร์มุสลิมกับคนเชื้อสายยูเครน และอัตลักษณ์ตัวตนที่ถูกเบียดขับเสมอมา


รอยแตกของประวัติศาสตร์

Close Relations (2016)

ผู้กำกับ: วิตาลี มันสกี (Vitaly Mansky)

หลังสิ้นสุดการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2014 มันสกีซึ่งเป็นคนทำหนังชาวรัสเซียเชื้อสายยูเครน (ที่เกิดตั้งแต่สมัยโซเวียต) พยายามสืบค้นผลกระทบทางสังคมจากเหตุการณ์ใหญ่ครั้งนั้น ผ่านการพูดคุยกับเครือญาติที่กระจายตัวอยู่ทั่วยูเครน ทั้งในกรุงเคียฟ ลวิฟ โอเดสซา ดอนบาส ไครเมีย – มองหาคำอธิบายและจุดเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างดินแดนที่เป็นกำพืดกับประเทศที่เขาถือสัญชาติ เพื่อหาคำตอบว่ารอยแตกนี้เพิ่งเกิดขึ้นหลังการประท้วงครั้งนี้ หรือร้าวอยู่แล้วตั้งแต่อดีตกาล จากวันที่ยูเครนเสียดินแดนไครเมีย ยานูโควิชหนีจากทำเนียบประธานาธิบดีไปรัสเซีย สืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไปนับร้อยปีผ่านสาแหรกเชื้อสายตระกูลขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่ทุกคนจะยืนอยู่ฝั่งเดียวกันในความขัดแย้งระหว่างประเทศคราวนี้

The Treasures of Crimea (2021)

ผู้กำกับ: อูเกอ ฮูเกินไดจ์ค (Oeke Hoogendijk)

หลังเป็นที่รู้จักของผู้ชม (รวมถึงชาวไทย) ด้วย The New Rijksmuseum (2014) ฮูเกินไดจ์คกลับเข้ามิวเซียมที่อัมสเตอร์ดัมอีกครั้ง แต่คราวนี้พิพิธภัณฑ์ในหนังของเธอกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศครั้งสำคัญ เมื่อคอลเลคชันโบราณวัตถุจากแคว้นไครเมียกำลังจัดแสดงอยู่ที่นี่ ในวันที่ไครเมียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย – ภัณฑารักษ์ผู้รับผิดชอบโครงการกับทีมงานของเขาจึงต้องประชุมหาทางออกครั้งใหญ่ หาคำตอบที่ตอบยากว่าเมื่อสิ้นสุดเวลาจัดแสดง พวกเขาต้องส่งคืนโบราณวัตถุเหล่านี้ให้ใครกันแน่ คืนทางการยูเครน? หรือคืนแคว้นไครเมีย? (ซึ่งในทางปฏิบัติ เท่ากับการส่งคืนประวัติศาสตร์ของยูเครนให้รัสเซีย?) ยิ่งนานวัน ยิ่งหาจุดลงตัวระหว่างแต่ละฝ่ายไม่ได้ โบราณวัตถุเหล่านี้ยิ่งกลายเป็นจุดสนใจ และภาพสะท้อนของวิกฤติด้านภูมิศาสตร์การเมืองซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม่มีผู้ชนะ


ก่อนหน้านี้ Film Club ได้เคยแนะนำหนังและซีรี่ส์ยูเครนไปบ้างแล้ว สามารถย้อนกลับไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่:

Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom
Servant of the People
ผลงานของ เซอร์เก ลอซนิตซา (Sergey Loznitsa)

ใบปิดหนังไทยด้วย “สีโปสเตอร์” จากความบังเอิญ สู่เอกลักษณ์อันไร้กาลเวลา

ใบปิด หรือ โปสเตอร์ เป็นสื่อโฆษณาที่เติบโตวิวัฒนาการมาคู่กับภาพยนตร์อย่างแยกจากกันไม่ได้ โดยในประเทศไทยนั้น รูปแบบของใบปิดก็มีการพัฒนามาตามยุคสมัยของเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งช่วงเวลาที่เรียกว่าเป็นยุคทองของใบปิดหนังไทย ก็คือการค้นพบเทคนิค “การเขียนใบปิดด้วยสีโปสเตอร์” โดยบังเอิญของชายที่ชื่อ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ หรือที่เรารู้จักกันในนาม “เปี๊ยกโปสเตอร์” และกลายเป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของ “ใบปิดหนัง” สไตล์ไทยๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาจนถึงทุกวันนี้

อ.เปี๊ยกโปสเตอร์

เพราะบังเอิญ..วันนั้นฝนตก

พ.ศ. 2496 ในวัย 21 ปี สมบูรณ์สุขที่ขณะนั้นเริ่มต้นอาชีพช่างเขียนที่ ร้านไพบูลย์การช่าง ซึ่งรับทำออกแบบป้ายโฆษณา และวาดคัตเอาท์ต่างๆ หลังจบจาก วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ชั้นปีที่ 3 ก็ได้รับการว่าจ้างให้วาดภาพนักแสดงต่างประเทศ แม้ในช่วงเวลานั้น สีน้ำมันจะได้รับความนิยมในการใช้เขียนป้ายโฆษณาและคัทเอาท์ต่างๆ มากกว่า แต่ด้วยขนาดของภาพที่เล็ก ทำให้เขาตัดสินใจทดลองใช้สีโปสเตอร์ มาลองวาดรูปบุคคลสักครั้ง 

แต่เมื่อผ่านไปหลายวัน รูปที่ตั้งใจใช้สีโปสเตอร์ก็ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ และเกือบจะล้มเลิกไปแล้ว จนถึงวันสุดท้ายที่จะลองเขียนรูปด้วยสีโปสเตอร์ ดันเป็นวันที่ฝนตก ก็ปรากฏผลลัพธ์ที่น่าอัศจรรย์ขึ้น

เปี๊ยกโปสเตอร์ได้เล่าให้ฟังไว้ว่า “พอรูปมันเล็ก การเขียนด้วยสีน้ำมันมันลำบาก (ภาพ)มันจะหยาบ เกลี่ยให้สีเนียนได้ยาก เลยลองซ้อมมือด้วยสีโปสเตอร์ เพราะเห็นว่ามันมีเนื้อสีนิดหน่อยและผสมกับน้ำเขียน(ทำให้เกลียสีได้ง่าย) ปัญหาคือ เวลาเขียนจุดนี้แล้วไปเขียนจุดต่อไป สักพักไอ้ตรงนั้นก็แห้ง มันก็เอามาต่อสีจากตรงนี้ตรงนั้นก็ไม่ได้ ตอนแรกจะไม่พยายามละ สู้ไม่ไหว กลัวจะไม่ทัน กะจะทดลองเป็นวันสุดท้ายละ พอดีวันนั้นฝนตก ความชื้นก็เข้ามาในบ้าน ก็เริ่มสังเกตว่าทำไมวันนี้เขียนได้ สีไม่ค่อยแห้ง (เลยรู้ว่า)เพราะได้ไอ ได้ละอองจากน้ำฝนเข้ามา”

เมื่อรู้เคล็ดลับในการใช้สีโปสเตอร์ในการเขียนภาพบุคคลแล้ว เปี๊ยกโปสเตอร์จึงคิดค้นเครื่องมือที่มาใช้ในการเขียนภาพด้วยสีโปสเตอร์โดยเฉพาะขึ้นมา จากการสังเกตสิ่งของรอบตัว เอามาประกอบรวมกันจนกลายเป็น “เครื่องชะลอการแห้งของสี” ที่นำหัวพ่นแอร์บรัชมาเชื่อมติดกับฝาขวดน้ำขนาดเล็กที่บรรจุน้ำเอาไว้ ก่อนจะนำหัวพ่นไปติดกับปั๊มลมขนาดเล็ก เพื่อให้ลมดันน้ำในขวดผ่านหัวแอร์บรัช จนเกิดเป็นละอองไอน้ำออกมา เพื่อช่วยให้เกิดความชื่น ทำให้เกลี่ยสีโปสเตอร์ได้ตามต้องการ 

นอกจากเครื่องชะลอการแห้งแล้ว เปี๊ยกโปสเตอร์ยังประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรง ทั้ง “ถาดแช่สีโปสเตอร์” ที่นำเอาถาดทำน้ำแข็งในตู้เย็นบ้านๆ มาวางบนถังอลูมิเนียมที่สั่งทำขึ้นใส่ได้พอดี วิธีใช้คือใส่น้ำแข็งลงไปในถังก่อนจะวางถาดลงไป ความเย็นของน้ำแข็งจะทำให้สีโปสเตอร์ไม่จับตัวเป็นก้อน สามารถผสมเพียงครั้งเดียวและใช้วาดได้ต่อเนื่อง ทำให้สีไม่ผิดเพี้ยน ไม่ต้องผสมสีใหม่

รวมไปถึง “เครื่องยกเฟรมภาพ” ที่เปี๊ยกโปสเตอร์ นำระบบชักรอกด้วยมอเตอร์ มาประกอบกับตัวเฟรมไม้ที่ใช้วางกระดาษ ทำให้สามารถปรับตัวเฟรมขึ้นลงได้ตามใจชอบ โดยไม่จำเป็นต้องก้มตัวลงไปหรือเปลี่ยนท่าทางในการเขียนรูป

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า นอกเหนือจากความสามารถในการเขียนภาพแล้ว เปี๊ยกโปสเตอร์ยังเป็นผู้ริเริ่มสร้างนวัฒกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้น ของความนิยมในการใช้สีโปสเตอร์เขียนใบปิดหนังในเวลาต่อมา

ใบปิด ‘เกาะรักเกาะสวาท’

จากใบปิด 2 สี สู่การพิมพ์แบบ 4 สี

หลังจากค้นพบเทคนิคการเขียนด้วยสีโปสเตอร์แล้ว โอกาสแรกที่เปี๊ยกโปสเตอร์ได้เขียนใบปิดหนังด้วยวิธีนี้ เกิดขึ้นเมื่อ พิสิฐ ตันสัจจา เจ้าของ โรงหนังเฉลิมไทย หนึ่งในโรงหนังชื่อดังของยุคนั้น และเป็นต้นกำเนิดของโรงหนังเครือ Apex ที่คนรุ่นหลังรู้จักกันอย่าง ลิโด หรือ สกาล่า ได้มาให้เขาช่วยออกแบบและเขียนใบปิดหนังต่างประเทศเรื่องหนึ่ง ที่ตั้งชื่อไทยว่า ‘เกาะรักเกาะสวาท’ (ไม่ทราบปีฉายและชื่อภาษาอังกฤษ) โดยกำชับว่าอยากได้ไอเดียที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร นั่นทำให้เขาตัดสินนำเทคนิคการเขียนด้วยสีโปสเตอร์ที่ค้นพบ มาใช้เขียนใบปิดหนังจริงๆ เป็นครั้งแรก

