Everything Everywhere All At Once – พหุจักรวาลแห่งครอบครัวและภาษี

(2022, Daniel Kwan, Daniel Scheinert)

เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

เพื่อให้เป็นไปตามกฏของเมอร์ฟีที่ว่า ‘ทุกสิ่งที่สามารถผิดพลาด จะผิดพลาด’ (Anything that can go wrong, will go wrong)1https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9F%E0%B8%B5 หรือพูดให้มันเว่อร์กว่านี้อีกนิดว่า ถ้ามีสิ่งเลวร้ายใดที่สามารถจะเกิดขึ้นได้มันจะเกิดขึ้นเสมอ มันจึงไม่มีวันใดที่เหมาะจะพิสูจน์กฏข้อนี้ไปมากกว่าวันนี้ วันที่เอฟเวอลีนหรือชิ่วเหลียน ต้องจัดงานครบรอบวันเกิดพ่อของเธอที่บินมาจากเมืองจีน วันเดียวกันที่สามีของเธอตั้งใจจะมาคุยเรื่องการขอหย่า วันที่ลูกสาวตั้งใจจะพาแฟนสาวมางาน หมายจะเปิดตัวเพื่อท้าทายเธอต่อหน้าอากง ที่หนักหนาที่สุด มันคือวันที่เธอและสามีต้องกระเตงพ่อไปยื่นภาษีที่สรรพากรก่อนจะกลับมาเตรียมงานเลี้ยงในร้านซักผ้าหยอดเหรียญของเธอ 

เพียงแค่นี้ทุกอย่างก็ฟังดูพร้อมจะวินาศสันตะโร แต่มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะระหว่างอยู่ในลิฟต์ จู่ๆ สามีของเธอก็เปลี่ยนไป เขาบอกว่าเขามาจากที่อื่น สั่งให้เธอสวมรองเท้าสลับข้าง เฝ้าฟังให้ดี ตอนนี้เธอเป็นผู้ที่ถูกรับเลือกให้กระโดดข้ามพหุจักรวาลเพื่อไปต่อสู้กับผู้ร้ายที่กระโดดข้ามพหุจักรวาลของตนจนรับรู้ทุกอย่าง แล้วธาตุไฟแตกซ่าน คลั่งจนอาจทำลายล้างทุกจักรวาลนี้ แล้วทำไมเธอได้รับเลือกน่ะหรือ เพราะเมื่อเทียบกันกับชีวิตของเธอในจักรวาลอื่นๆ เธอแย่ที่สุด อยู่ในระเบียบมาทั้งชีวิต ไม่มีความฝัน ไม่เคยลองทำอะไรแปลกใหม่ เธอคือความเป็นไปไม่ได้ ในพหุจักรวาลแห่งความเป็นไปได้ จึงไม่มีใครเหมาะเจาะไปกว่าเธออีกแล้ว

แล้วเธอเป็นใคร เธอคือผู้หญิงจีนอพยพตามสามีมายังอเมริกา เรียกได้ว่าหนีพ่อที่ไม่ยอมรับเขามาด้วยกัน ตอนนี้อายุเธอเข้าหลักห้า เปิดร้านซักรีดแบบหยอดเหรียญกับสามีที่เป็นคนหงอๆ มีลูกสาวที่ประกาศตัวเป็นเลสเบี้ยน และมีความสัมพันธ์เจ็บปวดกับแม่ตัวเองที่ในที่สุดก็เป็นแม่ชาวเอเชียน (Asian) คนหนึ่ง เธอกำลังเจอปัญหาหนักเพราะทำข้อมูลภาษีไม่ถูกต้อง อาจจะโดนข้อหาฉ้อโกงรัฐ และโดนยึดร้านได้ เจ้าหน้าที่สรรพากรก็ดูจะจงใจเขี้ยวกับเธอกว่าคนอื่น 

ในวันที่ปัญหาประดังประเดมาใส่ เธอค้นพบว่าไม่ใช่ว่าเธอคือผู้ที่ต้องแบกรับปัญหา อันที่จริงเธอนี่แหละคือส่วนหนึ่งของปัญหา เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก็เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาด้วย ทั้งปัญหาของจักรวาลนี้และจักรวาลอื่นๆ

เราอาจบอกได้ไม่ยากว่าโดยเนื้อแท้ นี่คือหนังที่พูดถึงการทบทวนตัวเองของผู้หญิงที่อยู่ในวิกฤติวัยทอง ที่ไม่ใช่เรื่องทางกายภาพ แต่คือเรื่องของครอบครัว และการงาน เธออยู่ในจุดที่ไม่มีอะไรให้ไปต่อข้างหน้า มองเข้าในปัจจุบันก็พบแต่ความตึงเครียดล้มเหลว อดีตกลายเป็นการประจานตัวเองว่าเธอเลือกทางผิด เราอาจบอกได้ว่าทั้งหมดเกิดจากความเครียดจนสติแตกขณะต้องไปยื่นภาษี ไม่ก็มีพหุจักรวาลอยู่จริง ทั้งหมดอาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นจริง แต่อย่างน้อยการฝันถึงมิติคู่ขนาน พหุจักรวาล หรือ ‘In Another Life’ แบบในเนื้อเพลง The One That Got Away ของ Katy Perry ก็ถูกทำให้เห็นเป็นภาพได้ และความฝันกลางวันเหล่านั้นก็เป็นทั้งเครื่องปลอบประโลมจิตใจในวัยหนึ่งก่อนก็เป็นบทลงโทษตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอีกวัยหนึ่ง

หนังใส่ไม่ยั้งในภาคส่วนของการจินตนาการถึงชีวิตที่ต่างออกไป พหุจักรวาลเป็นรถไฟเหาะชนิดที่ตามองแทบไม่ทัน เป็นทั้งการล้อเลียน genre ภาพยนตร์ต่างๆ อย่างรวดเร็วน็อนสตอปแบบที่ Fast and Feel Love ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ซึ่งเล่าเรื่องวิกฤติชีวิตของสัตว์โลกในทุนนิยมคล้ายๆ กัน (แต่ต่างช่วงวัย) อยากจะเป็นแต่ยังไปไม่ถึง (เราอาจบอกได้ว่า EEAO เป็น F&FL ฉบับที่เล่าเรื่องแม่ของเกาแทนก็อาจจะพูดได้เหมือนกัน) ในขณะเดียวกันก็เป็นการพูดอย่างเจ็บปวดถึงทางที่เราไม่ได้เลือก

ในทางหนึ่งหนังกลายเป็นการคารวะและยั่วล้ออย่างบ้าคลั่งต่อภาพยนตร์ที่มีตั้งแต่หนังเพลงอินเดียเก่าๆ ไปจนถึง 2001: Space Odyssey ของ Stanley Kubrick หรือการเลือก เจมี ลี เคอร์ติสมารับบทเจ้าหน้าที่สรรพากร/นางตัวร้าย ที่กลายเป็นการคารวะบทบาทลอรี่ สโตรดของเธอที่ต้องวิ่งหนี่พี่ชายนักเชือดโรคจิตและยังวิ่งอยู่ในหนังชุด Halloween ไปจนถึงบทสายลับสาวสองหน้าใน True Lies แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือการที่หนังกลายเป็นการแสดงความเคารพ การหวนรำลึก หรืออาจจะกล่าวคำลาต่อหนังฮ่องกงจำนวนมาก ตั้งแต่การยั่วล้อแนบไปกับชีวิต ดารา/นางงาม/ซือเจ๊กังฟู ของ Michelle Yeoh ที่ในยุคสมัยหนึ่งคนไทยรู้จักเธอดีในชื่อฉายาติดตัวว่า ‘ซือเจ๊’ (ที่กลายเป็นชื่อหนังภาคภาษาไทยอย่างพอเหมาะพอเจาะ) และชื่อจีน หยางจื่อฉุน เธอโด่งดังจากบทซือเจ๊ต่อยตีขายความกังฟู + นางงาม (เธอเกิดในอิโปห์และเคยคว้ามงกุฎนางงามมาเลเซีย) ตัวบทเวย์มอนด์สามีของเอฟเวอลีนซึ่งเดิมหนังวางแผนว่าจะให้เฉินหลงมาเล่นแต่เขาปฏิเสธไป ไปจนถึงการคารวะหนังจีนกำลังภายใน หนังกังฟู หนังงิ้ว ไปจนถึง หว่องกาไว พหุจักรวาลหนึ่งๆ กลายเป็นหนังเรื่องหนึ่งเป็นการหวนรำลึกหนังฮ่องกงด้วยสายตาแบบคนจีนโพ้นทะเลที่อย่างน้อยในทศวรรษ 1960 -2000 ล้วนเติบโตมากับหนังเหล่านี้ ก่อนที่ฮ่องกงจะเป็นอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

ในทางหนึ่งหนังกลายเป็นการคารวะและยั่วล้ออย่างบ้าคลั่งต่อภาพยนตร์ที่มีตั้งแต่หนังเพลงอินเดียเก่าๆ ไปจนถึง 2001: Space Odyssey ของ Stanley Kubrick หรือการเลือก เจมี ลี เคอร์ติสมารับบทเจ้าหน้าที่สรรพากร/นางตัวร้าย … แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือการที่หนังกลายเป็นการแสดงความเคารพ การหวนรำลึก หรืออาจจะกล่าวคำลาต่อหนังฮ่องกงจำนวนมาก ตั้งแต่การยั่วล้อแนบไปกับชีวิต ดารา/นางงาม/ซือเจ๊กังฟู ของ Michelle Yeoh ที่ในยุคสมัยหนึ่งคนไทยรู้จักเธอดีในชื่อฉายาติดตัวว่า ‘ซือเจ๊’

หนังไม่รีรอที่จะบอกว่าพหุจักรวาลหนึ่งคือหนังเรื่องหนึ่ง คือฝันกลางวันครั้งหนึ่งคือความเป็นไปได้หนึ่งๆ ที่เราไม่ได้เลือก หนังจดจ่ออยู่กับการฉายภาพซ้ำช่วงเวลาทางแยกของชีวิต การแตกหักกับพ่อ การเปิดร้านซักรีด การคลอดลูก การคืนดีกับพ่อ และบอกเป็นนัยๆ ว่าถ้าเธอเลือกอีกทาง ถ้าฉันทำอะไรบ้าๆ บ้างชีวิตของเธออาจจะแตกต่างไปจากนี้ เธออาจได้เป็น ดาราดัง เป็นเชฟ เป็นนักต่อสู้ เป็นนักร้อง เป็นคนตาบอด เป็นคนสวมชุดมาสคอตโฆษณาร้านพิซซ่า พหุจักรวาลที่เธอไม่ได้เลือกในทางหนึ่งโบยตีเธอ แต่ในอีกทางหนึ่งก็ช่วยเหลือเธอ เมื่อเธอสามารถผึกยุทธอย่างฉับไวเยี่ยงการตัดต่อแฟลชแบคในหนังกำลังภายในที่ย่นย่อเวลาของการแบกน้ำขึ้นบันไดเส้าหลิน หรือฝึกซ้อมเพลงมวยในป่าครั้งแล้วครั้งเล่าจนสิบปีเหลือหนึ่งนาทีและเธอพร้อมปกป้องโลกกับทักษะใหม่ๆ ในแง่นี้พหุจักรวาลกลายเป็นการไปเข้าคอร์สทำเทปปันยากิ ฝึกกังฟูหรือฝึกการใช้ชีวิตแบบคนตาบอด ลดรูปเหลือเพียงทักษะ ไม่ใช่ชีวิตซึ่งสอดรับกันดีกับประเด็นสำคัญของหนัง 

เพราะเมื่อย้อนกลับมาพิจารณาเพียงจักรวาลหลักของหนัง เราพบว่าเรื่องในหนังเกิดขึ้นเพียงในสถานที่เพียงสองแห่งเท่านั้น นั่นคือสำนักงานสรรพากร และ ร้านซักรีด บ้านของเธอเอง จนเราอาจบอกได้ว่าไม่ว่าจะกระโดดไปยังพหุจักรวาลใดสิ่งที่เราจะหนีไม่พ้นมีเพียงสองอย่างคือ ครอบครัวและภาษี

เช่นเดียวกับเกาใน Fast and Feel Love (ย้ำอีกครั้งว่าหนังสองเรื่องนี้พูดเรื่องที่ใกล้กันมากคือวิกฤติของมนุษย์ในฐานะสัตว์โลกของทุนนิยม) เอฟเวอลีนต้องสู้รบปรบมือกับใบเสร็จจำนวนมาก และการเอาเรื่องส่วนตัวมาปนเปกับงาน เช่นการเอาใบเสร็จค่าเครื่องคาราโอเกะ (ที่โผล่มาในฉากแรกที่ถ่ายผ่านกระจกกลม เห็นพ่อแม่ลูกร้องคาราโอเกะด้วยกัน) มาเป็นส่วนหนึ่งในค่าใช้จ่ายของร้าน ในโลกทุนที่งานแยกออกจากเรื่องส่วนตัว การแยกไม่ได้ระหว่างงานกับเรื่องส่วนตัวเป็นอะไรที่เอเชียนมากๆ ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าทุนนิยมบีบคั้นผู้คนให้ต้องแยกทั้งสองส่วนนี้ออกจากกันและต้องทำให้ดีทั้งคู่ งานส่วนงานบ้านส่วนบ้าน แต่ร้านของเธออยู่ในบ้าน วันไปจัดการภาษีเธอก็พาคนทั้งบ้านไปเพราะต้องดูแลพ่อที่ป่วยไข้ ผู้ร้ายในนามของทุนเลยสิ่งสู่อยู่ในเจ้าหน้าที่สรรพากรที่กลายเป็นปีศาจไล่ล่าเธอ ถ้าเธอไม่สมยอมกับระบบ เธอจะเสียทั้งร้านทั้งบ้าน วิกฤติของเธอจึงเป็นวิกฤติแบบเดียวกับสัตว์ในโลกทุนจำนวนมาก ทุนนิยมที่ให้โอกาสได้ก็ทำลายล้างได้ อย่างบ้าคลั่งเสียด้วย

ทุนนิยมบอกกับเราว่า แม้แต่ทางเลือกในพหุจักรวาลอื่นๆ ประสบการณ์แบบอื่น หรือการออกไปใช้ชีวิต มีคุณค่าความหมาย แต่ไม่ใช่คุณค่าความหมายภายใน แต่มันคือการพัฒนาทักษะที่ทุนจะรีดเอาออกมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตในอนาคต เพื่อให้ในที่สุด ชีวิตที่ต้องต่อสู้ ยอมจำนนและเป็นส่วนหนึ่งกับทุนไหลลื่นขึ้น จนไม่น่าแปลกใจว่า สโลแกนแบบออกไปใช้ชีวิตนั้นได้ประโยชน์สองต่อ ทั้งในแง่การออกไปบริโภคเพื่อให้ทุนขับเคลื่อน และได้กำไรเป็นทักษะฝึกความแข็งแกร่งของนิ้วก้อยหรือการใช้ตะหลิวมากปกป้องให้ทุนดำเนินต่อไป จ่ายภาษีครบจบแน่ ผัวจะคืนดีด้วย ร้านซักรีดจะดำรงคงอยู่ ชีวิตหลักได้รับการปกป้องสำหรับการจ่ายภาษีในปีต่อไป

ทุนนิยมบอกกับเราว่า แม้แต่ทางเลือกในพหุจักรวาลอื่นๆ ประสบการณ์แบบอื่น หรือการออกไปใช้ชีวิต มีคุณค่าความหมาย แต่ไม่ใช่คุณค่าความหมายภายใน แต่มันคือการพัฒนาทักษะที่ทุนจะรีดเอาออกมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตในอนาคต เพื่อให้ในที่สุด ชีวิตที่ต้องต่อสู้ ยอมจำนนและเป็นส่วนหนึ่งกับทุนไหลลื่นขึ้น

แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือครอบครัว หนังค่อยๆ เปิดเผยว่าตัวร้ายคนสำคัญที่เธอต้องต่อกรคือ จูบุ โทพากี ซึ่งที่แท้คือ จอย ลูกสาวของเธอจากอีกพหุจักรวาล หากในจักรวาลนี้ เธออับอายที่ลูกสาวอ้วนและเป็นเลสเบี้ยน จะแสดงความรักก็ทำไม่เป็น หนังไม่ยอมให้เราเห็นอดีตของทั้งคู่ แต่จากบุคลิกของแต่ละคนก็มั่นใจได้เลยว่าแม่ลูกคู่นี้ต้องผ่านสงครามต่อกันและกันมานับครั้งไม่ถ้วน ทำร้ายทำลายกันโดยไม่ตั้งใจครั้งแล้วครั้งเล่า ฉากที่เด็ดขาดคือฉากที่ลูกสาวกำลังจะออกจากบ้านหลังจากทะเลาะกัน เธอทำท่าอยากจะพูดอะไรกับลูก แต่การแสดงความรักกลายเป็นการแสดงความอ่อนแอเสมอสำหรับพ่อแม่ชาวเอเชียน เธอเลยเรียกลูกไว้แล้วพูดว่าลูกอ้วน ให้กินอาหารที่มีประโยชน์เสียบ้าง ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง

ลูกสาวที่ต่อต้านเธอได้ขยายตัวออกไปเป็นการต่อต้านในทุกพหุจักรวาลที่มีเธอเองเป็นศูนย์กลางศัตรูคือลูกสาวที่รู้เห็นพหุจักรวาล (A.K.A.โลกภายนอก) ที่เธอไม่รู้จัก สร้างหลุมดำขึ้นในรูปทรงคล้ายขนมปังเบเกิ้ล เพื่อกลืนกินทุกอย่างในพหุจักรวาลของแม่ เพราะมันคือความกลัวของแม่ ที่ว่าลูกสาวได้กลายเป็นอื่น เป็นหญิงอ้วนแต่งตัวน่าเกลียดที่ใจร้ายใจดำพอที่จะทำลายสายสัมพันธ์ของครอบครัวเพื่อความสุขของตัวเอง

อย่างไรก็ดีเราต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงพหุจักรวาลเฉพาะของเธอ (เพราะเราอาจบอกได้ว่าหากเปลี่ยนแกนกลางของพหุจักรวาลนี้เป็นสามีเธอหรือลูกสาวเธอ เราก็จะได้เรื่องเล่าที่ต่างออกไปอีกร้อยพันเรื่องทวีคูณ) และสิ่งที่น่ากลัวกว่าคือ ที่มันเป็นเช่นนี้เพราะเธอเอง เธอเป็นคนสร้างลูกสาวแบบนี้ขึ้นมาด้วยการปิดกั้นความรัก ความห่วงใย ความเป็นไปได้ของมนุษย์ ซึ่งเธอก็รับสิ่งนี้สืบทอดมาจากพ่อของเธอเอง มันจึงกลายเป็นว่าตัวร้ายของตัวร้ายกลายเป็น อัลฟากงกง (หรือพ่อของเธอในอีกจักรวาล) โดยไม่รู้ตัว เพราะที่เขาทำไปก็เพื่อปกป้องพหุจักรวาล (ที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง) เช่นเดียวกัน

ฉากการต่อสู้ท้ายเรื่องที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง จึงกลายเป็นภาพที่อาจจะมาแทนฉากระเบิดอารมณ์ในวงกินข้าวแบบเราชาวเอเชีย ฉากการแตกหักกับพ่อแม่ การร้องให้เสียน้ำตาขณะพูดจาเทิ่มแทงกันให้เหวอะหวะ การเปลี่ยนซีนดราม่าให้กลายเป็นฉากการต่อสู้ด้วยนิ้วก้อย หรือการใช้ดิลโด้เป็นอาวุธสังหาร จึงไม่ใช่การทำให้มันรุนแรงมากขึ้น แต่คือการทำให้มันรุนแรงน้อยลงต่อจิตใจของตัวละคร 

แต่พหุจักรวาลเหล่านี้คือความเป็นไปได้ที่มีข้อจำกัดในตัวมันเอง เช่นเดียวกันกับข้อจำกัดของเรื่องเล่าที่โครงสร้างกำหนดให้มันต้องจบลงและจบลงอย่างน่าพอใจ จักรวาลจึงมีขอบเขตของมันเอง ที่ในที่สุด เอฟเวอลีนต้องกลับมาจัดการจบทุกเรื่องเล่าในพหุจักรวาล ตั้งแต่แร็กคูนบนศีรษะเชฟเพื่อนร่วมงานที่ทำให้ทำอาหารเก่ง การรักผู้หญิงในจักรวาลนิ้วไส้กรอก การร้องเพลงเพี้ยนบนเวที หรือการพบคนรักเก่าที่ในอีกจักรวาลคือสามีของเธอเอง ทุกอย่างม้วนตัวจบอย่างงดงาม โดยเธอพ่ายแพ้ต่อทุนนิยมในสองระดับ ระดับแรกคือ หลังจากวิพากษ์การที่มันคุกคามเธอผ่านทางระบบภาษีที่รีดไถชีวิตไปจากเธอถึงที่สุด เธอต้องกลับมาประนีประนอมกับเจ้าหน้าที่สรรพากร และยืดขยายเวลาชำระภาษี โลกกลับมาสงบสุข เธอไม่สามารถต่อต้านทุนได้ไม่ว่าในพหุจักรวาลใด เช่นเดียวกันกับที่หนังเมนสตรีมเรื่องนี้เองก็เป็นผลผลิตของทุน ที่ไม่อาจต่อต้านต่อบทสรุปที่เข้าข้างทุนนิยม เมื่อเราปรับและรับมือได้ เราเรียนรู้ที่จะปล่อยมือจากพหุจักรวาลอื่นๆ หรือจากความฝันที่เราไม่มีทางได้ครอบครอง เราลดรูปมันให้เหลือเพียงการทำอะไรเพี้ยนๆ เช่น การสลับข้างรองเท้า อมรูปตุ๊กตาคางคก บอกรักคนที่เกลียด หรือฉี่รดกางเกง ความฝันนั้นมอบทักษะให้เรา แต่ไม่ได้ให้ชีวิตใหม่กับเรา เพราะชีวิตตรงหน้านั้นดีที่สุดแล้ว พหุจักรวาลเป็นเพียงประตูที่เราควรเยี่ยมหน้าเข้าไปดู แล้วลั่นดาลมันเสีย เพราะถ้าเราเปิดไปเรื่อยๆ เราก็จะหลุดออกจากระบบที่ควบคุมเราจะเป็นคนบ้า คนเพี้ยน เป็นสาวแต่งตัวประหลาดที่เข้าไปทำให้โลกไม่สงบสุข หนังจบอย่างเป็นสุข ทุนนิยมขับเคลื่อนโลกต่อไปผู้คนได้ซาบซึ้งพอสมควรกับความรักที่มีต่อครอบครัว หน่วยย่อยที่สุดที่ลักให้ทุนเดินหน้าราวกับเครื่องจักรที่ไม่เหน็ดเหนื่อย ภาษีจะถูกชำระ ร้านจะยังอยู่ เธอรู้จักการเป็นคนจิตใจดี เธอกลับมาคืนดีกับลูกสาว เบเกิ้ลหลุมดำปลาสนาการไป อากงเรียนรู้ว่าชีวิตใหม่ลื่นหลุดการควบคุมของเขาไปนานแล้ว โลกจบสงบสุข ทุกพหุจักรวาลคืนสู่สมดุลโดยมีทุน (ฉากสุดท้ายของหนังจบลงตรงการไปเสียภาษีจนได้) คอยควบคุมไว้

แต่พหุจักรวาลเหล่านี้คือความเป็นไปได้ที่มีข้อจำกัดในตัวมันเอง เช่นเดียวกันกับข้อจำกัดของเรื่องเล่าที่โครงสร้างกำหนดให้มันต้องจบลงและจบลงอย่างน่าพอใจ จักรวาลจึงมีขอบเขตของมันเอง ที่ในที่สุด เอฟเวอลีนต้องกลับมาจัดการจบทุกเรื่องเล่าในพหุจักรวาล … ทุกอย่างม้วนตัวจบอย่างงดงาม โดยเธอพ่ายแพ้ต่อทุนนิยม

กระนั้นก็ตาม ฉากที่งดงามที่สุดในหนังซึ่งเราอยากให้เป็นฉากจบของหนังจริงๆ คือฉากที่เธอพบว่าทุกสิ่งนั้นหลุดเลื่อนออกไปจากมือ เธอไม่มีสิทธิ์ยื้ออะไรได้แล้ว ในพหุจักรวาลสุดท้ายเธอกลายเป็นก้อนหิน ก้อนหินที่ไม่มีความหมายไร้ความรู้สึก หลุดออกจากทุกระบบ เพียงดำรงคงอยู่ในทะเลทรายเคียงข้างกับลูกสาว ก้อนหินไม่ผลิต ไม่จ่ายภาษี ไม่หนีพ่อไปกับผัว ไม่เป็นเลสเบี้ยน ไม่ร้อนหนาว และไม่ฝัน ถ้าเรากลายเป็นหินกันไปหมด ทุนนิยมก็ล่มสลาย ความเป็นไปได้ของก้อนหิน เลยเป็นไปไม่ได้ และน่าเสียดายที่หนังก็กลายเป็นความเป็นไปไม่ได้เช่นนั้น เพื่อที่จะรักษาครอบครัว เราจึงต้องประนีประนอมกับทุน เป็นแขนขาของมัน และดำรงชีวิตต่อไป

หากนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด หนังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อเพื่อการต่อต้านปฏิวัติ มันทำหน้าที่เป็นเพียงเรื่องเล่าชนิดหนึ่งที่ชี้ชวนให้เรามองเห็นถึงปัญหา และมอบความประโลมใจให้ เราจะได้มีชีวิตอยู่ในจักรวาลอันจำกัดจำเขี่ย ทุกข์เศร้า และยากแค้นของเราต่อไปได้อย่างมีความสุขขึ้นมาบ้าง เราจึงอยากยินดีกับเธอ ที่เธอเปิดใจต่อความเป็นคนมีน้ำใจของสามีในวิธีการต่อสู้ (และประนีประนอมกับทุน) ในแบบของเขา เปิดใจรับลูกสาวอย่างที่ลูกสาวเป็น เปิดใจกับพ่อถึงบาดแผลที่พ่อทำไว้ และรักษาร้านเอาไว้ได้ 

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS