ตลก / ประธานาธิบดี / ฮีโร่? : รู้จักประธานาธิบดียูเครนผ่านซีรีส์ ‘Servant of the People’

มั่นใจได้ว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ไม่มีผู้นำโลกคนไหนเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงทั่วโลกไปมากกว่า วอลอดีเมียร์ เซเลนสกี้ (Volodymyr Zelenskyy) ประธานาธิบดียูเครนที่ยืนหยัดต่อสู้กับการบุกโจมตีของกองทัพรัสเซียภายใต้การนำของวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำจอมเผด็จการของรัสเซียมา ณ จุดนี้กว่าสามอาทิตย์อย่างกล้าหาญ ในสภาวะประชาธิปไตยทั่วโลกอ่อนแอ ในยุคที่รัฐบาลเผด็จการขวาจัดผุดขึ้นมาทั่วโลกเป็นดอกเห็ด ใครจะไปคิดว่าผู้นำที่กล้าดึงคนทั้งโลกให้มาเป็นพันธมิตรงัดข้อกับกองทัพหมีขาวจอมโหดอย่างไม่ย่อท้ออดีตเคยเป็นดาวตลกที่เอาช้างน้อยโขกเปียโนเป็นเพลงกลางรายการทีวี เป็นเสียงของหมีน้อยแพดดิงตันใน ‘Paddington 2’ พากย์เสียงยูเครน และเด็ดที่สุดคือก่อนเป็นประธานาธิบดีของจริง เคยเล่นเป็นประธานาธิบดียูเครนในซีรีส์ตลกมาก่อนจนความนิยมส่งให้ได้เป็นของจริงในปัจจุบัน เทียบให้เห็นภาพ ใครจะไปเห็นภาพหม่ำ จ๊กมก หรือ โน้ต อุดม เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย? จะให้เขียนบทหนังขึ้นมาหลายคนยังไม่กล้าเล่นมุขมาทางนี้ แต่เรื่องจริงหลายครั้งมักประหลาดยิ่งกว่านิยาย และคุณเซเลนสกี้ อดีตตัวตลกบนหน้าจอ ณ วินาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นฮีโร่ของคนทั้งโลก ที่แม้แต่ผู้นำในสภายุโรปยังออกปากว่า “ไม่เคยเจอใครได้ใจผมเท่านี้มาก่อนเลย”

วันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับ วอลอดีเมียร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดีตัวจริง ผ่านบทบาทประธานาธิบดีจอทีวีจากซีรีส์ ‘Servant of the People’ (Слуга народу) ที่ชวนเราตั้งคำถามว่า มันอีท่าไหนยังไงดาวตลกคนหนึ่งถึงได้ขึ้นมาครองประเทศด้วยเสียงสนับสนุนท่วมท้นจากประชาชนมากขนาดนี้ หรือว่าจริงๆ แล้วทั้งหมดนี้เป็นแผนการเดินเกมเมืองที่คิดคำนวณมาอย่างดี จากคนวงการสื่อที่รู้ถึงพลังของสิ่งที่มีในมือที่เป็นมากกว่าความสนุกเอ็นเตอร์เทน แต่เป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนสังคมได้อย่างทรงพลัง จนอาจเปลี่ยนสมดุลโลกได้ทั้งใบ 

ตั้งแต่การประกาศอิสรภาพของยูเครนหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ยูเครนวางตัวเป็นกลางในระเบียบโลกใหม่ เลือกผูกมิตรทั้งกับเพื่อนบ้านอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตอย่างเบลารุส ฮังการีหรือโรเมเนีย รักษาความสัมพันธ์กับสหพันธรัฐรัสเซียอดีตผู้ครองประเทศ ที่แม้จะเสียสถานภาพมหาจักรวรรดิไปแต่ก็ยังเป็นประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันออก และเชื่อมต่อกับโลกตะวันตกอย่างสหภาพยุโรปและนาโต้ ประธานาธิบดียูเครนทุกคนจึงต้องพบกับสถานการณ์ต้องเลือกว่าจะรักษาสมดุลกับประเทศรอบตัวอย่างไรมาตลอด ซึ่งตั้งแต่ประกาศอิสรภาพได้ในปี ค.ศ. 1991 ประธานาธิบดีทั้ง 6 คนก่อนสมัยเซเลนสกี้เลือกหันเข้าโลกตะวันตกหรือรัสเซียมากน้อยแตกต่างกันไป จนมาถึงยุคของวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ที่เป็นที่มาของความขัดแย้งที่เราเห็นในปัจจุบัน 

รัฐบาลของ Viktor Yanukovych ที่ปกครองยูเครนในช่วงต้น 2010 เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นมโหฬาร และมีแนวโน้มพร้อมพาประเทศกลับไปเป็นทาสของรัฐบาลปูตินในรัสเซียเต็มสูบจนหลายฝ่ายเชื่อว่ายานูโควิชคือคนของปูตินเอง เริ่มเกิดเป็นความไม่พอใจในกลุ่มประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ต้องการเห็นยูเครนเข้าหาทางฝั่งสหภาพยุโรปมากกว่า กลายเป็นความขัดแย้งในสังคมยูเครน จนปี 2013 ที่ Yanukovych เปลี่ยนใจยกเลิกสนธิสัญญาความร่วมมือกับสหภาพยุโรปเพื่อเซ็นสัญญากับรัสเซียแทนในวินาทีสุดท้าย ประชาชนออกมาประท้วงทั่วประเทศจนเกิดเป็นเหตุการณ์ Euromaidan การประท้วงลุกลาม มีผู้เสียชีวิตทั้งตำรวจและประชาชนมากมาย จนประธานาธิบดี Yanukovych เห็นท่าไม่ดี อาศัยความช่วยเหลือจากรัสเซียหนีออกนอกประเทศ

ประธานาธิบดี Yanukovych ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และรัฐบาลยูเครนดูจะยิ่งหันเข้าหายุโรปมากกว่าครั้งไหนๆ ปูตินจึงตอบโต้ด้วยการส่งกองทัพรัสเซียบุกเข้ายึดคาบสมุทรไครเมียในปี 2014 อันเป็นฉนวนความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาเป็นสงครามในรอบปัจจุบัน

และก็เป็นในบรรยากาศของยูเครนหลังการถอดถอน Yanukovych ที่การคอร์รัปชั่นเหลือเชื่อของรัฐบาลก่อนหน้าถูกเปิดโปงและเค้าเงาของสงครามโผล่ขึ้นมาที่ขอบฟ้านี่เองที่ วอลอดีเมียร์ เซเลนสกี้ทนไม่ไหว สร้างซีรีส์ ‘Servant of the People’ ขึ้นมา

ซีรีส์ ‘Servant of the People’ เล่าเรื่องราวของ วาซิล ‘วาสยา’ เปโตรวิช (Vasyl Petrovych) ครูวิชาประวัติศาสตร์หน้าซื่อคนหนึ่งในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงเคียฟ และเขาก็คงจะเป็นครูประวัติศาสตร์ไปตลอดชาติถ้าวันหนึ่งครูใหญ่โรงเรียนเขาไม่ได้ข้ามหัวเขาอย่างยกโทษให้ไม่ได้ ยกเลิกคลาสเรียนกลางคันแล้วดึงนักเรียนทั้งห้องไปช่วยหาเสียงทางการเมืองให้ผู้ลงสมัครประธานาธิบดีที่ครูใหญ่สนับสนุนเช่นที่ทำมาตลอดทุกการเลือกตั้ง วาสยาโกรธมากที่เด็กโดนเอาไปใช้แรงหาเสียง ระเบิดความคับข้องใจเรื่องการเมืองยูเครนให้เพื่อนร่วมงานฟัง โดยหารู้ไม่ว่านักเรียนคนหนึ่งแอบอัดคลิปไปลงประจานในโลกออนไลน์ (ถามว่าคลิปประจานแรงแค่ไหน ลองจินตนาการว่าเป็นละครช่องสามของบ้านเราที่มีดาราชั้นนำด่ารัฐบาลตรงๆ ตัดเสียงเซ็นเซอร์เพื่อให้ออกอากาศได้ แต่เห็นปากชัดจนอ่านได้) ว่า “ไอ้นักการเมืองหัวค*ย xีหมา ไอ้หน้าเxี้ย เอาเด็กไปใช้เป็นเครื่องมือ ไอ้นักการเมืองโกงกิน! กูแม่งอยากให้อาจารย์มัธยมทุกคนมีชีวิตดีๆ แบบมึงบ้าง แล้วอยากให้ไอ้ประธานาธิบดีหน้าxีแม่งมาใช้ชีวิตเงินเดือนอาจารย์แบบกู กูเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ กูต้องพูดเว้ยไอ้เx็ดแม่!”

ตื่นมาอีกวัน วาสยาก็พบว่าคลิประเบิดอารมณ์ของเขาดังเป็นพลุแตก อาจารย์วาสยาโดนบอร์ดบริหารโรงเรียนเรียกไปสวดหนักฐานะทำโรงเรียนเสียชื่อ จนเมื่อวาสยากลับมาที่ห้อง เขากลับพบว่าเด็กๆ ทั้งห้องเคารพเขาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เด็กๆ บอกว่าพ่อแม่ทุกคนซูฮกท่านอาจารย์ที่กล้าพูดเรื่องจริงที่ปวดใจของการเมืองยูเครนแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมขนาดนี้ และเด็กหัวโจกประจำห้องก็เสนอว่าท่านอาจารย์ควรลงสมัครประธานาธิบดีเสียเลย แน่นอนอาจารย์วาสยาผู้ถ่อมตนไม่มีทางเอาด้วย จนเด็กๆ แอบทำ crowdfunding หาเงินมาให้อาจารย์ลงเลือกตั้ง เมื่อโดนมัดมือชกโดนยัดเงินเป็นล้านให้ในมือแบบนี้วาสยาเลยไม่มีทางเลือก ลองลงสมัครจนพลิกล็อคชนะเสียงข้างมากถล่มทลายได้เป็นประธานาธิบดียูเครนซะอย่างนั้น

เช่นเดียวกับตัวเองในหน้าจอ เซเลนสกี้ก็เป็นคนที่มีที่มาแบบบ้านๆ เซเลนสกี้เป็นลูกชายของอาจารย์หัวหน้าภาควิชาคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยหัวเมืองต่างจังหวัด ครีฟุยิ รีห์ (Krivyi Rih) และแม่ที่เป็นวิศวกร ทั้งคู่เป็นชาวยิว

เซเลนสกี้ฉายแววตลกตั้งแต่ยังหนุ่ม ตอนอายุ 17 แจ้งเกิดด้วยการได้ร่วมรายการ KVN หรือ ‘Klub Vesyolykh i Nakhodchivykh’ รายการตลกวาไรตี้ที่เป็นที่นิยมไปทั่วเหล่าประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต เทียบให้เห็นภาพ รายการจะคล้ายๆ กับ Saturday Night Live ฝั่งอเมริกา หรือ ‘ระเบิดเถิดเทิง’ ของบ้านเรา เซเลนสกี้เป็นนักอิมโพรไวซ์ตัวยง ฉายแววตลกจนรวบรวมเพื่อนๆ ชาวยูเครนในวงการก่อตั้งเป็นกลุ่ม ควาร์ทาล 95 (Kvartal 95) หรือ Quarter 95 ในฐานะหัวหน้ากลุ่มเซเลนสกี้ปล่อยพลังเต็มที่ เล่นตลก sketch ภาษารัสเซียนับร้อย ตั้งแต่เอ็มวีนุ่งน้อยห่มน้อยล้อบียอนเซ่

เล่นเปียโนด้วยน้องดุ้นกับเพื่อนๆ อย่างที่บอกไปข้างต้น

ยันเต้นลีลาศจนเป็นแชมป์รายการ Dancing with the Stars เวอร์ชั่นยูเครน (ดูที่นี่)

แต่ถ้าวาสยาเป็นคนถ่อมตัวไร้ความทะเยอะทะยาน ก็ต้องบอกว่าเซเลนสกี้คือตรงกันข้าม เซเลนสกี้คิดการใหญ่ ตั้งบริษัท Kvartal 95 ชื่อเดียวกันกับกลุ่ม ทำทั้งรายการทีวี ซีรีส์และหนังตลกขนาดยาว (เรื่องหนึ่ง Jean Claude Van Damme มารับเล่นบทตัวประกอบให้ฟรีๆ) เพิ่มจากที่แสดงสดอยู่เดิม โดยเซเลนสกี้เคยแจ้งไว้ว่าตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อ “ทำให้โลกนี้ดีขึ้น มีเมตตาและมีความสุขมากขึ้นด้วยของถนัดของพวกเรา นั่นคือความตลกและความคิดสร้างสรรค์”1https://web.archive.org/web/20190331072916/http://kvartal95.com/en/about/ เทียบเป็นไทยน่าจะใกล้เคียงกับบริษัทสื่อทีวีเจ้าหนึ่งที่ก่อตั้งโดยบริษัทขึ้นต้นด้วย W เจ้าของช่องทีวีชื่อดัง 

Kvartal 95 และเซเลนสกี้เองเริ่มพัฒนาจากกลุ่มตลกธรรมดา ไปสู่กลุ่มตลกที่นำเสนอความเป็นยูเครนอย่างเข้มข้น จนผลิตซีรีส์ Servant of the People เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมืองยูเครนอย่างเข้มข้นจนนำเซเลนสกี้เข้าสู่โลกการเมืองของจริงในที่สุด

วาสยา ประธานาธิบดีมือใหม่ได้เมนเทอร์เป็นนายกรัฐมนตรีมือฉมัง (ระบบยูเครนอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีคงตำแหน่งข้ามประธานาธิบดีได้ นายกฯ จึงมักเป็นผู้ช่วยส่งไม้ต่อจากประธานาธิบดีคนเก่าสู่คนใหม่) ที่แนะนำวาสยาให้รู้จักกับโลกของประธานาธิบดียูเครน วาสยาต้องอึ้งเมื่อพบว่าระบบการเมืองในทำเนียบเต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อเสียสติของปธน. ยุคก่อนหน้า เช่น หมอนวดสาวไทยประจำตัวประธานาธิบดี 4 คน หมอดูประจำตัว ยันคนเลี้ยงนกกระจอกเทศประจำคฤหาสน์อดีตประธานาธิบดี ล้อเลียนกับพฤติกรรมในโลกความเป็นจริงของอดีตปธน. จอมคอร์รัปชั่นอย่าง Yanukovych ที่มีสวนสัตว์ส่วนตัวในคฤหาสน์ที่เต็มไปด้วยสัตว์ที่นำเข้ามาให้ปธน. ได้ดูเล่นโดยเฉพาะ

ไม่พอ ระบบราชการยูเครนในซีรีส์ยังเต็มไปด้วยประเพณีการเมืองและระบบซับซ้อนไร้ประโยชน์ขัดขวางความเจริญประเทศ สำนักนายกฯ ที่เดียวมีผู้ช่วยเป็นร้อยทำหน้าที่จุกจิกไม่จำเป็น ทุกคนมีหน้าที่แค่ เซย์เยสให้ปธน.พอใจ และเลวร้ายที่สุด รัฐมนตรีทุกคนมาจากกลุ่มการเมืองหน้าเดิมๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเหล่า oligarch หรือผู้มีอิทธิพลรวยล้นฟ้าประจำประเทศที่เป็นผู้ชักใยวงการการเมืองยูเครนที่แท้จริงมาตลอด

วาสยาเลยประกาศกร้าวว่าจะล้างมันทั้งระบบแล้วเริ่มระบบทุกอย่างใหม่จากศูนย์ ไล่รัฐมนตรีออกทั้งขบวน แล้วดึงเอาเพื่อนนักแสดง ประชาชนคนธรรมดา และแม้แต่อดีตภรรยาที่มีสกิลเหมาะกับกระทรวงต่างๆ เข้ามาบริหารแทน ขัดขาทุกผู้มีอิทธิพลเพื่อประโยชน์ของประเทศ เดือดร้อนเหล่า oligarch ที่ไปไม่เป็นเมื่อประธานาธิบดีคนใหม่ไม่ใช่คนของตัวเองต้องหาทางทำทุกทางเพื่อดึงวาสยามาเข้าพวก และถ้าดึงไม่ได้ ก็หาทางทำลายชื่อเสียงให้ป่นปี้ หรือสุดท้ายอาจถึงขั้นใช้กำลังเล่นกันถึงชีวิตเพื่อกำจัดให้พ้นทาง

ซีรีส์ ‘Servant of the People’ กล้าพูดถึงประเด็นร้อนของบ้านเมืองยูเครนอย่างตรงไปตรงมา (อย่างไม่กลัวจะโดนเก็บหรือติดเชื้อในกระแสเลือด) ไม่ว่าจะเป็นการขยี้เรื่องเหล่าผู้มีอิทธิพลในระบบแบบเต็มๆ พูดถึงความต้องการของยเูครนที่อยากเข้าร่วมสหภาพยุโรปแต่ฝั่งยุโรปกลับมัวแต่ดึงเช็ง มีซีนที่แองเจลา เมอร์เคล (Angela Merkel) อดีตผู้นำเยอรมนีโทรมาแจ้งวาสยาว่ารับยูเครนเข้าอียูเรียบร้อยแล้ว ก่อนรู้ตัว่าโทรผิด จริงๆ จะโทรฯ มาแจ้งปธน. ประเทศมอนเตเนโกร

และร้ายสุดคือพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียภายใต้การนำของปูตินอย่างเจ็บแสบไม่อ้อมค้อม เช่นการมีคนหน้าเหมือนวาสยาในทำเนียบ (ซึ่งแน่นอนเซเลนสกี้เล่นบทนี้เองเช่นกัน) ไว้เป็นเป้าหลอกให้สไนเปอร์รัสเซียโดยเฉพาะ หรือฉากที่วาสยาเข้าสภาแล้วสส. กำลังตีกัน จนวาสยายิงออกไปว่า ‘รัฐบาลปูตินล้มแล้ว’ คนทั้งสภาถึงได้หันมาฟังหน้าตื่น

แต่ภายใต้ความตลกโปกฮา ตัวซีรีส์ก็กล้าพูดถึงความเป็นมนุษย์ของเหล่าตัวละครรอบตัววาสยาที่บางครั้งก็พบว่าพลังอันหอมหวานของการคอร์รัปชั่นนั้นช่างต้านทานยากเย็นเสียเหลือเกิน เช่นครอบครัวของวาสยา ที่เมื่ออยู่ดีๆ ก็มีอำนาจและเงินในมือในฐานะครอบครัวท่านประธานาธิบดีขึ้นมาก็อดจะลองใช้อำนาจบาทใหญ่ดูไม่ได้ พ่อวาสยาแอบอาศัยช่วงลูกกำลังชุลมุนกับเรื่องที่สภารีโนเวทบ้านทั้งหลังเป็นคฤหาสน์โรมัน แม่และน้องเดินเข้าห้างจะไปซื้อเสื้อผ้าหรูๆ เดินออกมาจากห้างหน้าระรื่นเพราะทางร้านให้ส่วนลด ‘100%’ แลกกับการสัญญาว่าจะให้วาสยาลดภาษีให้ ร้อนถึงตัววาสยาที่ต้องพยายามเปลี่ยนใจคนในครอบครัวที่ยังเห็นดีเห็นงามกับระบบคอร์รัปชั่นแบบเก่าๆ ให้เลิกนิสัย นี่ยังไม่นับถึงคนในรัฐบาลเองที่แม้จะเป็นคนดีแค่ไหนก็อดเผลอใจไม่ได้เป็นบางครั้ง หรือแม้แต่นายกฯ คู่มือวาสยาเองก็อาจเล่นทั้งสองฝ่าย สนับสนุนทั้งฝั่งวาสยาและผู้มีอิทธิพลทั้งคู่

การใช้ความตลกซิตคอมกล้าพูดเรื่องจริงโคตรดาร์กที่ไม่มีใครกล้าพูดของปัญหาในประเทศและสร้างตัวละครที่ทั้งจี้เส้นและเป็นมนุษย์ ทำให้ทั้งตัวซีรีส์และตัวของเซเลนสกี้กลายเป็นที่รักของชาวยูเครนในชั่วข้ามคืน

ไม่มีใครรู้ว่าเซเลนสกี้ตัดสินใจลงเล่นการเมืองจริงจังเมื่อไหร่ ตกลงเซเลนสกี้ตั้งใจลงเล่นการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร แล้วใช้ซีรีส์เป็นใบเบิกทางมาแต่ต้น? หรือว่าการเล่นเป็นประธานาธิบดีในจอขำๆ ไปๆ มาๆ ทำให้เซเลนสกี้คิดอยากเป็นประธานาธิบดีของจริง? แต่ที่แน่นอนก็คือในปี 2017 ทีม Kvartal 95 ร่วมมือกับพรรคการเมือง Party of Decisive Change จดทะเบียนชื่อพรรคใหม่เป็นพรรค Servant of the People ตามชื่อซีรีส์ชื่อดังของตัวเอง และเซเลนสกี้ประกาศลงสมัครเลือกตั้งช่วงปีใหม่ของปี 2019 แข่งกับตัวเต็งอย่างประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชงโก้ (Petro Poroshenko) ที่ได้เสียงเลือกท่วมท้นในการเลือกตั้งสมัยก่อนหน้า จนผลออกมาว่าม้ามืดอย่างเซเลนสกี้ชนะด้วยเสียงสนับสนุนล้นหลามกว่าร้อยละ 73 จากทั้งประเทศ

ราวกับหยิบเอาบทซีรีส์มากางเป็นแผนพัฒนาประเทศ เซเลนสกี้ดึงคนในสตูดิโอ Kvartal 95 ของตัวเองมาเป็นรัฐมนตรีในสภา ลุยดะปะทะผู้มีอิทธิพลในยูเครนในชีวิตจริงไม่ต่างจากในซีรีส์ รัฐบาลเซเลนสกี้ออกกฎหมายลดการผูกขาดในแวดวงสื่อ ยกเลิกการคุ้มกันทางกฎหมายของนักกฎหมาย ทูตและผู้พิพากษา และบังคับให้ผู้มีอิทธิพลต้องขึ้นบัญชีกับภาครัฐ ห้ามไม่ให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทรัฐวิสาหกิจและสนับสนุนการเงินกับนักการเมืองเด็ดขาดอย่างไม่เกรงกลัวผู้มีอิทธิพลแต่อย่างใด

แต่ในภายใต้ภาพลักษณ์ฮีโร่ของเซเลนสกี้ จะบอกว่าชีวิตจริงเลียนแบบละครก็คงไม่ผิดนัก เพราะเซเลนสกี้ตัวจริงที่หาเสียงด้วยนโยบายปราบปรามคอร์รัปชั่นในรัฐบาลเองก็อาจจะยอมหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองบ้างไม่ได้ ข้อมูลจากเอกสารทางการเงิน Pandora Papers ที่หลุดออกมาในช่วงเดือนตุลาคมปี 2021 ที่ผ่านมาเปิดเผยว่าเซเลนสกี้และพรรคพวกมีบริษัทหนีภาษีในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และไซปรัสและมีอสังหาริมทรัพย์ราคาแพงในลอนดอนหลายรายการ โดยทางเซเลนสกี้เองออกมาแจ้งว่าบริษัทเหล่านี้มีไว้เพื่อไม่ให้ทุนซีรีส์ของเขาถูกแทรกแซงทางการเมืองและทั้งตัวเข้าและบริษัท Kvartal ไม่ได้ใช้บริษัทเหล่านี้เพื่อฟอกเงินแต่อย่างใด เซเลนสกี้จะพูดจริงหรือไม่เราไม่มีทางรู้ได้ แต่คำกล่าวหาดังกล่าวก็สั่นคลอนความเชื่อมันของประชาชนในตัวเซเลนสกี้ไปบ้าง ส่วนตัวพรรค Servant of the People เองก็เริ่มเสื่อมความนิยมในประชากรยูเครนจากการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและนโยบายต่างๆ ที่ทำได้เชื่องช้าไม่เหมือนที่หาเสียงเอาไว้ ดูจะเป็นขาลงสำหรับเซเลนสกี้และพรรคพวก จนสงครามกับรัสเซียครั้งนี้นี่เองที่ดันให้เซเลนสกี้กลับมาเป็นขวัญใจประชาชนชาวยูเครน และอาจถึงขั้นเป็นขวัญใจคนทั้งโลกในโมงยามนี้


ลองนึกย้อนไปช่วงวันแรกๆ ของสงครามดูนะครับ ในสถานการณ์ที่ประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งเจอฝ่ายศัตรูจำนวนมากกว่าเป็นร้อยเป็นพันเท่าบุกเข้ามาทุกทิศทาง ภาครัฐและประชาชนถูกเหล่ามหาอำนาจตะวันตกทิ้งให้โดดเดี่ยวเพราะไม่กล้าแหย่หมีขาว รัฐศัตรูสั่งจับตายตัวประธานาธิบดีและครอบครัว ผู้นำคนอื่นๆ คงหนีหางจุกตูดไปตั้งรัฐบาลนอกประเทศทิ้งให้ประชาชนเผชิญชะตากรรมอย่างเช่นที่ อาชราฟ กานี (Ashraf Gani) อดีตประธานาธิบดีของอัฟกานิสถานทำเมื่อปลายปีที่ผ่านมาหลังกองกำลังตาลีบันบุกยึดกรุงคาบุล แต่เซเลนสกี้กลับยืนยัดต่อสู้ไม่ย่อถอย กล่าวกับคนยูเครนว่าเขาจะไม่หนีไปไหน แล้วใช้เครื่องมือที่เขารู้ดีที่สุดในการต้านรัสเซีย นั่นก็คือสื่อ โดยเฉพาะสื่อ Social 

ตอนผู้เขียนเรียนเขียนบทอยู่ที่อเมริกา เคยมีอาจารย์คนหนึ่งสอนว่า เมื่อคนเราต้องจะได้อะไร ให้แจ้งเป้าประสงค์ของตัวเองให้ชัดเจน ดูตัวอย่างจากตัวละคร Inigo Montoya นักดาบสเปนจากเรื่อง ‘The Princess Bride’ เป็นตัวอย่าง ง่ายๆ ก็คือเราควรแจ้งว่า

  1. สวัสดี
  2. เราเป็นใคร
  3. ทำไมต้องแจ้งความต้องการ
  4. เราต้องการอะไร

ซึ่งเซเลนสกี้เอา 4 ข้อพูดง่ายๆ นี้มาใช้ในสปีชของเขาเต็มที่ทุกครั้ง เช่นเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่เขากล่าวกับประชาชนรัสเซียว่าก่อนการบุกว่า: 

“วันนี้ผมโทรหาประธานาธิบดีรัสเซีย แต่ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ (…) ผมเลยอยากจะพูดกับพวกคุณทุกคน ไม่ใช่ในฐานะประธานาธิบดี แต่ในฐานะคนยูเครนคนนึง (…) ถ้าผู้นำรัสเซียไม่อยากนั่งโต๊ะเดียวกันกับผมเพื่อเจรจาสันติภาพ บางทีเขาอาจจะยอมนั่งถ้าคนที่โต๊ะคือประชาชนรัสเซียแบบพวกคุณ คนรัสเซียต้องการสงครามจริงๆ หรือ ผมอยากรู้คำตอบ และคนที่ตอบคำถามนี้ได้แท้จริงก็คือประชาชนอย่างพวกคุณ” (หมายเหตุ: ทำตัวหนา 4 ข้อโดยผู้เขียน)

ไม่ใช่แค่ชัดเจนในการแจ้งความ แต่เซเลนสกี้ยังเลือกใช้อีกทักษะสำคัญในการเล่าเรื่อง นั่นคือการก้าวข้ามการใช้เหตุผลหรือข้อมูลวิชาการ ใส่ใจและอารมณ์ลงไปในการพูดเพื่อให้อีกฝ่ายไม่ได้แค่รับแต่ข้อมูล แต่ยังได้รู้สึกและเข้าใจตาม ดังในวันที่ 1 มี.ค. ที่เซเลนสกี้กล่าวสุนทรพจน์กลางที่ประชุมสหภาพยุโรปว่า

วันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายของชีวิตคนยูเครนหลายๆ คน พวกเรากำลังสละชีวิตคนยูเครนที่ดีที่สุดเพื่อปกป้องค่านิยม อิสรภาพ และความเท่าเทียมของเรา นี่ผมไม่ได้พูดจากสคริปต์ หมดเวลาของสคริปต์แล้ว นี่เรากำลังพูดกันเรื่องชีวิตคน ถ้าไม่มีพวกคุณ ยูเครนก็จะไม่เหลือใคร เราพิสูจน์แล้วว่าเราแข็งแกร่งไม่ต่างจากพวกคุณ พิสูจน์ให้พวกเราเห็นว่าคุณจะไม่ทิ้งพวกเรา แล้วชีวิตจะมีชัยเหนือความตาย ธรรมะจะชนะอธรรม ยูเครนจงเจริญ” 

เมื่อบวกกับภาพลักษณ์ที่เขาถอดสูทมาใส่เสื้อทีเชิ้ต ถ่ายวิดีโอร่วมกับทหารและประชาชนตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ผู้นำการเมืองทั่วไปที่ดูห่างไกลและทิ้งประชาชน และออกคลิปพิสูจน์ว่าเขายังอยู่ในกรุงเคียฟไม่หนีไปไหน ท้าทายฝ่ายรัสเซียที่ตั้งใจลอบสังหารเขาอย่างไม่กลัวตายจนแทบจะเหมือนกับว่าตัวเขาเองมี ‘plot armor’ หรือการที่ตัวละครหลักในภาพยนตร์ต่างๆ จะไม่มีวันตายจนกว่าจะถึงจุดที่เรื่องกำหนดให้ต้องเป็นอะไรไปในโลกความเป็นจริงขึ้นมา จนคนทั่วไปอดรู้สึกตามไม่ได้ว่าเซเลนสกี้อาจจะคงกระพันจริงๆ นี่แหละคือการใช้การทักษะการเล่าเรื่องและทักษะทางภาพของสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์เป็นอาวุธอย่างแท้จริง 

ชีวิตของเซเลนสกี้ตั้งแต่เข้าร่วมการเมืองตลอดมาดูเป็นชุดเหตุการณ์ที่ไม่แน่ว่าคือ life imitates art คือชีวิตเลียนแบบซีรีส์ เซเลนสกี้ค่อยๆ กลายเป็นวาสยาขึ้นมา หรือกลับกันว่า art imitates life คือที่เราเห็นนี่แหละคือตัวตนที่แท้จริงของเซเลนสกี้มาตลอด ณ จุดนี้ ก็คงต้องรอดูว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายออกมาในรูปแบบใด เซเลนสกี้จะมีชีวิตอยู่อีกนานแค่ไหน แต่ตอนนี้คงพูดได้แล้วว่า คนทั้งโลกล้วนเฝ้าดู วอลอดีมีร์ เซเลนสกี้ อดีตดาวตลกสู่ประธานาธิบดีและฮีโร่ของโลกเสรี เป็นคนทำหนังที่ลงไปอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์โลกตลอดไปแล้วเรียบร้อย


ผู้อ่านสามารถรับชมซีรีส์ Servant of the People ซีซั่นแรกบน Netflix และซีซั่น 2 และ 3 อย่างถูกกฎหมายได้ฟรีที่ช่อง Youtube ทางการของซีรีส์

อภิโชค จันทรเสน
ทีมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Homestay และ นศ. ปริญญาโทสาขาการผลิตภาพยนตร์ ณ University of Southern California School of Cinematic Arts ลอส แองเจลิส

RELATED ARTICLES