และด้วยเทคนิคนี้ ทำให้ได้ภาพใบปิดที่สวยงามแปลกตา โดยเฉพาะใบหน้าของบุคคลที่สีเรียบเนียน และชื่นชอบในการใช้สีน้ำตาลอมเหลืองและสีดำ อันเป็นเทคนิคที่ได้รับอิทธิพลมาจาก แรมบรันต์ (Rembrandt van Rijn) ศิลปินที่เขาชื่นชอบ และยังกลายเป็นสไตล์การวาดภาพบุคคล ที่ถูกส่งต่อไปยังลูกศิษย์ของเขา จนกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของใบปิดสไตล์ไทยอีกด้วย

ทว่าในห้วงเวลานั้นเทคนิคการพิมพ์ในไทยยังไม่สามารถพิมพ์ใบปิดที่มีสีสันมากขนาดนี้ได้ ทำให้พิสิฐได้ส่งต้นฉบับไปพิมพ์ในระบบออฟเซ็ต 4 สี ที่ประเทศฮ่องกง ทำให้กล่าวได้ว่าใบปิดหนังเรื่อง ‘เกาะรักเกาะสวาท’ เป็นใบปิดแรกของไทย ที่ใช้การวาดด้วยสีโปสเตอร์และพิมพ์ด้วยระบบออฟเซ็ตแบบ 4 สี

ด้วยความชื่นชอบในฝีมือ ทำให้พิสิฐชักชวนเปี๊ยกโปสเตอร์ไปทำงานเป็นช่างเขียนประจำโรงหนังเฉลิมไทย และที่นี่ก็คือสถานที่สร้างชื่อเสียงของเขา ไปจนถึงทำให้บรรดาผู้สร้างหนังชาวไทย เริ่มเข้ามาให้เขาเขียนใบปิดหนังไทยด้วยเทคนิคสีโปสเตอร์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ

และเมื่องานเริ่มมากจนไม่สามารถรับมือด้วยตัวคนเดียวได้ ทำให้เปี๊ยกโปสเตอร์มองหาช่างเขียนฝีมือดี มาฟอร์มทีมรับงานออกแบบและเขียนใบปิดหนังอย่างจริงจัง และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สำนักเปี๊ยกโปสเตอร์” นั่นเอง

ใบปิด ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ (พ.ศ. 2513, รังสี ทัศนพยัคฆ์) ผลงานออกแบบโดย เปี๊ยกโปสเตอร์

ใบปิดหนังไทยสไตล์ ยิ่งเยอะยิ่งดี

จุดเด่นของใบปิดด้วยสีโปสเตอร์นั้น นอกจากความสวยงามของภาพแล้ว รายละเอียดต่างๆ ทั้งการใส่ตัวละครจำนวนมากลงไปในภาพ หรือการยกฉากเด็ดฉากขายมาใส่ไว้ในภาพ จนหลายครั้งกลายเป็นความแน่นแทบไม่เหลือพื้นที่ว่าง ก็เป็นเสน่ห์ของใบปิดไทย ที่มาจากการออกแบบ “ตามสั่ง” ของเจ้าของหนังนั่นเอง

โดยขั้นตอนการออกแบบใบปิดของไทยในยุคนั้น ก็เริ่มจากที่เจ้าของหนังจะส่งภาพนิ่งต่างๆ มาให้ หรือถ้าเป็นหนังที่ยังอยู่ในระหว่างถ่ายทำ ก็ต้องเข้าไปในกองถ่ายเพื่อเก็บภาพนิ่งกลับมาออกแบบ เขียนเป็นภาพร่างออกมา เสร็จแล้วจึงนำกลับไปให้เจ้าของหนังดูอีกที ถ้าแบบผ่าน จึงนำกลับมาเขียนจนเสร็จ ก่อนให้เจ้าของหนังดูอีกครั้ง ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายนี้ อาจจะมีการแก้ไข หรือเพิ่มรายละเอียดเข้าไปในภาพตามที่เจ้าของหนังต้องการ

อังเคิลอดิเรก วัฏลีลา เล่าให้ฟังว่า “อย่างถ้าเป็นหนังรัก เราก็ต้องขายตัวละคร ขายวิว หนังไปถ่ายที่ไหน ไปเชียงใหม่ ไปนิวยอร์ค หรือเป็นโลเคชั่นแปลก เช่นเจมส์ บอนด์ ไปถ่ายที่เขาตะปู ก็ต้องวาดใส่ลงไป มีรถไฟ มีเครื่องบิน ให้คนดูรู้ว่าลงทุนนะ”

ทว่าหลายครั้ง คำขอของเจ้าของหนังก็เป็นความลำบากใจของช่างเขียนเหมือนกัน ซึ่ง บรรณหาร ไทธนบูรณ์ หนึ่งในศิษย์ ‘สำนักเปี๊ยกโปสเตอร์’ เล่าให้ฟังว่า “บางครั้ง คำขอของผู้จ้างมันก็ผิดธรรมชาติ เช่นเขาอยากได้ปืนอันใหญ่ๆ ซึ่งมุมมองมันไม่ได้ไง แต่เขาก็อยากได้ปืนใหญ่ๆ วาดไปทำไมปืนใหญ่กว่ามือตั้งเยอะ มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่มันคือความต้องการของเจ้าของเขา หรือแม้แต่คำพูดที่ว่า หนังไทยมันต้องระเบิดภูเขาเผากระท่อม ซึ่งบางครั้งมีไม่มีในหนังเราก็ไม่รู้ แต่เจ้าของหนังขอให้เขียนใส่ลงไป เราก็ต้องเขียน คือตามปกติช่างเขียนเขาก็จะออกแบบการวางคอมโพสต์ต่างๆ ให้มันดูกลมกลืนอยู่แล้วในตอนแรก”

แต่ในความล้นๆ สไตล์ใบปิดหนังของไทย ที่เล่าทุกอย่างที่อยู่ในหนังลงไป ก็กลายเป็นความคลาสสิคที่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของใบปิดในช่วงเวลานั้นก็ว่าได้

อดิเรก วัฏลีลา (คนซ้าย) และ บรรณหาร ไทธนบูรณ์ ขณะกำลังเขียนใบปิด โดยอดิเรกเขียนเรื่อง ‘วัยรัก’ (พ.ศ. 2521, ชรินทร์ ดิษยนิยม) ส่วนบรรณหารเขียนเรื่อง ‘รักระแวง’ (พ.ศ. 2521, พันธุ์เทพ อรรถไกวัลวที)

คุณผู้อ่านที่สนใจในใบปิดสไตล์ไทยๆ แบบนี้ สามารถมาเยี่ยมชมได้ ในนิทรรศการ “ใบปิด” จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ WOOF PACK , Doc Club & Pub.  และ หอภาพยนตร์ Thai Film Archive 

โดยภายในนิทรรศการมีการจัดแสดงต้นฉบับของใบปิดหนัง จากช่างเขียนตัวจริงที่อยู่คู่วงการหนังมาตลอด 50 ปี อันหาชมได้ยาก ตั้งแต่วันนี้ – 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 – 21.00 น. ที่ Woof Pack Gallery (ชั้น 2 อาคาร Woof Pack)

Gangubai Kathiawadi : คังคุไบ การเมืองและพลังของโยนีเริงระบำ

หนังอินเดียที่กลายเป็นกระแสกันทั่วบ้านทั่วเมือง เห็นได้จากการคอสเพลย์เป็นคังคุไบได้รับการตอบรับอย่างแพร่หลายจากคนธรรมดา ผู้มีชื่อเสียงกระทั่งชนชั้นสูง แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ถูกวิจารณ์ว่า เอาจริงๆ แล้วไม่มีใครสนใจสิทธิของ sex worker มากไปกว่าการได้แต่งตัวชุดส่าหรีงามๆ ตามกระแสหรอก

ด้วยความบังเอิญ “หญิงคนชั่ว” นิยายที่เขียนในปี 2480 ของ ก.สุรางคนางค์ มีพล็อตเรื่องตอนแรกคล้ายคลึงกับคังคุไบ จนสงสัยว่า นี่อาจเป็นพล็อตหลักๆ ของผู้หญิงที่กลายไปเป็นโสเภณี

นั่นคือ ตัวเอกของเรื่องถูกผู้ชายที่เป็นคนรักมาหลอกเข้าไปยังเมืองหลวง แต่กรณีคงคา เธอถูกหลอกว่าไปแสดงหนัง ขณะที่รื่น ถูกหลอกว่าจะไปแต่งงานอยู่กับผู้ชาย แน่นอนว่าทั้งคู่ถูกหลอกเอาทรัพย์สมบัติจากที่บ้านไปด้วย และทั้งคู่มาลงท้ายที่ว่า ถูกปล่อยไว้ใน “ซ่อง” ทั้งคู่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ จากนักเที่ยว นั่นหมายถึงการจุติใหม่ของชีวิตที่ฉีกขาดไปจากเดิม

เส้นทางทั้งคู่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทางแยกของคังคุ กลายเป็นการขึ้นมามีอำนาจในซ่อง แต่รื่นนั้นมิใช่ รื่นอาจจะลุกขึ้นตอบโต้แม่เล้าในยามที่ตนเหลืออด เสียงของรื่นอาจจะทำให้เพื่อนร่วมอาชีพได้คิดถึงการถูกเอาเปรียบ แต่ก็เป็นดังคลื่นกระทบฝั่ง รื่นไม่เลือกที่จะสู้ แต่หนีออกจากซ่องไปเพื่อเอาตัวรอด ในที่สุดตราบาปที่ประทับในอาชีพของเธอก็ไม่ทำให้เธอหลุดพ้นจากวังวนอาชีพโสเภณี ซ้ำร้ายคือ มิได้เป็นโสเภณีที่มีอำนาจต่อรอง เมื่อเธอมีลูก ไม่สามารถจะชะลอความร่วงโรย และบำรุงความงามของเธอให้ยั่งยืนได้ เมื่อเทียบกับคนอื่นที่ยืนระยะได้ดีกว่า ชีวิตของรื่นจึงล่องลอยไปพร้อมกับสายน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ชีวิตของรื่น คือ โศกนาฏกรรม นอกจากรื่นจะเปลี่ยนตัวตนจากสาวบ้านนอกผู้บริสุทธิ์กลายเป็นโสเภณีที่เจนโลก เธอยังเป็นต้นเหตุของความวิบัติชิบหายของครอบครัวของเธอ ณ ตำบลเทพราช ฉะเชิงเทราอีกด้วย 

