Paper Girls (Season 1) : จะข้ามเวลาทำไม ถ้าไม่มีอนาคต

2022, Stephany Folsom

เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ภาพเด็กหญิงสี่คนปั่นจักรยานในฉากหลังปี 1988 ของ Paper Girls จะถูกนำไปเทียบกับซีรีส์เจือกลิ่นอดีตอย่าง Stranger Things แต่คงไม่ยุติธรรมนักหากจะพูดว่ามันเป็นแค่ซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งที่ออกมาโหนบรรยากาศวันชื่นคืนสุขใต้แสงสีนีออนของมหากาพย์สิ่งลี้ลับเมืองฮอว์กินส์ เพราะการผจญภัยของแก๊งเด็กหญิงส่งหนังสือพิมพ์นั้นพาผู้ชมออกเดินทางไปในทิศทางที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง และเส้นทางที่ว่าก็นับว่าไกลไม่ใช่เล่น ทั้งในแง่ประสบการณ์และจิตวิญญาณ

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันที่เอริน เด็กหญิงช่างฝันชาวอเมริกันเชื้อสายจีนออกทำงานส่งหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก ฝืนคำทัดท้านด้วยความกังวลของแม่ โชคไม่ดีที่มันเป็น “วันนรกแตก” มันคือเช้าหลังคืนวันฮาโลวีนจบลง ที่สโตนี่สตรีม ชานเมืองคลีฟแลนด์ บางบ้านมีคนเหยียดผิวนิสัยรุนแรง บนท้องถนนมีวัยรุ่นก่อกวนหนักเป็นพิเศษ ในนาทีที่เริ่มจะคิดว่าแม่พูดถูก เอรินก็เจอเข้ากับทิฟฟานี่ แม็ก และเคเจ เพื่อนเด็กส่งหนังสือพิมพ์รุ่นราวคราวเดียวกันที่ช่วยเธอให้พ้นจากอันตราย ทว่าความแก่นกร้าน กับไม้ฮอกกี้ก็ดูจะไร้ประโยชน์ทันทีเมื่อท้องฟ้าวิปริตแปรปรวนเป็นสีชมพู ด้วยเหตุบางอย่างพวกเธอถูกส่งข้ามปี 1988 มายังปี 2019

ทว่าการข้ามเวลานั้น อาจไม่รบกวนจิตใจได้เท่ากับการได้เจอตัวเองในอนาคตที่สั่นคลอนความคิดของพวกเธอไปตลอดกาล

Paper Girls ถูกดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกันที่ตีพิมพ์ในปี 2015 ถึงปี 2019 เขียนเรื่องโดย Brian K. Vaughan วาดโดย Cliff Chiang ก่อนที่จะถูกนำมาดัดแปลงและสตรีมในปี 2022 ทาง Prime Video โดย Stephany Folsom (Toy Story 4) หนังสือการ์ตูนฉบับดั้งเดิมได้รับการการันตีคุณภาพจากรางวัล Eisner Award และ Harvey Award 2016 ในสาขาการ์ตูนเรื่องยาวยอดเยี่ยม (Best New Series)

สิ่งที่ทำให้ Paper Girls แตกต่างไปจาก Stranger Things คือ โจทย์การผจญภัยของกลุ่มเด็กสาวในเรื่อง พวกเธอมีปัญหาเป็นของตัวเองและต้องรับมือกับความไม่ได้ดั่งใจของอนาคต ขณะที่กลุ่มเด็กเนิร์ดแห่งเมืองฮอว์กินส์รับมือกับสัตว์ประหลาดและทฤษฎีสมคบคิดใหญ่โตผ่านการผจญภัยโลกโผนสารพัด ที่พึ่งสำคัญในการเอาตัวรอดจากสงครามนักข้ามเวลาของเด็กหญิงทั้งสี่คือตัวเองในอนาคต ที่แทบจะเรียกได้ว่าน่าผิดหวัง โจทย์ของมันจึงเป็นการเดินทางภายในเพื่อทำความเข้าใจตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็นอยู่ และแบบที่จะเป็นไปในภายภาคหน้า

สงครามนักข้ามเวลาที่เป็นฉากหลังของเรื่องประกอบด้วยสองฝ่าย ได้แก่ กลุ่มเอสทีเอฟ หรือ Standard Time Fighter (ในการ์ตูนต้นฉบับเรียกว่าเป็น Teenager หรือพวก ‘วัยรุ่น’) ผู้ที่เชื่อในการเดินทางข้ามเวลาเพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต สำหรับพวกเขา การข้ามเวลาคือประดิษฐกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์นี้ ส่วนอีกฝ่ายคือ Old Watch (ในต้นฉบับเรียกว่า Old Timer หรือพวกคนแก่) องค์กรตำรวจเวลาที่คอยปราบปรามนักเดินทางข้ามเวลาที่ยุ่มย่ามกับประวัติศาสตร์และทำให้อนาคตล่มสลาย และเด็กส่งหนังสือพิมพ์จากปี 1988 ก็ถูกนับว่าเป็นเป้าหมายที่ต้องกำจัดทิ้ง

นักสู้ของเอสทีเอฟคนหนึ่งจำกัดความพวกโอลด์วอตช์เอาไว้ว่า เป็นพวกขวาจัดที่ต้องการรักษาอำนาจไว้กับพวกตัวเอง และใช้สิทธิพิเศษของตัวเองขัดขวางการแก้ไข ‘ความผิดพลาดในอดีต’ เพราะกลัวจะเสียอำนาจ ชวนให้คิดถึงแนวคิดความศักดิ์สิทธิ์ของประวัติศาสตร์ (หรือจักรวาล หรือเส้นเวลา หรือไทม์ไลน์ ตามแต่จะเรียก) ในสื่อบันเทิงว่าด้วยการข้ามเวลาอื่น ๆ ว่า จริง ๆ แล้วปฏิทรรศน์ของกาลเวลา หรือ Time Paradox อาจจะเป็นแค่คำขู่ของพวกอนุรักษ์นิยม เราจะเอาอะไรมามั่นใจว่าเส้นเวลาที่เราอาศัยอยู่ คือเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดแล้วของความเป็นไปได้ทั้งปวง

ความสนุกของการรับชมเรื่องนี้คือการได้เห็นการปะทะกันระหว่างอดีตและอนาคตอยู่เนือง ๆ ทั้งในเชิงสงครามหลั่งเลือดและในเชิงเปรียบเทียบ เอรินไม่พอใจตัวเองในตอนโตเพราะเป็นผู้ใหญ่ขี้แพ้ ไร้สิ้นเรี่ยวแรงและความฝัน แบบเดียวกับที่พวกเด็กวัยรุ่นมักจะมองผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เรื่อง ทิฟฟานี่เกลียดตัวเองไม่แพ้กันที่ทำตามความฝันได้แทบทุกอย่าง แต่กลับเลิกล้มเพราะสาเหตุที่เธอยอมรับไม่ได้ เคเจค้นพบว่าตัวเองจะต้องเดินบนทางที่ยากลำบากแบบที่ความร่ำรวยก็ช่วยอะไรไม่ได้ ส่วนแม็กก็แทบจะไม่สนใจอะไรอีกต่อไปเมื่อค้นพบว่าตัวเองไร้ตัวตนในอนาคตโดยสิ้นเชิง

ในทางหนึ่งแก๊งเด็กส่งหนังสือพิมพ์เป็นเด็ก เป็นคนรุ่นใหม่เปี่ยมพลังงานและตัวแทนของอนาคต แต่ด้วยการเดินทางข้ามเวลาไปข้างหน้า พวกเธอกลายเป็นคนจากอดีต เป็นคนรุ่นก่อนที่ทิ้งมรดกความไม่ได้เรื่องให้ตัวเองในอนาคต ฉากที่เอรินตอนเด็กกับเอรินตอนโตปะทะคารมกัน เพราะเอรินเด็กรู้สึกว่าตัวเองในวัยสี่สิบกว่าช่างพึ่งพาไม่ได้ จบลงอย่างเจ็บแสบตรงที่เอรินตอนโตย้อนกลับว่า “ขอโทษนะ ฉันก็ไม่ได้เพิ่งมาขี้แพ้ตอนโตหรอก สมัยส่งหนังสือพิมพ์ฉันก็ทำได้แค่วันเดียว” เป็นเหมือนการฉายให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่าง ‘เจเนอเรชั่น’ เป็นความขัดแย้งภายในตัวเองได้เท่ากับที่เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้คนที่เกิดในช่วงเวลาที่ต่างกัน

“Breakfast Club ฉบับเดินทางข้ามเวลา” ดูจะเป็นคำอธิบายตัวซีรีส์ Paper Girls ที่เข้าท่าเข้าทีกว่า “Stranger Things ฉบับเด็กผู้หญิง” โดยเนื้อในแล้ว การผจญภัยข้ามเวลานั้นไม่ได้แตกต่างจากการผลัดสู่วัยรุ่นของบรรดาเด็กส่งหนังสือพิมพ์และเด็กวัยรุ่นอื่น ๆ ทั่วโลก มันสับสน โกลาหล และเส้นแบ่งความเขลากับความกล้าหาญช่างพร่าเลือน สิ่งเดียวที่พวกเขาพอจะทำได้ก็คือการยึดจับปัจจุบันเอาไว้ให้มั่น และรักษาชีวิตให้รอดจนกว่าจะพ้นมันไป แน่นอนว่าไม่มีอะไรรับประกันว่าอนาคตจะสดใสเหมือนฟ้าหลังฝน แม้แต่ไทม์แมชีน หรือเทคโนโลยีล้ำโลกใด ๆ

ทางเดียวที่จะรู้ได้คือ รอเห็นมันด้วยตาตนเอง

สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี
นักทำงานอดิเรก, เล่นบอร์ดเกม, ดูตลกแสตนด์อัพ, จัดพอดแคสต์บำบัด และดื่มเบียร์คนเดียว

LATEST REVIEWS