ฝันของคนทำ “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” : รู้จัก Converstation กับภารกิจพาหนังหลากหลายสู่สายตาคนระยอง

“เราเชื่อว่าการคุยกันจะต่อยอดไปสู่ทางออกของปัญหาสังคมได้ มันเลยเป็นที่มาของชื่อ Converstation” พลอยรุ้ง สิบพลาง อธิบายที่มาของชื่อของพื้นที่อิสระงดงามแห่งนี้ในจังหวัดระยองให้เราฟัง

เช่นเดียวกันกับพื้นที่อิสระในจังหวัดอื่น – Converstation เกิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจแรงกล้าของกลุ่มคนไม่กี่คนที่ตัดสินใจว่าจะเลิกทนกับความ “ไม่มี”

การลงมือสร้างพื้นที่ของพวกเขาเหล่านี้เป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับเราเสมอ เพราะเท่าที่เราได้เคยสัมผัส ไม่มีใครเลยมีเงินทุนก้อนหนา ไม่มีใครเลยเคยมีประสบการณ์ธุรกิจเชี่ยวกรำ ทุกคนเพียงคิดว่าถึงเวลาต้องทำ แล้วพวกเขาก็ทำมัน

และต่อไปนี้คือเรื่องราวของ Converstation ที่เราอยากแนะนำให้คุณรู้จัก

“Converstation เป็น Public Co-Learning Space อยู่ที่ถนนยมจินดา จ.ระยอง เราตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บอร์ดเกม นิทรรศการ เวิร์กช็อป และแน่นอนรวมถึงภาพยนตร์ด้วย กิจกรรมเหล่านี้เป็นสารตั้งต้นชั้นดีสำหรับการริเริ่มบทสนทนาใหม่ๆ เพราะเราเชื่อว่าการคุยกันจะต่อยอดไปสู่ทางออกของปัญหาสังคมได้ มันเลยเป็นที่มาของชื่อ Converstation ด้วย

แล้วพอเราเปิดพื้นที่สนทนาขึ้นแล้ว ที่นี่เลยกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดไปพร้อมๆ กับการเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกๆ คนที่จะได้เป็นตัวของตัวของ รวมไปถึงได้แสดงจุดยืนของตัวเองบนรากฐานของการเคารพกันและไม่ตัดสินกัน”

“เราชอบดูหนังอยู่แล้ว บวกกับเราเองก็อยากให้วงการฉายหนังบ้านเรามันหลากหลายกว่านี้ เราเลยเลือกจะเป็นพื้นที่ฉายหนังอิสระและไม่ได้ฉายอย่างเดียวด้วย แต่หลังดูจบในทุกๆ รอบที่เราฉาย เราก็มานั่งคุยกัน สนทนากัน คิดเห็นยังไง รู้สึกยังไง เรารู้สึกว่าการดูหนังจบแล้วออกจากโรง แยกย้ายกลับบ้าน มันเคว้งๆ นะ การดูจบแล้วมีเพื่อนคุยต่อมันโคตรดีเลยสำหรับเรา เราเลยอยากเป็นพื้นที่แบบนั้นไปพร้อมๆ กัน”

“จริงๆ เราไม่เคยจัดฉายหนังมาก่อนเลย เป็นคนดูมาตลอดชีวิต แต่ด้วยความตั้งใจของเราที่อยากให้หนังหรือสารคดีกระจายไปสู่ต่างจังหวัดบ้าง เราก็เลยลองทำดู ทำไปแบบเริ่มจากศูนย์มากๆ แล้วพอดีกับ co-founder อีกคนเขาตั้งใจทำพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่สนทนาอยู่แล้ว เราก็เลยเสนอไปว่าหนังเองก็เป็นประตูเชื่อมที่ดีมากๆ นะ ที่จะนำไปสู่บทสนทนาใหม่ๆ และหลากหลาย ก็เลยตัดสินใจว่าเรามาฉายหนังกันเถอะ”

“มีความประทับใจเกิดขึ้นเยอะมาก จริงๆ แค่มีคนเข้ามาดูหนังกับเรา เราก็รู้สึกดีแล้ว เพราะเราก็ลุ้นๆ ว่าจะมีคนรู้จักไหมนะ จะมีคนมาดูไหมนะ รู้สึกแบบนี้ตลอดเลย แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือทุกคนขอบคุณที่เราเปิดพื้นที่นี้ เขาเฝ้ารออยากดูหนังที่เราเอาเข้ามาฉายตลอดเลย เพราะที่ระยองมันไม่มีจริงๆ ยิ่งไปกว่านั้นคือหลายๆ คนก็กลายมาเป็นเพื่อนกัน เอาของมาซัพพอร์ตกัน สิ่งนี้โคตรจะมีคุณค่าเลย มันคือการสร้างคอมมูนิตี้และการเชื่อมต่อกันและกัน ส่งต่อความใจดีให้กันแม้จะไม่ได้รู้จักกันมาก่อน นี่เป็นความน่ารักที่เรารู้สึกว่าถ้าเราไม่มาทำตรงนี้เราคงไม่ได้สัมผัสจริงๆ”

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำพื้นที่ฉายหนัง รวมถึงพื้นที่ที่ทำอยู่ด้วย คือเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด ลงมือทำด้วยความเชื่อที่ว่ามันมีคนที่สนใจแบบเดียวกับเราอยู่จริงแต่แค่ยังไม่เจอกัน แล้ววันหนึ่งจะมีคนที่อินคล้ายๆ เรา เข้ามาพบเจอกัน ได้รู้จักกัน ได้ซัพพอร์ตกันและกัน แล้วสุดท้ายมันจะไปต่อได้เอง”

“เรารู้สึกเสียดายนะที่คนรอบตัวที่ทำงานในแวดวงศิลปะโคตรจะเก่งและมีของกันทุกคน แถมตอนนี้ทุกๆ คนก็มองเห็นแล้วว่าศิลปะสำคัญกับชีวิตพวกเขายังไง ไหนจะคอนเทนต์ในประเทศเราก็สามารถต่อยอดอะไรได้เยอะมาก สร้างเป็น soft power ที่แข็งแรงได้ไม่ยาก แต่พอรัฐตาบอดและมองไม่เห็นศักยภาพตรงนี้ แวดวงศิลปะเลยไปต่อได้ยาก เราแค่อยากให้รัฐเลิกแช่แข็งวัฒนธรรมเสียที

เชื่อว่าตอนนี้ทุกคนพยายามอย่างหนักเพื่อจะพัฒนาแวดวงศิลปะในประเทศ มันคงสนุกมากๆ ถ้าประเทศนี้ไม่มีคนคอยมานั่งตรวจนั่งชี้ว่าอะไรดีไม่ดี แต่ปล่อยให้ทุกคนได้คิด ได้สร้างสรรค์ ได้ทดลอง ได้เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งจริงๆ สิ่งนี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ยังเฝ้ารอวันที่ดอกไม้จะบานนะ”


ติดตามพวกเขาได้ที่ Converstation

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES