Asghar Farhadi กับคดี A Hero ที่ยังไม่จบ

หลายครั้งเมื่อต้องรีบเร่งอัพเดทผ่านการแปลความข้ามภาษาก็ก่อให้เกิดความสับสนผิดพลาด เช่นเดียวกับสื่อภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ต่างเผยแพร่เนื้อข่าวคลาดเคลื่อนอยู่เกือบหนึ่งวันเต็มๆ ว่า อัสการ์ ฟาร์ฮาดี ผู้กำกับรางวัลออสการ์และหมีทองคำ ถูกศาลอิหร่านตัดสินว่ามีความผิดจริง (guilty) ตามข้อกล่าวหาว่าได้ขโมยคัดลอก (plagiarize) ผลงานของนักศึกษามาเป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาคือ A Hero (2021) ก่อนแก้ไขถ้อยคำจากผิดจริงเป็น “ถูกสั่งฟ้อง” (indicted) แทน เมื่อมีทั้งคำชี้แจงและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุดในทางกฎหมาย

Film Club ขอไล่เรียงสรุปรายละเอียดความเป็นมาของคดีนี้ รวมถึงตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อถกเถียงที่ทั้งน่าสนใจและน่ากังวลเมื่อพิจารณาในประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ กับเส้นเรื่องซึ่งทำให้ฟาร์ฮาดีมีสถานะราวกับเป็นตัวละครในหนังของเขาเองที่ต้องเผชิญหน้ากับจุดพลิกผันและข้อถกเถียงด้านจริยธรรมที่ยากจะชี้นิ้วตัดสินผิดถูก

ไม่นานหลัง A Hero เปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ (และชนะรางวัลกรังด์ปรีซ์) อาซาเดห์ มาซิห์ซาเดห์ (Azadeh Masihzadeh) ได้กล่าวหาฟาร์ฮาดีออกสื่อว่าขโมยไอเดียและเนื้อหาไปจากสารคดีสั้นเรื่อง All Winners, All Losers (2018) ที่เธอกำกับในเวิร์กช็อปสารคดีที่เขาสอน เมื่อถูกกล่าวหาด้วยข้อหาร้ายแรง ฟาร์ฮาดีจึงฟ้องเธอข้อหาหมิ่นประมาท (ลำดับเหตุการณ์ว่าใครฟ้องใครก่อน สื่อภาษาอังกฤษยังเขียนขัดแย้งกันอยู่) และไม่ได้หยุดอยู่แค่สองคดีระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา เมื่อโมฮัมหมัด เรซา โชกรี (Mohammad Reza Shokri) นักโทษคดีหนี้สินผู้เก็บทองแล้วส่งคืนขณะลาพักโทษที่เป็นต้นเรื่องของหนังทั้งคู่ ก็ฟ้องฟาร์ฮาดีด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุผลว่าตัวละครใน A Hero ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

ข้อเท็จจริงเบื้องหลังเหตุการณ์จากทั้งสองฝ่ายรวมถึงบุคคลรายรอบ (ทนายความ, เพื่อนนักศึกษา, อาจารย์) นั้นค่อนข้างตรงกัน ยกเว้นจุดสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นคดีความ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 – ฟาร์ฮาดีเป็นอาจารย์สอนเวิร์กช็อปการทำหนังสารคดีที่ Karmaneh Institute ในกรุงเตหะราน ซึ่งเขาได้ให้นักศึกษาเก็บข้อมูลเพื่อทำหนังสารคดีภายใต้โจทย์ “คืนของหาย” โดยให้เนื้อหาข่าวเหตุการณ์จริงจากหนังสือพิมพ์กับสถานีโทรทัศน์ระดับประเทศเป็นข้อมูลเบื้องต้น นักศึกษาคนอื่นทำเรื่องจากข่าวที่ฟาร์ฮาดีนำมาให้ในเวิร์กช็อป ยกเว้นมาซิห์ซาเดห์ที่ค้นพบเรื่องราวของโชกรีด้วยตนเองที่เมืองชิราซ (Shiraz) ซึ่งเป็นบ้านเกิด

ฟาร์ฮาดีรับว่า A Hero ได้ไอเดียจากตัวโชกรีเช่นเดียวกับสารคดีของมาซิห์ซาเดห์ แต่แกนหลักของหนังนั้นได้แรงบันดาลใจจากส่วนหนึ่งในบทละคร Life of Galilio ของ แบร์โตลต์ เบรชท์ (Bertolt Brecht) และเมื่อกลับมาเวิร์กไอเดียนี้ต่อในปี 2019 ถึงได้ลงมือดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ โดยยืนยันว่าเคยเห็นข่าวนี้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเวิร์กช็อปที่เป็นปัญหา ส่วนเหตุผลที่ไม่ได้ติดต่อโชกรีก่อนเริ่มโปรเจกต์ ก็เพราะเขามองว่าตัวละครที่เขียนกับโชกรีตัวจริงเป็นคนละคนกัน จึงเลือกสืบค้นข้อมูลจากข่าวหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ เป็นหลัก ฟาร์ฮาดีให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังว่าไม่ได้ตั้งใจใช้หรือเน้นข่าวไหนเป็นพิเศษ แต่ตัวละครในความคิดเขาคือเหล่าคนเดินดินที่จับพลัดจับผลูตกเป็นพาดหัวข่าวกระแสสังคมเพราะการทำความดี แล้วเขียนบทต่อไปจากจุดนั้น

A Hero

ข้อถกเถียงเมื่ออ่านมาถึงจุดนี้จึงอยู่ในประเด็นที่ว่า ฝ่ายนักศึกษาจะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเรื่องของบุคคลที่มีตัวตนจริงและเป็นข่าวซึ่งสาธารณชนรับรู้อยู่แล้วได้อย่างไร เพราะต่อให้หนังสือพิมพ์ที่ฟาร์ฮาดีนำมาเป็นโจทย์ในเวิร์กช็อปคราวนั้นจะไม่มีเรื่องโชกรีรวมอยู่ด้วย และเธอค้นพบเรื่องนี้ด้วยตัวเองจริงเมื่อเดินทางกลับบ้านเกิด ฟาร์ฮาดีก็ย่อมมีสิทธิ์รู้เรื่องผ่านช่องทางอื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเวิร์กช็อปสารคดี (The Hollywood Reporter ได้รับลิงค์ข่าวภาษาฟาร์ซีจากฝ่ายกฎหมายของฟาร์ฮาดี ซึ่งลงวันที่ปี 2012 และ “คล้ายว่า” จะเป็นข่าวโชกรีคืนทอง)

ตรงนี้เองที่ข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน – มาซิห์ซาเดห์สู้คดีว่าข้ออ้างของฟาร์ฮาดีไม่เป็นความจริง เพราะเหตุการณ์โชกรีคืนทองเป็นข่าวแค่ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ชิราซ หนังสือพิมพ์ดังที่จำหน่ายทั่วประเทศอิหร่านไม่เล่นข่าวนี้ เขาไม่เคยได้ออกทีวีช่องใหญ่ และไม่มีข่าวนี้ให้สืบค้นในโลกออนไลน์ (ดังนั้นความเป็นไปได้เดียวก็คือ ฟาร์ฮาดีต้องรู้เรื่องนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเธอพรีเซนต์โปรเจกต์สารคดีในเวิร์กช็อปแล้วเท่านั้น) ผู้อำนวยการของ Karmaneh Institute และเพื่อนร่วมคลาสส่วนหนึ่งพูดตรงกันว่ามาซิห์ซาเดห์เริ่มทำสารคดีจากเรื่องที่เธอค้นพบเองจริง ไม่ได้ตั้งต้นจากข่าวที่ฟาร์ฮาดีนำมาให้ แต่ก็ไม่ได้หักล้างความเป็นไปได้ที่ว่าฟาร์ฮาดีอาจเคยเห็นเรื่องนี้มาก่อน

ในขณะที่เพื่อนกลุ่มหนึ่งได้ให้การเป็นพยานสนับสนุนมาซิห์ซาเดห์ นักศึกษาอีกหลายคนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปเดียวกันก็ยื่นคำให้การเพื่อสนับสนุนฟาร์ฮาดีในคดีเดียวกัน (ยังไม่ปรากฏว่ามีสื่อภาษาอังกฤษได้พูดคุยกับนักศึกษากลุ่มนี้) ซึ่งสำหรับมาซิห์ซาเดห์แล้ว พวกเขาอาจต้องทำไปเพราะแรงกดดันแบบเดียวกับที่เธออ้างว่าประสบพบเจอมาเอง – เธอเล่ากับ The Hollywood Reporter ว่าหลัง A Hero เริ่มถ่ายทำในปี 2019 ฟาร์ฮาดีได้เรียกเธอไปพบที่ห้องทำงาน ให้เซ็นเอกสารเพื่อมอบสิทธิ์ต่อตัวเรื่องและยืนยันว่าไอเดียทั้งหมดของ All Winners, All Losers นั้นเริ่มต้นจากเขา ซึ่งเธอยอมเซ็นเพราะเกรงสถานะกับอำนาจของฟาร์ฮาดี

ฉากนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเคลือบแคลงสงสัย เพราะถึงแม้ว่าฝ่ายกฎหมายของฟาร์ฮาดีจะยืนยันกับสื่อตามหลักการว่าลำพังเฉพาะไอเดียกับแนวคิด (concept) นั้นย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ดังนั้นเอกสารที่ให้เธอเซ็นวันนั้น (และต่อมาถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสู้คดี) จึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่ก็ตอบคำถามได้ไม่ชัดเจนเพียงพอว่าแล้วฟาร์ฮาดีให้มาซิห์ซาเดห์เซ็นเอกสารฉบับนี้ทำไม

หลังจากเรื่องนี้เริ่มเป็นข่าวที่สังคมอิหร่านสนใจได้สักพัก ผู้อำนวยการของ Karmaneh Institute ก็ได้รับการติดต่อจากศิษย์เก่าคนหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าฟาร์ฮาดีก็เคยลอกไอเดียจากผลงานในเวิร์กช็อปสารคดีที่เขาเข้าร่วมเมื่อปี 2011 และเชื่อว่าฟาร์ฮาดีหยิบใช้ส่วนนั้นส่วนนี้จากหนังของนักศึกษาไปทำงานตัวเองโดยไม่ให้เครดิต แต่เขาก็พูดกับสื่อ (โดยปกปิดชื่อจริง) ว่าไม่เคยคิดฟ้องร้องให้เป็นคดีความเพราะ “เขาเอาเรื่องผมไปทำแบบไหนก็ถือเป็นงานเขา ไม่ใช่งานผม”

มวลของความเคลือบแคลงนี้ล้อไปกับสถานะของฟาร์ฮาดีในสังคมอิหร่านเองด้วย เพราะถึงจะมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือด้วยความสำเร็จระดับโลก แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนทำหนังอิหร่านดังๆ ที่พอทันยุคกันอย่าง อับบาส เคียรอสตามี (Abbas Kiarostami) โมห์เซ็น มัคห์มัลบัฟ (Mohsen Makhmalbaf) จาฟาร์ ปานาฮี (Jafar Panahi) หรือ โมฮัมหมัด ราซูลอฟ (Mohammad Rasoulof) ก็คือตัวฟาร์ฮาดีไม่เคยวิพากษ์ผู้มีอำนาจหรือแนวคิดอิสลามนิยมในประเทศอย่างเปิดเผย และหนังของเขาก็แทบไม่เคยมีปัญหาโดนเซ็นเซอร์จากรัฐบาลอิหร่านเลย (ในขณะที่ทุกรายชื่อข้างต้นล้วนเคยมีหนังถูกห้ามฉาย ส่วนปานาฮีกับราซูลอฟถึงขั้นถูกตัดสินจำคุก)

All Winners, All Losers

บางฝ่ายมองว่าท่าทีเช่นนี้ทำให้ความสำเร็จในต่างแดนของฟาร์ฮาดีกลายเป็นตัวกระตุ้นแนวคิดรักชาติของฝ่ายขวาในอิหร่าน บ้างก็รู้สึกว่าเขายินดีให้กลุ่มอำนาจนิยมใช้หนังของเขาเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อในเวทีโลก หรือถึงขั้นแอบสนับสนุนอยู่ลับๆ

ตามรายงานของสื่อมวลชนในอิหร่าน คดีความทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพิ่งเสร็จสิ้นขึ้นตอนการพิจารณาของศาลคดีวัฒนธรรมและสื่อประจำกรุงเตหะราน (Tehran Culture and Media Court) โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (ซึ่งสร้างความสับสนให้สื่อภาพยนตร์ภาษาอังกฤษมากมาย) ศาลฯ ได้อ่านคำสั่งกับผลการพิจารณาหลักฐานประกอบคดีจากพนักงานสอบสวนของสำนักงานอัยการ (judicial investigator, ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อชี้ว่าคดีมีน้ำหนักเพียงพอต่อการพิจารณาคดีขั้นต่อไปในชั้นศาลหรือไม่) ที่มีผลผูกพันต่อคำฟ้องและข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้น

คดีแรก: ฟาร์ฮาดีฟ้องมาซิห์ซาเดห์ข้อหาหมิ่นประมาท – ศาลไม่รับฟ้อง

คดีที่สอง: โชกรีฟ้องฟาร์ฮาดีว่า A Hero ทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง – ศาลไม่รับฟ้อง

คดีที่สาม: มาซิห์ซาเดห์อ้างสิทธิ์ในส่วนแบ่งรายได้ที่ฟาร์ฮาดีจะได้รับจาก A Hero – ศาลไม่รับคำร้อง

และคดีที่สี่: มาซิห์ซาเดห์ฟ้องฟาร์ฮาดีว่าขโมยคัดลอกผลงานของเธอ – ศาลรับฟ้อง

เท่ากับว่าตอนนี้เหลือแค่คดีเดียวที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีคือการตัดสินว่าฟาร์ฮาดีมีความผิดฐานขโมยคัดลอกผลงานหรือเปล่า หลังจากที่พนักงานสอบสวนฯ ลงความเห็นว่าพยานหลักฐานของคดีนี้มีน้ำหนักเพียงพอ (แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติม) ในขั้นตอนต่อไป หมายเรียกของพนักงานสอบสวนฯ จะถูกส่งต่อไปยังศาลอาญา เพื่อเรียกตัวฟาร์ฮาดีให้ไปปรากฏตัวต่อศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลอาญาจะพิจารณาความผิดพร้อมกำหนดอัตราโทษ – ทนายความของฟาร์ฮาดีชี้แจงว่าศาลอาญาจะตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดอีกครั้ง และกระบวนการยังสามารถไปต่อที่ศาลอุทธรณ์ได้อีก พร้อมกับตั้งความหวังว่าผู้พิพากษาจะกลับคำตัดสิน (จากที่พนักงานสอบสวนฯ เห็นว่าพยานพลักฐานมีน้ำหนักพอเอาผิด) เมื่อได้รับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา

เช่นเดียวกับ อเล็กซองดร์ มาลเลต์-กีย์ (Alexandre Mallet-Guy) หนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ A Hero ที่เขียนแถลงการณ์สนับสนุนฟาร์ฮาดี ชี้แจงข้อเท็จจริงของคดีหลังเกิดความสับสน และแสดงความเชื่อมั่นว่าศาลจะตัดสินให้เขาพ้นผิดเพราะ “คุณมาซิห์ซาเดห์ไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์เหนือสาธารณสมบัติ (public domain) เมื่อเรื่องของนักโทษคนดังกล่าวปรากฏในรายงานข่าวกับรายการโทรทัศน์อยู่แล้วหลายปีก่อนที่สารคดีของเธอจะออกฉาย” พร้อมอ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในอิหร่าน (แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติม) ว่าบทวิเคราะห์ที่เขียนถึงคดีนี้ ล้วนสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่าฟาร์ฮาดีไม่มีความผิด

คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าเรื่องจะเดินไปถึงฉากอ่านคำพิพากษา แต่ความน่าสนใจคือจุดชี้เป็นชี้ตายของคดีนี้ ซึ่งไม่ใช่การจับผิดว่า A Hero นั้นเหมือนหรือต่างกับ All Winners, All Losers มากน้อยแค่ไหน (เพราะได้แรงบันดาลใจเดียวกันย่อมมีจุดเหมือน แต่รายละเอียดหลายช่วงก็ต่างกันชัด) หากคือข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายยกมาสู้คดีในชั้นศาลว่าวีรกรรมเก็บทองคืนเจ้าของของโชกรีนั้นเข้าข่ายเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนจริงหรือไม่ และไม่ว่าศาลอิหร่านจะชี้ว่าข่าวเก็บทองนี้เป็นที่รับรู้ทั่วกันหรือแค่ข่าวท้องถิ่น ก็ยังยากต่อการคาดเดาว่าศาลมีทัศนคติเรื่องลิขสิทธิ์อย่างไร ความน่าเคลือบแคลงสงสัยในบางพฤติกรรมของฟาร์ฮาดีมีส่วนสำคัญหรือไม่ และสถานะในสังคมอิหร่านของเขาจะส่งผลในทางบวกหรือทางลบเมื่อกระบวนการพิจารณาคดีเดินหน้าต่อไป

Related NEWS

LATEST NEWS