Where Is the Friend’s Home? (Iran, 1987, Abbas Kiarostami)

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเพื่อนคนหนึ่งสมัยเรียน ป.1 ครับ ซึ่งโรงเรียนที่ผมเรียนอยู่ตอนนั้นใกล้บ้านมากคือแค่มองจากฝั่งรั้วโรงเรียนก็เห็นหลังคาแล้ว ทีนี้มีวันหนึ่งก็ได้ยินเสียงเคาะประตูหลังบ้าน พอเปิดรับถึงได้พบว่ามีเพื่อนมาเยี่ยม พูดด้วยเสียงสั่นๆ ปนเหนื่อยหอบ ‘หม่ะ-โน๊-ธั่ม-ๆ-ลืม-คัด-ไทย-ไว้-ที่-โรง-เรียน’

โถ ตกลงวีรกรรมของเพื่อนวันนั้นที่นอกจากยังสำนึกในบุญคุณไม่รู้ลืมแล้ว เรื่องของ (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ‘ปิยะชาติ’ วันนั้น ตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมายังมีผลตามมาอีกยาวไกลตามมาอีกตลอดชีวิต คือทุกครั้งเวลาลืมนู่นลืมนี่ หน้าของเพื่อนปิยะชาติจะลอยเข้ามาแม้ในตอนนั้นเราก็รับไว้ด้วยความขอบคุณ แต่อยากจะบอกว่าจริงๆ แล้ว สมุดเล่มนั้นเราใช้จนหมดเล่มแล้ว ขี้เกียจใส่กระเป๋ากลับบ้าน ก็เลยทิ้งมันไว้ใต้โต๊ะอย่างนั้นแหละ ความสำคัญอยู่ที่มีแรงผลักอะไรที่ทำให้ ‘ปิยะชาติ’ ต้องหอบตัวโยนมาหาถึงบ้าน (เรียกให้เข้ามาเล่นก็ไม่เข้า, ด้วยมั้ง) 

ผลจากเย็นวันนั้น ตกลงจบลงด้วยความปลื้มปิติแน่นอนครับ แม้ว่ายังมีตะกอนตกค้างอีกยาวไกล คือคนหนึ่งเก็บไว้เป็นภาพจำ (ทุกๆ ครั้งเวลาลืมของ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริง ก็เปล่าลืมด้วยซ้ำ, 555) ส่วนอีกคน ถ้าอับบาส เคียรอสตามีไม่มาติดต่อทาบทามขอเอาไปสร้างเป็นหนัง (ปิยะชาติ)ก็คงส่งสัญญาณทิพย์ไปถึงประเทศอิหร่าน กลายเป็นตัวละครหลักในหนัง (ที่แม้จะเก่า ต่อให้เป็นเวลาที่กำลังสร้าง วันเวลาของช่วงวัยเด็กก็ผ่านพ้นไปเนิ่นนานหลายปีแล้ว) ทว่าใกล้ตัวจนรู้สึกได้ถึงความรู้สึกของเพื่อนในเวลานั้น

แม้เรื่องราวระหว่าง ‘ปิยะชาติ’ และ ด.ช.อาหมัดในหนังจะมีความใกล้เคียงกันมาก แต่ก็มิได้มีตอนจบที่เหมือนกันแน่นอนครับ (ฉะนั้นตัดเรื่องสปอยล์ทิ้งไปได้) สำคัญที่มีอะไรมาหลอกหลอน(ปิยะชาติ)ให้ต้องเอาสมุดเล่มนั้นมาคืนให้ถึงบ้าน กับสอง เมื่อ(ปิยะชาติ)คืนสมุดให้แล้ว เจ้าตัวรู้สึกอย่างไร (โล่งกาย + สบายใจ + หมดภาระกูแล้ว เหมือนได้ทำความดี) แล้วสมมติว่าถ้าเปลี่ยนสมุดแบบฝึกหัด (สมมติคัดลายมือภาษาฟาร์ซีของอิหร่านก็ได้) เป็นอย่างอื่นแทน ค่าของสมุดก็มองได้ยาวไกลเกินกว่าเอากระดาษมาเย็บเป็นเล่มๆ หลายเท่าเป็นแน่

ยุคหนึ่งหนังอิหร่าน (จะเรียกว่าเพื่อการส่งออกจะได้มั้ย) มักมีลีลาการเดินเรื่องและวิธีนำเสนอเหมือนชวนคนดูร่วมเล่นเกมที่พบเห็นได้บ่อยเวลาจัดสัมมนาหรือทำกลุ่มสัมพันธ์ (ประเภทเดินมินิมาราธอน) ที่มักเดินภายใต้โจทย์หรือกติกาบางอย่างซึ่งกว่าจะบรรลุเป้าหมาย มักมีการให้ผ่านด่านสิบแปดก่อน และโดยมากชอบใช้ตัวละครเด็ก ทีนี้ด้วยวัยขนาดน้องอาหมัดมักหัวอ่อน, เชื่อฟัง, อยู่ในโอวาท และกระตือรือร้นที่จะทำความดี ซึ่งจะทำให้ ‘สมุด’ เล่มเดียวจะมีค่าเกินกว่าที่เห็นด้วยตาแน่ๆ อย่างน้อยก็ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าให้คุณให้โทษอย่างไร ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวกระดาษ เพราะสิ่งที่คนอื่นเห็นก็คงเป็นแค่สมุดการบ้านธรรมดา แต่สำหรับอาหมัด (หรือเจ้าเนมัทห์ซาเดห์’, ตัวเจ้าของ) ค่าของสมุดเล่มเดียวอาจครอบคลุมเกินกว่าที่ชาวบ้านในละแวกจะเข้าใจหรือแลเห็นคุณค่าของมัน

บางที สิ่งหนึ่งที่คาดว่าถูก(อับบาส)นำ ‘สมุดการบ้าน’ มาใช้วิพากษ์บางอย่างที่ไกลกว่านั้นอย่างซ่อนรูปและแยบยล จนผกก.อับบาสรอดพ้นจากการการตรวจจับโดยเรดาร์ขององค์กรทางศาสนา สมมติว่าสมุดและเส้นทางการดั้นด้นเพื่อหาเจ้าของ ล้วนแล้วแต่ใกล้เคียงกับมรรควิธีเพื่อการค้นพบความจริงบางอย่างซึ่งถ้าสำหรับด.ช.วัยแปดขวบอย่างอาหมัดจะมีความยิ่งใหญ่มาก แม้การแสวงหาความจริงจะสิ้นสุดลงด้วยเวลาเพียงหนึ่งวัน (หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย) นั่นคือ(อาหมัด)ออกค้นหาบ้านเพื่อน(เนมัทซาเดห์)ด้วยศรัทธาล้วนๆ นั่นคือ มีทั้ง goal, objective ซึ่งขับเคลื่อนโดย ‘Faith’ ภายใต้ความเชื่อ (believe) นั่นคือบ้านของเนมัทซาเดห์ต้องมีอยู่จริง และ(ต้อง)ตั้งอยู่ในแถบปอชเตห์ (Poshteh) แน่ๆ เลย

นั่นคือเส้นทางของอาหมัดอาจมองดูเล็กน้อย แต่ถ้าขยายสเกลออกนิดเดียว มันก็จะเข้าไปใกล้มหากาพย์โอดิสซีหรือไม่ก็เส้นทางสู่ชมพูทวีปใน ‘ไซอิ๋ว’ แต่เปลี่ยนปีศาจอสุรกายมาเป็นตัวขัดขวางเส้นการเดินทาง (สู่ปอชเตห์ เพื่อตามหาบ้านเพื่อนเนมัทซาเดห์ซึ่งได้ยินข้อมูลที่ทั้งหลวมแและลอยว่าเป็นแถวนั้นละแวกนั้นแน่) มาเป็นป้าๆ ข้างทางที่ทำผ้าที่ตากไว้ตกลงมาลงพื้น นั่นคืออาหมัดออกเดินทางด้วยความมุ่งมั่น ด้วยเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวแบบรวมศูนย์ ครั้นเริ่มออกเดิน(เท้า) ไม่ทันไร ก็มักพบตัวแปรที่มีแต่จะแยกอาหมัดให้เฉไฉออกนอกเส้นได้เกือบตลอดทางซึ่งมีความหลากหลาย

นั่นคือชุดข้อมูลที่มีอยู่ มีความรัดกุมพอหรือยัง เพราะลำพังรู้แค่บ้านอยู่ละแวกปอชเตห์อย่างเดียว คงช่วยอะไรอาหมัดไม่ได้มาก จนแทบจะเหมือนไม่ได้ช่วยอะไรเอาเลย การได้พบร่องรอยบางอย่างที่พอจะชี้ไปถึงตัว ‘เนมัทซาเดห์’ ได้ ไม่ว่าจะเป็นกางเกง (ต่อให้มีขนาดเข้ากับเด็กชายวัยเดียวกัน), การได้พบกับนายช่างทำหน้าต่างเหล็กซึ่งก็ชื่อ ‘เนมัทซาเดห์’ ตรงกันเสียอีก ในแง่หนึ่งรายละเอียดเหล่านี้ น่าจะไม่ต่างอะไรกับ ‘ความหวัง’ (hope) ซึ่งจูงใจให้คนที่เชื่ออยู่แล้ว เพิ่มแรงศรัทธาให้แก่กล้าเข้าไปอีก จนกระทั่งพบว่า ร่องรอยที่ว่า(ซึ่งบังเอิญแม็ทช์กับข้อมูล) ล้วนแล้วแต่เป็นกระแสลวงให้หลง(ทาง)ตลอด

ที่น่าสังเกตอีกอย่าง คงเป็นเรื่องของการให้เรื่องราวไปเกิดในวันหยุด (ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นวันอาทิตย์กับเขาด้วยหรือเปล่า) ซึ่งคาดว่าเป็นเวลาซึ่งถ้าเป็นคนอื่นที่เขามีศรัทธาและเชื่อ(ว่าพระเจ้ามีจริง, ถ้าเชื่อในพระเจ้า แล้วจะมีชีวิตที่นิรันดร์ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์, อะไรก็ว่าไป) วันวันเดียวกันก็น่าจะเป็นช่วงเวลาของการประกอบศาสนพิธีตามความเชื่อ แต่สำหรับด.ช.อาหมัด วันวันเดียวกันคือวันแห่งการวิ่งๆๆๆ และวิ่งเพื่อค้นหาล้วนๆ เพราะลำพังการแค่ได้ยื่น(สมุด) ให้ถึงมือเนมัทซาเดห์ได้ ก็แปลว่าเพื่อนก็จะปลอดภัย + ไม่ต้องโดนครูทำโทษหรือเฆี่ยนตี ซึ่งการจะไปให้ถึงหลักและหมุดหมาย เพื่อการหลุดพ้นและไถ่ถอนบาป คือสิ่งที่ทำได้หรือเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน 

ไม่เถียงครับว่าบ้านของเนมัทซาเดห์ (เพื่อน) อยู่ในละแวกปอชเตห์จริง แล้วก็ลุงช่างทำหน้าต่างเหล็กก็ใช้นามสกุลเนมัทซาเดห์เหมือนกัน ซึ่งแทนที่จะพาด.ช.อาหมัดเข้าไปใกล้สัจธรรม ความจริง หรืออะไรก็ตามที่มีความสูงส่งยิ่งกว่านั้น ทว่ากลายเป็นตัวแปรที่ยิ่งมีแต่จะฉุดรั้งให้อาหมัดห่างไกลการหลุดพ้นหรือแม้แต่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้กระทำความดี และด้วยความมุ่งมั่นที่มีต่อความเชื่อในศรัทธาก็ได้กลายมาเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจ (distraction) ให้ไกลจากลู่ทางเข้าทุกที (สมมติว่าคำกล่าวอ้างของเนมัทซาเดห์ที่ว่ามีบ้านอยู่ละแวกปอชเตห์เป็นแค่ข้ออ้างของการมาโรงเรียนสาย เนื่องจากตั้งอยู่ในที่ห่างไกล ข้อมูลที่อาหมัดรับมาก็กลายเป็นข้อมูลเท็จ) ฉะนั้นข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันก็อาจเปลี่ยนเป็น ‘สิ่งยั่วยุ’ (temptation) ให้คนหลงทางหรือเดินทางผิดในทันที ตกลงจะเหลืออะไรให้ผ้าขาวอย่างอาหมัดมีศรัทธาอะไรได้อีกบ้าง เริ่มตั้งแต่สมุดที่ถือไว้กับมือ ก็พลันถูกฉีกออก ตามคำขอของพวกลุงๆ เพื่อใช้ร่างสัญญาทำหน้าต่าง ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่จริงจริงในย่านปอชเตห์มีแต่เส้นทางที่สลับซับซ้อน ประกอบกับเมื่อไปถึงที่หมายก็มืดค่ำลงเรื่อยๆ แล้วไหนอาหมัดยัง (ทั้งหลงทั้ง)เชื่อยอมเดินตามลุงแปลกหน้าอีกซึ่งในใจก็อดไม่ได้ที่จะพลั้งเผลอออกมาว่าไม่นะๆๆๆ

แม้บทสรุปจะจบลงด้วยคำพูดในใจ(อีกเช่นกัน)ว่า ‘นิสัยฯ’ การบอกเล่า (ที่เกือบจะเทียบได้กับ ‘คำสั่งสอน’) กลายเป็นชุดข้อมูลที่ขาดการพิสูจน์ยืนยันหรือแม้แต่มีความน่าเชื่อถือ แก่คนที่พร้อมจะปฏิบัติตามด้วยศรัทธาว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาคือความจริง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็เท่ากับว่างานนี้อับบาสได้ปรุงแกงหม้อใหญ่พร้อมเสิร์ฟ ทว่าเนียนเสียจนถึงรู้ ก็ไม่มีใครเอาผิดเอาความและที่สำคัญ ผกก.อับบาสก็มิได้เจาะจงด้วยว่า ถ้ากำลังหมายถึงศาสนาจริง ศาสนาที่ว่าคือศาสนาอะไร เนื่องจากโมเดลเดียวกันยังมองได้ทั้งกว้างและครอบคลุม จนยากที่จะชี้นิ้วระบุตัวตนได้อย่างถนัดชัดเจน

RELATED ARTICLES