FILM CLUB Year List 2021 (Part 2)

(รายชื่อรอบแรก)

ในที่สุดปี 2021 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ไม่แพ้ปี 2020 โรงหนังกลับมาเปิดแล้วในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังลูกผีลูกคน กิจการ Streaming ภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่องและอาจจะน่ากังขาพอๆ กับน่าชื่นชม ความตายรายวันของผู้คนในประเทศจากโรคระบาด การชุมนุมที่ซบเซาลงทั้งจากโรคและการออกหมายจับรายวันจนถึงวันนี้ 

ผู้คนก็ยังคงดูหนังกันอยู่ ทั้งแบบออกนอกบ้านและไม่ออกนอกบ้าน ทั้งแบบเดิมที่ตั้งใจดูและแบบใหม่ที่ดูไปแชตไป เทศกาลกระจุกตัวในห้วงเวลาสั้นๆ ท้ายปีจนแทบชนกันตายเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเลื่อนจากอดีตมาหลายคำรบแล้ว 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2021 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง


ปราปต์ : นักเขียน

The Innocent (2021, Oriol Paulo, Spain, mini-series) 

ปีนี้ได้ดูหนังค่อนข้างน้อย และไม่รู้สึกว่ามีเรื่องไหนโดดเด่นในใจเป็นพิเศษ แต่พอลองเลือกๆ ดู พบว่ามีซีรี่ส์สามเรื่องที่ชอบมากในระดับเท่าๆ กัน คือ เรื่องนี้ Mouse (2021) และ The Victims’ Game (2020) ทั้งหมดเป็นซีรี่ส์แนวสืบสวนสอบสวนจากสามชาติ พอต้องมาเลือกจริงๆ ก็ยากพอสมควร เกณฑ์แรกที่ใช้ตัดออกคือดูเรื่องไหนแล้วหงุดหงิดน้อยที่สุด ก็ตัด Mouse ออกไป จากนั้นคือ เรื่องไหนดูแล้วถูกตรึงไว้กับมัน ต้องดูต่อจนจบ ไม่กินไม่นอน คราวนี้ชัดเลยว่า The Innocent 

มันเป็นงานฝั่งสเปนที่ทำมาจากนิยายของฮาร์ลาน โคเบน ส่วนตัวยังไม่ได้อ่านเล่มนี้ แต่ปกติเราจะพอเดาลายเซ็นได้ว่าโคเบนจะมาแนวไหน และทั้งที่เป็นอย่างนั้น มันก็ยังเป็นงานที่เอาอยู่มากๆ ชอบการดีไซน์การเล่าแบบเจาะสลับไปทีละตัวละครในแต่ละ EP (รัก prologue ในทุกๆ EP เลย) ชอบความเปรี้ยวที่ทำให้ EP แรกกับ EP 2 มันดูแทบไม่เกี่ยวกันเลย คือเปิดมาแล้วนึกว่าดูคนละเรื่อง ชอบความเกินคาดเดา และความดราม่าในระดับที่พอดี ไม่รู้สึกเว่อร์จนเหมือนถูกบีบบังคับหรือจับวางอย่างไม่สมเหตุผล ชอบที่สุดคือการวางตัวร้าย เพราะมันเป็นตัวละครที่เรารักและผูกพันกับเขามากๆ แถมเรื่องมันก็โชว์ให้เห็นเหตุผลที่เกิดขึ้นตลอดแบบไม่กั๊กเลย แต่เรากลับมองข้ามไปได้จริงๆ ส่วนตัวรักงานสเปนมากๆ ยกให้เป็นญี่ปุ่นของฝั่งยุโรป คือมันจะเวียร์ด จะคราฟท์ จะเป๊ะปังไปหมดเสมอ สำหรับปีนี้ การได้ดูเรื่องนี้และอีกสองเรื่องที่ยกมา เป็นความบันเทิงที่ดีต่อใจและดีต่ออาชีพตัวเองมากๆ เหมือนจุดไฟในตัวเองให้ลุกโชนขึ้นได้แรงๆ อีกครั้ง


คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง : นักวิจารณ์และอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์

We Don’t Bite: Villains in the Countryside (2021, South Korea)

รายการวาไรตี้เกาหลีประเภทเอานักแสดง นักร้อง คนดัง ไปอยู่ตามชนบทนั้นมีมากดาษดื่นจนกลายเป็นความเฝือ หากแต่ We Don’t Bite: Villains in the Countryside ก็มีบริบทพิเศษเฉพาะของมัน นี่คือรายการที่เอาทีมนักแสดงจากซีรีส์ประสาทแดก The Penthouse (2020-2021) ไปอยู่บ้านรกร้างต่างจังหวัด ทำกับข้าว ทำงานไม้ จับปลา ซ่อมบ้าน ฯลฯ จากที่เคยเห็นแต่การฟาดฟัน ด่าทอ ตบตี เชือดเฉือนอารมณ์แบบ K-Drama เราก็ได้เห็นด้านที่ต่างออกไปของพวกเขา ทั้งตลก อบอุ่น และอ่อนโยน อีกทั้งรายการก็รู้ขอบเขตที่จะไม่ romanticize ความบ้านนอกจนเกินไป นี่จึงเป็นรายการเยียวยาจิตใจแห่งปีในยุคสมัยที่เหมือนโลกจะแตกได้ทุกวัน 


ณขวัญ ศรีอรุโณทัย

Collective (2019, Alexander Nanau, Romania)

สรุปปี 2021 : ปีแห่งความฉิบหาย

ขอยกสารคดีแฉความเน่าหนอนของโรมาเนียเรื่องนี้เป็นหนังแห่งปี ปีที่ดูหนังน้อย อ่านหนังสือน้อย ฟังเพลงก็น้อย เป็นขาลงของชีวิตต่อเนื่องลากยาวมาสามสี่ปีแล้ว 

ความฉิบหายในหนังช่างละม้ายคล้ายสิ่งที่เราเผชิญกันวันต่อวันในประเทศนี้ ในปีแห่งความฉิบหาย และเราก็ดูมัน นั่งในโรงหนังทางเลือก บนเบาะไม่แข็งไม่นุ่ม ในสเปซขนาดกะทัดรัด เงียบกริบ ปลอบประโลมใจตัวเองว่าทุกที่ต่างก็มีความฉิบหายเป็นของตัวเอง


ชาญชนะ หอมทรัพย์

Belfast (2021, Kenneth Branagh, UK)

หนังเล็กๆ เล่าเรื่องส่วนตัวของคนทำ ถึงชีวิตในอดีตที่พ้นเลยมาแล้ว ช่วงเวลาไม่มีวันหวนคืน ชอบมวลๆ ความเศร้าละมุนในหนัง เป็นหนังที่ทำให้เราตระหนักถึงเมจิคสำคัญของภาพยนตร์คือการเป็นเครื่องย้อนเวลา สร้างอดีตขึ้นมาอีกครั้งและพาคนดูกลับไปดูชีวิตคนทำเองในวัย 9 ขวบ ทั้งเรื่องเล่าอยู่บนถนนเส้นเดียวของชุมชนหนึ่งในเมืองเบลฟาสท์ ประเทศไอแลนด์เหนือ ที่สุดท้ายผลของการเมืองและความขัดแย้งทางศาสนาทำให้เด็กชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งต้องจากบ้านมาและมีชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาล ทุกโมเม้นต์ในหนังคือโมงยามแห่งความสุขเล็กๆ ที่เราอยากจะกอดเอาไว้ให้นานแสนนาน อาจจะเพราะปีนี้เป็นปีที่หฤโหดสำหรับเราและคนไทยแทบทุกคน ความสุขในการดูหนังเล็กๆ เรื่องนี้จึงยิ่งใหญ่มากๆ ในความทรงจำ


สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ : ผู้กำกับ

First Time [The Time for All but Sunset – VIOLET] (2021, Nicolaas Schmidt, Germany)

สำหรับปี 2021 ถ้าไม่นับ Memoria แล้ว ภาพยนตร์ที่ชอบมาก และนึกถึงอยู่เรื่อยๆ ที่สุด ก็คือหนังกึ่งสั้นกึ่งยาวเรื่องนี้ อาจจะเพราะมันมีการจับจ้องผู้โดยสารบนรถไฟเป็นเวลานานด้วย เลยรู้สึกเชื่อมโยงโดยส่วนตัวเป็นพิเศษ โปรแกรมเมอร์เทศกาลแนะนำให้ไปดูโดยบอกว่านี่คือ James Benning “Erotic version” ได้ยินแค่นี้ก็แอบเทใจชอบไปแล้ว ตัวหนังจริงๆ ไม่ถึงกับ “Erotic” แต่เป็น “Romantic comedy” (ของวัยรุ่นยุค Social Distancing) ฉบับที่เอาเนื้อเรื่องออกไปให้หมด เหลืออยู่แค่โครงคร่าวๆ ให้จิ้นจิกหมอนกันไปเอง เป็นหนังยาว 50 นาที ที่เปิดเรื่องด้วย MV โค้กยุค 80 ที่เหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับหนัง แต่สุดท้ายแล้วเกี่ยวเนื่องอย่างที่สุด หนังทั้งเรื่องมีอยู่ไม่กี่ช็อต ช็อตเด็ดเป็น long take กล้องนิ่งนานเกือบ 35 นาที ที่ทำให้คนดูทยอยลุกออกไปครึ่งค่อนโรง ส่วนคนที่ยังอยู่ดูกันต่อ ก็จะได้เห็นมุกขำๆ ที่คนทำทยอยป้อนเข้ามาเป็นระยะ ผ่านรายละเอียดของสถานการณ์ พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของนักแสดง เสียงบรรยากาศและเสียงดนตรีที่เลี้ยงอารมณ์หนังไปโดยตลอด เอาเข้าจริงถ้าใครที่ซิงค์กับจังหวะของมันได้ มันเป็นหนังที่ฮา น่ารัก และยียวนมาก ระหว่างดูก็ตื่นเต้น ลุ้น และยิ้มไปตลอดทั้งเรื่อง


พงศ์สันต์ อรุณสินทวีพร : cinephile

Tokyo Sunrise (2015, Ryutaro Nakagawa, Japan)

เมื่อคาโอรุ-เพื่อนสนิทของเร็น-ฆ่าตัวตายโดยไม่บอกลาและไม่รู้สาเหตุ เร็นรู้สึกเหมือนอกหักและถูกหักหลังไปในคราวเดียวกัน เขาเพิ่งตระหนักว่าระยะห่างระหว่างกันกว้างกว่าที่เข้าใจก็เมื่อฝ่ายหนึ่งจากไปแล้ว เร็นจัดการกับการตายของคาโอรุไม่ได้ แม้โดยผิวเผินเขายังครองสติไปในแต่ละวันได้อยู่ จนพ่อแม่ของคาโอรุมอบภาพใบสุดท้ายที่คาโอรุวาดให้เขา มันเป็นภาพวาดเด็กสาวผู้เป็นรักแรกของคาโอรุที่เขาเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน เขาจึงตัดสินใจออกเดินทางไปกับริซาโกะ-หญิงสาวคนรักคนสุดท้ายของคาโอรุ เพื่อตามหารักแรกของคาโอรุในภาพวาดนั้น – นี่จึงเป็นหนังที่ว่าด้วยการเดินทางไกลเพื่อดีลกับความตายของเพื่อนสนิทที่จากไปพร้อมกับเอาส่วนหนึ่งของตัวเราไปด้วย

หนังเล่าเรื่องโดยจับเอาห้วงเหตุการณ์ที่ดูธรรมดาในแต่ละช่วงชีวิตมาขึ้นจอ แต่สามารถให้ภาพความสัมพันธ์ของตัวละครได้กระจ่าง แม้หนังเลือกที่จะละการเล่าบางเหตุการณ์สำคัญด้วยการข้ามไปไม่พูดถึงด้วย – ริวทาโร่ นาคางาวะ (Mio on the Shore, Silent Rain) ทำหนังเรื่องนี้ด้วยแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริงของเขาเองที่สูญเสียเพื่อนสนิทไปจากการฆ่าตัวตายที่ไม่รู้สาเหตุ โดยมีไทกะ นากาโนะ ที่มอบหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดของเขาเอาไว้ในบทของเร็น

หนังมีจังหวะการเล่าเรื่องราวกับบทกวีและถ่ายภาพได้สวยละมุน มวลอารมณ์ทึมเทาเศร้าสร้อยทว่างดงามของหนังให้ความรู้สึกเหมือนมีแสงแดดจางๆ แบบที่ไม่รู้ว่าเป็นแสงแรกหรือแสงสุดท้ายของวันเจืออยู่ในนั้น ทั้งหมดทั้งมวลของหนังทิ้งรสขมปร่าในคอและตะกอนอบอุ่นในใจ จนขอเลือกให้เป็นหนังแห่งปีสำหรับเรา


ปฏิกาล ภาคกาย : บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Salmon Books

Kakushigoto (2020, Yūta Murano, Japan, series)

แอนิเมชั่นว่าด้วยชีวิตของนักเขียนการ์ตูนแนวทะลึ่งตึงตัง ที่ต้องปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับ เพราะกลัวว่าความจริงนี้จะไปทำให้ชีวิตของลูกสาววัย 10 ขวบต้องอับอาย เป็นแอนิเมชั่นเล่าเรื่องน่ารักๆ ที่นอกจากจะมีประเด็นความลับระหว่างพ่อลูก ยังมีความลับในแวดวงหนังสือ ความลับในการทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูน ที่ถ้าใครสนใจเรื่องนี้เป็นทุนเดิมน่าจะคลายความสงสัยไปได้ไม่มากก็น้อย


กิตติกา บุญมาไชย : cinephile

𝑺𝑰𝑳𝑬𝑵𝑪𝑬

𝐛𝐲 𝐊𝐢𝐜𝐤 𝐭𝐡𝐞 𝐌𝐚𝐜𝐡𝐢𝐧𝐞 𝐃𝐨𝐜𝐮𝐦𝐞𝐧𝐭𝐚𝐫𝐲 𝐂𝐨𝐥𝐥𝐞𝐜𝐭𝐢𝐯𝐞

6 – 10 October 2021 at 100 Tonson Foundation, Bangkok

งานวิดีโอจัดวางโปรแกรมพิเศษเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ประกอบด้วยวิดีโอสามจอ สองจออยู่ด้านหน้าเป็นฟุตเทจจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ภาพมองทาจเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันของยุคนั้น สลับกับตัวหนังสือเล่าเรื่องโลกอนาคตฉบับดิสโทเปีย จอด้านหลังแสดงภาพจุดสีแดงที่ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น 

โดยส่วนตัวเราเคยเห็นคลิปจากเหตุการณ์ 6 ตุลา มาเยอะมาก ทั้งในนิตยสารสมัยก่อนที่แม่เคยซื้อเก็บไว้ หรือเอกสารประวัติศาสตร์และงานวิชาการอีกมากมาย แต่การนั่งอยู่ในความมืดถูกบังคับให้จ้องมอง (โดยปริยาย) ไปยัง “ร่าง” ของนักศึกษาที่ถูกฆ่า มัน Disturbing มากๆ ซึ่งเราคิดว่านั้นคือสิ่งที่ศิลปินตั้งใจ

งานวิดีโอจัดวางเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์มาก โดยตัวมันเองก็ส่งสารอันน่าทึ่งได้ แต่พอมันถูกจัดวางร่วมกันในพื้นที่หนึ่งแล้วองค์ประกอบของพื้นที่ เสียง แสง และการเล่นล้อต่อกันของมันยิ่งเสริมพลังของสารทร่ผู้สร้างจะสื่อได้อย่างยอดเยี่ยม


ดูหนังทุกวัน : แอดมินเพจและผู้จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศ

แค่เพื่อนครับเพื่อน (กำกับ: นพณัช ชัยวิมล, ซีรีส์จาก GMMTV ฉายซ้ำใน WeTV)

เราคิดว่าในจักรวาลซีรีส์วายไทยที่มีมากมายหลายเรื่องให้ดู เราก็ไม่ได้ดูมันหมดทุกเรื่องขนาดนั้น แต่เท่าที่พูดคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หลายคนรอบตัว (โดยเฉพาะที่เป็น LGBT) ก็ออกจะแปลกใจอยู่ที่ส่วนใหญ่คือไม่ค่อยดูละครวายกันเลย เพราะโดยส่วนตัวสนุกกับละครวายมากทีเดียว และเราว่าหลายเรื่องในปีนี้ก็ทำได้ดีเลยแหละ ..เนื่องจากปีนี้ได้ดูหนังค่อนข้างน้อยแต่ได้ดูซีรีส์เยอะไปหมด ก็เลยตั้งโจทย์กับตัวเองว่าจะขอเลือกซีรีส์วายซักเรื่องหนึ่งมาเขียนถึงก็แล้วกัน ซึ่งปรากฏว่าเรื่องที่เราอยากเขียนถึงมากที่สุดกลายเป็นเรื่องที่ยังฉายไม่จบและออกอากาศไปแล้ว 9 ตอนและน่าจะเหลืออีก 3 ตอนเรื่องนี้ – แค่เพื่อนครับเพื่อน

สำหรับเราส่วนตัว ตอนที่เห็นข่าวการประกาศสร้างก็รู้สึกว่าเคมีของโอมกับนนนในฐานะคู่วายนี่มันจะไปทางนี้ได้หรือเปล่านะ และพอเปิดซีรีส์มา 3-4 ตอนแรกที่เรื่องขีดมาให้ทั้งสองคนอยู่คณะวิศวะกับคณะสถาปัตย์ซึ่งมีความยกพวกตีกันก็ดูเหมือนจะทำให้อินได้ยากมาก แต่นั่นก็เป็นไปเพื่อคงพล็อตหลักจากตัวนิยายเรื่อง “หลังม่าน | Behind the Scenes” เพื่อเซ็ตจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งของสองตัวละครหลักให้ชัดขึ้น เพราะนอกเหนือจากจะอยู่คณะที่เป็นศัตรูกัน สองคนนี้ยังเป็นเพื่อนบ้านที่พ่อแม่เกลียดชังกันไปอีก แต่สุดท้ายพอความรักที่จริงๆ ก็ก่อตัวมานานแล้วระหว่างปราณกับภัทรมันชัดขึ้นๆ หลังจูบนั้นในอีพี 5 เราคิดว่าเรื่องราวต่อจากนั้นมันคือการเล่าความสัมพันธ์แบบแอบคบกันของเด็กหนุ่มสองคนที่น่าติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ มีรายละเอียดน่ารักๆ ที่ผ่านกระบวนการคิดมาดี โดยเฉพาะการถอดวิธีคิดในความสัมพันธ์ของตัวผู้กำกับมาใส่ไว้ในแต่ละตัวละคร และมาพร้อมการแสดงที่ดีมากๆ ของทั้งโอมและนนน ..เราคิดว่าในปีที่ต้องทำงานจับเจ่าอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่แบบปีนี้ การมีซีรีส์รักโรแมนติกที่ย่อยง่ายดูได้เพลินๆ แบบแค่เพื่อนครับเพื่อนให้ได้ดูก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยแหละ


ศาสวัต บุญศรี : อาจารย์สอนภาพยนตร์ผู้ประสบปัญหาดูหนังที่บ้านไม่ได้

ทุกรายการในชาแนล FAROSE โดยเฉพาะ ไกลบ้าน ตอน EP.52 หลวงเจ้ลาสิกขา พอกันทีชีวิต ป.เอก 

ปี 2564 ผ่านไปได้เพราะ Farose หรือคุณแดงของชาวช่องเลยจ้ะ โดยเฉพาะ ไกลบ้าน ตอน EP.52 หลวงเจ้ลาสิกขา พอกันทีชีวิต ป.เอก ที่ดาราหลักอย่าง (แม่)ชีต่อ จิตรพันธ์ุ หรือ AJ Jito Suzuki ไปลาสิกขาว่าจะไม่เรียน ป.เอกแล้ว ทุกประโยคที่ต่อพูดนี่มันโดนใจไปหมด ไม่ว่าจะเป็นมุมมองการเรียน การใช้ชีวิต การท้อใจ และการให้กำลังใจ (โดยเฉพาะการจะไม่ยอมแพ้ดาราหลักอีกคนอย่างเจ๊ป้อง และ อายุพึ่ง 38 วอนอย่าเรียกพี่นะคะ 555 พอดีอายุเท่ากันเลยอิน) รวมถึงความจริตกะเทยที่เราเองก็มักพูดคล้ายกันแบบนี้กับเพื่อนๆ ชาวซีเนไฟล์ซ่องแตก เลยเอนจอยมากๆ 

ไกลบ้านกลายเป็นรายการที่คนดูผูกพันกับดาราหลักไปแบบไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้รู้จักมักจี่กันเป็นการส่วนตัว ยิ่ง EP หลังๆ ที่เรียบง่ายแต่กินใจและชวนตกใจ ทั้งข่าวช็อคของแอนนี่ พี่ป้องกับฟาโรส หน่องผอม ต่อลาออก อ.ปวินมาเที่ยว)ด้วย หรือล่าสุดการไปกินข้าวกลางวันบ้านเจ๊เหว พอทุกอย่างมันออกมาสดๆ ไม่ได้ตั้งใจที่จะปรุงแต่งจนมากไป เลยเหมือนกิจกรรมที่เพื่อนๆ เราทำแล้วคนดูเราได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย

จากนั้นก็ฟังวนสลับกันไป คืนนี้ไกลบ้านบ้าง คืนนี้ People you may know บ้าง คืนนี้สลับมาเสน่ห์นางชี(โห) บ้าง โดยเฉพาะรายการเสน่ห์นางชี เราว่า ต่อ จิตรพันธ์ุเป็นคนเล่าเรื่องพระพุทธศาสนาได้น่าฟัง ย่อยเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ฟาโรสเองก็เป็นคนยิงประเด็นและช่วยสรุปต่างๆ ได้ดี คือดูแล้วก็ได้ทั้งความรู้เพิ่มและกำลังใจในการทำงานวิชาการต่อไปมากๆ 


อ่านต่อในตอนอื่นๆ : FILM CLUB Year List 2021 (Part 3) | FILM CLUB Year List 2021 (Part 4) | FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

filmclub
กอง Film Club

RELATED ARTICLES