ฝันของ “คนจัดฉายหนังอิสระ” : รู้จักเพจ ‘เราว่าหนังเรื่องนี้ควรมีฉายที่อยุธยา’ กับภารกิจพาหนังหลากหลายสู่สายตาคนอยุธยา

“เราเริ่มกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมาจากเรื่องง่ายๆ เลยครับ คืออยากดูหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้กับแฟน ปกติจะเป็นผมเองที่หาโอกาสดูหนังมากกว่าแฟน เพราะส่วนใหญ่แฟนจะติดทำงานที่บ้านจนบางครั้งไม่สามารถใช้เวลาตรงนี้ร่วมกันได้ จึงเกิดกิจกรรมจัดฉายหนังขึ้นกัน ง่ายๆ อย่างนี้เลยครับ”

พิสิทธิศักดิ์ คำวรรณ เจ้าของเพจ ‘เราว่าหนังเรื่องนี้ควรมีฉายที่อยุธยา’ เล่าถึงที่มาของเพจเฟซบุ๊กและการเริ่มจัดกิจกรรมดูหนัง ซึ่งจัดตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และต่อไปนี้คือความทรงจำเกี่ยวกับกิจกรรมฉายหนังที่เขาเคยจัด

พิสิทธิศักดิ์ คำวรรณ
  • Portrait of a Lady on Fire เป็นการฉายหนังอิสระเรื่องแรก จัดขึ้นที่ Makham Cafe & Gallery สถานที่นี้เป็นที่สำหรับคนชอบงานศิลปะ และคนทำงานศิลปะจะมานั่งพบปะพูดคุยกัน เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ มีงานศิลปะบนผืนผ้าใบแคนวาสมากมายภายในร้าน เราเลือกสถานที่นี้เพราะคงไม่มีที่ไหนให้ความรู้สึกถึงคุณค่างานศิลปะเหมือนที่มาเรียนมอบให้เอลูอิสได้เท่าที่นี่อีกแล้ว
  • Drive my Car จัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์อโยธยาเธียเตอร์ ณ ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สถานที่แห่งนี้คือ 1 ในจุดหมายของการจัดฉายภาพยนตร์ของคนอยุธยาที่ผมมองเอาไว้ องค์ประกอบความเป็นเธียเตอร์ของที่นี่มีความเหมาะสมมากที่สุด นี่คือโรงหนังขนาดไม่ใหญ่ไปไม่เล็กไป ที่ซ่อนตัวอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงหนังที่คนอยุธยาเองก็แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ ซึ่ง Drive my Car ก็เป็นหนังที่จำเป็นต้องดูในสถานที่แบบนี้ (ความจริงแล้วหนังทุกเรื่องก็ควรอยู่ในสถานที่แบบนี้เช่นกัน) ที่นี่พร้อมและเหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดฉายภาพยนตร์
  • FLEE จัดขึ้นที่ Playspot Boardgame Cafe แต่เป็นสถานที่ที่เราทดลองมากที่สุด ต่างจาก 2 ครั้งมากๆ ที่นี่เป็นอาคาร 4 ชั้นที่มีชั้นล่างเป็นคาเฟ่บอร์ดเกมส์ เราใช้สถานที่นี้ด้วยเหตุง่ายๆ คืออยู่ในเกาะเมืองที่คนเดินทางมาถึงง่าย ห่างจากสถานที่แรกที่เราจัดมาประมาณ 800 เมตร บนถนนเส้นเดียวกัน
  • Wheel of Fortune and Fantasy, Drive my Car จัดขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้ Toyota เมืองสีเขียว ครั้งนี้เลือกจัดที่นี่เพราะอยากทดลองจัดฉายแบบโอเพ่น แล้วด้วยเป็นการฉายหนังสัญชาติญี่ปุ่น เรามองว่าที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีหน้าตาคล้ายญี่ปุ่นอยู่พอสมควร จึงเลือกใช้สถานที่นี้ในการจัดฉายภาพยนตร์

“ใจจริงแล้วผมอยากทำที่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ให้เป็นศูนย์กลางการฉายภาพยนตร์นอกกระแสของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามากๆ แต่ติดขัดด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่เราเองก็เข้าใจทางฝ่ายผู้ดูแลสถานที่ด้วยว่าเขาเองก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ตามมา ทั้งนี้ทั้งนั้นในอนาคตข้างหน้าก็อาจจะมีการปรับรูปแบบให้สามารถจัดฉายในที่แห่งนี้ได้มากขึ้น ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและความเหมาะสมใจการที่จะทำได้ ซึ่งต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าของสถานที่ ฝ่ายผู้จัด ฝ่ายคนดูด้วย ถ้าสามอย่างนี้ไปด้วยกันได้ในพื้นที่นี้ จะมีการฉายภาพยนตร์ที่ต่อเนื่องขึ้น เป็นระบบที่ได้มาตรฐานมากขึ้น การปรับพฤติกรรมของคนในพื้นที่จะตามมา”

“ถามว่าการจัดนอกสถานที่มีความท้าทาย น่าสนุกและมีความหลากหลายหรือไม่ อันนี้ก็ตอบว่ามันมีครบครับ แต่มันไม่สามารถการันตีหรือสร้างพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ที่เป็นมาตรฐานได้ อย่างไรแล้วภาพยนตร์ก็ควรถูกฉายในสถานที่ที่เหมาะสม มีระบบรองรับที่พร้อมกว่าการฉายอย่างอิสระแน่นอน

แต่การฉายอิสระคือการหลีกหนีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง มันอาจได้บางอย่างมา เช่น บรรยากาศการชมภาพยนตร์แบบที่หาไม่ได้ในโรงภาพยนตร์ การสร้างคอมมูนิตี้แบบใหม่ที่ไม่ต้องยึดติดกับโรงภาพยนตร์ แต่ภาพยนตร์ยังคงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ควรค่าสำหรับการชมในที่ของมัน”

“ผมอยากทำทั้งแบบฉายอิสระและฉายโรงควบคู่ไปด้วยกันให้ดีที่สุด อยุธยาอาจมีโรงภาพยนตร์แบบที่คนจังหวัดอื่นมองหาก็ได้ ผมหาเจอแล้ว แค่ต้องทำให้มันอยู่ด้วยกันไปอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่มที่มีส่วนร่วม และคนทำ ทำมันไปโดยที่มีความสุขกับมัน”

“ผมยินดีกับทุกครั้งที่หนังได้ฉายมาตั้งแต่เริ่ม พอหนังฉายจบผมก็ยินดีกับมันมากขี้นไปอีก บางครั้งหนังที่ผมนำมาฉายมันได้รัยการตอบรับที่ดี ดีในแบบที่เราเข้าใจว่ามันคือคนแค่กลุ่มหนึ่ง ไม่ได้มากมาย แต่หลายครั้งที่เราเจอคนหน้าเดิม เจอคนที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ แวะมาแบ่งปันส่วนที่เราได้รับตรงนี้ไป ผมคิดว่ามันมีความหมายมาก เพราะที่สุดแล้วผมไม่เชื่อนะว่าคนที่อยากดูหนังจริงๆ จะไม่พาตัวเองไปดูหนังเรื่องที่ตัวเองอยากดู ต่อให้มันหาดูไม่ได้ในบ้านตัวเอง เขาก็จะพาตัวเองไปดูจนได้อยู่ดี”

“แต่ตรงนี้ที่เราทำอยู่ ในทางปฏิบัติมันเป็นแค่การทำให้เขาได้ดูมันในที่ที่ใกล้บ้านขึ้น ไม่ต้องเดินทาง แต่ในทางหนึ่ง มันก็อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเราได้เหมือนกัน ว่าอย่างน้อยถ้าเรายังทำมันต่อไปแล้วเจอผู้คนกลุ่มนี้ที่ยังไว้ใจเราอยู่ เราก็อยากทำให้ความไว้ใจนี้มันคุ้มค่า อนาคตอันใกล้ เขาจะไม่ใช่แค่ดูหนังกับเราเพราะมันใกล้ แต่ดูหนังกับเราเพราะมันมีความสุข ดูหนังกับเราเพราะเราคือกลุ่มคนที่ดูด้วยแล้วมีความสุข”

“อาจจะดูขวานผ่าซากไปหน่อยนะครับ แต่พฤติกรรมของคนที่เสพงานด้านนี้ ปัจจัยของผู้สนับสนุนจากภาครัฐคือส่วนหนึ่งก็จริง แต่ความสนใจในงานศิลปะบ้านเรา โดยเฉพาะเอาแค่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ยังเป็นอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องของปัจเจกและรสนิยมของคน พื้นเพโดยธรรมชาติของคน เหล่านี้ต้องใช้เวลามากพอสมควร อยุธยายังไม่มีพื้นที่ตรงนี้ ในการทำให้คนที่เขา ‘กำลังจะ’ หรือ ‘พร้อมที่จะ’ เปิดรับสิ่งเหล่านี้ได้ลองเดินเข้าสัมผัสมันมากพอ”

“ที่นี่เป็นจังหวัดที่มีพิพิธภัณฑ์อยู่หลายที่ แกลเลอรี่อยู่หลายจุด แต่กลุ่มคนที่ทำสิ่งเหล่านี้เขาเพียงแค่ตั้งอยู่ มันไม่ได้ถูกกระตุ้นให้น่าสนใจมากพอเท่ากับสถานที่รูปแบบอื่น ที่นี่เต็มไปด้วยคาเฟ่ถ่ายรูป แน่นอนว่ามันก็คืออีกหนึ่งรูปแบบของศิลปะที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่รูปแบบอื่นมันก็ต้องไม่ตายไปด้วย ซึ่งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่นเขายังมองไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ ที่นี่ผมมีพวกพ้องที่ทำงานด้านศิลปะ แต่เขาต้องออกไปทำงานหากินที่อื่นเพื่อจุนเจือครอบครัวครับ”

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES