จากวงการหนังถึงฟิลิปปินส์: โปรดดูหนัง “ยุคมาร์กอส” ก่อนไปเลือกตั้ง!

ห้าปีที่แล้ว บงบง มาร์กอส (Bongbong Marcos) แพ้เลือกตั้งรองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ แต่ในวันจันทร์ที่กำลังจะถึงนี้ (9 พฤษภาคม) ลูกชายของอิเมลดาและเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตผู้นำที่เคยปกครองประเทศด้วยอำนาจเผด็จการและกฎอัยการศึกอยู่ร่วมทศวรรษ อาจพาตระกูลมาร์กอสกลับสู่ทำเนียบประธานาธิบดีได้อีกครั้ง หลังวาระของ โรดริโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Duterte) ที่เปิดเผยเสมอมาว่าทั้งสนับสนุนให้คืนเกียรติยศสู่ตระกูลมาร์กอส และเป็นมิตรทางการเมืองที่แน่นแฟ้น และยุคสมัยของสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “ข่าวปลอม” กับ “ไอโอ”

ฝ่ายต้านมาร์กอสมองว่าข่าวปลอมกับไอโอเหล่านี้มีเบื้องหลังคือกลุ่มการเมืองฝ่ายเชียร์มาร์กอสชัดเจน และกำลังเขียนประวัติศาสตร์ใหม่อย่างน่าละอาย ลดทอนความเลวร้ายของกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ระหว่างปี 1972 ถึง 1981 (และอำนาจบางประการที่ต่อมาก็ยังบังคับใช้อยู่ จนถึงวันที่มาร์กอสถูกประชาชนโค่นล้มในปี 1986) สร้างความทรงจำใหม่ว่าบ้านเมืองยุคนั้นก็เจริญดี ไม่เห็นมีปัญหาเศรษฐกิจหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอะไร – ดูเตอร์เตเองเคยพูดชัดๆ เมื่อปี 2016 ตอนถูกถามเรื่องสมัยมาร์กอส บอกว่า “ก็ไม่เห็นมีคนศึกษา ไม่เห็นมีคนทำหนังเรื่องนี้นี่”

ตั้งแต่ช่วงหลายเดือนก่อนวันเลือกตั้ง #MartialLawNeverAgain และ #NeverForget ถูกใช้เพื่อรณรงค์สร้างความรับรู้ในประเด็นกฎอัยการศึกและอำนาจอิทธิพลของตระกูลมาร์กอสอย่างต่อเนื่องในโลกออนไลน์ ซึ่งภาพยนตร์ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนทางการเมืองครั้งนี้

ไม่มีหนังเรื่องกฎอัยการศึกกับความชั่วช้าของมาร์กอสเหรอ? เอาลิงก์ไปเลยสิ!

ทวิตเตอร์ kayacnvs และเฟซบุ๊ก Bea Dolores กับ Kristia Solana ได้รวบรวมลิงก์หนังและสารคดีที่เล่าเรื่องบ้านเมืองในสมัยกฎอัยการศึกของมาร์กอส ที่สามารถเข้าถึงได้ออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะหนังของผู้กำกับฟิลิปปินส์คนสำคัญอย่าง คิดลัท ตาฮิมิค (Kidlat Tahimik) ไมค์ เดอ เลออน (Mike de Leon) ราโมน่า ดิอาซ (Ramona S. Diaz) และ ชิโต รนโญ (Chito S. Roño)

ในจำนวนดังกล่าวรวมถึงสารคดี The Kingmaker (2019) ซึ่งผู้กำกับ ลอเรน กรีนฟิลด์ (Lauren Greenfield) ได้ออกหน้าแสดงตัวมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนครั้งนี้ ด้วยการปล่อยหนังฉบับพากย์ภาษาตากาล็อก พร้อมซับไตเติล 5 ภาษาท้องถิ่นของชาวฟิลิปปินส์

THE KINGMAKER (Tagalog Dub/Tagalog Subs)

หลังจากนั้น ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา คิวเรเตอร์และนักอนุรักษ์ภาพยนตร์ โรส โรก (Rose Roque) ได้จัดโปรแกรมหนังสั้นการเมืองฟิลิปปินส์จากช่วงต้นทศวรรษ 1980 ชื่อ Daluyong: Political Filmmaking in a Period of Social Unrest Redux เพื่อช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนนี้อีกแรง เพราะภาพยนตร์เหล่านี้คือภาพแทนของการใช้หนังเพื่อต่อสู้กับการโฆษณาชวนเชื่อและสื่อกระแสหลักของฟิลิปปินส์ภายใต้อำนาจรัฐบาลมาร์กอสในขณะนั้น

เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงเวลาสำคัญของฟิลิปปินส์ และเพื่อตอบโต้มายาภาพแฟนตาซีความยิ่งใหญ่ในอดีตที่ฝ่ายมาร์กอสกำลังพยายามกอบกู้อย่างสุดแรงอยู่ในขณะนี้

ไม่ว่าในท้ายที่สุดแล้ว การใช้ภาพยนตร์เพื่อยับยั้งไม่ให้ทายาทเผด็จการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่การใช้หนังเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองของชาวฟิลิปปินส์ในช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้


นอกจากลิสต์รายชื่อภาพยนตร์ในเนื้อข่าว (ซึ่งคงออนไลน์ให้ได้รับชมกันอีกสักพัก ไม่ว่าลูกชายมาร์กอสจะได้เป็นประธานาธิบดีในวันจันทร์ที่จะถึงนี้หรือไม่) Film Club ก็ขอร่วมสมทบชี้ช่องไปถึงภาพยนตร์ของ ลาฟ ดิอาซ (Lav Diaz) อีกหนึ่งผู้กำกับฟิลิปปินส์คนสำคัญที่เคยทำหนังเรื่องกฎอัยการศึกทั้งโดยตรงและสัญญะเปรียบเปรย รวมถึงใช้หนังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองอย่างแข็งขันในสมัยดูเตอร์เต โดยสามารถสตรีม (ไม่ฟรี) ได้ที่ https://mubi.com/specials/lavdiaz

ชญานิน เตียงพิทยากร
เขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ Starpics, Bioscope (อดีต), The Momentum, a day, Film Club และแหล่งอื่นตามแต่จังหวะโอกาส / รางวัลชมเชยกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือฯ ประจำปี 2018 และ 2020 / สภาพ: ไล่ดูหนังใกล้หมดอายุใน Netflix และ MUBI

RELATED ARTICLES