The Batman – ค้างคาวคั่งแค้นในก็อตแธมมหานคร

(2022, Matt Reeves)

บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

“ข้าคือการล้างแค้น”

คำพูดดังกล่าวเริ่มจากการเป็นถ้อยคำสุดเท่ที่ใช้เปิดตัวมนุษย์ค้างคาวเวอร์ชั่นละอ่อนโรเบิร์ต แพตตินสันได้อย่างน่าจดจำ กระทั่งตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงของหนัง คำพูดนี้ก็ถูกนำมาพูดซ้ำ สะท้อน และขยายความจนเราอาจกล่าวได้ว่ามันเป็นหัวใจหลักของหนัง The Batman ภายใต้วิสัยทัศน์ของผู้กำกับแมตต์​ รีฟส์​ (Cloverfield, 2008) เลยก็ว่าได้ — เพราะจริงดังคำกล่าวของเจ้าตัว แบทแมนเวอร์ชั่นนี้มืดหม่นกว่าที่เราเคยรู้จัก และขับเคลื่อนไปด้วยพลังของความแค้น

หนังเริ่มต้นที่คืนฮาโลวีน คืนที่ทุกคนพร้อมใจกับสวมหน้ากากแต่งกายเป็นตัวละครอื่น และดันมาเป็นคืนที่นายกเทศมนตรีของเมืองก็อตแธมถูกฆ่าอย่างสยดสยองท่ามกลางบรรยากาศฤดูเลือกตั้งอันคุกรุ่น แบทแมนได้รับเชิญตัวโดยนายตำรวจเจมส์​ กอร์ดอน (เจฟฟรีย์​ ไรต์) ให้มาสำรวจสถานที่เกิดเหตุอันแสนพิสดาร เมื่อผู้ก่อการอย่างเดอะ ริดเดลอร์ ที่ทิ้งปริศนาและข้อความชวนฉงนไว้ให้เขาโดยเฉพาะ

ตั้งแต่เริ่มเรื่อง The Batman ก็ให้ความรู้สึกถึงหนังระทึกขวัญตามวิถีของเดวิด ฟินเชอร์ อย่าง Se7en (1995) หรือ Zodiac (2007) มากกว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ทั่วไปที่เราคุ้ยเคย และตลอดทั้งเรื่อง หนังก็ค่อยๆ คืบคลานไปตามเหยื่อและปริศนาของริดเดลอร์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเผยให้เราเห็นถึงเครือข่ายโยงใยอันแสนโสมมที่เชื่อมโยงบรรดาผู้มีอำนาจในเงามืดของก็อตแธม รวมไปถึงอดีตอันดำมืดที่แผ่ขยายเงามาครอบงำชีวิตของทุกผู้คนในมหานครแห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมรวมไปถึงเจ้าตัวทายาทตระกูลอีลีทประจำเมืองอย่างบรูซ เวย์น หรือพ่อหนุ่มอัศวินรัตติกาลของเราด้วย

ก็อตแธมที่เราเห็นในหนังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความลับดำมืด เมืองที่โชคชะตาและความเป็นไปของมันถูกกำหนดอยู่เบื้องหลังฉากหน้าของเกมการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายฉ้อฉล เมืองที่ทุกสิ่งถูกชักใยด้วยมือของผู้มีอำนาจที่ไม่มีใครมองเห็น (แต่ทุกคนต่างรู้อยู่แก่ใจถึงการมีอยู่ของมัน) เมืองที่ประชาชนคนธรรมดาไม่อาจศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและพ่ายแพ้ไร้พลังที่จะต่อกรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ทั้งหมดนี้ฟังดูคุ้นเคยและใกล้ตัวอย่างเหลือเชื่อ และหากเรามองให้พ้นจากประเทศแถบๆ นี้ไปก่อน ก็จะเห็นได้ว่าก็อตแธมในฉบับของ Joker (2019) ของท็อดด์ ฟิลลิปส์เองก็มีลักษณะคล้ายๆ กันในแง่ความโสมมประดามีที่กดทับชีวิตประจำวันของคนสามัญจนผลักให้พวกเขาล้วนกลายเป็นเหยื่อ แต่สิ่งที่ The Batman ดูจะให้ความสนใจเพิ่มเติมขึ้นมาคือประวัติศาสตร์ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมและยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในปัจจุบันจนเป็นเสมือนอีกหนึ่งมือที่มองไม่เห็นเข้ามาบีบรัดอนาคตของพวกเขา

บรูซ/แบทแมนในเวอร์ชั่นนี้เป็นหนุ่มอีโมขอบตาเข้มที่ออกปฏิบัติภารกิจศาลเตี้ย ไม่เพียงเพราะต้องการลุกขึ้นมาเป็นฮีโร่ผู้จัดการกับระบบเน่าเฟะ แต่เพราะความคั่งแค้นที่ตัวเขามีต่อเมืองเมืองนี้ที่พรากชีวิตพ่อแม่ของเขาตั้งแต่วัยเยาว์ และเช่นเดียวกับบรรดาผู้สิ้นไร้ไม้ตอกทั่วเมือง ความแค้นของบรูซสะเปะสะปะไร้ทิศทาง เขาไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไปของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ และไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเขาเอง (หรือครอบครัวของเขาเอง) ก็มือเปื้อนเลือดไม่มากก็น้อย 

อาชญากรรมของริดเดลอร์จึงค่อยๆ ถ่างตาของบรูซให้ค่อยๆ กว้างขึ้นจนมองเห็นเครือข่ายล่องหนที่โยงใยไปถึงโครงการฟื้นฟูก็อตแธมที่พ่อของเขาก่อตั้ง ซึ่งในกาลต่อมาได้กลายมาเป็นฉากหน้าของการโกงกินกันอย่างเป็นระบบของบรรดาผู้ทรงอำนาจทุกภาคส่วนของก็อตแธมเสียแทน คำที่ฟังดูดีอย่าง ‘ฟื้นฟู’ (หรือกระทั่ง ‘พัฒนา’ และ ‘อนุรักษ์’) จึงเป็นเพียงคำลวงและเครื่องมิือในการปกปิดไม่ให้ใครคิดกล้าสาวตัวไปถึงหัวโจก (ฟังดูคุ้นเคยอีกแล้ว)

แบทแมนจอมอีโมของเราจึงเต็มไปด้วยความย้อนแย้งเหลือเชื่อ เขาหลงทางในความแค้น ทวงถามความยุติธรรม แต่ก็ยังมี ‘บาปของผู้เป็นพ่อ’ เป็นชนักปักหลังอยู่ด้วยพร้อมกัน เขาออกปราบปรามโจรผู้ร้ายที่โดนระบบฉ้อฉลเดียวกันเอาเปรียบ โดยหลงลืมหรือมองไม่เห็นว่าตน (หรือครอบครัวของตน) ก็อาจมีส่วนได้ส่วนเสียในการเอาเปรียบนี้เช่นกัน แต่ที่แน่นอนที่สุด เขามองไม่เห็นว่าการออกชำระแค้นของตนนั้นอาจสร้างผลกระทบที่เลวร้ายอย่างไรได้บ้าง เพราะไม่ได้มีแค่เขาเพียงคนเดียวที่สามารถพูดได้ว่า “ข้าคือการล้างแค้น” และก็ไม่ได้มีรูปแบบของการล้างแค้นด้วยการแจกจ่ายความยุติธรรมอยู่เพียงแบบเดียวด้วย

การชำระแค้นของริดเดลอร์ (และบรรดาสาวกฟอลโลเวอร์)​ จึงอาจมองเทียบเคียงได้กับการเอาคืนของโจ๊กเกอร์ เพราะในแง่หนึ่งพวกเขาล้วนถูกเอาเปรียบหรือหมางเมินโดยสังคม ถูกทำให้เป็นลูซเซอร์ไร้อำนาจ แต่หากเทียบเคียงตัวหนังทั้งสองเรื่อง The Batman อาจจะเอาตัวรอดไปได้ดีกว่าตรงที่มันไม่ได้ล่วงเข้าในปริมณฑลของการ ‘เห็นควรด้วย’ กับอาชญากรรมหรือการก่อการร้ายเท่ากับ Joker (อันที่จริง เราอาจไม่ได้แม้กระทั่งเห็นควรด้วยกับการกระทำของแบทแมนด้วยซ้ำ) และเราในฐานะคนดูรู้สึกได้ถึงความเลวร้ายที่คุกคามและน่าหวาดสะพรึงมากกว่าเมื่อหนังพาคนดูไปถึงจุดของการ ‘ชำระล้าง’ ก็อตแธม พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ในขณะที่ Joker แสดงให้เห็นการโต้ตอบอย่างเคืองแค้นและตรงไปตรงมาชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน The Batman พาเราจมไปในก้อนขมุกขมัวของการแก้แค้นและความอยุติธรรมที่ยากต่อการสะสางหรือแม้แต่จะสาธยาย

รีฟส์นำเสนอหนังมนุษย์ค้างคาวในแบบฉบับของตนได้น่าสนใจไม่น้อย การวางตัวให้คลับคล้ายคลับคลากับหนังสืบสวน-ฆาตกรต่อเนื่องไม่เพียงเป็นสุนทรียะที่หยิบยืมมาให้หนังดูหม่นขึ้นมาเฉยๆ แต่มาพร้อมกับความหนักแน่นในน้ำเสียงของการเล่า ความหนักหน่วงของประเด็นที่หนังใส่เข้ามา การกำกับภาพที่เล่นกับแสง-สีได้อย่างสวยงามขึงขังของเกรก เฟรเซอร์​ (ที่ปีนี้ได้เข้าชิงออสการ์จากผลงานใน Dune: Part One ด้วย) และสกอร์อันแสนพรั่นพรึงของไมเคิล จิอัคคีโน (ที่ปีก่อนทำสกอร์ให้หนังซูเปอร์ฮีโร่จากอีกค่ายอย่าง Spider-man: No Way Home) เหนือสิ่งอื่นใด The Batman ยังเพิ่มรสชาติแปลกใหม่ให้กับตระกูลหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่หลังๆ แข่งกันผลิตแต่ความซ้ำซากออกมานำเสนอในหีบห่อใหม่สุดไฉไลจนผ่านพ้นจุดที่ ‘เกินพอ’ ไปนานโข

เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงนั้นอาจจะยาวไปเสียหน่อยกับการตามดูแบทแมนกับกอร์ดอนเล่นบทคู่หูที่ตามสืบสวนและคลี่คลายปริศนาดำมืดประจำเมืองโดยได้รับความช่วยเหลือจากแม่สาวตีนแมวลึกลับอย่าง เซลีนา ไคล์​ (โซอี เครวิตซ์) เป็นครั้งคราว (และเอาเข้าจริง แต่ละ ‘ปริศนา’ ของริดเดลอร์เองก็ออกจะเชยและทื่อมะลื่อไปเสียหน่อยด้วย) นอกจากนี้ หนังพยายามหาทางลงโดยอิงกับท่าทีแบบหนังซูเปอร์ฮีโร่มากไปหน่อยในช่วงท้าย เมื่อแบทแมนหันมาถือคบไฟนำทางประชาชนในความมืด และคอยโอบอุ้มผู้ได้รับบาดเจ็บราวเป็นพระผู้มาโปรด ฉากเหล่านี้ไม่ถึงกับเลวร้ายและเข้าใจได้ว่าใส่เข้ามาเพื่อคลี่คลายอารมณ์ของตัวหนังที่ตึงเครียดมาทั้งเรื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามันลดทอนพลังความขัดแย้งและความจริงจังของหนังลงไปอย่างน่าเสียดาย

ในท้ายที่สุด ดูเหมือนว่าตัวบรูซ/แบทแมนเองจะเข้าใจถึงผลพวงของการกระทำและภาระที่ตนต้องแบกรับ เขาอาจเข้าใจกระทั่งว่าสุดท้ายแล้วตัวเขาเองก็ไม่ได้ดีเด่นไปกว่าใครและเป็นได้เพียงเบี้ยในเกมของผู้อื่นเท่านั้น กระนั้น การที่เขาดึงดันจะต่อสู้ให้ก็อตแธมเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา (แม้ในใจจะรู้ว่าเมืองโสมมแห่งนี้จะไม่มีวันเปลี่ยนไป) กลับมอบการปลอบประโลมให้กับคนดูได้อย่างน่าประหลาด ซึ่งการปลอบประโลมแบบปลอมๆ แปลกๆ ที่ว่าก็อาจมีเพียงแต่เรื่องแต่งทำนองนี้เท่านั้นที่สามารถมอบให้เราได้ ในวันที่ฉากที่มืดที่สุดของหนังยังสว่างจ้ายิ่งกว่าอนาคตในโลกแห่งความเป็นจริง

ดาวุธ​ ศาสนพิทักษ์
อดีตนักเขียนรับเชิญขาประจำของ BIOSCOPE ปัจจุบันเป็นพนักงานออฟฟิศที่พยายามขีดเขียนบ้างเมื่อมีเวลาและเรี่ยวแรง

LATEST REVIEWS