The Boys (Season 3) หายคู่อาฆาต และศัตรูร่วมอุดมการณ์

(2022, Eric Kripke)

* บทความนี้เปิดเผยส่วนสำคัญของเรื่อง *

ยากจะปฏิเสธว่าซีรีส์ The Boys นั้นเป็นหมัดเด็ดของ Prime Video อย่างแท้จริง เมื่อซีซั่นล่าสุดของมัน ออกฉายชนกับซีรีส์ตัวแรงของสตรีมมิ่งเจ้าอื่นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอย่าง Stranger Things, Ms. Marvel และ Obi-wan Kenobi ได้โดยไม่สะดุ้งสะเทือน แถมยังก่อให้เกิดบทสนทนาอีกมากมายในหลายมิติ แม้จะไม่อาจพูดได้ว่ามันเป็นซีรีส์สำหรับทุกคน แต่กลุ่มผู้ชมของมันก็กว้างขวางและออกจะแปลกประหลาดพอดู มันคือส่วนผสมของกลุ่มแฟนหนังยอดมนุษย์แมนๆ ห่ามๆ และกลุ่มคนที่เหม็นเบื่อทะเลคอนเทนต์ซูเปอร์ฮีโร่เต็มทน

แต่นี่ไม่ใช่พันธมิตรประหลาดเพียงกลุ่มเดียวในเรื่องราวนี้

ต้นฉบับของ The Boys คือหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกันที่เขียนโดย Garth Ennis และ Darrick Robertson นำทีมดัดแปลงเป็นซีรีส์โดย Eric Kripke ว่าด้วยโลกที่ซูเปอร์ฮีโร่ส์ไม่ใช่ยอดมนุษย์ที่ปกป้องโลกด้วยจิตสาธารณะ แต่เป็นกลุ่มคนคะนองอำนาจที่ก่อกรรมทำเข็ญอยู่ลับๆ โดยที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่คอยหนุนหลัง ‘เดอะ บอยส์’ คนกลุ่มหนึ่งที่มีความแค้นกับฮีโร่จึงรวมตัวกันหาทางเอาคืนด้วยความรุนแรงสารพัดที่มนุษย์เดินดินจะคิดได้ 

และในซีซั่นที่สามนี้เรื่องราวก็ดำเนินมาถึงจุดที่บิลลี่ บุตเชอร์ (Karl Urban) หัวหน้ากลุ่มเดอะ บอยส์ต้องแตกหักกับสมาชิก เมื่อเขาค้านมติของกลุ่มด้วยการทำข้อตกลงกับ ยอดมนุษย์จากยุคสงครามเย็น ‘โซลเจอร์บอย’ ที่เคยทำลายชีวิตสมาชิกคนหยึ่งในกลุ่ม เพื่อกำจัดศัตรูอันดับหนึ่งอย่างโฮมแลนเดอร์ (Anthony Starr) หากแต่นี่ยังไม่ใกล้เคียงกับการยอมเป็นปิศาจเพื่อต่อกรกับปิศาจเท่ากับการที่เขาใช้วิธีการบางอย่าง เพื่อให้ตัวเองได้พลังของ “พวกซูปส์” มาใช้เป็นการชั่วคราว

ตัวร้ายที่ ‘เดอะ บอยส์’ ต้องหยุดยั้งในคราวนี้จึงไม่ได้มีแต่ฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นฝ่ายตัวเองที่ให้คุณค่ากับวิธีการที่แตกต่างกันด้วย

แผนการของบุตเชอร์ทำให้เขามีสภาพเป็นทรราชใกล้เคียงกับโฮมแลนเดอร์ในสายตาของ “เดอะเซเว่น” (กลุ่มยอดมนุษย์ที่มีชื่อเสียงสูงสุดภายใต้การดูแลของบริษัท Vaught) จะผิดกันก็ตรงที่เขาไม่อาจปกครองกลุ่มให้เป็นปึกแผ่นได้ด้วยพลังอำนาจและความหวาดกลัว จึงทำให้สมาชิกคนอื่นที่เหลือนอกจากฮิวอี้ ลุกขึ้นมาตั้งคำถามและแยกตัวออกมาทำปฏิบัติการต่อต้านเขา ความแตกแยกของเดอะบอยส์ ชวนให้นึกถึงกลุ่มผู้นิยมประชาธิปไตยในประเทศเรา พวกเขาต้องการสิ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่อาจรวมพลังกันเป็นปึกแผ่นได้ด้วยความเชื่อในวิธีการที่ต่างกัน ความขัดแย้งนี้จะทำให้พวกเขาตอบโต้กันเองจนแทบลืมไปแล้วว่าศัตรูที่แท้จริงคือใคร ดังที่จะเห็นได้ว่าเกือบทั้งซีซั่น เดอะบอยส์แทบไม่ได้สู้กับพวกซูปส์มากเท่ากับที่พวกเขาพยายามจะหยุดยั้งกันเอง หากจะมีใครลงมือกับพวกซูปส์อย่างจริงจังก็มีแค่บุตเชอร์ที่ได้พลังจากยา Temp V และพวกซูปส์ลงมือฆ่ากันเอง

ปัญหาตัวเลือกทางศีลธรรมของทั้งเดอะ บอยส์ และกลุ่มนิยมประชาธิปไตยก็คือ ด้วยตัวเลือกอันแสนจำกัด พวกเขาจะเอาชนะคนที่มีอำนาจในมือได้อย่างไร โดยที่ไม่กลายเป็นปิศาจเช่นคนที่พวกเขาต่อกรอยู่

อีกคนที่ประสบชะตากรรมแสบสันไม่แพ้กันคือเอ-เทรน (Jessie T. Usher) ภาพแทนของเซเลบคนดำที่ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนดำ เพราะไม่ยอมยืนหยัดเพื่อชุมชนของตัวเอง แต่พอได้โอกาสก็แสดงออกอย่างกลวงๆ ด้วยการเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นธีมแอฟริกันและสื่อโฆษณา (ซึ่งล้อเลียนโฆษณาเป๊ปซี่ของ Kendall Jenner ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความกลวงของเซเลบอย่างไม่ปิดบัง) เอ-เทรนอาจจะไม่ถูกนับนับเป็นศัตรูของใคร แต่เขาไม่ถูกนับเป็นมิตรแน่นอน ทั้งในชุมชนคนดำ และในกลุ่มของฮีโร่ที่การมีอยู่ของเขาแทบไม่เกิดประโยชน์อะไร

แต่ทรราชโดยธรรมชาติอย่างโฮมแลนเดอร์ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เขาสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อ “ครอบครัว” อย่างเดอะเซเว่นไปโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เขาก็ค้นพบความจริงในที่สุดว่าไม่มีใครรักและเคารพเขาอย่างแท้จริง ชะตากรรมของโซลเจอร์บอย ขวัญใจอเมริกันคนก่อนหน้า หัวหน้ากลุ่ม ‘เพย์แบ็ค’ (ล้อเลียน ‘ผู้ชำระแค้น’ Avengers แบบไม่มีปิดบังอีกเช่นกัน) ที่ถูกเพื่อนร่วมทีมขายให้กับรัสเซียเป็นดังภาพสะท้อนของฮีโร่หมายเลขหนึ่งในปัจจุบันทั้งในแง่ของการเป็นทรราชขาดความรัก และความเป็นชายเป็นพิษที่ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายจากยุคสงครามเย็น หรือผู้ชายต้นยุค 2020 ความไม่มั่นคงนี้คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรากระวนกระวายใจทุกครั้งที่ได้เห็นแอนโธนี่ สตาร์ แสดงความซับซ้อนทางอารมณ์ของโฮมแลนเดอร์ออกมา

อาการขาดความรักนี้พาเราไปพบกับตัวร้ายที่แท้จริงซีซั่นนี้ นั่นคือ “พ่อแม่” บุคคลที่ควรเป็นมิตรกับคนที่อยู่ใต้การดูแลของตัวเองบกพร่องในการทำหน้าที่นั้นโดยสิ้นเชิง ฮิวอี้เลือกพลังอำนาจมากกว่าคนที่เขาควรจะปกป้องเพราะมีพ่อที่ดูเหมือนจะปกป้องอะไรไม่ได้เลย บุตเชอร์เลือกความรุนแรงเพราะเป็นวิธีแก้ปัญหาเดียวที่เขาเรียนรู้มาจากพ่อ ลูกสาวของเอ็มเอ็มต้องอยู่กับพ่อเลี้ยง (ซึ่งชวนให้นึกถึง Trump Voter อย่างเสียมิได้) ที่เปิดโฆษณาชวนเชื่อของฮีโร่กล่อมประสาทตลอดเวลา โซลเจอร์บอยที่พิสูจน์ตัวเองเท่าไหร่ก็ไม่พอ พอเขาได้เป็นพ่อเสียเองก็เป็นพ่อที่น่าผิดหวังไม่แพ้กัน ส่วนโฮมแลนเดอร์ที่เป็นบ้าเพราะโหยหาสายสัมพันธ์ครอบครัวตลอดเวลาก็พร้อมจะส่งต่อความบ้าไปยังลูกของเขาอีกต่อหนึ่ง ที่ร้ายที่สุดเห็นจะเป็นพ่อบุญธรรมของของสส. นิวแมนที่ใช้เธอเพื่อประโยชน์สูงสุดทางอำนาจ ศัตรูในบ้านจึงเป็นจุดอ่อนของทุกคนตั้งแต่ระดับมนุษย์เดินดินไปจนถึงยอดมนุษย์ที่ชี้เป็นชี้ตายคนจำนวนมหาศาลได้ในชั่วพริบตา

คู่ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจอีกคู่คือ ความทั้งรักทั้งชังของซีรีส์เรื่องนี้ที่มีต่ออุตสาหกรรมคอนเทนต์ฮีโร่ มันแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าเหม็น “ความ Woke” ของอุตสาหกรรมหนังฮีโร่ (และน่าจะหนังอื่นๆ ทั้งฮอลลีวู้ด) ด้วยการฉายให้เห็นวิธีตีค่าตีราคาการแสดงออกเรื่องความหลากหลายของ Vaught ว่าเป็นเครื่องมือเรียกความนิยมอย่างหนึ่ง เพศสภาพ เชื้อชาติ ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (หรือก็คือ “คู่จิ้น”) จะอยู่ในสายตานายทุนก็ต่อเมื่อมันทำให้พวกเขามีผลประกอบการสูงขึ้นเท่านั้น Vaught ในที่นี้เป็นได้ทั้ง Disney, Warner หรือแม้กระทั่ง Sony ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกทุนสร้างซีรีส์เรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน

แต่ขณะเดียวกันมันก็ “Woke” เหลือเกิน มันพูดถึงความเลวร้ายของการเลือกปฏิบัติต่อเกย์ การเหยียดเชื้อชาติ และล้อเลียนฝ่ายขวาหัวรุนแรงอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน (ถึงกระนั้นความแมนๆ ห่ามๆ ของมันก็ทำให้มันรอดจากสายตามนุษย์ Anti-woke ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ) เห็นได้ชัดว่าทีมงานมีจุดยืนแบบในบนความขัดแย้งในสังคมอเมริกา แต่วิธีการและช่องทางของพวกเขาก็คล้ายจะเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าพวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมที่แสนฉาบฉวยนั้นด้วยเหมือนกัน ตรงนี้ต้องชื่นชมทีมพัฒนาบทที่ทำให้การยักคิ้วหลิ่วตาของพวกเขากลืนไปกับความฉิบหายบนจออย่างแนบเนียน ในแง่นี้พวกเขาอาจจะไม่ได้ต่างอะไรกับบุตเชอร์และฮิวอี้ที่โอบรับพลังของซูปส์เพื่อต่อต้านซูปส์ และวิธีการบริหารพลังนั้นก็ทำได้อย่างมีชั้นเชิง

ทำให้เราต้องใคร่ครวญกับคำถามที่ว่า การยอมเป็นปิศาจเพื่อสู้กับปิศาจนั้นถูกต้องหรือไม่ กันไปอีกนาน 

สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี
นักทำงานอดิเรก, เล่นบอร์ดเกม, ดูตลกแสตนด์อัพ, จัดพอดแคสต์บำบัด และดื่มเบียร์คนเดียว

LATEST REVIEWS