ส่วนคังคุเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ผู้กุมอำนาจด้วยการต่อรองกับเจ้านายของตัวเอง เรียกร้องวันหยุด เรียกร้องให้ตัวเองและเพื่อนพ้องได้รับสิทธิ์บางอย่าง โดยการเรียนรู้จากซ่องอื่น

เราจะสังเกตเห็น “ความเป็นการเมือง” ที่แฝงอยู่ในทุกอณู โดยเฉพาะการเมืองของประชาธิปไตยแบบตัวแทน การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี การเข้ามาหาคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งระดับชาติ การเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี 

บางคนอาจจะเห็นว่า เอาเข้าจริงคังคุไบ เติบโตมาด้วยฐานอำนาจของความเป็นมาเฟีย แต่จะให้ทำเช่นไรกับพื้นที่และสถานภาพที่ไร้อำนาจของนาง ในประเทศที่สิทธิสตรีนั่นถูกครอบงำภายใต้เงาของบุรุษตั้งแต่โครงสร้างครอบครัว ไปจนถึงอำนาจของเหล่าทวยเทพ การดิ้นรนอย่างปากกัดตีนถีบของเธอ จึงเป็นการสะท้อนถึงการใช้อำนาจที่บิดเบี้ยวเพื่อสู้โครงสร้างอำนาจที่กดทับ (ไม่รู้ว่าเธอเจอกับเนห์รู นายกรัฐมนตรีเมื่อไหร่ เพราะเนห์รูนี่เป็นนายกที่ยาวนานมากตั้งแต่ปี 1947-1964 แต่ช่วงเวลานี้ การที่คังคุไบไต่เต้าและเข้าถึงได้อำนาจได้ เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลย)

หนังเรื่องนี้ทำให้ชาวคาทอลิกผู้เคร่งครัดศีลธรรมกลายเป็นตัวร้าย เธอไม่ได้สู้ด้วยคำพูดหรือสุนทรพจน์อย่างเดียว แต่เธอใช้พลังทางการเมือง และที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับพลังนั้นก็คือ สื่อมวลชนระดับชาติที่นำเรื่องคังคุไบไปขายในตลาด พลังของแม่เล้า และเรื่องราวอันแสน exotic จึงดึงดูดผู้อ่าน ขณะเดียวกันอำนาจต่อรองของเธอก็สูงขึ้น

ความหอมหวานของอำนาจ จึงคุ้มค่ามากเมื่อเทียบการสละชายคนรักไปให้ลูกสาวของเพื่อนคนหนึ่ง คังคุไบจึงไม่ต่างไปจากราชินีที่ใช้การแต่งงานเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่นเดียวกับที่เธอใช้เงินปลดปล่อยหญิงสาวออกจากซ่องเพื่อหวังผลการเลือกตั้ง

พลังของผู้หญิงในเรื่องนี้จึงยิ่งใหญ่ผิดไปกับเรื่อง ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส (Everything Everywhere All At Once) ตรงที่การก้าวเข้าสู่ชีวิตใหม่ ต้องแลกมากับความสัมพันธ์ที่ถูกฉีกขาดจากครอบครัวเดิม ขนาดพ่อของเธอไม่ยอมดื่มน้ำคงคาก่อนตายตามความเชื่อ เพราะมีชื่อของเธออยู่ในนั้น ขณะที่เอเวอลีนในซือเจ๊ฯ แม้จะหนีพ่อไปกับชายหนุ่ม แต่สุดท้ายเธอก็หนีไม่พ้นที่จะต้องกลับมาดูแลพ่อของเธอ ขณะที่คังคุไบ เพียงแค่โทรศัพท์ไปหาแม่ของเธอ ยังไม่ได้รับการเหลียวแล 

คังคุไบที่ยิ่งใหญ่ทางการเมือง จึงต่างไปจากเอเวอร์ลีนที่ไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย แต่ยังมีฟูกที่รองรับเธออยู่ก็คือ ครอบครัว และครอบครัวนั้นก็เป็นครอบครัวที่มีทั้งพ่อ ผัว และลูกสาว เธอดูเหมือนจะเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์หลักของเรื่อง ในสายตาลูกสาว เอเวอร์ลีน ไม่ต่างอะไรกับ “มนุษย์ป้า” ที่ลูกสาวรู้สึกกระอักกระอ่วนเสมอ เมื่อแม่ต้องมาเจอกับเพื่อนและโลกของเธอ ในสายตาของเตี่ย เอเวอร์ลีนไม่เคยดีพอในฐานะลูกสาวครอบครัวจีน ส่วนผัวของเธอก็ได้แต่เก็บงำความไม่พอใจความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่อย่างเงียบจนคิดถึงการหย่าขาดจากเอเวอร์ลีน ทั้งที่เขาเป็นคนที่พาเธอหนีมา แล้วครอบครัวของเอเวอร์ลีน มันเป็นแหล่งพักพิงทางใจได้จริงหรือ

โลกมัลติเวิร์สต่างๆ นานาของเอเวอร์ลีนอาจเป็นพริบตาของความใฝ่ฝันในชีวิตที่เธอไม่อาจจะเป็นไปได้ ด้วยความบีบคั้นและกดดันของชีวิตครอบครัว และผู้หญิงแกร่งที่ต้องต่อสู้ในโลกทุนนิยมที่กดดัน ทำให้แม้แต่ครอบครัวก็เป็นพื้นที่ที่เธอต้องออกแรงต่อสู้กับมันในรูปแบบต่างๆ ด้วยตัวเธอเอง

ในทางกลับกันแม้ว่า คังคุไบจะไร้ญาติทางสายโลหิต แต่เธอก็มีครอบครัวใหม่ ครอบครัวหญิงนครโสเภณีที่ผูกพันกันด้วยน้ำเงินและน้ำใจที่แทบจะมีแต่เพศหญิงอยู่ในบ้านของเธอ การที่เธอไร้พ่อและแม่ทำให้เธอเติบโตขึ้นมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น เธอเองได้กลายเป็นพ่อแม่ และผู้ปกครองของคนใต้บังคับที่เธออุปถัมภ์ค้ำชูและให้ความช่วยเหลือ

ชัยชนะของคังคุไบ จึงมิใช่เพียงในนามของโสเภณี แต่เป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง เป็นมาเฟียที่สร้างครอบครัวของเธอเองขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่ใช่ครอบครัวทางสายเลือดที่ผูกพันกับเธอมาด้วยศาสนา และชนชั้นวรรณะแบบจารีต ในอีกด้าน คังคุไบเองก็แสวงหาอำนาจและความมั่งคั่งจากครอบครัวและความสัมพันธ์ของเธอ เธอต้องสังเวยชายที่เคยรักให้กับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นของหมู่มิตร โดยเปลี่ยนเขาเป็นเจ้าบ่าวให้กับคนรุ่นลูกของเธอ และแน่นอนว่าความมั่งคั่งอันมาจากการขายเรือนร่างของหญิงสาวลูกๆ ของเธอ คือที่มาของรายได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม การขึ้นมามีอิทธิพลได้ในสังคมอินเดียในช่วงที่สิทธิสตรีในอดีตยังคงจำกัด ก็ถือเป็นเรื่องที่ชวนตื่นเต้นชวนให้เราเข้าไปถกเถียงด้วยไม่น้อย


ดู Gangubai Kathiawadi ได้ที่ Netflix

มีอา แฮนเซน-เลิฟ: ความโดดเดี่ยวของการเขียนบทคนเดียว การเข้าใจชีวิตผ่านการทำหนัง และการทำหนังเพื่อเข้าใจชีวิต

เครดิตภาพหัว : Paul Katzenberger จาก Wikimedia

มีอา แฮนเซน-เลิฟ ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส เจ้าของผลงานที่คนดูในไทยคุ้นเคยอย่าง Things to Come (2016 – นำแสดงโดย อิซาเบล อูแปร์ ในบทอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เสียศูนย์เพราะถูกสามีนอกใจ) กลับมาที่คานส์ในปีนี้กับ One Fine Morning (2022 – นำแสดงโดย เลอา เซดูซ์)หนังได้รับผลตอบรับดีเลิศและคว้ารางวัลหนังยุโรปยอดเยี่ยมจากสาย Directors’ Fortnight มาได้ ใกล้เคียงกันกับที่ Bergman Island (2021) หนังชิงปาล์มทองปีก่อนหน้าของเธอเพิ่งเข้าฉายในอังกฤษหลังจากทยอยฉายในประเทศต่างๆ มาก่อน และจะเริ่มสตรีมใน Mubi แบบจำกัดประเทศในวันที่ 22 กรกฎาคม

เราอยากชวนมาทำความรู้จักกันแบบสั้นๆ กับคนทำหนังที่มักจะเล่าเรื่องราวชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้หญิงสมัยใหม่ และที่ทางของผู้หญิงในครอบครัวในฐานะลูกสาว เมีย และแม่ ผ่านมุมมองของเธอเกี่ยวกับพื้นที่ส่วนตัวของคู่รักนักทำหนังใน Bergman Island และการคลี่คลายของชีวิตหญิงสาวใน One Fine Morning

Things to Come (2016)

เกาะเฟอร์เรอร์ของเบิร์กแมน …แต่เป็นภาพสี

ใน Bergman Island คริส (วิคกี ครีพส์) และโทนี (ทิม รอธ) คู่รักนักทำหนังยังรักกันดี มีลูกด้วยกัน ใกล้ชิดสนิทสนมกันในหลายด้าน แต่เมื่อเป็นเรื่องงานสร้างสรรค์ พวกเขาต่างมีระยะห่างและพื้นที่ส่วนตัวที่มิอาจกร้ำกราย ทั้งสองเดินทางไปยังเกาะแห่งหนึ่งด้วยกันเพื่อเก็บตัวเขียนบทหนังเรื่องถัดไป คนหนึ่งเก็บงำไอเดียไว้ในสมุดบันทึกที่ไม่เคยให้อีกฝ่ายดู ส่วนอีกฝ่ายอยากเปิดเผยและแลกเปลี่ยน และแน่นอนว่าคนแรกไม่ใคร่จะฟัง นี่คือหัวใจของหนังที่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนแฮนเซน-เลิฟคิดว่าอยากถ่ายหนังเรื่องนี้ที่เกาะเฟอร์เรอร์ ประเทศสวีเดน

แค่ได้ยินว่าคำว่าคู่รักนักเขียนก็เริ่มรู้สึกถึงเค้าลางความหายนะ ไม่เพียงเท่านั้น หากเกาะเฟอร์เรอร์ยังเคยเป็นที่พำนักและสถานที่ถ่ายทำผลงานมาสเตอร์พีซหลายชิ้นของ อิงมาร์ เบิร์กแมน รวมถึง Persona (1966) ให้ความรู้สึกว่า Bergman Island จะเป็นหนังที่หมองหม่นข้นมืด แต่มันอาจไม่เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว

ไอเดียที่จะถ่ายทำที่เกาะนี้เริ่มต้นจากหนังสือสำหรับประมูลข้าวของและอสังหาฯ ของเบิร์กแมน เพราะเขาต้องการขายทุกอย่างเพื่อจะได้แบ่งเงินให้ลูกๆ อย่างเท่าเทียมเมื่อเขาเสียชีวิต ในหนังสือเล่มนั้นมีทั้งภาพวาด โคมไฟ นาฬิกา รถ และบ้านหลายต่อหลายหลัง และแม้หนังทุกเรื่องของเบิร์กแมนที่ถ่ายทำที่เกาะนี้จะดูราวกับฝันร้าย แต่ภาพในหนังสือประมูลนั้นเป็นภาพสีทั้งหมด “เกาะที่ฉันเห็นตอนไปที่นั่นคือเกาะที่มีสีสัน เราสามารถสัมผัสเกาะนี้ด้วยวิธีอื่นได้ มันจะยังเป็นที่ของเบิร์กแมนและเป็นที่ที่บรรยากาศเวิ้งว้างวังเวง แต่มันก็มีทางที่ฉันจะทำให้มันเป็นของฉันได้เช่นกัน” แฮนเซ่น-เลิฟเห็นหนังสือประมูลแล้วนึกได้ว่า เกาะฟอร์เรอร์แบบเป็นภาพสีอาจเหมาะกับไอเดียของหนัง จึงเดินทางไปดูลาดเลาในปี 2014 ก่อนจะกลับไปอีกครั้งแล้วเขียนครึ่งหนึ่งของหนังที่นั่น

Bergman Island (2021)

การเขียนคือหน้าตาของความโดดเดี่ยว

“แน่นอนว่าไอเดียที่จะทำหนังไม่ได้มาจากเกาะนี้ แต่ฉันคิดว่าความรู้สึกถึงแรงดึงดูดของที่นี่มันตรงกับความต้องการทำหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์และการสร้างสรรค์งานศิลปะของฉัน” เธอมีไอเดียเกี่ยวกับคู่รักนักทำหนังมาตั้งแต่หลังทำ Eden (2014) แต่ยังไม่แน่ใจว่ามันจะออกมาทางไหนหรือเรื่องราวจะเกิดขึ้นที่ใด แต่หลังจาก เกรตา เกอร์วิก และ โนอา บอมบาค ที่เพิ่งกลับมาจากเกาะเฟอร์เรอร์เล่าให้เธอฟังว่าทริปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เธอก็เริ่มปะติดปะต่อทุกอย่างเข้าด้วยกัน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของหนัง

“เมื่อคุณอยู่ในความสัมพันธ์ เมื่อคุณเป็นศิลปินกันทั้งคู่และคุณต่างเขียน คุณต้องยอมรับความจริงว่ามันจะมีบางอย่างที่หนีห่างจากคุณไปเรื่อยๆ บางสิ่งที่คุณไม่อาจเอื้อมคว้า บางสิ่งที่แลกเปลี่ยนให้กันฟังไม่ได้ และนั่นก็เจ็บปวดในหลายทาง”

แฮนเซน-เลิฟคือหนึ่งในคนที่ไม่พร้อมจะแชร์งานที่ยังไม่เสร็จของตัวเองให้ใครฟัง ในขั้นตอนการคิดงาน เธอแชร์ให้แค่คนหรือสองคนฟัง และเมื่อตัดต่อเสร็จ เธอก็ไม่ทำสกรีนเทสต์กับคน 20-30 คนแบบผู้กำกับคนอื่นๆ แต่ฉายกันดูกับคนไม่กี่คนและทีมโปรดิวเซอร์เท่านั้น “มันอาจจะมาจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยของฉันเอง” เธอเล่าต่อว่านั่นก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเขียนบทคนเดียวตลอดมา

“ไม่ใช่เพราะฉันคิดว่าฉันเขียนได้ดีกว่าคนอื่นหรือเพราะคิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์หรืออะไร แต่เพราะจริงๆ แล้วการเขียนมันยากมากสำหรับฉัน แต่ฉันยังคิดว่า การค้นพบบางสิ่งในตอนที่คุณอยู่คนเดียว—ตอนที่คุณเดินทางเข้าไปในตัวเอง—จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคุณหลงหายเข้าไปท่ามกลางผู้คนตลอดเวลา”

“ฉันคิดว่ามันมีสิ่งที่คุณสามารถเผชิญหน้า พูด หรือแสดงออกได้ก็เพียงแต่เมื่อคุณมองเข้าไปข้างในตัวเอง ยอมรับความเงียบสงัดนั้นและสุ้มเสียงที่ถูกส่งออกมา มันเป็นเรื่องของความเงียบ มันเป็นเรื่องของพระเจ้า มันเป็นเรื่องของความอดทน ฉันคิดว่าการทำหนังสามารถดึงคุณออกมาจากสิ่งเหล่านี้ได้เลยถ้าคุณไม่ระมัดระวัง … เพราะอย่างนี้ฉันถึงมองว่าสุดท้ายเราต่างทำมันคนเดียวและเราต้องเผชิญหน้ากับความจริงนี้ ทางเดียวที่เราจะเป็นอิสระอย่างถึงที่สุดคือเราต้องยอมรับมันและพยายามลืมความคิดเห็นของคนอื่นๆ คุณไม่สามารถมองงานตัวเองจากมุมมองของคนอื่นได้ คุณทำได้แค่มองมันจากมุมมองของตัวเอง”

One Fine Morning (2022)

เมื่อชีวิตและการทำหนังพยักหน้าให้กัน

ซานดรา (เลอา เซดูซ์) แม่เลี้ยงเดี่ยวในปารีสที่ต้องดูแลทั้งลูกสาวตัวน้อยและพ่อวัยชรา (ปาสกาล เกรกกอรี) ศาสตราจารย์ที่เป็นโรคเบนสัน โดยที่เขาอาการย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ระหว่างนั้นเธอก็กลับมาพบกันกับนักจักรวาลเคมี เพื่อนของอดีตสามี (เมลวิล ปูโปด์) ทั้งสองมีใจให้กัน แต่ฝ่ายชายนั้นมีครอบครัวอยู่แล้ว พล็อตที่เหมือนจะธรรมดาทั่วไปของ One Fine Morning พันเกี่ยวกับชีวิตของแฮนเซน-เลิฟในช่วงนั้นที่พ่อของเธอเสียชีวิตจากโควิด-19 ในขณะที่เธอกำลังตั้งท้อง ช่วงเวลาที่ดูเหมือนจุดสิ้นสุดของสิ่งหนึ่งได้มาถึงพร้อมจุดเริ่มต้นของอีกสิ่งหนึ่ง

“ถ้าคุณมองชีวิตเพียงด้านเดียว คุณจะมีเหตุผลมากมายที่จะสิ้นหวัง แต่ถ้าคุณมองไปยังสิ่งอื่นๆ ด้วย คุณจะตระหนักว่าบางทีเราอาจจะต้องขยายกรอบสายตาออกไปกว้างๆ แล้วคุณก็จะเห็นเหตุผลที่จะยังคงมีหวัง และนั่นคือสิ่งที่ฉันพยายามทำ ในตอนที่ทำหนังเรื่องนี้ ฉันไม่ได้รู้สึกว่าฉันกำลังทรยศต่อความจริง แต่ฉันกำลังอยู่ใกล้ความจริงมากที่สุด เพราะชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว … ฉันไม่คิดว่าฉันโกงหรือประดิษฐ์ตอนจบที่สมหวังให้กับเรื่องราวที่ไม่ควรจะจบอย่างนั้น มันกลับกัน ฉันคิดว่าเวลานักเขียนทำหนังเกี่ยวกับเรื่องยากๆ พวกเขาจะขยี้ ขยี้ และขยี้ซ้ำ ราวกับว่าจะรีดเค้นความจริงออกมาได้ แต่สำหรับฉัน การกดปุ่มเดิมซ้ำๆ กลับดูปลอมยิ่งกว่า”

หลังจากหนังพรีเมียร์ที่คานส์เมื่อเดือนพฤษภาคม มันก็ได้รับคำวิจารณ์ที่หมดจดงดงาม ความหมายของชีวิตในมุมมองของตัวละครโรยตัวช้าๆ ผ่านเฟรมภาพในแบบที่แฮนเซน-เลิฟทำมาเสมอ บางสื่อบอกว่านี่คือด้านกลับของ Things to Come เพราะ เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับหญิงวัยกลางคนที่มองไปยังอนาคตของตัวเองหลังจากทุกอย่างล่มสลาย (L’Avenir ชื่อเรื่องภาษาฝรั่งเศสของ Things to Come แปลว่าอนาคต) ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับหญิงสาวที่มองย้อนกลับไปยังอดีตตอนที่ทุกอย่างดูเหมือนจะกำลังล่มสลาย แต่มันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น

“ประเด็นทั้งหมด[ของการทำหนัง]คือการหาทางทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน และสองอย่างนี้ก็ค้านกันเองในบางครั้ง อย่างแรกคือการบันทึกชีวิตอย่างซื่อสัตย์และจริงใจที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ ไปให้ถึงความแจ่มแจ้งของชีวิต แต่ในอีกทางหนึ่ง ฉันก็อยากให้หนังช่วยให้ฉันใช้ชีวิตต่อไปได้” เธอกล่าว

“คำถามคือฉันจะทำมันอย่างซื่อสัตย์ที่สุดได้อย่างไร ฉันจะซื่อสัตย์กับประสบการณ์ชีวิตของตัวเองได้อย่างไรโดยที่ไม่กระตุ้นย้ำความสิ้นหวัง”