Maid in Malacañang : เมื่อลูกมาร์กอสทำหนัง หวังล้างคราบเผด็จการ

แค่เดือนเดียวหลัง บงบง มาร์กอส (Bongbong Marcos, ลูกชายเฟอร์ดินานด์กับอิเมลดา มาร์กอส) กับ ซาร่า ดูเตอร์เต (Sara Duterte, ลูกสาวโรดริโก ดูเตอร์เต) ควงแขนเข้าทำเนียบมาลากันยังแบบแพ็คคู่ด้วยคะแนนเลือกตั้งระดับโคตรแลนด์สไลด์ หนังที่เขียนภาพเชิงบวกให้ตระกูลมาร์กอสเรื่องหนึ่งก็เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศฟิลิปปินส์

Maid in Malacañang เจาะลงไปเล่าเรื่อง 72 ชั่วโมงสุดท้ายของสมาชิกตระกูลมาร์กอสในทำเนียบมาลากันยัง ก่อนต้องยอมจำนนให้การขับไล่ของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ เก็บข้าวของขึ้นเครื่องบินออกนอกประเทศไปเกาะฮาวาย เล่าผ่านสายตาแม่บ้านประจำทำเนียบสามคนที่(หนังบอกว่า)มีตัวตนจริง ในฐานะชาวบ้านที่กลายเป็นประจักษ์พยานสัมผัสรู้เห็นจุดจบของระบอบมาร์กอสอย่างใกล้ชิด โดยใช้นักแสดงชื่อดังสวมบทเฟอร์ดินานด์ อิเมลดา ลูกสาวลูกชายทั้งสามคน ไปจนถึง คอราซอน “คอรี่” อาคีโน (Corazon Aquino, ภริยาม่ายของ เบนิญโญ “นินอย” อาคีโน จูเนียร์ -ผู้นำฝ่ายตรงข้ามมาร์กอสคนสำคัญที่ถูกลอบสังหาร- ซึ่งได้เป็นประธานาธิบดีถัดจากมาร์กอส)

หนังฉายรอบพรีเมียร์ค่ำวันที่ 29 กรกฎาคม แล้วเข้าโรงรอบแรกในอีกห้าวันต่อมา (3 สิงหาคม) แต่กระแสต่อต้านระลอกแรกก่อตัวขึ้นตั้งแต่ก่อนรอบสื่อ เมื่อตัวอย่างหนังฉายภาพกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่มาร์กอสเมื่อปี 1986 (People Power Revolution หรือ EDSA Revolution) ถือคบเพลิงบุกเข้าทำเนียบประธานาธิบดีแล้วทุบทำลายทรัพย์สิน มีฉากคอรี่สวมเสื้อเหลือง (สีของฝ่ายต้านมาร์กอส) ตั้งวงเล่นไพ่นกกระจอกกับกลุ่มนางชีแห่งคณะคาร์เมไลท์ (Carmelite nuns) ในคืนที่เธอหลบซ่อนตัวจากมือสังหารของรัฐบาลมาร์กอสหลังปรากฏตัวเข้าร่วมชุมนุมที่จังหวัดเซบู และพูดผ่านโทรศัพท์ในอีกคัตว่า “เอาพวกมันออกไปจากฟิลิปปินส์”

ฉากคบเพลิงโดนฟาดทันทีว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง เจตนาให้คนเห็นผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยปี 1986 ว่าเป็นม็อบพวกมากลากไปใช้ความรุนแรง คณะบาทหลวงโรมันคาทอลิกที่มีประวัติศาสตร์ยึดโยงกับ EDSA Revolution และสำนักชีในเซบูซึ่งถูกพาดพิงก็เรียกร้องให้ชาวฟิลิปปินส์บอยคอตหนัง “ความพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ครั้งนี้ต้องถูกประณาม” คุณแม่อธิการคนปัจจุบันของสำนักชีแถลง ชี้แจงเพิ่มว่าบรรดาซิสเตอร์ในตอนนั้นต่างอดอาหารและสวดภาวนาให้ผู้ชุมนุมประท้วงขับไล่มาร์กอส และฉากไพ่นกกระจอกที่หนังจินตนาการขึ้นเองทั้งหมด “จงใจลดทอนการมีส่วนร่วมด้านประชาธิปไตยของพวกเรา” พร้อมสร้างภาพว่าคอรี่ไม่แยแสความทุกข์ยากของประชาชนท่ามกลางวิกฤติทางการเมือง

เมื่อเสียงต้านเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหนังฉาย เดาได้ไม่ยากว่าย่อมเกิดเสียงตีกลับว่าให้ดูหนังก่อนค่อยลงดาบตัดสิน บทวิจารณ์สองชิ้นใน The Manila Times แย้งกลับว่า ภาพในหนังไม่ใช่การบิดเบือนประวัติศาสตร์ แต่คือใบอนุญาตทางศิลปะ (artistic license) ที่เปิดช่องให้ดัดแปลงปรับเปลี่ยนหรือตีความเหตุการณ์ใหม่เพื่อรับใช้แนวคิดหลัก การเล่าเรื่อง หรือสิ่งที่ผู้สร้างต้องการสื่อในภาพรวม และผู้กำกับ ดาร์ริล ยัป (Darryl Yap, ผู้สร้างชื่อจากหนัง “จริตกะเทย” ขายเซ็กซ์กับความอื้อฉาว ซึ่งตลอดปี 2021 มีหนังเข้าฉายถึงสิบเรื่อง) ก็ช่วงชิงพื้นที่สื่อด้วยการฟาดกลับเสียงวิจารณ์ของนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และวงการภาพยนตร์ฝั่งแอนตี้มาร์กอส โดยบอกว่าเขาไม่ได้ทำหนังสารคดีหรือชีวประวัติ เพราะนี่คือหนัง dramedy (ดราม่า + คอมเมดี) ที่โฟกัสประเด็นครอบครัว เพียงแต่เป็นครอบครัวมาร์กอส

“Maid in Malacañang ไม่ได้เจตนาเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ในแบบที่เราคิด หนังเพียงแง้มช่องลองสำรวจอีกมุมว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านมาร์กอส ตลอดสามวันก่อนที่พวกเขาจะจากไป ถูกพาตัวไป หรือถูกบีบบังคับให้ต้องไป (…) พ้นไปจากฟากฝ่ายการเมืองหรืออคติทางระวัติศาสตร์ หนังเรื่องนี้กำลังเล่าถึงครอบครัวหนึ่งก็เท่านั้น (…) การแก้ไขดัดแปลงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงไม่ใช่สิ่งที่ต้องเป็นกังวล หากคือการมอบความเป็นมนุษย์ให้ตัวละครที่ถูกป้ายสีในอดีตต่างหาก” คือส่วนหนึ่งของบทวิจารณ์ดังกล่าว

แต่เมื่อตัวอย่างหนังเปิดหัวด้วยข้อความ “สร้างจากเรื่องจริงที่ไม่เคยมีใครเล่า” (based on the untold truth) และหนึ่งในโปรดิวเซอร์คือ อิมี่ มาร์กอส (Imee Marcos) ลูกสาวคนโตของเฟอร์ดินานด์กับอิเมลดาที่เพิ่งชนะเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ แถมเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญ มันก็ทำใจให้ปล่อยผ่านหรือเชื่อตามได้ยากเอาเรื่อง


อิมี่กับดาร์ริลทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ผ่านผลงานซีรี่ส์เสียดสีการเมืองฟิลิปปินส์) ก่อนที่อิมี่จะเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และที่ปรึกษาหลักของหนังเรื่องนี้ ที่เปิดโอกาสให้ทีมงานเข้าไปตบแต่งคฤหาสน์ประจำตระกูลเป็นทำเนียบประธานาธิบดีในปี 1986 แถมยังให้ใช้ข้าวของสมบัติพัสถานในวิหารมาร์กอสเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก – ความสนิทสนมระหว่างนั้นย่อมมีผลไม่มากก็น้อยให้ดาร์ริลเริ่มคิดและเตรียมการทำหนังเรื่องนี้ ก่อนตัดสินใจได้เด็ดขาดเมื่อถึงวันเลือกตั้ง

ประเด็นเรื่องหนังตั้งใจบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อฟอกขาวให้มาร์กอส ทำให้สองนักแสดงหญิงในเรื่องเจอทัวร์ลงกระหน่ำ – เอลลา ครูซ (Ella Cruz) ซึ่งรับบทลูกสาวคนเล็ก ไอรีน มาร์กอส (Irene Marcos) ต้องยอมขอโทษสังคม หลังให้สัมภาษณ์โปรโมตหนังแล้วเปรียบเปรยทำนองว่า ประวัติศาสตร์ที่เคยรับรู้กันมา (อันว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนใต้กฎอัยการศึกของมาร์กอส) ก็เหมือนเรื่องกอสซิป ส่วน จิเซลล์ ซานเชซ (Giselle Sanchez) ผู้แสดงเป็นคอรี่ แถลงผ่านเฟซบุคส่วนตัวหลังถูกอัดหนักว่าได้พยายามหาหลักฐานยืนยันความจริงของฉากไพ่นกกระจอกกับฉากคุยโทรศัพท์แล้ว แต่ “หลักฐาน” ที่เธออ้างอิงถึงก็มีแค่เมสเสจจากอิมี่ มาร์กอส ซึ่งตอบว่า “พวกอเมริกันบอกเรามาตามนั้น”

ในขณะที่อิมี่กับดาร์ริลพยายามปกป้องสิทธิและความชอบธรรมของหนังด้วยการยกเรื่อง artistic license หรือการเป็นหนัง family dramedy มาเป็นเกราะกำบัง (รวมถึงบริจาคเงินหลักแสนเพื่อผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในรอบสื่อ) พวกเขาก็เน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าหนังเรื่องนี้คือความจริงอีกด้านที่ฟิลิปปินส์ไม่เคยเปิดใจรับฟัง ดาร์ริลบอกว่าผลเลือกตั้งครั้งล่าสุด “คือบทพิสูจน์ครั้งสำคัญว่าฟิลิปปินส์พร้อมฟังเสียงของฝั่งมาร์กอสแล้ว” และหนังเรื่องนี้คือโอกาสแรกที่ชาวฟิลิปปินส์จะได้รับรู้เรื่องราวของตระกูลมาร์กอส “ที่ไม่ได้เล่าผ่านมุมมองของฝ่ายต่อต้าน” อย่างที่เคยเป็นมา

“ฉันไม่ได้พยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ หรือยื่นมือไปแก้ประวัติศาสตร์ของใคร ความจริงมันก็แค่ฉันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ EDSA ตัวฉันเลยไม่มีสิทธิจะพูดถึง EDSA – ฉันมีสิทธิพูดว่าเกิดอะไรขึ้นที่มาลากันยัง เพราะพวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตในมาลากันยัง แต่ฉันเคยอยู่ในมาลากันยัง” อิมี่ตอบคำถามในรายการหนึ่ง

ทั้งคู่ยังใช้พื้นที่สื่อกล่าวอีกหลายครั้งว่า Maid in Malacañang ได้ทำหน้าที่อย่างผลงานศิลปะซึ่งยั่วยุ ก่อกวนความรู้สึกผู้ชม และกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงในสังคม เหตุผลข้อนี้ทำให้สมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ (Society of Filipino Film Reviewers หรือ SRRF) ต้องออกแถลงการณ์ประณามเพื่อตอบโต้ “ระบอบมาร์กอสจูเนียร์ที่ฉวยใช้ศิลปะและภาพยนตร์เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข้อมูลเท็จและบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างโจ่งแจ้ง”

“ใบอนุญาตทางศิลปะที่มอบให้คนทำหนังและคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม หาใช่การยืนยันสิทธิให้พวกเขาเมินเฉยหรือบ่อนเซาะทำลายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยักยอกทรัพย์สมบัติของชาติภายใต้กฎอัยการศึกที่ปรากฏเป็นหลักฐานบันทึก เสรีภาพดังกล่าวขึ้นตรงต่อมาตรฐานทางจริยธรรมและศีลธรรมอันเป็นรากฐานของการสร้างภาพยนตร์ และกินความถึงผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง” แถลงการณ์ของ SRRF ที่มี 38 รายชื่อสนับสนุนกล่าวต่อไปว่า “การต่อต้านแข็งขืนซึ่งกลายเป็นแนวปฏิบัติของภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ ดังปรากฏในผลงานของลิโน บรอกคา (Lino Brocka) อิชมาเอล เบอร์นัล (Ishmael Bernal) และลาฟ ดิอาซ (Lav Diaz) แสดงให้เห็นชัดว่าเราไม่อาจหักล้างความจริงและชี้นำเพื่อนร่วมชาติไปในทางที่ผิด เพียงเพื่อหวังจะสร้าง ‘ผลงานศิลปะซึ่งยั่วยุและก่อกวนความรู้สึก’ เพราะนั่นย่อมไม่ใช่ผลงานของศิลปินที่แท้จริง หากคือสิ่งช่วยค้ำยันสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (the culture of impunity)”

แถลงการณ์ปิดท้ายด้วยข้อเรียกร้องถึงเพื่อนนักวิจารณ์ภาพยนตร์และคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมให้ตื่นตัวอยู่เสมอ คอยจับตาผลงานที่อุตสาหกรรมลงทุนสร้างหรือมอบพื้นที่เผยแพร่จัดแสดงว่ามีแนวคิดต่อต้านประวัติศาสตร์ หรือตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐหรือไม่ รวมถึงขอให้สาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นคอหนังระดับซีเนไฟล์หรือคนธรรมดา ได้ตระหนักถึงเนื้อหาในสินค้าทางวัฒนธรรมที่เลือกเสพหรือรับชมมากขึ้น


“ใบอนุญาตทางศิลปะที่มอบให้คนทำหนังและคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม หาใช่การยืนยันสิทธิให้พวกเขาเมินเฉยหรือบ่อนเซาะทำลายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยักยอกทรัพย์สมบัติของชาติภายใต้กฎอัยการศึกที่ปรากฏเป็นหลักฐานบันทึก เสรีภาพดังกล่าวขึ้นตรงต่อมาตรฐานทางจริยธรรมและศีลธรรมอันเป็นรากฐานของการสร้างภาพยนตร์ และกินความถึงผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง”

โจเอล ลามังกัน ใน The Halt

โจเอล ลามังกัน (Joel Lamangan, ผู้แสดงบทประธานาธิบดีเผด็จการใน The Halt ของลาฟ ดิอาซ) คือสมาชิกคนแรกของสมาคมผู้กำกับฟิลิปปินส์ที่เปิดหน้าประณาม Maid in Malacañang (เขาบอกว่าถูกฝ่ายสนับสนุนมาร์กอสขู่ฆ่า) และจับมือกับนักเขียนบทละครเวทีชั้นครู โบนิฟาชิโอ อิลากัน (Bonifacio Ilagan) ประกาศหาทุนสร้างหนังเพื่อตอบโต้ผลงานฟอกคราบเผด็จการเรื่องนี้ ไม่ว่าจะผ่านสตูดิโอ โปรดิวเซอร์ หรือต้องระดมทุนแบบ crowdfunding – ทั้งคู่เคยติดคุกเพราะกฎอัยการศึกในสมัยมาร์กอส

“โจเอลประกาศทำหนังตีแผ่ความจริงสมัยกฎอัยการศึก เพราะตอนนี้ Maid in Malacañang กำลังท้าทายสิ่งที่เรายึดถือ – แต่ตอนนี้ผมมีหนังที่ทำเสร็จอยู่แล้ว ผมก็พร้อมฉายให้ประชาชนได้เห็นเรื่องราวอีกด้านหนึ่ง” วินซ์ ทันยาดา (Vince Tañada) ผู้กำกับละครเวที หลานชายของอดีตแอ็คติวิสต์และสมาชิกวุฒิสภาที่ติดคุกในสมัยมาร์กอส บอกกับสื่อหลังตัดสินใจส่งหนังของเขาเข้าฉาย เพื่อแสดงสัญลักษณ์ท้าชนการยึดโรงของความจริงฉบับตระกูลมาร์กอส

Katips: The Movie เพิ่งกวาด 6 รางวัล (จากการเข้าชิง 17 ที่นั่ง) รวมสองสาขาใหญ่คือหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก “ออสการ์ฟิลิปปินส์” หรือ FAMAS Award เมื่อคืนวันที่ 30 กรกฎาคม (หนึ่งวันหลังรอบสื่อหนังมาร์กอส) อาจคิดเชื่อมโยงได้ว่าบรรยากาศการเมืองหลังชัยชนะของบงบง มาร์กอส ส่งผลให้กรรมการโหวตหนังเรื่องนี้อยู่ไม่มากก็น้อย (แต่ในคืนเดียวกัน อิมี่ มาร์กอส ก็ได้รางวัลเชิดชูเกียรติจากเวทีนี้) เพราะหนังเพลงซึ่งดัดแปลงจากละครเวทีมิวสิคัลเรื่องนี้ เล่าเรื่องกลุ่มแอ็คติวิสต์นักศึกษาจากย่านคาติปูนัน (Katipunan) ในเกซอนซิตี้ ที่ลุกขึ้นประท้วงการประกาศกฎอัยการศึกของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

หลังฉายแบบจำกัดโรงรอบแรกตั้งแต่ปลายปี 2021 การเข้าฉายชนหนังมาร์กอสเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในวันที่ 3 สิงหาคม คือการพาตัวเองไปสู่คนดูวงกว้างเป็นครั้งแรกของหนังอินดี้การเมืองขนาดกลางค่อนเล็กเรื่องนี้ “ถ้าบ้านมาร์กอสบอกว่าหนังเรื่องนั้นบันทึกความรู้สึกก่อนต้องลี้ภัยไปฮาวาย หนังของผมก็คือความรู้สึกของผู้คนในสมัยที่พวกเขายังครองอำนาจอยู่”

อย่างไรก็ดี ต่อให้ทั้งสื่อฟิลิปปินส์และสื่อต่างชาติจะประดับยศให้ Katips: The Movie เป็นผู้ท้าชิงและยาถอนพิษมาร์กอส การเป็นหนังนอกสตูดิโอใหญ่และการติดต่อขอโรงแบบฉับพลันก็ทำให้ต้องแบ่งรอบฉายกับบรรดาหนังท้ายโปรแกรม และคงได้จำนวนผู้ชมเพียงไม่กี่หยิบมือ – สำหรับตัวหนังเอง กระทั่งนักวิจารณ์ฝ่ายแอนตี้มาร์กอสจำนวนหนึ่งยังเขียนตรงกันว่าค่อนข้างโอเวอร์เรต (เมื่อเทียบกับกระแสข่าว) แม้จะเห็นว่าบรรลุหน้าที่ใบเบิกทางสำหรับผู้ชมที่ขาดช่วงจากประวัติศาสตร์บาดแผลในยุคกฎอัยการศึกได้ระดับหนึ่งแล้วก็ตาม

เฟซบุ๊กทางการของ Viva Films (บริษัทผู้สร้าง) โพสต์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมว่า Maid in Malacañang กวาดรายได้ทะลุหลัก 330 ล้านเปโซ (ราว 210 ล้านบาท) เป็นที่เรียบร้อย ครองตำแหน่งหนังฟิลิปปินส์ทำเงินสูงสุดนับตั้งแต่เจอวิกฤติโควิด และใกล้แทรกตัวเข้าตารางท็อป 20 หนังฟิลิปปินส์ทำเงินสูงสุดตลอดกาล (อันดับหนึ่งอยู่ที่ 880 ล้านเปโซ) พร้อมรายงานข่าวไม่ขาดสายตั้งแต่ก่อนหนังฉายว่าเกิดการเหมาตั๋วมาแจกให้คนไปดูหนังฟรี ทั้งจากานายกเทศมนตรีหรือนักการเมืองในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ฝั่งมาร์กอส (และดูเตอร์เต) ไปจนถึงพวกห้างร้านบริษัทเอกชนซึ่งอิมี่ มาร์กอส ติดต่อเองโดยตรง ให้ช่วยเป็นเจ้าภาพนำตั๋วหนังไปแจกตามโรงเรียน


แน่นอนว่าความจริงข้างมาร์กอสคือสิ่งที่หนังต้องการให้คนดูเชื่อ (และการโน้มน้าวให้คนฟังความข้างเดียวตามที่คนเล่าเชื่อย่อมเป็นสิทธิของผู้สร้าง ไม่ว่าจะมีเป้าประสงค์อุดมคติหรือฟากฝั่งการเมืองใด) แต่ถ้าพูดกันในรายละเอียดแล้ว Maid in Malacañang หวังให้คนฟิลิปปินส์เห็นหรือเชื่ออะไร?

บทวิจารณ์ใน Philippine Daily Inquirer ตั้งประเด็นไว้น่าสนใจว่า นอกจากจะบิดพลิ้วแต่งเติมรายละเอียดทางประวัติศาสตร์อย่างที่หลายฝ่ายเฝ้าระวังอยู่ก่อนแล้ว หนังเรื่องนี้ยังจงใจเล่าข้าม ปิดปาก และเมินเฉยต่อบริบททางการเมืองในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ไม่มีความพยายามแม้สักเล็กน้อยที่จะอธิบายเหตุผล หรือปัจจัยที่ส่งผลให้เหล่าทหารระดับนายพล เครือข่ายนักการเมืองที่ค้ำยันระบอบมาร์กอสตลอดมา รวมถึงประชาชนชาวฟิลิปปินส์อีกนับล้านๆ เห็นตรงกันว่าพวกเขาไม่เอามาร์กอสอีกแล้ว – ดาร์ริล ยัป แต่งแต้มกลบเกลื่อนการเล่าข้ามเมินเฉยนี้ด้วยการแทรกคลิปข่าวเหตุการณ์จริงเพียงเล็กน้อย

“นี่คือหนังที่พยายามถึงที่สุดเพื่อให้คุณรับสารเพียงผิวเปลือก และทำทุกวิถีทางเพื่อย่อยทุกสิ่งให้กลืนง่าย หนังต้องการให้คุณคิดว่าครอบครัวมาร์กอสตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสจาก ‘ความเมตตา’ และพื้นเพอย่างคนบ้านนอกต่างจังหวัด โดยไม่กล่าวถึงอีกกว่า 70,000 คนที่ติดคุก 34,000 คนที่ถูกซ้อมทรมาน และ 3,240 คนที่ถูกสังหารภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของคนเป็นพ่อ” บทความ fact-check ของ Rappler สรุปก่อนปิดท้ายว่า “อย่าตกหลุมพราง”

เพราะบริบทนอกทำเนียบย่อมเบี่ยงเบนความรู้สึกคนดูออกจากวัตถุประสงค์หลักของหนัง ซึ่งคือการเร้าอารมณ์ให้ผู้ชมอินไปกับความเจ็บปวดของเฟอร์ดินานด์กับอิเมลดา บทสนทนาช่วงหนึ่งของตระกูลมาร์กอสในเรื่องวนเวียนอยู่กับหัวข้อว่าชาวฟิลิปปินส์จะจดจำพวกเขาอย่างไร “พ่อจะอยู่สู้หน้าหลานๆ ต่อไปได้ยังไง? มีปู่มีตาเป็นทหารแท้ๆ แต่กลับวิ่งหนีศัตรู” เฟอร์ดินานด์ถามไอรีนเมื่อฝ่ายหลังขอให้พ่อออกจากทำเนียบมาลากันยัง ก่อนเธอตอบ “หนูจะทำทุกวิถีทางให้ความจริงปรากฏ แล้วประวัติศาสตร์จะบอกหลานๆ เองว่าตัวจริงของพ่อเป็นคนแบบไหน” ทำนองเดียวกับอิเมลดาที่มั่นใจเหลือเกินว่า “พวกมันจะทำทุกอย่างให้ชาวฟิลิปปินส์จงเกลียดจงชังบ้านเรา” ก่อนบงบงจะตอบพร้อมน้ำตารื้น “ผมสัญญานะแม่ ไม่รู้หรอกว่าต้องทำยังไงหรือจะทำได้เมื่อไหร่ แต่พวกเราจะกลับมา” ในขณะที่อิมี่สำทับปิดท้าย “พวกมันลบความจริงไม่ได้หรอก พ่อคือประธานาธิบดีที่ดีที่สุดของฟิลิปปินส์”

ต่อให้รายล้อมด้วยกระเป๋าแบรนด์เนมหรือเครื่องเพชร ครอบครัวมาร์กอสก็ยังคงสมถะติดดิน กินอาหารง่ายๆ ได้ในช่วงเวลาที่ทำเนียบถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมจนเสบียงใกล้หมด (แต่ในหนังเรื่องเดียวกัน ก็มีฉากอิเมลดาปรายมือสัมผัสบอกลาคอลเล็กชั่นรองเท้านับพันๆ คู่อย่างโหยหาอาลัย และฉากสโลว์โมชั่นแสนกรีดใจ เมื่อสามแม่บ้านได้รับคำสั่งให้ฉีกชุดราตรีสีเหลืองสุดสวยของอิเมลดามาทำผ้าโพกหัว เพื่อจะได้เนียนไปกับกลุ่มผู้ประท้วงแล้วหนีออกจากทำเนียบ) ส่วนเฟอร์ดินานด์ที่ทั้งโลกบันทึกชื่อเป็นจอมเผด็จการ แท้จริงแล้วกลับหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงจนนาทีสุดท้ายในทำเนียบมาลากันยัง หากพยายามสั่งการไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม “ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าท่านไม่อยากให้เกิดการนองเลือด แล้วถึงขนาดนั้นท่านยังคิดถึงคนฟิลิปปินส์ ทุกอย่างในหนังเรื่องนี้มันคนละเรื่องกับสิ่งที่ใครต่อใครพูดกันเลย” คือเสียงผู้ชมคนหนึ่งที่สื่อต่างชาติได้สัมภาษณ์หลังรอบสื่อ

“ประวัติศาสตร์ทางเลือกเหรอ? เปล่าเลย นี่คือเมโลดราม่า” อีกบทวิจารณ์จาก Davao Today ตีตรงจุด “หนังที่ฉายให้เราดูก็ไม่ต่างจากละครหลังข่าวทั่วไปในฟิลิปปินส์ พ่อแม่ลูกตะโกนแหกปาก ร้องห่มร้องไห้ สุดท้ายก็คลี่คลายรักกันเหมือนเดิม” แต่นอกจากการล้างคราบเผด็จการให้บุพการี หรือแอบวาดภาพป้ายสีคอรี่กับ EDSA ยังมีอีกคนหนึ่งที่หนังเขียนบทให้เฉิดฉาย ภายใต้โครงเรื่องอย่างละครน้ำเน่าแนวคนรวยแสนดีที่มีแต่คนเข้าใจผิด

เฉลย: ไม่ใช่แม่บ้านที่หนังทำทียกย่องเชิดชูประหนึ่งมรณสักขีในตอนจบ (พวกเธอเป็นแค่ตัวยิงมุขตลก) ไม่ใช่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน แต่คือ อิมี่ มาร์กอส

หนังเขียนบทให้อิมี่เป็นผู้ตัดสินใจแทบทุกอย่างใน 72 ชั่วโมงสุดท้ายของพ่อกับแม่ เป็นคนบอกให้เฟอร์ดินานด์กุมเก้าอี้ประธานาธิบดีท่ามกลางเสียงประท้วง บอกให้พ่อเรียกตัวตุลาการมาพบกลางดึก สั่งให้พ่อแม่พี่น้องเก็บข้าวของเตรียมออกจากทำเนียบเมื่อสถานการณ์ลุกลาม กระทั่งการตัดสินใจกลับบ้านที่อิโลโกส นอร์เต (Ilocos Norte) หนังยังบอกว่าเป็นความคิดของอิมี่ – เฟอร์ดินานด์ในหนังไว้ใจและชื่นชมอิมี่มาก เรียกเธอว่าลูกสาวสุดที่รักคนเก่งของพ่อ (My darling genius of a girl) บอกว่าเธอคือผู้ช่วยที่ยอดเยี่ยมที่สุดในมาลากันยัง และพ่อไม่มีทางถูกโค่นตำแหน่งหรอก “เพราะลูกพ่ออยู่ที่นี่และพร้อมจัดการทุกอย่าง”

ตรงข้ามกับอิมี่ที่พ่อแม่ชื่นชมไม่ขาดปาก บงบงในหนังกลับถูกพ่อตะคอกใส่ว่าไม่สนใจการบ้านการเมือง ดีแต่เที่ยวผับปาร์ตี้ไปวันๆ แล้วบงบงก็เจ็บปวดน้ำตาไหล บอกพ่อว่าถึงผมจะไม่มีสมองแต่ก็มีหัวใจนะเว้ย (…นี่คืออนาคตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์หรือ “ดา อินทร”)

Rappler ฉีกการสร้างภาพนี้ชนิดลงรายละเอียดเป็นบทความ โดยอ้างอิงบทบันทึก หนังสือ และบทความทั้งของนายพลคนสนิทกับสื่อมวลชนที่ติดตามเหตุการณ์ใกล้ชิด ซึ่งชี้ชัดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่อิมี่ (ขณะนั้นอายุ 31 ปี) จะสามารถเป็นผู้ตัดสินใจแทบทุกสิ่งในห้วงเวลาสำคัญทางการเมืองของระบอบมาร์กอส ต่อให้เฟอร์ดินานด์จะรับฟังและไว้ใจเธออยู่บ้างในบางเรื่องก็ตาม (ท่อนหนึ่งในหนังสือของนายพลผู้ทำงานเคียงข้างเฟอร์ดินานด์มาตลอด 21 ปีเขียนว่า อิมี่พยายามห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่เผาเอกสารสำคัญ เพราะควันมันเยอะ กลัวอาการหอบหืดจะกำเริบ)

หลายเสียง (ทั้งจากบทความ บทวิจารณ์ คอมเมนต์ในอินเตอร์เน็ต รวมถึงเพื่อนนักวิจารณ์ชาวฟิลิปปินส์ของผู้เขียน) จึงเห็นตรงกันว่า Maid in Malacañang ไม่ใช่แค่บิดเรื่องให้คนหลงเชื่อว่าครอบครัวมาร์กอสถูกประวัติศาสตร์ทำร้ายและเข้าใจผิด แต่ยังเป็นเครื่องมือหวังสร้างเครดิตทางการเมืองให้อิมี่ มาร์กอส เก็บกินต่อไปในอนาคต – บางเสียงถึงขั้นคาดการณ์แล้วว่าเธอเตรียมลงสมัครประธานาธิบดีสมัยหน้า และคู่แข่งคนสำคัญก็คงหนีไม่พ้น ซาร่า ดูเตอร์เต


“พวกมาร์กอสรู้จักภาพยนตร์ดี รุ่นพ่อก็ทำหนังชีวประวัติจนพาตัวเองไปถึงตำแหน่งประธานาธิบดี” บทวิจารณ์ใน Davao Today กระตุกความจำว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้คือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย อ้างอิงถึง Iginuhit ng tadhana (Drawn by Fate, 1965) ซึ่งสร้างตั้งแต่เฟอร์ดินานด์ยังเป็นสมาชิกวุฒิสภา และ Pinagbuklod ng langit (Heaven Bound, 1969) ที่เล่าชีวิตหลังเหยียบทำเนียบมาลากันยัง “ลูกสาวสุดที่รักคนเก่งของพ่อก็ย่อมรู้ดีว่าภาพยนตร์ทำอะไรได้บ้าง”

มาร์กอสย่อมรู้ดีว่าพลังของอัลกอริทึมช่วยกระจายข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จที่เป็นประโยชน์กับตัวเองได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อชาวฟิลิปปินส์รุ่นหลังเริ่มขาดช่วงกับประวัติศาสตร์บาดแผลที่พ่อสร้างไว้ สถานะนักสู้เพื่อประชาธิปไตยอันศักดิ์สิทธิ์ของตระกูลอาคีโนหรือฝ่ายที่ยึดโยงกับ EDSA เริ่มถูกตั้งคำถาม (ไม่ว่าจะด้วยข้อวิจารณ์ที่มีน้ำหนักหรือตั้งใจด้อยค่า) และอุณหภูมิทางการเมืองได้ตอกลิ่มอคติระหว่าง “ปัญญาชนคนเมือง” กับ “ชาวบ้านต่างจังหวัด” ให้ยิ่งหนักข้อขึ้นในสมัยดูเตอร์เต (เพื่อนนักวิจารณ์ของผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า คนเมืองจำนวนมากเหมาโทษคนต่างจังหวัดเรื่องดูเตอร์เตกับมาร์กอส ส่วนคนต่างจังหวัดอีกไม่น้อยมองว่าการแอนตี้มาร์กอสเรื่องกฎอัยการศึก แอนตี้ดูเตอร์เตเรื่องสงครามยาเสพติด เป็นวิธีคิดแบบหอคอยงาช้างที่เสียงดังเพราะคนเมืองพูด)

พวกเขาย่อมตระหนักดีเช่นกันว่า 31 ล้านคะแนนเสียงที่บงบงได้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด อาจไม่ได้สะท้อนการยอมรับที่ชาวฟิลิปปินส์มอบให้ตระกูลมาร์กอส มากเท่ากับที่ยังคงจงรักภักดีและนิยมชมชอบตระกูลดูเตอร์เต – นอกจากต้องสร้างภาพครอบครัวคนดีในละครหลังข่าวให้คนดูเอาใจช่วย มาร์กอสยังต้องการภาพลักษณ์อย่างเดียวกับสิ่งที่ดูเตอร์เตชนะใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย

ในช่วงท้ายเรื่องของ Maid in Malacañang เฟอร์ดินานด์พูดกับลูกสาวว่าฝ่ายต่อต้าน “เป็นเดือดเป็นร้อนก็เพราะเรามันพวกคนบ้านนอก พวกเขาเลยรับไม่ได้ที่ประชาชนรักเรา แต่ต่อให้เป็นแบบนั้นก็เถอะ พ่อทำใจให้ต้องโกรธแค้นพวกเขาไม่ลงจริงๆ”

ไม่ใช่แค่ผู้ชมในรอบพรีเมียร์ซึ่งส่วนใหญ่อาจทำไปตามมารยาทหรือเพื่อให้กำลังใจคนทำหนัง แต่คนดูทั่วไปในโรงต่างจังหวัดจำนวนมาก (โดยเฉพาะในดาเวา เมืองที่นายกเทศมนตรีสามคนล่าสุดคือโรดริโก, ซาร่า และเซบาสเตียน ดูเตอร์เต) ตบมือเชียร์มาร์กอสเมื่อจบฉากนี้


           


          


      
           

ชญานิน เตียงพิทยากร
เขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ Starpics, Bioscope (อดีต), The Momentum, a day, Film Club และแหล่งอื่นตามแต่จังหวะโอกาส / รางวัลชมเชยกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือฯ ประจำปี 2018 และ 2020 / สภาพ: ไล่ดูหนังใกล้หมดอายุใน Netflix และ MUBI

RELATED ARTICLES