Fast & Feel Love : ทุนนิยมที่รัก

(2022, Nawapol Thamrongrattanarit)

สำหรับเกา ความเร็วคือทุกอย่าง ทุกนาทีหรือแม้แต่เสี้ยววินาทีมีความหมาย มีความหมายในระดับแพ้ชนะเป็นตาย เพราะเขาเป็นนักกีฬา cup stacking หรือนักเล่นแก้ว ในนิยามความหมายของแม่

เขาเริ่มรู้จักมันตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย วางมันในฐานะความฝันของชีวิตแทนการเรียนมหาวิทยาลัยในคณะอะไรๆ ที่จับต้องได้ เขาและเพื่อนของเขาอีกจำนวนหนึ่งคือฝันร้ายของครูแนะแนวที่มีแนวให้แนะอยู่แค่ไม่กี่แนว

เพราะคนที่แนะแนวเขาจริงๆ คือเจ เพื่อนนักเรียนที่อาจจะหนักกว่าคนอื่น คือไม่ได้มีความฝันอะไรเลยทั้งสิ้น เจเป็นคนใจดี พูดไทยคำอังกฤษสิบห้าคำ มีความสุขกับการดูแลต้นไม้และคนอื่นๆ เจกับเกาได้คุยกันหลังเลิกเรียน และเจตัดสินใจจะเป็นผู้ดูแลของเกา ผ่านไปหลายปีพวกเขากลายเป็นแฟนกัน

เวลาผ่านไปอีกหลายปี เจยังคงดูแลเกาที่อาศัยอยู่กับแม่ที่ทำร้านก๋วยเตี๋ยว เกากำลังวางแผนจะเอาชนะ world record การต้องใช้สมาธิมหาศาลในการเรียงแก้ว ทำให้การอยู่บ้านแม่ที่เรียกใช้ตลอดเวลากลายเป็นปัญหา เพราะในการจะได้มาซึ่งความเร็วที่มากพอ เกาต้องการความสมบูรณ์พร้อมของบรรยากาศ อากาศ อาหาร ความเงียบ เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นเกาเลยชวนเจไปซื้อบ้านอยู่ด้วยกัน

เมื่อย้ายเข้ามาอยู่บ้านใหม่ เกายกธุระปะปังทุกอย่างในชีวิตให้เจจัดการ ตั้งแต่การทำอาหาร งานบ้าน การดูแลทางการเงิน หรือการติดต่อกับโลกภายนอก เกาทำผ่านเจทั้งหมดเพื่อที่เขาจะได้มีจิตจดจ่ออยู่กับเวลามิลลิวินาทีที่เร็วขึ้น ในเวลานั้นเอง เจก็ค่อยๆ แน่ชัดว่าตัวเองที่มีนิสัยของการดูแลผู้อื่นอย่างยอดเยี่ยม อยากดูแลลูกของเธอเองมากกว่าเกาที่ไม่อยากมีลูก แต่เกาปฏิเสธที่จะรับฟังเรื่องอื่นใดที่จะทำให้เขาไม่สามารถอัพเลเวลได้ เจจึงตัดสินใจช่วยเขาอัพเลเวลด้วยวิธีการขั้นสุดยอดนั่นคือไปจากเขา และในตอนนั้นเอง เกาผู้ใช้ข้ออ้างของการทำตามความฝันปฏิเสธภาระทางอารมณ์ทุกชนิดได้เรียนรู้ว่าที่ผ่านมา เขาขโมยเวลาของคนอื่นมาใช้เพื่อทำให้เวลาทางสถิติของตนสั้นลงมากแค่ไหน เขาต้องเรียนรู้ว่าชีวิตทุกวันคือการต่อสู้เอาตัวรอดในโลกทุนนิยมที่ไล่บี้เวลาของเขาให้สั้นลงแต่ไม่ใช่สั้นลงอย่างที่เขาต้องการ 

หากนับต่อเนื่องจาก ‘ฟรีแลนซ์ฯ’ และ ‘ฮาวทูทิ้ง’ เราอาจเรียกหนังอย่างลำลองได้ว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สามในไตรภาค ‘สิ่งมีชีวิตในโลกทุนนิยมที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง’ นอกจากกิมมิคชื่อตัวละครหลัก ยุ่น/จีน/เกา และตัวละครสายซัพ เจ๋/เจ/เจ หนังทั้งสามเรื่องยังมีจุดร่วมในสถานะของการเล่าเรื่องการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้นกลางในโลกทุนนิยม ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อต่อต้านแต่เป็นการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดในโลกทุนนิยม การยอมรับมันและเป็นส่วนหนึ่งของมัน ถูกมันทำลาย แต่ก็ดิ้นรนเพื่อที่จะธำรงตนเอาไว้ในโลกทุน ในขณะเดียวกันหนังทั้งสามเรื่องก็พูดถึงผู้ใหญ่ไม่รู้จักโตในโลกที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง และเล่าถึงคนอื่นๆ ในแวดวงความสัมพันธ์โดยมีตัวฉันเป็นแกนกลาง ‘ฉัน’ คนฉลาดที่เอาแต่ใจ ออกจะไร้เยื่อใยกับคนรอบข้าง ถูกสั่งสอนว่าในฐานะสัตว์โลกทุนนิยมนั้น การจะเป็นส่วนหนึ่งของมันได้ ต้องละทิ้งไปหรือไม่ก็ช่วงใช้คนรอบข้างให้เป็นประโยชน์ โดยตัดขาดรูปแบบความสัมพันธ์แบบครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน ปรับแปลงให้มันมีประสิทธิภาพ ให้เป็นปัจจัยการผลิต และแน่นอนว่าต้องแลกมากับการสูญเสียคุณค่าบางอย่างไป

หากนับต่อเนื่องจาก ‘ฟรีแลนซ์ฯ’ และ ‘ฮาวทูทิ้ง’ เราอาจเรียกหนังอย่างลำลองได้ว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สามในไตรภาค ‘สิ่งมีชีวิตในโลกทุนนิยมที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง’ … หนังทั้งสามเรื่องยังมีจุดร่วมในสถานะของการเล่าเรื่องการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้นกลางในโลกทุนนิยม ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อต่อต้านแต่เป็นการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดในโลกทุนนิยม … ในขณะเดียวกันหนังทั้งสามเรื่องก็พูดถึงผู้ใหญ่ไม่รู้จักโตในโลกที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง และเล่าถึงคนอื่นๆ ในแวดวงความสัมพันธ์โดยมีตัวฉันเป็นแกนกลาง ‘ฉัน’ คนฉลาดที่เอาแต่ใจ ออกจะไร้เยื่อใยกับคนรอบข้าง

โดยแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการต่อสู้ดิ้นรนของบรรดาเด็กชนชั้นล่างปากกัดตีนถีบที่ต้องดูแลพ่อแม่พี่น้องในหนังตระกูลอย่าง ไทบ้านเดอะซีรีส์ หรือบรรดาเด็กวัยรุ่นพอกะเทินที่การทำตามความฝันสวนทางกับข้อจำกัดของชีวิตอย่างบรรดาเด็กหนุ่มสาวในหมู่บ้านโนนหินแห่ใน หน่าฮ่านเดอะซีรีส์ หรือแม้แต่เด็กสาวสองคนที่หาที่ทางของตัวเองในประเทศที่ไม่ได้อย่าง เบลล์และซู ใน Where We Belong คนหนุ่มสาวในหนังของนวพลไม่มีปัญหาเหล่านั้น แต่การไม่มีปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่ไม่มีปัญหา ทุกข์คนเมืองในหนังของนวพลคือการไม่สามารถเข้ากันได้กับโลกทุนนิยมที่อ้าแขนรับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งมาตลอด หากพวกเขาพบว่าในโลกที่เอื้อให้พวกเขามากกว่ามากแล้วนั้นยังต้องการจากพวกเขามากขึ้นไปอีก เพื่อน ครอบครัว คนรัก กลายเป็นสมอถ่วงรั้ง แม้แต่ ร่างกาย บ้าน และเวลา ก็ฉุดรั้งพวกเขาจากความสมบูรณ์แบบที่โลกทุนต้องการจากเขา การอุทิศตัวของพวกเขาจึงไม่ใช่แค่การทำงานเลี้ยงปากท้อง ต่อให้ท้องอิ่มพวกเขาก็ยังต้องทำต่อไปเพื่อความฝัน เมื่อความฝันกลายเป็นเครื่องมือขูดรีดแรงงานขั้นกว่าที่เรียกร้องทุกอย่างจากพวกเขา

เราอาจบอกได้ว่า หนังสามเรื่องเล่าเวลาสามช่วงวัย และปัญหาการขูดรีดของทุนนิยมของแต่ละช่วง ฟรีแลนซ์ พูดถึงการขูดรีด ‘ร่างกาย’ ตนเอง และปัญหาของการเป็นอิสระจากทุนแต่ตกเป็นทาสของทุน งานที่ไม่มีเวลาเข้าออกกลายเป็นงานที่ไม่มีเวลาหยุดพัก มนุษย์กลายเป็นเครื่องจักรที่โดดเดี่ยวไร้เพื่อน และชำรุด ในขณะที่ฮาวทูทิ้งพูดถึงการที่ทุนนิยมขูดรีด ‘พื้นที่’ ตัวละครเปลี่ยนจากแรงงานมาเป็นเจ้าของกิจการ และต้องกำจัด ‘พื้นที่ทั้งในแง่กายภาพด้วยการเปลี่ยนบ้านของแม่มาเป็นออฟฟิศของตน และการเคลียร์พื้นที่ทางใจด้วยการขจัดผู้คนออกไปจากชีวิตอย่างไร้ความปราณี จนมาถึง Fast and Feel Love ที่ว่าด้วยการขูดรีด ‘เวลา’ ทั้งจากการต้องการไปยังฝั่งฝันของคนที่ละทิ้งวิถีทางแบบทุนนิยมดั้งเดิม (เรียนมหาวิทยาลัย ทำงาน ก้าวหน้าในองค์กร) ในโลกใหม่ที่โอกาสเป็นของทุกคน ขณะเดียวกันก็ขูดรีดเวลาจากคนรอบข้างในฐานะผู้สนับสนุนเขาด้วย ถึงที่สุดตัวละครของเขาคือคนที่หนีจากโลกทุนนิยมแบบเดิมเพื่อไปติดกับดักทุนนิยมเดิมในรูปแบบใหม่

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกันในกระบวนการทางเทคนิค Fast and Feel Love กลายเป็นหนังที่แตกต่างจากสองเรื่องแรกอย่างชัดเจน เพื่อให้สภาวะของ ‘เวลา’ ชัดขึ้นใน Fast and Feel Love นวพล เลือกวิธีการใหม่โดยการ ‘ทิ้ง’ รูปแบบเดิมที่เขาเคยถนัดในฐานะหนังนิ่งช้า หน้าตาย ที่ทั้งขบขันและขมขื่น มาเป็นหนังที่รวดเร็วถึงรวดเร็วมาก ด้วยวิธีการแบบหนังโฆษณา (ซึ่งเป็นภาพแทนของหนึ่งในรูปแบบการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดของทุนนิยม / ในอีกทางหนึ่งการที่หนังได้สปอนเซอร์เป็นโครงการบ้าน ทำให้ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่การไทอินบ้านในหนังทำให้มันเกือบจะกลายเป็นหนังโฆษณาบ้านไปจริงๆ) คลิปไวรัล และความขบขันอย่างรวดเร็วแบบคนรุ่นใหม่ที่วัฒนธรรมทางสายตาอยู่กับการกวาดตามอง การรูดเลื่อน ทุกอย่างต้องมีเสียงดัง จู่โจม พุ่งเข้าใส่ มันไม่ใช่วัฒนธรรมของการ ‘จ้องมอง’ อีกต่อไป

หนังจึงออกมาสนุก ฉับไวรวดเร็ว ต่างจากความนิ่งช้าหน้าตายในหนังสองเรื่องก่อนหน้า หนำซ้ำยังเต็มไปด้วยการอ้างอิง ยั่วล้อ คารวะ ภาพยนตร์ มีม คลิปไวรัล และวัฒนธรรมป๊อบอย่างไม่บันยะบันยัง

และในเมื่อหนังเรื่องนี้อ้างอิงภาพยนตร์ทั้งบทพูด การแสดง ไปจนถึงการถ่าย จึงไม่มีอะไรน่าสนุกไปกว่าการเขียนถึงหนังเรื่องนี้โดยการอ้างอิงภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้เขียนนึกถึงในตลอดเวลาที่นั่งดูหนังเรื่องนี้ (โดยหนังที่เลือกมาทั้งหมดไม่ใช่หนังที่ถูกอ้างถึงในหนัง)

ดังที่ได้กล่าวไป ภายใต้การยักย้ายการอ้างอิงจากศิลปะวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม มาสู่การยั่วล้ออ้างอิงวัฒนธรรมป๊อบภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด มีมในอินเทอร์เน็ต FFL มุกตลกของหนังยืนอยู่บนการรับรู้สิ่งที่มันถูกอ้าง ตั้งแต่ คริสโตเฟอร์ โนแลน ไปจนถึง Fast and Furious จากสตาร์วอรส์ ไปถึงจอนวิค มันน่าสนใจอย่างยิ่ง สิ่งที่ FFL เอามายั่วล้อ เป็นวัฒนธรรมป๊อบที่อยู่คนละระนาบกับ ลีน่าจัง หนูรัตน์ ไปจนถึงโซเฟีย ลา หรือ พระมหาเทวีเจ้าในหนังชุด หอแต๋วแตก ของพจน์ อานนท์ หนังที่หลังจากผ่านกาลเวลาเกินทศวรรษ หอแต๋วแตกของพชร์ อานนท์ ได้เปลี่ยนจากหนังไทยที่ถูกนำมาล้อในฐานะมาตรฐานของหนังห่วย ไปเป็นหนึ่งในหนังคัลท์สำคัญ ที่นอกจากจะทำเงินจนทำให้มีภาคต่อออกมาอีกหลายภาค หนังยังกลายเป็นจดหมายเหตุมโนสาเร่ของกระแสสังคมชั่วคราวของไทย หอแต๋วแตกกลายเป็นบันทึกสิ่งไร้สาระที่สังคมจ้องมอง สูบกิน แล้วโยนทิ้ง หนังเองก็เอาสิ่งนั้นมาใช้อย่างฉาบฉวย เน้นความทันเวลาแล้วก็โยนทิ้งไปไม่ต่างกัน ด้วยวิธีการยั่วล้อต่างรสนิยมนี้ ทำให้หนังสองเรื่องฉายภาพผู้ชมสองกลุ่มที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พูดกันคนละภาษา มุกตลกคนละแบบ แต่หนังสองเรื่องกลับใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกันอย่างยิ่งจนเรียกได้ว่าเป็น multiverse ของกันและกัน 

สิ่งที่ FFL เอามายั่วล้อ เป็นวัฒนธรรมป๊อบที่อยู่คนละระนาบกับ ลีน่าจัง หนูรัตน์ ไปจนถึงโซเฟีย ลา หรือ พระมหาเทวีเจ้าในหนังชุด หอแต๋วแตก ของพจน์ อานนท์ … ด้วยวิธีการยั่วล้อต่างรสนิยมนี้ ทำให้หนังสองเรื่องฉายภาพผู้ชมสองกลุ่มที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พูดกันคนละภาษา มุกตลกคนละแบบ แต่หนังสองเรื่องกลับใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกันอย่างยิ่งจนเรียกได้ว่าเป็น multiverse ของกันและกัน 

อย่างไรก็ตามความไม่พยายามของหอแต๋วแตก ทำให้ตัวละครในหนังชุดนี้กลายเป็นอะไรก็ได้ ใครก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ราวกับในจักรวาลของหอแต๋วแตกทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งหมด ความไม่แคร์อาจจะเป็นปัญหา แต่มันก็เป็นประโยชน์พอๆ กัน ในทางตรงกันข้าม ความก้ำกึ่งละล้าละลังในการเป็นหนังยั่วล้อกับหนังที่พูดเรื่องจริงจังอย่างเช่นสงครามชีวิตของคนวัยกำลังจะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวทำให้หนังขาดมิติเชิงลึกของตัวละครแบบที่หนังของนวพลเคยมี ชีวิตของเกาและเจกลายเป็นเพียง background ของมุกตลก เราไม่ได้เห็นความทุกข์ ความเจ็บปวดของตัวละครมากนัก เพราะทันทีทีหนังเริ่มดิ่งลงในชีวิตของตัวละคร มันก็คล้ายกับมีสัญญาณเตือนดราม่าแบบที่เกาได้ยินแล้ว หนังก็กระชากตัวเองกลับคืนมาเล่นตลกอ้างอิงภาพยนตร์เพื่อสร้างความบันเทิง แบบที่คลิปไวรัลต่างๆ ของ Salmon House ชอบใช้ ทางเลือกนี้อาจจะน่าสนุกและเปลี่ยนหนังให้เป็นเกม แต่มันก็ลดรูปชีวิตลงไปไม่น้อย 

เราไม่เรียกร้องมิติลึกซึ้งของตัวละครในหอแต๋วแตก เพราะมันวางตัวเองไปเป็นความแฟนตาซีเหนือโลก แต่การขาดหายมิติเชิงลึกของตัวละครใน FFL เป็นเรื่องที่ชวนใจหายมากทีเดียว 

ในอีกทางหนึ่ง นวพล เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าหนังเรื่องนี้คือ ‘หนังแอคชั่นที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน’ แอคชั่นไม่ใช่การกู้โลก ไม่ใช่การออกไปต่อสู้กับเหล่าร้าย ออกแรงไล่ล่า แต่เกิดขึ้นในการต้องเผชิญหน้ากับปั๊มน้ำที่ร้องไม่หยุด บ้านที่ถูกตัดไฟ และการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีให้ทันเวลา นวพลถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยเทคนิคแบบหนังแอคชั่น ตัดฉับไว ซูมเร็วโหมเพลงประกอบ สโลว์โมชั่นเพื่อเพิ่มความตื่นเต้น การบอกให้นักแสดงเล่นด้วยความรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในหนังแอคชั่น หยิบเอาวิธีการแบบนั้นมาใช้ การพูดคนเดียว การออกเสียงช้าๆ เน้นคำ การทำตัวเหมือนกับว่าการไปปากซอยคือการบุกเข้าไปในตึกที่กำลังไฟไหม้ น่าสนใจที่เขาเลือกกีฬา stacking ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นกีฬาที่เอาชีวิตประจำวันมาแข่งขันกัน ด้วยการกำหนดว่าใครเรียงแก้วได้ไวที่สุด กีฬาที่ทำให้ชีวิตประจำวันกลายเป็นการแข่งขันที่น่าตื่นเต้นในระดับการกอบกู้โลก ซึ่งก็ไปกันได้ดีกับความเป็นแอคชั่นในชีวิตประจำวัน

แต่มันก็ทำให้ทั้งหมดนั้นเป็นหนัง มันไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องชีวิตประจำวัน แต่เทคนิคของหนังคือการทำให้ชีวิตประจำวันกลายเป็นหนัง และเมื่อมันเป็นหนังตัวละครก็เป็นแค่ตัวละคร หนังตอกย้ำความเป็นหนังของมันอยู่เรื่อยๆ ผ่านการให้ตัวละครหันมาพูดกับผู้ชมอยู่เรื่อยๆ ผ่านทางเสียงประกอบแบบวิดีโอเกม และเกากับเจก็กลายเป็นตัวละครในวิดีโอเกมไปจริงๆ เพราะเราไม่ต้องรู้สึกร้อนหนาวเจ็บปวดกับการที่ตัวละครในวิดีโอเกม ถูกยิงแทงฆ่าตกตึก เรารู้ว่าพวกเขาเป็นตัวละคร มีภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ ชีวิตถูกวางไว้ข้างนอกเพื่อภารกิจนั้น 

มันจึงทำให้นึกถึงหนังอย่าง Memoria ของอภิชาติพงศ์ ​วีระเศรษฐกุล หนังประหลาดที่สามารถถอดโครงสร้างของหนังมาเป็นหนังแอคชั่นซูเปอร์ฮีโร่ได้เช่นกัน เพราะมันว่าด้วยหญิงสาวที่ได้ยินเสียงปังในหัว ออกตามหาหนทางรักษาก่อนจะพบว่าเสียงปังนั้นเป็นเสียงผี เสียงของความทุกข์ทั้งมวลบนโลกนี้ หนังจบลงด้วยการที่เธอเฝ้าฟังเสียงความทุกข์ของคนที่เธอไม่รู้จัก แต่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ราวกับว่าการกอบกู้โลก ‘อาจจะ’ เป็นไปได้ หากเรารู้จักเฝ้าฟัง 

หากใน Fast and Feel Love เมื่อเราถอดโครงสร้างในทำนองเดียวกันก็คงเล่าใหม่ได้ว่านี่คือเรื่องของคนที่มีพลังพิเศษในการเรียงแก้ว และเพื่อจะทำให้พลังพิเศษนั้นเข้มข้น เขาต้องไม่ฟังไม่ว่าจะเป็นเสียงของใคร แม้แต่ความทุกข์ในใจตน จากนั้นเมื่อไม่มีอะไรเหลือให้ฟังเขาต้องเผชิญหน้ากับมวลความทุกข์ โลกที่ล่มสลาย โดยทั้งหมดคือความทุกข์และโลกภายในของเขาเอง โลกที่ทุนนิยมกำหนดให้เขาเป็นผู้เล่น โดยมีธานอสที่รอดีดนิ้วเมื่อเขาร่วงหล่นจากสิ่งที่ทุนกำหนด 

ในอีกทางหนึ่งเราอาจจะเทียบเคียงชีวิตรักของเกากับเจได้จากร่องรอยของหนัง Ingmar Bergman คนทำหนังชาวสวีเดนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก หนังของเขามักขุดลึกลงไปในจิตใจอันชั่วร้ายเย็นชาของมนุษย์สามัญ ในครอบครัว การแต่งงาน ศาสนา การเป็นพ่อแม่พี่น้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวที่เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ 

‘ในขณะที่เหล่าตัวละครกระฎุมพีของ Bergman ในยุคนี้ เป็นคนที่มีเสรีภาพและเหตุผล ซ้ำยังรายล้อมไปด้วยสิ่งดีๆ ในชีวิต หากพวกเขาก็ยังถูกรัดคอจากความขัดแย้งระหว่างความต้องการอันหลากหลายของตนและภาระผูกพันของความชิดใกล้อันไม่แน่นอนของพวกเขา และการรัดคอทำให้หายใจไม่ออก อาจเปรียบเปรยได้ว่า ในเมื่อทุกลมหายใจต้องถูกขับออกจากภายในร่างกายของแต่ละคนแล้วนั้น ก็ไม่ใช่เพียงแค่การแต่งงานเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาหายใจไม่ออก’ 1The Demon of Modernity : Ingmar Bergman and European Cinema (John Orr, 2014) คำแปลจาก Bioscope Magazine Issue 189 Dec-Jan 2019 p.13

เราอาจพูดถึงเจกับเกาว่านี่คือคู่รักชนชั้นกลางค่อนไปทางบนที่แม้จะไม่มีรายได้แน่นอน แต่ก็มีบ้านราคาหกล้าน คู่รักที่มี ‘สิ่งดีๆ ในชีวิต’ เพียบพร้อม แต่ความต้องการอันหลากหลายของพวกเขายังคงสวนทางกัน คนหนึ่งหมกมุ่นอยู่กับโลกข้างนอกที่ถึงที่สุดคุกคามบ้าน เมื่อกฎของ stacking เปลี่ยนให้การแข่งขันเกิดขึ้นได้ในบ้านตัวเอง เกาเปลี่ยนบ้านเป็นสนามแข่ง ขณะที่เจ ต้องการบ้านที่เป็นโรงเลี้ยงเด็กโดยมีเกาเป็นเด็กคนที่ว่า การแย่งใช้พื้นที่ห้องเด็กในหนังกลายเป็นจุดตั้งต้นของการแตกหักระหว่างคู่รัก ซึ่งหนังไม่ได้ออกแบบให้เราได้เข้าไปในความรัก ไปๆ มาๆ หนังปราศจากฉากใกล้ชิดแตะต้องเนื้อตัว (หนังของนวพลมักปราศจากฉากวาบหวามทางอารมณ์จนบอกได้ว่าหนังของเขาสะอาดและค่อนไปทาง asexual) ปราศจากการทะเลาะทุ่มเถียงด้วยเรื่องเล็กน้อย เจเป็นเหมือนแม่บ้านของเกา และเกาเป็นเหมือนลูกของเจ ความสัมพันธ์ของหนังและการเปลี่ยนชีวิตเป็นเกมของหนังจึงทำให้พวกเขาเหมือนเพื่อนร่วมงานในบริษัทจัดตั้งครอบครัวมากกว่าคู่รัก

นั่นทำให้นึกถึงซีรีส์ญี่ปุ่นอย่าง We Married As Job ที่ว่าด้วยชายหญิงที่ตัดสินใจแต่งงานกันแบบพันธสัญญาบริษัท คือฝ่ายหญิงต้องการเป็นแม่บ้านที่มาอาศัยในบ้านเจ้านายหนุ่มโสดเพราะเธอไม่มีที่อยู่ ฝ่ายชายเป็นคนโสดไม่สนใจโลกที่ประทับใจในฝีมืองานบ้านของเธอทั้งคู่จึงตัดสินใจแต่งงานกันเพื่อจะได้ทำให้แต่ละฝ่ายทำงานต่อไปและลดภาระค่าใช้จ่ายของทั้งคู่ แน่นอนว่าทั้งคู่ตกหลุมรักกันในท้ายที่สุด แต่ระหว่างทางนั้นหนังได้ตั้งข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการขูดรีดแรงงานผ่านความรักไว้อย่างน่าสนใจมากๆ เพราะถ้างานบ้านกลายเป็นงานที่ได้เงิน ในที่สุดถ้าทั้งคู่ต้องการเปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างนายจ้างมาเป็นคู่รักจริงๆ งานบ้านจะกลายเป็นงานที่ถูกขูดรีดฟรีๆ หนังนำไปสู่ข้อถกเถียงเรื่อง การแบ่งงานกันทำระหว่างแรงงานชายและแรงงานหญิง แต่แรงงานหญิงได้รับงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง การกดขี่ในนามของความรัก ความเป็นเมีย เป็นแม่ 

ในหนังเรื่องนี้ เกาค่อยๆ ตระหนักถึงความสำคัญของคนที่อยู่รอบตัวเมื่อเจจากไป ก่อนหน้านี้เขาขูดรีดเจด้วยความรักและความไว้เนื้อเชื่อใจ และเขาก็พบว่า แม่ คุณปอเจ้าของสำนักงานสอนสแตคที่เขาทำงาน หรือเมทัล แม่บ้านที่ข้างมาใหม่ ล้วนสำคัญต่อเขาทั้งสิ้น น่าสนใจว่า คนรายรอบตัวเกาทั้งหมดรวมไปถึงไผ่หลิว มาสเตอร์ของเขา เป็นผู้หญิง และบรรดาผู้หญิงในเรื่องถูกเปลี่ยนชื่อเรียกจาก แม่ เมีย คนรับใช้ ไปเป็น ‘ผู้สนับสนุน’ คำที่ฟังดูดีกว่าในโลกทุนเพราะมันตัดมิติเชิงอำนาจของความสัมพันธ์เดิมออก ฉากที่น่าสนใจที่สุดจึงเป็นฉากการตระหนักรู้ของเขา ในฉากนี้เขาเรียกคนรายรอบเขาเรียงตัวว่า แม่บ้าน/เจ้าของบริษัท/แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ความสัมพันธ์จำเพาะเจาะจงถูกเอาออกไปแทนที่ด้วยวิชาชีพของแต่ละคนเหมือนกับความสามารถพิเศษที่แต่ละคนมีมากกว่าตำแหน่งแห่งที่ในความสัมพันธ์กับเกา การลดรูป เปลี่ยนชื่อเรียกทำให้การขูดรีดนุ่มนวลขึ้น แต่แน่นอนว่าการขูดรีดไม่ได้มีแบบเดียว

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือดูเหมือนคู่แข่งทั้งหมดของเกาเป็นเด็ก แม้แต่ไผ่หลิว มาสเตอร์เจไดของเขาก็มาในร่างเด็กหญิงคนหนึ่ง ราวกับว่า กีฬา Stacking ที่เขาหมกมุ่นจะเอาชนะเป็นการแข่งกันกับเด็กไปตลอด นัยนี้มันน่าสนใจว่าในทางหนึ่ง มันคือภาพแทนอาการหวาดผวาการถูกไล่บี้โดยเด็กรุ่นหลัง ที่ดูแข็งกร้าว ไม่มีกำแพงอายุ การไม่ปวดหลังคือการไม่ต้องแบกภาระทั้งทางกายและใจจากการเป็นผู้ใหญ่และการล้างจาน หนังจึงเป็นทั้งเรื่องของการต่อสู้กับชีวิตตรงหน้า และการหวาดกลัวอนาคตไปพร้อมๆ กัน หากนี่ก็ช่วยขับเน้น อาการ ‘เด็กไม่รู้จักโต’ ของเกาได้ด้วย ฉากที่น่าสนใจจึงเป็นฉากที่ เอดเวิร์ดคู่แข่งของเกาคุยกับแม่ ว่าทำไมเขาจะเล่น stack ไปตลอดไม่ได้และแม่บอกว่า ลูกเล่นได้เพราะลูกเป็นเด็ก แต่ผู้ใหญ่เขาไปทำอย่างอื่นแล้ว เขามีความรับผิดชอบเพิ่ม มีอย่างอื่นต้องทำ 

เจกลายเป็นตัวละครที่น่าสนใจที่สุด เพราะในทางหนึ่งเธออาจถูกขูดรีดมากที่สุด แต่พอพิจารณาจริงๆ กลับย้อนแย้งกว่านั้นเพราะมันดูเหมือนว่าเธอเองก็ใช้เกาเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงดู ห่อหุ้ม ทะนุถนอม ถ้าเกามีความฝันอย่างการเล่นสแตคเก่งที่สุด เจก็มีความฝันในการดูแลใครสักคนอย่างดีที่สุด ควบคุมชีวิตเขา หล่อเลี้ยงให้เขาเติบโต และเมื่อเกาไม่อยู่ในการควบคุมของเจ เมื่อเขาอยากไปอเมริกาและไม่อยากมีลูก เจก็รู้สึกเธอไม่สามารถเลี้ยงดูเขาได้อีกต่อไป เกาเริ่มกลายเป็นผู้ใหญ่เพราะความฝันของเขามีเป้าหมายที่จับต้องได้มากขึ้นทุกที ในขณะที่เธอต้องการการเลี้ยงดูใหม่ เกาอาจต้องการเวลาที่หดสั้นลง แต่เจต้องการเวลาที่ยาวนานขึ้น หนึ่งชั่วการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจไปจากเกา มูฟออนกันง่ายๆ เหมือนเวลาที่จีนในฮาวทูทิ้งทิ้งข้าวของลงถุงดำโดยไม่ดูยังไงยังงั้น

ตลอดทั้งเรื่องเราไม่ได้เห็นความรักของเธอกับเกา ไม่ได้เห็นดราม่า ไม่ได้เห็นความรักอันหัวปักหัวปำ ความรักที่พร้อมจะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอย่างบ้าคลั่ง อย่างที่สรวิศ ชัยนาม มองความรักในโลกทุนนิยมในบทนำของหนังสือ ‘ทำไมต้องตกหลุมรัก Alain Badiou ความรักและลอบสเตอร์’ ว่าทุนนิยมต้องการความปลอดภัย ทุนนิยมต้องการโรแมนซ์มากกว่าความรักเพราะความรักนั้นอันตราย แต่ความโรแมนซ์นั้นปลอดภัย รักคนที่ฐานะเท่ากัน รักโดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลางและปราศจากเรื่องดราม่าใดๆ รักของเกากับเจ จริงถูกห่อหุ้มอยู่ในโรแมนซ์มากกว่ารัก และวันหนึ่งเมื่อเจไป สิ่งที่ตกค้างอยู่กับเกา จึงเป็นสิ่งที่เจช่วยรับภาระให้ แต่ไม่ใช่อ้อมกอด กลิ่น (ที่ไม่ใช่กลิ่นกอเอี๊ยะ) ร่องรอย หรือสัมผัสที่เกาเคยได้รับ ความสัมพันธ์ของเกากับเจจึงกลายเป็นโรมานซ์ที่จบลง ปวดร้าวเพียงครู่แล้วใช้ชีวิตต่อไป 

เมื่อเจจากไป คนที่มาแทนคือเมทัล หญิงแม่บ้านสำนักงานที่เกาจ้างมาแทนเจ หนังใช้แม่บ้านเมทัลในการไปยั่วล้อ Parasite หนังดังของบองจุนโฮ อย่างสนุกสนานด้วยการให้เกาจ้างคนขับรถและครูสอนภาษา (ชาวเกาหลี) ด้วยเสียเลยในคราวเดียว ราวกับว่าเกาไม่มีปัญหาทางการเงินอะไรทั้งสิ้น 

ในขณะที่ Parasite วิพากษ์สังคมกินคนในโลกเหลื่อมล้ำของเกาหลีใต้อย่างเข้มข้น บทบาทของเมทัลในฐานะแม่บ้านกลับปราศจากการเมืองเรื่องชนชั้นอย่างสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้นคือตัวเกาเองก็จู่ๆ ปราศจากการเมืองเรื่องชนชั้นไปด้วย เพราะหลังจากเป็นลูกแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวที่ดูจะไม่มีรายได้อะไรมากนัก จู่ๆ เกาก็สามารถซื้อบ้านหกล้าน จ้างแม่บ้าน คนรถ และครูสอนภาษา แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงมุกตลกมากกว่าความเป็นไปได้จริงๆ แต่ยิ่งมันดำรงคงอยู่มากขึ้นเราก็ยิ่งเห็นว่าหนังเองค่อยๆ อัพเลเวลจากชีวิตจริงไปสู่เกม และไปสู่ภาพฝันของชนชั้นกลางในโลกทุนนิยมอย่างถึงที่สุด ที่น่าตื่นเต้นคือภาพแทนความสมบูรณ์พร้อมของสิ่งดีๆ เหล่านี้ (ดังที่เรากล่าวถึงในหนังของ Bergman ก่อนหน้า) ไม่มีอะไรจะสมบูรณ์ไปกว่าภาพในหนังโฆษณา และหนังทั้งเรื่องที่ใช้กลเม็ดเด็ดพรายของการโฆษณา ทำให้หนังโฆษณาแฝงบ้านและคอนโดของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไปด้วย ถึงที่สุด เกาไต่เต้าขึ้นสู่จุดสุดยอดของการเล่นเรียงแก้วที่แต่ละใบคือรูปแบบชีวิต เมื่อคนรัก แม่ กลายเป็น แม่บ้านและผู้สนับสนุน ชีวิตกลายเป็นภาพแทนของโฆษณา และเทคนิคทางภาพยนตร์เปลี่ยนจากหนัง (ที่เราได้แต่เฝ้ามองและครุ่นคิด) ไปสู่เกม (ที่เราเล่นและเลือกได้) และไปสู่โฆษณา (ที่เราเฝ้าฝัน ปรารถนาและซื้อหาได้) จู่ๆ หนังเลยกลายเป็นการอธิบายความปรารถนาของการกลายเป็นคนตระกูลคิมใน Parasite ไปในที่สุด

กล่าวอย่างถึงที่สุด เมื่อเราตัดขาดความดราม่า แบบที่เกากลัวจะทำให้สปีดตก เมื่อเราต้องการชีวิตสมบูรณ์พร้อม ในที่สุดเราจึงไม่ต้องการความรัก หรือการผูกมัดใดๆ โดยไม่ได้ตั้งใจหนังอธิบายความสยองขวัญของทุนนิยม ด้วยภาพฝันแบบโฆษณา เพราะหนังโฆษณาไม่มีดราม่า ถ้ามีดราม่า มันเป็นไปเพื่อให้สินค้าคลี่คลายดราม่านั้น โฆษณาจบสุขเสมอ เพื่อกระตุ้นให้คนออกไปซื้อหาสินค้า เพราะเราเป็นโรคคลั่งความสุข ความสุขคือคำสัญญา แบบเดียวกันกับชื่อ The Promise of Happiness ของ Sarah Ahmed ที่แปลเป็นไทยว่า จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ซึ่งพูดในบทเปิดว่า

“คนเรามักมองว่าความสุขเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราจะพุ่งไปให้ถึง เป็นสิ่งที่มอบจุดหมาย ความหมาย และระบบระเบียบให้กับชีวิต… เราต่างตกลงปลงใจในฉันทามติข้อหนึ่งร่วมกัน นั่นคือฉันทามติที่ว่า ‘ความสุขเป็นเรื่องเอกฉันทน์’ แต่คำถามมีอยู่ว่า เรายินยอมต่อฉันทามติที่มีชื่อความสุขนี้จริงๆ หรือไม่? และเวลาที่เราตกลงปลงใจยินยอมต่อความสุขนั้น เราให้ความยินยอมต่ออะไรกันแน่?

อาการคลั่งความสุขของเกา อยู่ในมาตรฐานที่เกาปรารถนาเพื่อจะเล่น stack ให้สมบูรณ์แบบ สภาพแวดล้อมที่ดี อากาศที่บริสุทธิ์ ความเงียบในระดับที่แม้แต่เสียงปั๊มน้ำยังหนวกหู มีอาหารการกินบริบูรณ์ มีน้ำบรรจุขวดเต็มเสมออยู่หน้าห้องซ้อม เกาเชื่อว่าบรรดาคู่แข่งของเขาก็เช่นกัน ทุกคนอยู่ในที่สมบูรณ์พร้อม เต็มไปด้วยความสุข ความสุขจะนำพาไปสู่ความสำเร็จ เขาจึงพยายามขจัดตัวกวนความสุขของเขาออกไปอย่างบ้าคลั่ง ความสุขกลายเป็นเส้นทางสุดยอดความปรารถนาของโลกปัจเจก ในโลกแบบฝ่ายซ้าย ความเท่าเทียมอาจคือความสุข แต่ทุนนิยมอันฉลาดหลักแหลมบอกว่ามันสามารถให้ความเท่าเทียมปลอมๆ และให้ความสุขสูงสุดของปัจเจกด้วยถ้าทุกคนแข่งขันกันในตลาดเสรี ความฝันลมๆ แล้งๆ เกี่ยวกับความสุข จากการมีเงินเยอะพอจะซื้อบ้านมาซ้อม stack หรือมีเงินมากพอจะฝากไข่ไว้สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต ทุกคนแสวงหาความสุข และความสุขกลายเป็นศาสนา ที่โฆษณาตัวเองว่าให้ในสิ่งที่ศาสนาให้ไม่ได้ 

ภายใต้ข้อกำหนดแบบนั้นเกาจึงปฏิเสธดราม่าที่แตกหักจากตัวตนที่เชื่อมโยงจากคนอื่น เกาบอกว่าถ้าเขารู้ว่าดราม่าของเจคืออะไรเขาจะสปีดตก เขาปฏิเสธสิ่งนี้ และเกาพบว่าสิ่งที่ช่วยเสริมความสุขให้กับเขาไม่ใช่เมีย แต่เป็นแม่บ้าน และจักรกลอย่างแอปธนาคาร (หรือแม้แต่แอปดูแลบ้านที่เมทัลขายตรงให้กับผู้ซื้อและผู้ชม) เกาเอาชนะเจด้วยการซื้อบ้านคืน การครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างการเปลี่ยนชื่อโฉนดเลยเป็นความสำเร็จแบบเวรี่ทุนนิยมที่เคลือบความรักความผูกพันเอาไว้บนผิว ถึงที่สุดเกากลายเป็นสัตว์โลกทุนนิยมเต็มตัว เขาละทิ้งทุกอย่างไปเพื่อทำตามความฝัน ความฝันที่ทุนนิยมชักใยอย่างแยบยล 

และนี่คือหนังสำหรับการปลุกปลอบใจตัวเองของคนที่มี ‘ความฝัน’ ที่แตกต่าง ความฝันของพวกเขาอาจจะเป็นความลุ่มหลงเพียวๆ ในครั้งแรก วิธีเดียวที่เขาจะประคองความลุ่มหลงนี้ไว้ คือการหาทางให้มันมีที่ทางในโลกทุนนิยม ให้เห็นว่าถ้าเขาทำมันได้ดีเขาจะประสบความสำเร็จ เราจึงควรย้อนกลับไปยังฉากแรกในห้องแนะแนว ที่ครูสมรพยายามจะเลือกทางตรงให้กับลูกศิษย์ของเธอ และกลายเป็นการฆ่าความฝันแปลกประหลาดมากมายทิ้ง แต่ในเวลาต่อมาหนังก็ฉายให้เห็นว่าความฝันนั้นเป็นไปได้ แต่มันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมันถูกทำให้มีมูลค่าในโลกทุน การกลับมาเยาะเย้ยครูสมร ของเกา ที่จริงจึงเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่ครูสมรพยายามบอก เพียงแต่ใช้วิธีการที่แตกต่าง ‘จงหามูลค่าของตนในโลกทุน’ ถ้านายประสบความสำเร็จนายจะได้เยาะเย้ยพวกคนที่เลือกทางสามัญ แต่ถ้านายไม่ ก็เสียใจด้วย ยิ่งไปกว่านั้นทุนนิยมในโลกสมัยใหม่ ไม่ได้ขายความสุขและความสำเร็จในรูปแบบของการตั้งใจทำงานอีกแล้ว ในตอนนี้สิ่งที่มันโฆษณาคือทางลัดของความสุข ไม่ต้องรอคอยอีกแล้ว ความเร็วในการเรียงแก้วของเกาเลยไม่ใช่แค่ความเร็วเพื่อเป็นที่หนึ่ง มันคือความเร็วที่ทุนนิยมเร่งรัดให้คนหนุ่มสาวประสบความสำเร็จอีกด้วยความเร็วที่กลายเป็นแรงกดสำคัญแห่งยุคสมัยที่เพียงแค่พลาดไปเพียงเสี้ยววินาทีก็แพ้คนอื่นเสียแล้ว

ถึงที่สุด นี่จึงทำให้เราย้อนระลึกไปถึง หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ ที่เป็นเหมือนภาคขยายของฉากเปิดของหนังเรื่องนี้ เพราะมันคือเรื่องของเด็กๆ ที่ไม่มีความฝันนอกกรอบในโลกทุนนิยม และไม่มีความสามารถทางการแข่งขันในโลกภายในกรอบทุนนยิมด้วย หนังพาเราไปสำรวจ ความไม่มีความฝัน และการดิ้นรนที่เสี่ยงชีวิตยิ่งกว่าการรักหัวปักหัวปำ ภายใต้บริบทของหมู่บ้านเล็กๆ ในอุบลราชธานี ยุพินและผองเพื่อนที่ถึงที่สุดอาจจะไปได้มากที่สุดแค่การเป็นเมทัลคนต่อไป สำหรับเกาอีกจำนวนมากในสังคม

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS