ใจจำลอง : ขบวนรถไฟสายภาพยนตร์

(2021, Anocha Suwichakornpong)

เริ่มจากภาพที่นอกหน้าต่างรถไฟ ภาพเคลื่อนไหวเร็วผ่านกรอบหน้าต่าง เร็วจนบางครั้งกระตุก

พวกเขาไปเที่ยวกันกระมัง ชายหนุ่มสามคนกับหญิงสาวหนึ่งคน คนรักของหนึ่งในสามคนนั้น พวกเขาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์และพบว่ามันปิดซ่อม พวกเขาเดินเล่นไปตามทางรถไฟ พูดถึงอดีตกลายๆ พอให้รู้ว่ามันคือทางรถไฟที่สร้างไม่เสร็จและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์บาดแผลของการขูดรีดแรงงานเชลยศึก

พวกเขาไปพักกันที่แพกลางน้ำ ตั้งวงดื่มกิน พูดคุยกันเรื่องชีวิต และจู่ๆ ก็มีพลุสว่างอยู่กลางฟ้ามืดดำ 

เธออีกคนเดินวนอยู่ในป่า คงหลงทางกระมัง ก่อนหน้านี้เธออาจจะมากับเพื่อนสาวอีกคน กางเตนท์อยู่กลางป่า แต่จู่ๆ เธอก็เหลือตัวคนเดียว สับสนหวาดกลัว และมีบางอย่างอยู่ข้างใน บางอย่างที่กำลังเปลี่ยนแปลงจำแลงร่าง 

อาจจะเป็นละครเวทีกระมัง พวกเขาเป็นนักแสดง ยามว่างก็ซ้อมเล่นเป็นสัตว์ เวที่นั้นเรียบง่าย ผนังบ้านที่ต่อขึ้นมาง่ายๆ ตั้งวงดื่มกิน พูดคุยกันเรื่องชีวิต และจู่ๆ ก็มีพลุสว่างอยู่กลางฟ้ามืดดำ 

สิ่งหนึ่งเคลื่อนไปสู่สิ่งหนึ่ง บานหน้าต่างรถไฟ กลายเป็นหน้าต่างของห้อง ภาพจากหัวขบวนเคลื่อนไหวคล้ายหนัง ทิ้งภาพของชีวิตผู้คนไว้ที่ท้ายขบวน

เราอาจพูดอย่างง่ายๆ ว่า ใจจำลอง เป็นเหมือนงานชิ้นที่สามที่ประกอบกันขึ้นเพื่อเป็น ‘ไตรภาคภาพยนตร์แปลงกาย’ ของอโนชา สุวิชากรพงศ์ ที่เริ่มต้นขึ้นจากการ ‘จำลอง’ และ ‘จำแลง’ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ให้กลายเป็นเรื่องเล่าและขยายกรอบของการเล่าจากคนในไปสู่คนนอก ลามเลยไปยังชีวิตของบรรดานักแสดงที่เข้ามาร่วมแสดงในการจำลองนั้น แล้วยังลามเลยมาถึงเพดานของภาพยนตร์ในการจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อีกชั้นหนึ่งใน ‘ดาวคะนอง’

ในหนังเรื่องต่อมาอย่าง ‘Krabi, 2562’ เธอและ Ben Rivers หันมาจำลองจำแลงสถานที่อย่างจังหวัดกระบี่ โดยใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องในการค้นหาภาพแทนของจังหวัด และขยายผลให้เห็นภาพแทนของภาพแทนที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากภาพวาดที่ท่องเที่ยว รูปปั้นมนุษย์หิน การถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา ที่เป็นเหมือนภาพที่ถูกถ่ายเอกสารซ้ำจากต้นฉบับไปเรื่อยๆ จนไม่อาจย้อนกลับไปยังภาพจริงได้อีก

อาจบอกได้ว่า ดาวคะนอง และ Krabi 2562 คือการจำลอง เหตุการณ์ (เวลา) จำเพาะ และสถานที่จำเพาะ โดยมีภาพยนตร์เป็นเครื่องมือ และตลบหลังตัวเองด้วยการแสดงให้เห็นถึงทั้งความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ของภาพยนตร์ในฐานะเครื่องมือของการสร้างภาพจำและภาพแทน

มองจากจุดนี้ ใจจำลองจึงกลายเป็นงานชิ้นเล็กๆ ที่กลับมาปิดไตรภาค (ที่ผู้เขียนคิดขึ้นเอง) ของการจำแลงแปลงกายนี้ด้วยการทำให้สถานที่และเวลา สาบสูญไป (จะว่าไปงานเล็กๆ สั้นๆ ชิ้นนี้อาจชวนให้หวนคำนึงถึงงานขนาดย่อมที่น่าใคร่ครวญของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลอย่าง Mekong Hotel และเมื่อวางงานสองชิ้นนี้คู่กันในฐานะหนังควบก็น่าจะมีอะไรให้พูดคลอกันได้ต่อไป)

หนังเริ่มต้นด้วยการไปเที่ยวพักผ่อนของนักแสดงละครเวที การเลือนระหว่างการแสดงและการไม่แสดงของหนังทำให้คิดถึง People on Sunday หนังสั้นของ ตุลพบ แสนเจริญ ที่เล่าเรื่องการเอาหนังเยอรมันชื่อเดียวกันที่สร้างในปี 1930 มาทำใหม่ ตัวหนังต้นฉบับนั้นเคลมว่าเป็นหนังเรื่องแรกที่ใช้นักแสดงสมัครเล่นและถ่ายทำกันเฉพาะในวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันที่นักแสดงและทีมงานว่างเว้นจากงานประจำ ตุลพบ เอาวิธีการดังกล่าวย้อนกลับมาตั้งคำถามผ่านทางการทำซ้ำ แต่เปลี่ยนบทสนทนาไปเป็นเรื่องของวิธีการในการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพเพื่อให้พร้อมทำงานอีกครั้ง แล้วยอกย้อนด้วยเบื้องหลังของการถ่ายทำเพื่อใคร่ครวญว่า ในขณะที่หนังพูดเรื่องวันพักผ่อนนั้น การถ่ายทำการพักผ่อนในวันหยุดพักผ่อนของคนงานคืองานอย่างหนึ่งหรือเปล่า การพักผ่อนกลายเป็นงานอย่างหนึ่งหรือไม่ ในอีกทางหนึ่ง เสียงวอยซ์โอเวอร์ของนักแสดงบอกว่าผู้กำกับบอกให้เธอ ‘แสดง’ ว่าเธอกำลังพักผ่อนอยู่ การแสดงว่าพักผ่อนกลายเป็นงาน งานของเธอคือการพักผ่อน หนังเลยกลายเป็นจุดที่งานกับการพักผ่อนเลือนเข้าหากันและทุกอย่างกลายเป็นงาน

เราอาจจะพูดให้มากไปอีกได้ว่า ‘การไปเที่ยวพักผ่อน’ นั้นทำหน้าที่ในฐานะการแสวงหาความสุขของแรงงาน (เมื่อเราทุกคนคือแรงงาน) แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าการไปเที่ยวจะมอบความสุขให้ – ลองจินตนาการถึงการไปเที่ยวพร้อมๆ กัน แย่งที่นั่งในร้านอาหาร แย่งที่จอดรถ ในช่วงวันหยุดยาวดู การไปเที่ยวโดยตัวของมันเองก็เป็นเพียงคือการจำลองความสุข แสดงแสร้งว่าไปพ้นจากชีวิตประจำวัน เป็นภาพแทนของการมีความสุขที่อาจจะมีหรือไม่มีความสุขก็ได้

แม้ใจจำลองจะไม่ได้พูดเรื่องของวันหยุดกับงานอย่าง People on Sunday แต่การเปิดเรื่องด้วยการไปเที่ยว และการเลือนระหว่างการแสดงกับการไปเที่ยวจริงๆ ก็ชวนให้ใคร่ครวญต่อเมื่อในฉากหนึ่งเราเห็นตัวละคร (ที่เราควรเรียกเขาว่าตัวละครหรือนักแสดงดีนะ) ซ้อมเล่นเป็นสัตว์อยู่บนแพ และในเวลาต่อมาบทสนทนาของพวกเขาบนแพก็จำแลงกายกลายไปเป็นบทสนทนาในละครเวที ถ้าการไปเที่ยวของตัวละครเป็นงานของนักแสดง นักแสดงที่รับบทเป็นนักแสดง กำลังแสดง หรือในที่สุดเขาจะเอาการไปเที่ยวไปเป็นต้นธารของการแสดงในครึ่งหลัง หากเป็นเช่นนั้น บทสนทนาของตัวละครที่ครึ่งแรกอาจจะ/อาจจะไม่แสดง ถึงที่สุดก็เป็นการแสดงอย่างหนึ่งหรือเปล่า ซึ่งก็ทำให้นึกถึงสิ่งที่สายป่าน นักแสดงในเรื่องพูดถึงการแสดงหนังเรื่องนี้ว่า 

‘ป่านมองว่าการแสดงมันไม่ใช่การแสดงน่ะ เพราะ acting หรือ act มันแปลว่า ‘กระทำ’ มันไม่ใช่คำว่า ‘แสดง’ แต่พอคนไทยใช้คำว่าการแสดง มันเลยถูกตีความไปแบบนั้น แต่ที่จริงมันคือเรื่องของการกระทำ เวลาที่ผู้กำกับสั่งแอ็กชัน เขาสั่งให้เรากระทำ เขาไม่ได้สั่งให้เราแสดง และเมื่อไรที่เราเข้าไปกระทำ มันก็จะเกิดเป็น action และ reaction ออกมาให้เห็น 

พูดง่ายๆ คือเมื่อไรที่เราคิดว่าเราจะเข้าไป ‘แสดง’ มันก็จะเป็นแค่การแสดง เราโกหกไม่ได้ ผู้กำกับดูรู้ คนดูก็ดูรู้ ว่านี่คือการแสดง แต่ถ้าเราลองเปลี่ยน mindset ว่าเรากำลังจะเข้าไป ‘กระทำ’ ตามที่ตัวละครควรจะกระทำ มีบทเป็นแค่ไกด์ เราก็กระทำไปสิ เดี๋ยวมันก็เกิดเป็น react เอง’1https://plus.thairath.co.th/topic/subculture/101698

อโนชาเคยให้สัมภาษณ์ว่า หนังเรื่องนี้เกิดจากประสบการณ์การไปเที่ยวช่องเขาขาดที่กาญจนบุรี อันที่จริงมันเป็นสถานที่ที่จำเพาะเจาะจงแบบเดียวกันกับกระบี่ใน Krabi 2562 แต่ช่องเขาขาดในหนังกลับมีความ ‘ไม่เป็นสถานที่จำเพาะเจาะจง’ อย่างยิ่ง พิพิธภัณฑ์ที่ปิด ทางเดินที่ถูกถ่ายอย่างผ่านๆ เรือนแพที่หน้าตาสามัญดาษดื่น ถึงที่สุด สถานที่แห่งหนึ่งกลายเป็นไม่ใช่ที่ไหนเลย และถูกทำให้เป็นเพียงผนังไม้ ฝาบ้านหน้าต่างที่ประกอบขึ้นเป็นฉากของละคร หนังเลยเป็นเหมือนการย้อนทวนโลกของภาพแทนใน Krabi ด้วยการสลายความจำเพาะเจาะจงของสถานที่ แบบเดียวกับที่ประสบการณ์ของเราในที่แห่งหนึ่งแปรเปลี่ยนไปสู่เรื่องเล่าในสถานที่ใหม่ที่มีอยู่จริงเฉพาะในใจของเรา แบบเดียวกันกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า มนุษย์มีความสามารถในการสร้างความทรงจำลวงถึงสถานที่และประสบการณ์ต่างๆ ของตน เราคิดว่าเคยไปที่นั่น เคยทำสิ่งนี้ แต่จริงๆ แล้วเราไม่เคยทำ แค่การประมวลผลผิดของสมองและการรับรู้ของเรา

ไม่ใช่แค่ไม่มีสถานที่หรือไม่มีเวลา ผู้คนเฉพาะเจาะจงก็ไม่ใช่เช่นกัน หนังฉายภาพชัดในฉากสำคัญที่ตัวละครตัวหนึ่งที่ไม่มีทั้งที่มาและที่ไป ‘กลาย’ เป็นอีกตัวละครอีกตัวหนึ่ง และในเวลาต่อมา บทสนทนาชุดหนึ่งกับตัวละครหนึ่ง ถูกเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ในความสัมพันธ์ไป ในละครเวทีความหมายของมันก็เปลี่ยนไปด้วย นักแสดงเป็นเพียงภาชนะที่รองรับตัวละคร นักแสดงกลายเป็นสถานที่เดียวของหนังที่วิญญาณของตัวละครหรือแม้แต่ส่ำสัตว์สามารถเข้ามาสวมทับและกลายเป็นสิ่งอื่น

จากจุดนี้เอง ทำให้เราหวนคิดกลับไปถึงหญิงสาวไร้ชื่อในดาวคะนอง ที่ดูเหมือนใบหน้าเดิมๆ ของเธอไร้ใบหน้า เธอไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หกตุลา หรือการแสดงและนักแสดงในเรื่อง เธอเป็นเพียงแรงงาน คนชั้นล่าง คนทำความสะอาด เด็กชงกาแฟ แต่เธอปรากฏในทุกแห่งหน ในฐานะของใบหน้าของมวลชน ตัวละครนี้กลับมาอีกครั้งผ่านตัวละครที่แปลกแยกออกไปจากตัวละครอื่น หญิงสาวที่รับบทโดย เววิรี อิทธิอนันต์กุล เธอถูกปล่อยเดี่ยว หลงทางอยู่กลางป่า เธอไม่ใช่นักแสดงละครเวทีที่มาเที่ยว เธอเป็นใครสักคน หรืออาจไม่เป็นใครเลย หาก อัจฉรา สุวรรณ์ ไร้ใบหน้าด้วยการมีใบหน้าเดียวในบทบาทที่ต่างกันไป เววิรีก็ไร้ตัวตนกลับเปลี่ยนใบหน้าของตนไปเป็นคนอื่น เธออาจเป็นเพียงภาพแทนในจิตใจของนักแสดงคนหนึ่ง หรือเธออาจจะมีตัวตนอยู่ ไม่ว่าอย่างไร เธอไม่ใช่นักแสดงที่จะแสดงซ้ำในสิ่งที่เขาเคยพบเจอมาก่อน เธอไม่ใช่พื้นที่ไม่มีเวลา การกลับหัวกลับหางของตัวละครสองตัวนี้ (อาจจะรวมตัวละครของเป้ อารักษ์ในดาวคะนองด้วย) ทำให้เราเห็นโรคของการรับบทที่ฉีกขาดออกจากตัวตน บทที่อาจจะหมายถึงบทของตัวละครไปจนถึงบทบาททางสังคมที่ถูกกำหนดโดยไม่สามารถขืนต้าน 

แต่หากทั้งหมดเป็นเพียงภาพจากกรอบหน้าต่างรถไฟ เรายังเห็นภาพจากรถไฟในมุมมองอื่นๆ ด้วย รถไฟนั่งไปเที่ยว นักแสดงโดยสารรถไฟไปเที่ยว พวกเขาเป็นเรื่องเล่า สร้างและกลายเป็นเรื่องเล่าที่จำลองพวกเขาออกมา แต่ชีวิต ชีวิตแบบเดียวกับชีวิตผู้คนในกระบี่ที่ปรากฏขึ้นแทรกสลับกับเรื่องราว ราวกับชีวิตแทรกซึมเข้าไปในภาพยนตร์ ในใจจำลองชีวิตปรากฏขึ้นเพียงชั่วแล่นในฉากสั้นๆ ที่คล้ายสารคดีของการจ้องมองจากท้ายขบวน มองดูผู้คนเคลื่อนไหว ใช้ชีวิตของตนหลังขบวนรถไฟเคลื่อนผ่าน ชีวิตอยู่นอกขบวนรถไฟ นอกหนังเรื่องนี้ และไหลซึมเข้ามาเพียงชั่วครู่

ยังมีภาพรถไฟอีกแบบท้ายเรื่องของหนัง มันไม่ได้เป็นภาพจากหน้าต่างหรือท้ายขบวนอีกแล้ว หากเป็นภาพที่เป็นภาพเคลื่อนไหว ปรากฏแทนหน้าต่างเรือนแพบนละครเวที ภาพจากด้านหน้าของรถไฟ เห็นแต่เพียงรางรถไฟเคลื่อนที่ไป ถึงที่สุด ภาพกลายเป็นภาพยนตร์ ภาพยนตร์กลายเป็นหน้าต่างเปิดไปสู่โลกจากห้องข้างใน ห้องที่จำลองมาจากโลกข้างนอก และในห้อง นักแสดงหนุ่มนอนหลับ และบางที อาจฝันถึงชีวิต / เรื่องเล่า / ภาพยนตร์ อีกแบบหนึ่ง ข้อจำกัดและความเป็นไปได้ของมัน

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS