Blog Page 4

MIDNIGHT CINEMA 09 – เทอมสอง สยองขวัญ : คน ผี ปีการศึกษา (ศาส(จ)ตร์)

เด็กผู้หญิงเห็นผีคนหนึ่งเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย เธอมีเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวที่เป็นคนเห็นผีด้วยกัน เพื่อนของเธอทำเป็นมองไม่เห็นได้ ทำเป็นคนปกติได้ พยายามจะมีชีวิตใหม่ในรั้วมหาลัย แต่เธอไม่ เธอยังคงมองเห็นคนตายตรงนั้นตรงนี้ บางครั้งเธอก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ เธอคิดว่ามันจะไม่เป็นไร ขอแค่มีเพื่อนสนิทคอยอยู่ข้างๆ แต่เพื่อนของเธอก็มีชีวิตเป็นของตัวเอง อยากรู้จักคนอื่นๆ อยากมีเพื่อนใหม่ อยากเป็นคนปกติเหมือนคนอื่นๆเขาบ้าง เพื่อนสาวบอกให้เธอหัดทำเป็นไม่เห็นบ้าง แต่มันช่างยากเย็น จนในวันประชุมเชียร์นั้นเอง เธอไม่สามารถควบคุมความกลัวจากการมองเห็นผีทุกหนแห่งได้อีก แม้แต่ในใบหน้าของรุ่นพี่ ความกลัวทำให้เธอกลายเป็นคนนอก และถูกการกระทำรวมหมู่ขับเน้นให้มันเด่นชัดว่าเธอไม่ใช่คนของที่นี่หรือที่ไหนและไม่มีใครดูแลเธอได้อีกแล้ว

เด็กหนุ่มกำลังเตรียมตัวสอบเพื่อสอบความถนัดทางแพทย์ในเช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากวันสถาปนามหาวิทยาลัยที่เขาตื่นแต่เช้า สวมเครื่องแบบไปร่วมงาน คืนนั้นเขาตัดสินใจอยู่หอในเพียงลำพังเพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบ ไม่มีใครอยู่ที่นั่นแม้แต่ยาม ว่ากันว่ามันเป็นเพราะตำนานเตียงซีที่เขานอน ว่ากันว่าทุกวันสถาปนา ผีของรุ่นพี่นักเรียนแพทย์ที่ตายเพราะโดนรถชนก่อนจะได้เข้าเรียนจะกลับมาที่หอ เพื่อตามหาเตียงซีของตัวเอง คืนนั้นแฟนสาวของเขาแอบเข้ามาอยู่เป็นเพื่อน แต่เขาก็รำคาญจนไล่เธอไป เธอรู้ว่าเขามีความลับบางอย่างที่เขาไม่ยอมบอก จนเมื่อเธอกลับไป เขาก็อยู่ตัวคนเดียวในหอ เผชิญกับการกำเริบของโรคในตัวเองยังไม่พอยังต้องเผชิญหน้ากับผีนักเรียนแพทย์ที่กลับมาตามเรื่องเล่าจริงๆ อีกด้วย

เด็กสาวสามคนทำแล็บกันจนดึกดื่นอยู่ในตึกคณะหลังใหม่ เพื่อแก้ง่วงหนึ่งในสามเลยเล่าเรื่องผีในตึกคณะเก่า ทั้งผีของนางตะเคียนที่สิงอยู่ในป้ายคณะเก่าที่ทำจากไม้ ผีรุ่นพี่ที่เรียนไม่จบ เลยไปเช่าครุยแล้วโดดตึกลงมาในวันรับปริญญา และ ผีของอาจารย์ที่ตายเพราะหายาขยายหลอดเลือดหัวใจมากินไม่ทัน ว่ากันว่าผีทั้งหมดยังคงวนเวียนอยู่ในตึกที่เลิกใช้นั้น หนึ่งในเด็กสาว ต้องรอน้องชายที่เรียนไม่จบ ตอนนี้ออกไปขับรถส่งอาหารเอาคอมพิวเตอร์มาให้ ตัวน้องชายกำลังตามง้อสาวที่คบออนไลน์อยู่ เลยไปจอดผิดตึกและต้องไปไฝว้กับผีทั้งหลายอย่างไม่กลัวใดๆ

นี่คือเรื่องสั้นสามเรื่องจากผู้กำกับสามคนที่ถูกนำมาประกอบกันขึ้นเป็นหนังยาว ผูกพ่วงอยู่กับตำนานผีในมหาวิทยาลัย โดยเล่าผ่านช่วงเวลาของสามพิธีกรรมสำคัญนอกเหนือจากการศึกษา แต่ดูจะใหญ่โตและสำคัญกว่าการศึกษาเสียอีก นั่นคือ พิธีกรรมรับน้อง งานสถาปนามหาวิทยาลัย/การปฏิญาณตนตามวิชาชีพ และ การรับปริญญา

น่าสนใจอย่างยิ่งที่ดูเหมือนชีวิตในมหาวิทยาลัยของนักศึกษาชาวไทยทั้งในจอและนอกจอนั้นเป็นอีนหนึ่งอันเดียวกับพิธีกรรมเหล่านี้มากกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิชาการสาขาที่มาศึกษาเสียอีก แม้หนังในสองตอนหลังจะบอกคณะออกมาตรงๆ แต่ถึงไม่บอกเราก็สามารถอนุมานได้ทันทีผ่านทาง ‘เครื่องแบบ’ ได้ว่าเรื่องราวทั้งสามตอนเกิดในคณะ ‘สายวิทย์’ เสื้อช็อปในเรื่องแรก ทำให้เดาไปได้ว่าอาจจะเป็นคณะวิศวะ เรื่องที่สองบอกอย่างชัดเจนว่าเตรียมแพทย์ และเรื่องที่สามนอกจากจะบอกว่าเป็นคณะวิทยาศาสตร์ เรายังเห็นนักศึกษาทั้งสามใส่เสื้อกาวน์ทับเครื่องแบบนักศึกษาตลอดทั้งเรื่อง ในขณะที่คนนอกระบบการศึกษาหนึ่งเดียวในหนังทั้งสามตอน ก็ย้ายตัวเองเข้าไปในเครื่องแบบของบริษัทส่งอาหารเสียแทน จนเราอาจบอกได้ว่านี่คือหนังเด็กสายวิทย์เจอผี และมี ’เครื่องแบบ’ เป็นอีกตัวละครหลัก ผีที่เป็นภาพแทนของความเชื่องมงายจากยุคก่อนวิทยาศาสตร์หากดูเหมือนยังมีพลังอำนาจอยู่ราวกับว่าการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโลกของการศึกษาแยกขาดออกจากหลักพื้นฐานของวิชาวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยการพิสูจน์ความจริงผ่านการตั้งสมมติฐานและการทดลอง วิทยาศาสตร์ในฐานะวิชาแยกขาดออกจากความเชื่อส่วนบุคคลการแยกการเรียนวิทยาศาสตร์ออกจากปรัชญาพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการแยกการศึกษา (เพื่อให้รู้ให้เข้าใจ ให้ตั้งคำถาม) ออกจากพิธีกรรมทางการศึกษา (เพื่อให้รัก เทิดทูนและสมยอมโดยไม่ตั้งคำถาม) 

ในทางหนึ่ง การศึกษาในสังคมไทยเป็นไปเพื่อยกระดับชั้นทางสังคม เพื่อเปลี่ยนตัวเองให้เป็นแรงงานของโลกทุนนิยม เป็นไปเพื่อให้มีงานทำเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวมากกว่าความสงสัยใครรู้ความสนใจในตัววิชาอย่างแท้จริง การศึกษาเป็นไปเพื่อให้ได้ใบเบิกทางไปสู่การทำงานมากกว่าการเรียนเพื่อตอบคำถามจากภายในใจตน มันจึงกลายเป็นว่าสิ่งที่ยึดโยงนักศึกษาเข้ากับการศึกษา ไม่ใช่ตัวเนื้อหาวิชา แต่เป็นพิธีกรรมเชิงอำนาจของสถานศึกษาที่นักศึกษาจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่ ที่มีเส้นคั่นกลางคือ ‘เครื่องแบบ’ การกลายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นไปเพื่อการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว ความภาคภูมิใจไม่ได้อยู่ในความรู้แจ้งแห่งสิ่งที่ตนเรียนมากกว่าการได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันที่ตนสังกัด ตั้งแต่ชื่อชั้นของมหาวิทยาลัยไปจนถึงสังกัดแห่งวิชาชีพ

ในทางหนึ่ง การศึกษาในสังคมไทยเป็นไปเพื่อยกระดับชั้นทางสังคม เพื่อเปลี่ยนตัวเองให้เป็นแรงงานของโลกทุนนิยม เป็นไปเพื่อให้มีงานทำเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวมากกว่าความสงสัยใครรู้ความสนใจในตัววิชาอย่างแท้จริง การศึกษาเป็นไปเพื่อให้ได้ใบเบิกทางไปสู่การทำงานมากกว่าการเรียนเพื่อตอบคำถามจากภายในใจตน มันจึงกลายเป็นว่าสิ่งที่ยึดโยงนักศึกษาเข้ากับการศึกษา ไม่ใช่ตัวเนื้อหาวิชา แต่เป็นพิธีกรรมเชิงอำนาจของสถานศึกษาที่นักศึกษาจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่

ความสำคัญของ ‘เครื่องแบบ’ นั้นฉายชัดเจนแทบจะเป็นความบ้าคลั่งเครื่องแบบในตอนที่สาม (ตึกวิทย์เก่า) ผ่านทางเรื่องของผีรุ่นพี่ที่เรียนไม่จบ แล้วเสียใจถึงขั้นไปเช่าชุดครุยมาใส่และกระโดดตึก ผีชุดครุยที่เพ่นพ่านอยู่ใน ‘ตึกวิทย์เก่า’ กลายเป็นเครื่องหมายของการยึดติดอยู่ในเครื่องแบบโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเครื่องแบบมีความหมายซ่อนเร้นถึงสังคมที่ตนสังกัด ในวันที่พวกพ้องใส่ชุดครุยการใส่ชุดนักศึกษากลายเป็นเครื่องหมายของความไม่ประสบความสำเร็จ แต่ที่ดุเดือดกว่านั้นคือ หนังไปไกลถึงขั้นเอาชุดครุยมากรุกระจกวางไว้ให้คนกราบไหว้ ราวกับว่าความตายของรุ่นพี่เป็นนิทานสาธกสอนใจให้ตั้งใจเรียน เพราะถ้าเรียนไม่จบ จะจบแบบผีชุดครุย เครื่องแบบจึงเป็นรูปแบบของผีที่เป็นผีที่หลอกหลอนก็ได้ให้โชคก็ดี มากกว่าผีจริงๆ เสียอีก

แต่ผีในตอนสามของหนังไม่ได้มีแค่นั้น เมื่อผีชุดครุย ผนวกรวมกับผีคุณครู และผีนางตะเคียนป้ายคณะทำให้ผีทั้งสามกลายเป็นภาพแทนของผีในฐานะ ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ แบบต่างๆ ที่คอยหลอกหลอนให้คนในต้องกลัว ในรูปของสถาบัน (ป้ายคณะ) ครู และปริญญาบัตร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในคณะจะละเมิดมิได้ จนทำให้หนังมันสนุกที่ตัวละครที่ละเมิดทุกความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องกลายเป็นคนนอก ที่นอกจากจะนอกคณะยังนอกระบบการศึกษาอีกด้วย หากการศึกษาในหนังคือภาพของความหวาดกลัวและยอมจำนนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์พื่อจะเป็นส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์เมื่อเรียนจบ การท้าทายของคนที่อยู่นอกระบบจึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเป็นเพียงผีที่มีอำนาจอยู่ในกลไกเฉพาะของระบบการศึกษา ที่นักศึกษาต้องไหว้มากกว่าเรียน

แต่ผีในตอนที่สอง (เตียงซี) นั้นดุเดือดกว่านั้น ผีของรุ่นพี่เตรียมแพทย์ที่กลับมายังเตียงหอในขอตัวเอง ให้ภาพของคนที่อยู่ตรงกันข้ามกับไอ้หนุ่มนอกระบบการเรียนในตอนที่สาม เพราะนี่คือผีของคนที่คลั่งในการศึกษา ผีของคนที่ปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอันทรงเกียรติอย่างเช่นวิชาชีพแพทย์ ผีในหนังไม่ได้เป็นเพียงคนตาย แต่ผีคือการปฏิญาณตนนั้นเสียเอง 

หนังให้ตัวละครเป็นนักศึกษาที่ค้นพบว่าตัวเองตกคุณสมบัติทางกายภาพที่จะเรียนแพทย์ได้ แต่ก็ยังถูกหลอกลอนด้วยการได้รับโอกาสให้ปฏิญาณตนเป็นนักศึกษา แม้โครงของหนังอาจจะทำให้ชวนขมวดคิ้วเกี่ยวกับวิธีคิดของตัวเอก ทั้งเรื่องการปิดบังความจริงจากคนรัก หรือการทู่ซี้อยู่หอในวันที่ดูยังไงก็ไม่จำเป็น แต่หนังทำให้ผีกับคนเป็นกระจกส่องสะท้อนกันในฐานะของคนที่ปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันแต่เป็นไม่ได้ และถูกหลอกหลอนจากความรู้สึกล้มเหลวในตัวเองมากกว่าจะเป็นเรื่องของคนป่วยเจอผี หากเรื่องที่น่าขำจริงๆ คือการที่สิ่งที่ไล่ผีไปไม่ใช่การยอมรับความจริง หรือการปล่อยมือจากสิ่งที่ยื้อเอาไว้ไม่ได้ แต่หากคือ คำปฏิญาณของวิชาชีพ! ราวกับคำปฏิญาณเป็นมนต์คาถาที่ใช้ป้องกันตัวจากสิ่งชั่วร้าย ผีที่น่ากลัวที่สุดจึงไม่ใช่ผีของรุ่นพี่แต่คือเข็มแสดงความเป็นนักศึกษาแพทย์ ผีในตอนนี้จึงยักย้ายจากผีรุ่นพี่ไปสู่ผีของความปรารถนาที่ไม่อาจเติมเต็มของการได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันและเป็นไม่ได้ สถาบันจึงตระหง่านอยู่เหนือชะตากรรมเล็กจ้อยของผู้คน

หากผีที่น่าสนใจที่สุดคือผีในตอนแรกของหนัง (เชียร์ปีสุดท้าย) ซึ่งแตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ผีของสองตอนหลังว่ายวนอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน ดูเหมือนผีในตอนแรกสุดกลับเป็นมวลความคั่งแค้นที่ว่ายวนอยู่สถานศึกษา

หนังเล่าเรื่องของเมษา คนเห็นผีที่แทบไม่สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อีกต่อไป เธอมีเพียงต่าย เพื่อนคนเดียวจากสมัยมัธยมที่แชร์ความทุกข์กับเธอในฐานะคนเห็นผีด้วยกัน หนังเล่าเรื่องราวในคืนเดียวในการประชุมเชียร์ เมื่อเมษาเริ่มมองเห็นผีในระหว่างประชุม ผีคนผูกคอตาย หรือผีนักศึกษาที่มาประชุมเชียร์ ดูเหมือนผีที่เมษาเห็นไม่ใช่ผีที่จำเพาะเจาะจงหรือผูกพ่วงอยู่กับเหตุการณ์ในอดีต ผีที่เธอเห็นคือ มวลรวมของความทุกข์เศร้าเคียดแค้นของบรรดานักศึกษารุ่นก่อนหน้าที่ว่ายวนอยู่ ผีประชุมเชียร์กลับหัว ไม่น่าใช่ผีของนักศึกษาที่ตายยกรุ่น แต่เป็นผีของการประชุมเชียร์โดยตัวมันเอง ผีที่ไร้อำนาจ ไม่ถูกมองเห็น หรือแม้แต่เป็นผีของคนที่ไม่อาจเข้าพวกในสังคมรวมหมู่ ถูกกีดกันออกไป ถูกทำให้อาย ให้โกรธ หากในอีกทางหนึ่งผี ยังเป็นผีของระบบอำนาจที่ถูกกดทับเป็นทอดผ่านสถานะรุ่นพี่รุ่นน้อง รุ่นพี่ปีสองกดดันพวกเธอ และรุ่นพี่ที่จบไปแล้วมากดดันพี่ปีสองอีกทอดหนึ่ง ในฉากสำคัญที่เมษาปะทะกับรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว สิ่งที่เธอมองเห็นจึงไม่ใช่แค่ผีประชุมเชียร์แต่เป็นผีที่ซ้อนเข้ากับตัวรุ่นพี่ ผีที่เป็นผีของอำนาจ ผีที่ทำให้คนที่อายุโตกว่าไม่กี่ปีเชื่อว่าตัวเองมีอำนาจออกคำสั่ง

หากในอีกทางหนึ่งผี ยังเป็นผีของระบบอำนาจที่ถูกกดทับเป็นทอดผ่านสถานะรุ่นพี่รุ่นน้อง รุ่นพี่ปีสองกดดันพวกเธอ และรุ่นพี่ที่จบไปแล้วมากดดันพี่ปีสองอีกทอดหนึ่ง ในฉากสำคัญที่เมษาปะทะกับรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว สิ่งที่เธอมองเห็นจึงไม่ใช่แค่ผีประชุมเชียร์แต่เป็นผีที่ซ้อนเข้ากับตัวรุ่นพี่ ผีที่เป็นผีของอำนาจ ผีที่ทำให้คนที่อายุโตกว่าไม่กี่ปีเชื่อว่าตัวเองมีอำนาจออกคำสั่ง

การเห็นผีของเมษาจึงเป็นภาพแทนของการเห็นระบบอำนาจในระบบการศึกษาบ้าพิธีกรรมทั้งผู้กดทับและผู้ถูกกดทับ แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการทำเป็นมองไม่เห็นของต่าย ผู้ซึ่งปรารถนาจะมีชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย สำหรับเมษาต่ายเป็น ‘เพื่อนร่วมทุกข์’ ของเธอ การปฏิเสธว่าตัวเองไม่เห็นจึงเป็นการปฏิเสธเพื่อนของตนด้วย มันงดงามที่หนังอธิบายจากคนสองฝั่งทั้งคนที่เข้ากับโลกไม่ได้ และคนที่พยายามจะเข้าให้ได้กับโลก ความทุกข์ของการที่ต้องคอยดูแลกันจนไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเอง นำมาซึ่งฉากจบที่เจ็บปวดและสะเทือนใจมากๆ เมื่อเธอถูกทำให้เห็นไปตลอดกาล

แต่การทำเป็นไม่เห็นของต่ายมีนัยที่น่าสนใจกว่านั้น เพราะการทำเป็นไม่เห็นของเธอเป็นไปเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การมองไม่เห็นผีกลายเป็นภาพแทนของการทำเป็นไม่เห็นความรุนแรงที่ปรากฏขึ้นตรงหน้า ความพยายามไปจากอดีตอันขมขื่นทำให้เธอยอมสละตัวตนของตัวเธอ และเมื่อเธอทำเป็นไม่เห็น เธอก็กลายเป็นฝ่ายสมยอม และเมื่อนั้นเธอก็ถูกนับเป็นพวก และเป็นคนทรยศ

เทียบกับตัวละครในอีกสองตอนที่เหลือ ต่ายดูเหมือนจะเป็นเพียงคนเดียวที่ไม่ต้องสู้รบปรบมือกับผี เป็นคนเดียวที่ไม่ได้ถูกหลอกหลอนด้วยผีของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระบบการศึกษาไทย หนังจบลงด้วยภาพของเธอรับปริญญาสวมชุดครุย กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบได้อย่างแนบเนียน แต่เธอกลับเป็นคนเดียวที่จะเห็นผีไปตลอดกาล สำหรับตัวละครอื่นๆ ผีเป็นเพียงสิ่งที่พวกเขา ‘บังเอิญ’ เห็นและพวกเขาก็ตาบอดต่อไปหลังจากคิดว่าจัดการกับผีนั้นได้ ด้วยการสยบยอม แต่สำหรับคนอย่างต่าย คนที่เห็นแล้ว และยังเห็นอยู่เรื่องสยองขวัญของเธอกลายเป็นสิ่งที่จะยืดยาวออกไป ถึงที่สุดความรุนแรงนั้น/ความเคียดแค้นนั้น และผีนั้น จึงกลายเป็นสิ่งที่จะหลอกหลอนเธอไปตลอด 

เราอาจมองได้ว่า ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เทอมสองสยองขวัญได้ฉายภาพการผลิตซ้ำของระบบอำนาจและการใช้อำนาจในระบอบการศึกษาไทย ถึงที่สุด บรรดานักศึกษาไม่ได้มีแค่ความรู้วิชาติดตัว แต่สิ่งที่พวกเขาได้จริงๆ จากระบบคือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม ด้วยการผ่านพิธีกรรมจากผู้ถูกกดทับมาเป็นผู้กดทับ เลื่อนชั้นขึ้นมาเพื่อกดทับคนรุ่นต่อไป ผ่านทางเครื่องแบบ เข็มกลัด หรือชุดครุย ผ่านทางการรับน้อง การคลั่งสถาบัน และการรับปริญญา ถึงที่สุด การศึกษาดูดกลืนปัจเจกชนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจอันใหญ่โตที่กดทับและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผ่านทางมา จนกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะถูกรื้อถอน พิธีกรรมจะถูกลบล้าง ผีในมหาวิทยาลัยจะคอยหลอกหลอนทั้งคนที่เห็น ไม่เห็น หรือทำเป็นไม่เห็นมันต่อไป

Peacemaker สันติคงไม่ใช่ทางออก

“ผู้สร้างสันติเหรอ ขำฉิบหาย” คำพูดในวาระสุดท้ายของริก แฟล็ก เมื่อครั้งไปปฏิบัติภารกิจสตาร์ฟิชยังติดอยู่ในหัวของพีซเมกเกอร์ไม่ไปไหน แม้กระทั่งยามที่เขาถอดหมวดเหล็กทรงประหลาดออกจากหัวแล้วดำรงชีวิตในฐานะคริสโตเฟอร์ สมิธ แน่นอนว่าสำหรับคนที่ตั้งตนเป็นผู้สร้างสันติแบบไม่เลือกวิธีอย่างเขามันควรจะเป็นแค่การประชดประชันที่ควรจะลอยลมผ่านหูไปเหมือนมุกตลกที่มีอยู่กลาดเกลื่อนในหนัง The Suicide Squad (2021) แต่ไม่เลย มันสะเทือนตัวตนของชายอันธพาลคนขาว ศาลเตี้ยผู้อุดมไปด้วยอารมณ์ขันเหยียดผิวเหยียดเพศผู้นี้ไปถึงระดับจิตวิญญาณ

เรื่องราวของ Peacemaker เป็นเหตุการณ์ที่เกิดต่อจากภารกิจสตาร์ฟิชไม่นานนัก มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อพีซเมกเกอร์ อาชญากรผู้ตั้งตนเป็นผู้พิทักษ์สันติฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บ เขาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรจากการลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ทุกสิ่งก็ไม่ได้ดีจริงตามที่คาด พีซเมกเกอร์ถูกบีบให้กลับมารับภารกิจ “บัตเตอร์ฟลาย” ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เคยก่อการขัดขืนคำสั่งของอแมนด้า วอลเลอร์ในคราวที่แล้ว ปัญหาใหญ่ก็คือ ก่อนจะเริ่มกระทำการใดๆ เขาจำเป็นจะต้องกลับบ้านไปขอความช่วยเหลือจากพ่อผู้เป็นครอบครัวเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ สำหรับคริส การดำรงชีวิตอยู่ในสายตาของพ่อดูจะเป็นเรื่องยากเย็นกว่าการรบราฆ่าฟันกับสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกเสียอีก

“ไม่เคยคิดเลยว่าสเปิร์มของฉันจะโตมาเป็นไอ้กระจอกพรรค์นี้” ออกี้ สมิธรำพึงออกมา เขาเป็นชายชราท่าทางร้ายกาจ ด่าใครต่อใครว่าเป็นไอ้ตุ๊ดได้อย่างไม่กระดาก แขวนธงชาติสหรัฐฯ กลับหัวไว้หน้าบ้าน เปิดฟังข่าวทฤษฎีสมคบคิดรัฐซ้อนรัฐตลอดเวลา เมื่อได้เห็นวิธีที่เขาปฏิบัติต่อลูกชายที่ไม่เจอกันนานหลายปี เราก็สามารถเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็นนักว่า พีซเมกเกอร์ ศาลเตี้ยในหมวกเหล็กทรงประหลาดถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร

เจมส์ กันน์เคยพูดถึงการหาประโยชน์และการกดขี่ในครอบครัวมาแล้วใน The Guardian of The Galaxy Vol.2 แต่สิ่งที่ทำให้ Peacemaker ต่างออกไปคือ เรื่องราวของครอบครัวที่บิดเบี้ยวในครั้งนี้มีความเป็นการเมืองผสมอยู่ด้วยอย่างเข้มข้น เพียงไม่กี่นาทีที่โรเบิร์ต แพทริกปรากฏตัวในบทของพ่อ เราก็พอจะเห็นภาพได้ทันทีว่าทำไมลูกชายของเขาจึงกลายเป็นกัปตันอเมริกาเวอร์ชั่นขวาตกขอบไปเสียได้ เบื้องหลังของอารมณ์ขันหยาบโลนและความเป็นอันธพาลของพีซเมกเกอร์จะเป็นสิ่งอื่นใดไม่ได้เลย นอกจากวงจรที่ส่งต่อความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น

แต่คงจะไม่ถูกต้องนัก หากจะบอกว่าวงจรนี้คือปัจจัยเดียวที่บ่มเพาะความรุนแรงในบรรดาผู้นิยมอุดมการณ์ขวาจัด อีกสิ่งที่น่าตั้งคำถามไม่แพ้กันคือการเชิดชูความถูกต้องโดยไม่สนวิธีการ ไม่ใช่แค่เฉพาะออกี้ที่ได้รับการเปิดเผยในภายหลังว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มเชิดชูคนขาว อารยันเอมไพร์ แต่วิธีการของวอลเลอร์ที่ใช้นักโทษอุกฉกรรจ์มาทำภารกิจเสี่ยงตายในนามของความสงบของประเทศชาติ (คราวนี้เธอก้าวไปอีกระดับด้วยการให้ลูกสาวแท้ๆ แฝงตัวมาในทีมปฏิบัติการ เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง) และพวก “ผีเสื้อ” ที่ชิงร่างมนุษย์มากมายเพื่อใช้ปฏิรูปมนุษยชาติด้วยความหวังดีก็ถือว่าเข้าข่ายการกระทำการอันโหดเหี้ยมในนามของความถูกต้องทั้งสิ้น 

เราจะพูดได้หรือไม่ว่าพีซเมกเกอร์คนนี้ คือรูปร่างหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนฝ่ายขวาชาตินิยมสุดโต่ง

Peacemaker อาจถูกฉาบหน้าไว้ด้วยมุกตลกชั่วร้าย แต่สาระสำคัญของมันก็ไม่ใช่ภารกิจกอบกู้สันติภาพอย่างบ้าคลั่งด้วยปืน ระเบิด หรือสำนึกรักชาติเยี่ยงอเมริกันชนคนขาว สิ่งที่อยู่ลึกลงไปใต้เปลือกของความบ้าบอคอแตกนั้นคือวิกฤติศรัทธาของชายคนหนึ่งที่เพิ่งจะเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเชื่อตลอดมานั้นมีปัญหา วิกฤตินี้เริ่มก่อตัวชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเขาเริ่มเปิดให้ผู้ร่วมภารกิจใหม่เป็นเพื่อน โดยเฉพาะกับอาเดบาโย (ดานิแอลล์ บรูกส์) ลูกสาวของวอลเลอร์ คนที่สัมผัสถึงความเศร้าที่อยู่ใต้เปลือกของคนบ้ากล้ามโตในชุดสุดฟิตได้ก่อนใคร

เจมส์ กันน์ใช้ฉากเล็กๆ หลายฉากอธิบายความอ่อนไหวของอันธพาลอย่างพีซเมกเกอร์ได้ดีเกินคาด เช่น ฉากที่เขาแสดงออกถึงความนิยมในดนตรีและความเควียร์ในคณะดนตรียุค 90 อย่าง The Quireboys ว่า “ความแมนของวงร็อกสมัยก่อนคือพวกเขาไม่กลัวที่จะเป็นผู้หญิงไงล่ะ” หรือฉากที่เขาคุยกับอาเดบาโยบนรถว่า “ผมว่าจู๋ของผมเป็นเลสเบี้ยน” มันพอจะทำให้เราเห็นภาพว่าแท้จริง ภายใต้หมวกเหล็กทรงพิลึก คริส สมิธ เป็นชายคนซื่อ เป็นคนที่สับสนมากกว่าเป็นคนบ้าสันติภาพ           

ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่านี่คือเจตนาของกันน์หรือไม่ แต่ซีรีส์ตลกเรื่องนี้ของเขาก็ชวนให้คิดถึงหนัง Captain America: The First Avengers (2011) ในแง่ที่ว่าแท้จริงแล้วสตีฟ โรเจอร์สเองก็อาจจะไม่ได้อยากเป็นยอดนักรบผู้หยุดยั้งสงครามมากเท่าที่เขาอยากจะพิสูจน์คุณค่าของตัวเองต่อชาวโลก (โดยเฉพาะอเมริกัน) เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่เขารู้สึกต่ำต้อย เพียงแต่ พีซเมกเกอร์ ของกันน์ไม่ได้มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาคริสต้องการการยอมรับจากคนคนเดียว การที่สันติภาพของเขาบิดเบี้ยวกลายเป็นความรุนแรงโหดเหี้ยม ไม่ได้เป็นไปเพื่อสิ่งใดนอกจากการปลอบประโลมตัวเองว่าเขายังมีคุณค่าในสายตาคนที่สำคัญ และกลบฝังความทรงจำว่าตัวเองเคยใช้ความรุนแรงก่อโศกนาฏกรรมโดยไม่ตั้งใจ เขาใช้สันติภาพเป็นข้ออ้างเพื่อลบความรู้สึกผิดที่จะระเบิดความรุนแรงออกมา มันต้องเป็นความรุนแรงที่มีประโยชน์มากกว่าการชกกันหน้าแหกในสวนหลังบ้านเพื่อให้ผู้ใหญ่เอามาใช้พนันกันอย่างในอดีต

ตลอดทั้ง 8 ตอนตัวซีรีส์ เราจะได้เห็นพีซเมกเกอร์เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยจากจุดที่เขารับปากภารโรงที่โรงพยาบาลว่าจะฆ่าคนขาวให้มากขึ้น เพื่อให้ตัวเองเป็นคนที่เหยียดผิวน้อยลง ผ่านจุดที่เชื่อว่าเขาไม่ควรฆ่าใครสุ่มสี่สุ่มห้า ไปจนถึงจุดที่เขาต้องเลือกระหว่างสันติภาพและหัวจิตหัวใจอันเป็นมนุษย์ในท้ายที่สุด เจมส์ กันน์ยังคงทำสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญได้ดี นั่นคือการแอบหยอดหัวจิตหัวใจลงไปนิดๆ หน่อยๆ ในระหว่างบรรทัดของมุกตลกเจ็บแสบ โดยเฉพาะมุก “เคราย้อม” ที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าเขาเป็นคนใจร้ายที่มีความตระหนักรู้ในตัว (Self-awareness) และเข้าใจจิตวิทยาของพวกคนขี้แกล้งขี้รังแกอยู่มากทีเดียว 

ตลกร้ายประการหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อผู้สร้างสันติได้ลดความ “รักสันติ” ลงเขากลับดูบ้าคลั่งน้อยลงและเป็นมีสันติใจหัวใจมากขึ้น คำตอบของโลกที่เรามาไกลจากจุดที่จะกลับไป “เงียบสงบ” ตามเดิมมากโข อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรารักสันติมากจนพอจะสังเวยทุกอย่างให้มันได้มากแค่ไหน หรือสันติภาพในแบบของใครมันถูกต้องกว่ากัน

ตลกจริงๆ ที่ต้องให้ซีรีส์แอ็กชั่นยิงกันเลือดสาดแบบนี้มาพูดให้ฟัง


ดู Peacemaker ได้ที่ HBO GO

ศิลปินผิวสี หญิงขวาจัด อเมริกันชน คนทำหนังโป๊ – 4 หนังจาก SXSW ที่เราอยากดูตอนนี้และเดี๋ยวนี้

เทศกาลหนัง South by Southwest (SXSW) ประจำปี 2022 ที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส เพิ่งจบลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นอีกปีที่คึกคัก เต็มไปด้วยหนังสารคดีนักดนตรี และหนังเดบิวต์ของผู้กำกับหน้าใหม่นับไม่ถ้วน ปีนี้มีหนังเรื่องเด่นอย่าง I Love My Dad ว่าด้วยพ่อที่ปลอมตัวเป็นสาวสวยมาสานสัมพันธ์กับลูกชายในโซเชียลมีเดียที่คว้ารางวัลชนะเลิศสาขาหนังเล่าเรื่อง และ Look at Me: XXXTENTACION สารคดีเล่าเรื่องราวชีวิตของแรปเปอร์หนุ่มผู้ถูกยิงเสียชีวิตในวัย 20 เมื่อไม่กี่ปีก่อน แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราหวังว่าจะได้ดูในเร็ววัน และเหล่านี้คือ 4 เรื่องที่เราอยากพูดถึง


Master of Light

จอร์จ แอนโธนี มอร์ตัน (George Anthony Morton) เป็นศิลปินวาดภาพพอร์ตเทรตที่ได้แรงบันดาลใจและศึกษาเทคนิคจากฝีแปรงของเรมแบรนท์และเหล่าจิตรกรคลาสสิกชื่อก้อง อาจะไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่หากเราไม่ได้รู้ว่า กว่ามอร์ตันจะยืนหยัดในแอตแลนตาในฐานะศิลปินและพ่อลูกหนึ่งได้ เขาได้ถูกคุมขังในคุกมา 11 ปีด้วยข้อหาค้ายาเสพติด ได้ฝึกฝนการวาดภาพที่นั่น และหนังเพิ่งเฉลยว่าที่เขาติดคุกนานขนาดนั้น ‘อาจ’ เป็นเพราะแม่ของเขาให้เบาะแสกับตำรวจเพื่อแลกกับการลดโทษของตัวเอง

ในสารคดีเรื่องนี้ มอร์ตัน ผู้ซึ่งผู้กำกับชาวดัทช์ โรซา รูธ บูสเทน (Rosa Ruth Boesten) เรียกว่าเป็น collaborator มากกว่าซับเจกต์ มีภารกิจสองอย่าง หนึ่ง—เข้าออกแกลเลอรีเพื่อตามหาร่องรอยของคนผิวสีในภาพวาดคลาสสิกจากยุคต่างๆ เพราะภาพที่เขาเห็นในโรงเรียนศิลปะหลังออกมาจากคุกมีแต่คนขาว และหากมีคนผิวสีก็เป็นการนำเสนอที่เต็มไปด้วยการกีดกันและกดทับ สอง—เข้าออกห้องของนักบำบัดเพื่อปลดเปลื้องบาดแผลในจิตใจและความขุ่นเคืองต่อมารดาที่เขาทั้งรักทั้งชัง สาม—เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อวาดภาพพอร์ตเทรตสมาชิกในครอบครัวผู้เสี้ยมสอนให้เขาขายยาและนำพาเขาลงไปยังก้นเหว แต่กระนั้นก็อาจเป็นที่มาของแสงสว่าง เมื่อเขาต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักและเข้าใจรากเหง้าอันเปราะบางและรวดร้าวของตัวเอง

Master of Light คว้ารางวัลชนะเลิศจากเทศกาลและได้รับเสียงชื่นชมอย่างพร้อมเพรียง หนังจริงใจและจับใจอย่างยิ่งเมื่อมอร์ตันเปิดเผยตัวตนและความเจ็บปวดให้เราเห็นโดยไม่เรียกร้องความเห็นใจ แต่ยืนอย่างมั่นคงเพื่อภรรยาผู้มีปูมหลังแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ลูกสาวผู้เฝ้ามองและชื่นชมพ่อของเธอ และหลานชายที่บ้านเกิดผู้อาจต้องเดินเส้นทางเดียวกับเขาในตอนเด็ก หนังสะท้อนความร้าวรานอันยาวนานข้ามรุ่นของคนผิวสีในอเมริกาที่ยังมีอยู่และทวีความร้ายกาจมากขึ้นทุกที


Soft & Quiet

กระแสขวาจัดยังมีอยู่ในยุค Post-Trump มันฝังรากลึกมากกว่าจะเป็นกระแส และ Soft & Quiet คือหนังสุดเฮี้ยนที่กล้ากะเทาะและเสียดสี countermovement ของ Black Lives Matter รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มคนเชิดชูคนขาว (white supremacists) โดยเฉพาะผู้หญิง ที่รู้สึกว่าสิ่งที่พวกเธอควรจะได้ ควรจะมี กำลังถูกผู้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติแย่งไป แต่เบ็ธ ดิ อาราอูโช (Beth de Araújo) ผู้กำกับหญิงที่น่าจับตาจาก Sundance Directors Lab และ Screenwriters Lab ไม่ประนีประนอมกับหนังเรื่องแรกของตัวเอง แต่เลือกจะแล่เนื้อเถือหนังตัวละครแบบไม่ให้คนดูเหลือความเห็นใจอะไรให้อีก

หนังเล่าเรื่องของครูโรงเรียนอนุบาลที่ใช้เวลาหลังเลิกเรียนจัดตั้งกลุ่ม ‘บุตรีแห่งสามัคคีอารยัน’ (‘Daughters for Aryan Unity’) สร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงขาวขวาจัดที่เจ็บปวดกับสังคมพหุวัฒนธรรมได้กินพาย จิบชา แลกเปลี่ยนความอึดอัดคับข้องใจ กล่าวโทษคนดำ เม็กซิกัน และชาวยิวที่แย่งตำแหน่งงานและโอกาสทางการเงิน ก่อนจะกระโดดเข้าไปยังพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่เกินกว่าวาทกรรมเลื่อนลอยและมุ่งหน้าสู่ความรุนแรงทางกายภาพ เมื่อพวกเธอไปมีปากเสียงกับผู้หญิงลูกครึ่งเอเชียนสองคนและตามไปรังควาญพวกเธอถึงบ้าน แล้วหนังก็ปล่อยให้ตัวละครเดินตามความต้องการภายในแบบไม่แตะเบรก

หนังได้รับคำวิจารณ์แบบเสียงแตก บางส่วนบอกว่าหนังไปไกลแบบไม่สมจริง การถ่ายเทคเดียวยาวทั้งเรื่องไม่ใหม่และไม่จำเป็น และหนังก็ไม่ได้ให้ข้อเสนอหรือคำตอบอะไร ส่วนอีกฟากบอกว่าหนังกล้าหาญทางเนื้อหา ไปสุดทางเนื้อเรื่องและสไตล์แบบที่ต้องนั่งจิกเบาะ หายใจไม่ทัน และภาวนาไม่ให้มีอะไรพินาศไปกว่านั้นอีก แต่ไม่ว่าจะรู้สึกไปในทางไหน หนังก็ได้ขมวดความเจ็บปวดร่วมของผู้หญิงขวาจัดในอเมริกาแบบที่เราไม่ค่อยได้เห็นเอาไว้ และนำเสนอว่าที่ปลายสุดของหุบเหวจะเลวร้ายได้แค่ไหน หากสังคมไม่ทำอะไรเพื่อชะลอหรือหยุด ‘เสียงนุ่มๆ เบาๆ’ เหล่านี้ไว้ให้ได้แบบทันท่วงที


The Unknown Country

หญิงสาวจากครอบครัวอเมริกันพื้นเมือง โอกลาลา ลาโกตา เดินทางคนเดียวด้วยรถยนต์จากมินเนอาโพลิสทางตอนเหนือของอเมริกาลงมาจนถึงชายแดนเท็กซัส-เม็กซิโก เราไม่รู้ว่าเธอเป็นใคร มีเรื่องราวชีวิตแบบไหน หรือกระทั่งกำลังเดินทางไปที่ใด หนังบอกเราน้อยมากเช่นกันเกี่ยวกับปูมหลังของคนอื่นที่เธอพบเจอระหว่างทางและในงานแต่งงานของลูกพี่ลูกน้อง ส่วนบทสนทนาของตัวละครก็ไม่ได้มีไว้เล่าเรื่อง ไม่ได้มีไว้ให้ฟังผ่านหู แต่มีไว้ให้รู้สึก ไม่ว่าคนดูจะรู้สึกอะไรก็ตาม


นี่คือหนังโรดมูฟวี่เนิบช้าราวบทกวีที่ปล่อยให้กล้องสังเกตการณ์ตัวละครจากระยะไกล ให้แสงธรรมชาติลูบไล้โครงร่างของความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหลักกับผู้คนหลายหลากที่เธอพบเจอตามรายทาง ผู้คนที่ผ่านเข้ามาในช่วงเวลาอันแสนสั้นนี้ได้บอกเล่าประวัติศาสตร์ส่วนตัวของตนให้เธอฟัง และหากเรามองว่าประเทศนั้นประกอบไปด้วยผู้คน เช่นนั้น ประวัติศาสตร์ของประเทศก็ย่อมมาจากประวัติศาสตร์ของปัจเจกที่ถูกนำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ผู้คนจากมิดเวสต์ขีดเส้นลงมายังเท็กซัสย่อมมีเรื่องราวในใจต่างกันไป และแม้จะเดินทางกี่นานนับ เราก็จะไม่มีทางเข้าใจประเทศหนึ่งได้อย่างรอบด้าน แต่ที่เราจำได้และควรจดจำคือเสียงที่แตกต่างหลากหลายของพวกเขาแต่ละคน

มอร์ริสา มอลท์ซ (Morissa Maltz) ผู้ที่เพิ่งกำกับหนังยาวเป็นครั้งแรก และลิลี่ แกลดสโตน (Lily Gladstone) นักแสดงนำผู้เคยปรากฏตัวอย่างน่าจดจำใน Certain Women ของเคลลี ไรชาร์ดท์ ร่วมกันถ่ายทอดความรู้สึกของปัจเจกชนอเมริกัน—และยิ่งไปกว่านั้นคืออเมริกันชนเผ่า—ที่กำลังพยายามก้าวข้ามความสูญเสียหลากหลายรูปแบบ ผ่านการนำเสนอในทิศทางเดียวกับ Nomadland (2020, Chloé Zhao) และ Songs My Brothers Taught Me (2015, Chloé Zhao) หรือกระทั่ง The Tree of Life (2011, Terrence Malick) แต่คนดูกลุ่มแรกของ The Unknown Country ดูจะรักหนังเรื่องนี้มากกว่า ท่อนหนึ่งของบทวิจารณ์จาก IndieWire กล่าวว่า “The Unknown Country มีความเป็นมนุษย์มากกว่าหนังส่วนใหญ่ในช่วงหลังของมาลิค และอาจจะบอกเล่าอย่างจริงใจกว่า Nomadland เสียด้วยซ้ำ เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะลิลี่ แกลดสโตนไม่ได้เป็นหน้าตาของฮอลลีวู้ดมากเท่าฟรานเชส แม็คดอร์มานด์”


X

การกลับมาของคนทำหนังผีเรโทร ไท เวสต์ (Ti West) แห่ง The House of the Devil (2009) และ The Innkeepers (2011) ใน X เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เมื่อเป็นการกลับมาในรอบ 10 กว่าปี และเป็นการจับมือกับค่ายหนัง A24 ที่กำลังมาแรง โดยในเรื่องนี้ เวสต์จับเอาหนังสแลชเชอร์และหนังโป๊มาชนกันในบ้านไร่เท็กซัสปี 1979 ที่มีเจ้าของเป็นสามีภรรยามีอายุ แต่เมื่อกองถ่ายหนังโป๊ที่มีผู้กำกับและคนเขียนบทเป็นคู่รักพร้อมนักแสดงและทีมงานได้เข้าไปพัก แอบถ่ายทำหนังโป๊ฮาร์ดคอร์ในบ้าน และถูกเจ้าของบ้านจับได้ ความสยดสยองแบบสโลวเบิร์นก็เกิดขึ้น

นอกจากการเอาหนังสอง genre มาแพ็ครวมกัน และคารวะหนังอเมริกันอินดี้ช่วงปลาย 70s อย่าง The Texas Chainsaw Massacre (1974, Tobe Hooper) ด้วยการทำให้มันกลับมาโลดแล่นและ ‘แมส’ อีกครั้ง อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราอยากดู X คือการปรากฏตัวของ มีอา ก็อธ (Mia Goth) ที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากหนังเฮี้ยนๆ อย่าง Susperia (2018, Luca Guadagnino), A Cure for Wellness (2016, Gore Verbinski) และหนังเดบิวต์ของเธอ Nymphomaniac: Vol. II (2013, Lars Von Trier) ใน X ก็อธเล่นสองบทควบ หนึ่งในนั้นคือบทหญิงแก่เจ้าของบ้าน เพื่อถ่ายทอดความ ‘หลอน’ ของการแก่ตัวลงและสูญเสียเสน่ห์ทางเพศ เวสต์ให้สัมภาษณ์ว่า เขามีหนังใหม่อีกเรื่องที่ถ่ายทำคู่กับ X ไปแล้วเรียบร้อยเพื่อเล่าปูมหลังของหญิงแก่ปริศนา รวมถึงแย้มว่าอาจมีเรื่องที่สามตามมาอีก “ผมรู้สึกตลอดมาว่าถ้าคุณจะทำหนังสแลชเชอร์สักเรื่อง คุณต้องจัดภาคต่อออกมารัวๆ” เวสต์ว่าอย่างนั้น

“ผมเคารพภาพยนตร์มาก ทั้งในฐานะศิลปะรูปแบบหนึ่งและในฐานะที่มันเป็นสิ่งบ้าๆ ยากๆ ที่คนเราสร้างขึ้นมา ผมรู้สึกว่านับวันคนที่เห็นภาพหนังในรูปแบบนี้มีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเราถูกกระหน่ำด้วยตอนเทนต์ตลอดเวลา ฉะนั้นผมจึงอยากทำหนังที่ตัวละครในหนังกำลังทำหนัง เพื่อเชื้อเชิญคนดูให้ได้เข้ามาสัมผัสเสน่ห์ของกระบวนการทำหนังเรื่องหนึ่ง” เวสต์กล่าว

ผู้กำกับดังสังเวยความขัดแย้งหลังต้านนโยบาย “แบนคนทำหนังรัสเซีย”

ตั้งแต่รัสเซียเดินหน้าทำสงครามเต็มรูปแบบในยูเครน หลายเทศกาลหนังและองค์กรด้านภาพยนตร์ทั้งในยุโรปและอเมริกาก็ออกมาประกาศบอยคอตต์รัสเซีย ด้วยการถอดหนังรัสเซียออกจากโปรแกรมฉายและสายประกวด (อ่านจุดยืนของเทศกาลและองค์กรต่างๆ ได้ที่ รวมมิตรข่าววงการหนังโลกรวมพลังแบนรัสเซีย-สนับสนุนยูเครน และ คานส์, เวนิซ, EFA แถลงมาตรการบอยคอตต์รัสเซีย)

ไม่เท่านั้น ยังเกิดกระแส “แบนคนทำหนังรัสเซีย” อย่างกว้างขวางเต็มรูปแบบ เช่น โวโลดีเมียร์ วอยเทนโก (Volodymyr Voitenko) ประธานบอร์ดสหภาพนักวิจารณ์หนังยูเครนกล่าวว่า หนังรัสเซียควรถูกถอดออกจากการฉายในทุกแพล็ตฟอร์ม ทั้งโรงหนัง สตรีมมิ่ง เทศกาล และช่องทางอื่นๆ เพราะมันได้กลายเป็นอาวุธที่รัสเซียใช้สร้างโฆษณาชวนเชื่อ, เซอร์เกย์ บูโคฟสกี (Sergey Bukovsky) คนทำหนังสารคดียูเครน ก็บอกว่าคนรัสเซียนับล้านถูกปูตินล้างสมอง และวงวัฒนธรรมรัสเซียรวมถึงวงการหนังก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการบวนการชวนเชื่อนี้ไปแล้ว

แต่แนวคิดดังกล่าวก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย หนึ่งในคนที่คัดค้านก็คือ เซอเกย์ ลอซนิทซา (Sergey Loznitsa) ผู้กำกับชาวยูเครนที่ถือว่าเป็นขาประจำเทศกาลหนังเมืองคานส์ (หนังของเขาเรื่อง Donbass ปี 2018 คว้ารางวัลกำกับยอดเยี่ยมสาย Un Certain Regard ส่วน A Gentle Creature ปี 2017, In the Fog ปี 2012 และ My Joy ปี 2010 ได้เข้าชิง Palme d’Or) โดยเขากล่าวว่า “เราต้องไม่ตัดสินคนจากพาสปอร์ต”

ท่าทีเช่นนี้น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า ก่อนหน้านี้ลอซนิทซาเป็นคนแรกด้วยซ้ำที่ออกมาถล่มแถลงการณ์ของ European Film Academy (EFA) ว่า “เป็นกลางเกินไป” เพราะ “ไม่ประณามรัสเซียมากพอเมื่อเทียบกับสิ่งที่รัสเซียกระทำ” รวมทั้งเขายังเป็นคนแรกๆ ที่กดดันฝั่งยุโรปให้สนับสนุนยูเครน

แต่เมื่อกระแสมาถึงขั้นแบนคนทำหนังรัสเซีย เขากลับเลือกจะแสดงจุดยืนต่อต้าน และประกาศตนเป็น “พลเมืองโลก” ซึ่งล่าสุด จุดยืนนี้ก็กลายเป็นเหตุให้เขาโดนขับออกจากสถาบันภาพยนตร์ยูเครน (Ukrainian Film Academy) เสียแล้ว

Ukrainian Film Academy แถลงเมื่อ 18 มีนาคมที่ผ่านมาโดยอธิบายเหตุผลของการไล่ลอซนิทซาออกว่า “…ประเทศต่างๆ ในยุโรปและโลกทั้งใบควรได้เห็นภาพที่ครบถ้วนและชัดเจนว่า ประเทศผู้บุกรุกกำลังทำอะไรในยูเครน ฉะนั้น ชาวยูเครนทุกคนควรจะต้องทำตัวเป็นผู้แทนของประเทศเรา …เซอร์เกย์ ลอซนิทซาย้ำซ้ำๆ ว่าเขานับตนเองเป็นพลเมืองโลก แต่ในช่วงเวลาที่ยูเครนกำลังต่อสู้อย่างสุดแรงเพื่อรักษาเอกราชไว้ วิธีคิดและการแสดงออกของคนยูเครนควรยึดถืออัตลักษณ์ของชาติเป็นสำคัญ ไม่อาจประนีประนอมหรือแสดงออกอย่างครึ่งๆ กลางๆ ได้ในกรณีนี้”

วันรุ่งขึ้นหลังโดนไล่ ลอซนิทซาก็ออกจดหมายเปิดผนึกตอบโต้อย่างเจ็บแสบว่า “ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 คำว่า ‘พลเมืองโลก’ ถูกใช้เรียกบุคคลที่เปิดกว้างให้แก่สิ่งใหม่ๆ และเป็นอิสระจากอคติทางวัฒนธรรม ศาสนา และการเมือง จะมีก็แต่ยุคหลังๆ ของสตาลินช่วงที่เขาออกแคมเปญต่อต้านชาวยิว (ระหว่างปี 1948-1953) เท่านั้นที่คำนี้ถูกใช้ในแง่ลบ ภายใต้วาทกรรมชวนเชื่อของโซเวียต …โชคไม่ดีที่เหตุผลแบบนี้มันช่างดูเป็นนาซีมาก ๆ และนี่คือของขวัญที่ Ukrainian Film Academy มอบให้แก่นักโฆษณาชวนเชื่อแห่งเครมลิน

“…สมาชิกสถาบันภาพยนตร์ยูเครนเรียกร้องให้ชุมชนโลก -ไม่นับผม- เป็นตัวแทนของวงวัฒนธรรมยูเครน แต่ตัวผมไม่เคยแม้สักครั้งในชีวิตที่จะเป็นตัวแทนชุมชน กลุ่ม องค์กร หรือวงการใด ทุกอย่างที่ผมพูดและทำนั้นเป็น -และจะยังเป็น- เรื่องปัจเจกเสมอ ผมเป็นคนทำหนังชาวยูเครนเสมอมาและจะยังเป็นตลอดไป ผมหวังว่าเราทุกคนจะยังมีสติในช่วงเวลาอันน่าสลดนี้”


ชมหนังของลอซนิทซาที่เล่าถึงยูเครน รัสเซีย สหภาพโซเวียต และที่อื่นๆ ได้ที่

Maidan (2014)

โปรแกรม Back in the U.S.S.R.: Sergei Loznitsa’s Archival Documentaries

โปรแกรม Film Is a Theorem: The Documentaries of Sergei Loznitsa

ฝันของคนทำ “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” : รู้จัก Converstation กับภารกิจพาหนังหลากหลายสู่สายตาคนระยอง

“เราเชื่อว่าการคุยกันจะต่อยอดไปสู่ทางออกของปัญหาสังคมได้ มันเลยเป็นที่มาของชื่อ Converstation” พลอยรุ้ง สิบพลาง อธิบายที่มาของชื่อของพื้นที่อิสระงดงามแห่งนี้ในจังหวัดระยองให้เราฟัง

เช่นเดียวกันกับพื้นที่อิสระในจังหวัดอื่น – Converstation เกิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจแรงกล้าของกลุ่มคนไม่กี่คนที่ตัดสินใจว่าจะเลิกทนกับความ “ไม่มี”

การลงมือสร้างพื้นที่ของพวกเขาเหล่านี้เป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับเราเสมอ เพราะเท่าที่เราได้เคยสัมผัส ไม่มีใครเลยมีเงินทุนก้อนหนา ไม่มีใครเลยเคยมีประสบการณ์ธุรกิจเชี่ยวกรำ ทุกคนเพียงคิดว่าถึงเวลาต้องทำ แล้วพวกเขาก็ทำมัน

และต่อไปนี้คือเรื่องราวของ Converstation ที่เราอยากแนะนำให้คุณรู้จัก

“Converstation เป็น Public Co-Learning Space อยู่ที่ถนนยมจินดา จ.ระยอง เราตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บอร์ดเกม นิทรรศการ เวิร์กช็อป และแน่นอนรวมถึงภาพยนตร์ด้วย กิจกรรมเหล่านี้เป็นสารตั้งต้นชั้นดีสำหรับการริเริ่มบทสนทนาใหม่ๆ เพราะเราเชื่อว่าการคุยกันจะต่อยอดไปสู่ทางออกของปัญหาสังคมได้ มันเลยเป็นที่มาของชื่อ Converstation ด้วย

แล้วพอเราเปิดพื้นที่สนทนาขึ้นแล้ว ที่นี่เลยกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดไปพร้อมๆ กับการเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกๆ คนที่จะได้เป็นตัวของตัวของ รวมไปถึงได้แสดงจุดยืนของตัวเองบนรากฐานของการเคารพกันและไม่ตัดสินกัน”

“เราชอบดูหนังอยู่แล้ว บวกกับเราเองก็อยากให้วงการฉายหนังบ้านเรามันหลากหลายกว่านี้ เราเลยเลือกจะเป็นพื้นที่ฉายหนังอิสระและไม่ได้ฉายอย่างเดียวด้วย แต่หลังดูจบในทุกๆ รอบที่เราฉาย เราก็มานั่งคุยกัน สนทนากัน คิดเห็นยังไง รู้สึกยังไง เรารู้สึกว่าการดูหนังจบแล้วออกจากโรง แยกย้ายกลับบ้าน มันเคว้งๆ นะ การดูจบแล้วมีเพื่อนคุยต่อมันโคตรดีเลยสำหรับเรา เราเลยอยากเป็นพื้นที่แบบนั้นไปพร้อมๆ กัน”

“จริงๆ เราไม่เคยจัดฉายหนังมาก่อนเลย เป็นคนดูมาตลอดชีวิต แต่ด้วยความตั้งใจของเราที่อยากให้หนังหรือสารคดีกระจายไปสู่ต่างจังหวัดบ้าง เราก็เลยลองทำดู ทำไปแบบเริ่มจากศูนย์มากๆ แล้วพอดีกับ co-founder อีกคนเขาตั้งใจทำพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่สนทนาอยู่แล้ว เราก็เลยเสนอไปว่าหนังเองก็เป็นประตูเชื่อมที่ดีมากๆ นะ ที่จะนำไปสู่บทสนทนาใหม่ๆ และหลากหลาย ก็เลยตัดสินใจว่าเรามาฉายหนังกันเถอะ”

“มีความประทับใจเกิดขึ้นเยอะมาก จริงๆ แค่มีคนเข้ามาดูหนังกับเรา เราก็รู้สึกดีแล้ว เพราะเราก็ลุ้นๆ ว่าจะมีคนรู้จักไหมนะ จะมีคนมาดูไหมนะ รู้สึกแบบนี้ตลอดเลย แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือทุกคนขอบคุณที่เราเปิดพื้นที่นี้ เขาเฝ้ารออยากดูหนังที่เราเอาเข้ามาฉายตลอดเลย เพราะที่ระยองมันไม่มีจริงๆ ยิ่งไปกว่านั้นคือหลายๆ คนก็กลายมาเป็นเพื่อนกัน เอาของมาซัพพอร์ตกัน สิ่งนี้โคตรจะมีคุณค่าเลย มันคือการสร้างคอมมูนิตี้และการเชื่อมต่อกันและกัน ส่งต่อความใจดีให้กันแม้จะไม่ได้รู้จักกันมาก่อน นี่เป็นความน่ารักที่เรารู้สึกว่าถ้าเราไม่มาทำตรงนี้เราคงไม่ได้สัมผัสจริงๆ”

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำพื้นที่ฉายหนัง รวมถึงพื้นที่ที่ทำอยู่ด้วย คือเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด ลงมือทำด้วยความเชื่อที่ว่ามันมีคนที่สนใจแบบเดียวกับเราอยู่จริงแต่แค่ยังไม่เจอกัน แล้ววันหนึ่งจะมีคนที่อินคล้ายๆ เรา เข้ามาพบเจอกัน ได้รู้จักกัน ได้ซัพพอร์ตกันและกัน แล้วสุดท้ายมันจะไปต่อได้เอง”

“เรารู้สึกเสียดายนะที่คนรอบตัวที่ทำงานในแวดวงศิลปะโคตรจะเก่งและมีของกันทุกคน แถมตอนนี้ทุกๆ คนก็มองเห็นแล้วว่าศิลปะสำคัญกับชีวิตพวกเขายังไง ไหนจะคอนเทนต์ในประเทศเราก็สามารถต่อยอดอะไรได้เยอะมาก สร้างเป็น soft power ที่แข็งแรงได้ไม่ยาก แต่พอรัฐตาบอดและมองไม่เห็นศักยภาพตรงนี้ แวดวงศิลปะเลยไปต่อได้ยาก เราแค่อยากให้รัฐเลิกแช่แข็งวัฒนธรรมเสียที

เชื่อว่าตอนนี้ทุกคนพยายามอย่างหนักเพื่อจะพัฒนาแวดวงศิลปะในประเทศ มันคงสนุกมากๆ ถ้าประเทศนี้ไม่มีคนคอยมานั่งตรวจนั่งชี้ว่าอะไรดีไม่ดี แต่ปล่อยให้ทุกคนได้คิด ได้สร้างสรรค์ ได้ทดลอง ได้เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งจริงๆ สิ่งนี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ยังเฝ้ารอวันที่ดอกไม้จะบานนะ”


ติดตามพวกเขาได้ที่ Converstation

ข่าวลือประธานใหม่เมืองคานส์ กับทิศทางยุคสตรีมมิ่ง, โควิด และ TikTok ที่หลายเสียงเริ่มระแวง

ยิ่งเข้าใกล้เดือนพฤษภาคม กระแสข่าวเกี่ยวกับเทศกาลหนังเมืองคานส์ก็เริ่มชิงพื้นที่ข่าวภาพยนตร์ ชนิดแทบเรียกได้ว่าเดินหน้าตามปฏิทินปกติที่เคยเป็นมา (ยกเว้นสองปีหลังที่ประสบภัยโควิด) ทั้งหนังบล็อกบัสเตอร์ฮอลลีวูดที่เริ่มสร้างกระแส และสื่อที่เริ่มกะเก็งว่าหนังใครจะได้ชิงปาล์มทอง ก่อนประกาศรายชื่อทางการช่วงกลางเดือนเมษายน

แต่นอกจากการที่ถึงขณะนี้คานส์ยังไม่ประกาศชื่อประธานกรรมการตัดสินสายประกวดหลัก และข่าวฮือฮาเรื่องประกาศเป็นพาร์ตเนอร์กับ TikTok (พร้อมเปิดสายประกวด sidebar สำหรับหนังสั้นที่ถ่ายแนวตั้งความยาวไม่เกินสามนาทีโดยเฉพาะ) อีกหัวข้อสำคัญที่แทรกเข้ามาก่อกวนปฏิทินปกติในปีนี้ก็คือ ข่าวลือเรื่องประธานคนใหม่ของเทศกาลฯ

เพราะในวันที่ 23 มีนาคมนี้ บอร์ดบริหารของคานส์จะประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นประธานคนใหม่ แทนที่ ปีแยร์ เลสคิวร์ (Pierre Lescure) ซึ่งตัดสินใจวางมือหลังอยู่ในตำแหน่งมาแล้วสามวาระ มีกระแสข่าวว่าคานส์ต้องการประธานหญิงเพื่อให้สอดรับกับกระแสความเท่าเทียมทางเพศ แต่ชื่อที่ลือกันหนาหูว่ามีความเป็นไปได้สูงสุดในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังอย่าง ไอริส น็อบล็อค (Iris Knobloch) ก็ผุดขึ้นมาพร้อมเสียงระแวงและไม่ไว้วางใจ

ซาอิด เบน ซาอิด (Saïd Ben Saïd) โปรดิวเซอร์ขาประจำเมืองคานส์และกรรมการสายประกวดหลักเบอร์ลินปีล่าสุด ทวิตเป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 9 มีนาคมว่า “คงต้องถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ ถ้าคานส์เลือกผู้ที่ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ให้สถาบันวัฒนธรรมหลายแห่ง ซึ่งแข่งขันในสนามของตนได้เป็นเลิศ แต่มองเห็นวัฒนธรรมและศิลปะเป็นเพียงตารางตัวเลข” โดยขยายความเพิ่มเติมผ่านอีเมล์ที่ตอบ เอริก โคห์น (Eric Kohn) แห่ง IndieWire ว่า “คานส์ต้องการคนที่เป็นสัญลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม” ที่จะทำให้ซีเนไฟล์กับคนทำหนังรู้สึกอุ่นใจ มากกว่าคนที่มีชื่อเสียงความสำเร็จด้านธุรกิจภาพยนตร์

เหตุผลแรกที่ทำให้น็อบล็อคเป็นตัวเลือกที่สุ่มเสี่ยงคือ เธอเป็นอดีตประธานภูมิภาคของ WarnerMedia ที่เพิ่งลาออกมาเพื่อก่อตั้ง I2PO บริษัทที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบรวมกิจการ (Special Purpose Acquisition Company หรือ SPAC) ที่มุ่งเน้นด้านสื่อบันเทิงกับพื้นที่สาธารณะเอนกประสงค์โดยเฉพาะเป็นแห่งแรกในทวีปยุโรป – เมื่อตำแหน่งประธานเทศกาลฯ ไม่มีค่าตอบแทน จึงเป็นไปได้สูงที่เธอจะยังดำรงตำแหน่งในบริษัทที่เธอก่อตั้ง และเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ด้วยการควบคุมทิศทางของเทศกาลฯ ให้เป็นประโยชน์ต่อกิจการของตัวเอง

เหตุผลข้อสองคือ กระแสข่าวความไม่โปร่งใสที่ว่า โดมินีค บูตงนาต์ (Dominique Boutonnat) ซึ่งนั่งเก้าอี้ทรงอิทธิพลอย่างประธานบอร์ดภาพยนตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (หรือ CNC) พร้อมเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของคานส์ด้วย กำลังพยายามล็อบบี้ตำแหน่งประธานเทศกาลฯ ให้น็อบล็อคอย่างหนัก – เบน ซาอิด กล่าวว่าคนในวงการหนังฝรั่งเศสต่างตกใจที่ประธาน CNC พยายามดันแคนดิเดตของตนเองโดยไม่ปรึกษาพูดคุยกับบอร์ดบริหารของคานส์คนอื่นๆ

ถึงแม้ว่า เธียร์รี เฟรโมซ์ (Thierry Frémaux) จะยังคงเป็นผู้อำนวยการ (general director) ที่รับผิดชอบเรื่องรสนิยมและการเลือกหนังเข้าเทศกาลฯ โดยตรงต่อไปแม้เปลี่ยนประธาน หลายเสียงก็ยังกังวลว่าน็อบล็อค (หรือใครก็ตาม) อาจไม่มีวิสัยทัศน์ด้านศิลปะภาพยนตร์อย่างที่เฟรโมซ์ได้มีส่วนสถาปนาทิศทางไว้ให้คานส์ เช่นเดียวกับที่เลสเคียวร์หรือประธานระดับตำนานอย่าง ฌีลส์ ฌาค็อบ (Gilles Jacob) เคยสนับสนุน โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ กำลังกดดันให้เทศกาลฯ ต้องคิดหาวิธีการปรับตัว (ในขณะที่เทศกาลหรือรางวัลใหญ่ๆ ของโลกเบนเข็มตามจังหวะสตรีมมิ่งอย่างพร้อมเพรียงแล้ว คานส์แทบจะเป็นแห่งเดียวที่ยังไม่ได้เคลียร์ข้อขัดแย้งค้างปีกับ Netflix)

การประกวดหนังสั้น TikTok เป็นเพียงความเคลื่อนไหวล่าสุดที่คานส์แสดงออกชัดเจนว่าต้องการเข้าถึงกลุ่มคนดูรุ่นใหม่ ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรและทันสมัยมากขึ้น แต่ความกังวลในภาพรวมที่ปกคลุมเทศกาลฯ อยู่แล้วตลอดช่วงหลายปีหลัง คือเหล่าผู้บริหารและหนังสตูดิโอใหญ่ที่มาเมืองคานส์พร้อมวิธีคิดแบบหนังคอมเมอร์เชียล ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเทศกาลเปลี่ยนไปในทิศทางที่อนุรักษ์นิยมประนีประนอมมากขึ้น ท้าทายด้านศิลปะภาพยนตร์น้อยลง เพราะเหตุผลด้านการตลาด (ข่าวลือเรื่องการเข้ามาของน็อบล็อคที่เป็นอดีต “ผู้บริหารสตูดิโอ” ที่ปัจจุบันทำหน้าที่ “กองทุนเพื่อการควบรวมกิจการ” จึงยิ่งเสริมความกังวลข้อนี้)

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ความเคลื่อนไหวในฝั่งคู่ขนานอย่าง Directors’ Fortnight ซึ่งดำเนินงานโดยสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ฝรั่งเศส (SRF) ก็ปรากฏข่าวเรื่องอิทธิพล ผลประโยชน์ทับซ้อน และความไม่แน่ชัดในทิศทางเช่นกัน หลังข่าวเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการ เปาโล โมเร็ตติ (Paolo Moretti) หลังดำรงตำแหน่งมาได้เพียงสามปี พร้อมกระแสข่าวที่คาดการณ์ว่าเป็นเพราะ Fortnight ในยุคของโมเร็ตติปฏิเสธหนังของสมาชิก SRF บ่อยเกินไป จนทำให้บอร์ดบริหารซึ่งประกอบด้วยคนทำหนังฝรั่งเศสที่หมุนเวียนเปลี่ยนวาระกันไปในแต่ละปี (และได้อีเมล์ตอบปฏิเสธเมื่อส่งหนังมาเทศกาล) ไม่ต่อสัญญาเขาในรอบปีล่าสุด – และผู้สนับสนุนหลักด้านการเงินของ Fortnight ในขณะนี้ก็คือ CNC ที่อาจกำลังล็อบบี้ตำแหน่งประธานเมืองคานส์อยู่นั่นเอง

อาจพอกล่าวได้ว่า ความท้าทายของวัฒนธรรมภาพยนตร์สมัยใหม่กำลังคืบคลานมาถึงเมืองคานส์ เพราะในขณะที่คานส์หรือเทศกาลใหญ่หลายแห่งถูกวิจารณ์เสมอมาว่าชอบวางท่า “หัวสูง” แต่จะปรับตัวให้ดูสูงน้อยลงอย่างไรโดยที่ไม่สูญเสียตัวตน ชื่อเสียง รสนิยม หรือถูกกลืนกินด้วยการตลาด จนเผลอเปลี่ยนเทศกาลหนังเป็นเพียงแหล่งรวมคอนเทนต์ (แบบหลายเทศกาลหลังยุคสตรีมมิ่ง) หรือไหลตามกระแสไป (แบบที่เวนิซในช่วงไม่กี่ปีหลังเคยถูกวิจารณ์ว่ากลายเป็นแค่แหล่งเปิดตัวหนังพูดอังกฤษที่หวังรางวัลออสการ์) แต่ในขณะเดียวกัน โครงสร้างการบริหารที่ประกอบด้วยผู้คนในวงการภาพยนตร์ ซึ่งแต่ก่อนอาจช่วยปกป้องตัวตนหรือรสนิยมของเทศกาลฯ ก็อาจส่งผลในด้านกลับได้เช่นกัน

คานส์คือตัวอย่างอันดับต้นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า สุนทรียศาสตร์และความท้าทายด้านศิลปะ สามารถดำรงอยู่ร่วมกับตลาดภาพยนตร์ได้ด้วยความสำคัญทัดเทียมกัน – โคห์นกล่าวถึงคานส์ไว้สั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “โปรแกรมหนังของคานส์นั้นโอบรับสภาวะธุรกิจภาพยนตร์ พร้อมๆ กับท้าทายมัน” และหน้าที่ของเทศกาลหนังคือ “การเป็นปากเสียงให้แก่ความอยู่รอดของศิลปะ ไม่ว่าตลาดจะมีความเห็นทางเศรษฐกิจว่าอย่างไรก็ตาม” 

ท่วงท่าของความทรงจำ: การปรับและรับรู้สมดุลของแรงสั่นสะเทือนจากโคลอมเบียถึงไทยใน Memoria (2)

อ่านตอนที่ 1 : ท่วงท่าของความทรงจำ: การปรับและรับรู้สมดุลของแรงสั่นสะเทือนจากโคลอมเบียถึงไทยใน Memoria (1)

การกระตุ้นความทรงจำผ่านเสียง เรือกระทบคลื่น ผีดิบ การรัวกลองในพิธีกรรมและเสียงระเบิด ใน I Walked with a Zombie (1943)

Artist, Title and Production Date: Unknown
Gift from Jonathan Demme to Apichatpong Weerasethakul, 2012
A Minor History, Part II: Beautiful Things by Apichatpong Weerasethakul, 100 Tonson Foundation, Bangkok, 2022, photo by Atelier 247

การรับรู้ความรู้สึกและเชื่อมโยงกับความทรงจำกลายเป็นสิ่งสำคัญ เสียงใน Memoria กระตุ้นความทรงจำผ่านการสั่นไหวของกระดูกสามชิ้นในหูชั้นในและส่งกระแสประสาทควบคู่กับการรับรู้ความสมดุลของตำแหน่งของศีรษะผ่านเส้นประสาทคู่ที่ 8 ขึ้นไปที่สมองส่วนธาลามัสที่เป็นจุดทางผ่านของผัสสะ ก่อนจะวิ่งไปแปลผลที่สมองส่วนหน้าและด้านข้าง 

นอกจากกระแสประสาทวิ่งไปที่สมองส่วนหน้าจะทำให้เกิดประสบการณ์ทางเสียงแล้ว กระแสประสาทยังวิ่งผ่านสมองส่วนลิมบิกอื่นๆ เช่น amygdala ที่ทำให้เราอ่อนไหวกับเสียงที่มีความหมาย เช่น เสียงร้องไห้ หรือคำพูด และยังเกี่ยวข้องกับการหลบหนีเมื่อเราได้ยินเสียงที่น่ากลัว เช่น ระเบิด ส่วนสมอง hippocampus ในลิมบิกก็ช่วยเพิ่มมิติการรับรู้เวลาของเสียงและตรวจสอบเสียงใหม่ๆ การฟังเสียงรบกวน (noise) ช่วยเพิ่มการเชื่อมโยงเส้นประสาทใน hippocampus ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้เสียงและความทรงจำ1Kari Suzanne Kraus. (2012). Neuronal connectivity and interactions between the auditory and limbic systems. Effects of noise and tinnitus

แม้ว่าเสียงที่ดังขึ้นเมื่อเจสสิกาแตะตัวแอร์นันในวัยกลางคน จะสะทกสะท้อนกับฉากที่เจสสิกาแตะแขนแอร์นันในวัยหนุ่มเมื่อเธอค้นพบเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงระเบิดในหัว เสียงที่เธอบรรยายว่าคล้ายกับ “ลูกบอลคอนกรีตขนาดใหญ่กระแทกอ่างโลหะที่ล้อมรอบด้วยน้ำทะเล แล้วมันก็หดตัวเล็กลง” เสียงระเบิดที่เธอค้นหาจนพบว่าเสียงเธอได้ยินในเวลาต่อมาเป็นเสียงอื่นๆ อีกมหาศาลเกินกว่าที่เธอและผู้ฟังจะรับรู้ได้อย่างสมบูรณ์ (ผู้ชมไม่น่าจะทราบแน่ๆ ว่า มีการใส่เสียงแรกของโลกที่ถูกบันทึกเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1860 โดย Edouard-Leon Scott de Martinville ซึ่งเขาบรรยายว่าเยื่อกั้นที่ใช้อัดเสียงคล้ายกับเยื่อแก้วหู)

นอกจากนี้ยังมีเสียงคลื่นในมหาสมุทรและเรือ ซึ่งนอกจากจะชวนให้นึกถึง Luminous People (2007) ยังชวนให้นึกถึงเสียงของเรือเดินสมุทรในตอนต้นของ I Walked with a Zombie (1943) โดย Jacques Tourneur ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่ท้าทายการนำเสนอภาพแทนของคนผิวสีในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้อภิชาติพงศ์เปลี่ยนชื่อตัวแสดงหลังจากเอริกาเป็นเจสสิกา ฮอลแลนด์ในช่วงพัฒนาบทภาพยนตร์ Memoria 

I Walked with a Zombie เป็นเรื่องราวของเบ็ตซี่ พยาบาลชาวแคนาดาที่ได้รับการติดต่อจาก พอล ฮอลแลนด์ เจ้าของไร่อ้อยบนเกาะ Saint Sebastian ในหมู่เกาะแคริเบียน เบ็ตซี่รับหน้าที่ในการดูแล เจสสิกา ฮอลแลนด์ ภรรยาของพอล ที่ล้มป่วยด้วยโรคปริศนา หมอแมกซ์เวลบอกว่าไขสันหลังของเธอถูกทำลายอย่างรุนแรงจนทำให้เธอไม่สามารถดูแลตัวเองได้ 

เบ็ตซี่ตกหลุมรักพอล ในระหว่างที่ดูแลภรรยาของเขา แต่การอยู่บนเกาะแห่งนี้ก็ทำให้เธอได้ยินเสียงกลองรัวแทบทุกคืน กลองรัวจากพิธีกรรมของอดีตทาสผิวสีที่มาชุมนุมกันตอนกลางคืนหลังจากทำงานในไร่อ้อย เธอค่อยๆ ค้นพบความรุนแรงที่ถูกปกปิดด้วยความเงียบสงบ เกลียวคืน แดดจ้า และต้นปาล์มของเกาะว่าชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นจากเจ้าอาณานิคมผิวขาวและทาสที่ถูกขนมาทางเรือ 

วันหนึ่งคนใช้ที่คฤหาสน์ของพอลบอกกับเบ็ตซี่ว่าเจสสิกาอาจจะถูกคำสาปมนต์ดำของทาสที่โกรธแค้น ในขณะที่แรนด์ แม่ของพอลผู้เป็นแพทย์ในชุมชนบอกว่าเจสสิกาเป็นผีดิบ แต่เรื่องก็คลี่คลายด้วยว่าแรนด์ ต่างหากที่เป็นคนทำของใส่เจสสิกา เพราะค้นพบความจริงว่าเวสลี่ ลูกชายต่างบิดากับพอล หลงรักเจสสิกาเช่นกันและต้องการพาเธอหนีไปจากเกาะ เธอจึงใช้วูดูสะกดวิญญาณเจสสิกาไว้ และชาวเผ่าต่างหากที่พยายามช่วยเจสสิกาอยู่ตลอด ในท้ายที่สุดเวสลี่ก็พาเจสสิกาหนีไปในทะเลและจมน้ำเสียชีวิตทั้งคู่ หลังจากนั้นพอลและเบ็ตซี่ก็รักกันอย่างมีความสุข นี่จึงเป็นเรื่องของการพบกับเมียใหม่ในงานศพของเมียคนเก่า

ฉากที่ตราตรึงใจคือฉากในตอนต้นเรื่อง เบ็ตซี่นั่งเรือข้ามเกาะมากับพอล เบ็ตซี่คิดในใจว่าดวงดาวบนเรือช่างงดงาม ยังรวมไปถึงลมอุ่นพัดเอื่อยๆ สัมผัสแก้มของเธอ เธอสูดหายใจลึกเต็มปอดและพูดกับตัวเองว่า “ช่างงดงามเหลือเกิน” ก่อนที่พอลจะพูดขึ้นว่า “มันไม่ได้สวยงามอย่างที่เธอคิดหรอก” ราวกับว่าเขาอ่านใจเธอได้ “คนหน้าใหม่ที่มาเกาะนี้ก็คิดแบบนี้กันทั้งนั้น ปลาที่กำลังแหวกว่ายพวกนั้น ก็มีปลาใหญ่กว่าที่จ้องจะกินพวกมัน น้ำส่องสะท้อนเรืองรองที่คุณกำลังเห็น มันคือแสงวูบวาบของศพสิ่งเล็กสิ่งน้อยจำนวนมหาศาล นี่จึงเป็นแสงแวววาวของการเน่าเปื่อย ไม่มีสิ่งสวยงามที่นี่หรอก มีแต่ความตายและการย่อยสลาย สิ่งที่ดีล้มตายที่นี่ทั้งนั้น แม้แต่ดวงดาวบนท้องฟ้า”

I Walked with a Zombie ทำให้เราเห็นอีกโลกหนึ่งที่อุดมไปด้วยความไม่เป็นเหตุเป็นผล Tourneur สนใจว่าวิทยาศาสตร์อาจไม่ได้ให้คำตอบทั้งหมด เขาจึงสร้างโลกที่ไม่มีใครเข้าใจได้ทั้งหมดผ่านภาพยนตร์ที่มีความกำกวมและเรื่องราวที่ไม่มีตอนจบสมบูรณ์ Gwenda Young อาจารย์ด้านภาพยนตร์ University College Dublin บอกว่า I Walked with a Zombie คล้ายกับการตรึกตรองหรือนั่งสมาธิขบคิดการต่อรองทางอำนาจระหว่างคนขาวและคนผิวสีในสังคมหลังอาณานิคมซึ่งสอดคล้องกับในช่วงทศวรรษ 1940 ที่เกิดการถกเถียงในประเด็นเชื้อชาติอย่างมากในอเมริกา I Walked with a Zombie อาจเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องแรกๆ ที่เฉลิมฉลองความแตกต่างหลากหลายของคนผิวสี และนำเสนอภาพของความเชื่อชนเผ่าด้วยความเคารพ2Gwenda Young. (1998). The Cinema of Difference: Jacques Tourneur, Race and “I Walked with a Zombie” (1943)

แต่บทสนทนาระหว่างเบ็ตซี่และพอลก็อาจชวนให้นึกถึงบทสนทนาระหว่างราตรีและสุรชัย ราตรีเป็นหญิงสาวที่ตกหลุมรักสุรชัย และมองว่า การไปปิคนิคยามบ่ายทานแซนวิช ดื่มด่ำบรรยากาศริมโขง ท่องเที่ยวใน “เมืองที่มีเรื่องเร้นลับหลากหลายรอการค้นพบ” ดูจะเป็นชีวิตที่น่าอภิรมย์และสวยงาม แต่อากาศที่ร้อนระอุก็ทำให้เธอไม่สบายตัว จนทำให้เธอตื่นขึ้นมา อากาศร้อนอาจกลายเป็นเหมือนเสียงระเบิด เหมือนแผ่นดินกัมปนาทบนเมืองที่ฉาบด้วยความสวยงามและเงียบสงบ3เมือง Pijao เป็นเมืองแรกในลาตินอเมริกาที่เข้าร่วมโครงการ Citta Slow (Slow City) movement ซึ่งก่อตั้งในอิตาลีเมือปี ค.ศ.1999 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนไม่เร่งรีบ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรม หรือโขดหินที่รูปร่างแปลกๆ กลางลำน้ำโขงซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ก็เป็นอนุสรณ์ของความตายของพญานาค

บทสนทนาระหว่างเบ็ตซี่และพอลก็ชวนให้นึกถึงเจสสิกาผู้เดินเตรดเตร่ท่องเมืองโบโกตาและเมเดยิน นั่งเงียบสดับฟังเสียงในสวน หรือดูชายหนุ่มสองคนเต้นรำกันกลางถนน ในเมืองที่มีสีสันและไม่มีวันหลับไหล กลับซุกซ่อนบาดแผลความทรงจำที่ไม่เลือนหาย หากแต่ปะทุขึ้นมาอย่างเงียบเชียบ ที่อาจมีเพียงเจสสิกาที่ได้ยิน Memoria จึงเป็นการตีความ I Walked with a Zombie อีกครั้ง บนเกาะที่สวยงาม แสงแดด และรอยยิ้มของผู้คน มีเพียงเบ็ตซี่ที่รับรู้ถึงการกดขี่ที่ยังดำรงอยู่บนหมู่เกาะในอเมริกาใต้ บนเกาะที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างชินชาและต่อสู้กันเท่าที่เรี่ยวแรงจะมี

มิติพิศวง ตะวันตก-ตะวันออก ภายนอก-ภายใน อำนาจแบบลำดับชั้น-การร้อยรัดในแนวระนาบ

หนึ่งในฉากที่น่าจดจำคือฉากที่เจสสิกาไปพบแพทย์คล้ายกับฉากป้าเจนใน Blissfully Yours (2002) พยายามทวงหมอว่าเธอต้องการมีลูก แต่ยาที่หมอให้ไปทำให้เธอเอาแต่นอนหลับและไม่ได้มีอะไรกับสามี เจสสิกาพยายามจะขอยานอนหลับจากหมอแต่กลับถูกเตือนว่าเธอมีแนวโน้มจะติดยานอนหลับ หมอจึงเสนอใบปลิวพระเยซูให้แทน นี่แสดงให้เห็นว่าความเชื่อแบบเอกเทวนิยมผสมผสานได้เป็นอย่างดีกับการแพทย์สมัยใหม่และวิทยาศาสตร์ 

A Minor History, Part II: Beautiful Things by Apichatpong Weerasethakul, 100 Tonson Foundation, Bangkok, 2022, photo by Atelier 247

“ขรัวอินโข่ง ใช้เส้นขอบฟ้าและจุดสุดสายตา เติมเงา ความมืดตามลำต้นไม้ เป็นศิลปินเรียลลิสต์คนแรกที่ไม่แพ้ฝรั่ง” ในนิทรรศการภาคสองของ A Minor History อภิชาติพงศ์สนใจการวาดรูปของขรัวอินโข่ง ผู้ผสานการวาดรูปแบบจิตรกรรมตามประเพณีเข้ากับการเขียนภาพแบบตะวันตกตามหลักทัศนียภาพ (perspective) ผลงานทำให้เกิดภาพแบบสามมิติ ทำให้มีระยะใกล้-ไกล4จิตรกรรมไทย – คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผ่านเทคนิคการวาดให้มีจุดรวมสายตา (vanishing point) หรือจุดลับตาหรือจุดอันตรธานคือจุดรวมของเส้นฉายของภาพและจุดเส้นระดับสายตาที่แบ่งผืนดินกับท้องฟ้า โดยที่เทคนิคการเขียนตามหลักทัศนียภาพเกิดขึ้นในยุคภูมิธรรมเพื่อเพิ่มความลวงตา5ปัณฑชนิต พงศ์สถาพร. (2013). การสร้างพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมจากมุมมองทัศนียภาพ.

การปรับเปลี่ยนศิลปะในราชสำนักของรัชสมัยพระจอมเกล้ามีสาเหตุจากความเสื่อมโทรมของสถาบันสงฆ์ และถูกมิชชันนารีโจมตีคำสอนของพุทธ จนนำไปสู่การก่อตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นโดยมีการนำความคิดจากโลกตะวันตกเข้ามาตีความพระไตรปิฏก ให้เป็นเหตุเป็นผล และไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์6ธนพร ตั้งพรทวี. (2016). บทบาทของภาพถ่ายกับการเปลี่ยนแปลงงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 แต่นิกายธรรมยุติก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของสยามในการควบคุมอีสานผ่านการสร้าง “วัดสุปัฏนาราม” ที่เมืองอุบลราชธานี เพราะมีความไม่มั่นคงทางการเมืองการปกครองรวมทั้งอิทธิพลของฝรั่งเศสที่ขยายอํานาจ7สุพัตรา ทองกลม. (2015). วัดธรรมยุติกนิกายในจังหวัดอุบลราชธานี.

ในทางหนึ่ง การผสมกันของเอเลี่ยนหรือสิ่งอื่นจากภายนอกเข้ากับภายในอาจถูกฉวยใช้เป็นตัวช่วยในการต่อรองทางอำนาจของอำนาจองค์อธิปัตย์ การถ่ายเทระหว่างภายนอกกับภายในที่อาจทำให้เรามองเห็นมิติที่ทับซ้อนแต่ก็ลวงตาเราได้พร้อมๆ กันเหมือน “มายากลของประวัติศาสตร์องคชาติไทยชูชัน.” และมันอาจเหมือนมายากลสีธงชาติไทยที่เจสสิกาเล่นให้ แอ็กเนส นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสดู 

จุดลับตาหรือจุดรวมสายตากลายเป็นจุดที่ทั้งทำให้เราเห็นและไม่เห็น เหมือนเมืองที่ทั้งมีมนต์เสน่ห์และมีประวัติศาสตร์บาดแผลซ่อนอยู่ ในนิทรรศการภาคสองของ A Minor History จุดรวมสายตาของฉากลิเกหมอลำคณะ “ซี้น 2 ต่อน” ถูกปิดทับและโจมตีด้วยภาพ “การฉีกกรอบปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ สู่ธรรมชาติอันแสนสุข” โดย ณฐนน แสนจิตต์ จุดรวมสายตาที่เคยเป็นบันลังก์ตั่งทอง เป็นจุดที่แสงเรืองรองขึ้นเมื่อมีเสียงวัตถุกระแทกในภาคแรก ตอนนี้ถูกปิดทับด้วยภาพของศิลปินรุ่นใหม่ 

นอกจากนี้ผลงานของขรัวอินโข่งที่โด่งดังคือภาพดอกบัวขนาดยักษ์ที่อยู่กลางบึง ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากกำลังชื่นชมอยู่ริมบึง สื่ออุปมาอุปไมย เปรียบเทียบถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยให้พระพุทธเจ้าเปรียบเป็น “ดอกบัวยักษ์” พระธรรมเปรียบดั่งน้ำหวานหรือกลิ่นหอมของดอกบัว และพระสงฆ์เปรียบเป็นคนหรือแมลงที่มาชื่นชมดอกบัว อีกทั้งยังมีความหมายซ่อนไว้เป็นการพูดถึงยุคภูมิธรรมที่เกิดขึ้นในตะวันตกทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย8“ดอกบัวยักษ์ Victoria” ภาพปริศนาธรรมขรัวอินโข่ง วัดบวรฯ วัดบรมฯ สื่อ “ความยิ่งใหญ่” ของอังกฤษ. www.museum-press.com/

โดยภาพดอกบัวยักษ์ดังกล่าวนี้ น่าจะสื่อถึงดอกบัวขนาดใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษค้นพบจากทวีปอเมริกาใต้ แล้วนำมาเพาะเลี้ยงในอังกฤษจนประสบผลสำเร็จ เป็นที่ตื่นเต้นให้แก่ชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก และได้มีการตั้งชื่อดอกบัวชนิดนี้ว่า “Victoria” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียที่เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ และเป็นการสื่อว่า อำนาจทางการเมืองของจักรวรรดิอังกฤษที่ยิ่งใหญ่เหนือชาติใดๆ ในเวลานั้น8

A Minor History, Part II: Beautiful Things by Apichatpong Weerasethakul, 100 Tonson Foundation, Bangkok, 2022, photo by Atelier 247

จากดอกบัวของขรัวอินโข่งที่เหมือนเป็นการเฉลิมฉลองมิตรภาพระหว่างอังกฤษและสยามผ่านสนธิสัญญาเบาริ่งซึ่งนำความมั่งคั่งอย่างมหาศาลสู่ราชวงศ์และเป็นการนำสยามเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกผ่านการล่าอาณานิคมภายใน ในนิทรรศการภาคสองของ A Minor History ยังมีผลงานชื่อ Thep Nelumbo Nucifera ของ Methagod ซึ่งพูดถึงบัวที่โผล่จากเหง้าใต้ดิน หลังจากแตกอยู่ในสภาวะพักตัวและสามารถให้กำเนิดต้นอ่อนใหม่ได้ งานชิ้นนี้ความอมตะและการฟื้นตัวของขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนของประเทศไทยในช่วง ค.ศ.2020-2021 

วัตถุทรงกลม จุดสีขาว ผลไม้ปริศนา จากครูดอกฟ้าและเด็กชายพิการ ถึงกล้วยไม้ที่รากำลังกัดกิน

ความสัมพันธ์ระหว่างดอกบัวกับแมลงจึงมีมิติของเรื่องเล่าที่ถูกไม่ให้เล่าและเรื่องเล่าที่ถูกชวนเชื่อซึ่งซ้อนเหลื่อมให้เราเห็นบางมุม ความสัมพันธ์ระหว่างดอกบัวกับแมลงจึงเป็นเสมือนวงกลมหรือวัตถุทรงกลมที่อยู่ในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ นับตั้งแต่ Mysterious Object at Noon (2000) วัตถุทรงกลมที่ส่งทอดเรื่องเล่าของเด็กชายพิการและครูดอกฟ้า วัตถุทรงกลมประหลาดหลุดออกมาจากกระเป๋ากระโปรงครูดอกฟ้า กลายเป็นเด็กอีกคนที่เอาศพครูดอกฟ้าไปซ่อนในตู้เสื้อผ้า 

วัตถุทรงกลมปริศนาที่ส่งทอดเรื่องเล่าจากเหนือจรดใต้ไปยังเกาะปันหยี กลุ่มเด็กนักเรียนเล่าเรื่อง “มนุษย์ต่างดาวจะเก็บดอกไม้ เสือจะมาฆ่ามนุษย์ต่างดาว แต่ครูดอกฟ้ากลับถูกเสื้ออีกตัวฆ่าตายเพราะมาเก็บดอกไม้ แฟนครูดอกฟ้ากลายเป็นคนพิการ และต้องการแก้แค้น แต่สุดท้ายก็ถูกมนุษย์ต่างดาวฆ่า” วัตถุทรงกลมนี้เองที่เราเห็นในนิทรรศการตั้งแต่ดวงอาทิตย์ที่กลมแดงสุกสว่าง หรืออาจะเป็นเครื่องหมายมหัพภาค จุดสีขาวหลังข้อความบนพื้นผ้าสีขาวที่เล่าความทรงจำของอภิชาติพงศ์ และคนอื่นๆ

A Minor History, Part II: Beautiful Things by Apichatpong Weerasethakul, 100 Tonson Foundation, Bangkok, 2022, photo by Atelier 247

หรืออาจเป็นวงกลมที่อยู่คู่รูปเจสสิกานอนตะแคงข้าง หรือาจเป็นวงกลมรูปไข่ของรูฟอราเมน แมกนัม และรูบนกระโหลกที่ถูกทุบแตก รูปกระโหลกที่ตั้งคู่กับรูปแอร์นันนั่งหันหลัง แบบเดียวกับหญิงสาวที่นั่งในห้องรับสัญญาณวิทยุที่เล่าเรื่องแผ่นดินไหวจากภูเขาไฟระเบิด และเรื่องการขุดค้นพบกระดูกในโครงการรัฐบาลและสารพิษปนเปื้อนลงแม่น้ำ 

รูฟอราเมน แมกนัมเป็นจุดแบ่งภายนอกภายในกระโหลก เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างก้านสมองส่วนปลายที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจและเป็นระบบประสาทที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ กับเส้นประสาทไขสันหลัง รูและวงกลมยังพบในนิทรรศการภาคสอง ที่นอกจากจุดสีขาวคั่นข้อความ มันอาจเป็นน้ำอสุจิที่ถะถังหลั่งรินบนซากซุ้มเฉลิมพระเกียรติ มันอาจเป็นจุดสีขาวตรงใจกลางสมองบนภาพวาดที่ไม่มีชื่อ จุดที่เป็นตำแหน่งของธาลามัสซึ่งเป็นจุดรับและส่งสัญญาณไปแปลผลที่สมองส่วนหน้าและส่วนอื่นๆ หรืออาจเป็นรูทวาร รูช่องคลอด ปาก และหู เป็นช่องของความปรารถนา การกำเนิด และความตาย 

การเผชิญหน้ากับมนุษย์ต่างดาวบนเกาะปันหยีจนถึงยานอวกาศดวงตาสีฟ้า 

วงกลมสีขาวยังอาจพบในตอนท้ายเมื่อยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวพ่นคล้ายการถึงจุดสุดยอดก่อนจะทะยานหายไปในกลีบเมฆ ยาวอวกาศอาจหน้าตาคล้ายมะละกอ กริช หรือองคชาติ การปรากฎของยานอวกาศในตอนท้ายเสมือนการเผชิญหน้ากับเอเลี่ยนที่ถือเป็นทั้งภัยคุกคามและความหวังเหมือนในนิยายกึ่งวิทยาศาสตร์ การประจันหน้ากับเอเลี่ยนนี่เองที่เป็นทั้งการบุกรุกที่กำลังมาถึง การยึดครอง หรือควบคุม เป็นความหวังของการผจญภัย การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม หรือการแลกเปลี่ยน เช่น ภาพยนตร์ในทศวรรษ 1980 เรื่อง E.T. ของ Steven Spielberg ที่ทำให้เราครุ่นคิดว่าการเจอกับเอเลี่ยนเป็นสมดุลที่ไม่แน่นอนระหว่างความแปลกและความคุ้นเคย การเผชิญหน้ากับเอเลี่ยนเต็มไปด้วยความรู้สึกระแวง สงสัย ตื่นเต้น ตื่นกลัว และความสุขสันต์9Mimi Thi Nguyen. Thuy Linh Nguyen Tu. (2007). Alien Encounters: Popular Culture in Asian America.

การปรากฎของยานอวกาศยังชวนให้เราคิดถึงการนำเสนอเอเลี่ยนในวัฒนธรรมประชานิยมที่แยกไม่ขาดจากการวาดภาพตามหลักทัศนียภาพที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงความจริงซึ่งมีภววิทยาที่หลากหลายบนมิติทับซ้อน ตรงกับที่ Sara Ahmed (2000) นักวิชาการด้านเควียร์ศึกษา เสนอว่า “สิ่งที่พ้นเกินขีดจำกัด” มักจะกลายเป็นทาสของการสร้างภาพแทน สิ่งที่พ้นเกินภาพแทนก็มักจะถูกนำเสนออย่างล้นเกินในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอเลี่ยนและมนุษย์ เช่น เราจะแยกระหว่างมนุษย์กับเอเลี่ยนได้อย่างไร เอเลี่ยนจึงมิใช่แค่สิ่งที่เราไม่สามารถระบุได้ แต่ยังเป็นสิ่งที่เราได้ระบุไปแล้วว่าเป็น “เอเลี่ยน” เอเลี่ยนเป็นรูปรวมของสิ่งที่พ้นเกินมนุษย์ เอเลี่ยนกลายเป็นสิ่งไสยศาสตร์หรือสิ่งที่เรามีอารมณ์ทางเพศด้วย มันกลายเป็นสิ่งนามธรรมจากความสัมพันธ์ที่อนุญาตให้มันปรากฎในปัจจุบัน และปรากฎอีกครั้งไม่ว่าเราจะมองไปที่ใดก็ตาม กล่าวคือเมื่อเราเห็นเอเลี่ยนแล้ว เราจะเห็นเอเลี่ยนไปในทุกที่10Sara Ahmed. (2000). Strange encounters: embodied others in post-coloniality.

Ahmed (2000) ยังบอกอีกว่า การต้อนรับขับสู้ (hospitality) เอเลี่ยนอาจทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ และอาจทำให้เรากลายเป็นเอเลี่ยน เพื่อจะได้เข้าสู่โลกของเอเลี่ยนที่ไม่คุ้นเคยสำหรับมนุษย์ นี่อาจเป็นการทำความเข้าใจภาพยนตร์ Close Encounters of the Third Kind (1977) ซึ่งการแปลรหัสภาษาเอเลี่ยนอย่างเรียบง่ายด้วยทำนองของดนตรี ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างมนุษย์และเอเลี่ยน ในรูปแบบของการค้าขายชิ้นส่วนของเรือนร่างมนุษย์ที่ถูกขโมยไปเพื่อที่จะได้เข้าสู่โลกของเอเลี่ยน ความเสี่ยงของความสัมพันธ์ที่รวนเรไม่แน่นอนเช่นนี้ คือไม่ว่าเอเลี่ยนจะถูกนำเสนอว่าเป็นสิ่งแย่หรือดี พ้นหรืออยู่ภายในมนุษย์ แต่ความสัมพันธ์มันสร้างหรือให้ความหมายของขอบเขตของสิ่งที่เราอยู่ในความใกล้เคียงอย่างมาก อยู่ในความใกล้ชิดของความสัมพันธ์ระหว่างเมือกของเอเลี่ยนและผิวหนังมนุษย์10

Memoria จึงเป็นเรื่องของการสร้างความรู้สึกของการกลับบ้านผ่านการสร้างเขตแดนของพื้นที่ของการเป็นส่วนหนึ่งแบบใหม่ขึ้น ความสำคัญจึงมิใช่อยู่ที่ว่ามีเอเลี่ยนจริงหรือไม่ และหน้าตาเป็นอย่างในภาพยนตร์ และใครเป็นเอเลี่ยน ลิงหอนมีหน้าตาอย่างไร ใบหน้าของเจสสิกาตอนได้ยินเสียงระเบิดที่จำลองจากเสียง “วัตถุถูกห่อผ้าแล้วทุบ” เป็นอย่างไร ใบหน้าของนายทหารชั้นผู้น้อยผู้เฝ้ารอการมาของศัตรูที่ไม่มีจริงจะเป็นอย่างไร น้ำสมุนไพรที่แอร์นันผสมให้เจสสิกาดื่มจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ผลทรงกลมที่แอร์นันบอกว่า “นั่นเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ผมชอบที่สุด” นั้นเป็นผลของอะไร เป็นสิ่งที่เดียวกับที่หลุดออกมาจากกระเป๋ากระโปรงครูดอกฟ้าหรือไม่ สุนัขตัวนั้นเดินตามเจสสิกาหรือไม่ และทำไม มันคือวิญญาณสุนัขที่ตามล้างแค้นเธอแล้วน้องสาวหรือไม่ เลือดที่อยู่หน้าบ้านของเธอในวันที่ฝนตกเป็นเลือดของอะไร แอร์นันวัยหนุ่มคือใครและหายไปไหน เจสสิกาหายไปไหนในท้ายเรื่อง แล้วแอร์นันวัยกลางคนที่นั่งอย่างโดดเดี่ยวหน้าบ้าน ใบหน้าของเขากระตุกและดูจะได้ยินเสียงอะไรบางอย่างจากหูข้างซ้าย มันคือเสียงเดียวกันกับบทเพลงที่แอร์นันวัยหนุ่มไปมิกซ์มาให้เจสสิกาฟังหรือไม่ หรือใบหน้าของทหารชั้นผู้น้อยที่หันหลังให้กับกล้องเป็นอย่างไร

หากความสำคัญอยู่ที่ทวงท่าของความก้ำกึ่ง ไม่แน่นอน และไม่หยุดนิ่ง อย่างถึงที่สุดท่วงท่าของเอเลี่ยนคือการหลั่งไหลของอดีตที่ล้นทะลักสู่ปัจจุบันเหมือนระบบประสาทอัตโนมัติที่หลุดพ้นจากการควบคุมด้วยสมองส่วนหน้า อดีตที่จู่ๆ ก็โผล่มาแบบไม่ตั้งตัว อดีตที่บ้างมาเป็นเสียงและการสั่นไหวผ่านการสัมผัสผ่านผิวหนัง บ้างมาเป็นน้ำเมือกของการร่วมรัก วัตถุทรงกลมจึงเป็นเอเลี่ยน เอเลี่ยนจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง เรื่องเล่าและสารคดี ความเป็นและความตาย ความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าหน้าตาเอเลี่ยนเป็นอย่างไรเพราะเราจะมีภาพจำของเอเลี่ยนอยู่ในหัวอยู่แล้ว ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะรู้หรือไม่ว่าเราได้มีภาพจำเอเลี่ยนแบบสำเร็จรูปไปเสียแล้ว คำถามคือว่า เราจะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับเอเลี่ยน เสียงปริศนา ความตาย ความรัก การสั่นสะเทือนของโลก น้ำตาของท้องฟ้า และความจริงแบบอื่นๆ อย่างไรต่างหาก

จุดและรู ตัวกลางระหว่างภายนอกและภายใน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความจริงแบบอื่นๆ 

A Minor History, Part II: Beautiful Things by Apichatpong Weerasethakul, 100 Tonson Foundation, Bangkok, 2022, photo by Atelier 247

เสียงวิทยุทำหน้าที่คล้ายกับเสียงฝนตก หรือเสียงหึ่งจากปีกแมลงวัน แมลงวันที่ไปเกาะร่างของแอร์นัน หรือแมลงวันที่ตอมซากปลา ปลาที่อาจติดเชื้อจากสายน้ำที่เป็นพิษ ท่าทางของแมลงเมื่อไปเกาะแอร์นันก็ขนเอาสัญญาณของความตายหรือเนื่อเปื่อยของสิ่งที่ถูกเกาะไปด้วย นี่จึงเป็นเรื่องของคลื่นและการรับคลื่นหรือแปลความสัญญาณ การแปลที่แปลได้บางส่วน การแปลคือผลผลิตจากการเปิดผัสสะของผู้แปล วงกลมจึงเป็นรูรั่วของภาพความเป็นมนุษย์ที่งดงามและยิ่งใหญ่ เป็นจุดสีขาวบนภาพเฉลิมฉลองสมมติเทพ เป็นผ้าสีขาวที่คลุมอนุสาวรีย์สฤษฎิ์ วงกลมจึงเป็นเอเลี่ยน เป็นการเปลี่ยนผ่านไปเป็นสิ่งอื่นที่มากไปกว่าความจริงที่เรารับรู้ 

วงกลมของเม็ดยานอนหลับ มันอาจเป็นลอราซีแพมหรืออาจเป็นซาแนกซ์ มันอาจเป็นยาพาราที่ใครสักคนที่ “ทานยาพาราหมดขวด” เพื่อหวังจากโลกนี้ไป โลกที่ไม่น่าอยู่และอยุติธรรม หรือมันอาจเป็นยาบ้าที่ทหารค้าขายให้ในขณะเดียวกันก็ทำสงครามกับกองกำลังฝ่ายซ้าย จุดหรือวงกลม จุดที่ใน A Minor History, Part Two: Beautiful Things ล้อเล่นกับคำว่า จุติ ที่แปลว่ากำเนิด มันอาจเป็นการเกิดใหม่ชั่วนิรันดร์ของดอกบัวแห่งความหวังเพื่อต่อต้านดอกไม้ที่ถูกฟูมฟักโดมเจ้าอาณานิคม ราวกับเป็น “การเกิดใหม่ของลายสัก เครื่องหมายสวัสติกะให้กลายเป็นมังกรเหมือนพญานาคน้อย” หรือมันอาจเป็นการระลึกชาติ

การไม่หยุดนิ่งของวัตถุทรงกลมปริศนา แรงสั่นไหวที่ไม่อาจระบุพิกัด เอเลี่ยน ผีดิบ ธาลามัส ช่องสังวาส คนระลึกชาติ และคนที่จดจำรับสัมผัสสิ่งต่างๆ ได้อย่างล้นเกิน จึงเป็นชุมชนของการกลับมาสนใจป่าและเรื่องเล่าในชนบท สนใจเสียงร้องจากรถยนต์ ไฟดับที่ไม่ใครสนใจ ไฟที่ดับในห้องสมุด และแกลเลอรีภาพวาดประวัติศาสตร์บาดแผลของอเมริกาใต้ 

วงกลมเป็นการเคลื่อนผ่านไปมาระหว่างที่มืดและสว่าง ราวกับไฟที่ดับลงในส่วนพิพิธภัณฑ์ขณะที่เจสสิกาเดินชม พิพิธภัณฑ์ที่มีภาพของชายหนุ่มและมัดกล้ามของเขากับป้ายคำว่า “สวนสาธารณะ” การดับของไฟในส่วนชายหนุ่ม เผยให้เห็นอีกภาพซึ่งเป็นแสงไฟที่ส่องลงจากท้องฟ้ามาที่คนข้างล่าง ราวกับการจ้องมองจากพระเจ้าที่กำลังพิพากษา เช่นเดียวกับแสงไฟที่ส่องขึ้นฉายท้องพระโรงที่ว่างเปล่าพร้อมกับเสียงวัตถุกระแทกใน A Minor History ภาคหนึ่ง ไฟดับเป็นการเผยให้เห็นความจริงอีกหลากหลาย ที่ถูกปิดบังด้วยความจริงที่แสร้งว่ายิ่งใหญ่กว่าความจริงอื่นๆ 

ดังนั้นแล้ว เสียงระเบิดในหัวของเจสสิกาหายไป หรือแม้แต่ตัวเธอที่อาจหายไปกลายเป็นคลื่นและแรงสั่นไหว อาจเป็นเพราะเธอเดินทางไปในพื้นที่ชนบทและสัมผัสเรื่องเล่าพื้นถิ่น ราวกับว่าการรับรู้ความจริงแบบอื่นๆ มิอาจเพียงแค่ผ่านการท่องเที่ยวในเมืองใหญ่หรือพิพิธภัณฑ์ ดังข้อความ “ฉันชอบดูธรรมชาติมากกว่าการดูภาพใดใดในพิพิธภัณฑ์ ส่วนฉันชอบดูผู้ชายในชุดมอเตอร์ไซค์วิบาก” ซึ่งอภิชาติพงศ์ได้แรงบันดาลใจจากกฤษณมูรติ

การนอนหลับของแอร์นัน? และความตายในทัศนะของกฤษณมูรติ

Stages of the Sleep Cycle, MSD and the MSD Manuals

ในฉากที่น่าสนใจคือเจสสิกาดูแอร์นันนอนหลับ การนอนหลับของแอร์นันที่ตายังเปิดอยู่ นี่ทำให้ความเป็น ความตายและการนอนหลับอยู่ในระนาบเดียวกัน การนอนหลับที่ตาไม่กระตุกของแอร์นันราวกับว่าเขาหลับลงไปถึงระยะ N3 หรือเป็นการหลับที่ไม่ฝัน ซึ่งผ่อนคลายอย่างถึงที่สุดและเป็นระยะที่ร่างกายจะซ่อมแซมตนเอง เมื่อเทียบกับเจสสิกาที่การหลับของเธอยังอาจไม่ลงไปถึง N3 ได้ หากการพักผ่อนที่เราต้องการคือการหลับแบบไม่ฝัน แต่การฝันก็เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และปลา11Avery Hurt. (2021). A Glimpse Inside the Mind of Dreaming Animals. แต่เราก็คงไม่อยากเผลอตื่นมาไม่ว่าจะกำลังนอนในระยะใด 

ในทางหนึ่ง เจสสิกาจ้องมองการกึ่งนอนกึ่งตายของแอร์นันดูจะเป็นการต่อต้านอสุภกรรมฐานแบบพุทธเถรวาท และท้าทายการปิดกันเวลาแบบพุทธ อสุภกรรมฐานเป็นการสั่งสอนให้ลดความปรารถนาและการยึดติดโดยมักใช้เรือนร่างของเพศหญิงเป็นตัวอย่างของความไม่จีรังของมนุษย์12Arnika Fuhrmann. (2016). Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema อภิชาติพงศ์เสนอให้เราเห็นความไม่ต่อเนื่องของเวลา ใบหญ้าที่สั่นไหวข้างแอร์นันที่แน่นิ่ง การกึ่งเป็นกึ่งตายของเพศชายในเรื่องได้บ่อนเซาะภาพอันศักดิ์สิทธิ์และแข็งแกร่งของเพศชายลงอย่างราบคาบ ไม่ต่างจากฉากพยาบาล ร่างทรงเก่ง และป้าเจนรุมเล่นจับอวัยวะเพศชายที่แข็งตัวของนายทหารที่ลุกชูชันขึ้นในช่วง REM sleep ใน Cemetery of Splendor (2015)

อภิชาติพงศ์ยังสนใจการมองความตายของกฤษณมูรติ ที่ไม่เสนอสูตรสำเร็จในการทำความเข้าใจความตาย และปฏิเสธความคิดกระแสหลักที่มองความตายอย่างคับแคบ เช่น วิทยาศาสตร์สสารนิยมซึ่งมองความตายว่าเป็นการสิ้นสุดของกระบวนการทางธรรมชาติ ส่วนจิตนิยมซึ่งเป็นพวกสารัตถะนิยมที่เชื่อว่ามนุษย์มีจิตเป็นแก่นสาร และมองว่าความตายเป็นการเปลี่ยนผ่านของจิต และมองว่าจิตเป็นสิ่งที่แยกจากร่างกาย รวมไปถึงพุทธเถรวาทที่มองว่าความตายเป็นเรื่องของบุญกรรมและวัฏสังสารที่เราต้องยอมจำนน13พระอารดินทร เขมธมฺโม(รัตนภู). (2006). การศึกษามโนทัศน เรื่องความตายของกฤษณมูรติ.

กฤษณมูรติชี้ให้เห็นว่าความตายเป็น “สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ (unknowns)” ต่อให้เราจะนิยามความหมายตายตัว แต่ความตายก็ยังเป็นสิ่งใหม่ ในแง่ของการรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะ ปัจจุบันคือความใหม่ตลอดเวลา ไร้ความสืบเนื่อง และการสิ้นสุดของความปรารถนาที่หมกมุ่นอยู่กับตัวตน ความตายจึงอยู่ในฐานะของการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ความตายเป็นความหมายเดียวกับการใช้ชีวิต13

กฤษณมูรติชี้ให้เห็นว่าความตายเป็น “สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ (unknowns)” ต่อให้เราจะนิยามความหมายตายตัว แต่ความตายก็ยังเป็นสิ่งใหม่ ในแง่ของการรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะ ปัจจุบันคือความใหม่ตลอดเวลา ไร้ความสืบเนื่อง และการสิ้นสุดของความปรารถนาที่หมกมุ่นอยู่กับตัวตน ความตายจึงอยู่ในฐานะของการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ความตายเป็นความหมายเดียวกับการใช้ชีวิต

การรับรู้ความตายจะผ่านประสบการณ์โดยตรง ไม่มีความคิดมาครอบงำ การเข้าใจความตายคือการเข้าถึงความจริง ด้วยการใส่ใจอย่างเต็มเปี่ยม รับรู้อย่างทันทีทันใด และตระหนักรู้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการเลือก การรับรู้ความตายคล้ายกับการทำสมาธิ การจะเข้าถึงความตายต้องเป็นอิสระจากความคิดที่มีอิทธิพลทำให้เรามีท่าทีต่อความตาย เมื่อไม่ถูกครอบงำด้วยความคิดจะก่อให้เกิดการรับรู้ความจริงและความรัก เพราะสำหรับ กฤษณมูรติมองว่า ความรัก ความตาย และความจริงเป็นเอกภาพเดียวกันที่ปรากฏทุกขณะของชีวิต ซึ่งทำให้เกิดสภาวะใหม่อยู่ตลอดเวลา (transformation) และเป็นการตายจากความสืบเนื่องที่เป็นตัวตนทุกรูปแบบและมีผลต่อปรากฏการณ์ทางสังคม13 

นอกจากนี้ กฤษณมูรติ ยังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้ความจริง โดยมองว่ามนุษย์สร้างโลกขึ้นมาโดยมีตัวตนและการรับรู้สิ่งต่างๆ จากประสาทสัมผัสที่ถูกปิดบัง14ชญาดา ราศรีจันทร์. ชัยณรงค์ ศรีมันตะ. สกุล อ้นมา. (2020). สภาวะมนุษย์ในปรัชญากฤษณมูรติ. ซึ่งชวนให้นึกถึงมายากลของการเขียนภาพแบบตะวันตกตามหลักทัศนียภาพ (perspective) ซึ่งทำให้เห็นความจริงที่หลากหลายและลวงตาไปพร้อมๆ กัน การเข้าถึงความจริงของกฤษณมูรติจึงคล้ายกับการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ อยู่ตลอดเวลาเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างกล้วยไม้และแมลง เหมือนเอเลี่ยน ผีดิบและมนุษย์ที่สื่อสารกันด้วยเมือกและผิวหนัง เหมือนฟ้าและผืนป่าที่สื่อสารกันด้วยฝนและสายฟ้า เหมือนผู้ชายและผู้หญิงที่ต่างใช้กางเกงยีนส์ เหมือนแมลงวันที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างความเป็นและความตาย เหมือนดนตรีและศิลปะที่เป็นจุดเชื่อมต่อของวัฒนธรรมตะวันตกกับประเทศหลังอาณานิคม การสื่อสารจึงเป็นเรื่องของการหาสมดุลของสารเคมีในระบบการทรงตัว 

มนุษย์สร้างโลกขึ้นมาโดยมีตัวตนและการรับรู้สิ่งต่างๆ จากประสาทสัมผัสที่ถูกปิดบัง ซึ่งชวนให้นึกถึงมายากลของการเขียนภาพแบบตะวันตกตามหลักทัศนียภาพ (perspective) ซึ่งทำให้เห็นความจริงที่หลากหลายและลวงตาไปพร้อมๆ กัน การเข้าถึงความจริงของกฤษณมูรติจึงคล้ายกับการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ อยู่ตลอดเวลาเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างกล้วยไม้และแมลง เหมือนเอเลี่ยน ผีดิบและมนุษย์ที่สื่อสารกันด้วยเมือกและผิวหนัง เหมือนฟ้าและผืนป่าที่สื่อสารกันด้วยฝนและสายฟ้า เหมือนผู้ชายและผู้หญิงที่ต่างใช้กางเกงยีนส์ เหมือนแมลงวันที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างความเป็นและความตาย เหมือนดนตรีและศิลปะที่เป็นจุดเชื่อมต่อของวัฒนธรรมตะวันตกกับประเทศหลังอาณานิคม การสื่อสารจึงเป็นเรื่องของการหาสมดุลของสารเคมีในระบบการทรงตัว 

สมดุลระหว่างสรรพสิ่ง จักรวาล โลก และสมอง

“เป็นจุดที่นักขี่รถวิบากชอบเพราะมันท้าทายการทรงตัวถ้าหมุนล้อผิดองศาแรงเหวี่ยงจะกระชากให้ล้มได้”

Memoria เสนอให้เราเห็นถึงสมดุลระหว่างความเป็นความตายที่บ่อนเซาะความสถาพรของร่างกษัตริย์และอำนาจองค์อธิปัตย์ การโอบรับความตายและเงี่ยฟังสุ้มเสียงที่หล่นหาย สัมผัสจุดสมดุลของการเคลื่อนที่ศีรษะในแนวตั้งและแนวราบ ระหว่างระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย ระหว่างสมองส่วนหน้า ลิมบิก และสมองส่วนอื่นๆ ระหว่างการตื่นและการนอน ระหว่างฟ้ากับผืนดินและก้อนหิน ระหว่างผึ้งกับแมลง และระหว่างการหลับลึกและหลับฝัน 

จุดสมดุลจึงเป็นการถ่ายเทของภายนอกภายใน ซึ่งตั้งคำถามกับการลุ่มหลงในตนเอง จุดนี้เองยังเป็นจุดแห่งศักยภาพของการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ ราวกับเป็นจุดที่มีอุณหภูมิและความหนาแน่นเป็นอนันต์ (Singularity) ก่อนจะเกิดการขยายตัว หรือ การระเบิดออกอย่างรวดเร็วและรุนแรง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเอกภพ สสาร และพลังงาน รวมถึงที่ว่างและกาลเวลา ส่งสสารและพลังงานไปในห้วงอวกาศ ให้กำเนิดดวงดาวและกาแล็กซี จนเป็นจักรวาล15ทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang Theory). (2019). https://ngthai.com/science/24035/big-bang-theory/

หลังจากเจสสิกาสัมผัสแอร์นัน รับเสียงสุดท้ายจนเพียงพอ เธอนั่งเงียบงัน ก่อนจะเดินไปเปิดหน้าต่างที่คล้ายกับหน้าต่างในห้องที่เธอจ้องมองในความมืดที่เป็นเหมือนกรงขังเธอไว้ในบ้านของแคเรน น้องสาวของเธอ เธอเปิดมันออกเพื่อฟังเสียงด้วยหูข้างขวา เสียงภายนอกและสายลม ภาพต่อมาคือป่าดงดิบและยานอวกาศที่อาจคล้ายยานอวกาศที่นาบัวในโครงการ Primitive (2009) ซึ่งเหมือนนกฮูกผู้มองเห็นในความมืดมิด ยานอวกาศเคลื่อนไปมาระหว่างฟ้าและผืนดิน ยานอวกาศที่ให้ความรู้สึกต่างจากการมาของเอเลี่ยนในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ราวกับการมาของพระเจ้าเพื่อพิพากษา ยานอวกาศใน Memoria กลับไม่ต่างจากคลื่นวิทยุ ฝน หรือแมลงวันที่เคลื่อนไปมาระหว่างฟ้าและผืนดิน ระหว่างความเป็นและความตาย ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่นอกเหนือจากมนุษย์ เช่นเดียวกับกิจกรรมความรักระหว่างแมลงและกล้วยไม้ 

ภาพยนตร์จบลงด้วยภาพสารคดีของเมืองเล็กๆ ที่ไม่อาจทราบได้ว่าช่วงเช้าหรือตอนเย็น ภูมิทัศน์ของเทือกเขาลำเนาไพรคล้ายกับกลีบสมอง เมฆฝนกำลังก่อตัว ภาพสุดท้ายปรากฎเป็นหมู่มวลก้อนเมฆหนาตัวทางด้านซ้ายเหนือภูเขา ด้านขวาของภาพเป็นบ้านเรือนไม่กี่หลังคาเรือน และตรงกลางเป็นต้นไม้ที่ยอดมันหักอาจถูกฟ้าผ่าหรือเพราะแรงลม ภาพจบลงตรงนั้น ความมืดปกคลุม ผู้ชมได้ยินเพียงเสียงของฝนที่ค่อยๆ หลั่งไหลและฟ้าคะนองนานอยู่สักพัก ฝนค่อยซาลง เสียงมอเตอร์ไซค์ของใครสักคนขับ และจบที่เสียงใครสักคนกดปิดการอัดเสียง ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายกับมือของอภิชาติพงศ์ปัดแมลงบนเตียงนอนของเขาหลังจากที่พวกมันมาชุมนุมกันใน Night Colonies (2021) 

ภาพสุดท้ายจึงชวนให้นึกถึงความสัมพันธ์ของผืนป่าและท้องฟ้า ระหว่างสารคดีและเรื่องแต่ง ระหว่างฝันกับตื่น ระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นๆ เป็นภาพของสมดุลของสรรพสิ่งที่เคลื่อนไหวและสร้างแรงสั่นสะเทือนของตนเอง ราวกับว่า Memoria เป็นวงกลมของการพาเราข้ามมิติไปสู่พื้นที่ของการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ สลายเส้นขอบเขตและสร้างขอบเขตแบบใหม่อย่างไหลหลั่งตลอดเวลา เป็นวงกลมหรือหลุมดำในจักรวาล เป็นปลายเปิดของความจริงอีกอนันต์ที่พร้อมจะดูดเราเข้าไปอยู่เสมอ ปลายเปิดที่อาจดึงเราเข้าไปสู่ความทรงจำมหาศาลของสรรพสิ่งที่ทั้งเจ็บปวด สยดสยอง รักโรแมนติก หรือน่าตลกขบขัน ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่เงียบสงบ สะทกสะท้อนเลือนลั่นสั่นสะเทือนหากัน ราวกับเป็นโรคระบาดในเขตร้อนชื้น หรือเป็นเชื้อราที่กันกินกล้วยไม้ ไม่ว่าจะเป็นแม่ริม นาบัว หรือ Pijao และที่อื่นๆ Memoria จึงเป็นเวลาและพื้นที่ที่เราได้เข้าไปปรับจูนเสียง (attune) เข้ากับโลกและจักรวาลที่เราช่างเป็นสิ่งเล็กน้อยเสียเหลือเกิน 


ขอขอบคุณ นพ.กฤตนัย ธีรธรรมธาดา แพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาโสตประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลเกี่ยวกับโสตประสาทวิทยาในบทความนี้

“เกย์ได้ไหม เกย์แค่ไหน” คำถามที่ “พิกซาร์” ยังไร้คำตอบ

หลังจากดิสนีย์โดนถล่มหนัก กรณีไม่ยอมแสดงท่าทีต่อต้านร่างกฎหมาย “ห้ามสอนเรื่องเกย์แก่เด็กเล็ก” ในรัฐฟลอริดา (อ่านข่าวได้ที่นี่) ค่ายในเครือดิสนีย์อย่างพิกซาร์ก็หนีไม่พ้นถูกสังคมเพ่งตามองในประเด็นนี้ไปด้วย จนล่าสุดทางค่ายต้องประกาศว่า จะนำฉากตัวละครหญิง-หญิงจูบกันในแอนิเมชั่นเรื่องใหม่คือ Lightyear กลับมาใส่ไว้ตามเดิมแล้ว หลังจากตัดสินใจตัดทิ้งไปก่อนหน้านี้

แน่นอนว่านี่เป็นสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงในทางดี และขณะเดียวกันก็ทำให้แผลของแอนิเมชั่นอีกหลาย ๆ เรื่องที่ผ่านมาของพิกซาร์ต้องถูกเปิดขึ้นมา เพื่อวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ตกลงพวกเขาจะมีท่าทีอย่างไรกันแน่กับประเด็น LGBTQIA+

ย้อนไปตอน Soul กับ Inside Out ซึ่งเล่าเรื่องราวในนิวยอร์กกับซานฟรานซิสโกนั้น ทีมพิกซาร์เคยมีไอเดียจะใส่รายละเอียดที่อ้างอิงถึงความเป็นชุมชน LGBTQIA+ ขนาดใหญ่ในสองรัฐนี้ไว้ด้วย (เช่น ให้เห็นสติกเกอร์สายรุ้งบนหน้าต่าง) แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลใดไม่เปิดเผย พวกเขาก็ตัดสินใจทิ้งความคิดนี้ไปซะ

หรือตัวอย่างล่าสุดที่ชัดมากก็คือ Luca (2022) ซึ่งเล่าถึงตัวละครสัตว์ประหลาดใต้ทะเลสองตัวที่สนิทชิดใกล้กันมากจนนักวิจารณ์หลายคนตีความว่าทั้งคู่เป็นเกย์นั้น ทีมสร้างสรรค์ของพิกซาร์เคยเผยว่า พวกเขาพูดคุยถึงธีมนี้ด้วยเหมือนกัน แต่ก็ไม่บอกว่าแล้วสรุปทั้งสองมีความสัมพันธ์ถึงระดับรักใคร่กันหรือเปล่า โดยผู้กำกับ เอนริโก คาซาโรซา ให้สัมภาษณ์อย่างคลุมเครือว่า “บางคนอาจจะโกรธที่ผมไม่ยอมบอกตรงๆ ว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่สำหรับผม หนังเรื่องนี้พูดถึงการเปิดกว้างรับความแตกต่างทุก ๆ ด้านน่ะครับ”

เท่านั้นไม่พอ อันที่จริงผู้บริหารพิกซาร์เคยเสนอไอเดียให้ตัวละคร “จูเลีย” ในเรื่องนี้เป็นเกย์ด้วย แต่ไอเดียดังกล่าวก็ลอยหายไปกับสายลมอีกเช่นเคย

แหล่งข่าวในพิกซาร์เปิดเผยว่า บริษัทมีการหารือเรื่องการใส่ตัวละคร LGBTQIA+ เข้าไปในหนังบ่อยครั้ง แต่ปัญหาข้อหนึ่งที่พวกเขาขบไม่แตกเสียทีก็คือ “ถ้าใส่ จะใส่ยังไงโดยไม่ต้องเพิ่มตัวละครคนรักที่เป็นเพศเดียวกันให้กับพวกเขาด้วย หากใส่เข้ามาเฉยๆ โดยไม่ต้องมีเรื่องรักใคร่เกี่ยวข้องจะได้ไหม” โดยทีมสร้างสรรค์จะถามวนเวียนอยู่กับประเด็นนี้และหาคำตอบไม่ได้ จึงลงเอยด้วยการตัดสินใจล้มไอเดียทิ้งไปก่อนเลยทุกที

ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ จาก Boyhood สู่แอนิเมชั่น Apollo 10 ½

“ตอนเด็กผมพยายามปกปิดความทุลักทุเลของการเติบโต จนเมื่อผมกลายเป็นพ่อคน ผมถึงเริ่มคิดว่าผมอยากทำหนังเกี่ยวกับวัยเด็ก”

“เรื่องของเรื่องก็คือ ในขณะที่เรามีหนังเกี่ยวกับนักบินอวกาศและภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา แล้วหนังที่บันทึกความรู้สึกถึงการมีชีวิตอยู่ล่ะ ความรู้สึกได้ชิดใกล้กับสิ่งที่เกิดขึ้นล่ะ”

นี่คือไอเดียตั้งต้นของ Apollo 10 ½: A Space Age Childhood หนังโรโตสโคปผสมโมชั่นแคปเจอร์เรื่องล่าสุดของริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ โปรดิวซ์โดยเน็ตฟลิกซ์ และเพิ่งฉายรอบแรกในเทศกาล SXSW Film Festival เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ตอบโจทย์คนที่คิดถึงงานโรโตสโคปสไตล์เขาแบบใน Waking Life (2001) และ A Scanner Darkly (2006) หรือประทับใจความนอสตัลเจียอุ่น ๆ ของ Boyhood (2014) มาก่อนแล้ว

“Boyhood เป็นหนังที่เกี่ยวกับส่วนเสี้ยวของชีวิต Apollo ก็เช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็เกี่ยวกับสิ่งที่น่าจะยิ่งใหญ่และสลักสำคัญที่สุดที่มนุษย์เคยทำสำเร็จด้วย” ลิงค์เลเตอร์เล่าถึงที่มาของหนัง

“ผมเริ่มทำ Boyhood ด้วยความคิดที่ว่า ‘นี่ฉันไม่มีเรื่องพิเศษอะไรในวัยเด็กให้ทำหนังเลยนี่’ มันไม่มีอะไรที่น่าสนใจขนาดนั้น ตอนเด็กผมพยายามปกปิดความทุลักทุเลของการเติบโต จนเมื่อผมกลายเป็นพ่อคน ผมถึงเริ่มคิดว่าผมอยากทำหนังเกี่ยวกับวัยเด็ก ผมรู้สึกว่าผมไม่มีห้วงเวลาที่น่าจดจำในตอนนั้น ผมเลยอยากทำหนังที่เกี่ยวกับทุกอย่างของช่วงชีวิตนั้น นั่นคือที่มาของ Boyhood พอเข้าปีที่สองที่ผมทำ Boyhood ผมก็คิดขึ้นมาได้ว่า ‘เดี๋ยวนะ ปีนั้นพวกเขาเดินบนพื้นดวงจันทร์นี่! นั่นมันน่าสนใจมาก’ แล้วผมก็คิดว่า ‘นี่คือช่วงเวลาที่มหัศจรรย์มากสำหรับการมีชีวิตอยู่เลย!’ ตอนนั้นแหละที่ผมรู้ว่า ผมคือคนเดียวที่จะทำหนังเรื่องนี้ได้”

Apollo 10 ½ เล่าถึงช่วงซัมเมอร์ปี 1969 ที่ชานเมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส ในช่วงเวลาสำคัญของมนุษยชาติที่นักบินอวกาศของนาซ่ากำลังจะก้าวเท้าลงเหยียบบนพื้นดวงจันทร์ ช่วงชีวิตวัยพรีทีนที่เคยธรรมดาของ “สแตนลีย์” ก็ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เมื่อนาซ่าเชิญเขาไปเข้าร่วมภารกิจลับสุดยอดเพื่อทดสอบระบบไปดวงจันทร์กับยานอะพอลโลสิบครึ่ง (ที่ผลิตมาเล็กเกินไปทำให้นักบินอวกาศผู้ใหญ่เข้าไม่ได้!)

แฟนตาซีของสแตนลีย์กับแฟนตาซีตอนเด็กของลิงค์เลเตอร์ซ้อนทับกัน นั่นก็คือการไปเหยียบดวงจันทร์ นี่จึงเป็นหนังที่เขาทำเพื่อจดจำรายละเอียดของแฟนตาซีนั้น และเขียนบทบันทึกความทรงจำที่สักวันจะเลือนไป

ลิงค์เลเตอร์บอกว่า แม้พ่อของเขาจะไม่ได้ทำงานที่นาซ่า แต่พ่อแม่เพื่อนหลายคนทำงานที่นั่นในตอนนั้น จำนวนคนทำงานที่นาซ่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นและจนในจุดหนึ่งก็มากถึง 4 แสนคน คนดูภาพการลงจอดของยานอะพอลโล 11 ถึง 600 ล้านคน และหนึ่งในนั้นก็คือตัวเขาเองที่อยู่ในช่วงเกรด 2-3 เขาปรับให้ตัวละครอยู่เกรด 4 เพราะอยากทำงานกับตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นอีกนิด แต่ไม่ถึงเกรด 5 เพราะมองว่าความเป็นเด็กทั้งหมดจบสิ้นลงตรงนั้น

หนังเรื่องนี้จึงเป็นส่วนผสมของแฟนตาซีเกี่ยวกับการไปเหยียบดวงจันทร์ ความตื่นเต้นของเขา กลุ่มเพื่อนและพี่น้อง เกี่ยวกับภารกิจของนาซ่า การระลึกถึงบรรยากาศของบ้านเกิดในช่วงเวลาแห่งการเติบโตด้วยท่วงท่าแบบบทกวี และความทรงจำวัยเด็กที่มักจะเล่นตลกกับผู้ใหญ่ที่หวนคิดถึงมัน ผสานกับบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมในยุคนั้นที่พันเกี่ยวกับสงครามอวกาศ สงครามเวียดนาม และการลอบสังหารผู้นำ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นยุคที่วัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์รุ่งเรือง น่าจดจำ และช่วยให้ใครหลายคนผ่านชีวิตช่วงนั้นมาได้

ในห้วงเวลาที่มืดมนอย่างตอนนี้ หนังเรื่องนี้จึงอาจจะเป็นแสงสว่างที่เตือนว่า ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยมีความหวัง และวันหนึ่งความหวังนั้นก็อาจจะหวนกลับมา

หลังการฉายที่เทศกาล SXSW หนังสือพิมพ์สกรีนเดลี่เขียนถึงหนังว่า “Apollo 10 ½ สะท้อนว่า ปัจเจกบุคคลมองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ผ่านปริซึมที่เรียกว่าประสบการณ์ส่วนตัวอย่างไร ….และในหลายครา ไม่สำคัญหรอกว่าความทรงจำเหล่านั้นจะถูกต้องเที่ยงตรงหรือไม่ แต่คำถามที่ว่า ‘เราจดจำสิ่งต่าง ๆ อย่างไร’ ต่างหากที่สำคัญ”


Apollo 10 ½ จะเริ่มสตรีมทางเน็ตฟลิกซ์ 1 เมษายนนี้

หมอปลาวาฬ ตัวแทนอำนาจรัฐไทยในหมู่(ไท)บ้าน : ความพ่ายแพ้ของคนนอกที่ไต่เส้นลวดอำนาจสาธารณสุขในยุครัฐเวชกรรม

หนังในจักรวาลไทบ้าน เดินทางมาสู่ปีที่ 5 หากนับเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย บางคณะก็ถือว่าจบการศึกษาและเริ่มทำงานไปแล้ว ช่วงปี 2560-2561 ถือเป็นจุดที่หนังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จนมาถึงปี 2563 ที่ทุกวงการได้รับผลกระทบอย่างหนักมาจากโรคระบาดอย่างโควิด-19 ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ เป็นเรื่องที่ฉายในช่วงต้นของสถานการณ์ดังกล่าวแต่ในตัวรายได้ก็ถือว่ายังพอเอาตัวรอดได้ อย่างไรก็ตามคิวของหมอปลาวาฬที่จะเป็นการส่งหนังไปยังภาคแยกอื่นๆ อีกกลับเผชิญหน้ากับช่วงโควิด-19 ระบาดหนักหลังสงกรานต์ปี 2564 จนต้องประกาศเลื่อนฉาย หมอปลาวาฬ ออกไป จึงกล่าวได้ว่า หลังจากประกาศก็เกือบครบรอบปีพอดีกว่าจะได้ฤกษ์

หลายคนอาจไม่รู้ว่า คำว่า “หมอ” ในเรื่องนี้ ไม่ใช่หมอแบบแพทย์ที่ชนชั้นกลางทั่วไปรู้จักกัน แต่เป็นคำเรียกบุคลากรทางสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ตัวชาวบ้านที่อยู่ตามโรงพยาบาลส่วนตำบล หมอปลาวาฬ ตามท้องเรื่อง คือ นักวิชาการสาธารณสุข แต่มีบทบาทอย่างสูงที่ทำงานร่วมกับชุมชน เป็นหนึ่งในตัวแทนของรัฐที่มีอำนาจและใกล้ตัวชาวบ้าน แต่เป็นอำนาจที่ดูเป็นประโยชน์เพราะช่วยดูแลสุขภาพ และรักษาชีวิตชาวบ้านไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง โรคฉุกเฉิน ตลอดจนการร่วมรณรงค์เรื่องสุขอนามัยต่างๆ

ความล้มเหลวของหมอปลาวาฬ ณ จุดเริ่มเรื่อง กลายเป็นการบ่งบอกนัยถึงชีวิตส่วนตัวและความสัมพันธ์ทางความรักที่ไม่สมหวังในหมู่บ้าน การช่วยชีวิตเด็กที่ตกน้ำไว้ไม่ได้ สำหรับเธอแล้ว นั่นคือ ข้อผิดพลาดและจุดตกต่ำที่สุดที่ในชีวิตของเธอ อารมณ์ความรู้สึกที่ดำดิ่งกลับมีน้ำใจของชายที่ชื่อจาลอดหยิบยื่นเข้ามา เขาได้กลายเป็นผู้ช่วยเยียวยาหัวใจของเธอไม่ให้เธอจมลงไปมากกว่านั้น จาลอดจึงเข้าไปนั่งในหัวใจเธอในเวลาที่พอเหมาะพอดี

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราได้เข้าไปใกล้กับพื้นที่แห่งอำนาจทางการแพทย์มากอย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน หลายคนห่างหายจากเข็มฉีดยาไป แต่ก็ถูกเรียกไปเพื่อฉีดป้องกันชีวิต ไม่ต่างกับยายของจาลอดในท้องเรื่อง ยิ่งไปกว่านั้น การสอนให้คนในครอบครัวฉีดยาให้ ยิ่งทำให้เห็นว่า อัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ เรียกร้องให้ประชาชนต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นภายใต้การกำกับของรัฐ

หมอปลาวาฬ ในสายตาของคนในหมู่บ้านในด้านหนึ่งแล้วจึงเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐที่ให้(พระ)คุณกับชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม เธอเองก็มีระยะห่างในรูปแบบชีวิตของเธอที่ไม่อาจเป็นเนื้อเดียวกับจาลอดและคนในหมู่บ้านได้อย่างที่ควร

เรารู้กันดีว่า หมอปลาวาฬ จาลอด และครูแก้ว อยู่ภายใต้วังวนของความสัมพันธ์แบบรักสามเส้า ในอีกฝั่งครูแก้วอยู่กับอำนาจรัฐอีกแบบที่อยู่ในชีวิตประจำวัน คนทั่วไปรู้กันดีว่า ครูเป็นวิชาชีพที่น่านับถือเพราะสั่งสอนเด็กๆ ให้มีความรู้ และยังคาดหวังให้เป็นผู้เลี้ยงดู และดัดนิสัยแทนพ่อแม่ที่อาจจะไม่มีทั้งเวลาและความอดทนมากพอที่จะจัดการเอง 

ในยุคโควิด-19 เราจะเห็นเลยว่า โรงเรียนเริ่มมีบทบาทที่ลดลง การเรียนการสอนออนไลน์ เป็นการโยนภาระมาให้กับผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่ไร้ทักษะในการช่วยเหลือลูกหลาน ยังไม่นับว่า บางครอบครัวไม่มีเวลา ที่แย่กว่าก็คือ ไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือในการเรียนออนไลน์ ในเรื่อง บทบาทของครูแก้วที่มีต่อครอบครัวจาลอดน้อยมาก ครูแก้วเป็นเสมือนกับจดหมายเหตุของชีวิตคู่ ไม่ว่าจะเป็นภาพคู่บนหัวเตียง บนฝาห้อง แฟ้มงานครู หนังสือเรียน การบ้านของเด็ก คือ เศษซากความทรงจำและปัจจุบันของครอบครัวนี้

เรื่องเกือบพาไปสู่ชัยชนะของหมอปลาวาฬ เมื่อจาลอดพยายามจะกลับไปสานสัมพันธ์ ขณะที่หมอก็มาที่บ้านช่วยดูแลยาย จนยายออกปากว่าชอบ และยายนี่เองที่รู้เห็นความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นอีกครั้งของทั้งสอง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตัดสินใจเลือก/ไม่เลือก ไม่ใช่หมอหรือครู แต่คือ จาลอด สามัญชนที่มีอำนาจต่อรองด้านความรัก 

แต่จาลอดก็ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เขามียายกับน้องที่ต้องดูแล ภาระที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับสถานการณ์ครอบครัวที่เปลี่ยนแปลง พ่อกับแม่จาลอดเลิกกันแล้ว ดังนั้น การส่งเงินมาจากพวกเขาที่ไปทำงานจากแดนไกลจึงอาจไม่ใช่เรื่องเป็นไปได้อีกต่อไป หนังไม่ได้บอกตรงๆ แต่เป็นไปได้ว่า พ่อแม่ของพวกเขาก็คงแยกทางกันไปมีชีวิตใหม่ ดังนั้น จากประสบการณ์ที่เคยช่วยเฮียป่องทำสโตร์ผัก (ซึ่งต่อมาก็เจ๊งไม่เป็นท่า) จาลอดเปลี่ยนตัวเองไปเป็น “ผู้ประกอบการ” ทำบ่อซีเมนต์เลี้ยงปูนาขายในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียง บ่อหลังบ้าน รถมอไซค์พ่วงข้างพร้อมตาชั่ง แสดงให้เห็นถึงระดับความจริงจังของชีวิตมากขึ้น

ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวจาลอด หากมองผ่านบักมืด จะเห็นว่าผ่านเสื้อผ้าดูออกเป็นสปอร์ตแมนที่ไม่ใช่ใส่เสื้อบอลโง่ๆ แบบที่จาลอด ครูแก้ว หรือหมอปลาวาฬใส่ แต่เป็นชุดบาสเกตบอลบ้าง ชุดที่ดูตั้งใจเลือกมาบ้าง บักมืดยังเล่นเวทโชว์กล้ามหน้าทีวีดิจิตอลเป็นระยะ ด้านหนึ่งทำให้เห็นถึงความเติบโตทางร่างกายของมืด และเป็นมืดนี่เองที่เตือนสติพี่ตัวเองว่าให้คิดดีๆ เรื่องความสัมพันธ์

ความพยายามกลับไปหาหมอปลาวาฬของจาลอด แสดงให้เห็นถึงความลังเลหัวใจของตัวเอง แต่ก็พอมีฐานความเป็นเหตุเป็นผลของความโลเลอยู่บางๆ ว่า การที่ได้กับครูแก้วมันคือ ความผูกพันที่เกิดจากลูกยุของบักเซียง ในวันที่จาลอดยังไร้คู่ ครูแก้วคือความมั่นคงและอนาคต เพราะลอดไม่ได้คบกับแค่ครูแก้ว แต่ยังรวมถึงพ่อของครูแก้วที่ดูเหมือนจะเป็นผู้อำนวยการบางโรงเรียนด้วยซ้ำ ขณะที่กับหมอปลาวาฬ เอาจริงๆ เป็นนักวิชาการสาธารณสุขที่แทบจะไร้ญาติขาดมิตรกับคนในเรื่อง เป็นคนนอกที่เข้ามาอยู่ในชุมชน เป็นชนชั้นกลางที่เข้ามาอยู่ในบ้านพักของกระทรวงสาธารณสุข ความเป็นคนนอกล่ะมั้ง ที่ทำให้จาลอดรู้สึกถึงความแตกต่าง ความกระชุ่มกระชวยที่เขาได้คบหา ต่างจากความจำเจที่อยู่กันมากับครูแก้ว 4-5 ปี

เราไม่รู้ว่าจาลอดเจ็บปวดได้แค่ไหนกับการที่ครูแก้วทิ้งไป เมื่อพบหลักฐานและความเป็นจริงบางอย่าง เพราะความมั่งคงที่เคยมีมันพังทลายไปหรือเปล่า ไม่แน่ว่า ธุรกิจขายปูนาอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก ดีไม่ดีทุกวันนี้ก็อาศัยเงินเดือนของครูแก้วไปด้วย ฉากที่จาลอดนอนหมดอาลัยตายอยาก ช่วยตัวเองไม่ได้ และมืดเองก็ตัดพ้อว่า ถ้ายายกับจาลอดตายไป ก็คงต้องอยู่คนเดียว ก็แสดงให้เห็นความเปราะบางของครอบครัวคนในชนบทที่การคว้าที่พึ่งจากคนที่พึ่งพาได้อาจเป็นเรื่องจำเป็นไปมากกว่าหัวใจของตัวเอง

ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ฉากหมดอาลัยตายอยากนี้ มันแสดงให้เห็นถึงทุกข์อันหนักหน่วงอันเนื่องมาจากเรื่องปากท้อง ต่างจากตอนที่ลอดรู้ว่า ครูแก้วท้อง ตรงนั้นมันมาจากความรู้สึกผิดมากกว่า แม้ว่าครูแก้วจะถามว่าจะรับผิดชอบเลี้ยงลูกได้ไหม แต่เอาเข้าจริงครอบครัวครูแก้วมากกว่าที่จะเป็นดูแลให้ ถ้าเห็นจากภาพงานแต่งงานในบ้านจัดสรรที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของชนชั้นกลาง ที่ไม่รู้ว่าเป็นบ้านใคร แต่ในวันแต่งมันคือ การเปลี่ยนฉากจากชนบทไปสู่เขตเมือง ทรงผมเด๋อๆ ของจาลอด กลายเป็นทรงผมของคนในเมืองที่ดูเป็นผู้เป็นคนในมาตรฐานชนชั้นกลางมากขึ้น

บางทีข่าวครูอัตราจ้างเงินเดือนต่ำกว่า 5 พันที่มีอยู่เป็นพักๆ จนเป็นดราม่าที่ผ่านมาหลายปีมานี้ เมื่อเทียบกับอัตราขาดแคลนของบุคลากรงานสายสาธารณสุขที่ไม่เป็นที่สนใจของสื่อมากนัก แม้จะอยู่ในช่วงโควิดก็อาจเป็นภาพสะท้อนอะไรบางอย่างได้ดี

ชัยชนะที่แท้จริงเป็นของครูแก้ว แต่ไม่ได้อยู่ที่อยู่ฐานอำนาจรัฐด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความเหนือกว่าหมอปลาวาฬผู้ไร้อำนาจ ไร้คอนเนคชั่นอีกด้วย เราจะเห็นว่านอกจากหน้างานแล้ว หมอวาฬแทบไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเองเลยยกเว้นห้องนอนในบ้านพักแคบๆ หมอแจ็คเพื่อนร่วมงานก็ไม่ได้เป็นพื้นที่แห่งความสบายใจด้วย เมื่อเขาเองก็หวังจะมีความสัมพันธ์กับหมอปลาวาฬที่มากกว่าเพื่อน

ฉากจบที่หมอปลาวาฬย้ายเข้าเมือง และน่าจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นพนักงานในโรงพยาบาลเอกชน มันยิ่งแสดงให้เห็นถึงสถานะอันง่อนแง่นของชนชั้นกลางที่ไร้รากและเส้นสายในหมู่บ้านได้ด้วย การหลุดออกจากอำนาจรัฐและหมู่บ้าน ทำให้หมอปลาวาฬต้องไปเผชิญหน้าอยู่กับโลกทุนนิยมที่แข่งขันกลายเป็นพนักงานบริษัทในรูปแบบหนึ่ง หมอปลาวาฬจึงกลายเป็นคนนอกทั้งในระดับความสัมพันธ์ของรักสามเส้า ในระดับหมู่บ้านที่ตนเองไม่มียืน ยังไม่ต้องนับว่าในโลกความเป็นจริง ระบบสาธารณสุขในระดับท้องที่เองก็อ่อนแรงลงทุกที

ตอนจบที่พยายามเปิดไปเรื่องใหม่อย่าง สัปเปร่อ หากจะคิดว่า ถ้าใครควรจะเป็นผีที่ดุร้ายคนต่อไปในจักรวาลนี้ ก็ควรเป็นหมอปลาวาฬ แต่ต้องปรับเรื่องใหม่หน่อยคือ คนที่ท้องไม่ใช่ครูแก้ว แต่เป็นหมอปลาวาฬ แล้วต้องมาตายเพราะอุบัติเหตุบนรถ Jazz คันขาวของเธอ ที่คนเห็นเหตุการณ์พบว่า รถประสบอุบัติเหตุพุ่งชนกับเถียงนา ที่เดียวกับที่เธอเคยได้แหวนจากจาลอด

ตลก / ประธานาธิบดี / ฮีโร่? : รู้จักประธานาธิบดียูเครนผ่านซีรีส์ ‘Servant of the People’

มั่นใจได้ว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ไม่มีผู้นำโลกคนไหนเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงทั่วโลกไปมากกว่า วอลอดีเมียร์ เซเลนสกี้ (Volodymyr Zelenskyy) ประธานาธิบดียูเครนที่ยืนหยัดต่อสู้กับการบุกโจมตีของกองทัพรัสเซียภายใต้การนำของวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำจอมเผด็จการของรัสเซียมา ณ จุดนี้กว่าสามอาทิตย์อย่างกล้าหาญ ในสภาวะประชาธิปไตยทั่วโลกอ่อนแอ ในยุคที่รัฐบาลเผด็จการขวาจัดผุดขึ้นมาทั่วโลกเป็นดอกเห็ด ใครจะไปคิดว่าผู้นำที่กล้าดึงคนทั้งโลกให้มาเป็นพันธมิตรงัดข้อกับกองทัพหมีขาวจอมโหดอย่างไม่ย่อท้ออดีตเคยเป็นดาวตลกที่เอาช้างน้อยโขกเปียโนเป็นเพลงกลางรายการทีวี เป็นเสียงของหมีน้อยแพดดิงตันใน ‘Paddington 2’ พากย์เสียงยูเครน และเด็ดที่สุดคือก่อนเป็นประธานาธิบดีของจริง เคยเล่นเป็นประธานาธิบดียูเครนในซีรีส์ตลกมาก่อนจนความนิยมส่งให้ได้เป็นของจริงในปัจจุบัน เทียบให้เห็นภาพ ใครจะไปเห็นภาพหม่ำ จ๊กมก หรือ โน้ต อุดม เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย? จะให้เขียนบทหนังขึ้นมาหลายคนยังไม่กล้าเล่นมุขมาทางนี้ แต่เรื่องจริงหลายครั้งมักประหลาดยิ่งกว่านิยาย และคุณเซเลนสกี้ อดีตตัวตลกบนหน้าจอ ณ วินาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นฮีโร่ของคนทั้งโลก ที่แม้แต่ผู้นำในสภายุโรปยังออกปากว่า “ไม่เคยเจอใครได้ใจผมเท่านี้มาก่อนเลย”

วันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับ วอลอดีเมียร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดีตัวจริง ผ่านบทบาทประธานาธิบดีจอทีวีจากซีรีส์ ‘Servant of the People’ (Слуга народу) ที่ชวนเราตั้งคำถามว่า มันอีท่าไหนยังไงดาวตลกคนหนึ่งถึงได้ขึ้นมาครองประเทศด้วยเสียงสนับสนุนท่วมท้นจากประชาชนมากขนาดนี้ หรือว่าจริงๆ แล้วทั้งหมดนี้เป็นแผนการเดินเกมเมืองที่คิดคำนวณมาอย่างดี จากคนวงการสื่อที่รู้ถึงพลังของสิ่งที่มีในมือที่เป็นมากกว่าความสนุกเอ็นเตอร์เทน แต่เป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนสังคมได้อย่างทรงพลัง จนอาจเปลี่ยนสมดุลโลกได้ทั้งใบ 

ตั้งแต่การประกาศอิสรภาพของยูเครนหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ยูเครนวางตัวเป็นกลางในระเบียบโลกใหม่ เลือกผูกมิตรทั้งกับเพื่อนบ้านอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตอย่างเบลารุส ฮังการีหรือโรเมเนีย รักษาความสัมพันธ์กับสหพันธรัฐรัสเซียอดีตผู้ครองประเทศ ที่แม้จะเสียสถานภาพมหาจักรวรรดิไปแต่ก็ยังเป็นประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันออก และเชื่อมต่อกับโลกตะวันตกอย่างสหภาพยุโรปและนาโต้ ประธานาธิบดียูเครนทุกคนจึงต้องพบกับสถานการณ์ต้องเลือกว่าจะรักษาสมดุลกับประเทศรอบตัวอย่างไรมาตลอด ซึ่งตั้งแต่ประกาศอิสรภาพได้ในปี ค.ศ. 1991 ประธานาธิบดีทั้ง 6 คนก่อนสมัยเซเลนสกี้เลือกหันเข้าโลกตะวันตกหรือรัสเซียมากน้อยแตกต่างกันไป จนมาถึงยุคของวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ที่เป็นที่มาของความขัดแย้งที่เราเห็นในปัจจุบัน 

รัฐบาลของ Viktor Yanukovych ที่ปกครองยูเครนในช่วงต้น 2010 เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นมโหฬาร และมีแนวโน้มพร้อมพาประเทศกลับไปเป็นทาสของรัฐบาลปูตินในรัสเซียเต็มสูบจนหลายฝ่ายเชื่อว่ายานูโควิชคือคนของปูตินเอง เริ่มเกิดเป็นความไม่พอใจในกลุ่มประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ต้องการเห็นยูเครนเข้าหาทางฝั่งสหภาพยุโรปมากกว่า กลายเป็นความขัดแย้งในสังคมยูเครน จนปี 2013 ที่ Yanukovych เปลี่ยนใจยกเลิกสนธิสัญญาความร่วมมือกับสหภาพยุโรปเพื่อเซ็นสัญญากับรัสเซียแทนในวินาทีสุดท้าย ประชาชนออกมาประท้วงทั่วประเทศจนเกิดเป็นเหตุการณ์ Euromaidan การประท้วงลุกลาม มีผู้เสียชีวิตทั้งตำรวจและประชาชนมากมาย จนประธานาธิบดี Yanukovych เห็นท่าไม่ดี อาศัยความช่วยเหลือจากรัสเซียหนีออกนอกประเทศ

ประธานาธิบดี Yanukovych ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และรัฐบาลยูเครนดูจะยิ่งหันเข้าหายุโรปมากกว่าครั้งไหนๆ ปูตินจึงตอบโต้ด้วยการส่งกองทัพรัสเซียบุกเข้ายึดคาบสมุทรไครเมียในปี 2014 อันเป็นฉนวนความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาเป็นสงครามในรอบปัจจุบัน

และก็เป็นในบรรยากาศของยูเครนหลังการถอดถอน Yanukovych ที่การคอร์รัปชั่นเหลือเชื่อของรัฐบาลก่อนหน้าถูกเปิดโปงและเค้าเงาของสงครามโผล่ขึ้นมาที่ขอบฟ้านี่เองที่ วอลอดีเมียร์ เซเลนสกี้ทนไม่ไหว สร้างซีรีส์ ‘Servant of the People’ ขึ้นมา

ซีรีส์ ‘Servant of the People’ เล่าเรื่องราวของ วาซิล ‘วาสยา’ เปโตรวิช (Vasyl Petrovych) ครูวิชาประวัติศาสตร์หน้าซื่อคนหนึ่งในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงเคียฟ และเขาก็คงจะเป็นครูประวัติศาสตร์ไปตลอดชาติถ้าวันหนึ่งครูใหญ่โรงเรียนเขาไม่ได้ข้ามหัวเขาอย่างยกโทษให้ไม่ได้ ยกเลิกคลาสเรียนกลางคันแล้วดึงนักเรียนทั้งห้องไปช่วยหาเสียงทางการเมืองให้ผู้ลงสมัครประธานาธิบดีที่ครูใหญ่สนับสนุนเช่นที่ทำมาตลอดทุกการเลือกตั้ง วาสยาโกรธมากที่เด็กโดนเอาไปใช้แรงหาเสียง ระเบิดความคับข้องใจเรื่องการเมืองยูเครนให้เพื่อนร่วมงานฟัง โดยหารู้ไม่ว่านักเรียนคนหนึ่งแอบอัดคลิปไปลงประจานในโลกออนไลน์ (ถามว่าคลิปประจานแรงแค่ไหน ลองจินตนาการว่าเป็นละครช่องสามของบ้านเราที่มีดาราชั้นนำด่ารัฐบาลตรงๆ ตัดเสียงเซ็นเซอร์เพื่อให้ออกอากาศได้ แต่เห็นปากชัดจนอ่านได้) ว่า “ไอ้นักการเมืองหัวค*ย xีหมา ไอ้หน้าเxี้ย เอาเด็กไปใช้เป็นเครื่องมือ ไอ้นักการเมืองโกงกิน! กูแม่งอยากให้อาจารย์มัธยมทุกคนมีชีวิตดีๆ แบบมึงบ้าง แล้วอยากให้ไอ้ประธานาธิบดีหน้าxีแม่งมาใช้ชีวิตเงินเดือนอาจารย์แบบกู กูเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ กูต้องพูดเว้ยไอ้เx็ดแม่!”

ตื่นมาอีกวัน วาสยาก็พบว่าคลิประเบิดอารมณ์ของเขาดังเป็นพลุแตก อาจารย์วาสยาโดนบอร์ดบริหารโรงเรียนเรียกไปสวดหนักฐานะทำโรงเรียนเสียชื่อ จนเมื่อวาสยากลับมาที่ห้อง เขากลับพบว่าเด็กๆ ทั้งห้องเคารพเขาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เด็กๆ บอกว่าพ่อแม่ทุกคนซูฮกท่านอาจารย์ที่กล้าพูดเรื่องจริงที่ปวดใจของการเมืองยูเครนแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมขนาดนี้ และเด็กหัวโจกประจำห้องก็เสนอว่าท่านอาจารย์ควรลงสมัครประธานาธิบดีเสียเลย แน่นอนอาจารย์วาสยาผู้ถ่อมตนไม่มีทางเอาด้วย จนเด็กๆ แอบทำ crowdfunding หาเงินมาให้อาจารย์ลงเลือกตั้ง เมื่อโดนมัดมือชกโดนยัดเงินเป็นล้านให้ในมือแบบนี้วาสยาเลยไม่มีทางเลือก ลองลงสมัครจนพลิกล็อคชนะเสียงข้างมากถล่มทลายได้เป็นประธานาธิบดียูเครนซะอย่างนั้น

เช่นเดียวกับตัวเองในหน้าจอ เซเลนสกี้ก็เป็นคนที่มีที่มาแบบบ้านๆ เซเลนสกี้เป็นลูกชายของอาจารย์หัวหน้าภาควิชาคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยหัวเมืองต่างจังหวัด ครีฟุยิ รีห์ (Krivyi Rih) และแม่ที่เป็นวิศวกร ทั้งคู่เป็นชาวยิว

เซเลนสกี้ฉายแววตลกตั้งแต่ยังหนุ่ม ตอนอายุ 17 แจ้งเกิดด้วยการได้ร่วมรายการ KVN หรือ ‘Klub Vesyolykh i Nakhodchivykh’ รายการตลกวาไรตี้ที่เป็นที่นิยมไปทั่วเหล่าประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต เทียบให้เห็นภาพ รายการจะคล้ายๆ กับ Saturday Night Live ฝั่งอเมริกา หรือ ‘ระเบิดเถิดเทิง’ ของบ้านเรา เซเลนสกี้เป็นนักอิมโพรไวซ์ตัวยง ฉายแววตลกจนรวบรวมเพื่อนๆ ชาวยูเครนในวงการก่อตั้งเป็นกลุ่ม ควาร์ทาล 95 (Kvartal 95) หรือ Quarter 95 ในฐานะหัวหน้ากลุ่มเซเลนสกี้ปล่อยพลังเต็มที่ เล่นตลก sketch ภาษารัสเซียนับร้อย ตั้งแต่เอ็มวีนุ่งน้อยห่มน้อยล้อบียอนเซ่

เล่นเปียโนด้วยน้องดุ้นกับเพื่อนๆ อย่างที่บอกไปข้างต้น

ยันเต้นลีลาศจนเป็นแชมป์รายการ Dancing with the Stars เวอร์ชั่นยูเครน (ดูที่นี่)

แต่ถ้าวาสยาเป็นคนถ่อมตัวไร้ความทะเยอะทะยาน ก็ต้องบอกว่าเซเลนสกี้คือตรงกันข้าม เซเลนสกี้คิดการใหญ่ ตั้งบริษัท Kvartal 95 ชื่อเดียวกันกับกลุ่ม ทำทั้งรายการทีวี ซีรีส์และหนังตลกขนาดยาว (เรื่องหนึ่ง Jean Claude Van Damme มารับเล่นบทตัวประกอบให้ฟรีๆ) เพิ่มจากที่แสดงสดอยู่เดิม โดยเซเลนสกี้เคยแจ้งไว้ว่าตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อ “ทำให้โลกนี้ดีขึ้น มีเมตตาและมีความสุขมากขึ้นด้วยของถนัดของพวกเรา นั่นคือความตลกและความคิดสร้างสรรค์”1https://web.archive.org/web/20190331072916/http://kvartal95.com/en/about/ เทียบเป็นไทยน่าจะใกล้เคียงกับบริษัทสื่อทีวีเจ้าหนึ่งที่ก่อตั้งโดยบริษัทขึ้นต้นด้วย W เจ้าของช่องทีวีชื่อดัง 

Kvartal 95 และเซเลนสกี้เองเริ่มพัฒนาจากกลุ่มตลกธรรมดา ไปสู่กลุ่มตลกที่นำเสนอความเป็นยูเครนอย่างเข้มข้น จนผลิตซีรีส์ Servant of the People เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมืองยูเครนอย่างเข้มข้นจนนำเซเลนสกี้เข้าสู่โลกการเมืองของจริงในที่สุด

วาสยา ประธานาธิบดีมือใหม่ได้เมนเทอร์เป็นนายกรัฐมนตรีมือฉมัง (ระบบยูเครนอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีคงตำแหน่งข้ามประธานาธิบดีได้ นายกฯ จึงมักเป็นผู้ช่วยส่งไม้ต่อจากประธานาธิบดีคนเก่าสู่คนใหม่) ที่แนะนำวาสยาให้รู้จักกับโลกของประธานาธิบดียูเครน วาสยาต้องอึ้งเมื่อพบว่าระบบการเมืองในทำเนียบเต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อเสียสติของปธน. ยุคก่อนหน้า เช่น หมอนวดสาวไทยประจำตัวประธานาธิบดี 4 คน หมอดูประจำตัว ยันคนเลี้ยงนกกระจอกเทศประจำคฤหาสน์อดีตประธานาธิบดี ล้อเลียนกับพฤติกรรมในโลกความเป็นจริงของอดีตปธน. จอมคอร์รัปชั่นอย่าง Yanukovych ที่มีสวนสัตว์ส่วนตัวในคฤหาสน์ที่เต็มไปด้วยสัตว์ที่นำเข้ามาให้ปธน. ได้ดูเล่นโดยเฉพาะ

ไม่พอ ระบบราชการยูเครนในซีรีส์ยังเต็มไปด้วยประเพณีการเมืองและระบบซับซ้อนไร้ประโยชน์ขัดขวางความเจริญประเทศ สำนักนายกฯ ที่เดียวมีผู้ช่วยเป็นร้อยทำหน้าที่จุกจิกไม่จำเป็น ทุกคนมีหน้าที่แค่ เซย์เยสให้ปธน.พอใจ และเลวร้ายที่สุด รัฐมนตรีทุกคนมาจากกลุ่มการเมืองหน้าเดิมๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเหล่า oligarch หรือผู้มีอิทธิพลรวยล้นฟ้าประจำประเทศที่เป็นผู้ชักใยวงการการเมืองยูเครนที่แท้จริงมาตลอด

วาสยาเลยประกาศกร้าวว่าจะล้างมันทั้งระบบแล้วเริ่มระบบทุกอย่างใหม่จากศูนย์ ไล่รัฐมนตรีออกทั้งขบวน แล้วดึงเอาเพื่อนนักแสดง ประชาชนคนธรรมดา และแม้แต่อดีตภรรยาที่มีสกิลเหมาะกับกระทรวงต่างๆ เข้ามาบริหารแทน ขัดขาทุกผู้มีอิทธิพลเพื่อประโยชน์ของประเทศ เดือดร้อนเหล่า oligarch ที่ไปไม่เป็นเมื่อประธานาธิบดีคนใหม่ไม่ใช่คนของตัวเองต้องหาทางทำทุกทางเพื่อดึงวาสยามาเข้าพวก และถ้าดึงไม่ได้ ก็หาทางทำลายชื่อเสียงให้ป่นปี้ หรือสุดท้ายอาจถึงขั้นใช้กำลังเล่นกันถึงชีวิตเพื่อกำจัดให้พ้นทาง

ซีรีส์ ‘Servant of the People’ กล้าพูดถึงประเด็นร้อนของบ้านเมืองยูเครนอย่างตรงไปตรงมา (อย่างไม่กลัวจะโดนเก็บหรือติดเชื้อในกระแสเลือด) ไม่ว่าจะเป็นการขยี้เรื่องเหล่าผู้มีอิทธิพลในระบบแบบเต็มๆ พูดถึงความต้องการของยเูครนที่อยากเข้าร่วมสหภาพยุโรปแต่ฝั่งยุโรปกลับมัวแต่ดึงเช็ง มีซีนที่แองเจลา เมอร์เคล (Angela Merkel) อดีตผู้นำเยอรมนีโทรมาแจ้งวาสยาว่ารับยูเครนเข้าอียูเรียบร้อยแล้ว ก่อนรู้ตัว่าโทรผิด จริงๆ จะโทรฯ มาแจ้งปธน. ประเทศมอนเตเนโกร

และร้ายสุดคือพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียภายใต้การนำของปูตินอย่างเจ็บแสบไม่อ้อมค้อม เช่นการมีคนหน้าเหมือนวาสยาในทำเนียบ (ซึ่งแน่นอนเซเลนสกี้เล่นบทนี้เองเช่นกัน) ไว้เป็นเป้าหลอกให้สไนเปอร์รัสเซียโดยเฉพาะ หรือฉากที่วาสยาเข้าสภาแล้วสส. กำลังตีกัน จนวาสยายิงออกไปว่า ‘รัฐบาลปูตินล้มแล้ว’ คนทั้งสภาถึงได้หันมาฟังหน้าตื่น

แต่ภายใต้ความตลกโปกฮา ตัวซีรีส์ก็กล้าพูดถึงความเป็นมนุษย์ของเหล่าตัวละครรอบตัววาสยาที่บางครั้งก็พบว่าพลังอันหอมหวานของการคอร์รัปชั่นนั้นช่างต้านทานยากเย็นเสียเหลือเกิน เช่นครอบครัวของวาสยา ที่เมื่ออยู่ดีๆ ก็มีอำนาจและเงินในมือในฐานะครอบครัวท่านประธานาธิบดีขึ้นมาก็อดจะลองใช้อำนาจบาทใหญ่ดูไม่ได้ พ่อวาสยาแอบอาศัยช่วงลูกกำลังชุลมุนกับเรื่องที่สภารีโนเวทบ้านทั้งหลังเป็นคฤหาสน์โรมัน แม่และน้องเดินเข้าห้างจะไปซื้อเสื้อผ้าหรูๆ เดินออกมาจากห้างหน้าระรื่นเพราะทางร้านให้ส่วนลด ‘100%’ แลกกับการสัญญาว่าจะให้วาสยาลดภาษีให้ ร้อนถึงตัววาสยาที่ต้องพยายามเปลี่ยนใจคนในครอบครัวที่ยังเห็นดีเห็นงามกับระบบคอร์รัปชั่นแบบเก่าๆ ให้เลิกนิสัย นี่ยังไม่นับถึงคนในรัฐบาลเองที่แม้จะเป็นคนดีแค่ไหนก็อดเผลอใจไม่ได้เป็นบางครั้ง หรือแม้แต่นายกฯ คู่มือวาสยาเองก็อาจเล่นทั้งสองฝ่าย สนับสนุนทั้งฝั่งวาสยาและผู้มีอิทธิพลทั้งคู่

การใช้ความตลกซิตคอมกล้าพูดเรื่องจริงโคตรดาร์กที่ไม่มีใครกล้าพูดของปัญหาในประเทศและสร้างตัวละครที่ทั้งจี้เส้นและเป็นมนุษย์ ทำให้ทั้งตัวซีรีส์และตัวของเซเลนสกี้กลายเป็นที่รักของชาวยูเครนในชั่วข้ามคืน

ไม่มีใครรู้ว่าเซเลนสกี้ตัดสินใจลงเล่นการเมืองจริงจังเมื่อไหร่ ตกลงเซเลนสกี้ตั้งใจลงเล่นการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร แล้วใช้ซีรีส์เป็นใบเบิกทางมาแต่ต้น? หรือว่าการเล่นเป็นประธานาธิบดีในจอขำๆ ไปๆ มาๆ ทำให้เซเลนสกี้คิดอยากเป็นประธานาธิบดีของจริง? แต่ที่แน่นอนก็คือในปี 2017 ทีม Kvartal 95 ร่วมมือกับพรรคการเมือง Party of Decisive Change จดทะเบียนชื่อพรรคใหม่เป็นพรรค Servant of the People ตามชื่อซีรีส์ชื่อดังของตัวเอง และเซเลนสกี้ประกาศลงสมัครเลือกตั้งช่วงปีใหม่ของปี 2019 แข่งกับตัวเต็งอย่างประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชงโก้ (Petro Poroshenko) ที่ได้เสียงเลือกท่วมท้นในการเลือกตั้งสมัยก่อนหน้า จนผลออกมาว่าม้ามืดอย่างเซเลนสกี้ชนะด้วยเสียงสนับสนุนล้นหลามกว่าร้อยละ 73 จากทั้งประเทศ

ราวกับหยิบเอาบทซีรีส์มากางเป็นแผนพัฒนาประเทศ เซเลนสกี้ดึงคนในสตูดิโอ Kvartal 95 ของตัวเองมาเป็นรัฐมนตรีในสภา ลุยดะปะทะผู้มีอิทธิพลในยูเครนในชีวิตจริงไม่ต่างจากในซีรีส์ รัฐบาลเซเลนสกี้ออกกฎหมายลดการผูกขาดในแวดวงสื่อ ยกเลิกการคุ้มกันทางกฎหมายของนักกฎหมาย ทูตและผู้พิพากษา และบังคับให้ผู้มีอิทธิพลต้องขึ้นบัญชีกับภาครัฐ ห้ามไม่ให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทรัฐวิสาหกิจและสนับสนุนการเงินกับนักการเมืองเด็ดขาดอย่างไม่เกรงกลัวผู้มีอิทธิพลแต่อย่างใด

แต่ในภายใต้ภาพลักษณ์ฮีโร่ของเซเลนสกี้ จะบอกว่าชีวิตจริงเลียนแบบละครก็คงไม่ผิดนัก เพราะเซเลนสกี้ตัวจริงที่หาเสียงด้วยนโยบายปราบปรามคอร์รัปชั่นในรัฐบาลเองก็อาจจะยอมหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองบ้างไม่ได้ ข้อมูลจากเอกสารทางการเงิน Pandora Papers ที่หลุดออกมาในช่วงเดือนตุลาคมปี 2021 ที่ผ่านมาเปิดเผยว่าเซเลนสกี้และพรรคพวกมีบริษัทหนีภาษีในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และไซปรัสและมีอสังหาริมทรัพย์ราคาแพงในลอนดอนหลายรายการ โดยทางเซเลนสกี้เองออกมาแจ้งว่าบริษัทเหล่านี้มีไว้เพื่อไม่ให้ทุนซีรีส์ของเขาถูกแทรกแซงทางการเมืองและทั้งตัวเข้าและบริษัท Kvartal ไม่ได้ใช้บริษัทเหล่านี้เพื่อฟอกเงินแต่อย่างใด เซเลนสกี้จะพูดจริงหรือไม่เราไม่มีทางรู้ได้ แต่คำกล่าวหาดังกล่าวก็สั่นคลอนความเชื่อมันของประชาชนในตัวเซเลนสกี้ไปบ้าง ส่วนตัวพรรค Servant of the People เองก็เริ่มเสื่อมความนิยมในประชากรยูเครนจากการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและนโยบายต่างๆ ที่ทำได้เชื่องช้าไม่เหมือนที่หาเสียงเอาไว้ ดูจะเป็นขาลงสำหรับเซเลนสกี้และพรรคพวก จนสงครามกับรัสเซียครั้งนี้นี่เองที่ดันให้เซเลนสกี้กลับมาเป็นขวัญใจประชาชนชาวยูเครน และอาจถึงขั้นเป็นขวัญใจคนทั้งโลกในโมงยามนี้


ลองนึกย้อนไปช่วงวันแรกๆ ของสงครามดูนะครับ ในสถานการณ์ที่ประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งเจอฝ่ายศัตรูจำนวนมากกว่าเป็นร้อยเป็นพันเท่าบุกเข้ามาทุกทิศทาง ภาครัฐและประชาชนถูกเหล่ามหาอำนาจตะวันตกทิ้งให้โดดเดี่ยวเพราะไม่กล้าแหย่หมีขาว รัฐศัตรูสั่งจับตายตัวประธานาธิบดีและครอบครัว ผู้นำคนอื่นๆ คงหนีหางจุกตูดไปตั้งรัฐบาลนอกประเทศทิ้งให้ประชาชนเผชิญชะตากรรมอย่างเช่นที่ อาชราฟ กานี (Ashraf Gani) อดีตประธานาธิบดีของอัฟกานิสถานทำเมื่อปลายปีที่ผ่านมาหลังกองกำลังตาลีบันบุกยึดกรุงคาบุล แต่เซเลนสกี้กลับยืนยัดต่อสู้ไม่ย่อถอย กล่าวกับคนยูเครนว่าเขาจะไม่หนีไปไหน แล้วใช้เครื่องมือที่เขารู้ดีที่สุดในการต้านรัสเซีย นั่นก็คือสื่อ โดยเฉพาะสื่อ Social 

ตอนผู้เขียนเรียนเขียนบทอยู่ที่อเมริกา เคยมีอาจารย์คนหนึ่งสอนว่า เมื่อคนเราต้องจะได้อะไร ให้แจ้งเป้าประสงค์ของตัวเองให้ชัดเจน ดูตัวอย่างจากตัวละคร Inigo Montoya นักดาบสเปนจากเรื่อง ‘The Princess Bride’ เป็นตัวอย่าง ง่ายๆ ก็คือเราควรแจ้งว่า

  1. สวัสดี
  2. เราเป็นใคร
  3. ทำไมต้องแจ้งความต้องการ
  4. เราต้องการอะไร

ซึ่งเซเลนสกี้เอา 4 ข้อพูดง่ายๆ นี้มาใช้ในสปีชของเขาเต็มที่ทุกครั้ง เช่นเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่เขากล่าวกับประชาชนรัสเซียว่าก่อนการบุกว่า: 

“วันนี้ผมโทรหาประธานาธิบดีรัสเซีย แต่ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ (…) ผมเลยอยากจะพูดกับพวกคุณทุกคน ไม่ใช่ในฐานะประธานาธิบดี แต่ในฐานะคนยูเครนคนนึง (…) ถ้าผู้นำรัสเซียไม่อยากนั่งโต๊ะเดียวกันกับผมเพื่อเจรจาสันติภาพ บางทีเขาอาจจะยอมนั่งถ้าคนที่โต๊ะคือประชาชนรัสเซียแบบพวกคุณ คนรัสเซียต้องการสงครามจริงๆ หรือ ผมอยากรู้คำตอบ และคนที่ตอบคำถามนี้ได้แท้จริงก็คือประชาชนอย่างพวกคุณ” (หมายเหตุ: ทำตัวหนา 4 ข้อโดยผู้เขียน)

ไม่ใช่แค่ชัดเจนในการแจ้งความ แต่เซเลนสกี้ยังเลือกใช้อีกทักษะสำคัญในการเล่าเรื่อง นั่นคือการก้าวข้ามการใช้เหตุผลหรือข้อมูลวิชาการ ใส่ใจและอารมณ์ลงไปในการพูดเพื่อให้อีกฝ่ายไม่ได้แค่รับแต่ข้อมูล แต่ยังได้รู้สึกและเข้าใจตาม ดังในวันที่ 1 มี.ค. ที่เซเลนสกี้กล่าวสุนทรพจน์กลางที่ประชุมสหภาพยุโรปว่า

วันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายของชีวิตคนยูเครนหลายๆ คน พวกเรากำลังสละชีวิตคนยูเครนที่ดีที่สุดเพื่อปกป้องค่านิยม อิสรภาพ และความเท่าเทียมของเรา นี่ผมไม่ได้พูดจากสคริปต์ หมดเวลาของสคริปต์แล้ว นี่เรากำลังพูดกันเรื่องชีวิตคน ถ้าไม่มีพวกคุณ ยูเครนก็จะไม่เหลือใคร เราพิสูจน์แล้วว่าเราแข็งแกร่งไม่ต่างจากพวกคุณ พิสูจน์ให้พวกเราเห็นว่าคุณจะไม่ทิ้งพวกเรา แล้วชีวิตจะมีชัยเหนือความตาย ธรรมะจะชนะอธรรม ยูเครนจงเจริญ” 

เมื่อบวกกับภาพลักษณ์ที่เขาถอดสูทมาใส่เสื้อทีเชิ้ต ถ่ายวิดีโอร่วมกับทหารและประชาชนตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ผู้นำการเมืองทั่วไปที่ดูห่างไกลและทิ้งประชาชน และออกคลิปพิสูจน์ว่าเขายังอยู่ในกรุงเคียฟไม่หนีไปไหน ท้าทายฝ่ายรัสเซียที่ตั้งใจลอบสังหารเขาอย่างไม่กลัวตายจนแทบจะเหมือนกับว่าตัวเขาเองมี ‘plot armor’ หรือการที่ตัวละครหลักในภาพยนตร์ต่างๆ จะไม่มีวันตายจนกว่าจะถึงจุดที่เรื่องกำหนดให้ต้องเป็นอะไรไปในโลกความเป็นจริงขึ้นมา จนคนทั่วไปอดรู้สึกตามไม่ได้ว่าเซเลนสกี้อาจจะคงกระพันจริงๆ นี่แหละคือการใช้การทักษะการเล่าเรื่องและทักษะทางภาพของสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์เป็นอาวุธอย่างแท้จริง 

ชีวิตของเซเลนสกี้ตั้งแต่เข้าร่วมการเมืองตลอดมาดูเป็นชุดเหตุการณ์ที่ไม่แน่ว่าคือ life imitates art คือชีวิตเลียนแบบซีรีส์ เซเลนสกี้ค่อยๆ กลายเป็นวาสยาขึ้นมา หรือกลับกันว่า art imitates life คือที่เราเห็นนี่แหละคือตัวตนที่แท้จริงของเซเลนสกี้มาตลอด ณ จุดนี้ ก็คงต้องรอดูว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายออกมาในรูปแบบใด เซเลนสกี้จะมีชีวิตอยู่อีกนานแค่ไหน แต่ตอนนี้คงพูดได้แล้วว่า คนทั้งโลกล้วนเฝ้าดู วอลอดีมีร์ เซเลนสกี้ อดีตดาวตลกสู่ประธานาธิบดีและฮีโร่ของโลกเสรี เป็นคนทำหนังที่ลงไปอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์โลกตลอดไปแล้วเรียบร้อย


ผู้อ่านสามารถรับชมซีรีส์ Servant of the People ซีซั่นแรกบน Netflix และซีซั่น 2 และ 3 อย่างถูกกฎหมายได้ฟรีที่ช่อง Youtube ทางการของซีรีส์

อำนาจรัฐและทุนในไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.1 : ชัยชนะของคนบ้า และความพ่ายแพ้ของคนบ้านในชนบทอีสาน

หมู่บ้านในไทบ้านเดอะซีรีส์ เป็นภาพตัวแทนชนบทอีกชุดหนึ่งที่ต่างจากโลกชนบทในจินตนาการของชนชั้นกลางที่เป็นชุมชนสามัคคี ทำมาหากินอย่างเจียมเนื้อเจียมตน ชาวบ้านมีน้ำใจ เข้าวัดฟังธรรมรักษาศีล มีชีวิตอย่างพอเพียง พออยู่พอกิน แต่เป็นหมู่บ้านที่คึกครื้นไปด้วยวัยรุ่น วงเหล้า และชีวิตที่ไหลเรื่อยเปื่อยไร้สาระ เด็กในหมู่บ้านก็ไม่ใช่ลูกหลานที่น่ารัก คำว่า “เด็กเปรต” ยังอาจน้อยไป สำหรับพฤติกรรมของบักมืด เด็กแก่แดดจอมทำลายล้าง โลกของบักมืดนี่ทำลายภาพนักเรียนที่รัฐคุมได้อยู่หมัดแบบในแบบเรียนมานี-มานะกันเลย

หนังเรื่องนี้พูดลาวกันทั้งเรื่อง ยกเว้นตัวละคร 3 คน คือ ป่อง, หัวหน้าห้อง และเจ้าของร้านขายสินค้าเด็กอ่อน น้ำเสียงของคำลาวในเรื่องใส่กันเต็มๆ ไม่ได้นั่งพับเพียบพูดลาวกันแบบใน 15 ค่ำ เดือน 11 หรือจับคนกรุงเทพฯ มาหัดพูดลาว

การฉายภาพชนบทอีกแบบก็นำไปสู่ปมอีกแบบหนึ่ง ในที่นี้จะเห็นว่า ตัวละครที่เป็นตัวแทนอำนาจรัฐมีบทบาทไม่น้อย ตำรวจคือ อำนาจรัฐที่ใหญ่โตที่สุดที่สามารถควบคุมได้แม้กระทั่งคนที่สังคมคุมไม่ได้อย่างบักเบิร์ด “คนบ้า” ประจำหมู่บ้าน รองลงมาคือ หมอ ที่เราเห็นว่ายังต้องมาถามคำถามไร้สาระกับบักเบิร์ดว่า “บ้าหรือเปล่า”

รองลงมาคือ อาชีพครู ครูแก้ว แม้จะเป็นเมียโดยพฤตินัยของจาลอด ตัวละครไร้แก่นสารตัวหนึ่ง แต่เราจะเห็นบทบาทการแสดงอำนาจผ่านบทบาทต่างๆ เช่น การเป็นผู้จ่ายเงินค่าไฟให้จาลอด เป็นครูของตัวแสบอย่างบักมืดที่แม้ว่าบักมืดจะแอบนินทาลับหลัง แต่ก็เป็นคนที่ข่มบักมืดได้ด้วยสถานภาพครู ไม่ใช่ว่าพี่สะใภ้ ความเกรงใจในความเป็นครูยังปรากฏผ่านการให้ความสำคัญจากผู้ใหญ่บ้าน ยังไม่ต้องนับว่าพ่อครูแก้วมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ยังไม่ต้องนับว่าครูแก้วคือคนนอกชุมชน การปรากฏตัวอยู่บ้านจาลอดมักจะถูกถามเสมอๆ ว่ามาสอนหนังสือบักมืดหรือเปล่า อย่างไรก็ตามซีนที่บักลอดอุทานว่า “บักลอดสี่ครู” หลังจากที่พรวดพราดเข้าไปเห็นฉากเลิฟซีนกับครูแก้ว มันแสดงให้เห็นว่า บักลอดไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับแก้วในฐานะคู่รัก แต่เป็นการข้ามเส้นแบ่งไปละเมิดอำนาจความเป็นครูไปด้วย

ฉากในโรงเรียนที่มีอยู่ไม่มากก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจแบบเป็นทางการที่ควบคุมบักมืดให้อยู่ในระเบียบ นั่นคือ ฉากหัวหน้าห้องสั่งให้บักมืดเอาเสื้อใส่เข้าในกางเกง จริงอยู่ว่า บักมืดมีใจให้กับหัวหน้าห้อง การเป็นผู้มีสถานะรองในความสัมพันธ์อาจเกี่ยวกับเรื่องหัวใจอยู่บ้าง แต่หนังได้ชี้ให้เห็นบทบาทควบคุมของหัวหน้าห้องจากการโทร.มาตามการบ้านและงานจากทุกคน ซึ่งอำนาจของหัวหน้าห้องก็ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มาจากการแต่งตั้งจากครูประจำชั้นนั่นเอง

และแน่นอน ต่อมาคือ ผู้ใหญ่บ้าน มีผู้อธิบายไว้ว่า คือ ตัวแทนอำนาจรัฐในหน่วยหมู่บ้านที่ขยายบทบาทอย่างมากในช่วงหลัง 6 ตุลา 19 คนเหล่านี้เข้าถึง connection กับรัฐ นโยบาย สิ่งของ รวมไปถึงข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน หลังรัฐประหาร 2549 ผู้ใหญ่บ้านสามารถเป็นจนถึงอายุ 60 ปี โดยไม่ต้องมีการครบรอบวาระแล้วให้เลือกตั้ง ผู้ใหญ่คำตันแสดงอำนาจให้เห็นผ่านการต่อรองกับตำรวจให้ปล่อยบักเบิร์ดออกมา หลังจากแก้ผ้าเดินไปทั่วหมู่บ้าน แล้วฝากฝังให้เพื่อนฝูงของบักเบิร์ดดูแลกันดีๆ เราไม่รู้ว่าผู้ใหญ่บ้านทำอะไร แต่การให้กำเนิดบักป่องขึ้นมา ส่งไปเรียนต่อจนบักป่องที่แทบจะเป็นคนพูดภาษาไทยคนเดียวในหมู่บ้าน มีอุปกรณ์เครื่องใช้ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ไอแพด แมคบุ๊ก พร้อมกับการสำทับบักป่องว่า ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ก็อยู่ไม่ได้อย่างนี้ 

ส่วนพระในเรื่อง แม้ว่าจะมีบทบาทในเชิงสถาบัน เจ้าอาวาสทำหน้าที่รับการปลงอาบัติ หรือการสารภาพบาปของพระลูกวัด อย่างไรก็ตาม บทบาทของพระที่โดดเด่นมาก คือ สถานภาพหนึ่งของบักเซียงที่บวชเพื่อหนีทุกข์จากการถูกใบข้าว (แฟนเก่า) ทิ้ง พระเซียงเป็นภาพตัวแทนของพระลูกชาวบ้านที่ไม่ได้หวังบวชเพื่อนิพพาน แต่เพื่อเป็นพื้นที่พักใจ ก่อนที่จะพาตัวเองไปสู่สถานภาพอื่น พระเซียงจะยิ่งเด่นในซีรีส์ 2.2

จะเห็นหมู่บ้านและคนแถบนี้ ไม่สามารถอยู่ได้เลย ถ้าไม่มีเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฉากที่บ้านจาลอดถูกตัดไฟชี้ให้เห็นเลยว่า ไฟฟ้าจำเป็นกับหมู่บ้านในชนบทแค่ไหน ยังไม่ต้องนับว่า ฉากต่างๆ ในหนังแสดงให้เห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญ ร้านขายของชำ-อาหารตามสั่งของสวย ร้านซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ บักป่องเองที่หนีออกจากบ้านมา ยังต้องขอเงินพระเซียงไปซื้อบุหรี่

ในที่นี้จะไม่พูดถึงการลงทุนมือเติบของบักป่องที่จะสร้างสโตร์ผักคงไม่ได้ เพราะมันคือ ภาพสะท้อนของคนรุ่นใหม่นักลงทุนที่แสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากวิธีคิดและไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองโดยแท้เงินเก็บที่บักป่องมีก็คือ เงินลงทุนในหุ้น ป่องพยายามหาคนมาลงทุนร่วมกันกับเขาจากคนมีเงินในหมู่บ้านโดยเฉพาะการจัดสรรที่ดินของผอ.พ่อครูแก้ว เพื่อลงทุนและแสวงหากำไรจากการร่วมทุนนั้นโมเดลของบักป่องคือ การขูดรีดคนรอบตัว แม้แต่พระเพื่อนยังต้องเข็นรถเข็นมาส่งของให้ การยุให้จาลอดไปคุยกับผู้หญิงที่เคยคบเพื่อเข้าหาแหล่งทุนทางพ่อ จาลอดเองหลักจากที่ทำลงไปก็รู้สึกผิดจนต้องกลับมานอนกอดครูแก้วอย่างมีพิรุธ นี่คือ ทุนนิยมที่ไร้หัวใจโดยแท้

แต่สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ บักเฮิร์บ ฝรั่งที่กลายเป็นเดอะแบกของครอบครัว บักเฮิร์บเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของเขยฝรั่งที่มามีชีวิตอยู่ในอีสานเสียดายที่ไม่เห็นเจ๊สวยมีอะไรถึงทำให้บักเฮิร์บหลงหัวปักหัวปำ ทั้งที่ปากเจ็บและแสนเอาแต่ใจ ทั้งคู่กำลังมีลูกด้วยกัน บักเฮิร์บดูแลเมียอย่างดี ฝากท้องและพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนในตัวเมือง ชีวิตบักเฮิร์บเป็นตัวแทนของคนในหมู่บ้านที่ออกไปเชื่อมต่อกับตัวเมืองด้วย ไม่เพียงร้านขายของเกี่ยวเด็กอ่อนที่บักเฮิร์บต้องเสียเงินไม่น้อย แม้กระทั่งโชว์รูมรถ ก็เป็นสัญลักษณ์ของการครอบครองวัตถุที่ต้องแลกมาด้วยเงินก้อนโตเงินก้อนนี้ บักเฮิร์บเอามาจากเงินที่ “แดดดี้” พ่อของเขา ให้มาซื้อบ้านเดิมที่พ่อของเขาเคยอยู่มาก่อน เรียกได้ว่า บักเฮิร์บเองดูภายนอกก็พึ่งพาได้ แต่ดูแล้ว อนาคตทางการเงินจะไปทางไหน ก็ยากจะตอบได้ว่าเป็นไปในทางบวก เมื่อเขาต้องเป็นคนดูแลคนในบ้านแทบทุกอย่าง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง บักเฮิร์บน่าจะเป็นตัวแทนของการสร้างครอบครัวในอุดมคติขึ้นมาในหมู่บ้าน เราจะเห็นว่าตัวเอกอย่างจาลอด-บักมืด รวมถึงพระเซียงนั้นอยู่กับยาย ไม่มีพ่อไม่มีแม่อยู่ด้วย บ้านเจ๊สวยเองก็ไม่พูดถึง คนที่มีพ่อมีแม่ครบอยู่คนเดียวคือ เฮียป่อง และอาจจะรวมครูแก้วด้วย ดังนั้น ในเรื่องตัวเอกแทบจะเรียกได้ว่า ล้วนเป็นลูกกำพร้าที่พ่อแม่ไม่อยู่ด้วย ไม่ว่าจะเหตุผลของการไปทำงานแดนไกลแล้วส่งมาหรือไม่ก็ตาม ในปัจจุบันการที่เด็กในชนบทโตขึ้นมาด้วยดูแลของปู่ย่าตายายนั้น ถือเป็นเรื่องปกติเสียเหลือเกิน แต่ถ้ามองในมุมชนชั้นกลางแล้วถือว่าเป็นเรื่องน่าหวาดระแวงเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นคือ ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์

อาจจะมีเพียงบักเบิร์ด “คนบ้า” ที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างไม่รู้ทุกข์ร้อน แม้ตอนท้ายเรื่องเขาจะถูกกลุ่มเพื่อนที่ทนรำคาญไม่ไหวจนถูกเอาไปปล่อยที่วัด เขาก็ยังโบกมือบ๊ายบายด้วยหน้าเปื้อนยิ้ม แม้เริ่มเรื่องมา บักเบิร์ดจะสูญเสียแม่ บ้าน รวมไปถึงตัวตนดั้งเดิมของตนก็ตาม แต่ในที่สุดแล้ว เป็นไปได้ว่า บักโรเบิร์ต คือ ผู้ชนะอย่างแท้จริงในไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.1

อนึ่ง ในไทบ้านภาคนี้ ไม่พบเพศที่สามปรากฏในหมู่บ้านแบบนี้เลย จะไม่แปลกอะไรถ้าบักเฮิร์บไม่พูดกับกีโน น้องของเจ๊สวย ที่เลือกชุดสีชมพูให้ลูกชายของตนว่า กลัวจะเป็น “กะเทย” ในด้านหนึ่งแล้ว กะเทยก็คือคนนอกที่ถูกกีดกันออกไปในตอนท้ายสุดนั่นเอง

ฝันของคนทำ “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” : รู้จัก “เมืองทองรามา” ภารกิจพาหนังหลากหลายสู่สายตาคนพะเยา

“เคยมีช่วงที่ต้องขับรถสามชั่วโมงนิดๆ เพื่อไปดูหนังที่เชียงใหม่ บางเรื่องดูจบแล้วต้องขับรถกลับมาพะเยาเลย เพราะมีสอนในตอนเช้า กลับถึงพะเยาเกือบตีหนึ่ง”

คือคำบอกเล่าของ ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ที่หากฟังผิวเผินก็เหมือนการผจญภัยวัยหนุ่มสนุกสนานบันเทิงดี แต่เมื่อพิจารณาต่ออีกนิดอย่างถ้วนถี่ ประสบการณ์แบบนี้คงไม่น่าอภิรมย์เท่าไรนัก

โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนชอบดูหนัง และใฝ่ฝันเสมอว่า “หนังเรื่องนั้น” ควรจะได้มาฉายในโรงใกล้บ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้คุณไปพบพานชื่นชมมันได้ง่ายกว่านี้

เป็นความรู้สึกที่เต็มไปด้วยคำถามเช่นนี้นี่เองที่ทำให้ปวินท์ตัดสินใจกรุยหนทางใหม่สำหรับคนที่ชอบดูหนังแบบเดียวกันกับเขา และหลากพื้นที่หลายรูปแบบการจัดฉายจากมือของเขาก็กลายมาเป็นชีวิตชีวาของ “เมืองพะเยา” ที่เขาใช้ชีวิตอยู่

ปวินท์ ระมิงค์วงศ์

“เริ่มต้นจากการเป็นคนชอบดูหนัง ดูหนังได้ทุกประเภท ที่สำคัญคือชอบบรรยากาศการดูในโรง พอย้ายจากเชียงใหม่มาทำงานที่พะเยา (2552) พบว่าในเวลานั้นที่พะเยายังไม่มีโรงหนัง! ทุกสุดสัปดาห์หรือวันหยุดจะต้องขับรถกลับมาดูหนังที่เชียงใหม่เป็นกิจวัตร

แต่ในช่วงหลังๆ ผมเริ่มมาสนใจหนังสารคดี โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก Finding Vivian Maier และพอได้รู้จัก Documentary Club ที่นำหนังสารคดีมาฉายในโรง จำได้ดีเลยว่าตอนนั้นไม่พลาดเลย ได้ดูทุกเรื่องที่มาฉายที่เชียงใหม่ เราร้องไห้ หัวเราะ สะใจ ปลื้มปิติ แหกปากร้องเพลง กับหนังสารคดีหลายๆ เรื่องที่ได้ดู ความสนใจที่อยากจะนำหนังสารคดีมาฉายให้คนพะเยาได้มีโอกาสได้ดูบ้างก็เริ่มต้นขึ้น”

“การฉายหนังในช่วงแรกๆ เริ่มต้นจากการฉายลงบนจอโปรเจกเตอร์ขนาด 70 นิ้ว ที่แถมมากับเครื่องฉายโปรเจ็กเตอร์ที่ซื้อแบบผ่อน 0% ปูเสื่อนั่งดูกันบนลานหลังหอพักนิสิตในมหาลัย แต่ก็พบปัญหามากมายในเรื่องแสงและเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมที่เราไม่สามารถจัดการได้ ทำให้อรรถรสในการชมลดลง และเรื่องลิขสิทธิ์ในการฉายที่สำคัญไม่แพ้กัน

จากนั้นก็เริ่มหาพื้นที่ที่เหมาะสมและสามารถจัดฉายได้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงคอนเน็กชั่นหนังที่จะทำให้เราสามารถติดต่อมาฉายได้อย่างถูกต้อง”

“ด้วยความที่เป็นคนที่ชอบดูหนังในโรง เลยพยายามหาพื้นที่ที่ให้บรรยากาศใกล้เคียงกับโรงที่สุด หรือพื้นที่ที่ผู้ชมสามารถมีสมาธิในการชมได้อย่างเต็มที่ เคยลองฉายในพื้นที่ปิด แกลเลอรี่ส่วนตัว ดาดฟ้าอาคาร กลางลานวัด กลางทุ่งนา แต่ละสถานที่เหมาะกับประเภทหนังที่เลือกมาฉายต่างกัน

เราพบว่าหนังสารคดีควรฉายในสถานที่ปิด ส่วนกลางลานหรือพื้นที่สาธารณะที่ค่อนข้างมีคนพลุกพล่านก็ควรฉายหนังประเภท Action / Comedy เราพบว่าบรรยากาศของสถานที่มีผลต่อการชมพอสมควร”

“สำหรับคนที่สนใจอยากลองจัดฉายหนังบ้าง ผมคิดว่าส่วนที่ยากที่สุดคือการเริ่มต้น พอได้เริ่มฉายเราจะได้เห็นหลายองค์ประกอบ (ตามที่เล่ามาข้างต้น) เราได้เห็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นแสงเสียง แมลง สภาพอากาศ ที่รบกวนเวลาฉาย ซึ่งในแต่ละสถานที่ก็จะเจอปัญหาต่างกัน อย่างที่เคยฉายบนดาดฟ้าแกลเลอรี่ซึ่งทุกอย่างลงตัวมากๆ แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องเสียงที่ไปรบกวนเพื่อนบ้าน

ถ้าใครคิดอยากลองเริ่มจัดกิจกรรมฉายหนัง ถ้ามีอุปกรณ์พร้อมแล้ว แนะนำให้ลองเริ่มฉายดูกันเองก่อนที่จะจัดฉายแบบสาธารณะ”

“ถามถึงในแง่รายได้ ตั้งแต่ทำมาผมยังไม่เคยคาดหวังเลยครับ ทั้งซีนสเปซศิลปะและฉายหนัง อาจเป็นเพราะมีงานประจำอยู่แล้ว ข้อนี้สำคัญมากๆ ผมเคยลองทำโดยตั้งเป้าไปที่รายได้ เคยมีแผนอยากจะทำสเปซแบบนี้เป็นธุรกิจ แต่สุดท้ายสะดุดที่ cash flow ที่ไม่สามารถจะไปต่อได้

พะเยาเป็นจังหวัดเล็ก กลุ่มเป้าหมายยังไม่มากพอจะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้จริงๆ ผลสุดท้ายกลายเป็นว่าเราไม่สนุกกับมัน เครียด ครั้งนั้นทำให้หยุดทำไปหลายเดือนเลย หลังจากนั้นผมก็เลยพยายามคิดว่าต้องค่อยๆ สร้างกลุ่มคนที่สนใจจริงๆ ในด้านนี้ในจังหวัดให้ใหญ่ขึ้นก่อน

สิ่งที่หนักใจที่สุดคือ หลายๆ คนคิดว่าเรารวย 5555555 จัดงานกี่ครั้งๆ ก็เจ๊ง แต่ก็ยังจัดอยู่เรื่อยๆ”

“จากที่ได้ทำ ส่วนที่ประทับใจมากๆ คือการที่มีผู้ชมมาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยหลังจากดูหนังจบ มันทำให้เราได้เห็นว่าหนังสามารถไปไกลกว่าการให้ความบันเทิง เราได้เห็นความคิดหลากหลายที่เกิดจากการได้ดูหนัง

อีกโมเมนต์ที่คิดแล้วยังขนลุกไม่หาย คือมีคนปรบมือในช่วง end credit มันฟินมากๆ ที่มีน้องๆ หลายคนเดินมาขอบคุณที่เราฉายหนังเรื่องนี้ที่พะเยา

บางเรื่องบางรอบที่มีผู้ชมซื้อตั๋วแค่ 2 ใบ แต่พอได้พูดคุยกันหลังดูหนังจบ บทสนทนาที่ได้กลับสร้างแรงบันดาลใจ จุดไฟให้เราอยากทำมันต่อไปอีกเรื่อยๆ อยากพัฒนาซีนนี้ให้ดีขึ้น อยากให้สเปซสามารถเปิดรับผู้ชมที่หลากหลายมากขึ้น จนล่าสุดอยากลองทำ Screening space เล็กๆ ตามรอย Doc Club & Pub. ที่พะเยาบ้าง”

“ผมอยากให้มีซีนแบบนี้ในทุกๆ พื้นที่ ทุกวันนี้พอมองย้อนกลับไปถึงช่วงที่ต้องขับรถสามชั่วโมงนิดๆ เพื่อไปดูหนังที่เชียงใหม่ บางเรื่องดูจบแล้วต้องขับรถกลับมาพะเยาเลย เพราะมีสอนในตอนเช้า กลับถึงพะเยาเกือบตีหนึ่ง ก็ยังคงรู้สึกดีที่ในตอนนี้ได้มีโอกาสได้จัดฉายหนังบางเรื่องที่พะเยา แต่ก็แอบคิดว่าทำไมตอนนั้นเราต้องยอมลำบากขนาดนั้นเพื่อที่จะได้ดูหนังดีๆ ซักเรื่องนึง

แอบหวังไว้ว่าโรงที่พะเยา หรือหน่วยงานภาครัฐจะเปิดโอกาสให้เราได้จัดกิจกรรมฉายหนังนอกกระแสที่พะเยาบ้าง เพราะด้วยข้อจำกัดด้านระบบในการฉาย ทำให้หนังหลายๆ เรื่องถูกจำกัดให้ฉายได้เฉพาะในโรงเท่านั้น ถ้าได้รับการสนับสนุนบ้างไม่มากก็น้อย คนพะเยา เด็กๆ นักเรียน นักศึกษาก็จะได้มีโอกาสได้ดูหนังที่มีความหลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่”


ติดตามพวกเขาได้ที่ เมืองทองรามา และ 𝗔𝗥𝗧𝗖𝗔𝗗𝗘

The Batman – ค้างคาวคั่งแค้นในก็อตแธมมหานคร

บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

“ข้าคือการล้างแค้น”

คำพูดดังกล่าวเริ่มจากการเป็นถ้อยคำสุดเท่ที่ใช้เปิดตัวมนุษย์ค้างคาวเวอร์ชั่นละอ่อนโรเบิร์ต แพตตินสันได้อย่างน่าจดจำ กระทั่งตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงของหนัง คำพูดนี้ก็ถูกนำมาพูดซ้ำ สะท้อน และขยายความจนเราอาจกล่าวได้ว่ามันเป็นหัวใจหลักของหนัง The Batman ภายใต้วิสัยทัศน์ของผู้กำกับแมตต์​ รีฟส์​ (Cloverfield, 2008) เลยก็ว่าได้ — เพราะจริงดังคำกล่าวของเจ้าตัว แบทแมนเวอร์ชั่นนี้มืดหม่นกว่าที่เราเคยรู้จัก และขับเคลื่อนไปด้วยพลังของความแค้น

หนังเริ่มต้นที่คืนฮาโลวีน คืนที่ทุกคนพร้อมใจกับสวมหน้ากากแต่งกายเป็นตัวละครอื่น และดันมาเป็นคืนที่นายกเทศมนตรีของเมืองก็อตแธมถูกฆ่าอย่างสยดสยองท่ามกลางบรรยากาศฤดูเลือกตั้งอันคุกรุ่น แบทแมนได้รับเชิญตัวโดยนายตำรวจเจมส์​ กอร์ดอน (เจฟฟรีย์​ ไรต์) ให้มาสำรวจสถานที่เกิดเหตุอันแสนพิสดาร เมื่อผู้ก่อการอย่างเดอะ ริดเดลอร์ ที่ทิ้งปริศนาและข้อความชวนฉงนไว้ให้เขาโดยเฉพาะ

ตั้งแต่เริ่มเรื่อง The Batman ก็ให้ความรู้สึกถึงหนังระทึกขวัญตามวิถีของเดวิด ฟินเชอร์ อย่าง Se7en (1995) หรือ Zodiac (2007) มากกว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ทั่วไปที่เราคุ้ยเคย และตลอดทั้งเรื่อง หนังก็ค่อยๆ คืบคลานไปตามเหยื่อและปริศนาของริดเดลอร์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเผยให้เราเห็นถึงเครือข่ายโยงใยอันแสนโสมมที่เชื่อมโยงบรรดาผู้มีอำนาจในเงามืดของก็อตแธม รวมไปถึงอดีตอันดำมืดที่แผ่ขยายเงามาครอบงำชีวิตของทุกผู้คนในมหานครแห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมรวมไปถึงเจ้าตัวทายาทตระกูลอีลีทประจำเมืองอย่างบรูซ เวย์น หรือพ่อหนุ่มอัศวินรัตติกาลของเราด้วย

ก็อตแธมที่เราเห็นในหนังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความลับดำมืด เมืองที่โชคชะตาและความเป็นไปของมันถูกกำหนดอยู่เบื้องหลังฉากหน้าของเกมการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายฉ้อฉล เมืองที่ทุกสิ่งถูกชักใยด้วยมือของผู้มีอำนาจที่ไม่มีใครมองเห็น (แต่ทุกคนต่างรู้อยู่แก่ใจถึงการมีอยู่ของมัน) เมืองที่ประชาชนคนธรรมดาไม่อาจศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและพ่ายแพ้ไร้พลังที่จะต่อกรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ทั้งหมดนี้ฟังดูคุ้นเคยและใกล้ตัวอย่างเหลือเชื่อ และหากเรามองให้พ้นจากประเทศแถบๆ นี้ไปก่อน ก็จะเห็นได้ว่าก็อตแธมในฉบับของ Joker (2019) ของท็อดด์ ฟิลลิปส์เองก็มีลักษณะคล้ายๆ กันในแง่ความโสมมประดามีที่กดทับชีวิตประจำวันของคนสามัญจนผลักให้พวกเขาล้วนกลายเป็นเหยื่อ แต่สิ่งที่ The Batman ดูจะให้ความสนใจเพิ่มเติมขึ้นมาคือประวัติศาสตร์ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมและยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในปัจจุบันจนเป็นเสมือนอีกหนึ่งมือที่มองไม่เห็นเข้ามาบีบรัดอนาคตของพวกเขา

บรูซ/แบทแมนในเวอร์ชั่นนี้เป็นหนุ่มอีโมขอบตาเข้มที่ออกปฏิบัติภารกิจศาลเตี้ย ไม่เพียงเพราะต้องการลุกขึ้นมาเป็นฮีโร่ผู้จัดการกับระบบเน่าเฟะ แต่เพราะความคั่งแค้นที่ตัวเขามีต่อเมืองเมืองนี้ที่พรากชีวิตพ่อแม่ของเขาตั้งแต่วัยเยาว์ และเช่นเดียวกับบรรดาผู้สิ้นไร้ไม้ตอกทั่วเมือง ความแค้นของบรูซสะเปะสะปะไร้ทิศทาง เขาไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไปของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ และไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเขาเอง (หรือครอบครัวของเขาเอง) ก็มือเปื้อนเลือดไม่มากก็น้อย 

อาชญากรรมของริดเดลอร์จึงค่อยๆ ถ่างตาของบรูซให้ค่อยๆ กว้างขึ้นจนมองเห็นเครือข่ายล่องหนที่โยงใยไปถึงโครงการฟื้นฟูก็อตแธมที่พ่อของเขาก่อตั้ง ซึ่งในกาลต่อมาได้กลายมาเป็นฉากหน้าของการโกงกินกันอย่างเป็นระบบของบรรดาผู้ทรงอำนาจทุกภาคส่วนของก็อตแธมเสียแทน คำที่ฟังดูดีอย่าง ‘ฟื้นฟู’ (หรือกระทั่ง ‘พัฒนา’ และ ‘อนุรักษ์’) จึงเป็นเพียงคำลวงและเครื่องมิือในการปกปิดไม่ให้ใครคิดกล้าสาวตัวไปถึงหัวโจก (ฟังดูคุ้นเคยอีกแล้ว)

แบทแมนจอมอีโมของเราจึงเต็มไปด้วยความย้อนแย้งเหลือเชื่อ เขาหลงทางในความแค้น ทวงถามความยุติธรรม แต่ก็ยังมี ‘บาปของผู้เป็นพ่อ’ เป็นชนักปักหลังอยู่ด้วยพร้อมกัน เขาออกปราบปรามโจรผู้ร้ายที่โดนระบบฉ้อฉลเดียวกันเอาเปรียบ โดยหลงลืมหรือมองไม่เห็นว่าตน (หรือครอบครัวของตน) ก็อาจมีส่วนได้ส่วนเสียในการเอาเปรียบนี้เช่นกัน แต่ที่แน่นอนที่สุด เขามองไม่เห็นว่าการออกชำระแค้นของตนนั้นอาจสร้างผลกระทบที่เลวร้ายอย่างไรได้บ้าง เพราะไม่ได้มีแค่เขาเพียงคนเดียวที่สามารถพูดได้ว่า “ข้าคือการล้างแค้น” และก็ไม่ได้มีรูปแบบของการล้างแค้นด้วยการแจกจ่ายความยุติธรรมอยู่เพียงแบบเดียวด้วย

การชำระแค้นของริดเดลอร์ (และบรรดาสาวกฟอลโลเวอร์)​ จึงอาจมองเทียบเคียงได้กับการเอาคืนของโจ๊กเกอร์ เพราะในแง่หนึ่งพวกเขาล้วนถูกเอาเปรียบหรือหมางเมินโดยสังคม ถูกทำให้เป็นลูซเซอร์ไร้อำนาจ แต่หากเทียบเคียงตัวหนังทั้งสองเรื่อง The Batman อาจจะเอาตัวรอดไปได้ดีกว่าตรงที่มันไม่ได้ล่วงเข้าในปริมณฑลของการ ‘เห็นควรด้วย’ กับอาชญากรรมหรือการก่อการร้ายเท่ากับ Joker (อันที่จริง เราอาจไม่ได้แม้กระทั่งเห็นควรด้วยกับการกระทำของแบทแมนด้วยซ้ำ) และเราในฐานะคนดูรู้สึกได้ถึงความเลวร้ายที่คุกคามและน่าหวาดสะพรึงมากกว่าเมื่อหนังพาคนดูไปถึงจุดของการ ‘ชำระล้าง’ ก็อตแธม พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ในขณะที่ Joker แสดงให้เห็นการโต้ตอบอย่างเคืองแค้นและตรงไปตรงมาชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน The Batman พาเราจมไปในก้อนขมุกขมัวของการแก้แค้นและความอยุติธรรมที่ยากต่อการสะสางหรือแม้แต่จะสาธยาย

รีฟส์นำเสนอหนังมนุษย์ค้างคาวในแบบฉบับของตนได้น่าสนใจไม่น้อย การวางตัวให้คลับคล้ายคลับคลากับหนังสืบสวน-ฆาตกรต่อเนื่องไม่เพียงเป็นสุนทรียะที่หยิบยืมมาให้หนังดูหม่นขึ้นมาเฉยๆ แต่มาพร้อมกับความหนักแน่นในน้ำเสียงของการเล่า ความหนักหน่วงของประเด็นที่หนังใส่เข้ามา การกำกับภาพที่เล่นกับแสง-สีได้อย่างสวยงามขึงขังของเกรก เฟรเซอร์​ (ที่ปีนี้ได้เข้าชิงออสการ์จากผลงานใน Dune: Part One ด้วย) และสกอร์อันแสนพรั่นพรึงของไมเคิล จิอัคคีโน (ที่ปีก่อนทำสกอร์ให้หนังซูเปอร์ฮีโร่จากอีกค่ายอย่าง Spider-man: No Way Home) เหนือสิ่งอื่นใด The Batman ยังเพิ่มรสชาติแปลกใหม่ให้กับตระกูลหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่หลังๆ แข่งกันผลิตแต่ความซ้ำซากออกมานำเสนอในหีบห่อใหม่สุดไฉไลจนผ่านพ้นจุดที่ ‘เกินพอ’ ไปนานโข

เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงนั้นอาจจะยาวไปเสียหน่อยกับการตามดูแบทแมนกับกอร์ดอนเล่นบทคู่หูที่ตามสืบสวนและคลี่คลายปริศนาดำมืดประจำเมืองโดยได้รับความช่วยเหลือจากแม่สาวตีนแมวลึกลับอย่าง เซลีนา ไคล์​ (โซอี เครวิตซ์) เป็นครั้งคราว (และเอาเข้าจริง แต่ละ ‘ปริศนา’ ของริดเดลอร์เองก็ออกจะเชยและทื่อมะลื่อไปเสียหน่อยด้วย) นอกจากนี้ หนังพยายามหาทางลงโดยอิงกับท่าทีแบบหนังซูเปอร์ฮีโร่มากไปหน่อยในช่วงท้าย เมื่อแบทแมนหันมาถือคบไฟนำทางประชาชนในความมืด และคอยโอบอุ้มผู้ได้รับบาดเจ็บราวเป็นพระผู้มาโปรด ฉากเหล่านี้ไม่ถึงกับเลวร้ายและเข้าใจได้ว่าใส่เข้ามาเพื่อคลี่คลายอารมณ์ของตัวหนังที่ตึงเครียดมาทั้งเรื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามันลดทอนพลังความขัดแย้งและความจริงจังของหนังลงไปอย่างน่าเสียดาย

ในท้ายที่สุด ดูเหมือนว่าตัวบรูซ/แบทแมนเองจะเข้าใจถึงผลพวงของการกระทำและภาระที่ตนต้องแบกรับ เขาอาจเข้าใจกระทั่งว่าสุดท้ายแล้วตัวเขาเองก็ไม่ได้ดีเด่นไปกว่าใครและเป็นได้เพียงเบี้ยในเกมของผู้อื่นเท่านั้น กระนั้น การที่เขาดึงดันจะต่อสู้ให้ก็อตแธมเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา (แม้ในใจจะรู้ว่าเมืองโสมมแห่งนี้จะไม่มีวันเปลี่ยนไป) กลับมอบการปลอบประโลมให้กับคนดูได้อย่างน่าประหลาด ซึ่งการปลอบประโลมแบบปลอมๆ แปลกๆ ที่ว่าก็อาจมีเพียงแต่เรื่องแต่งทำนองนี้เท่านั้นที่สามารถมอบให้เราได้ ในวันที่ฉากที่มืดที่สุดของหนังยังสว่างจ้ายิ่งกว่าอนาคตในโลกแห่งความเป็นจริง

ท่วงท่าของความทรงจำ: การปรับและรับรู้สมดุลของแรงสั่นสะเทือนจากโคลอมเบียถึงไทยใน Memoria (1)

“นี่จึงเป็นจุดของการเข้าเผชิญหน้าในแบบต่างๆ ของความพยายามในการสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกับเอเลี่ยนหรือสิ่งแปลกหน้า ด้วยการเผชิญกับสิ่งแปลกหน้า รูปร่างของสิ่งแปลกหน้าได้ถูกสร้างขึ้น หากมิใช่เพราะเราไม่อาจจดจำได้ แต่เป็นเพราะเราได้ทึกทักจดจำว่าเป็นสิ่งแปลกหน้าไปเสียแล้ว ในท่วงท่าของการจดจำสิ่งที่เราไม่รู้จัก สิ่งที่แตกต่างจากเรา เราสร้างภาพของสิ่งที่พ้นไปจากตัวเราอย่างสมบูรณ์ทั้งใบหน้าและรูปร่างของมัน ดังนั้นเอเลี่ยนจึงมิใช่สิ่งที่ไปไกลกว่ามนุษย์ แต่เป็นกลไก (mechanism) ที่อนุญาตให้เราเผชิญหน้าสิ่งที่เราได้ให้ความหมายไว้แล้วว่าเป็น ‘สิ่งที่พ้นเกินมนุษย์’ ดังนั้นเราจึงต้องจินตนาการตอนนี้ ที่นี่ ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับเอเลี่ยน ซึ่งทำให้เราแลกเปลี่ยนจินตนาการซึ่งเป็นการปรากฎร่วม (co-presence) ของเรือนร่างของเอเลี่ยนและสิ่งแปลกหน้า เราจะต้องผ่านพ้นไปให้ได้”

Sara Ahmed (2000), Strange Encounters: Embodied Others in Post-Coloniality

มันอาจเริ่มจากเสียงปริศนาที่ก้องในหัวในเช้ามืด แรงสั่นสะเทือนไร้ที่มา โผล่ขึ้นอย่างไม่รู้ตัวและไม่อาจควบคุมได้ ราวกับ “ลูกบอลคอนกรีตขนาดใหญ่กระแทกอ่างโลหะที่ล้อมรอบด้วยน้ำทะเล แล้วมันก็หดตัวเล็กลง” เหมือนกับวัตถุที่ตกลงน้ำสร้างคลื่นทั้งเล็กและใหญ่จำนวนมหาศาลแผ่ออกไปเป็นวงกลมอีกอนันต์ หรือเหมือนผืนแผ่นมาตุภูมิที่กำลังร้องกัมปนาท นับแต่นี้คือการเงี่ยฟัง รับแรงสั่นสะเทือนของข้อต่อและและการสั่นไหวของเยื่อแก้วหู รวมไปถึงการปรับสมดุลของน้ำในหูชั้นใน นี่เรื่องของการส่งต่อคลื่นสัญญาณประสาทจากภายนอกสู่ภายในและไปแปรผลที่สมอง มันคือการเดินทางไปยังใจกลางของสมองและโลก ข้ามพื้นที่และเวลาไปมาอยู่อย่างต่อเนื่องระหว่างดินแดนในเขตร้อนชื้นด้วยความถี่ของคลื่นที่ 60-100 เฮิร์ทซ์

ประวัติศาสตร์บาดแผล การถอยร่นของฝ่ายซ้าย การล่าอาณานิคมภายใน และยาเสพติด

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1889 หลังจากการปลดปล่อยโดยกองกำลังของซิมอน โบลิบาร์เพื่อเป็นอิสระจากอาณานิคมสเปน ก็นำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐแกรนด์โคลอมเบียซึ่งประกอบไปด้วย เอกวาดอร์ ปานามา เวเนซูเอล่า และโคลอมเบีย จนกระทั่งถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในโคลอมเบียที่ถูกเรียกว่า La Violencia (1948-1953) ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างขั้วความคิดทางการเมืองระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคเสรีนิยมรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ในช่วงปีนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน จนนำไปสู่การเกิดกลุ่มกองกำลังป้องกันตนเองในพื้นที่ชนบทในเวลาต่อมา1อภิญญา ดิสสะมาน. (2557). กระบวนการสร้างสันติภาพ กรณีศึกษาประเทศโคลอมเบีย

กลุ่ม FARC (The Revolutionary Armed Forces of Colombia) ถือว่าเป็นกลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายติดอาวุธที่ใหญ่ที่สุดที่ต่อต้านรัฐบาล เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1964 หลังจากถูกโจมตีอย่างหนักโดยกองกำลังฝ่ายขวา กลุ่ม FARC ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดเพื่อหาเงินมาใช้ในการรณรงค์ต่อสู้ ปัจจุบันกลุ่ม FARC ได้เปลี่ยนจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่การแสวงหารายได้จากการค้ายาเสพติดและการเรียกค่าไถ่เป็นหลัก นี่ส่งผลให้ เมะเดยีน (Medellín) เมืองหลวงของจังหวัดแอนทิโอเกีย (Antioquia) ประเทศโคลอมเบีย ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่อันตรายที่สุดในโลก2เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์. (2021). เมะเดยีน ประเทศโคลอมเบีย: เมืองหลวงของการฆาตกรรมของโลกในคริสต์ทศวรรษ 1980s และ 1990s.

กลุ่ม FARC ยึดครองพื้นที่กว่า 1 ในสามของประเทศโคลอมเบีย มีกองกำลังกว่า 10,000 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกองกำลัง National Liberation Army (NLA) ที่ได้แรงบันดาลใจจากการปฏิวัติในคิวบา กลุ่ม NLA หารายได้จากการค้ายาเสพติดเช่นเดียวกัน และมีเป้าหมายในการโจมตีสถานที่ราชการและบริษัทน้ำมันของเอกชนมากกว่าการปะทะกับกองกำลังรัฐบาล

ปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในประเทศโคลอมเบียที่สำคัญคือประเทศสหรัฐอเมริกา1 โดยจุดเริ่มต้นของการเข้ามาของสหรัฐฯ อาจย้อนกลับไปตั้งแต่หลังการปลดแอกจากอาณานิคมของประเทศโคลอมเบีย โดยหลังสิ้นสุด “สงครามหนึ่งพันวัน (1899-1903)” และสงครามกลางเมืองกว่าแปดครั้ง สหรัฐฯก็สนับสนุนให้ปานามาแยกตัวออกจากโคลอมเบีย ซึ่งส่งผลให้เกิดการสร้างคลองปานามาขึ้น จนกระทั่งช่วงสงครามเย็น ในสมัยประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน (1945-1953) นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ สนับสนุนรัฐบาลโคลอมเบียในการต่อสู้กลุ่มฝ่ายซ้ายที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม3GRACE LEE. (2017). Imperialism by Another Name: The US “War on Drugs” in Colombia

จนถึงทศวรรษที่ 1980 ในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน สนับสนุนกองกำลังทหารของรัฐบาลโคลอมเบียในการต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายซ้ายผ่านโวหาร “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ถึงแม้จะผ่านช่วงสงครามเย็นมาแล้ว แต่ “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ก็ยังเป็นนโยบายที่มีความชอบธรรมให้สหรัฐฯ เข้าไปสนับสนุนกองกำลังทหารโคลอมเบีย เพราะการเข้าถึงแหล่งน้ำมันในอเมริกาใต้รวมถึงคลองปานามาก็ยังเป็นปัจจัยหลักของนโยบายรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเข้าหารัฐบาลโคลอมเบียเพื่อต่อต้านกองกำลังฝ่ายซ้ายที่มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูปทางสังคมอาจเป็นภัยต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

แม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดในปี ค.ศ. 1991 แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ถอนกำลังหรือลดงบประมาณทางการทหารในโคลอมเบียเหมือนเช่นในเวียดนาม ในแผน Andean Initiative ของรัฐบาลจอร์จ บุช ก็มีการทุ่มงบทางการทหารกว่า 73 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ รวมไปถึงแผน Plan Colombia ก็ทุ่มงบกว่าร้อยละ 80 ให้กับกองทัพโคลอมเบีย “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ในโคลอมเบียจึงเป็นโวหารที่ใช้ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ จวบจนถึงปัจจุบันที่ใช้ข้ออ้างเรื่องการต่อสู้กับการค้ายาเสพติด ข้ออ้างเหล่านี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้จักรวรรดิอเมริกันในการเข้าควบคุมรัฐบาลโคลอมเบีย ซึ่งยังขยายไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วย

จนกระทั่งหลังการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ Juan Manuel Santos ในปี ค.ศ. 2010 ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของกองทัพสหรัฐฯในโคลอมเบีย Santos เปลี่ยนเป็นการอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาเข้าใช้ฐานทัพที่มีอยู่ของกองทัพโคลอมเบียได้แทนที่การให้กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพ ซึ่งเป็นท่าทีที่พึงพอใจทั้งสองฝ่ายระหว่าง Santos และสหรัฐฯ และเพื่อไม่ให้กระทบฐานเสียงของเขามากกว่าความต้องการยุติสงครามกับกองกำลังฝ่ายซ้าย แม้ว่านโยบายการต่างประเทศของโคลอมเบียยังคงมีความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก แต่ก็มีความพยายามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างโคลอมเบียกับจีน แต่ก็เต็มไปด้วยเสียงต่อต้านเนื่องจากความหวาดกลัวต่อการตีตลาดของสินค้าจีน รวมถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่นับวันจะครอบงำภูมิภาคลาตินอเมริกาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 4เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์. (2020). นโยบายการต่างประเทศของโคลอมเบียในคริสต์ศตวรรษที่ 21. https://www.the101.world/colombia-foreign-policy-in-21st-century/

โปสเตอร์ภาษาไทยของ Memoria ออกแบบโดย ปูนปั้น–กมลลักษณ์ สุขชัย อ่านการนำเอา กล้วยไม้ มาเป็นคีย์ในการออกแบบได้ที่เพจ Common Move

ความสัมพันธ์ของกล้วยไม้และแมลง ความรัก และการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ 

แต่ไม่ว่ารัฐบาลโคลอมเบียจะหันไปทางใด โคลอมเบียก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกกล้วยไม้มากที่สุดในโลกด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลล่าห์ต่อปี โดยสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ากล้วยไม้จากโคลอมเบียอันดับต้นๆ ในช่วงทศวรรษ 1990 รัฐบาลที่ถูกสนับสนุนโดยสหรัฐประกาศการลดการเก็บภาษีส่งออก โดยมีเป้าหมายควบคุมการปลูกต้นโคคาพร้อมกับการประกาศสงครามยาเสพติด รวมถึงเสนอให้ประชาชนหันมาปลูกกล้วยไม้และเพิ่มอัตราการจ้างงาน5BRENNA HARAGAN. (2015). Colombia’s Bloom Boom. แต่การส่งออกกล้วยไม้ก็เป็นเส้นทางที่ใช้ในการลักลอบขนส่งยาเสพติดเข้าสู่สหรัฐจวบจนปัจจุบัน6MAXIMO ANDERSON. (2017). The lure of wild orchids persists in Colombia. https://news.mongabay.com/2017/11/the-lure-of-wild-orchids-persists-in-colombia/

กล้วยไม้ดูจะเป็นพืชที่เจสสิกาสนใจ เธอคือหญิงวัยห้าสิบจากประเทศสกอตแลนด์ ใส่เสื้อผ้าของผู้ชาย (ที่อาจเป็นของสามี) ไม่มีใครรู้ว่าเธอมาอยู่ที่เมืองโบโกตานานเท่าใด เธอพูดภาษาสเปนไม่ได้คล่องแคล่ว เธอน่าจะเพิ่งสูญเสียสามี และมีปัญหาเรื่องเงิน เธอมีความสนใจในการทำฟาร์มกล้วยไม้ที่เมืองเมะเดยีน เธอสนใจเชื้อราที่กัดกินทำลายความสวยงามของดอกและใบของมัน Memoria (2021) ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เริ่มด้วยการตื่นของเจสสิกาด้วยเสียงที่ก้องในหัวและปลุกเธอจากการนอน เธอตื่นขึ้นในบ้านที่ห่อด้วยแสงสีน้ำเงิน มีรูปปลาสามตัวแขวนบนผนัง เธอค่อยๆ ลุกจากเตียงเหมือนแฟรงเกนสไตน์ที่เพิ่งถูกปลุกจากความตายด้วยกระแสไฟฟ้า เธอก้าวอย่างช้าๆ เธอเห็นเงาของตนเองในกระจก ก่อนจะเดินชนอะไรสักอย่าง ในบ้านที่เหมือนไม่ใช่ที่ที่เธอคุ้นเคย เธอนั่งลงริมหน้าต่างขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนกรง ข้างๆ เธอมีกรงที่มีนกส่งเสียงจิกไม้ เธอนั่งลงและจ้องนกสองตัวในความมืด

ดอกกล้วยไม้พบได้ในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ มาตั้งแต่ Mysterious Object at Noon (2000) หากถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อราและกล้วยไม้คล้ายกับความสัมพันธ์ระหว่างครูดอกฟ้ากับเด็กชายพิการ ครูดอกฟ้าผู้เอารูปถ่ายจากโลกภายนอกมากให้เด็กชายคนนั้นดู หรืออาจจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหมอเตยกับหนุ่ม ชายเจ้าของฟาร์มกล้วยไม้ ผู้ไปขอกล้วยไม้ที่หายากในโรงพยาบาลที่หมอเตยทำงาน หลังจากที่หมอเตยไปเจอหนุ่ม ผู้ไปออกร้านขายกล้วยไม้เรืองแสงที่ตลาดนัด ใน Syndromes and a Century (2006) หรืออาจจะเป็นสวนกล้วยไม้ริมบึงแก่นนคร ที่อิฐในร่างของร่างทรงเก่งพาป้าเจนเที่ยวชมพระราชวังในอีกมิติ “นี่ไง กล้วยไม้ต้นของป้า เห็นมั้ย ชื่อเก่าป้า เจนจิรา พงศ์พัส มันออกดอกไง ก็เลยเอาถุงมาคลุมไว้ กันแมลงมาตอมอ่ะ โห จะตายไม่ตายแหล่อยู่แล้ว ไม่เจอกันตั้งนาน ให้เธอเลยช่อนั้นอ่ะ” ป้าเจนบอกกับเก่ง “เปิดให้มันหายใจซะป้า” อิฐในร่างเก่งบอกกับป้าเจน ใน Cemetery of Splendor (2015)

ความสัมพันธ์ระหว่างกล้วยไม้กับรา ตัวต่อ ผึ้ง หรือแมลง อาจะพบได้ใน Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives (2010) เมื่อป้าเจนเผลอเหยียบเหล่าแมลงที่เข้ามาในบ้านสวนของลุงบุญมี ก่อนที่โต้งจะถามว่าป้าเจนตั้งใจเหยียบพวกแมลง หรือพวกผีเสื้อเหล่านั้นหรือไม่ หรือมันอาจเป็นหนอนที่เจาะหน่วยมะขามในสวนของลุงบุญมี หรืออาจะเป็นผึ้งที่ลุงบุญมีเลี้ยงในสวนมะขาม ผึ้งที่สร้างน้ำผึ้งรสมะขามผสมรสข้าวโพด 

ความสัมพันธ์ทางผัสสารมณ์ระหว่างกล้วยไม้กับแมลงคือความรัก หากมิได้ถูกอธิบายแบบธรรมชาตินิยมว่าเป็นเรื่องของการอยู่รอดหรือการแข่งขัน Deleuze และ Guattari บอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างดอกไม้กับแมลงไม่ได้เป็นเพียงว่ากล้วยไม้ผลิตน้ำหวานให้แมลง และแมลงก็แค่ช่วยในการสืบพันธ์ให้กับดอกไม้ หากแต่ว่าเป็นระบบนิเวศน์ที่ยังมีส่วนใดส่วนหนึ่งของมนุษย์ในระบบนั้นด้วย7Judith Wambacq. Sjoerd van Tuinen. (2017). Interiority in Sloterdijk and Deleuze.

Photo Credit : Sandro Kopp ©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

กล้วยไม้บางชนิดดึงดูดแมลงตัวผู้ด้วยการเลียนแบบอวัยวะสืบพันธ์ของแมลงเพศเมีย ส่วนของกล้วยไม้และแมลงจึงหลุดออกจากความหมายเดิมที่มนุษย์สร้างและเกิดเครือข่ายแบบใหม่ขึ้น แมลงเป็นชิ้นส่วนที่ปลดปล่อยระบบสืบพันธ์ของกล้วยไม้ และกล้วยไม้เองก็เป็นเครื่องอำนวยจุดสุดยอดให้กับแมลงและยังปลดปล่อยตัวมันเองจากการผลิตซ้ำความหมายเดิมตามวิวัฒนาการแบบดาร์วิน ความสัมพันธ์ทางผัสสารมณ์นี้เองที่รื้อทำลายขอบเขต ทำลายความเป็นธรรมชาตินิยมหรือการโหยหาความดั้งเดิมหรืออัตลักษณ์ ก่อกำเนิดความเป็นไปได้อื่นๆ แบบรวมหมู่ (collective becoming) จากอัตลักษณ์ที่แตกสลาย7

การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ มิใช่ความลงรอยกันระหว่างความสัมพันธ์ที่หลากหลาย เช่นในทฤษฎีของดาร์วิน และก็มิใช่ความเหมือน การลอกเลียน หรือการประกอบสร้างอัตลักษณ์ แต่การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ เกิดขึ้นในระดับลึกกว่าการรับรู้อัตลักษณ์ กล้วยไม้จะทำงานร่วมกับแมลงได้ กล้วยไม้จะต้องกลายเป็นผึ้ง เช่นเดียวกันกับแมลงที่ต้องกลายเป็นกล้วยไม้ แต่การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ ก็เป็นการกลายเป็นเพียงแค่บางส่วน มิใช่การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ อย่างสมบูรณ์7 

Judith Wambacq (2017) อาจารย์ด้านปรัชญา Ghent University เสนอว่าความสัมพันธ์ระหว่างกล้วยไม้และแมลงมีเป้าหมายเป็นการสื่อสารกับภายนอก เพื่อทำลายความคิดที่ยึดโยงมนุษย์เป็นศูนย์กลางและอนุญาตให้ตนเองกลายเป็นสัตว์ซึ่งไปล้อเล่นกับภาพในกระจกของเรา นี่อาจเรียกว่าการกลายเป็นสัตว์ หรือการกลายเป็นโมเลกุล เราต้องออกจากเส้นทางที่ถูกกำหนดบนแผนที่และเริ่มเส้นทางที่ตะกุกตะกัก การต่อต้านปมอิดิปัสจึงเป็นการทำลายขอบเขตและทุกสิ่งที่มองหาการหยุดนิ่ง7 การกลายเป็นอื่นจึงเกิดขึ้นในระดับของผัสสารมณ์ที่เข้มข้นรุนแรงอย่างต่อเนื่องและไหลเวียนระหว่างกล้วยไม้กับแมลง8Brent Adkins. (2015). Deleuze and Guattari’s A Thousand Plateaus: A Critical Introduction and Guide.

นี่จึงทำให้นึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจสสิกาและกล้วยไม้ เธอต้องการทำฟาร์มกล้วยไม้จึงตามหาตู้แช่ที่กรองเอาเชื้อราและเชื้อโรคออกไป กล้วยไม้จะต้องอยู่ในสภาพที่สวยที่สุดไร้มลทินถึงจะขายได้ เหมือนป้าเจนที่เอาถุงคลุมดอกกล้วยไม้ไว้ แต่การกีดกันระหว่างเชื้อราและแมลงกับกล้วยไม้ ก็เหมือนการขัดขวางความสัมพันธ์ ที่มนุษย์ดูจะเป็นผู้ควบคุมความสัมพันธ์สิ่งอื่นๆ ผ่านสาขาชีววิทยาหรือแม้แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่มนุษย์จะควบคุมได้มากเท่าใด เพราะเจสสิกาไม่มีเงินพอจะซื้อตู้เก็บอุณหภูมิ 

ความรักระหว่างเธอกับกล้วยไม้ ดูจะชวนให้นึกถึงความรักของเธอกับพอล สามีผู้ล่วงลับ ราวกับว่าเธอไม่อาจเปิดใจให้กับแอร์นัน นักวิศวกรเสียงหนุ่ม ผู้จีบเธอด้วยการเสนอจะออกเงินค่าซื้อตู้แช่กล้วยไม้ เหมือนกับหมอเตยที่ไม่อาจรับรักโต๋ นายตำรวจผู้ตามจีบหมอเตย ใน Syndromes and a Century (2006) โต๋เอาเนื้อหมูมาฝากเธอและแนะนำให้เธอเอาไป “แช่ในช่องฟรีซจะกรอบได้อยู่นานๆ” ความสัมพันธ์ระหว่างเจสสิกากับผู้หญิงและผู้ชายที่รายล้อมรอบเธอ เป็นความสัมพันธ์ที่ชวนให้นึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างแมลงกับดอกไม้ ที่แม้ผู้ชายจะอยู่ในตำแหน่งตำรวจหรือทหารก็ต้องศิโรราบให้กับผู้หญิง แต่หมอเตยก็ต้องอกหักเมื่อรู้ว่าหนุ่มไม่ได้ชอบเธอ เช่นเดียวกับเจสสิกาที่ไม่รับรักแอร์นัน แต่เธอเองก็ไม่อาจสลัดอดีตของความรักที่เธอมีกับสามีผู้ล่วงลับได้ บนความรักจึงมิใช่ความสัมพันธ์ที่ถูกจัดแจงอย่างเท่าเทียม หากแต่เป็นความสัมพันธ์ในแนวระนาบที่เป็นเรื่องสมดุลระหว่างการต่อรองทางอำนาจของสิ่งต่างๆ ด้วยการยึดติดและการแยกจากอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องของการสลายตัวเองบางส่วนและรับเอาสิ่งอื่นเข้ามา เป็นการถ่ายโอนชิ้นส่วนระหว่างภายนอกและภายใน เป็นเหมือนเจสสิกาที่อาจใส่เสื้อผ้าของสามี เป็นเหมือนกลอนกวีและบทเพลงรักที่คนสองคนช่วยกันแต่งที่อาจหล่นหายหรืออาจไปอยู่ในอัลบัมใหม่ ความรักระหว่างเจสสิกากับสิ่งอื่นๆ ระหว่างกล้วยไม้และแมลงจึงวูบไหว เหมือนจะมาเหมือนจะไป ไม่คงทนถาวร

©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

สภาวะหัวจะระเบิด ความไม่สมดุลในหูชั้นในและภายนอกร่างกาย 

แอร์นัน ชายหนุ่มวัยเกือบจะสามสิบ ผู้ที่ฆวน (สามีของคาเรน น้องสาวเจสสิกา) แนะนำให้เจสสิกาไปหา แอร์นันรู้จักกับเจสสิกาเพราะเขาช่วยเธอหาเสียงระเบิดในหัว เสียงที่ความที่ 60-100 เฮิร์ทซ์ เสียงที่ปลุกเธอตอนเช้ามืดก่อนที่จะตื่น อาการเดียวกันกับที่อภิชาติพงศ์พบเจอและดีขึ้นหลังจากเริ่มสร้าง Memoria อาการที่มีชื่อทางการแพทย์ว่า Exploding head syndrome (EHS) ซึ่งเป็นความรู้สึกว่ามีเสียงระเบิดในหัวจนทำให้ตื่น อาจเกิดช่วงเปลี่ยนระหว่างการนอน/การตื่น หรือทำให้ตื่นกลางดึก คนไข้มักจะตื่นกลัว และจะต้องไม่มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย คนไข้มักจะบรรยายประสบการณ์ว่า มีเสียงระเบิดในหัว เสียงฟ้าผ่า เสียงตะโกน เสียงโลหะกระแทก เสียงแผ่นดินไหว เสียงไฟฟ้าช๊อต เสียงคนกรีดร้อง เสียงวัตถุตกจากที่สูง หรือเสียงพลุ การได้ยินเสียงอาจเกิดร่วมกับการกระตุกของร่างกายหรือแขนขา ใจสั่น หายใจถี่ขึ้น มวนท้อง รู้สึกว่าหลุดออกจากร่าง รู้สึกร่างกายกำลังลอย หรืออาจรู้สึกว่าเห็นตนเองจากภายในราวกับกำลังถอดจิต บางคนที่ประสบกับ EHS อาจตามด้วยอาการผีอำ ช่วงอายุที่เป็น EHS มักเริ่มหลังอายุ 50 ปีขึ้นไป และมักพบในเพศหญิง สาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัด9Alex Iranzo. (2022). Other Parasomnias. Principles and Practice of Sleep Medicine แต่อาจสัมพันธ์กับการใช้กัญชา10Christopher Missak. (2020). Mind Blown: Exploding Head Syndrome as a Side Effect of Marijuana

EHS เป็นหนึ่งในอาการ Sensory Sleep Paroxysms (SSP) หรืออาการประสาทสัมผัสในช่วงนอนที่ผิดแปลกไปซึ่งเกิดเป็นๆ หายๆ คำว่า Paroxysm นอกจากแปลว่า การกำเริบของอาการ แล้ว ยังอาจแปลว่าการระเบิดได้อีกด้วย คนที่มีอาการ SSP นอกจากประสบกับ EHS แล้ว ยังอาจรู้สึกว่าเห็นคล้ายแสงแฟลช หรือรู้สึกเหมือนเข็มทิ่มทั่วร่างกาย อาการประสาทสัมผัสนี้เกี่ยวข้องกับกลไกระหว่างประสาทการได้ยินหูชั้นในและประสาทการทรงตัว (labyrinthine-vestibular mechanism)11Andrew Moyer. Kim J. Davis. (2019). Adams and Victor’s Principles of Neurology, Eleventh Edition

ระบบการทรงตัว (vestibular system) มีเส้นใยประสาทเชื่อมโยงกับสมองน้อย (cerebellum) ซึ่งสมองส่วนหลัง อันได้แก่ สมองน้อยและก้านสมองของมนุษย์ก็มีสายสัมพันธ์แบบเครือญาติสมองปลา12Mark Pizzato. (2019). Mapping Global Theatre Histories. เส้นใยของระบบการทรงตัวมัดรวมกับเส้นใยของการได้ยินเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 เดินทางจากหูชั้นในสู่ก้านสมองบริเวณที่เรียกว่า cerebellopontine angle หรือองศาระหว่างสมองน้อยและก้านสมอง (pons) ที่ควบคุมการหายใจและการนอนหลับ13Stanley Monkhouse. (2005). Cranial Nerves: Functional Anatomy

การนอนหลับของเจสสิกาถูกรบกวนด้วย EHS ซึ่งกันไม่ให้เธอเข้าสู่การหลับลึกในระดับ N3 การนอนหลับของเจสสิกาจึงมิใช่การพักผ่อน ราวกับเป็นการตื่นทั้งที่ยังหลับอยู่ โดยปกติการนอนของเราจะเป็นวงจรสลับไปมาระหว่างช่วงการนอนหลับแบบลูกตากลอกตัวไปมาช้าๆ (Non-rapid eye movement หรือ NREM Sleep) กับช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement Sleep related parasomnia) ซึ่งเป็นช่วงของการหลับที่เราจะฝันและลูกตาของเราจะขยับอย่างรวดเร็ว ส่วนช่วงที่เราหลับลึกที่สุดและรู้สึกตัวน้อยที่สุดเป็นช่วง N3 (deep sleep, slow wave sleep) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ NREM Sleep คลื่นสมองในช่วง N3 จะมีระดับของคลื่นสูงและมีความถี่ต่ำ14SASIKARN POOMKONSARN. (2020). Sleep disorders.

ประสบการณ์ของการนอนหลับของเจสสิกาที่ไม่สมดุล และหลุดออกจากวงจรของการนอนหลับ เกิดขึ้นเมื่อเธอมาอยู่โคลอมเบีย หากแต่การแพทย์สมัยใหม่อาจสนใจเพียงแค่การอธิบายระบบประสาทกายวิภาคและพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในโครงข่ายของเส้นประสาทคู่ที่แปดที่อาจแปลผลผิดพลาดที่สมองส่วนกลาง การแพทย์สมัยใหม่จึงลุ่มหลงสนใจเพียงสภาวะภายใน แต่เจสสิกากลับเลือกที่จะตามหาเสียงนั้น ที่หากอธิบายด้วยการแพทย์ก็อาจเป็นเสียงที่มาจากความผิดปกติของสมดุลของกลไกระหว่างประสาทการได้ยินหูชั้นในและประสาทการทรงตัว เจสสิกาพยายามหาจุดเชื่อมโยงระหว่างภายในสมองและภายนอกผ่านการสั่นไหว (vibration)

การสั่นไหวการเป็นจุดร่วมของสรรพสิ่ง การสั่นไหวที่เราไม่อาจรับรู้ได้ทั้งหมด การสั่นไหวที่ถูกรับรู้ด้วยจิตไร้สำนึก (unconscious sensation) ผ่านเส้นประสาทไขสันหลังด้านหลัง เส้นประสาทที่รับส่งกระแสประสาทจากข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ระบบการรับรู้การสั่นไหวช่วยให้เราทรงตัวได้แม้ว่าเราหลับตาหรือไม่ต้องมองเห็น ระบบขึ้นกับตำแหน่งของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ระดับของแรงที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ความเร็วในการเคลื่อนที่ และการเร่งของการยืดขยายของกล้ามเนื้อ15Pat Ogden. (2006). Trauma and the Body: A Sensorimotor Approach to Psychotherapy การรับรู้การสั่นไหว (kinaesthetic) ของข้อต่อทำงานร่วมกับการรักษาสมดุลของตำแหน่งของศีรษะผ่านระบบเครือข่ายเส้นใยสมองคู่ที่แปด 

การรับรู้การสั่นไหวของสรรพสิ่งรวมไปถึงคลื่นเสียงจึงเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากกันไม่ได้16Michelle Royer. (2019). The Cinema of Marguerite Duras: Multisensoriality and Female Subjectivity การรับรู้การสั่นไหวกระตุ้นความทรงจำและอารมณ์ผ่านระบบลิมบิกที่อยู่บริเวณแก่นกลางของสมอง (core of the brain) ซึ่งมีสายสัมพันธ์แบบเครือญาติกับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ 12 พลังงานของการสั่นสะเทือนปรากฎใน Memoria ผ่านเสียงระเบิดในหัว เสียงรถร้อง เสียงดนตรี เสียงยางรถบัสแตก เสียงร่ายบทกวี การสั่นสะเทือนของภูเขาไฟ เสียงวิทยุ เสียงคลื่นที่กระทบเรือ เสียงเด็กถูกรุมกระทืบ เสียงยานอวกาศปล่อยควันเป็นวงกลมสีขาว เสียงลิงหอน เสียงเครื่องขุดเจาะ หรือเสียงฝนตกและฟ้าร้อง

การรับรู้การสั่นไหวของสรรพสิ่งรวมไปถึงคลื่นเสียงจึงเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากกันไม่ได้ การรับรู้การสั่นไหวกระตุ้นความทรงจำและอารมณ์ผ่านระบบลิมบิกที่อยู่บริเวณแก่นกลางของสมอง (core of the brain) ซึ่งมีสายสัมพันธ์แบบเครือญาติกับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ พลังงานของการสั่นสะเทือนปรากฎใน Memoria ผ่านเสียงระเบิดในหัว เสียงรถร้อง เสียงดนตรี เสียงยางรถบัสแตก เสียงร่ายบทกวี การสั่นสะเทือนของภูเขาไฟ เสียงวิทยุ เสียงคลื่นที่กระทบเรือ เสียงเด็กถูกรุมกระทืบ เสียงยานอวกาศปล่อยควันเป็นวงกลมสีขาว เสียงลิงหอน เสียงเครื่องขุดเจาะ หรือเสียงฝนตกและฟ้าร้อง 

การสั่นไหวคือการกลับไปกลับมา การเคลื่อนไหว การหดและการขยาย เสียงคือการสั่นไหวและมีศักยภาพในการสร้างความสัมพันธ์เชิงผัสสารมณ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่นอกเหนือจากมนุษย์17Joanna Łapińska. (2020). Vibrations of Worldly Matter. ASMR as Contemporary Musique Concrète การสั่นไหวใน Memoria ไปไกลกว่ามนุษย์และความเป็นเหตุเป็นผล หูและดวงตาสร้างความสัมพันธ์ของเรากับเสียง ในขณะเดียวกันก็กำลังถูกประกอบสร้างจากผัสสะของเราที่ดำรงอยู่ในโลกเช่นกัน หูและดวงตาจึงเป็นเครื่องช่วยให้เสียงเคลื่อนผ่านเข้าปะทะกับร่างกายในฐานะแกนกลางของโลก นี่แสดงให้เห็นว่าการสั่นสะเทือน (ของสิ่งแวดล้อมที่สัมผัสเราอย่างเปิดเผยและปราศจากอคติ) ได้สร้างผลกระทบกับผู้ฟังด้วยผัสสารมณ์ซึ่งมีก่อนตัวบุคคล นำไปสู่การเคลื่อนผ่านของเรือนร่างจากสภาวะหนึ่งสู่อีกสภาวะหนึ่ง เครือข่ายของการสื่อสารจึงเป็นเรื่องการเผชิญหน้าในแนวระนาบระหว่างสองเรือนร่างอันได้แก่ ร่างที่รู้สึกกับร่างผู้สร้างความรู้สึก18David Trippett. (2018). Music and the Transhuman Ear: Ultrasonics, Material Bodies, and the Limits of Sensation

Memoria ทำให้เราสัมผัสถึงการสั่นไหวที่เป็นการเคลื่อนไหวทั้งพื้นพิภพของภาพยนตร์ การยักย้ายปรากฎเป็นการเปิดออกที่เชื่อมโยงไปถึงเวลาหรือชีวิต มากกว่าเนื้อหาและพื้นที่ที่หยุดนิ่ง การสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องทำให้ภาพยนตร์มีชีวิตเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ภาพกลายเป็นความทรงจำที่อยู่ร่วมกับปัจจุบัน และการดำรงอยู่ในความเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องนี้ Memoria ทำให้เราได้พิจารณาพื้นที่ภายนอกและภายในที่ถูกเผยให้เห็นว่าเป็นเรื่องของพื้นที่ภายในที่ไม่ยึดติดกับเนื้อหาเฉพาะเจาะจง และเวลาก็ยึดกับสนามภายในซึ่งคลี่คลายในสภาวะการร่วมเวลาและความต่อเนื่องของอดีตและปัจจุบัน สนามภายในนี้เองที่เป็นพื้นที่ระหว่างอัตวิสัยและภววิสัย สนามภายในเป็นพื้นที่ที่ภาพในสถานะ “การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ” ก่อรูปก่อร่าง19Simon, Emőke. (2013). (Re)framing Movement in Stan Brakhage’s Visions in Meditation N°1

Memoria ทำให้เราสัมผัสถึงการสั่นไหวที่เป็นการเคลื่อนไหวทั้งพื้นพิภพของภาพยนตร์ การยักย้ายปรากฎเป็นการเปิดออกที่เชื่อมโยงไปถึงเวลาหรือชีวิต มากกว่าเนื้อหาและพื้นที่ที่หยุดนิ่ง การสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องทำให้ภาพยนตร์มีชีวิตเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ภาพกลายเป็นความทรงจำที่อยู่ร่วมกับปัจจุบัน และการดำรงอยู่ในความเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องนี้ Memoria ทำให้เราได้พิจารณาพื้นที่ภายนอกและภายในที่ถูกเผยให้เห็นว่าเป็นเรื่องของพื้นที่ภายในที่ไม่ยึดติดกับเนื้อหาเฉพาะเจาะจง และเวลาก็ยึดกับสนามภายในซึ่งคลี่คลายในสภาวะการร่วมเวลาและความต่อเนื่องของอดีตและปัจจุบัน สนามภายในนี้เองที่เป็นพื้นที่ระหว่างอัตวิสัยและภววิสัย สนามภายในเป็นพื้นที่ที่ภาพในสถานะ “การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ” ก่อรูปก่อร่าง

การเคลื่อนไหวระหว่างภายในภายนอกพบได้ใน Memoria ที่นำเสนอสภาวะ “ระหว่าง” อย่างต่อเนื่อง ภายในและภายนอกเคลื่อนย้ายถ่ายเทผ่านวงกลม วงกลมที่เป็นการสั่นไหวพ่นจากยานอวกาศเกิดเป็นเสียงแบบเดียวกับที่เจสสิกาได้ยิน และชายหนุ่มที่วิ่งหนีเสียงยางระเบิด วงกลมหรือรูทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างความทรงจำส่วนตัวและความทรงจำร่วม ระหว่างปัจเจกและหมู่คณะ วงกลมเป็นแรงสั่นสะเทือนจากดินแดนระบบนิเวศทุ่งหญ้าสะวันนาบริเวณตีนเทือกเขาแอนดีส ด้วยอุณหภูมิที่คงที่ และมีแสงแดด 12 ชั่วโมงต่อวันทำให้โบโกตากลายเป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้ในอุดมคติ20John McQuaid. (2011). The Secrets Behind Your Flowers. เช่นเดียวประเทศไทยที่อยู่บนเส้นรุ้งหรือละติจูด 6-10 องศาเหนือเหมือนกัน เหมือนที่อภิชาติพงศ์กล่าวไว้ในงานชุด Fireworks (2014) ว่า “เพราะอีสานมีอากาศที่ร้อน แห้งแล้ง จึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนฝัน และพยายามสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติ21Apichatpong Weerasethakul (2014). Fireworks (Archives) http://www.kickthemachine.com/page80/page22/page33/index.htm

แรงสั่นสะเทือนในอีสานถูกนำเสนอผ่านนิทรรศการ A Minor History (2021) ภาคแรก ซึ่งมี มนุพร เหลืองอร่าม เป็นภัณฑารักษ์ นิทรรศการเล่าเรื่องการตื่นจากฝันของป้าเจนด้วยเสียงระเบิดในห้องที่มีผ้าม่านสีน้ำเงิน ฝันของป้าเจนที่อาจเป็นเรื่องของหญิงสาว ชื่อราตรีและชายหนุ่มชื่อ สุรชัย แต่นั่นอาจเป็นการเล่าเรื่องภายนอกมากกว่าภายในหากเทียบกับภาคสองของนิทรรศการ ที่มันอาจเป็นการนอนไม่หลับและติดอยู่ในช่วงหลับฝัน (REM sleep) ของอภิชาติพงศ์มากกว่าจะเป็นของป้าเจน 

กล้วยไม้และชีวาณูสงเคราะห์ โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างมิติมายากลลวงตา

“หลานชายพี่หล้าอยากยา 

ถือปืนขึ้นบ้าน

ทำลายตู้เย็น ทีวี หม้อหุงข้าว 

แม่หาคนมาฆ่าลูกชายก่อนที่เขาจะยิงเธอ”

นิทรรศการภาคสองอาจเป็นการเล่าถึงความทรงจำของเขาขณะอาศัยอยู่ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ความทรงจำที่มาเป็นครั้งคราวและวูบไหล เขาพูดว่า “ทหารส่งยาบ้าต่อกันเป็นทอดทอดขึ้นดอยให้คนไท คนไทย ม้ง” เป็นที่ทราบกันดีว่าหลัง ค.ศ. 1957 พระตำหนักจิตรลดารโหฐานกลายเป็นสถานีทดลองส่วนพระองค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางการเกษตรไปยังพสกนิกรผู้ยากไร้ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาสถานีเกษตรบนพื้นสูง ด้วยมุมมองของรัฐต่อชนบนพื้นที่สูงเห็นว่าเป็นต้นเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าและเป็นภัยกับความมั่นคง ดังนั้นรัฐไทยจำเป็นต้องเข้าไปบริหารจัดการ/ปรับเปลี่ยนพื้นที่22ปกรณ์ คงสวัสดิ์. (2016). “ชีวาณูสงเคราะห์”: วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพใต้ร่มพระบารมี ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

โครงการหลวงในยุคแรกเป็นโครงการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าไปส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มชาติพันธุ์ โดยส่วนใหญ่นำองค์ความรู้จากโลกเสรีทั้งอเมริกาและไต้หวันเข้ามาใช้ บริบทตอนนั้นเป็นยุคสงครามเย็นที่รัฐต้องการปรับเปลี่ยนคนบางกลุ่มให้มาเป็นไทยในความหมายที่รัฐทางภาคกลางต้องการให้เป็น23ชลธร วงศ์รัศมี. (2017). กษัตริย์ศึกษา: ‘ดอยคำ’ วิทยาศาสตร์กับการสถาปนาอำนาจสถาบันกษัตริย์

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา ทหารและตำรวจจับกุมผู้ปลูกฝิ่นอย่างจริงจังจนทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องยอมรับกิจกรรมส่งเสริมจากโครงการ คือ การเพาะปลูกพืชเมืองหนาวมากขึ้น แม้ว่ากลุ่มลาหู่ที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้ยอมรับแนวทางปฏิบัติที่ฝ่ายส่งเสริมตั้งใจเอาไว้ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจ คือ รายได้จากการขายผลผลิตของโครงการหลวงราคาขึ้นลงเช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจทั่วไปจึงทำให้รายได้ไม่พอกับการยังชีพ ลาหู่จึงต้องรับพืชเศรษฐกิจอื่นเข้ามาเพาะปลูกเพื่อลดความเสี่ยง22

©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

ความทรงจำที่เมือง Pijao ผีที่ชายป่า โรงหนังร้าง และหญิงแกร่งผู้ขอดเกล็ดปลา 

เสียงจากกองกำลังชาตินิยมต่อต้านรัฐบาลพม่า จนถึงบ้านของอภิชาติพงศ์อำเภอแม่ริมที่ติดกับที่ตั้งกองกำลังทหาร จึงสะท้อนย้อนไปยังบ้านนาบัว และเมือง Pijao ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ถ่ายทำฉากเจสสิกาพบกับแอร์นันในวัยกลางคน เมือง Pijao เป็นเมืองทางทิศตะวันตกและเป็นหนึ่งในดินแดนที่ยากที่สุดสำหรับอาณานิคมสเปนในการยึดครอง ด้วยปราการทางภูมิศาสตร์จึงทำให้ชนพื้นเมืองเป็นอิสระจากสเปนจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 1724Frank Safford. Marco Palacios. (2001). Colombia: Fragmented Land, Divided Society (Latin American Histories) นอกจากนี้เมือง Pijao ยังเป็นที่หลบซ่อนของกองกำลังฝั่งซ้ายในทศวรรษที่ 1940 มีแผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 1999 และเกิดเหตุปล้นสะดมอาวุธในสถานีตำรวจและโรงพยาบาลโดยกองโจรในปี ค.ศ. 2001 จวบจนปัจจุบัน เมือง Pijao ก็ประสบกับภูเขาไฟที่กำลังปะทุ25Apichatpong Weerasethakul. (2021). Memoria. Fireflies Press; 1st edition เมือง Pijao จึงเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรราวหกพันคน เป็นเมืองที่ทั้งเงียบสงบและโกลาหลตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นเส้นตรง 

เรื่องเล่าของเมืองและผู้คนตัวเล็กตัวน้อยถูกถ่ายทอดผ่านแอร์นันผู้สามารถจดจำทุกสิ่งทุกอย่างได้ มันอาจเป็นเรื่องของสารพิษในดินและแม่น้ำจากเหมืองในเมืองกว่า 20 แห่ง26Helena Durán. (2016). Pijao: the “slow” town that is endangered due to mining มันอาจเป็นไกลโฟเซตตกค้างจากโครงการฝนพิษด้วยการพ่นสารเคมีทางอากาศจากกองทัพเพื่อทำลายไร่โคคาของกองกำลังฝ่ายซ้ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994-201527Kristina Lyons. (2018). Chemical warfare in Colombia, evidentiary ecologies and senti-actuando practices of justice. มันอาจเป็นความทรงจำของ Gustavo ชาวนาผู้เห็นผีโครงกระดูกในป่าแถวริมลำธารและผู้ได้เมียใหม่ในงานศพเมียของตนเอง มันอาจเป็นประวัติศาสตร์ของ Cinema Roman โรงหนังแห่งเดียวในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ที่ปิดกิจการในปี ค.ศ. 1999 Eduardo ผู้ได้มรดกเป็นคนสืบทอดโรงหนังแห่งนี้และมีน้องชายทำอาชีพนักสืบ หรือมันอาจเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดของ Martha Morales ผู้มาอยู่เมืองนี้เพื่อขายตัวและค้ายา ลูกชายของเธอถูกกองโจรฆ่าเพราะบอกที่ซ่องสุมกับตำรวจ เธอเล่าให้อภิชาติพงศ์ถึงเหตุการณ์คืนที่เธอต้องซ่อนตัวใต้เตียงกับลูกสาวตั้งแต่สองทุ่มถึงแปดโมงเช้าเพื่อหลบกองโจรที่ใช้อาวุธระเบิดควันและปืน ปัจจุบันเธอทำอาชีพขอดเกล็ดปลาและมีงานอดิเรกคือการเย็บปักถักร้อย25

ชายผู้อ่อนไหวกับทุกสิ่ง อาการหวาดกลัวความเจ็บปวดที่ Amygdala และจุดสีขาวที่ธาลามัส

แอร์นันในวัยกลางคนกลายเป็นผู้รับรู้ความทรงจำจากสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างล้นเกิน รายละเอียดของทุกโมงยามของอดีตแล่นผ่านการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เขาจึงหลีกเลี่ยงการเดินทางไปไหน อภิชาติพงศ์สนใจสภาวะดังกล่าวที่มีชื่อเรียกว่า Hyperthymesia (hyper- แปลว่าล้นเกิน และ thymesis แปลว่าการจำได้) หรือ highly superior autobiographical memory (HSAM) มีเพียง 60 คนบนโลกนี้เท่านั้นที่มีสภาวะนี้ เมื่อสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในคนที่มีภาวะ HSAM พบว่ามีการจัดเรียกตัวของเส้นประสาทในสมองส่วนลิมบิกเปลี่ยนแปลงไปเทียบจากคนทั่วไป28Sarah Daviddi. (2022). Altered Hippocampal Resting-state Functional Connectivity in Highly Superior Autobiographical Memory. พวกเขาสามารถจดจำรายละเอียดของอดีตได้ราวกับมันเกิดขึ้นในปัจจุบัน 

แอร์นันกลายเป็นเพศชายที่อ่อนไหวกับสรรพสิ่งรอบตัว เหมือนกับอิฐ นายทหารที่ล้มป่วยด้วยโรคปริศนาซึ่งทำให้เขาเข้าสู่นิทราได้ตลอดเวลา ใน Cemetery of Splendor (2015) แต่เมื่อเขาตื่นขึ้นและได้นั่งทานอาหารกับป้าเจนที่ตลาดโต้รุ่งรื่นรมย์ เขาบอกกับป้าเจนว่า “ผมได้กลิ่นชัดมากเลย กลิ่นซีอิ้วดำ น้ำตาล ผมได้กลิ่นอาหารทั้งตลาดนี้เลย แสงไฟผมยังรู้สึกถึงอุณหภูมิแสงด้วย ผมยังได้กลิ่นดอกไม้ตอนที่ผมฝันด้วย” ป้าเจนตอบว่า “นั่นเป็นคุณสมบัติที่ดีของการเป็นทหาร” หรืออาจเป็นเด็กปริศนาใน Mysterious Object at Noon (2000) ที่มาจากวัตถุทรงกลมซึ่งหลุดออกจากกระเป๋ากระโปรงครูดอกฟ้า เด็กที่มาจากดาวผู้บอกว่า “ผมไม่เป็นไร ผมอยู่เฉยๆ ผมรู้เหตุรู้ต้นรู้ปลาย ผมรู้ว่าใครคือพ่อแม่พี่น้องของผม แต่ผมอยู่กับพวกเขาไม่ได้ จึงมาอาศัยอยู่ในวัตถุทรงกลมนี้” ราวกับว่าเขาจดจำได้ทุกสิ่งหรือระลึกชาติได้ 

“อาจารย์อ้อยอารยา 

บอกว่า เพราะฉันกลัวความเจ็บปวด”

การรับรู้ความรู้สึกผ่านความทรงจำของสิ่งเล็กสิ่งน้อยดูจะเป็นด้านตรงข้ามกับชายชาติทหารหรืออำนาจองค์อธิปัตย์ที่ต้องเป็นสิ่งสูงส่งและหลุดลอยจากมนุษย์ สังคมที่อยู่ภายใต้รัฐจึงไม่อนุญาตให้เรารู้สึกแม้แต่ความเจ็บปวด Byung-Chul Han เสนอว่า เรากลายเป็นรู้สึกหวาดกลัวความเจ็บปวด (universal algophobia) เราไม่สามารถที่จะคิดทบทวนความเจ็บปวดได้ซึ่งปิดโอกาสในการวิพากษ์ชีวิตทางการเมือง การหวาดกลัวความเจ็บปวดทำให้เราแสวงหาวิธีการในการช่วยลดความเจ็บปวดในการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย (palliative care) ซึ่งเป็นการปิดบังความเจ็บปวดไว้ และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าความจริงของปัญหา หากเราไม่อาจรู้สึกเจ็บปวดก็ไม่อาจมีการปฏิวัติได้ เราไม่สร้างประวัติศาสตร์ของตนเองได้ จุดเริ่มต้นของการห่วงใย (care) จึงเป็นเรื่องของการสัมผัส (touching) ซึ่งเป็นวิธีการของการแลกเปลี่ยนความเจ็บปวดระหว่างบุคคลและนำไปสู่การปฏิวัติ Han ย้ำว่าเราต้องการสังคมและการเชื่อมโยงนอกจากสังคมออนไลน์อย่างยิ่ง29Clinton Williamson. (2022). The Limits of Understanding the Pandemic Philosophically.


จบตอน 1

อ่านต่อตอน 2 : ท่วงท่าของความทรงจำ: การปรับและรับรู้สมดุลของแรงสั่นสะเทือนจากโคลอมเบียถึงไทยใน Memoria (2)

ฝันของคนทำ “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” : รู้จัก “Lorem Ipsum” ภารกิจพาหนังหลากหลายสู่สายตาคนหาดใหญ่

“หนังดีไม่มีฉาย อยากได้ต้องจัดเอง” เป็นความจริงที่ฟังดูน่าขมขื่นใจสำหรับคนชอบดูหนังในพื้นที่ห่างไกลเมืองหลวง ค่าที่แม้อาจมีโรงหนังมากมาย ทว่าบนลิสต์หนังที่โรงเหล่านั้นฉาย กลับไม่มีทางเลือกมากพอจะตอบสนองความสนใจอันหลากหลายของคนดู

แต่ท่ามกลางความขาดไร้แบบนี้ ก็เป็นอย่างที่เขาว่ากัน – ความขาดแคลนนำมาซึ่งความสร้างสรรค์ และความสร้างสรรค์ผลักดันจนเกิดการลงมือทำ

Lorem Ipsum คำที่ปรากฏอัตโนมัติในโปรแกรมดีไซน์เมื่อคุณคลิกเตรียมพิมพ์อะไรสักอย่าง กลายมาเป็นชื่อ “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” แห่งหาดใหญ่อันเป็นสถานที่ที่ Film Club อยากขอแนะนำให้คุณได้รู้จักเป็นแห่งแรกสำหรับสกู๊ปนี้

พวกเขาคือสถานที่ทางวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและความเคลื่อนไหว เราชวน ต้น–พรชัย เจียรวณิช มาเล่าให้ฟังว่าคิดอะไร ต้องต่อสู้กับอะไร และเขาฝันถึงอนาคตแบบใดต่อ

“สถานที่ตั้งของ Lorem Ipsum อยู่บริเวณถนน นิพัทธ์อุทิศ 1 (สาย1) ใจกลางเมืองหาดใหญ่ โดยข้างล่างเป็นคาเฟ่ ขายกาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ และขนม ส่วนข้างบนเป็นห้องฉายขนาดเล็ก (มีแอร์) จุผู้ชมได้ประมาณ 25 ที่นั่ง

ลักษณะของสเปซเป็นตึกเก่าแก่าอายุกว่า 100 ปี โดยเราเลือกตึกนี้เพราะถนนเส้นนี้ถือว่าเป็นถนนสายแรกของเมืองหาดใหญ่ ซึ่งสมัยก่อนมีความคึกคักทางการค้าขายมากๆ แต่หลังจากการเข้ามาของธุรกิจออนไลน์ก็ทำให้ร้านค้าต่างๆ บนถนนเส้นนี้ค่อยๆ ปิดตัวไป เราเลยอยากทำให้ถนนเส้นนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง”

“เดิมทีกลุ่มเราไม่ได้มีสถานที่ฉายหนังเป็นของตัวเอง แต่จะใช้วิธีไปตระเวนเช่าสถานที่ต่างๆ เพื่อทำการจัดฉายหนัง ทำแบบนี้มาราว 3 ปี ซึ่งบางครั้งก็จะมีปัญหาเมื่อสถานที่จัดฉายไม่ว่างในวันเวลาที่เราต้องการ ทำให้ต้องหาสถานที่ใหม่จนสร้างความสับสนแก่คนดูบ้าง รวมไปถึงบางสถานที่ก็ไม่ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับดูหนังซึ่งอาจทำให้เสียอรรถรสในการดู เราเลยเกิดความคิดอยากจะทำสถานที่ฉายหนังของตัวเองขึ้นมา

พอได้มีโอกาสทำสเปซตรงนี้ เราตั้งเป้าหมายจะนำหนังที่ไม่ได้เข้าฉายในหาดใหญ่ มาฉายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสามารถจัดฉายหนังอย่างต่อเนื่องได้ทุกอาทิตย์ รวมถึงสามารถมีจำนวนรอบฉายต่อเรื่องที่มากขึ้น”

“อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราทำมาตั้งแต่แรกๆ และคิดว่าจะทำมันต่อไปเรื่อยๆ คือการพูดคุยระหว่างคนดูด้วยกันเองหลังหนังฉายจบ เพราะเราอยากสร้างวัฒนธรรมการพูดคุยตรงนี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งคนดูส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างชอบ และคิดว่าจุดนี้ก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนเลือกออกมาดูหนังที่สเปซเรา มากกว่าจะดูอยู่ที่บ้านหรือจากที่อื่น”

“นอกจากอยากให้เป็นสเปซที่จัดฉายหนังอย่างต่อเนื่องแล้ว เรายังอยากให้มันเป็นพื้นที่สำหรับการเผยแพร่ศิลปะแขนงอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะศิลปินหรือคนในพื้นที่ที่อยากแสดงผลงาน เราเคยจัดแสดงทั้งภาพวาดสีน้ำมันของศิลปินในพื้นที่, ภาพถ่ายสตรีทของช่างภาพอิสระในพื้นที่ รวมไปถึงทดลองจัดงานเต้นสวิงแดนซ์เล็กๆ และนำดนตรีแจ๊ซมาเล่นในสเปซแห่งนี้”

“ส่วนหนึ่งต้องบอกว่าโชคดีที่เรามีแนวร่วมของคนที่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงๆ ในเมืองหาดใหญ่ จึงเกิดการร่วมลงทุนทำสเปซนี้ให้เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่าการทำแบบนี้ค่อนข้างมีความเสี่ยงระดับหนึ่งเลย

จากประสบการณ์ที่เราเคยจัดฉายหนังในพื้นที่มาสักระยะ ทำให้เรียนรู้ว่ารายได้จากการฉายหนังอย่างเดียวนั้นไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำสเปซ ค่าเช่าที่ และค่าใช้จ่ายอื่นๆได้ จึงคิดว่าต้องมีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามาหล่อเลี้ยงด้วยเพื่อให้สามารถจัดฉายหนังได้ต่อเนื่อง เราจึงเกิดความคิดที่จะทำคาเฟ่ขึ้นมาอยู่ภายในสเปซแห่งเดียวกัน (โดยเราเห็นโมเดลนี้จากโรงหนัง ที่รายได้ส่วนใหญ่เกิดจากการขายขนมเครื่องดื่มมากกว่าการขายตั๋วหนัง)”

“แม้ยุคปัจจุบันจะมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ คาเฟ่ต่างๆ เปิดแทบรายวัน แต่คิดว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้คาเฟ่เราแตกต่างจากที่อื่นๆ ก็คือเรามีจัดกิจกรรมในสเปซอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการฉายหนังก็ถือเป็นหนึ่งในจุดขายหลักที่สามารถดึงคนให้เข้ามา ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในสเปซได้”

“ตลอดเวลาที่ได้จัดฉายมา สิ่งที่ประทับใจมีสองส่วนหลักๆ หนึ่งคือ คำขอบคุณ กำลังใจ ที่คนดูมอบให้ทางทีมจัดฉาย หลายๆ คนมาดูหนังเกือบจะทุกเรื่องที่เราจัด หลายคนช่วยกันชักชวน บอกต่อให้คนรู้จักมาดูหนังกันมากขึ้น มีคำขอบคุณหนึ่งจากน้องที่มาดูหนัง ว่า ‘ขอบคุณที่เอาหนังเหล่านี้มาฉายให้ได้ชมกัน หนังแต่ละเรื่องช่วยส่งเสริมความรู้และเปิดโลกให้น้องมากๆ ถ้าไม่มีพวกพี่ๆ คงไม่มีใครมาทำอะไรแบบนี้ในสังคมทุนนิยมแบบนี้แน่นอน’ แม้จะเป็นคำขอบคุณสั้นๆ แต่ก็สร้างความประทับใจและทำให้ทีมมีกำลังใจทำต่อไป

สองคือ ความประทับใจที่ได้จากการพูดคุยหลังจากหนังฉายจบ มันทำให้เราได้เห็นภาพที่ยากจะเห็นได้ในยุคนี้ อย่างที่เราทราบกันดีว่า ยุคนี้เรื่อง Generation Gap เป็นปัญหาที่พบเจอในทุกสังคม ทำให้เกิดช่องว่างในเรื่องของการพูดคุยร่วมกัน แต่ในการพูดคุยหลังหนังฉายจบ เราสามารถเห็นเด็กและผู้ใหญ่นั่งพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในหนัง แม้จะมีความคิดเห็นต่างกันบ้าง แต่เราก็ได้เห็นภาพผู้ใหญ่รับฟังความคิดเด็ก และเด็กก็ได้รับฟังมุมมองของผู้ใหญ่ โดยมีหนังที่เราฉายเป็นตัวกลาง”

“หลังจากเปิดสเปซนี้มาได้เป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่ง มันก็สามารถไปได้ในทิศทางที่เราคาดไว้ คือนอกจากการจัดกิจกรรมฉายหนังแล้ว เรายังให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพ เครื่องดื่มและขนมด้วย จึงทำให้มีรายได้ในส่วนของคาเฟ่เรื่อยๆ แม้อาจมีช่วงที่ดร็อปลงไปบ้างจากสถานการณ์โควิด แต่การที่เราเลือกลงทุนในเบื้องต้นไม่สูงจนเกินไปก็ทำให้เราพอจะประคับประคองจนผ่านพ้นมาได้ และค่อยๆ พัฒนาปรับปรุงไป

ผมจึงอยากจะแนะนำสำหรับใครที่สนใจทำสเปซแบบนี้ว่า ให้ค่อยๆ เริ่มจากการหาสถานที่ทดลองจัดฉายสเกลเล็กๆ ก่อน เพื่อจะรู้ว่าในพื้นที่ตรงนั้นมีคนให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน เมื่อเห็นจำนวนเฉลี่ยคร่าวๆ แล้วค่อยหาสถานที่ที่เหมาะสมกับจำนวนคนดู หรือถ้าจะสร้างสเปซสำหรับฉายหนังเองเลยก็อยากให้เริ่มต้นจากเล็กๆ ก่อนเช่นกัน ถ้ามันเติบโตได้จึงค่อยขยับขยายในภายหลัง น่าจะดีกว่าที่ทำสเกลใหญ่แล้วต้องแบกต้นทุนสูงเกินไปซึ่งจะทำให้มันล้มได้ง่าย

และท้ายที่สุด ผมอยากเห็นทุกจังหวัดในประเทศไทยมีอะไรแบบนี้ อาจไม่ต้องถึงขนาดทำสเปซเป็นของตัวเองก็ได้ แต่แค่มีคนในแต่ละพื้นที่รวมกลุ่มกัน ช่วยขับเคลื่อน จัดกิจกรรมต่างๆ ให้ศิลปะมีพื้นที่จัดแสดง ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำให้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น และต่อยอดให้กับศิลปินหรือคนในแวดวงต่อไปในอนาคตครับ”

Where Is the Friend’s Home? (Iran, 1987, Abbas Kiarostami)

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเพื่อนคนหนึ่งสมัยเรียน ป.1 ครับ ซึ่งโรงเรียนที่ผมเรียนอยู่ตอนนั้นใกล้บ้านมากคือแค่มองจากฝั่งรั้วโรงเรียนก็เห็นหลังคาแล้ว ทีนี้มีวันหนึ่งก็ได้ยินเสียงเคาะประตูหลังบ้าน พอเปิดรับถึงได้พบว่ามีเพื่อนมาเยี่ยม พูดด้วยเสียงสั่นๆ ปนเหนื่อยหอบ ‘หม่ะ-โน๊-ธั่ม-ๆ-ลืม-คัด-ไทย-ไว้-ที่-โรง-เรียน’

โถ ตกลงวีรกรรมของเพื่อนวันนั้นที่นอกจากยังสำนึกในบุญคุณไม่รู้ลืมแล้ว เรื่องของ (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ‘ปิยะชาติ’ วันนั้น ตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมายังมีผลตามมาอีกยาวไกลตามมาอีกตลอดชีวิต คือทุกครั้งเวลาลืมนู่นลืมนี่ หน้าของเพื่อนปิยะชาติจะลอยเข้ามาแม้ในตอนนั้นเราก็รับไว้ด้วยความขอบคุณ แต่อยากจะบอกว่าจริงๆ แล้ว สมุดเล่มนั้นเราใช้จนหมดเล่มแล้ว ขี้เกียจใส่กระเป๋ากลับบ้าน ก็เลยทิ้งมันไว้ใต้โต๊ะอย่างนั้นแหละ ความสำคัญอยู่ที่มีแรงผลักอะไรที่ทำให้ ‘ปิยะชาติ’ ต้องหอบตัวโยนมาหาถึงบ้าน (เรียกให้เข้ามาเล่นก็ไม่เข้า, ด้วยมั้ง) 

ผลจากเย็นวันนั้น ตกลงจบลงด้วยความปลื้มปิติแน่นอนครับ แม้ว่ายังมีตะกอนตกค้างอีกยาวไกล คือคนหนึ่งเก็บไว้เป็นภาพจำ (ทุกๆ ครั้งเวลาลืมของ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริง ก็เปล่าลืมด้วยซ้ำ, 555) ส่วนอีกคน ถ้าอับบาส เคียรอสตามีไม่มาติดต่อทาบทามขอเอาไปสร้างเป็นหนัง (ปิยะชาติ)ก็คงส่งสัญญาณทิพย์ไปถึงประเทศอิหร่าน กลายเป็นตัวละครหลักในหนัง (ที่แม้จะเก่า ต่อให้เป็นเวลาที่กำลังสร้าง วันเวลาของช่วงวัยเด็กก็ผ่านพ้นไปเนิ่นนานหลายปีแล้ว) ทว่าใกล้ตัวจนรู้สึกได้ถึงความรู้สึกของเพื่อนในเวลานั้น

แม้เรื่องราวระหว่าง ‘ปิยะชาติ’ และ ด.ช.อาหมัดในหนังจะมีความใกล้เคียงกันมาก แต่ก็มิได้มีตอนจบที่เหมือนกันแน่นอนครับ (ฉะนั้นตัดเรื่องสปอยล์ทิ้งไปได้) สำคัญที่มีอะไรมาหลอกหลอน(ปิยะชาติ)ให้ต้องเอาสมุดเล่มนั้นมาคืนให้ถึงบ้าน กับสอง เมื่อ(ปิยะชาติ)คืนสมุดให้แล้ว เจ้าตัวรู้สึกอย่างไร (โล่งกาย + สบายใจ + หมดภาระกูแล้ว เหมือนได้ทำความดี) แล้วสมมติว่าถ้าเปลี่ยนสมุดแบบฝึกหัด (สมมติคัดลายมือภาษาฟาร์ซีของอิหร่านก็ได้) เป็นอย่างอื่นแทน ค่าของสมุดก็มองได้ยาวไกลเกินกว่าเอากระดาษมาเย็บเป็นเล่มๆ หลายเท่าเป็นแน่

ยุคหนึ่งหนังอิหร่าน (จะเรียกว่าเพื่อการส่งออกจะได้มั้ย) มักมีลีลาการเดินเรื่องและวิธีนำเสนอเหมือนชวนคนดูร่วมเล่นเกมที่พบเห็นได้บ่อยเวลาจัดสัมมนาหรือทำกลุ่มสัมพันธ์ (ประเภทเดินมินิมาราธอน) ที่มักเดินภายใต้โจทย์หรือกติกาบางอย่างซึ่งกว่าจะบรรลุเป้าหมาย มักมีการให้ผ่านด่านสิบแปดก่อน และโดยมากชอบใช้ตัวละครเด็ก ทีนี้ด้วยวัยขนาดน้องอาหมัดมักหัวอ่อน, เชื่อฟัง, อยู่ในโอวาท และกระตือรือร้นที่จะทำความดี ซึ่งจะทำให้ ‘สมุด’ เล่มเดียวจะมีค่าเกินกว่าที่เห็นด้วยตาแน่ๆ อย่างน้อยก็ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าให้คุณให้โทษอย่างไร ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวกระดาษ เพราะสิ่งที่คนอื่นเห็นก็คงเป็นแค่สมุดการบ้านธรรมดา แต่สำหรับอาหมัด (หรือเจ้าเนมัทห์ซาเดห์’, ตัวเจ้าของ) ค่าของสมุดเล่มเดียวอาจครอบคลุมเกินกว่าที่ชาวบ้านในละแวกจะเข้าใจหรือแลเห็นคุณค่าของมัน

บางที สิ่งหนึ่งที่คาดว่าถูก(อับบาส)นำ ‘สมุดการบ้าน’ มาใช้วิพากษ์บางอย่างที่ไกลกว่านั้นอย่างซ่อนรูปและแยบยล จนผกก.อับบาสรอดพ้นจากการการตรวจจับโดยเรดาร์ขององค์กรทางศาสนา สมมติว่าสมุดและเส้นทางการดั้นด้นเพื่อหาเจ้าของ ล้วนแล้วแต่ใกล้เคียงกับมรรควิธีเพื่อการค้นพบความจริงบางอย่างซึ่งถ้าสำหรับด.ช.วัยแปดขวบอย่างอาหมัดจะมีความยิ่งใหญ่มาก แม้การแสวงหาความจริงจะสิ้นสุดลงด้วยเวลาเพียงหนึ่งวัน (หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย) นั่นคือ(อาหมัด)ออกค้นหาบ้านเพื่อน(เนมัทซาเดห์)ด้วยศรัทธาล้วนๆ นั่นคือ มีทั้ง goal, objective ซึ่งขับเคลื่อนโดย ‘Faith’ ภายใต้ความเชื่อ (believe) นั่นคือบ้านของเนมัทซาเดห์ต้องมีอยู่จริง และ(ต้อง)ตั้งอยู่ในแถบปอชเตห์ (Poshteh) แน่ๆ เลย

นั่นคือเส้นทางของอาหมัดอาจมองดูเล็กน้อย แต่ถ้าขยายสเกลออกนิดเดียว มันก็จะเข้าไปใกล้มหากาพย์โอดิสซีหรือไม่ก็เส้นทางสู่ชมพูทวีปใน ‘ไซอิ๋ว’ แต่เปลี่ยนปีศาจอสุรกายมาเป็นตัวขัดขวางเส้นการเดินทาง (สู่ปอชเตห์ เพื่อตามหาบ้านเพื่อนเนมัทซาเดห์ซึ่งได้ยินข้อมูลที่ทั้งหลวมแและลอยว่าเป็นแถวนั้นละแวกนั้นแน่) มาเป็นป้าๆ ข้างทางที่ทำผ้าที่ตากไว้ตกลงมาลงพื้น นั่นคืออาหมัดออกเดินทางด้วยความมุ่งมั่น ด้วยเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวแบบรวมศูนย์ ครั้นเริ่มออกเดิน(เท้า) ไม่ทันไร ก็มักพบตัวแปรที่มีแต่จะแยกอาหมัดให้เฉไฉออกนอกเส้นได้เกือบตลอดทางซึ่งมีความหลากหลาย

นั่นคือชุดข้อมูลที่มีอยู่ มีความรัดกุมพอหรือยัง เพราะลำพังรู้แค่บ้านอยู่ละแวกปอชเตห์อย่างเดียว คงช่วยอะไรอาหมัดไม่ได้มาก จนแทบจะเหมือนไม่ได้ช่วยอะไรเอาเลย การได้พบร่องรอยบางอย่างที่พอจะชี้ไปถึงตัว ‘เนมัทซาเดห์’ ได้ ไม่ว่าจะเป็นกางเกง (ต่อให้มีขนาดเข้ากับเด็กชายวัยเดียวกัน), การได้พบกับนายช่างทำหน้าต่างเหล็กซึ่งก็ชื่อ ‘เนมัทซาเดห์’ ตรงกันเสียอีก ในแง่หนึ่งรายละเอียดเหล่านี้ น่าจะไม่ต่างอะไรกับ ‘ความหวัง’ (hope) ซึ่งจูงใจให้คนที่เชื่ออยู่แล้ว เพิ่มแรงศรัทธาให้แก่กล้าเข้าไปอีก จนกระทั่งพบว่า ร่องรอยที่ว่า(ซึ่งบังเอิญแม็ทช์กับข้อมูล) ล้วนแล้วแต่เป็นกระแสลวงให้หลง(ทาง)ตลอด

ที่น่าสังเกตอีกอย่าง คงเป็นเรื่องของการให้เรื่องราวไปเกิดในวันหยุด (ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นวันอาทิตย์กับเขาด้วยหรือเปล่า) ซึ่งคาดว่าเป็นเวลาซึ่งถ้าเป็นคนอื่นที่เขามีศรัทธาและเชื่อ(ว่าพระเจ้ามีจริง, ถ้าเชื่อในพระเจ้า แล้วจะมีชีวิตที่นิรันดร์ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์, อะไรก็ว่าไป) วันวันเดียวกันก็น่าจะเป็นช่วงเวลาของการประกอบศาสนพิธีตามความเชื่อ แต่สำหรับด.ช.อาหมัด วันวันเดียวกันคือวันแห่งการวิ่งๆๆๆ และวิ่งเพื่อค้นหาล้วนๆ เพราะลำพังการแค่ได้ยื่น(สมุด) ให้ถึงมือเนมัทซาเดห์ได้ ก็แปลว่าเพื่อนก็จะปลอดภัย + ไม่ต้องโดนครูทำโทษหรือเฆี่ยนตี ซึ่งการจะไปให้ถึงหลักและหมุดหมาย เพื่อการหลุดพ้นและไถ่ถอนบาป คือสิ่งที่ทำได้หรือเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน 

ไม่เถียงครับว่าบ้านของเนมัทซาเดห์ (เพื่อน) อยู่ในละแวกปอชเตห์จริง แล้วก็ลุงช่างทำหน้าต่างเหล็กก็ใช้นามสกุลเนมัทซาเดห์เหมือนกัน ซึ่งแทนที่จะพาด.ช.อาหมัดเข้าไปใกล้สัจธรรม ความจริง หรืออะไรก็ตามที่มีความสูงส่งยิ่งกว่านั้น ทว่ากลายเป็นตัวแปรที่ยิ่งมีแต่จะฉุดรั้งให้อาหมัดห่างไกลการหลุดพ้นหรือแม้แต่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้กระทำความดี และด้วยความมุ่งมั่นที่มีต่อความเชื่อในศรัทธาก็ได้กลายมาเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจ (distraction) ให้ไกลจากลู่ทางเข้าทุกที (สมมติว่าคำกล่าวอ้างของเนมัทซาเดห์ที่ว่ามีบ้านอยู่ละแวกปอชเตห์เป็นแค่ข้ออ้างของการมาโรงเรียนสาย เนื่องจากตั้งอยู่ในที่ห่างไกล ข้อมูลที่อาหมัดรับมาก็กลายเป็นข้อมูลเท็จ) ฉะนั้นข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันก็อาจเปลี่ยนเป็น ‘สิ่งยั่วยุ’ (temptation) ให้คนหลงทางหรือเดินทางผิดในทันที ตกลงจะเหลืออะไรให้ผ้าขาวอย่างอาหมัดมีศรัทธาอะไรได้อีกบ้าง เริ่มตั้งแต่สมุดที่ถือไว้กับมือ ก็พลันถูกฉีกออก ตามคำขอของพวกลุงๆ เพื่อใช้ร่างสัญญาทำหน้าต่าง ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่จริงจริงในย่านปอชเตห์มีแต่เส้นทางที่สลับซับซ้อน ประกอบกับเมื่อไปถึงที่หมายก็มืดค่ำลงเรื่อยๆ แล้วไหนอาหมัดยัง (ทั้งหลงทั้ง)เชื่อยอมเดินตามลุงแปลกหน้าอีกซึ่งในใจก็อดไม่ได้ที่จะพลั้งเผลอออกมาว่าไม่นะๆๆๆ

แม้บทสรุปจะจบลงด้วยคำพูดในใจ(อีกเช่นกัน)ว่า ‘นิสัยฯ’ การบอกเล่า (ที่เกือบจะเทียบได้กับ ‘คำสั่งสอน’) กลายเป็นชุดข้อมูลที่ขาดการพิสูจน์ยืนยันหรือแม้แต่มีความน่าเชื่อถือ แก่คนที่พร้อมจะปฏิบัติตามด้วยศรัทธาว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาคือความจริง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็เท่ากับว่างานนี้อับบาสได้ปรุงแกงหม้อใหญ่พร้อมเสิร์ฟ ทว่าเนียนเสียจนถึงรู้ ก็ไม่มีใครเอาผิดเอาความและที่สำคัญ ผกก.อับบาสก็มิได้เจาะจงด้วยว่า ถ้ากำลังหมายถึงศาสนาจริง ศาสนาที่ว่าคือศาสนาอะไร เนื่องจากโมเดลเดียวกันยังมองได้ทั้งกว้างและครอบคลุม จนยากที่จะชี้นิ้วระบุตัวตนได้อย่างถนัดชัดเจน

กระแสตีกลับเมื่อ “ดิสนีย์” ปิดปากเงียบไม่ต่อต้านร่างกฎหมาย “Don’t Say Gay”

8 มีนาคมที่ผ่านมา สภารัฐฟลอริดาได้ผ่านร่างกฎหมาย Parental Rights in Education หรือที่เรียกกันให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ร่างกฎหมาย “Don’t Say Gay” ซึ่งอื้อฉาวตรงที่มีอยู่วรรคหนึ่งระบุว่า “ห้ามไม่ให้ครูแนะนำเรื่องเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศแก่เด็กนักเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงเกรด 3” แถมยังมีการกำหนด “อายุขั้นต่ำที่เหมาะสมจะรับข้อมูลเรื่องนี้” กับเด็กเกรดอื่นอีกด้วย

ลำพังตัวกฎหมายก็ชวนวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว แต่มันยิ่งกลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เมื่อบริษัทดิสนีย์ซึ่งมีสวนสนุกใหญ่โตสำหรับเด็กและพนักงานหลายพันคนอยู่ที่ฟลอริดากลับมีปฏิกิริยาเงียบสนิท ไม่มีทีท่าจะออกมาต่อต้านร่างกฎหมายนี้ (เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนชุมชน LGBTQIA+) เลย แถมยังมีสื่อแฉว่าดิสนีย์บริจาคเงินให้แก่กลุ่มนักการเมืองที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวอีกต่างหาก (แม้ บ็อบ ชาเป็ค CEO ดิสนีย์จะปฏิเสธโดยบอกว่าสนับสนุนทั้งสองฝ่าย และเคยบริจาคเงินให้องค์กร LGBTQIA+ ต่างๆ ถึง 3 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมาด้วย)

สาเหตุที่ดิสนีย์ถูกเพ่งเล็งก็เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาพยายามชูจุดขายว่าคอนเทนต์ของตนสนับสนุนความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ผ่านผลงานเก๋ๆ อย่าง Pose, Encanto, Black Panther, Modern Family และ Love, Simon แต่หลังจากเกิดกรณีกฎหมายข้างต้น ก็ทำให้หลายคนย้อนกลับมาพิจารณาว่าจริงๆ แล้วผู้บริหารดิสนีย์มีความจริงใจกับเรื่องนี้แค่ไหน เพราะมีข้อมูลว่าหลายครั้งที่ตัวละครดังๆ ของค่ายเกือบจะถูกนำเสนอว่าเป็น “เควียร์” แต่กลับถูกผู้บริหารสั่งเบรกไว้ซะก่อน (ตัวอย่างชัดที่สุดคือ เจ้าหญิงเอลซาใน Frozen 2) และก็น่าจะยังมีอีกหลายกรณีที่เราไม่เคยได้ยินข่าว ดังที่กลุ่มพนักงาน LBGTQIA+ ของพิกซาร์และพันธมิตรกล่าวในแถลงการณ์ฉบับล่าสุดที่ว่า

“พวกเราที่พิกซาร์เคยเห็นผลงานที่มีเรื่องราวงดงามและเต็มไปด้วยตัวละครหลากหลาย ซึ่งถูกตีกลับมาจากผู้บริหารดิสนีย์ แบบที่ถูกขยี้เป็นผงไม่เหลือเค้าเดิม” และ “พวกเขาห้ามไม่ให้เราสร้างคอนเทนต์ LGBTQIA+ ทั้งๆ ที่หากเราทำ มันอาจส่งผลถึงขั้นช่วยให้เกิดการแก้กฎหมายเลือกปฏิบัติต่างๆ บนโลกใบนี้ได้เลยก็ตาม”

แถลงการณ์ฉบับนี้เรียกร้องให้ดิสนีย์ถอนการสนับสนุนทางการเงินแก่นักการเมืองที่โหวตให้ร่างกฎหมาย “Don’t Say Gay” และออกมายืนหยัดเคียงข้างคนอื่นในประเทศด้วย ขณะที่สมาคมแอนิเมชั่น (The Animation Guild) ก็แสดงความเห็นผ่านแถลงการณ์ว่า “นี่คือการก้าวพลาดครั้งใหญ่ของผู้บริหารดิสนีย์ มันท้าทายหลักการและจรรยาบรรณของบริษัทอย่างที่สุด”

นอกจากนั้นยังมีข่าวด้วยว่า ดิสนีย์คิดจะบริจาคเงิน 5 ล้านเหรียญแก่ Human Rights Campaign (HRC – เป็นองค์กรด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา) แต่ทาง HRC แถลงว่าจะไม่รับเด็ดขาด จนกว่าดิสนีย์จะแสดงออกว่ามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับกลุ่ม LGBTQIA+ จริงๆ เพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายอันตรายฉบับนี้จะไม่ผ่านและถูกประกาศใช้

“วันนี้เราได้เห็นว่า ‘การเลือกปฏิบัติ’ ได้ขยายอาณาเขตเข้ามาในนโยบายรัฐแล้ว มันจะทำให้เราพูดถึงครอบครัวที่มีสมาชิกเป็น LGBTQ ไม่ได้ มันจะนำไปสู่การแบนหนังสือ ไปจนถึงการต่อต้านประเด็นเกี่ยวกับการป้องกันการคุกคามทางเพศ ความปลอดภัยในที่ทำงาน ความหลากหลาย และความเท่าเทียม” HRC กล่าว

หลังจากโดนกระแสต่อต้านหนัก ล่าสุดชาเป็คกล่าวว่า เขาโทรหานายกเทศมนตรีฟลอริดาเรียบร้อยแล้วเพื่อแสดงความผิดหวังและความกังวลหากร่างกฎหมายนี้ได้บังคับใช้จริง โดยนายกฯ ได้รับทราบและตกลงจะพบกับเขาและทีมงาน LGBTQIA+ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับข้อกังวล อย่างไรก็ตาม ชาเป็คไม่ได้พูดว่าดิสนีย์จะขอให้นายกฯ ไม่ลงนามในร่างกฏหมาย หรือประกาศว่าดิสนีย์จะเลิกมอบเงินบริจาคให้กับกลุ่มนักการเมืองที่โหวตให้ร่างกฎหมายนี้แต่อย่างใด จึงยังต้องจับตาต่อไปว่าบทสรุปของความขัดแย้งจะลงเอยแบบไหนกันแน่

ปากคำของคนทำหนังยูเครนกลางไฟสงคราม …ที่บางคนจำจาก บางคนอยากอยู่

สงครามในยูเครนที่ต่อเนื่องมาจนครบสัปดาห์กระทบกระเทือนชีวิตคนยูเครนจำนวนมาก และนั่นรวมถึงคนทำหนัง การถ่ายหนังไม่จบหรือออกไปถ่ายหนังไม่ได้กลายเป็นเรื่องรองเมื่อพวกเขาต้องเอาตัวรอด คนทำหนังยูเครนหลายคนที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาท่ามกลางสงครามที่ร้อนระอุ บางคนหนีออกมา บางคนอยู่ต่อ เหล่านี้คือเสียงที่ร้องเรียกให้คนข้างนอกยื่นมือเข้าไป หรืออย่างน้อยก็เพียงไม่ลืมพวกเขา

จากฝั่งที่หนีออกมา เอเลนา รูบาเชฟสกา (Elena Rubashevska) คนทำหนัง นักข่าว และนักวิจารณ์หนัง กำลังสำรวจโลเคชันหนังเรื่องใหม่ที่ดอนบาส จุดศูนย์กลางข้อพิพาทและพื้นที่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียสนับสนุน เธอตื่นด้วยเสียงจรวดมิสไซล์ตอนเช้ามืดและหนีลงไปยังชั้นใต้ดิน ก่อนจะเสียเวลาหลายชั่วโมงหารถไปเคียฟ เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าแผนของรัสเซียคือถล่มทั้งประเทศ พอไปถึงก็พบว่าที่สถานีรถไฟคนอัดกันจนเดินไม่ได้ และบนรถไฟก็แน่นจนหายใจไม่ออก จากรถไฟ เธอต่อรถบัสและถูกบอกให้ลงเกลางทางเพราะไม่มีเอกสารติดตัว

“พวกเราต้องเดินกันหลายกิโลฯ อากาศหนาวและไม่มีห้องน้ำระหว่างทาง พวกเราเดินต่อกันเป็นแถว อาสาสมัครจากหมู่บ้านข้างๆ เอาผ้าห่มและชาร้อนมาให้ แม้มันจะไม่มีทางเพียงพอ เพราะพวกเรามีกันเป็นพันคน”

อิรีนา ทซิลีก (Iryna Tsilyk) ผู้กำกับสารคดี The Earth Is Blue as an Orange (2020) ที่ได้รางวัลกำกับสารคดียอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ และคนทำหนังที่ติดแบล็กลิสต์ของรัสเซีย เลือกที่จะหนีออกมาจากยูเครนเพื่อสวัสดิภาพของลูกชายวัย 11 ปี โดยสามีที่เป็นนักเขียนได้ตัดสินใจออกไปเป็นกองกำลังตั้งแต่วันก่อนหน้า

“นี่คือสามวันที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของพวกเราชาวยูเครน” เธอกล่าวในบทสัมภาษณ์ “ฉันรู้สึกผิดที่ฉันออกไปสู้เองไม่ได้ เพราะฉันเป็นแม่ ฉันต้องปกป้องลูกของฉัน” เธอบอกว่าทุกคนรู้สึกแย่ที่ต้องจากเพื่อนและครอบครัวอันเป็นที่รัก และเธอจะไม่มีทางเข้าใจคนดอนบาสและผู้อพยพเลยหากไม่ได้เจอเหตุการณ์นี้ด้วยตัวเอง “ถ้ารัสเซียยึดเมืองและประเทศของฉันได้ ก็เหมือนมันทำลายโลกทั้งใบของฉันด้วย” เธอว่า “ฉันยอมตายดีกว่าจะเสียมันไป”

ในทางกลับกัน นาตาลยา โวโรซบิท (Natalya Vorozhbit) คนเขียนบทละครเวทีที่กลายมาเป็นคนทำหนัง บอกว่า Demons หนังเรื่องใหม่ของเธอกำลังจะถ่ายเสร็จในอีก 4 วัน แต่สงครามปะทุและเธอต้องหลบลูกระเบิดแทน “ฉันเลือกเองที่จะอยู่” เธอกล่าว “ถ้าคุณเป็นศิลปินในยูเครน คุณจะไม่อยากคุยเรื่องอะไรเลยนอกจากเรื่องสงครามนี่ เราจะฝันถึงการถ่ายหนังเรื่องต่อๆ ไปก็ได้ แต่ฉันแน่ใจว่าเราจะยังทำหนังเกี่ยวกับสงครามต่อไป”

(นาตาลยาทำ Bad Roads ปี 2020 ซึ่งเป็นหนังที่มีฉากหลังเป็นดอนบาส เปิดตัวที่เทศกาลหนังเวนิซ และเป็นหนังที่ยูเครนส่งไปชิงออสการ์สาขาหนังต่างประเทศ โดยก่อนหน้านี้ Donbass หนังตลกร้ายปี 2018 ของเซอเกย์ ลอซนิทซา โฟกัสดอนบาสแบบเต็มๆ และเคยฉายที่คานส์ ก็เป็นหนังที่ยูเครนส่งไปชิงเช่นกัน)

“ฉันมีความรู้สึกว่าพวกเขาแค่อยากจะกำจัดคนยูเครนทุกคนออกไปจากโลกใบนี้” ดาร์ยา บาสเซล (Darya Bassel) คนจัดเทศกาลหนัง Docudays UA International Human Rights Documentary Film Festival ในยูเครนและโปรดิวเซอร์หนังกล่าว ดาร์ยาคือโปรดิวเซอร์ของ A House Made of Splinters (2022) สารคดีที่เพิ่งได้รางวัลกำกับสารคดียอดเยี่ยมที่ซันแดนซ์เมื่อมกราคมที่ผ่านมา เธอเลือกอยู่ต่อแต่ย้ายเมืองเพื่อจัดระบบช่วยเหลือและส่งเสื้อกันกระสุนไปจนถึงพาวเวอร์แบงค์ให้เพื่อนคนทำหนังและนักข่าวที่ยังอยู่ในเคียฟและฝั่งตะวันออกของประเทศเพื่อเก็บฟุตเทจ

“เป้าหมายแรกของการบันทึกภาพคือเก็บหลักฐานทางอาชญากรรมที่พวกรัสเซียกำลังกระทำกับพวกเรา เป้าหมายที่สอง แน่นอนว่าคือการทำหนัง แต่นั่นเอาไว้ทีหลังเถอะ” เธอว่า

ถึงอย่างนั้น เอเลนาก็คิดว่าไม่ใช่แค่ชาวยูเครนที่กำลังเป็นทุกข์ แต่คนรัสเซียก็ด้วย เพื่อนและคนทำหนังที่เธอรู้จักต่างไม่อยากเชื่อว่าสงครามจะเกิดขึ้นจริง “พวกเขารู้สึกทำอะไรไม่ได้ และพวกเขาเองก็กลัวที่จะพูด เราต่างรู้ดีว่าการส่งเสียงของคนธรรมดาหมายความว่าอย่างไรในรัสเซีย พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับการถูกโจมตีอยู่เช่นกัน”

คานส์, เวนิซ, EFA แถลงมาตรการบอยคอตต์รัสเซีย

บรรดาองค์กร หน่วยงาน และเทศกาลภาพยนตร์ในทวีปยุโรปยังคงเดินหน้ากดดันรัสเซียอย่างต่อเนื่อง หลังประกาศเทศกาลหนังสตอกโฮล์ม, เทศกาลหนังกลาสโกว์ และงาน Series Mania ที่ Film Club ได้รายงานไปแล้วก่อนหน้านี้ ก็ถึงคิวของเทศกาลระดับท็อปทั้งคานส์, เวนิซ และ European Film Awards ที่ต่างออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและมาตรการไปในทิศทางเดียวกัน

แถลงการณ์ของเทศกาลหนังเมืองคานส์ (Festival de Cannes) กล่าวสนับสนุนประชาชนชาวยูเครน ประณามการกระทำของรัฐบาลรัสเซีย และระบุว่าได้ตัดสินใจ “ไม่ต้อนรับผู้แทนของทางการรัสเซีย (official Russian delegations) และผู้ใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซีย” เว้นเสียแต่ว่าการรุกรานของกองทัพรัสเซียจะยุติลงภายใต้เงี่อนไขที่น่าพึงพอใจสำหรับประชาชนชาวยูเครน ก่อนเทศกาลฯ จะเริ่มต้นขึ้นตามกำหนดการปัจจุบันคือวันที่ 17 ถึง 28 พฤษภาคม

เช่นเดียวกับ La Biennale di Venenia ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของทั้งเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ (Venice International Film Festival) และเทศกาลศิลปะนานาชาติเวนิซ เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ที่สนับสนุนชาวยูเครน ประณามรัสเซีย ไม่ต้อนรับผู้แทนของทางการรัสเซีย สถาบัน หรือบุคคลใดที่มีส่วนเกี่ยวพันกับรัฐบาลรัสเซีย ไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม และไม่ยินดีร่วมงานกับศิลปินหรือบุคคลในสายอาชีพที่สนับสนุนการรุกรานของรัสเซียในครั้งนี้

หลังจากนั้นไม่นาน ทาง Critics’ Week, the Director’s Fortnight และ ACID ซึ่งเป็นโปรแกรมเทศกาลภาพยนตร์คู่ขนานของคานส์ ก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อสนับสนุนจุดยืนของเทศกาลหลัก

แถลงการณ์ของเทศกาลใหญ่ทั้งสองแห่ง ยังคงเปิดโอกาสให้ศิลปิน คนทำหนัง และภาพยนตร์สัญชาติรัสเซีย ให้ผ่านการคัดเลือกหรือเข้าร่วมเทศกาลได้ หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซียชุดปัจจุบัน โดยแถลงการณ์ของคานส์กล่าวว่า “เราขอยกย่องทุกคนในรัสเซียที่เสี่ยงลุกขึ้นประท้วงการจู่โจมรุกรานยูเครน ซึ่งจำนวนมากคือศิลปินและบุคลากรในวิชาชีพด้านภาพยนตร์ที่ได้ต่อสู้กับระบอบการปกครองปัจจุบันในรัสเซียอย่างไม่เคยลดละ และไม่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหารอันไม่อาจยอมรับได้ และกลุ่มบุคคลที่ใช้อำนาจตัดสินใจทิ้งระเบิดในเขตแดนของยูเครน”

ในขณะที่เวนิซกล่าวเจาะจงว่า “ประตูของ La Bienne di Venezia ย่อมไม่ปิดตายสำหรับใครก็ตามที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออก และลุกขึ้นต่อต้านความชั่วร้ายอันไม่อาจยอมรับได้ของการตัดสินใจโจมตีอธิปไตยของรัฐอื่น รวมถึงประชาชนที่ไร้หนทางสู้”

สำหรับสถาบันภาพยนตร์ยุโรปหรือ European Film Academy (EFA) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับใหม่เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวประณามการทำสงคราม สนับสนุนข้อเรียกร้องของสถาบันภาพยนตร์ยูเครน (Ukrainian Film Academy) ที่ได้เรียกร้องต่อประชาคมภาพยนตร์ยุโรปให้ร่วมบอยคอตต์หนังรัสเซีย และแสดงตนเคียงข้างสมาชิกของ EFA ที่ตัดสินใจจับอาวุธขึ้นสู้กับกองทัพรัสเซียในบ้านเกิด

ในแถลงการณ์ฉบับนี้ EFA ได้ประกาศตัดสิทธิ์ภาพยนตร์สัญชาติรัสเซียออกจากการเข้าชิงรางวัล European Film Awards ประจำปี 2022 ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานภายในเดือนธันวาคม

ช่วงท้ายของแถลงการณ์ฉบับนี้ EFA ได้กล่าวโดยไม่ระบุชื่อถึงการประท้วงสถาบันฯ ด้วยการลาออกของคนทำหนังชาวยูเครน Sergei Loznitsa (ซึ่งให้เหตุผลว่าแถลงการณ์ฉบับก่อนหน้านั้นไม่หนักแน่นเมื่อเทียบกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น) โดยกล่าวว่า EFA ตระหนักดีถึงความจำเป็นเร่งด่วน และควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนได้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ แต่ยืนยันว่าพวกเขาต้องปฏิบัติตามกระบวนการประชาธิปไตยภายใน ก่อนแสดงท่าทีใดๆ ในนามของสถาบันภาพยนตร์ยุโรป และระบุเพิ่มเติมว่าขณะนี้ EFA ได้ให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลังด้วยการระดมทุนและเอื้อให้เกิดโครงสร้างการสนับสนุนช่วยเหลือที่จำเป็นต่อสถานการณ์ที่ยังคงดำเนินต่อไป 

รวมมิตรข่าววงการหนังโลกรวมพลังแบนรัสเซีย-สนับสนุนยูเครน

1) เทศกาลและองค์กรนานาชาติกว่า 100 แห่งลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงยูเครนและเพื่อนร่วมวงการหนัง โดยใจความสำคัญคือ ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียว่าเป็น “การทำสงครามที่เลวร้าย”, เรียกร้องให้ประชาคมโลกตอบโต้ต่อการรุกรานนี้อย่างจริงจัง, ยืนยันสนับสนุนนักข่าว คนทำหนัง ศิลปินชาวยูเครน และประกาศว่าขอยืนเคียงข้างชาวรัสเซียจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครองของปูติน(ดูรายชื่อองค์กรที่ร่วมลงนามได้ที่นี่)

2) เทศกาลหนังสตอกโฮล์ม (Stockholm Film Festival) ประกาศแบนหนังทุกเรื่องที่สร้างด้วยทุนจากรัฐบาลรัสเซีย ไม่ให้เข้าฉายในเทศกาลซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 9-20 พ.ย. ปีนี้ ด้วยเหตุผลว่า “เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำของรัสเซียเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” ขณะเดียวกัน เทศกาลปีนี้ก็จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อวงการหนังยูเครน รวมทั้งจะเชิญ Oleg Sentsov ผู้กำกับชาวยูเครนไปร่วมงานด้วย (บังเอิญว่าเขาชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมื่อปีที่แล้วจากหนังเรื่อง Rhino พอดี แต่ตอนนั้นไม่ได้ไปงานเพราะสถานการณ์โควิด-19) โดย Sentsov ซึ่งกำลังร่วมรบอยู่ในแนวหน้า ได้ตอบรับแล้วว่าจะไปแน่นอนหากประเทศของเขาได้รับชัยชนะ

3) เทศกาลหนังกลาสโกว์ (Glasgow Film Festival) ซึ่งจะมีช่วงวันที่ 2-13 มี.ค. นี้ ประกาศถอนชื่อหนังรัสเซียออกจากโปรแกรม 2 เรื่องคือ No Look Back ของ Kirill Sokolov และ The Execution ของ Lado Kvataniya

4) งาน Series Mania (เทศกาลอุตสาหกรรมรายการโทรทัศน์) ของฝรั่งเศสซึ่งจะมีช่วงวันที่ 18-25 มี.ค.นี้ ก็ประกาศตัดสิทธิ์ไม่ให้ Roskino (หน่วยงานส่งเสริมหนังและโทรทัศน์ของรัสเซีย) เข้าร่วมงาน โดยไดเร็กเตอร์ของงานบอกว่า “เราไม่สามารถต้อนรับหน่วยงานทางการของรัสเซียได้ในขณะนี้”

5) ค่ายหนังในฮอลลีวู้ดร่วมงดการฉายหนังในรัสเซียเริ่มจากดิสนีย์ที่แถลงว่าจะหยุดการนำหนังใหม่ของทางค่ายไปเปิดตัวในรัสเซีย (หนึ่งในนั้นคือ Turning Red หนังใหม่ของพิกซาร์) รวมทั้งจะให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่เหล่าผู้ลี้ภัยจากยูเครน, ตามด้วยค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สที่ตอนแรกไม่มีแผนจะถอด Batman ออกจากโปรแกรม 3 มี.ค.ในรัสเซีย ก็ตัดสินใจประกาศงดฉายไปแล้ว และล่าสุดคือค่ายโซนี่ที่แถลงว่าจะงดการนำหนังของค่าย (เช่น Morbius) เข้าฉายที่นั่นเช่นกันขณะที่นักแสดงชื่อดังระดับตำนานอย่าง โรเบิร์ต เดอ นีโร ก็ออกมาประณามสงครามครั้งนี้โดยกล่าวว่า การรุกรานนี้เป็นเรื่องที่ผิด และคนเราต้องกล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นบอกว่ามันเป็นสิ่งผิดนอกจากนั้น ยังมีข่าวว่า Netflix ปฏิเสธไม่ยอมเพิ่มโปรแกรมรายการชวนเชื่อในรัสเซียด้วย โดยตามกฎหมายควบคุมสื่อฉบับใหม่ในรัสเซียกำหนดว่าตั้งแต่ 1 มี.ค.นี้ Netflix จะต้องนำเนื้อหาจากช่องทีวีรัสเซียคือ ช่อง One, เครือข่าย NTV และช่อง Russian Orthodox Church ไปอยู่ในโปรแกรม แต่หลังเกิดเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครน Netflix ก็แสดงอาการขัดขืนเล็กๆ ด้วยการประกาศว่าจะไม่ยอมเผยแพร่รายการชวนเชื่อท้องถิ่นเหล่านั้น

6) คนทำหนังรัสเซียลงนามเรียกร้องให้ยุติการรุกรานยูเครนผู้กำกับ นักแสดง และนักวิจารณ์หนังร่วมกันลงนามประณามปฏิบัติการของปูตินว่า “เป็นการกระทำที่น่าละอาย”, “เราไม่ต้องการให้ลูกหลานของเราอาศัยอยู่ในประเทศที่รุกรานรัฐอิสระใกล้เคียง เราขอเรียกร้องให้ประชาชนชาวรัสเซียปฏิเสธสงครามนี้” และ “เราไม่เชื่อคำกล่าวของวลาดิมีร์ ปูตินที่ว่า ประชาชนยูเครนอยู่ภายใต้การปกครองของ ‘นาซี’ และจำเป็นต้องถูกพวกเราเข้าไป ‘ปลดปล่อย'”ตัวอย่างของคนวงการหนังรัสเซียที่ลงนาม มีอาทิ Vitaly Mansky, Vladimir Mirzoev, Ilya Khrzhanovskiy, Chulpan Khamatova, Ksenija Rappoport, Ivan Vyrypaev, Tofig Shahverdiev, Andrey Smirnov, Anton Dolin

7) ปิดท้ายด้วยข่าวของ Sergey Loznitsa หนึ่งในคนทำหนังที่ได้รับการยกย่องบนเวทีโลกมากที่สุดของยูเครน (เขาคว้ารางวัลกำกับยอดเยี่ยมสาย Un Certain Regard ในคานส์จาก Donbass หนังปี 2018 ว่าด้วยพื้นที่ในยูเครนตะวันออกที่ถูกรัสเซียยึดครอง และรางวัล Golden Eye – Special Mention จากคานส์เช่นกัน ด้วยงานเรื่อง Babi Yar. Context สารคดีปี 2021 ซึ่งตรวจสอบการสังหารหมู่ชาวยิว 30,000 คนของนาซีในช่วงเวลาสามวันในยูเครนเมื่อเดือนกันยายน 1941)โดย Loznitsa ประกาศลาออกจาก European Film Academy (EFA) เพื่อประท้วงที่ทางสถาบันแสดงท่าทีหน่อมแน้มต่อสงครามครั้งนี้ “พวกคุณเขียนแถลงการณ์ด้วยคำอย่าง ‘เรากังวลใจมากต่อสิ่งที่เกิดขึ้น’ ทั้งที่สงครามเกิดมาแล้วสี่วัน บ้านเมืองและชาวยูเครนถูกรัสเซียทำลายล้าง แต่เป็นไปได้อย่างไรที่องค์กรซึ่งอ้างว่าตัวเองสนับสนุนสิทธิมนุษยชน พิทักษ์เสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างคุณ กลับไม่กล้าเรียกมันว่าสงครามอันป่าเถื่อน และกลัวเสียจนไม่ยอมเปล่งเสียงต่อต้านมัน?”

FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)(รายชื่อรอบสี่)

ในที่สุดปี 2021 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ไม่แพ้ปี 2020 โรงหนังกลับมาเปิดแล้วในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังลูกผีลูกคน กิจการ Streaming ภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่องและอาจจะน่ากังขาพอๆ กับน่าชื่นชม ความตายรายวันของผู้คนในประเทศจากโรคระบาด การชุมนุมที่ซบเซาลงทั้งจากโรคและการออกหมายจับรายวันจนถึงวันนี้ 

ผู้คนก็ยังคงดูหนังกันอยู่ ทั้งแบบออกนอกบ้านและไม่ออกนอกบ้าน ทั้งแบบเดิมที่ตั้งใจดูและแบบใหม่ที่ดูไปแชตไป เทศกาลกระจุกตัวในห้วงเวลาสั้นๆ ท้ายปีจนแทบชนกันตายเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเลื่อนจากอดีตมาหลายคำรบแล้ว 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2021 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง


Filmsick : กองบรรณาธิการ Film Club

ดาววิกาล (2020, เหมือนดาว กมลธรรม)

หนังว่าด้วยสาวคาราโอเกะวัยปลายของสาวใหญ่ กับความสัมพันธ์ที่เธอมีกับหนุ่มใหญ่ตัดหญ้าอาศัยในสวนที่มาชอบเธอ มารับมาส่งเธอทุกวันและชวนให้เธอเลิกเป็นสาวบาร์ไปอยู่กับเขา จนมาวันหนึ่งเธอตระหนักถึงการพ้นสมัยของตัวเอง แต่การเปลี่ยนตัวเองมันไม่ได้ง่ายเลย และทัศนคติที่เธอมีต่อชีวิตกับเขามันต่างกันมาก

ชอบทุกอย่าง ชอบไปหมด ชอบบาร์คาราโอเกะ ชอบหมูกะทะ ชอบบ้านของหนุ่มตัดหญ้า ชอบซาเล้ง ชอบมอเตอร์ไซค์ ชอบไมโครเวฟ เป็นหนังแบบที่อยากดูมานาน อยากดูเรื่องรักเหล่านี้ ชีวิตและจิตใจของผู้คนเหล่านี้ในฐานะที่เป็นมนุษย์ไม่ใช่ตัวละครสอนศีลธรรม รู้สึกงดงามเทียบเท่ากับตอนดู หน่าฮ่าน ของ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ

ไม่แน่ใจว่าการแสดงแบบประดักประเดิดของนักแสดงจะดีหรือร้ายต่อตัวหนัง มันทำให้นึกถึงการแสดงแบบในสัตว์ประหลาดของอภิชาติพงศ์ แต่ในกรณีนั้นมันมีการล้อไปกับโลกนอกโลกของหนัง คือแสดงให้รู้ว่าแสดงเพื่อล้อกับความประดักประเดิดของการแสดง แต่พอหนังเล่นกับความ realistic เราก็ไม่แน่ใจว่าความประดักประเดิดแบบนี้จะหนุนส่งหรือทอนพลัง อันที่จริง มันชวนให้นึกถึงหนัของ บุญส่ง นาคภู่ แต่ดูเหมือนบุญส่งมีวิธีหยิบใช้นักแสดงไม่อาชีพของเขาอย่างน่าสนใจมากๆๆ

ไม่แน่ใจด้วยว่าตอนจบของหนังจะไปในทิศทางของการบอกว่าคนเราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เท่าที่ตัวเองต้องการ แต่การรวบรัดฉากร้านชำ ตัดกับฉากบาร์ก็อาจจะถูกชี้นำไปในทางลงโทษหรือ misogynist ได้ เราคิด (เอาเอง) ว่าหนังเป็นแบบแรก เราเลยคิดว่าหนังควรให้เวลากับช่วงท้ายอีกหน่อย จริงๆ เราถึงขั้นรู้สึกด้วยซ้ำว่ามันสามารถเป็นหนังที่พูดว่าความฝันของคนคนหนึ่งสามารถไปงอกงามได้จริงในอีกคน แล้วคนที่ละทิ้งความฝันไปก็ไม่ได้ผิดอะไรที่ไม่ยอมจำนนต่อขนบของความฝันคับแคบเท่าที่ฝันได้นั้น



กฤตนัย ธีรธรรมธาดา : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club 

Mr. Robot (2015-2019, Sam Esmail, USA)

ปกติปีที่ผ่านมาๆ เรามักจะเลือกหนังที่เราชอบแห่งปีมากกว่า เพราะเราไม่ค่อยได้ดูซีรีส์เท่าไหร่ แล้วรู้สึกว่าตัวเองชอบซีรีส์ยาก รวมถึงรู้สึกว่ายากมากแหละที่จะหาซีรีส์ในดวงใจมาแทน Breaking Bad ได้ แต่เห็น screenshot และ quote ของ Mr. Robot มานานละ พอเข้า Netflix ปีนี้ก็เลยนั่งดู แล้วก็พบว่ามันแซง Breaking Bad ไปเป็นซีรีส์อันดับหนึ่งในดวงใจของเราไปแล้วเรียบร้อย

Mr. Robot (4 seasons) พูดถึงนักโปรแกรมเมอร์หนุ่ม Elliot ที่เป็นโรควิตกกังวล (นำแสดงโดย Rami Malek) ผู้ซึ่งผันตัวไปเป็นแฮกเกอร์ที่ทำงานจัดการกับเหล่าคนร้ายในเวลากลางคืน เอาจริงตอนแรกที่อ่านเรื่องย่อก็ไม่เข้าใจว่ามันจะสนุกได้ยังไง แต่คือนั่งดูไปเรื่อยๆ ถึงได้พบว่าจริงๆ แล้วนอกจากความเวอร์ของซีรีส์ที่เล่าลือว่ากันว่ามีทีมดีไซน์คอมพิวเตอร์โค้ดรวมถึงวิธีการแฮกแบบต่างๆ ให้สมจริงโดยเฉพาะ มันยังเป็นซีรีส์ที่มีความครบในหลายมิติมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงความเดียวดายในโลกยุคสมัยใหม่ การดิ้นรนของผู้คนในโลกของทุนนิยม การโค่นล้มทุนนิยมสามานย์ ภาวะทางจิตเวช ความหลากหลายทางเพศสภาพ การเหยียดสีผิว ความน่ากลัวของการใช้ชีวิตในระบบดิจิทัล ลามไปถึงการแซะการเมืองแห่งยุคสมัยไม่ว่าจะในสเกลเล็กๆ อย่างในที่ทำงาน สเกลใหญ่ขึ้นอย่างเช่นประเทศตัวเอง (ฉากตัดต่อให้โอบาม่าและทรัมป์พูดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในบทยังทำเอาขนลุกอยู่) รวมถึงการแซะพี่ใหญ่อย่างจีนว่าเป็นผู้กุมอำนาจมืดอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ผ่านการเล่าผ่านมุมมองของคนธรรมดา (?) ที่มีปัญหาชีวิตส่วนตัวมากมาย แต่พยายามตั้งใจจะเปลี่ยนโลกรอบตัวที่มีแต่นายทุนที่คอยรีดไถผลประโยชน์เรา

นอกจากประเด็นทุกรูปแบบที่ใส่เข้ามาได้อย่างลงตัว มันยังมีความเจ๋งในแง่ที่หลายตอนก็มี narrative ของการเล่าและ mood ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะทำธีมเลียนแบบซิทคอมเก่าๆ, ทำเป็นตอนที่เน้นการจารกรรมแทบจะเป็นหนัง heist ได้เลย, ทำ apocalyptic drama ให้ดู dystopia ได้หม่นมากๆ, ถ่ายแบบ long take ทั้ง episode, รวมถึงมีตอนที่ทำเป็นละครเวที 5 act ทั้งหมดนี้ ทำได้ถึง และเวิร์คมากทุกรอบจนน่าตกใจ (รวมถึง song choice ที่ใช้เป็น soundtrack แต่ละตอนก็นับได้ว่าเจ๋งเอามากๆ)

เอาจริงๆ เรายังนึกออกถึงตอนที่ทุกคนประท้วงที่ The King’s Speech ชนะ The Social Network ในออสการ์ปีนั้น แล้วมีคนบอกว่า The King’s Speech อาจจะเป็นหนังที่ดี แต่ The Social Network เป็นหนังที่ define และเป็นตราประทับแห่งยุคสมัยของเรามากกว่า มานั่งตกตะกอนหลังดู Mr.Robot จบ เราก็รู้สึกแบบเดียวกัน นี่แหละ คือซีรีส์ที่ define ทั้งหลักวิธีคิด ความเป็นปัจเจกที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่ในช่วงชีวิตแห่งโลกทุนนิยม และความโสมมของยุคสมัยที่เราใช้ชีวิตอยู่ได้ตรงจนน่าขนลุกโดยแท้


© Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M_GO Films, Mit Out Sound Films

สัณห์ชัย โชติรสเศรณี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ฯ

เวลา (Anatomy of Time) (2021, จักรวาล นิลธำรงค์)

เวลา หรือ Anatomy of Time ผลงานเรื่องล่าสุดของ จักรวาล นิลธำรงค์ ที่ได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลหนังเวนิซ เล่าเรื่องราวของหญิงสาวในวัยชราที่ต้องดูแลสามีอดีตนายพลใหญ่ที่นอนติดเตียง ตัดสลับกับ เหตุการณ์อดีตที่เธอยังสาวสะพรั่งที่มีหนุ่มๆ มาติดพัน ความสัมพันธ์ของเธอกับนายทหารเสธ (นายพลในวัยเยาว์) และชายหนุ่มคนรักคนแรกของเธอ

Anatomy of Time พาคนดูไปชำแหละ “เวลา” ในรูปแบบภาพยนตร์ศิลปะ (ที่ต้องอาศัยการคิดต่อ ตีความ ถกเถียง) 

เราได้เห็นความโหดร้ายของเวลา ในการพรากความสวยงาม หอมหวานของวัยเยาว์ ผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และแน่นอนการไปถึงปลายทางของชีวิตทุกคน และเช่นกันเวลาก็ก่อให้เกิดวัฏจักรแห่งชีวิตที่วนเวียนเกิด แก่ เจ็บ ตาย 

นอกจากนี้ “เวลา” ยังเป็นตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม เศรษฐกิจ การเมือง คนที่เคยมีอำนาจบารมีมากๆ เวลาผ่านไป พวกเขาก็เป็นเพียงคนชรา หรือบางคนอาจจะเผชิญโรคภัยไร้ประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากคนบ้า 

“เวลา” ในหนังยังเจ้าเล่ห์ เพราะ มันไม่ได้เรียงลำดับตาม “กาลเวลา” แต่มันกับสลับไปมา จนถึงที่สุดแล้ว เราอาจจะไม่แน่ใจด้วยซ้ำ่ว่าเหตุการณ์ที่เราเห็นอยู่ข้างหน้านั้นมันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้า หรือข้างหลัง ฉากนั้นอย่างไร หรือมันเป็นเพียงความคิดฝัน หรือ สิ่งที่เกิดขึ้นอดีต หรือ ห้วงคำนึงของตัวละคร เราก็ไม่รู้

อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่พูดไม่ได้เลยคือ นักแสดงอย่าง เทวีรัตน์ ลีลานุช โดดเด่นอย่างมากกกก ในบทนางเอกในวัยชรา (เธอคือผู้รับบทแม่ของมณีจันทร์ ในทวิภพ ฉบับสุรพงษ์ พินิจค้า และเป็นนางแบบดังในอดีต) ด้วยจังหวะการแสดง การพูด และรูปร่าง ของเทวีรัตน์ ดูไปดีกับหนังเรื่องนี้ คิดว่า คนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ทุกคน จะต้องเซอร์ไพรส์กับเธอคนนี้แน่นอน


ชญานิน เตียงพิทยากร : นักวิจารณ์

I Was at Home, But… (2019, Angela Schanelec, Germany/Serbia)

หนังเล่าเรื่องคนหมดแรงในโลกที่เหมือนถูกลดทอนจนเหลือแต่ลมหนาว แต่ทั้งที่ลดทอนจนเนื้อเรื่องแห้งผากขนาดนั้น พลังของความรู้สึกสั่นคลอนไม่มั่นคงก็ยังรุนแรง พลังของการไม่เล่าถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว (และเมื่อหวังว่าเรื่องย่อทางการจะช่วยแอบเฉลยคำตอบ เราก็พบว่าเว็บหนึ่งเขียนอย่าง อีกเว็บเขียนอีกอย่าง และทั้งคู่อยู่ในหนังอย่างเบาบาง) เหลือไว้แค่อาฟเตอร์ช็อคครั้งแล้วครั้งเล่า แรงกระทบอื่นที่ไม่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วเชื้อเชิญให้เราทำหน้าที่เครื่องตรวจจับแรงสั่นสะเทือน–แรงสั่นที่อาจมองเห็นหรือวัดค่าได้แค่ในหนังที่นิ่งและน้อยเท่านี้

Angela Schanelec เขียนตัวละครในเรื่องอย่างแก้วแตกที่กำลังพยายามกอบเก็บซ่อมแซมตัวเอง แต่ไม่ได้ให้เห็นแค่แก้วใบนั้น หรือร่องรอยที่ทิ้งไว้บนพื้นหลังถูกทำให้ตกแตก เศษแก้วชิ้นสำคัญอาจกลับมาต่อติดแล้วโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว สายตาของหนังละเอียดและท้าทายในระดับที่ให้เรามองเส้นสายขอบคมของรอยแตก มองเห็นรอยร้าวที่กะเทาะเกิดใหม่ตรงหน้า (หรือลับหลัง) มองเห็นเศษบิ่นที่กระเด็นไปจมฝุ่นอยู่ใต้เครื่องเรือนชิ้นอื่น (และบางทีอาจเป็นเศษบิ่นของแก้วใบอื่นในบ้านเดียวกัน) บางทีก็พาไปมองอย่างอื่นทั่วบ้านที่แก้วเคยตั้งอยู่ก่อนตกแตก แต่บางอย่างก็ไม่ได้เกี่ยวหรือไม่รู้ว่าเกี่ยวกับแก้วอย่างไร

การเล่าข้ามด้วยน้ำหนักมือที่แม่นยำอย่างมหัศจรรย์ ค่อยๆ ดึงให้เราร่วมรู้สึก ค่อยๆ เปิดตาให้เราเริ่มมองเห็นการทำงานของ but… อันซับซ้อนสับสน ภายใต้เปลือกนอกของตัวละครซึ่งกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะกลับสู่สภาวะ at home

[HONORABLE MENTION]
in alphabetical order

– All the Dead Ones (2020, Caetano Gotardo & Marco Dutra, Brazil/France)
– Brokeback Mountain (2005, Ang Lee, US/Canada)
– The Death of Mr. Lazarescu (2005, Cristi Puiu, Romania)
– The Edge of Daybreak | พญาโศกพิโยคค่ำ (2021, ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์)
– episode 3-4 ของ I Promised You the Moon (2021, ทศพร เหรียญทอง) series
– First Cow (2019, Kelly Reichardt, US)
– Fifth Cinema (2018, Nguyễn Trinh Thi, Vietnam) mid-length
– Future Lasts Forever (2011, Özcan Alper, Turkey/Germany/France)
– Germany Year Zero (1948, Roberto Rossellini, Italy/France/Germany)
– Good News, Comrades! (2021, Lars Karl Becker, Germany) short
– Her Socialist Smile (2020, John Gianvito, US)
– The Piano Teacher (2001, Michael Haneke, France/Austria/Germany)
– The Power of the Dog (2021, Jane Campion, UK/Canada/Australia/New Zealand)
– A Question of Silence (1982, Marleen Gorris, Netherlands)
– Repentance (1984, Tenghiz Abuladze, Georgia)
– Subarnarekha | The Golden Thread (1965, Ritwik Ghatak, India)
– Something Useful (2017, Pelin Esmer, Turkey/France/Germany/Netherlands)
– The Trouble with Being Born (2020, Sandra Wollner, Austria/Germany)
– Woman in the Dunes (1964, Hiroshi Teshigahara, Japan)
– Yuni (2021, Kamila Andini, Indonesia/France/Singapore/Australia)


มิสเตอร์อเมริกัน

kobayashi-san chi no maid dragon (Tatsuya Ishihara ,Yasuhiro Takemoto) (2021) (สองซีซั่น รวม 25 ตอนจบ)

ปีนี้เลือกยากมากว่าจะเอาเรื่องไหนดี เพราะ มีเรื่องที่น่าประทับใจและชอบหลายเรื่อง อาทิ Zombieland Saga Revenge ภาคต่อของซอมบี้ไอดอลที่สนุกเหมือนเคย, Super Cub อนิเมะโฆษณามอเตอร์ไซด์ที่สนุกอย่างน่าเหลือเชื่อจนอยากมีรถกับเขาบ้าง หรือกระทั่ง Violet Evergarden Movie ที่เป็นอนิเมชั่นที่บอกว่า ญี่ปุ่นไปไกลกว่าอนิเมะ Pixar หรือ Disney แล้ว แต่สุดท้ายก็มาจบที่แอนิเมชันแนวตลกครอบครัวแฟนตาซีจากค่ายเกียวอนิเรื่องนี้แทน

ปีก่อน Zombieland Saga แทบจะเป็นงานกราบเท้าจอร์จ เอ โรเมโร่ และ บรรดาหนังเกรด Z ในตำนานทั้งหลาย แต่ Kobayashi-san chi no maid dragon คือ งานโอสุ ในยุคเรย์วะ ที่ดำเนินเรื่องราวของโคบายาชิ สาวบ้านนอกหน้าตางั้นๆ แถมออกจะเหมือนผู้ชายที่มาทำงานในบริษัทคอมพิวเตอร์ที่โตเกียว และ ต้องผ่านความกดดัน การเหยียดเพศ และ ความเหงาของชีวิต ตัวเธอมีความสุขแค่การได้นั่งกินเบียร์เมาไปวันๆ ไม่มีจุดหมาย ไม่มีความฝัน จนวันหนึ่งเธอที่เมาเอ๋หลังโดนเจ้านายด่าก็ไปช่วยชีวิตมังกรสาวโทรุที่ถูกดาบเสียบมาจากมิติไว้ ด้วยความที่มังกรมีกฏว่า ต้องทดแทนบุญคุณคนช่วยชีวิต โคบายาชิที่เมาก็พูดไปว่า อยากได้เมดเว้ย อยากได้เมดมาดูแลตัวเองมั้ง ทำให้วันต่อมา เธอได้พบว่า มังกรโทรุกลายเป็นเมดมาดูแลเธอจริงๆ

ความวุ่นวายของเมดมังกรกับโคบายาชิเริ่มขึ้นพร้อมกับการพาตัวละครมากมาย มังกรหลากแบบมายังโลกนี้ ทำให้ชีวิตของเธอไม่ได้เหงาอย่างที่เป็น

โคบายาชิซังเป็นงานที่เรียกด้านกลับของโอสุ ตรงที่มันเล่าถึงนิยามครอบครัวในยุคใหม่ มันไม่จำเป็นต้องเป็นชายหญิงหรือเพศเดิมอีกต่อไป ตัวละครในเรื่องมีเพศสภาพที่เลื่อนไหล เพราะ มันถามว่า ครอบครัวคืออะไร ความสุขคืออะไร ผ่านโคบายาชิที่ตอนแรกรังเกียจรังงอนกับความวุ่นวายนี้แต่กลับกลายเป็นว่า เธอค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับมังกรที่เข้ามาในชีวิต จากสาวที่ไม่มีความเป็นแม่ หรือ พ่อ กลับทำงานเพื่อจะไปดูคันนะ มังกรน้อยวัยประถมเล่นกีฬาสีทั้งที่ไม่เคยทำ (และวันหยุดของพนักงานเดินสำคัญมากๆ) เธอกลับยอมทำ เช่นเดียวกับมังกรอย่าง โทรุ คันนะ และ ตัวอื่นๆ ก็ได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ ความรัก ความสุข และ การเป็นครอบครัวไปพร้อมกัน แม้ว่า อายุของมนุษย์จะสั้นกว่ามังกร แต่นั้นไม่ใช่ปัญหาเลย

แบบที่โทรุ เมดมังกรบอกว่า อายุเป็นพันๆ ปีของเธอไร้ความหมายจนกระทั่งได้เจอกับโคบายาชิและใช้ชีวิตด้วยกัน ณ เวลานี้

เหมือนบอกเราว่า ชีวิตนิรันดร์สู้ช่วงเวลาที่มีความสุขนี้ไม่ได้เลย แม้จะสั้นแค่ไหน

มันก็งดงามและเปี่ยมด้วยความหมาย

โคบายาชิเมดดราก้อนจึงเป็นงานคอมเมดี้ครอบครัวที่เรียกว่า เป็นการเกิดใหม่อีกครั้งของค่าย เกียวโตอนิเมชั่น (เกียวอนิ) ภายหลังเหตุการณ์วางเพลิงในปี 2019 และนำไปสู่การสูญเสียครั้งสำคัญเนื่องจากผู้กำกับ Yasuhiro Takemoto คนกำกับซีซั่นแรกเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ถึงจะเหตุการณ์นี้เกียวอนิก็ยังคงมุ่งมั่นและสร้างผลงานใหม่ๆ ออกมาโดยเริ่มจากเรื่องนี้ (และไปพีคกับ Violet evergarden Movie)

ที่บอกว่า ไม่ว่าจะเจ็บปวดเพียงใด ถ้ามีกันและกัน ต้องผ่านไปได้

‘โปรดิวเซอร์คือสะพานระหว่างความฝันและความจริง’ สนทนากับ ดีอานา บุสตามานเต หัวหน้าทีมโปรดิวเซอร์แห่ง Memoria (2021)

Memoria (2021) หนังยาวลำดับล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เพิ่งคว้ารางวัล Jury Prize และส่งเขาเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์อีกครั้ง จับจ้องไปยัง เจสสิกา (ทิลดา สวินตัน) หญิงชาวสก็อตแลนด์ที่ใช้ชีวิตในโคลอมเบีย และเกิดเรื่องประหลาดขึ้นในชีวิตเมื่อเธอได้ยินเสียงดัง ‘ปัง’ ในหัว

นี่ไม่เพียงแต่เป็นหนังเรื่องของแรกอภิชาติพงศ์ที่ขยับขยายจักรวาลการเล่าเรื่องออกไปนอกประเทศไทย ด้วยการยกกองไปถ่ายทำที่โคลอมเบีย หากแต่มันยังเป็นครั้งแรกที่เขาร่วมงานกับทีมโปรดิวเซอร์จากโคลอมเบียเต็มตัว และหนึ่งในหัวเรือใหญ่ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันให้ Memoria ประสบความสำเร็จคือ ดีอานา บุสตามานเต หัวหน้าทีมโปรดิวเซอร์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 อภิชาติพงศ์ได้เจอบุสตามันเตเป็นครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์การ์ตาเฮนา เธอเปรยถึงโคลอมเบีย บ้านเกิดของเธอให้อภิชาติพงศ์ฟังคร่าวๆ ว่าช่างเป็นสถานที่ซึ่ง “เพี้ยนประหลาด” หากแต่ก็เป็นความ “เพี้ยนประหลาด” ในความหมายที่ดี และนั่นเองที่เป็นต้นธารของการโหยหาอยากทำหนังที่ไปไกลกว่าพรมแดนประเทศไทยและความคุ้นเคยของอภิชาติพงศ์ ก่อนจะขยับขยายมาเป็นเรื่องราวของหญิงผู้ล่องลอยอยู่ในดินแดนแปลกหน้าพร้อมเสียงกระหึ่มในหัวของเธอ

และหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้คือบุสตามานเต ภายหลังจากเธอร่วมพูดคุยในหัวข้อ A World Apart, But Same Boat: Independent Film Industry in Thailand and Colombia ที่หอภาพยนตร์ฯ Film Club มีโอกาสได้สนทนาเป็นการส่วนตัวกับเธอ ถึงบทบาทของการเป็นโปรดิวเซอร์ ที่สำหรับเธอแล้ว คาบเกี่ยวระหว่างการเป็นเพื่อน เป็นแม่ และเป็นสะพานของโลกภาพยนตร์

ที่ผ่านมาคุณให้การสนับสนุนคนทำหนังหน้าใหม่มากมาย ไม่ว่าจะ ออสการ์ รุยซ์ นาเบีย (Crab Trap, 2009) หรือ ฆวน อันเดรส อารังโก การ์เซีย (La Playa D.C., 2012) เวลาคุณเลือกโปรดิวซ์ให้หนังของผู้กำกับหน้าใหม่สักเรื่อง คุณมองหาอะไรในเรื่องเล่าหรือในคนทำหนังเหล่านั้น

อย่างแรกเลย กับออสการ์นี่เราเป็นเพื่อนกันมาก่อนอยู่แล้ว เจอกันตั้งแต่มหาวิทยาลัยโน่นแน่ะค่ะ เราก็ติดต่อกันทางอีเมลตลอดแล้วก็ค่อยๆ ขยับขยายกลายเป็นกลุ่มคนที่แบ่งปัน พูดคุยกันเรื่องภาพยนตร์ตลอดเวลา แต่ที่สำคัญที่สุดคือเรารักหนังแบบเดียวกัน มีรสนิยมเรื่องหนังแบบเดียวกัน มีหัวใจในการดูหนังเช่นเดียวกัน และสำหรับฉันแล้วนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก

ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ฉันอยากร่วมงานกับคนทำหนังเหล่านี้คือ การที่พวกเขาล้วนเป็นคนที่ตระหนักรู้ถึงพลังของภาพยนตร์ ลุ่มหลงต่อภาพยนตร์ และเป็นนักดูหนังที่ยอดเยี่ยมเหลือเกิน ดังนั้น สำหรับฉันแล้ว การได้ร่วมงานกับการที่คนที่รักภาพยนตร์หมดทั้งหัวใจและรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ภาพยนตร์คือเรื่องของการมีหัวใจต่อกัน คุณต้องใช้เวลาร่วมกันกับผู้คนเหล่านี้ บางครั้งก็ต้องกินนอนด้วยกันหลายต่อหลายเดือนในป่าบ้าง กลางทะเลทรายบ้าง เพราะงั้นเราถึงต้องใช้เวลาร่วมกันกับคนที่คุณรัก เวลาคนเรามันสั้นจะตายไป สมมติฉันต้องตายวันพรุ่งนี้ ฉันก็อยากใช้เวลาอยู่กับคนที่ฉันรักนะคะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดของการทำหนังคือตอนเรา ‘กำลัง’ ทำหนังนั่นแหละ ระหว่างการถ่ายทำมันเต็มไปด้วยเลือดเนื้อ เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ของพวกเรา นี่แหละที่แสนจะมหัศจรรย์ นึกออกใช่ไหมคะ มันคือกระบวนการระหว่างนั้น คือผู้คนที่คุณร่วมออกเดินทางด้วย คือประสบการณ์ที่คุณได้รับ คือห้วงเวลาดีๆ ที่ได้อยู่กับผู้คน ทั้งหมดมันคือกระบวนการทำหนัง และนี่เองที่เป็นสิ่งซึ่งเปี่ยมความหมายต่อฉันเหลือเกิน

ถ้าอย่างนั้นแล้วคุณมองหาอะไรจากหนังของคนทำหนังเหล่านี้ ความสดใหม่หรือเอกลักษณ์แบบไหน

พูดไปแล้วอาจจะฟังดูประหลาดนะคะ แต่ฉันคิดว่าหนังเรื่องนั้นต้องทำให้ฉันรู้สึกบางอย่าง มันไม่ได้สำคัญว่าต้องสดใหม่ ไม่ได้ต้องแปลกว่าหนังเรื่องไหนๆ หรือไม่ได้ต้องจำเพาะเจาะจงอะไรทั้งสิ้น (คิด) มันเหมือนแค่ต้องตกหลุมรักมันน่ะ คุณไม่รู้หรอกใช่ไหมว่าทำไมคุณถึงรักคนเหล่านี้ คุณแค่รู้ว่าคุณรัก มันแค่เป็นสิ่งที่คุณรู้สึกได้ ที่จริงก็มีหนังบางประเภทที่ฉันไม่สนใจเอาเสียเลย ยกตัวอย่างคือหนังโฆษณาสินค้า หนังซูเปอร์ฮีโร่ เป็นต้น

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ฉันคิดว่ามันแค่เรื่องของความจริงใจ ไอเดียบางอย่างของหนังที่มันสัตย์จริงต่อตัวเอง พยายามเล่าบางสิ่งที่อยากเล่า หากแต่นี่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจำเป็นจะต้องเป็นหนังที่เล่าเรื่องส่วนตัวด้วยนะ สมมติว่ามีคนเหยียดผิวสักคนอยากทำหนัง ก็คงทำหนังว่าด้วยคนดำไม่ได้หรอกใช่ไหม เพราะมันไม่สมเหตุสมผลเลย ดังนั้นแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ ตัวตนคุณเป็นใคร มีอะไรอยู่ในหัวใจ คิดอะไรบ้าง มีไอเดียอะไรที่อยากบอกเล่า แล้วหลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของความรู้สึกแล้วล่ะว่าคุณรู้สึกอะไร ได้กลิ่นแบบไหน

Photo by Withit Chanthamarit

บางคนคิดว่างานของโปรดิวเซอร์คือการหาเงินมาทำหนัง แต่จริงๆ มันมีมากกว่านั้น ซึ่งสำหรับคุณแล้วมันมีอะไรอีกบ้างที่คนนอกอาจไม่รู้หรือไม่เห็น

เอาเข้าจริงๆ ตอนเริ่มเป็นโปรดิวเซอร์นี่ฉันก็ไม่รู้เรื่องตัวเลขอะไรเลยนะคะ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ฉันสนใจเอาเลยจริงๆ (ยิ้ม) จนวันหนึ่ง ฉันก็ตระหนักได้ว่า การคิดเลข หาเงินมันก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ที่ฉันต้องทำเพื่อหนัง

สมมติว่าตอนนี้เราอยู่บนชั้นสี่ของตึกนี้และเราอยากไปตึกข้างๆ ทางขวามือ เราก็จะรู้ได้เองว่าหน้าที่ของเราคือการเดินลงบันไดไปชั้นหนึ่ง ข้ามถนนไปทางขวามือแล้วเดินขึ้นตึกนั้น เรารู้ได้เองแม้ไม่มีใครมาบอก การทำหนังก็เหมือนกันค่ะ มันก็ไม่ได้มีขั้นตอนบอกอย่างชัดแจ้งนะ เหมือนฉันแค่ต้องใช้ความรู้สึกตัวเองเข้าไปด้วย เช่นว่า เอาล่ะ อยากให้หนังเรื่องนี้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เราอาจต้องลองหาทางทำแบบนั้น แบบนี้เสียก่อน

เพราะงั้น สำหรับฉันแล้ว การงานของโปรดิวเซอร์คือการจัดการให้หนังมันออกมาเป็นหนังให้ได้ ฉันชอบจินตนาการว่าเรากำลังสร้างความฝันให้เป็นความจริง ชอบจินตนาการว่าตัวเองเป็นสะพานเชื่อมระหว่างไอเดียกับความเป็นจริง และฉันว่านี่แหละคือสิ่งที่โปรดิวเซอร์ควรจะเป็น นั่นคือการเป็นสะพาน ซึ่งมันเปี่ยมความหมายมากๆ มันไม่ได้มีแค่เรื่องเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องเลือกทีมงาน เลือกคน เลือกดูว่าคนไหนเหมาะกับงานนี้ กับหนังเรื่องนี้ อีกทั้งโดยทั่วไปแล้ว ฉันมักเขียนบทร่วมกับผู้กำกับด้วย -คือก็ไม่ได้มีเครดิตในฐานะคนเขียนบทร่วมหรอกนะคะ- แต่การเป็นโปรดิวเซอร์สำหรับฉันแล้วนี่มันเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว นั่นคือหาทางทำให้หนังมันออกมาดีที่สุดเท่าที่จะดีให้ได้ จะต้องทำอย่างอื่นที่ดูไม่เกี่ยวกับงานโปรดิวซ์อย่างการเขียนบทร่วมกันกับผู้กำกับก็ต้องทำ มันไม่มีอะไรจำเพาะเจาะจงขนาดนั้น

พูดคร่าวๆ คือมันเหมือนเราเป็นแม่คนน่ะค่ะ ต้องดูแลลูกๆ ต้องเล่นกับลูก ต้องทำอาหารให้ มันคือการต้องทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันเพราะคุณอยากให้พวกเขาได้เติบโตอย่างดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะเป็นได้ เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์ การเป็นโปรดิวเซอร์คือการเป็นสะพานระหว่างความฝันกับความจริง เราจึงต้องดูทั้งผู้คน ทีมงาน เงิน ไอเดียหนัง ฉันจึงต้องดูแลทุกกระบวนการในหนังของตัวเองอย่างใกล้ชิด

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณจึงโปรดิวซ์หนังทีละน้อยเรื่องหรือเปล่า มันจะเป็นไปได้ไหมหากในอนาคตคุณจะโปรดิวซ์หนังหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน

ใช่ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมฉันจึงทำหนังไม่กี่เรื่องในเวลาเดียวกัน เพราะฉันต้องการทุ่มเทความใส่ใจทั้งหมดแก่หนังที่ฉันโปรดิวซ์

แต่ถ้าฉันลองโปรดิวซ์หนังหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กันน่ะหรือคะ มันก็อาจจะเกิดปัญหาอย่างการที่หนังบางเรื่องไม่ได้รับการใส่ใจจากฉันมากเท่าที่ควร ฉันต้องการดูแล ต้องการใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ของภาพยนตร์เหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และนั่นแปลว่าคุณต้องทุ่มเททั้งเวลา ทั้งสมาธิ แล้วทำอะไรซ้ำเดิมกับหนังเรื่องอื่นๆ ไม่ได้ด้วย คุณดูแลหนังเรื่องใหม่ที่คุณโปรดิวซ์ด้วยวิธีเดียวกันกับหนังเรื่องก่อนไม่ได้หรอก ไม่ได้เลย หนังแต่ละเรื่องมันก็มีเอกลักษณ์และต้องการการดูแลที่แตกต่างออกไป ฉันจึงต้องทุ่มเทความใส่ใจต่อหนังหนึ่งเรื่อง นี่เป็นเรื่องสำคัญมากเลย

Land and Shade (2015)

จากเวทีในงาน คุณเล่าว่าตอนโปรดิวซ์ Land and Shade (2015) ซึ่งเป็นหนังที่มีความเป็นส่วนตัวมากของผู้กำกับ ซีซาร์ ออกุสโต อาเซเบโด คุณหาทางจัดการกองถ่ายให้อาเซเบโดทำงานได้อย่างปลอดโปร่งใจที่สุด คุณลักษณะเห็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องการแม้ไม่ได้เอ่ยปากพูดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนเป็นโปรดิวเซอร์หรือมันติดตัวคุณมาแต่แรกอยู่แล้ว

อันที่จริง บางครั้งฉันก็อ่านสถานการณ์ผิดไปก็มีนะคะ (ยิ้ม) มีอยู่บ้างที่สัญชาตญาณไม่ทำงาน แต่โดยทั่วไปแล้วฉันเชื่อใจในสัญชาตญาณตัวเองมากๆ อย่างเรื่อง Land and Shade ที่ยกตัวอย่าง ตอนแรกเริ่มการถ่ายทำ เราวางแผนไว้ละเอียดลออมากว่าจะทำนั่นก่อนแล้วทำนี่ทีหลัง แล้วค่อยๆ รู้ว่าทำแบบนั้นมันไม่ได้ผล ฉันจึงคิดว่าโปรดิวเซอร์กับผู้กำกับต้องได้กลิ่นเร็วกว่าใครเพื่อนว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากลในการถ่ายทำครั้งนี้ และต้องสามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานได้ด้วย หาทางทำงานแบบอื่น ซึ่งต้องเร็วด้วยนะ เราไม่สามารถเสียเวลาไปได้เรื่อยๆ ไม่มีคำว่าอาจจะ ไม่มีคำว่าบางที เราแค่ต้องตัดสินใจและเสี่ยงดู บางทีมันก็ได้ผล บางทีก็ไม่ แต่ที่แน่ๆ คือหากคุณไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง มันต้องออกมาแย่อย่างแน่นอน

ดังนั้น ในกรณีพิเศษเช่นนี้ ฉันรู้แค่ว่าขืนถ่ายทำตามขั้นตอนที่เราวางแผนไว้แต่แรกคงกันต่อไม่ได้ คำถามคือเราจะทำอย่างไรนับจากนี้ และฉันคิดว่าฉันเจอทางออกดีๆ ได้ก็เพราะฉันรู้จักซีซาร์เป็นการส่วนตัว และรู้จักเขาดีด้วย ถึงขั้นที่บางทีฉันก็รู้สิ่งที่เขาต้องการโดยที่เขายังไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำไป เช่น ฉันว่าคุณกำลังรู้สึกแบบนี้อยู่นะคะ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้มันส่งผลแบบนี้ต่อคุณ เป็นต้น

ด้านหนึ่ง งานโปรดิวเซอร์จึงเหมือนนักบำบัดด้วย (ยิ้ม) นี่พูดจริงนะ หลายต่อหลายครั้งคุณต้องรับมือกับแรงกดดันมั่ง อีโก้ของคนมั่ง แต่เราทำงานกับมนุษย์น่ะ นี่คือทรัพยากรที่เรามี เราจึงต้องพยายามเข้าใจพวกเขาให้มากที่สุดเพื่อจะได้ช่วยเหลือเขาได้

ในไทย บางครั้งเวลาเราต้องการเงินเพื่อทำหนัง เราอาจต้องไปติดต่อกับบริษัทหรือนักลงทุนเพื่อให้ได้เงินมาสักก้อน แลกกับการถ่ายทำสินค้าหรือโปรดักส์ของพวกเขาในหนังของเราซึ่งบางครั้งมันออกมาคล้ายโฆษณาขนาดยักษ์บนจอภาพยนตร์ คุณจัดการเรื่องพวกนี้ยังไง

อันที่จริงแล้ว ตัวฉันไม่จำเป็นต้องใช้เงินจากนายทุนหรือบริษัทต่างๆ ขนาดนั้นนะคะ โชคดีเนอะ (หัวเราะ) แต่ก็มีบ้างเหมือนกัน อย่างเรื่อง The Wind Journeys มันเป็นหนังยาวซึ่งมีบริษัทยักษ์แห่งหนึ่งให้การสนับสนุน เป็นบริษัทขนส่ง คุณลองไปดูได้เลย หนังจากโคลอมเบียมักจะมีฉากรถบรรทุกขนาดใหญ่กับชื่อบริษัทนี้อยู่เสมอ และกับเรื่อง The Wind Journeys นี้ฉันบอกพวกเขาไปว่า ใส่ฉากรถบรรทุกไปไม่ได้หรอกนะ เพราะเรื่องราวในหนังมันเกิดขึ้นในยุค 40s แถมยังว่าด้วยคนกับลาเดินข้ามภูเขาเท่านั้นเอง เพราะงั้นมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยัดฉากรถบรรทุกเข้ามาด้วย

ดังนั้น ฉันจึงเสนอความเป็นไปได้อื่นๆ ให้แก่พวกเขา แล้วก็ได้ผล กล่าวโดยสรุปแล้ว มันเป็นเรื่องของการปฏิเสธกฎเก่าๆ ที่เคยทำกันมา มองหาช่องทางหรือเงื่อนไขใหม่ๆ แล้วเสนอออกไป อย่างน้อยแค่ลองดูก็ได้

Memoria (2021)

กับเรื่อง Memoria มีฉากอุโมงค์ขนาดยักษ์ที่ตราตรึงมาก คุณเคยเล่าถึงอุโมงค์นี้ไว้ในบทสัมภาษณ์อื่น รบกวนคุณเล่าถึงมันอย่างละเอียดอีกทีได้ไหม

บอกเลยว่าความหายนะมันก่อตัวขึ้นมานับตั้งแต่นาทีที่อภิชาติพงศ์เห็นอุโมงค์นี้แล้วบอกว่าอยากถ่ายทำในนี้แล้วล่ะ (หัวเราะ) มันเป็นอุโมงค์ขนาดยักษ์ที่เคยมีการก่อสร้างเมื่อสักร้อยปีก่อนได้มั้ง แล้วตรงส่วนกลางของอุโมงค์มันมีตำนานลึกลับมากมาย มีคนเล่าว่าเจอผี เจอศพ ซึ่งอาจจะจริงก็ได้นะเพราะมันเป็นสถานที่ที่ประหลาดสุดๆ ไปเลย

อย่างไรก็ตาม การจะถ่ายทำหนังในอุโมงค์นั่นมันยากเอามากๆ เพราะการก่อสร้างอุโมงค์ในครั้งนั้นเต็มไปด้วยการคอรัปชั่นมากมาย จึงไม่เคยมีใครได้เยื้องกรายเข้าไปในอุโมงค์แห่งนั้นได้  เราต้องทุ่มเททำทุกทางเพื่อให้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำ (ถอนหายใจ) แล้วคงเพราะหนังเรื่องนี้มีแต้มบุญอยู่ละมั้งคะ ฉันได้เจอเพื่อนคนนึงและเปรยๆ กับเธอว่าพอจะมีคนรู้จักที่ช่วยให้เราเข้าไปถ่ายทำในอุโมงค์นี้ได้บ้างไหม เพื่อนฉันก็บอกว่า ไม่มีหรอกนะคนแบบนั้นน่ะ แต่มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งที่ทำงานอยู่แถวๆ นั้น จะลองติดต่อไปคุยกับเขาดู แล้วเธอก็ช่วยจัดการโทรศัพท์ติดต่อไปให้ นัดให้ฉันได้เจอกับเพื่อนคนนั้นซึ่งน่ารักมากๆ ฉันก็เลยเล่าโปรเจกต์หนังเรื่องนี้ให้เธอฟังไปว่ามีทิลดา สวินตัน บลาๆ ร่วมแสดง และเธอจะมาเข้าฉากในอุโมงค์นั้นด้วยนะถ้าเราได้ถ่ายทำในนั้นจริงๆ แล้วนั่นแหละ ที่อยู่ดีๆ ทุกคนก็พยายามหาทางให้หนังเรื่องนี้ได้ถ่ายทำในอุโมงค์นั้นให้ได้

แต่ขั้นตอนยังไม่ได้จบแค่นั้นนะคะ เพราะมันยังไม่เรียบร้อยดี ฉันยังต้องพยายามหาทางทำให้พวกเราได้เข้าไปถ่ายในอุโมงค์นั้นให้ได้ เลยบอกอภิชาติพงศ์ไปว่า ‘คุณต้องมากับฉันนะ’ แล้วเขาบอกว่า ‘ไม่เอาหรอก จะให้ผมไปกับคุณทำไม ผมจำเป็นกับการคุยเรื่องอุโมงค์ตรงไหน’ ฉันเลยตอบกลับไปว่า ‘จำเป็นสิ! แล้วพูดแค่ภาษาไทยก็พอนะ ห้ามพูดภาษาอังกฤษเด็ดขาด’ (หัวเราะ) ฉันย้ำอภิชาตพงศ์ไปหลายรอบมากๆ ว่าพูดแค่เฮลโหลก็พอ เพราะคนโคลอมเบียชอบชาวต่างชาติ พวกเขามักคิดว่าถ้าเป็นความต้องการของชาวต่างชาติละก็เป็นดีทั้งนั้น แม้จะไม่รู้จักอภิชาติพงศ์หรือเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเขาเลย แล้วรู้อะไรไหมคะ (ตบเข่าฉาด) พอพวกเขาเจออภิชาติพงศ์ พวกเขาก็บอกฉันว่า เอาเลย อยากทำอะไร อยากได้อะไรในอุโมงค์นี้ จะใช้รถ ใช้เครื่องมืออะไรก็ได้

มันหลุดโลกเอามากๆ แต่ฉันว่าเรื่องของเรื่องคือเราต้องมีแต้มบุญกับการลงไม้ลงมือทำอะไรสักหน่อย แค่ลองดูน่ะ ลองโทรศัพท์หาเพื่อนก่อนก็ได้ แล้วจากนั้นก็จะมีหนทางไปยังเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนอีกที คือเราแค่ต้องหาทางเอาจนได้น่ะ แต่สำคัญที่สุดคือต้องลองลงมือทำอะไรสักอย่างเสียก่อน

สุดท้าย โคลอมเบียขึ้นชื่อเรื่องงานสัจนิยมมหัศจรรย์ คุณคิดว่าสิ่งนี้ปรากฏในหนังของอภิชาติพงศ์ไหม มีความเชื่อมกันอะไรบ้างหรือเปล่า

สมัยเด็กๆ ฉันเคยเจอกับ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (นักเขียนชาวโคลอมเบีย ผู้เขียนหนังสือ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนงานด้านสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20) เขาบอกว่า ‘รู้ไหม ผมไม่ได้สร้างอะไรใหม่ขึ้นมาเลย ผมแค่บันทึกไว้ เขียนความจริงซึ่งปรากฏตรงหน้าไว้เท่านั้น ผมทำอยู่แค่นี้เอง’ นี่คือสิ่งที่กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซบอกไว้ แล้วนั่นน่ะจริงเหลือเกิน เพราะในประเทศฉัน ไอ้สิ่งที่ดูเหลือจะเชื่อนั้นเกิดขึ้นอยู่จริงเสมอ ดังนั้นฉันว่าความจริงบางอย่าง มันก็มีอยู่ของมันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ตอนเจออภิชาติพงศ์ครั้งแรกเมื่อปี 2017 ที่เขาเป็นแขกในงานเทศกาล ฉันบอกเขาว่า ‘รู้อะไรไหม โคลอมเบียน่ะเต็มไปด้วยคนเพี้ยนๆ แต่ไม่ได้เพี้ยนแบบบ้าบอนะ เราเพี้ยนไปอีกแบบนึง เพราะงั้นตั้งใจดูแล้วก็ค่อยๆ สังเกตไป’ แต่ตอนนั้นฉันไม่ได้คิดว่าจะได้ทำหนังร่วมกันกับเขานะคะ แค่เล่าให้เขาฟังเฉยๆ แล้วเขาก็ออกเที่ยวไปโคลอมเบียของเขาเองขณะที่ฉันก็ส่งข้อความถามไถ่เขาเป็นระยะว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทุกอย่างโอเคไหมต่างๆ นานา

จนเมื่อเขาจะกลับ เราจัดงานปาร์ตี้ร่วมกันกับเพื่อนคนอื่นๆ เขาบอกฉันว่า ‘คุณพูดถูกแฮะ ดีอานา คนที่นี่เพี้ยนชะมัด แต่เป็นความเพี้ยนที่ไม่เหมือนใครเลย’ ฉันยังบอกเขาอยู่เลยว่าเห็นไหมล่ะ! แล้วเขาก็ถามเรื่องอุโมงค์ เล่าว่ามีคนเจอผีในนั้น เจอเรื่องลึกลับประดามี (ยิ้ม) แล้วนั่นแหละที่เหมือนเป็นจุดตั้งต้นของการทำหนัง เราคุยเรื่องผู้คน ว่าทำไมชาวโคลอมเบียจึงดูเปี่ยมสุขไปพร้อมกันกับที่ดูสะเทือนใจด้วย เหมือนที่คุณเห็นในหนังน่ะ ซึ่งว่ากันตามตรงแล้ว หนัง Memoria ก็เหมือนบันทึกความจริงในโคลอมเบียไว้ เป็นความจริงที่แสนจะเหนือจริงเหลือเกิน


Memoria เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคมนี้

จากค็อกเทลถึงเหล้าขาว ผู้หญิงและปมที่ไม่ได้รอคอยผู้ชายกลับไปแก้ไข ใน One for the Road

ผู้เขียนสังเกตเห็นปฏิกิริยาของผู้รับชม One for the Road ของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผ่านทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก พบว่ามีคนเทียบ One for the Road กับ Happy Old Year (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, 2019) เยอะพอสมควร ทั้งการคืนของแฟนเก่า พ่อชอบดนตรี หรือคนรุ่นใหม่ที่ไปล่าฝันเมืองนอก แต่ด้วยความที่ผู้เขียนเพิ่งได้ดู Drive My Car (2021, ริวสุเกะ ฮามากุจิ) ก็อดคิดเทียบกันไม่ได้ ในแง่ที่ว่ามันเป็นโร้ดมูฟวี่ และเป็นเรื่องของการกลับไปเผชิญหน้าอดีตอันขมขื่นของผู้ชายที่ไม่เอาไหน นี่เองที่อาจทำให้เรานึกถึง Happy Old Year (2019) ไม่มาก เพราะตัวละครหลักเป็นผู้หญิง แต่ผู้กำกับเป็นผู้ชาย แต่ One for the Road กับ Drive My Car (2021) ผู้กำกับก็เป็นผู้ชาย แต่เล่าเรื่องของผู้ชายที่ไม่เอาไหน 

แต่ในความไม่เอาไหนของผู้ชายก็มีลำดับชั้นของความไม่เอาไหน เพราะบอสถึงไม่เอาไหน กล่าวคือไม่ได้เป็นผู้ชายแบบขนบรักต่างเพศผัวเดียวเมียเดียวที่มีครอบครัวอบอุ่น หน้าที่การงาน การศึกษาดี แต่บอสกลับเป็นเหมือนเพศชายที่เป็นที่ใฝ่ฝันของเพศชาย เพราะหน้าตาดีดึงดูดเพศตรงข้าม มีเงินใช้ มีห้องหับที่หรูหรา มีชีวิตที่เลือกได้ มีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามแบบไม่ซ้ำหน้า แถมยังเป็นเจ้าของบาร์ในแมนฮัตตัน 

ความไม่เอาไหนของบอสจึงเป็นคนละชั้นกับความไม่เอาไหนของอู๊ด เมื่ออู๊ดเป็นลูกเจ้าของร้านแผ่นเสียง พ่อที่เสียชีวิตจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว แม่ที่หายสาบสูญจากเรื่องเล่าชีวิตของอู๊ด และโรคร้ายที่ส่งทอดมายังอู๊ด อู๊ดไปอเมริกาเพื่อหาเงินและอาจจะต้องการชีวิตที่ดีกว่า การไปอเมริกาของอู๊ดไม่เหมือนกับบอส เพราะบอสไปได้เพราะบอสมีทางเลือก บอสไปเพราะคนรักของเขาอยากมีบาร์ที่เมืองนอก การไปของบอสจึงเป็นสิ่งที่เลือกได้ แต่อู๊ดอาจไปด้วยความจำเป็น และแน่นอนว่าการไปอเมริกาของอู๊ดก็คงเทียบไม่ได้กับคนพลัดถิ่นไทบ้านที่ไปในฐานะแรงงานผิดกฎหมายเพื่อส่งเงินกลับมาให้คนที่บ้านนอกใช้ 

ความไม่เอาไหนของอู๊ดคงเป็นชายที่ไม่รวย ทำงานเป็นพนักงานร้านอาหารไทย อยู่บ้านพักราคาถูก และต้องเก็บเงินเพื่อซื้อของให้คนที่เขาแอบชอบ ความไม่เอาไหนของชายในเรื่องสองคนจึงไม่เท่าเทียมกันแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นความไม่เอาไหนของเพศชาย ดังนั้นเพศชายที่สิ้นฤทธิ์แต่ก็ยังมีลำดับชั้นของการสูญเสียอำนาจ หรือการดำรงสถานะของเพศชายที่คงเหลือไว้ไม่เท่ากัน

แต่ความไม่เอาไหนก็ไม่ได้จำกัดไว้แต่เพศชาย เพราะความไม่เอาไหนใน One for the Road กลับขยายไปถึงความไม่เอาไหนของวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่อายุเข้าใกล้สามสิบทั้งชายหญิง อลิซที่กลับจากอเมริกามาเปิดร้านสอนเต้นที่ลูกค้าถูกกลืนด้วยผู้สูงอายุ ถ้าหากการเต้นเป็นเรื่องของคนมีเงินและเวลาว่าง แต่วัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายหลักของร้านกลับไม่มีเงินและไม่มีเวลา หนูนาดูจะไปได้ดีที่สุด และอาจไม่ถูกจัดว่าเป็น “คนไม่เอาไหนในวัยสามสิบ” เธอไปได้ดีกับอาชีพนักแสดงตามความฝันที่เธอไปนิวยอร์ก 

หนูนาดูจะรอดพ้นจากจำกัดความของความไม่เอาไหนของวัยสามสิบได้ เช่นเดียวกับรุ้งที่มีครอบครัวอบอุ่นเมื่อเธอได้พบรักกับชาวต่างชาติ การแต่งงานข้ามเชื้อชาติเป็นเรื่องปกติ พัชรินทร์ ลาภานันท์ (2012) ลงพื้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี พบว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติไม่ใช่เพื่อเงินเพียงเดียว และมีเหตุผลอื่นๆ ที่ซับซ้อนเช่น ผิดหวังจากชายไทย ต้องการมีชีวิตสามีภรรยาที่มีความสุข ต้องการให้ลูกได้รับการศึกษา หรือครอบครัวสนับสนุนให้แต่งงาน แต่การแต่งงานกับชาวต่างชาติไม่ได้ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นเสมอไป (ทิพย์สุดา ปรีดาพันธุ์, 2558)

ตั๊ก แม่ของบอสก็อาจพยายามต่อรองกับสภาพเศรษฐกิจและความไม่มั่นคงของครอบครัวไม่ต่างจากรุ้งเพียงแต่คนละเงื่อนไข การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอาจทำให้เธอจำใจต้องสร้างเรื่องเล่าว่าลูกของเธอเป็นน้องชาย เพื่อหวังว่าจะได้มีชีวิตครอบครัวที่ดีและบอสจะได้มีการศึกษาที่ดีในประเทศที่โอกาสจะมาพร้อมกับเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ หนักแน่นในการย้ำเสมอถึงความไม่มั่นคงของชีวิตโดยเฉพาะตั้งแต่เจนวายเป็นต้นมาที่ต้องเผชิญ นับตั้งแต่ Countdown (2012) 

ครอบครัวของบอสจึงเป็นครอบครัวที่เราได้เห็นแม่แต่ไม่ได้เห็นพ่อ ต่างจากครอบครัวของอู๊ดที่เราได้เห็นพ่อแต่ไม่ได้เห็นแม่ นี่แสดงให้เห็นถึงครอบครัวที่เว้าแหว่งไม่เป็นไปตามขนบของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับ พริม ที่เราไม่ได้เห็นพ่อ แต่เราได้เห็นแม่ ผู้เป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ราวกับว่าความเว้าแหว่งของครอบครัวต่างๆ นี้เป็นเหมือนคำสาปกับมนุษย์ให้ต้องหาชิ้นส่วนมาเติมเต็มอยู่เสมอ 

การเติมเต็มเป็นเพียงเรื่องของผู้ชายหรือไม่ อู๊ดที่อิจฉาอยากเป็นแบบบอส บอสที่รู้สึกขาดพริมจึงไปใช้ชีวิตสำมะเลเทเมา พริมที่สร้างผลงานการชงเหล้าจากความทรงจำที่เธอมีกับบอส หนูนาที่สร้างผลงานการแสดงได้ถึงบทบาทเพราะความโกรธแค้นจากความสัมพันธ์ของเธอกับอู๊ด รุ้งที่เริ่มต้นชีวิตใหม่เมื่อผิดหวังจากอู๊ด และตั๊กที่ยอมมีสามีใหม่และให้ลูกเรียกเธอว่าพี่สาวเพื่อจะได้ให้ลูกมีชีวิตที่ดี 

การเว้าแหว่งและการเติมเต็มจึงดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของทั้งชายและหญิง แต่จริงๆ แล้วมันถูกอธิบายได้ด้วยเรื่องของการขาดหรือไม่ เราขาดหรือเราถูกทำให้รู้สึกขาด ทั้งๆ ที่มันอาจเป็นเพียงเรื่องของการยึดติดและการพลัดพราก (attachment and detachment) มันเป็นเรื่องปกติหรือไม่ที่เราจะรู้สึกยึดติดในบางครั้งและเราก็รู้สึกว่าพลัดพรากในบางคราว 

เพราะหากมองว่ามันเป็นเรื่องของการอิจฉาองคชาติ (penis envy) ผู้หญิงที่รู้สึกว่าองคชาติขาดหายไปและต้องตามหา เหมือนเป็นกระดูกซี่โครงของอดัม หรือเพศชายที่ต้องสร้างอัตลักษณ์ของตนเองตามพ่อราวกับเป็นปมตั้งแต่สามขวบ การอิจฉาองคชาติจึงเป็นเหมือนบาปที่ทุกคนต้องรู้สึก เป็นบาปของมนุษย์ที่ต้องสารภาพและจำนน แต่มันใช่หรือไม่เมื่อใน One for the Road ผู้หญิงกลับเป็นองค์ประธานผู้กุมอำนาจไว้ไม่น้อย 

เพศชายเป็นฝ่ายผิดหวังเมื่อกลับไปหาแฟนเก่าและนำวัตถุของความทรงจำไปคืน เพศชายต้องพบว่าแฟนเก่าไม่ใช่ภาพฝันที่เขาสร้างไว้ เพศชายที่พบว่าเพศหญิงมิใช่สิ่งหยุดนิ่งและเข้าถึงได้อย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับปมที่มิใช่สิ่งที่รอคอยการกลับเข้าไปวิเคราะห์หรือแก้ไข ดังเช่น หนูนาที่ไม่แม้แต่จะมองหน้าอู๊ด เธอเขวี้ยงตุ๊กตาออสการ์ที่เขาตั้งใจเอามาให้ เหมือนกับรุ้งที่โกหกว่าไปสิงคโปร์และไม่ยอมแม้แต่จะเจออู๊ด ไปจนถึงพริมเองที่แม้จะเลิกรากับบอส เธอก็ยังคงใช้ชีวิตต่อไปได้ เช่นเดียวกับอลิซที่ดิ้นรนและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจโรงเรียนสอนเต้นได้ถึงแม้ว่าอู๊ดจะมาหาเธอหรือไม่ก็ตาม 

ผู้ชายในเรื่องจึงเป็นชายไม่เอาไหนที่มีปมกับคนรัก และเป็นด้านกลับของปมเพศหญิงที่ต้องเข้าหาผู้ชาย ผู้หญิงในเรื่องจึงมิใช่ผู้หญิงที่ใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้เพราะขาดผู้ชาย พวกเธอดำรงชีวิตต่อไปและมีวิธีการเยียวยาบาดแผลในอดีตได้ในแบบของพวกเธอ เพศหญิงจึงไม่ใช่ฝ่ายที่รอคอยให้เพศชายไปแก้ปมในอดีตเพื่อให้พวกเธอใช้ชีวิตต่อไปได้ราวกับผู้ชายเป็นพระผู้ไถ่ ผู้ชายในเรื่องต่างหากที่ยังยึดติดกับอดีตแต่หลงคิดไปว่าตนเองได้ก้าวข้ามผ่านไปแล้ว เมื่อความตายมาถึงตรงหน้า ความเป็นชายในตัวอู๊ดเริ่มถูกท้าทาย และเป็นโมงยามที่เขาได้กลับไปสำรวจอดีตที่ตนไม่กล้าเผชิญหน้า

แล้วถ้าเราเทียบ One for the Road กับ Drive My Car ทำไมเราจึงอาจจะชอบ Drive My Car มากกว่า เพราะรถอันเป็นพื้นที่ส่วนตัวของคาฟูกุค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่ส่วนรวม เป็นความทรงจำร่วมของการเปิดบาดแผลและเยียวยา เมื่อเขากล้าเผชิญหน้ากับความจริง พร้อมๆ กับมิซากิ หญิงที่เลี้ยงชีพด้วยการขับรถ เราอาจชอบเพราะ Drive My Car มันไม่หมกมุ่นกับเพศชาย พื้นที่รถไม่ได้ถูกครอบครองด้วยเพศชาย? ต่างจากใน Drive My Car ที่รถเป็นพื้นที่ต่อรองทางชนชั้นระหว่างเจ้านายและลูกจ้าง ระหว่างชายและหญิง ระหว่างความทรงจำของปัจเจกและความทรงจำร่วมของสังคมญี่ปุ่นร่วมสมัย

หรือเพราะเรื่องของ One for the Road มันหมกมุ่นกับภาพฝันคนรวยของบอส ในขณะที่ Drive My Car พาเราไปเผชิญกับชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชีวิตแบบคาฟุกุ ข้อถกเถียงนี้ก็ถูกจะตกไปเมื่อพบว่าใน One for the Road ก็มีตัวละครจากชนชั้นอื่นๆ ได้แก่ พริม หญิงสาวที่เกิดจากความสัมพันธ์ข้ามเชื้อชาติในเมืองพัทยา นี่ก็ทำให้เราได้เห็นชีวิตอื่นๆ ที่นอกจากบอส แต่แน่นอนว่าโร้ดมูฟวี่ใน One for the Road ก็คงไม่ใช่แบบที่เราจะพบใน Mysterious Object at Noon (2000) ที่มันแทบจะเป็นนิทานและสารคดีจากชนชั้นแบบพริมหรือยิ่งกว่าพริม

เมื่อการเดินทางของเรื่องเล่าผ่านรถใน One for the Road และ Drive My Car ดูจะเป็นการเดินทางที่ถีบคนดูอย่างเราออกไป ทั้งรถเก่าคลาสสิคและชีวิตที่ร่ำรวยแบบไม่รู้จะใช้เงินอย่างไรหมด ทั้งเพลงฝรั่งและการชงเหล้า ทั้งมุราคามิและนิยายรัสเซีย ผลไม้ปริศนาใน Mysterious Object at Noon กลับเป็นพาหนะที่พาเราไปยังเรื่องราวที่ดึงดูดเราให้ติดตามมากกว่า หรือเป็นเพราะเรากระหายเรื่องเล่าที่เหมือนกับชีวิตของเราในชีวิตประจำวัน ชีวิตที่ลำบากและไม่สมบูรณ์ ชีวิตที่ไม่ลงเอยอย่างงดงามด้วยการเป็นเจ้าของบาร์ที่ปลดหนี้ได้ ชีวิตที่ไม่อาจก้าวข้ามอดีตได้อย่างหมดจด ชีวิตที่ไม่อาจสะสางแก้ทุกปมได้ก่อนจากไปในระยะสุดท้ายของชีวิต 

Drive My Car (2021, ริวสุเกะ ฮามากุจิ)

แต่บางครั้งเราก็อยากฟังเรื่องเล่าของชีวิตที่สุขสบายกว่าเรา บางครั้งที่รู้สึกว่าการดูชีวิตที่เศร้าและผิดหวังยิ่งเป็นการตอกย้ำชีวิตที่เปราะบางภายใต้รัฐ เหมือนที่เราชอบดูละครหลังข่าว วล็อกเกอร์ที่พาไปเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่ หรือสารคดีนำเสนอรัฐสวัสดิการ เพราะชีวิตที่สุขสบายเป็นอะไรชวนฝันและดึงดูดเราอยู่เสมอ แม้ว่าชีวิตที่สุขสบายพวกนั้นอาจไปได้ดีกับทุนนิยมหรือการมีอยู่ของรัฐ 

คำถามคือว่า เราไม่อินกับ One for the Road เพราะค๊อกเทล เพลงฝรั่ง รถหรู และวรรณกรรมต่างประเทศเพราะมันเป็นรสนิยมแบบชนชั้นกลางระดับสูงจริงๆ หรือไม่ จากบาร์ใน Drive My Car ที่เป็นพื้นที่เปิดใจระหว่างคาฟุกุกับโคจิ ไปจนถึงบาร์ใน One for the Road ที่เปิดพื้นที่ระหว่างบอส อู๊ด พริม ตั๊ก และคนอื่นๆ เช่นเดียวกับรถ Saab 900 สีแดงไปจนถึง BMW 2000C/CS ที่เป็นทั้งพาหนะและพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องราว จะเห็นได้ว่าชื่อเรื่อง One for the Road หรือ “สักแก้วก่อนเดินทางต่อ” ที่อาจหมิ่นเหม่ต่อคำสอนที่ว่า “ไม่ดื่มก่อนขับ” และอาจเป็นชื่อบาร์ในฝันของพริม การดื่มเหล้าที่ถูกบรรจงชงและตั้งชื่อในเรื่องไม่อาจสรุปได้อย่างง่ายๆ ว่าค็อกเทลเป็นเรื่องของชนชั้นกลางใช้เพื่อการมีสุนทรีย์กับชีวิต หรือกระทำการโรแมนติกเพื่อหลงลืมความลำบากของชนชั้นแรงงาน เพราะการดื่มค็อกเทลก็มีบทบาทคล้ายกับวงเหล้าไทบ้าน บาร์เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรื่องราว เยียวยาบาดแผล และเผชิญหน้ากับความจริงพอๆ กับวงเหล้าขาว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้รัฐไทย การเข้าถึงค็อกเทลไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เมื่อเทียบกับเหล้าขาวหากคุณไม่มีเงินพอ 

เหล้ามีบทบาทที่เคลื่อนย้ายจากสิ่งที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในการบูชาผีในสังคมก่อนมีรัฐเพื่อสื่อสารกับสิ่งที่มองไม่เห็น หรือทำให้มองเห็นความจริงอีกแบบ มาจนถึงสังคมอุตสาหกรรมและทุนนิยมที่เหล้าสามารถสั่งได้บนมือถือ จากที่เหล้าหาได้เพียงบางช่วงของปีกลายเป็นหาได้ตลอดเวลา ทั้งค๊อกเทลและเหล้าขาวจึงทำหน้าที่เดียวกันเพื่อใช้ในการลืมปัจจุบันที่โหดร้ายในสังคมที่ไม่มั่นคงและอดีตที่เจ็บปวด สังคมสมัยใหม่จึงมาพร้อมการเสพติดแอลกอฮอล์ แต่การดื่มเหล้าก็ทำให้ผู้ดื่มกล้าที่จะเล่าเรื่องราวในวงเหล้ามากขึ้นกว่าปกติและเผชิญหน้ากับความจริงได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าเหล้ามักถูกใช้จนกระทั่งเพื่อให้ผู้ดื่มหลุดจากความเป็นจริงเสียมากกว่า เพราะโลกความจริงเป็นสิ่งที่ไม่น่าอยู่ แม้ว่าการดื่มเหล้าในระยะยาวจะเป็นการทำลายสมองส่วนความทรงจำและอารมณ์ สมองส่วนหน้า และสมองน้อย

การดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ต่างจากการดูหนัง ที่ในบางครั้งเราก็อยากดื่มค็อกเทลในบาร์ และในบางครั้งเราก็อยากดื่มเหล้าในวงมิตรสหาย ปัญหาจึงไม่ได้มีอยู่ว่าค็อกเทลหรือเหล้าขาวดีกว่ากัน แต่ทำอย่างไรที่การใช้แอลกอฮอล์ทั้งสองแบบจะเป็นเรื่องปกติ มิใช่เป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ระหว่างชนชั้น มิใช่เป็นเรื่องผู้ชายหรือของผู้หญิง และมิได้เป็นเพื่อหลบหนีโลกความความจริงภายใต้รัฐที่ไม่แน่นอน รัฐที่สัญญากับเราว่าจะบันดาลประโยชน์สุขให้กับอาณาประชาราษฎร์

“เกือบจะไม่ได้เป็น The Godfather” 10 เกร็ดสำคัญ วิบากกรรมเบื้องหลังการถ่ายทำ

1) The Godfather เป็นโปรเจกต์ที่ไม่มีผู้กำกับคนไหนอยากจับ และคอปโปลาเกือบโดนไล่ออกระหว่างถ่ายทำ

ก่อนตกมาถึงมือ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา หนังเรื่องนี้ของค่ายพาราเมาท์เคยโดนผู้กำกับดังๆ ปฏิเสธมาแล้วถึง 12 คน ทั้งอีเลีย คาซาน, อาร์เธอร์ เพนน์, ริชาร์ด บรูคส์, คอสตา-กาฟราส, เซอร์จิโอ เลโอเน, ปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช ฯลฯ และเมื่อคอปโปลาตกลงมากำกับ ทางค่ายก็ไม่ชอบ “หนังเจ้าพ่อพูดมากท่าทางเศร้าๆ” แบบที่เขาทำอีก แถมเขายังถ่ายช้ากว่ากำหนดมาก ซึ่งทำให้ค่ายหัวเสียสุดๆ ถึงขั้นมีการเตรียมผู้กำกับสำรองไว้รอเรียบร้อยแล้ว

กระทั่งคอปโปลาถ่ายฉากไมเคิลฆ่าโซลอซโซกับแม็กคลัสกี้นั่นเองที่ค่ายชักเริ่มชอบใจในความโหดและยอมให้เขาทำต่อ

(เซอร์จิโอ เลโอเนปฏิเสธโปรเจกต์นี้ในตอนแรกเพราะรู้สึกว่าพล็อตเชิดชูมาเฟียไม่เห็นน่าสนใจ แต่ต่อมาเขาก็เสียใจมากและไปทำหนังเจ้าพ่อของตัวเองบ้างคือ Once Upon a Time in America ปี 1984)


2) คอปโปลาเองก็เกือบปฏิเสธหนังเรื่องนี้เช่นกัน

เหตุผลเดียวที่เขายอมมาทำ ก็เพราะตอนนั้นบริษัทของเขากับเพื่อนรักอย่าง จอร์จ ลูคัส กำลังติดหนี้ค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สก้อนใหญ่ สืบเนื่องจากหนังที่พวกเขาสร้างคือ THX 1138 (1971 – ลูคัสกำกับ) ใช้เงินเกินงบถึง 4 แสนเหรียญ ลูคัสจึงยุให้คอปโปลามารับงานนี้เพื่อหาเงินใช้หนี้


3) พาราเมาท์อยากให้เปลี่ยนฉากหลังของเรื่องเป็นปัจจุบัน แต่คอปโปลาไม่ยอม

พาราเมาท์ต้องการให้คอปโปลาทำ The Godfather เป็นหนังเจ้าพ่อทุนต่ำและเล่าเรื่องในยุคปัจจุบัน รวมทั้งย้ายไปถ่ายทำที่แคนซัสซิตี้ซึ่งต้นทุนจะถูกกว่าถ่ายในนิวยอร์กซิตี้ แต่คอปโปลายืนกรานว่านี่ต้องเป็นหนังดราม่าพีเรียด ฉากหลังอยู่ในนิวยอร์กยุค 40-50 เท่านั้นเพื่อความเข้มข้นของเรื่องราว


4) พาราเมาท์ไม่อยากได้มาร์ลอน แบรนโดมาแสดงนำ

ทันทีที่ได้ยินข้อเสนอของคอปโปลาว่าแบรนโดเหมาะมากกับบทวีโต คอร์เลโอเน ผู้บริหารพาราเมาท์ในตอนนั้นก็ตอบว่า “ดาราคนนี้จะไม่มีวันได้เล่นหนังค่ายเราเด็ดขาด” แล้วก็กดดันให้คอปโปลาไปเลือกลอเรนซ์ โอลิเวียร์มาแทน (นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า ออร์สัน เวลส์ก็อยากมาเล่นบทนี้มากๆ ถึงขั้นยืนยันว่าจะยอมลดน้ำหนักให้)

อย่างไรก็ดี หลังเจอลูกตื๊อหนักหน่วงจากคอปโปลา ค่ายก็ใจอ่อน แต่ขอตั้งเงื่อนไข 3 ข้อว่า แบรนโดจะต้องยอมมาทำสกรีนเทสต์ก่อน, หากได้รับเลือก แบรนโดต้องยอมเล่นหนังเรื่องนี้ฟรี และถ้าแบรนโดมีพฤติกรรมแย่ๆ ในกองถ่ายจนเกิดความเสียหาย เขาจะต้องจ่ายเงินรับผิดชอบ

เมื่อดีลค่ายสำเร็จแล้ว คอปโปลาก็ต้องไปดีลแบรนโดมาให้ได้ เขาทำให้แบรนโดยอมมาสกรีนเทสต์ด้วยการหลอกว่า “คุณได้รับเลือกแล้ว ขอนัดมาลองเมคอัพหน่อย” จากนั้นเขาก็นำฟุตเตจการเทสต์นี้กลับไปให้ทางค่ายดู ซึ่งโชคดีที่ค่ายชอบมากถึงขนาดยอมให้แบรนโดมาเล่นและยอมยกเลิกเงื่อนไขข้อ 2 กับ 3 อีกต่างหาก

ฝ่ายแบรนโดนั้น กว่าจะยอมตกลงมาเล่นก็มีเงื่อนไขเช่นกัน เขาบอกคอปโปลาว่าจะโอเคมาแสดงให้ ต่อเมื่อไม่มีเบิร์ต เรย์โนลด์ส (ซึ่งเกือบจะได้เล่นเป็นซอนนี่) ร่วมแสดงเท่านั้น เพราะเขามองว่าเรย์โนลด์สเป็นแค่ “ดาราทีวี” ไม่ใช่ “ดาราหนัง”


5) พาราเมาท์ก็ไม่อยากได้อัล ปาชิโนมาแสดงนำ

พวกเขาอยากได้โรเบิร์ต เรดฟอร์ด หรือไม่ก็ไรอัน โอนีล มาเล่นเป็นไมเคิล คอร์เลโอเน แต่คอปโปลาดึงดันว่าต้องเป็นปาชิโนเท่านั้น และมันก็กลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดของหนัง (ปาชิโนได้ค่าตัวจากบทนี้แค่ 35,000 เหรียญ -เท่ากับเจมส์ คานและไดแอน คีตัน- แต่หลังจากนั้นเขาไปโด่งดังสุดๆ จาก Scarecrow กับ Serpico และเมื่อได้รับการทาบทามให้กลับมาเล่น The Godfather: Part II เขาเลยขึ้นค่าตัวเป็น 6 แสนถ้วน)


6) พาราเมาท์ไม่ชอบที่หนัง “มืดเกินไป”

หลังจากได้เห็นฟุตเตจ ผู้บริหารค่ายก็บ่นอุบว่าหนังมืดเหลือเกินและพยายามแนะนำให้จัดแสงมากกว่านี้ แต่ กอร์ดอน วิลลิส ผู้กำกับภาพยืนยันว่าแสงเงาแบบนี้แหละเหมาะสมกับการถ่ายทอดเรื่องราวธุรกิจมีเงื่อนงำของครอบครัวคอร์เลโอเนมากที่สุด (วิลลิสเป็นผู้กำกับภาพที่ได้รับฉายาว่า “The Prince of Darkness”)

คอปโปลาเองก็ช่วยวิลลิสเถียงกับค่ายจนชนะ ดูราวกับเป็นผู้กำกับและผู้กำกับภาพที่รักกันมาก แต่ความจริงแล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งสองในกองถ่ายนั้นสุดจะย่ำแย่ พวกเขาเคยทะเลาะกันในออฟฟิศแล้วคอปโปลาทุ่มของลงพื้นเสียงโครมครามจนคนนอกห้องตกใจเพราะนึกว่าเป็นเสียงกระสุนที่คอปโปลายิงตัวตายไปแล้ว สาเหตุสำคัญข้อหนึ่งของการวิวาทก็คือ วิลลิสเป็นตากล้องที่โหดมาก ชอบจัดไฟมืดๆ และบังคับให้นักแสดงยืนตรงจุดที่กำหนดเป๊ะๆ ถ้าใครยืนผิดเขาจะปิดไฟแล้วสั่งให้ถ่ายไปเลยในความมืด ทำให้คอปโปลาต้องหัวร้อนออกมาทะเลาะกับวิลลิสแทนนักแสดงบ่อยๆ


7) โรเบิร์ต เดอ นีโรเกือบได้เล่นเป็นตัวอื่น

ความจริงแล้วเดอ นีโรมาแคสต์ในบทซอนนี่ แต่เป็นคอปโปลาอีกนั่นแหละที่เล็งเห็นว่าบุคลิกของเดอ นีโรดูเหี้ยมโหดรุนแรงเกินบทนี้ไปเยอะ และตัดสินใจเลือกเขามารับบทวีโต คอร์เลโอเนใน The Godfather: Part II แทน ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องน่าคารวะจริงๆ และเดอ นีโรชนะออสการ์ไปจากบทนี้


8) เปลี่ยนวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส

หน้าตาดูเป็นหนังฟอร์มยักษ์ แต่เบื้องหลังที่แท้จริงสุดจะกระเบียดกระเสียร หลายครั้งคอปโปลาได้เวลาถ่ายทำน้อยจนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ด้วยความอัจฉริยะมันก็ออกมาเป็นความงดงามจนได้

ตัวอย่างเช่น ฉากเลนนี่ มอนทานาซึ่งรับบทเป็นลูกา ต้องคุยกับแบรนโดในบทวีโต แต่มอนทานา (ซึ่งเป็นนักมวยปล้ำมาก่อน) เกิดประหม่าซะจนแม้จะถ่ายอยู่ทั้งวันก็ยังพูดผิดๆ ถูกๆ คอปโปลาไม่มีเวลาถ่ายใหม่แล้วจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มฉากเล็กๆ ให้มอนทานาทำเป็นซ้อมพูดคนเดียวก่อนไปเจอเจ้าพ่อ แล้วเอานำมาแทรกไว้ก่อนถึงฉากคุยกับแบรนโดจริงๆ อันเป็นวิธีแก้ที่ทำให้คนดูได้เห็นว่าลูกาคงกลัววีโตมาก และการพูดประหม่าของเขาไม่ใช่เพราะนักแสดงเล่นแข็งนะ แต่เป็นเพราะตัวละครกลัวมากๆ ต่างหากล่ะ


9) เกือบจะต้องฉายแบบมีพักครึ่ง

หนังฉบับที่คอปโปลาทำส่งพาราเมาท์ตอนแรกนั้น มีความยาว 2 ชม. 6 นาที แต่ทางค่ายดูแล้วไม่ชอบใจและสั่งให้คอปโปลาเพิ่มฉากเกี่ยวกับครอบครัวคอร์เลโอเนเข้าไปอีก จนหนังฉบับไฟนอลยาวเพิ่มอีกเกือบ 50 นาที (คือยาว 175 นาทีหรือเฉียด 3 ชั่วโมง) ซึ่งก็ถือว่ายาวเกินมาตรฐานหนังฮอลลีวู้ดไปมาก ทางค่ายจึงดำริจะให้มีการพักครึ่ง (หลังฉากยิงโซลอซโซ) ด้วย แต่คอปโปลาไม่โอเคเพราะคิดว่ามันจะทำลายอารมณ์ต่อเนื่องของคนดูได้ สุดท้ายหนังจึงได้ฉายรวดเดียวแบบไม่มีการพัก

10) ทะเลาะกันยันชื่อหนัง

คอปโปลาต้องสู้ยิบตากระทั่งเรื่องชื่อหนัง เขายืนยันว่าต้องใช้ “Mario Puzo’s The Godfather” (และกราฟิกดีไซน์ที่เป็นภาพเส้นเชือกเชิดหุ่น โดยมีชื่อพูโซอยู่ด้านบน) ไม่ใช่แค่ “The Godfather” เฉยๆ เพราะบทหนังของเขาซื่อตรงต่อบทต้นฉบับของพูโซมากจนเขาเชื่อว่าสมควรให้เครดิตแก่พูโซด้วย


เกร็ดแถมท้าย :

ท้ายที่สุด หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัลขนาดไหนนั้นคงเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว แต่อีกหนึ่งหลักฐานยืนยันความสำเร็จของมันที่เราอาจไม่ค่อยได้ยินกันบ่อยนักก็คือ ในปี 1974 สถานีเอ็นบีซีนำ The Godfather มาฉายออนแอร์ 2 คืน (เสาร์ 16 และจันทร์ 18 พฤศจิกายน) ตั้งแต่ 3 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม และผลคือ เมื่อถึงเวลา 5 ทุ่มเป๊งของทั้งสองคืน การประปาของนิวยอร์กซิตี้ก็ต้องเจอปัญหาน้ำล้นท่อ เพราะคนทั่วนิวยอร์กนั่งดูหนังเรื่องนี้ติดเก้าอี้หนึบไม่ยอมลุก จนหนังจบปุ๊บจึงค่อยวิ่งเข้าส้วมและกดชักโครกพร้อมกันทั้งเมือง

ออสการ์โดนด่ายับ แผนตัดถ่ายทอด “8 สาขาไม่น่าสนใจ” หวังดึงเรตติ้ง

รางวัลออสการ์กลายเป็นประเด็นโดนด่ารอบวงการอีกแล้ว เมื่อทางสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ประกาศว่า การถ่ายทอดสดพิธีมอบรางวัลปีนี้จะตัดออก 8 สาขา โดยจะใช้วิธีมอบบนเวทีล่วงหน้า 1 ชั่วโมง แล้วพอเข้าสู่ช่วงถ่ายทอดสดไปทั่วโลกจึงค่อยตัดคลิปผู้ชนะเหล่านั้นแทรกเข้ามาแทน ซึ่ง 8 สาขาผู้โชคร้ายดังกล่าวได้แก่ สาขาตัดต่อ, เมคอัพ, ดนตรีประกอบ, โปรดักชั่นดีไซน์, บันทึกเสียง, หนังสั้น, สารคดีสั้น และแอนิเมชั่นสั้น

เดวิด รูบิน ประธานสถาบันบอกเหตุผลว่า เป็นเพราะเรตติ้งของพิธีแจกรางวัลร่วงลงเรื่อยๆ ท่ามกลางเสียงบ่นจากทั้งสถานีเอบีซีผู้ถ่ายทอดสด, สมาชิกสถาบัน และผู้ชมทั่วโลกว่า พิธีช่างเยิ่นเย้อน่าเบื่อหน่าย โดยเฉพาะเมื่อต้องเสียเวลานั่งดู “ใครก็ไม่รู้ไม่เห็นจะรู้จัก” เดินขึ้นมารับรางวัลบนเวที

ความพยายามของสถาบันฯ ที่จะแก้ปัญหาเรตติ้งร่วงมีมาแล้วหลายครั้ง เมื่อปี 2019 พวกเขาคิดถึงขั้นจะตัด 4 สาขาออกไปแจกในช่วงที่ทีวีพักโฆษณาแทน แต่โดนด่าเละจึงต้องยกเลิกแผนไป จนมาถึงปีนี้ที่แผนพิฆาตถูกนำกลับมาใช้อีกรอบอย่างดุเดือดกว่าเดิม

แม้รูบินจะยืนยันว่า นี่เป็นแค่การ “ขยับจังหวะการมอบรางวัล” เท่านั้น ผู้ชมการถ่ายทอดสดจะไม่ได้เห็นชัยชนะของ 8 สาขาดังกล่าวแบบสดๆ แต่ก็จะยังได้เห็นหน้าทุกคนครบอยู่ดีไม่มีใครหาย ทว่าก็ยังมีข่าวหลุดจากวงในว่า สถาบันฯ มีแผนจะตัดคลิปรับรางวัลของสาขาเหล่านั้นให้เหลือสั้นที่สุดด้วย โดยเราจะไม่ได้ยินเสียงปรบมือหลังชื่อผู้ชนะถูกประกาศ, ไม่เห็นภาพพวกเขาค่อยๆ เดินขึ้นเวที, ได้ยินสปีชรับรางวัลแค่ช่วงต้น และไม่ได้เห็นภาพคนในงานปรบมือหลังพวกเขาได้ถือออสการ์แล้ว (ซึ่งจะเป็นจริงตามนี้หรือไม่ต้องติดตามต่อไป)

แน่นอนว่าแผนนี้ถูกโจมตีอย่างหนักทันทีที่เป็นข่าว นักวิจารณ์หลายสำนักบอกว่ามันเป็นการแสดงทัศนคติของออสการ์ที่ “ให้ค่าคนทำงานไม่เท่ากัน” และ “ไม่แคร์จิตใจคนที่ชอบดูการแจกรางวัล แต่ดันหวังจะดึงความสนใจของคนที่ไม่เคยนึกอยากดู” ซึ่งเป็นความพยายามอันไร้สาระมาก

ขณะที่ American Cinema Editors Board of Directors ก็แสดงความผิดหวังต่อแผนนี้ เช่นเดียวกับ จอห์น ออตต์แมน เจ้าของรางวัลออสการ์ตัดต่อยอดเยี่ยมปี 2019 จาก Bohemian Rhapsody ที่บอกว่า “การใส่โชว์เต้นและมุกตลกโง่ๆ เข้ามาเพิ่มไม่ได้ช่วยให้เรตติ้งคุณเยอะขึ้นหรอกนะ แต่การจัดงานที่ให้เกียรติและยกย่องศิลปะการสร้างภาพยนตร์ในทุกแง่มุมต่างหากที่อาจจะช่วย”

“เหยียดคนญี่ปุ่น” เป็นเหตุหนังคลาสสิก Breakfast at Tiffany’s เจอเซ็นเซอร์ย้อนหลัง

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทันที เมื่อ Channel 5 เครือข่ายทีวีในอังกฤษลงมือเซ็นเซอร์ Breakfast at Tiffany’s หนังอเมริกันคลาสสิกปี 1961 โดยไม่ใช่แค่การเบลอภาพหรือตัดทิ้งไม่กี่นาทีแบบการเซ็นเซอร์ทั่วไป แต่สั่งตัดฉากที่มี “ตัวละครปัญหา” ทิ้งทุกฉาก

ตัวละครที่ว่านี้ก็คือ “มิสเตอร์ยูนิโอชิ” ชายชาวญี่ปุ่นซึ่งรับบทโดย มิกกี้ รูนีย์ ที่เมคอัพผิวให้กลายเป็นผิวเหลือง ใส่ฟันเหยิน ติดเทปดึงตาให้ตี่ และพูดติดสำเนียงเว่อเกินจริง แน่นอนว่าบทนี้อาจเป็นเพียงสีสันหรืออารมณ์ขันเมื่อครั้งหนังเพิ่งออกฉาย แต่ปัจจุบันมันถูกมองว่าเป็นการใช้ดาราผิวขาวมาเล่นเป็นคนญี่ปุ่นแบบล้อเลียนด้วยท่าทีเหยียดเชื้อชาติ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Channel 5 ตัดสินใจสั่งตัดตัวละครนี้ทิ้งทั้งยวงก่อนปล่อยฉายทางช่อง

กรณีนี้สร้างกระแสถกเถียงอย่างกว้างขวาง เพราะแม้หนังเรื่องนี้จะเคยฉายทางทีวี (เช่น สถานี Sky) และมีการขึ้นคำเตือนเพื่อกระตุ้นให้คนดูสังเกตการมีอยู่อย่างไม่เหมาะสมของตัวละครตัวนี้มาแล้ว แต่นี่คือครั้งแรกที่ถึงขั้นมีการเซ็นเซอร์ด้วยการตัดตัวละครทิ้งทั้งหมด ซึ่งทำให้บางฝ่ายเกิดคำถามว่าเป็นการ “เขียนประวัติศาสตร์ใหม่” ที่ “น่าเป็นห่วง” หรือไม่

เทอร์รี กิลเลียม ผู้กำกับอังกฤษและอดีตทีมงานนักแสดงตลกเลื่องชื่อมอนตี ไพธอน แสดงความเห็นว่า “ดูเหมือนการเซ็นเซอร์จะเติบโตขึ้นทุกวันในวงการหนังอังกฤษ การที่คนปัจจุบันมาตัดตัวละครออกจากหนังที่เคยผ่านการพิจารณาของคณะเซ็นเซอร์ในอดีตมาแล้ว มันดูเป็นเรื่องประหลาดและอันตรายมาก”

ฌอน เฮปเบิร์น เฟอร์เรอร์ ลูกชายของออเดรย์ เฮปเบิร์น นักแสดงนำหญิงของ Breakfast at Tiffany’s (ซึ่งได้เข้าชิงรางวัลออสการ์จากบทนี้ด้วย) แสดงความเห็นว่า “ผมคิดว่าเวลาเราจะมองหนังเรื่องไหน เราต้องมองมันด้วยสายตาของคนในยุคสมัยนั้นนะครับ ไม่ใช่มองด้วยมุมมองของคนยุคสมัยเรา ราวกับว่ายุคเราเท่านั้นที่สำคัญที่สุด”

การตัดตัวละครของรูนีย์ทิ้ง มีผลต่อเนื่องให้หนึ่งในประโยคสนทนาโด่งดังของเฮปเบิร์นในหนังต้องพลอยหายไปด้วย ฉากดังกล่าวเป็นตอนที่เธอปลุกยูนิโอชิให้ตื่นแล้วเขาโมโหจัด โดยในหนังเวอร์ชั่นใหม่ทาง Channel 5 คนดูจะไม่ได้ยินเสียงตอบของเขา รวมทั้งบทพูดท่อนต่อมาของเฮปเบิร์นที่ว่า “อย่าโกรธเลยค่ะพ่อหนุ่มร่างเล็กรูปหล่อ ฉันจะไม่ทำแบบนี้อีกแล้ว ถ้าคุณสัญญาว่าจะไม่โกรธ ฉันอาจจะยอมให้คุณถ่ายรูปแบบที่เราคุยกันไว้นะ”

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะเอาใจช่วย Breakfast at Tiffany’s เซอร์ริชาร์ด ไอร์ อดีตไดเร็กเตอร์ของ National Theatre ให้สัมภาษณ์อย่างดุเดือดว่า “นอกจากออเดรย์ เฮปเบิร์นแล้ว ส่วนที่เหลือของหนังเรื่องนี้ห่วยแตกทั้งหมด การแสดงของมิกกี้ รูนีย์เป็นสิ่งที่น่าโมโหสุดขีด ความเมตตาที่สุดที่เราควรจะมีให้หนังเรื่องนี้ก็คือเอาฟิล์มมันไปเผาทิ้งซะ”

“ปาร์กชานวุก” เปิดตัวหนังสั้นกำลังภายในถ่ายด้วย iPhone 13 ทั้งเรื่อง

ว่างเว้นจากการทำหนังมาถึง 6 ปี มาจนปีนี้นี่แหละที่ ปาร์กชานวุก ผู้กำกับหนังเกาหลีใต้ลือลั่นอย่าง Oldboy กับ The Handmaiden จะกลับมาพบชาวโลกด้วยหนังดราม่าลึกลับเรื่อง Decision to Leave …แต่ก่อนหน้านั้น มาแก้คิดถึงด้วยหนังสั้น 21 นาทีที่เขาทำร่วมกับ Apple และถ่ายด้วย iPhone 13 Pro ทั้งเรื่องกันก่อน

หนังสั้นที่ว่านี้มีชื่อว่า Life is But a Dream นำแสดงโดย ยูแฮจิน, คิมอ๊กบิน (ซึ่งเคยร่วมงานกับปาร์กใน Thirst) และพัคจงมิน ถ่ายภาพโดยคิมอูฮย็อง (The Little Drummer Girl) และทำดนตรีประกอบโดยจางย็องคยู (Train to Busan, The Good the Bad the Weird) เล่าเรื่องแนวแฟนตาซีกำลังภายในสุดจะเฮี้ยนของสัปเหร่อคนหนึ่งที่ต้องการไม้มาสร้างโลงศพให้คนในหมู่บ้าน พร้อม ๆ กับขุดซากหลุมร้างเก่า ๆ โดยนึกไม่ถึงว่ามันจะกลายเป็นการไปปลุกผีนักดาบโบราณให้ฟื้นตื่นขึ้นมาแล้วไล่ล่าตามหาโลงศพของตนเองคืน

พล็อตแบบนี้และหนังแนวนี้เป็นอะไรที่ใช้ทุนสร้างมหาศาลและแบกรับความกดดันสูงแน่นอนหากทำเป็นหนังขนาดยาวในปัจจุบัน นั่นเป็นเหตุผลที่เมื่อได้รับการชักชวนจาก Apple ให้มาทำหนังสั้นโชว์ศักยภาพ Cinematic mode ของ iPhone 13 ปาร์กชานวุกจึงเลือกมันมาทำเพราะเป็นโอกาสให้ได้เล่นสนุกอย่างมีอิสระเต็มที่ หลังจากเคยได้ลองและติดใจมาแล้วตอนทำ Night Fishing หนังสั้น 33 นาทีที่ถ่ายด้วย iPhone 4 ทั้งเรื่องเมื่อปี 2011

นอกจากตัวหนังสั้น Life is But a Dream แล้ว ยังมีคลิปเบื้องหลังการถ่ายทำยาว 3 นาทีให้ชมด้วย

สำหรับ Decision to Leave หนังยาวเรื่องใหม่ของปาร์ก จะเป็นเรื่องของตำรวจนักสืบที่กำลังสืบคดีฆาตกรรมลึกลับและตกหลุมรักแม่ม่ายสาวนางหนึ่งซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ นำแสดงโดย ถังเหว่ย กับ พัคแฮอิล

รวมเกร็ดเซอร์ไพรส์และสถิติใหม่ของ “ออสการ์ 2022”!

1) The Power of the Dog สร้างสถิติเข้าชิงออสการ์ปีนี้สูงสุดคือ 12 สาขา ตามมาติดๆ ด้วย Dune ชิง 10 สาขา และ West Side Story กับ Belfast เข้าชิงเรื่องละ 7 สาขา โดยทั้ง 4 เรื่องนี้ติดสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมทั้งหมด

2) เจน แคมเปียน (ผู้กำกับ The Power of the Dog) สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมมากกว่า 1 ครั้ง (เรื่องแรกของเธอคือ The Piano ปี 1993) นอกจากนั้นปีนี้เธอยังได้ชิงสาขาเขียนบทดัดแปลงด้วย

3) เคนเนธ บรานาห์ สร้างประวัติศาสตร์เป็นคนแรกที่ได้ชิงออสการ์รวมทั้งหมด 7 รางวัล…ใน 7 สาขาไม่ซ้ำกันเลย!!! โดยเขาเคยชิงสาขานักแสดงนำและผู้กำกับจาก Henry V, ชิงสาขาหนังสั้นจาก Swan Song, สาขานักแสดงสมทบจาก My Week With Marilyn, สาขาเขียนบทดัดแปลงจาก Hamlet และปีนี้เขาชิงทั้งสาขากำกับ โปรดิวซ์ เขียนบทออริจินัล จาก Belfast

4) สตีเวน สปีลเบิร์ก เข้าชิงสาขาผู้กำกับเป็นครั้งที่ 8 แล้ว เป็นจำนวนเท่ากับที่ บิลลี ไวล์เดอร์ เคยทำไว้ โดยยังเป็นรองแค่ 2 คนคือ มาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งเคยได้ชิงรวม 9 ครั้ง และ วิลเลียม วายเลอร์ ผู้เป็นเจ้าของสถิติเข้าชิงสาขานี้ทั้งหมด 12 ครั้ง

5) ไม่เท่านั้น สปีลเบิร์กยังสร้างสถิติใหม่เอี่ยมด้วย ความที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์ของ West Side Story และหนังได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่งผลให้เขาเป็นโปรดิวเซอร์ที่มีหนังเข้าชิงสาขานี้มาแล้วทั้งหมดถึง 11 เรื่อง อันนับเป็นสถิติสูงสุดของรางวัลออสการ์

6) และที่เราต้องร้องแสดงความยินดีให้ดัง ๆ ก็คือ ริวสุเกะ ฮามากุชิ ที่พา Drive My Car มาสร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กับยังได้ชิงอีก 3 สาขาใหญ่คือภาพยนตร์ต่างประเทศ, เขียนบทดัดแปลง และผู้กำกับยอดเยี่ยม ขณะที่ตัวฮามากุชินับเป็นผู้กำกับชาวญี่ปุ่นคนที่ 3 ที่ได้ชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม (ถัดจาก ฮิโรชิ ทาชิกะฮาระ จาก Woman in the Dunes ปี 1964 และ อากิระ คุโรซาวะ จาก Ran ปี 1985)

7) นอกจากนั้น Drive My Car ยังนับเป็นหนังเรื่องที่ 6 เท่านั้นที่ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์สำนักใหญ่ ๆ อย่างสมาคมนักวิจารณ์แอลเอ, นักวิจารณ์นิวยอร์ก และ National Society of Film Critics ก่อนจะมาเข้าชิงออสการ์ปิดท้าย (โดย 5 เรื่องก่อนหน้านี้ที่ทำได้แบบนี้ก็คือ Goodfellas, Schindler’s List, L.A. Confidential, The Hurt Locker และ The Social Network)

8 ) อีกสถิติใหม่ที่น่าฮือฮาก็คือ Flee หนังจากเดนมาร์ก ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม, สารคดียอดเยี่ยม และแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมพร้อมกัน

9) มาดูฝั่งนักแสดงบ้าง : ทรอย คอตเซอร์ เป็นนักแสดงผู้พิการทางหูคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้าชิงจากบทตัวละครที่พิการทางหูเช่นกัน โดยคนแรกก็คือ มาร์ลี แมตลิน จาก Children of a Lesser God (ซึ่งชนะออสการ์ไปด้วย)

10) อาเรียนา เดอโบส ผู้รับบทแอนิตาใน West Side Story ฉบับสปีลเบิร์กได้เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบ ต้องถือว่าแอนิตาเป็นบทที่ขลังจริง ๆ เพราะย้อนไปในหนังเวอร์ชั่นปี 1961 นักแสดงที่รับบทนี้คือ ริตา โมเรโน ก็เคยชนะออสการ์มาแล้ว (โดยเป็นนักแสดงละตินคนแรกที่ได้ออสการ์) ดังนั้นหากเดอโบสชนะ เธอกับโมเรโนก็จะกลายเป็น “คู่ดาราที่คว้าออสการ์จากบทเดียวกัน” ถัดจากคู่ มาร์ลอน แบรนโด – โรเบิร์ต เดอ นีโร (บทวีโต คอร์เลโอเน ใน The Godfather และ The Godfather Part II), และ ฮีธ เล็ดเจอร์ – วาคีน ฟินิกซ์ (บทโจ๊กเกอร์ ใน The Dark Knight และ Joker) โดยเดอโบสกับโมเรโนก็จะเป็นคู่ดาราหญิงคู่แรกด้วยที่ทำได้แบบนี้

11) บ้านที่ได้เฮดังกว่าใครคงหนีไม่พ้นบ้าน คาเวียร์ บาร์เดม กับ เพเนโลเป ครูซ คู่สามีภรรยาที่ได้เข้าชิงปีนี้พร้อมกันทั้งคู่ (ฝ่ายชายจาก Being the Ricardo’s ฝ่ายหญิงจาก Parallel Mother’s) โดยเขาและเธอนับเป็นคู่แต่งงานคู่ที่ 6 ที่ทำได้ (5 คู่ก่อนหน้านี้ได้แก่ ลินน์ ฟอนเทน กับ อัลเฟร็ด ลันต์, แฟรงค์ ซินาตรา กับ เอวา การ์ดเนอร์, เอลซา แลนเชสเตอร์ กับ ชาร์ลส์ ลอห์ตัน, เร็กซ์ แฮร์ริสัน กับ ราเชล โรเบิร์ตส์ และ ริชาร์ด เบอร์ตัน กับ อลิซาเบธ เทย์เลอร์)

12) ไม่เท่านั้น คู่รักในชีวิตจริงอย่าง เคอร์สเทน ดันสต์ กับ เจสซี เพลมอนส์ ก็ควงแขนเข้าชิงออสการ์พร้อมกันเช่นกัน และจากหนังเรื่องเดียวกันคือ The Power of the Dog

13) ในสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม ปีนี้มีศิลปินดังที่เพิ่งได้ชิงออสการ์เป็นครั้งแรก 2 คน คือ บิลลี ไอลิช จากเพลง No Time to Die (เรื่อง No Time to Die) และ บียอนเซ่ จากเพลง Be Alive (เรื่อง King Richard ซึ่งตัวหนังได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย)

14) ในบรรดาสาขาทั้งหมด ผู้กำกับภาพยอดเยี่ยมเป็นสาขาเดียวที่ไม่เคยมีผู้หญิงชนะมาก่อนเลย ปีนี้เราจึงอยากลุ้นให้ เอรี เวกเนอร์ จาก The Power of the Dog สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้สำเร็จ

15) มีคนสมหวังก็มีคนผิดหวัง ขอแสดงความเสียใจกับผู้พลาดการเข้าชิง ทั้ง เดนิส วีลเนิฟ ที่แม้ Dune จะได้ชิงสาขาสำคัญมากมาย แต่เขากลับไม่มีชื่อติดในสาขาผู้กำกับปีนี้, เลดี้ กาก้า ที่แม้จะกวาดคำชมมามากมายจาก House of Gucci แต่ไม่มีชื่อในสาขานักแสดงนำ เช่นเดียวกับ ไคทริโอนา เบลฟ์ ที่บทแม่ชนชั้นแรงงานใน Belfast ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

Hacks : ผู้หญิงตลกถึงผู้หญิงตลกอีกคน

หลายครั้งหลังดูโชว์ตลกเดี่ยวไมโครโฟนจบ ผมมักเกิดคำถามในใจว่าขณะที่เขาหรือเธอเตรียมมุกตลกท้าทายกระแสสังคมทั้งหลายที่ใช้ในการแสดงนั้น นักแสดงตลกต้องเตรียมใจรับมือกับคนที่ไม่ขำกับมุกตลกมามากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราอยู่ในยุคที่ข้อความใดๆ อาจถูกนำไปแพร่ต่อได้อย่างสะดวกรวดเร็วเหลือเกินในเครือข่ายสังคมออนไลน์

นักแสดงตลกพร้อมจะเป็นศัตรูกับผู้คนมากมายแค่ไหน เพื่อแลกกับเสียงหัวเราะของผู้ชม

เดโบราห์ แวนซ์ (Jean Smart) ดีว่าดาวตลกค้างฟ้าแห่งลาสเวกัสประกอบสัมมาชีพนี้มาหลายสิบปี เธอไม่ได้เป็นแค่ตลกเจนเวที แต่อาจนับได้ว่าเป็นเซเลบคิวทองประจำถิ่น เธออยู่บนจุดสูงสุดของอาชีพ สำหรับตลกที่ขึ้นโชว์มาแล้วกว่าสองพันรอบ เธอคงไม่จำเป็นต้องยอมเสี่ยงอะไรเลย หากเจ้าของกาสิโนไม่ตัดสินใจตัดรอบการแสดงวันศุกร์และวันเสาร์ของเธอออกไปเพื่อเอาวงดนตรียอดนิยมมาเล่นแทน

เอวา แดเนียลส์ (Hannah Einbinder) แทบไม่มีอะไรคล้ายเดโบราห์ เธอเป็นไบเซ็กชวลอายุยี่สิบห้าปีที่ถูกคนทั้งวงการนักเขียนบทหมางเมิน เพราะดันทวีตมุกตลกแซะนักการเมืองที่ส่งลูกไปเข้าค่ายบำบัดเพศวิถี ชีวิตของเอวาตกอยู่ในความเสี่ยงเกินกว่าที่คาด แต่ก็ไม่อาจพูดได้ว่าเธอเสียใจกับมุกตลกที่เขียนออกไป

ทั้งคู่พบกันได้เพราะใช้บริการเอเจนต์จัดหางานรายเดียวกัน ก่อนจะพบว่าตลกหญิงบูมเมอร์จอมเย่อหยิ่งกับนักเขียน Gen Z จอมโอหังนั้นอาจมีอะไรคล้ายกันมากกว่าที่คิด นี่คือเรื่องราวของ Hacks ซีรีส์ตลกที่ว่าด้วยการปะทะกันของยุคสมัยที่น่าสนใจที่สุดของปี 2021 ที่ผ่านมา

“เป็นเกียรติมากเลยค่ะ ที่จะได้ร่วมงานกับตำนานอย่างคุณ” เอวาประจบประแจงเบอร์ใหญ่ในการสัมภาษณ์งาน ก่อนจะถูกเดโบราห์ถามกลับว่า “เธอเคยดูงานของฉันด้วยเหรอ งั้นบอกมาสักหน่อยได้ไหมว่าชอบมุกไหนบ้าง ฉันเล่นมาแล้วสามสี่หมื่นมุก ต้องมีโดนใจเธอบ้างแหละ” เอวาตอบได้ไม่เต็มปาก ส่วนเดโบราห์ก็ยิ้มหยัน การพบกันครั้งแรกของคนทั้งสองเป็นดังภาพแทนอย่างหยาบของการปะทะกันของคนต่างสมัย เมื่อฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าวิถีทางในการแสดงออกของคนรุ่นเก่าช่างไร้ราคาเกินกว่าจะสนใจ และอีกฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่าพวกตื่นรู้ขี้แซะรุ่นใหม่เองก็ไม่ได้เก่งเท่าที่ปากพูด คนสองพวกนี้พร้อมจะเป็นศัตรูกันตั้งแต่แรกเจอ

เราหาดูการปะทะสังสรรค์ทำนองนี้ได้ไม่ยากในโซเชียลเน็ตเวิร์กและวงสนทนาสาธารณะ (ที่เราอาจสรุปเอาอย่างง่ายเกินไปหน่อยว่ามันคือ “ปัญหาช่องว่างระหว่างยุคสมัย”) แต่สิ่งที่ต่างออกไปของเรื่องนี้คือ ประตูบานหนึ่งได้เปิดออก เมื่อเดโบราห์ตัดสินใจหยิบมุกตลกที่ทำให้เอวาโดนแบนขึ้นมาเขียนใหม่เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าอารมณ์ขันแบบที่เธอเชื่อก็สามารถสื่อสารเรื่องที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานอยากพูดได้เหมือนกัน

การประชุมมุกตลกกลางถนนหน้าบ้านของทั้งสองคนทำให้พอเชื่อได้ว่า ตลกรุ่นเก๋าไม่ต้องเป็นศัตรูกับคนรุ่นใหม่ก็ได้

แม้จะเป็นซีรีส์ที่ว่าด้วยนักแสดงตลก แต่ตลอดทั้ง 10 ตอนของ Hacks เราก็ไม่ได้เห็นการแสดงบนเวทีของเดโบราห์มากมายนัก คงเป็นความตั้งใจของทีมผู้สร้างที่เจตนาจะให้เราเห็นเรื่องราวชวนปวดหัวที่อยู่รายรอบตัวละครหลักทั้งสองคน ขณะที่เดโบราห์ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รอบการแสดงกลับคืนมาตามเดิมและต่อสู้กับบาดแผลจากอดีตไปพร้อมกัน เอวาเองก็ต้องต่อสู้กับภาวะสูญเสียความเคารพในตัวเองที่กัดกินจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต่างคนต่างต้องพิสูจน์คุณค่าในตัวเอง เราจึงได้เห็นการโอนถ่ายความคิดที่น่าสนใจผ่านการถกเถียงของคนทั้งสอง

ยกตัวอย่างเช่นในตอนที่ชื่อว่า “1.69 Million” เดโบราห์กลับไปเยือนไนท์คลับที่เธอเคยขึ้นแสดงสมัยสาวๆ เดโบราห์กับเพื่อนตลกหญิงชวนกันคุยรำลึกความหลังถึงเจ้าของบาร์คนเก่าที่ชอบถูกเนื้อต้องตัวนักแสดงตลกหญิงจนทุกคนเข็ดขยาด เมื่อเอวาสบช่องให้พูดจึงถามว่าทำไมถึงต้องยอมอะไรแบบนั้นด้วย “คุณรู้ไหม ว่าในหมู่คนที่โดนแต๊ะอั๋งแบบนั้นอาจจะมีตลกอนาคตไกลที่ถอดใจเลิกไปเพราะเรื่องแบบนี้ก็ได้ คนอย่างคุณไม่เคยทำให้วงการมันน่าอยู่ขึ้นเลย”

“ทนไม่ได้ ก็เลิกไปสิ” เดโบราห์สวนกลับ “คิดว่าฉันมีทุกวันนี้ได้ยังไง คิดว่าผู้หญิงในวงการนี้มาถึงจุดนี้ได้ยังไง ถ้าคนรุ่นฉันไม่อดทนมาก่อน เธอคิดว่าถ้าพวกฉันไม่ทนแล้วมันจะมีทางเลือกอื่นเหรอ” สิ่งที่เดโบราห์โต้กลับมาก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว เธอมีสิทธิมีเสียงงัดข้อกับคนอื่นๆ ได้เพราะเธอยอมหลับตาข้างหนึ่งเพื่อโอกาสที่ดีกว่า เอวาไม่เถียงอะไรต่อ แม้จะไม่ได้เห้นด้วยทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่คือเสียงแบบที่เราไม่ได้ยินบ่อยนัก ความเห็นที่ไม่เป็นที่นิยมเท่าเสียงประท้วงของยุคสมัย ไม่ได้แปลว่ามันฟังไม่ขึ้น

ในช่วงสุดท้ายของตอน “1.69 Million” เดโบราห์ตัดสินใจทิ้งมุกที่เตรียมมาทั้งหมด แล้วถามพิธีกรที่เล่นมุกตลกแทะโลมตลกหญิงอีกคนว่า “ถามจริงๆ ฉันต้องจ่ายเงินนายเท่าไร เพื่อให้นายเลิกทำตัวแบบนี้สักที” เธอท้าว่าถ้าเข้าไม่ขึ้นเวทีอีกเลย เธอจะจ่ายเงินให้เขา 1.69 ล้าน ทั้งบาร์เงียบกริบไม่มีเสียง “จะไม่รับก็ได้นะ ถ้าคิดว่าตัวเองมีปัญญาหาเงินได้มากกว่าฉัน ด้วยการเล่นมุกตลกสั่วๆ พรรค์นี้ไปตลอดชีวิต” 

พิธีกรจับมือสัญญากับเดโบราห์ด้วยความอับอาย เอวาและคนทั้งบาร์ปรบมือเสียงดังสนั่น ดูยังไงนี่ก็ไม่ใช่เดโบราห์คนเดียวกับที่เราได้เห็นมาตั้งแต่ตอนแรก

ผมจึงนึกได้ว่าแท้จริงแล้วนักแสดงตลกเก่งๆ สักคนอาจไม่ต้องเตรียมใจในการสร้างศัตรู มากเท่ากับโอบรับมิตรสหายสักคนที่มาจากอีกฟากของความเชื่อก็ได้


Hacks มีให้รับชมบนระบบสตรีมมิ่งของ HBO Go