“เกือบจะไม่ได้เป็น The Godfather” 10 เกร็ดสำคัญ วิบากกรรมเบื้องหลังการถ่ายทำ

1) The Godfather เป็นโปรเจกต์ที่ไม่มีผู้กำกับคนไหนอยากจับ และคอปโปลาเกือบโดนไล่ออกระหว่างถ่ายทำ

ก่อนตกมาถึงมือ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา หนังเรื่องนี้ของค่ายพาราเมาท์เคยโดนผู้กำกับดังๆ ปฏิเสธมาแล้วถึง 12 คน ทั้งอีเลีย คาซาน, อาร์เธอร์ เพนน์, ริชาร์ด บรูคส์, คอสตา-กาฟราส, เซอร์จิโอ เลโอเน, ปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช ฯลฯ และเมื่อคอปโปลาตกลงมากำกับ ทางค่ายก็ไม่ชอบ “หนังเจ้าพ่อพูดมากท่าทางเศร้าๆ” แบบที่เขาทำอีก แถมเขายังถ่ายช้ากว่ากำหนดมาก ซึ่งทำให้ค่ายหัวเสียสุดๆ ถึงขั้นมีการเตรียมผู้กำกับสำรองไว้รอเรียบร้อยแล้ว

กระทั่งคอปโปลาถ่ายฉากไมเคิลฆ่าโซลอซโซกับแม็กคลัสกี้นั่นเองที่ค่ายชักเริ่มชอบใจในความโหดและยอมให้เขาทำต่อ

(เซอร์จิโอ เลโอเนปฏิเสธโปรเจกต์นี้ในตอนแรกเพราะรู้สึกว่าพล็อตเชิดชูมาเฟียไม่เห็นน่าสนใจ แต่ต่อมาเขาก็เสียใจมากและไปทำหนังเจ้าพ่อของตัวเองบ้างคือ Once Upon a Time in America ปี 1984)


2) คอปโปลาเองก็เกือบปฏิเสธหนังเรื่องนี้เช่นกัน

เหตุผลเดียวที่เขายอมมาทำ ก็เพราะตอนนั้นบริษัทของเขากับเพื่อนรักอย่าง จอร์จ ลูคัส กำลังติดหนี้ค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สก้อนใหญ่ สืบเนื่องจากหนังที่พวกเขาสร้างคือ THX 1138 (1971 – ลูคัสกำกับ) ใช้เงินเกินงบถึง 4 แสนเหรียญ ลูคัสจึงยุให้คอปโปลามารับงานนี้เพื่อหาเงินใช้หนี้


3) พาราเมาท์อยากให้เปลี่ยนฉากหลังของเรื่องเป็นปัจจุบัน แต่คอปโปลาไม่ยอม

พาราเมาท์ต้องการให้คอปโปลาทำ The Godfather เป็นหนังเจ้าพ่อทุนต่ำและเล่าเรื่องในยุคปัจจุบัน รวมทั้งย้ายไปถ่ายทำที่แคนซัสซิตี้ซึ่งต้นทุนจะถูกกว่าถ่ายในนิวยอร์กซิตี้ แต่คอปโปลายืนกรานว่านี่ต้องเป็นหนังดราม่าพีเรียด ฉากหลังอยู่ในนิวยอร์กยุค 40-50 เท่านั้นเพื่อความเข้มข้นของเรื่องราว


4) พาราเมาท์ไม่อยากได้มาร์ลอน แบรนโดมาแสดงนำ

ทันทีที่ได้ยินข้อเสนอของคอปโปลาว่าแบรนโดเหมาะมากกับบทวีโต คอร์เลโอเน ผู้บริหารพาราเมาท์ในตอนนั้นก็ตอบว่า “ดาราคนนี้จะไม่มีวันได้เล่นหนังค่ายเราเด็ดขาด” แล้วก็กดดันให้คอปโปลาไปเลือกลอเรนซ์ โอลิเวียร์มาแทน (นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า ออร์สัน เวลส์ก็อยากมาเล่นบทนี้มากๆ ถึงขั้นยืนยันว่าจะยอมลดน้ำหนักให้)

อย่างไรก็ดี หลังเจอลูกตื๊อหนักหน่วงจากคอปโปลา ค่ายก็ใจอ่อน แต่ขอตั้งเงื่อนไข 3 ข้อว่า แบรนโดจะต้องยอมมาทำสกรีนเทสต์ก่อน, หากได้รับเลือก แบรนโดต้องยอมเล่นหนังเรื่องนี้ฟรี และถ้าแบรนโดมีพฤติกรรมแย่ๆ ในกองถ่ายจนเกิดความเสียหาย เขาจะต้องจ่ายเงินรับผิดชอบ

เมื่อดีลค่ายสำเร็จแล้ว คอปโปลาก็ต้องไปดีลแบรนโดมาให้ได้ เขาทำให้แบรนโดยอมมาสกรีนเทสต์ด้วยการหลอกว่า “คุณได้รับเลือกแล้ว ขอนัดมาลองเมคอัพหน่อย” จากนั้นเขาก็นำฟุตเตจการเทสต์นี้กลับไปให้ทางค่ายดู ซึ่งโชคดีที่ค่ายชอบมากถึงขนาดยอมให้แบรนโดมาเล่นและยอมยกเลิกเงื่อนไขข้อ 2 กับ 3 อีกต่างหาก

ฝ่ายแบรนโดนั้น กว่าจะยอมตกลงมาเล่นก็มีเงื่อนไขเช่นกัน เขาบอกคอปโปลาว่าจะโอเคมาแสดงให้ ต่อเมื่อไม่มีเบิร์ต เรย์โนลด์ส (ซึ่งเกือบจะได้เล่นเป็นซอนนี่) ร่วมแสดงเท่านั้น เพราะเขามองว่าเรย์โนลด์สเป็นแค่ “ดาราทีวี” ไม่ใช่ “ดาราหนัง”


5) พาราเมาท์ก็ไม่อยากได้อัล ปาชิโนมาแสดงนำ

พวกเขาอยากได้โรเบิร์ต เรดฟอร์ด หรือไม่ก็ไรอัน โอนีล มาเล่นเป็นไมเคิล คอร์เลโอเน แต่คอปโปลาดึงดันว่าต้องเป็นปาชิโนเท่านั้น และมันก็กลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดของหนัง (ปาชิโนได้ค่าตัวจากบทนี้แค่ 35,000 เหรียญ -เท่ากับเจมส์ คานและไดแอน คีตัน- แต่หลังจากนั้นเขาไปโด่งดังสุดๆ จาก Scarecrow กับ Serpico และเมื่อได้รับการทาบทามให้กลับมาเล่น The Godfather: Part II เขาเลยขึ้นค่าตัวเป็น 6 แสนถ้วน)


6) พาราเมาท์ไม่ชอบที่หนัง “มืดเกินไป”

หลังจากได้เห็นฟุตเตจ ผู้บริหารค่ายก็บ่นอุบว่าหนังมืดเหลือเกินและพยายามแนะนำให้จัดแสงมากกว่านี้ แต่ กอร์ดอน วิลลิส ผู้กำกับภาพยืนยันว่าแสงเงาแบบนี้แหละเหมาะสมกับการถ่ายทอดเรื่องราวธุรกิจมีเงื่อนงำของครอบครัวคอร์เลโอเนมากที่สุด (วิลลิสเป็นผู้กำกับภาพที่ได้รับฉายาว่า “The Prince of Darkness”)

คอปโปลาเองก็ช่วยวิลลิสเถียงกับค่ายจนชนะ ดูราวกับเป็นผู้กำกับและผู้กำกับภาพที่รักกันมาก แต่ความจริงแล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งสองในกองถ่ายนั้นสุดจะย่ำแย่ พวกเขาเคยทะเลาะกันในออฟฟิศแล้วคอปโปลาทุ่มของลงพื้นเสียงโครมครามจนคนนอกห้องตกใจเพราะนึกว่าเป็นเสียงกระสุนที่คอปโปลายิงตัวตายไปแล้ว สาเหตุสำคัญข้อหนึ่งของการวิวาทก็คือ วิลลิสเป็นตากล้องที่โหดมาก ชอบจัดไฟมืดๆ และบังคับให้นักแสดงยืนตรงจุดที่กำหนดเป๊ะๆ ถ้าใครยืนผิดเขาจะปิดไฟแล้วสั่งให้ถ่ายไปเลยในความมืด ทำให้คอปโปลาต้องหัวร้อนออกมาทะเลาะกับวิลลิสแทนนักแสดงบ่อยๆ


7) โรเบิร์ต เดอ นีโรเกือบได้เล่นเป็นตัวอื่น

ความจริงแล้วเดอ นีโรมาแคสต์ในบทซอนนี่ แต่เป็นคอปโปลาอีกนั่นแหละที่เล็งเห็นว่าบุคลิกของเดอ นีโรดูเหี้ยมโหดรุนแรงเกินบทนี้ไปเยอะ และตัดสินใจเลือกเขามารับบทวีโต คอร์เลโอเนใน The Godfather: Part II แทน ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องน่าคารวะจริงๆ และเดอ นีโรชนะออสการ์ไปจากบทนี้


8) เปลี่ยนวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส

หน้าตาดูเป็นหนังฟอร์มยักษ์ แต่เบื้องหลังที่แท้จริงสุดจะกระเบียดกระเสียร หลายครั้งคอปโปลาได้เวลาถ่ายทำน้อยจนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ด้วยความอัจฉริยะมันก็ออกมาเป็นความงดงามจนได้

ตัวอย่างเช่น ฉากเลนนี่ มอนทานาซึ่งรับบทเป็นลูกา ต้องคุยกับแบรนโดในบทวีโต แต่มอนทานา (ซึ่งเป็นนักมวยปล้ำมาก่อน) เกิดประหม่าซะจนแม้จะถ่ายอยู่ทั้งวันก็ยังพูดผิดๆ ถูกๆ คอปโปลาไม่มีเวลาถ่ายใหม่แล้วจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มฉากเล็กๆ ให้มอนทานาทำเป็นซ้อมพูดคนเดียวก่อนไปเจอเจ้าพ่อ แล้วเอานำมาแทรกไว้ก่อนถึงฉากคุยกับแบรนโดจริงๆ อันเป็นวิธีแก้ที่ทำให้คนดูได้เห็นว่าลูกาคงกลัววีโตมาก และการพูดประหม่าของเขาไม่ใช่เพราะนักแสดงเล่นแข็งนะ แต่เป็นเพราะตัวละครกลัวมากๆ ต่างหากล่ะ


9) เกือบจะต้องฉายแบบมีพักครึ่ง

หนังฉบับที่คอปโปลาทำส่งพาราเมาท์ตอนแรกนั้น มีความยาว 2 ชม. 6 นาที แต่ทางค่ายดูแล้วไม่ชอบใจและสั่งให้คอปโปลาเพิ่มฉากเกี่ยวกับครอบครัวคอร์เลโอเนเข้าไปอีก จนหนังฉบับไฟนอลยาวเพิ่มอีกเกือบ 50 นาที (คือยาว 175 นาทีหรือเฉียด 3 ชั่วโมง) ซึ่งก็ถือว่ายาวเกินมาตรฐานหนังฮอลลีวู้ดไปมาก ทางค่ายจึงดำริจะให้มีการพักครึ่ง (หลังฉากยิงโซลอซโซ) ด้วย แต่คอปโปลาไม่โอเคเพราะคิดว่ามันจะทำลายอารมณ์ต่อเนื่องของคนดูได้ สุดท้ายหนังจึงได้ฉายรวดเดียวแบบไม่มีการพัก

10) ทะเลาะกันยันชื่อหนัง

คอปโปลาต้องสู้ยิบตากระทั่งเรื่องชื่อหนัง เขายืนยันว่าต้องใช้ “Mario Puzo’s The Godfather” (และกราฟิกดีไซน์ที่เป็นภาพเส้นเชือกเชิดหุ่น โดยมีชื่อพูโซอยู่ด้านบน) ไม่ใช่แค่ “The Godfather” เฉยๆ เพราะบทหนังของเขาซื่อตรงต่อบทต้นฉบับของพูโซมากจนเขาเชื่อว่าสมควรให้เครดิตแก่พูโซด้วย


เกร็ดแถมท้าย :

ท้ายที่สุด หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัลขนาดไหนนั้นคงเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว แต่อีกหนึ่งหลักฐานยืนยันความสำเร็จของมันที่เราอาจไม่ค่อยได้ยินกันบ่อยนักก็คือ ในปี 1974 สถานีเอ็นบีซีนำ The Godfather มาฉายออนแอร์ 2 คืน (เสาร์ 16 และจันทร์ 18 พฤศจิกายน) ตั้งแต่ 3 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม และผลคือ เมื่อถึงเวลา 5 ทุ่มเป๊งของทั้งสองคืน การประปาของนิวยอร์กซิตี้ก็ต้องเจอปัญหาน้ำล้นท่อ เพราะคนทั่วนิวยอร์กนั่งดูหนังเรื่องนี้ติดเก้าอี้หนึบไม่ยอมลุก จนหนังจบปุ๊บจึงค่อยวิ่งเข้าส้วมและกดชักโครกพร้อมกันทั้งเมือง

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES