เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 2 : ฝรั่งเศส)

อ่านตอน 1 : “เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 1 : เกาหลีใต้)”

หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศสมีชื่อว่า ศูนย์ภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวแห่งชาติ (Centre national du cinéma et de l’image animée) หรือเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อย่อ CNC เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นในปี 1946 มีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ฝรั่งเศส การจัดสรรทุนที่ได้จากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางด้านภาพและเสียง (ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการขายตั๋วหนัง รายได้จากการขายแผ่นดีวีดี รายได้จากสื่อโฆษณาหนังทางออนไลน์) จากนั้นนำมาตั้งเป็นกองทุนในการบริหารจัดการองค์กร และส่วนหนึ่งของเงินทุนจะถูกจัดสรรไปสนับสนุนโปรเจ็กต์หนังที่ทาง CNC เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ส่งมาให้พิจารณา

การสนับสนุนที่ว่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. การสนับสนุนทางการเงิน โดยผู้ผลิตที่โปรเจ็กต์ผ่านการคัดเลือกจะต้องเสนองบประมาณสร้างเพื่อให้ทาง CNC พิจารณาอนุมัติวงเงิน และการสนับสนุนผ่านการลดภาษีการผลิตหนัง ซึ่งผู้สร้างหนังที่เลือกขอการสนับสนุนประเภทนี้จะได้รับโอกาสการคืนภาษี (tax rebate) 20-30% แต่ต้องไม่เกินจำนวนงบการสร้าง 30 ล้านยูโร1 https://www.cnc.fr/web/en/publications/results-2017_557488

นอกจากสนับสนุนหนังภายในประเทศแล้ว CNC ยังร่วมกับ สถาบันฝรั่งเศส (Institut Francaise) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ จัดตั้งกองทุน World Cinema Support เปิดโอกาสให้ผู้สร้างจากต่างประเทศขอทุนสนับสนุนได้ด้วย ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องเป็นการร่วมทุนระหว่างประเทศเจ้าของโปรเจ็กต์กับบริษัทผลิตหนังในฝรั่งเศส และงบ 50-75% จะต้องถูกใช้โดยบริษัทผลิตหนังที่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศส2 https://www.cnc.fr/web/en/news/world-cinema-support_113775

2) การส่งเสริมภาพยนตร์

นอกจาก CNC จะเน้นการโปรโมทหนังฝรั่งเศสภายในประเทศแล้ว ยังจัดตั้งหน่วยงานที่เผยแพร่หนังฝรั่งเศสในต่างประเทศอีกด้วย หน่วยงานนี้มีชื่อว่า Unifrance ทำหน้าที่สร้างช่องทางเพื่อเผยแพร่หนังฝรั่งเศสในตลาดนานาชาติ ไม่ว่าจะโดยการ…

– ให้บริษัทจัดจำหน่ายหนังฝรั่งเศสที่เป็นสมาชิกของ Unifrance ได้เข้าร่วมงานพบปะกับผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศโดยตรง
– ให้ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แก่บริษัทจัดจำหน่ายหนังในต่างประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์หนังฝรั่งเศสไปฉาย
– จัดกิจกรรมส่งเสริมหนังฝรั่งเศสในประเทศต่างๆ ในรูปของ “เทศกาลหนังฝรั่งเศส” หรือ “สัปดาห์หนังฝรั่งเศส”
– จัดทำฐานข้อมูลหนังฝรั่งเศสในรูปของเว็บไซต์เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าถึง3 https://www.efp-online.com/en/members/210/France/UniFrance


(ตอนต่อไป ติดตามนโยบายการสนับสนุนภาพยนตร์ของสหราชอาณาจักร)

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES