Home Blog Page 6

สรุปผลรางวัล Gotham Awards ครั้งที่ 31

0

เพิ่งประกาศผลไปสดๆ ร้อน กับรางวัล Gotham Awards รางวัลที่มอบให้หนังอิสระ และซีรีส์ที่มีทุนสร้างไม่เกิน 35 ล้านเหรียญ โดยรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ตกเป็นของภาพยนตร์ของ Netflix เรื่อง The Lost Daughter ซึ่งเป็นการเขียนบทและกำกับครั้งแรกของนักแสดงสาว แมกกี กิลเลนฮาล ขณะที่ ในสายซีรีส์ ซีรีส์เรื่องดังจากเกาหลีใต้ ของ Netflix เช่นกันก็คว้ารางวัล ซีรีส์ยอดเยี่ยมไปครอง อนึงในการประกวดปีนี้ คณะทำงาน Gotham Award ได้ปฏิวัติการมอบรางวัลการแสดงด้วย รวบรางวัลนักแสดงชายหญิงยอดเยี่ยมเป็นรางวัลเดียวแบบไม่แบ่งเพศ โดยในส่วนของรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมสายภาพยนตร์ตกเป็นของ โอลิเวีย โคลแมน จาก The Lost Daughter และ แฟรงกี้ ไฟซอน จาก The Killing of Kenneth Chamberlain ส่วนในสายซีรีส์ ก็เป็นการครองรางวัลร่วมกันระหว่าง อีธาน ฮอว์ก จากซีรีส์เรื่อง The Good Lord Bird กับ ทูโซ เอ็มเบดู จาก The Underground Railroad

สำหรับรางวัลอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ตกเป็นของ Drive My Car โดย เรียวสึเกะ ฮามากูชิ รางวัลสารคดียอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Flee รางวัลนักแสดงดาวรุ่งยอดเยี่ยม ได้แก่ อมีเลีย โจนส์ จาก CODA และ รางวัลนักแสดงสมทบโดดเด่น ได้แก่ ทรอย คอตเซอร์ จาก CODA เช่นกัน

สรุปผลรางวัล Gotham Awards

รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
“The Lost Daughter”

รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม
“Flee”

รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม
“Drive My Car”

รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ดาวรุ่งยอดเยี่ยม
แม็กกี กิลเลนฮาล “The Lost Daughter”

บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
“The Lost Daughter,” โดย แม็กกี กิลเลนฮาล

แสดงนำยอดเยี่ยม
โอลิเวีย โคลแมน “The Lost Daughter” และ แฟรงกี้ ไฟซอน “ The Killing of Kenneth Chamberlain”

แสดงสมทบยอดเยี่ยม
ทรอย ค็อทเซอร์ “CODA”

นักแสดงดาวรุ่งยอดเยี่ยม
อมีเลีย โจนส์ “CODA”

การแสดงยอดเยี่ยมในซีรีส์ชุดใหม่
อีธาน ฮอว์ก จาก “The Good Lord Bird” และ ทูโซ เอ็มเบดู จาก “The Underground Railroad”

ซีรีส์โดดเด่น – ขนาดยาว
“Squid Game”

ซีรีส์โดดเด่น – ขนาดสั้น
“Reservation Dogs”

ซีรีส์ที่สร้างจากเรื่องจริงยอดเยี่ยม
“Philly D.A.”

รางวัลพิเศษจากคณะกรรมการสำหรับการแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม
“The Harder They Fall”


ที่มา:
https://variety.com/2021/film/news/gotham-awards-2021-winners-list-1235119364/

‘อโยธยา มหาละลวย’ : เรื่องเล่าจากตรอกของถนนหลักชื่อ ‘บุพเพสันนิวาส’

ฉากหลังของ ‘อโยธยา มหาละลวย’ อยู่ในช่วงรัชสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์ คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาในละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ซึ่งกำกับโดย ภวัต พนังคศิริ เหมือนกัน โลกทั้งสองใบอาจมีอะไรเชื่อมถึงกันอยู่บ้าง

ภาพรวมของ ‘อโยธยา มหาละลวย’ ว่าด้วยกลุ่มหนุ่มสาวในชุมชนที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ โดยเน้นไปที่เรื่องของ เรียว (เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข) หนุ่มที่สืบเชื้อสายมาจาก ยามาดะ นางามาสะ ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามารับใช้ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่ด้วยการชิงอำนาจในรัชสมัยหลังจากนั้น ทำให้สถานะของชาวต่างชาติต้องระหกระเหินจนกลับมาเฟื่องฟูอีกรอบในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ภวัตยอมรับว่าการเลือกช่วงเวลาของหนัง ‘อโยธยา มหาละลวย’ นั้น มาจากการต่อยอดความคิดหลังจดจ่ออยู่กับการทำ ‘บุพเพสันนิวาส’ นั่นเอง “ผมทำ ‘บุพเพสันนิวาส’ มา เลยได้เห็นว่าจริงๆ ช่วงเวลาของสมเด็จพระนารายณ์ เป็นช่วงที่ศิวิไลซ์ หรูหราฟู่ฟ่า เป็นช่วงที่มีแต่เรื่องบันเทิง มีไทย จีน แขก ฝรั่ง ลูกครึ่ง เต็มไปหมด เป็นความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นมันเลยเต็มไปด้วยสีสัน”

หากจะมองหาจุดเชื่อมโยงระหว่าง ‘บุพเพสันนิวาส’ และ ‘อโยธยา มหาละลวย’ อาจจะอยู่ที่ตัวละครที่มีตัวตนจริงอย่าง ออกญาคชบาล (‘อโยธยา มหาละลวย’) ซึ่งในเวลาต่อมาครองราชย์เป็น สมเด็จพระเพทราชา (‘บุพเพสันนิวาส’) รับบทโดย บิ๊ก ศรุต วิจิตรานนท์ ทั้งคู่

“เราทำ ‘บุพเพสันนิวาส’ เหมือนมันได้ต่อยอดคอนเทนต์ของเรา ในหนังเราเลือกที่จะเล่าช่วงเหตุการณ์ที่มันขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งเราเอาประวัติศาสตร์มา 30% อีก 70% เราแต่งเติมเข้าไป เรารู้ว่าพระเพทราชามีลูก และเราก็ดึงคาแรกเตอร์ของลูกท่านบางส่วนมาใช้ เช่น ขวัญ (ภีม ธนบดี ใจเย็น) ก็ดึงคาแรกเตอร์ของ พระเจ้าเสือ มา ไม่ว่าจะเป็นความสามารถทางมวย เรื่องหนีเที่ยว เรื่องเที่ยวผู้หญิง หรือยามาดะเองก็ตาม ซึ่งตอนนั้นกษัตริย์เราให้ยศกับต่างชาติเยอะแยะมากมาย ฟอลคอน (คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ พระยาวิไชเยนทร์) ก็คนหนึ่งแหละ เป็นถึงสมุหนายก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นพระเพทราชาท่านไม่ชอบต่างชาติอยู่แล้ว เจอที่ไหน มีเมื่อไหร่ กำจัดที่นั่น

“สมมติว่าผมเล่า ‘บุพเพสันนิวาส’ เป็นถนนเส้นหลัก เรารู้สึกว่าในซอยเล็กๆ นั่นน่าจะมีอะไรเล่าเนอะ ในซอยนั้นมันน่าจะมีโรงชำเรา มันน่าจะมีวัยรุ่นตีกัน หรือวัยรุ่นมาจีบผู้หญิงกัน เออมันน่าจะแวะเข้าไปสำรวจในซอยนั้นดูสักนิดนึง ถ้าจะให้เปรียบเทียบ ‘อโยธยา มหาละลวย’ ก็จะเหมือนการเดินเข้าไปในตรอกหนึ่งที่แยกมาจาก ‘บุพเพสันนิวาส’

“บุพเพฯ มันเล่าถึงโรงชำเรานะ แต่มันไม่เข้าไปแตะข้างในเลย รู้เห็นแค่ภายนอกว่าอยู่ตลาดน้อย เรื่องนี้เราเลยขอเข้าไปสำรวจข้างในหน่อย และคนประเภทไหนที่จะเข้าไปในนั้น มันก็ต้องเป็นวัยรุ่น นักเลง กับพวกที่หนีออกมาเที่ยวต้องปิดบังใบหน้า เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้มันเลยเป็นเรื่องของความหลากหลายของคนในตอนนั้นที่พวกเขาอาจจะถูกทำให้หลงลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์” 

วาระของโลก หนังควรยาวเท่าไหร่?

กลายเป็นวาระของโลกไปแล้ว เมื่อหนังฟอร์มดีในช่วงปีนี้มีความยาวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.20 ชั่วโมง แทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น No Time To Die (2.43), Eternals (2.36), F9 (2.23), Dune (2.35) และที่กำลังจะตามมาอย่าง House of Gucci (2.37) กับ Don’t Look Up (2.25) ซึ่งสำหรับคอหนังฮาร์ดคอร์อาจจะไม่ได้ยี่หระกับความยาวของมันนัก แต่ในเมืองไทยมันก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นค่าตั๋วเพราะมันอาจทำให้มีรอบฉายต่อวันลดลง 

เคยตั้งคำถามกันว่า หนังยาว (feature film) กับ หนังสั้น (short film) เราแยกประเภทกันที่ความยาวเท่าไหร่แน่? หากถามหามาตรฐานอาจต้องยกข้อกำหนดของ สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (The Academy of Motion Picture Arts and Sciences) หรือผู้จัดงานออสการ์ ได้ระบุไว้ว่าหนังยาวที่สามารถเข้าฉายขายตั๋วได้ และเข้าเกณฑ์หนังยาวของสถาบันอยู่ที่ 40 นาทีเท่านั้นเอง! 

นั่นหมายความว่าหนังที่ยาวตั้งแต่ 40 นาทีขึ้นไป จะได้รับการพิจารณาให้เข้าชิงออสการ์ในประเภทหนังยาว แต่ถ้าสั้นกว่านั้นก็จะรวมอยู่ในกลุ่มหนังสั้น ที่ผ่านมาหนังที่ยาวที่สุดที่ชิงออสการ์หนังยอดเยี่ยมคือ Cleopatra (1963) ยาว 3.12 รวมโหมโรงและพักครึ่งเบ็ดเสร็จยาวกว่า 4 ชั่วโมง ส่วนหนังที่สั้นที่สุดที่เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมประเภทหนังยาวคือ She Done Him Wrong (1933) ยาวแค่ 66 นาที 

อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ ข้อกำหนดของแต่ละสถาบันก็ยืดหยุ่นกันไป เช่น ซันแดนซ์ กำหนดไว้ที่ 50 นาที และ สมาคมนักแสดง (SAG) กำหนดความยาวไว้ไม่ต่ำกว่า 75 นาที อย่างไรก็ดีเมื่อมีการเข้าโรงขายตั๋ว ผู้จัดจำหน่ายก็พยายามดันความยาวหนังให้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงไว้ก่อน เช่น Host ที่เล่าผ่านโปรแกรม Zoom มีความยาวจริงแค่ 57 นาทีเท่านั้น แต่พอมาฉายเมืองไทยก็รวมหนังสั้นของผกก. ร็อบ ซาเวจ เรื่อง Dawn of the Deft (12 นาที) ปะหัว และสารคดีการเตรียมงานสร้างชวนช็อคปิดท้ายเครดิต จนมันยาวเกิน 1 ชั่วโมงในที่สุด 

จากปรากฏการณ์นี้มันกลายเป็นที่ถกเถียงขึ้นอย่างมาก แม้กระทั่ง พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ที่ปีนี้มี Licorice Pizza ว่าที่หนังกวาดรางวัลต้นปีหน้า ก็ยังออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ “ในฐานะคนเขียนบท เรามีความฟุ้งฝันไปเรื่อยและก็ต้องตัดทอนมันลง ซึ่งเอาจริงถ้าปล่อยมันไปก็อาจจะเหมาะกับการเป็นซีรีส์ก็ได้” แอนเดอร์สันบอกว่าเขาไม่คิดที่จะลงเล่นในสนามซีรีส์ และยังมองว่าความยาวหนังที่ดีที่สุดคือ 2 ชั่วโมง “นั่นคือความยาวที่ดีที่สุด ผมพยายามหลายครั้งแต่ก็ทำให้มันยาวเท่านั้นไม่ได้ แต่เชื่อเถอะนั่นคือเป้าหมายของผมในการทำหนัง” 

ถึงแม้จะเป็นความตั้งใจของแอนเดอร์สันว่าหนังทุกเรื่องของเขาต้องอยู่ใน 2 ชั่วโมงให้ได้ แต่จากหนัง 9 เรื่องที่ผ่านมา มีเพียง 2 เรื่องเท่านั้นที่ไม่ถึง 2 ชั่วโมง คือ Hard Eight (1.42) กับ Punch-Drunk Love (1.35) และหนังที่ยาวสุดคือ Magnolia (3.08) ส่วน Licorice Pizza ก็ทะลุไปที่ 2.13 ชั่วโมง 

เมื่อปี 2016 ดร.แรนดัล โอลสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าความยาวของหนังบล็อกบัสเตอร์จะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังความสำเร็จของกลุ่มหนังซูเปอร์ฮีโร่ทั้งดีซีและมาร์เวล จนมันเกิดการพูดถึงอย่างจริงจังเมื่อปี 2019 ตอน Avengers: Endgame เข้าฉาย ซึ่งยาว 3.01 ชั่วโมง 

จากของมูลของโอลสัน ได้ทำการสำรวจความยาวหนังทำเงินตั้งแต่ทศวรรษ 1930 จนถึงทศวรรษ 2010 พบว่าความยาวหนังฮิตค่อยๆ ไต่ระดับมาจนสูงสุดที่ทศวรรษ 1960 ความยาวเฉลี่ยที่ 130 นาที และมันค่อยๆ ลดลงมาจนต่ำกว่า 2 ชั่วโมงในช่วง 1980-1990 ก่อนจะทะยานกลับมายาวกว่า 130 นาทีอีกครั้งหลัง 2010 

ดูชาร์ตความยาวของหนังในแต่ละช่วงเวลาได้ที่ http://www.randalolson.com/2014/01/25/movies-arent-actually-much-longer-than-they-used-to-be/

โอลสันบอกว่า “ช่วงราวปี 1985-2000 ความยาวเฉลี่ยของหนังจะกลับไปเทียบเท่ากับช่วงก่อนยุค 1960 นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนยุคมิลเลเนียม (เกิดปี 1980-2000) จึงมีความคิดว่าหนังยาวขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันยาวกว่าหนังที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก แต่ขณะที่คนเจนเอ็กซ์ขึ้นไปจะไม่เข้าใจว่าเด็กรุ่นใหม่เป็นอะไรกับความยาวหนังขนาดนี้” 

อย่างไรก็ดี โอลสันบอกว่าความยาวหนังที่ผันแปรไปในแต่ละยุคสมัยก็มีเหตุผลของมัน โดยเฉพาะช่วง 1960-1970 นั้น ผู้สร้างพยายามทำหนังเพื่อดึงดูดคนให้ออกจากบ้าน แข่งกับโทรทัศน์ที่กำลังเริ่มแพร่หลาย การทำหนังให้ ‘ใหญ่และยาว’ เช่น Lawrence of Arabia (1962 ยาว 3.48) จึงเย้ายวนให้คนควักเงินซื้อตั๋วเข้าไปดูมากขึ้น

พอเข้าสู่ยุค VHS ผู้สร้างก็พร้อมใจกันจำกัดความยาวให้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อให้มันสามารถบรรจุอยู่ใน VHS ม้วนเดียวได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหนังในช่วง 1985-2000 จึงยาวเฉลี่ยแค่ประมาณ 90 นาทีเท่านั้น 

และการที่มันไม่มีข้อจำกัดเรื่องความยาวหนังเพื่อลงวัสดุความบันเทิงอย่าง VHS หรือ ดีวีดี เข้าสู่ยุคสตรีมมิ่ง ความยาวของหนังจึงมีแนวโน้มกลับไปสู่ยุคมหากาพย์อย่าง 1960 อีกครั้ง


ข้อมูลประกอบ 

https://www.indiewire.com/2021/11/paul-thomas-anderson-movies-two-hours-long-1234681165/

https://www.businessinsider.com/are-movies-getting-longer-2016-6

https://noamkroll.com/how-long-does-a-movie-need-to-be-to-qualify-as-feature-film-length-it-may-be-less-than-you-think/

The Diary : บันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แอนิเมชั่นที่บอกให้เรา “จงรักภักดี”

ระหว่างดู The Diary ทั้งหมด 68 EP ตอนละ 6 นาที คิดรวมเป็น 408 นาที หรือ 6 ชั่วโมง 48 นาที ก็ถามตัวเองตลอดว่าเสียเวลาทรมานตัวเองดูจนจบครบทุกตอนไปทำไม 

The Diary เป็นแอนิเมชั่นตอนละ 6 นาที เล่าเรื่องราวของเมฆและตะวัน เด็กวัย 7 ขวบที่ต้องมาอยู่บ้านคุณปู่ที่เพชรบุรีในตอนปิดเทอม คุณปู่เป็นทหารเก่าและใส่เสื้อเหลืองทุกวัน โดยปู่มักจะคอยเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ให้หลานทั้งสองคนฟังเสมอ และระหว่างนั้นเมฆกับตะวันก็เจอปากกาขนนกวิเศษที่สามารถเปิดประตูมิติท่องไปในอดีตได้ ซึ่งประตูมิตินี้ก็จะพาทั้งคู่ย้อนไปในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัย (ใช่ครับ ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมของชาติไทยนั้นสตาร์ตจากสุโขทัยเสมอ) จนถึงรัตนโกสินทร์ ได้ไปเห็นยูโทเปียของยุคโบราณที่น่าอยู่เหลือเกินภายใต้ร่มเงาพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อกลับมาปัจจุบัน ทุกครั้งก่อนนอนเมฆก็จะต้องเขียนไดอารี่บรรยายความซาบซึ้งที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนถึงจะนอนหลับได้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ The Diary

คือมันเป็นบอกว่าตัวเองเป็นการ์ตูนให้ความรู้ประวัติศาสตร์แหละ ซึ่งเนื้อหามันก็ไม่พ้นประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่เราโดนสั่งสอนจากทางภาครัฐกันมาตั้งแต่เล็กในห้องเรียน ที่ไม่พ้นเรื่องความเป็นชาติไทย ความดีงามมีบุญคุณเป็นล้นพ้นของสถาบันกษัตริย์และศาสนาพุทธที่เราต้องรักษา มันจึงไม่มีประโยชน์ที่จะมาเที่ยวผลิตซ้ำสิ่งเหล่านี้ที่มันบังคับเล่ากรอกหูคนไทยกันมาเกินครึ่งศตวรรษ ดังนั้น The Diary จึงถูกมองในฐานสื่อให้ความรู้ประวัติศาสตร์ที่ผลิตในปี 2021 ไม่ได้เลย มองได้อย่างเดียวคือว่ามันคือ propaganda ที่ถูกผลิตมาจากความกลัวของภาครัฐและชนชั้นปกครองที่โดนประชาชนปัจจุบันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามถึงการคุณค่าการมีอยู่ของชาติ ศาสนา และสถาบันกษัตริย์

ยกตัวอย่างให้ชัดๆ ในเชิง mindset การเล่าเรื่อง ปากกาขนนกก็คือตัวแทนรัฐปัจจุบันและชนชั้นปกครองที่ต้องการให้เด็กรุ่นใหม่ซาบซึ้งในประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ที่ชอบคือมันพาเด็กทั้งสองย้อนไปอดีตแค่เพียงเดี๋ยวเดียวแล้วก็พากลับมา คือพาไปเห็นแค่แง่มุมสวยงามในยุคก่อนแล้วก็ต้องรีบพากลับมา เพราะจะให้เห็นแค่ด้านนี้เท่านั้นแหละ แถมเป็นแง่มุมสวยงามที่น่ากังขาเสียด้วย และตัวปากกาขนนกก็ไม่ให้เด็กทั้งสองเกิดการตั้งคำถาม เพราะทุกครั้งที่กลับมา ปากกาขนนกจะไม่ให้เด็กชายเมฆหลับ ขนนกจะให้เมฆเขียนไดอารี่ซาบซึ้งในสิ่งที่ไปเจอมา ใช่ครับ แค่ชี้ให้เห็นไม่พอ แต่จะบังคับให้ซาบซึ้งด้วย เพราะงั้นมันก็จะจบตอนด้วยไดอารี่ของเมฆที่ซาบซึ้งในความดีงามของสถาบันกษัตริย์ อย่างงี้ไม่เรียก propaganda ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว

ยิ่งดูก็ยิ่งเจอตลกร้ายหลายอย่าง ไม่ว่าจะการที่ย้อนเวลาแต่ละครั้ง จะมีคนเข้าประตูเวลาได้แค่ตัวหลานสองคน (และแมว) ส่วนตัวปู่ที่เป็นคนที่น่าจะอยากไปสัมผัสกลิ่นอายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุคก่อนมากที่สุดกลับถูก “หยุดเวลา” แช่แข็งเอาไว้จนกว่าหลานจะกลับจากอดีต และตลกร้ายอีกอย่างที่ทุกครั้งที่ทั้งเมฆและตะวันย้อนเวลากลับไป พวกเขาจะสามรถมีปฎิสัมพันธ์พูดคุยกับประชาชนทั่วไปได้ แต่พวกเขาจะไม่สามารถไปเข้าไปพูดคุยกับกษัตริย์ในยุคนั้นได้ มีฉากนึงที่ตะวันอยากเข้าไปในวังเพื่อดูพระเจ้าอยู่หัวก็ถูกกันไว้ให้เข้าไปไม่ได้ หรือเจอสมเด็จพระนเรศวร (ระยะห่าง) ก็โดนบอกให้ก้มกราบนิ่งๆ เป็นการ ”ห้าม” ทั้ง 2 คนให้ไม่อาจเข้าไปพูดคุยกับกษัตริย์โดยตรงได้ของผู้สร้าง ซึ่งไม่ใช่ด้วยเหตุผลเชิง time paradox แบบไซไฟแน่ๆ ดูยังไงก็เป็นการกีดเส้นแบ่งระหว่างเจ้ากับไพร่ และมีอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่มันชัดเจนถึง mindset คนทำว่ามองคนไม่เท่ากัน และคุณค่าความดีงามคือการเคารพเชื่อฟัง กตัญญูรู้คุณ คอยพร่ำสอนให้อนุรักษ์สิ่งเก่าและแฝงการด้อยค่าสิ่งใหม่ อย่างที่ปู่คอยดุเมฆที่เอาแต่เล่นเกมไปวันและชมตะวันที่ไปเรียนพิเศษ หรือบอกว่าความรู้จากอินเทอร์เน็ตนั้นสู้ความรู้จากหนังสือเก่าๆ ไม่ได้หรอก 

จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดสัก EP หนึ่งคือ EP 46 ชื่อตอนว่า “ส่งมอบอำนาจสู่มือประชาชน”

เริ่มตอนที่คุณปู่ (ผู้ใส่เสื้อเหลืองทุกวัน) พาหลานมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ร.7 เป็น EP ที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นประชาธิปไตย เอ๊ะ แต่ในหนัง propaganda สถาบัน จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังไงดีนะ ? คำตอบก็คือ “ก็ทำราวกับ 2475 และคณะราษฎรไม่มีอยู่จริง เลยนะสิ!” เล่าไปเลยว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีอำนาจปกครองตัวเอง ซึ่งเป็นการเตรียมการมาตั้งแต่สมัย ร.6 โอ้โห้ อย่างนี้ก็ได้นะ

แน่นอนว่าไอ้หลานตัวดีก็ต้องอยากย้อนเวลาไปดูเหตุการณ์ จังหวะนี้ผมจิกเก้าอี้ตัวเกร็ง ลุ้นชิบหายว่าจะไปเจอเหตุการณ์อันใด ปรากฏว่าวิ่งทะลุประตูมิติไปออกหัวลำโพง ปี พ.ศ.2476 เจอไอ้หนุ่มชุดราชปะแตนกำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเลือกตั้ง ก่อนจะพูดด้วยความซาบซึ้งว่าขอบคุณพระมหากรุณาธิคุณที่ให้โอกาสให้ตนได้เลือกตั้ง แล้วทั้งสองคนก็กลับมาปัจจุบัน

แต่ทีเด็ดของตอนอยู่ตรงเมื่อหลานกลับมาปุ๊ป ก็เห็นว่าคุณปู่ยังยืนมองรูปพระราชทานรัฐธรรมนูญด้วยความซาบซึ้งอยู่ แล้วปู่ก็อ่านข้อความของในหลวงรัชกาลที่ 7 ให้หลานฟัง ซึ่งเป็นข้อความที่เราคุ้นกันดี “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” พอคุณปู่ถามเสร็จก็หันมาถามหลายว่า “เข้าใจกันว่าไงล่ะ เด็กๆ ?” โห อันนี้แอบนับถือคนทำ เป็นการส่งสารด่าคณะราษฎรและกลุ่มสามนิ้วปัจจุบันโดยไม่ต้องพูดหรือเอ่ยถึงแม้แต่นิดเดียวเลย แต่คนดูเข้าใจได้ในทันที จังหวะที่ปู่ถามนี่ผมดูแล้วขนลุกด้วยความกลัวเลย สายตาคือแบบ “มึงเข้าใจที่กูพูดใช่ไหม?”

ที่น่าสนใจในนัยทางการเมืองที่นำเสนอออกมา คือการดึงความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างไทยและจีน เข้ามาเกี่ยวข้องและมากกว่า 1 EP จะเห็นได้ว่า การ propaganda นิยมจีนนั้นเป็นหนึ่งใน grand narrative ที่ทางรัฐนั้นพยายามกล่อมคนไทยผ่านช่องทางสื่อของตัวเองและบรรดาสื่อ IO ทั้งหลายมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าก็ได้ผลเพราะตอนนี้มีคนที่เสพสื่อรัฐ และ IO จำนวนมากที่โปรจีนและไม่เชื่อในประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตกไปแล้ว

และจุดมุ่งหมายหลักของมันก็เพื่อสอดแทรกเรื่องราวของรัชกาลปัจจุบันทีละนิดทีละน้อยในแต่ละ EP ก่อนจะเปิดใจถาโถมเพื่อบอกคุณงามความดีของรัชกาลปัจจุบันแบบไม่เคอะเขินในช่วง EP ท้ายๆ หลังจากที่ลากยาวไทม์ไลน์มา 700 กว่าปีใน 68 EP ก็เพื่อให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์ในอดีตและจงกราบไหว้รัชกาลปัจจุบันอย่างภักดี

เอาจริงๆ จะไม่โกรธเลยถ้างาน propaganda ชิ้นนี้อยู่ในช่องทางของรัฐเอง หรือจะเฉพาะช่องทีวีดาวเทียมของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ที่เป็นผู้จัดทำ แต่มันฉายในช่องทีวีดิจิตอลแทบทุกช่องรวมถึงทีวีสาธารณะที่ควรเป็นของประชาชน การมีอยู่ของแอนิเมชั่นเรื่องนี้จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามกับช่องต่างๆ หรือแม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิตอลอย่าง กสทช. มากๆ ว่าทำไมงาน propaganda ของภาครัฐถึงมีพื้นที่ในสื่อของภาคเอกชนและสื่อสาธารณะได้ขนาดนี้ และชวนน่าตั้งคำถามถึงที่มาของต้นทุนการผลิตด้วย

ถ้าเอาตามความเป็นจริง หลังจากที่หมดหน้าร้อนแล้วเมฆต้องจากคุณปู่กลับไปอยู่บ้าน มันยากแหละครับที่เมฆจะไม่เห็นข้อมูลอีกด้าน คือขืนยังอินแบบนี้รับรองว่าอยู่ในกลุ่มเพื่อนลำบากแน่ๆ และยิ่งโตๆ ไปก็ยิ่งไม่สามารถปิดกั้นเขาได้ เมฆอาจจะได้ไปค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ๆ ได้รู้ประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ชุดที่ภาครัฐให้เราจำ ประวัติศาสตร์ที่มีความสากลขึ้น ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ตั้งต้นจากความเป็นชาติ แต่มาจากเข้าใจพื้นฐานของภูมิภาค ที่มีอาณาจักรและอารยธรรมมากมาย ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจและเสื่อมไป ไม่ใช่ประวัติศาสตร์เส้นตรงที่รวมศูนย์กลางการปกครองแค่ สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ เพราะแต่ละภูมิภาคก็มีประวัติศาสตร์ มีเจ้าผู้ปกครอง มีเมืองศูนย์กลาง มีวัฒนธรรมในแบบตัวเอง 

สุดท้ายย้อนกลับมาถามว่าตัวเองเสียเวลาดูงานชิ้นนี้ไปทำไม คำตอบคือก็คงเพราะอยากรู้แหละว่า 2021 แล้วทางภาครัฐและชนชั้นนำนั้นมีวิธีการนำเสนอ propaganda อะไรที่พัฒนาขึ้นหรือปรับเปลี่ยนไปให้แยบยลขึ้นไหม ซึ่งคำตอบก็คือ ไม่ พวกเขายังคงยึดติดวิธีเดิมๆ ที่ไม่สามารถหลอกคนรุ่นใหม่ได้อีกแล้ว เป็นการใช้ทรัพยากรโดยสูญเปล่าในการสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา

Drive My Car : การแสดงที่แสร้งว่าไม่ได้แสดง เรื่องเล่าที่จริงกว่าเรื่องจริง และการเฝ้าฟังที่ไม่ได้ยิน

0

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

เรื่องเล่าเป็นคำโกหกชนิดเดียวที่สังคมยินยอมให้มีอยู่ และมันได้รับอนุญาตให้ดำรงคงอยู่เพียงเพราะว่ามันมีตอนจบที่แน่นอน หากในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่ตอนจบจะมาถึง ผู้คนก็ได้รับอนุญาตให้แสดงออกซึ่งความจริงเกี่ยวกับตัวพวกเขาเอง – ริวสุเกะ ฮามากุจิ

https://www.indiewire.com/2021/10/ryusuke-hamaguchi-interview-drive-my-car-wheel-of-fortune-and-fantasy-1234669831/

และนี่คือเรื่องเล่าเล็กๆ จำนวนหนึ่งซึ่งประกอบขึ้นเป็นเรื่องเล่าใหญ่ๆ ในเรื่องนี้ 

เรื่องที่หนึ่งคือเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งที่จู่ๆ นึกขึ้นได้ว่าชาติที่แล้วเธอเคยเกิดเป็นแลมป์เพรย์ ปลาดูดที่ไม่มีฟันกรามมีชีวิตด้วยการดูดกินเลือดเนื้อจากปลาตัวอื่น แต่เธอไม่ทำเช่นนั้น เธอกดปากของเธอเข้ากับก้อนหิน โยกไกวเหมือนสาหร่ายใต้น้ำแล้วก็อาจจะตายลงเพราะอดอาหาร หากชาตินี้เธอเกิดมาเป็นเด็กสาวมัธยมที่จู่ๆ หมกมุ่นกับการแอบเข้าบ้านของเพื่อนชายที่เธอตกหลุมรัก กดปากของเธอเข้ากับห้องว่างเปล่าของเขา ขโมยข้าวของเล็กๆ ออกมา และทิ้งข้าวของเล็กๆ ไว้ต่างตอบแทน เด็กชายคนนั้นไม่ใช่ปลาที่ผ่านเข้ามาให้เธอดูดกิน แต่ห้องของเขาคือก้อนหินใต้น้ำ

เรื่องที่สองคือชายคนหนึ่งที่เสียภรรยาไป เขาเป็นนักแสดงและผู้กำกับละครเวที ในแต่ละวันเขาจะซ้อมละครในรถของเขา เปิดคาสเซ็ทเทปเฝ้าฟังบทละคร Uncle Vanya ของอันตัน เชคอฟ ที่ภรรยาของเขาบันทึกเสียงเป็นทุกๆ ตัวละคร เว้นที่ว่างให้เฉพาะเขาที่รับบทลุงวานยาพูดโต้ตอบ ด้วยวิธีการนี้เขาค่อยๆ เข้าใจขั้นตอนของบทละคร รับรู้มันจนเป็นการตอบโต้โดยอัตโนมัติปล่อยให้บทละครซึมเข้าไปในเนื้อหนัง ครั้งหนึ่งเขาประสบอุบัติเหตุ หมอวินิจฉัยว่าเขาเป็นต้อหินที่ตาข้างหนึ่งทำให้มีจุดบอดในตา ในเวลาต่อมา ภรรยาของเขาก็ตายไปเฉยๆ โดยยังไม่ทันได้คุยกัน เขารู้ว่าเธอมีคนอื่น รู้ว่าเธอมักจะพาชายที่เป็นเพื่อนร่วมงานของเธอมามีเซ็กซ์ บางครั้งก็ที่บ้านของพวกเขา ความสัมพันธ์พวกนี้ไม่ยั่งยืนแต่มันกัดกินเขาจากข้างใน

หลังเธอตายไปหลายปี เขาได้รับเชิญไปเป็นศิลปินในพำนักที่อีกเมือง เขาวางแผนจะทำละคร Uncle Vanya แบบหลายภาษาใช้นักแสดงจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ที่นั่นเขาบังเอิญพบนักแสดงที่เคยเป็นหนึ่งในชายชู้ของภรรยา และอยากลงโทษเด็กหนุ่มผ่านทางการแสดงละคร ในขณะเดียวกันเขาพบเด็กสาวอีกคนที่อายุคงรุ่นราวคราวเดียวกันกับลูกสาวของเขาถ้าหากเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอถูกเทศกาลจ้างมาเป็นคนขับรถให้เขา เด็กสาวขับได้นิ่มนวลจนเหมือนเขาไม่ได้อยู่ในรถ เด็กสาวพูดน้อยเงียบงำมีความลับและความเจ็บปวดเป็นของเธอเอง 

เรื่องต่อมา คือเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่ง เธอเติบโตขึ้นในเมืองห่างไกลกลางหุบเขา ตั้งแต่ขึ้นชั้นมัธยม เธอต้องหัดขับรถเพื่อรับส่งแม่จากบ้านไปกลับสถานีรถไฟ แม่ของเธอทำงานไนท์คลับที่ต่างเมือง ทุกวันตอนห้าโมงเย็นเธอต้องขับรถพาแม่ไปส่ง และรับกลับบ้านตอนเจ็ดโมงเช้า ระหว่างทางนั้นแม่มักต้องการนอน เธอต้องขับยังไงก็ได้ให้นิ่มนวลที่สุด ไม่เช่นนั้นจะโดนดี แต่แม่เป็นคนสองบุคลิก ในทุกครั้งที่แม่ตีเธอ หลังจากนั้นแม่จะกลายร่างเป็นเด็กเล็กๆ คนหนึ่งชื่อซาจิ ปลอบโยน ดูแลเธอ เด็กผู้หญิงในร่างของแม่คนนั้นเป็นเพื่อนคนเดียวที่เธอมี จนวันหนึ่งแม่ตายลง ซาจิก็ตายไปด้วย และเธอออกเร่ร่อนไป

และเรื่องสุดท้ายที่สำคัญที่สุด วานยาแอบหลงรักเยเลนา ซึ่งเป็นภรรยาคนใหม่ของพี่เขย พวกเขาพากันมาพักผ่อนในหมู่บ้านชนบทที่ที่วานยาอาศัยอยู่กับแม่ และซอนยาหลานสาว ลูกคนเดียวของพี่สาวที่ตายไปแล้ว หลังพี่สาวตายพี่เขยที่เป็นศาสตราจารย์เป็นคนเลี้ยงดูครอบครัวนี้ แต่เขาเป็นชายเฒ่าที่เริ่มป้ำๆ เป๋อๆ ใครจะนึกว่าจะได้เมียคนใหม่เป็นสาวสะคราญที่ใครๆ ก็หลงรัก นอกจากวานยา แอสตรอฟ หมอหนุ่มประจำหมู่บ้านที่หมกมุ่นอยู่กับการปลูกป่าและความตายของคนไข้คนหนึ่งก็มาชอบพอเยเลนาด้วย โดยไม่รู้ว่าซอนยา เด็กสาวที่หน้าตาไม่สะสวยแอบชอบหมออยู่ 

วานยาผู้เศร้าสร้อยผิดหวัง วานยาผู้เปล่าเปลี่ยวและเชื่อมั่นมาตลอดว่าตัวเองสามารถมีชีวิตที่ดีได้ แต่ถูกทุกอย่างเหนี่ยวรั้งไว้ วานยาผู้ทุกข์ทนและน่าเวทนา ถูกเผาไหม้จากความรักที่เขามีต่อเยเลนาซึ่งถูกมองว่าแต่งงานกับตาแก่เพราะเงิน เยเลนาผู้ไร้สุขและรู้ดีว่าตนเองเป็นเพียงเครื่องประดับของสามี แต่เธอไม่ได้ชอบวานยา เธออาจจะมีใจให้แอสตรอฟ แต่ก็ยังคงยึดมั่นในศีลธรรมอันไร้สุขของตน ขณะที่ซอนยาก็ถูกความรักเผาจนลุกไหม้อยู่เงียบๆ จนในที่สุดวานยาก็ระเบิดออก อย่างเศร้าๆ ด้วยความพยายามฆ่าศาสตราจารย์อย่างไร้ผล ไปจนถึงความพยายามจะฆ่าตัวตายที่ไร้ผล มีเพียงซอนยาหลานสาวผู้ทุกข์ทนเท่ากันเท่านั้นที่คอยปลอบใจ และบอกเขาว่า ถึงอย่างไรเราก็ทำได้เพียงทุกข์ทนต่อไปจนจบชีวิตและหวังว่าหลังจากเราตายพระเจ้าจะให้เราได้พักผ่อนเสียที

อธิบายอย่างง่ายที่สุด นี่คือหนังที่ประกอบขึ้นจากเรื่องเล่าที่ได้เล่าไป โครงของเรื่องมาจากเรื่องสั้น Drive My Car (เรื่องที่ 2) ประกบเข้ากับเรื่องสั้น Scheherazade (เรื่องที่ 1) ทั้งสองเรื่องมาจากเรื่องสั้นในเล่ม Men Without Women ของ Haruki Murakami และทั้งสองเรื่องถูกนำมาขยาย คลี่ออก สอดส่อง เขียนเพิ่ม และวิพากษ์วิจารณ์ผ่านการทำซ้ำใหม่ ในขณะที่เรื่องที่สามเป็นเรื่องที่เขียนเพิ่มขึ้นมา และเรื่องสี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุด นั่นคือบทละครของ Anton Chekov นักเขียนคนสำคัญของโลกชาวรัสเซีย และดูเหมือนทั้งสามเรื่องที่กล่าวมาเป็นเพียงเสื้อผ้า และเครื่องประดับของเรื่องที่สี่ซึ่งคือเรือนร่างและจิตใจของหนัง 

ในภาพยนตร์ของ Ryusuke Hamaguchi (ริวสุเกะ ฮามากุจิ) ตัวละครมักเล่าเรื่อง ในหนังของเขาแม้จะมีบทสนทนาตอบโต้มากมาย มีพล็อตที่ชัดเจน แต่ตัวละครของเขามักเล่าเรื่องบางเรื่องออกมา ในฉากแบบนั้นตัวละครของเขามักหันหน้าหากล้องราวกับกำลังเล่าให้ผู้ชมฟัง เรื่องที่เล่าอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับพล็อตหลักที่ดำเนินไป ใน Happy Hour (2015) นอกจากตัวเอกทั้งสี่คนที่แบ่งปันเรื่องเล่าของชีวิตให้กันและกันฟัง กระทั่งตัวละครที่บังเอิญเดินผ่านมาก็มีเรื่องเล่าของตัวเอง ตอนไปเที่ยว พวกเธอเจอผู้หญิงคนหนึ่งบนรถเมล์ ผู้หญิงคนนั้นเล่าเรื่องของพ่อ เล่าไปจนจบเรื่องแล้วก็ออกจากหนังไป ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ราวกับว่าทุกตัวละครในหนังของเขามีชีวิตเป็นของตัวเองข้างนอกหนัง และ Hamaguchi คว้ามันมาได้ขณะหนึ่ง หรือใน Passion (2008) จู่ๆ ตัวละครที่เป็นครู ก็มีฉากดีเบทกับนักเรียนเรื่องการโดนแกล้งจนต้องฆ่าตัวตายและความรุนแรงในโรงเรียนโดยเส้นเรื่องส่วนนี้ไม่ถูกเล่ามาก่อน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องหลัก แต่เมื่อมันเกิดขึ้น มันกลับส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงต่อตัวละครโดยไม่สามารถอธิบายได้ แม้แต่ในหนังสั้นสามเรื่องซ้อนอย่างใน Wheel of Fortune and Fanatsy (2021) จู่ๆ มีฉากที่ตัวละครหยิบฉากอัศจรรย์ในนิยายขึ้นมาอ่านออกเสียง อ่านอย่างยาวนานและวาบหวิว แน่นอนว่ามันเป็นฉากสำคัญของเรื่องแต่การปล่อยให้ท่อนหนึ่งของนิยายที่เราไม่รู้เรื่องราวถูกเล่าออกมาอย่างยืดยาวทำให้มันเป็นเรื่องเล่าเอกเทศที่ซ้อนอยู่ในเรื่องเล่าหลักอีกที

เราจึงบอกได้ว่าภาพยนตร์ของ Hamaguchi ในทางหนึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยเรื่องเล่าและการเล่าเรื่อง และใน Drive My Car ก็เช่นกัน เรื่องเล่าเล็กๆ ที่ซ้อนอยู่ในเรื่องใหญ่ๆ ของการเป็นฉบับดัดแปลงของวรรณกรรมสองชิ้น (มุราคามิ/เชคอฟ) น่าตื่นเต้นที่เรื่องเล่าเหล่านั้นแทบทั้งหมดเรื่องนั้นถูกเล่าโดยตัวละครหญิง ทั้งเรื่องของสาวแอบเข้าบ้านของภรรยา (ที่นอกจากจะเล่าแล้วกระทั่งตายไปยังฝากอีกคนมาเล่าต่อ) เรื่องของแม่สองบุคลิกของมิซากิ และอาจจะรวมถึงเรื่องการดิ้นรนต่อร่างกายที่ต่อต้านหลังการแท้งลูกของยุนอา นักแสดงสาวใบ้ชาวเกาหลี ในหนังเรื่องนี้ ผู้หญิงเป็นคนขับรถ ผู้ชายเป็นเพียงผู้โดยสาร เป็นตัวละครในเรื่องราว เป็นเรือนร่างของการแสดงที่มีพวกเธอเป็นตัวบท

ข้อด้อยสำคัญอันหนึ่งที่พบตลอดมาในงานเขียนของมุราคามิคือผู้หญิง ผู้หญิงของมุราคามิมักเป็นผู้หญิงที่ว่างเปล่า เป็นภาพพาฝันแสนสุขของชายชนชั้นกลาง เป็นคล้ายๆ กับสินทรัพย์หรือเครื่องประดับ ‘ความลึกลับ’ ของตัวละครหญิงในงานของมุราคามิ ยืนอยู่บนการเป็นภาพฝันของเพศชายทั้งในแง่ของการเป็นสาวงาม การเป็นฝ่ายให้ความสุขทางเพศ การ​ทิ้งร่องรอยไว้ กระทั่งจากไปอย่างไม่ร่ำลาก็เป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองแฟนตาซีในทำนองความเดียวดายอย่างโรแมนติก ให้กับตัวละครชายที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากใช้ชีวิตอย่างมีวัตรปฏิบัติชัดเจนที่ถูกโลกทุนนิยมห่อหุ้มไว้ราวกับไข่ในหิน ไม่มีความกังวลทางรายได้ เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่ลงรายละเอียดยิบย่อย โดยมากพวกผู้หญิงเข้ามาหรือชักพามาซึ่งความยุ่งยากทั้งจากความรัก เซ็กซ์ หรือการร่ำลา และตัวละครชายใช้ตัวละครหญิงเหล่านี้ในการกลับคืนไปยังสมดุลก่อนเก่า

แต่ดูเหมือน Hamaguchi ได้ปรับแปลงแก้ไขให้ตัวละครหญิง (ที่บางตัวยังคงความลึกลับแบบมุราคามิ) เป็นฝ่ายโต้กลับบ้าง เมื่อเรื่องเล่าทั้งหมด ถูกควบคุมโดยผู้หญิง ผู้ชายกลายเป็นเพียงนักแสดงที่ท่องบทคนทุกข์ คนรัก ชู้รัก คนโดดเดี่ยวแพ้พ่าย และค่อยๆ เข้าใจตัวบทที่พวกเธอทิ้งร่องรอยไว้ ในแง่นี้ เสียงท่องบทละครในเทปคาสเซ็ทของคาฟุกุ และเรื่องเล่าที่ภรรยาเป็นผู้เล่า (เขาเป็นเพียงผู้จดจำและจดจาร) จึงมีอำนาจเหนือตัวของเขา ชนิดที่ตายเป็นผีไปแล้วยังมาหลอกหลอน เสียงของภรรยาที่ทดแทนทั้งเสียงของ เยเลนา ซอนยา แม่ ไปจนถึง แอสตรอฟ ศาสตราจารย์ กลายเป็น audio commentary ในชีวิตของคาฟุกุ หนังเล่าเหตุการณ์ไปข้างหน้าตัดสลับกับการขับรถ ขึ้นรถ และเมื่อเขาเปิดเทป เสียงของภรรยาและตัวบทของเชคอฟ ก็จะดังขึ้นมาราวกับวิพากษ์เขาจากเหตุการณ์ก่อนหน้าอยู่เสมอ และในรถ saab สีแดง เขาเปลี่ยนจากผู้กำกับละครเวทีผู้ห้าวหาญเหลือเพียงชายคนที่หลงตัวเอง พังพินาศ สิ้นหวังในนามของวานยา นอกรถเขาเป็นตัวละครชายของมุราคามิ ในรถเขาเป็นตัวละครของเชคอฟ 

ที่ร้ายกาจไปกว่านั้นคือในเรื่องสั้นต้นฉบับ Scheherazade ของมุราคามินั้นแม้จะเล่าเรื่องเดียวกัน แต่ผู้เล่าในเรื่องเป็นผู้ชาย เป็นผู้ชายที่พบกับแม่บ้านลึกลับที่เมื่อนอนด้วยจะเล่าเรื่อง แต่ในหนังเรื่องนี้ผู้ชายไม่ได้เป็นผู้เล่า ผู้ชายเป็นเพียงผู้ฟังเรื่องที่เธอเล่า และจนกระทั่งเธอตายไปเรื่องเล่าของเธอ​ (ไม่ใช่เธอและการฟังเธอเล่าเหมือนในต้นฉบับ) ยังคงมีอำนาจเหนือผู้ชายของเธอ การสานต่อการเล่าโดยทาคัตสึกิ จึงเป็นเพียงร่างทรง เป็นเทปคาสเซ็ทที่เธอใช้เพื่อส่งผ่านเรื่องเล่ามายังสามี 

เราจึงอาจเปรียบเปรยผู้หญิงในเรื่องนี้ในฐานะตัวบทของเชคอฟ ในขณะที่พวกผู้ชายเป็นเพียงนักแสดงโง่งมพูดกันคนละภาษา งมอยู่ในการหาทางเข้าถึงตัวบทของพวกเธอผ่านทางการท่องบทโดยไม่แสดง

กล่าวตามสัตย์แม้หนังดูเหมือนเดินตามเส้นเรื่องใน Drive My Car แต่เราอาจบอกได้ว่าอันที่จริงแล้วนี่คือหนังที่ดัดแปลง Uncle Vanya ของเชคอฟในบริบทของญี่ปุ่นร่วมสมัยมากกว่า หนังเปลี่ยนจากชายชนชั้นกลางผู้ร่ำรวยและทุกข์เศร้าจากการเสียเมียและคำตอบไปพร้อมๆ กันตลอดกาล ให้กลายเป็นชายชนชั้นกลางชาวรัสเซียที่ทุกข์เศร้ามาชั่วชีวิต จมอยู่ในความหลงตัวเอง และความทุกข์ระทมที่คิดว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรมจากชีวิต ในหนังมีวานยาหลายคน ทั้งวานยาจากปลายปากกาของเชคอฟ ทาคัตสึกิที่เดิมมาทดสอบบทแอสตรอฟ แต่ถูกคาฟุกุลงทัณฑ์ ‘ให้ลองเศร้าเท่ากับฉันบ้าง’ ด้วยการให้รับบทวานยาแทน ขณะที่เขาผู้คือวานยาที่แท้จริงผู้ไม่ยอมรับบทวานยา หากแต่กลับยังคงท่องบทวานยาอยู่ในทุกขณะจิต วานยาคือชายผู้เศร้าซึม ว่างเปล่า คนน่าเวทนาที่แม้แต่จะฆ่าคน จะมีความรัก หรือจะขโมยมอร์ฟีนไปฆ่าตัวตายยังทำไม่สำเร็จ ชายผู้อ่อนแอและเอาความอ่อนแอนั้นโบยตีตนเอง ทาคัตสึกิอาจจะนับเป็นวานยาอีกคน แต่เขาไม่สามารถเข้ากับบทวานยาได้ อย่างน้อยเขาก็ฆ่าคนได้จริง ไม่ได้ยิงพลาดเป้าเหมือนวานยา

ความทุกข์ระทมของวานยาจาการพลาดรักกับเยเลนาที่เป็นของศาสตราจารย์ในละครและเป็นของความตายในโลกจริง เยเลานาอาจจะเป็นทั้งตัวละครของเชคอฟ เป็นตัวของแจนิสนักแสดงชาวไต้หวัน (การไปกับทาคัตสึกิ ทำให้เห็นได้ชัดว่าทาคัตสึกิคือแอสตรอฟไม่ใช่วานยา) หรืออาจจะคือโอโตะภรรยาของเขาเอง หากในละครคนที่ช่วยปลดปล่อยทุกข์เศร้าของวานยา ช่วยให้เขา ‘ยอมรับ’ และเข้าใจ คือซอนยา หลานสาวของเขาเอง

เช่นกันที่ทีซอนยาสามคนในเรื่อง ในบทละครต้นฉบับ ซอนยาเป็นหญิงสาวหน้าตาพื้นๆ ค่อนไปทางไม่สวย แตกต่างกับเยเลนาที่งดงาม ซอนยาแรกอยู่ในบทละคร ซอนยาที่สองอยู่ในร่างกายที่ไร้เสียงของยุนอานักแสดงชาวเกาหลีที่เคยเป็นนักเต้น คนที่พูดไม่ได้แต่เปล่งเสียงที่ผู้ชมได้ยินชัดที่สุดผ่านร่างกายของเธอ เช่นเดียวกันกับซอนยา อีกคนที่ไม่พูดนั่นคือมิซากิ คนขับรถของคาฟุกุ 

มิซากิอายุเท่าลูกสาวที่ตายไปของคาฟุกุ เธอเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับซอนยาในฉากหนึ่งหลังจากกลับมาจากบ้านของยุนซูและยุนอา ผัวเมียชาวเกาหลี เธอเป็นคนเดาว่ายุนอาคือผู้รับบทซอนยา และเธอบอกว่าเธอรู้ผ่านการฟังบทละครในรถกับเขา ฉากที่อาจะเทียบเคียงได้สองฉากในหนังคือฉากสุดท้ายที่ซอนยากล่าวถึงชีวิตอันทุกข์ทนและการพักผ่อนในท้ายที่สุดเมื่อพบพระเจ้าด้วยภาษามือบนเวที ซ้อนทับเข้ากับฉากที่มิซากิบอกคาฟุกุว่ามันอาจไม่มีอะไรอยู่เลยในความกังวลทั้งหมดที่เขามีต่อภรรยา เขาจะรับได้ไหมถ้ามันเป็นแบบนั้นถ้าแค่เธอเป็นเช่นนั้น รักเขาและกอดคนอื่นเป็นครั้งคราว

เราจึงอาจบอกได้ว่ามีละคร Uncle Vanya เกิดขึ้นสามเรื่องสลับมิติกันไป เรื่องที่หนึ่งเกิดขึ้นในการซ้อมและจบลงบนเวทีในโรงละคร เรื่องที่สองเกิดขึ้นในชีวิตของคาฟุกุเอง ที่ในที่สุดเขาต้องยอมรับว่าไม่ว่าเขาจะหนีไปที่ไหนเขาคือลุงวานยา และละครเรื่องที่สามเกิดขึ้นในรถของเขาเอง 

บนรถของเขา ทุกอย่างเกิดขึ้นผ่านเสียง พ้องพานกับชื่อของภรรยาของเขาที่แปลว่าเสียง เมื่อเขาขึ้นรถ เขาเริ่มโบยตีตนเองด้วยการฟังเสียงของภรรยาที่ตายไปแล้ว รถของเขาเป็นทั้งพื้นที่ส่วนตัว ที่ที่เขาใช้ซ้ำซ้อมบท การที่เขาพูดบทได้ตรงจังหวะจากเสียงของภรรยา ทำให้เขาเข้าใจการไหลของบทละคร จดจำมันราวกับบันทึกลงในกล้ามเนื้อจนกลายเป็นการตอบโต้โดยอัตโนมัติ แต่ในอีกทางหนึ่ง เสียงของภรรยาเป็นเสียงของภูติผีที่ยังคงหลอกหลอนเขาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหรือตาย และเขาพูดเสมอว่าบทละครของเชคอฟนั้นทรงพลังมากๆ ถ้าปล่อยตัวไปกับตัวบท ตัวบทจะกลืนกิน และเขาก็ปล่อยให้มันกลืนกิน ตัวบทของเชคอฟ ซึ่งเต็มไปด้วยถ้อยคำที่บริภาษวานยาจากคนอื่นๆ ศาสตราจารย์ มารดา ซอนยา เยเลานา แอสตรอฟ ทุกคนกลายเป็นคนเดียวคือโอโตะ ซึ่งคือเสียง และคือภรรยาของเขาเอง พื้นที่ในรถจึงเป็นทั้งห้องส่วนตัว ออฟฟิศ และห้องสารภาพบาปของเขา นรกและแดนลงทัณฑ์ของตัวเขาเอง ที่ที่เขาจะได้คร่ำครวญ ฟูมฟาย โดยอาศัยปากของวานยาทดแทนความอ่อนแอในใจ 

หนังบอกว่าเขาต้องเลิกขับรถเพราะเป็นต้อ มีจุดบอดในดวงตา จุดบอดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจุดบอดของดวงตาของเขาในการจ้องมองเข้าไปในภรรยา จุดบอดเป็นข้อบกพร่องที่เขาอยากกำจัด มีแต่การรู้ความจริงเท่านั้นที่จะทำให้จุดบอดในตาหายไป แต่ก็เป็นเช่นที่หมอบอก มันเป็นสิ่งที่รักษาไม่ได้ คุณเพียงหยอดตาเพื่อไม่ให้อาการแย่ลง สิ่งที่ทาคัตสึกิเตือนสติเขาก็เช่นกัน เราไม่สามารถมองเข้าไปในตัวคนอื่นได้อย่างหมดจดหรอก ที่มองได้ก็เพียงมองเข้าไปในตัวเอง และการมุ่งมองไปในตนเองอันที่จริง ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง มันต้องอาศัยผู้อื่น เพราะมันต้องรอจนคาฟุกุเปลี่ยนตัวเองจากผู้ขับไปเป็นผู้โดยสาร เมื่อนั้นเองเขาจึงได้มีโอกาสมองเข้าไปในตัวเองและได้ยินสิ่งที่เขาเฝ้าฟังมาโดยตลอด หลังจากฟังมาโดยตลอด เขาเพิ่งได้ยิน 

มันจึงเป็นความยอกย้อนที่งดงาม เมื่อหนังกำหนดให้ละครของคาฟุกุ เป็นละครหลายภาษา ผู้แสดงจากนานาชาติต่างเล่นไปตามภาษาของตน ภาษาที่ตนเองเข้าใจคนเดียว ภาษาจีนกลาง ญี่ปุ่น ตากาล็อก เกาหลี ภาษาใบ้ ในช่วงการฝึกซ้อม เขาคร่ำเคร่งกับการให้นักแสดงอ่านบท อ่านออกมาตามภาษาของตน อ่านเฉยๆ โดยไม่ต้องแสดงออกมาการอ่านซ้ำไปซ้ำมา บันทึกขั้นตอนและถ้อยคำตามแต่ภาษาของตน กล่าวให้ถูกต้องคือทุกคนจะเข้าใจเพียงบทของตน ส่วนที่เหลือที่เป็นภาษาอื่นเป็นเพียงสิ่งที่ถูกเว้นไว้ ทุกคนได้ยินเพียงเสียงของตัวเอง และค่อยๆ จมลงในบทบาทที่ตนได้รับราวกับเป็นจิ๊กซอว์เว้าแหว่งที่ประกบเข้าหากันเป็นภาพอันสมบูรณ์ เขาเชื่อว่าการอ่านบทซ้ำๆ จะทำให้ตัวละครสื่อสารกันโดยไม่ต้องโต้ตอบกับภาษา แต่รับรู้ผ่านสิ่งที่อยู่ลึกกว่า อาจจะผ่านจังหวะ การหายใจ ตัวบทที่จะให้ตัวละครสื่อสารกันโดยไม่ต้องเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด การแสดงที่ไม่ต้องแสดงอีกต่อไป เพราะตัวบทอยู่ในระดับที่ลึกกว่า การแสดงเช่นนี้ทำให้นึกถึงการกลายเป็นซาจิของแม่ของมิซากิ ที่เธอยังคงเฝ้าสงสัยว่านี่คือการไถ่บาปของแม่ หรือแม่มีสองบุคลิกจริงๆ ทุกคนแสดง ทุกคนเป็นคนสองบุคลิก ทั้งนักแสดงในละคร ภรรยาของคาฟุกุที่เป็นแลมป์เพรย์ และคาฟุกุที่เป็นคาฟุกุอยู่ข้างนอก และเป็นวานยาอยู่ข้างใน กลับด้านของตัวละครกับนักแสดง

ในตอนนี้เราควรกลับไปยังเรื่องเล่าของเด็กสาวแลมป์เพรย์อีกครั้ง หากกลับมาพิจารณาเรื่องเล่าของเด็กสาวที่ทิ้งเครื่องหมายเอาไว้ทุกครั้งที่เข้าไปในห้องของเด็กหนุ่มที่เธอแอบหลงรัก อันที่จริง เรื่องเล่านี้ก็เป็นเครื่องหมายที่เธอทิ้งไว้ให้กับเขามาตลอด เรื่องเล่าที่ไม่มีตอนจบ เป็นเหมือนผ้าอนามัยแบบสอด หรือชุดชั้นใน ถึงที่สุดภรรยาของเขาเองกลายเป็นเครื่องหมายสุดท้ายที่ทิ้งไว้ให้ เมื่อเธอกลายเป็นศพของโจรร้ายในบ้านของเด็กหนุ่ม หากโลกยังคงสงบสุข ชีวิตดำเนินต่อไป เด็กหนุ่มยังคงมีชีวิตราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังคงเล่นละครต่อไป เสียงกู่ตะโกนของเธอต้องหน้ากล้องวงจรปิด จึงกลายเป็นเสียงของการกู่ตะโกนว่า ที่แท้แล้วฉันคือแลมป์เพรย์ ฉันดูดกินเลือดเนื้อสัตว์ชนิดอื่นเพื่อมีชีวิต ยอมรับเถอะว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และเสียงตะโกนสุดท้ายของฉันอยู่ในปลาตัวหนึ่งที่เธอกัดกิน นั่นคือทาคัตสึกิ

เช่นเดียวกับที่ทาคัตสึกิพูดบนรถ ตัวละครของเขาทำได้เพียงจ้องมองเข้าไปในตัวเองอย่างซื่อสัตย์ปล่อยให้ตัวบทของเชคอฟกลืนกิน ในทางตรงกันข้าม คาฟุกุที่เฝ้าฟังตัวบททั้งหมดซ้ำไปซ้ำมาแต่กลับไม่เคยได้ยินเสียงของตัวเอง เขาได้ยินเพียงเสียงของภรรยา ทุกตัวละครในบทของเชคอฟ กลายเป็นเป็นเพียงเสียงชนิดเดียว ด้วยดวงตาที่มีจุดบอด เขาเพ่งมองเข้าไปในภรรยาที่สูญดับโดยไม่อาจได้ยิน ที่ผ่านมาเขาทำเพียงจดจำเรื่องราวไว้ให้เธอเขียน เขาฟังสิ่งที่เธอเล่าโดยไม่ได้ยิน เช่นเดียวกับบทของเชคอฟ เขาท่องตามสิ่งที่ถูกเว้นไว้ เขาเปลี่ยนเสียงของตัวละครเป็นเสียงของเธอ หวังจะเติมเต็มภาพร่างที่เธอทิ้งไว้ให้แต่เขาไม่เคยฟังเสียงที่แท้จริงของมัน เสียงของตัวเองที่โต้ตอบกับผี จนเขาได้ฟังเสียงของทาคัตสึกิ เสียงของมิซากิ เสียงของซอนยา เสียงของคนอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตน เป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินเสียงของตัวเอง และเสียงนั้นบอกว่ามันไม่เป็นไร เรื่องที่เขาไม่รู้เขาจะไม่รู้ไปตลอดกาล ชีวิตคือความทุกข์ทนเขาและเราทุกคนทำได้เพียงทุกข์ทนไปจนสุดทางและหวังว่าเมื่อโลกสูญดับพระเจ้าหรืออะไรก็ตามจะอนุญาตให้เราพักผ่อน

เรื่องราวในตอนนี้พาเราย้อนกลับไปยังบทสนทนาของแม่ของแคที่ในหนัง Shang-Chi ที่บอกว่า ‘การมูฟออนนั้นน่ะเป็นเรื่องของพวกอเมริกันเท่านั้น’ และพาเรากลับไปหาหนังเรื่อง ฮาวทูทิ้ง กลับไปยังคำพูดของพี่เอ็มที่พูดกับจีน หลังจากกลับมาพบกันใหม่เพื่อคืนของและ ‘มูฟออน’ ไปจากกัน พี่เอ็มบอกว่า ถ้าจีนรู้สึกอยากจะขอโทษจริงๆ แน่จริงก็ ‘ก็รู้สึกผิดไปด้วยกันให้ตลอดสิ’ ในขณะที่โลกสมัยใหม่หมกมุ่นอยู่กับการจัดการกับอดีตให้เป็นเพียงเรื่องที่จบไปแล้ว คนที่ตายไปแล้ว แล้วก้าวต่อไป (เพื่อเป็นหนึ่งในกำลังการผลิตของทุนนิยม) Drive My Car กล่าวถึงการหมกมุ่นอยู่กับอดีต การปล่อยให้ความต้องการที่จะก้าวพ้นอดีตแผดเผา เพราะอดีตกลายเป็นสิ่งที่ไม่ตาย เป็นเรื่องที่เราไม่มีวันรู้ เป็นเสียงที่คอยหลอกหลอนในเทปคาสเซ็ท เป็นปากของแลมป์เพรย์ที่ยึดติดอยู่กับหิน การมูฟออนของวานยา ของมิซากิ ของทาคัตสึกิ และของคาฟุกุ ไม่ใช่การทำให้อดีตนั้นจบลง หรือการหมกมุ่นอยู่กับมัน ไม่ใช่การต่อสู้และเอาชนะอดีต แต่ในที่สุดมันกลับเป็นการยอมจำนนกับอดีต การอยู่ร่วมกับผีที่ตายไปแล้ว การรู้สึกผิดไปด้วยกันตลอด การยอมแพ้ให้เสือสมิงจากความทรงจำในหนังของอภิชาติพงศ์กลืนกินและกลายเป็นส่วนหนึ่งของมัน คนที่มีชีวิตอยู่ก็จะเฝ้าคิดถึงคนที่ตายไป มีชีวิตต่อไป จนกว่าวาระสุดท้ายอันเงียบงันจะมาถึง

สมเกียรติ์ วิทุรานิช : 12 ปี October Sonata Conservative ที่ไม่เคยเปลี่ยนหลักการ

ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ สมเกียรติ์ วิทุรานิช เมื่อ พ.ศ. 2552 ปีที่หนังของเขา ‘October Sonata รักที่รอคอย’ เข้าฉาย ครั้งนั้นเราพยายามถามถึงการเชื่อมโยงการเมืองเข้ากับพล็อตเรื่องว่าด้วยการรอคอยคนรักของหญิงสาว ในทุกเดือนตุลาคมของทุกปี จนผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ถึง 2 รอบแล้ว เธอก็ยังคงรอต่อไป…เขาอ้อมแอ้ม

12 ปีที่ผ่านมา แทบทุกเดือนตุลาคม October Sonata ยังคงได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ ในฐานะบทบันทึกหลักฐานชิ้นสำคัญบนหน้าประวิติศาสตร์การเมืองไทย ที่นำเสนอในรูปของหนังรัก

“ผมว่าผมเปลี่ยนไป” สมเกียรติ์พูดกับเราตั้งแต่ยังไม่บันทึกเสียง…

รักที่รอคอย (October Sonata)

หนังอย่าง October Sonata ได้รับการพูดถึงอยู่เรื่อยมา โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม

อันนี้คือความดีใจ และอยากขอบคุณทุกคนด้วยที่ระลึกถึงหนังเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ …แต่หลังจาก October Sonata ผมก็พยายามเขียนเรื่องเสนอนายทุน แล้วก็ไม่มีเรื่องไหนประสบความสำเร็จในการขอทุนเลย (หัวเราะ) ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาในการเอาคอนเทนต์นำ คือมีแต่ประเด็นที่จะพูด แต่เวลาเสนอไม่มีใครอยากฟัง เขาอยากจะฟังว่าหนังเรื่องนี้จะขายใคร ขายยังไง ใครจะดู สนุกตรงไหน ก็ต้องพิจารณาตัวเองว่าเราต้องไปเรียนวิชาการตลาดใหม่แล้วแหละ เหมือนเป็นอีกวิชาที่คนทำหนังยุคนี้จะต้องเรียนรู้คือคุณต้องมีหัวทางการตลาด อันนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกกับมัน ตลอดเวลาที่ทำอาชีพนี้…จะเรียกอาชีพก็ไม่ถูก เรียกว่าเวลาของการดิ้นรนเพื่อที่จะเป็นคนทำหนัง เรามองแค่ว่าเราอยากจะพูดอะไร แนวไหนที่คนทำหนังไทยยังไม่เคยทำ มองแค่นี้ ซึ่งจริงๆ แล้วโอกาสที่เราจะได้ทำในอย่างที่อยากจะทำมันน้อยมาก

แล้วคิดว่าการมีหัวทางการตลาด เป็นสิ่งที่คนทำหนังต้องมีจริงหรือ?

จริงๆ ผมแอนตี้เรื่องนี้ และผมไม่มี marketing mind ไม่มีเลย พยายามจะมีก็มีไม่ได้ เพราะมันเกินความสามารถเราแล้ว จริงๆ มันก็แค่ เราเสนอไปแล้วเขามองว่ามันไม่สามารถจะขายได้ เขาก็รีเจ็กต์เรา แต่พอถูกรีเจ็กต์บ่อยๆ ก็ต้องมาทบทวนตัวเองแล้วว่ายังไงวะ (หัวเราะ) มันเฟล บางเรื่องเรารู้สึกว่าดีจังเลย คอนเทนต์มันดี รับรองทำแล้วฮือฮาแน่เลย จนกระทั่งหันไปทำซีรีส์ให้ไทยพีบีเอส (‘ปู่ณัฐ’) ตรงนั้นก็สนุกแบบนึง ตรงที่ว่าไม่ต้องขายสูตรการตลาดกับแนวทางที่ผลิต เขามีประเด็นรอให้อยู่ และเป็นประเด็นที่ท้าทาย แต่มันเป็นงานเล็กๆ ซี่รีส์ไม่กี่ตอนจบ และหลังจากนั้นอยู่ๆ ประเทศจีน เข้ามาทางเปีย (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ตากล้องหนังไทย) เพราะเขาเคยเรียกเปียไปเป็นตากล้องหนัง ‘เนอสเซอรี่เลี้ยงผี’ ของ เหลิม (พัชนนท์ ธรรมจิรา) เปิดศักราชไปทำหนังผีกับเขา และก็ดึงเปียไป พอเปียไปถ่ายให้เขาก็มีโปรเจ็กต์หนังเกี่ยวกับหมา (A Dog’s Tale) เขาก็แนะนำผมเข้าไปเพราะผมเคยทำ ‘มะหมาสี่ขาครับ’

การไปจีนก็เป็นการที่เขาเลือกเรา

ใช่ๆ ซึ่งเขาก็ดู October Sonata นะ เขาไม่ได้ดู ‘มะหมา’ ด้วย เขาขอซื้อบทเลยแหละ จะเอาไปทำที่จีน แต่ตอนนั้นผมบอกว่าเอาทีละเรื่องก่อน เอาหนังหมาให้เสร็จก่อน ไอ้เราก็ใจดีนะ บอกเขาเอาไปทำเถอะ (หัวเราะ) ไม่หรอก จริงๆ October Sonata น่ะ ข้างใต้มันคือเรื่องการเมืองเท่านั้นที่เราอยากพูด ไอ้ความเป็นหนังรักมันไม่มีอะไร เป็นสูตรที่เขามีกันทั่วโลก ผมเลยบอกเขาว่าถ้าต้องการแค่หนังรักก็เอาไปเหอะ เพราะสิ่งที่ผมอยากจะพูดมันอยู่ข้างใต้ มันคุยกับคนไทยเท่านั้น ถ้าคุณไม่มีความคิดที่จะเอาเรื่องการเมืองของคุณสอดแทรกเข้าไปเหลือแค่ความเป็นหนังรัก ก็เอาไปเลย

อันนึงที่เปลี่ยนไป คือการที่เราจะพูดว่ามันเป็นหนังการเมืองในวันนั้นมันอ้อมแอ้ม แต่วันนี้สามารถพูดได้แล้ว ไม่รู้ว่าคุณเปลี่ยนไปหรือสภาพสังคมเปลี่ยนไป

ตอนนั้นอาจจะเป็นช่วงโปรโมทหนัง แล้วโปรดิวเซอร์ไม่ต้องการให้ไปแตะการเมือง เขาให้ทำนะแต่พอเวลาอออกสู่สาธารณชนเขาอยากให้เป็นแค่หนังรัก ก็เลยต้องตามนโยบายของเขาแหละ

มันเป็นเรื่องของสังคมในตอนนั้นด้วยมั้ย

จริงๆ ตอนหนังฉายมันระอุมากนะ (พ.ศ. 2552) และในที่สุดพอคนเอามันไปตีความในเชิงลึก ก็ไปอยู่ในสายการเมืองเข้มข้นเลยนะ …

วันนี้พูดได้แล้ว

ใช่ เราต้องการพูดเรื่องการเมือง แต่มันก็คือหนังสองเลเยอร์ ถ้าคุณจะมองเป็นหนังรักเลยมันก็มีเส้นเรื่องให้เดิน

จริงๆ ต้องการพูดอะไรแน่ ผ่านหนังเรื่องนั้น

เรื่องนี้ต้องการจะพูดว่าทำไมมันยากเย็นนักล่ะ คนไทย ในการที่จะมีรัฐธรรมนูญสำหรับคนไทย ในการที่จะมีการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างที่ประเทศอื่นเขามีกัน อันนี้จริงๆ คือสิ่งที่อยากจะพูดเลยนะ เราก็รอไปเรื่อยๆ รอวนกันอยู่นั่นแหละ ถ้าพูดจริงๆ ผมพูดกับโป๊บ (ธรวรรธน์ วรรธนภูติ) เลยนะว่าที่เอ็งเล่นนั่นไม่ใช่มนุษย์นะ มันคือตัวแทนของระบอบประชาธิปไตย

แล้วนักแสดงคนอื่น

เราคุยกันบนพล็อตเรื่อง เพราะมันขับเคลื่อนด้วยพล็อต

ถ้าพูดเรื่องนี้ในวันที่มันฉาย จะโดนถล่มขนาดไหน

ใช่ มันถึงเป็นเรื่องตลกไง การเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่สมควรจะเป็น แต่ทำไมตอนนี้การเรียกร้องประชาธิปไตยมันถึงเป็นเรื่องที่ยากเย็น มันตลกไง ทุกอย่างมันกลับหัวกลับหางมาก

เคยคิดมั้ยว่าถ้าเรื่องราวจากหนังนั้นลากยาวมาถึงวันนี้ เพราะเหตุการณ์เดือนตุลาฯ มันไม่ได้จบแค่ในหนัง

จริงๆ เหตุการณ์เดือนตุลามันอีรุงตุงนังมากนะ มันเหมือนอะไรบางอย่างที่ถูกรื้อค้นขึ้นมา แล้วทีนี้พอยิ่งรื้อมันยิ่งเจอปม

รักที่รอคอย (October Sonata)

ในช่วงที่ทำ October Sonata มีการอธิบายอะไรเพิ่มเติมกับทีมงานคนอื่นอีกมั้ย

ไม่ได้บอก ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปทำความเข้าใจส่วนนี้กับทีมงาน เพราะเราก็ไม่รู้ว่าแต่ละคนมีความคลั่งการเมืองที่ตรงไหน เพราะฉะนั้นผมเลือกที่จะไม่พูด และให้มันเป็นเรื่องพล็อต ใครจับได้จับไป ไม่ได้มันก็เป็นหนังรักเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่อะไร ถ้าเราบอกว่ามันเป็นหนังตีความแล้วทุกอย่างมันจะแข็ง แล้วทุกอย่างมันจะเป็นสัญลักษณ์กันไปหมด ไอ้เลเยอร์ของหนังรักมันจะหายไป

พอหนังถูกพูดถึงบ่อย มีมุมมองต่อปรากฏการณ์เช่นนี้ยังไง

คือ…(นิ่งคิด) มันเหนื่อย มันล้า และรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่มนุษย์ที่ลุกขึ้นมาแข็งแรงพอจะออกมาตะโกนเพื่อปักหลักในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หรือป่าวประกาศความคิดของเราขนาดนั้น ก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ประนีประนอมประมาณนึง อย่างผมถ้าไปอยู่เมืองนอกก็คือ Conservative นะ เพราะผมยังเชื่อในเรื่องของการที่เราต้องหอบหิ้วรากของเราไป แต่ในเวลาเดียวกันมันก็ต้องอยู่บนความเป็นจริง อยู่บนหลักการที่มันมีเหตุมีผล แต่ทุกวันนี้มันขาดเหตุผลจนตรรกะมันพังไปหมดแล้ว

มันไม่ใช่เรื่อง Conservative อะไรด้วย

มันเป็นเรื่องของความบิดเบี้ยวทางความคิด มันเป็นเรื่องของตรรกะ เหตุผลคุณหายไปไหนหมดแล้ว เหตุผลของสังคมมันไปไหนหมดแล้ว

ตัวตนคุณก็น่าสนใจ มันมีความ Conservative แต่ก็ดูขวางโลกเรื่อยมา

คือวิธีคิดมันอยู่บนพื้นฐานมากกว่า และเราก็ต้องการเหตุผลเท่านั้นเอง อะไรที่ไม่มีเหตุผลเราก็รู้สึกว่า (หัวเราะ) จริงๆ ทั้งหมดมันเป็นเรื่องธรรมดามากเลยนะ

จนเราลืมไปแล้วว่าเราไม่ได้อยู่บนตรรกะที่ถูกต้องมานานแล้ว

ใช่ ตรรกะมันบิดเบี้ยวจนผมรู้สึกว่าจะไม่คุยเรื่องนี้กับใครที่คิดต่างเยอะๆ เลี่ยงที่จะพูดเลย ถ้าต่างกันมากเอาว่าผมเคารพคุณ แล้วคุณไม่ต้องมาเปลี่ยนผม ผมไม่เปลี่ยน และผมจะไม่เปลี่ยนคุณ ต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเองแล้วกัน

แล้วได้คุยกับคนรุ่นใหม่บ้างหรือไม่?

สิ่งที่ยากที่สุดเลยตอนที่สอนหนังสือ ซึ่งเป็นวิชาเขียนบทด้วย (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) ในช่วงที่การเมืองร้อนแรง จะพบว่าการเมืองจะอยู่ในบทเยอะมากในช่วงก่อนหน้านี้ แล้วมันมีเด็กทั้งสองข้างเลย ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นครูสอน ต้องห้ามแสดงจุดยืนตัวเองเลย เพื่อให้เด็กทั้งสองข้างไม่รู้สึกว่าเราลำเอียง ให้เขาถ่ายทอดมันออกมา ผมจึงคอมเมนต์แค่ว่า “ขอเหตุผลซัพพอร์ต” คุณเอาเหตุผลมา ถ้าเหตุผลคุณแข็งแรง โอเค จบ คุณจะอยู่ข้างไหนก็ได้แต่ขอเหตุผล

จริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง มันคือหลักการ

มีเด็กคนนึง เรื่องที่เขียนมาอาจจะไม่ใช่เรื่องการเมืองนะ เป็นวิธีคิดของเขา มันเป็นเรื่องของเด็กที่อยากจะเรียนวิชานึง แล้วพ่อแม่บังคับให้เรียนวิชานึง ตัวเองก็เปลี่ยนตามพ่อแม่ แล้วผมก็ถามเขาว่าตัวตนจริงเป็นแบบนี้รึเปล่า หรือเป็นสิ่งที่สังคมบอกว่าลูกที่ดีต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ให้ถามตัวเองก่อนว่าจริงๆ แล้วคิดค้านมั้ย หรือจริงๆ แล้วคุณต้องการเป็นแค่คนดีของสังคม แล้วสังคมบอกว่าคนดีของสังคมเป็นแบบไหนแล้วคุณก็ทำตามคำแนะนำเขา กลับไปถามตัวเองก่อนค่อยมาตอบ แต่เขาก็ตอบว่าเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ และเขาก็อ้างด้วยเหตุผลตามสิ่งที่สังคมปลูกฝังมา เขาเชื่อแบบนั้นจริงๆ ถ้าแบบนั้นก็จบ เราจะไม่เปลี่ยนเขา เราจะไม่บอกว่าไม่ได้ เอา คาลิล ยิปราน ไปอ่าน ไม่เอา ผมไม่เปลี่ยนเลย (หัวเราะ) อันนี้ผมเคารพในสิ่งที่เขาอยากบอก และสักวันเขาคงจะเปลี่ยนด้วยอะไรบางอย่าง แต่ ณ เวลานี้ผมตั้งคำถามกับเขาแล้ว

ในโปรเจกต์จีน เราวางบทบาทการทำงานเพื่อความพึงพอใจอย่างไร

เราหามุมให้เจอว่าเราซิงก์กับเรื่องนี้ได้ ซิงก์กับทัศนคติแบบนี้ได้ หามุมให้ได้ว่ามุมไหนที่เราซิงก์กับมันเราก็อยู่กับมุมนั้น โชคดีที่โปรเจกต์จีนมันเป็นหนังใสๆ ก็ปรับโหมดของตัวเองให้ไปอยู่ยุคไหนของชีวิตเรา อย่างหนังจีนผมก็ปรับโหมดไปสู่ยุคเด็กเลยเหมือนตอนทำ ‘มะหมา’

สมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้กำกับ ไสหัวไป นายส่วนเกิน

แล้วอย่าง ‘ไสหัวไป นายส่วนเกิน’

เขามีโจทย์มาให้ แต่ก็นั่นแหละคือคนจีนเขาใสมาก หนังโพสิทีฟมาก เราก็ปรับโหมดไปสู่ยุคที่นั่งดูหนังกับพ่อแม่ที่บ้าน คนที่ดูหนังลักษณะนี้คงจะชอบ เพราะว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องจริงใจกับงาน ถ้าโจทย์มาแบบไหนก็ตามโจทย์ไป ผมจะไม่พยายามไปยัดไส้

แล้วที่บอกก่อนหน้านี้ว่าทุกวันนี้เปลี่ยนไปคืออะไร

มันเป็นเรื่องการทำหนัง ที่เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องที่เราเสนอไปไม่เคยผ่านเลย งั้นเราก็พยายามเอาประสบการณ์ที่ไม่ดีของเราไปบอกเด็กว่าฉันคิดแบบนี้ไป แล้วงานมันผ่านยากมาก คุณลองกลับมาสู่การเอาโครงสร้างให้มั่นก่อน ก่อนจะไปสนุกกับคอนเทนต์ เพราะเดิมทีเราสนุกกับการขยี้ประเด็น แล้วเราไม่ได้คำนึงถึงโครงสร้างว่าพีคตรงไหน ก็มีแต่สิ่งที่อยากพูด แต่พูดยังไงให้มันเพลิดเพลินได้ พอต้องสอนเด็กผมเลยบอกเด็กทุกคนว่าผมสอนคุณเพื่อให้ออกไปข้างนอกแล้วสามารถหากินได้ในตลาดตอนนี้ แต่อย่างอื่นต้องไปเรียนรู้จากคลาสอื่นหรือนอกคลาส แต่ในคลาสนี้ผมจะสอนโครงสร้างให้มั่นก่อน เพราะหลายครั้งผมรู้สึกว่าเด็กที่ไฟแรงมาแต่โครงสร้างไม่มั่นคง และในระหว่างที่สอนเราก็สอนตัวเองด้วย (หัวเราะ) จริงๆ การสอนเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดเพราะการที่เราก็ได้เรียนรู้ มันคือการให้และการรับในเวลาเดียวกัน

สมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้กำกับ ไสหัวไป นายส่วนเกิน

ส้มป่อย : การตบตีกันของสาวเครือฟ้าและอีลำยองเวอร์ชั่นล้านนา เรื่องเล่าบนความเหลื่อมล้ำของพื้นที่เมืองและชนบท

คำว่า “กรุงเทพฯ” ถูกปาใส่หน้าผู้ชมจำนวนครั้งที่ผู้เขียนเองก็นับไม่ถ้วน จึงสรุปได้ไม่ยากนักว่า หนัง “ส้มป่อย” (2564) วางอยู่บนคู่ตรงข้ามของความเป็นกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด โดยใช้ปมในวัยเด็ก และแรงขับดันทางเพศของส้มป่อย (พิจักขณา วงศารัตนศิลป์) นางเอกเป็นตัวเดินเรื่อง

ครอบครัวคนเมืองจะมีวันรวมญาติในวันปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) และทุกปีคือวันโลกาวินาศของส้มป่อย และลูกหลานคนเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะบ้านที่ไม่สามารถประดับความสำเร็จให้เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล เพราะมากญาติมากความ มากคนมากความ การอวดชีวิตที่ดีของคนในตระกูล หรือการถามไถ่ซอกแซกเรื่องส่วนตัว สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องเล็ก แต่คนไม่น้อยมันเป็นเรื่องน่ารำคาญ ญาติๆ หลายคนได้ดิบได้ดี กลายเป็นคนกรุงฯ ด้วยการแต่งงานออกไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ลูกหลานที่กลับมาจึงเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ “ขาวโจ๊ะโฟะ” เพราะไม่ต้องตากแดดตัวดำ เพราะใช้ชีวิตอยู่ในห้องแอร์ 

ส้มป่อยรู้สึกอึดอัดเสมอเมื่อครอบครัวเธอถูกเปรียบเทียบกับคนอื่น แม่เธอที่ดูมีอาชีพไม่แน่นอน นอกจากสุงสิงอยู่กับหวย ไม่ต่างกับพ่อที่หมกมุ่นอยู่กับไก่ชน ชีวิตแบบนี้มันไร้อนาคต และไม่มีความสุขเอาเสียเลย เธอตัดพ้อว่าทำไมแม่เธอถึงไม่ได้ผัวกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ของส้มป่อย จึงเป็นภาพตัวแทนของความเจริญ ความก้าวหน้า โอกาสของชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนของการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม และการรวมศูนย์ทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งอำนาจทางการเมือง ทรัพยากรต่างๆ 

ส้มป่อย หรืออีส้มเป็นตัวแทนของสาวต่างจังหวัดในหมู่บ้านในภาคเหนือที่อยากจะกลายเป็นคนกรุงฯ เธอไม่ชอบท้องถิ่นที่เธอมีชีวิตอยู่ และเธอพบว่าการจะขยับขยายสถานภาพนั้นได้เร็วที่สุด ไม่ใช่หน้าที่การงาน ไม่ใช่การศึกษา แต่เป็นการแต่งงานหาผัว เสียดายเมื่อจุดเริ่มต้นมันมาแบบนี้ เรื่องทั้งเรื่องจึงหมกมุ่นอยู่กับเส้นทางการจับผู้ชายจนน่ารำคาญเกินไป

หนังเรื่องนี้สำหรับคนเมืองแล้ว อาจจะรู้สึกถึงความตะหงิดๆ ผ่านสำเนียงฝั่งตะวันตก (ช้าๆ เนิบๆ แบบเชียงใหม่ ลำพูน) และฝั่งตะวันออก (รวดเร็ว ห้วนแบบแพร่ ลำปาง น่าน พะเยา) ที่ถูกใช้สลับไปมาระหว่างตัวละคร ทั้งที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น ส้มป่อย แม่ส้มป่อย เพื่อนส้มป่อยจะใช้สำเนียงตะวันออก ขณะที่ แซ้ป (ธนพล จารุจิตรานนท์) เจ๊แหวว (พัชร์ธีรัตน์ แหลมหลวง) ร้านยาดองจะใช้สำเนียงตะวันตก ทั้งที่หนังเรื่องนี้พยายามสื่อว่ามีโลเกชั่นอยู่ในลำพูน

แต่ที่ชัดมากสำหรับคนทั่วไปก็คือ สำเนียงที่อ่อนหวาน (ในแบบตะวันตก) ถูกสื่อให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของภาพสาวล้านนาในอุดมคติของคนกรุงฯ หากนึกไม่ออกลองนึกถึงเพลงสไตล์สุนทรี เวชานนท์ อย่างเพลง “ล่องแม่ปิง” ดังที่ร้องว่า “คนงามๆ ต้องงามคู่ความ เด่น ดี ต้องฮักศักดิ์ศรีของกุลสตรี แม่ย่าแม่หญิง เยือกเย็นสดใส เหมือนน้ำแม่ปิง มั่นคงจริงใจ ฮักใครฮักจริง”

ความเป็นแม่หญิงล้านนาได้ถูกทำให้เป็นสินค้า ผ่านตลาดนางงามที่เริ่มต้นหลังปฏิวัติสยาม 2475 และเฟื่องฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาคเหนือการจัดประกวดนางงามมีตั้งแต่ในระดับงานวัด ไปจนถึงการสร้างรางวัลของตัวเองของทุนสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ภาคเหนืออย่างหนังสือพิมพ์คนเมือง การผลิตซ้ำความเป็นผู้หญิงล้านนาดังกล่าว เป็นมรดกที่สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ เพลง “ล่องแม่ปิง” ท่อนที่พูดถึง “สาวเครือฟ้า” ก็ยิ่งทำให้เห็นการตอกย้ำของความเป็นหญิงเหนือในแบบที่ว่ามา

ตรงกันข้ามกับตัวตนของนางเอก แม่ นอกจากจะมีสำเนียงที่ห้วนกระชับแล้วยังใส่อารมณ์เกรี้ยวกราดดุดัน เรียกได้ว่าในการพูดแต่ละประโยค ครึ่งนึงต้องเป็นคำสบถ คำด่า “จ้าดหมา” (ชาติหมา) เป็นคำที่ส้มป่อยน่าจะด่าบ่อยที่สุด การซดเหล้าแกล้มลาบดิบและหลู้ ก็ยิ่งเป็นภาพที่ตรงกันข้ามความเป็นสาวเหนือที่ดีงาม ส้มป่อยจึงมีความเป็นลำยองเวอร์ชั่นล้านนามากกว่า 

นั่นเองทำให้ข้าวตอก ตัวละครหญิงที่ถูกใช้เปรียบเทียบกับส้มป่อย หล่อนมีจริตจะก้านอ่อนหวาน พูดช้าๆ เนิบๆ มืออ่อน ตีนอ่อน แต่งชุด “พื้นเมือง” รู้จักผ้านุ่งเครื่องห่ม ความเป็นต้นแบบนี้ ทำให้ส้มป่อยต้องไปเรียนรู้ความเป็น “ผู้หญิงล้านนา” จากข้าวตอก ซึ่งต่อมาข้าวตอกนี่เองจะเป็นคู่แข่งหัวใจของส้มป่อย ข้าวตอกจึงเป็นร่างทรงของสาวเครือฟ้า ขณะที่ส้มป่อยคืออีลำยอง แต่ในอีกด้าน ตัวของส้มป่อยเองอยู่ในสองสถานะ นั่นคือ ตัวตนดั้งเดิมคืออีลำยอง ที่กำลังจะดัดแปลงตัวเองให้เป็นสาวเครือฟ้าเพื่อซื้อหัวใจหนุ่มกรุงเทพฯ ตามที่ส้มป่อยคิด นั่นหมายถึงว่า เธอไม่เป็นตัวของเอง

ส่วนแวน (ธัชทร ทรัพย์อนันต์) หนุ่มกรุงเทพฯ ผู้เป็นยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวที่เข้ามาภาคเหนือที่เป็นเพื่อจะเก็บภาพ “ความเป็นล้านนา” ซึ่งก็คือนิยามล้านนาในอุดมคติคือ วัดวาอารามอันทรงคุณค่า ธรรมชาติของชนบทอันงดงามไม่ว่าจะเป็นทุ่งนาหรือดงดอย เขาคือคนแปลกหน้าที่เข้ามาพร้อมสะพายกล้อง แวนมีภาพความเป็นล้านนาอยู่ในหัวชุดหนึ่ง ขณะเดียวกัน คนท้องถิ่นก็มีภาพความเป็นกรุงเทพฯ ที่มองเข้ามาที่แวนในอีกชุดหนึ่งเช่นกัน ที่น่าแปลกคือ ไม่ค่อยมีคำค่อนแคะ ค่อนขอดถึงความเป็นกรุงเทพฯ ในหนังเรื่องนี้เลย นั่นอาจหมายถึง ยอมรับความเป็นคนนอกผู้สูงส่งกว่าไปแบบไม่ได้ตั้งใจไปด้วย

ตรงกันข้ามกับแวน ก็คือ แซ้ป ร่างทรงจอมปลอมที่ทำมาหากินจากความเชื่อชาวบ้าน แซ้ปเป็นคนที่ไร้ตัวตน หากไม่ได้เป็นร่างทรง ถ้าเขาไม่ดำรงสถานะนั้น ชาวบ้านไม่มีทางจะฟังเขา กลายเป็นว่า แซ้ปเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการมากที่สุด จากเดิมที่แกนอยู่ที่นางเอก เพื่อนนางเอก ก็ถูกผลักมาโฟกัสอยู่แวน พื้นที่ของเขา บ้านเขา แม้กระทั่งฉากโรแมนติกในรสลาบดิบ ยังทำกินกันที่บ้านของแซ้ปเลย ความลักลั่นของตัวละครนี้คือ แซ้ปในหนัง เป็นหนุ่มตี๋ขาวที่ไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่าเป็นตัวละครที่เป็นภาพตัวแทนของหนุ่มบ้านนอก ต่างจากเวอร์ชั่นแรกที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งในหนังเขาได้เปลี่ยนบทบาทมาเล่นเป็นเพื่อนสนิทของแซ้ปไปเสีย เช่นเดียวกับส้มป่อยที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นดาราระดับนางเอกช่อง 3 

ความเป็นชนบทถูกขับออกมาในภาพของภูเขา ถนนชนบท การเปลี่ยน space จากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง เป็น space ชนบทในอุดมคติ ราวกับว่าหมู่บ้านอยู่ในหุบเขาที่อยู่ไกลแสนไกลความเจริญ เช่นเดียวกับซอยเล็กๆ รั้วไม้ไผ่ ศาลเจ้า บ้านไม้สองชั้นใต้ถุนสูง ซุ้มไก่ชน ร้านยาดอง แต่เราไม่พบพวกร้านขายของชำ ปั๊มหลอด ตลาดสด ส่วนชาวบ้านที่เพียงอุปกรณ์ประกอบฉาก แม้แต่ศิลปินชื่อดังที่ถูกบรรจุเข้ามาอย่างครูแอ๊ด (ผู้ใหญ่บ้าน) เหินฟ้า หน้าเลื่อม (พ่อของแซ้ป) ก็ไม่มีบทบาทสำคัญใดๆ เป็นเพียงตัวละครชายขอบที่ไร้เสียง

แต่ในชนบทแห่งนี้ มิได้เป็นชนบทที่เป็นอิสระ บ้านของพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นตัวแทนของอำนาจรัฐระดับชาวบ้าน สัญลักษณ์ไมค์และลำโพงแสดงให้เห็นถึงอำนาจการส่งข่าวและควบคุมข่าวสารแบบเก่า และเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อผู้คนในหมู่บ้าน 

แม้จะไม่เห็นฉากกรุงเทพฯ เลย แต่ตัววัดอันเป็นภาพตัวแทนอารยธรรมอันเก่าแก่ และตึกแถวก็น่าจะเป็นตัวแทนความเป็นเมืองได้ในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับที่พักของแวน ที่เป็นรอยต่อระหว่างความเป็นเมืองและชนบท หญิงสาวที่เคาน์เตอร์บริการ คือ ภาพล้านนาในอุดมคติที่ผู้หญิงต้องดัดแปลงเรือนร่างตัวเองให้อยู่ในภาพที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับที่พักที่ประดับด้วยไม้สักทอง ลายผ้า และอื่นๆ

อย่างที่กล่าวไปแล้ว แซ้ปกลายเป็นตัวแปรสำคัญจากคนน่ารังเกียจ กลายเป็นคนที่อยู่ในสายตา แซ้ปเป็นเบาะรองรับความเจ็บปวดให้กับส้มป่อยจนในที่สุดเธอก็ใจอ่อน

เมื่อแวนเป็นตัวแทนของความเป็นเมือง/ความเป็นกรุงเทพฯ และแซ้ปเป็นตัวแทนของความเป็นบ้านนอก/ต่างจังหวัดแล้ว การที่ส้มป่อยเลือกแวน จะสามารถลบปมในใจของส้มป่อยได้หรือไม่ เพราะการทะเยอทะยานจะแต่งงานกับคนกรุงนั้น มันมาจากการที่เธอการต้องการยกสถานภาพขึ้นให้เท่าเทียมกับญาติพี่น้อง และที่สำคัญการแต่งออกไปกับคนกรุงเทพฯ คือ การหนีออกไปจากชนบทที่เธออยากจะจากไป

หากลงเอยที่ส้มป่อยแต่งงานกับแซ้ป ก็ไม่แน่ว่าทั้งคู่จะอยู่กันได้ยืนนานแค่ไหน แม้ว่าไลฟ์สไตล์ทั้งคู่จะไปด้วยกันได้ แต่ชีวิตที่ไม่ได้อยู่กันด้วยเพียงความรักอย่างเดียวมันจะออกหัวหรือก้อย 

ในโครงสร้างการเมืองที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และประเทศที่ถูกผูกขาดทางเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่มทุนจำนวนน้อย กับค่าแรงขั้นต่ำที่เตี้ยติดดินไม่พอกับค่าครองชีพ การใช้ชีวิตในชนบทจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

หากสมป่อยท้อง ทั้งคู่อาจจะต้องเข้าไปทำงานที่โรงงานนิคมลำพูน หรือเข้าเมืองใหญ่เพื่อหาเงินมาส่งลูกน้อยที่ฝากให้พ่อแม่ส้มป่อยเลี้ยงหลาน ดังเช่นเดียวกับครอบครัวในชนบทจำนวนมากเผชิญหน้าอยู่ ยกเว้นกรณีของเจ๊แหววที่ได้ผัวฝรั่ง เธออาจสามารถอยู่ในหมู่บ้านได้ ตราบใดที่ยังไม่เดือดร้อนเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะผัวยังซัพพอร์ตได้

ภายใต้ความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมกันของสังคมเมือง-ชนบท และความไม่เป็นธรรมของการกระจายอำนาจและทรัพยากรสู่ท้องถิ่น การโหยหาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ จึงยังเป็นเรื่องที่ยังเล่าขานได้อีกนาน ไม่ต่างกับพล็อตละครโทรทัศน์ของนางเอกผู้ต้อยต่ำที่ได้พบรักกับพระเอกผู้สูงศักดิ์และเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

เมื่อ Gen Y และ Gen Z กลายเป็นผู้บริโภคหลักของโลก ผู้สร้างคอนเทนต์ควรปรับตัวอย่างไร

ข่าวที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากให้กับวงการธุรกิจบันเทิงโลก โดยเฉพาะธุรกิจสตรีมมิ่งในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวไหนโดดเด่นกว่าข่าวยอดรายได้ของ Netflix ที่เกิดจากการแพร่ภาพซีรีส์เกาหลีเรื่อง Squid Game ที่สูงถึง 900 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง เพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ส่งผลให้ Squid Game กลายเป็นซีรีส์ที่มีผู้ติดตามมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของ Netflixhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2021-10-17/squid-game-season-2-series-worth-900-million-to-netflix-so-far

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้อ่าน (รวมถึงผู้เขียน) ไม่ได้รับรู้จากรายงานข่าวของสำนักต่างๆ ก็คือ กลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่ของซีรีส์เรื่องนี้เป็นใครกัน ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงได้ทำการค้นคว้าแล้วพบบทวิเคราะห์ที่ปรากฏในเว็บไซต์ Observer ซึ่งอ้างถึงผลการสำรวจของ Whip Track ว่า ผู้ชมกลุ่มใหญ่ของซีรีส์ชุดนี้ร้อยละ 58.65% มีอายุระหว่าง 18-34 ปีhttps://observer.com/2021/10/netflix-squid-game-viewership-ratings-bridgerton-witcher-stranger-things/ ซึ่งหากพิจารณาตามแนวคิดการแบ่งกลุ่มประชากรตามหลักเศรษฐศาสตร์ ของสำนักวิจัย Pew Research Center กลุ่มคนช่วงอายุดังกล่าว จัดอยู่ในกลุ่ม Generation Y ซึ่งหมายถึงกลุ่มประชากรที่เกิดระหว่างปี 1981 – 1996 ซึ่งปัจจุบัน จะมีอายุระหว่าง 27 ปี ถึง 42 ปีhttps://www.pewresearch.org/fact-tank/2020/04/28/millennials-overtake-baby-boomers-as-americas-largest-generation/ และกลุ่ม Generation Z ที่หมายถึงกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา โดยคนที่มีอายุมากที่สุดมีอายุ 26 ปีhttps://www.pewresearch.org/social-trends/2020/05/14/on-the-cusp-of-adulthood-and-facing-an-uncertain-future-what-we-know-about-gen-z-so-far-2/

คำถามตามมาก็คือ แล้วคนสองกลุ่มนี้ มีความสำคัญอย่างไร…

ในแง่ของประชากรศาสตร์ คนสองกลุ่มนี้โดยเฉพาะ Generation Y กำลังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พิสูจน์ได้จากผลการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกาในปี 2018 ที่ระบุว่า กลุ่มประชากร Generation Y (ซึ่งมีอายุระหว่าง 27-42 ปี) มีจำนวนมากกว่า กลุ่ม Generation Boomer (คนที่เกิดระหว่างปี 1946-1964) ซึ่งแต่เดิมครองตำแหน่งประชากรกลุ่มหลักของอเมริกามาโดยตลอดhttps://www.pewresearch.org/fact-tank/2020/04/28/millennials-overtake-baby-boomers-as-americas-largest-generation/ft_20-04-27_generationsize_1 ขณะที่กลุ่มประชากร Generation Z ซึ่งมีอายุน้อยกว่า 30 ปี แม้จะเพิ่มจำนวนอย่างช้าๆ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นกลุ่มประชากรรองจากกลุ่ม Generation Y ในอนาคต

ส่วนในแง่ของเศรษฐศาสตร์ คนทั้งสองกลุ่มกำลังกลายเป็นบริโภคหลักของโลก โดยเฉพาะ Generation Y ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงวัยทำงาน และได้รับการคาดหมายว่าจะมีกำลังซื้อสูงในอนาคต โดยว่ากันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าประชากรกลุ่มนี้จะใช้จ่ายรวมกันเฉลี่ยราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีhttps://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1251 ส่วนประชากร Gen Z แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีกำลังซื้อมากมายนัก เพราะส่วนใหญ่กำลังอยู่ในวัยเรียนหรือเริ่มต้นทำงาน แต่ในอนาคต เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นจะกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทต่างๆ ถึงให้ความสำคัญกับคนสองกลุ่มนี้ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการและรสนิยมของคนทั้งสองกลุ่ม ไม่เว้นผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงอย่างหนังซีรีส์หรือเพลง

แต่ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นว่า คนในธุรกิจหนังหรือซีรีส์ควรปรับตัวอย่างไรเพื่อเข้าถึงคนกลุ่ม Gen Y และ Z ตามหัวข้อของบทความนี้ ผู้เขียนคิดว่าเราควรมาทำความรู้จักตัวตนของคนสองกลุ่มนี้ว่ามีลักษณะอย่างไร ทั้งในมิติของสังคม การเมือง และวัฒนธรรม

กลุ่มประชากร Gen Y โตมากับภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter

อย่างที่ได้อ้างอิงไว้ข้างต้น กลุ่มประชากร Gen Y ตามหลักประชากรศาสตร์ หมายถึงกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 1981 – 1996 โดยมีบริบททางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่สำคัญ ได้แก่ ความนิยมแพร่หลายของโซเชียลมีเดีย, การเกิดเหตุการณ์ 911, สงครามในอิรัก, ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter, นโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, การทำรัฐประหารปี 2549 ขณะที่ประชากรกลุ่ม Z คือ กลุ่มที่เกิดหลังปี 1996 เป็นต้นมา เติบโตในช่วงเวลาเทคโนโลยีการสื่อสารกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ขณะที่บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่ห่อหุ้มพวกเขา ได้แก่ วิกฤติทางเศรษฐกิจในอเมริกาปี 2008, วิกฤติโรคร้อน, กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับ (Arab Spring), ความนิยมในโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook Instagram หรือ Tiktok รวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หากไม่นับฐานอายุที่มีความแตกต่างกัน กลุ่มประชากร Gen Y และ Gen Z มีความคล้ายคลึงกันในหลายข้อ โดยเฉพาะหลักการใช้ชีวิตที่มีความยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับกรอบ เหมือนคนรุ่นก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันก็ต่อต้านขนบแบบเก่าที่พวกเขามองว่าเข้ากันไม่ได้กับยุคสมัยที่พวกเขากำลังใช้ชีวิต จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรุ่นพวกเขากับคนรุ่นก่อนหน้าอยู่เสมอ นอกจากนี้คนสองกลุ่มนี้ ยังชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านโลกดิจิตอลที่พวกเขาเติบโตมา โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นทั้งแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ ช่องทางการสื่อสาร และศูนย์รวมของความบันเทิงต่างๆ

ในแง่ของสังคม คนทั้งสองรุ่นยอมรับความหลากหลายหลากหลายของเพศสภาพและเชื้อชาติได้มากกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ พิสูจน์ได้จากปรากฏการณ์ทางสังคมหลายอย่างที่ไม่มีวันเกิดขึ้นในยุคก่อนหน้าพวกเขา แต่มาเกิดขึ้นในวันที่พวกเขามีบทบาททางสังคม ตัวอย่างเช่น กฎหมายการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันที่มีผลบังคับใช้ในหลายประเทศ หรือการลดความสำคัญของเพศสภาพผ่านการเพิ่มทางเลือกในการไม่แสดงเอกลักษณ์ทางเพศในการดำเนินชีวิต เช่นการไม่ต้องกรอกนายหรือนางสาวในเอกสาร เป็นต้น

ขณะที่ในแง่การเมือง คนรุ่น Gen Y และ Gen Z เป็นกลุ่มประชากรที่มีส่วนร่วมทางการเมือง (political engagement) ที่โดดเด่นในช่วงทศวรรษที่ 2010 เป็นต้นมา บทบาทสำคัญของพวกเขาสะท้อนผ่านการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน ผ่านการแสดงออกในช่องทางโซเชียล และการรวมกลุ่มทางกายภาพเพื่อแสดงพลัง ตั้งแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพ (กรณีอาหรับสปริงในปี 2011) ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ (กรณี Occupy Wall Street ในปี 2011) ความเท่าเทียมกันทางเพศ (กรณี Me too ในปี 2017) ความเท่าเทียมกันทางด้านเชื้อชาติสีผิว (กรณี Black Lives Matters ในปี 2019) ไปจนถึงภาวะโลกร้อนซึ่งขับเคลื่อนโดยหนุ่มสาวทั่วโลกในช่วงปลายทศวรรษที่ 2010 สำหรับกรณีของประเทศไทย การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญของคนสองรุ่นนี้ ได้แก่ การชุมนุมทางการเมืองของคนหนุ่มสาวที่ดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงปัจจุบัน

จากคุณลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น ทำเห็นได้ว่า กลุ่มคนรุ่น Gen Y และ Gen Z มีทัศนคติ รสนิยม รวมถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีลักษณะแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ด้วยความที่คนทั้งสองกลุ่มมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า คนสองกลุ่มนี้เปรียบเสมือนคนกลุ่มเดียวกันที่แตกต่างเพียงแค่ฐานอายุเท่านั้น ดังนั้น การที่ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ จึงต้องไม่ทำเพียงแค่ ทำความเข้าใจคนสองกลุ่มนี้ว่าพวกเขามีลักษณะอย่างไรเท่านั้น แต่ยังต้องปรับตัวและทัศนคติให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขาอีกด้วย สำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์อย่างภาพยนตร์หรือซีรีส์ สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการผลิตคอนเทนต์เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนทั้งสองรุ่นนี้ ประกอบด้วย

1. การเลือกเนื้อหาที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่คนทั้งสองรุ่นมีส่วนร่วม ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ คนทั้งสองเจนเนอเรชั่นมีความเกี่ยวข้อง (engagement) กับความเป็นไปทางสังคมและการเมืองสูง ไม่ว่าจะผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยการเสนอความเห็นบนพื้นที่ส่วนตัว หรือการออกมาร่วมผลักดันโดยการเดินขบวนประท้วงแสดงพลัง และยิ่งโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว พรมแดนทางกายภาพที่กั้นประเทศต่างๆ ได้ถูกทำลายลง ส่งผลให้ปรากฎการณ์ทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของโลก ย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนถึงอีกซีกหนึ่งของโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว

หากพิจารณาเฉพาะแค่ในรอบสิบปี (ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน) ที่คนทั้งสองรุ่นมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมและการเมืองจนกลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญ จะพบว่าประเด็นทางสังคมที่พวกเขาพยายามผลักดันเรียกร้องประกอบด้วย 1) ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่าและใหม่ ซึ่งสะท้อนผ่านการปะทะกันทางความคิดระหว่างคนรุ่นพวกเขากับคนรุ่นก่อนหน้านี้ 2) ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเพศสภาพ และสังคมที่พวกเขาใช้ชีวิต 3) ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเริ่มต้นมาจากกรณีอาหรับสปริงเรื่อยมาจนถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงและไทย 4) ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พวกเขามองว่า เกิดขึ้นจากความไม่รับผิดชอบของคนรุ่นก่อนหน้า แต่พวกเขาต้องรับผลกระทบตามมา

ดังนั้นหากผู้สร้างภาพยนตร์ หรือซีรีส์เลือกประเด็นเหล่านี้มาปรับเข้ากับเนื้อหาของภาพยนตร์ โอกาสที่จะสร้าง “ความรู้สึกมีส่วนร่วม” กับกลุ่มผู้ชมเป้าหมายก็มีสูง และหากนำเสนอด้วยกระบวนการเล่าเรื่องที่น่าสนใจโอกาสที่ภาพยนตร์ หรือซีรีส์เรื่องนั้นๆ จะประสบความสำเร็จก็มีสูงตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น ซีรีส์เรื่อง Squid Game ที่สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเกาหลีผ่านการเล่นเกมที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน และซีรีส์เรื่อง เด็กใหม่ ที่นำเสนอปัญหาช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และปัญหาการบูลลี่เป็นต้น

2. การนำเสนอเนื้อหาไม่ยึดติดกับขนบแบบเดิม ลักษณะที่เด่นอีกประการหนึ่งของคน Gen Y และ Gen Z คือการปฏิเสธ (หรือจะเรียกว่าต่อต้าน) ขนบธรรมเนียม หรือค่านิยมเดิมที่พวกเขามองว่าล้าสมัยและเข้ากันไม่ได้กับยุคสมัยที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ หากภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ยังคงนำเสนอเนื้อหาแบบเดิมหรือตอกย้ำค่านิยมเดิมที่คนทั้งสองรุ่นต่อต้าน โอกาสที่จะได้รับการยอมรับก็มีน้อย ตรงกันข้าม หากผู้สร้างนำเสนอเนื้อหาที่สะท้อนค่านิยมที่ร่วมสมัย สอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่คนทั้งสองกลุ่มมีส่วนร่วม ก็จะยิ่งทำให้คอนเทนต์นั้นเข้าถึงกลุ่มผู้ชมเป้าหมายได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธขนบเดิมไม่ได้หมายความว่าต้องปฏิเสธ “เนื้อหาเดิม” ที่นำเสนอขนบเดิมๆ หรือค่านิยมเหล่านั้นไปด้วย เพียงแต่ผู้สร้างอาจต้องกล้าที่จะตีความใหม่ในเชิงวิพากษ์ หรือนำเสนอมุมมองใหม่ภายใต้กรอบเดิมของวรรณกรรมหรือคอนเทนต์ที่เคยถูกสร้าง ตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ ละครเรื่อง วันทอง ที่นำเอาวรรณคดีคลาสสิกของไทยเรื่อง “ขุนแผน” มาเล่าใหม่ โดยเปลี่ยนมุมมองการเล่ามาอยู่ที่นางวันทองแทนที่จะเป็นขุนแผนในแบบเดิมๆ และนำเสนอตัวละครวันทองในเชิงเห็นอกเห็นใจแทนที่จะตอกย้ำค่านิยมแบบปิตาธิปไตยผ่านมุมมองของขุนแผนอย่างที่คุ้นเคยกัน ซึ่งเมื่อละครเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีโดยจากการสำรวจของบริษัทวิจัยนีลเซ่น ละครเรื่องนี้ซึ่งออกฉายระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง 20 เมษายน 2564 ทำเรตติ้งโดยเฉลี่ย 3.541 และช่วงอายุผู้ชมโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 35-39 ปี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประชากรกลุ่ม Yhttps://www.tvdigitalwatch.com/wanthaong-20-4-64/ หรือ ซีรีส์เรื่อง Bridgerton ที่ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ ผู้สร้างเลือกฉากหลังของเรื่องเป็นสังคมชั้นสูงอังกฤษในยุครีเจนซี จากนั้นได้รื้อสร้างภาพจำเดิมๆ ของสังคมยุคนั้น ที่คนผิวขาวคือสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงภายใต้ความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ด้วยการเพิ่มตัวละครผิวดำลงไป และนำประเด็นเรื่องเพศมาสอดแทรกในลักษณะยั่วล้อแนวคิดอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้ทันทีที่ซีรีส์ชุดนี้ออกฉายก็ได้รับความนิยมทันที จนกลายเป็นซีรีส์ที่มียอดผู้ชมมากที่สุดของเนทฟลิกซ์ด้วยจำนวนผู้ชม 83 ล้านคนhttps://deadline.com/2021/01/bridgerton-netflix-viewership-record-biggest-series-ever-1234681242/ (ก่อนที่ต่อมาจะถูกทำลายลงด้วยซีรีส์ Squid Game)

3. การเล่าเรื่องที่น่าติดตามและเทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจ ด้วยความที่โลกโซเชียลมีเนื้อหามากมายที่สามารถดึงความสนใจของของคนทั้งสองกลุ่มได้ตลอดเวลา ดังนั้นการที่จะรั้งให้ผู้ชมทั้งสองกลุ่มนี้จดจ่ออยู่กับเนื้อหาของภาพยนตร์หรือซีรีส์ได้อย่างต่อเนื่อง วิธีการนำเสนอซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงวิธีการเล่าเรื่องและเทคนิคทางด้านภาพและเสียงที่มีความน่าสนใจ คาดเดาไม่ได้ และเกิดขอบเขตความคาดหวังของผู้ชม จึงถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญ

หากผู้ผลิตประสบความสำเร็จในการตรึงผู้ชมให้จดจ่ออยู่กับคอนเทนต์ได้ตลอดทั้งเรื่อง กระแสความนิยมต่อคอนเทนต์นั้นจะถูกขยายต่ออย่างต่อเนื่องโดยมีช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นตัวกลาง และยิ่งตัวคอนเทนต์ถูกพูดถึงมากเท่าใด ความนิยมก็จะยิ่งถูกส่งต่อยาวขึ้นเท่านั้น อย่างเช่นกรณีของภาพยนตร์เรื่อง Parasite ของผู้กำกับบองจุนโฮ ที่มีวิธีการเล่าเรื่อพลิกแพลงตลอดเวลา จนผู้ชมไม่สามารถคาดเดาทิศทางของเรื่องได้ โดยอาศัยเทคนิคการนำเสนอทางด้านภาพและเสียงในการสร้างความน่าจดจำ จนทำให้ตัวภาพยนตร์ยังคงถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป โลกในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่มีวันหวนกลับทั้งเรื่องเทคโนโลยี วัฒนธรรม การใช้ชีวิตและรสนิยม ไม่ว่าเราจะยอมรับได้หรือไม่ก็ตาม แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คน Gen Y และ Gen Z (รวมถึง Gen ถัดมา) กำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนของสังคมที่คนรุ่นอื่นๆ ก่อนหน้าต้องอยู่ร่วมไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย ดังนั้น สำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์ สิ่งที่พวกเขาตระหนักเป็นสำคัญก็คือ ทางเดียวที่จะทำให้ผลงานได้รับการยอมรับจากคนสองกลุ่มนี้ คือการนำเสนอเรื่องราวที่พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ด้วยมุมมองเดียวกันกับที่พวกเขามองโลก

MIDNIGHT CINEMA 07 : ร่างทรง – สิ่งเก่าที่กำลังจะตาย สิ่งใหม่ที่ไม่ได้เกิด

0

บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

ทีมงานสารคดีกำลังติดตามประเด็นเรื่องของร่างทรง หนึ่งในบรรดาร่างทรงที่เป็นซับเจกต์ของทีมงานคือป้านิ่ม ช่างเย็บผ้าที่อาศัยในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน ที่เป็นรุ่นที่สามของร่างทรงของย่าบาหยัน ผีบรรพบุรุษที่คอยปกปักรักษาคนในหมู่บ้าน ใครเจ็บไข้ได้ป่วยหมดทางเยียวยาก็มาหาคนทรงย่า ตัวรูปเคารพของย่าอยู่ในป่าลึกเป็นเทวรูปหินที่บนเขา ทุกปีมีพิธีบวงสรวงยิ่งใหญ่ 

อันที่จริงคนที่ต้องสืบทอดตำแหน่งของย่าบาหยันคือน้อยพี่สาวของนิ่ม แต่น้อยปฏิเสธไม่ยอมรับย่า ถึงขนาดเปลี่ยนศาสนาไปรับคริสต์ แล้วแต่งไปกับคนในตระกูลยะสันเทียะลูกหลานโรงงานปั่นด้าย ตระกูลที่บรรดาผู้ชายจะต้องตายก่อนวัยอันควร พวกเขามีลูกชายที่ตายไปแล้วและลูกสาวอีกหนึ่งคนชื่อมิ้ง ทำงานในสำนักงานจัดหางานในตัวเมือง

วันหนึ่งวิโรจน์พ่อของมิ้ง และพี่เขยของนิ่มเสียชีวิตลง นิ่มและทีมงานเดินทางไปงานศพ และพบว่ามีอาการแปลกๆ เกิดขึ้นกับมิ้งที่จู่ๆ ก็เกรี้ยวกราดควบคุมตัวเองไม่ได้ บางครั้งก็กลายเป็นเด็ก มิ้งเริ่มป่วยไข้ ปวดหัว ปวดท้องรุนแรง ประจำเดือนมาไม่หยุดหย่อน อาการคล้ายกับที่นิ่มเคยเป็นราวกับว่าย่าบาหยันจะคัดเลือกมิ้งเป็นตัวแทนคนต่อไป นิ่มเฝ้าดูเหตุการณ์อย่างระแวดระวังขณะที่ทีมงานสารคดีคิดว่านี่คือโอกาสทองในการจ้องมองการเปลี่ยนผ่านของร่างทรง และการบันทึกช่วงเวลานี้เอาไว้จะส่งผลต่อตัวสารคดี พวกเขาจึงแบ่งทีมกันตามทั้งป้านิ่มที่ดูเหมือนแปลกแยกจากครอบครัว ป้าน้อยกับมิ้งลูกสาว และลุงมานิตกับเมียและลูกเล็ก พี่ชายคนโตของตระกูล ยิ่งตามก็ยิ่งเจอเรื่องแปลกประหลาด และในที่สุดก็นำไปสู่ความสยดสยอง

หนังไม่ได้มาในฐานะของหนังเล่าเรื่องทั่วไป หากหนังมาในฐานะของสารคดีเทียมซึ่งกลายเป็นวิธีการที่ทั้งขยายอาณาเขตสำรวจตรวจสอบและเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง สารคดีเทียมหมายถึงภาพยนตร์เล่าเรื่องที่ทำตัวเหมือนสารคดี หากเราเชื่อว่าสารคดีบันทึกความจริง ภาพยนตร์สารคดีเทียมก็พยายามใช้เทคนิคแบบสารคดีในการทำให้เรื่องเล่านั้นจริง ตั้งแต่การพยายามทำให้เห็นกล้องสั่นไหว ตามถ่ายสัมภาษณ์แบบไม่จัดแสงจัดไฟ ใช้ภาพที่มีคุณภาพน้อย หรือใช้เทคนิคแบบ found footage ราวกับว่าเป็นภาพที่บังเอิญบันทึกได้ สารคดีเทียมเป็นหนึ่งในสายตระกูลยอดนิยมของหนังสยองขวัญสมัยใหม่หลังจากกล้องมีราคาถูกลงและทุกคนเข้าถึงกล้องได้ หนังในตระกูลนี้เขย่าขวัญผู้คนด้วยการทำให้เชื่อว่ามีสิ่งลี้ลับซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในฉากหลังของภาพที่บังเอิญถ่ายเล่นด้วยจุดประสงค์หนึ่งแล้วถ่ายติดอีกภาพหนึ่งมาด้วย นิยมใช้ภาพ (เหมือน) กล้องวงจรปิด จากโฮมวิดีโอ สิ่งสำคัญของหนังสายตระกูลนี้คือการ ‘กลับไปดูอีกครั้ง’ เพื่อให้เห็นรายละเอียดที่มองข้ามไป เห็นความผิดปกติในความปกติ 

และด้วยสายตาของการกลับไปดูอีกครั้ง นี่เองที่ทำให้หนังมี ‘ผู้เล่า’ มีเจ้าของสายตา ในหนังเล่าเรื่อง สายตาของผู้ชมคือการดูผ่านสายตาของพระเจ้าที่ไม่มีตัวตน ผู้ชมคือนักถ้ำมองที่ผู้ถูกมองไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกถ้ำมองอยู่ แต่ในกรณีของสารคดีนั้นต่างไป เพราะผู้ถูกถ่ายรู้ตัวตลอดเวลาว่าถูกถ่ายอยู่ ระแวดระวังตัวว่าถูกมอง สายตาของสารคดีจึงเป็นสายตาที่มีตัวตนไม่ใช่สายตาของพระเจ้า

แต่สารคดีไม่ใช่ found footage ในหนัง found footage สิ่งสำคัญคือทำให้เหมือนว่าไม่มีการตัดต่อ เป็นเพียงฟุตเตจดิบๆ ที่ถูกค้นพบและมีความชั่วร้ายในตัวของภาพเองโดยไม่ต้องอาศัยเทคนิคทางภาพยนตร์ อาจจะมีเพียง text ตอนขึ้นเรื่องว่าเป็นวิดีโอที่พบที่ไหนอะไรอย่างไร จากนั้นภาพที่เหลือควรจะเป็นภาพที่มาจากแหล่งกำเนิดที่มีที่มา กล้องของคนถ่าย กล้องวงจรปิดของสถานที่ กล้องหน้ารถของคนที่บังเอิญผ่านมา แต่สารคดีเทียมเปิดโอกาสมากกว่านั้นนิดหน่อย เพราะมันคือการประกอบสร้างจากฟุตเตจดิบเหล่านั้นซ้ำ และสารคดีเทียมเรื่องนี้มีดวงตาสองชั้น คือดวงตาของคนถ่ายที่ทุกคนไม่อยู่รอดมาตัด และสายตาของคนที่เอาฟุตเตจที่ได้มาตัดต่อเรียบเรียง สร้างเรื่อง ‘กลับไปดูใหม่’ และชี้จุดผิดปกติออกมา

ปัญหาหนึ่งของหนังคือการล้อเล่นระหว่างเรื่องเล่ากับความจริงด้วยสายตาสารคดี แม้ว่าสารคดีจะเปิดโอกาสให้มีการตัดต่อ เสริมแต่งได้เต็มที่ แต่ความพยายามไต่เส้นหรือการกระโดดข้ามไปข้ามมาอย่างท้าทายของหนังก็ทำให้หนังติดกับดักความจริงของตัวเองได้ เพราะเมื่อหนังพยายามทำให้ผู้ชมรับรู้มันในฐานะเรื่องจริง หากทันทีที่หนังใช้เทคนิคการเร้าอารมณ์แบบภาพยนตร์ การโคลสอัพ ตัดรับ การมีกล้องมากกว่าที่ควรมีในข้อตกลงตั้งต้น ผู้ชมก็รู้สึกถูกหลอก ถอยออกมาจากหนัง สำหรับหนังเล่าเรื่อง ความไม่จริงคือการรับรู้โลกที่มีข้อตกลงร่วมกันว่าไม่จริง แต่ในสารคดีข้อตกลงเบื้องต้นคือความจริงและในทันทีที่หนังละเมิดความจริง มันก็กลายเป็นการโกหกซึ่งหน้า ทำให้ผู้ชมบางส่วนถอยออกไปจากหนัง อย่างไรก็ดีในอีกทางหนึ่งกระบวนการเช่นนี้ไม่ได้เพียงเกิดขึ้นในหนังสารคดีเทียมเพราะในสารคดีจำนวนมาก ก็มีการไต่เส้นเช่นนี้จนทุกอย่างเลือนเข้าหากัน บางครั้งสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาสวมทับไปเลยก็มี ภาพยนตร์อย่าง Man Bites Dog (1982, Rémy Belvaux/André Bonzel/Benoît Poelvoorde) สารคดีเทียมตามถ่ายฆาตกรโรคจิตไล่ฆ่าคนก็ทำขึ้นมาใหม่ หรือ 24 City (2008, Jia Zhangke) ที่เอาดารามาเล่นเป็นคนงานแทรกเข้าไปในสารคดีโรงงานเหล็กมันเสียดื้อๆ อย่างนั้น หรือกระทั่ง Paper Cannot Wrap Up The Embers (2007, Rithy Pahn) จากกัมพูชาที่เอาอดีตโสเภณีในพนมเปญกลับมารับบทเป็นตัวเองในสเปซเดิมคืออาคารทรุดโทรมที่พวกเธอเคยมีชีวิตอยู่

เรื่องน่าตื่นเต้นคือเมื่อหนังดำเนินไปเรายิ่งพบว่าสายตาของหนังเป็นสายตาที่ละเมิดผู้ถูกถ่ายอย่างหน้าตาเฉย แม้สายตากระหายฟุตเตจอาจจะมาจากผู้กำกับหนังเรื่องนี้มากกว่าความกระหายฟุตเตจของทีมงาน แต่สายตาไร้จริยธรรมที่ลอดไล้เข้าไปถึงในอาณาเขตส่วนตัวอย่างห้องน้ำหญิง หรือการแอบตั้งกล้องวงจรปิดในบ้าน หากเมื่อหนังมีการปรากฏตัวของคนทำ ก็เท่ากับว่าสายตาของกล้องไมใช่สายตาของพระเจ้าอีกต่อไปแต่เป็นสายตาของตัวละครหนึ่ง (ที่อาจปรากฏหรือไม่ปรากฏหน้ากล้องก็ได้) ที่มีชุดจริยธรรมและการละเมิดเป็นของตนเอง ละเมิดเพราะรู้สึกว่าตัวเองละเมิดได้ในฐานะของการทำสารคดีเพื่อเปิดเผยความจริงให้สังคมได้รับรู้ ละเมิดในฐานะของการตั้งตนเป็นผู้ช่วยให้รอดด้วยการเอาฟุตเตจไปให้ป้านิ่มดู หรือแอบติดกล้องวงจรปิดในบ้าน สร้างความชอบธรรมให้การกระทำของตนเองผ่านทางการใช้เป็นหลักฐานยืนยันการถูกผีเข้าของมิ้ง

สายตาของกล้องจึงมีฐานะคล้ายๆ สายตาคนกรุงเทพที่เข้าไปสอดส่องดินแดนลึกลับเอกโซติคถือผี ทั้งเพื่อพิสูจน์ความเชื่อ และช่วยให้คลายข้อสงสัย สายตาที่เหยียดความเชื่อถือผีโดยไม่ได้ตั้งใจ สายตาที่กระหายใคร่รู้ในทุกมิติ สายตาที่มีอำนาจเหนือกว่ากลายเป็นสายตาเดียวกันกับที่ผู้ชมใช้มอง เปลี่ยนจากนักถ้ำมองเป็นจอมเสือก เพื่อติดตามเหตุการณ์ และไม่ยอมหยุดมองแม้จะต้องแลกด้วยชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในตอนท้ายของหนังเรื่องนี้ (และของสารคดีเทียม / found footage จำนวนมาก) คือการยกกล้องถ่ายแบบไม่เสียดายชีวิต 

อย่างไรก็ดี หนังมีฉากที่ตัวละครใช้กล้องเป็นอาวุธ ทั้งในความหมายตามจริงคือคว้าเอากล้องมาทุบตีมารดาของตน กล้องเปลี่ยนจากสิ่งไม่มีตัวตน (ในการดูหนังสิ่งเดียวที่เรามองไม่เห็นคือกล้อง) มาแสดงให้เห็นถึงพิษร้ายของมัน ทั้งในฐานะอาวุธจริงๆ และในฐานะของการบันทึกบาดแผลภายในครอบครัว ขณะเดียวกันฉากที่สำคัญที่สุดในส่วนนี้คือการที่กล้องถูกเปลี่ยนมือ ในฉากที่ตัวคนทำสารคดีถูกลากไส้ (ตามความหมายจริง) แทนที่เขาจะหนีตายเขายกกล้องขึ้นถ่าย (เราอาจแก้ตัวว่าเพราะกล้องเป็นแหล่งกำเนิดแสง Night shot เป็นทางเดียวที่เขาจะเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัว) แต่ในฉากนี้ มิ้งในฐานะของปีศาจปรากฏกายขึ้นและ ‘ขอถ่ายบ้างนะ’ แม้ที่จริงจะเป็นการจงใจสร้างความสยดสยองมากกว่า แต่การเปลี่ยนมือคนถือกล้องพร้อมกับคำพูดว่า ขอเป็นคนถ่ายบ้างนะ ก็เป็นการเอาคืนสายตาที่ละเมิดและเชื่อว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะละเมิดที่คนทำทำกับเธอมาตลอด กล้องกลายเป็นอาวุธของการจ้องกลับ การใช้มันเอาคืนอำนาจที่กดทับด้วยการจ้องมองความตายของอำนาจนั้น 

กระนั้นก็ตามปัญหาสำคัญของการมีสายตาของกล้องคือหนังลักลั่นอยู่ระหว่างการเปลี่ยนกล้องเป็นตัวละครกับให้กล้องเป็นสายตาของพระเจ้า หนังจำเป็นต้องให้ทีมงานเข้าไปในจอเพื่อให้ผู้ชมรับรู้การมีตัวตน แต่พวกเขามีตัวตนโดยหนังไม่ให้พวกเขามีตัวตน พวกเขาถูกกีดกันให้เป็นผู้จ้องมองที่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา พวกเขามีดวงตาแต่ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง การถูกกีดกันทำให้ราตั้งคำถามกับหนังว่า คนถ่ายในหนังเรื่องนี้ไม่มีชีวิตเพราะไม่อยากก้าวก่าย เพราะกระหายฟุตเตจหรือเพราะหนังไม่ต้องการให้พวกเขามีชีวิตจิตใจกันแน่

ทันทีที่เรามองเห็นสายตาแบบกรุงเทพที่เล้าโลม รุกไล่ ตื่นใจ และกดทับความเอกโซติคของบ้านนอก หนังก็นำไปสู่ปัญหาที่สองคือความเป็นอีสานของหนัง ทั้งสำเนียงพูดที่มากันคนละทิศละทาง ไปจนถึงการที่อีสานในหนังดูจะกลายเป็นดินแดนในจินตนาการที่คล้ายอีสานมากกว่าอีสานที่เห็นและเป็นอยู่ อย่างไรก็ดี ความเป็นอีสานก็ไม่ได้เป็นสิ่งตายตัวเนือยนิ่ง จินตนาการถึงอีสานของผู้ชม และจินตนาการของอีสานของผู้สร้าง อาจทั้งเป็นและไม่เป็นภาพแทนของอีสาน ซึ่งมีทั้งคนที่พูดลาว ไม่พูดลาว พูดลาวในสำเนียงที่แตกต่างกันไป ซึ่งนั่นทำให้หนังน่าสนใจไปอีก แต่ทุกสิ่งก็เป็นเพียงภาพแทนที่ไม่จำเป็นต้องตายตัว สายตาของฟุตเตจในที่สุดกลายเป็นสายตาของคนนอกที่มองกลับเข้าไปในชุมชนปิด จากนั้นแยกเดี่ยวครอบครัวครอบครัวเดียวให้เป็นภาพแทนชีวิตของร่างทรงในชุมชนนั้น และการที่หนังบอกว่าตามคนทรงทั้งประเทศแต่โฟกัสป้านิ่มยิ่งทำให้ป้านิ่มกลายเป็นภาพแทนของร่างทรงจากทั้งประเทศไปอีกชั้นหนึ่ง 

ในกรณีของย่าบาหยันซึ่งทั้งชื่อ หรือวิธีการสักการะหรือการดำรงคงอยู่ ดูเหมือนเป็นผีในจินตนาการมากกว่าจะเชื่อมโยงกับผีจริงๆ ในพื้นถิ่นอีสาน นัยว่าทางหนึ่งคือการพยายามไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องที่อาจจะไปท้าทายความรู้สึกของชาวบ้านจริงๆ ตามมาด้วยพิธีกรรมปลอมๆ ที่เต็มไปด้วยความขึงขังของการขึ้นเขาไปรำสักการะจึงตัดข้ามกับประเพณีผีฟ้าที่จัดกันในหมู่บ้านอย่างที่ถูกนำมาใช้ใน มิวสิกวีดีโอ ‘ฮักพอกำก่า’ ของฐา ขนิษ ที่พูดถึงหญิงสาวที่พยายามรักษาความบริสุทธิ์ จนชายคนรักไปผิดผีกับหญิงอื่นจนท้อง และเธอตัดสินใจรับขันธ์เป็นผีฟ้าตามสายเลือดของบรรพบุรุษ ตัวมิวสิกวีดีโอ ถ่ายทอดพิธีกรรมไหว้ผีไปจนถึงรับขันธ์ต่างๆ ออกมาโดยไม่ให้ข้อมูลกับคนนอกพื้นที่ (สามารถอ่านรายละเอียดของพิธีกรรมแต่ละพิธีได้ในคอมเมนต์ใน youtube ของคุณ CHPU ซึ่งเป็นผู้ชมที่เป็นคนในพื้นที่)

ในมิวสิกวีดีโอ เราจะเห็นได้ว่าพิธีกรรมถือผีเป็นพิธีกรรมร่วมของชุมชน ไม่ใช่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งแบบสำนักทรงในตัวเมือง พิธีสามารถเกิดได้ทั้งในใต้ถุนบ้าน บนบ้านที่ในไร่นา พิธีกรรม ความเคารพ ผูกโยงอยู่กับชุมชนโดยแยกขาดไม่ได้ นำมาซึ่งปัญหาหลักอีกอย่างของหนังคือการที่หนังแยกบรรดาตัวละครออกจากชุมชนที่เขาอยู่อาศัย หนังแทบไม่มีคนอื่นนอกจากคนในครอบครัว ไม่มีมาตรการทางสังคมมาจัดการปัญหาของมิ้ง หรือช่วยเหลืออะไรป้านิ่ม ราวกับตัวละครอยู่ในบ้านกลางป่า การแยกขาดตัวละครออกจากคนอื่น อาจส่งผลดีทางเทคนิคของภาพยนตร์สยองขวัญ แต่นั่นทำให้หนังเรื่องนี้ กลายเป็นสายตาจากส่วนกลาง ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่กรุงเทพ แต่หมายถึงภาพสากลของภาพยนตร์สยองขวัญที่มีแม่แบบเป็นฮอลลีวู้ด ญี่ปุ่น กระทั่งเกาหลีใต้เจ้าของทุนและคนคิดพล็อตต้นเรื่อง เป็นสายตาที่ไม่มี ‘ชาวบ้าน’ มีแต่ตัวละครหลักที่ต้องดิ้นรนแก้ปัญหากันเอาเอง

การปราศจากตัวตนของ ‘ชาวบ้าน’ และ ‘คนถ่ายสารคดี’ ทำให้หนังกลายเป็นเพียงโครงเรื่องที่ลอยคว้างรอการเอาอีสาน กรุงเทพ หรือเกาหลี มาครอบลงไปตามสลักที่วางไว้ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ ‘แฝด’) โครงสร้างทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับหนังเรื่องนี้ แต่มันมักเป็นปัญหาร่วมของการพยายามกลับไปหาพื้นถิ่นของส่วนกลางด้วยการพยายามทำให้เป็นสากล เช่นเดียวกับหนังที่ตัวละครกรุงเทพแกล้งพูดเหนือ อีสานปลอมๆ เพื่อเอาตลก เช่นเดียวกับบรรดาเพลงร๊อค เพลงป๊อบที่เชิญศิลปินลูกทุ่งพื้นถิ่นมา featuring โครงสร้างของมันทำให้สิ่งที่มันหยิบมาใช้เป็นเพียงเรือนร่างเปลือยเปล่าที่เอาจิตวิญญาณแบบส่วนกลาง/สากล เข้าไปครอบงำ/เข้าทรง ตรงกันข้ามกับงานจากพื้นถิ่น ที่พยายามล้อเล่นกับส่วนกลาง งานแบบไทบ้านเดอะซีรีส์ หรือบรรดาเพลงไทบ้านอินดี้ที่ทำให้อีสานมีอำนาจนำเหนือส่วนกลางไปเสียแทน เป็นจิตวิญญาณของตนเอง ที่เข้าทรงในเรือนร่างของเพลงป๊อบหรือหนังโรแมนติคคอเมดี้

ร่างทรงจึงไม่ได้มีความหมายแค่ร่างของป้านิ่ม ผีของย่าบาหยัน แต่หมายถึงการแยกระหว่างร่างกาย/รูปเคารพ กับสิ่งที่สิงสู่อยู่

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงที่ไม่ระบุชัดเจน (แต่ถ่ายทำส่วนนี้ในจังหวัดเลย) หนังพาผู้ชมกลับไปหาความเชื่อถือผีแบบบรรพกาลที่ยังดำรงคงอยู่แม้ศาสนาพุทธจะเผยแผ่ไปอย่างไพศาลตลอดภูมิภาค แนบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความเชื่อถือผีแบบโบราณอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ ฉากเปิดของหนังอธิบายสิ่งนี้อย่างละเอียดด้วยภาพ insert เสียงสัมภาษณ์ที่ว่าด้วยความเชื่อเรื่องของการมีผีสถิตอยู่ในทุกที่ ไร่นาป่าเขา สิงสาราสัตว์ หนังฉายภาพรูปเคารพมากมายในทุกที่จนเป็นรูปที่มีทุกหนแห่ง ปลัดขิก นางกวัก เสื้อแดงแขวนหน้าบ้าน ศาลตายาย ขวดน้ำแดง รูปปั้นพญานาค ราวกับว่านี่คือหมู่บ้านที่ผู้คนอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับผีและเทพเจ้า ผ่านทางการสักการะ กราบไหว้ ในสังคมนี้ผีเป็นทั้งสิ่งที่รับรู้และไม่รับรู้กันอยู่แล้ว ตลอดทั้งเรื่องหนังแทบจะโฟกัสไปยังรูปเคารพเหล่านี้ ปลัดขิก และตุ๊กตาบนหิ้งในผับ รูปปั้นพระเยซูตรึงกางเขนปากทางเข้าหมู่บ้านสักแห่ง พระพุทธรูปขนาดยักษ์ในวัด ไปจนถึงรูปปั้นพญานาคในร้านคาราโอเกะ และแน่นอน รูปเคารพแห่งย่าบาหยันที่อยู่ลึกในโตรกผา ต้องขึ้นเขาไปสักการะ 

ในเบื้องต้นดูเหมือนแกนของหนัง (และของคนทำสารคดี) จะอยู่ที่ปัญหาการรับสืบทอดตำแหน่งของการเป็นร่างทรง ย่าบาหยันที่ส่งต่อกันทางสายเลือดของบรรดาผู้หญิงในตระกูล เราอาจพูดในอีกทางหนึ่งว่า พวกเธอกลายเป็นภาชนะกลวงเปล่าชนิดหนึ่งที่รอว่า ย่าบาหยันจะเติมตัวเองลงที่ใคร การเป็นภาชนะว่างเปล่าคือการเป็นเช่นเดียวกับรูปเคารพมากมายที่กระจัดกระจายไปทั่ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าคนอย่างน้อย นิ่ม มิ้ง เป็นเพียงเรือนร่างที่ไร้วิญญาณของตนเอง เป็น ‘ร่าง’ ที่รอการทรง เป็นรถที่เสียบกุญแจคาไว้ คือพรหมลิขิต คือสิ่งที่กำหนดไว้แล้ว

พิจารณาในแง่นี่ ย่าบาหยันที่มองไม่เห็นก็คล้ายกันกับอุดมการณ์ชุดหนึ่งที่ถูกส่งต่อกันมาจากบรรพบุรุษ สิ่งที่มีอยู่มาก่อนเราเกิดและมีอำนาจกำหนดความรู้สึกนึกคิด กำหนดผิดชอบชั่วดี วิธีที่เราจะปฏิบัติ กำหนดกระทั่งความเจ็บป่วยและร่างกายของเรา เราต้องอุทิศชีวิตเพื่ออุดมการณ์ชนิดนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงผี แต่อาจเป็นสมมติเทพองค์อื่น อุดมการณ์อื่นๆ ตั้งแต่ศาสนา ชาตินิยม สถาบันนิยม เรารับสืบต่อมาและส่งผ่านให้ลูกหลานต่อไปโดยไม่ขัดขืน ไม่อาจคิดสงสัย ไม่อาจต่อต้าน เราต้องปฏิบัติตัวให้ดีเพื่อให้คู่ควรกับอุดมการณ์ที่เรารับใช้ และเรามีศัตรูคือสิ่งที่อยู่นอกอุดมการณ์ของเรา ผีที่เรามองไม่เห็น ในเมื่อย่าบาหยันเป็นผีชนิดหนึ่ง ก็ใช่หรือไม่ที่ในที่สุดเทพเจ้ากับผีก็คือสิ่งเดียวกัน ชุดของอุดมการณ์ที่มีคุณค่าแตกต่างกันแต่เท่าเทียมกันในแนวระนาบ

มองในแง่นี้ การดิ้นรนของน้อยในการไปพ้นจากการเป็นร่างทรงของย่าบาหยัน จึงเป็นการขัดขืนต่ออุดมการณ์ที่ขัดแย้งกับความเป็นปัจเจกชนของเธอ การเปลี่ยนศาสนาของน้อยไม่ได้มาจากศรัทธาในศาสนาใหม่แต่มาจากความเชื่อเรื่องผีด้วยการต่อต้านความเชื่อของเรื่องผีนั้นเอง การเอาตัวรอดด้วยการพยายามหลอกผีย่าบาหยันกลายเป็นการเรื่องของวิธีที่ผิดนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ผิด ในขณะที่ป้านิ่มในฐานะของผู้รับเอาอุดมการณ์มาเป็นของตัวผ่านทางการยอมจำนน ก็พบว่าถึงที่สุดย่าบาหยันช่วยลูกหลานของเธอได้มากเท่าที่เธอคิด หนำซ้ำโครงสร้างของการเชื่อในเรื่องนี้กลับยิ่งทำให้มิ้งตกที่นั่งลำบากอีกทอดหนึ่ง 

ถึงที่สุดการเฉลยของหนังอาจจะคลุมเครือแต่การบอกเป็นนัยว่า ผีที่มาเข้าทรงร่างของมิ้งเป็นมวลของความอาฆาตพยาบาทที่ต้นตระกูลฝั่งพ่อกระทำต่อผู้คนและสิงสาราสัตว์ ประเด็นนี้ทำให้นึกถึงการวิเคราะห์หนังผีไทยหลายๆ เรื่องในฐานะของ แฟนตาซีของผู้ถูกกดขี่ ผีผู้หญิงที่กลับมาทวงแค้นคนที่ฆ่าตัวเองเพราะตอนมีชีวิตอยู่ตัวเองไม่มีอำนาจ เรี่ยวแรงในการต่อกร (ดูเพิ่มเติมได้ในหนังอย่าง เปรมิกาป่าราบ (2017, ศิวกร จารุพงศา) หรือ นางตะเคียน (2010, ศรีสวัสดิ์) หรือแม้แต่เรื่องเล่าจำนวนมากใน The Ghost Radio) ไปจนถึงผีพื้นเมืองที่เป็นวิธีการที่ชาวบ้านใช้ในการต่อกรกับอำนาจรัฐ ตามที่ อ.กำจร หลุยยะพงศ์ได้เขียนถึงหนังชุดบ้านผีปอบไว้ในหนังสือ ภาพยนตร์กับการประกอบสร้างสังคม : ผู้คน ประวัติศาสตร์ และชาติ ในแง่นี้ผีที่มาเข้าสิงมิ้งจึงเป็นเสมือนการต่อสู้ของที่ถูกกดขี่โดยตระกูลของพ่อที่เป็นชนชั้นนายทุน และตระกูลของแม่ที่เป็นร่างทรงของผีที่ศักดิสิทธิ์ ราวกับอุดมการณ์ของสถาบัน ศาสนา และทุน

เราจึงบอกได้ว่านอกจากการเดินหน้าเพื่อเซอร์วิสแฟนหนังสยองขวัญแบบเต็มสูบ องก์สุดท้ายของหนังคือแรงระเบิดอันควบคุมไม่ได้ของความพยาบาทอาฆาตแค้นที่ไม่เคยได้รับความยุติธรรมของผู้คน เมื่อตายกลายเป็นผีจึงได้รับความเท่าเทียม เมื่อคนไม่เท่ากัน มีแต่ผีเท่านั้นที่เท่าเทียม การอาละวาดของมิ้งจึงเป็นเหมือนการจลาจลของคุณค่าชนิดใหม่ที่งอกออกมาจากคุณค่าเก่านันเอง มันไม่ใช่การแค่ต่อต้านแต่มันคือสงครามของผู้ถูกกดขี่ที่ไม่มีกติกาอีกต่อไป หนังเลือกซีนไคลแมกซ์ให้เกิดขึ้นในสองที่ คือบ้านของแม่และโรงงานของพ่อ สองสถาบันหลักที่มีอำนาจเหนือร่างกายของมิ้ง ความวิปลาสที่ไม่ถูกควบคุม ตั้งแต่การท้าทายความเป็นชายของมานิต การต่อสู้ของแม่ และการยอมจำนนของน้านิ่ม 

ตัวละครของมิ้งดูจะเป็นตัวละครที่ขบถเสียจนน่าตื่นเต้น นี่คือเด็กสาววัยรุ่นขี้เหล้า ฟรีเซ็กซ์ ผิดผีกับพี่ชาย เธอคือตัวละครที่เป็นด้านตรงข้ามของป้านิ่ม หญิงวัยกลางคนที่อุทิศชีวิตให้กับย่าบาหยัน เราอาจมองในทางหนึ่งว่านี่คือการลงโทษผู้หญิงที่ไม่ทำตามทำนองคลองธรรมด้วยการให้ปีศาจมาสิงสู่ หรือในทางหนึ่งก็อาจจะมองแบบฝ่ายขวาในฐานะของเด็กวัยรุ่นที่โดนปลุกปั่นด้วยความเชื่อผิดๆ แล้วออกมาทำลายความสงบสุขของ Status quo เดิม แต่มองจากอีกฝั่งหนึ่งกลายเป็นว่ามีแต่มิ้งเท่านั้นที่พอจะเป็นตัวแทนการล้มล้างอำนาจแบบเก่า แต่นี่ไม่ใช่หนังเพื่อการปฏิวัติ มันเป็นหนังผี ถึงมันจะนำไปสู่จุดที่น่าสนใจในการวิพากษ์โครงสร้าง (ซึ่งมาจากตัวโครงสร้าางของการเข้าทรงเอง) มิ้ง (และช่วงท้ายของหนัง) จึงเป็นได้เพียงร่างว่างเปล่าอีกร่างหนึ่งและเป็นการอธิบายให้เห็นเป็นภาพของโควทของ อันโตนิโอ กรัมชี่ อันโด่งดังที่ว่า

‘วิกฤตินั้นที่แท้ประกอบขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า สิ่งเก่ากำลังจะตายและสิ่งใหม่ไม่ได้ถือกำเนิด และในช่วงเวลาเช่นนี้นั้นอาการแสดงของความป่วยไข้จะปรากฏขึ้นอย่างหลากหลาย’

The crisis consists precisely in the fact that the old is dying and the new cannot be born; in this interregnum a great variety of morbid symptoms appear

ประเด็นสุดท้ายหนึ่งในแกนของเรื่องคือ ผีย่าบาหยันมีอยู่จริงหรือไม่ หนังใช้ฉากสุดท้ายของหนังในการ ’ย้อนกลับไปดูใหม่’ ย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงการมีอยู่จริงของอุดมการณ์ถือผีแบบย่าบาหยัน ว่ามันเป็นเพียงอาการหลอนไปเองหรือมีอยู่จริง 

มันจึงพาเรากลับไปยังฉากที่อาจจะสยองขวัญที่สุดฉากหนึ่งของเรื่อง (จากการแสดงที่ทรงพลังที่สุดของ สวนีย์ อุทุมมา) คือฉากที่รูปเคารพของย่าบาหยันเศียรขาด เสียงกรีดร้องของเธอในฉากนี้ชวนให้คิดถึงเรื่องสำคัญที่หนังอาจจะซ่อนไว้ทั้งจากความรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว นั่นคืออะไรกันแน่ที่สำคัญกว่ากันระหว่าง ร่าง กับ การทรง ย่าบาหยันมีอยู่จริงผ่านการปรากฏของรูปเคารพ เมื่อไม่มีรูปเคารพหลงเหลืออยู่ ตัวจิตวิญญาณจะเป็นอย่างไรต่อไป ที่แท้แล้ว ร่างทำให้ผีศักดิ์สิทธิ์ผ่านการง ‘ทรง’ หรือผีที่มา การเข้า ‘ทรง’ ต่างหาก ทำให้ ‘ร่าง’ นั้นศักดิ์สิทธิ์ 

ทั้งหมดมันจึงเป็นสภาวะจลาจลในการตั้งคำถามใหม่ต่ออุดมการณ์ถือผี ว่าเราสามารถกำหนดชีวิตของเราเองหรือไม่หรือเราต้องตายกลายเป็นผีจึงจะมีพลังอำนาจพอจะต่อสู้กับอำนาจเก่า แล้วผีที่ว่าสำคัญนั้นมีอยู่จริงหรือเป็นเพียงเครื่องมือแขนขาชนิดหนึ่งในการเข้าถึงอำนาจผ่านการเป็นเจ้าของร่างของรูปเคารพกันแน่ ถ้าการดิ้นรนของคนอย่างน้อยเป็นเพียงการดิ้นรนแบบสู้ไปกราบไปโดยยังคงเชื่อในอำนาจของอุดมการณ์ผี (ถึงจะเปลี่ยนศาสนา แต่สิ่งที่น้อยทำเมื่อหมดหนทางคือการเดินหน้าหาหมอผี) มิ้งไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เป็นเพียงอาการของการจลาจลเท่านั้นเอง

หากสารคดียังไร้กติกา ก็ไม่ต้องหาขอบเขตใน ‘ร่างทรง’

ภาพ: ธนกฤต เพ็ชรประดับ

ในรอบ Q&A ของ ‘ร่างทรง’ ที่ Doc Club & Pub. เมื่อวันที่ 30 ต.ค. มีผู้ชมคนหนึ่งเผยความรู้สึกกับผู้กำกับ บรรจง ปิสัญธนะกูล ว่าเขาอยู่ในฝั่งไม่ชอบวิธีการใช้ Mockumentary กับหนังเรื่องนี้นัก…ซึ่งเราเพิ่งคุยกันเรื่องนี้ไม่กี่นาทีก่อนเข้าไปพบปะผู้ชม เนื่องจากกำลังเป็นประเด็นถกเถียงบนโลกออนไลน์ระดับดุเดือด

บรรจงรับฟังและยอมรับความคิดเห็นเหล่านี้โดยดี เพราะเขารู้อยู่แล้วว่านี่เป็นผลลัพธ์ซึ่งไม่อาจเลี่ยงได้กับทางที่เขาเลือกใช้กับ ‘ร่างทรง’ เพื่อแลกมาซึ่งความสนุกในการทำหนังที่เขาไม่ได้ปลุกปั้นมาตั้งแต่ต้นเช่นนี้

คุณเจอกับ นาฮงจิน ได้ยังไง 

ก็เจอที่เมืองไทยก่อน มันเป็นงาน Cinema Diverse ที่ให้ผู้กำกับเลือกหนังนานาชาติมาฉาย ผมเลือก The Chaser และเขามาก็เลยได้คุยกัน ปกติไม่มีใครมา สามปีต่อมาเขาก็ติดต่อมา จริงๆ ‘ชัตเตอร์’ กับ ‘แฝด’ ก็เป็นที่รู้จักในเกาหลี แต่ไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาได้ดูมันรึยัง

Mockumentary ไอเดียมาจากอะไร 

มันมาตั้งแต่บทเขาเลย ตั้งแต่เป็นทรีตเมนต์ อันนี้มันเป็นเรื่องที่เขาเขียนเป็นเวอร์ชั่นเกาหลีเสร็จแล้วนะ แต่ตอนนั้นเขาคิดว่ามันมีอะไรหลายอย่างที่ถ้าทำเป็นหนังเกาหลีจะทำให้หนีเงา The Wailing ไม่พ้น เขาก็เลยคิดว่าถ้าเป็นหนังประเทศอื่นไปเลยแล้วเขาโปรดิวซ์จะเป็นยังไง เขาก็เลยติดต่อมา ตอนอ่านทรีตเมนต์รอบแรกโคตรชอบเลย แต่ก็มีคำถามเหมือนกันว่าจะเป็น Mockumentary จริงหรือ? เพราะเอาจริงเรื่องมันโคตรเว่อร์และสุดโต่งมาก และส่วนตัวเราเองก็เบื่อแล้ว เพราะหนัง Found footage กับ Mockumentary มันทำออกมาเยอะมาก ยิ่งเราเป็นคนดูหนังผีก็ได้ดูมาไม่รู้กี่เรื่องแล้ว มันพรุนมาก มันถูกสำรวจไปหมดเกลี้ยงแล้วยังจะเหลืออะไรอีกวะ เราก็เลยหาจุดตรงนี้นานมากๆ ว่าจะต้องเป็นอะไรเราถึงจะยังอยากทำอยู่ เราก็เลยตัดสินใจทำในสิ่งที่เราอยากดู สุดท้ายก็เลยช่างแม่ง (หัวเราะ) เราทรีตมันเป็นแค่สไตล์หนึ่งของการเล่าเรื่องเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะยังคงวิธีการเล่าเรื่องให้มันดูจริงอยู่ แต่ถ้ามัวพะวงว่าอันนั้นไม่ได้ อันนี้ไม่ได้ มันไม่สนุกสำหรับผม ข้อแรกคือเราอยากทำหนังเรื่องนี้ให้ซีนีมาติกมากๆ Found footage ส่วนใหญ่ ไม่มีเลยที่จะมาประณีตในการถ่ายทำ ซึ่งเราว่าซับเจกต์นี้ถ้าไม่ประณีตจะไม่มันเลย ไม่ได้เลย โดยเฉพาะช่วงท้ายที่ตัดสลับหลายเหตุการณ์มากๆ ถ้าเราติดรูปแบบของ Found footage มันจะไม่สนุกเลย ตอนแรกก็มีคิดเหมือนกันว่าคนดูจะติดมั้ย แต่มันเห็นเลยเหมือนกันว่าถ้ามันไปถึงทาร์เก็ตที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นฉายในอเมริกามันฉายที่ Shudder ใช่มั้ย ซึ่งคนเหล่านี้ดูหนังแบบนี้มาหมดแล้ว มันบวก 90% อัพเลย แต่ถ้าไปถึงคนดู Found footage มาน้อยมาก ผลตอบรับก็จะแตกกันเอง ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างทำนายไว้พอสมควร 

สารคดีบางเรื่องเราก็ตั้งคำถามนะว่าภาพที่เห็นมันจะเกิดขึ้นจริงได้ไงวะ เช่น ตัวละครเดินไปข้างหน้าซึ่งไม่มีกล้องอยู่ แต่ดันมีภาพรับอีกมุมนึง แสดงว่ามันต้องเล่นอีกเทคนึงแน่นอน และนั่นมันคือสารคดีแท้ๆ เลยด้วยนะ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้วะ

Found Footage มันเหมือนเป็นกับดักของคนทำเหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไรให้มันดูจริงที่สุด แต่ ‘ร่างทรง’ เหมือนจะโยนตรรกะหรือกติกาของมันออกไปเลย 

มันเริ่มจากที่เราอยากทำให้มันซีนีมาติกก่อน คือทุกวันนี้เส้นแบ่งของสารคดีก็น้อยลงเรื่อยๆ สารคดีมันมีความเป็นฟิกชั่นสูงมาก สารคดีบางเรื่องเราก็ตั้งคำถามนะว่าภาพที่เห็นมันจะเกิดขึ้นจริงได้ไงวะ เช่น ตัวละครเดินไปข้างหน้าซึ่งไม่มีกล้องอยู่ แต่ดันมีภาพรับอีกมุมนึง แสดงว่ามันต้องเล่นอีกเทคนึงแน่นอน และนั่นมันคือสารคดีแท้ๆ เลยด้วยนะ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้วะ คือเราหาบาลานซ์กันเยอะ มันต้องทำได้สิ กระทั่งหนังคนคุยกันหรือว่าหนังคนโคม่าในโรงพยาบาล บางทีก็เกิดคำถามว่ามีกี่กล้องวะ เพราะสมัยนี้กล้องตัวเล็กนิดเดียวมันถ่ายได้เยอะเลย หรือบางทีก็กล้องเดียวแต่โกงเอาก็มี เราก็รู้สึกว่าอยากสนุกที่สุดในแบบของเรา ก็เลยมีการละตรรกะพวกนี้ออกไปบ้างเพื่อให้เราได้ถ่ายทอดในแบบที่เราสนุกที่สุดในแบบของเรา จริงๆ ทุกวันนี้สารคดีมันก็มีหลากหลายแบบ กระทั่ง Mockumentary หรือ Found footage ซึ่งสองอย่างนี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว ทำไมเราจะทำมั่งไม่ได้ เราก็เลยลองส่งไอเดียให้ที่เกาหลีดู ส่งสคริปต์ไปก็ไม่เห็นเขาแย้งอะไรกลับมา เขาก็คงคิดเหมือนเรา

การก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้นต้องเด็ดเดี่ยวพอสมควร เพราะไม่รู้ว่าจะได้เจออะไรบ้าง 

จริง แต่เออ ทำไมเราไม่กลัววะ อาจจะเป็นเพราะว่าเราทำโดยที่เช็คกับเขาตลอด ประมาณว่าถ้าเป็นเราเองเพียงลำพังเราอาจจะกลัวกว่านี้มั้ง แต่อันนี้ไม่เห็นเขาติดอะไรเลยนี่ เขาน่าจะเห็นดีเห็นงามมั้ง อาจจะมีบ้างว่าบางอย่างไม่อยากให้มันรู้สึกจัดวางจนเกินไป แต่ถ้าเป็นในมุมว่าทำไมมุมนี้ถึงถ่าย ตากล้องทำอะไรอยู่ อะไรพวกนี้เขาไม่ติดเลย ซึ่งมันก็พูดยากเพราะเราเองก็ไม่ได้แคร์มากในบางจุด 

หนัง Found footage มันมักกำหนดสถานะของคนดู

มันเป็นไปตามเรื่องมากกว่า คือบางอย่างมันเป็นเหมือนการทดลอง มันเหมือนว่าตัวตนของตากล้องจะมีมากน้อยแค่ไหน บางร่างก็จะมีมากกว่านี้แต่รู้สึกว่ามันไม่สนุกตัดออกไปบ้างดีกว่า เอาไว้ไปท้ายๆ ที่มันต้องเล่าว่าตากล้องต้องมีหลายๆ คน ตัวตนตากล้องถึงเพิ่งออกมา เป็นอารมณ์ว่ามีเท่าที่จำเป็น 

เรากำหนดมุมมองเอาไว้ตั้งแต่ตอนไหน ในบทหรือว่าหน้ากอง

หน้ากองเยอะเลยครับ ในบทมันจะเขียนแค่เหตุการณ์คร่าวๆ แต่ว่าหน้ากองจะคิดเยอะมากเลย มันจะมีหลายซีนที่เป็นดรามาติกมากๆ เช่นในซีนที่ป้านิ่มคุยกับป้าน้อยหน้าบ้าน คุยกันเรื่องว่าทุกอย่างถูกกำหนดมาแล้ว มันแฟร์เหรอวะ ย่าบาหยันมีจริงมั้ย อันนั้น Fictional มากเลยถูกมั้ย แต่มันเป็นซีนที่เราอยากทำว่ะ และมันเป็นสิ่งที่หนังอยากจะพูด ตรงนั้นก็เป็นอีกซีนนึงนะที่เราไม่แคร์เรื่องว่ามันจะต้องแบบ เอ้ย ถ่ายมาได้ยังไงวะ ไม่งั้นตรงนี้มันมีไม่ได้เลย

บทบาทของผู้กำกับภาพ (นฤพล โชคคณาพิทักษ์ – ผู้กำกับภาพ) มีแค่ไหน 

เราก็จะคุยกันตรงนั้นเลยว่าซีนนั้นจะถ่ายยังไง จะไม่ค่อยให้เขาเห็นบล็อกกิ้ง หมายถึงว่าจะไม่ค่อยให้เขาเห็นว่านักแสดงต้องเล่นยังไง อย่าให้เขาได้รู้ว่าตัวละครจะเดินไปไหนมาไหน เขาจะได้มีความสนุกสนานในการติดตามตัวละคร

แล้วจะออกมาซีนีมาติกอย่างที่ต้องการได้ยังไง

อย่างที่บอกว่าสารคดีทุกวันนี้มันไม่เหลือเส้นแบ่งแล้ว ซึ่งเราไปเจอ Honeyland (สารคดีมาเซโดเนีย ว่าด้วยการเก็บน้ำผึ้งป่า) ที่มันได้เข้าชิงออสการ์ และมันถ่ายแบบบ้าไปแล้ว เราก็รู้สึกว่า เออว่ะ นี่แหละเราถึงอยากทำเรื่องของป้าคนนึงในอีสาน เป็นร่างทรงในหุบเขา เราจะถ่ายให้ซี้ดได้ยังไง ทำไมจะออกมาไม่ได้ เพราะงั้น reference มันคืออะไรวะ? แม่งไม่มี (หัวเราะ) หนังที่เปิดเรื่องมาถ่ายแบบ Honeyland แล้วป่าช้าแตก มันไม่มี และเรื่องนี้มันเป็นอย่างนั้น เราก็มองว่าอันนี้เป็นสิ่งใหม่ของเรานะ โดยยังไม่คิดว่าคนจะชอบหรือไม่ชอบแต่คิดแค่ว่าอันนี้มันตื่นเต้นดี คือถ้าเป็น found footage แบบ traditional ไปเลย ผมคงไม่ทำ ประมาณว่าเอาวัยรุ่นเข้ามาถ่าย คุยกัน เล่นๆ มีการผสมที่ค่อนข้างเซอร์นิดหน่อย เป็น hybrid หน่อย ผมว่ารสชาติมันก็ใหม่อยู่นะ คนเก็ตก็เก็ตไม่เก็ตก็ถกเถียงกันได้   

การทำเรื่องนี้ต้องใช้วิธีคิดแบบสารคดีเข้ามาแค่ไหน เช่น วิธีมองซับเจกต์ เรื่องบริบทแวดล้อม

มันก็มีแหละ แต่ก็บาลานซ์กับความสยองขวัญด้วย เพราะว่ามันจะมีเรื่องศีลธรรมนิดหน่อย แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะได้รับชะตากรรม มันก็ต้องเป็นคนเหี้ยนิดนึง มันต้องอยากรู้อยากเห็นมากๆ เจอเรื่องที่มันผิดมนุษย์มนาด้วย 

สะท้อนภาพความกระหายข้อมูลของคนทุกวันนี้หรือ? 

เราก็ไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น แต่มันก็มีการคุยกันด้วย reference เหตุการณ์นึงเลย คือคลิปคนที่ขับรถอยู่ในเหตุการณ์ไฟป่าแอลเอ จนจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ก็ยังถ่าย อันนี้เป็นเรื่องที่เราคุยกัน ไอ้คนถ่ายตายไปรึยังวะ ทำไมมันยังถ่ายอยู่วะ ซึ่งทุกวันนี้มันเป็นแบบนี้จริงๆ สมมติถ้าไฟไหม้อยู่ตรงหน้า สิ่งที่เราทำคือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแน่นอน ถ้าเรารอดออกไปก็ได้โพส

ทุกวันนี้เราดูหนังถ้าเจอหนังที่มันอยู่ในที่ในทางที่โอเคเทียบกับหนังที่อยู่ในที่ในทางแล้วจู่ๆ มีอะไรบางอย่างที่ทำให้หลุดออกจากเซฟโซน จนรู้สึก ‘เฮ้ย เอางี้เลยเหรอวะ’ ทุกวันนี้เราจะชอบแบบหลัง มันเหมือนหนังให้รางวัลเรา

ขยายความที่ว่าทำนายไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะเกิดการถกเถียงขึ้นในเรื่องนี้ 

ตอนแรกเราเห็นแต่หน้าคนดูในไทย เพราะเราไม่รู้จักคนดูต่างประเทศเลย แต่เราเชื่อว่าฝรั่งจะชอบมาก ซึ่งถูกด้วย อาจเพราะว่ามันลง Shudder ด้วยมั้ง เหมือนคอหนังสยองขวัญก็ต้องการความใหม่ ทุกวันนี้เราดูหนังถ้าเจอหนังที่มันอยู่ในที่ในทางที่โอเคเทียบกับหนังที่อยู่ในที่ในทางแล้วจู่ๆ มีอะไรบางอย่างที่ทำให้หลุดออกจากเซฟโซน จนรู้สึก  ‘เฮ้ย เอางี้เลยเหรอวะ’ ทุกวันนี้เราจะชอบแบบหลัง มันเหมือนหนังให้รางวัลเรา มีอะไรให้เราตื่นเต้น สดใหม่ มันอาจจะบ้าบอรึเปล่าไม่รู้นะ แต่อย่างน้อยต้อง ‘เฮ้ย มันต้องอย่างนี้สิวะ ไม่งั้นกูหลับแล้วนะ’ เพราะเราดูมาเยอะ

สำหรับคนดูในไทยอาจไม่ใช่แบบนั้นมั้ย 

แต่อาจเพราะคนดูหลักของเราเป็นเกาหลีด้วยมั้ง และอาจเป็นเพราะค่าย Showbox (ผู้สร้าง) เขามั่นใจคุณนาฮงจินด้วย เขาคือพระเจ้า เขามีอำนาจต่อรองมาก มหาศาล เพราะสำคัญมากที่ The Wailing มันทำเงินแบบตื่นตะลึงไปเลย ทั้งที่หนังมันโคตรยากเลยนะ ผมว่า The Wailing มันก็แบบนี้แหละ ตอนเป็นสคริปต์มันบ้ามากเลยนะ มันกล้ามาก ผมเชื่อเสมอว่าถ้าหนังไม่มีความบ้าบิ่นอะไรบางอย่าง มันไม่มาถึงจุดนี้หรอก ไม่งั้นมันก็อาจจะดีแค่ในระดับหนึ่งแต่ถ้าบ้าๆ บอๆ แล้วออกมาดีชิบหายมันก็จะทะลุออกมาเลย 

คิดว่าบางทีอาจต้องทำความเข้าใจมั้ยว่าเราพยายามทำอะไรอยู่ 

ก็เคยคิดนะว่าต้องทำความเข้าใจ จนกระทั่งเรามาทบทวนตัวเองว่าเราไม่อยากทำเหมือนเขา แล้วเมื่อกี๊ที่บอกว่าเราอยากจะถ่ายแบบซีนีมาติกชิบหาย สวยชิบหาย จู่ๆ ก็นรกแตก แม่งไม่มีเลยแม้แต่เรื่องเดียว เราก็คงต้องมั่วๆ ไปแล้วแหละ จะเป็นยังไงเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่าเราอยากทำแบบนี้

เหมือนพี่กำกับคนดูได้ จะเห็นเป็นเส้นกราฟทางอารมณ์ที่ชัดเจนมาก 

ใช่ๆ มันเหมือนมีการ Manipulate อันนี้มันอาจเป็นตัวตนเราแหละ ขนาดนาฮงจินโยนให้เรามันก็ออกมาแบบนี้แหละ แต่เราก็จะเห็นซีเควนซ์ที่ค่อนข้าง Fictional ฉากที่ป้านิ่มไปเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับรูปปั้น พอเห็นโลเคชั่น เราก็เห็นเป็นภาพเลยว่าเราต้องตามป้านิ่มไปสักพัก แล้วป้าก็กรี๊ดลั่น นาทีนั้นเราเห็นเลยว่าช็อตนั้นต้องเป็นหนังตัวอย่าง เราเป็นคนแบบนี้ เราเห็นภาษาหนังแบบนี้ เราอาจไม่เหมาะกับ Found footage แบบนั้นแน่ๆ แบบที่ตั้งหน้าตั้งตาจะคอนวินซ์ เอออีกแบบนึงคือยุคนี้ไม่ต้องคอนวินซ์แล้ว ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นหนัง ตอนที่ทำคิดแบบนี้นะ แต่ก็กลายเป็นว่าคนก็ยังติดอยู่อันนี้ก็เซอร์ไพรซ์เหมือนกัน ซึ่งมันก็ต้องยอมรับแหละเมื่อหนังมันเป็นแบบนี้ คนก็มีสิทธิที่จะติดสูงมาก มันไม่ใช่ข้อแก้ตัวนะที่พูดมาทั้งหมด เพราะเราต้องยอมรับความคิดเห็นในทางที่เราเลือก แต่อย่างน้อยแค่คนดูถกเถียงกันเราก็แฮปปี้แล้ว 

ซึ่งโอเคใช่มั้ย

ฟินมาก ผมว่ามันใช่ มันคือเป้าหมายของหนังเรื่องนี้นะ เพราะว่าด้วยความที่เรื่องมันแรง และเหมือนมันจะไม่เข้ากัน ผมชอบคำที่เกาหลีเขาโปรโมทว่า The Most Debated Film of the Year มันใช่จริงๆ ซึ่งขนาดที่ไทยยังเถียงกันชิบหาย ที่เกาหลีเขาจะเถียงกันเรื่องความรุนแรง เพราะที่นั่นเขามีปัญหาเรื่องนี้เยอะมาก ในสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่มากกว่าเราเสียอีกก็จะถกเถียงกันเยอะ 

ผลตอบรับทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้ สร้างคุณค่าในฐานะคนทำหนังและวงการอย่างไรบ้าง 

ได้คุยกับคนใน GDH หลายคน พอเราทำไปเรื่อยๆ ผ่านโควิดผ่านอะไรมา ได้กลับมาเช็คไฟล์ก็ยังคิดว่า นี่มันหนัง GDH เหรอวะ ค่ายเราทำหนังแบบนี้ได้ด้วยเหรอ แล้วเรากลับรู้สึกดีเพราะว่าการร่วมมือครั้งนี้มันได้ทำอะไรโดยที่อาจไม่รู้ตัวด้วยมั้งว่าเขาคุ้มกะลาหัวอยู่ เราก็เลยกล้าทำทุกอย่างเลย 

ถ้าไม่มีนาฮงจินจะกล้าทำมั้ย

นั่นสิ แต่ถ้าเรื่องการใช้นักแสดง GDH เขาเห็นทางของผมเสมอมานะ และเขาซัพพอร์ตมาตลอด ไม่เคยมีปัญหาแบบสตูดิโอจัดๆ เลย เช่น เรื่องนี้ต้องดาราเท่านั้นนะ ยกเว้นถ้ามันเหมาะ เพราะบางโปรเจกต์อาจต้องการ อย่างเรื่องนี้ 70% ของบอร์ดเห็นตรงกับผม แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีนาฮงจินหนังแบบนี้คงเกิดขึ้นได้ไม่ง่าย เช่นวิธีการถ่ายแบบ Found footage ที่คนจะตั้งคำถามเยอะมาก 

ผมเองก็ไม่กล้าพูดว่าตัวเองจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอกนะ แต่ผมมองว่ามันเป็นวิธีการที่เหมาะแต่ละโปรเจกต์ อะไรก็ตามที่มันเหมาะและมันส่งเสริมกัน มันได้หมดแหละ เช่นในหนังมันต้องการให้คนเชื่อไง และมันเป็นร่างทรงอายุ 50-60 ไง แต่ว่ามันเป็น horror ไง สำหรับผมไม่ห่วงมาร์เก็ตติ้งเลยเพราะว่าบิ๊กไอเดียมันแข็งแรงมาก เราเองคิดว่ามันตื่นเต้นมากๆ หากเราไม่ใช่คนทำแล้วมีคนมาเสนอว่าจะไปถ่ายร่างทรงที่อีสาน และเห็นศาสตร์ของมัน เห็นโลกของมัน เห็นว่ามันกำลังสืบทอด แค่นี้เราก็รู้สึกว่า ‘เชี่ยแม่งน่าดูสัส’!  

เปโดร อัลโมโดวาร์ ศาสนา มารดา และประชาธิปไตย

งานออสการ์ครั้งที่ 72 เพเนโลเป ครูซ ขึ้นมาประกาศรางวัลสาขาภาพยนตร์ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษยอดเยี่ยมคู่กันกับ อันโตนิโอ บันเดรัส ไม่กี่อึดใจหลังจากแกะซองกระดาษประกาศผล เธอก็กรีดร้องใส่ไมโครโฟนว่า “เปโดร!!” แล้วกระโดดตัวลอย ข้างๆ กันนั้นบันเดรัสเอ่ยชื่อ “All About My Mother” อันเป็นหนังที่ได้รับรางวัลนี้ 

นั่นกลายเป็นหนึ่งในภาพจำของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (รวมทั้งเสียงกรี๊ดดีใจอย่างเก็บไม่อยู่ของครูซและบันเดรัส -สองนักแสดงคู่บุญของอัลโมโดวาร์มาตั้งแต่เริ่มทำหนังยุค 80s) คนทำหนังชาวสเปนผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของมนุษย์ตัวเล็กตัวน้อย ความเป็นแม่และตัณหาชวนหน้ามืดไปจนถึงความซ่องแตกได้อย่างเปี่ยมเสน่ห์และบ้าพลัง นับตั้งแต่แจ้งเกิดด้วยฉาก ‘ฉี่กรอกปาก’ (!!), แม่ชีที่ฉีดเฮโรอีนเข้าเส้นเลือดตัวเองด้วยสีหน้าเปี่ยมสุขยิ่งกว่าได้เข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า, หญิงสาวที่ช่วยตัวเองด้วยการให้นักประดาน้ำของเล่นแหวกว่ายมายังจิ๋ม และเรื่อยมาจนถึงการสำรวจภาวะความเป็นแม่และเพศอันหลากหลายใน All About My Mother (1999) 

เอ่ยแต่ละฉากในหนังลำดับแรกๆ ที่อัลโมโดวาร์กำกับ คงพอเข้าใจได้ว่าทำไมชาวสเปนบางส่วนไปจนถึงเหล่านักวิจารณ์จึงวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังของเขาหยาบคาย ปราศจากศีลธรรม มิหนำซ้ำยังมีท่าทีท้าทายพระเจ้าอีกต่างหาก อันจะเห็นได้จากหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในหนังของเขาคือภาพของบาทหลวง แม่ชี หรือมนุษย์ผู้มีสถานะทางสังคมได้เปรียบคนอื่น ซึ่งเขามักหยิบมาสำรวจจนปรุโปร่งกลายเป็นแม่ชีพี้ยา ครูสอนวรรณกรรมลวงเด็กผู้ชายไปล่วงละเมิดทางเพศ ที่เป็นเสมือน ‘ตบหน้ากาก’ ทางชนชั้นและศีลธรรมที่คนเหล่านี้สวมใส่อยู่กลายๆ

แต่ถามว่าตัวอัลโมโดวาร์นั้นห่างไกลศาสนาไหม อันที่จริงแล้วต้องบอกว่าตัวอัลโมโดวาร์นั้น ‘แนบชิด’ เป็นหนึ่งเดียวกับศาสนามากกว่าหลายๆ คนเสียอีก 

และก็ศาสนานี่เอง ที่สร้างบาดแผลและความชอกช้ำจนเป็นแรงผลักให้เด็กชายอัลโมโดวาร์ในวันนั้น เติบโตมาเป็นคนทำหนังเควียร์จัดจ้านในวันนี้ ที่หยิบเอาทุกองค์ประกอบความ ‘ปลอมเปลือก’ ในนามของความดีและศาสนามาขยำจนเละไม่เหลือชิ้นดีในหนังสารพัดเรื่องของเขา

“ผมถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนประจำเคร่งศาสนาตั้งแต่เก้าขวบได้” เขาเล่าถึงช่วงที่ถูกส่งไปเรียนที่แคว้นเอซเตรมาดูรา, ตะวันตกของสเปน จากพ่อแม่ผู้หวังว่าสักวันจะได้เห็นลูกชายเป็นนักบวชของบ้าน “ตอนนั้นผมก็เริ่มถามคำถามที่พวกคุณใช้ถามตัวเองทุกเมื่อเชื่อวันนี่แหละ ว่าพวกเรามาจากไหน เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร และตัดสินใจจะให้นักบวชกับศาสนาเป็นผู้มอบคำตอบให้ผม แล้วไงรู้ไหม ผมรอคำตอบอยู่สักปีได้มั้งแต่ก็ไม่เห็นได้อะไรกลับมา 

“ผมว่าพระเจ้าคงเลือกคนที่พระองค์จะมอบโอกาสให้ได้ศรัทธาละมั้ง -แล้วพระองค์ก็แค่ไม่ได้เลือกผมน่ะ”

โรงเรียนประจำที่อัลโมโดวาร์ถูกส่งไปเรียนนั้นไม่เพียงทำให้เขาสูญเสียศรัทธาต่อพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์รุนแรงและสร้างบาดแผลทางจิตใจให้เหล่าเด็กผู้ชายในชั้นเรียน “ในโรงเรียนนี่มีการคุกคามกันบ่อยครั้งมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กๆ จำได้ว่าเด็กอย่างน้อย 20 คนถูกล่วงละเมิด พวกนั้นพยายามมายุ่มย่ามกับผมด้วยนะแต่ผมหนีเอาตัวรอดออกมาได้ตลอด อย่างพวกนักบวชที่ชอบเอามือมาวางบนมือผมตอนอยู่ในสนามเด็กเล่น แล้วให้ผมจูบมือพวกเขา แต่ผมก็วิ่งหนีออกมาเสมอ ตอนนั้นเรากลัวกันมากเลย” แล้วเชื่อไหม ไอ้ข่าวลือว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนเนี่ยมันหึ่งอยู่ตลอดแหละ เหยื่อก็มีให้เห็นตั้งมากตั้งมาย แต่คณะซาเลเซียน (คณะนักบวชคาทอลิกชาย) ก็หาทางยื่นมือเข้ามาปิดปากเรื่องพวกนี้จนได้ แล้วย้ายไอ้พวกคนทำผิดพวกนั้นไปโรงเรียนประจำสำหรับเด็กวัยรุ่นแทน แบบไม่ต้องเจอบทลงโทษอะไรสักนิด”

Dark Habits (1983)

ความหลัง -ที่อาจหมายรวมถึงบาดแผลและความแค้นเคืองจากนักบวช ครูและผู้ใหญ่ต่างๆ- ถูกหยิบมาเล่าใน Dark Habits (1983) เมื่อนักร้องไนต์คลับ โยลันดา (คริสตินา ซานเชส ปาสกูอัล -ผู้โปรยปรายจริตจะก้านได้อย่างเฉิดฉาย) พบว่าคนรักหนุ่มชักตายคาเฮโรอีนที่เธอมอบให้ เลยหนีไปกบดานในสำนักนางชีเล็กๆ ซึ่งให้การช่วยเหลือและที่พักพิงแก่หญิงที่ตกระกำลำบาก แม้ระยะหลังจะเผชิญวิกฤติการเงินอย่างหนักจากการถูกตัดงบก็ตาม โดยเธอได้พบกับนางชีผู้เลี้ยงเสือเบงกอลราวกับลูกในไส้ (แถมยังตีกลองบองโกให้มันฟังด้วยนะ), แม่ชีที่เคยพลั้งมือฆ่าคนจะรอดคุกมาได้ด้วยความช่วยเหลือจากคนในโบสถ์ ตลอดจนแม่ชีเลสเบี้ยนที่ติดยาอย่างหนัก และอาศัยงานการกุศลต่างๆ เพื่อพบปะหญิงสาวผู้ยากไร้ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะตกหลุมรักโยลันดาและกอดคอกันดำดิ่งลงไปในโลกอันเวิ้งว้างของโคเคนและเฮโรอีน

และแม้อัลโมโดวาร์จะออกตัวว่าตอนทำหนังเรื่องนี้ “ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอุปสรรคอะไรเท่าไหร่นะ ไม่มีใครมาฉุนหนังของผม แค่อาจจะรู้สึกว่ามันเร้าอารมณ์อยู่บ้างเท่านั้นแหละ” แต่เอาเข้าจริง ภายหลังเมื่อมันออกฉายก็มีคน ‘ฉุน’ กับเรื่องนางชีเลสเบี้ยนและเสพยา -ทั้งฉีดเข้าเส้นและซี้ดผงให้เห็นกันเต็มตา- ไม่น้อย เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนั้นก็ปฏิเสธจะจัดฉาย Dark Habits อันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องศาสนาและศีลธรรม หรือเมื่อมันได้ไปฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังนานาชาติเวนิซ นักวิจารณ์หลายคนก็ชี้ว่าหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาต่อต้านคาทอลิกอย่างเห็นได้ชัด ทั้งหลายคนยังไม่พอใจท่าทีของหนังที่จับจ้องไปยังแม่ชีและศาสนาด้วย

“เอาจริง ยุค 80s ในสเปนคือยุคของความใจกว้าง ความงามและเสรีภาพโดยแท้ ซึ่งหาไม่พบในสเปนยุคนี้อีกแล้วล่ะ” อัลโมโดวาร์บอก และอาจจะกล่าวได้ว่า หากเราไล่เลียงดูต้นธารการทำหนังของเขา หมุดหมายสำคัญของอัลโมโดวาร์ก็เริ่มในยุค 80s อันเป็นยุคทองของวัฒนธรรมต่อต้าน (Counter Culture) ในสเปนหรือที่เรียกว่ายุค The Madrilenian Scene ซึ่งส่วนใหญ่ระเบิดตัวขึ้นในกรุงมาดริดหลังจอมเผด็จการ ฟรานซิสโก ฟรังโก เสียชีวิตลงในปี 1975 และสเปนก็ได้ฤกษ์เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยภายหลังตกอยู่ใต้เงาเผด็จการนานร่วมสี่ทศวรรษ (แม้กองทัพพยายามหวนกลับมายึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยอีกครั้งในปี 1981 แต่ก็ล้มเหลวในที่สุด) พร้อมบรรยากาศการปลดแอกกฎเกณฑ์ที่รัฐเผด็จการของฟรังโกขีดไว้ -ไม่ว่าจะห้ามผู้หญิงออกจากบ้านในช่วงค่ำหรือการกำหนดให้ความรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย- ก็ระเบิดออกมาเป็นงานศิลปะสารพัดชนิด ทั้งดนตรี, กราฟิตี้, วรรณกรรมและภาพยนตร์ สังคมที่เริ่มเปิดเผย สนทนาเรื่องราวทางเพศอย่างตรงไปตรงมา การเติบโตของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนการใช้ยาเสพติดที่แพร่ระบาดไปทั่วในเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะมาดริด 

Pepi, Luci, Bom and Other Girls Like Mom (1980)

และนั่นก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หนังยุคแรกๆ ของอัลโมโดวาร์เล่าเรื่องราวชวนหวาดเสียว ท้าทายขนบและศีลธรรมต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะ Dark Habits เองก็ดี -ทั้งประเด็นครูกับการล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนยังถูกหยิบมาเล่าอย่างโฉ่งฉ่างอีกครั้งใน Bad Education (2004)– หรือ Pepi, Luci, Bom and Other Girls Like Mom (1980) หนังแจ้งเกิดกับเรื่องราวชวนอ้าปากค้างของแก๊งเพื่อนสาวสามนาง ที่คนหนึ่งเป็นสาวหัวสมัยใหม่ อีกคนเป็นแม่บ้าขี้อายผู้เป็นมาโซคิสม์และหวังได้คู่นอนที่จะมอบเซ็กซ์อันเผ็ดร้อนให้แก่เธอได้ กับนักร้องพังค์ร็อคเลสเบี้ยน เมื่อเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มถูกนายตำรวจ -ผู้แสนจะเป็นภาพแทนของความเป็นชายและรัฐในเรื่อง- ข่มขืน พวกเธอจึงร่วมมือกันเอาคืนตำรวจนายนี้ เพียงเพื่อจะพบว่าไปกระทืบน้องชายฝาแฝดของเขาเข้า! ความที่ตัวหนังเต็มไปด้วยคำหยาบแถมยังเพียบไปด้วยฉากเซอร์แตกมากมายก็ทำให้คนดูหลายคนไม่ปลื้มมันมากนัก แม้เมื่อถอยออกมามองจะพบว่า ตัวหนังเก็บบรรยากาศความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมต่อต้านในสเปนที่ค่อยๆ เรืองอำนาจขึ้นมาหลังฟรังโกตายได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพังค์ร็อค (ซึ่งเพิ่งจะงอกเงยในยุคนั้น) ผู้หญิง ความหลากหลายทางเพศและเรื่องเซ็กซ์อันแสนจะเดือดดาล 

Labyrinth of Passion (1982)

เช่นเดียวกันกับ Labyrinth of Passion (1982) อันเป็นหนังเรื่องแรกที่บันเดรัสได้ร่วมงานกับอัลโมโดวาร์ เล่าเรื่องชวนหัวของนักร้องชื่อดังที่เสพติดเซ็กซ์ ไปตกหลุมรักเจ้าชายเกย์จากประเทศลึกลับแห่งหนึ่งแถบตะวันออกกลางซึ่งถูกผู้ก่อการร้ายตามล่าเอาชีวิตอยู่ ก่อนที่เรื่องจะเปิดเปิงเมื่อผู้ร้ายหนุ่มก็ดันไปตกหลุมรักเจ้าชายด้วยอีกราย เรื่องราวของสามคนสามคมจึงชวนปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ระหว่างเซ็กซ์ ความรักและการเอาชีวิต และ Matador (1986) หนังฉาวระเบิดระเบ้อจนคว้าเรต NC-17 ไปครอง เมื่อมันพูดถึงเซ็กซ์ -ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ- อย่างร้อนแรง (กับฉาก ‘ขย่ม’ อันบ้าคลั่ง) รวมทั้งศาสนาและพิธีมิสซาในคาทอลิก เมื่อนักสู้วัวกระทิงที่บาดเจ็บหนักจนต้องปลดระวางตัวเอง มาสอนวิชาสู้วัวกระทิงให้คนหนุ่มรุ่นใหม่ๆ ที่หนึ่งในนั้นเป็นชายที่มักฝันเห็นภาพหลอนว่ามีผู้หญิงสังหารผู้ชายด้วยปิ่นปักผมขณะร่วมรักด้วยท่วงท่าราวกับมาธาดอร์ด้วยหอก ก่อนที่เรื่องราวจะเลยเถิดไปถึงการข่มขืนและการฆาตกรรมอันลึกลับ

“ผมเริ่มทำหนังในยุค 80s และมันเป็นช่วงเวลาที่ผมได้เยียวยาวัยเยาว์ของตัวเอง รวมทั้งประสบการณ์ของการได้ซึมซับบรรยากาศการมีเสรีภาพที่ระเบิดตัวในสเปนกับในมาดริดหลังฟรังโกตาย และประชาธิปไตยมาเยือน” อัลโมโดวาร์เล่า “หนังหลายเรื่องของผมในยุคหลังๆ อย่าง The Skin I Live In (2011), Broken Embraces (2009) หรือ Volver (2006) ล้วนอุทิศให้แก่ช่วงเวลาในยุค 80s ของสเปนทั้งสิ้น”

หนังหลายเรื่องของเขาในยุคนั้น -อันที่จริงลากยาวมาถึงยุค 90s- ล้วนแล้วแต่พูดเรื่องเซ็กซ์ เรื่องผู้หญิง เรื่องความฉาวและตัณหาเดือดดาลของมนุษย์ โดยมีฉากหลังเป็นสเปนและมาดริดในยุคที่เปลี่ยนผ่านมายังประชาธิปไตยและข้ามไปไม่พูดเรื่องยุคสมัยเผด็จการ “ตอนที่เริ่มทำหนัง ผมก็ทำหนังราวกับว่าฟรังโกไม่เคยมีตัวตนมาก่อน มันเป็นวิธีแก้แค้นแบบของผมที่จะใช้ต่อต้านลัทธิฟรังโก (Francoism) เองแหละ ผมไม่แม้กระทั่งพูดถึงความทรงจำในยุคสมัยของฟรังโกด้วยซ้ำไป แต่ผมก็ย้ำเตือนตัวเองผ่านหนังเสมอว่าในอดีตนั้นมันมีความดำมืดอยู่ และอดีตนั้นก็เพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อไม่นานมานี้เอง”

“เป้าประสงค์ของผมคือการย้ำทั้งตัวเองและชาวสเปนว่า เราไม่อาจหวนกลับไปยังช่วงเวลาแห่งความมืดมิดเช่นนั้นได้อีกเพราะเราต่างสูญเสียความรู้สึกของความหวาดกลัวนั้นไปแล้ว ความทรงจำแรกสุดที่ผมมีต่อลัทธิฟรังโกคือความกลัวนี่แหละ เป็นความกลัวแบบคาฟคาเอสก์ (Kafkaesque -ดัดแปลงมาจากแนวการเขียนของ ฟรันซ์ คาฟคา นักเขียนชาวเยอรมัน มีนัยถึงความสิ้นหวัง จนตรอกและมืดมน) ซึ่งอิงแอบอยู่ในหัวของผม มันคือความกลัวต่อทุกสิ่งอย่าง ซึ่งปัจจุบันความกลัวลักษณะนี้มันไม่เหลืออยู่ในบรรยากาศแล้วและส่งผลให้ผมรู้สึกปลอดภัย ขณะที่ผู้คนเองก็เติบโต มีวุฒิภาวะมากขึ้น”

และอีกเช่นกัน ตลอดมาและตลอดไปในหนังของอัลโมโดวาร์ องค์ประกอบสำคัญซึ่งจะขาดเสียไม่ได้คือ ‘ผู้หญิง’ เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นคนที่เพิ่งรู้ว่าผัวกำลังจะตกงานเลยต้องหาทางรับมือ 

“ตัวละครหลักในหนังของผมส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงทั้งนั้นแหละ แถมยังพูดเรื่องความเป็นแม่ด้วย ตัวละครของผมล้วนเป็นเหล่าแม่ๆ ทั้งนั้น” เขาว่า “และผมมั่นใจด้วยว่า ‘แม่ๆ’ ในหนังของผมนั้นแตกต่างกันไปทุกเรื่องอย่างแน่นอน” (อย่างไรก็ตาม เขาเคยกล่าวว่าฮอลลีวูดนั้นไม่ขยันเขียนบทดีๆ ให้ตัวละครหญิงเลย “ฮอลลีวูดเนี่ยน้า เสียโอกาสไปมหาศาลแท้ๆ พวกนั้นไม่ยักกะสร้างบทดีๆ ให้ผู้หญิงทุกช่วงวัย เพราะไม่ค่อยมีบทดีๆ ที่พูดถึงแม่ พูดถึงแฟน พูดถึงลูกสาว พูดถึงน้องสะใภ้เลย”)

ด้านหนึ่ง อัลโมโดวาร์มักเล่าเรื่อง -และสำรวจ- ชีวิตตัวเองผ่านหนังหลายต่อหลายเรื่องของเขา และ ‘แม่’ ก็มักเป็นองค์ประกอบหลักในฐานะผู้หญิงที่เขาผูกพันมาค่อนชีวิต อัลโมโดวาร์เล่าว่า ภายหลังจากคุณตาของเขาตายจากไปก่อนช่วงที่เขาจะเกิด แม่ก็สวมชุดไว้ทุกข์ยาวนาน 35 ปี รวมทั้งวันที่หล่อนให้กำเนิดเขาด้วย 

High Heels (1991)

และนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ‘แม่ๆ’ ในหนังของเขาแต่งกายด้วยสีแดงเพลิงอันแสนจะฉูดฉาดและดึงดูดสายตา ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ใน High Heels (1991) ผู้ห่างจากลูกสาวไปร่วม 15 ปีและกลับมาเจอกันอีกทีก็พบว่าลูกดันไปมีเอี่ยวกับคดีฆาตกรรม รวมทั้ง All About My Mother (1999) ที่คว้ารางวัลหนังพูดภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์ เล่าเรื่องราวของ มานูเอลา (เซซีเลีย โรธ -กับการแสดงอันแสนจะเอียดหมดจดในทุกฉาก) แม่ผู้หัวใจสลายเมื่อพบว่าลูกชายประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตก่อนหน้าวันเกิดอายุครบ 17 ปีเพียงวันเดียวเพราะวิ่งไล่ตามขอลายเซ็น โรโฆ (มาริซา ปาเรเดส) นักแสดงละครเวทีชื่อดังที่ชีวิตวุ่นวายอยู่กับคู่รักเลสเบี้ยนติดยาที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ภายหลังลูกชายเสียชีวิต มานูเอลาตัดสินใจเยียวยาตัวเองด้วยการย้ายออกจากที่พักแล้วบินไปต่างเมืองเพื่อตามหา โลลา อดีตสามีผู้เป็นพ่อของลูกชาย แต่กลับพบเรื่องบังเอิญเมื่อได้เจอ โรซา (เพเนโลเป ครูซ) หญิงสาวที่ตั้งท้องกับโลลาทั้งยังได้รับเชื้อ HIV ด้วย ภารกิจตามหาตัวอดีตสามีของเธอจึงต้องชะงักลงเพื่อดูแลโรซา ทั้งยังพาให้เธอได้สานสัมพันธ์กับโรโฆ -ผู้ที่ลึกๆ แล้วมานูเอลาเชื่อว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ลูกชายต้องจากเธอไป

All About My Mother (1999)

All About My Mother นับเป็นหนังที่มีท่วงทำนองผิดแปลกไปจากบรรดาหนังของอัลโมโดวาร์ในยุค 80s-90s กล่าวคือมันไม่ได้มีฉากเซ็กซ์โฉ่งฉ่าง ไม่ได้มีคำผรุสวาทหนาหู หากแต่เขายังคงลายเส้นไว้ด้วยการเล่าเรื่องของผู้หญิง ของเกย์และเลสเบี้ยนผ่านสีแดงเพลิงอันเร่าร้อนและชวนเจ็บปวด -และ ‘ห้องครัว’ อันเป็นเสมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในหนังของอัลโมโดวาร์แทบทุกเรื่อง

“มันเหมือนว่าเวลาผู้หญิงจะไม่พูดโกหกใส่กันเวลาอยู่ในห้องแต่งตัว ห้องน้ำหรือห้องครัวนะ ประมาณว่าบนพื้นที่เหล่านี้ เธอต้องพูดแต่ความจริงเท่านั้นนะ ผมเองไม่รู้หรอกว่าทำไม” เขาว่า “เหมือนเวลาไปงานปาร์ตี้น่ะ พวกสาวๆ จะไปอยู่ในห้องครัวแล้วพูดเรื่องผัวตัวเอง คงเพราะเมาและจริงใจกว่าปกตินิดหน่อยด้วย”

อัลโมโดวาร์มักเล่าถึงแม่ตัวเอง ที่ครั้งหนึ่งอยากให้เขาเป็นนักบวชจึงจับเขาส่งไปเรียนในโรงเรียนประจำเคร่งศาสนาของเมือง ปรารถนาให้เขาอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ แต่งงาน มีครอบครัวและอาจจะทำงานเป็นนักงานธนาคารสักแห่ง เพื่อจะพบว่าลูกชายเกลียดชีวิตเช่นนั้นจนกระเสือกกระสนมายังเมืองใหญ่อย่างมาดริดในวัย 18 ปี “ผมจะติดปีกบินไปทั่วมาดริดเลยก็ยังได้นะ ตอนนั้นน่ะ” เขาว่า “แต่เอาเข้าจริง สิ่งแรกที่ผมทำตอนไปถึงคือโทรหาแม่ และสิ่งแรกอีกเหมือนกันที่แม่ถามคือ ผมหนาวไหม ใส่เสื้อสเวตเตอร์หรือยัง” 

The Flower of My Secret (1995)

เรื่องราวของแม่นี้ถูกหยิบมาสำรวจอย่างละเอียดใน The Flower of My Secret (1995) เล่าถึงนักเขียนหญิงที่ประสบความสำเร็จสุดขีดในด้านหน้าที่การงาน แต่ชีวิตสมรสกับลงเอยด้วยหายนะจนส่งผลให้ตัวเธอเองไม่อาจฝืนเขียนเรื่องโรแมนติกขายฝันใดๆ ต่อไปได้ ดังนั้น เพื่อจะหวนกลับไป ‘สัมผัส’ ความปรีดาในชีวิตอีกหน เธอจึงกัดฝันไปเยือนความสัมพันธ์ที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งกับสามี เพื่อนสนิท น้องสาวและคุณแม่ -อันเป็นตัวละครที่อัลโมโดวาร์วาดไว้ว่าใกล้เคียงกับ ‘แม่’ ของเขามากที่สุด

“นี่น่ะเป็นหนังที่ใกล้กับแม่ของผมที่ผมวาดภาพไว้ในภาพยนตร์ได้มากที่สุดแล้ว” เขาว่า “สิ่งที่ตัวละครทำบางฉากบางตอนในหนังก็เป็นเรื่องที่แม่ผมเคยทำในชีวิตจริง ว่าไปแม่ก็ไม่เคยดูหนังผมเลยสักเรื่อง เพราะแม่รู้ตัวดีว่าคงไม่ชอบแน่ๆ เราเลยไม่เคยคุยถึงเรื่องนี้ด้วยกันเลย แม้ว่าแม่จะยินดีที่เห็นผมประสบความสำเร็จเอามากๆ ก็ตาม”

อัลโมโดวาร์กลับสำรวจเรื่องราวของแม่และวัยเด็กของเขาอีกครั้งใน Pain and Glory (2019) หนังที่พูดถึง ซัลวาดอร์ (บันเดรัส -ชิงนำชายยอดเยี่ยมของออสการ์) คนทำหนังชาวสเปนที่มองย้อนกลับไปยังชีวิต ความรุ่งโรจน์ในอดีตของตนผ่านสังขารอันเสื่อมโทรมและรวดร้าว ด้านหนึ่งมันแทบจะเป็นหนังอัตชีวประวัติของอัลโมโดวาร์เอง ทั้งในแง่ช่วงชีวิตวัยหนึ่งและในแง่ความป่วยไข้จากอาการปวดหลังซึ่งส่งผลให้เขาทำหนังไม่ได้อยู่พักใหญ่ (อย่างไรก็ตาม อัลโมโดวาร์จะปฏิเสธว่าตัวละครซัลวาดอร์ไม่ใช่เขาสักหน่อย แม้บันเดรัสจะสวมเสื้อผ้าแบบเดียวกันกับเขาเข้าฉากก็ตาม)

มีอยู่ฉากหนึ่ง เมื่อซัลวาดอร์กระซิบบอกแม่ผู้ใกล้จะจากไปของเขาว่า “ผมทำให้แม่ผิดหวังเพียงเพราะผมเป็นตัวเอง” และเป็นฉากที่ทำอัลโมโดวาร์น้ำตาทะลักขณะกำกับ

“ก็นั่นแหละ อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้เป็นลูกแบบที่พ่อแม่อยากให้เป็นเท่าไหร่ แน่แท้ว่าพวกเขาน่ะรักผมนะ …แต่เรื่องที่ผมไม่ได้เป็นแบบที่พวกเขาต้องการนั้นก็เป็นเรื่องที่ผมรู้อยู่แก่ใจตั้งแต่อายุยังน้อยแล้วล่ะ”

แม่ของอัลโมโดวาร์เสียชีวิตในปี 1999 ก่อนหน้านั้นเธอจัดแจงวางแผนงานศพของตัวเองอย่างละเอียด นับตั้งแต่พิธีกรรมจนชุดที่จะสวม คำสั่งเสียไม่กี่อย่างที่มีต่อลูกๆ คือ หากว่าสัปเหร่อผูกเท้าของเธอก่อนนำร่างวางลงในโลงศพ (โดยทั่วไปทำเพื่อจัดระเบียบร่างกายผู้ตายในโลง) ขอให้ลูกๆ แก้มัดนั้นด้วยเพื่อที่เธอจะได้จากออกวิ่งได้อย่างเสรีในสัมปรายภพ

Pain and Glory (2019)

อัลโมโดวาร์ร้อยเรียงห้วงเวลาเหล่านี้ลงใน Pain and Glory เพื่อจะพบว่าทำให้ตัวเองน้ำตาร่วงอีกครั้ง “ตอนที่เธอบอกว่าอยากจะเป็นอย่างไรตอนอยู่ในโลงศพนั้นน่ะเป็นเรื่องจริงมากๆ ผมร้องไห้ตลอดแหละพอดูมาถึงตอนที่เธอบอกว่าอยากออกเดินทางไปยังที่แห่งไหน และขอให้ลูกชายถอดรองเท้าให้เธอหน่อย คือเธอปฏิเสธที่จะทำตามวัฒนธรรมและพิธีกรรมการฝังศพน่ะ”

ด้านหนึ่ง อัลโมโดวาร์จึงเป็นผู้กำกับที่ได้รับการขนานนามว่าทำหนังที่แสนจะ ‘ส่วนตัว’ ให้เป็น ‘สากล’ ได้อย่างที่สุด ผ่านรายละเอียดและสิ่งละพันอันละน้อยในชีวิตที่กอรปสร้างอยู่ในหนังของเขา หากแต่ความมีหัวใจของมันนั้นก็แตะสัมผัสผู้คนไปได้ทั่วทั้งโลก “หนังของผมน่ะแสนจะสเป๊น-สเปน แต่อีกด้าน มันก็แสนจะส่วนตัวเหลือเกิน ดังนั้น คุณจะเอาหนังของผมไปวัดความเป็นสเปนไม่ได้หรอก ผมเป็นคนสร้างหนังพวกนี้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้สร้างมันขึ้นมาโดดๆ เสียเมื่อไหร่ล่ะ ก็เจ้าอารมณ์ขันขื่นๆ นี่แหละที่เป็นรากของวัฒนธรรมสเปนแท้ๆ ตั้งแต่งานวรรณกรรมยันภาพวาดเลย”

“พูดจริงนะ ภาพยนตร์สเปนน่ะไม่ได้เป็นที่รู้จักเท่าไหร่หรอก ผมแค่โชคดีที่เข้ามาในช่วงที่ประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญพอดี และเป็นครั้งแรกทีเดียว -อย่างน้อยก็ตั้งแต่ที่ผมลืมตามีชีวิตขึ้นมาน่ะนะ- ที่โลกให้ความสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นในดินแดนแห่งนี้ 

“และภายหลังเราเปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตย เกิดเรื่องราวมากมายในมาดริด ชาวต่างชาติก็พากันพูดว่านี่มันช่างเป็นเมืองที่สนุกสนาน เปี่ยมสีสันและปราศจากยาเสพติด อะไรต่อมิอะไร ในช่วงเวลาที่ผู้คนสนใจใคร่รู้ในตัวเมืองแห่งนี้นี่เองที่หนังของผมก็ปรากฏตัวขึ้น และนี่เองแหละมั้งที่ผมว่าเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างหนังของผมกับโลกใบนี้น่ะ”


หมายเหตุ

ภาพยนตร์ 7 เรื่องของเปโดร อัลโมโดวาร์ (What Have I Done To Deserve This? / Women on the Verge of a Nervous Breakdown / High Heels / The Flower of My Secret / All About My Mother / Talk to Her / Pain and Glory) จะมาฉายในเมืองไทยในโปรแกรม Retrospective ของ “เทศกาลภาพยนตร์สเปน” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม 2021 ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) รายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

October Sonata ชัยชนะของทุนนิยมในสงครามชีวิต

ปลายปี 2552 แรกฉายหนังเรื่องนี้ ประเทศไทยได้กลับไปสู่การเมืองแบบแบ่งขั้วอย่างรุนแรงอีกครั้ง หลังจากสงบลงไปหลังความพ่ายแพ้ของพคท. กลางทศวรรษ 2520

การชุมนุมของเสื้อแดงเดือนเมษา 52 ที่ถูกเรียกว่า สงกรานต์เลือด ไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพราะเรารู้ว่าปี 53 การขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ก็จบลงด้วยการล้อมปราบบริเวณแยกราชประสงค์

หนังพยายามสอดแทรกเรื่องความรัก การเมือง และการเติบโตของผู้หญิงคนหนึ่งผ่านปฏิทินในเดือนตุลา โดยมีลักษณะการเล่าซ้อนเล่าไปกับนิยายเรื่อง “สงครามชีวิต” ของศรีบูรพา บทหนังจงใจจะล้อตัวละครพระ-นาง ที่มีรักไม่สมหวัง กับ อุดมคติของชีวิตไปด้วยกัน

ระวี (โป๊บ ธนวรรธน์)-แสงจันทร์ (ก้อย รัชวิน) ก็คือ ระพินทร์-เพลิน นั่นเอง จุดเริ่มต้นการพบกันของระวีและแสงจันทร์เกิดจากการที่แสงจันทร์ถูกระวีขับรถชน เธอจึงใช้โอกาสนั้นขอติดรถเพื่อไปดูสถานที่ที่ มิตร ชัยบัญชา ตก ฮ.ตาย ขณะถ่ายทำหนังเรื่องสุดท้ายของเขา พวกเขาเจอกันในค่ำคืนของวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ทั้งคู่ไปจบลงที่การค้างคืนที่บังกะโลแสนมุก ริมทะเลพร้อมกับความผูกพันของทั้งสองที่ก่อตัวภายในข้ามคืน

แสงจันทร์เป็นแรงงานรับจ้างเย็บผ้าอยู่แถบภูเขาทอง หนังไม่ได้เล่าถึงพื้นเพของเธอมากนัก แต่เราอาจประเมินได้ว่า เครือข่ายของเธอนั้นไม่ได้กว้างขวางอะไร การเป็นช่างเย็บผ้าไป มีชีวิตบันเทิงจากละครวิทยุ และหนัง อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เธอได้โบยบินไปไกลจากความเป็นจริงมากที่สุดแล้ว การไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทำให้เธอติดอยู่ในกรงขังของอิสรภาพและความมั่นใจ ความตายของมิตร ชัยบัญชา กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการสูญสลายไปของวัยรุ่นสายลมแสงแดดของเธอไปอย่างที่เธอไม่รู้ตัว

หลังจากที่เธอได้รู้จักกับระวี นักศึกษาที่กำลังจะไปเรียนโทต่อยังต่างประเทศ แสงจันทร์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองไปทีละน้อย ทีละน้อย

แสงจันทร์ ได้รับการ educate จากระวีโดยที่ระวีไม่รู้เลยว่า แสงจันทร์อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ระวีก็อ่าน “สงครามชีวิต” ให้แสงจันทร์ฟังไปค่อนเล่ม และก่อนจะจากกัน เขาได้เอานิยายให้ไว้กับแสงจันทร์ จากนั้นมา แสงจันทร์พยายามจะเปลี่ยนตัวเองเป็น “เพลิน” ตัวเอกในสงครามชีวิตที่เธอยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนจบเป็นอย่างไร

ความไม่รู้หนังสือของแสงจันทร์เป็นจุดสำคัญของเรื่อง เพราะจดหมายน้อยที่ระวีฝากไว้ แสงจันทร์อ่านมันไม่ออก ทำให้การนัดหมายต่างๆ นั้นคลาดเคลื่อนไปหมด แสงจันทร์หลังจากกลับเข้ากรุงเทพฯ ก็พยายามจะเดินทางมาที่ทะเลบางแสนอีก

แต่เธอก็ไม่พบเจอเขา แม้เขาจะสัญญาว่าอีก 2 ปีให้มาเจอกัน แสงจันทร์ที่มุ่งมั่นจะเปลี่ยนตัวเองเป็นเพลินได้เริ่มชีวิตใหม่ด้วยการเรียนหนังสือภาคค่ำ และที่นั้นเองทำให้เธอพบกับ สมชาย (บอย พิษณุ) หนุ่มจีนที่พยายามเปลี่ยนตัวเองเป็นคนไทย ที่ต่อมาจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตแสงจันทร์อย่างที่เธอเองก็คาดไม่ถึง 

สมชายเป็นคนชายขอบของสังคมไทยในยุคนั้น ลิ้นของเขาที่ติดสำเนียงภาษาแม่ เป็นการประจาน “ความเป็นเจ๊ก” ของเขาในสายตาคนกรุงฯ (ที่จริงแล้วคนเมืองหลวงจำนวนมากก็มีเลือดเจ๊ก เพียงแต่ว่าสามารถดัดแปลงตัวเองให้เป็นไทยได้แนบเนียนกว่า) เจ๊ก ไม่ใช่อัตลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจอะไร เพราะยังถูกใช้เป็นสิ่งที่แสดงการเหยียดชาติพันธุ์ของผู้คนในประเทศ 

มีผู้เสนอว่าในทศวรรษ 2490-2510 ความเป็นจีนถูกมองในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นคอมมิวนิสต์ อาชญากรสกปรก หรือผู้ไร้วัฒนธรรม การเปลี่ยนตัวเองให้เป็นไทยก็เพื่อหาทางหลุดพ้นจากข้อครหาเหล่านี้ หรือแม้แต่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ลูกจีนที่พ่อแม่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ เขายังเล่าว่าสมัยสฤษดิ์-ถนอม “ลูกเจ๊ก” ถือเป็นปมด้อยอย่างหนึ่ง 

การที่เขาเลือกเป็นสมชาย มากกว่าเฮียลิ้ม เพื่อยืนหยัดในอัตลักษณ์ใหม่ไม่ใช่เพียงหลีกเลี่ยงการโจมตีและดูถูก แต่มันยังเป็นการสร้างโอกาสในชีวิตที่เขาจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาอีกด้วย สมชายมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ นับจากวันที่เจอแสงจันทร์ เขาเป็นเพียงคนจีนที่เข้ามาเรียนภาคค่ำ เขาเริ่มมีรถมอเตอร์ไซค์ จนกระทั่งเป็นเจ้าของตึกแถว เราไม่รู้ว่าเบื้องหลังของสมชายเป็นกิจการอะไร ค้าขายกับใคร มีเส้นสายกับพวกข้าราชการหรือนักการเมืองยังไงหรือไม่

เทียบกันระหว่างระวี กับ สมชายแล้ว ระวีเป็นคนที่ห่างไกลยิ่งนัก ทั้งระยะทางและความเป็นปัญญาชนที่ดูสูงส่ง

ขณะสมชายต่างไป สมชายมีความเป็นพ่อค้าและผู้ประกอบการในตัว รู้จักเอาอกเอาใจ หาโอกาสชีวิตให้กับแสงจันทร์ แม้ตัวเธอเองไม่ได้มีใจให้ สมชายถึงกับพาเธอไปเรียนตัดเสื้อกับ “คุณนาย” เปลี่ยนเธอจากแรงงานเย็บผ้าทักษะต่ำเป็นแรงงานที่มีสกิลมากขึ้น

แต่แสงจันทร์ก็ยังคงเดินทางไปยังบังกะโลที่เดิมในวันที่ 8 ตุลา อยู่บ่อยๆ สมชายที่เป็นห่วงจึงได้แอบตามไป การไม่พบเจอระวีทำให้เขานึกว่า ระวีไม่มีตัวตนอยู่จริง ในที่สุดก็พยายามโน้มน้าวให้แสงจันทร์แต่งงานด้วยกับเขา หลังจากที่เขามีตึกเป็นของตัวเอง

มีฉากหนึ่งที่ระวีร่วมเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ขบวนเคลื่อนผ่านตึกแถวของสมชาย ในวันที่สมชายพาแสงจันทร์ไปเซอร์ไพรส์นั่นเอง ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย มิได้มีเพียงนักศึกษา แต่ยังรวมอาจารย์มหาวิทยาลัย กรรมกร ชาวนา ชาวไร่ รวมไปถึงการสร้างแนวร่วมกับพรรคการเมืองที่เข้าไปทำงานในรัฐสภา นอกจากนั้นความเคลื่อนไหวที่แหลมคมขึ้นหลัง 14 ตุลาคม 2516 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

ตัวละครอย่างระวี ทำให้นึกถึงบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัย-นักวิชาการที่เข้ามาร่วมกันเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้านในภาพยนตร์ทองปาน ระวีจึงเป็นตัวแทนของผู้ทรงความรู้ การไปเรียนนอกย่อมแสดงให้เห็นถึงการคว้าโอกาสที่สูงมากในขณะนั้น แม้ว่าระวีจะเป็นเด็กกำพร้ามาตั้งแต่อายุน้อย ทศวรรษ 2510 เป็นช่วงที่มีการส่งคนไปเรียนต่อเมืองนอกไม่น้อย โดยเฉพาะทุนจากสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนการศึกษาในฐานะ soft power ในรูปแบบหนึ่ง แต่ที่ตลกร้ายคือ คนที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อไม่น้อยมีบทบาทวิพากษ์ความเป็นจักรวรรดินิยมของสหรัฐอเมริกา ระวีก็น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น

แสงจันทร์แทบจะไม่เหลือทางเลือก และในที่สุดเธอก็ตกลง เพราะเธอเองนั้นไร้ที่พึ่ง เนื่องจากไปหาญกล้าถามหา “ค่าจ้าง” จากคุณนายที่เธอทำงานด้วย ทั้งที่ได้กินฟรีอยู่ฟรีแล้ว สำหรับคุณนายเรื่องนี้ถือว่ามากไป การเรียกร้องของเธอที่เป็นการเรียกร้องสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ยุคนั้นเริ่มมีการตื่นตัวกันมากขึ้น กลายเป็นสวิทช์ที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปด้วย และผลักให้เธอไปสู่เงื้อมมือของสมชาย ที่อาจเป็นตัวแทนของนายทุนอีกรูปแบบ

สมชายพยายามเปลี่ยนเธออีกครั้ง ด้วยการปลุกให้เธอตื่นว่า เธอไม่ใช่ “เพลิน” หรือกล่าวได้ว่า สมชายลากแสงจันทร์ให้เธอกลับมาสู่โลกความเป็นจริงนั่นเอง ครานั้น สมชายตามเธอไปที่บังกะโลนั้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2516

แม้แต่งงานแล้ว แสงจันทร์ก็ไม่เลิกที่จะเดินทางไปบังกะโลแห่งนั้น ในที่สุดความพยายามของเธอก็สำเร็จ ทั้งสองพบกันในวันที่ 8 ตุลาคม 2517 แต่นั่นก็เป็นเวลาที่สายเกินไปเสียแล้ว เธอพยายามปิดบังว่าแต่งงาน แต่ระวีเองก็น่าจะรับรู้ได้ พวกเขากลับมาเจอกันอีกครั้งในปี 2518 ในวันเดิม คราวนี้ระวีได้สร้างโรงเรียนให้เด็กๆ แถวนั้น และได้มอบเครื่องพิมพ์ดีดให้กับแสงจันทร์ หนังพยายามทำให้เห็นว่า แม้ใจจะเตลิดไปกับระวีแค่ไหน แต่เธอก็ไม่ยินยอมเผลอกายให้กับเขา และนั่นก็ทำให้เธอเกลียดตัวเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ระวีมอบเครื่องพิมพ์ดีดให้ก็ทำให้เธอได้พัฒนาสกิลการเขียนเพิ่มขึ้น ความมั่นใจนี้ทำให้ในที่สุดแสงจันทร์ก็ตัดสินใจตีจากสมชายไปมีชีวิตเป็นของตัวเอง เราไม่รู้เลยว่าเส้นทางอาชีพของเธอเป็นยังไงอยู่อย่างไร หรือสมชายได้มอบเงินก้อนไว้ให้เธอประทังชีวิตหรือไม่ แต่เราไม่เห็นภาพเธอเป็นแรงงานราคาถูกในตลาดแรงงานอีกต่อไป เราเห็นว่าเธอหมกมุ่นอยู่กับเครื่องพิมพ์ดีดและงานเขียนตรงหน้า

ส่วนระวี หลังจากกลับจากนอกก็มีบทบาทเข้าร่วมการชุมนุมและถูกจับ ทำให้เขาและเธอคลาดกันอีกนาน ระหว่างนั้น แสงจันทร์ก็เริ่มพิมพ์งานสะสม แสงจันทร์กลับไปที่บังกะโลเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2519 หวังจะเอางานที่เธอพิมพ์ไว้มาให้ระวีอ่าน แต่สิ่งที่แสงจันทร์พบกลับเป็นสมชายที่พยายามขอคืนดี โชคร้ายที่ว่า ฉากนั้นน่าจะจบลงด้วยการข่มขืน

ที่ทั้งสองไม่เจอกัน ก็เนื่องจากว่า ช่วงนั้นคือ จุดเปลี่ยนสำคัญของสังคมไทย นั่นคือ เหตุการณ์เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาและประชาชนถูกล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระวีตัดสินใจเข้าร่วมกับพคท. นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เขาได้ก้าวเดินออกไปจากสังคมไทย ครั้งแรกคือไปเรียนต่อปริญญาโท แต่ครั้งนี้ เขาได้จากแสงจันทร์ชั่วนิรันดร์ เส้นทางของระวีคล้ายกับอาจารย์บางคนที่เลือกหนทางนี้ แต่เหตุผลของเขาจะอยู่ที่การโค่นล้มอำนาจรัฐ ล้างแค้น หรือต้องการที่หลบซ่อนตนให้ปลอดภัย ก็ไม่รู้แน่ได้

เมื่อระวีออกจากป่าและกลับมาที่บังกะโล เขาพบต้นฉบับที่ตกหล่นอยู่ ที่ตลกร้ายก็คือ บังกะโลแห่งนั้น สมชายได้มาซื้อต่อจากเจ้าของเดิม ระวีพยายามเข้าไปในกรุงเทพฯ เพื่อหาแสงจันทร์ แต่ก็คลาดกัน เขากลับมายังบังกะโล และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น อย่างไรก็ตามระวีอายุสั้นเกินไป เนื่องจากมีอาการไข้มาเลเรียที่ติดมาจากสมัยเข้าป่า จนเขาต้องทิ้งชีวิตไว้ที่บังกะโลนั้น ก่อนลาโลกเขาพบกับสมชาย อ้อนวอนให้เขาได้อยู่ที่นั่นและฝากฝังเรื่องบางเรื่องไว้ 

แสงจันทร์ ที่กลายเป็นนักเขียนอาชีพเดินทางมายังบังกะโลเมื่อทราบว่า มีคนเอาต้นฉบับที่เธอเคยเขียนไว้ส่งไปยังบรรณาธิการหนังสือที่เธอทำงานด้วย แต่ปรากฏว่า คนที่เธอพบกลับเป็นสมชาย ซึ่งเขาก็ได้เล่าว่า ระวีจากไปอย่างไร

นอกจากความตายของระวี จะเป็นอุปลักษณ์ของความพ่ายแพ้ของคอมมิวนิสต์แล้ว การที่สมชายสามารถถือครองกรรมสิทธิ์บังกะโลอันเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำของระวีกับแสงจันทร์ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงว่า ในที่สุดแล้ว ทุนนิยมคือผู้ชนะ แม้ว่าแสงจันทร์จะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนที่มีการศึกษา อ่านออกเขียนได้ เป็นนักเขียน แต่เขาและเธอก็ไม่อาจหนีพ้นเงื้อมมือของทุนนิยมที่คุมขังความทรงจำอันแสนหวานของเขาและเธอไปได้


October Sonata มีให้รับชมทางออนไลน์ที่ Netflix และในช่องทางข้างล่างนี้ครับ

เหตุใดหนังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังโด่งดังไปทั่วโลก

แม้ว่าตลอดปี 2020 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรมภาพยนตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 อย่างรุนแรง กิจกรรมทางด้านภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ หรือการถ่ายทำต้องสะดุดหยุดลงชั่วคราว แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปีนี้ ภาพยนตร์หลายเรื่องจากภูมิภาคนี้ กลับประสบความสำเร็จในการฉายในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลภาพยนตร์สำคัญระดับโลก หรือการฉายในรอบปกติ อาทิ ภาพยนตร์ไทยเรื่อง One For The Road ซึ่งกำกับโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ภายใต้การผลิตของบริษัท Jettone ประเทศฮ่องกง ได้รับรางวัล Special Jury จากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในเดือนมกราคม ภาพยนตร์เรื่อง Memoria โดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งเป็นภาพยนตร์โคลัมเบียที่ร่วมผลิตโดยผู้สร้างจากหลายประเทศ ได้รับรางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ภาพยนตร์อินโดนีเซีย เรื่อง Vengeance Is Mine, All Others Pay Cash โดยผู้กำกับภาพยนตร์ เอ็ดวิน ได้รับรางวัล Golden Leopard ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลการ์โน ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์เรื่อง On the Job : Missing 8 (เอริค แมทติ) และ ภาพยนตร์กัมพูชาเรื่อง White Building (กาวิช เนียง) ได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม จากสายการประกวดหลักและรองตามลำดับ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ และล่าสุด ภาพยนตร์จากอินโดนีเซีย เรื่อง Yuni ซึ่งกำกับโดย กามิลา แอนดินี เพิ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาย Platform จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ประเทศแคนาดา

ในส่วนของการฉายแบบปกติ ภาพยนตร์ไทยเรื่อง ร่างทรง กำกับโดย บรรจง ปิสันธนกุล ภายใต้การผลิตของบริษัท Showbox ประเทศเกาหลีใต้และบริษัท จีดีเอช 559 ก็เปิดตัวขึ้นอันดับหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน และทำรายได้ตลอดทั้งโปรแกรม 7.37 ล้านเหรียญ ขณะที่ภาพยนตร์จากภูมิภาคนี้หลายเรื่องได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์จากยักษ์ใหญ่สตรีมมิ่งระดับโลก อย่าง Netflix หรือ HBO เพื่อนำไปเผยแพร่ให้สมาชิกทั่วโลกได้ชมกัน และบางเรื่องได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ชมในวงกว้าง

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดการเคลื่อนไหวของวงการภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นการเคลื่อนไหวทั้งภูมิภาค ซึ่งแตกต่างจากความเคลื่อนไหวแบบเดิมที่จะเกิดขึ้นเฉพาะแต่ละประเทศ อย่างกรณีของคลื่นภาพยนตร์ไทย (T Wave) ซึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2540 อันเป็นช่วงเวลาที่ภาพยนตร์ไทยประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

ตัวอย่างภาพยนตร์ White Building ของ กาวิช เนียง

ด้วยเหตุนี้ บทความชิ้นนี้จึงมุ่งวิเคราะห์หาเหตุผลที่ทำให้วงการภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการขับเคลื่อนที่น่าสนใจ จนมีความเป็นไปได้ว่า คลื่นลูกใหม่ของโลกภาพยนตร์ที่เรียกว่า คลื่นอุษาคเนย์ (SEA Wave) กำลังก่อตัวเพื่อสร้างความโดดเด่นในเวลาไม่ช้านี้ โดยผู้เขียนได้ทำการค้นคว้าข้อมูล และพูดคุยกับผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีบทบาทโดดเด่นในภูมิภาค แล้วพบว่าความสำเร็จของวงการภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน หากแต่เกิดจากสั่งสมที่พัฒนาคลี่คลายจากปัจจัยสำคัญดังนี้


1. ทัศนคติต่อการผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไปของคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

จุดร่วมสำคัญประการหนี่งของผู้ประกอบการธุรกิจภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีตลาดรองคือประเทศที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ติดกันและวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน เช่น กรณีภาพยนตร์จากอินโดนีเซียที่ได้รับความนิยมในประเทศมาเลเซีย และภาพยนตร์จากประเทศไทยที่ได้รับความนิยมในประเทศลาวและกัมพูชา เป็นต้น ดังนั้น ภาพยนตร์ที่บริษัทต่างๆ ผลิต จึงเน้นความต้องการของผู้ชมภายในประเทศเป็นหลัก โอกาสที่จะได้รับการเผยแพร่นอกประเทศ หรือนอกภูมิภาคจึงมีอยู่อย่างจำกัด

อย่างไรก็ตามทัศนคติดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เมื่อได้มีตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ เริ่มให้ความสนใจภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ติดต่อนำภาพยนตร์ในภูมิภาคไปจัดจำหน่ายในตลาดนานาชาติ รวมถึงเทศกาลภาพยนตร์ เช่น บริษัท มิราแม็กซ์ ที่ซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์สิงคโปร์เรื่อง Forever Fever (1998)https://en.wikipedia.org/wiki/Forever_Fever ไปจัดจำหน่ายในประเทศอเมริกา กรณีของบริษัท Fortissimo ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่นำภาพยนตร์จากประเทศไทยเรื่อง นางนาก (1999) เรื่องตลก 69 (1999) และ สตรีเหล็ก (2000)https://www.screendaily.com/fortissimo-capitalises-on-asian-cinema-boom/404057.article ไปจัดจำหน่ายทั่วโลกทั้งในรูปแบบของการฉายตามเทศกาลภาพยนตร์และการจัดจำหน่ายแบบปกติ และได้รับเสียงตอบรับในแง่บวก หรือบริษัทตัวแทนจำหน่ายจากฮ่องกงชื่อ Golden Network Asia ที่รับเป็นตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์ไทยจากบริษัทสหมงคลฟิล์มเรื่อง องค์บาก (2003) https://www.screendaily.com/golden-network-asia-arrives-at-afm-with-expansive-slate/4012600.article จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในประเทศไทยและในภูมิภาค เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของตลาดต่างประเทศในฐานะแหล่งรายได้เสริมนอกเหนือจากตลาดภายในประเทศ จึงมีนโยบายผลิตภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาและวิธีการนำเสนอที่มีความเป็นสากลมากขึ้น และมอบสิทธิ์ให้ตัวแทนจัดจำหน่ายต่างประเทศนำไปเสนอขายต่อผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศต่อไป หรือไม่บริษัทเหล่านี้ก็ดำเนินการขายเองโดยตรงผ่านตลาดภาพยนตร์สำคัญ เช่น ตลาดภาพยนตร์เมืองคานส์ ตลาดภาพยนตร์ฮ่องกง และตลาดภาพยนตร์ American Film Market เป็นต้น

ผลจากการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจ เปิดโอกาสให้ภาพยนตร์หลายเรื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงได้รับการเผยแพร่ภายในและภายนอกภูมิภาคในระดับที่แตกต่างกันไป ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งอาจได้รับความนิยมในเฉพาะภูมิภาคหรือภายในทวีปเอเชีย ในขณะที่ภาพยนตร์อีกหลายเรื่องได้รับการยอมรับระดับโลก เช่น ภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก ต้มยำกุ้ง ชัทเตอร์ และฉลาดเกมส์โกง ของไทย ที่ถูกซื้อสิทธิ์ไปจัดจำหน่ายทั่วโลก และได้รับการตอบรับจากผู้ชมและนักวิจารณ์ในเชิงบวก ภาพยนตร์โดยกลุ่มผู้กำกับอินโดนีเซียรุ่นใหม่ที่นำโดย แกเร็ธ อีแวนส์ (The Raid) ทิโม จาร์ฮานโต และ คิโม สตามเบิล (Macabre และ Headshot) ที่สร้างมิติใหม่ให้แก่วงการภาพยนตร์อินโดนีเซียด้วยการนำเสนอภาพยนตร์แนวแอ็คชั่นและสยองขวัญที่มีความสร้างสรรค์ในเชิงภาพและการเล่าเรื่อง เป็นต้น

ตัวอย่าง The Raid ของ แกเร็ธ อีแวนส์

นอกจากนี้ ผลพวงจากความคิดที่ว่า “โลกภาพยนตร์ไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศตัวเอง” ได้ทำให้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยเฉพาะผู้สร้างภาพยนตร์อิสระ ซึ่งมักประสบปัญหากับการแสวงหาทุนสร้างจากในประเทศ เนื่องจากผลงานของพวกเขาไม่เป็นที่ต้องการของตลาดในสายตาของนักลงทุน หรือแม้แต่บริษัทภาพยนตร์กระแสหลักที่ต้องการผลิตภาพยนตร์นอกขนบความต้องการของตลาด ได้ตระหนักถึงแหล่งทุนภายนอกประเทศที่เปิดโอกาสให้พวกเขาแสวงหามาเพื่อผลิตภาพยนตร์อย่างที่ต้องการ และช่วยแบ่งเบาภาระการลงทุนที่พวกเขาหามาได้บางส่วนสัมภาษณ์ อเมียร์ มูฮัมหมัด

ดังนั้นช่วงทศวรรษที่ 2000 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมผลิตระหว่างประเทศ (co-production) ระหว่างผู้ผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาค กับผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ เช่น กรณีของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งผลงานเรื่องต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นการร่วมผลิตระหว่างบริษัท Kick the Machine ของเขากับบริษัท Anna Sanders Film ประเทศฝรั่งเศส และได้รับเลือกเข้าฉายในเทศกาลระดับโลกหลายแห่งเช่น ภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (2002) สัตว์ประหลาด ลุงบุญมีระลึกชาติ และรักที่ขอนแก่น ที่ได้รับเลือกเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ขณะที่ Syndromes and a Century (2006) ได้รับเลือกเข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ หรือบริษัทซีเนมาเซีย ซึ่งก่อตั้งโดยดวงกมล ลิ่มเจริญในปี 2000 มีจุดประสงค์เพื่อร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์ไทยกับบริษัทผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศhttps://www.screendaily.com/asian-film-industry-mourns-duangkamol-limcharoen/4016408.article


2. การสั่งสมองค์ความรู้ของผู้สร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่

หากพิจารณาภาพยนตร์จากภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติในปีนี้ จะพบว่ามีจุดร่วมเหมือนกันประการหนึ่ง ได้แก่ ผู้ผลิตที่มีส่วนสำคัญในการทำให้ภาพยนตร์เหล่านี้เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นคนหนุ่มสาวที่สั่งสมองค์ความรู้ในการผลิตภาพยนตร์ จากการเข้าร่วมเวิร์กช็อปผลิตภาพยนตร์ต่างๆ ทั่วโลกซึ่งเปิดโอกาสให้โปรดิวเซอร์และผู้กำกับภาพยนตร์ทั่วโลกได้ส่งโครงงานภาพยนตร์ที่ยังไม่ได้สร้าง (film project) เพื่อทำการคัดเลือกสำหรับเข้ารอบสุดท้าย โดยโปรดิวเซอร์และผู้กำกับภาพยนตร์ที่ผลงานได้รับการคัดเลือก จะได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาแหล่งทุน การพิทช์โปรเจกต์ต่อแหล่งทุน การเขียนบทที่สอดคล้องกับความต้องการของแหล่งทุน เป็นต้นสัมภาษณ์เรย์มอนด์ พัฒนาวีรางกูล เวิร์กช็อปในลักษณะนี้ มีทั้งจัดพร้อมกับเทศกาลภาพยนตร์ เช่น Torino Film Lab ที่จัดคู่ไปกับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ และ Open Door ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลการ์โน ที่ตั้งแต่ปี 2018-2021 ให้ความสำคัญกับโปรเจกต์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศมองโกเลีย กับเวิร์กช็อปที่จัดแบบเอกเทศ เช่น Seafic ที่ให้ความสำคัญกับโปรเจกต์จากประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์โดยเฉพาะ

เรย์มอนด์ พัฒนาวีรางกูล โปรดิวเซอร์ และผู้จัด SEAFIC ได้กล่าวถึงบทบาทของเวิร์กช็อปภาพยนตร์ต่อการพัฒนาทักษะของผู้สร้างภาพยนตร์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ไว้ว่า “ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 ภูมิภาคนี้ยังไม่มีโปรดิวเซอร์หน้าใหม่ ส่วนใหญ่เป็นโปรดิวเซอร์รายเดิมๆ ที่มีประสบการณ์ทำหนังมาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว แต่พอหลังจากคนรุ่นใหม่ ได้เข้าร่วมกับฟิล์มแล็บ หรือสคริปท์แล็บต่างๆ พวกเขาได้เรียนรู้กระบวนการทำหนังตั้งแต่การคิดโปรเจกต์ การหาแหล่งทุน ไปจนถึงกระบวนการจัดจำหน่าย จนทุกวันนี้ โปรดิวเซอร์ที่ผ่านการเรียนรู้อย่าง เบียงก้า บัลบูเอนา จากฟิลิปปินส์ ดาวี ชู จากกัมพูชา คัทลียา เผ่าศรีเจริญ จากประเทศไทย ฟราน บอร์เกีย จากสิงคโปร์ ได้กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของวงการภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทุกวันนี้”

ตัวอย่างกิจกรรมที่จัดโดย SEAFIC

ผลพวงจากองค์ความรู้ทีเกิดจากการสั่งสมจาการเข้าร่วมเวิร์กช็อป หรือสคริปต์แล็บต่างๆ นอกจากทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ได้รู้จักวิธีการปั้นโปรเจกต์ และการแสวงหาแหล่งทุนแล้ว ยังทำให้พวกเขาได้สร้างเครือข่าย (network) ของการทำงานร่วมกันในเวลาต่อมาอีกด้วย

“หัวใจของเวิร์คชอปที่จัดโดยเทศกาลต่างๆ คือ การให้คนมาอยู่รวมกัน ก็เลยเปิดโอกาสให้โปรดิวเซอร์ชาติต่างๆ ได้รู้จักกัน” คัทลียา เผ่าศรีเจริญ โปรดิวเซอร์แห่งบริษัท 185 กล่าว “ดังนั้นการไปตามเวทีการประกวดต่างๆ เราไม่ได้รู้สึกว่าคนเหล่านั้นเป็นคู่แข่ง มันเหมือนไปเจอเพื่อน ได้สังสรรค์กันหมู่คนทำงานจาก south east asia อย่างโอเพ่นดอร์ที่โลการ์โน เราต้องอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 10 วัน จึงไม่แปลกที่เราจะสานสัมพันธ์หลังจากนั้นจนนำมาสู่การร่วมงานกัน”

ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนไม่น้อยจึงเป็นการร่วมงานกันระหว่างผู้ผลิตในประเทศ กับผู้ผลิตภายในภูมิภาค โดยมีทุนสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Pop Aye (เคอร์สเทน ทัน) ภาพยนตร์สิงคโปร์ซึ่ง คัทลียา เผ่าศรีเจริญ ได้มีส่วนร่วมในการผลิต ไม่เพียงเท่านั้น คัทลียา ยังร่วมผลิตภาพยนตร์เรื่อง Diamond Island (ดาวี ชู) จากกัมพูชาด้วย ขณะที่บริษัท Purin Pictures จากประเทศไทยเช่นกัน ได้ร่วมกับ บริษัท Astro Shaw จากประเทศมาเลเซีย และบริษัทจากฝรั่งเศส เป็นต้น


3. การสนับสนุนจากภาครัฐบาล

ข้อสังเกตที่น่าสนใจของภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติประการหนึ่ง ได้แก่ แหล่งทุนสนับสนุน เพราะนอกจากจะมาจากการสนับสนุนของเอกชนภายในประเทศ และแหล่งทุนสนับสนุนจากภายนอกโดยเฉพาะจากทวีปยุโรปแล้ว ยังรวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐอีกด้วย

ข้อสังเกตดังกล่าวสะท้อนได้ถึงความตื่นตัวของภาครัฐบาลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ จนทำให้มีการตั้งกองทุนสนับสนุนที่เปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์ได้นำเสนอโครงการสร้างภาพยนตร์เพื่อพิจารณาให้ทุนสนับสนุน เช่นกรณีของกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ที่ตั้งกองทุนสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ให้การสนับสนุนกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเขียนบทไปจนถึงการจัดจำหน่ายhttps://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=11930 ขณะที่ประเทศมาเลเซีย รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนชื่อ Digital Content Grant ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตภาพยนตร์มาเลเซียขอรับการสนับสนุนทางด้านการเงินสำหรับการผลิตภาพยนตร์ทุกขั้นตอนhttps://mdec.my/digital-economy-initiatives/for-the-industry/entrepreneurs/digital-creative-content/digital-content-grant/fdp ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ ก็มีหน่วยงานชื่อ สภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ (Film Development Council of Philippines) คอยให้การสนับสนุนทางด้านการเงินกับผู้สร้างภาพยนตร์ภายในประเทศhttps://www.fdcp.ph/programs/production เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ที่ให้การสนับสนุนผ่านสภาการภาพยนตร์สิงคโปร์ (Singapore Film Commission) สังกัดองค์การพัฒนาและควบคุมสื่อสารสนเทศhttps://www.imda.gov.sg/for-industry/sectors/Media/Film เป็นต้น

นอกจากนี้บทบาทสำคัญของภาครัฐประเทศต่างๆ ยังรวมถึง การส่งเสริมภาพยนตร์ของประเทศตัวเองในตลาดภาพยนตร์ต่างประเทศ ผ่านการเข้าร่วมตลาดภาพยนตร์สำคัญต่างๆ ของโลก โดยหน่วยงานของภาครัฐจะทำการเช่าพื้นที่ในตลาดภาพยนตร์แล้วเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเจรจากับผู้ซื้อจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

อนึ่ง นอกจากตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตภาพยนตร์ในประเทศแล้ว หน่วยงานที่ดูแลกิจการภาพยนตร์ของบางประเทศอาทิ สภาการภาพยนตร์สิงคโปร์ ในสังกัดองค์การพัฒนาและควบคุมสื่อสารสนเทศ สภาการพัฒนาภาพยนตร์แห่งฟิลิปปินส์ และหน่วยงาน PENJANA ของรัฐบาลมาเลเซีย ยังจัดตั้งกองทุนที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศได้ขอรับการสนับสนุนด้วย ภายใต้ชื่อ co-production fund โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ผลิตต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุน จะต้องมีผู้ผลิตภายในประเทศมีส่วนร่วมในโครงการด้วย และถ้าทุนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระบวนการหลังการผลิต (Post Production) โดยเฉพาะการบันทึกเสียง ผู้ที่ได้รับทุนจะต้องใช้บริการของแล็บโพสต์โปรดักชั่นในประเทศเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศนั้นไปด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า บทบาทของรัฐบาลของแต่ละประเทศ ภายในภูมิภาค มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภาพยนตร์หลายเรื่องถูกผลิตออกมา แม้ว่าเงินทุนสนับสนุนจะไม่สูงขนาดครอบคลุมงบประมาณทั้งหมด แต่การสนับสนุนดังกล่าวได้ช่วยต่อยอดให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ได้แสวงหาทุนสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆ จนสามารถผลิตผลงานได้เป็นผลสำเร็จ


4. โมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่นักลงทุนนอกภูมิภาคได้เข้ามาลงทุนผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาค

จุดเริ่มต้นของโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้เริ่มต้นในปี 2013 เมื่อบริษัท ซีเจ อีเอนเอ็มจากประเทศเกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนในธุรกิจภาพยนตร์ ด้วยการตั้งบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อจัดจำหน่ายภาพยนตร์เกาหลีที่ผลิตโดยบริษัทโดยตรง จากนั้นก็ขยายฐานธุรกิจเข้าไปในประเทศเวียดนาม และไทยในเวลาต่อมา โดยหลังจากประเมินการเติบโตของธุรกิจภาพยนตร์ของทั้งสามประเทศและในภูมิภาค บริษัทซีเจพบว่ามีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จึงได้ร่วมกับบริษัทท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ผลิตภาพยนตร์ของประเทศนั้นๆ ออกมา โดยรูปแบบของการผลิตมีทั้งการดัดแปลงภาพยนตร์เกาหลีที่มีชื่อเสียงให้เป็นภาพยนตร์ท้องถิ่น เช่นภาพยนตร์เรื่อง Miss Granny ที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เวียดนามในชื่อ Sweet 20 (2015) ภาพยนตร์ไทยในชื่อ 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น (2016) อินโดนีเซียในชื่อ Sweet 20 (2017) และฟิลิปปินส์ในชื่อ Miss Granny (2018)https://en.wikipedia.org/wiki/Miss_Granny และการผลิตภาพยนตร์ท้องถิ่นโดยเฉพาะ เช่น ภาพยนตร์อินโดนีเซียซึ่งกำกับโดย โจโก อันวาร์ สามเรื่องได้แก่ A Copy of My Mind (2015) Satan’s Slave (2017) และ Impetigore (2019)https://www.screendaily.com/news/ivanhoe-partners-on-indonesian-slate-directed-by-joko-anwar/5132540.article และภาพยนตร์เวียดนามเรื่อง ROM (2019) ที่ได้รับรางวัล New Current Award จากเทศกาลภาพยนตร์ปูซานในปีเดียวกันhttps://en.wikipedia.org/wiki/Ròm

ตัวอย่างภาพยนตร์ 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น (2016) หนึ่งในภาพยนตร์ที่ถูกดัดแปลงจาก Miss Granny ของเกาหลีใต้

จากความสำเร็จในการลงทุนผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัท ซีเจ อีเอ็นเอ็ม ทำให้บริษัทตัดสินใจขยายการลงทุนผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคนี้ ด้วยการร่วมมือกับบริษัท Library Pictures ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Legendary บริษัทผลิตภาพยนตร์ชั้นนำของอเมริกาในปี 2020 ร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อจัดจำหน่ายภายในประเทศและในตลาดโลกต่อไปhttps://variety.com/2020/film/asia/library-pictures-cofinancing-cj-entertainment-local-language-film-slate-1234815553/

นอกจากบริษัทจากบริษัทซีเจที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนผลิตภาพยนตร์ท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังมีบริษัท Showbox Corp จากเกาหลีใต้เช่นกัน ที่ได้ทดลองโมเดลธุรกิจแบบนี้ ด้วยการร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ร่างทรง” (2021) ซึ่งกำกับโดยบรรจง ปิสัญธนะกูล ภายใต้การดูแลการผลิตของนาฮงจิน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง The Wailing โดยภาพยนตร์เพิ่งเปิดตัวในประเทศเกาหลีใต้ไปเมื่อ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และทำรายได้เป็นอันดับ 1 ในสัปดาห์ที่เปิดตัว อีกบริษัทหนึ่งที่ดำเนินโมเดลธุรกิจเช่นนี้ ได้แก่บริษัท Jettone จากประเทศฮ่องกง ซึ่งบริหารจัดการโดยหว่องคาไว บริษัทดังกล่าวได้ลงทุนผลิตภาพยนตร์ไทยเรื่อง One For the Road (2021) ซึ่งกำกับและเขียนบทโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ออกฉายอย่างเป็นทางการที่เทศกาลภาพยนตร์ Sundance ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และได้รับรางวัล Jury Prize มาครอง

ข้อดีของการเข้ามามีบทบาทของบริษัทภาพยนตร์ขนาดใหญ่นอกภูมิภาคต่อวงการภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากเงินลงทุนที่มีจำนวนเพียงพอที่จะพัฒนาคุณภาพการผลิตแล้ว ยังรวมถึงการขยายช่องทางการเผยแพร่อีกด้วย เนื่องจากบริษัทต่างประเทศเหล่านี้ ต่างถือสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายนอกประเทศของภาพยนตร์ที่ไปลงทุนสร้าง จึงกำหนดแนวทางการจัดจำหน่ายในต่างประเทศอย่างอิสระ ผ่านรูปแบบของการขายลิขสิทธิ์ หรือการส่งภาพยนตร์เหล่านี้ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ ส่งผลให้ภาพยนตร์จากภูมิภาคนี้ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง


5. การเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิงในภูมิภาคของผู้ประกอบการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 650 ล้านคนhttps://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3138137/netflix-raises-its-bet-films-and-shows-southeast-asia#comments ได้กลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจสตรีมมิ่งในช่วงไม่ถึง 5 ปีที่ผ่านมา สังเกตได้จากการบริษัทสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ของโลกหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น เน็ตฟลิกซ์ เอชบีโอ ดิสนีย์พลัส หรืออ้ายฉืออี้ของจีน ต่างเข้ามาตั้งสำนักงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง แล้วดำเนินกลยุทธทุกรูปแบบในการแย่งชิงฐานลูกค้าภายในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอคอนเทนต์ที่สำนักงานจัดสรรไว้ให้ ไปจนถึงการจัดซื้อคอนเทนต์ของผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือลงทุนว่าจ้างผู้ผลิตท้องถิ่นผลิตคอนเทนต์ขึ้นมาเอง จากนั้นก็เผยแพร่ไปทั่วภูมิภาค หรือในบางกรณีคือการขยายขอบเขตไปทั่วโลก เช่นกรณีของเน็ตฟลิกซ์ที่ซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง Roh (2020) จากประเทศมาเลเซีย และภาพยนตร์เรื่อง ฉีกกฎทดลองผี จากประเทศไทย แล้วเผยแพร่ไปทั่วโลกhttps://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3138137/netflix-raises-its-bet-films-and-shows-southeast-asia#comments หรือบริษัทเอชบีโอที่ซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์เรื่อง On the Job สองภาค ซึ่งออกฉายในปี 2013 และ 2021 แล้วนำมาตัดต่อให้กลายเป็นมินิซีรีส์ขนาดความยาว 6 ตอน ออกเผยแพร่ไปทั่วทวีปเอเชียhttps://en.wikipedia.org/wiki/On_the_Job_(miniseries) เป็นต้น

Roh หนังมาเลเซียที่เน็ตฟลิกซ์ที่ซื้อสิทธิ์ไป

มาโลบิกา เบนเนอร์จิ ผู้อำนวยการฝ่ายเนื้อหาของเน็ตฟลิกซ์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับคอนเทนต์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านทางหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาไว้ว่า “ด้วยความหลากหลายและรุ่มรวยของประเพณีวัฒนธรรม จึงทำให้ภูมิภาคนี้มีเรื่องราวมากมายที่ยังไม่เคยถูกเล่าหรือนำเสนอบนเวทีโลก ดังนั้นอนาคตจึงดูน่าคาดหวังเป็นอย่างยิ่ง”https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3138137/netflix-raises-its-bet-films-and-shows-southeast-asia#comments

การให้ความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่ผลงานภาพยนตร์จากภูมิภาคนี้ออกไปในวงกว้าง ภาพยนตร์หลายเรื่องซึ่งแต่เดิมอาจได้รับความนิยมภายในประเทศ หรือไม่ก็ประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางสตรีมมิ่งที่ก็ทำให้ผู้ชมภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาคเข้าถึงเนื้อหาได้ง่ายขึ้น และหากภาพยนตร์เรื่องนั้นได้รับความนิยม ก็จะถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์สยองขวัญจากมาเลเซีย เรื่อง Roh ที่ภายหลังจากได้รับการเผยแพร่ทางเน็ตฟลิกซ์ก็ได้รับเสียงชื่นชมในทางบวกไปทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็รวมถึง เอ็ดการ์ ไรซ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Baby Driver ที่ได้จัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ในดวงใจเมื่อปีที่แล้วhttps://www.thestar.com.my/lifestyle/entertainment/2021/03/03/039shaun-of-the-dead039-director-calls-malaysian-film-039roh039-039amazing-stuff039


สรุป

จากปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จของภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแผนที่ภาพยนตร์โลก หาใช่เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ก่อตัวเพียงชั่วข้ามคืน หากแต่เป็นการสั่งสมอย่างเป็นระบบและยาวนาน แต่อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่พรมแดนทางวัฒนธรรมของโลกเริ่มพร่าเลือน ความโดดเด่นของผลงานอยู่ที่กระบวนกการสร้างสรรค์มากกว่าความโดดเด่นที่สะท้อนผ่านอัตลักษณ์ของประเทศนั้นๆ จนทำให้ทุกประเทศในทุกภูมิภาคในโลกใบนี้ สามารถยึดพื้นที่ความน่าสนใจบนแผนที่ภาพยนตร์โลกได้ตลอดเวลา คำถามสำคัญก็คือ ภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงความน่าสนใจและน่าติดตามได้อีกนานแค่ไหน

…เวลาและการสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดนิ่งเท่านั้นที่จะเป็นคำตอบ

ซีรีส์แบนปืนจริง! แรงสะเทือนจากมรณกรรมในกองถ่าย

จากอุบัติเหตุในกองถ่ายหนังเรื่อง Rust จนเป็นเหตุให้ผู้กำกับภาพ ฮาลีนา ฮัทชินส์ เสียชีวิต ทำให้ฮอลลีวูดและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งโลกต้องกลับมาทบทวนมาตรการความปลอดภัยในกองถ่ายกันอย่างจริงจัง เพราะอุบัติเหตุที่เกิดจากการยิงปืนประกอบฉากนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกโดย อเล็ก บอลด์วิน

The Frontline องค์กรอิสระเพื่อความเสมอภาค ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่านี่ไม่ใช่เรื่องของ อเล็ก บอลด์วิน แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานกองถ่าย ซึ่งโศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดทั้งยังหลอกหลอนฮอลลีวูดจนปัจจุบัน คืออุบัติเหตุระหว่างถ่ายทำ The Crow เมื่อปี 1993 จากปืนที่ใช้ประกอบฉาก จนส่งผลให้นักแสดงนำ แบรนดอน ลี เสียชีวิตในวัยเพียง 28 ปี โดย แชนนอน ลี ลูกสาวของแบรนดอนได้ทวีตข้อความว่า “ขอส่งกำลังใจให้ครอบครัว ฮาลีนา ฮัทชินส์ และ โจล ซูซา (ผู้กำกับ) รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุในกองถ่าย Rust ทุกคน ไม่มีใครควรถูกปันสังหารในขณะการถ่ายทำทั้งสิ้น”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1984 นักแสดง จอน เอริก เฮ็กซัม ก็เสียชีวิตขณะถ่ายทำซีรีส์ Cover Up ในฉากที่เขาเล่นรัสเซียนรูเล็ตต์และเอาปืนยิงศีรษะตนเอง

นอกจากนี้ The Frontline ยังยกตัวอย่างอุบัติเหตุขณะถ่ายทำอีกหลายเหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นกับทั้งนักแสดงและทีมงาน เช่น จอห์น เบอร์เน็คเกอร์ สตันท์แมนเสียชีวิตขณะถ่ายทำซีซัน 8 ของ The Walking Dead หรือในปี 2014 ทีมงานชื่อ ซาราห์ โจนส์ ประสบอุบัติเหตุในกานถ่ายทำบนรถไฟจนเสียชีวิต ขณะถ่ายทำหนัง Midnight Rider โดยครอบครัวของเธอได้เงินชดเชย 11.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงคนขับเฮลีคอปเตอร์กับทีมกล้องที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ขณะถ่ายทำสารคดีของ Discovery โดยยังไม่นับรวมถึงทีมงานอีกมากมายที่ประสบอุบัติเหตุขณะเดินทางกลับบ้านจากการทำงานหนักในกองถ่ายด้วย

อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่ายร่วมแถลงการณ์เพื่อให้ความมั่นใจกับสังคมถึงการวางมาตรการที่รัดกุมต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นโฆษกของผู้สร้างหนังเรื่อง Rust ที่กล่าวกับ Screen ว่า “ความปลอดภัยของนักแสดงและทีมงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของกองถ่าย Rust และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท แม้ว่าเราจะไม่ได้รับทราบถึงรายละเอียดอย่างเป็นทางการใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาวุธหรืออุปกรณ์ประกอบฉากในกองถ่าย แต่เราจะดำเนินการตรวจสอบภายในอย่างเข้มงวดในขณะที่การถ่ายทำต้องหยุดลง เราจะยังคงร่วมมือกับทางการของเมือง ซานตาเฟ (ท้องที่เกิดเหตุ) ในการสืบสวนและเสนอการเยียวยาด้านสุขภาพจิตแก่นักแสดงและทีมงานทุกคนในช่วงเวลาที่น่าเศร้านี้”

ขณะที่สมาคมผู้กำกับศิลป์ ซึ่งถูกกดดันจากสังคมมากที่สุดจากอุบัติเหตุครั้งนี้ ก็ออกแถลงการณ์ตามมาเช่นกัน “เราเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในการทำงานตลอดเวลา…ไม่มีใครควรเสี่ยงชีวิตเพื่อการสร้างความบันเทิงให้ผู้คน จึงหวังว่าอุตสาหกรรมของเราจะใช้เวลาเช่นนี้เพื่อตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยและการวิธีรับรองความปลอดภัยอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏรรมเช่นนี้อีกในอนาคต”

การขยับเขยื้อนแรกในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดเกิดขึ้นแล้ว เมื่อ อเล็กซี ฮอว์ลีย์ ผู้อำนวยการสร้างซีรีส์ The Rookie ส่งจดหมายเวียนถึงสถานี ABC พนักงานและทีมงานทุกคนว่า นับจากนี้จะไม่มีปืนบรรจุกระสุนทุกชนิดเข้าฉากอีกต่อไป โดยพวกเขาจะใช้ แอร์ซอฟต์กัน (ปืนจำลองแบบ 1:1) และไม่มีกระสุนใดในลำกล้อง แต่จะทำซีจีปากกระบอกปืนในขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่นทั้งหมด โดยฮอว์ลีย์กล่าวว่า “แม้ความเสี่ยงเพียงน้อยนิด มันก็เสี่ยงเกินไปแล้วสำหรับเรา”


ข้อมูลประกอบ

https://www.facebook.com/wejointhefrontline/posts/181643950807418

https://www.screendaily.com/news/calls-for-firearms-ban-enhanced-safety-follow-halyna-hutchins-death/5164533.article

https://www.hollywoodreporter.com/tv/tv-news/rookie-bans-live-guns-on-set-1235035568

ไวรัลที่มาก่อนคลิปสปอยล์ ‘See Paris Die!’

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2005 ที่หนัง House of Wax ฉบับรีบู๊ตที่กำกับโดย เจาเม่ กอลเล็ต เซร่า ออกฉาย มันเป็นปีแรกที่ YouTube เพิ่งถือกำเนิด, Facebook ยังเป็นชุมชนเล็กๆ และ Twitter ยังพัฒนาไม่เสร็จ แต่แคมเปญโปรโมทของหนังก็กลายเป็นไวรัลชิ้นแรกๆ ของโลก ด้วยการ “สปอยล์” ของสตูดิโอเอง!

ในวันนั้น ดาราที่ดังที่สุดใน House of Wax คงไม่พ้น ปารีส ฮิลตัน แต่เธอดังในฐานะเซเลบริตี้ที่มีข่าวฉาว เป็นไฮโซรวยโคตร มีเซ็กซ์เทปหลุดว่อนอินเตอร์เน็ต และมีเรียลิตี้กับน้องสาว The Simple Life (ที่แทบจะเป็นต้นแบบของรายการ ‘ไฮโซบ้านนอก’) เพราะฉะนั้นสตูดิโอเลยต้องโหนเธอไว้ก่อน ซึ่งแน่นอนว่าคาแรกเตอร์คุณหนูผมทองที่มีขาวฉาวนั้น ในขนบของหนังไล่ฆ่าก็ไม่น่าจะรอด

สตูดิโอรู้ว่าคนอยากดูอะไร คงไม่พ้นการตายของ ปารีส ฮิลตัน บนจอใหญ่ ก็เลยผุดแคมเปญ ‘See Paris Die!’ โดยสื่อประชาสัมพันธ์ในตอนนั้นพร้อมโปรยข้อความนี้เต็มไปหมด รวมไปถึงออกคอลเล็คชั่นเสื้อยืด ‘See Paris Die!’ โดยร่วมมือกับแบรนด์ Kitson ซึ่งถือเป็นไอคอนของยุค 00 เพราะเหล่าดาราและเซเลบริตี้มักมาช็อปปิ้งกันที่นี่ จนเป็นแหล่งชุมนุมของเหล่าปาปารัซซี

แต่อะไรก็ไม่สุดเท่าฮิลตันก็มาเล่นแคมเปญนี้กับเขาด้วย เพราะนางก็ ‘แกล้ง’ มาโพสท่าที่หน้าร้านข้างข้อความ ‘See Paris Die!’ ให้ปาปารัซซีถ่ายรูปไปรัวๆ

ทั้งหมดกลายเป็นการช่วงชิงพื้นที่สื่อไปแทบทั้งหมดจนนับเป็นการตลาดแบบไวรัลที่มาก่อนกาล จนทำให้หนังสามารถทำเงินไปมากถึงกว่า 70 ล้านเหรียญฯ เพราะเชื่อว่าใครหลายคนก็คงอยากรู้ว่าฮิลตันจะตายสยองแค่ไหนในหนังเรื่องนี้ ที่ว่าด้วยการจับคนมาทำหุ่นขี้ผึ้งทั้งเป็น

ในเวลาต่อมาฮิลตันให้สัมภาษณ์ถึงการรับเล่นหนังเรื่องนี้ โดยรู้ทั้งรู้ว่าผู้สร้างและคนดูอยากเห็นเธอตายเอาไว้ว่า “หนังมันโหดมาก แต่เพราะมันเป็นหนัง โจล ซิลเวอร์ (ตอนนั้นกำลังมือขึ้นจากการโปรดิวซ์ The Matrix) คอนเซ็ปต์ก็เจ๋งมาก นักแสดงก็เก่ง ผู้กำกับก็เก๋า โอ๊ย แค่นี้ก็คุ้มค่ามากแล้วกับการวิ่งเข้าป่าและถูกเชือดคาจอ”


ข้อมูลประกอบ

https://www.eonline.com/news/1148602/remembering-how-moviegoers-got-psyched-to-see-paris-die-in-house-of-wax

https://bloody-disgusting.com/videos/3439751/kill-week-paris-hilton-dies-house-wax/

100 ปีชาตกาลของ มิโคลส แยงโซช์ ตราบเท่าที่ประชาชนยังคงทวงถาม

หญิงสาวในสภาพเปล่าเปลือยถูกผลักให้เดินหน้าไปยังกลุ่มนายทหารที่ยืนตั้งแถวยาวขนาบข้าง พวกนั้นรุมเอาไม้เรียวฟาดที่ผิวเปลือยของเธอเมื่อเธอถูกบังคับให้วิ่งผ่านรอบแล้วรอบเล่า, “วิ่งไปสิ” นายพลสั่งนักโทษหนุ่ม เขาออกวิ่งตามคำสั่งขณะที่อีกฝ่ายยกปืนลูกซองเล็งประทับบ่า เหนี่ยวไก ร่างนั้นล้มฟุบไม่ไหวติงหลังโอบกอดอิสรภาพได้เพียงไม่กี่อึดใจ, “ฉันขอสาปแช่งเผด็จการทุกคน ขออำนวยพรแก่ทุกคนที่ต่อต้านเผด็จการ และทุกท่านที่ถูกพวกมันทุบทำลาย” เธอประกาศ แผดเผาด้วยแรงแค้นของคนที่ฆ่าพ่อของเธอแม้เวลาจะล่วงผ่านมากว่าสิบห้าปีแล้ว

เรื่องราวในหนังของ มิโคลส แยงโซช์ (Miklós Jancsó) คนทำหนังชาวฮังการีมักกอปรขึ้นมาด้วยองค์ประกอบบางอย่างคล้ายคลึงกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของคนที่ถูกรัฐย่ำยี, การต่อต้านสงคราม, ประเทศฮังการีภายใต้การยึดครองของโซเวียต ตลอดจนเวิ้งภาพทุ่งนากว้างสุดลูกหูลูกตา เกือบทุกเรื่องมีการเมืองและการต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อยเป็นฉากหลังอยู่เสมอ ซึ่งหากมองจากแง่มุมส่วนตัวแล้วอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แยงโซช์เกิดมาในครอบครัวของผู้อพยพชาวทรานซิลเวเนีย ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรมาเนียภายหลังอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีล่มสลายเมื่อสงครามโลกสงบลง ภายหลังเรียนจบด้านกฎหมาย (ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “ผมไปเรียนกฎหมายเพราะตอนนั้นผมไม่รู้จริงๆ ว่าตัวเองอยากทำอะไร” หากแต่ “เราก็ได้เรียนรู้ว่ากฎหมายนั้นคือเสรีภาพ และกฎหมายจะสร้างขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพเท่านั้น”) ในเมืองเปช, ฮังการี และเรียนต่อด้านประวัติศาสตร์กับชาติพันธุ์วิทยาในทรานซิลเวเนีย หนุ่มน้อยแยงโซช์ก็เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง และถูกจับเป็นเชลยสงครามอยู่ช่วงหนึ่ง ภายหลังแยงโซช์หยิบเอาเรื่องราวในห้วงนี้มาดัดแปลงเป็น My Way Home (1965) หนังสงครามที่เล่าถึงเด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่ถูกกองทัพโซเวียตจับตัวไปเป็นเชลย ก่อนจะได้ผูกมิตรกับนายทหารหนุ่มชาวรัสเซียที่ชีวิตถูกชะตากรรมชักจูงให้มาเป็นทหาร ระหว่างที่พวกเขาพยายามหาทางกลับ ‘บ้าน’ ที่ตัวเองต่างจากมา

ปี 2021 นี้เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีชาตกาลของแยงโซช์ คนทำหนังผู้ได้ชื่อว่าเป็นหัวเรือสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฮังการี และได้รับการยกย่องว่าเล่าเรื่องสงครามได้งดงามราวกับบทกวี ทว่าก็ชวนหัวใจสลาย หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงไม่นาน แยงโซช์เข้าเรียนด้านภาพยนตร์ในบูดาเปสต์ ขวบปีแรกๆ เขาเริ่มจากการทำหนังสารคดีขนาดสั้นที่หยิบเอาฟุตเตจภาพข่าวต่างๆ มาเล่าเรื่อง ซ้อนทับไปกับบรรยากาศร้อนระอุของฮังการีก่อนการปฏิวัติครั้งใหญ่ปี 1956 ซึ่งแยงโซช์ (ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ในจีน) เล่าว่าเขา “โชคดีที่ตอนนั้นอยู่ประเทศจีน ไม่เช่นนั้นก็คงถูกยิงตายไปแล้วเพราะคงไปแสดงท่าทีต่อต้านพวกโซเวียตในการประท้วงแน่ๆ” 

The Round-Up

การปฏิวัติฮังการีปี 1956 ลงท้ายด้วยความพ่ายแพ้อันร้าวรานของประชาชนในการต่อสู้กับสหภาพโซเวียต มีคนเสียชีวิตราว 3,000 คนและกลายเป็นบาดแผลฉกรรจ์ของผู้คนในประเทศ มันเป็นความพ่ายแพ้ที่ฝังในแยงโซช์ซึ่งในเวลาต่อมา ไปปรากฏอยู่ใน The Round-Up (1966) หนังยาวที่ส่งแยงโซช์ชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังคานส์ที่พูดถึงสองทศวรรษให้หลังจากการปฏิวัติปี 1848 ของฮังการีภายใต้การนำของ ลายอส คอสซูธ นักปฏิรูปผู้หวังปลดแอกฮังการีจากออสเตรียและลงเอยด้วยความล้มเหลวของกลุ่มปฏิวัติ ยี่สิบปีต่อมา ทางการสร้างค่ายกักกันขึ้นมาเพื่อใช้กุมขังกลุ่มคนที่เคยให้การสนับสนุนคอสซูธ โดยเฉพาะ ซานดอร์ รอซ์ซา ชายนอกกฎหมายที่เชื่อกันว่าเป็นผู้สนับสนุนคอสซูธคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตและเชื่อกันว่าติดอยู่ในค่ายแห่งนี้ นำมาสู่การทรมานนักโทษในค่าย -ทั้งทางร่างกายและจิตใจ- เพื่อควานหาตัวรอซ์ซาซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ในค่ายแห่งนี้

มันเป็นหนึ่งในหนังที่ว่ากันว่าเป็นความทะเยอทะยานอย่างที่สุดของแยงโซช์ ไม่เพียงแต่เลือกจะพูดเรื่องการเมืองและการปฏิวัติในห้วงเวลาแห่งความเงียบที่รัฐสั่ง หากแต่มันยังใช้เวลาถ่ายทำเพียง 25 วัน กับภาพเวิ้งกว้างอันกลายเป็นสัญลักษณ์ในหนังของเขาในเวลาต่อมา ที่ราบฮังการีใหญ่ (Great Hungarian Plain) คือฮังการีในสายตาของแยงโซช์ มันคือทุ่งรกร้างโล่งกว้างกินพื้นที่กว่า 52,000 กิโลเมตร “ฮังการีมีอะไรที่พิเศษหรือ ตัวประเทศ, สถานที่, สิ่งแวดล้อมอย่างนั้นหรือ เราไม่มีมหาสมุทร ไม่ได้มีเทือกเขาใหญ่ แล้วเรามีอะไร… เรามีที่ราบยังไงล่ะ ลองออกไปดูสิ คุณมองออกไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตากว่าที่คุณจะมองเห็นได้เสียอีก ผมว่ามันเป็นสถานที่ที่พิเศษและในยุโรปกลางก็ไม่ได้มีที่ราบใหญ่ขนาดนี้มากนัก” เขาว่า และในเวลาต่อมาทุ่งกว้างของฮังการีนี้ก็เป็นเสมือนหนึ่งในตัวละครหลักในหนังหลายๆ เรื่องของเขา ในฐานะภาพแทนของโลกที่ผิดตายดังเช่นใน The Round-Up หรือพื้นที่ไร้พรมแดนใน Red Psalm (1972)

อย่างไรก็ตาม แม้ The Round-Up จะพูดเรื่องการปฏิวัติในปี 1848 เป็นหลัก หากแต่นักวิจารณ์หลายคนก็มองว่ามันมีกลิ่นอายการพูดถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของฮังการีอย่างการปฏิวัติปี 1956 อยู่มาก เพราะไม่เพียงเป็นการลุกขึ้นสู้ที่ลงเอยด้วยการที่ฮังการีพ่ายแพ้เหมือนกัน แต่มันยังพูดถึงความอำมหิตของรัฐที่ตามจองล้างจองผลาญประชาชนและการต่อสู้ในอดีต ด้วยการพยายามเด็ดหน่ออ่อนที่จะทำให้เกิดการลุกขึ้นสู้ทุกทางอย่างบ้าเลือด เช่นการออกกวาดล้างคนที่เคยให้การสนับสนุนคอสซูธในปี 1848 หรือการปิดปากห้ามไม่ให้ประชาชนพูดถึงการปราบปรามอย่างรุนแรงในปี 1956 ไปอีกสามทศวรรษ (ทำให้แยงโซช์ถูกมองว่า การที่เขาเลือกเล่าเรื่องผ่านการต่อสู้ปี 1848 เป็นเพราะเลี่ยงจะพูดถึงการต่อสู้ปี 1956 โดยตรงด้วย)

ภายหลังแยงโซช์บอกว่า “หนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงแค่ปี 1956 นะ มันพูดถึงผู้คนที่โหยหาอิสระเสรีกับคนที่กดขี่คนกลุ่มแรก และเหล่าคนที่กดขี่นั้นก็มักจะใช้วิธีการแบบเดิมๆ เสมอ ในประเทศที่ปราศจากเสรีภาพ ไม่ว่าจะตุรกี อิหร่าน หรือจีน เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้เอง”

The Red and the White

The Red and the White (1967) หนังต้านสงครามลำดับต่อมาของแยงโซช์ที่ร่วมทุนสร้างโดยโซเวียต-ฮังการี เป้าประสงค์หลักของหนังคือเพื่อเฉลิมฉลองครบ 50 ปีการปฏิวัติเดือนตุลาคมในรัสเซีย (October Revolution -ภายหลังทำให้เกิดสงครามกลางเมืองรัสเซียนานหกปี และเป็นชนวนสำคัญให้เกิดการประกาศตัวเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียในเวลาต่อมา) หากแยงโซช์เลือกจะไม่เล่าถึงการปฏิวัตินั้นโดยตรง แต่เลือกจะพูดถึงช่วงเวลาสองปีให้หลังที่เกิดการปฏิวัติอันนำไปสู่สงครามกลางเมือง โดยหนังเล่าถึงกลุ่มนายทหารชาวฮังการีที่หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลง ก็ตกเป็นเชลยของรัสเซีย และเข้าร่วมกับพรรคบอลเชวิคหลังเกิดสงครามกลางเมือง ทั้งจากความเชื่อว่าพรรคจะช่วยพาพวกเขากลับบ้าน หรือจากความรู้สึกซาบซึ้งต่ออุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์เองก็ตามที

อย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตไม่ปลื้มหนังเรื่องนี้นัก จนมันถูกจับไปแก้ไขเพื่อฉายรอบปฐมทัศน์ ให้เล่าเรื่องความเกรียงไกรยิ่งใหญ่ของสงครามมากกว่าขับเน้นเส้นเรื่องของทหารหนุ่มจากฮังการี แล้วจึงถูกแบนไม่ให้ฉายหลังจากนั้น เชื่อกันว่าเพราะตัวหนังพูดถึงความรุนแรงและความไร้แก่นสารของสงครามที่กลืนกินความเป็นมนุษย์ไปทีละน้อย โดยเฉพาะฉากที่นายทหารแก้เบื่อด้วยการ ‘เล่นเกม’ ส่งเชลยศึกออกวิ่งแล้วยกปืนขึ้นประทับบ่า แล้วยิงทิ้งในนัดเดียว หรือความย้อนแย้งของอิสระเสรีที่ไม่มีอยู่จริงในกองทัพแดง เมื่อทหารใช้ชีวิตอยู่ในเวิ้งกว้างซึ่งอนุญาตให้เขาไปไหนก็ได้ แต่พวกเขาก็ไม่รู้จะไปที่ไหนในดินแดนอันแล้งไร้สุดลูกหูลูกตาเช่นนี้ ตลอดจนหนังมักจะจับภาพตัวละครหลักจากระยะไกลสุดสายตาจะมองเห็น เราจึงแทบไม่อาจระบุได้ว่าชะตากรรมเลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นของตัวละครไหน มีชุดอุดมการณ์แบบใด แต่เรารู้เพียงว่าเขาคือหนึ่งในเหยื่อของสงครามและความป่าเถื่อนเท่านั้น (ทั้งยังถูกขับเน้นด้วยการถ่ายลองเทคสุดพลังจาก ธามัส ซอมโล ผู้กำกับภาพคู่บุญของแยงโซช์ ที่ให้คนดูได้เห็นการกระเสือกกระสนดิ้นรนเอาชีวิตรอดของตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบในระยะไกลลิบตา) และแม้ว่าหนังจะไม่ได้รับความนิยมในโซเวียตนัก แต่มันก็ได้รับกระแสแง่บวกจากในฮังการีจนถูกเอาไปฉายในหลายๆ ประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ จนมันกลายเป็นหนึ่งในหนังของแยงโซช์ได้ได้ออกฉายเป็นวงกว้างมากที่สุด (ทั้งมันยังได้เกือบไปฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ด้วย หากแต่ตอนนั้นฝรั่งเศสจำต้องเลื่อนการจัดงานออกไปก่อนอันเนื่องมาจากการประท้วงรัฐบาลในเดือนพฤษภาคมปี 1968) 

“ทุกคนรู้ว่าฮังการีต้องเผชิญสถานการณ์อะไรบ้าง ไม่ใช่แค่นักวิชาการ นักวิจารณ์หรือคนดูหนังหรอก แม้แต่คนที่ไม่ดูหนังเลยก็รู้ หนังของผมจึงประสบความสำเร็จ เพราะคนรู้สึกว่ามันกำลังเล่าเรื่องบางอย่างซึ่งไม่ได้อยู่แค่สิ่งที่เราเห็นบนจอหนัง แต่ยังมีนัยซ่อนอยู่ด้วย และนั่นแหละคือภาพยนตร์” แยงโซช์เล่า 

“ช่วงนั้นเองที่พวกเขาเริ่มขนานนามผมว่า ‘ผู้กำกับแห่งฉากลองเทค’ สมัยนั้นเราใช้ฟิล์มเนกาทีฟ 35 มม. และจะถ่ายยาวไปเช่นนั้นจนกว่าฟิล์มจะหมดม้วนซึ่งก็อยู่ที่ราวๆ 11-12 นาทีได้ สมัยนั้นการถ่ายแบบมองตาจได้รับความนิยมมาก แต่เราไม่ทำกันแบบนั้นหรอก” แยงโซช์เล่า อย่างไรก็ดี ความที่กล้องที่สามารถบันทึกเสียงด้วยได้ในสมัยนั้นมีขนาดใหญ่เทอะทะและมีน้ำหนักเยอะ ทำให้แยงโซช์กับซอมโลตั้งสร้างขาตั้งกับรางเลื่อนเพื่อรองรับกล้องขึ้นมา และถ่ายทำไปจนหมดม้วนซึ่งแยงโซช์บอกว่า “ทำให้ได้ภาพและมุมดีๆ แบบที่คาดไม่ถึงเชียวล่ะ”

มาร์ติน สกอร์เซซี เคยเล่าถึงหนังแยงโซช์ไว้ว่า “ผมไม่เคยสัมผัสความอ่อนไหวแบบนั้นในภาพยนตร์มาก่อนจนกระทั่งได้ดูหนังของเขา ทุกการเคลื่อนกล้องมันมีความยิ่งใหญ่และสง่างามอย่างยิ่ง”

“ไม่มีหรอก ไม่มีใครเทียบเคียงแยงโซช์ได้ โดยเฉพาะฉากลองเทคกับการบอกเล่าเรื่องราวทางการเมืองอันแสนทรงพลัง โดยเฉพาะฉากจบของ The Round-Up ซึ่งผมว่าเป็นการสรุปภาพรวมได้ดีที่สุดเท่าที่มีคนเคยทำมาทีเดียว… ลองนึกสิว่าคุณได้นั่งตรงนั้น ดูหนังเรื่องนี้ แล้วถูกลากเข้าไปอยู่ในโยงใยของเส้นเรื่องในหนังด้วยการเคลื่อนกล้อง ก่อนจะถูกทุบด้วยตอนจบอันแสนจะสมเหตุสมผล ขอเพียงคุณนั่งดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง แล้วตราตรึงอยู่ในมวลอารมณ์ที่หนังมอบให้ก็พอแล้ว”

Red Psalm (1972)

แยงโซช์หวนกลับไปพูดถึงผลกระทบภายหลังการปฏิวัติฮังการีปี 1848 อีกครั้งใน Red Psalm (1972) หรือ Még kér a nép ซึ่งชื่อเรื่องแปลคร่าวๆ ได้ว่า ‘และประชาชนยังคงทวงถาม’ อันเป็นท่อนหนึ่งของบทกวีอันลือลั่นของ ซันดอร์ เปโตฟี กวีผู้เป็นหัวเรือของการลุกฮือในปี 1848 และเป็นผู้เขียน ‘Nemzeti dal’ หรือเพลงชาติซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแรงผลักสำคัญที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติเรียกร้องแยกตัวจากจักรวรรดิออสเตรียของฮังการี หนังเล่าถึงหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทแห่งหนึ่งในปี 1890s หลายปีให้หลังการปฏิวัติ เมื่อคนงานในฟาร์ม นำโดย แรกซ์เนอ (จอนจี บูโร) หญิงสาวที่พากันหยุดงานประท้วงแต่กลับต้องเผชิญหน้าจากการตอบโต้อันป่าเถื่อนจากรัฐ แยงโซช์ใช้เพลงพื้นบ้านฮังการีเพื่อขับเน้นความผาสุกและความกลมเกลียวของชาวบ้านพร้อมฉากเต้นรำในท้องทุ่ง (จากที่หนังเรื่องก่อนๆ ของเขาแทบไม่มีดนตรีประกอบ) ก่อนจะค่อยๆ เงียบหายลงเมื่อรัฐย่างกรายเข้ามาใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปราม หนังส่งเขาคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและชิงปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และแยงโซช์หวนกลับมาเล่าเรื่องโดบใช้ตัวละครหญิงเป็นหลักอีกครั้งใน Elektra (1974) ที่ถ่ายอย่างบ้าพลังไปที่ 12 ช็อตจากหนังทั้งเรื่องที่ยาว 70 นาที และหยิบเอาตำนานกรีกเก่าแก่มาผนวกรวมกับประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของฮังการี พูดถึง อิเล็กตรา (มารี โทโรสลิค) บุตรสาวของ อะกาเมมนอน ราชาที่ถูก อีจีสธัส ชายที่เป็นชู้กับเมียสังหารและช่วงชิงบัลลังก์ อิเล็กตราจึงใช้ชีวิตด้วยความเคืองแค้นและเฝ้ารอวันที่จะได้ทวงความยุติธรรมให้แก่พ่อของเธอทุกเมื่อเชื่อวัน แม้เวลาจะล่วงผ่านไปกว่าสิบปีแล้วก็ตาม

“หากคนที่ยังอยู่แม้เพียงคนเดียวยังจดจำได้ ก็จะไม่มีใครลืมเลือนได้ลง… เพราะหากการก่ออาชญากรรมเลวร้ายนั้นไม่ได้รับการลงโทษ กฎหมายก็ไร้ประโยชน์ และหากกฎหมายไร้ประโยชน์ เราจะยังต้องมาพูดอะไรกันอีก มนุษย์ย่อมมิใช่มนุษย์อีกต่อไป”

แยงโซช์ใช้ความยุติธรรมจากตำนานกรีกเมื่อสองพันปีก่อนยึดโยงเข้ากับความขมขื่นที่ประชาชนฮังการีร่วมสมัยต้องเผชิญ และมอบความหวังให้แก่คนดูด้วยฉากจบเมื่อเฮลิคอปเตอร์สีแดง -ในนามของการปฏิวัติ- ร่อนลงจอดในทุ่งเล็กๆ และนำพาอิเล็กตรากับคนของเธอไปยังโลกอีกใบเพื่อควานหาความยุติธรรมมาไว้ในมือ 

แยงโซช์เอ่ยปากว่าเขาเป็นมาร์กซิส นั่นทำให้ธีมหลักในหนังของเขาไม่ว่าจะกี่เรื่องต่อกี่เรื่องล้วนเล่าถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่ตกเป็นเหยื่อของสังคม ทั้งจากสงคราม ความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำเสมอ “ใจความสำคัญในหนังของผมไม่ว่าจะยุคไหนนั้นเหมือนกันหมด คือมันว่าด้วยการสำรวจสังคมที่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามเอาเปรียบอีกกลุ่มอยู่เสมอ แม้คนเหล่านั้นจะมาจากชนชั้นที่ได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้วก็ตาม เมื่อใดก็ตามที่พวกเขามีอำนาจพวกเขาก็จะใช้มันเพื่อกดขี่ผู้อื่น นี่เป็นประเด็นหลักที่ผมยังสนใจอยากสำรวจอยู่จนทุกวันนี้” แยงโซช์ว่า “บางทีแล้วคนดูทั่วโลกรับรู้และเข้าใจกลเกมอำนาจนี้มากกว่าที่ผมเล่าไว้ในหนังทุกเรื่องของผมเสียอีก”

ภายหลังจากยุค 70s แยงโซช์เริ่มขยับจากการทำหนังที่มีฉากหลังเป็นภาพอดีตหรือสงครามมาเป็นฮังการีร่วมสมัย และเลือกเปิดเรื่องด้วยลองเทคความยาวสี่นาทีเต็มของชายคนหนึ่งที่ขับรถเปิดประทุนไล่เรื่อยไปตามถนนของเมืองบูดาเปสต์ แม้ว่าหลังจากนั้นเรื่องราวจะขยับไปเล่าเรื่องในชนบทแบบที่แยงโซช์ถนัด ว่าด้วยชีวิตของคุณครูที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณกับลูกสาวในไร่เล็กๆ โดยมีเหล่าลูกศิษย์ลูกหาและเพื่อนครูมาร่วมสังสรรค์ จนเกิดเป็นวงถกเถียงปรัชญาอันนำไปสู่เรื่องลี้ลับบางอย่างในท้ายที่สุด

The Lord’s Lantern in Budapest (1999)

หมุดหมายสำคัญที่ปรากฏในหนังของแยงโซช์ช่วงยุค 90s คือมันจับจ้องไปยังห้วงเวลาแห่งการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในปี 1989 สาธารณรัฐประชาชนฮังการีถูกเปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐฮังการีที่ 3 ในปีเดียวกัน ก่อนจะค่อยๆ จัดตั้งรัฐสภาและตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยในปี 1990 เวลานั้นแยงโซช์ขยับมาทำสารคดีเป็นว่าเล่น ทั้งการจับภาพไปยังเมืองต่างๆ ในฮังการีในสารคดีไตรภาค Kövek üzenete หรือเล่าเรื่องนักไวโอลินตลอดจนวงร็อค และจับความ ‘ความเป็นไป’ ในฮังการีร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องของผู้คนในเมืองซึ่งถูกบอกเล่าผ่านสารคดี หรือระเบิดห้วงอารมณ์ผ่านเพลงร็อคหัวสั่นหัวคลอน โดยแยงโซช์เล่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านและการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ไว้ใน Blue Danube Waltz (1992) ว่าด้วยนายกรัฐมนตรีฮังการีที่ถูกลอบสังหารที่ย่านแม่น้ำดานูบ และ The Lord’s Lantern in Budapest (1999) ที่พูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายหลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ผ่านสายตาของแยงโซช์ที่สมาทานแนวคิดสังคมนิยมเต็มตัว และเลือกเปิดเรื่องด้วยประโยค “หากฉันเป็นสัตว์ ฉันคงไม่เอามนุษย์มาเป็นสัตว์เลี้ยงหรอก” ซึ่งน้ำเสียงเสียดเย้ยและอารมณ์ขันแห้งแล้งเหล่านี้กลายเป็นที่ชอบใจของคนดูหนังรุ่นใหม่ในฮังการีจน The Lord’s Lantern in Budapest เป็นอีกหนึ่งเรื่องของแยงโซช์ที่ประสบความสำเร็จ หนังมองคนรุ่นใหม่ในตัวเมืองที่ใช้เวลาแกร่วไปวันๆ ผ่าน คาปา (โซลตัน มักซี) และ เปเป้ (พีเตอร์ เชอเรอร์) คู่หูที่โยนตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ชวนหัวอันกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ความเป็นที่นิยมของหนังทำให้แยงโซช์สร้างหนังอีกเรื่องที่พูดถึงนายคาปาและเปเป้โดยเฉพาะอย่าง Ede megevé ebédem (2006) ที่วิพากษ์ระบบทุนนิยมซึ่งก่อตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วในฮังการีหลังคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง ผ่านคู่หูที่ใช้ชีวิตโดยไม่คิดอะไรอื่นนอกจากหาเงินมาให้ได้เยอะๆ แบบไม่เกี่ยงวิธี 

ภายหลัง แยงโซช์บอกว่าเหตุผลหนึ่งที่เขาไม่เคยละเลยจะพูดถึงสังคมและการเมืองในหนังของเขาแม้ในวันที่คอมมิวนิสต์ล่มสลายไปแล้วนั้นเป็นเพราะ “ผมไม่ได้เปลี่ยนไป ที่เปลี่ยนไปคือโลกเราต่างหาก อย่างไรก็ตาม ผมไม่ใช่คนที่มองโลกในแง่ร้ายนัก และคิดว่าศิลปิน คนทำหนัง หรือใครก็ตามควรจะเอ่ยปากปฏิเสธต่อความอยุติธรรมซึ่งรายล้อมตัวพวกเราอยู่”

“สิ่งสำคัญคือศิลปินต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองไม่ว่าจุดยืนจะเป็นอย่างไร” แยงโซช์บอก “รัฐ ผู้มีอำนาจล้วนแล้วแต่ชอบคนที่เฉยเมยต่อสิ่งรอบตัวทั้งนั้น เพราะพวกเขาอยู่ได้ด้วยความเมินเฉยของผู้คนเหล่านี้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ความเมินเฉยนั้นแหลกสลายไป ศิลปินก็จะมีอิสระในการสร้างงานและเป็นไทแก่ตัวเองเมื่อนั้น”

ทำไมเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศจึงให้ความสนใจภาพยนตร์ฟอร์มเล็กจากประเทศโลกที่สามอย่างภาพยนตร์ไทย?

เป็นดังที่หลายคนรู้กันว่าเทศกาลภาพยนตร์หลายๆ แห่งถูกจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือฉายภาพยนตร์เพื่อโชว์คุณค่าศิลปะวัฒนธรรมตามศักยภาพที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นพึงมี ซึ่งในงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศหลายงานก็มักจัดกิจกรรมการประกวดและมอบรางวัลด้านต่างๆ ให้คนทำหนัง นักแสดง ทีมงานควบคู่ไปด้วยเสมอ

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 นักทำหนังไทยหลายคนมีโอกาสพาหนังของตนออกไปโลดแล่นที่เทศกาลหนังต่างแดนแล้วคว้ารางวัลกลับบ้านเกิดให้ชื่นมื่นอยู่ไม่น้อย ข่าวดีเหล่านี้สร้างความคึกคักให้แก่วงการภาพยนตร์ไทย ทว่าเมื่อพิจารณาให้ดีข่าวการคว้ารางวัลเทศกาลหนังในต่างประเทศมิได้เพิ่งเกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทย จากอดีตจวบจนปัจจุบันมีนักทำหนังไทยทั้งคนทำหนังสั้น คนหนังยาว ที่พาหนังของตนเข้าสู่เวทีการประกวดในระดับโลกและได้รับคำชื่นชมกลับมา

ดรสะรณ โกวิทวณิชชา

เรานำหัวข้อคำถามตามชื่อเรื่องไปถาม ดรสะรณ โกวิทวณิชชา นักวิจารณ์และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระหลายเรื่องในไทย ดรสะรณตอบข้อสงสัยของผู้เขียนด้วยการถามกลับว่า

“แล้วถามกลับได้ไหมว่าทำไมต้องเป็นหนังฟอร์มใหญ่อย่างเดียว?” 

เขาพยายามอธิบายกลไกว่าเหตุใดนักทำหนังพยายามนำหนังของตนเข้าสู่เทศกาลภาพยนตร์ในประเทศอื่น

“ถ้าจะมองว่าเทศกาลหนังเป็นจุดเหมือน ‘ต้นน้ำ’ จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ กว่าหนังเรื่องหนึ่งมันจะมาเข้าโรงในประเทศอย่างเมืองไทย หนังที่เราดูมันเริ่มมาจากไหน? 

จริงๆ ส่วนหนึ่งมันต้องเริ่มมาจากพื้นที่อย่างเทศกาลภาพยนตร์ การฉายหนังมันไม่ได้แปลว่าอยู่ดีๆ เรานึกจะฉายก็ฉาย แต่การจะฉายหนังเรื่องนี้มันก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ เทศกาลภาพยนตร์ก็เป็นกลไกหนึ่งในนั้น

ยกตัวอย่างเทศกาลคานส์ก็อาจจะเป็นต้นธารของหนังหลายๆ เรื่องที่เราดูกันในท้องตลาดทุกวันนี้แม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม และเทศกาลภาพยนตร์อย่างคานส์เป็นสิ่งที่เริ่มต้นจัดพร้อมกับตัวตลาด (ภาพยนตร์) มันจัดด้วยกัน สิ่งที่เราเห็นก็คือว่าจริงๆ แล้วมันทำงานด้วยกัน มันมีส่วนส่งเสริมกันบางส่วนให้เด่นขึ้นมา นั่นคือหน้าที่ของเทศกาลภาพยนตร์”

ทำไมหนังอาร์ตถึงได้มีโอกาสไปฉายยังเทศกาลหนังต่างประเทศบ่อยกว่าหนังประเภทอื่น สังเกตจากกรณีหนังอาร์ตหลายๆ เรื่องของอภิชาติพงศ์?

“ถ้าเราไปดู Selection (หนังรอบคัดเลือก) ของคานส์จริงๆ เราก็จะเห็นว่าคานส์มีหนังทุกแบบมีแม้กระทั่งหนังตลกก็มี แต่ก็อาจจะไม่ใช่หนังตลกในแบบที่เราเข้าใจ มีหนังแอคชั่นไหม? บางครั้งคานส์ก็สามารถฉายหนังแอคชั่นได้ อย่างหนัง PIXAR ได้ คานส์สามารถฉายหนังหลายๆ อย่างที่เขาคิดว่าดีที่สุดในความคิดของเขา

เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่ง เขาก็ต้องมีมุมมองว่าภาพยนตร์เป็นยังไง มันควรจะมีแต่หนังที่ใหญ่ๆ รึเปล่า ในเมื่อภาพยนตร์มันมีหลากหลายรูปแบบในโลก มีทั้งภาพยนตร์ที่อาจจะสร้างแบบใช้เงินมหาศาล หรือภาพยนตร์อีกแบบที่อาจจะไม่ได้ใช้เงินมากแต่ก็มีคุณค่าในมุมมองทางศิลปะที่เรามองเกี่ยวกับงานชิ้นนั้นได้แตกต่างออกไป

“เราคิดว่าในมุมมองของการเลือก เทศกาลภาพยนตร์มันก็เหมือนแฟชั่นจะมองว่าคนที่มีหน้าที่เลือกตรงนี้เป็นคนกำหนดแฟชั่น กำหนดทิศทางของภาพยนตร์ก็ว่าได้” 

ดังเช่นที่ดรสะรณกล่าว นอกเหนือจากการโชว์ศักยภาพนักทำหนังที่เป็นผู้รังสรรค์ศิลปะแล้วนั้น เทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศระดับใหญ่หลายๆ แห่งยังวางตัวเป็นตลาดซื้อขายหนังและพื้นที่พบปะทางธุรกิจระหว่างนักทำหนัง ผู้จัดจำหน่าย กับนักลงทุนเพื่อมาพบหน้ากัน แต่ฟังก์ชันทางธุรกิจของเทศกาลภาพยนตร์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นตลาดซื้อขายหนังเท่านั้น การได้รับรางวัลและการคัดเลือกจากกรรมการก็นับเป็น ‘ตราประทับ’ ที่ช่วยการันตีคุณภาพและเพิ่มความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ได้อีกด้วย

ก้อง ฤทธิ์ดี

แม้ประเด็นการให้ความสำคัญต่อภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางศิลปะจะเป็นเรื่องถกเถียงมานานภายในประเทศ นักวิจารณ์รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ก้อง ฤทธิ์ดี และนักวิจารณ์ กล่าวว่าความนิยมของคนดูในต่างประเทศนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากเมืองไทย

“มันเป็นเรื่องปกติทุกที่ในโลก หนังหลากหลายมันอยู่ได้เพราะมีคนดูทุกประเภท แต่โอเคบางประเภทมันมีคนดูมากกว่าอยู่แล้ว คนดูหนังแอคชั่น ดูหนังรัก มันก็จะมีมากกว่าคนดูหนังศิลปะหน่อย เรื่องนี้ทุกที่ในโลกมันเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าประเทศไทยผิดปกติหรืออะไร เพียงแต่ว่าในที่อื่นฐานมันกว้างพอ จนแม้แต่หนังที่เล็กมันก็มีคนดูที่ยังพออยู่ได้บ้าง ในเชิงตลาด ในเชิงธุรกิจ คนดูมันก็เป็นตัวที่ทำให้ธุรกิจนั้นมันหล่อเลี้ยงไปได้”

คิดว่าปรากฏการณ์ Thai New Wave Cinemaอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Thai New Wave Cinema ที่นี่ แบบช่วงปี 2540 จะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งไหม

“คือส่วนหนึ่งตอนนั้นหนังเอเชียเป็นกระแสในตลาดโลกด้วย มันมาเป็นแพ็ค มาเป็นแผง มันไม่ใช่แค่ทีมไทยหรือทีมเกาหลี ทีมญี่ปุ่นหรือฮ่องกง แต่พอทุกทีมรวมกันแล้วมันก็ดูสนุก ดูน่าตื่นเต้น 

เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งที่มันเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนมันจะเกิดตอนนี้ได้ไหม อย่างที่เราเห็นมันก็ไม่น่าจะได้ เพราะทีมเกาหลีเขาก็ชี้นำไปคนเดียว ฮ่องกงก็เงียบเหงามาก มันไม่มีบรรยากาศของความตื่นเต้น มันไม่ได้มีบรรยากาศการค้นพบเหมือนตอนนั้น 

เราอาจจะไม่จำเป็นต้องบอกเราอยากกลับไปเหมือนตอนนั้น คืออย่าไปยึดติดกับมัน มันผ่านไปแล้วก็ผ่านไป แต่เราต้องมองว่าไอ้ที่เรามีอยู่เนี่ยเราจะทำยังไงกับมันให้ดีที่สุด แล้วจะทำยังไงให้มั่นใจว่ามันไม่ได้มีแค่เจ้ยคนเดียว” 

นอกจากนี้ก้องยังได้แสดงความเห็นว่าที่ผ่านมาบรรดานักทำหนังไทยที่เคยไปคว้ารางวัลเทศกาลต่างประเทศต่างก็ต้องดิ้นรนด้วยตนเอง แม้มีภาคเอกชนสนับสนุนแต่ก็ยังไม่เพียงพอ สิ่งนี้เองที่ทำให้คนในวงการหนังอิสระของไทยพยายามเรียกร้องให้รัฐเข้ามามีบทบาทมอบความช่วยเหลือมากขึ้น

“เราจะทำอย่างไร… หนึ่ง – คือไอ้คนที่มีความสามารถ (talent) ที่เรามีอยู่เราสนับสนุนเขาให้ได้มากที่สุด สอง – ก็คืออย่าให้เราจมอยู่กับเจ้ยคนเดียว ไม่ได้ไปบูชาตัวบุคคลคนเดียวจนลืมไปว่ามันควรจะมีคนอื่นที่ได้รับการสนับสนุน ไม่ต้องเป็นเจ้ยสอง เจ้ยสาม เจ้ยคนเดียวพอแล้ว

มันควรจะมีระบบที่ทำให้เรามีคนที่จะไปได้ไกลแบบนี้อีก ‘จะทำยังไงให้มันเกิดขึ้นได้’ อันนี้ต่างหากที่จะเป็นคลื่นลูกใหม่ได้ เราต้องแปลงสิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้ให้มันไปได้มากที่สุด ทำยังไงให้คนใหม่ๆ ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองให้ได้ไปไกลเหมือนอย่างเจ้ย อย่างเต๋อ อย่างบาส โต้ง ไทกิ คงเดช ทำยังไงให้มีคนมาทดแทนอยู่ตลอดเวลาโดยที่เขาไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ท้อแท้ สูญหายตายไประหว่างทางก่อน บางคนอาจจะดังกว่าเจ้ยก็ได้ในอีก 10 ปี (หน้า) แต่ถ้าตอนนี้ตัวเขาทำไม่ได้หรือไม่มีอะไรสนับสนุนเลยเขาอาจจะถอดใจ ก็เป็นปกติในประเทศที่มี infrastructure (ปัญหาโครงสร้างสังคม) ฉันต้องทำอย่างอื่นเพราะฉันต้องเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัว มันน่าเสียดาย”

MIDNIGHT CINEMA 06 : Malignant รักของทารกวิกลรูป

0

บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

Madison อยากเป็นแม่มาตลอด เธออยากผูกพันกับใครสักคนทางสายเลือด เพราะเธอโตมาในฐานะลูกที่ถูกเก็บมาเลี้ยง แม้พ่อแม่บุญธรรมจะให้ความรักแก่เธอ แม้เธอจะรักน้องสาวมากเพียงไร แต่พวกเขาก็ไม่ได้เป็นสายเลือดเดียวกัน ตอนนี้เธอกำลังท้องแก่ใกล้คลอด อาศัยอยู่กับสามีที่ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยจะได้ เขาตีเธออยู่บ่อยๆ วันนั้นเธอเพิ่งเลิกงานกลับบ้านมา เหนื่อยล้าทั้งจากงานและการท้อง ไหนจะต้องระวังไม่ให้เกิดแท้งขึ้นมาอีก แต่เขาไม่อยากมีลูก เขาอยากให้เธอเลิกท้องเสียด้วยซ้ำ วันนั้นเธอกับเขาทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กน้อย เขาเผลอผลักเธอจนหัวโขกกำแพงเลือดไหล ทั้งจ็บทั้งโกรธ ทั้งกังวลจนปิดประตูขังตัวเองอยู่ในห้อง คืนนั้นเองมีบางอย่างเกิดขึ้น เธอไปฟื้นที่โรงพยาบาล พบว่าตัวเองแท้งในขณะที่สามีของคุณเธอนอนคอหักตายอยู่ชั้นล่างของบ้าน

จากนั้นก็มีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้น เธอเห็นเงาลึกลับที่นั่นที่นี่ ไฟก็ติดๆ ดับๆ รอบตัว และที่สำคัญเธอพบว่าเธอเห็นนิมิต นิมิตของเธอคือความตาย เพราะเธอเห็นฆาตกรหน้าตาน่าเกลียดไล่ฆ่าผู้คนอย่างเหี้ยมโหด เห็นราวกับอยู่ในบ้านผู้ตายร่วมกันกับฆาตกร เห็นราวกับเป็นผู้ลงมือฆ่า

เราเริ่มต้นกันตรงนี้ ด้วยพล็อตเรื่องที่แสนคุ้นเคย หญิงสาวเผชิญหน้ากับ ผีร้าย/ฆาตกรโรคจิต/ปีศาจโดยลำพัง สังคมชายเป็นใหญ่เชื่อว่าเธอหลอนไปเอง ขณะที่เธอต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดจนกว่าความจริงจะเปิดเผย พล็อตสุดแสนสามัญของหนังสยองขวัญฮอลลีวู้ดที่มาพร้อมกับตัวละครแบบ Helpless Character ความสามัญซ้ำซากจนน่าตกใจว่านี่หรือคือหนังเรื่องล่าสุดของคนทำหนังสยองขวัญคนสำคัญประจำยุคคนหนึ่งอย่าง James Wan 

แต่พอนึกอีกที ก็เป็น James Wan นี่เองที่ปลุกผีหนังบ้านผีสิงและนักไล่ผีในไสตล์หนังสยองขวัญดาษดื่นแห่งยุคทศวรรษ 1970’s ในหนังชุด The Conjuring หรือหนังบ้านผีสิงทะลุมิติจักรวาลแบบหนังสยองขวัญยุค 1980’s อย่างหนังชุด Insidious 

แม้โอกาสจะกลายเป็นหนังชุดหลายภาคของ Malignant อาจจะยากกว่าเรื่องอื่นๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือหนังที่พาเรากลับไปร้านเช่าวิดีโอ พาเรากลับไปหาหนังสยองขวัญนานาประเภทตั้งแต่หนังตระกูล Giallo จากอิตาลี ไปจนถึงหนังสยองขวัญสายตระกูล Body Horrror แบบของ David Cronenberg ที่แม้เขาจะเริ่มทำหนังตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970’s แต่พอมาถึงยุค 1980’- 1990’s เขาก็มีหนังที่เต็มไปด้วย ‘เลือดเนื้อใหม่’ อันลืมไม่ลงตั้งแต่ Videofrome (1983) มาจนถึง The Fly (1986) และ The Naked Lunch (1991) 

งานสยองขวัญแบบ Body Horror เน้นการฉายภาพความบิดเบี้ยว ความเน่าเปื่อยผิดรูปของร่างกายมนุษย์ หนังที่มีทั้งความสยองขวัญจากความกลัว และความขยะแขยงน่ารังเกียจของเลือดหนอง และเรือนร่างที่เป็นเหมือนเนื้อร้าย (Malignant) ความพิกลพิการ ความเป็นสัตว์ประหลาด เราอาจกล่าวได้ว่าหนึ่งในมูลเหตุแห่งความสยองขวัญของหนังในสายตระกูลนี้เกิดจากพื้นผิว/เนื้อหนัง 

ใน Malignant เราอาจแบ่งเนื้อหนังอันชวนขนพองสยองเกล้าออกได้เป็นสองส่วน หนึ่งคือเนื้อหนังของตัวละคร หนังประสมเอาการไล่ฆ่าแบบหนังนักฆ่าถุงมือดำจากหนังอิตาลี หนังมาพร้อมฉากแบบสายตาของฆาตกรที่ลงมือสังหารเหยื่อ แต่การฆ่าใน Malignant นั้นเต็มไปด้วยความขนพองสยองเกล้า มีดปักลงบนร่างเห็นเลือดเป็นลิ่มๆ หรือเห็นเศษเนื้อ การฆ่าในหนังจึงเต็มไปด้วยเนื้อหนังอันขรุขระ เมือกคาว แปดเปื้อน แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือเมื่อหนังเปิดเผยตัวฆาตกร หนังก็เดินหน้าสู่การเป็น Body Horror เต็มตัว ด้วยร่างกายที่ผิดรูป เต็มไปด้วยเมือก เลือด หนอง ฟันที่แหลมคมและพื้นผิวตะปุ่มตะป่ำ ตัวประหลาดของเรื่องอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยความชวนแสยง สมราคาการเป็น Body Horror โดยแท้ 

แต่เนื้อหนังอีกอย่างหนึ่งของหนังคือเนื้อหนังของ VHS ของการเป็นภาพที่มาจากม้วนวิดีโอ ซึ่งสมสภาพกับความ 1980’s – 1990’s ของหนังอย่างยิ่ง จนพอจะบอกได้ว่าในทันทีที่หนังจบลงเหล่า 90’s kids ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่านี่ไงหนังแบบที่ฉันเดินเข้าร้านวิดีโอไปเช่าในทุกเย็นวันศุกร์ หนังสยองขวัญเกรดบีที่ไม่มีความบันยะบันยัง หนังที่ถูกสร้างเพื่อนตอบสนองแฟนตาซีของเด็กวัยรุ่นในการหลบหนีจากโลกสามัญน่าเบื่อชั่วคราว

หนังเริ่มต้นด้วยภาพจากวิดีโอบันทึกการทดลอง และตลอดทั้งเรื่องโดยเฉพาะในครึ่งแรกของเรื่อง ไปจนถึงฉากชวนช๊อคสำคัญของหนัง เกิดขึ้นผ่านภาพในรูปแบบบันทึกของกล้องวดีโอ เนื้อหนังของภาพที่ขาดความคมชัด ถูกแทรกซ้อนด้วยลายเส้นเป็นแถบตามความยับเยินของม้วนวิดีโอ จะว่าไปแล้วในบรรดาสื่อสำหรับการฉายหนัง วิดีโอเป็นสิ่งที่ลึกลับที่สุด คุณภาพของภาพมันจัดว่าค่อนข้างต่ำ หากความไม่ละเอียด การถูกรบกวนด้วยแถบแม่เหล็กยับเยิน สีและความละเอียดก่อให้เกิด พื้นผิว/เนื้อหนังเฉพาะตัว และคุณสมบัติสำคัญของมันเกี่ยวข้องกับยุคสมัยของมัน เพราะมันคือยุคสมัยที่ผู้คนเริ่มเข้าถึงการบันทึกผ่านกล้อง มีม้วนวิดีโอจำนวนมากที่เป็นภาพลับ ภาพบันทึกส่วนบุคคลของคนใดคนหนึ่งครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งที่ไม่เป็นทางการ ไม่ได้อยู่แค่ในมือของสถาบัน แต่อยู่ในบ้านใครก็ได้ ไม่ถูกค้นพบ หรือถูกนับตลอดกาล วิดีโอเกิดขึ้น รุ่งเรืองและสูญดับในยุคสมัยก่อนที่ทุกคนจะอยากถ่ายภาพเคลื่อนไหวลงในโซเชียลมีเดีย ความที่มันราคาถูก และมีอายุทนทานข้ามสมัย ทำให้วิดีโอจำนวนมากเป็นสิ่งลึกลับ การถูกบันทึกที่ไม่ถูกจัดระเบียบและจดจำ ยิ่งไปกว่านั้นคุณสมบัติของการบันทึกซ้ำได้ยิ่งทำให้มันลึกลับมากขึ้นไปอีก ลึกลับถึงขนาดที่วัยรุ่นยุค 1990’s ที่เช่าวิดีโอจากร้านเช่า ต่างรู้กันดีถึงระบบการเอาวิดีโอม้วนเก่าอัดทับหนังเรื่องใหม่ และความลึกลับท้ายม้วนเป็นของหวานและความตื่นเต้นของยุคสมัยที่การเข้าถูกภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเรื่องโป๊เปลือย ยังเป็นไปได้ยากและปิดลับ 

ภาพวิดีโอจึงเป็นภาพของความลึกลับ ม้วนวิดีโอมีอาถรรพ์โดยตัวมันเองไม่ต้องพึ่งอาถรรพ์แค้นโลกของซาดาโกะใน Ringu ที่ใช้ความลึกลับของวิดีโอในการกระจายความอาฆาตของเธอ ในทศวรรษ 2020’s วิดีโอกลายเป็นเนื้อหนังของความลึกลับจากโลกยุค pre internet ช่วงปลายของสงครามเย็น ความไม่ไว้ใจรัฐ และข่าวทฤษฎีสมคบคิดเรื่องการทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือเทปบันทึกภาพของฆาตกรโรคจิตฆ่าคนที่เพิ่งถูกค้นพบวิดีโอให้ผลตรงกันข้ามกับการเปิดเผยจนหมดสิ้นและล้นเกินของคลิปที่มีชื่อสกุลไฟล์ชัดเจน ในกรณีหลังความเล็กจ้อยของไฟล์ กลายเป็นเรื่องของจำนวนที่ล้นเกินที่ทำให้ลึกลับไปแทน 

Malignant อาศัยเนื้อหนังของวิดีโอในการเล่า สร้างเนื้อหนังของหนังอีกแบบ และอธิบายความเป็น Body Horror ที่ไม่ใช่แค่เนื้อหนังของตัวละครที่เป็นสัตว์ประหลาด แต่ยังรวมเอาเนื้อหนัง พื้นผิวของภาพยนตร์เข้าไปด้วย ฉากที่อธิบายความสองชั้นของเนื้อหนังของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ดีที่สุดย่อมคือฉากเครดิตเปิดเรื่องที่เป็นภาพวิดีโอของชิ้นเนื้อ การผ่าตัดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และก้อนเนื้อประหลาด

จากนี้ไปเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ในทันทีที่ Malignant เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับ Gabriel ฆาตกรถุงมือดำว่าคือใคร มันก็ชวนให้ตั้งคำถามทันทีว่า หรือว่าที่จริงเราอาจมองหนังเรื่องนี้ในฐานะของหนังเควียร์ ยิ่งเมื่อมานึกว่า Gabriel คือร่างชาย (แม้ว่าชื่อ Gabriel จะสามารถเป็นได้ทั้งชายและหญิง) ในตัวหญิงอย่าง Madison ตัว Gabriel คือ ‘Malignant’ คือเนื้อร้าย คือส่วนที่ผ่าตัดออกทิ้งไม่ได้ ยึดติดอยู่กับร่างแบบแฝดสยาม หมอเลยต้องซ่อนเอาไว้ข้างในร่างกายแล้วเย็บปิดแทน ก่อนจะถูกทำให้ปริแตกออกผ่านทางการทำร้ายผู้หญิงในโลกชายเป็นใหญ่ เมื่อสามีของ Madison ตบตีเธอ และตัวเธอเอง หมกมุ่นกับความเป็นแม่ ความผูกพันทางสายเลือดราวกับว่ามันคือเป้าหมายเดียวที่เธอมีชีวิตอยู่เพื่อ เหยื่อในโลกปิตาธิปไตยถูกทำร้ายและเปิดเผยตัวตนที่เก็บซ่อนไว้ออกมา 

การที่ Gabriel เป็นเนื้อร้ายที่ต้องถูกกำจัดหรือเก็บกดเอาไว้ภายใน ทำให้นึกถึงสารคดีเรื่อง Intersexion (2012, Grant Lahood) ซึ่งเป็นสารคดีที่ไล่สัมภาษณ์บรรดา คนที่เกิดมาโดยมีสองเพศโดยกำเนิด และฉายภาพชีวิตอันยากลำบาก ทุกข์ระทม และบางคนก็อันตรายถึงชีวิต อันเป็นผลจากการเลือกเพศ และข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่อง Nature VS Nurture ที่เป็นความขัดแย้งระหว่าง เพศนั้นถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติ กับเพศนั้นสามารถเลือกได้ผ่านการเลี้ยงดู โดยทั้งสองแบบได้ทำลายผู้คนที่อยู่กึ่งกลางของมันอย่างรุนแรงมาตลอด มีคนที่ถูกพ่อแม่บังคับเลือกเพศโดยจัดการตอนอวัยวะเพศอันใดอันหนึ่งออกและหวังว่าการเลี้ยงดูจะทำให้เลือกเพศได้และพบว่าเลือกเพศผิดในท้ายที่สุด บางคนถูกตัดคลิตอริสและหมดโอกาสที่จะถึงจุดสุดยอดทางเพศไปตลอดกาล บางคนเข้ารับการรักษาด้วยฮอร์โมนและทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมามากมาย ชีวิตผู้คนทุกข์ระทมจากการคิดว่าช่วยโดยวิทยาศาสตร์และศาสนา ทำให้นึกถึงชีวิตของ Madison ที่ถูกทีมงานวิจัยบังคับเลือก ยิ่งเมื่อหนังเปิดเผยว่าเธอเป็นลูกของแม่ที่อยู่กับแม่ของแม่ที่คลั่งศาสนา ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ศาสนากับวิทยาการการแพทย์ ทั้งช่วยปลดปล่อย หากในขณะเดียวกันก็กักขังผู้คนอย่างยิ่ง ยิ่งเมื่อเราเห็นว่า อาวุธที่ Gabriel เลือกใช้ในการสังหาร เกิดจากถ้วยรางวัลงูพันไม้เท้า ที่เป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์ กล่าวให้ง่ายมันคือการต่อต้านตัวการแพทย์ที่ขังเขาไว้ในร่างของ Madison การฆ่าของ Gabirel เกิดขึ้นจากสองอย่างคือความแค้นที่มีต่อบรรดาหมอๆ และการรู้สึกว่าตนเองถูกแย่งชิงความรักไป ไม่ใช่เพราะความรักของ Madison กับสามี แต่กับน้องสาวบุญธรรม ซึ่งเป็นได้ทั้งความรักแบบครอบครัว และแบบเควียร์ ศัตรูหัวใจคนสำคัญที่สุดจึงเป็นตัวน้องสาวนั่นเอง 

แต่ถึงแม้หนังจะพูดถึงตัวละครเควียร์ แต่มันเป็นหนังเควียร์ที่ท้าทายหรือเปล่า 

ดังที่รู้กันดีว่า James Wan เป็นคนทำหนังอนุรักษ์นิยมที่อาจจะก้าวหน้าแต่ก็เป็นอนุรักษ์นิยม แก่นแกนของหนังอย่าง The Conjuring และ Insidious คือการเชื่อมั่นว่าความรักจากครอบครัว การร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะทำให้เราชนะปีศาจที่กัดกินความอ่อนแอ ความโกรธ ความผิดหวัง และความกลัวของมนุษย์เป็นอาหาร ความรักของสองผัวเมียวอร์เรน ที่สอนให้บรรดาพ่อแม่พี่น้องของเหยือปีศาจใช้ความรักเอาชนะความกลัวให้ครอบครัวกลับมาสู้ร่วมกัน เป็นทางออกเสมอในหนังของเขา

มันจึงยากที่เราจะได้เห็นการเฉลิมฉลองเลือดแนื้อชนิดใหม่แบบในหนังของ David Cronenberg ขั้นสูงสุดที่หนังให้ได้คือการทำให้ตัวตนของ Gabriel สงบลง และแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้นที่จะนับว่าเป็นครอบครัว ความสัมพันธ์ของครอบครัวชนิดใหม่ไม่ต้องมีสายเลือดเป็นศูนย์กลาง แต่มีความรักเอื้ออาทรต่อกันเป็นศูนย์กลาง จนเราอาจบอกได้ว่าเป็นน้องสาวคนสวยของ Madison ต่างหากที่เป็นผู้ปราบผีร้ายในนามของ Gabriel อีกเพศหนึ่งในร่างเดียว ถึงที่สุด Madison ต้องเลือกเอาเพียงร่างหนึ่ง ซึ่งก็คือร่างแบบ Heterosexual ที่เก็บความเป็นอื่นกลับเข้าไปไว้ภายใน แทนที่จะปลดปล่อยมันออกมา

เมื่อมองในแง่มุมนี้หนังก็เลยตอบสนองแฟนตาซีประการหนึ่งของอนุรักษ์นิยมที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองในสังคมรักต่างเพศร่วมสมัย ด้วยการให้เลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจไม่จำเป็นต้องเลือแบบเดียว แต่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่จำเป็นต้องสร้างครอบครัวทางการสืบสายเลือด (ที่ออกแบบมาสำหรับความสัมพันธ์รักต่างเพศเท่านั้น) จะเลือกครอบครัวแบบอื่นก็ได้ แต่ครอบครัวยังคงดำรงคงอยู่ 

ในแง่นี้ความเป็นไปได้อื่นๆ ในความสัมพันธ์ของ Gabriel กับ Madison สังคมฆราวาสกับศาสนา สังคมวิทยากับการแพทย์ จึงเป็นเพียงการลดทอนออกให้เหลือความเป็นไปได้เพียงไม่กี่แบบซึ่งก็คือรูปแบบของความเป็นไปไม่ได้ เนื้อร้ายจึงเป็นเพียงเนื้อร้ายไม่ใช่เนื้อเลือดแบบใหม่ และถึงที่สุด เป็นไปตามขนบของหนังสยองขวัญ กล่าวคือ โลกแบบเดิมกลับมาสงบสุขอีกครั้งหนึ่งหลังจากหนังจบลง

วิมานดารา (2517/1974, ชุติมา สุวรรณรัตน์) : ‘Nobody Some Day’

เปิดฉาย: 19 มกราคม 2517, เพชรรามา

ก่อนเขียนถึงกับต้องเตือนตัวเองว่า ห้ามใช้คำประเภท ‘มาก่อนกาล’ ‘ถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง’ หรือแม้กระทั่ง ‘ถูกหลงลืมไปกับวันเวลา’ ซึ่งเสียดเย้ยเนื้อหาของหนังที่พูดถึงการเอาชนะยุคสมัย เพราะเอาเข้าจริงๆ หนังกลับถูกลืม แม้ในวันเวลาของตัวหนังเอง คือหนังไม่ประสบความสำเร็จเอาเลยเมื่อคราวฉายครั้งแรก แต่พอได้ดูกลับพบอะไรว้าวๆ

อย่างแรก หนังมีการพูดถึง ‘การประกาศสงครามกับยุคสมัย’ (ในเรื่องใช้คำคำนี้จริงๆ) เพียงเพราะมาตรงกับ disruption ซึ่งเป็นเรื่องที่บรรดาสื่อยุคนี้กำลังเผชิญอยู่พอดี

อย่างสอง บ้านเอเอฟ จริงๆ เมืองไทยและหนังไทยเราก็เคยทำมาก่อน แถมมิใช่ดึงเอา ‘นักล่าฝัน’ มาเก็บตัวอยู่ในบ้าน แต่เป็นการรวมเอาคนสร้างงานจากหลากหลายแขนงอาชีพอย่างนักร้อง, พระเอกหนัง, นักขับรถแข่ง, ดาวตลก แล้วก็นักมวย ซึ่งแต่ละคนล้วนมีคำว่า ‘อดีตๆๆ’ นำหน้าเหมือนกันหมด (อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง)

ยังมีทึ่งสามอีก คือชื่อตัวละครในเรื่อง (คราวนี้เป็นหญิงสาวแล้ว) คือแกนนำคนสำคัญที่ริเริ่มควานหาคนเก่าๆ ที่ทั้ง out แล้วก็ถูกยุคสมัย disrupted คือตัวละครของ มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช ที่ในเรื่องใช้ชื่อ ‘ชื่นชีวา เยาวลักษณ์’ ก็บังเอิญเข้าไปใกล้กับคนที่ใช้ชื่อนี้จริงๆ (ตามบัตรประชาชน) ใช่ครับ เพื่อนๆ อ่านแล้วเก๊ตตรงนามสกุลใช่เปล่า นามสกุล (ที่แม้จะ) สมมติ คือเหลือนิดเดียวก็เป็น ‘เชาวราษฎร์’ แล้ว และคนที่มีตัวตนอยู่นอกจอเองก็มีศักดิ์เป็นหลานคุณเพชราจริงๆ ด้วย 

แต่นั่นคงยังไม่เท่ากับ (ช็อค + เซอร์ไพรส์ สี่) ที่มีเรื่องซุบซิบใต้เตียงดาราที่ดังมากกๆๆๆๆ ซึ่งก็บังเอิญไปพ้องกับเรื่องราวของตัวนักแสดงในเรื่องเข้าให้จริงๆ แถมยังเป็นเหตุการณ์ที่อึกทึกครึกโครม เอาในเวลาที่หนังออกฉายไปแล้วร่วมๆ สองปี เมื่อมีข่าวนักแสดงสาวซึ่งจู่ๆ ก็ตั้งครรภ์อย่างลึกลับ โดยในตอนนั้นเธอผู้นี้ไม่เคยมีข่าวข้องแวะกับเพื่อนนักแสดงชายคนไหน จนกระทั่งฝ่ายชายเผยตัวก็วงแตก เพราะข้อมูลตามพื้นที่สื่อเปิดเผยแค่ว่าพ่อหนุ่ม (ก็พ่อของเด็กในท้อง) แต่งงานมีภรรยาเป็นสาวแอร์อยู่ในสายการบินประจำชาติอยู่ก่อนแล้ว พอความเริ่มแดง ก็ต้องยอมรับด้วยกันทั้งสองบ้าน จนกระทั่งเด็กคลอด จนทุกวันนี้ก็ได้เติบโตมีอายุโดยไม่ข้องแวะกับวงการบันเทิงเหมือนรุ่นพ่อแม่โดยเด็ดขาด ส่วนฝ่ายชายหลายปีให้หลังก็มี ‘หมายเลขสาม’ อยู่กินจนถึงทุกวันนี้

อย่าเพิ่งถามเลยครับว่าดาราหญิงคนนั้นคือใคร ตัวละครที่ถูกพาดพิงถึงหมายถึงใครๆๆ บ้าง รู้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเรื่องบังเอิญที่ไปตรงกับพล็อตในหนัง ‘วิมานดารา’ เข้าให้เต็มๆ เพียงแค่ว่าตอนมีหนังเรื่องนี้ เหตุการณ์จริงนอกจอยังไม่เกิด เหมือนหนังหนึ่งเรื่องได้ทำการพยากรณ์ถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงร่วมๆ สามสี่อย่างเข้าไปแล้ว และในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องกระแสที่มัน retro ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเพิ่มเรื่องของการกลับมาของแผ่นไวนิลที่แพงระยับจับไม่ลงเข้าไปอีกอย่าง ซึ่งในเรื่องเป็นสมบัติส่วนตัวในยุครุ่งเรืองของนักร้องที่พ้นวันเวลาของตัวเองไปแล้วคือคุณสุเทพ (เอ้ย! พลั้งไปหน่อย) ‘พรเทพ วงศ์เทวัน’ (เหม่งๆ ตุ้ยๆ มั้ยครับซึ่งก็เหมือนเมื่อกี้ แค่พลิก ‘กำแหง’ เป็น ‘เทวัน’ ซะก็เข้าใจตรงกันแล้ว)

ตอนนั่งดูถึงซีนที่พรเทพเรียกพ่อค้ารับซื้อของเก่ามาซื้อแผ่นเสียงในบ้าน ผมถึงกับอุทานโหวววว นี่มันยอมให้เค้าเอาเปรียบกันชัดๆ แต่อย่าห่วงครับอะไรที่เหมือนเป็นฉากหลุด คนทำเขารู้ ไม่นานเขาก็รีบหาทางอุดรูรั่วที่ว่านี้ให้เอง ถึงได้ปล่อยตัวละคร ‘ชื่นชีวา’ เข้ามาทาบทาม ขณะเดียวสภาพบ้านของพรเทพในเรื่องยังมีการจัดอาร์ตไดฯ ให้ออกมาแลดูละม้ายบ้านเช่าในหนังอีกเรื่องที่สุเทพแสดงนำเหมือนกันคือ ‘สวรรค์มืด’ (2501/1958, รัตน์ เปสตันยี) ทีนี้พอหนังเปิดเรื่อง ด้วยความที่คุณสุเทพเป็นนักร้องดังอยู่ก่อนแล้ว เห็นที่ไหนก็จำได้ เค้าก็เปิดเรื่องโดยให้นักร้องอีกคนซึ่งหนุ่มกว่าและกำลังดังช่วงหนังกำลังถ่ายคือ ธานินทร์ อินทรเทพ ทว่าออกมาร้องเพลงดังของสุเทพคือ ‘เท่านี้ก็ตรม’ (“เท่านี้ก็ตรมหนักหนา แล้วใยต้องมาใช้ความเย็นชาฆ่าฉัน” / “วันนี้ปรีดา พรุ่งนี้ปราชัย” ซึ่งพูดถึงความไม่แน่นอนของวันเวลา + ยุคสมัย) ประเดี๋ยวก็เอาไมค์ไปจ่อปากพรเทพ ประมาณว่าชวนมาแบ็ตเติ้ล ด้วยเพลงเพลงเดียวกัน โดยใครดูก็จะมองออกว่าเสียงไม่ตรงปากซึ่งเชื่อว่าไม่ใครก็ใครคงนึกตำหนิว่ามิกซ์เสียงมาชุ่ย ทว่าให้รอก่อน เพราะหลังจากนั้นก็มีเสียงโห่ฮาป่ามาจากแขกในไนต์คลับ ซึ่งจะเป็น reaction ที่แสดงออกต่อนักร้องเสียงขาดคุณภาพ ขณะที่อีกด้านหนึ่งของกระบวนการสร้างในยุคนั้น ยังไม่ให้ความสำคัญกับการบันทึกเสียงขณะถ่ายจริง คนดูในโรงเลยไม่รู้ว่า ‘พรเทพ’ ร้องเพลงห่วยแตกแค่ไหนซึ่งพอมาเป็นหนังที่ต้องมาลงเสียงพากย์กันทีหลัง เขาก็ใช้วิธีเล่นกับเรื่องเสียงร้องไม่ตรงปาก

สุเทพ (‘วงศ์กำแหง’ ซะทีล่ะ) ใจถึงมากที่กล้าลงมาเล่น + เป็นโปรดิวเซอร์หนังเสียดเย้ยวันเวลาที่ (ดูเหมือนว่า) ของตนได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยไม่ห่วงภาพลักษณ์ ด้วยการสมมติจักรวาลในหนังด้วยชื่อซึ่งยังคงมีเค้าของตัวต้นตำรับอย่าง นักร้อง (ว่าไปแล้ว), นักขับรถแข่งที่ชื่อ ‘ปิติ’ ก็กร่อนมาจากชื่อตัวคนแสดงคือ ‘ปรีดา’ (จุลละมณฑล) มาติดตรงบทนักมวยที่ (ถ้าเกิดไม่ทัน + ไม่รู้จัก = แถมหนังไม่ขึ้นไตเติ้ลต้นเรื่องอีกตะหาก 5555) ถึงอย่างไรคนดูก็ assume ได้เองในใจว่าต้องเป็นนักมวยอาชีพจริงๆ ในเรื่องใช้ชื่อ ‘สิงห์ แผ่นดินทอง’ ซึ่งไม่เหลือเค้าของชื่อเจ้าตัวคนแสดง แต่หนังเค้าก็ทำหลุด คือเผลอปล่อย goof ขึ้นจอให้เอาฮา คือมีพวกภาพ + ปกแม็กกาซีนหมัดมวยโชว์ยุคสมัยที่ยังรุ่ง แล้วขอบล่างไม่มีการรีทัชลบชื่อ ‘โผน กิ่งเพชร’ จนทำเอาใครที่ยังไม่เคยเห็นหน้าโผนมาก่อน ก็ได้เห็นกันบนจอซะที (ซึ่งจะต่างจากเคสของ พรเทพ/สุเทพ ครับที่ช่วงล่างแผ่นเสียงมีการลบชื่อตัวออกจนเกลี้ยง แล้วใช้ฟ้อนท์ชื่อตัวละคร (‘พรเทพ วงศ์เทวัน’) ทับลงไปแทน มั่นใจว่า ถ้าแผ่นล็อตนี้หลุดเข้าสู่ระบบ มีหวังราคาคงพุ่งปรี๊ดดจนประมาณค่ามิได้ชัวร์) แล้วทั้ง สิงห์/โผน กับ พรเทพ/สุเทพ มีการเชื่อมร้อยเข้าไว้ด้วยกันด้วยภาพเข้ารับรางวัลพระราชทานของทั้งสองอาชีพจากในหลวง + ราชินีองค์ที่แล้ว (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงต้องทำกราฟฟิกให้ดูเป็นภาพ abstract ด้วย)

เหลือตัวพระเอกหนังซึ่งเป็นข้อบังคับให้ใช้ดาราจริงๆ ไว้เรียกคนดู แต่สมมติให้เป็นพระเอกที่เคยดัง (ทั้งๆ ที่ยังมีตัวเลือกอื่นที่ ‘ใช่’ กว่าอย่างชนะ ศรีอุบล, สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ซึ่งขณะนั้นยังมีสุขภาพดีอยู่แท้ๆ) แต่พอใช้ สมบัติ เมทะนี การสร้างโลกสมมติในหนังก็จะดูง่ายขึ้นคือจะให้ชื่ออะไรก็ได้ สุดท้ายก็มาลงที่ชื่อวิษณุ 

ด้วยเงื่อนไขและโครงเรื่องของการควานหาตำนานที่ถูกลืม ออกมาดูคล้าย ‘7เซียนซามูไร’ บ้าง ดูๆ ไปอาจชวนให้นึกถึง ‘ทอง’ (ตัวต้นตำรับ) บ้าง แต่พออยู่ไปซักพักก็พบบางอย่างที่ไม่ค่อยมีให้เห็นกันในหนังไทยยุคก่อนอย่างการเล่นกับการซ้อนทับกันระหว่างความจริงกับความลวง อย่างซีนที่เห็นผัวเมียทะเลาะกันหน้าไนท์คลับ แล้วมีไอ้หนุ่มซักคนยืนหน้าเด๋ออยู่ข้างๆ ประมาณว่าเป็นพวกตะเข้ + ตะโขงมารอรับนักร้องไปส่งบ้าน ยังไม่ทันไร พอกล้องถอย + ดอลลี่ภาพออกนิดเดียว สเปซก็เปิดออกกว้างขึ้นเห็นกล้อง เห็นรางดอลลี + รีเฟล็กท์ถึงได้เก๊ต อ้อ นี่เค้ากำลังถ่ายหนัง หรืออย่างซีนเปิดตัว สิงห์ นักมวยเก่าที่กำลังนั่งจมขวดเหล้าแล้วมีนักมวยรุ่นน้องเข้ามาทักซึ่งนอกจอก็เป็นมืออาชีพจริงคือ ผุดผาดน้อย วรวุฒิ ที่เข้ามาชักชวน พร้อมตั้งเสนอช่องทางหาเงินด้วยวิธีล้มมวย โดยตัวเองจะขอออมมือ แกล้งแพ้ แล้วเงินรางวัลก็ยกให้สิงห์ทั้งก้อนว่าแล้ว (สิงห์ – นักมวยตัวละคร) ก็ซัดนักมวย (นอกจอก็เป็นนักมวย – ผุดผาดน้อย วรวุฒิ) กันจริงๆ แบบไม่ต้องรอขึ้นเวที

มีตัวละครอยู่บทหนึ่งที่คงได้อนุสนธิจากความซ้อนทับ กำกวม มองได้หลายมิติ ก็คือ ‘ชบา’ ที่ในเรื่องเป็นสาวรับใช้ช่วยงานทั่วไปภายในบ้านซึ่งแม้แต่ซีนเปิดตัวยังมีการเอาแก้วน้ำมาบังใบหน้าซึ่งตอนนั้นคนดูคิดไปไกลแล้ว แต่หนังก็ไม่ได้พาอะไรไปเกินเลยกว่าภาพที่เห็นคือทั้งเรื่องตัวละครชบาคนนี้พูดไม่ได้ คือเธอเป็นใบ้ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่กลายเป็น signature ของคุณทัศนวรรณ เสนีย์วงศ์ ในจักรวาลหนังของชุติมา สุวรรณรัตน์ไปแล้ว

อย่างใน ‘ทับนางรอ’ (2516) ก็รับบทเป็นเด็กสาวที่เกิดมามีใบหน้าขี้ริ้วขี้เหร่ซึ่งสอดรับกับคติวิถีพื้นถิ่นเกี่ยวกับเรื่องปีศาจ, ‘สตรีที่โลกลืม’ (2518) ก็แสดงเป็นหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อมารสังคม และตัวละคร ‘ชบา’ ใน ‘วิมานดารา’ ก็ถูกจัดวางมาให้ขัดกับจารีตนิยมของตัวละครในหนังอย่างแรกคือเป็นสาวใช้ซึ่งมิใช่ตัวประกอบ แต่เป็นบทบาทที่อยู่แถวหน้า เมื่อเรื่องเข้าองค์ที่สามและที่ลืมเสียมิได้ก็คงเป็นตัวละครที่ต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ไม่มีบทพูดตลอดทั้งเรื่อง

นั่นก็คือหลังจากที่สนุกกับการเล่นกับความกำกวมอันเกิดจากการซ้อนทับระหว่างความจริงกับความลวง พอเข้าองก์สาม หนังก็หักเหไปเล่นกับมุมมองที่มองได้หลายด้าน โดยเฉพาะกับตัวละครหญิงที่เจรจาสนทนากับใครไม่ได้เอาเลย นอกจากภาษามือ ทีนี้เส้นเรื่องก็วางเรื่องของชายหื่นบ้านตรงข้ามที่ดอดเข้ามากระทำละเมิดชบาถึงในห้องนอนซึ่งการจัดวาง + execute ตรงนี้เล่นก็ยังกับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเช่นกัน นั่นก็คือ

ผกก.ชุติมาดีไซน์บรรยากาศในพาร์ตที่ว่าให้ออกมาดาร์ก (ในเวลาที่แทบไม่ค่อยเห็นมีเรื่องไหนทำ) คือทุกฝ่ายอึดอัดกันไปหมด = ตัวผู้ก่อการเองก็ต้องเงียบ หญิงสาวเป้าหมายเองก็พูดไม่ได้ (แถมยังเกิดในเวลากลางคืนอีกตะหาก)

เป็นใครๆ ก็เศร้าขมขื่นแล้วก็โศกตรม แต่ข้างในยังสุขปะปนกัน เมื่อรู้ (ถึงจะเป็นแค่ ‘เข้าใจฝ่ายเดียว’) ว่าคนที่ตัวเองแอบชอบ (เท่าๆ กับที่ฝ่ายหญิงเองก็มโนเองอีกชั้นว่าฝ่ายชายก็คงชอบตัวเองด้วย – หนังถึงใส่ซีนสองคนดูทีวีถ่ายทอดรถแข่งที่มีเพื่อนในบ้านลงสนาม) กำลังย่องเข้ามาหาถึงในบ้าน + แมวขโมยบ้านตรงข้ามย่องเข้ามาหาถึงในห้องชายหนุ่ม (วิษณุ – พระเอกหนังที่ตอนนี้เป็นแมวเก้าชีวิตแล้ว) รูปการณ์ก็ยิ่งเหมาะเหม็งไปด้วยกันพอเหมาะพอดี ครั้นเรื่องบานปลายถึงขั้นมีท้องไส้ คือทุกอย่างทั้งมืด, ทั้งเงียบ + ทั้งบรรยากาศ, ภาวะทางจิตใจ ที่กินเวลายาวนานนับจากช่วงเกิดเหตุจนถึงผลกระทบ

โครงเรื่องเองก็ให้การคุ้มกันตัวละครผู้ก่อการด้วยอีกชั้น คือตลอดทั้งพาร์ตนับตั้งแต่ซีนเปิดตัวจนถึงลูกคลอด ไม่มีการให้ตัวเจ้าเพื่อนข้างบ้าน + แมวขโมยได้ปริปากพูดแม้แต่คำเดียว (จนเผลอๆ น่าจะมีใครสงสัยว่านี่ก็พูดไม่ได้เหมือนกัน เผื่อจะได้สร้างบาลานซ์กับชบา) ซึ่งตรงนี้คนดูที่เกิดไม่ทันจะได้เปรียบมาก คือจะรู้สึกถึงความทะมึนทึมของคนที่ไม่รู้จักหน้าค่าชื่อ ยิ่งเรื่องชื่อตัวด้วยแล้วก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะหลังจากเรื่องเกินเลยไปถึงไหนต่อไหน ถึงค่อยมาเปิดเผยตัวว่าชื่อเจ้า ‘เริงศักดิ์’ (นฤพนธ์ ดุริยพันธ์ุ)

แต่คนที่รับทั้งขึ้นทั้งล่องกลายเป็นตัวชบา ที่เข้ามาเพิ่มมิติความหม่นหมองให้กับเส้นเรื่อง จนคนดูลืมนึกถึงเรื่องของเอเอฟวัยดึกไปกันหมด (รวมตัวเจ้าของโครงการอย่าง ชื่นชีวา เสียสนิท) อาจเพราะมีงานมีการทำ + มีโอกาสที่สองไปกันหมด เพราะความเป็นดราม่าจะมากระจุกอยู่ที่ตัวละครชบาเต็มๆ เพราะไม่ว่าช่วงกำเนิดกุมาร-ทารกคลอด หรือแม้แต่การตัดสินใจแทนคนดู (โดยเฉพาะในสิ่งที่คนดูอยากเห็น) คือการลงโทษฑัณฑ์คนอย่างเริงศักดิ์ซึ่งเป็นแค่ความรู้สึกชั่วแล่น แล้วหลังจากนั้นผลข้างเคียงก็จะตามมาแบบไม่มีหยุดยั้งโดยเฉพาะในแง่ของข้อกฎหมาย เมื่อการเลือกของชบา คือตัดสินใจ และการตัดสินใจได้นำพาไปสู่อุบัติเหตุ แล้วอุบัติเหตุก็นำมาซึ่งความตาย

เมื่อถึงที่สุดก็กลายเป็นว่าสิ่งที่ ‘วิมานดารา’ ต้องการพูดถึง เป็นเรื่องของผู้หญิง (อย่างชบา) แล้วทุกอย่างก็วกกลับมาสร้างวงจรอุบาทว์ซึ่งมีผลชี้เป็นชี้ตายให้กับสถานภาพดาราอย่างวิษณุก็คือข่าวที่คงซุบซิบไม่ออก เพราะเล่นขึ้นหน้าหนึ่งนสพ. โดยที่เจ้าตัวพระเอกไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นใดๆ กับเขา นั่นคือเมื่อเป็นดารา ขั้นต่อไปก็คือตกเป็นข่าว แล้วโครงการชุบชีวิตดาราที่ถูกลืมโดยวันเวลาให้มารวมตัวกันอยู่ใน ‘วิมาน’ ก็สนองรับแบบครบวงจรคือให้ทั้งความรุ่งแล้วก็กฎกติกาที่คุณต้องเจอ โดยหารู้ไม่ว่าอีกข้างหนึ่งยังมีคนต้องเอาทั้งชีวิตและอนาคตมาทิ้งอีกถึงสาม จบลงไปแล้วหนึ่ง (เริงศักดิ์), ยังต้องฝ่าฟันอีกสอง (คนหนึ่งพูดไม่ได้ = ชบา, อีกคนหนึ่งสมองยังไม่รับรู้หรือตอบสนอง = ทารก)… นี่ยังไม่นับสไตล์ narrative ที่แทบไม่พบในหนังไทยทั้งที่อยู่ในรุ่นเดียวกันแล้วก็ก่อนๆ หน้านั้นขึ้นไป ก็คือการให้ภาพเข้ามาทำหน้าที่เล่าเรื่องในซีนสำคัญๆ อย่างตอนที่นายเริงศักดิ์ย่องเข้ามาในบ้านเอเอฟ (เอ๊ย! ‘วิมานดารา’) และถ้าย้อนขึ้นไปอีก เขาเปิดตัวละครคนนี้ด้วยความเงียบมาตลอด จนกระทั่งเรื่องเลยเถิดจนชบาตั้งท้อง ถึงค่อยให้ปริปากพูด, ช่วงมึนตึงของวิษณุ หลังจากวันเกิดเรื่อง แล้วเขาก็ให้สมบัติระเบิดแอ็กติ้งที่ดูไม่เสแสร้ง แต่ให้พลังโดยไม่ต้องมาบิ๊วแม้แต่น้อย ต่อจากนั้นถ้าหนังจะทำพักครึ่งเวลา-intermission คนดูก็ไม่ว่าสักคำ

ดูท่าทีว่าสคริปต์ของระพีพร (นามแฝง: สุวัฒน์ วรดิลก) มีการแบ่งโครงเรื่องออกจากกันเป็นสองส่วนคือครึ่งแรกก็เป็นบ้านเอเอฟไป พอมาครึ่งหลัง ทีนี้ก็จะเป็นเรื่องของการซ้ำรอยมายาคติบ้างล่ะ ซึ่งก็จะตรงกับคำถามที่ (โดยเฉพาะคนในเรื่องตั้งข้อสงสัย) ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณออกจากวงการ (ถ้าพูดให้เข้าเป้าก็คือทำไมคนเขาถึงไม่จ้างหรืออะไรทำให้ตกต่ำ) คล้ายเป็นวงจรที่เวียนกลับมาใหม่เป็นวัฏจักรก็คือข่าวใต้เตียงดารา เพราะหลังจากนั้นเรื่องราวก็ไม่กล่าวถึงวิษณุอีกเลย คือถ้าชบาว่าเป็นใบ้แล้ว วิษณุนี่ยังเงียบซะยิ่งกว่า พอเกิดเรื่องฉาวโฉ่บนหน้านสพ. เท่านั้น คนทำก็ขยี้ปมเรื่อง ‘ความเงียบ’ ที่เข้ามาสยบความโด่งดัง หลังจากนั้นเขาก็ให้ความโด่งดังต้องพ่ายต่อความเงียบก็โดนการให้วิษณุหลบลี้หนีหน้าผู้คนไปอยู่กลางป่ากลางเขาแต่เพียงลำพัง โดยการที่ไม่ยอมแม้แต่ปริปากพูดจากับคนท้องถิ่น ขณะที่โดยการรับรู้ของสังคม วิษณุได้กลายเป็นบุคคลสูญหายไปแล้วเรียบร้อย

นั่นคือทั้ง ผกก.ชุติมา (และเรื่องเดิมโดย ‘รพีพร’) กำลังเล่นกับความดังและความเงียบของตัวละครในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะการเป็นบุคคลสาธารณะ ก่อนจะตกเป็น nobody ด้วยกันถ้วนหน้า ต่อมาเขาก็ใส่ความเงียบเข้ามาเป็นตัวละคร (ซึ่งโดยสถานภาพของคาแรกเตอร์หญิงทำงานบ้านเองก็ตัวละครซึ่งถูกกดทับโดยชนชั้นพออยู่แล้ว) ทำให้การสร้างตัวละครชบาให้เป็นสาวใช้ ก็แทบจะเป็นชัยชนะ = ปากเสียงแทนตัวละครที่ทำอาชีพเดียวกัน แต่อยู่ในหนังเรื่องอื่น และในเวลาเดียวกัน การที่เขาให้ตัวละครของทัศนวรรณพูดไม่ได้ ทว่าหันมาใช้ภาษามือแทนก็ยิ่งขับเน้นการแสดงของทัศนวรรณออกมาดูดีตามไปด้วย แล้วไหนยังจะต้องทาเผชิญกับวิบากกรรมในระดับที่คนที่เคยดับ แต่กลับมาอยู่ในระยะขาขึ้นบนความโด่งดังอีกสี่คนที่เหลือ ต้องลดเพดานลงมาเป็นผู้ช่วยตัวละคร ‘ชบา’ กันหมด

คนดูจะหันมาสงสารตัวละครชบา ที่มิใช่แค่ถูกกระทำละเมิด แต่ว่าโดยหน้าที่ของความเป็นแม่ เธอยอมรับและเลี้ยงดูทารกด้วยความเต็มใจ ทว่ามาติดเงื่อนไขเดียวซึ่งก็เป็นหน้าที่พื้นฐานของคนเป็นแม่ทั่วไปก็คือเธอร้องเพลงกล่อมลูกไม่ได้ (ล่วงเลยไปถึงแม้ในเวลาที่ทารกโต เธอก็คงสอนลูกให้หัดพูดไม่ได้อีก และเท่าที่เห็นกันตัวเด็กชื่ออะไรก็ยังไม่รู้)

จะเห็นได้ว่าพอเข้าช่วงครึ่งหลัง ตัวละครวิษณุแทบจะหายจากจอไปเลย ปล่อยให้ชบาต้องมาแบกรับผลกระทบอันเกิดขึ้นด้วยช่วงเวลาเพียงข้ามคืน (*หมายเหตุ: ในหนังมีการอ้างถึงวันต่อๆ มาอีกแต่ไม่มีให้เห็นในหนัง เข้าใจว่าเป็นซีนที่ถูกตัดทิ้งในขั้นตอนตัดต่อ) ตัวละครสาวทำงานบ้านได้รับการอัปเกรดขึ้นเป็นบทนำ ขณะเดียวกันหนังก็จะค่อยๆ หันมาให้ความสำคัญกับคนอย่างนายเริงศักดิ์ทีละน้อยๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ในช่วงเปิดตัวละคร เขาก็เริ่มกันที่ตัวนายเริงศักดิ์เองก็ไม่มีบทพูดเหมือนกันคือเอาแต่ส่อง ครั้นจะย่องมาเข้าบ้านคนอื่นก็ใช้ความเงียบเป็นต่อบวกกับเสื้อที่ใส่ก็สีดำ(ประกอบกับตัวนฤพนธ์เองก็มีเส้นผมหยักศกทรงใกล้เคียงกับสมบัติ/วิษณุเป็นทุนเดิม) แต่พอนายเริงศักดิ์ใช้วิธีใช้เงินมาซื้อตัวทารก เพียงเพราะลูกที่เกิดมาเป็นเด็กผู้ชาย แค่นี้คนดูก็ร้อง ‘เฮี่ยยยยยย’ ได้อย่างไม่ขัดเขิน เหมือนชีวิตคนคือสินค้าที่จะใช้เงินซื้อได้สบายๆ

สิ่งที่ไม่ค่อยพบเห็นในหนังยุคเดียวกันของ ‘วิมานดารา’ จึงเป็นเรื่องของการเห็นคุณค่าของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มของพวก losers ที่พ่ายต่อกาลเวลา (ขณะที่ตัวหนังเองก็กลับถูกวันเวลาหลงลืมจนแทบไม่ได้รับการพูดถึง แม้แต่ตามสถาบันมอบรางวัลภาพยนตร์ไทยประจำปีซึ่งกลายเป็นชะตากรรมอันขำขื่น irony ในตัว) ทำลายการจัดลำดับทางชนชั้น ด้วยการให้แม่บ้านสาวใช้ค่อยๆ เพิ่มบทบาท และเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง แทนที่จะคลี่คลาย ก็กลับกระหน่ำซ้ำเติมของการที่ไม่มีปากเสียง ขณะที่ชายโฉดอย่างนายเริงศักดิ์ กลับจะยิ่งเพิ่มความได้เปรียบขึ้นเรื่อยๆ ผ่านตัวละครวัลลี (เมตตา รุ่งรัตน์) – ภรรยาตามกฎหมายที่ไม่มีลูกด้วยกัน (โดยคาดว่าฝ่ายหญิงมิอาจให้กำเนิดบุตรได้) ก็ยิ่งทำให้แผนย่องเบาเข้าหาสาวสะพรั่งอย่างชบาดูมีเหตุมีผล และมารองรับว่า ที่กระทำลงไป เกิดจากแรงแรงจูงใจมากกว่าอารมณ์หื่นเพียงชัวครู่ชั่วยาม ประกอบกับเหตุผลที่นายเริงศักดิ์มาใช้อ้างว่าทารกที่เกิดกับชบา คือลูกของญาติที่มีฐานะยากจนซึ่งมีส่วนเข้าไปใกล้ fact แม้จะมีสัดส่วนไม่มากนักก็ตามที

เท่ากับว่านายเริงศักดิ์เริ่มเห็นชบาเป็น (เหมือน) ญาติ (ซึ่งถ้าจริงก็ใกล้กับสำนวน ‘ไม่มีสัตว์ประเภทใดจะเหี้ยมโหดไปได้ตลอด’ ‘No Beasts So Fierce’) ซึ่งพอถึงคราวที่โครงเรื่องเริ่มพาคนดูไปทำความรู้จักกับเริงศักดิ์ มากกว่าที่จะให้เห็นแง่มุมของความเป็นชายหื่น + นักย่องเบาอย่างเดียว เส้นเรื่อง (โดย ‘รพีพร’) ก็จะค่อยๆ ผ่องถ่ายความเฟียสในตัวเริงศักดิ์มาใส่ไว้กับตัวละคร ‘วัลลี’ ทีละน้อย

จนเริ่มที่จะเข้าใจว่า ที่เริงศักดิ์เลว เกิดจากการที่อยู่ใกล้กับวัลลีซึ่งแผ่รังสีอำมหิตครอบงำผัว จนกลายเป็นผู้ชายกลัวเมีย เมื่อไม่มีเริงศักดิ์ วัลลีก็จะรับตำแหน่งตัวละครที่คนดูจะเกลียดไปเต็มๆ หลังจากนั้นภาวะกดดันอันเกิดจากความเลวสารพัดที่ผ่านการสั่งสมบ่มเพาะจากวัลลีก็ได้ถูกผ่องถ่าย แล้วนำไประบายไปยังบุคคลที่สาม (ซึ่งก็ได้แก่ชบา) โดยนายเริงศักดิ์ต่อไป

ข้อคำถามกับการที่เจ้าเริงศักดิ์ย่องเบาเข้ากระทำย่ำยีชบา เกิดจากภาวะ ‘ไร้เสน่หา’ ในตัววัลลีหรือเปล่า (ไม่ยืนยัน, อย่างน้อยๆ คนสร้าง ไม่ว่าจะชุติมา – ผกก. หรือ ‘รพีพร’ – ผู้สร้างเรื่อง ร่วมสมคบคิดกันปิดบังตัวละครวัลลี ไม่ให้เห็นว่าอยู่บ้านหลังเดียวกัน-สิ่งที่คนดูเห็นจึงมีกันอยู่แค่นายเริงศักดิ์ส่องกล้องทางหน้าต่าง-มีความเคลื่อนไหวอีกที นายเริงศักดิ์ขนของย้ายบ้านเรียบร้อยแล้ว-กว่าจะเปิดตัววัลลี-สองสามีภรรยาก็เข้ามาอยู่ในบ้านหลังใหม่แล้ว) หรือแม้กระทั่งต่อให้วัลลีไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการตั้งครรภ์ ก็ใช่ว่าจะยับยั้งมิให้เริงศักดิ์กระทำละเมิดชบาไปได้ ในทางกลับกัน ครั้นจะบอกว่าชบาคือตัวละครที่ตกเป็นฝ่ายรองรับความบกพร่องไม่ว่าจะทั้งอารมณ์ทางเพศหรืออำนาจกดทับในครัวเรือนจากวัลลี โดยมีเริงศักดิ์อยู่ตรงกลางของการถ่ายเทใช่ไหม ยังไม่มีคำตอบที่ตายตัว 

พอจะกล่าวได้เต็มปากว่ารื่องของชบามีส่วนช่วยขับ dramatic element ให้กับเรื่องของการขึ้นสูง-ลงต่ำกับการที่ใครบางคนจะดับวูบลง โดยที่มิใช่เกิดจากการกระทำของตัวองซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงกลางเรื่อง (โดยเฉพาะในช่วงที่ดรามาในส่วนของชบากำลังมาถึงจุดพีค) คนที่รับผลกระทบแล้วหายไปจากเรื่องไปเลยก็คือวิษณุ พอจะกลับมาอีกที คราวนี้วิษณุตกอยู่ในสภาพ deaf mute ไม่ต่างจากตัวละครชบา ทว่าในทางกลับกัน ข่าวที่ผ่านการกระพือโดยสื่อนสพ. เองก็มีส่วนสร้างภาวะ disruption ระลอกใหม่ให้กับคนที่กำลังจะรุ่งๆ

‘วิษณุ’ ในสภาพที่เพื่อนๆ (พรเทพกับปิติ) ตามไปเจอ กลายเป็นคนไม่ยอมพูดจา ทำเอาชาวบ้านในพื้นที่พากันเข้าใจว่า ‘เออ ไอ้พระเอกคนนี้ท่าจะเป็นใบ้ ทั้งวันไม่ยอมพูดยอมจา ไม่รู้มันเป็นพระเอกไปได้ยังไง’

‘โครงการ (เปิดบ้าน ทำเป็น) วิมานดารา’ ของชื่นชีวา น่าจะเป็นวิธีคิดที่มาก่อนกาล ซึ่งในทางกลับกัน ก็นำไปสู่การตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ทำได้จริงแค่ไหน (มีรุ่นหนึ่ง-แล้วเปิดรับรุ่นสองหรือเปล่า, มี mentor ประจำบ้าน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ทุกมุม หรือจะมีเพิ่มอาชีพอื่นเข้าไปด้วยในรุ่นถัดๆ ไปมั้ย) ซึ่งเมื่อถึงเวลาจริง ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาสร้างความแปรปรวนอะไรบ้าง ซึ่งวิษณุรับบทเรียนตรงนี้มาเต็มๆ ในเมื่อวิถีชีวิตคนเป็นดารา มักเลี่ยงไม่พ้นเรื่องข่าวคาวฉาวโฉ่ หลังจากนั้นก็นำไปสู่ภาวะเงียบงันทางชื่อเสียงอีกระลอก จะเห็นได้ว่าเรื่องในช่วงครึ่งหลัง หนังจะหันไปเล่นกับซึ่งตัว ‘ข่าวฉาว’ ซึ่งมีความเป็นดรามาในตัวและโลดโผนพอที่จะนำไปสร้างเป็นหนังได้สบายๆ อีกทั้งมีส่วนดันให้ชบา/ทัศนวรรณมีความเด่นแซงหน้าชื่นชีวา/มยุรฉัตร ที่แต่เดิมเป็นทั้งเจ้าของโปรเจกต์ เท่าๆ กับที่มีเค้าว่า วิษณุจะหันมารักใคร่ชอบพอ จนเข้าไปใกล้กับความเป็นนางเอก พอมีเรื่องของนายเริงศักดิ์-แมวขโมยเข้ามา วิษณุหายหน้าไปจากเรื่อง, ชื่นชีวา นานๆ โผล่ทีคล้ายบทรับเชิญ, สิงห์ แทบไม่ได้รับการกล่าวถึง (นอกจากคำบอกเล่าว่าได้งานเป็นครูพละ), พอมีวัลลีเข้ามา เกิด function แบบตัวอิจฉาในหนัง ‘ชบา’ กลายเป็นตัวละครที่น่าสงสาร เรียกความรู้สึกรันทด โดยที่ไม่มีใครช่วยอะไรเธอได้ แม้แต่จะร้องเพลงกล่อมหรือสอนลูกหัดพูด แล้วไหนจะต้องมาโดนคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา

เท่าที่ผ่านมา หนังเรื่องเด่นๆ ของผกก.ชุติมา มักเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ทั้งอาภัพ ชะตากรรมกลั่นแกล้ง ขณะเดียวกันก็ตรึงคนดูให้อยู่กับเรื่องราว ไม่เปิดโอกาสให้ว่อกแว่กคิดไปถึงเรื่องอื่นขณะกำลังดู หลายเรื่องก็ตกค้างอยู่ในความทรงจำ (‘แว่วเสียงซึง’, ‘แม่อายสะอื้น’, ‘ทับนางรอ’, ‘สตรีที่โลกลืม’) พอมาทำ ‘วิมานดารา’ ซึ่งเป็นการพูดถึงคนในวงการ ทั้งในแง่ของสื่อและภาวะ disruption ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันแทบไม่ค่อยมีใครคาดคิดว่าจะมาถึงแล้วจริงๆ ขณะที่ตัวผกก. เองแทบไม่ค่อยได้รับการพูดถึง เมื่อเทียบกับคนทำหนังรุ่นเดียวกัน ซึ่งพอมาทำ ‘วิมานดารา’ ก็ได้เกิด trigger effect ย้อนมาแว้งเข้าหาทั้งตัวเองและธีมของเรื่องซึ่งอีกหลายสิบปี ถึงค่อยมีคนนำมาสานต่อ (โดยปราศจากอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจใดๆ)


ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีการจัดฉายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา รายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่

สรุปดราม่า Memoria และทัวร์ของเขา

หลังจาก Memoria ผลงานเรื่องล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ประกาศแผนการฉายออกไป มันก็สร้างบทสนทนาอันดุเดือดไว้บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์และคนดูหนัง

Memoria เพิ่งฉายรอบพรีเมียร์ในอเมริกาไปในเทศกาลหนังนิวยอร์ก พร้อมได้รับสแตนดิงโอเวชั่นอย่างกึกก้องอีกครั้ง ไม่ต่างจากตอนไปฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ต่อมาคนทั้งอุตสาหกรรมหนังก็ถกเถียงกันยกใหญ่เมื่อ NEON ผู้จัดจำหน่ายในอเมริกาประกาศแผนการฉายออกมา

NEON นับเป็นค่ายที่กำลังมือขึ้น เพราะเป็นสตูดิโออิสระน้องใหม่ที่สร้างผลงานด้วยการจัดจำหน่าย Parasite ของ บงจุนโฮ แล้วดันจนคว้าออสการ์ พอปีนี้เขาถือสิทธิหนังรางวัลเมืองคานส์ถึง 3 เรื่อง นอกจาก Memoria เจ้าของรางวัล Jury Prize แล้ว ยังมี The Worst Person in the World ที่คว้านักแสดงหญิงยอดเยี่ยม และ Titane เจ้าของรางวัลปาล์มทอง

แผนการฉายที่กำลังเป็นประเด็นในตอนนี้ของ NEON คือมันจะฉายที่แรกในนิวยอร์กเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นหนังจะย้ายที่ฉายไปเรื่อยๆ “จากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่ง จากโรงหนึ่งสู่อีกโรงหนึ่ง จากสัปดาห์หนึ่งสู่อีกสัปดาห์หนึ่ง” หรือก็คือการทัวร์ไปเรื่อยๆ โดยไม่ออกดีวีดีและลงสตรีมมิ่งตลอดอายุขัยของมัน ความตั้งใจของ NEON คือจะทัวร์ฉายหนังเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ‘ไม่มีวันจบ’ โดยค่ายกล่าวว่าวิธีการฉายพร้อมกันหลายจอนั้น “ทำลายประสบการณ์ทางภาพยนตร์ของหนังเรื่องนี้”

ประเด็นถกเถียงคือฝั่งหนึ่งมองว่าการทัวร์ฉาย Memoria ในโรงหนังและปิดหน้าต่าง Home Entertainment ทุกช่องทาง มันยกระดับคุณค่าทางศิลปะขึ้นอีกโข โดยเฉพาะวิทยาการภาพยนตร์ตามคำพูดของอภิชาติพงศ์ตอนรับรางวัลที่เมืองคานส์ว่า “Long live cinema” หรือ “ภาพยนตร์จงเจริญ” รวมไปถึงสร้างคุณค่าให้กับวัฒนธรรมการดูหนัง โดยเฉพาะเมื่อหนังเองก็ได้รับคำชื่นชมในแง่ที่ว่ามันก็ทำหน้าที่สดุดี ‘cinema’ โดยตัวมันเองด้วย

ขณะที่อีกฟากหนึ่งมองว่าการต้านกระแสธารของวัฒนธรรมการดูหนังที่เปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตผู้คน กำลังจำกัดจำนวนผู้ชมโดยใช่เหตุ การที่มันจำกัดการฉายแค่เมืองละสัปดาห์เดียวและโรงเดียว เท่ากับว่าจะมีจำนวนผู้ชมมากสุดเพียงหยิบมือเดียวในเมืองนั้นๆ แล้วคนที่พลาดเท่ากับหมดโอกาสสัมผัสประสบการณ์การดูหนังไปเลยงั้นหรือ?

เอ โอ สก็อตต์ นักวิจารณ์บิ๊กเนมเขียนไว้ใน The New York Times ด้วยฐานะของคนที่ต้องมนตร์ cinema ของ Memoria ว่า “มนตร์เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้มันเรียกร้องระบบฉายแบบในโรงหนังจริงๆ เพราะมันเป็นหนังที่คลุมเครือ เนิบช้า ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยบทสนทนา ซึ่งอาจไม่เหมาะกับการเอนตัวดูบนโซฟาหน้าทีวี ที่สามารถดึงคุณออกจากหนังได้ตลอดเวลา”

สก็อตต์ยังเสริมว่า “จริงๆ ผมไม่ได้อยากอยู่ในสมรภูมิถกเถียงเรื่องการดูหนังในโรงกับสตรีมมิ่ง แต่ผมสนับสนุนที่ทางที่ดีที่สุดที่ใครสักคนจะได้ดูหนัง”

อาจกล่าวได้ว่าสก็อตต์เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการดู Memoria ในโรงหนังเนื่องจากเป็นประสบการณ์การดูหนังที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นที่ทางที่ถูกต้องสำหรับหนังเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามดราม่า Memoria กำลังสร้างประเด็นที่ชวนขบคิดอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมหนังและวัฒนธรรมการดูหนังที่กำลังเปลี่ยนผ่านจนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว


ข้อมูลประกอบ

https://www.empireonline.com/movies/news/tilda-swinton-starring-memoria-to-play-only-in-cinemas-forever

https://www.indiewire.com/video/james-bond-tilda-swinton-debate-movie-theaters-screen-talk-352-1234670113/

https://www.nytimes.com/2021/10/06/movies/memoria-release-moviegoing.html

Sex Education Season 3 : ใช้ชีวิตแบบที่ได้มีรัก และได้มี SEX อย่างไม่มีอะไรต้องเสียใจ

0

ในส่วนของบทความนี้ #กล้าเรียก ว่าบทความ ยกฐานะแล้วหนึ่ง มีการเปิดเผยเรื่องราวแบบหมดไส้หมดเปลือก ไส้กี่ขดต่อกี่ขนก็จะถูกนำมาแบ กางให้อ่านแบบไม่กั๊ก ยกเว้นว่ากะเทยจะขี้เกียจเขียน ดังนั้นไปดูก่อนแล้วค่อยอ่าน เตือนแล้วนะคะซิส

เรื่องราวของ Sex Education ภาคใหม่นี้ อีรุงตุงนังยิ่งกว่าเสาไฟฟ้าไทยแลนด์อีกค่ะ ทุกคนคือความสัมพันธ์โยงกันไปกันมา แบบซ่องแตกป่วงไม่ไหว มีซีนหมด ไม่มีใครไม่ได้ซีน ไม่มีใครถูกลืม ไม่มีใครมีซีนที่แย่ ทุกซีนคือปัง แม้ว่าจะเป็นซีนบ้งๆ แต่ก็เป็นความบ้งที่ปัง!!! กราบใจคนเขียนบท คนกำกับ เธอมันแน่ แน่จริงๆ 

เปิดเรื่องมาคือ ทุกคนมี sex แบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลมากๆ จัดหนักจัดเต็ม ในป่า ในบ้าน ในรถ บนพื้น บนเตียง หน้าจอคอม ออฟไลน์ ออนไลน์ ลามไปจนถึง setting ในจินตนาการสุดล้ำลึก มิติลี้ลับ The X-files หรือเปล่า ที่กะเทยไม่แน่ใจว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงไหนในอวกาศ กะเทยช็อคแดก เพราะกะว่าจะแอบๆ เปิดดูแกล้งๆ ในที่ทำงาน สุดท้ายทั้งออฟฟิศคือเหมือนได้ร่วมมี sex ไปกับทุกตัวละครด้วย ฉาวไม่ไหว ปิดเสียงแทบไม่ทัน ไม่รู้จะพูดยังไง ต่างคนต่างพูดไม่ออก ได้แต่มองตาเท่านั้น หลังจากมหกรรมกิจกรรมเข้าจังหวะ ก็ตัดเข้า title เรื่องแบบที่คุ้นเคย ทุกตัวละครยังดำเนินชีวิตต่อจากซีซั่นที่แล้ว พร้อมการมาของครูใหญ่คนใหม่ หลังจากที่ไมเคิล ครอฟ ครูใหญ่คนเก่าโดนเด้งออกไป เพราะสติแตกกลางละครเวทีเมื่อปีกลายจนโดนคำสั่งพักก่อน แม่อยากให้หนูพักผ่อน เมื่อเก่าจากไปใหม่ก็เข้า ครูใหญ่คนใหม่ชื่อโฮป ฉันรู้สึกได้ว่ามีหวัง เหมือนว่าจะวาดวิมาน วาดฝันไว้กลางอากาศ พร้อมกับแนวความคิดที่จะมัวร์เดลไปสู่ยุคใหม่ หมายมั่นจะทำให้ทุกคนต้องลืมภาพลักษณ์โรงเรียนสอน sex และละครเวทีเอเลี่ยนที่มีภาพคนเยกัน ที่สร้างชื่อเสีย(ง)ให้โรงเรียน แต่ดูทรงแล้ว ดูจะเป็นฝันไว้เสียสวยงาม แต่แล้วมันก็จากไป จากไปเหมือนสายลมที่ไร้ร่องรอย ขอบคุณเพลงประกอบจากพี่ตู่ นันทิดาค่ะ เพราะงานนี้กะเทยดูทรงแล้ว ชีโฮป หล่อนมีพิรุธ #เสียงเจ๊มดดำ

ทางด้านพระนางของเรื่อง โอทิส เมฟ ยังคงตึงใส่กัน เนื่องจาก เมฟ โดนไอแซค ชายหนุ่มบนรถเข็นลบข้อความเสียงไปแล้ว ทำให้ชีไม่รับรู้ความในใจของน้องโอทิส ขณะที่น้องโอทิส มาในลุคใหม่ กร้าวใจแม่ยก แบบพี่สาวครับผมโตเป็นหนุ่มแล้วครับ ด้วยการ…ไว้หนวด กะเทยไหว้สา ขัดหูขัดตามากแม่ แต่ก็เอาเถอะถ้ามันเป็นความสุขของน้องเราก็พร้อมจะยอมรับ แต่ใครก็ได้พามันไปโกนหนวดที่เถอะค่ะ #อ้าว ไม่ยอมรับนิ #เอ๊ะ น้องโอทิสพยายามจะประคับประคองความสัมพันธ์แบบรักสนุกไม่ผูกพันกับรูบี้หลังจากที่เมาแล้วเผลอได้กัน ตอนนี้ ตัดคำว่าเผลอออก เพราะจงใจ ไม่มีหยุด เรียกว่าเบรกแตก แหกโค้ง แต่ยังไม่สุด เพราะแล้วได้กันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ในป่า ในส้วม ในรถ #เริ่ดแม่เริ่ด ส่วนอีริคกับอดัมก็ถึงคราวต้องปรับจูนกัน ในหลายๆ มิติของความสัมพันธ์​ จุดพีคของ EP1 คือ การเกิดใหม่ของ หมอ sex คนใหม่ที่ให้คำแนะนำแบบป่วงๆ จนมีคนวอดวายซ่องแตกกลายเป็นปัญหาระดับโรงเรียน ลากไปจนถึงความฉาวระดับสิบ กะเทยกรี๊ดเลย ขอยกให้ซีนแอบแซ่บ แอบฉาวในส้วมเก่า และการเอาแพะมาปิดกล้วยเป็นหนึ่งในความ epic ที่สุดของความป่วงในซีรีส์นี้ ซีเคว้นซ์เดียวสร้างปมชีวิตให้กับหลายตัวละครมากแม่ ทั้งคนทั้งสัตว์ ป่วนไปหมด เหตุการณ์นี้เป็นปรากฎการณ์ลูกโซ่ ที่พังต่อกันเป็นทอดๆ ไปจนถึงจุดที่ โฮปทุบส้วมทิ้ง!!! สุดท้ายความสัมพันธ์ของเมฟ และ โอทิส ก็พังลงไปพร้อมส้วมเก่าที่ถูกรื้อ กะเทยได้แต่ถอนหายใจ ขณะที่เรื่อง รักลับๆ ของรูบี้ และ โอทิส ถูกเม้าท์กระจายไปทั่วทั้งโรงเรียน จนสุดท้ายรูบี้ตัดสินใจบอกโอทิสเราจะคบกันอย่างเปิดเผย ปังไม่ไหว งานนี้กะเทยคือฉี่ราดแล้วแม่!!! รูบี้ งานนี้ติดดาว เพราะเข้าตากรรมการแล้วหนึ่ง งานนี้ลูกสาวมงลงแน่ๆ ใจแม่มา กะเทยสังหรณ์ว่า สาวสวยดาวร้าย ดาวแซ่บ ดาวเผ็ดคนนี้คือ ควีนของซีซั่นนี้ คราวนี้รูบี้จะปาดมงแน่ค่ะ กะเทยไม่เผื่อใจ

ทางด้านอีรีคมีความพาอดัมก้าวเข้าสู่โลกของตัวเอง ด้วยการจับผัวแต่งหน้า จุดนี้กะเทยขำ ในความน่ารักของอดัม แต่พอสองคนจะเข้าพระเข้านางกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์​ปรากฏว่ารักล่ม!!! เปิดตัวอย่างปัง จบพังอย่างไททานิค กะเทยไหว้สาแล้วขออย่าให้เป็นอย่างที่ฉันคิด!! ตัดมาที่แม่จีน หลังจากที่เลือกจะเก็บลูกไว้ สิ่งที่หนักใจที่สุดสำหรับแม่ คือการอุ้มท้องไปบอกกิ๊กเก่าว่า เฮ้ นี่ลูกคุณนะ ยาค็อบ กะเทยไหว้สา แม่เก่งมาเยอะ จะมาแพ้ที่เรื่องตัวเองไม่ได้ ดังนั้นหลังจากแม่วนรถอยู่ 15 รอบ จนยาค็อบถามคุณจะเอาอะไร!! แม่ก็ตัดสินใจบอกยาค็อบว่า ที่รัก นี่ลูกคุณค่ะ สองคนจับมือกันไปหานักบำบัด สุดท้ายจบลงด้วยการมี sex กันแล้วตกลงว่าจะลองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน!!! กะเทยหืมมมมมมมมมมมมม ลากเสียงยาวถึงดาวอังคาร ด้วยการเอาโอล่า กับยาค็อบย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านด้วย กะเทยมึนแล้วแม่ ฟ้าขอทำนายงานนี้ บ้งแน่ๆ แม่เอ๊ยยย

แวะกับมาที่ อดัม กับ อีริคหลังจากที่ตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะรับใครจะรุก แต่เพราะไม่พูดตรงๆ จนเดต outdoor ล่มไม่เป็นท่า อดัมแวะมาหาโอทิส จะมาหาเรื่องแหละ อีโอทิส มึงมาแนะนำอะไรแฟนกู รักล่มเลย แต่อีน้องโอทิสรับบทนางจับเข่าคุย สืบสาวราวเรื่องว่ามันเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายหลังจากง้างปากอดัมอยู่นานว่าตกลงมึงเป็นอะไร เลยได้พบว่า ภายใต้ชายหนุ่มหุ่นกำยำโพงพาง มีไอ้หมาขี้อายที่กังวลทุกคนเวลามีคนจ้องหน้าจนไม่กล้าพูด!!! โอทิสเลยบอกแบบกำปั้นทุบดินว่า ก็ขอให้เค้าไม่มองซิ!!! อดัมกลับมาหาอีริค พร้อมบอกว่าอยากให้อีริคเป็นรุก กะเทยก็อะ ในที่สุด ทำไมกูซื้อหวยไม่ถูกบ้างนะ หลังจากอมพนำปัญหามาพักใหญ่ พูดเคลื่อนไปคลาดมาจนหวิดจะเลิกกันหลายรอบ สุดท้ายในที่สุด อดัมกับอีรีคก็ลงเอยกันบนเตียงสักที!! จุดนี้มอบมง เปลี่ยนชื่ออีริคเป็นอีสวย!!! พร้อมยกระดับความสัมพันธ์ไปต่อ!! สำหรับอีสวยกะเทยคือเบินปาก คว่ำปากลงถึงพื้นไปหลายรอบแล้ว ก็รักนะ แต่หมั่นไส้ อิจฉาแหละ อีนังคนสวยจากสรวงสรรค์ แต่กับอดัม ตอนนี้ใช้คำว่าเอาใจช่วยมากๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะความสัมพันธ์กับอีสวยเท่านั้นนะ แต่การเติบโตของตัวละครนี้ ที่อยากจะหาสิ่งที่ตัวเองถนัด สิ่งที่ตัวเองอยากทำ และทำได้ดี พยายามก้าวข้ามผ่านข้อผิดพลาด และเติบโตไปสู่คนที่ดีขึ้น นี่คือหมุดหมาย ที่กะเทยปักธงไปแล้วว่า อยากเห็น อดัมได้รับในสิ่งที่ตัวเองมองหา

ทางด้านของเมฟ ตอนนี้เจอความสับสนไปหมด ปัญหาปวดหัว แบบเล่นท่ายากตีนก่ายหน้าผาก เพราะพอจะลงเอยกับไอแซก ไอแซกก็บอกว่า มีเรื่องจะบอก แล้วเล่าเรื่องที่ลบข้อความไป กะเทยแบบ มือจีบแล้ว เกลียดมาทั้งเรื่อง ตอนนี้เสือกจะเป็นคนดี แล้วกูต้องเอาใจช่วยมึงมั้ย!!!! อีคนเขียนบทมันร้ายมากค่ะแม่ มันทำให้ไม่มีใครในเรื่องเลวร้ายจากนรกเลยสักคน ทุกคนคือรู้สึกผิดกับเรื่องร้ายๆ ที่ตัวเองทำลงไป แต่สำหรับชีเมฟ ชีเป็นอีสาวใจเด็ด ชีรู้เท่านี้ชีเลิกเลย ปรบมือให้ชี ก่อนที่อีกหนึ่ง EP ถัดมาจะกลับมาให้อภัยกัน #อีเวร กะเทยงงหมดแล้ว ตกลงจะเอายังไง ต้องยอมรับการสร้างตัวละครเมฟในซีซั่นนี้คือการดันเพดานตัวละครนี้ให้มันชัดเจนแบบสุดว่า นี่คือตำนานสาวทรนงอีกคนที่ไม่ยอมให้ใครมาลดทอนคุณค่าของนาง อีสาวหัวใจทองคำ สู้มันสิวะอีหญิง คือคุณสมบัติที่เต็มเปี่ยมในตัวเมฟ เด็กที่อยู่คนเดียว ฉลาดหัวดี ฐานะไม่ดี ขัดสนแต่ดิ้นรน หาช่องทางสร้างเงิน เปิดคลินิกชี้ช่องรวย เด็ดเดี่ยวทั้งข้างนอกและข้างใน ตัวละครอาจจะมีความเห็นแก่ตัวอยู่ แต่เป็นความเห็นแก่ตัวที่เต็มไปด้วยการต่อสู้เพื่อชีวิต ต้องรอด!!! จนความทรนงในศักดิ์ศรีนำมาซึ่งจุดเปราะบางในความสัมพันธ์ของเมฟเช่นกัน เมื่อเธอไม่ยอมรับความหวังดีจากใคร จากทั้งไอแซก และเอมี่ เพราะมันคือการสั่นคลอนศักดิ์ศรีของตัวเอง ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับทุกคน แต่ถ้าคิดว่าชีวิตรักที่ว่าวุ่นวาย แล้วชีวิตครอบครัวเรียกว่ายิ่งกว่าหนังเรื่องเสียดาย ของท่านมุ้ยอีกค่ะ แต่ด้วยความเป็นชะนีหัวใจทรหดแล้วหลังจากที่ส่งแม่ไปหาตำรวจเพราะแม่ติดยาไม่ควรอยู่ใกล้น้อง แม่ชีก็ยังโกรธชีอยู่ สุดท้ายแม่จะพาลูกสาวตัวเล็กหนีจากครอบครัวอุปถัมภ์ จนเมฟไปตามกลับมาได้ นำไปสู่ซีนที่กะเทยเสียน้ำตาในความใจสลายของคนเป็นแม่ที่โดนพรากลูกไป และรู้ทั้งรู้ว่าตัวเองเลี้ยงลูกไม่ได้ แต่ก็ทนไม่ได้ที่จะโดนพรากลูกไป จนต้องบอกให้เมฟรีบพาน้องไป ก่อนที่ชีจะเปลี่ยนใจ กะเทยใจสลายเลย ตบเขาฉาด นักแสดงเรื่องนี้มันแน่ แน่จริงๆ

ขณะที่เอมี่ สาวฟันกระต่ายที่ตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศจนขี้นรถเมล์ไม่ได้ แต่สุดท้ายเกิดเป็นซีนเพื่อนหญิงพลังหญิงที่ทรงพลังมากๆ ซีนนึง กับการนั่งรถเมล์โง่ๆ ที่โคตรยิ่งใหญ่ กะเทยเสียน้ำตามากก ร้องไห้ไม่หยุด เมื่อไหร่ที่เพื่อนดีชีวิตจะดีค่ะ ขณะที่ ss3 นี้ เอมี่ยังคงไม่สามารถข้ามผ่านปมชีวิตไปได้ มันส่งผลให้ชีเลือกที่จะขับรถแทนการนั่งรถบัส จุดนี้ กะเทยไหว้สา ใครก็ได้มาช่วยชีหน่อย อย่าปลอยให้ชีขับรถต่อ ถือว่าช่วยโลก สร้างความสงบสุขให้กับชาติบ้านเมือง ถือว่าขอ ได้โปรด ตั้งแต่มันเปิดตัวว่าขับรถ มันชนคนไปแล้วหนึ่ง ใครก็ได้พามันกลับไปขึ้นรถเมล์ที แล้วถ้าคุณคิดว่าการทำคนบนท้องถนนเสี่ยงตายกับการขับรถของเอมี่มันคือที่สุดแล้ว…ยังค่ะ…ยังไม่หมด เอมี่ที่ตอนนี้ยังไม่สามารถกลับไปเยเย่กับ ผัวหนุ่มเนิร์ด หุ่นแซ่บอย่างสตีฟได้ นางตัดสินใจเลี้ยงแพะ เพื่อช่วยเรื่องของชีวิตคู่ ความสัมพันธ์ กะเทยงงๆ ว่ามันเกี่ยวกันหรอวะ เหมือนบอกอยากซื้อกะทะ แต่เดินไปหยิบเขียงแล้วบอกว่า โอเค!!! กะเทยงงจุดไหนวะที่มันโอเค ชั้นยังไม่เห็นเลย!! เนื่องจาก เมฟรู้สึกว่า เพื่อนกูเริ่มจะไม่ไหวแล้ว เอมี่เริ่มไปไกล กูไม่อยากให้ใครตายบนท้องถนน หรือจะด้วยรำคาญแพะ หรือรู้สึกว่าไม่แฟร์กับสตีฟ หรืออยากจะช่วยให้เอมี่ ได้กลับมาอยู่กับร่องกับรอย และใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้า ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลนี้แหละ เมฟเลยแนะนำให้ เอมี่ ไปพบจีน โดยผ่านทางโอทิส

ซึ่งแม่จีนยังคงยอดเยี่ยมเสมอ ในทุกการช่วยเหลือ ในทุกๆ คำปรึกษา แม้ชีวิตแม่จะบ้ง หลังจากเอาครอบครัวผัวมาอยู่ด้วย ก็ดูจะเต็มไปด้วยปัญหา แต่แม่ก็ยังเริ่ดเสมอ ยัยเอมี่มาหาแม่จีนพร้อมกับแพะ เอมี่บอกหนูอยากกลับไปเป็นคนเดิม ตั้งแต่หนูโดนคุกคามบนรถเมล์หนูก็เปลี่ยนไป หนูอยากเป็นคนที่หนูเคยเป็น แค่อยากเป็นตัวเอง อยากเป็นตัวฉันคนเดิมอย่าเติมอะไรลงไป จีนบอกตื่นนะโกโก้ เอาพี่ใหม่ เจริญปุระไปเก็บ เธอไม่มีทางกลับไปเป็นคนเดิมได้ แต่ไม่เป็นไร ทุกคนล้วนเติบโตขึ้น ถ้าเธอเข้าใจ เธอจะอยู่กับมัน และไปต่อได้ เอมี่ดีใจ ส่วนแพะขี้ลงโซฟา กะเทยร้องไห้ ทำไมชีวิตแม่จีนถึงยากขนาดนี้ ท้องไม่พร้อมในวัยใกล้ 50 ผัวก็งงๆ ลูกกับผัวไม่ลงรอย ลูกติดผัวก็เกลียดกู แถมลูกชาย กับลูกติดผัวใหม่ เคยเป็นแฟนเก่ากันมาก่อน ปัจจุบันคือตีกัน แถมแพะยังมาขี้ใส่โซฟา กะเทยคือกรี๊ดไปแล้วนะแม่ แต่แม่จีนคือปัง ยิ้มสู้ สุดปัง

ขณะที่โรงเรียนยังคงบ้งอย่างต่อเนื่อง เพราะอีครูใหญ่โฮป มาพร้อมความหวังใหม่หมายมั่นจะพามัวร์เดลสู่วันที่สดใส ด้วยการบอกนักเรียนให้ใส่ชุดเครื่องแบบ กะเทยคว่ำปากถึงนรก!!! ทำให้นักเรียนทุกคนเกิดปัญหา เพราะรับไม่ได้กับการปิดกั้นตัวตนและความคิดสร้างสรรค์ กะเทยขำปนเศร้าที่เด็กในเรื่องทุกคนดูมีปัญหากับการแต่งตัว แต่งหน้า สีผม และ เครื่องประดับ แต่นักเรียนไทยทำไมคะ….ชิน!!! เพราะโดนปิดมาตั้งแต่เด็กจนโต ทั้งทรงผม ทั้งชุด อาจจะรวมๆ ถึงความคิดด้วย #อ้าว วีนหนึ่ง ยังไม่พอนอกจากจะห้ามเครื่องแบบแล้ว อีครูใหญ่โฮปคือดักดานมากแม่ กะเทยบดปาก เปิดเครื่องด่า เพราะบอกว่า ห้ามแต่งหน้า และ เครื่องประดับด้วย หลังจากนั้นน้องคาล นักเรียน non binary ที่เป็นตัวละครใหม่ในซีซั่นนี้ ไปนั่งระทมทุกข์ ในห้องเปลี่ยนชุดเพราะว่า ลำบากใจว่าจะเปลี่ยนชุดยังไงดี เพราะมีแต่คนมอง ปกติกูเปลี่ยนในส้วมเก่า ที่ส้วมเก่าฉาวจนโดนทุบแล้ว กูจะไปเปลี่ยนที่ไหน!!! ซีนนี้มันน้ำตานองหน้าอยู่เหมือนกันนะ หลายครั้งชีวิตมัธยมเราก็เจอเรื่องไม่น่าพิศมัยเยอะ สิ่งที่คาลผู้ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น non binary เจอ เวลาต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าต่อหน้าเพื่อนผู้หญิง ก็คือสิ่งที่กะเทยเจอเวลาเปลี่ยนเสื้อผ้าต่อหน้าเพื่อนผู้ชาย สายตา ความกังวล ความอาย ที่บางทีผู้ใหญ่ก็พร้อมจะมองมันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ทุกคนจะผ่านมันไปได้ จุดนี้ขอเป็นกำลังใจในการเปลี่ยนเสื้อผ้า และการใช้ชีวิตให้คาลค่ะ โลกใบนี้ยังถูกครอบด้วยแนวคิดแบบ 2 ขั้ว หญิงชาย ถูกผิด ขาวดำ การจะ ถอดขั้วแต่ละขั้วออกยังยากมากนัก แต่เราจะเป็นกำลังใจให้ค่ะ

แจ็คสันหนุ่มฮ็อต อดีตนักว่ายน้ำ ตอนนี้โดนวิเวียนเพื่อนสนิท take over ตำแหน่งประธานนักเรียนไป ฮีก็มีความเคว้งคว้างเหมือนหลงทางกลางป่า ยืนมองฟ้าไร้ดาวอยู่ประมาณนึง ขอบคุณเพลงประกอบอีกครั้งจากศรัณย่าค่ะ จนวนเวียนมาเจอกับน้องคาล ที่เปิดโลกให้แจ็คสัน ซึ่งกะเทยดูออก อีน้องคาล กับ อีวิเวียนดูทรงจะตีกัน เพราะความเห็นดูไปกันคนละทาง แล้ววิเวียนต้องรับบทเครื่องตรวจจับคนผิด เพื่อเอาใจครูใหญ่ เพื่อตำแหน่งที่ฝันไว้ เพื่อโปรไฟล์สวยหรู เพื่อต่อมหาวัทยาลัยปังๆ กะเทยมองบน เออ อีวิ เอาเลย!! แจ็คสันปรึกษาคาลว่า แบบ หลังจาก โดนวิเวียน take over ตำแหน่งไปแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร นักว่ายน้ำก็เลิกแล้ว ตอนนี้ก็เคว้งจริง ไม่รู้จะทำอะไรดี ไม่มีเป้าหมาย คาลบอกมึงใจเย็น มึงแค่ 17 ไม่แปลกที่จะยังไม่รู้ ลองเป็นแค่ตัวเองมั้ย สวยงามมากซีนนี้ กระเทยปรบมือ บางทีโลกก็คาดหวังเราเป็นโน่นเป็นนี่ แต่บางทีตัวเรายังไม่รู้เลยว่าเราเป็นอะไร ดังนั้น ฉันบอกตัวเอง ไม่เป็นไร ถ้าวันนี้ตื่นมาแล้วจะว่างๆ หัวโล่งบ้าง ก็ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ปล่อยใจฝันสักครั้ง ขอบคุณเพลงประกอบจาก ตุ๊ก วิยะดา ค่ะ บทความนี้เพลงประกอบแน่นมาก ตัดกลับมาที่แจ็คสันใจเย็นกับชีวิตสักหน่อย ไม่ต้องพุ่งเร็วเต็มสปีดมากก็ได้ เดี๋ยวแหกโค้ง แค่ลองเป็น แจ็คสันนั้นแหละไม่ต้องเป็นไปตามคนอื่น กะเทยติดดาว คนเขียนบทรักคาลแหละ ประเคนประโยคทองไม่หยุดไม่หย่อน!!!

ถัดจากแจ็คสัน กะเทยของพาทุกคนแวะมาดูศึกใหญ่ใน EP3 กับการดับเบิ้ลเดท ของคู่ อีสวยและอดัม ที่จะมาเจอกับ รูบี้ และโอทิส แม้ว่าจะเป็นซีนเล็กๆ แต่เป็นการโชว์เคมี และความสัมพันธ์ที่สวยงามและน่ารักมากของทั้ง สี่ตัวละคร งานนี้เต็มไปด้วยความลุ้นว่า อดัมจะทำอะไรบ้งๆ มั้ย หลายๆ คนอาจะคิดว่านี่มันก็การพูดคุยกันธรรมดาของเด็กในโรงเรียนมัธยม แต่จริงๆ มันจุดกระอักกระอ่วนใจที่ทุกอย่างมันต้องเพอร์เฟ็ค เป็นการอวดผัวที่จะต้องปัง ต้องได้ซีน ยกแรกอดัมบ้งไปแล้วกับการเข้าใจผิดเรื่องกลูเตนและกลูโคส เหมือนปล่อยหมัดแล้ววืด เราจะไม่พูดถึงการดมตดเพราะฟังแล้วสะเทือนใจใช่ย่อย #อ้าวพูดไปแล้วนิ โอทิสพยามจะชวนอดัมคุยเรื่องที่บ้าน กะเทยอุทานว่า อีเวร รู้ทั้งรู้ว่าพ่อกับแม่ที่บ้านเค้าจะเลิกกันมึงยังเสือกจะถาม อีน้องโอทิส ติดลบ ส่วนรูบี้ชวนคุยเรื่องการเป็นเกย์ที่ไนจีเรีย กับอีสวย ก็คือบ้ง!!! อีเวรรรรร ทุกคนไม่เหมือนชวนกันมาเดต เหมือนมาชวนกันหลอกด่ากันไปกันมา แต่ยกสุดท้ายหลังจากที่บ้ง ที่พังกันอย่างกับโดมิโน่ล้ม อดัมชวนถามเรื่องที่บ้านของโอทิส โอทิสเล่าปัญหาที่บ้านกับโอล่า อดัมเป็นคนทึ่มๆ ที่ไม่หลักแหลมอะไรมาก

บอกว่าโอล่าเองก็ไม่สบายใจ และอึดอัด บางทีสองคนน่าจะช่วยกัน ก้าวข้ามผ่านสิ่งนี้ แต่สิ่งที่อดัมพูดออกมาหลายครั้งมันจริงใจ ไม่ผ่านฟิลเตอร์ กลายเป็นความจริงที่หลักแหลมจนคนฟังถึงกับจุกอก จนถ้ามันถูกพูดอย่างถูกที่ จะกลายเป็นความ impact มากๆ บวกแต้มให้แบบเต็มๆ กะเทยปรบมือ แต่ยังค่ะ คนเขียนบทมันแน่ มันเก็บเซอร์ไพร์สเยี่ยวแตกไว้ให้คนดู เมื่อรูบี้ ช็อคกับข่าวลูกเลี้ยงคนใหม่ของคิมเค อดัมก็เสริมต่อได้ จุดนี้กะเทยกราบใจแม่มัวรีนที่พาลูกชายดูรายการคิมคาร์ดาเชียน จนสามารถคุยกับรูบี้ได้อย่างออกรส ดับเบิ้ลเดทจบลงด้วยความครืนเครงของการโยนโบลิ่ง เป็นความลงตัวแบบป่วงๆ

ตัดกลับมาที่จีน หลังจากเรื่องวายป่วง ทั้งลูกจริงลูกเลี้ยงตีกัน ผัวเสียงดัง แพะแวะมาขี้ใส่โซฟา ชีวิตก็เหมือนจะสงบลงได้ พอมีเรื่องให้ตื่นเต้นเล็กๆ เมื่อลูกดิ้น เตะท้อง แต่พอจะให้ยาค็อบจับจุดที่ลูกดิ้น ปรากฏลูกเงียบ กะเทยแบบอ้าว น้องเด็กให้ความร่วมมือกับแม่หน่อยได้มั้ยคะ!!! แต่เหมือนคนเขียบบทมันเกลียดแม่ มันให้แม่ได้พักแป๊บๆ ความบ้งก็มาอีกในเวฟสอง เมื่อยาค็อบถามว่าตั้งชื่อลูกว่าธอร์ ดีมั้ย จีนขำ กะเทยขำ เอาอะไรมาธอร์ สภาพ!!! คุณพี่ดูหนังมาร์เวลมากไปปะคะ เห้ออ พี่ต้องพักก่อนนะ ยาค็อบถาม ขำอะไร เราบอก ก็ขำที่จะตั้งชื่อตามการ์ตูนไง 5555 ยาค็อบบอก เปล่า ธอร์เป็นชื่อพ่อผม กะเทยหน้าแห้ง จีนหน้าแห้ง หุบขำแทบไม่ทัน อีเวร ใครจะคิด จากนั้นปัญหาในชีวิตแม่จีนก็คือยังไม่จบ การจะมีผัวไม่ใช่แค่เยเย่กันแล้วจบ ไม่ใช่แค่ท้องแล้วจบ ไม่ใช่แค่มีลูกแล้วจบ แต่มันคือการรวมถึงปัญหายิบย่อยที่เกี่ยวกับการต่อติดความคิด ทัศนคติกันและกัน นี่ยังไม่รวมถึงรสนิยม ความชอบที่ต้องจูนกันอีกล้านแปดประการ งานนี้กะเทยหนักใจแทนแม่จีนค่ะ เป็นกำลังใจให้แม่นะคะ

อีสวยไปบ้านอดัม เจอมัวรีนคุณแม่นัวกับกิ๊กใหม่ เป็นซีนที่กะเทยกระอักกระอ่วนใจ ลูกชายพาผัวลับๆ มา แบบยังไม่เปิดตัว ส่วนแม่ที่กำลังจะหย่ากับพ่อกำลังนัวกับผัวใหม่ งงไปหมด ทำไมทุกคนหาผัวเก่ง ก่อนที่หายนะจะมาเยือนอีสวยเมื่อต้องแนะนำตัวว่าเป็นอะไรกับอดัม อดัมตอบว่า เป็นเพื่อน อีสวยหน้าแห้ง จากที่ยืนหนึ่งมาทั้งซีซั่น เถลิงชัยนั่งบัลลังก์ตั่งทองมงลงหัวมาตลอด 3 EP แรก สุดท้ายวืดหน้าแหก ถอดยศสวยกลับไปเป็นอีริค งานนี้ญาญ่ายังไม่มา เพราะเพลงอยากจะรักทำไมต้องปิด…ยังไม่เปิด เนื่องจากอดัมอยากเก็บรักไว้ไม่ให้ที่บ้านรู้ เพราะกลัวที่บ้านจะเสียใจ ปวดใจแทนอีสวย และ ปวดใจแทนอดัม อีพีนี้มีเค้าลางว่าเรือจะล่มนะคะ กะเทยดูทรง

ด้านโอทิสได้รับโอกาสหนึ่งในล้านจากรูบี้ให้ก้าวเข้าสู่อาณาจักรส่วนตัวของเธอ แน่นอนรูบี้ชีคือสาวน้อยมีปม ชีเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ในโรงเรียน หลายคนคิดว่าเธอต้องสมบูรณ์พร้อม ครอบครัวไฮโซ เหมือนหลุดออกมาจากสารคดีของคิมเค แต่เปล่า บ้านเธอก็คือบ้านธรรมดา ที่มีพ่อนอนติดเตียงและแม่ทำงานที่ปกติ ชีวิตไม่ได้หรูหราไฮโซโบว์ใหญ่อะไรมากนัก จุดนี้ กะเทยรู้เลย รูบี้ไม่เคยเปิดใจให้ใครทั้งนั้น เชื่อว่าไม่เคยมีใครได้ก้าวเข้าบ้าน ได้ก้าวเข้ามาในโลกของเธอ กะเทยมองอ่อน เธอมันก็เด็กผู้หญิงปากร้ายเอาแต่ใจรูบี้ แต่เธอไม่ได้เป็นคนเลวร้าย จริงๆ ชีเป็นคนคลั่งรักด้วย เพราะชีบอกเล่าให้ที่บ้านฟังเรื่องโอทิสอย่างโน้น โอทิสอย่างนี้ พ่อชีเอามาแฉหมด สิ่งที่ชีทำคืออะไรคะ บอกให้พ่อเงียบ กะเทยมองออก อีนี่เขิน!!! จริงๆ ชีเป็นนางร้ายที่จิตใจอ่อนโยน แล้วสร้างกำแพงทั้งหมดมาปิดบังตัวตนที่อ่อนแอ ฉันรักชี มองไม่ผิด ตั้งแต่ที่ชีกินยาคุมกับโค้กเมื่อซีซั่นที่แล้ว รู้เลยตัวละครนี้เต็มไปด้วยเลเยอร์ทางสังคมมากๆ แล้วตอนนี้กำแพงทั้งหมดทลายลงแล้วเพราะชีตกหลุมรักโอทิส!!! ตอนนี้ติ่งวนรถขึ้นทางด่วนแล้วนะ คือเตรียมดันอีรูบี้ขึ้นแท่นนางเอกแล้ว งานนี้ชนะเมฟไปแล้ว ซีซั่นนี้รูบี้เอาไปกินหมด EP3 นี้ฟาดเรียบฝ่ายหญิงตุบหมด เมฟ โอล่า เอมี่ วิเวียน รวมทั้งฟาดชนะอีสวยด้วย!!!

โอทิสกลับมาญาติดีกับโอล่า ทุกอย่างเหมือนจะจบลงแบบ happy ending เมฟกลับไปปรับความเข้าใจกับไอแซค โอทิสก็ไปได้ดีกับรูบี้ แต่คนที่ใจร้ายคือคนเขียนบทที่ปาระเบิดใส่เรือกูค่ะ อีเวร ด้วยการส่งไดอาล็อคผ่านโทรศัพท์ ให้รูบี้โทรมารีแค็ปเหตุการณ์วันนี้ พร้อมบอกขอบคุณสำหรับทั้งหมด แล้วพูดว่า ฉันรักเธอ จุดนี้ อีน้องโอทิสอึ้งแดก ไม่รู้จะด่าใครก่อนระหว่าง โอทิส หรือคนเขียนบท อีเวร!! จุดนี้รูบี้ก็หน้าแห้งไปซิ ชนะผู้ชายมาทั้งโลก แต่พอบอกรักเค้า เค้าบอก that’s nice อีเวร พูดมาได้ เฮงซวย!! เรือกูที่เปิดตัวอย่างหงส์ดูทรงจะจบลงอย่างหมา เฮ้ออออออ สรุปรูบี้ก็ยังคงมงไม่ลงหัวจ้า!!! ลูกสาววืดหน้าแหก เหมือนติดท็อปห้าแล้วโดนขัดขาล้มตอนโชว์ตัว 

ขณะที่ปัญหาใหญ่ในโรงเรียน หลังจากทุบส้วมและบังคับเรื่องเครื่องหน้า เครื่องหัว เครื่องผม และเครื่องแบบแล้ว ยังไม่หมดเมื่อครูใหญ่โฮปยังจะปรับแนวทางที่โรงเรียนเคยมี กะเทยคือจากที่เคยคิดว่าอีนี่ดูมีพิรุธ ตอนนี้มั่นใจแล้วค่ะ ว่าอีโฮปเข้าเกียร์ถอยหลัง พุ่งรถลงคลองแสนแสบ ทะลุลงอ่าวไทยไปเลยค่ะ เพราะนอกจากจะจัดหลักสูตรแบบที่ไม่ให้นักเรียนปรึกษาอะไรทั้งนั้น แล้วคืออะไร คะ!!! มึงคะ ทำอย่างกับไม่เคยเป็นวัยรุ่น ไม่แน่ใจว่าเกิดมาแล้วแก่เลยหรือเปล่า วัยรุ่นโคตรจะเป็นวัยที่มีคำถาม ต้องการคำปรึกษา แต่อีโฮปดักดานอย่างต่อเนื่องเพราะกลัวโรงเรียนโป๊ะ เลยจะไม่พูด อีเวร แล้วยังจะสอนเพศศึกษาแบบแยกห้อง อีน้องคาลก็ งงว่า แล้วกูต้องไปห้องไหน ไปไหนนะคะซิส ส่วนกะเทย จากประสบการณ์ส่วนตัว เราไม่ใช่ผู้ชายแต่ถ้าต้องเรียนเรื่องอวัยวะเพศชาย ก็ต้องไปนั่งห้องชายค่ะ เพราะห้องหญิงเค้าจะเปิดอวัยวะเพศหญิงให้ดู ดังนั้นสิ่งที่คาลพูดว่า ก็เปลี่ยนห้องเป็นชื่อ ห้ององคชาติ กับ ช่องคลอดไปเลยซิคะ ก็คือฉี่ราดเพราะมันอึดอัดอดกลั้นไม่ไหว ฟาดแล้วหนึ่ง ซ่องแตกแล้วแม่ ตัวละครนี้ เยี่ยวแตกมาก กะเทยประทับใจ แล้ววีทีอาร์ ในห้องคือเชยระเบิด เหมือนเป็น VDO สอน sex จากยุคโบราณ โทษนะคะ ในเรื่องมีไอโฟนใช้แล้ว อย่าทำตัวเป็นประเทศไทย ที่ไอโฟน 13 แล้ว แต่นายกยังคนเดิม ตั้งแต่ไอโฟน 5 พอจะตั้งคำถามเรื่อง sex ครูบอกห้ามถามอีเวร เดี๋ยวตกงาน อีเวรรรรร ฉันกรี๊ดเลย มันได้หรอ วิชาเพศศึกษาที่ห้ามถาม ให้ดูแล้วนั่งดูเงียบๆ แล้ว อีลุงที่พูดในวิดีโอคือ บอกว่า เพศสัมพันธ์แบบเพศเดียวกัน คือ อันตราย แล้วด่า แล้วเบลม ว่าจะเป็นโรคติดต่อ กะเทยกรี๊ดเลย หลังจากนี้มี sex ไม่ได้แล้วนะคะ!!! แต่ไม่สอนว่า safe sex ทำยังไงค่ะ!!! พอโอทิส ความหวังของหมู่บ้านจะยกมือถาม แทนเพื่อน เพราะตอนนี้ เกย์ กับกะเทยคือหน้าแห้งกันทั้งห้อง พอห้ามถามแล้วถาม น้องโอทิสก็โดนไล่ออกจากห้องไปเลยซิคะ อีเวร เจริญมากกค่ะ เจริญจริงๆ เจริญลง ลงนรกไปแล้ว 

ส่วนห้องจิมิ๊ คือครูใหญ่เอาเจ๊ผู้หญิงคนนึงมาบรรยายให้ฟังว่า sex หนึ่งคืนขมขื่นนิจนิรันดร์ ทำชีวิตฉันพังได้ยังไง ก็คือบ้งไม่แพ้กัน จุดนี้ สรรเสริญเมฟ หนึ่ง คือ พ่นไดอาล็อคแบบเยี่ยวเล็ด ถ้าจะมาห้ามหนูมี sex เพราะกลัวท้องทำไมไม่สอนให้ safe sex พูด!!! สภาพ!!! แล้วยังบอกว่า จะมาบอกว่าการท้องไม่พร้อมเป็นความผิดของเพศหญิงพูดมาได้ แล้วทำไมไม่เอาผู้ชายมาฟังด้วย เพราะ อยู่ๆ จะท้องเองไม่ได้ค่ะ มันต้องผ่านการเยเย่!!! จริงๆ sex เป็นเรื่องที่สวยงามและสนุกได้ และทุกคนที่ผิดพลาดมีทางเลือกไม่ได้แปลว่าท้องแล้วชีวิตจะพัง!!! ปรบมือให้ชีเมฟ โรงเรียนดันแบบ เงียบนะเมฟ! กะเทยเปิดเครื่องด่า ขบปากจนปากเบิน ดูไปด่าไป ที่พีคสุด กะเทยซู้ดปาก คว่ำปากจากหัวถึงตีน คือโรงเรียนเอาวิดีโอคลอดลูกมาเปิดให้ดู อีเวร กะเทยนึกว่าค่ายธรรมมะ ที่เคยเปิดวิดีโอแม่คลอดลูกให้ดูความเจ็บปวดทรมาน ที่เคยดูตอนเด็กๆ บอกตามตรง เป็น ทอร์ม่า ไปหลายวัน ล้าสมัยพอๆ กับการศึกษาในประเทศไทย ก็การเปิดวีทีอาร์ในคลาสนี้แหละ แล้วชีเมฟ โพเกร็สซีฟสุดด กะเทยขอมอบรางวัลแพมเพิร์สให้เพราะดูแล้วฉี่จะราด เมฟลุกขึ้นแล้ว point out ความลงคลองของโรงเรียน จนสุดท้ายชีเมฟโดนไล่ออกจากห้อง แต่ โอลีเวีย หลังจากที่มี sex กับผัวแบบไม่ใส่ถุงยางไปคือหน้าแห้งสุด กูจะท้องมั้ย พอดูอีวิดีโอคลอดลูกพร้อมคำโปรย ช่องคลอดขาดถึงรูตูด คือกูร้องไห้แล้วนะ ไม่อยู่แล้วนะ !!! จุดนี้ นักเรียนทุกคนสติแตก งดการมี SEX โอลีเวีย กับ อัลวาร์ แบกหน้าไปหาที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศในคลินิกจริงๆ สุดท้ายได้รู้ว่า ถ้าไม่อยากท้องจงใส่ถุงยาง อย่าไปเอาใจแฟนแล้วเสียใจที่หลัง ส่วนอัลวาร์ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แต่อาจจะเพราะแพ้ถุงยางอนามัยกลิ่นใหม่ จุดนี้ กะเทยโล่งใจ ตัวละครโล่งใจ 

ขณะที่จีน กำลังสติแตกถึงขั้นสุด เมื่อนึกได้ว่าชีวิตของนางกับ ยาค็อบไม่มีอะไรเหมือนกันเลยสักนิด ที่ปรึกษาเดียวที่มีคือ มัวรีน ที่เพิ่งจะไล่ผัวออกไปจากชีวิตและมีผัวใหม่ กะเทย งง ทำไมทุกคนหาผัวเก่งแล้วเรานก ท้ายที่สุดเป็นไปตามคาด เมื่อไม่สามารถมอบหัวใจทั้งดวงให้ใครได้ สิ่งที่ทำได้คือบอกความจริง ดังนั้น รูบี้ กับ โอทิส จึงจำต้องจาก EP นี้ รูบี้ เอาไปกิน นางเอกมาก จุดอ่อนของสาวร้าย มงลงหัว สุดท้ายคนที่ปลอบใจเราได้ดีที่สุด ก็คือเพื่อนเรา

อันนี้คือ recap รวมประมาณ EP 1-3 พ่วงๆ 4, 5 ไปนิดๆ นี่ไม่อยากเล่าเยอะนะเพราะอยากให้คนดูเอง นี่ขนาดไม่เยอะนะ ปาไป ครึ่งซีซั่นแล้ว แต่กะเทยบอกเลยค่ะว่า EP ที่เหลืออยู่คือความเข้มข้นแบบดูจบรวดเดียว ไม่หยุด ไม่เบรก เบรกแตก ล้อไฟลุก ไม่มีอะไรกั้นเลย เพราะทุกเรื่องราวต่อจากนี้เต็มไปด้วยความเข้มข้น นี่ขนาดยังไม่ได้พูดถึงวีรกรรมฉาว ของราฮีมกับการล้วงคอห่าน จนเกิดเป็นโศกนาฎกรรมทางใจกับเด็กผู้หญิงในรถคันข้างๆ ที่ตัวละครมีสิทธ์เป็น PTSD ได้ งานนี้ ราฮีมโดนคนเขียนบทแกงแล้วหนึ่ง!! ใครทำพ่อหนุ่มสุดหล่อของกะเทยได้ลงคอ ทั้งอกหักโดนอีสวยเท แล้วยังต้องไปทำอะไรป่วงๆ อีก นี่ยังไม่รวมที่น้องลิลลี่ หญิงสาวผู้มาจากมิติที่สิบหกหรือเปล่ากับความเชื่อว่าเอเลี่ยนมีจริง กับจินตนาการสุดพิลึกพิลั่นที่แปลก แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาและสีสัน แต่ถูกทดสอบด้วยการโดนด้อยค่าจากคนอื่นจนตัวตนสั่นสะเทือน จุดนี้น้องลิลลี่ก็มงลงไปเลยซิค่ะ ชีรับบทนางโศก สุวนันท์ จีรนันท์ วรนุช นางเอกเจ้าน้ำตาได้อย่างสวยงามและสะท้านจิตใจเรามากๆ รวมทั้งการลุกฮือ ปลดแอกความล้าหลัง ดักดานของมัวร์เดลโดยวิเวียน ที่ผลลัพธ์คือความซ่องแตกแบบสะท้านทรวง การแวะไปนัวผู้ใหม่ของอีสวยไกลถึงไนจีเรีย จนเทอดัมแบบกัปตันเรือล่มเรือรัก ยิงเรือตัวเองแล้วปล่อยให้จมน้ำ แบบไม่มีชูชีพ อีเวร หรือ Best Fight ของซีซั่นนี้ กับการฉีดน้ำหอมแบบที่กะเทยดูแล้วเยี่ยวแตกของรูบี้ และอีกหลายสิ่งอย่างที่พลาดไม่ได้ รวมถึงการลุ้นการคลอดลูกของคุณแม่สูงวัยอย่างจีนที่กะเทยลุ้นจนฉี่จะราด และ เสียน้ำตา!!! 

สำหรับซีซั่นนี้ สิ่งที่กะเทยและเพื่อนรอบตัว รู้สึกได้คือ มันยังคงเดินเรื่องป่วงๆ ตามแบบฉบับวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่ทุกคนล้วนมีรอยด่างพร้อยและความไม่สมบูรณ์แบบในตัวเอง ตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่าง จีน ยาค็อบ มัวรีน ไมเคิล แม่ของเมฟ หรือแม้แต่ โฮป เองก็ตาม ผู้ใหญ่หลายคน fucked up จมปลักอยู่กับความทุกข์ บางคนกำลังพยายามก้าวผ่านมัน บางคนเพิ่งตระหนักว่าเป็นปัญหา ไม่ใช่แค่เด็กที่เติบโตแต่ผู้ใหญ่เองก็กำลังเติบโตไปสู่หนทางที่ดีกว่าเช่นกัน

ขณะที่รุ่นเล็ก ตั้งแต่น้องโอทิส ไปจนถึงวิเวียน ทุกคนล้วนเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แต่ในความยุ่งเหยิงมันเต็มไปด้วยการซัพพอร์ททางจิตใจ และเพื่อนไม่เคยทิ้งเพื่อน มิตรภาพที่คนดูสัมผัสได้ จากคู่เคมีความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทของแต่ละตัวละคร คู่เพื่อน โอทิส – อีริค ตอนที่จีนต้องผ่าตัดหลังคลอด อีริคมาเป็นกำลังใจให้โอทิส อยู่ข้างๆ กัน เมฟ-เอมี่ ตอนที่เอมี่ขับรถพาเมฟไปตามหาน้อง กะเทยก็ลุ้นไปสิ จะเจอน้องหรือจะรถชน และหลังจากผ่านบททดสอบที่ทั้งสองคนยอมลดทิฐิ ถอยหลังคนละก้าวเพื่อเดินหน้าต่อ สู่บทสรุปกับคำพูดที่เอมี่บอกกับเมฟว่า ฉันเองก็มีแม่ที่ถึงจะมีเงินแต่บางทีชีก็ห่วย ดังนั้นเราสองคนจะเป็นแม่ให้กันและกัน นี่มันคือคำพูดที่ยิ่งใหญ่ ต่อยอดจากซีน The Stupid Bus ได้อย่างสวยงาม กะเทยคือสะอื้น!!! ขณะที่แก๊งค์ดาวโรงเรียน รูบี้-อัลวาร์-โอลีเวีย ที่เพื่อนก็พร้อมจะเทผัวมาหาเพื่อนเพราะเพื่อนโดนผัวเท!! ก็คือเป็นไหล่ที่พร้อมจะให้ซบ หรือจะเป็นตอนที่โอลีเวียเตือนรูบี้ว่าอย่ามองออกไปนอกหน้าต่าง เพราะเมฟกำลังจูบกับโอทิส มันก็คือเพื่อนเนี่ยแหละที่อยู่ข้างเรา แจ็คสัน-วิเวียน กับความสัมพันธ์ที่เดินสวนทางกัน จนความสัมพันธ์สั่นคลอน แต่ก็ยังมีจุดที่เพื่อนรักเตือนสติให้กัน อดัม-โอล่า ที่โอล่าพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยให้อดัมปรับตัวเข้ากับการควบคุมอารมณ์ หรือลิลลี่-โอทิส ที่โอทิสพยายามเข้ามาช่วยเหลือลิลลี่ที่จิตใจกำลังแตกสลาย หรือตอนที่ คุณครู-มัวรีน-อดัม ตอนที่อดัมเอาหมาไปโชว์ตัว กะเทยโคตรเอาใจช่วยเลย ว่าอีน้องหมามาดามชีจะทำได้มั้ย แล้วเราอยากให้อดัมมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง ได้เจอสิ่งที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข และเราอยากเห็นใครสักคนที่ยืนอยู่ข้างอดัม หรือจะคู่เพื่อนใหม่อย่าง อดัม-ราฮีม ที่ตอนนี้ดำรงตำแหน่งเรือผีแต่ดูทรงแล้ว ซีซั่นหน้าน่าจะกลายเป็นเรือหลัก!! เพราะอีสวยไปเททั้งสองคนไปแบบปังๆ จนเราคิดว่าผัวเก่าอีสวยสองคนจะมาคบกันเอง งานนี้คนดูลุ้น กะเทยลุ้น ส่วนอีสวยที่สวยจนเทผู้ ซีซั่นหน้ากะเทยว่านกแน่ๆ แต่จะเป็นการนกที่เริ่ดอย่างนางพญาหงส์!!! นกแบบโบยบินไปกลางท้องฟ้าไกล นกแบบไม่นก เพราะไม่ได้คิดว่านก กะเทยเฟิร์ม ตัดกลับมาที่ความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องนี้ มันเป็นพลังที่สวยงาม ที่พยายามช่วยเหลือกันให้เติบโตไปในหนทางที่ดีขึ้น เป็นวัยรุ่นที่ก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ ที่ผ่านการเจ็บปวด แตกสลาย และประกอบสร้างขึ้นใหม่จากชิ้นส่วนที่มันแตกร้าว เลือกและหยิบสิ่งที่ดี วางสิ่งที่เจ็บปวดไว้ แล้วกลายเป็นคนใหม่ที่เติบโต ดูแล้วมันอบอุ่นและสวยงามในการเติบโตของทุกตัวละคร 

ความรักของทุกตัวละครยุ่งเหยิงและปวดใจ ส่วน sex ก็เป็นภาพที่รุนแรงและเป็นเรื่องต้องห้ามแต่สนุกสนาน ทั้งๆ ที่ทั้งสองสิ่งนี้คือ สิ่งที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่มีใครในเรื่องไม่เจ็บปวดจากความสัมพันธ์ ต่างก็ผิดหวัง สมหวัง คละเคล้ากันไป หลายครั้ง sex ในเรื่อง โดนบอกว่าไม่ควรพูดถึง ควรเก็บซ่อน ซุกไว้ใต้พรม ทั้งๆ ที่ทุกคนในเรื่อง มี SEX!!! ไม่ว่าจะโจ่งแจ้งหรือแอบซ่อน แต่ทุกตัวมี SEX แต่ SEX ดันถูกทำให้ผิด ซึ่งกะเทยมองว่านี่คือการถอยหลังลงคลอง ลงทะเล ลงหายไปในแกนโลก ไม่ได้ผุดได้เกิด พร้อมโยนขี้ให้กับกิจกรรมทางเพศว่าเป็นต้นตอของความหายนะในชีวิต แบบที่เหมือนลืมไปว่า โทษนะคะ เกิดมาจากกอไม้ไผ่หรอคะ หรือชีวิตนี้ได้มาจากนกกระสาคาบลงมาจากสวรรค์หรอคะ ไม่ใช่!!!ไง คนเราเกิดจากการร่วมเพศ ดังนั้นถ้าจะมองว่ามันเสี่ยงก็ควรจะศึกษา ยิ่งต้องทำความรู้จัก ไม่ใช่ห้าม แต่ต้องทำความเข้าใจ คนเรามีตัวเลือกได้มากมาย อย่างที่เมฟบอก sex สามารถเป็นความสวยงาม และความสนุกสนานได้ และไม่ได้แปลว่าเมื่อเกิดปัญหาจากการมี sex แล้วชีวิตจะจบสิ้น ชีวิตจริงมันมีตัวเลือกได้หลากหลาย ไม่ใช่ท้องไม่พร้อมแล้วชีวิตจะจบสิ้น ไม่ใช่เป็นโรคแล้วจะจบสิ้น ไม่ใช่มี sex ไม่ปลอดภัยแล้วชีวิตจะฉิบหาย และนอกเหนือจาก SEX ในเชิงการร่วมเพศ SEX ในเชิงของการบ่งบอกตัวตนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรถูกปิดกั้น กะเทยดีใจที่มันมีตัวละครที่เรายังไม่ค่อยเข้าใจมันหรอก เพราะเราโตมากับสภาวะ Binary ดังนั้นโลกของ non binary คืองงนิดนึง แต่หยิบยกมาพูดถึงก็ทำให้เกิดการตระหนักรู้ ให้เรามองโลกของเราให้มันกว้างกว่า Binary ที่มันครอบเราอยู่ หรือการที่อดัมเป็นรับ เอริคเป็นรุก แล้วบางคน งง กะเทยถามว่า งงอะไร งงได้ค่ะ จะได้ช่วยชี้แจง เพราะสิ่งที่คนบางคนตกหลุมพรางไปแล้วว่า รุกต้องแมน ไปตกหลุมค่านิยมบางอย่างที่สื่อนำเสนอแต่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และเป็นความเข้าใจผิดๆ เพราะหลายครั้งการแสดงออกของเรามันไม่เกี่ยวกับโพซิชั่นบนเตียง มันคนละเรื่อง!! หรือการที่มนุษย์สามารถแสดงออกได้ถึงความเสียใจโดยไม่จำกัดว่าเป็นมันเป็นเรื่องเพศไหนต่างหาก นี่คือความสวยงามในความเป็นคน ที่ไม่ต้องใช้คำจำกัดความทางเพศใดๆ มากำหนดว่าผู้ชายห้ามร้องไห้ ผู้ชายต้องแข็งแกร่ง แล้วดูชีวิตลุงไมเคิลด้วย พังขนาดไหน!! แล้วลองดูว่า ไมเคิลรับอะไรมาจากพ่อ แล้วส่งต่ออะไรไปสู่อดัมบ้าง มันน่าเศร้าที่ครอบครัวทำร้ายกันเองแบบไม่รู้ตัว เพราะขาดการยอมรับในการแสดงออกซึ่งความเป็นคน จงเก็บความเป็นตัวเองไว้แล้วฉายภาพแต่ในสิ่งที่สังคมอยากเห็น เราเห็นว่าลิลลี่พังขนาดไหน สุดท้ายแล้วซีรีส์เรื่องนี้มันวนรถกลับมาให้กะเทยสำรวจตัวเองว่า เราอยู่ในจุดไหน เราเป็นเฉกเช่นตัวละครใดในเรื่องบ้าง เราตั้งคำถามกับอะไรอยู่ เราเปิดใจพอที่จะรับรู้เรื่องราวของคน non binary มั้ย หรือเราเปิดใจกับจินตนาการของลิลลี่มั้ย หรือเรารับฟังคนอื่นจริงๆ จังๆ มากน้อยขนาดไหน เราเห็นด้วยกับจีนหรือโอทิสมั้ย หรือเราเองก็เป็นโฮปในบางมุม เราอาจจะเห็นด้วยจะมากหรือน้อยก็ได้ เพราะเราอาจจะไม่ได้มีพื้นที่ในหัวใจที่กว้างมากพอสำหรับทุกคน แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะมันก็คือชีวิตของเรา 

ดังนั้นหลังจากที่ Final Episode ของ season นี้จบลง กะเทยเห็นว่ามันมีทั้งคนที่ตกลงจะใช้ชีวิตร่วมกัน คนที่ต้องปล่อยมือจากอีกคน คนที่เดินสวนทางกัน มีสมาชิกใหม่ มีการจากลาเพื่อบอกว่าเดี๋ยวจะเจอกันใหม่ มีผลลัพธ์ที่รุนแรงแล้วทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันอย่างการที่โรงเรียนโดนปิด เนื่องจากความภาคภูมิใจของเด็กๆ ในฐานะโรงเรียนสอน sex ไปทำให้นักลงทุนไม่พอใจ ทุกอย่างมีผลลัพธ์ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทุกคนต้องไปต่อ แล้วไม่ว่าชีวิตจะ end up แบบ fucked up ขนาดไหน เราทุกคนล้วนต้องก้าวไปข้างหน้า อย่างผู้ที่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างผู้ที่ยอมรับในรอยด่างพล้อย และข้อผิดพลาดของตัวเอง จากนั้นเราจะไม่เสียใจที่ได้ชีวิต หรือได้มี sex หรือได้ทำสิ่งต่างๆ ที่เลือกแล้ว เพราะนี่คือการได้ใช้ชีวิตอย่างที่เป็นตัวเราอย่างแท้จริง

#SisAwards


ดู Sex Education ได้ที่ Netflix

‘อนินทรีย์แดง’ : ‘เสียง’ แห่งยุคสงครามเย็น

‘อนินทรีย์แดง’ เป็นผลงานที่ไม่เพียงสร้างความขบขันให้ผู้ชมด้วยการใช้ ‘เสียงพากย์’ ตามขนบของหนังไทยยุคทองเมื่อราว 30 ปีขั้นต่ำก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่มันยังเป็นความบันเทิงคนผู้สร้าง รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ด้วย แต่เพียงชั่วครู่ของความรื่นรมย์จากเสียงในหนัง พลันเราอาจน้ำตาตกกับการใช้เสียงของเขาก็เป็นได้

รัชฏ์ภูมิกำลังพยายามทำอะไรกับเสียงเหล่านั้น บางทีเจ้าตัวอาจให้คำตอบได้ดีที่สุด …


อยากรู้ที่มาที่ไปของการใช้เสียงเล่าเรื่องใน ‘อนินทรีย์แดง’

จริงๆ ผมเป็นคนชอบเอาภาษาหนัง องค์ประกอบหนัง มาเล่นมารื้ออะไรอยู่แล้ว พยายามมองหาว่าการใช้ภาษาหนังใดๆ มันมีเหตุทางการเมืองอะไรมั้ย เช่นการใช้ซับไตเติ้ลหรือว่าวอยซ์โอเวอร์ พอมาเรื่องนี้ผมสนใจเรื่องหนังพากย์ ผมไปเป็นกรรมการตรวจหนังธีสิส ของคณะ ICT ศิลปากร และมันก็จะมีหนังระเบิดภูเขาเผากระท่อมมาเรื่อยๆ มีอยู่ปีนึงที่มีคนมาบอกว่าจะทำเป็นหนังพากย์ แล้วตอนนั้นทั้งกรรมการธีสิสและเด็กในห้องก็ถามกันว่าจะทำระเบิดภูเขาเผากระท่อมเฉยๆ หรือว่าจะอัพเดตอะไรได้มั้ย ก็มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ พอดีปีนั้นอยู่ห้องเดียวกับแป๊บ (ชาญชนะ หอมทรัพย์ – คนเขียนบทหนังและซีรีส์) เขาก็พูดในฐานะนักประวัติศาสตร์ว่าเสียงพากย์มันมีเหตุผลของมัน สมัยก่อนเสียงกับบทมันต้องตรงกัน พระเอกต้องเสียงหล่อ ตัวร้ายก็ต้องเสียงชั่วมากๆ นักแสดงยุคนั้นเล่นหนังวันนึงเยอะมากก็ไม่สามารถส่งผ่านคุณภาพของเสียงแบบนั้นได้ นอกจากเหตุผลเชิงเทคนิคต่างๆ แล้ว กลายเป็นว่าเสียงมันคือภาพจำว่าคนแบบนี้เสียงต้องเป็นแบบนี้ เป็นค่านิยมในยุคนั้น แป๊บเล่าไปเราก็คิดตามแล้วรู้สึกว่ามันดูเป็นไอเดียที่น่าเอาไปคิดต่อเนอะ ก็เลยได้เป็นเรื่องของพระเอกคนนึงที่เสียงหล่อมากแล้ววันนึงเขาตื่นมาแพบว่าเสียงเขากลายเป็นปกติ เหมือนเขาหลุดพ้นอะไรบางอย่าง แต่จริงๆ แล้วต่อให้เป็นเสียงปกติก็จะยังอยู่ในการกำหนดของสังคมอยู่ดี ก็บอกเด็กเลยว่าเอามั้ย เด็กก็ “ไม่ครับ” คือน้องเขาไม่ได้อยากรื้อโครงสร้าง เขาอยากทำเพื่อทริบิวต์ ตอนนั้นเราก็ชอบไอเดียตัวเองก็เก็บไว้ งั้นกูเอานะ (หัวเราะ)

ไอเดียเรื่องเสียงได้มาแล้วเอามารวมกับเรื่องราวนี้ยังไง

จริงๆ ผมสนใจเรื่องอาณานิคมมาตั้งแต่งานเก่าๆ แล้ว เวลาคิดงานตัวเองมันก็จะแบ่งออกเป็นยุค ‘แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง และการศึกษาขั้นพื้นฐาน’ ก็จะไปสำรวจจักรวรรดิอังกฤษ เราก็ต้องเลือกงานในประวัติศาสตร์ไทยที่มันสัมพันธ์กับจักรวรรดิอังกฤษมากๆ The King and I มันก็ตรง ในเรื่อง ‘มะนีจันเปล่งเสียงไม่ได้ในทวิภูมิทางภาษาของคุณ’ เราก็เอา ‘ทวิภพ’ มาอ่านใหม่ซึ่งมันจะมีเรื่องช่วงที่ไทยจะเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตอนที่ฝรั่งเศสเอาปืนใหญ่มาจ่อไปที่วัง ถ้าพูดถึงจักรวรรดิฝรั่งเศสก็ต้องพูดถึง ‘ทวิภพ’ มั้งที่มันอยู่ในป๊อปคัลเจอร์ หลังจากนั้นมันก็จะมียุคที่นักวิชาการเรียกยุคอเมริกาหรือว่ายุคสงครามเย็น ก็เป็นยุคที่ยากมากเพราะต้องมาดูว่ามีงานป๊อปคัลเจอร์ไหนที่พูดถึงยุคนี้บ้างวะ เพราะจริงๆ ยุคอเมริกามันก็เป็นการเรียกของ เบน แอนเดอร์สัน มันเหมือนเป็นแค่บรรยากาศ มันไม่ได้มีตัวตนเหมือนการเอาปืนใหญ่มาจ่อวัง ในภาพจำมันอาจจะเป็นทหารจีไอซึ่งโดยส่วนตัวก็ไม่ได้สนใจทหารจีไอหรือเด็กที่เป็นลูกครึ่งขนาดนั้น หรือผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในแหล่งเริงรมย์เราก็รู้สึกเห็นบ่อยและไม่ได้สนใจจะไปสำรวจตรงนั้น แต่เราสนใจ ‘อินทรีย์แดง’ ในแง่ของหนังซูเปอร์ฮีโร่ มันดูเป็นแบทแมนของไทย ดูเป็นลูกเศรษฐีที่เห็นบ้านเมืองมันล้มเหลว ตำรวจก็ไว้ใจไม่ได้ ก็เลยหาชุดแฟนซีมาใส่ออกไปปราบเหล่าร้ายในยุคสงครามเย็น ตัวร้ายก็จะมีพวกค้าฝิ่นบ้าง พวกคอมมิวนิสต์ข้ามชาติบ้าง ก็เลยสนใจ ‘อินทรีย์แดง’ แต่ไอเดียสองอย่างยังไม่ได้เอามารวมกันคือเสียงพากย์กับ ‘อินทรีย์แดง’ หลายปีมากที่เราหาว่ามีป๊อปคัลเจอร์ไหนที่เราเอามาเล่นได้บ้างวะ จริงๆ แล้วผมว่าป๊อปคัลเจอร์ของสงครามเย็นมันน่าจะเป็นพวกวรรณกรรมน้ำเน่าเลยรึเปล่า เช่น กฤษณา อโศกสิน มันยากเพราะว่ามันไม่มีความเป็นยุคชัดเจนเลยเป็นเหตุผลให้คนสามารถเอามารีเมคได้เรื่อยๆ มันถูกทำให้ร่วมสมัยได้เรื่อยๆ จนเหมือนเป็นวังวนอะไรบางอย่าง มันเหมือนไม่ค่อยมีกลิ่นของยุคนั้นชัด มันสะท้อนเพราะก็เคยอ่านงานธีสิสของอาจารย์ที่เขาศึกษาพวกวรรณกรรมน้ำเน่ายุคสงครามเย็น เขามาร์คเอาไว้เพราะมันเขียนในยุค 2510-2520 แต่เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ให้ภาพที่ชัด แต่พอเป็น ‘อินทรีย์แดง’ ก็รู้สึกว่ามันให้ภาพที่ชัด ความเป็นสายลับ ความเป็นผู้ก่อการร้าย มันมีรสที่โดดขึ้นมาเพราะเหมือนงานน้ำเน่ามันไม่ได้มียุคขนาดนั้น จนพอเราคิดเรื่องพากย์ได้เราก็รู้สึกว่ามันก็น่าจะเอามาโขลกรวมกันได้

รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค

มันก็ทำให้เรานึกถึงหนังอีกชุดคือ Iron Pussy (ไมเคิล เชาวนาศัย, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) และจริงๆ ก็รวมถึง Forget Me Not (จุฬญาณนนท์ ศิริผล) ที่ดูไปด้วยกันได้ดีเลย

ไม่เคยคิดเลยนะ (หัวเราะ) Iron Pussy จริงๆ เป็นงานที่เราน่าจะคิดถึงแต่ดันไม่ได้คิดถึงเลยตอนทำ มันมาทีหลังมากๆ ส่วน Forget Me Not ก็ไม่ได้คิดถึงเลยเหมือนกันเพราะรู้สึกว่าเราต่างคนต่างทำ เอาจริงๆ งานเรื่องนี้มัน strategy ประมาณนึงนะ เพราะว่าผมอยากทำหนังยาว แต่มันหาเงินในประเทศไม่ได้ ก็ต้องหาทุนเมืองนอก แต่ผมไม่สามารถทำได้เพราะไม่เคยมีหนังสั้นที่ไปเทศกาลจริงๆ มัน strategy ประมาณนึง ดังนั้นงานชิ้นนี้มันจึงคิดบนฐานที่ว่ามันต้องไปเทศกาลต่างประเทศนะ ดังนั้นแล้วเหมือนไดอะล็อคของผมมันเลยมีกับผู้ชมต่างประเทศมากกว่า เช่น ภาพนี้อ้างอิงมาจากงานยุโรปมากกว่า มันมีความทริกกี้บางอย่างครับว่าทำยังไงให้อารมณ์ขันเรามันทำงานกับคนที่ไม่รู้ภาษาไทย ไม่รู้วัฒนธรรมไทย ไม่รู้ประวัติศาสตร์ไทยด้วย มันเหมือนว่าเราคุยกับงานไทยอย่างเดียวไม่พอแล้วเพราะมันไม่โต (หัวเราะ) เราต้องมีไดอะล็อคแบบนี้ แอ็คติ้งแบบนี้ คือมันไทยมากๆ นะ มันต้องยังไงวะ ผมก็ลองผิดลองถูกเหมือนกัน เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันเวิร์คมั้ยแต่ก็มีฟีดแบ็คจากต่างชาติในเรื่องอารมณ์ขันบางอย่างเหมือนกัน จริงๆ ไม่เคยเดินทางไปเทศกาลกับหนังนะ เลยไม่รู้ว่าคนดูเขาขำอะไร แล้วขำเหมือนคนไทยมั้ย แต่ค่อนข้างตรงกันว่าเขาเห็นอารมณ์ขันแต่ไม่รู้เหมือนกันว่าตรงไหน

อีกอย่างคือหนังมันโรแมนติกมาก ไอ้ประสบการณ์การเขียนบทซีรีส์ที่ผ่านมามันช่วยอะไรตรงนี้เราได้บ้างมั้ย

จริงๆ เวลาผมทำงานส่วนตัว ผมหนีงานซีรีส์นะ เพราะมันค่อนข้างจะเรียกร้องกรอบการทำงานมากๆ ความจริงไดอะล็อกแบบนี้ก็เขียนในซีรีส์ไม่ได้ด้วย มันต้องเป็นโลกเฉพาะ มันก็เลยเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากสิ่งเหล่านั้น มีผลมั้ย ผมว่ามันมีผลในการหนีนะ เพราะจริงๆ ซีรีส์มันจะเรียกร้องในเรียลลิสติกของขนบอะไรบางอย่าง จะต้องมีซับเท็กซ์ ซึ่งเข้าใจนะในการเขียนบทบางแบบที่มันตรงๆ หรือล้นๆ แต่ผมก็ไม่รู้สึกอยากทำแบบนั้นในงานตัวเอง เพราะเบื่อ


กลยุทธ์กรุยทางสู่แหล่งทุนต่างประเทศที่รัชฏ์ภูมิตั้งใจทำกับ ‘อนินทรีย์แดง’ อาจสัมฤทธิ์ผลให้เห็นแล้ว เพราะโปรเจ็คต์หนังผีเครื่องดูดฝุ่น ‘ผีใช้ได้ค่ะ’ นั้นได้ทุนจากโลการ์โนมาตั้งต้นโปรเจกต์แล้วเรียบร้อย


อ่านรายละเอียดโปรเจกต์ ‘ผีใช้ได้ค่ะ’ ที่ ‘ผีใช้ได้ค่ะ’ โปรเจกต์หนังผีคว้ารางวัลใหญ่ OPEN DOORS ที่โลการ์โน

‘อนินทรีย์แดง’ ฉายในโปรแกรม ‘กีรติ ศักดินา พญาอนินทรีย์แดง’ โดยฉายควบกับ Forget Me Not ของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่ Doc Club & Pub

Box Office Report : รายได้หลังปลดล็อคโรงหนังวันแรก

วานนี้ (1 ต.ค.) เป็นวันแรกที่ ศบค. ประกาศปลดล็อคโรงหนัง หลังจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปิดโรงหนังมาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ส่งผลให้เมื่อวานนี้มีหนังฟอร์มยักษ์ที่อั้นมาตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา กระจุกกันเปิดตัวในวันแรก เนื่องจากเกี่ยวพันกับการปล่อยสตรีมมิ่งที่กำหนดนโยบายมาแล้วจากต่างประเทศ

หนึ่งในหนังที่ช่วงชิงวันแรกนี้คือ Black Widow หนังในจักรวาลมาร์เวล ที่มีกำหนดฉายทาง Disney+ Hotstar แล้วในวันที่ 6 ต.ค.นี้ นั่นเท่ากับว่านี่คือหนังมาร์เวลเรื่องแรกในไทยที่ฉายโรงก่อนลงสตรีมมิ่งแค่ 5 วัน กระนั้นก็ยังมีประเด็นเพราะโรงหนังเครือหลักของประเทศทั้ง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และ เอสเอฟ ซีเนม่า ต่างก็ขึ้นค่าตั๋ว Black Widow อีก 20 บาท ด้วยเหตุผลว่าหนังยาวกว่าปกติ (2.14 ชั่วโมง) และเป็นหนังฟอร์มยักษ์

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัววันแรกของ Black Widow และทุกเรื่องก็ไม่ได้คึกคักอย่างที่คิด


รายได้หนังประจำวันที่ 1 ต.ค. 64

1. Black Widow – 1.28 ล้านบาท
2. The Suicide Squad – 0.35 ล้านบาท
3. A Quiet Place Part II – 0.16 (4.76) ล้านบาท
4. The Conjuring : The Devil Made Me Do It – 0.15 ล้านบาท
5. Wrath of Man – 0.13 ล้านบาท
6. Malignant – 0.07 ล้านบาท
7. Space Jam : A New Legacy – 0.03 ล้านบาท
8. Reminiscene – 0.01 ล้านบาท
9. Those Who Wish Me Dead – 0.005 (0.27) ล้านบาท
10. Promising Young Woman – 0.003 (0.42) ล้านบาท

นนทวัฒน์ นำเบญจพล : ‘ดินแดง’ ม็อบเติบโต สังคมถดถอย

ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ เอื้อให้นักทำสารคดีไทยออกสำรวจได้หลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้สวมปลอกแขนสื่อมวลชน คว้ากล้อง และตะลุยเข้าไปกลางสมรภูมิแยกดินแดง จนเกิดเป็นโปรเจกต์สารคดี Sound of ‘Din’ Daeng

การทำงานเช่นนี้ของนนทวัฒน์ มันทำให้เรานึกย้อนไปเมื่อกว่าสิบปีก่อนหน้านี้ ที่เขาเดินดุ่มพร้อมกล้องเข้าไปกลางการชุมนุมเสื้อแดง แยกราชประสงค์ แต่เวลาและประสบการณ์มันทำให้การทำงานแบบเดิมแต่ได้มุมมองที่ต่างไป 

นนทวัฒน์ นำเบญจพล

ถ้าเทียบกับตอน ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ การทำสารคดีครั้งนี้เหมือนหรือต่างจากวันนั้นอย่างไร? 

ตอน ‘ฟ้าต่ำฯ’ เราน่าจะเหมือนเด็กที่ชุมนุมตอนนี้ แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้สนใจการเมืองอะไรมาก รู้แค่ว่ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเรา ทั้งการมีผู้ชุมนุมบนถนน มีการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ต่างๆ ทีนี้พอเวลามันผ่านไป สิ่งที่พูดใน ‘ฟ้าต่ำฯ’ มันก็ยังเป็นสิ่งที่พูดอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เด็กๆ สมัยนี้เขาเห็นด้วยกับมัน ซึ่งเมื่อสิบปีที่แล้วมันไม่ใช่แบบนี้ไง 

ที่ดินแดงก็เช่นกัน ตอนแรกที่เราสนใจคือมันเป็นผลลัพธ์ของทุกสิ่งทุกอย่างในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวที่ใหม่ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเราเพิ่งเคยเห็นการเคลื่อนไหวที่มันเป็นแบบนี้ ไม่มีการปราศรัย ไม่มีแกนนำที่ชัดเจน และมันก็ออแกนิกมาก มันไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย ไม่สามารถเอาตรรกะการชุมนุมมาจับได้เลย ไม่มีการนัดหมายกันบนโลกออนไลน์อะไรทั้งนั้น และที่สำคัญที่สุดคือความสุดขอบของสิ่งที่เรียกว่าสันติวิธี 

วันแรกที่เราไปก็ไม่ได้อินอะไรกับเด็กๆ กลุ่มนี้ขนาดนั้น มันจะทำแบบนี้กันไปทำไม มันจะส่งผลกับม็อบใหญ่ที่เขาปราศรัยที่ดูสันติวิธีมากๆ ทำให้ม็อบดูแย่รึเปล่า พอได้เข้าไปพูดคุย ทำความรู้จัก และหาคำตอบ เราก็รู้สึกเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาทำเป็นอย่างมาก และเราก็คิดว่ามันเป็นผลลัพธ์ของการเมืองไทย และสภาพสังคม โครงสร้างต่างๆ นานา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่มันก่อให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมา

การชุมนุมที่ดินแดงเป็นผลลัพธ์ของการเมืองไทยช่วงสิบปีนี้ได้เลยมั้ย? 

เราว่าใช่ เอาง่ายๆ เลยอย่างเด็กหลายคน ช่วงก่อนมาถึงยุคประยุทธ์ ถึงพวกเขาจะจนก็จริง แต่ว่ามันก็ไม่ได้จนกันขนาดนี้ หลายคนเริ่มไม่มีจะกินกันตั้งแต่ประยุทธ์เข้ามา เริ่มค้าขายไม่ได้ ต้องออกจากโรงเรียน ที่บ้านจนหนักกว่าเดิม เด็กบางคนอายุแค่สิบขวบเองในวันที่ประยุทธ์เข้ามา เขาก็เห็นชัดเลยว่าในช่วงเจ็ดปีของเขาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กจนเข้าสู่วัยรุ่น คุณภาพชีวิตของเขามันแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด แย่ลงขนาดที่ว่าไม่มีการศึกษา นอกจากไม่มีโอกาสทางการศึกษาแล้วยังไม่มีโอกาสทางสังคมต่างๆ งานที่พอมีให้ทำบ้างก็หายากขึ้นเรื่อยๆ เงินที่พอมีก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ พอมาช่วงโควิดมันก็พีคสุดของเขาเลย ไหนจะเรื่องการเข้าถึงวัคซีน การไม่ได้รับการเยียวยาจากการล็อกดาวน์ ทุกสิ่งทุกอย่างมันกระทบจนเขาไม่สามารถที่จะมีชีวิตตามมาตรฐานของคนที่จะอยู่รอดในสังคมเมืองได้เลย เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนเขาไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ถ้ายังอยู่แบบนี้ต่อไปอีกสักสิบปีแล้วลูกหลานจะอยู่กันยังไง แล้วพอเขามาชุมนุมตามปกติมันก็เกิดการกระทำของ คฝ. เพื่อที่จะสลายการชุมนุม การแสดงออกของพวกเขามันก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งความน่าสนใจมันก็จะต่างกับม็อบเด็กจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เพราะโตมาในสังคมคนละแบบกัน ให้เขาขึ้นไปปราศรัยบนเวทีก็อาจจะไม่ใช่ทาง ซึ่งการแสดงออกอย่างที่เขาเป็นอยู่มันคือผลการกดทับเชิงโครงสร้าง 

ถ้าเกิดเรามองการเคลื่อนไหว ณ ตอนนี้เป็นภาพใหญ่ ที่ดินแดงก็คือพื้นที่การแสดงออกของเด็กกลุ่มนี้ 

ใช่ เขารู้สึกฟิตอินกว่า ม็อบอื่นก็ไปบ้างนะแต่อาจจะไม่ขนาดนี้ เริ่มเห็นว่าที่นั่นกลายเป็นที่แฮงเอาท์ไปแล้วนะ พอเราได้คุยกับหลายคน บางคนก็งานไม่มี บางทีก็มีปัญหากับที่บ้าน เห็นชัดเลยว่าโครงสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมมันบีบให้มันกลายเป็นแบบนี้

สมมติงานชิ้นนี้ออกไปแล้วมีคนตั้งคำถามว่าเรากำลังสนับสนุนความรุนแรงรึเปล่า เราจะตอบเขาว่าอย่างไร? 

ถามว่าสิ่งที่เด็กๆ ทำ เขาตั้งใจจะเอาชีวิตฝ่ายตรงข้ามรึเปล่า ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยคือไม่ เพราะไอ้สิ่งที่เขาใช้มันไม่ได้อันตรายถึงชีวิต มันเป็นสุดขอบสันติวิธีไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ไฟก็ตาม ก็ไม่ได้ยิงไปใกล้ๆ มันก็แค่ทำให้อีกฝั่งต้องถอยออกไป ไอ้ระเบิดมือที่ทำกันเอง ก็ไม่ได้เขวี้ยงเข้าไปกลาง คฝ. ซึ่งในระหว่างนั้นมันก็อาจจะมีมือที่สามแว้บๆ มาบ้าง ซึ่งเราก็พูดไม่ได้ว่ามาจากฝั่งไหน แต่ด้วยความที่ตอนนี้มีโซเชียลมันก็เลยทำให้ไม่ค่อยมีมือที่สามโผล่มาแล้ว คนที่ได้รับอันตรายจริงๆ ส่วนใหญ่มันก็คือฝั่งเด็กๆ ต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นจากกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตาก็ตาม มันเป็นการถูกยิงในระยะประชิด แล้วก็เกิดการบาดเจ็บทีละหลายคน และยังมีการปราบปรามอีกหลายแบบที่มันแปลกเช่นเอาค้อนไปทุบหัว หรือเขวี้ยงโล่ใส่มอเตอร์ไซค์ หรือขับรถชนมอเตอร์ไซค์ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมันก็ก่อให้เกิดอันตรายกับฝั่งผู้ชุมนุมมากกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งจากที่คุยมาถ้าเขาไม่ทำอะไรเลยเขาก็จะโดนกระทำมากกว่านี้อีก 

มองเห็นปลายทางรึยังว่าน่าจะใช้เวลาทำงานเท่าไหร่?

ทีแรกแพลนไว้สามเดือนแต่อาจจะแลบไปหกเดือน ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าเราจะใช้เวลามากกว่านี้มั้ย ก็หวังว่ามันจะเป็นหนังยาวได้เพราะมันมีฟุตเตจที่น่าสนใจอีกเยอะ ซึ่งหลายๆ ฟุตเตจที่เก็บไว้เราก็ลงในชีวิตส่วนตัวบ้างแล้วไง และเราไม่รู้ว่าถ้ามันเอาออกมาฉายในช่วงนี้แบบที่มันเห็นหน้าคนชัดๆ มันจะเป็นสิ่งที่เหมาะรึเปล่า แต่มันเอาออกฉายได้แหละในเมืองนอกหรือในช่วงที่เมืองไทยมันเปลี่ยนผ่านแล้ว และระหว่างทางถ้ามันมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจหรือช่วยทำความเข้าใจกับสังคมหรือช่วยขับเคลื่อนอะไรบางอย่างเพื่อให้สถานการณ์มันดีขึ้นได้เราก็จะทำคลิปสั้นๆ แบบนี้ออกมาเรื่อยๆ 

ก็มองเป็นโปรเจกต์ที่ไม่ได้มองปลายทางเป็นหนังยาวอย่างเดียว

การทำปลายทางเป็นหนังยาวฉายเทศกาลคือสิ่งที่เราคุ้นชินอยู่แล้วเพราะเราทำแบบนี้มาทั้งชีวิต แต่เรากลับรู้สึกสนุกกับการปล่อยคลิปในออนไลน์มากกว่าด้วยซ้ำสำหรับในช่วงโควิดนี้นะ เป็นเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดจะทำมาก่อนในชีวิต ไอ้ความสดของมัน การที่ยังอยู่ในช่วงเหตุการณ์ ก็จะมีฟีดแบ็คอะไรบางอย่างที่มันอิงกับเหตุการณ์สดๆ เลยรู้สึกสนุกกับเรื่องพวกนี้ และมันเป็นการปรับตัวในภาษาหนังของเราด้วยที่มันเหมาะกับการทำให้ดูบนโลกออนไลน์ สังเกตว่าคัตติ้งมันจะฉับไวกว่าปกติ ก็พยายามทำให้มันเหมาะกับโลกออนไลน์ ก็ฝึกอยู่

และก่อนหน้านี้เวลาทำหนัง ตรงเครดิตท้ายเรื่องเราจะเขียนว่า all right reserved เป็นลิขสิทธิ์ของเรา แต่ว่าตัวนี้ตรงท้ายเรื่องเราใช้ creative commons แทน ก็คือคุณเอาไปใช้ได้เลย ขอแค่ขึ้นเครดิตที่มาหน่อยเท่านั้นเอง อันนี้คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าในยุคโควิดซึ่งเราไม่รู้ว่าพอผ่านไปแล้วจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมมั้ยในเรื่องแอ็กทิวิตี้ของคนดูหนัง หรือการเสพสื่อวิดีโออะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าช่วงนี้มันเป็นโลกแบบนี้ หนังหลายเรื่องอย่าง ‘ร่างทรง’ เองก็ตาม ที่ฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ มันก็หลุดกันออกมาหมดแล้ว และเราก็รู้สึกว่าไม่อยากจะไปโทษผู้ชมด้วย เรามองว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป และสภาพสังคมหรือผู้คนที่เราไปถ่ายหนังด้วยตั้งแต่สมัย ‘ดินไร้แดน’ สำหรับพวกเขาการเข้าไปดูหนังถูกลิขสิทธิ์มันเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งนี่คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ มันเป็นความฟุ่มเฟือยเพราะค่าตั๋วหนังมันไม่สอดคล้องกับรายได้ เราก็เลยสนใจ creative commons ก็คือการปล่อยให้เป็นสาธารณะแล้วเราก็ไปหารายได้ในรูปแบบอื่นแทน 


ติดตามชม Sound of ‘Din’ Daeng Prologue ความยาว 10 นาที และรายละเอียดเพื่อสนับสนุนการผลิตสารคดี ที่นี่

Good Boys: วัยอลวนคนอยากแมน

ในหมวดหนังคอมิดีสำหรับวัยรุ่น จะมีหนังประเภทหนึ่งที่เล่นกับมุกตลกหยาบโลน เซ็กซ์ การสบถ และความแก่แดดเกินวัย หนังประเภทนี้ที่หลายคนจำได้ดีคงจะเป็นเรื่อง American Pie ซึ่งตัวละครส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม สำหรับหนังเรื่อง Good Boys ที่เป็นหนังประเภทเดียวกันนั้น ดูเหมือนการลดอายุตัวละครลงมาอยู่ในช่วง 12 ปี จะทำให้หนังสื่อสารกับคนในช่วงอายุที่เยอะกว่า แต่ไม่ว่าอย่างไรมันก็ไม่ใช่หนังสำหรับเด็กแน่ๆ 

กลุ่มเป้าหมายจริงๆ ของ Good Boys น่าจะเป็นวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่อยากดูเรื่องราวย้อนวัยเปิ่นๆ สมัยตนเองเป็นเด็ก ซึ่ง Good Boys ก็ตอบสนองความต้องการนั้นอย่างเหนือความคาดหมาย ด้วยการตบมุก 18+ เข้ามาแบบไม่ยั้ง ทำให้เราหัวเราะไปกับความไร้เดียงสาของตัวละครที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว (เป็นต้นว่า ตัวละครที่เป็นเด็กอายุ 12 คิดว่าตุ๊กตายางของพ่อเป็นตุ๊กตาฝึกผายปอด หรือคิดว่าเซ็กซ์ทอยเป็นสร้อยคอและอาวุธ)

Good Boys เล่าเรื่องราวของเด็กอายุ 12 สามคนที่เป็นเพื่อนสนิทกัน คือ แม็กซ์ ลูคัส และธอร์ แห่งแก๊ง Bean Bag Boys เรื่องราววุ่นๆ เกิดขึ้นเมื่อแม็กซ์ตั้งใจจะไปปาร์ตี้แลกจูบ ด้วยความหวังว่าจะได้จูบบริกซ์ลี สาวในดวงใจ แต่เขาไม่รู้วิธีการจูบเอาเสียเลย เขาจึงขโมยโดรนสุดแพงของพ่อไปสอดแนมเพื่อนบ้านวัยรุ่นข้างบ้านว่าพวกเธอจะจู๋จี๋กับแฟนอย่างไร ผลกลับกลายเป็นว่าโดรนไปตกในบ้านของเพื่อนบ้าน และพวกเธอก็โกรธเอามากๆ แม็กซ์และเพื่อนๆ จึงต้องหาวิธีนำโดรนกลับมา แต่พวกเขาก็ได้ขโมยยาเสพติดที่วัยรุ่นกำลังฮิตมาจากกระเป๋าพวกเธอด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ การแลกเปลี่ยนระหว่างพวกเขาและสองสาววัยรุ่นที่แค้นเคืองจึงเกิดขึ้น โดยเส้นเรื่องคู่ขนานก็คือเรื่องราวของลูคัส ผู้ชอบทำตามกฎและไม่อยากยุ่งกับยาเสพติด และธอร์ ผู้พยายามปฏิเสธว่าตัวเองไม่อยากเล่นละครเพลง เพราะจะดูไม่แมน

ในแง่หนึ่ง หนังแสดงภาพของวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่อยากรู้อยากลองไปหมด และพยายามทำตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน เช่นเรื่องของธอร์ ที่ถูกล้อว่าไม่แมนเพราะเขาไม่กล้าจิบเบียร์ เขาจึงพยายามพิสูจน์ตนเองในเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ หรือแม็กซ์ ที่มีความฝันอยากมีแฟนสาวไว้เดินควงแขน ส่วนลูคัสนั้นเป็นเนิร์ดที่ชอบเล่นการ์ดเกมและอยากเป็นผู้พิทักษ์กฎ เคมีของตัวละครทั้งสามที่มีเจตจำนงต่างกันทำให้เรื่องค่อนข้างจะกลมกล่อม ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้แก่นักแสดงเด็กของเรื่องนี้ หนังค่อยๆ แสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครที่ก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกัน ทะเลาะกัน เลิกคบกัน และหาวิธีดูแลความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในวันที่แต่ละคนไม่เหมือนเดิม กล่าวโดยย่อ มันคือหนังที่มีธีมเกี่ยวกับการยอมรับความเปลี่ยนแปลง และการรักษามิตรภาพ

น่าสนใจว่า ตัวละครทั้งสามที่เป็นเด็กผู้ชายมีอิสรภาพในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้มาก พวกเขาสามารถปั่นจักรยานรวมกันเป็นแก๊งไปที่ไหนก็ได้โดยไม่มีใครเหนี่ยวรั้งไว้ ทำเรื่องเปิ่นๆ เสี่ยงอันตรายโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง แต่ก็รอดตัวมาได้ และมีเจตจำนงอันแรงกล้าเป็นของตนเอง ที่แม้กระทั่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นในกลุ่มเพื่อนก็ขัดขวางเจตจำนงนั้นไม่ได้ การถูกขับเคลื่อนด้วยเจตจำนงนี้เองที่แสดงภาพของชายอเมริกันผิวขาวที่กำลังเติบโตไปสู่ความเป็น Modern Man อันเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ผู้ชายเป็นผู้ตัดสินใจด้วยแรงผลักอันเกิดจากตนเองโดยไม่สนใจสิ่งรอบตัว เช่น ความสัมพันธ์ หรือในบางครั้งก็คือจารีต ศีลธรรม คำสั่งจากเบื้องบนหรือคนนอก เพราะการทำตามแรงผลักภายนอกคือขั้วของความไม่เป็นชาย

ในทางกลับกัน เด็กผู้หญิงในหนังอเมริกันกลับให้ความสำคัญกับแรงผลักนอกตัว เช่น ความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์แบบโรแมนติก มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด และเป็นผู้ทำตามกฎเกณฑ์ที่สังคมวางเอาไว้ สิ่งที่พวกเธอคิดและรู้สึกจะถูกเขียนทับโดยปัจจัยภายนอกเสมอ พวกเธอจึงต้องทำตามคำสั่งเพื่อให้สังคมสงบและกลมกลืน กล่าวได้ว่าสังคมกำลังอ้างว่าตัวมันเองสงบก็ต่อเมื่อมันควบคุมผู้หญิงเอาไว้ได้ ขณะที่เด็กผู้ชายจะ “เบียว” แค่ไหนก็ได้ ในฐานะที่เป็นผู้หญิง เมื่อดูหนังเรื่องนี้แล้วก็ชวนให้ขบคิดว่า ถ้าหากวัยเด็กของเรามีอิสระมากพอจะทำเรื่องต่างๆ แบบเด็กชายในเรื่อง มันจะเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นและน่าจดจำแค่ไหน และมีความหมายต่อการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ด้วยตนเองแค่ไหน

ไม่เพียงเท่านั้น หนังยังสะท้อนให้เห็นมิตรภาพระหว่างลูกผู้ชาย ซึ่งเป็นมิตรภาพที่ไม่ค่อยพบในเด็กผู้หญิงในหนังอเมริกันมากนัก มิตรภาพรูปแบบนี้คือการที่เหล่าเด็กชายสนับสนุนเป้าหมาย (cause) ของกันและกัน โดยที่ให้อิสระแก่เพื่อนของตนเองไปด้วย เป็นการ “นับถือ” ความเป็นปัจเจกของเพื่อนผู้ชาย โดยไม่แทรกแซง ในขณะที่มิตรภาพของเพื่อนผู้หญิงในหนังอเมริกันมักเป็นลักษณะของการแข่งขันแก่งแย่งกัน หรือยุ่งเรื่องของกันจนเกินขอบเขต นอกจากนั้นยังเป็นการบังคับใช้จารีตทางสังคมกับผู้หญิงด้วยกันเอง เช่นให้ความเห็นว่า เธอ “ไม่ควร” ทำแบบนั้นแบบนี้

เด็กผู้ชายในเรื่องไม่ใช่ใช้ชีวิตด้วยภาษาของคำว่า “ควร” แต่พวกเขา “เป็น” เช่นตอนที่แม็กซ์อยู่ในปาร์ตี้หมุนขวด แล้วเขาไม่ได้จูบบริกซ์ลี เขาก็กล้าลุกขึ้นและขอให้บริกซ์ลีจูบเขาโดยไม่สนใจกฎของเกม หรือแม้แต่การไปทลายรังยาเสพติดของวัยรุ่นเพื่อหายามาแลกกับโดรน เขาก็ทำโดยไม่ได้นึกถึงคำว่า “ควรหรือไม่ควร” ทางด้านธอร์เองก็แสบไม่น้อย เพราะเขาขโมยเบียร์จากร้านสะดวกซื้อต่อหน้าตำรวจ น่าสนใจที่คนที่ทำตามกฎ อันเป็นขั้วของความเป็นหญิงในเรื่องนี้คือลูคัสที่เป็นเด็กผิวสี เขาไม่เห็นด้วยกับแผนซื้อยาเสพติดของแม็กซ์ และยังเรียกชมรมต่อต้านการบูลลี่ในโรงเรียนมาช่วยเมื่อมีปัญหา ในแง่หนึ่ง ความเป็นคนชายขอบ เช่นที่ลูคัสเป็นคนผิวสี มักจะถูกกีดกันให้อยู่ในขั้วของความด้อยพัฒนามากกว่า ซึ่งนั้นคือขั้วของความเป็นหญิง จึงน่าสนใจว่าการที่ตัวละครลูคัสแตกต่างจากเพื่อนทั้งสองเป็นความบังเอิญหรือไม่ เพราะเขาเป็นตัวละครที่แทบไม่มีความเบียวอยู่เลย

ในเรื่องการสำรวจประเด็นทางเพศ เห็นได้ชัดว่าเด็กผู้ชายได้รับอภิสิทธิ์ค่อนข้างมาก และยังถูกมองว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาแมนขึ้นอีกด้วย ตอนเปิดเรื่อง แม็กซ์กำลังเปิดภาพตัวละครในเกม เพื่อที่เขาจะได้ช่วยตัวเอง แต่พ่อของเขามาเห็นก่อน ปฏิกิริยาของพ่อของเขาคือภูมิใจในตัวลูกชายที่กำลัง “ถึงวัย” แล้ว หรือแม้กระทั่งการที่เขาเดินหน้าทำตามแผนเพื่อให้ได้จูบบริกซ์ลี เพื่อนๆ ของเขาก็ต่างสนับสนุน มุกตลกหยาบโลนเกี่ยวกับเซ็กซ์ทอย ถ้ามันไปอยู่ในตัวละครผู้หญิง มันอาจไม่ได้ออกมาดิบห่ามเท่านี้ เพราะตัวละครผู้หญิงถูกสอนให้รับรู้ขอบเขตของเรื่องเหล่านี้ และระวังตัวไม่ให้เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ เช่นที่น้องสาวของธอร์เป็นคนเตือนว่าของเล่นที่พวกเขาถือเป็นของเล่นของผู้ใหญ่ น่าคิดว่าตัวละครที่เป็นเด็กกว่าเข้าใจขอบเขตอันพึงระวังของเรื่องเพศและไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องตลก อาจเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง

ในภาพรวม หนังให้ความบันเทิงได้ค่อนข้างดี แต่เสียงหัวเราะของเราอาจมาจากการรับรู้กรอบความเป็นเพศแบบที่สังคมกำหนดมาให้ชายและหญิงแบ่งแยกกัน โดยที่ผู้ชายมีโอกาสสำรวจประเด็นต่างๆ ในสังคมมากกว่าผู้หญิงที่เป็นผู้ตาม ในแง่หนึ่ง หนังยังคงผลิตซ้ำค่านิยมชายเป็นใหญ่ผ่านการแสดงค่านิยมของเด็กผู้ชายที่พยายามทำทุกอย่างให้ตัวเอง “ดูเป็นแมน” โดยที่เด็กผู้หญิงหรือตัวละครผู้หญิงมีเพื่อนสนับสนุนความแมนของพวกเขาเพียงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่แปลกเมื่อรู้ว่าทีมเขียนบทและผู้กำกับเป็นผู้ชายทั้งหมด


ดู Good Boys ได้ที่ Netflix

ประเดิมปลดล็อกโรงหนัง Marvel vs DC

วันนี้ (27 ก.ย. 64) ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ประกาศปลดล็อกโรงหนังทั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค. 64 เป็นต้นไป โดยจะเปิดได้ถึง 21.00 น. และเว้นระยะห่างที่นั่งอย่างน้อย 1 เมตร หรือลดจำนวนคนดู 50% หลังจากโรงหนังโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปิดไปไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ส่งผลให้โปรแกรมหนังตั้งแต่เดือน มิ.ย. ถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ และทั้งหมดมาอัดแน่นกันในเดือน ต.ค. นี้ หลังมีประกาศเปิดโรง

นั่นทำให้โปรแกรม 1 ต.ค. หรือโปรแกรมแรกของการปลดล็อกโรงหนัง จีงเกิดปรากฏการณ์ปะทะกันเต็มๆ ของสองหนังฟอร์มยักษ์จากสองค่ายใหญ่ มาร์เวลและดีซี นั่นคือ Black Widow และ The Suicide Squad

ซึ่งทั้งสองเรื่องต้องมาชนกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากทั้งคู่มีกำหนดลงสตรีมมิ่งภาคบังคับมาแล้ว โดย Black Widow จะลง Disney+ Hotstar ในวันที่ 6 ต.ค. หรือ 5 วันให้หลังจากการเข้าโรง ขณะที่ The Suicide Squad จะมีกำหนดลง HBO Go เร็วๆ นี้ ตามเงื่อนไขจากค่ายวอร์เนอร์ฯ

ก่อนหน้านี้โรงหนังบางจังหวัดที่ไม่ถูกสั่งปิด ทยอยเข้าฉายหนังใหม่ไปบ้างแล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นหนังจากค่ายวอร์เนอร์ฯ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น The Conjuring: The Devil Made Me Do It ซึ่งเข้าฉายพร้อมสตรีมมิ่ง ตามด้วย Reminiscence และ Space Jam: A New Legacy ซึ่งนั่นเป็นไปตามเงื่อนไขจากต้นสังกัดที่กำหนดวันฉายทางสตรีมมิ่งทั่วโลกไว้แล้วเรียบร้อย โดยยึดวันเข้าฉายในอเมริกาเป็นหมุดหมาย

อย่างไรก็ดี โปรแกรมเปิดโรงหลังล็อกดาวน์ยังอัดแน่นอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Malignant หนังสยองกระแสแรงของ เจมส์ วาน, A Quiet Place Part II ที่เข้าฉายไปแล้วครั้งหนึ่งในปทุมธานี สมุทรปราการ กับบางจังหวัดที่ไม่ถูกสั่งปิด เมื่อเดือน มิ.ย. และ Wrath of Man หนังแอ็กชั่นจาก กาย ริทชี นอกจากนี้ยังมีโรงหนังทางเลือกที่เปิดให้บริการครั้งแรก 2 ต.ค. อย่าง Doc Club & Pub

โปรแกรมแรกของ Doc Club & Pub. ประกอบด้วย Pavarotti สารคดีดนตรีจากผู้กำกับออสการ์ รอน ฮาเวิร์ด, A Summer’s Tale หนังคลาสสิคจาก เอริก โรห์แมร์, สารคดีการเมืองฟิลิปปินส์สุดเดือด Aswang และโปรแกรมพิเศษ ‘กีรติ ศักดินา พญาอนินทรีย์แดง’ ซึ่งเป็นหนังควบ ‘อนินทรีย์แดง’ ของ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค กับ Forget Me Not ของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล

ส่วนโปรแกรมแรกที่ House Samyan เริ่มจากการนำหนังที่เข้าฉายช่วงท้ายโปรแกรมก่อนล็อกดาวน์กลับมาฉายใหม่ คือ The Father, Minari, Promising Young Woman, Judas and the Black Messiah และ True Mothers

กลายเป็นว่ารูปแบบการฉายที่กำหนดจากต้นทาง ทำให้ค่ายหนังในไทยไม่อาจขยับโปรแกรมให้ไม่แออัดไปมากกว่านี้อีกแล้ว หนังฟอร์มยักษ์ฮอลลีวูดจึงเข้าฉายรับขวัญเดือนตุลาฯ แน่นขนัด แข่งกับ ‘ช่องทางธรรมชาติ’ ที่ต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยให้หลายคนแอบดูหนังเหล่านั้นไปบ้างแล้ว จึงต้องติดตามต่อไปว่าการเปิดตัวในโรงหนังของความหวังหมู่บ้านเหล่านี้จะยัง ‘ปัง’ อย่างที่คิดหรือไม่

FILM CLUB FOCUS on BUSAN INTERNATIONAL FILM FESTIVAL

0

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่สำคัญที่สุดของเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้มาตั้งแต่ปี 1996 โดยเป้าหมายของเทศกาลคือมุ่งแนะนำภาพยนตร์ใหม่ของคนทำหนังหน้าใหม่ที่เพิ่งทำหนังยาวเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะคนทำหนังจากในทวีปเอเชีย ตัวเทศกาลมีทั้งการฉายหนังทั้งจากเกาหลี และนานาชาติ การสนทนากับคนทำหนังหลังหนังจบ การกระจายไปฉายในชุมชนรอบๆ เมืองปูซาน และมีการสร้างชุมชนคนดูหนังผ่าน Community BIFF ที่จะให้ผู้ชมเป็นผู้เลือกหนังที่จะฉายในพื้นที่ต่างๆ รอบเมือง

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูชาน นั้นไม่ได้มีการประกวดสำหรับภาพยนตร์นานาชาติ แต่มีการประกวดภาพยนตร์ในสาย New Currents ที่เป็นการประกวดภาพยนตร์ของคนทำหนังหน้าใหม่ (หนังเรื่องแรกหรือเรื่องที่สอง) ของคนทำหนังชาวเอเชีย โดยหนังทั้งหมดในสายนี้มีข้อแม้ว่าต้องเปิดตัวในเทศกาลนี้เป็นที่แรกของโลก หนังโดยมากอาจจะยังเป็นชื่อใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยแต่ก็น่าจับตามองอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่นหนังที่ว่าด้วยชายหนุ่มที่หมดสติและตื่นขึ้นในบ้านที่ถูกครอบครองโดยหญิงสามคนสามวัยโลกที่เวลาหยุดนิ่งที่เป็นเสมือนสภาวะอุปมาของโลกในยุคโควิดอย่าง House of Time (Rajdeep Paul, Sarmistha Maiti) / หนังที่ว่าด้วยลูกสาวที่ออกตามหาพ่อที่หายตัวไปหลังไปเห็นฆาตกรโรคจิตเข้าและพบว่ามีผู้ชายคนหนึ่งใช้ชื่อพ่อ และทำงานแทนงานของพ่อ ก่อนที่จะพบว่าเจ้านี่คือฆาตกรโรคจิตคนนั้น ใน Missing (Shinzo Katayama) 

โปรแกรม Flash Foward ที่เป็นโปรแกรมประกวดของคนทำหนังหน้าใหม่ที่ไม่ใช่คนเอเชีย ซึ่งปีนี้ก็รวมหนังดังจากนานาชาติเอาไว้ ตั้งแต่หนัง Grand Jury Prize คานส์อย่าง Compartment No.6 (Juho Kuosmanen) เรื่องของนักเรียนสาวชาวฟินแลนด์ที่มาเรียนต่อในรัสเซียและต้องเดินทางไปดูรูปเขียนผนังโบราณที่เมืองห่างไกล และต้องแชร์ตู้นอนหมายเลขหกกับหนุ่มคนงานเหมืองขี้เมาชาวรัสเซีย ไปจนถึง Mass (Fran Kranz) หนังจาก Sundance ที่เล่าถึงช่วงเวลาการกล่าวโทษโกรธแค้นและให้อภัยของพ่อแม่สองคู่ คู่หนึ่งคือพ่อแม่ของเหยื่อที่ตายจากการโดนกราดยิง อีกคู่คือพ่อแม่ของฆาตกร

สาย Window of Asian Cinema ที่เป็นโปรแกรมหนังเอเชีย (ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องแรก) แต่หนังบางส่วนที่เปิดตัวในเทศกาลจะได้รับคัดเลือกเข้าชิงรางวัล Kime Jiseok Awards (ตั้งตามชื่อ Kim Jiseok ผู้ร่วมก่อตั้ง และโปรแกรมเมอร์ของเทศกาลที่เสียชีวิตไปในปี 2017) มีทั้งหนังใหม่ของ Brillate Mendoza (Gensan Punch) ผู้กำกับรุ่นใหญ่จากฟิลิปปินส์ ไปจนถึงหนังใหม่ของ Naoko Ogigami (Riverside Mukolitta) คนทำ Close-Knit ที่เคยมาฉายในบ้านเราในเทศกาลหนังญี่ปุ่น 

ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Riverside Mukolitta กำกับโดย Naoko Ogigami

สาย Wide Angle มีการประกวดหนังสั้นสารคดี มีทั้งสารคดีไต้หวันที่ว่าด้วยการสืบคดีหญิงสาวตกสะพานหลังโดนบอกเลิกใน Crossing’s End (Shih Yu-Lun) สารคดีกึ่งแอนิเมชันเกย์อัฟกันลี้ภัยที่กำลังมาแรงสุดๆ อย่าง Flee (Jonas Poher Rasmussen) หรือ I’m So Sorry (Zhao Liang) สารคดีที่พาผู้ชมกลับฟุกุชิม่าโดยสายตาของ Zhao Liang คนทำสารคดีจีนที่เคยมีหนัง Pettiton มาฉายในเทศกาลในกรุงเทพเมื่อหลายปีก่อน

ในส่วนของโปรแกรมหนังใหญ่หนังใหม่อย่าง Icons และ World Cinema ก็ระดมหนังจากคานส์และเวนิซมาอย่างน่าตื่นเต้น ตั้งแต่ Memoria ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือหนังปาล์มทองอย่าง Titane ของ Julia Ducournau หรือหนังใหม่สองเรื่องของ Rysuke Hamaguchi (ที่ Drive My Car หนึ่งในสองเรื่องที่ว่ากำลังจะเข้าฉายในบ้านเราเร็วๆ นี้) และนอกจากนี้ในเทศกาลยังมีโปรแกรมทอล์กพิเศษที่จะเอาคนทำหนังสองชาติที่ไม่มีอะไรเหมือนกัน แต่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งที่จะได้พบกันนั่นคือตัวของ Hamaguchi กับ Bon Joon-Ho

นอกจากนี้ในเทศกาลยังมีโปรแกรมพิเศษสองโปรแกรมที่โฟกัสไปยังผู้กำกับหญิงชาวเอเชีย ในโปรแกรมพิเศษ Wonder Women’s Movie : the Best Asian Film by Female Directors ซึ่งก็ขนกันมาทั้งหนังที่เคยเข้าฉายในบ้านเราแล้วอย่าง A Simple Life (Ann Hui), Marlina the Murderer in Four Acts (Mouly Surya) ไปจนถึงหนังคลาสสิกสุดๆ อย่าง Blackboards (Samira Makmalbaf) หรือ Salam Bombay (Mira nair) ส่วนอีกโปรแกรมโฟกัสไปยังหนังจีนร่วมสมัยในโปรแกรม New Voice, Chinese Films ที่มีทั้ง Black Coal, Thin Ice (Diao Yinan) Dwelling in the Fuchun Mountain (Gu Xiaogang) หรือ Kaili Blues (Bi Gan) 

ไม่ใช่แค่หนัง แต่ดูเหมือนซีรีส์ก็กลายเป็นตลาดใหม่ และรูปแบบของภาพเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง โดยในเทศกาลปีนี้มีการฉายบางส่วนจากซีรีส์ทั้งไทยและเกาหลีที่จะเปิดตัวบนสตรีมมิ่งเจ้าดัง ราวกับว่าตอนนี้เราดูหนังใหญ่ในคอมพิวเตอร์ และได้เวลาดูหนังจอเล็กในโรงใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นตลาดในอนาคตก็เป็นได้

เทศกาลจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6-15 ตุลาคมนี้ โดยมีหนังทั้งสิ้นถึง 223 เรื่อง โดยฉายในโรงทั้งหมด แม้เราจะยังออกนอกประเทศไม่ได้ แต่ Film Club ก็ขออาสาแนะนำหนัง 12 เรื่องที่ควรดูในปูซาน แต่ถ้าไม่ได้ดู ก็รอดูได้ในที่อื่นๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในไม่ช้านี้ 


Heaven: To the Land of Happiness (Photos courtesy of Busan International Film Festival)

1. Heaven: To the Land of Happiness (Im Sang-soo, เกาหลีใต้) : หนังเปิดเทศกาล

หนังเปิดเทศกาลปีนี้เป็นหนังของ Im Sang-soo คนทำหนังที่ผู้ชมชาวไทยรู้จักกันดีจากหนังอย่าง The Housemaid (2010) ฉบับรีเมค และ The Taste of Money (2012) ที่เคยเข้าฉายในบ้านเรา หนังใหม่ของเขานำแสดงโดยซูเปอร์สตาร์อย่าง Choi Min-sik ในบทนักโทษหมายเลยเลข 203 ที่ติดคุกมานานและรอวันพ้นโทษอย่างใจจดจ่อจนพบว่าตัวเองเป็นเนื้องอกในสมองและกำลังจะตายในไม่ช้า ด้วยความไม่อยากตายคาคุกเขาจึงวางแผนแหกคุกออกมาแล้วก็ได้มาพบกับ Namsik (รับบทโดย Park Hae-il) หนุ่มที่กำลังป่วยหนักแต่ไม่มีเงินรักษา อยู่รอดด้วยการขโมยยาจากโรงพยาบาล ทั้งสองคนเข้าไปพัวพันกับการขโมยเงินของแก๊งค์มาเฟียและทำให้ถูกตามล่าจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน พล็อตดูเมนสตรีมมากๆ แต่ด้วยบารมีดาราและผู้กำกับ ก็เดาได้ไม่ยากว่าน่าจะเป็นหนังเต็งทำเงินประจำปีอีกเรื่อง 


Anita

2. Anita (Longman Leung, ฮ่องกง) : หนังปิดเทศกาล

หนังว่าด้วยอัตชีวประวัติของเหมยเยี่ยนฟาง นักร้อง นักแสดงและไอคอนคนสำคัญของวงการบันเทิงในฮ่องกง หนังเปิดฉากด้วยฉากสุดท้ายจากคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของเธอในเดือน พ.ย. 2003 ที่เธอสวมชุดแต่งงานสีขาวและสวมผ้าคลุมยาวเฟื้อยเดินขึ้นบันไดหายลับไปหลังเวที ก่อนที่หนังจะย้อนกลับไปเล่าชีวิตในวัยเด็กของเธอและเล่าชีวิตขอเธอไล่ตามเวลา จากการทำการแสดงในตอนเด็กเพื่อหาเลี้ยงชีพ การเปิดตัวในวงการ ความสำเร็จในฐานะนักร้องและนักแสดงไปจนถึงการเผชิญหน้ากับความตายจากโรคมะเร็ง หนังฉายภาพความเจ็บปวด และโดดเดี่ยวข้างหลังความสำเร็จของเธอ และเล่าความสัมพันธ์ยาวนานยี่สิบปีของเธอกับ เลสลี่จาง เพื่อนแท้ของเธอที่มาด่วนเสียชีวิตไปก่อน แม้วงการหนังฮ่องกงจะเปลี่ยนแปลงไปและคนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นกับชื่อของเหมยเยี่ยนฟางอีกแล้ว แต่นี่อาจจะเป็นหนังที่เก็บบันทึกประวัติศาสตร์ของฮ่องกง ในช่วงเวลาแห่งยุคทองของวงการบันเทิงที่ประทับลงในใจผู้คนทั่วเอเชีย หนังกำกับโดย Longman Leung ผู้กำกับหนังสุดมันส์อย่าง Cold War

Anatomy of Time

3. Anatomy of Time (จักรวาล นิลธำรงค์, ไทย) : โปรแกรม A Window of Asian Cinema

หนังไทยหนึ่งในสองเรื่องที่ได้ไปเทศกาลปูซานปีนี้หลังจากเปิดตัวที่ Venice งานของจักรวาล นิลธำรงค์ที่ก่อนหน้านี้เคยทำหนังอย่าง Vanishing Point ที่ได้ไปรอตเตอร์ดามมาแล้ว หนังใหม่เรื่องนี้ของเขาว่าด้วยเรื่องสองช่วงวัยของผู้หญิงคนหนึ่งที่ในวัยสาวเคยมีผู้ชายสองคนมาชอบพอ แต่เธอเลือกแต่งงานกับชายผู้เป็นนายทหารอันเลือดเย็นและทะเยอทะยาน ขณะที่ชีวิตของเธอหลายสิบปีต่อมามีหน้าที่ในการดูแลนายทหาร ที่ตอนนี้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หากเธอก็ยังคอยปกป้องเขาอย่างเงียบๆ หนังตัดข้ามทั้งเรื่องส่วนตัวและประวัติศาสตร์ไทยสมัยสงครามเย็น มันเป็นหนังที่ว่าด้วยความเจ็บปวด และรูปทรงของเวลา (หนังน่าจะฉายในไทยเร็วๆ นี้)


The Tsugua Diaries

4. The Tsugua Diaries (Maureen Fazendeiro, Miguel Gomes, โปรตุเกส) : โปรแกรม Icons

ภาพยนตร์สุดมหัศจรรย์ที่เต็มไปด้วยฉากอันสามัญ ส่วนตัวและเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน คำว่า Tsuga คือการกลับหน้ากลับหลังของคำว่า August ชื่อเรื่องจริงๆ ของมันจึงคือ The August Diaries (บันทึกเดือนสิงหาคม) หนังเกิดขึ้นในช่วงเวลา 21 วัน แต่จะเล่าแบบถอยหลัง! หนังถ่ายในโปรตุเกสในเดือนสิงหาคมปี 2020 ช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ทุกๆ ฉากกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของหนังโดยธรรมชาติ เล่าเรื่องถอยหลังผ่านเวลาตั้งแต่ทีมงานตรวจเชื้อแบบ PCR นักแสดงซ้อมการแสดงแลกเปลี่ยนบทบาทกัน ผลไม้ที่เน่าแล้วกลับมาสดใหม่ หนังกำกับโดย Maureen Fazendeiro และร่วมกำกับโดย Miguel Gomes ผู้กำกับ Arabian Nights และ Tabu อันโด่งดัง ทั้งคู่จับจ้องมองบ้าน สวน และทีมงานของพวกเขาที่โดนกักตัวไว้ ราวกับว่ามันเป็นดินแดนลึกลับที่แสนสงบ เป็นช่วงเวลาของแสงที่สาดจับการเต้นของนักแสดง ธรรมชาติที่อยู่เคียงกันกับภาพยนตร์ ที่มีขนาดเล็กจ้อย เปราะบาง ท่ามกลางหายนะของโลกนี้


Yanagawa

5. Yanagawa (Zhang Lu, เกาหลีใต้) : โปรแกรม Icons

งานใหม่ของ Zhang Lu ผู้กำกับเกาหลีเชื้อสายจีน ที่ทำหนังอิสระมายาวนาน หนังของ Zhang Lu อาจหาดูยากกว่าหนังของผู้กำกับเกาหลีใต้คนอื่นๆ และหนังของเขาสามารถอธิบายแบบตีขลุมว่าคือหนังแบบ Hong Sang Soo ที่เศร้ากว่า และมีประเด็นทางสังคมมากว่า และมักพูดถึงความสัมพันธ์ข้ามชาติของ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้เขาทำ Gyeongju (2014) ที่เป็นชื่อเมืองเล็กๆ ในเกาหลี ตามด้วย Fukuoka (2019) ที่เป็นเมืองในญี่ปุ่น และนี่เป็นหนังเมืองเรื่องที่สามของเขา แม้จะเป็นชื่อเมืองญี่ปุ่นแต่หนังเป็นหนังจีนเต็มตัวว่าด้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยวัยกลางคนในปักกิ่งที่เอ่ยปากขอบุหรี่จากคนแปลกหน้าแล้วพูดว่า ‘ผลวินิจฉัยออกมาแล้ว ผมเป็นมะเร็ง ระยะที่สี่’ จากนั้นเขาไปหาพี่ชายและวางแผนเดินทางไปยานากาวะ ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นบ้านเกิดของ Yoko Ono และยังเป็นที่ที่คนรักเก่าของพี่ชายอาศัยอยู่ ตอนนี้เธอทำงานเป็นนักร้องในบาร์ และชอบร้องเพลง “Oh My Love” ของ John Lennon 


The Falls

6. The Falls (Chung Mong-Hong, ไต้หวัน) : โปรแกรม A Window of Asian Cinema

หนังว่าด้วยแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาศัยอยู่กับลูกสาววัยรุ่น จู่ๆ แม่โดนหั่นเงินเดือนจากผลประกอบการของบริษัทที่ย่ำแย่ วันเดียวกันเธอได้รับโทรศัพท์จากลูกสาวตอนกำลังประชุม ว่ามีเพื่อนร่วมชั้นติดโควิด เธอจึงต้องกักตัวอยู่ในบ้าน แม่เองก็ต้องอยู่บ้านด้วยตามคำขอของบริษัทและนั่นทำให้ความสัมพันธ์แม่ลูกเลวร้ายลง ยิ่งเมื่อตัวลูกสาวเริ่มต่อต้านแม่มากขึ้น และเริ่มมีพฤติกรรมประหลาด ทำให้เธอต้องขอความช่วยเหลือจากสามีเก่า หนังพูดถึงวิกฤติทางความสัมพันธ์และจิตใจของผู้คนที่ย่ำแย่จากสถาณการณ์โควิดอย่างน่าตื่นเต้น รับประกันความทรงพลังโดยฝีมือของ Chung Mong-Hong ผู้กำกับหนังเรื่อง A Sun ที่ลือลั่นใน Netflix


White Building

7. White Building (Kavich Neang, กัมพูชา) : โปรแกรม A Window of Asian Cinema

หลังจากสองสามปีก่อน Last Night I Saw You Smiling สารคดีของ Kavich Neang ที่ว่าด้วยการบันทึกช่วงเวลาสุดท้ายก่อถูกรื้อของตึกขาวที่เขาอาศัยอยู่มาแต่เด็ก เข้าฉายในบ้านเราอย่างเงียบๆ ตอนนี้เขาพัฒนามันขึ้นมาเป็นหนังยาวแล้ว หนังโฟกัสช่วงเวลาการย้ายออกของผู้คนในตึกขาวทีละครัวสองครัว ท่ามกลางความตึงเครียดของชุมชนชาวแฟลตที่ยังมองไม่เห็นอนาคต หนังติดตามเด็กหนุ่ม Samnang และพ่อของเขา​ Samnang อยากเป็นนักเต้น hip-hop แต่เขาต้องเผชิญหน้ากว่าความจริงง่ายๆ ว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่พ่อของเขาเป็นตัวแทนของชุมชนในการต่อรองกับเจ้าหน้าที่เรื่องที่อยู่ใหม่และการย้ายออก ซึ่งก็เป็นไปอย่างสิ้นหวัง หนังเพิ่งได้รางวัลนักแสดงจากเทศกาลเวนิซและมีคิวเข้าฉายในเมืองไทยเร็วๆ นี้


Taste of Wild Tomato

8. Taste of Wild Tomato (LAU Kek-Huat, ไต้หวัน) : โปรแกรม Wide Angle

สารคดีใหม่ล่าสุดจาก Lau Kek-Huat เจ้าของสารคดีสุดทรงพลังที่เริ่มจากการสำรวจเรื่องพ่อ ขยายออกไปสู่เรื่องเรื่องของเหล่าคอมมิวนิสต์มาลายาในมาเลเซีย ใน Absent Without Leave และสารคดีว่าด้วยโอรังอัสลี ที่เชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์สังหารหมู่คนจีนในยุค 60’s ของมาเลเซียอย่าง The Tree Remembers หนังเรื่องใหม่ของเขาได้รับทุนสนับสนุนจากหอภาพยนตร์เมืองเกาสง ที่ให้โอกาสเขาเข้าไปค้นประวัติศาสตร์บาดแผลของเมืองและของไต้หวันในเหตุการณ์สังหารหมู่คนไต้หวันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947 หลังจากคนในเมืองเกาสงรวมตัวกันต่อต้นการปกครองกดขี่ของก๊กมินตั๋งที่ย้ายมาตั้งรกราก หลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกและไปจากไต้หวันหลังปกครองห้าสิบปี และก๊กมินตั๋งแพ้งสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แล้วลงเรือมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่นี่ เขาสัมภาษณ์บรรดาผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกหลานของบรรดาเหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนั้น และจ้องมองซากหลงเลือของป้อมค่ายในอดีตที่กลืนกันอยู่ในชุมชนราวกับประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตใหม่ หนังน่าจะเข้าฉายในเทศกาลในไทยเร็วๆ นี้เช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อนของเขา


Vengeance Is Mine, All Others Pay Cash

9. Vengeance Is Mine, All Others Pay Cash (Edwin, อินโดนีเซีย) : โปรแกรม Window of Asian Cinema

หนังว่าด้วย Ajo นักเลงหนุ่มไม่กลัวความตาย ที่มีความลับบางอย่างที่เขาไม่อยากบอกใคร นั่นคือเขาเป็นโรคกามตายด้าน อาการของโรคกลายเป็นขุมกำลังของความความคลั่งแค้นที่ปะทุแตกออกมาเป็นความรุนแรงที่สาดใส่ทุกคนรอบตัว วันหนึ่งเขาเจอ Iteung หญิงแกร่งที่เป็นศัตรูของเขาในเรื่องงาน เขาตกหลุมรักเธอ เธอเองก็พบว่าเขามีเสน่ห์ ที่สุดทั้งคู่จะแต่งงานกัน แต่ปัญหาในอดีตของพวกเขายังคงตามหลอกหลอน หนังสร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ Eka Kurniawan ที่นักอ่านชาวไทยรู้จักกันดีจากนิยาย สมิงสำแดง และกำกับโดย Edwin คนทำหนังอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในแวดวงหนังอิสระ และหนังหลายเรื่องของเขาก็เคยฉายในไทย ล่าสุดหนัง ได้รับรางวัล Golden Leopard จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลการ์โน


Forbidden

10. Forbidden (อนุขา บุญยวรรธนะ, Josh Kim, ไทย) : โปรแกรม On Screen

นุ่นเกิดในหมู่บ้านกลางป่าห่างไกลที่เคยเป็นที่อยู่ของพวกคนป่วยไข้ มีศพกระจายเกลื่อน แต่ตอนนี้เธอจากที่นั่นมา และกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จในกรุงเทพ จู่ๆ เธอทราบข่าวว่าพ่อตาย เธอจึงกลับบ้านเป็นครั้งแรกหลังจากไปสิบปี โดยกลับไปพร้อมกับแฟนหนุ่มและเพื่อนอีกสองคน ในบ้านป่าเมืองเถื่อนนี้ ยังไม่ทันที่เธอจะได้เสียใจกับเรื่องของพอ ก็มีสิ่งที่น่าสยดสยองแปลกประหลาดเกิดขึ้นรอบตัวเธอ เมื่อความลับถูกเปิดเผย และทุกอย่างจะพลิกผันไปอย่างเหลือเชื่อ

Forbidden เป็นซีรีส์ยาวแปดตอนที่จะออกฉายใน HBO Asia (จะมา HBO GO ด้วยหรือไม่โปรดติดตาม) ผลงานร่วมกำกับของ อนุชา บุญยวรรธนะ แห่งมะลิลาและอนธการ และ Josh Kim คนทำหนังเรื่อง พี่ชาย มาย My Hero โดยเทศกาลจะฉายสามตอนจากแปดตอนขึ้นจอใหญ่


Hellbound

11. Hellbound​​ (Yeon Sang-ho, เกาหลีใต้) : โปรแกรม On Screen

ซีรีส์ Netflix ยาวหกตอนล่าสุดของ Yeon Sang-ho ผู้กำกับ Train to Busan ที่ได้ยูอาอินจาก Burning มารับบทนำ ว่าด้วยเรื่องของคนที่ได้รับข้อความความว่า ‘เจ้าตายแล้ว และจักต้องลงนรก’ ซึ่งก็จะถูกพาตัวลงนรกโดยยมทูตตามเวลาที่นัดหมาย และนัดหมายครั้งนี้เกิดในโซล ต่อหน้าต่อตาคนจำนวนมาก จินซู ผู้นำลัทธิใหม่ New Truth Society ที่กำลังมาแรง เทศนาว่านี่คือการประหารชีวิตของพระเจ้าในโลกแห่งความเป็นจริง ในทางกลับกัน ก็มีบางคนพยายามค้นหาความจริงของคดีนี้ด้วยการต่อกรกับ New Truth Society Hellbound อิงจากเว็บตูนยอดนิยมของ Choi Kyuseok และเทศกาลจะฉายสามจากหกตอนของซีรีส์นี้ 


My Name

12. My Name (Kim Jin-min, เกาหลีใต้) : โปรแกรม On Screen

ซีรีส์ Netflix (อีกแล้ว) แปดตอนใหม่ล่าสุดของผู้กำกับซีรีส์ Extracurricular ว่าด้วยหญิงสาวที่เล่นโดย Han Sohee แทรกซึมเข้าไปในตำรวจภายใต้ชื่อใหม่เพื่อเปิดเผยความลับของการเสียชีวิตของพ่อของเธอ ซีรีส์นี้เป็นแอ็กชันนัวร์ที่ทรงพลังและน่าหลงใหล โดยเทศกาลจะฉายสามจากแปดตอนของซีรีส์นี้


เส้นทางสู่ ‘Mare’ และ ‘แม่’ ของ เคต วินสเล็ต

หนึ่งในผู้ชนะเอ็มมี่ปีล่าสุดที่แทบจะไร้ข้อกังขา คือรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประเภท Limited Series หรือหนังที่ฉายทางทีวี ของ เคต วินสเล็ต จาก Mare of Easttown กับการแสดงอันละเมียด ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมมาพร้อมการทำการบ้านที่แสนจะทรหด

วินสเล็ตอุทิศชีวิตช่วงหนึ่งให้กับการรับบท แมร์ ใน Mare of Easttown ถึงขนาดอาสาอำนวยการสร้างมันเป็นเรื่องแรกในชีวิตด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงออกว่าเธอต้องการบทนี้จริงและขอมีส่วนร่วมทำให้มันออกมาอย่างที่เธออยากให้เป็น

Mare of Easttown เป็นงานสร้างสรรค์และเขียนบทของ แบรด อิงเกลสบี (คนเขียนบท The Way Back) โดย แมร์ เป็นตำรวจหญิงแห่งเมืองอีสต์ทาวน์ที่ชีวิตมีแผลเป็นรอยใหญ่จากการสูญเสียลูกชายวัยรุ่นของเธอด้วยการฆ่าตัวตาย พร้อมทิ้งหลานชายตัวน้อยเอาไว้ให้ดูต่างหน้า ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เธอไม่อาจวิ่งหนีอดีตอันเจ็บปวดครั้งนั้นได้เลย สิ่งเดียวที่พอจะทำให้เธอหลุดพ้นได้เพียงชั่วครู่คือการตามสืบคดีฆาตกรรมปริศนาคุณแม่วัยรุ่นคนหนึ่ง แต่กลายเป็นว่ายิ่งเธอสืบสาวเหตุการณ์นี้ ยิ่งทำให้เธอได้พบกับผู้คนที่อยู่ในภาวะไม่ต่างกันเต็มเมืองอีสต์ทาวน์ไปหมด

อย่างที่บอกว่า Mare of Easttown เป็นโปรเจกต์ที่วินสเล็ตทุ่มเทเพื่อบทอย่างมาก จนผู้กำกับ เคร็ก โซเบล กล่าวว่าเธอแทบจะเป็นศูนย์กลางการทำงานเลยทีเดียว แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาในฐานะผู้กำกับ เขากลับมองว่ามันทำให้การทำงานง่ายขึ้นด้วยซ้ำ “การทำงานของเคตไม่ได้เป็นการแสดงแบบเมธอด (Method Acting หรือการที่นักแสดงสวมบทบาทนั้นๆ ตลอดเวลา) แต่เธอรู้ดีว่าในแต่ละช่วงเวลา แมร์จะคิดและรู้สึกยังไง”

วินสเล็ตใช้เวลาทำการบ้านกับบทแมร์เป็นแรมเดือน เธออยู่กับมันตั้งแต่การออกแบบรูปลักษณ์ตัวละครทั้งเสื้อผ้าหน้าผมเลยทีเดียว โดยเธอเลือกคู่หูอย่าง อิวานา ไพรโมแรก สไตลิสต์ที่ร่วมงานกับวินสเล็ตมานับสิบปี ในหนังอย่าง The Reader, Labor Day, Divergent, A Little Chaos, Steve Jobs, The Dressmaker, Collateral Beauty, Blackbird และ Ammonite

ไพรโมแรกบอกว่านี่เป็นการทำงานกับวินสเล็ตที่ยาวนานที่สุดกว่าจะหาข้อสรุปได้ว่ารูปลักษณ์ของแมร์จะเป็นอย่างไร พวกเธอลองวิกผมทรงต่างๆ และคอนแทคเลนส์หลายสี แต่สุดท้ายก็มาลงเอยที่การปรุงแต่งมากแต่น้อย นั่นคือการขับเน้นริ้วรอยบนใบหน้าให้ชัด ขอบตาคล้ำจากการกรำงานหนัก หน้าสด ริมฝีปากแห้ง และเขียนคิ้วเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

วินสเล็ตเล่าว่า “แมร์เป็นคนประเภทที่ส่องกระจกแค่ตอนเช้าระหว่างแปรงฟัน และรวบผมแบบเร็วๆ ไปทำงานจากนั้นเธอก็ไม่ได้ส่องกระจกอีกเลยจนกระทั่งก่อนนอน สิ่งที่เราต้องการคือริ้วรอยที่สะท้อนประสบการณ์ชีวิตของเธอ แมร์ผ่านชีวิตมาโชกโชนเหมือนอีกหลายๆ คนในความเป็นจริง ที่ต้องรับมือกับบททดสอบของชีวิตอันยากลำบากในแต่ละวัน”

อย่างที่โซเบลกล่าวว่าวินสเล็ตไม่ใช่นักแสดงสายเมธอด แต่เธอทำการบ้านกับตัวละครอย่างหนักจนเข้าอกเข้าใจแมร์เป็นอย่างดี โดยเธอจำแนกความเจ็บปวดของแมร์ออกเป็นสองบาดแผล รอยแรกมาจากการตายของพ่อตัวเอง ซึ่งเป็นคนในครอบครัวที่สนิทที่สุด การสูญเสียครั้งนี้ทำให้แมร์เป็นคนที่โหยหาความรักตลอดเวลา “การจากไปของพ่อทำให้เธอไม่เคยรู้สึกพอกับความรัก ฉันต้องสร้างความเกรี้ยวกราดเป็นพื้นฐานภายในจิตใจและมันทำให้เธอหัวเสียขึ้นทันทีที่มีการพูดถึงมัน” และปมนี้ทำให้เธอเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างแมร์กับแม่ (จีน สมาร์ท) มากขึ้น “ความสัมพันธ์ของแมร์กับพ่อทำให้แม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ลึกๆ เพราะเธอไม่สามารถทดแทนความรู้สึกให้กับแมร์ได้เลย”

การสูญเสียพ่อตั้งแต่เด็กนั้นถูกตอกย้ำจนเป็นรอยแผลทางจิตใจครั้งใหญ่เมื่อลูกชายของเธอผู้ซึ่งบาดหมางกับแมร์จบชีวิตตัวเอง ซ้ำรอยพ่อผู้เป็นที่รัก ทำให้แมร์ไม่สามารถก้าวข้ามความเจ็บช้ำนั้นได้อีกเลย และฉากที่ยากที่สุดสำหรับวินสเล็ตก็คือฉากที่แมร์ต้องเผชิญเรื่องราวเหล่านั้นอีกครั้งกับนักจิตบำบัด

“ฉันรู้ดีว่าแมร์รู้สึกกับเหตุการณ์นั้นอย่างไร แต่ฉันต้องกดมันเอาไว้ ไม่ปล่อยให้ตัวเองต้องล้มลงไปในกองสะอื้นไห้ เธออดกลั้นและสู้กับมันไปเรื่อยๆ เพราะเธอเป็นคนแบบนี้”


(สำหรับคนที่ดูแล้ว)

อีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญมากของ Mare of Easttown คือ ลอรี ที่รับบทโดย จูลีแอนน์ นิโคลสัน ซึ่งเธอคือเพื่อนสนิทของแมร์และเป็นแม่ของ ไรอัน เด็กชายผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังความอำมหิตทั้งหมด วินสเล็ตเป็นคนเลือกนิโคลสันมารับบทนี้ด้วยตัวเองเพราะเธอคือเพื่อนรักในชีวิตจริง วินสเล็ตรับรู้ถึงความเป็นแม่ของนิโคลสันอันทำให้เธอรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเอง ไม่ต่างจากที่ลอรีทำให้แมร์มองเห็นตัวเองเช่นกัน

วินสเล็ตขอร้องให้นิโคลสันมารับบทนี้แต่ไม่บอกความลับสำคัญที่ลอรีเก็บงำเอาไว้ จนนิโคลสันกระวนกระวายใจแม้ว่าอยากจะรับบทลอรีแค่ไหนก็ตาม จึงยื่นข้อแลกเปลี่ยนด้วยการให้วินสเล็ตเฉลยปมที่ว่านั่นเพื่อเซย์เยส

สุดท้ายนิโคลสันก็คว้าเอ็มมี่สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมมาครองเช่นกัน


ชม Mare of Easttown ทาง HBO GO


ข้อมูลประกอบ

https://www.indiewire.com/video/kate-winslet-mare-of-easttown-backstory-interview-part-2-1234642477/

https://deadline.com/video/kate-winslet-mare-of-easttown-ivana-primorac-hbo-the-process/

https://discussingfilm.net/2021/08/24/craig-zobel-on-the-massive-success-of-mare-of-easttown-exclusive-interview/

Cinema of Czechoslovak New Wave : ไม่ตอกตรึงอัตลักษณ์ชาติ แต่สร้างขึ้นมาใหม่

15 ปีที่แล้ว ฉันซื้อดีวีดีในซองกระดาษจากร้านขายของชำในซอยข้างโรงเรียนมัธยมฯ ประจำเมืองเล็กๆ ทางเหนือของสาธารณรัฐเชค เก็บสะสมไว้เรื่อยมา แม้จะดูบ้างไม่ดูบ้าง แต่ก็ซื้อไว้ก่อนเพราะเพราะแผ่นละไม่ถึงร้อย ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน ครอบครัวที่ฉันไปอยู่ด้วยสนับสนุนให้เรียนภาษาเชคและดูหนังเชคหลังมื้อเย็นด้วยกันบ่อยๆ ฉันจึงได้ดูทั้งหนังเชคยุคหลังปี 2000 ทางโทรทัศน์ และหนังเก่ายุค 1960-1980 จากดีวีดีที่มีอยู่แล้วและที่ซื้อมาใหม่

คืนหนึ่งในห้องนั่งเล่น ฉันนอนเอนบนโซฟากับโฮสต์แม่ ส่วนโฮสต์พ่อนั่งเก้าอี้โยกที่อยู่ข้างๆ เราปิดไฟทุกดวง มีเพียงแสงวูบวาบจากหน้าจอทีวี มันคือหนังเรื่อง Cutting it Short (1980, Jiří Menzel) หนึ่งในหนังเชคที่ฉันชอบที่สุดตลอดกาล เล่าเรื่องพฤติกรรมเพี้ยนๆ ของภรรยาสาวผมบลอนด์ทรงเสน่ห์ของผู้จัดการโรงหมักเบียร์ ทำมาจากชีวิตวัยเด็กในเขตชานเมืองของ Bohumil Hrabal นักประพันธ์ชาวเชคที่เมนเซลและเพื่อนร่วมรุ่นมักจะนำนิยายและเรื่องสั้นมาทำเป็นหนัง นอกจากนั้นยังได้ดู The Party and the Guests (1968, Jan Němec) หนังขาวดำตลกเสียดสีเกี่ยวกับกลุ่มชนชั้นกลางที่ไปปิคนิคกลางป่าเขา แล้วเจอตำรวจลับที่สั่งให้พวกเขาทำตามคำสั่งไปเรื่อยๆ และ Daisies (1966, Věra Chytilová) หนังวิพากษ์ระบอบคอมมิวนิสม์ในคราบหนังเฟมินิสต์งานสร้างแสบทรวง เล่าเรื่องผ่านสองตัวละครหญิงที่ใช้ชีวิตแบบปราศจากกฎเกณฑ์และสร้างแต่เรื่องวายป่วงไม่เว้นแต่ละวัน

ฉันไม่รู้มาก่อนว่าคนทำหนังเหล่านี้เป็นตัวละครสำคัญของ Czechoslovak New Wave ที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบสร้างตัวตนใหม่ให้วงการศิลปะวัฒนธรรมของเชคโกสโลวาเกียในช่วงปี 1963-1970 และช่วงเวลาเพียง 7 ปีนี้ก็ได้เปลี่ยนท่าทีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐของศิลปินชาวเชคยุคหลังไปตลอดกาล


1

ภาพยนตร์เชคโกสโลวักเกี่ยวรัดกับอัตลักษณ์ของชาติอย่างแยกไม่ขาด และการเกิดขึ้นของ Czechoslovak New Wave ก็เป็นการทำให้อัตลักษณ์เหล่านั้นเป็นที่ปรากฏชัด เชคโกสโลวาเกียมีชะตาพันผูกกับการจำต้องเป็นผู้สยบยอมและอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอื่นมาอย่างยาวนาน อาจมีช่วงเวลาแห่งอิสรภาพบ้าง แต่มันก็สั้นเกินกว่าประชาชนจะได้รู้ว่าสิทธิเสรีภาพมีรสชาติเป็นอย่างไร

กล่าวโดยสรุป ตลอดช่วงศตวรรษที่ 16-19 ดินแดนโบฮีเมีย โมราเวีย และซิเลเซียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรียภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับสบูร์ก ต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และหลังออสเตรีย-ฮังการีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็กำเนิดเป็นประเทศเชคโกสโลวาเกียในปี 1918 

อย่างไรก็ดี เชคโกสโลวาเกียถืออำนาจอธิปไตยของตนได้เพียง 20 ปี การสร้างชาติก็ถูกแช่แข็งด้วยการเข้ามามีอำนาจของนาซีในปี 1938 แต่เมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และหมดสิ้นอำนาจในยุโรป เชคโกสโลวาเกียก็หลุดพ้นจากเงื้อมมือของฮิตเลอร์ หากแต่พรรคคอมมิวนิสต์กลับเริ่มมีอิทธิพลในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับคะแนนเสียงถึง 38% ในการเลือกตั้งปี 1946 ความขัดแย้งในสภาและการเมืองระหว่างประเทศในตอนนั้นทำให้สหภาพโซเวียตเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทางเดินของประเทศอย่างมาก และการรัฐประหารปี 1948 ก็เป็นเหมือนการตรึงอำนาจ ทำให้เชคโกสโลวาเกียกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสม์ไปอีก 40 ปีเต็ม

ถึงอย่างนั้น ชาวเชคโกสโลวักก็ยังมีช่วงเวลาสั้นๆ ที่เข้าใกล้อิสระและประชาธิปไตยเสรีแบบชาติตะวันตกอยู่บ้าง นั่นคือช่วงเวลาก่อนที่กระแสปฏิรูปปี 1968 ที่เรียกว่า Prague Spring ในช่วงเวลาดังกล่าว ภาคการเมืองของเชคโกสโลวาเกียได้ถูกปฏิรูปแบบกลายๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและเป็นเผด็จการน้อยลงโดยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นใหม่ ที่ไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างหนักจากการบริหารของสมาชิกพรรครุ่นใหญ่ในขณะนั้น พวกเขาและพันธมิตรจึงสนับสนุนให้ Alexander Dubček ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน

แม้ดุบเช็คจะเริ่มกระบวนการ de-Stalinization ที่เปิดให้ประชาชน สื่อมวลชน นักเขียน และศิลปินมี freedom of speech มากขึ้น โดยที่ประเทศยังคงความเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การบริหารของพรรค แต่ Prague Spring นี่เองกลับเป็นห้วงเวลาสุดท้ายที่ประชาชนจะได้หายใจเอาอิสรภาพเข้าไป ก่อนที่รถถังโซเวียตจะบุกกรุงปราก และสหภาพโซเวียตจะใช้อำนาจที่เข้มข้นกว่าเดิมในการปกครองรัฐบริวาร 

แต่นอกจากนโยบาย de-Stalinization ที่สนับสนุนอิสระในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้ Czechoslovak New Wave ถือกำเนิด ได้แก่ การเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เชคโกสโลวักในฐานะเครื่องมือสร้างชาติ การก่อตั้ง FAMU ในปี 1947 อิทธิพลจากวรรณกรรมเชคโกสโลวักในศตวรรษที่ 20 และอัตลักษณ์ของชาติที่ถูกบ่มเพาะมาอย่างยาวนานจนถึงจุดที่พร้อมจะปะทุออกมา


2

หนังเชคโกสโลวักเริ่มมีที่ยืนในอุตสาหกรรมหนังโลกในแง่หนึ่งก็เพราะการเติบโตของ Studio Barrandov และเป็นที่รู้จักในอเมริกาจากการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมของ Loves of a Blonde (1965, Miloš Forman) เกี่ยวกับโรงงานในชนบทที่มีแต่ผู้หญิงวัยรุ่น เพราะพวกผู้ชายโดนส่งไปรบ และ The Fireman’s Ball (1967, Miloš Forman) เรื่องราวสุดกระอักกระอ่วนป่วงแตกในงานเลี้ยงวันเกิดสุดอลังการที่กลุ่มนักดับเพลิงจัดให้อดีตเจ้านายวัยเกษียณ ทั้งสองเป็นหนังเรื่องสำคัญของฟอร์มาน ผู้เป็นที่รู้จักจาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975, Miloš Forman) ที่เขาสร้างหลังจากย้ายไปอยู่อเมริกาถาวรหลังปี 1968 และถูกนับว่าเป็นผู้กำกับชาวอเมริกันนับแต่นั้น

ในเชคโกสโลวาเกีย Studio Barrandov ซึ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1933 กลายเป็นของรัฐในปี 1945 และเริ่มผลิตภาพยนตร์ภายใต้การเมืองภาคประชาชนที่ถูกกดทับ โดยในช่วงหลายทศวรรษก่อนนโยบาย de-Stalinization ภาพยนตร์เชคโกสโลวักมักถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของสัจนิยมสังคมนิยม (Socialist Realism) เพื่อนำเสนอ ‘ความจริง’ ในแบบของโซเวียต นั่นคือภาพในอุดมคติที่โซเวียตพยายามวาดให้คนเชื่อตามว่าการปกครองแบบที่ทุกคนหน้าตาเหมือนกันและทำสิ่งเดียวกันจะนำไปสู่สังคมที่ถึงพร้อม

ศิลปะแนวนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือเพิ่มพูนอำนาจของรัฐเรื่อยมา หนังเชคโกสโลวาเกียในยุคก่อนหน้าจึงมักจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่หลากหลายตัวละครถูกนับเป็นหน่วยเดียว หรือเรื่องราวแนวเทพนิยาย ตำนาน นิทานปรัมปรา หรือโลกแฟนตาซี มากกว่าจะเป็นหนังที่ให้อิสระตัวละครในฐานะปัจเจกชนได้คิดและตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ในโลกเสรีทำ เมื่อมาถึงช่วงที่นโยบายทางการเมืองยืดหยุ่นขึ้น คนทำหนังชาวเชคโกสโลวักที่มีทรัพยากรและต้นทุนจึงพร้อมสร้างโลกแบบของตัวเองในหนังและถ่ายทำมันออกมาได้จริงๆ

Jiří Menzel, Jan Němec, Věra Chytilová, Miloš Forman, Ivan Passer, Evald Schorm, Jaromil Jireš, Juraj Herz คนทำหนังแถวหน้าในยุคนี้ต่างเป็นเพื่อนพ้องที่ฝึกลับคมมีดมาด้วยกันจาก FAMU (Film and Television School of the Academy of the Performing Arts) โรงเรียนหนังและศิลปะในกรุงปรากที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1947 โดยมี Ján Kadár ผู้กำกับ The Shop on Main Street (1965, Ján Kadár) เป็นหนึ่งในอาจารย์ ก่อนจะเข้าสู่อุตสาหกรรมหนังผ่าน Studio Barrandov ในช่วงต้นของทศวรรษ 1960


3

ถึงจะมีเสรีภาพมากขึ้นและไม่ต้องทำหนังโฆษณาชวนเชื่อป้อนรัฐแบบตรงๆ แต่ก็ยังมีหน่วยงานที่คอยสอดส่องและจัดการหนังนอกรีตอยู่ ผ่านการแก้ไข ตัดทอน ปฏิเสธไม่ให้บทหนังเรื่องนั้นได้ไปต่อ ไปจนถึงตักเตือน ข่มขู่ เลื่อนฉาย หรือสั่งห้ามฉายหนังเรื่องนั้น ทำให้คนทำหนังในยุค Czechoslovak New Wave ต้องมีลูกล่อลูกชน หาทางหนีทีไล่ และเล่าเรื่องด้วยท่าทีที่แปลกออกไป

อย่างไรก็ดี พวกเขายังคงไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นหัวใจของเรื่องเล่าเหล่านั้น นั่นคือ ‘ปัจเจกชนคนธรรมดา’ ที่ไม่เคยอยู่ในสมการทางการเมืองของชาติมาก่อน อย่างชายหนุ่มสองคนที่กระโดดหนีลงมาจากรถไฟขณะโดนส่งตัวไปยังค่ายกักกันใน Diamonds of the Night (1964, Jan Němec), คนแล่หนังสัตว์ในเขตชานเมือง พนักงานขายประกัน พนักงานเสิร์ฟในผับ และชายขอบของชายขอบอย่างสาวยิปซียากจนใน Pearls of the Deep (1965, Jiří Menzel, Jan Němec, Evald Schorm, Věra Chytilová และ Jaromil Jireš, รวมหนังสั้น), เหล่านักดับเพลิงใน The Fireman’s Ball และแม่บ้านที่อยู่บ้านทำกับข้าวดูแลสามีกับนักยิมนาสติกสาวใน Something Different (1963, Věra Chytilová)

ควบคู่ไปกับตัวละครที่เป็นปุถุชน หนังกลุ่มนี้ยังมีจุดร่วมที่แข็งแรง นั่นคือเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องตลกร้ายแบบ satire ตัวละครพูดจาแปลกๆ ทำสิ่งที่ absurd ไม่มีประโยชน์ และหลุดออกจากตรรกะของโลกที่เราคุ้นเคย (ซึ่งในที่นี้หมายถึงโลกคอมมิวนิสม์ที่ไม่มีพื้นที่ให้ความแตกต่างหรือคนที่หลุดกรอบ) คนทำหนังกลุ่มนี้เลือกทำหนังที่ไม่สยบยอม หันมาวิพากษ์รัฐผ่านหลากสัญญะ และไม่ใช้ตัวละครที่อ่อนปวกเปียกมาสะท้อนอำนาจรัฐที่ต้านทานไม่ได้ แต่วาดภาพโครงสร้างสังคมที่ไม่ยืดหยุ่นและใกล้ล้มเหลวขึ้นมาในหนัง เพื่อสะท้อนว่าตัวละครเองก็มีอำนาจ เป็นอำนาจที่รัฐไม่ได้มอบให้ แต่เพราะพวกเขาเป็นเจ้าของมันอยู่แล้ว [*]

แม้คนเชครุ่นใหม่ที่เรารู้จักจะมีอัธยาศัยดี สบายๆ เป็นกันเอง และมั่นใจในสิ่งที่ทำ แต่เมื่อพูดถึงอัตลักษณ์ร่วมในบริบทของความเป็นชาติหรือการเมืองการปกครอง พวกเขากลับมองตัวเองและชาติของตนในแบบที่่ต่างไป พวกเขารู้สึกว่าประเทศของตนเป็นดินแดนเล็กๆ ที่ธรรมดา ไม่น่าสนใจ และไม่มีบทบาทอะไรในเวทีโลก นักเขียนนักวิจารณ์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าคนเชคในยุคหลังโซเวียตล่มสลายมีเสรีภาพมากขึ้นก็จริง แต่ก็มักจะรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งและไม่มีอำนาจ สนธิสัญญามิวนิคที่เกี่ยวกับพวกเขาก็เป็นการตัดสินใจของคนอื่น เมื่อโดนโซเวียตกดขี่ก็ไม่มีชาติเสรีประชาธิปไตยชาติใดยื่นมือเข้ามาช่วย และชาติตะวันตกก็นับเชคโกสโลวาเกียเป็นสุดขอบฝั่งตะวันตกของโซเวียต แทนที่จะรู้สึกว่าประเทศนี้เป็นสุดขอบฝั่งตะวันออกของโลกใหม่ พวกเขาจึงใช้ชีวิตแต่ละวันแบบไม่ทะเยอทะยาน เพราะรู้สึกตัวเล็กจ้อย ไม่คิดว่าจะมีวันที่ตัวใหญ่ขึ้นมา และมีความหวังเพียงน้อยนิดว่าจะกำหนดอนาคตของตนเองได้

Czechoslovak New Wave จึงควรค่าแก่การพูดถึง เพราะหนังกลุ่มนี้ไม่ได้ทำเลียนแบบสภาวะจริงของผู้ถูกกดขี่ที่มีแต่เจ็บปวด หวาดกลัว ทุกข์เศร้า แต่กลับนำเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามและพูดสิ่งที่ไม่เคยมีคนอยากพูด มันคือการเตือนให้คนดูรู้ว่ายังมีความจริงอื่นนอกเหนือจากมโนภาพของพวกเขา ความจริงอื่นที่พวกเขาไม่กล้าแม้แต่จะจินตนาการ ความจริงอื่นที่เกิดขึ้นได้หากพวกเขายังมีแสดงพริบพรายของความหวังหลงเหลือ และแม้หนังกลุ่มนี้จะเล่าเรื่องตลกร้ายที่ทำให้คนดูคิดว่าจะเกิดความฉิบหายขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่ตอนจบส่วนใหญ่กลับให้ความรู้สึกอบอุ่น เบาสบายแบบไม่ฝันหวาน และมีแสงแห่งความหวังพาดผ่านเสมอ ซึ่งนั่นอาจเป็นหนึ่งในวิธีหลุดพ้นจากการกดขี่ของคนทำหนังเหล่านี้ก็เป็นได้


3 เรื่องจากยุคนี้ที่เราอยากแนะนำ

ที่มา https://www.criterion.com/current/posts/6286-diamonds-of-the-night-into-the-woods

Diamonds of the Night (1964, Jan Němec)

นี่คือหนังเรื่องแรกของยาน เนียเม็ซ ผู้กำกับ The Party and the Guests (หนึ่งในหนังเชคที่คนไทยมักจะนึกถึงมากที่สุด และถูกนำมาจัดฉายในไทยอยู่บ่อยครั้ง เพื่อแสดงสภาวะที่ชนชั้นกลางกำลังถูกชนชั้นปกครองเล่นตลกด้วย) Diamonds of the Night ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Arnošt Lustig นักเขียนชาวยิว เป็นเรื่องของคนธรรมดาสองคนที่ถูกจับไปรวมกลุ่มกับคนธรรมดาอีกนับล้าน เพื่อจะส่งไปยังค่ายกักกันนาซีหลายต่อหลายแห่งในยุโรปกลาง เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อชายสองคนกระโดดลงมาจากรถไฟแล้ววิ่งกระเสือกกระสนหนีกระสุนปืนเข้าป่า กว่า 3 ใน 4 ของเรื่องคือการติดตามพวกเขาเข้าไปในป่ารก ในความทรงจำ ในความฝัน และในความไม่ฝัน ผ่านงานภาพที่สำรวจภายนอกของตัวละครอย่างเฉียบคมและการตัดเอาคัทสั้นๆ มาต่อกัน เลือนเส้นแบ่งว่าอะไรเกิดขึ้นจริงและอะไรเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากให้เกิด

ในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง กลุ่มชายแก่ที่ถือปืนยาวล่าสัตว์พยายามออกล่าพวกเขา เมื่อถูกจับได้ กลุ่มชายแก่พาพวกเขามาที่บ้านกลางป่า ให้ยกมือหันหน้าเข้าหาผนัง และหันไปดื่มเบียร์ร้องเพลงเฉลิมฉลอง ในตอนท้าย พวกเขาทั้งสองถูกสั่งให้ออกไปข้างนอกแล้วเดินไปเรื่อยๆ ทางเสียง เราได้ยินเสียงปืน ทางภาพ เราเห็นพวกเขาวางความกลัวลงแล้วเดินดุ่มเข้าป่า จนภาพในตอนท้ายซ้อนเข้ากับตอนเริ่มเรื่อง การมีอยู่ของคนธรรมดาสองคนนี้จึงอาจไม่ได้สะท้อนชะตากรรมร่วมของชาวยิวในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สะท้อนชะตากรรมร่วมของชาวเชคในยุค 1960 ที่เมื่อดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่งก็ต้องวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอยู่อย่างนั้น แต่เพราะเรามิอาจรู้ได้ว่าส่วนใดของหนังถูกนับว่าจริงบ้าง จึงอาจเป็นได้ว่า พวกเขาทั้งสองย่อมเลือกมันได้เอง

ที่มา https://www.cineaste.com/winter2015/valerie-and-her-week-of-wonders

Valerie and Her Week of Wonders (1970, Jaromil Jireš)

เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกประหลาดตั้งแต่เริ่มเรื่องไปจนถึงตอนจบ สุนทรียะไม่เหมือนกับหนังในยุคเดียวกันเรื่องไหน และไม่สนอกสนใจจะมอบคำอธิบายใดให้กับคนดู หนังเรื่องสุดท้ายของ Czechoslovak New Wave เรื่องนี้ เล่าเรื่องของเด็กสาวอายุ 13 ปีในสัปดาห์ที่ประจำเดือนเพิ่งมาครั้งแรก และประสบการณ์ประหลาดโลกที่พานพบในคฤหาสน์โบราณของคุณย่าและเมืองเล็กแห่งหนึ่งในยุคกลาง ทุกคนคนรอบตัวเธอมีท่าทีแปลกๆ และเธอก็มองพวกเขาด้วยสายตาสงสัยใคร่รู้ ทั้งบาทหลวงที่มาเยี่ยมเยือน พ่อมดร้ายที่มีอดีตกับคุณย่า ชายหนุ่มที่อยู่ใต้อาณัติของพ่อมด และหนุ่มสาวชาวบ้านที่เล่นเพื่อนและพลอดรักกันในป่าโปร่งตลอดเรื่อง นำไปสู่การทำความเข้าใจและอยู่กับ ‘โลกของผู้ใหญ่’ ให้ได้ในแบบของเธอเอง

แม้จะไม่โด่งดังและเข้าถึงง่ายเท่าหนังของฟอร์มานหรือเมนเซล แต่นี่ก็เป็นหนังเชคที่คนพูดถึงไม่น้อย ในแวบแรก หนังดำเนินไปตามพล็อตแบบเทพนิยายที่เราคุ้นเคย นั่นคือเด็กหญิงกำพร้าเติบโตมากับญาติผู้ใหญ่ ถูกตัวละครชายข่มเหง และสุดท้ายได้เรียนรู้ว่าใครสักคนอาจเป็นพ่อของอีกคน และใครหลายคนอาจเป็นพี่น้องคลานตามกันมา แต่เหนือไปกว่านั้น มันเป็นเทพนิยายแหวกขนบที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายกอธิคผสมเซอร์เรียลลิสม์และเนื้อหาสุดอีโรติก อย่างการดูดเลือดที่คอในหลายครั้งซึ่งถูกทำให้ดูเหมือนการขโมยจูบ ทั้งหมดโดดเด่นด้วยองค์ประกอบศิลป์และเครื่องแต่งกายที่ดูแลโดย Ester Krumbachová (คนออกแบบศิลป์คู่ใจของคิทีโลว่าที่สร้างโลกอันฉูดฉาดใน Daisies) และบทที่ครุมบาโคว่าดัดแปลงอย่างตรงไปตรงมาจากนิยายเซอร์เรียลลิสม์ของ Vítězslav Nezval ที่ตีพิมพ์ในช่วงพีคของกลุ่ม Devětsil หรือ Czech Surrealism ในยุค 1930 ซึ่งเนซวาลเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตี

ที่มา https://czechfilmreview.com/2020/08/14/intimate-lighting-intimni-osvetleni-ivan-passer-1965/

Intimate Lighting (1965, Ivan Passer)

หนังเชคเรื่องแรกและเรื่องเดียวของอีวาน พาสเซอร์ ที่ในเวลาต่อมาย้ายออกจากประเทศตามฟอร์มานไปยังอเมริกา เขาคือหนึ่งในคนเขียนบทยุคแรกของฟอร์มานที่พา Loves of a Blonde และ The Fireman’s Ball ข้ามทวีปไปเข้าชิงออสการ์ ในสองเรื่องที่ว่าเขาทำงานร่วมกับ Jaroslav Papoušek และ Václav Sasek โดยสองคนนี้ก็ร่วมเขียนบท Intimate Lighting กับพาสเซอร์ด้วย (หนังของพาโพวเช็คที่เรารักคนเชครู้จักดีก็เช่นหนังไตรภาคครอบครัววายป่วงที่ผสมความตลกตีหัวกับตลกร้าย Ecce Homo Homolka (1970), Hogo Fogo Homolka (1971) และ Homolka a Tobolka (1972) ส่วนซาเซ็คนั้นยังทำงานเขียนบทอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน)

Intimate Lighting โดนแบนตลอดมาจนจบยุคคอมมิวนิสม์ เล่าถึงช่วงเวลาวันครึ่งของเปเตอร์และแบมบาส สองเพื่อนรักในวัยเด็กที่กลับมาพบกันอีกครั้ง เปเตอร์เป็นนักดนตรีในวงออเคสตราที่เดินทางจากเมืองใหญ่มายังเมืองที่แบมบาสเป็นเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนดนตรีท้องถิ่น ครอบครัวของแบมบาสพาเปเตอร์และชเตพาแฟนสาว (แสดงโดยภรรยาของฟอร์มานในตอนนั้น) ไปดูพวกเขาเล่นดนตรีให้งานศพของคนในหมู่บ้านเพื่อแลกอิฐดีๆ มาต่อเติมบ้าน ต่อมาเราจึงค่อยๆ รู้ว่า เปเตอร์มาที่เมืองนี้เพื่อบรรเลงดนตรีในคอนเสิร์ตร่วมกับแบมบาสและคนอื่นในหมู่บ้านนั่นเอง

หากดูรายชื่อหนังในยุคนั้นที่คนเชคนึกถึงมากที่สุด นอกจากชื่อที่กล่าวไปข้างต้นก็มักจะมีเรื่องนี้ เคียงข้างมาด้วย มันเป็นเรื่องเล่าที่ทั้งอุ่นหัวใจ หม่นเศร้า และทำเอาเราน้ำตาไหล ทั้งจากบรรยากาศในหมู่บ้านนอกเมืองแบบที่เราเคยอยู่ จากการมองเข้าไปในโลกของเปเตอร์และแบมบาสจากสายตาคนเมืองแบบชเตพา การพูดถึงความโดดเดี่ยวและความตายอย่างสุขุม นิ่งสงบ และเข้าอกเข้าใจ รวมถึงเพลงคลาสสิกของยานาเช็ค สเมทานา ดวอชาร์ค และโมซาร์ต ที่คลออยู่ตลอดเรื่อง เปเตอร์และแบมบาสใช้เวลาวันครึ่งทานข้าวพร้อมหน้ากับครอบครัว ซ้อมดนตรี พูดคุยถึงอดีต และดื่มเหล้าที่หมักไว้ในระหว่างฤดูใบไม้ร่วงร่วมกันในยามค่ำคืน เรารู้สึกโศกซึ้งตามตลอดเรื่อง และมันอาจเหมือนกับที่ตัวละครหนึ่งกล่าวไว้

“คนทั่วโลกมีความสุขกับสิ่งที่ต่างกัน แต่หน้าตาของความเศร้ามันเหมือนกันทุกที่นั่นแหละ”

[*] นี่เองอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนทำหนังกลุ่มนี้มักอ้างอิงหรือหยิบจับวรรณกรรมเชคโกสโลวักในทศวรรษก่อนหน้ามาดัดแปลง นั่นก็เพราะพวกเขากำลังพูดเรื่องที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ‘สภาวะของมนุษย์ระหว่างที่ถูกกดขี่’ และ ‘วิธีหลุดพ้นจากการกดขี่นั้น’ โดยอาจไม่ได้หมายความเพียงการกดขี่โดยพรรคคอมมิวนิสต์หรือโซเวียต แต่หมายรวมถึงความสิ้นหวังที่กดหัวพวกเขาเองมาตลอด

ตัวอย่างเช่น Diamonds of the Night ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของอาร์นอชท์ ลุสติก, Pearls of the Deep, The Junk Shop (1965, Juraj Herz, หนังสั้น), Closely Watched Trains (1966, Jiří Menzel) และ Larks on a String (1969, Jiří Menzel) ดัดแปลงจากงานของโบฮุมิล ฮราบาล, The Joke (1969, Jaromil Jireš) ดัดแปลงจากนิยายของมิลาน คุนเดอรา และ Valerie and Her Week of Wonders (1970, Jaromil Jireš) ที่ดัดแปลงจากนิยายของวีเทียชสลาฟ เนซวาล


อ้างอิง

  • Bates, R. (1977) “The Ideological Foundations of the Czech New Wave.” Journal of the University Film Association 29, no. 3: 37-42. Accessed August 20, 2021. http://www.jstor.org/stable/20687379.
  • Brodsky, J. (2001) The Czech Experience of Identity. In: Drulák, P. (ed.) National and European Identities in EU Enlargement. Prague: Institute of International Relations, pp. 21-38
  • Kopeček, M. (2002) Politics, Antipolitics, and Czechs in Central Europe: The Idea of “Visegrád Cooperation” and Its Reflection in Czech Politics in the 1990s. In: Questionable Returns, ed. A. Bove, Vienna: IWM Junior Visiting Fellows Conferences, Vol. 12
  • https://www.popmatters.com/czech-new-wave-cinema-2496099972.html
  • https://openjournals.uwaterloo.ca/index.php/kinema/article/view/1232/1554

On the Job หนังเวนิซ (เอ๊ะ หรือซีรีส์?) ที่เฆี่ยนด้วยความโกรธของคนฟิลิปปินส์

ณ เทศกาลหนังเวนิซ ครั้งที่ 78 มีหนังหนึ่งเรื่องที่ท้าทายคำจำกัดความของ ‘หนัง’ และ ‘ซีรีส์’ อย่างมาก นั่นคือ On the Job: The Missing 8 มันเป็นหนังที่ยาวถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง และยังเป็นหนังระทึกขวัญที่เปิดโปงวงจรทุจริตอันพัวพันกับระบบการปกครองของฟิลิปปินส์ด้วย จนมีคนกล่าวว่านี่เป็นหนังที่เกรี้ยวกราดที่สุดของผู้กำกับ เอริก แม็ตติ ซึ่งแน่นอน…เขายอมรับ เพราะมันสร้างมาจากความโกรธที่ฝังลึกอยู่ในคนฟิลิปปินส์ทุกคน

เหตุที่ On the Job: The Missing 8 ท้าทายคำนิยามความเป็นหนังกับซีรีส์ เพราะด้วยความยาว (มาก) ของมัน ทำให้แม็ตติมีไอเดียที่จะประนีประนอมผู้ชมด้วยการแบ่งออกเป็นสองภาค แต่หนังเสร็จพร้อมฉายโควิดก็ระบาดหนัก ทำให้โรงหนังฟิลิปปินส์ไม่สามารถเปิดได้เต็มที่ สุดท้ายเขาตัดสินใจขายสิทธิให้ HBO Asia พ่วงไปกับ On the Job ภาคแรกซึ่งฉายเมื่อปี 2013 แล้วแบ่งเป็น 6 ตอน โดยตอน 1-2 ก็คือหนังภาคแรก ตอน 3-6 ก็คือ The Missing 8 นั่นเอง เพราะฉะนั้นการที่หนังคว้ารางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมของ จอห์น อาร์คิลล่า มาจากเวนิซ ก็อาจหมายความว่ามันเป็นซีรีส์เรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลจากเวนิซด้วยการฉายในรูปแบบหนัง

On the Job ปี 2013 ว่าด้วยขบวนการอาชญากรรมที่เล่าผ่านนักโทษเพิ่งออกจากคุกเพื่อมาเป็นนักฆ่า กับตำรวจชั้นผู้น้อยที่ทำงานให้มาเฟียในคราบนักการเมือง โดยมีฉากหลังเป็นมะนิลา หนังฉายเปิดตัวที่ Directors’ Fortnight เมืองคานส์ และได้รับสแตนดิงโอเวชั่นกึกก้องยาวนาน ส่วน On the Job: The Missing 8 ฉากหลังอยู่ที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่คราวนี้เขาเปลี่ยนมาเล่าเรื่องวงการสื่อที่อยู่ภายใต้อำนาจของการปกครองส่วนท้องถิ่น แน่นอนว่ามันโยงไปถึงภาพใหญ่ของการเมืองในฟิลิปปินส์ เมื่อหนังฉายรอบแรกจบที่เวนิซ มันก็ได้รับสแตนดิงโอเวชั่นนานถึง 5 นาที

คำชมส่วนใหญ่ที่มีต่อ On the Job ทั้งสองภาคคือการที่หนังเน้นไปยังกระบวนการทำงานในวงจรความฉ้อฉลทั้งปวง ซึ่งแม้ทั้งสองภาคจะไม่ได้เล่าเรื่องต่อเนื่องกันโดยตรง แต่มันก็มีสายใยบางๆ นี้เชื่อมหากันไว้ ดังนั้นแม็ตติกับคนเขียนบทร่วม มิชิโกะ ยามาโมโตะ (ซึ่งเป็นภรรยาเขาด้วย) จึงให้เวลากับการรีเสิร์ชค่อนข้างมาก เพื่อล้วงข้อมูลมืดเหล่านั้นออกมาให้มากที่สุด

แม็ตติเล่าว่า “เราแบ่งการทำงานในช่วงเขียนบทออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือการตะลุยสัมภาษณ์สื่อมวลชน ส่วนที่สองคือการรีเสิร์ชแบบออนไลน์ และส่วนที่สามคือการลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลซึ่งไม่ปรากฏในออนไลน์ แต่เราทุกคนรู้ว่ามันมีอยู่จริง เราต้องจ้างนักค้นคว้ามาช่วยนำทางเราไปสู่ชุดข้อมูลนั้นโดยเราบรีฟไปว่าต้องการอะไรบ้างในหนังของเรา

“บทร่างแรกๆ ของเรามันแทบจะเป็นงานวิทยานิพนธ์วงการสื่อเพราะเราอยากจะใส่ชุดข้อมูลทั้งหมดลงไปเพื่อสะท้อนความเลวร้ายภายในนั้น แต่มันเป็นเรื่องใหญ่เกินไป เลยต้องลดทอนสายตาที่วิพากษ์วิจารณ์ระดับชาติลงแล้วโฟกัสที่สื่อท้องถิ่น ซึ่งมันสปาร์คกับผมมากกว่าสื่อระดับประเทศ เมืองเล็กๆ อย่าง ลาปาซ (ฉากหลังของหนัง) แน่นอนว่าสื่อท้องถิ่นย่อมไม่ใช่บิ๊กเนม เขาจึงต้องพึ่งพาบารมีนักการเมืองท้องถิ่น การมีอยู่ของสื่อเหล่านี้ก็เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ผู้มีอำนาจ หลายครั้งพวกเขาลืมไปแล้วว่าหน้าที่สื่อมวลชนคืออะไร กว่าจะรู้ตัวอีกทีเขาก็ได้ละทิ้งจรรยาบรรณไปหมดสิ้นเหลือเพียงสถานะของการเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น”

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารอำนาจอย่างดุเดือด ซึ่งรูปแบบการบริหารแบบนี้คือส่วนสำคัญที่เอื้อให้การฉ้อฉลไม่มีวันตาย “ผมเป็นเหมือนอีกหลายคนในฟิลิปปินส์ที่มาจากเมืองเล็กๆ และเดินทางมาแสวงหาอนาคตในเมืองใหญ่” แม็ตติเล่า “ลาปาซเป็นเมืองเล็กๆ ที่พยายามโชว์ว่าเป็นเมืองที่สะอาดที่สุด แต่ภายใต้ภาพความสวยงามเหล่านั้นมันมีแต่ความเน่าหนอนที่รอการค้นพบ มีทั้งการทุจริต อาชญากรรม อีกทั้งผู้คนก็พยายามรักษาวงจรอุบาทว์เหล่านี้ไว้ นั่นหมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่ประชากรในเมืองเล็กๆ เหล่านั้นเดินทางออกมา ปัญหามันก็จะยังดำเนินต่อไป”

นี่เองที่เป็นการสะท้อนความโกรธเกรี้ยวที่เขามีต่อระบบโครงสร้างของประเทศ ซึ่งผู้คนต่างก็รับรู้การมีอยู่ของมันแต่ทำอะไรไม่ได้ “มีฉากหนึ่งในหนังได้พูดถึงรากเหง้าของปัญหาทั้งหมด มันเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไม่มีวันตาย ไม่มีใครรับผิดชอบ ทุกคนได้รับการให้อภัย และมีผู้คนถูกลืมจากความอยุติธรรม ถ้าให้ย้อนกลับไปและมันถูกเล่าในหนังด้วยคือระบบเหล่านี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส* และทุกคนต่างรับรู้ว่ามันเป็นแบบนั้นจริง แต่สิ่งที่ทำให้ระบบมันไม่ตายก็เพราะเราเป็นประเทศเล็กๆ ทุกคนต่างรู้จักกัน รู้ไส้เห็นพุงกันและกัน

“แม้แต่นักโทษก็รู้จักตำรวจ ถ้าคุณเป็นตำรวจก็จะรู้จักดาราหรือสื่อมวลชนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เคยมีใครในระดับบนต้องรับโทษเพราะมันมีการอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันตลอดเวลา เคยมีคนถามว่าหนังชุด On the Job มันจะจบยังไง? (ขณะนี้แม็ตติกำลังเตรียมงานของภาคสามอยู่) ผมไม่เคยคิดจะทำภาคต่อนะ ผมมองมันเป็นหนังแสตนด์อโลนที่มีธีมเรื่องการทุจริต ซึ่งตราบใดที่เรื่องเหล่านี้ยังอยู่มันก็ไม่มีวันจบ ตัวละครในหนังของผมจึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางศีลธรรมเสมอ

“ถ้าให้ผมมองย้อนไปว่าระบบทุจริตที่แท้จริงเริ่มขึ้นตอนไหน ผมมองว่ามันมาจากยุคอาณานิคม เริ่มจากสเปน เปลี่ยนมือเป็นญี่ปุ่น และอเมริกาตามลำดับ เราเรียนรู้ที่จะรับใช้ ‘กษัตริย์’ เหล่านี้ที่มายึดครอง แน่นอนว่าการทุจริตมันก็เริ่มขึ้น คุณต้องการโอกาสดีๆ ให้กับครอบครัวหรือไม่? และมันก็ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวคุณก็ติดอยู่ในวงจรการทุจริตเหล่านี้ไปแล้ว”


* ดูเส้นทางการทุจริตในยุค เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ได้ใน The Kingmaker
* ดูซีรีส์ On the Job ได้ทาง HBO Go