ฝันของคนทำ “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” : รู้จัก “Lorem Ipsum” ภารกิจพาหนังหลากหลายสู่สายตาคนหาดใหญ่

“หนังดีไม่มีฉาย อยากได้ต้องจัดเอง” เป็นความจริงที่ฟังดูน่าขมขื่นใจสำหรับคนชอบดูหนังในพื้นที่ห่างไกลเมืองหลวง ค่าที่แม้อาจมีโรงหนังมากมาย ทว่าบนลิสต์หนังที่โรงเหล่านั้นฉาย กลับไม่มีทางเลือกมากพอจะตอบสนองความสนใจอันหลากหลายของคนดู

แต่ท่ามกลางความขาดไร้แบบนี้ ก็เป็นอย่างที่เขาว่ากัน – ความขาดแคลนนำมาซึ่งความสร้างสรรค์ และความสร้างสรรค์ผลักดันจนเกิดการลงมือทำ

Lorem Ipsum คำที่ปรากฏอัตโนมัติในโปรแกรมดีไซน์เมื่อคุณคลิกเตรียมพิมพ์อะไรสักอย่าง กลายมาเป็นชื่อ “พื้นที่ฉายหนังอิสระ” แห่งหาดใหญ่อันเป็นสถานที่ที่ Film Club อยากขอแนะนำให้คุณได้รู้จักเป็นแห่งแรกสำหรับสกู๊ปนี้

พวกเขาคือสถานที่ทางวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและความเคลื่อนไหว เราชวน ต้น–พรชัย เจียรวณิช มาเล่าให้ฟังว่าคิดอะไร ต้องต่อสู้กับอะไร และเขาฝันถึงอนาคตแบบใดต่อ

“สถานที่ตั้งของ Lorem Ipsum อยู่บริเวณถนน นิพัทธ์อุทิศ 1 (สาย1) ใจกลางเมืองหาดใหญ่ โดยข้างล่างเป็นคาเฟ่ ขายกาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ และขนม ส่วนข้างบนเป็นห้องฉายขนาดเล็ก (มีแอร์) จุผู้ชมได้ประมาณ 25 ที่นั่ง

ลักษณะของสเปซเป็นตึกเก่าแก่าอายุกว่า 100 ปี โดยเราเลือกตึกนี้เพราะถนนเส้นนี้ถือว่าเป็นถนนสายแรกของเมืองหาดใหญ่ ซึ่งสมัยก่อนมีความคึกคักทางการค้าขายมากๆ แต่หลังจากการเข้ามาของธุรกิจออนไลน์ก็ทำให้ร้านค้าต่างๆ บนถนนเส้นนี้ค่อยๆ ปิดตัวไป เราเลยอยากทำให้ถนนเส้นนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง”

“เดิมทีกลุ่มเราไม่ได้มีสถานที่ฉายหนังเป็นของตัวเอง แต่จะใช้วิธีไปตระเวนเช่าสถานที่ต่างๆ เพื่อทำการจัดฉายหนัง ทำแบบนี้มาราว 3 ปี ซึ่งบางครั้งก็จะมีปัญหาเมื่อสถานที่จัดฉายไม่ว่างในวันเวลาที่เราต้องการ ทำให้ต้องหาสถานที่ใหม่จนสร้างความสับสนแก่คนดูบ้าง รวมไปถึงบางสถานที่ก็ไม่ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับดูหนังซึ่งอาจทำให้เสียอรรถรสในการดู เราเลยเกิดความคิดอยากจะทำสถานที่ฉายหนังของตัวเองขึ้นมา

พอได้มีโอกาสทำสเปซตรงนี้ เราตั้งเป้าหมายจะนำหนังที่ไม่ได้เข้าฉายในหาดใหญ่ มาฉายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสามารถจัดฉายหนังอย่างต่อเนื่องได้ทุกอาทิตย์ รวมถึงสามารถมีจำนวนรอบฉายต่อเรื่องที่มากขึ้น”

“อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราทำมาตั้งแต่แรกๆ และคิดว่าจะทำมันต่อไปเรื่อยๆ คือการพูดคุยระหว่างคนดูด้วยกันเองหลังหนังฉายจบ เพราะเราอยากสร้างวัฒนธรรมการพูดคุยตรงนี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งคนดูส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างชอบ และคิดว่าจุดนี้ก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนเลือกออกมาดูหนังที่สเปซเรา มากกว่าจะดูอยู่ที่บ้านหรือจากที่อื่น”

“นอกจากอยากให้เป็นสเปซที่จัดฉายหนังอย่างต่อเนื่องแล้ว เรายังอยากให้มันเป็นพื้นที่สำหรับการเผยแพร่ศิลปะแขนงอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะศิลปินหรือคนในพื้นที่ที่อยากแสดงผลงาน เราเคยจัดแสดงทั้งภาพวาดสีน้ำมันของศิลปินในพื้นที่, ภาพถ่ายสตรีทของช่างภาพอิสระในพื้นที่ รวมไปถึงทดลองจัดงานเต้นสวิงแดนซ์เล็กๆ และนำดนตรีแจ๊ซมาเล่นในสเปซแห่งนี้”

“ส่วนหนึ่งต้องบอกว่าโชคดีที่เรามีแนวร่วมของคนที่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงๆ ในเมืองหาดใหญ่ จึงเกิดการร่วมลงทุนทำสเปซนี้ให้เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่าการทำแบบนี้ค่อนข้างมีความเสี่ยงระดับหนึ่งเลย

จากประสบการณ์ที่เราเคยจัดฉายหนังในพื้นที่มาสักระยะ ทำให้เรียนรู้ว่ารายได้จากการฉายหนังอย่างเดียวนั้นไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำสเปซ ค่าเช่าที่ และค่าใช้จ่ายอื่นๆได้ จึงคิดว่าต้องมีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามาหล่อเลี้ยงด้วยเพื่อให้สามารถจัดฉายหนังได้ต่อเนื่อง เราจึงเกิดความคิดที่จะทำคาเฟ่ขึ้นมาอยู่ภายในสเปซแห่งเดียวกัน (โดยเราเห็นโมเดลนี้จากโรงหนัง ที่รายได้ส่วนใหญ่เกิดจากการขายขนมเครื่องดื่มมากกว่าการขายตั๋วหนัง)”

“แม้ยุคปัจจุบันจะมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ คาเฟ่ต่างๆ เปิดแทบรายวัน แต่คิดว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้คาเฟ่เราแตกต่างจากที่อื่นๆ ก็คือเรามีจัดกิจกรรมในสเปซอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการฉายหนังก็ถือเป็นหนึ่งในจุดขายหลักที่สามารถดึงคนให้เข้ามา ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในสเปซได้”

“ตลอดเวลาที่ได้จัดฉายมา สิ่งที่ประทับใจมีสองส่วนหลักๆ หนึ่งคือ คำขอบคุณ กำลังใจ ที่คนดูมอบให้ทางทีมจัดฉาย หลายๆ คนมาดูหนังเกือบจะทุกเรื่องที่เราจัด หลายคนช่วยกันชักชวน บอกต่อให้คนรู้จักมาดูหนังกันมากขึ้น มีคำขอบคุณหนึ่งจากน้องที่มาดูหนัง ว่า ‘ขอบคุณที่เอาหนังเหล่านี้มาฉายให้ได้ชมกัน หนังแต่ละเรื่องช่วยส่งเสริมความรู้และเปิดโลกให้น้องมากๆ ถ้าไม่มีพวกพี่ๆ คงไม่มีใครมาทำอะไรแบบนี้ในสังคมทุนนิยมแบบนี้แน่นอน’ แม้จะเป็นคำขอบคุณสั้นๆ แต่ก็สร้างความประทับใจและทำให้ทีมมีกำลังใจทำต่อไป

สองคือ ความประทับใจที่ได้จากการพูดคุยหลังจากหนังฉายจบ มันทำให้เราได้เห็นภาพที่ยากจะเห็นได้ในยุคนี้ อย่างที่เราทราบกันดีว่า ยุคนี้เรื่อง Generation Gap เป็นปัญหาที่พบเจอในทุกสังคม ทำให้เกิดช่องว่างในเรื่องของการพูดคุยร่วมกัน แต่ในการพูดคุยหลังหนังฉายจบ เราสามารถเห็นเด็กและผู้ใหญ่นั่งพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในหนัง แม้จะมีความคิดเห็นต่างกันบ้าง แต่เราก็ได้เห็นภาพผู้ใหญ่รับฟังความคิดเด็ก และเด็กก็ได้รับฟังมุมมองของผู้ใหญ่ โดยมีหนังที่เราฉายเป็นตัวกลาง”

“หลังจากเปิดสเปซนี้มาได้เป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่ง มันก็สามารถไปได้ในทิศทางที่เราคาดไว้ คือนอกจากการจัดกิจกรรมฉายหนังแล้ว เรายังให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพ เครื่องดื่มและขนมด้วย จึงทำให้มีรายได้ในส่วนของคาเฟ่เรื่อยๆ แม้อาจมีช่วงที่ดร็อปลงไปบ้างจากสถานการณ์โควิด แต่การที่เราเลือกลงทุนในเบื้องต้นไม่สูงจนเกินไปก็ทำให้เราพอจะประคับประคองจนผ่านพ้นมาได้ และค่อยๆ พัฒนาปรับปรุงไป

ผมจึงอยากจะแนะนำสำหรับใครที่สนใจทำสเปซแบบนี้ว่า ให้ค่อยๆ เริ่มจากการหาสถานที่ทดลองจัดฉายสเกลเล็กๆ ก่อน เพื่อจะรู้ว่าในพื้นที่ตรงนั้นมีคนให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน เมื่อเห็นจำนวนเฉลี่ยคร่าวๆ แล้วค่อยหาสถานที่ที่เหมาะสมกับจำนวนคนดู หรือถ้าจะสร้างสเปซสำหรับฉายหนังเองเลยก็อยากให้เริ่มต้นจากเล็กๆ ก่อนเช่นกัน ถ้ามันเติบโตได้จึงค่อยขยับขยายในภายหลัง น่าจะดีกว่าที่ทำสเกลใหญ่แล้วต้องแบกต้นทุนสูงเกินไปซึ่งจะทำให้มันล้มได้ง่าย

และท้ายที่สุด ผมอยากเห็นทุกจังหวัดในประเทศไทยมีอะไรแบบนี้ อาจไม่ต้องถึงขนาดทำสเปซเป็นของตัวเองก็ได้ แต่แค่มีคนในแต่ละพื้นที่รวมกลุ่มกัน ช่วยขับเคลื่อน จัดกิจกรรมต่างๆ ให้ศิลปะมีพื้นที่จัดแสดง ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำให้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น และต่อยอดให้กับศิลปินหรือคนในแวดวงต่อไปในอนาคตครับ”

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES