Holy Spider : คนดีในเมืองสีเทา

หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์ 

คุณคิดว่าอะไรคือนิยามของ “คนดี” คะ?

คนดีอาจเป็นคนที่ไม่เคยทำผิด เป็นคนที่ไม่ทำสิ่งแย่ ๆ หรือเป็นคนที่เลือกสิ่งที่ถูกเสมอ

ปัญหาคือไอ้คำว่า “ทำผิด” หรือ “สิ่งที่ถูก” เป็นสิ่งที่นิยามยากมาก และหลายครั้งความ “เบลอ ๆ” ของสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดวิกฤติทางศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นของตัวบุคคลหรือของสังคมโดยรวม อะไรกันแน่คือ “ความดี”

เรื่องราวของหนัง Holy Spider คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นอะไรแบบนั้น เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อหญิงโสเภณีจำนวนหนึ่งถูกฆาตกรรมอย่างเป็นปริศนาในเมืองมัชฮัด ประเทศอิหร่าน ตำรวจไม่สามารถจับฆาตกรได้และยังทำเหมือนเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ดูเหมือนในมุมหนึ่งพวกเขาจะดีใจด้วยซ้ำที่ฆาตกรมาทำความสะอาดถนนของเมืองนี้ให้ปราศจากราคี

หนังตัดมายังชีวิตของ ซาอีด ชายวัยกลางคนที่ทำอาชีพก่อสร้าง เขาเชื่อในพระเจ้าอย่างมากและมีปณิธานที่อยากเป็นฮีโร่ เขารู้สึกว่าชีวิตหลังปลดประจำการจากสงครามนั้นช่างจืดชืดและฝันอยากทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ วันหนึ่งซาอีดรับรู้ถึงสัญญาณจากพระเจ้า สั่งให้เขาลักพาตัวโสเภณีและฆาตกรรมพวกเธอเพราะเชื่อว่าเป็นการทำสิ่งที่ถูก ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆแล้วเขาคือ “ฆาตกรแมงมุม” และเขาก็ยังใช้ชีวิตกับลูกชาย ลูกสาว และภรรยาตามปกติ

อีกด้านหนึ่ง ราฮิมิ นักข่าวสาวที่ติดตามเรื่องนี้ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะหาฆาตกรเพราะเธอรู้สึกร่วมกับผู้หญิงเหล่านั้นได้ การเป็นนักข่าวหญิงในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ช่างเป็นสิ่งที่ยากเย็น เธอไม่สามารถไปสืบคดีได้ด้วยตัวคนเดียวและต้องมีผู้ชายไปด้วยเสมอ ราฮิมิมีแรงผลักอยู่ลึก ๆ ที่จะทำให้สังคมนี้เท่าเทียมกันมากขึ้นเพราะเธอเองก็เคยถูกกระทำมาก่อน

หนังเรื่องนี้อาจเป็นหนังแนวตามสืบหาฆาตกรธรรมดา หากมันไม่ได้แฝงแง่มุมที่ดู “ไร้เหตุผล (absurd)” ของสังคมอิหร่านเอาไว้ คำว่า “ยุติธรรม” ดูจะเป็นสิ่งที่ดิ้นได้ ขึ้นกับว่าคนที่พูดมันออกมาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย  สำหรับซาอิด การที่หญิงโสเภณีหรือหญิงชั่วเหล่านั้นถูกลงโทษดูจะกลายเป็นสิ่งที่ยุติธรรมสำหรับพวกเธอแล้ว  และสังคมรอบ ๆ ตัวเขาที่นำโดยผู้ชายก็ขยายความคิดแบบนั้นของเขาออกไป ภาพของม็อบที่ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวซาอีดนั้น ในมุมหนึ่งมันแสดงความอัปลักษณ์บิดเบี้ยว (Grotesque) ของสังคมที่ขาดความเท่าเทียม และซ้ำร้าย คนที่ออกมาเรียกร้องกลางถนนกลับไม่ใช่แค่ผู้ชาย แต่ยังมีผู้หญิงและเด็กด้วย

สิ่งที่น่าเจ็บช้ำที่สุดก็คือ ภรรยาของซาอีดเองกลับเห็นดีเห็นงามกับการกระทำของสามี ทั้งที่เธอเองก็เป็นผู้หญิง  สิ่งนี้สะท้อนการกดขี่อย่างเป็นระบบที่ผลของมันทำให้ผู้ถูกกดขี่หันไปกดขี่กันเองอีกที เธอพูดออกมาเต็มปากว่าสามีไม่ได้ทำอะไรผิดและพวก “ผู้หญิงต่ำ ๆ” เหล่านั้นสมควรถูกฆ่าตายแล้ว

การกดขี่ผู้หญิงอย่างเป็นระบบ ในแง่หนึ่งมันทำให้ผู้หญิงไม่ได้เป็นเจ้าของเพศวิถี (Sexuality) ของตัวเอง ผู้หญิงที่ดีคือผู้หญิงที่ไม่แสดงออกทางเพศ และเพศของเธอควรถูกผูกโยงไว้กับสามีในฐานะเมียและแม่เท่านั้น  หากมีผู้หญิงคนไหนแสดงออกว่าเป็นเจ้าของเพศวิถี ซึ่งในกรณีของหนังเรื่องนี้คือการแสดงออกของเหล่าโสเภณี หญิงเหล่านั้นจะถูกตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงชั่ว ดังที่เราได้เห็นครอบครัวของโสเภณีเหล่านั้นอับอายและลังเลที่จะรับเงินยอมความคดีนี้ เพราะไม่อยากให้คนพูดถึงลูกสาวของพวกเขามากเกินไป แม่ของโสเภณีคนหนึ่งถึงกับปฏิเสธว่าในบ้านของเธอไม่เคยมีลูกสาวเสียด้วยซ้ำ

การดิ้นรนของราฮิมิที่จะปลดแอกตนเองออกจากระบบกดขี่ทางเพศที่เข้มข้นในวงการของเธอนั้น เริ่มจากการที่เธอย้ายงานจากที่เก่าที่ซึ่งเธอถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา (ซึ่งหากเธอไม่ยอม นั่นหมายถึงการเสียโอกาสทั้งหมดด้านการงาน) เมื่อเธอหนีมาได้ เธอก็ต้องเผชิญกับการกดขี่ใหม่จากผู้มีอำนาจรัฐ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายแสดงออกอย่างชัดแจ้งในฉากที่นายตำรวจที่ดูแลคดีขอเข้ามาในห้องของเธอและบอกให้เธอสูบบุหรี่เป็นเพื่อน อาการลังเลของราฮิมิสะท้อนความรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่สุดท้ายเธอต้องเล่นตามเกมอำนาจไป เพราะ “เขา” เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และการพูดคุยกับเขามันสำคัญต่องานของเธอ

ฉากราฮิมิสูบบุหรี่กับตำรวจยังสะท้อนการที่ผู้ชายป้ายความผิดให้ผู้หญิงในอาชญากรรมที่พวกเขาก่อ นายตำรวจคนนั้นเป็นคนขอร้องแกมบังคับให้ราฮิมิสูบบุหรี่เป็นเพื่อน แต่หลังจากนั้นเขาก็บอกว่าเธอเป็นผู้หญิงชั้นต่ำ เพราะสูบบุหรี่กับผู้ชายไม่เลือกหน้า การกระทำเช่นนี้ไม่ต่างจากการโทษเหยื่อที่เป็นผู้หญิงในทุกครั้งที่อาชญากรรมเกิดจากผู้ชาย เช่น การโทษผู้หญิงที่ถูกข่มขืนว่าพวกเธอแต่งตัวยั่วยวนเอง ทั้งที่ผู้ชายเป็นคนใช้อำนาจกับเธอ

สังคมมีแนวโน้มจะทำให้ผู้ชายบริสุทธิ์ในอาชญากรรมที่พวกเขาก่อขึ้นกับผู้หญิง  ตัดภาพกลับมาที่ซาอีด เพื่อนของครอบครัวและครอบครัวของเขาเรี่ยไรเงินให้เขาสู้คดี หลายคนบอกว่าเขาเป็นฮีโร่ที่ช่วยทำให้เมืองสะอาดขึ้น การฆ่าคนตายเป็นการกระทำที่สูงส่งตั้งแต่เมื่อไหร่กันหรือ? โดยเฉพาะเมื่อการฆ่านั้นเกิดจากการที่เขาไปหลอกเหล่าโสเภณีว่าเขาเป็นลูกค้า การมีขึ้นของโสเภณีนั้นไม่ใช่เกิดจากเจตนาของฝ่ายหญิงเพียงอย่างเดียวแน่นอน แต่ฝ่ายชายนั้นลอยตัวเหนือปัญหาและบอกว่าตนเองไม่ผิด

ในแง่นี้ซาอีดจึงกลายเป็น “คนดี” ของสังคม โดยนิยามของคำว่าดีนั้นผูกโยงกับความเป็นชายมาก ๆ ซาอีดยึดถือในอิหม่ามคนปัจจุบันซึ่งเป็นผู้ชาย และพระเจ้าของเขาก็ยังเป็นผู้ชายอีกด้วย มันมีชั้นเชิงของการเป็นชายสอนหญิงอยู่ในความเป็นศาสนา  และซาอีดก็ถือว่าเขาจะเป็นตัวแทนของศาสนาที่จะลงโทษคนชั่ว ซึ่งก็คือเหล่าผู้หญิง

เมื่อองคาพยพของสังคมวางบนพื้นฐานของชายเป็นใหญ่ สิ่งที่ราฮิมิทำได้เพียงอย่างเดียวจึงเป็นการพึ่งกฎหมาย แม้กฎหมายจะถูกควบคุมด้วยผู้ชายอีกที เห็นได้ชัดว่าตลอดการสืบคดีนี้ไม่มีใครอยู่ข้างเธอหรือเห็นค่าของชีวิตโสเภณีที่ตายไปมากมายนัก ตำรวจเองก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือ ราฮิมิจึงต้องสืบคดีเองด้วยการปลอมตัวเป็นโสเภณี และเธอก็เจอกับซาอีดเข้าจริงๆ

ภาพที่ราฮิมิมือสั่นหลังพยายามหนีตายจากซาอีดเป็นภาพที่น่าสะเทือนใจและสะท้อนให้เห็นว่า ในการที่ผู้หญิงจะปลดแอกตนเองนั้น พวกเธอต้องใช้ “ชีวิตส่วนตัว” ของตัวเองเป็นเดิมพันและอาจถึงขั้นต้องตายเพื่ออุดมการณ์นั้น เพราะโครงสร้างของรัฐชายเป็นใหญ่ย่อมไม่สนับสนุนการปลดแอกผู้หญิง ราฮิมิมีเครื่องมือที่จะใช้ได้น้อยมากในกรณีนี้ และเครื่องมือสุดท้ายที่เธอมีก็มีเพียงชีวิตของเธอเอง น่าสนใจที่ประเทศแถบตะวันออกกลางจำนวนมากมีเหตุฆาตกรรมผู้หญิงนักกิจกรรมสิทธิสตรีเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

แต่เรื่องราวที่น่าสะเทือนใจที่สุดอยู่ในฉากช่วงท้าย ๆ ของหนัง เมื่อราฮิมิขึ้นรถทัวร์กลับบ้าน เธอเปิดฟุตเทจที่ถ่ายสัมภาษณ์เด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกชายของซาอิดไว้ เขาชื่นชมในสิ่งที่ซาอิดทำเป็นอย่างมากและอธิบายได้อย่างละเอียดว่าซาอีดทำอะไรกับผู้หญิงโสเภณีเหล่านั้น เขาเรียกน้องสาวของตัวเองมาสาธิตการฆาตกรรมและมีสีหน้าที่ภูมิใจในพ่อของตัวเอง

เขาบอกกับกล้องว่า หลายคนอยากให้เขาสานต่อสิ่งที่พ่อของตัวเองทำและมีสีหน้ายิ้มกริ่มทุกครั้งที่คนให้ท้ายพ่อของเขา เขาถึงกับได้ของสดฟรีจากร้านขายของเพราะเจ้าของร้านนั้นสนับสนุนสิ่งที่พ่อทำ น่าสังเวชใจที่ครอบครัวของเขากลายเป็นที่รักของเพื่อนบ้านในชั่วข้ามคืนเพราะพ่อของเขาฆ่าคนตายไปนับสิบศพ

วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่อาจจะสืบทอดตนเองด้วยอะไรประมาณนี้ – ด้วยการยกชูจากเพื่อนบ้านและคนในสังคมในการใช้อำนาจเกินขอบเขตของผู้ชาย หรือด้วยการผูกโยงความเป็นชายที่สูงส่งเข้ากับการใช้อำนาจ พร้อม ๆ กันนั้นก็สร้างขั้วตรงข้ามของความเป็นชายเพื่อขับเน้นให้ความเป็นชายสูงส่งขึ้นไปอีก และเหยื่อที่ถูกกดไว้ให้ต่ำกว่านั้นก็คือขั้วของเพศหญิงซึ่งถูกผูกโยงเข้ากับความไร้เหตุผล ความป่าเถื่อน ความเป็นเด็ก และพื้นที่ส่วนตัวอยู่เสมอ

คำถามที่หนังทิ้งไว้ให้พวกเราครุ่นคิดดัง ๆ ก็คือ เราจะเลี้ยงลูกหลานของเราให้เติบโตมาเป็นคนอย่างไรในสังคมชายเป็นใหญ่นี้  ถ้าหากว่าเราเงียบและทำตามคนอื่น ๆ ก็เท่ากับว่าเราสนับสนุนขั้วของอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันนี้แล้วหรือเปล่า คงเป็นสิ่งที่คนดูต้องพิจารณาด้วยตนเอง

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS