เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 1 : เกาหลีใต้)

แม้เมื่อตอนที่ภาพยนตร์ถือกำเนิดใหม่ ๆ ช่วงปลายทศวรรษที่ 1890 หลายคนปรามาสว่าจะมีช่วงชีวิตที่ไม่ยืนยาวเหมือนกับสิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นที่ถูกคิดค้นในช่วงก่อนหน้านี้ แต่คล้อยหลังไม่กี่ทศวรรษ ธุรกิจภาพยนตร์ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีขนาดใหญ่ พัฒนากลายเป็นอุตสาหกรรมในยุโรป รัสเซีย และสแกนดิเนเวียช่วงต้นทศวรรษที่ 1910 ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาทศวรรษถัดมา ก่อนจะขยายไปในหลายประเทศอย่างรวดเร็ว1 https://www.scienceandmediamuseum.org.uk/objects-and-stories/very-short-history-of-cinema

ด้วยความที่หนังเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตของผู้คน ทำให้รัฐบาลหลายประเทศเล็งเห็นความสำคัญของมันในฐานะสื่อที่ให้ทั้งคุณและโทษ จึงได้ออกนโยบายสองแนวทาง ได้แก่ แนวทางการควบคุม ผ่านการออกกฎหมายควบคุมเนื้อหาหนังต่าง ๆ และ แนวทางการสนับสนุน ด้วยนโนบายส่งเสริมและปกป้องอุตสาหกรรมหนังภายในประเทศ

ปัจจุบัน ในประเทศที่อุตสาหกรรมหนังแข็งแรงมั่นคง รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นได้ผ่อนปรนนโยบายควบคุมลง ด้วยตระหนักว่าการควบคุมอย่างเข้มงวดส่งผลให้ศักยภาพในการสร้างสรรค์ลดลงตาม ขณะเดียวกันก็วางโครงสร้างการส่งเสริมที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรม

ในบทความชุดนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอรูปแบบการสนับสนุนของประเทศที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์แข็งแรงที่สุด 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส  สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ว่ามีลักษณะอย่างไรและประเทศไทยควรมีทิศทางการดำเนินการแบบใด

ปัจจุบัน ในประเทศที่อุตสาหกรรมหนังแข็งแรงมั่นคง รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นได้ผ่อนปรนนโยบายควบคุมลง ด้วยตระหนักว่าการควบคุมอย่างเข้มงวดส่งผลให้ศักยภาพในการสร้างสรรค์ลดลงตาม ขณะเดียวกันก็วางโครงสร้างการส่งเสริมที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรม

เกาหลีใต้

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ หน่วยงานที่ดูแลการสนับสนุนหนังคือ สภาการภาพยนตร์เกาหลี (Korean Film Council / KOFIC)2 http://www.koreanfilm.or.kr/eng/kofic/intro.jsp ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1973 เดิมมีชื่อว่า สมาคมส่งเสริมภาพยนตร์เกาหลี (Korean Motion Picture Promotion Corporation / KMPPC) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อในปี 1999 โดยเป็นหน่วยงานที่บริหารงานอย่างเป็นอิสระภายใต้การสนับสนุนของ กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว

คณะกรรมการของสภาการภาพยนตร์เกาหลีประกอบด้วย ประธานที่ได้รับเลือกจากบอร์ดบริหาร และคณะกรรมการอีก 8 คนที่ได้รับการคัดสรรจากกระทรวง ฯ ทำหน้าที่พิจารณาและตัดสินใจด้านนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับหนังเกาหลี โดยเงินทุนนั้นส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาล อีกส่วนมาจากส่วนแบ่งค่าตั๋วหนัง และกองทุนทางด้านภาพยนตร์

บทบาทหลักของสภาการภาพยนตร์เกาหลีคือ ส่งเสริมและสนับสนุนหนังเกาหลีทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสำหรับ ในประเทศ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่

1. สนับสนุนด้านการวางแผนและการพัฒนาโปรเจ็กต์ โดยทางสภาการภาพยนตร์จะช่วยจัดสรรทุนให้แก่ นักเขียนบท ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างและบริษัทผลิตหนัง ในการขยายโอกาสในการพัฒนาโปรเจ็กต์ที่ไม่จำกัดประเภทและรูปแบบ

2. สนับสนุนเงินทุนแก่โปรเจ็กต์ประเภทหนังทดลองและหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อเป็นการค้นหาผู้กำกับหน้าใหม่มาเป็นกำลังสำคัญของวงการหนังในอนาคต

3. สนับสนุนด้านการจัดจำหน่าย เน้นการจัดจำหน่ายหนังที่ไม่ค่อยได้รับโอกาสเผยแพร่ โดยเฉพาะหนังอิสระ หนังศิลปะ รวมถึงให้การสนับสนุนการจัดเทศกาลหนัง3 http://www.koreanfilm.or.kr/eng/kofic/intro.jsp

ส่วนการสนับสนุนหนังเกาหลีใน ต่างประเทศ นั้น สภาการภาพยนตร์จะทำหน้าที่สร้างโอกาสให้หนังเกาหลีได้เข้าร่วมเทศกาลหนังประเทศต่างๆ รวมทั้งเป็นตัวกลางในการพบปะทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการในเกาหลีและผู้จัดจำหน่ายนานาชาติ ตามเทศกาลหนังและตลาดหนังสำคัญทั่วโลก (เพื่อให้เกิดการจัดซื้อหนังเกาหลีไปฉายในประเทศอื่นๆ)

นอกจากนี้ สภาการภาพยนตร์ยังจัดทำฐานข้อมูลในเว็บไซต์ KoBiz (Korean Film Biz Zone)4 http://www.koreanfilm.or.kr/eng/kofic/kobiz.jsp นำเสนอข้อมูลหนังเกาหลีทุกมิติ ตั้งแต่รายชื่อหนังที่เข้าฉาย  รายชื่อบริษัทผลิตหนังเกาหลี บุคลากรในด้านการผลิต รายงานข่าวเชิงลึก รวมถึงบทความและบทวิเคราะห์หนังร์เกาหลี เพื่อให้ผู้สนใจทั้งในและนอกประเทศได้ศึกษาค้นคว้า

อนึ่ง นอกจากสภาการภาพยนตร์ (KOFIC) ที่เป็นศูนย์กลางการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว ในเกาหลีใต้ยังมี คณะกรรมาธิการภาพยนตร์ภูมิภาค (Regional Film Commission)5 http://www.koreanfilm.or.kr/eng/locKorea/filmOrg.jsp ซึ่งตั้งอยู่ตามเมืองสำคัญ เช่น โซล ช็องจู อินชอน และปูซาน ทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์ในเมืองนั้น ด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการถ่ายทำแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งในเกาหลีใต้และจากต่างประเทศ ตั้งแต่การจัดหาทีมงาน จัดหาสถานที่ถ่ายทำ ไปจนถึงจัดเตรียมอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์เลยทีเดียว

โปสเตอร์แคมเปญ Save Our Cinema ที่เกิดจากความร่วมมือของโรงหนังอาร์ตเฮ้าส์ 22 โรงในนาม Korean Arthouse Cinema Association เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมช่วยกันสนับสนุนโรงหนังขนาดเล็กและหนังอิสระ เมื่อโรงกลับมาเปิดดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม หลังช่วงโควิด-19

(ตอนต่อไป ติดตามนโยบายการสนับสนุนภาพยนตร์ของประเทศฝรั่งเศส)

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES