INTERVIEW

สมเกียรติ์ วิทุรานิช : 12 ปี October Sonata Conservative ที่ไม่เคยเปลี่ยนหลักการ

ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ สมเกียรติ์ วิทุรานิช เมื่อ พ.ศ. 2552 ปีที่หนังของเขา ‘October Sonata รักที่รอคอย’ เข้าฉาย ครั้งนั้นเราพยายามถามถึงการเชื่อมโยงการเมืองเข้ากับพล็อตเรื่องว่าด้วยการรอคอยคนรักของหญิงสาว ในทุกเดือนตุลาคมของทุกปี จนผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ถึง 2 รอบแล้ว เธอก็ยังคงรอต่อไป…เขาอ้อมแอ้ม

12 ปีที่ผ่านมา แทบทุกเดือนตุลาคม October Sonata ยังคงได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ ในฐานะบทบันทึกหลักฐานชิ้นสำคัญบนหน้าประวิติศาสตร์การเมืองไทย ที่นำเสนอในรูปของหนังรัก

“ผมว่าผมเปลี่ยนไป” สมเกียรติ์พูดกับเราตั้งแต่ยังไม่บันทึกเสียง…

รักที่รอคอย (October Sonata)

หนังอย่าง October Sonata ได้รับการพูดถึงอยู่เรื่อยมา โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม

อันนี้คือความดีใจ และอยากขอบคุณทุกคนด้วยที่ระลึกถึงหนังเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ …แต่หลังจาก October Sonata ผมก็พยายามเขียนเรื่องเสนอนายทุน แล้วก็ไม่มีเรื่องไหนประสบความสำเร็จในการขอทุนเลย (หัวเราะ) ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาในการเอาคอนเทนต์นำ คือมีแต่ประเด็นที่จะพูด แต่เวลาเสนอไม่มีใครอยากฟัง เขาอยากจะฟังว่าหนังเรื่องนี้จะขายใคร ขายยังไง ใครจะดู สนุกตรงไหน ก็ต้องพิจารณาตัวเองว่าเราต้องไปเรียนวิชาการตลาดใหม่แล้วแหละ เหมือนเป็นอีกวิชาที่คนทำหนังยุคนี้จะต้องเรียนรู้คือคุณต้องมีหัวทางการตลาด อันนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกกับมัน ตลอดเวลาที่ทำอาชีพนี้…จะเรียกอาชีพก็ไม่ถูก เรียกว่าเวลาของการดิ้นรนเพื่อที่จะเป็นคนทำหนัง เรามองแค่ว่าเราอยากจะพูดอะไร แนวไหนที่คนทำหนังไทยยังไม่เคยทำ มองแค่นี้ ซึ่งจริงๆ แล้วโอกาสที่เราจะได้ทำในอย่างที่อยากจะทำมันน้อยมาก

แล้วคิดว่าการมีหัวทางการตลาด เป็นสิ่งที่คนทำหนังต้องมีจริงหรือ?

จริงๆ ผมแอนตี้เรื่องนี้ และผมไม่มี marketing mind ไม่มีเลย พยายามจะมีก็มีไม่ได้ เพราะมันเกินความสามารถเราแล้ว จริงๆ มันก็แค่ เราเสนอไปแล้วเขามองว่ามันไม่สามารถจะขายได้ เขาก็รีเจ็กต์เรา แต่พอถูกรีเจ็กต์บ่อยๆ ก็ต้องมาทบทวนตัวเองแล้วว่ายังไงวะ (หัวเราะ) มันเฟล บางเรื่องเรารู้สึกว่าดีจังเลย คอนเทนต์มันดี รับรองทำแล้วฮือฮาแน่เลย จนกระทั่งหันไปทำซีรีส์ให้ไทยพีบีเอส (‘ปู่ณัฐ’) ตรงนั้นก็สนุกแบบนึง ตรงที่ว่าไม่ต้องขายสูตรการตลาดกับแนวทางที่ผลิต เขามีประเด็นรอให้อยู่ และเป็นประเด็นที่ท้าทาย แต่มันเป็นงานเล็กๆ ซี่รีส์ไม่กี่ตอนจบ และหลังจากนั้นอยู่ๆ ประเทศจีน เข้ามาทางเปีย (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ตากล้องหนังไทย) เพราะเขาเคยเรียกเปียไปเป็นตากล้องหนัง ‘เนอสเซอรี่เลี้ยงผี’ ของ เหลิม (พัชนนท์ ธรรมจิรา) เปิดศักราชไปทำหนังผีกับเขา และก็ดึงเปียไป พอเปียไปถ่ายให้เขาก็มีโปรเจ็กต์หนังเกี่ยวกับหมา (A Dog’s Tale) เขาก็แนะนำผมเข้าไปเพราะผมเคยทำ ‘มะหมาสี่ขาครับ’

การไปจีนก็เป็นการที่เขาเลือกเรา

ใช่ๆ ซึ่งเขาก็ดู October Sonata นะ เขาไม่ได้ดู ‘มะหมา’ ด้วย เขาขอซื้อบทเลยแหละ จะเอาไปทำที่จีน แต่ตอนนั้นผมบอกว่าเอาทีละเรื่องก่อน เอาหนังหมาให้เสร็จก่อน ไอ้เราก็ใจดีนะ บอกเขาเอาไปทำเถอะ (หัวเราะ) ไม่หรอก จริงๆ October Sonata น่ะ ข้างใต้มันคือเรื่องการเมืองเท่านั้นที่เราอยากพูด ไอ้ความเป็นหนังรักมันไม่มีอะไร เป็นสูตรที่เขามีกันทั่วโลก ผมเลยบอกเขาว่าถ้าต้องการแค่หนังรักก็เอาไปเหอะ เพราะสิ่งที่ผมอยากจะพูดมันอยู่ข้างใต้ มันคุยกับคนไทยเท่านั้น ถ้าคุณไม่มีความคิดที่จะเอาเรื่องการเมืองของคุณสอดแทรกเข้าไปเหลือแค่ความเป็นหนังรัก ก็เอาไปเลย

อันนึงที่เปลี่ยนไป คือการที่เราจะพูดว่ามันเป็นหนังการเมืองในวันนั้นมันอ้อมแอ้ม แต่วันนี้สามารถพูดได้แล้ว ไม่รู้ว่าคุณเปลี่ยนไปหรือสภาพสังคมเปลี่ยนไป

ตอนนั้นอาจจะเป็นช่วงโปรโมทหนัง แล้วโปรดิวเซอร์ไม่ต้องการให้ไปแตะการเมือง เขาให้ทำนะแต่พอเวลาอออกสู่สาธารณชนเขาอยากให้เป็นแค่หนังรัก ก็เลยต้องตามนโยบายของเขาแหละ

มันเป็นเรื่องของสังคมในตอนนั้นด้วยมั้ย

จริงๆ ตอนหนังฉายมันระอุมากนะ (พ.ศ. 2552) และในที่สุดพอคนเอามันไปตีความในเชิงลึก ก็ไปอยู่ในสายการเมืองเข้มข้นเลยนะ …

วันนี้พูดได้แล้ว

ใช่ เราต้องการพูดเรื่องการเมือง แต่มันก็คือหนังสองเลเยอร์ ถ้าคุณจะมองเป็นหนังรักเลยมันก็มีเส้นเรื่องให้เดิน

จริงๆ ต้องการพูดอะไรแน่ ผ่านหนังเรื่องนั้น

เรื่องนี้ต้องการจะพูดว่าทำไมมันยากเย็นนักล่ะ คนไทย ในการที่จะมีรัฐธรรมนูญสำหรับคนไทย ในการที่จะมีการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างที่ประเทศอื่นเขามีกัน อันนี้จริงๆ คือสิ่งที่อยากจะพูดเลยนะ เราก็รอไปเรื่อยๆ รอวนกันอยู่นั่นแหละ ถ้าพูดจริงๆ ผมพูดกับโป๊บ (ธรวรรธน์ วรรธนภูติ) เลยนะว่าที่เอ็งเล่นนั่นไม่ใช่มนุษย์นะ มันคือตัวแทนของระบอบประชาธิปไตย

แล้วนักแสดงคนอื่น

เราคุยกันบนพล็อตเรื่อง เพราะมันขับเคลื่อนด้วยพล็อต

ถ้าพูดเรื่องนี้ในวันที่มันฉาย จะโดนถล่มขนาดไหน

ใช่ มันถึงเป็นเรื่องตลกไง การเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่สมควรจะเป็น แต่ทำไมตอนนี้การเรียกร้องประชาธิปไตยมันถึงเป็นเรื่องที่ยากเย็น มันตลกไง ทุกอย่างมันกลับหัวกลับหางมาก

เคยคิดมั้ยว่าถ้าเรื่องราวจากหนังนั้นลากยาวมาถึงวันนี้ เพราะเหตุการณ์เดือนตุลาฯ มันไม่ได้จบแค่ในหนัง

จริงๆ เหตุการณ์เดือนตุลามันอีรุงตุงนังมากนะ มันเหมือนอะไรบางอย่างที่ถูกรื้อค้นขึ้นมา แล้วทีนี้พอยิ่งรื้อมันยิ่งเจอปม

รักที่รอคอย (October Sonata)

ในช่วงที่ทำ October Sonata มีการอธิบายอะไรเพิ่มเติมกับทีมงานคนอื่นอีกมั้ย

ไม่ได้บอก ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปทำความเข้าใจส่วนนี้กับทีมงาน เพราะเราก็ไม่รู้ว่าแต่ละคนมีความคลั่งการเมืองที่ตรงไหน เพราะฉะนั้นผมเลือกที่จะไม่พูด และให้มันเป็นเรื่องพล็อต ใครจับได้จับไป ไม่ได้มันก็เป็นหนังรักเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่อะไร ถ้าเราบอกว่ามันเป็นหนังตีความแล้วทุกอย่างมันจะแข็ง แล้วทุกอย่างมันจะเป็นสัญลักษณ์กันไปหมด ไอ้เลเยอร์ของหนังรักมันจะหายไป

พอหนังถูกพูดถึงบ่อย มีมุมมองต่อปรากฏการณ์เช่นนี้ยังไง

คือ…(นิ่งคิด) มันเหนื่อย มันล้า และรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่มนุษย์ที่ลุกขึ้นมาแข็งแรงพอจะออกมาตะโกนเพื่อปักหลักในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หรือป่าวประกาศความคิดของเราขนาดนั้น ก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ประนีประนอมประมาณนึง อย่างผมถ้าไปอยู่เมืองนอกก็คือ Conservative นะ เพราะผมยังเชื่อในเรื่องของการที่เราต้องหอบหิ้วรากของเราไป แต่ในเวลาเดียวกันมันก็ต้องอยู่บนความเป็นจริง อยู่บนหลักการที่มันมีเหตุมีผล แต่ทุกวันนี้มันขาดเหตุผลจนตรรกะมันพังไปหมดแล้ว

มันไม่ใช่เรื่อง Conservative อะไรด้วย

มันเป็นเรื่องของความบิดเบี้ยวทางความคิด มันเป็นเรื่องของตรรกะ เหตุผลคุณหายไปไหนหมดแล้ว เหตุผลของสังคมมันไปไหนหมดแล้ว

ตัวตนคุณก็น่าสนใจ มันมีความ Conservative แต่ก็ดูขวางโลกเรื่อยมา

คือวิธีคิดมันอยู่บนพื้นฐานมากกว่า และเราก็ต้องการเหตุผลเท่านั้นเอง อะไรที่ไม่มีเหตุผลเราก็รู้สึกว่า (หัวเราะ) จริงๆ ทั้งหมดมันเป็นเรื่องธรรมดามากเลยนะ

จนเราลืมไปแล้วว่าเราไม่ได้อยู่บนตรรกะที่ถูกต้องมานานแล้ว

ใช่ ตรรกะมันบิดเบี้ยวจนผมรู้สึกว่าจะไม่คุยเรื่องนี้กับใครที่คิดต่างเยอะๆ เลี่ยงที่จะพูดเลย ถ้าต่างกันมากเอาว่าผมเคารพคุณ แล้วคุณไม่ต้องมาเปลี่ยนผม ผมไม่เปลี่ยน และผมจะไม่เปลี่ยนคุณ ต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเองแล้วกัน

แล้วได้คุยกับคนรุ่นใหม่บ้างหรือไม่?

สิ่งที่ยากที่สุดเลยตอนที่สอนหนังสือ ซึ่งเป็นวิชาเขียนบทด้วย (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) ในช่วงที่การเมืองร้อนแรง จะพบว่าการเมืองจะอยู่ในบทเยอะมากในช่วงก่อนหน้านี้ แล้วมันมีเด็กทั้งสองข้างเลย ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นครูสอน ต้องห้ามแสดงจุดยืนตัวเองเลย เพื่อให้เด็กทั้งสองข้างไม่รู้สึกว่าเราลำเอียง ให้เขาถ่ายทอดมันออกมา ผมจึงคอมเมนต์แค่ว่า “ขอเหตุผลซัพพอร์ต” คุณเอาเหตุผลมา ถ้าเหตุผลคุณแข็งแรง โอเค จบ คุณจะอยู่ข้างไหนก็ได้แต่ขอเหตุผล

จริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง มันคือหลักการ

มีเด็กคนนึง เรื่องที่เขียนมาอาจจะไม่ใช่เรื่องการเมืองนะ เป็นวิธีคิดของเขา มันเป็นเรื่องของเด็กที่อยากจะเรียนวิชานึง แล้วพ่อแม่บังคับให้เรียนวิชานึง ตัวเองก็เปลี่ยนตามพ่อแม่ แล้วผมก็ถามเขาว่าตัวตนจริงเป็นแบบนี้รึเปล่า หรือเป็นสิ่งที่สังคมบอกว่าลูกที่ดีต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ให้ถามตัวเองก่อนว่าจริงๆ แล้วคิดค้านมั้ย หรือจริงๆ แล้วคุณต้องการเป็นแค่คนดีของสังคม แล้วสังคมบอกว่าคนดีของสังคมเป็นแบบไหนแล้วคุณก็ทำตามคำแนะนำเขา กลับไปถามตัวเองก่อนค่อยมาตอบ แต่เขาก็ตอบว่าเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ และเขาก็อ้างด้วยเหตุผลตามสิ่งที่สังคมปลูกฝังมา เขาเชื่อแบบนั้นจริงๆ ถ้าแบบนั้นก็จบ เราจะไม่เปลี่ยนเขา เราจะไม่บอกว่าไม่ได้ เอา คาลิล ยิปราน ไปอ่าน ไม่เอา ผมไม่เปลี่ยนเลย (หัวเราะ) อันนี้ผมเคารพในสิ่งที่เขาอยากบอก และสักวันเขาคงจะเปลี่ยนด้วยอะไรบางอย่าง แต่ ณ เวลานี้ผมตั้งคำถามกับเขาแล้ว

ในโปรเจกต์จีน เราวางบทบาทการทำงานเพื่อความพึงพอใจอย่างไร

เราหามุมให้เจอว่าเราซิงก์กับเรื่องนี้ได้ ซิงก์กับทัศนคติแบบนี้ได้ หามุมให้ได้ว่ามุมไหนที่เราซิงก์กับมันเราก็อยู่กับมุมนั้น โชคดีที่โปรเจกต์จีนมันเป็นหนังใสๆ ก็ปรับโหมดของตัวเองให้ไปอยู่ยุคไหนของชีวิตเรา อย่างหนังจีนผมก็ปรับโหมดไปสู่ยุคเด็กเลยเหมือนตอนทำ ‘มะหมา’

สมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้กำกับ ไสหัวไป นายส่วนเกิน

แล้วอย่าง ‘ไสหัวไป นายส่วนเกิน’

เขามีโจทย์มาให้ แต่ก็นั่นแหละคือคนจีนเขาใสมาก หนังโพสิทีฟมาก เราก็ปรับโหมดไปสู่ยุคที่นั่งดูหนังกับพ่อแม่ที่บ้าน คนที่ดูหนังลักษณะนี้คงจะชอบ เพราะว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องจริงใจกับงาน ถ้าโจทย์มาแบบไหนก็ตามโจทย์ไป ผมจะไม่พยายามไปยัดไส้

แล้วที่บอกก่อนหน้านี้ว่าทุกวันนี้เปลี่ยนไปคืออะไร

มันเป็นเรื่องการทำหนัง ที่เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องที่เราเสนอไปไม่เคยผ่านเลย งั้นเราก็พยายามเอาประสบการณ์ที่ไม่ดีของเราไปบอกเด็กว่าฉันคิดแบบนี้ไป แล้วงานมันผ่านยากมาก คุณลองกลับมาสู่การเอาโครงสร้างให้มั่นก่อน ก่อนจะไปสนุกกับคอนเทนต์ เพราะเดิมทีเราสนุกกับการขยี้ประเด็น แล้วเราไม่ได้คำนึงถึงโครงสร้างว่าพีคตรงไหน ก็มีแต่สิ่งที่อยากพูด แต่พูดยังไงให้มันเพลิดเพลินได้ พอต้องสอนเด็กผมเลยบอกเด็กทุกคนว่าผมสอนคุณเพื่อให้ออกไปข้างนอกแล้วสามารถหากินได้ในตลาดตอนนี้ แต่อย่างอื่นต้องไปเรียนรู้จากคลาสอื่นหรือนอกคลาส แต่ในคลาสนี้ผมจะสอนโครงสร้างให้มั่นก่อน เพราะหลายครั้งผมรู้สึกว่าเด็กที่ไฟแรงมาแต่โครงสร้างไม่มั่นคง และในระหว่างที่สอนเราก็สอนตัวเองด้วย (หัวเราะ) จริงๆ การสอนเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดเพราะการที่เราก็ได้เรียนรู้ มันคือการให้และการรับในเวลาเดียวกัน

สมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้กำกับ ไสหัวไป นายส่วนเกิน

LATEST